Belle de Jour

Belle de Jour (1967) French : Luis Buñuel ♥♥♥♥

อีกหนึ่ง Masterpiece รางวัล Golden Lion ของ Luis Buñuel กับหนัง Erotic แมวๆ นำแสดงโดยนางเหมียว Catherine Deneuve ชื่อในวงการ Belle de Jour (คนสวยตอนกลางวัน) สำหรับเธอนั้น ความรักกับ Sex เป็นคนละเรื่องกัน

มีอยู่เยอะนะครับผู้หญิงแบบ Belle de Jour ตอนอยู่บ้านก็มอบความรัก ดูแลเอาใจใส่สามีเป็นอย่างดี แต่พอออกนอกบ้านพ้นสายตาคนรักเมื่อไหร่เปลี่ยนเป็นคนละคน ลวดลายครามนางแมวสีสวาทก็ออกอาละวาดเพ่นพ่าน เรื่องบนเตียงมิเป็นสองรองใคร

ผมรับชมหนังเรื่องนี้ เกิดความรู้สึก…บรรยายบอกไม่ถูกเลย มันวาบๆหวิวๆ รุ่มร้อนแน่นอก หายใจไม่ทั่วท้องยังไงชอลกล เกิดแต่คำถาม ทำไม! ทำไม? ดิ้นทุรนทุราย กับเหตุผลที่หนังให้มานั้นเพียงพอแต่ไม่พอเพียง (เพียงพอในบริบทของหนัง แต่ไม่พึงพอในความเข้าใจ) นี่คงอาจเพราะผมไม่เข้าใจอารมณ์ผู้หญิงประเภทนี้ก็ว่าได้

หลังจากใช้ชีวิต สร้างภาพยนตร์อยู่ Mexico มาก็ไม่รู้กีปี่ ประสบความสำเร็จจนไม่เหลืออะไรต้องแคร์อีกแล้ว Luis Buñuel เมื่อปี 1966 ได้รับการติดต่อจากสองพี่น้อง Robert Hakim กับ Raymond Hakim โปรดิวเซอร์สัญชาติ Egyptian-French ที่มีความเชี่ยวชาญหนังแนว Sexy/Erotic ยื่นข้อเสนอให้กำกับหนังดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Belle de Jour (1928) ของ Joseph Kessel นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส

หลังจากได้อ่านนิยาย Buñuel บอกเลยว่าไม่ค่อยชื่นชอบนิยายเท่าไหร่ รู้สึกว่า ‘a bit of a soap opera’ แต่เขาตัดสินใจรับคำท้า

“I found it interesting to try to turn something I didn’t like into something I did.”

ร่วมงานกับ Jean-Claude Carrière นักเขียนบทขาประจำ ทั้งสองมีความกระตือรือล้นอยากยิ่งในการไปค้นคว้าหาข้อมูล สัมภาษณ์สาวๆโสเภณีที่กรุง Madrid เรียนรู้เกี่ยวกับ Sexual Fantasy ของพวกเธอ

Séverine Serizy (รับบทโดย Catherine Deneuve) หญิงสาวสวยแต่งงานกับสามีหมอหนุ่ม Pierre Serizy (รับบท Jean Sorel) แต่เพราะปมบางอย่างในอดีตทำให้มิอาจร่วมรักกันได้ สามีก็ยินยอมอดทนรอคอยอย่างใจเย็น, เพื่อค้นหาทำความเข้าใจตนเอง หญิงสาวจึงได้แอบทำงานเป็นโสเภณีในซ่องชั้นสูง (High-Class Brothel) ได้รับชื่อฉายา Belle de Jour นี่เป็นสถานที่ที่ทำให้เธอได้รู้จักตัวตนแท้จริงของตนเอง

Catherine Deneuve (เกิดปี 1943) นักแสดงหญิงในตำนานของฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris เป็นลูกของสองนักแสดงละครเวทีชื่อดัง Maurice Dorléac กับ Renée Simonot, เข้าวงการมาตั้งแต่อายุ 13 แจ้งเกิดเต็มตัวกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) ผลงานดังของเธอ อาทิ Repulsion (1965), The Young Girls of Rochefort (1967), Tristana (1970) ฯ เข้าชิง Oscar: Best Actress กับหนังเรื่อง Indochine (1992) ฯ

Séverine หรือ Severin (แปลว่า Severe, รุนแรงสาหัส) เพราะวัยเด็กเคยถูกลวนลามทางเพศโดยผู้ใหญ่ โตขึ้นเลยกลายเป็นปมฝังใจ ที่ทั้งหวาดกลัวและหื่นกระหาย กลายเป็นพวก Masochist (ชื่นชอบการถูกทรมาน ใช้ความรุนแรง) เพ้อฝันถึง Sex Fantasy โดยมีเสียงกระดิ่งและแมวคราง เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

Belle de Jour ชื่อฉายาของแมวสาวร่านสวาท โสเภณีชั้นสูงผู้ชื่นชอบการถูกกระทำ มอง Sex เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานเริงใจ ครั้งหนึ่งมีความชื่นชอบตกหลุมใหลในความหนุ่มเยาว์ของ Marcel ของเล่นชิ้นดีที่สุดที่ได้เป็นเจ้าของ แต่เมื่อความแตกก็ถึงเวลาต้องยุติบทบาทนี้ลงเสียที … แต่จะเป็นไปได้หรือ ที่ตัวตนนี้จะหายไปจริงๆ

เกร็ด: Belle de Jour (Lady of the Day) เป็นคำที่ตรงข้ามกับ Belle de Nuit (Lady of the Night) ซึ่งคำหลังมีนัยยะแทนถึง โสเภณี (ทำงานกลางคืน) แต่เพราะ Séverine ทำงานเฉพาะกลางวัน จึงทำให้ได้รับชื่อฉายานี้, ในภาษาฝรั่งเศส Belle de Jour ยังมีอีกความหมายหนึ่ง คือ Daylily/ดอกไม้จีน ที่จะเบ่งบานเฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น

ตัวเลือกหญิงสาววัย 22 ปี Catherine Deneuve ไม่เป็นที่พึงพอใจของ Buñuel เสียเท่าไหร่ (ถูกบังคับจากโปรดิวเซอร์) เพราะเธอค่อนข้างจะเรื่องมาก พยายามไม่ให้เห็นหน้าอกส่วนเร้นลับของตนเอง กระนั้นยังเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า

“I felt they showed more of me than they’d said they were going to. There were moments when I felt totally used. I was very unhappy,”

นี่ยังรวมถึงปัญหาการทำงาน ความเข้าใจไม่ตรงกัน และ Deneuve ที่อาจไม่เข้าใจวิสัยทัศน์ของ Buñuel (คงเพราะ Buñuel อยู่ Mexico มานาน ที่ซึ่งกระบวนการทำงานคงแตกต่างจากฝรั่งเศสพอสมควร) ถึงกระนั้น เรือนร่างและการแสดงของ Deneuve ได้ทำให้ผู้ชายวัยรุ่นหนุ่มสมัยนั้น ฝันเปียกสมหวังกันโดยถ้วนทั่ว

เกร็ด: ถึงจะเหมือนมีปัญหา แต่ Deneuve กับ Buñuel ก็ได้ร่วมงานกันอีกใน Tristana (1970)

ว่าไปนี่ไม่ใช่หนังเรื่องแรกของ Deneuve ที่ถูกกระทำทารุณ (Maso) เป็นสิ่งสัญลักษณ์ทางเพศนะครับ ก่อนหน้านี้กับหนังเรื่อง Repulsion (1965) ของผู้กำกับ Roman Polanski ก็แทบไม่ต่างกันมากนัก คงด้วยเหตุนี้โปรดิวเซอร์เลยคาดหวังวาด Deneuve ย่อมต้องสามารถทนทานในการเล่นหนังเรื่องนี้ได้แน่

สำหรับเสื้อผ้าหน้าผมของเธอ จะพบว่าแทบไม่มีซ้ำกันเลย ออกแบบโดย Yves St. Laurent คงเพราะหนังได้งบประมาณที่ค่องข้างเยอะกว่าปกติ จึงสามารถแต่งองค์ทรงเครื่องเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ, นี่มีนัยยะแสดงถึงความว่างๆของคนรวย ไม่มีอะไรเลย ก็เลยฟุ่มเฟือยกับสิ่งเล็กๆน้อยๆพวกนี้

Jean Sorel หรือ Jean de Combault-Roquebrune (เกิดปี 1934) นักแสดงหนุ่มหล่อ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Marseille, Bouches-du-Rhône, มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Sandra (1965), Belle de Jour (1967), The Day of the Jackal (1973) ฯ

รับบทสามีผู้ไร้เดียงสา Dr. Pierre Serizy เพราะความที่รักมากจึงยินยอมเข้าใจทะนุถนอม โดยไม่เคยล่วงรับรู้ว่า ภายในจิตใจแท้จริงของภรรยาเป็นเช่นไร, นี่อาจเป็นการล้อเลียนกับอาชีพของหมอ ที่สามารถวัดไข้ผ่าตัดเห็นอวัยวะภายในของผู้ป่วย แต่กลับไม่สามารถรับรู้ผ่าตัดเข้าไปในจิตใจของหญิงสาวได้

Jacques Daniel Michel Piccoli (เกิดปี 1925) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส หนึ่งในผู้มีผลงานต่อเนื่องยาวนาน จนได้รับการยกย่องกล่าวขานว่าคือ ‘สัญลักษณ์’ แห่งวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส มีผลงานเด่นในยุค 60s – 80s เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางกับ Le mépris (1963) เคยคว้ารางวัล
– Best Actor เทศกาลหนังเมือง Cannes เรื่อง A Leap in the Dark (1980)
– Silver Bear: Best Actor เทศกาลหนังเมือง Berlin เรื่อง Strange Affair (1981)

รับบท Henri Husson เพื่อนที่รู้จักทั้ง Séverine กับ Pierre โดยไม่รู้ตัวเป็นคนแนะนำหญิงสาวถึงสถานที่ซ่องโสเภณีชั้นสูง และความแตกเพราะได้พบเจอกับกันที่นั่น

Pierre André Clémenti (1942 – 1999) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นที่รู้จักกับ Belle de jour (1967) และ The Milky Way (1969), รับบท Marcel แก๊งสเตอร์หนุ่มน้อย หลังจากได้ลิ้มรสรักของ Belle de Jour ก็หลงใหลติดใจหัวปลักหัวปำ หารู้ไม่แท้จริงตัวเองเป็นเพียงของเล่นของนางแมวสีสวาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็พยายามล่วงเข้าไปในชีวิตจริงของเธอ กระทำการอุกอาจ จนได้รับผลกรรมตามทันอย่างรวดเร็ว

เกร็ด: Buñuel ปรากฎตัว Cameo ในหนังด้วยนะครับ ช็อตนี้ที่นั่งอยู่กลางภาพ เหลือบมองชายใส่สูทถือร่ม

ถ่ายภาพโดย Sacha Vierny ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของ Alain Resnais ที่มีผลงานดังอย่าง Nuit et brouillard (1955), Hiroshima mon amour (1959), Last Year at Marienbad (1961) ฯ

มีหลายช็อตของหนังที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด อย่างช็อตในความฝันนี้ ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดสีน้ำมัน Angelus (L’Angelus) ของจิตรกร Jean-François Millet วาดปี 1859, ถึงภาพนี้จะมีความเป็น Realism แต่ในปัจจุบันมองได้คือ Religious ชาวนาสองคน (น่าจะสามีภรรยา) ยืนสงบนิ่งอธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้า ให้การทำการเกษตรครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี … นัยยะต่อหนัง เพราะนี่คือฉากความฝัน มองได้คือการอธิษฐานของนางเอก ที่มีความต้องการ …

เนื่องจากเรื่องราวของหนังประกอบด้วย necrophilia (มีอารมณ์กับศพ), incest (Sex ในครอบครัว), scatology (เกี่ยวกับอุจาระ) มีภาพวาดหนึ่งของหนังที่ Buñuel ใส่เข้ามา แต่ถูกกองเซนเซอร์สั่งให้ตัดออก แปลกที่หนังทั้งเรื่องให้ตัดแค่ภาพนี้ออกช็อตเดียว แม้จะเป็นภาพวาดที่ผู้กำกับชื่นชอบสุด แต่ก็ยินยอมโดยสงบ ดังคำกล่าวที่ว่า ‘by letting the censors cut one thing, you keep them from cutting even more.’

ภาพดังกล่าวมีชื่อว่า Crucifixion วาดโดย Matthias Grünewald (1470 – 1528) จิตรกร German Renaissance ที่ชื่อชอบวาดพระเยซูช่วงขณะถูกทรมานลงทัณฑ์, ผมคาดการณ์ว่าภาพนี้ น่าจะปรากฎช่วงท้าย เมื่อนางเอกรู้ตัวและสำนึกผิดแล้ว

ตัดต่อโดย Louisette Hautecoeur หนังใช้มุมมองของ Séverine ทั้งหมด โดยจะมีสอดแทรกภาพย้อนอดีต และในความฝันจินตนาการเข้ามา, หนังไม่มีจุดสังเกตบอกว่า นี่เป็นอดีต-ปัจจุบัน ความจริง-ความฝัน ต้องใช้การทำความเข้าใจด้วยตนเอง แต่ผมมีคำแนะนำให้คือ ถ้าเป็นซีนย้อนอดีตมักจะเป็นตอนเด็กเท่านั้น ส่วนซีนความฝันจินตนาการ จะเป็นเหตุการณ์ที่มีความแรงเว่อ หญิงสาวจะถูกกระทำ ทรมานตนเอง ไม่มีทางเกิดขึ้นเป็นจริงในเรื่องราวปกติได้

หนังของ Buñuel ขึ้นชื่อเรื่องการมีสิ่งสัญลักษณ์ Surrealist มากมาย ไม่ใช่แค่ภาพวาด Abstract ประกอบพื้นหลัง, หรือสิ่งสัญลักษณ์ต่างๆ อาทิ รถม้า, เชือกแส้, รถเข็น ฯ แต่ยังรวมถึงเสียง Sound Effect อาทิ เสียงกระดิ่ง, แมวคราง ฯ ทุกสิ่งอย่างที่ปรากฎขึ้นในฉากความฝัน ‘ต้อง’กลับมาให้พบเห็นได้ยินอีกครั้งในชีวิตจริง อาจด้วยรูปแบบลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
– รถม้าสีดำ สัญลักษณ์ของการเดินทาง, ในความฝันคือการเดินทางสู่การถูกทรมาน ส่วนชีวิตจริง Duke ท่านหนึ่งพาเธอไปคฤหาสถ์เพื่อสมบทบาทภรรยาที่เสียงชีวิต (พี่แกนอนลง น่าจะช่วยตัวเองจากการเห็นก้นของศพ)
– เสียงกระดิ่ง jingle bell คือการเรียกหา มักได้ยินเคียงคู่กับรถม้า แต่มีครั้งหนึ่งเมื่อลูกค้าชาวจีนสั่นกระดิ่ง นางแมวหง่าวเลยละ (ฉากถัดมาเธอนอนหมดเรี่ยวแรง ในสภาพพึงพอใจมากๆ), ถ้าคุณเคยเล่นกับแมว เอากระดิ่งเล็กๆไปยั่วมัน ก็จะเล่นกับเราด้วยความสนใจ
– เชือกแส้ คือการทรมานตัวเอง (Maso), จริงอยู่นางเอกชื่นชอบการถูกกระทำทรมาน แต่ถ้าต้องกระทำตรงกันข้ามกับคนอื่น กลับมองว่าต่ำสิ้นดี
– รถเข็น (Wheelchair) คือการสูญเสียบางสิ่งอย่าง

เท่าที่ผมจดจำได้ มีฉากความฝันจินตนาการทั้งหมด 3 ซีน ซึ่งมีนัยยะสื่อถึงความต้องการแท้จริงในใจของหญิงสาวทั้งหมด (วิเคราะห์ตีความได้ด้วยหลัก จิตวิเคราะห์ ของ Sigmund Fred)

ฉากแรกสุดของหนัง รถม้ากำลังเคลื่อนผ่านพร้อมด้วยเสียงกระดิ่ง jingle bell สองชายหญิง อยู่ดีๆก็กระทำการที่ไม่มีใครคาดถึงอย่างแน่นอน -นี่คือสไตล์ลายเซ็นของผู้กำกับ Buñuel นำเสนอสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดถึงได้แน่นอน!- ตอนที่ถูกเฆี่ยนด้วยแส้ หญิงสาวพูดออกมาว่า

“Pierre, please, don’t let the cats out.”

ทั้งๆที่ไม่เห็นแมวสักตัวในหนัง แต่นี่คือสัตว์สัญลักษณ์ ตัวแทนของผู้หญิงที่มีพฤติกรรมเหมือนแมว … ใครที่เลี้ยงแมวลองระลึกถึงพฤติกรรมของมันดูนะครับ เริดเชิด เย่อหยิ่ง เอาแต่ใจ เรียกร้องความสนใจ ฯ ภาษาไทยเรามีคำว่า นางแมวยั่วสวาท คือผู้หญิงที่มีลีลารักเย้ายวนใจ, ส่วนภาษาอังกฤษ pussy=จิมิ ก็แปลว่า pussy cat แมวเหมียว ได้เช่นกัน

‘อย่าให้แมวหลุดออกมา’ มีความหมายถึง อย่าให้ตัวต้นแท้จริงได้ปรากฎเปิดเผยออกมา

ฉากที่สองเริ่มต้นจากเสียงกระดิ่งวัว/ขลุมวัว (ก็ไม่ต่างกับกระดิ่งแมว jungle bell เสียเท่าไหร่) ถ่ายให้เห็นฝูงกระทิง และชายสองคน Pierre กับ Husson พูดคุยสนทนากัน

“Do bulls have names, like cats?”

มองภายนอกเหมือนว่าการกระทำ ปาขี้วัวใส่ เพื่อให้เกิดความสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี แต่สังเกตจากสีหน้าของหญิงสาว รอยยิ้มกริ่ม เหมือนจะมีความสุขอย่างยิ่งที่ได้ถูกกระทำอะไรต่ำช้าขนาดนี้, ฉากนี้ยังมีนัยยะถึง Scatology เสพสมกับสิ่งปฏิกูล (เพราะรอบยิ้มกริ่มของหญิงสาวขณะถูกปาขี้วัว จะมีคนปกติยิ้มออกไหมละครับ)

ฉากสุดท้ายของหนัง เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างกับ Pierre ทำให้เขากลายเป็นอัมพาตมองไม่เห็น เดินไม่ได้ ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น, แต่แทนที่หญิงสาวจะสำนึกรู้ตัวอะไร เธอกับจินตนาการว่าสามีเข้าใจตัวตนแท้จริงของเธอ ลุกขึ้นมากอดจูบลูบไล้ พร้อมกับเสียงกระดิ่ง Jingle Bell แมวเหมียวคราญ ฯ มันคือความต้องการเป็นที่สุดท้ายของเธอ ถ้าเขาปฏิบัติแบบนี้ได้ ฉันคงไม่ต้องการอะไรอื่นแล้ว

มีฉากหนึ่งที่แปลกประหลาด พิศวงอย่างยิ่ง เรื่องของท่าน Duke ที่เมื่อภรรยาเสียชีวิตจากไป ได้เชิญหญิงสาวผมบลอนสวยๆ (หน้าเหมือนภรรยา) ให้มาสวมบทบาทนอนนิ่งๆเป็นศพ ซึ่งชุดที่พวกเธอสวมใส่ด้านหลังจะเปลือยเปล่า (จินตนาการได้ว่า ใต้โลงศพน่าจะเป็นกระจกแก้วใสที่สามารถมองเห็นบั้นท้ายได้)

“Can I let the cats in?”

แมวอีกแล้ว! จนถึงจุดนี้ผมยังไม่เห็นแมวสักตัว แต่กลับมีการพูดถึงอยู่เรื่อยๆ, ขอพูดถึง Necrophilia (มีอารมณ์กับศพ) ก่อนแล้วกัน คือความผิดปกติทางเพศลักษณะหนึ่ง ผู้ป่วยชื่นชอบคู่นอนที่มี Sex ด้วยแล้วไม่แสดงอาการขัดขืน เพราะกลัวการถูกปฎิเสธ ยินยอมรับไม่ได้ ข้ออ้างนี้จึงนำมาใช้กับศพ (ที่แน่นอนว่าย่อมต้องขัดขืนไม่ได้) โดยมักเป็นร่างของภรรยาที่เสียชีวิต หรือบุคคลที่ตนชอบหลงใหลคลั่งไคล้ต้องการครอบครอง … การแทรกใส่ฉากนี้เข้ามา แสดงถึงสถานะทางความต้องการของหญิงสาว ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเปิดเผยเรื่องราวนี้กับสามีของตนดีไหมหรือยังนิ่งเฉยเป็นศพต่อไป กล่าวคือจะยินยอมให้น้องเหมียว ตัวตนแท้จริงของเธอปรากฎกับสามีได้หรือยัง คำตอบของท่าน Dukes คือ ‘Leave us alone!’

มันเกิดอะไรขึ้นกับหญิงสาว ให้เธอกลายเป็นคนสองโลก มีความต้องการในจิตใจ Masochist แบบนี้?, หนังนำเสนอด้วยช็อตฉากอดีตเล็กๆ ที่ถ้าคุณเผลอกระพริบตา ก็จะพลาดไม่เห็นความเข้าใจนี้แน่นอน มีทั้งหมด 2 ฉาก

เด็กหญิงถูกลวนลามด้วย … น่าจะโดยพ่อของเธอเอง, หนังไม่ได้พูดบอกไว้ว่าเป็นใคร แต่ผมสังเกตมีคำว่า Incest อยู่ในคำอธิบายของหนัง ซึ่งก็มีแต่ฉากนี้เท่านั้นแหละที่มองได้ กระนั้นก็อาจเป็นปู่/ลุง/อา ญาติฝั่งไหนก็ได้ที่เป็นผู้ชาย ล้วนสื่อความหมาย Incest ได้ทั้งหมด, ลองจินตนาการสมมติตัวเองเป็นเด็กตัวเล็กๆที่ยังใสซื่อไร้เดียงสา บริสุทธิ์ผุดผ่อง แล้วอยู่ดีๆมีใครสักคนหนึ่ง ได้กระทำลวนลาม อ้างโน่นนี่นั่นให้ตายใจ จับโน่นนี่นั่น แล้วล่วงเกินถูกข่มขืน โดยไม่รู้ตัวตกเป็นเหยื่อของบุคคลผู้ชั่วช้า กลายเป็นจำเลยของสังคม โตขึ้นมาคิดว่าเด็กคนนั้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างไร ผมว่านี่อธิบายเหตุผลได้ทุกสิ่งอย่างของหนังเลยนะครับ

มีช็อตหนึ่งในโบสถ์ บาทหลวงในพิธีมิสซา ยื่นขนมปังให้กับเด็กๆทั้งหลาย แต่มีเด็กหญิงคนหนึ่งปฏิเสธไม่รับ นั่นเพราะเธอรู้ตัวเองว่า ฉันไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องอีกต่อไป, ตำแหน่งการแทรกใส่เข้ามาของช็อตนี้ถือว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะเป็นขณะที่ Séverine กำลังเดินขึ้นไปซ่องโสเภณี นี่คงเป็นสิ่งที่ชวนให้หวนระลึกถึงเหตุการณ์ตอนนั้น อีกครั้งที่จะทำบาป ขัดต่อความเชื่อหลักศาสนา

ทำไมผู้หญิงถึงทำอาชีพโสเภณี? เหตุผลคลาสสิกคือหาเงิน ใช้หนี้ ช่วยเหลือพ่อแม่ เก็บเงินทำตามความฝันของตนเอง ฯ แต่ก็มีบุคคลแบบเดียวกับ Séverine ประเภทที่โหยหาต้องการ Sexual Fantasy ตอบสนองปมปัญหาชีวิตวัยเด็ก หรือจากการถูกปลูกฝังแนวคิดผิดๆ สำหรับพวกเธอกลุ่มหลังนี้ Sex คือปัจจัยที่ขาดไม่ได้ ขายตัวแล้วทำให้รู้สึก ‘มีชีวิต’ นี่แหละคือตัวตนแท้จริงของฉัน

โสเภณี เป็นอาชีพที่ใครๆมักมองว่าไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี น่ารังเกียจขยะแขยง เลวทรามต่ำช้า แต่เชื่อหรือไม่มนุษย์ทุกคนต่างล้วนเคยชาติหนึ่งเกิดเป็นโสเภณีมาแล้วทั้งนั้น, พระพุทธเจ้าไม่เคยมีในคำสอนบอกว่า โสเภณีเป็นอาชีพต่ำต้อยไร้เกียรติศักดิ์ศรี กับบางคนที่ถูกขายให้กลายเป็นทาส จำต้องชดใช้หนี้กรรมเวรที่เคยก่อไว้ ไม่ประพฤติผิดศีลธรรมแยกผัวเมียคนอื่นเป็นใช้ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญสุดไม่ใช่อยู่ที่ความบันเทิงรมณ์ในรูปกาย จิตใจต่างหากที่ต่อให้ทำอาชีพไหนก็บริสุทธิ์ใจได้

ผมเห็นมาเยอะกับหญิงสาวที่กลายเป็นโสเภณีเพราะถูกบังคับ ติดหนี้สิน ต้องการอะไรบางอย่าง จิตใจของพวกเธอหาได้มีความสุขกับสิ่งที่ทำแม้แต่น้อย สาวๆเหล่านี้ยังพอ ให้อภัยกับความผิดพลาดกรรมเวรของพวกเธอได้, แต่ก็มีผู้หญิงอีกประเภทหนึ่ง บอกตามตรงว่าไม่เข้าใจพวกเธอจริงๆ Sex คือความสุขเท่านั้นที่ฉันต้องการ สนองตัณหาราคะ เงินเรื่องเล็ก สุขกายใจนี่เรื่องใหญ่ พวกเธอมีกรรมเวร ปมปัญหาอะไรติดตัวกันนะ ถึงได้คลั่งไคล้ยึดติดในรูปรสกลิ่นเสียงได้ขนาดนี้

ในกรณีของหนังเรื่องนี้ เมื่อหนังได้เปิดเผยปมอดีตของหญิงสาวก็ถือว่าพอรับรู้เข้าใจ น่าเห็นใจ ความต้องการค้นหาตัวเอง นี่เป็นสิ่งยังพอยอมรับให้อภัยได้บ้าง แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ถลำลึกลงไปในความไม่พอของตนเอง อะไรคือจุดประสงค์เป้าหมายของการยังขายตัวอยู่นี้ ราวกับว่าความสุขในแฟนตาซีนั้น มันได้แปรสภาพ กลืนกิน กลายร่าง ให้เธอเป็นนางแมวสีสวาท หลงใหลยึดติดกับในโลกแห่งกิเลสตัณหาราคะโดยเต็มตัวสมบูรณ์แบบแล้ว นี่หมายความว่าอะไรกัน!

บทสรุปที่ผมได้รับจากหนังเรื่องนี้ คือข้อคำถาม ‘ความรักกับ Sex คือสิ่งเดียวกันหรือเปล่า?’ หญิงสาวพยายามที่จะแยกชีวิตรักกับสามี และความต้องการแฟนตาซีของตัวเองออกจากกัน แต่จนแล้วจนรอดในข้อสรุปของ Luis Buñuel ครุ่นคิดจากบริบทของหนัง เขาตอบให้เลยว่า ‘ทำไม่ได้’ จริงอยู่มันอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งมันก็จะผนวกรวมกลายเป็นหนึ่งเดียว เพียงแค่เราจะสามารถรับรู้ตัวเอง ถอนตัวขึ้นมาได้ในช่วงเวลาที่ถูกต้องหรือเปล่า (แน่นอนว่าหนังทำให้หญิงสาว ถลำลึกลงไปจนถึงจุดที่ ไม่สามารถแก้ไขอะไรกลับคืนได้)

ผมต้องพูดเล่าอธิบายทุกครั้งกับหนังของ Buñuel เพราะชีวิตวัยเด็กเคยเชื่อมั่นศรัทธาในพระศาสนาอย่างจริงจัง แต่เมื่อค้นพบว่าแท้จริงบาทหลวงที่ดูแลเขากลับ … ทำให้เสียสิ้นศรัทธาไปโดยสิ้นเชิง พรากความเยาว์วัยเด็ก เติบโตขึ้นทันทีเป็นเด็กกร้านโลก มองโลกในแง่ร้ายตลอดเวลา นี่เป็นพื้นหลังของผู้กำกับที่คล้ายกับตัวละคร Séverine อย่างยิ่ง เรียกได้ว่ากึ่งชีวประวัติทางความคิด ความรู้สึกของผู้กำกับเลยละ

หนังเรื่องนี้ถือว่า ทำเงินประสบความสำเร็จทางรายรับสูงสุด ในบรรดาหนังของ Buñuel ทั้งหมด (แต่ไม่มีรายงานตัวเลข) ออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ามา 2 รางวัล
– Golden Lion
– Pasinetti Award for Best Film

ผู้เขียนนิยาย Joseph Kessel หลังจากมีโอกาสได้รับชมหนัง ก็เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้เป็นอย่างยิ่ง ชื่นชมความอัจฉริยของ Buñuel ที่เกิดความคาดหมายโดยสิ้นเชิง

“Buñuel’s genius has surpassed all that I could have hoped. It is at one and the same time the book and not the book.  We are in another dimension, that of the subconscious, of dreams and secret instincts suddenly laid out.”

ส่วนตัวไม่ชอบอารมณ์ที่ได้รับจากหนังเรื่องนี้เลยนะครับ แต่กลับชื่นชอบหลงใหลใน Direction ของผู้กำกับที่สร้างนางแมวเหมียวได้น่ารักน่าชังสิ้นดี แม้จะเห็นเต็มที่แค่แผ่นหลังของ Catherine Deneuve ก็เชื่อว่าหนุ่มๆหลายคนคงเคลิบเคลิ้มคลั่งหลั่งฝันเปียก ดูแล้ววันรุ่งขึ้นตื่นมาตรวจสอบที่นอนกับผ้าห่มให้ดีก่อนละ, อารมณ์ผมไม่ถึงจุดนั้นนะ แต่ต้องบอกว่าลืมไม่ลงจริงๆ

แนะนำกับผู้ชื่นชอบแนว Erotic, หลงใหล Sex แบบแปลกๆ, Maso/Sado, เรื่องราวของโสเภณี, คอหนัง Surrealist ทั้งหลาย, แฟนๆ Luis Buñuel อยากเห็นร่างเปลือยของ Catherine Deneuve ห้ามพลาดเด็ดขาด

จัดเรต R กับ Sexual Fantasy, Maso/Sado

TAGLINE | “Belle de Jour คือ Sexual Fantasy ของ Luis Buñuel ที่มี Catherine Deneuve ชวนให้เคลิบเคลิ้มคลั่งหลั่ง แปลกพิศดารแต่เสพสมอารมณ์หมาย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: