Beethoven: Symphony No. 5

แท้น แท้น แท้น แทน, โน๊ตสี่ตัวแรกบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ในบันไดเสียง ซี ไมเนอร์ (Symphony No. 5 in C Minor) ของ Ludwig van Beethoven คือเรื่องบังเอิญหรือเปล่าที่ตรงกับรหัสมอร์ส (สั้น สั้น สั้น ยาว) ตัวอักษร V ซึ่งบทเพลงนี้มักถูกเรียกว่า ‘Victory Symphony’ ซิมโฟนีแห่งชัยชนะ

คนฟังเพลงเป็นไม่จำเป็นต้องคอคลาสสิก น้อยนักจะไม่รู้จัก Symphony No. 5 บทเพลงซิมโฟนีอมตะที่น่าจะมีชื่อเสียงโด่งดัง แพร่หลายเป็นที่รู้จักที่สุดในโลก, ประมาณการว่า Beethoven ประพันธ์ขึ้นช่วง ค.ศ. 1804-1808 ในยุคของ Classical Era (แต่บทเพลงนี้ถูกจัดให้คาบเกี่ยวกับยุค Romantic Era) นำออกแสดงครั้งแรกเมื่อปี 1808 แม้จะไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะบรรเลงควบคู่กับ Symphony No. 6 ซึ่งรวมแล้วความยาวคอนเสิร์ตถึง 4 ชั่วโมง (ผู้ฟังคงเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า) แต่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จากบทวิจารณ์เพลงของ Ernst Theodor Amadeus Hoffmann ที่ได้บรรยายยกย่องว่า ‘เป็นหนึ่งในผลงานเอกชิ้นสำคัญที่สุดแห่งยุค’

ซิมโฟนีบทนี้มีด้วยกัน 4 Movement ใช้เวลาการแสดงประมาณ 30-40 นาที

  1. Allegro con brio (C minor)
  2. Andante con moto (A major)
  3. Scherzo: Allegro (C minor)
  4. Allegro (C major)

โดยท่อนแรกของบทเพลง ขึ้นต้นด้วยตัวโน้ตหลักเพียง 4 พยางค์

ซึ่งมีความคล้ายกับรหัสมอร์ส (คือ จุด จุด จุด ขีด) เมื่อเทียบกับอักษรโรมันจะตรงกับตัว V ได้รับการค้นพบโดยสถานีวิทยุ BBC ของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงใช้โน้ตหลักนี้เป็นเครื่องหมายของคำว่า ‘Victory’ (ชัยชนะ)

แต่ในความเป็นจริงนั้น รหัสมอร์สที่ได้รับการคิดค้นโดย Samuel F. B. Morse และ Alfred Vail สำเร็จเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1936 มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่ Beethoven จะลอกเลียนแบบ ตรงกันข้ามเสียมากกว่าที่รหัสมอร์สจะได้แรงบันดาลใจตัวอักษรจากบทเพลงนี้ (หรือเป็นเพียงความบังเอิญ)

ว่ากันว่า Beethoven ให้คำนิยามโน๊ต 4 ตัวนี้ว่า “Fate knocking on your door.” (เหมือนเสียงเคาะประตู) อาจเพราะขณะที่เริ่มประพันธ์เพลงนี้ หูของเขาเริ่มที่จะไม่ค่อยได้ยินเสียงแล้ว (หูหนวกสนิทประมาณปี 1819) รู้ตัวเองว่าสักวันคงจะไม่ได้ยินอะไรอีก นี่คือโชคชะตาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้(มาเคาะถึงประตูบ้าน) ก่อให้เกิดมรสุมปั่นป่วนเต็มอก ความหวาดกลัว หลอกหลอน เจ็บปวด สั่นสะท้าน ไม่อยากคาดคิดเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันเปิดประตูนี้ออก

ท่อนแรก Allegro con brio (C minor) เปิดประตูออกสู่ดินแดนแห่งโชคชะตาที่เต็มไปด้วยความพิศวง เผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆที่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไรรายล้อมรอบด้าน เรียกได้ว่าเป็นสัตว์ประหลาดที่จ้องมองเราอย่างฉงนสงสัย เจ้าผู้นี้คือใคร? มาทำอะไรยังดินแดนแห่งเรา? ความหวาดกลัวเกรงค่อยๆแปรสภาพเป็นความใคร่รู้ใคร่สงสัย บางสิ่งตอบโต้อย่างอ่อนหวานนุ่มนวล (ด้วยเสียงเครื่องเป่าลมไม้/ฟลุต, โอโบ หวานๆ) แต่ใช่ว่าทุกสิ่งอย่างจะเป็นมิตรกับเรา (ด้วยเสียงเครื่องสาย/โวโอลิน, ทรัมโบน ประสานเสียงทรงพลัง)

