Belladonna of Sadness (1973)
: Eiichi Yamamoto ♥♥♥♥
ภาพยนตร์อนิเมชั่นสุด Cult จากญี่ปุ่น เรต 18+ อันเลื่องชื่อ ด้วยภาพที่โคตรรุนแรงแต่มีความงดงามราวกับภาพสีน้ำมัน และเทคนิคการเล่าเรื่องที่เป็น Cinematic แบบเดียวกับอนิเมชั่นของ Osamu Tezuka, ถ้าคุณโตพอและชื่นชอบอนิเมชั่น ลองหาเรื่องนี้มาดูนะครับ เพิ่งได้รับการ Restoration 4K digital ในปี 2016 นี้เอง
ให้ดูตัวอย่างอนิเมชั่นเรื่องนี้ก่อนเลยนะครับ ชอบไม่ชอบค่อยว่ากันอีกที ความแนวลักษณะนี้ไม่ใช่ทุกคนจะดูได้แน่นอน
ผมหลงอะไรกับตัวอย่างอนิเมะเรื่องนี้ งานภาพที่งดงามราวกับภาพวาดสีน้ำมัน, เพลงประกอบ Jazz Fusion (Jazz Rock) เป็น Avant-Garde ที่มีความไพเราะมากๆ, และความ Erotic ที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ ถ้าคุณมี 1 ใน 3 อย่างนี้ แนะนำให้หาโหลดอนิเมะมาดูเลยนะครับ (คิดว่าอนิเมชั่นแบบนี้คงไม่มีวันเข้าไทยแน่ๆ)
Belladonna of Sadness เป็นผลงานของ Mushi Production ด้วยความตั้งใจของ Osuma Tezuka ให้ปิดไตรภาค Animerama ที่สร้างมาก่อนแล้วสองเรื่อง One Thousand and One Arabian Nights (1969) และ Cleopatra: Queen of Sex (1970) แต่เพราะเขาออกจาก Mushi Production ไปเสียก่อน ตั้งแต่โปรเจคยังไม่ได้ตั้งไข่ เลยไม่ได้รับเครดิตใดๆ
ผู้กำกับ Eiichi Yamamoto ได้แรงบันดาลใจมาจาก Non-Fiction ของ Jules Michelet เรื่อง Satanism and Witchcraft เรื่องราวของ Jeanne (หรือ Joan of Arc) หญิงสาวที่มีชีวิตสุดระทมขื่นขม ในงานแต่งงานเธอถูกข่มขืนกระทำชำเราเพราะสามีไม่มีเงินใช้หนี้งานแต่ง แต่กลับค่อยๆไต่เต้า ทำชีวิตให้รุ่งโรจน์ จนถูกกล่าวหาว่าใช้มนต์ดำ (Witchcraft) ล่อลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อ จนถูกจับเผาไฟให้ตายทั้งเป็น
ในอนิเมชั่นจะมีตัวละครหลักอยู่ 3-4 คน
Jeanne พากย์เสียงโดย Aiko Nagayama, หญิงสาวอาภัพผู้โชคร้าย แทบไม่มีอะไรในชีวิตเธอที่ดูมีความสุขเลย ต้องประสบกับเรื่องเลวร้ายตลอดเวลา แต่เธอไม่เคยยอมแพ้ เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจ ความดี และรักสามีสุดหัวใจ
The Devil พากย์เสียงโดย Tatsuya Nakadai เป็นมารร้ายที่อยู่ในจิตใจของ Jeanne ไม่มีใครอื่นที่เห็นเจ้าสิ่งนี้ มันเกิดขึ้นมาได้ยังไงกัน เป็นเรื่องพิศวงไม่น้อย
Jean สามี Jeanne พากย์เสียงโดย Katsutaka Ito, ชายยากจน ที่โชคดีได้แต่งกับสาวสวย Jeanne ทำให้กลายเป็นที่อิจฉาของใครๆ กระนั้นเขาก็ได้ดีเพราะภรรยา แต่ไม่เคยรู้ตนเอง แม้ Jean จะรัก Jeanne มาแค่ไหน แต่เขารักตนเองมากกว่า สุดท้ายแล้ว…
สไตล์ของอนิเมชั่นถือว่าได้อิทธิพลมาจาก Gustav Klimt จิตรกรชาว Austria ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในสไตล์ศิลปะแนวใหม่ หรือ Art Nouveau, ภาพวาดที่โด่งดังที่สุดของ Klimt คือ The Kiss จิตรกรรมสีน้ำมันปิดทองบนผ้าใบ เป็นภาพคู่รักในผ้าคลุมสีทองหลากหลายที่ตกแต่งอย่างวิจิตรและเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ
เกร็ด: Gustav Klimt มีอีกภาพวาดหนึ่ง ประมูลได้ราคาแพงที่สุดในโลกชื่อ Portrait of Adele Bloch-Bauer I ราคา $135 ล้านดอลลาร์
ด้วยความที่เรื่องราวของอนิเมะค่อนข้างมีความโหดร้ายรุนแรง ผู้สร้างจีงไม่ต้องการทำให้มันออกมาดูเหมือนอนิเมะธรรมดาทั่วไป เลือกที่จะวาดภาพโป๊เปลือย ตีแผ่สิ่งที่อยู่ภายใต้เสื้อผ้า เนื้อหนัง เข้าไปถึงข้างในจิตใจ นำเสนอออกมาให้ดูดีมีสไตล์ เชิงสัญลักษณ์ ในแบบที่ไม่ใช่ว่าใครๆจะดูเข้าใจได้
ถ่ายภาพโดย Shigeru Yamazaki มีการซูมเข้า-ออก เลื่อนภาพ ฯ, ต้องบอกว่าอนิเมะใช้การเลื่อนภาพไปทางขวาได้ไกลมากๆ นี่แสดงว่าใช้การวาดภาพขนาดยาวแล้วใช้กล้องสไลด์ถ่ายไปเรื่อยๆ (ส่วนใหญ่เป็นภาพนิ่ง), ผมชอบฉากต้นเรื่องมากๆ ที่ขณะภาพเลื่อนไป แล้วงานภาพค่อยๆพัฒนาขึ้น จากเส้นกลายเป็นวัตถุ กลายเป็นบ้าน เมือง ตัวละครใส่สี ถือเป็นการเริ่มต้นที่น่าประทับใจมาก
ไฮไลท์ของงานภาพคงเป็นตอน Jeanne โดนเผา ผมรู้สึกว่ามันสวยมากๆ คือไม่ได้เป็นไฟลุกโชติช่วงอะไร แต่เป็นการเล่นกับจินตนาการ ให้เราคิดไปเองว่านั่นคือไฟ นั่นคือควัน ถึงผู้ชมจะไม่รู้สึกเร่าร้อน แต่จะรุ่มร้อนในอก
การใช้สีของอนิเมะ มีหลากหลายมาก และใช่ว่าทุกฉากจะมีสีที่เหมือนกัน อย่างสีผมของ Jeanne ผมก็ไม่รู้ว่าจริงๆเธอสีผมอะไร ชมพู, น้ำเงิน, ม่วง, ส้ม ฯ เพราะมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ น่าจะตามอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร, แต่มี 2-3 สิ่งที่สีแน่นอนมั่นคงมาก อาทิ ชุดของ The Witch จะสีดำสนิท และ Devil ตัวจะสีแดง (สีแห่งความชั่วร้าย) ฯ
ตัดต่อโดย Masashi Furukawa ด้วยความที่ทุนสร้างอนิเมชั่นสมัยนั้นไม่ได้มีเยอะแยะ นักวาดเก่งๆก็ไม่ได้มีมากมาย แถมเทคนิคก็ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา และเวลาการสร้างที่จำกัด ทำให้หลายฉากในอนิเมะมีแค่ภาพหลัก (Key) ที่ไม่มีภาพเคลื่อนไหว (Animation) ก็ต้องทำใจนะครับ กับคนที่เคยดูอนิเมชั่นของ Osamu Tezuka ก็คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี นี่ถือเป็นสไตล์ที่เรียกว่า Cinematic นะครับ ต้องใช้จินตนาการเยอะมากเพื่อทำความเข้าใจ สร้างภาพเคลื่อนไหวในหัวของเรา
เพลงประกอบโดย Masahiko Satoh นักประพันธ์ เปียโนและ Jazz, สไตล์เพลงของอนิเมะถูกเรียกว่า Jazz Fusion หรือ Jazz Rock คือมีส่วนผสมของดนตรี Jazz กับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ อาทิ กลอง กีตาร์ เบส คีย์บอร์ด ฯ กับเพลงชื่อ Belladonna Of Sadness เสียงกระซิบเรียก Belladonna ช่างโหยหวน แสดงถึงความรู้สึกถึงตัวละครนี้ ที่เจ็บปวดรวดร้าว จากการถูกทรยศ หักหลัก ฟังแล้วโศกเศร้า อยากร้องไห้แต่มันไม่มีน้ำตาไหลออกมา
ถ้าคุณดูอนิเมะเรื่องนี้แล้วไม่เศร้า ไม่รู้สึกเจ็บปวด มันก็คงผิดความตั้งใจของผู้สร้างแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องร้องไห้ออกมานะครับ (คือผมก็ไม่ได้ร้องไห้นะครับ) เพราะมันคนละอารมณ์กับความเจ็บปวด, ทั้งงานภาพและเพลงประกอบ สร้างบรรยากาศความรู้สึกแทนตัวละคร Belladonna (Bella ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า สวย, Donna มาจาก Madonna ที่แปลว่า ผู้หญิง, รวมแล้วแปลว่า ผู้หญิงสวย) เราจะเห็นทั้งภายนอกและภายในจิตใจของเธอ
The Devil เป็นตัวละครเชิงสัญลักษณ์ของอนิเมะ เปรียบได้ก็คือด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ ที่ช่วงแรกๆมันอาจตัวเล็กนิดเดียว แต่พอความเจ็บปวด ผิดหวัง สะสมเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ เปรียบได้กับอาหาร เชื้อเพลิงของความชั่วร้าย ที่จะขยายขนาดใหญ่โตจนกลายเป็นเหมือนยักษ์ใหญ่กลืนกินจิตใจมนุษย์ ถ้ามันร่างกายของมันใหญ่เกินกว่าโลกมนุษย์ คนๆนั้นก็จะถูกความชั่วร้ายเข้าครอบงำทั้งจิตใจจนหมดสิ้น
หลายคนอาจรู้สึกขัดแย้ง คือถ้า The Devil มันคือด้านมืดในหัวใจ แล้วทำไมสิ่งที่ Jeanne แสดงออกมา ถึงออกไปในทางดีทั้งหมด?, ใช่ครับ ฟังดูมันขัดแย้งนะแหละ เพราะแทนที่ Jeanne จะทำอะไรที่ชั่วร้าย แต่อนิเมะกลับตารปัตรโดนสิ้นเชิง ให้เธอแสดงความดีบริสุทธิ์ของตนเองออกมา, นั่นเพราะสิ่งที่ Jeanne ทำข้างในจิตใจก็คือ นำความเกลียดชัง ความเจ็บปวดทั้งหลายป้อนให้กลายเป็นอาหารของ The Devil (มันจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ) ส่วนตัวเธอเองเมื่อปราศจากความชั่วร้าย ก็เหลือแต่ความดีบริสุทธิ์ นั่นคือธาตุแท้ ตัวตนของเธอที่แสดงออกมา, ซึ่งหลายครั้งเมื่อความเจ็บปวด ชั่วร้ายกลับมา มันจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เธอต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะมารร้ายในจิตใจ ให้ตนเองกลับมาบริสุทธิ์สดใส จิตใจเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในความดี
ตอนจบถือ น่าจะถือว่า Sadnest เศร้าที่สุด เพราะคนสุดท้ายที่ทรยศ Jeanne กลับเป็นคนใกล้ตัว ที่เธอเชื่อใจที่สุด, ผมค่อนข้างเชื่อว่า Jean รู้ตัวเองดีที่ทำแบบนั้นนะครับ แต่เพราะความเห็นแก่ตัว และต้องการมีชีวิต นั่นทำให้ผลลัพท์ เกิดความบ้าคลั่ง (รับตัวเองไม่ได้) ถูกธนูอันแหลมคม ไม่รู้จำนวนเท่าไหร่ทิ่มแทงตาย (เปรียบเทียบแทนความเจ็บปวดของ Jeanne ที่ถูกทิ่มแทงลักษณะนี้เช่นกัน), การตายของ Jeanne คือการถูกเผา แบบเดียวกับ Joan of Arc (คือหนังอิงจากตำนาน Joan of Arc พอสมควรนะครับ ซึ่งในประวัติศาสตร์ Joan อ้างว่าได้ยินเสียงคำสั่งของพระเจ้า ในหนังเปรียบเหมือนเสียงของ The Devil ที่สุดท้ายไม่มีใครเชื่อ ถูกตีตราว่าเป็นคนนอกรีตแล้วจึงถูกเผาตายทั้งเป็น)
อนิเมะฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Berlin ก่อนฉายที่ญี่ปุ่นในวันถัดมา แต่คงเพราะไม่ได้มีเครดิตของ Osuma Tezuka ทำให้ขาดทุนย่อยยับ และ Mushi Production ต้องประกาศล้มละลายตอนสิ้นปี (แต่บริษัทก็ยังไม่ได้ปิดตัวไปนะครับ แค่ล้มละลายเฉยๆ)
แนะนำกับคออนิเมชั่น ถ้าคุณโตพอ และไม่มีอคติต่อภาพความรุนแรง ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องดูอนิเมะเรื่องนี้ให้ได้, นักคิด นักปรัชญา ที่ชอบคิดวิเคราะห์ความหมายเชิงสัญลักษณ์, แฟนอนิเมชั่นของ Osamu Tezuka ถ้าเขาไม่รีบออกจากสตูดิโอเสียก่อน น่าจะเป็นผู้กำกับอนิเมะเรื่องนี้ แต่ Eiichi Yamamoto ก็ยังคงสไตล์ของ Tezuka เอาไว้ ดูแล้วจะรู้สึก God-like มาก
แนะนำอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับศิลปิน จิตรกร ผู้ชื่นชอบงานศิลปะ Avant-Garde และคอเพลง Jazz Fusion ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 18+ ภาพความรุนแรง ข่มขืน เลือด ยาเสพติด มีครบทุกอย่าง
Leave a Reply