ท่อนสอง Andante con moto (A major) เป็นช่วงเวลาแห่งคลื่นสงบลมนิ่ง ขณะเดินเล่นชมวิว ปรับตัวเข้ากับโลกแห่งใหม่นี้ มันอาจเป็นดินแดนที่มีความสวยงามบรรเจิดกว่าที่ใครคิดก็ได้, แต่ละสถานที่ที่เดินผ่าน จะมีเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้น (Variations) เมื่อได้เรียนรู้ทำความเข้าใจแล้ว ก็เหมือนได้รับชัยชนะ ก้าวออกเดินไปยังสถานที่ต่อไปอย่างวีรบุรุษ

ท่อนสาม Scherzo: Allegro (C minor) ก้าวย่างมาถึงดินแดนแห่งหนึ่ง ถึงเป็นโลกแห่งเดียวกัน แต่มีความแตกต่างจากสถานที่อื่น ราวกับว่าได้รับการชี้ชักนำจากโชคชะตา นำพาสู่ที่แห่งนี้อันเต็มไปด้วยความชั่วร้ายบางอย่าง ไม่ได้อยากมาถึงแต่เท้าก็หยุดไม่ได้, ท่อนนี้ทำนอง แท้น แท้น แท้น แทน จะกลับมาอีกครั้ง แต่เป็นในโน๊ตที่ต่างจากท่อนแรกพอสมควร นุ่มนวลเบากว่า เพราะไม่ได้เป็นการเผชิญหน้าความหวาดหวั่นหวาดกลัว ในระดับเทียบเท่าครั้งแรกอีกแล้ว, ตอนจบของท่อนนี้ เสียงเพลงจะค่อยๆเบาลงจนแทบไม่ได้ยินอะไร เหมือนว่าที่เราหวาดกลัวมาทั้งหมดนี้ มันช่างไม่มีอะไรเลย คิดไปเองทั้งนั้น

ท่อนสี่ Allegro (C major) คือการเฉลิมฉลองชัยชนะที่ได้จากการค้นพบว่า โลกใบนี้มันก็ไม่มีอะไรน่ากลัวเลยนี่หว่า ทุกสิ่งอย่างเป็นมิตรกับเราดี เพียงแค่จิตใจของเราเท่านั้นที่คิดไปเอง, บทเพลงมีความอลังการสนุกสนานยิ่งใหญ่ ทุกผู้สิ่งมีชีวิตที่ได้เจอต่างเข้ามาอำนวยอวยพร แสดงความยิน ขอให้โชคดี แต่ไม่ใช่ว่าเรากำลังจะจากโลกนี้ไปนะครับ เพราะนี่คือโลกแห่งใหม่ของ Beethoven ที่เขาจะต้องอาศัยอยู่ไปจนวันตาย

ไปเจอในบล็อคหนึ่งเปรย 4 ท่อนของเพลงนี้กับอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค … ก็วิเคราะห์มองได้ใกล้เคียงอยู่นะ เพียงแต่มรรคในท่อนสุดท้าย มันไม่ใช่หนทางไปนิพพาน แต่คือความสุขสันต์ปีติยินดีเป็นล้นพ้น เป็นการตรัสรู้เข้าใจตนเอง

มี Maestro สามคนที่ผมอยากแนะนำกับบทเพลงนี้

คนแรก Herbert von Karajan (1908 – 1989) วาทยากรชาว Austrian ร่วมกับ Berlin Philharmonic Orchestra บันทึกเสียงปี 1954, Karajan เป็นคนที่มีความ Intense เข้มข้นทางอารมณ์สูงมากๆ คือทำความเข้าใจบทเพลงในระดับจิตวิญญาณ ดังนั้นท่อนแรกของบทเพลงจึงมีความทรงพลังอย่างเหลือล้น ยากนักที่จะหาใครเปรียบได้

เกร็ด: ประเมินกันว่า แผ่นเสียงของ Herbert von Karajan น่าจะมียอดขายเพลงคลาสสิกสูงสุดในโลก กว่า 200 ล้านก็อปปี้

อยากให้เห็นขณะที่ Herbert von Karajan กำกับวงด้วย นำมาเฉพาะท่อนแรก เพื่อให้เห็นความทุ่มเทสุดตัวระดับ Maestro ทั้งท่าทาง สีหน้า อารมณ์ สังเกตมือซ้ายที่แค่เห็นเกร็งงอมือไว้ ก็เกิดเราอารมณ์คล้อยตามบทเพลงไปด้วย (ดูพี่แกกำกับ เห็นภาษากายแล้วจะยิ่งเข้าใจอารมณ์ของบทเพลงยิ่งขึ้นด้วย)

Maestro คนที่สอง George Szell (1897 – 1970) วาทยากรสัญชาติ Hungarian ร่วมกับ Wiener Philharmoniker บันทึกเสียงปี 1969 นักวิจารณ์เพลงยกย่องว่า Record นี้คือ Symphony No.5 ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก,

Szell เป็นวาทยากรที่ความทรงจำแม่นยำมาก ว่ากันว่าสามารถเล่นเปียโนทั้งคอนเสิร์ตได้โดยไม่ต้องดูโน๊ต ดังนั้นทุกครั้งที่ใครสักคนในวงเล่นผิดแม้เพียงแค่นิดเดียวก็สามารถรู้ได้ทันที ด้วยเหตุนี้บทเพลง Szell จึงมีความสมบูรณ์แบบ ถูกต้อง ครบถ้วนเป็นอย่างยิ่ง

Maestro คนสุดท้าย Carlos Kleiber (1930 – 2004) วาทยากรสัญชาติ German ร่วมกับ Wiener Philharmoniker บันทึกเสียงปี 1974, Kleiber เป็นวาทยากรอัจฉริยะที่มีความเชี่ยวชาญ รอบรู้เรื่องเทคนิคการเล่น/การกำกับวงที่เป็นเลิศ เก่งวิเคราะห์วางแผน และสามารถอธิบายทุกสิ่งอย่างที่ต้องการได้ด้วยตนเอง นี่ทำให้บทเพลงของเขา มีลีลาพริ้วลื่นไหลสวยงามดั่งสายน้ำไหล

ทั้งสาม Maestro ที่ยกมานี้ เกิดมาเพื่อ Symphony ของ Beethoven เลยนะครับ มีความโดดเด่นในสไตล์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง, ส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบฉบับของ Carlos Kleiber นี้ที่สุดเลย เพราะมีจังหวะความลงตัวพอดี และเทคนิคลีลาความต่อเนื่องที่พริ้วลื่นไหลเสียเหลือเกิน ขณะที่ Szell ก็เปะเกินไป (จนไม่เป็นธรรมชาติ) ส่วน Karajan ก็ใส่อารมณ์เยอะไปนิด

กับคนที่ฟังเพลงนี้มาหลากหลายฉบับ จะรู้สึกว่าผมเลือก Maestro ทั้งสามที่ตีความท่อนแรกของเพลง มีความเร็วค่อนข้างสูง, เพราะผมไม่ค่อยประทับใจฉบับที่ดีความช้ากว่านี้เลยนะครับ รู้สึกว่ามันไม่ใช่อ่ะ คืออารมณ์ช่วงแรกมันควรจะต่อเนื่อง เร่งเร้า ทรงพลัง มากกว่ายืดยาดรอคอยจังหวะ ซึ่งก็แล้วแต่รสนิยมของคุณเองนะ กับคนที่ชื่นชอบฉบับช้าๆ ลองไปหาฟังของ Karl Bohm, Bruno Walter (คนนี้ลากเสียงท้ายยาวมากกกก), Sergiu Celibidache, Leonard Bernstein ฯ

มีการถกเถียงกันมากว่า Symphony No. 5 จะจัดเข้าพวกยุคไหนระหว่าง Classical Era กับ Romantic Era เพราะถ้านับจากปียังไงก็ยังอยู่ในช่วงยุคสมัยของคลาสสิก แต่ถ้าวิเคราะห์กันที่เนื้อใจความของเพลง มันสามารถตีความได้ทั้ง Classical และ Romantic ซึ่ง E.T.A. Hoffmann น่าจะเป็นคนแรกเลยที่ในบทความวิจารณ์ของเขา สร้างนิยามของ Romantic Era ให้กับเพลงนี้

“Beethoven’s music wields the lever of fear, awe, horror, and pain, and it awakens that eternal longing that is the essence of the romantic.”

ใครสนใจอ่านบทความวิจารณ์เพลงของ E.T.A. Hoffmann ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1810 คลิกโลด!
reference: [CLICK]

Symphony No. 5 ถูกนำมาใช้แพร่หลายในทุกๆวงการ ขอพูดถึงเฉพาะภาพยนตร์แล้วกันนะครับ
– The Orchestra Conductor (1980) ของผู้กำกับ Andrzej Wajda
– Beethoven(1992) หนังครอบครัวเกี่ยวกับสุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด ชื่อว่า Beethoven โดยใช้เสียงโน้ตท่อนนี้ แทนเรียกเจ้าหมา
– Fantasia 2000 (1999) มีท่อนแรกอยู่นิดนึงตอนต้น
– V for Vendetta (2005) ใช้ท่อนนี้ สื่อถึงการต่อสู้และชัยชนะ โดย V (มาจากเลข 5 และหมายถึง Victory) ยังเป็นชื่อตัวละครเอก

ปกติผมจะไม่ค่อยได้ฟังเพลงซิมโฟนีนี้เท่าไหร่ คือเคยฟังจนติดหูหมดความน่าสนใจไปนานแล้ว ถ้ากับของ Beethoven ชอบฟัง No. 7 กับ No. 9 บางท่อนมากกว่า แต่คราวนี้หลังจากได้ตั้งใจฟังเพื่อวิเคราะห์ตีความบทเพลง เกิดความชื่นชอบท่อนสี่เพิ่มเติมขึ้นมา หลงใหลในเทคนิคและความอลังการ โดยเฉพาะการประสานเสียงเครื่องดนตรีทั้งหลายให้ได้ลงตัวทั้งขนาดนี้ ต้องระดับอัจฉริยะ Beethoven เท่านั้นละถึงทำได้ สมแล้วกับที่บทเพลงนี้กลายเป็นตำนาน

TAGLINE | “Symphony No. 5 คือบทเพลงที่ประตูเปิดสู่ความเป็นอนันต์ของ Ludwig van Beethoven”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: