Ben-Hur: A Tale of the Christ (1925) Silent Film : Fred Niblo ♥♥♥♡
หนังที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในยุคหนังเงียบ, ว่ากันตามตรง Ben-Hur เวอร์ชั่นนี้อาจยิ่งใหญ่กว่า Ben-Hur (1959) เสียด้วยซ้ำ ทุกเทคนิคที่เห็นในเวอร์ชั่นของ William Wyler ล้วนเรียนรู้มาจากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ (Assistant Directors) ของหนังเรื่องนี้
เชื่อว่าใครๆคงรู้จัก Ben-Hur (1959) เพราะเป็นหนังสุดยิ่งใหญ่ที่กวาด 11 รางวัล Oscar มากที่สุด แต่น้อยคนคงจะรู้ว่า แท้จริง Ben-Hur เวอร์ชั่นนั้นถือว่าเป็น remake ของ Ben-Hur: A Tale of the Christ ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1925 สมัยยังเป็นหนังเงียบ, กระนั้นเวอร์ชั่นนี้ยังไม่ใช่หนังเรื่องแรกของ Ben-Hur นะครับ ยังมีเวอร์ชั่นหนังสั้นปี 1907 อีกเรื่อง นับจนถึงปัจจุบัน (2016) มีหนัง Ben-Hur ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้งหมด 5 เรื่อง
- Ben Hur (1907) หนังสั้นความยาว 15 นาที กำกับโดย Sidney Olcott
- Ben-Hur: A Tale of the Christ (1925) กำกับโดย Fred Niblo
- Ben-Hur (1959) กำกับโดย William Wyler นำแสดงโดย Charlton Heston
- Ben Hur (2003) เป็นหนังอนิเมชั่น ให้เสียงโดย Charlton Heston
- Ben-Hur (2016) กำกับโดย Timur Bekmambetov
นิยายเรื่อง Ben-Hur: A Tale of the Christ เขียนโดย Lew Wallace ตีพิมพ์เมื่อ 12 พฤศจิกายนปี 1880 เป็นหนึ่งในหนังสือขายดีที่สุดขณะนั้น (best-selling) ได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวที จัดแสดงต่อเนื่องยาวนานถึง 22 ปี (1899-1921) ขายตั๋วได้ 25,000 ใบต่อสัปดาห์ และได้รับยกย่องว่า ‘เป็นละครเวทีเกี่ยวกับศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด’ (the greatest play on stage when measured by its religious tone and more effect.)
การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี 1907 กำกับโดย Sidney Olcott ผู้กำกับยุคบุกเบิกสัญชาติแคนาดา, ไปรับชมกันก่อนนะครับ ใน Youtube มีคลิปหนัง ความยาว 15-16 นาทีนี้อยู่
ถ้าคุณอยากจะดูเวอร์ชั่นนี้เข้าใจ ผมคิดว่าคุณควรจะดู Ben-Hur เวอร์ชั่นไหนก่อนก็ได้ ถึงค่อยมาดูเวอร์ชั่นนี้ เพราะมันรวบรัดตัดตอนแบบสุดๆเลย ภาพยนตร์ในยุคแรกๆก็เป็นแบบนี้นะครับ มีลักษณะเหมือนภาพประกอบเหตุการณ์บางอย่าง ไม่ได้เจาะลึกลงรายละเอียดอะไร
ตอนต้นของคลิปจะมีข้อความหนึ่งที่บอกว่า ‘หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีการขออนุญาติจากเจ้าของบทประพันธ์’, แม้ Sidney Olcott ผู้แต่งนิยายเรื่อง Ben-Hur จะเสียชีวิตเมื่อปี 1905 แต่ตามกฎหมายแล้ว กรรมสิทธิ์เรื่องลิขสิทธิ์จะตกทอดสู่ครอบครัว ลูกหลานของ Olcott, นี่เป็นครั้งแรกที่มีเรื่องถึงขั้นฟ้องศาล เรื่องลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ในปี 1911 ศาลลงมติเข้าข้างจำเลย ทำให้นับจากนั้นมา ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่มีการดัดแปลงจากสื่ออื่น จักต้องมีการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ มีหลักฐาน ทำเป็นสัญญาก่อนที่จะเริ่มสร้างทุกครั้ง
จุดเริ่มต้นของหนัง ในปี 1922 หลังจากสิ้นสุดการแสดงละครเวที Goldwyn Company ได้ซื้อสิทธิ์ในการดัดแปลง Ben-Hur จากโปรดิวเซอร์ละครเวที Abraham Erlanger โดยตอนแรกให้ Charles Barbin เป็นผู้กำกับ เปิดกล้องเมื่อตุลาคม 1923 ที่กรุง Rome ประเทศ Italy แต่ไม่นานนัก Brabin ก็ถูกไล่ออก คงเพราะวิสัยทัศน์ไม่ตรงกับที่โปรดิวเซอร์ต้องการ
Metro-Goldwyn-Mayer ก่อตั้งขึ้นในปี 1924 จากการรวมตัวกันของ Metro Pictures, Goldwyn Pictures และ Louis B. Mayer Pictures สามสตูดิโอเล็กๆของ hollywood กลายมาเป็นสตูดิโอยักษ์ใหญ่ (คล้ายๆเมืองไทยเมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่ 3 สตูดิโอเล็กๆ Grammy, Tai, Hub รวมกันเป็น GTH), Ben-Hur จึงได้ตกทอดมาเป็นลิขสิทธิ์ของ MGM และการสร้างยังดำเนินต่อไป โดยส่งไม้ให้ผู้กำกับ Fred Niblo มาสานงานต่อ
Frederick Liedtke หรือ Fred Niblo นักแสดงรุ่นบุกเบิก ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน (ลูกครึ่งฝรั่งเศส), ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานกำกับอย่าง The Mark of Zorro (1920) และ The Three Musketeers (1921) ทั้งสองเรื่องนำแสดงโดย Douglas Fairbanks ซึ่งถือว่าหนังประสบความสำเร็จ ได้รับคำชมอย่างมาก นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ MGM ตัดสินใจเลือกผู้กำกับมาสานต่อหนังเรื่องนี้
สำหรับบท Ben-Hur ทีแรกผู้กำกับ Brabin เลือก George Walsh ให้รับบท แต่พอผู้กำกับถูกไล่ นักแสดงก็เลยถอนตัว ผู้กำกับคนใหม่ Niblo จึงเลือก Ramon Novarro นักแสดงเชื้อสาย Mexican-American ที่เพิ่งมีผลงานสร้างชื่อเรื่อง Scaramouche (1923) มารับบทแทน, การแสดงของ Novarro ถือว่าใช้ได้เลย โดยเฉพาะการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง การหายใจ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเจ็บปวดข้างในจริงๆ
Ramon Novarro ถือว่าเป็นนักแสดงชายที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งในยุคหนังเงียบ MGM โปรโมทเขาในฉายา ‘Latin lover’ ไม่นานนักก็กลายมาเป็น sex symbol ของเพศชาย หลังการเสียชีวิตของ Rudolph Valentino, แม้ในยุคหนังพูด จะมีหนังของ Novarro อยู่หลายเรื่อง แต่ชื่อเสียงมันไม่จีรังยั่งยืน เขาไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่เมื่อเทียบกับสมัยหนังเงียบ
Francis X. Bushman รับบท Messala, นี่เป็นอีกหนึ่งนักแสดงที่ได้รับการยกย่องว่า ‘The Handsomest Man in the World’ หรือ ‘the King of Photoplay’ หรือ ‘the King of Movies’ ถ้าเทียบกับสมัยหนังเงียบ โด่งดังพอๆกับ Clark Gable เชียวละ, Bushman เป็นคนที่ขี่ม้าเป็น เขาเป็นนักแสดงคนเดียวในกองถ่ายที่สามารถขี่ม้า และควบคุมรถม้าศึก (chariot) ได้ ขนาด Charlton Heston ยังพูดว่า ‘ชายคนเดียวใน hollywood ได้คือ Francis X. Bushman’ (The only man in Hollywood who can drive a chariot is Francis X. Bushman)
เดิมที Bushman ลังเลใจที่จะรับบทนี้ เพราะเป็นบทตัวร้าย เขาจึงไปขอคำแนะนำจาก William S. Hart ที่รับบท Messala ในเวอร์ชั่นละครเวที ได้รับคำแนะนำว่า ‘รับเลย นี่เป็นบทที่เด่นที่สุดในหนังแล้ว’ (Take it, It’s the best part in the play!), การแสดงของ Bushman ในหนังเรื่องนี้ต้องบอกว่าโดดเด่นไม่แพ้ Novarro เลยละ มีความหนักแน่น เข้มแข็ง จริงจัง ผมแทบไม่เห็นพี่แกยิ้มเลย ไม่มี Over-Acting ถือว่าเป็นคนที่เข้ากับบทนี้มาก
นอกจาก 2 นักแสดงชายที่โคตรดังแล้ว ยังมี May McAvoy รับบท Esther ลูกสาวสุดสวยของทาสรับใช้ตระกูล Hur และ Ben-Hur ตกหลุมรัก, เดิมทีเป็น Gertrude Olmstead ที่รับบทนี้ แต่ถอนตัวไปพร้อมกับผู้กำกับ, McAvoy ถือเป็นนักแสดงหญิงที่โด่งดังคนหนึ่ง ได้รับบทนำในหนังเรื่อง The Jazz Singer (1927) หนังพูดเรื่องแรกของโลก แต่น่าเสียดายที่เรากลับไม่ได้ยินเสียของเธอเลย, สำหรับหนังเรื่องนี้ บทของเธอสร้างความสดชื่นให้กับหนัง มีมุมโรแมนติกเล็กๆ และความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเธอ ได้สร้างความหวังให้กับหนัง ถือว่าเป็นตัวละครหนึ่งที่น่าจดจำไม่น้อย, เธอได้รับบทเล็กๆ ไม่ขึ้นเครดิตใน Ben-Hur (1959) ด้วยนะครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าไปแอบอยู่ตรงไหนของหนัง
ภาพหนังเรื่องนี้มีทั้งขาว-ดำ และภาพสี ถ้าสังเกตหน่อยจะพบว่า ฉากที่เป็นภาพสีจะมีเฉพาะที่เกี่ยวกับพระเยซูเท่านั้น กระนั้นหนังจงใจที่จะปิดบังใบหน้าของท่าน ไม่ให้ได้เห็นเลยสักฉาก (Ben-Hur เวอร์ชั่นปี 1959 ก็ทำแบบนี้เช่นกัน), ผมเป็นคนหนึ่งที่นึกว่า Technicolor เกิดขึ้นในยุคหนังพูด แต่แท้จริงแล้วภาพสีมีมาตั้งแต่สมัยหนังเงียบนะครับ แต่ที่ยังไม่นิยมกันเพราะมันถ่ายยาก และต้องใช้แสงอย่างมาก, เหตุผลที่หนังเลือกถ่ายภาพสีเฉพาะที่เกี่ยวกับพระเยซู เพราะฉากเหล่านี้ทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ ทำให้สามารถควบคุมแสงได้ และเป็นการแฝงนัยยะเรื่อง ความเชื่อของศาสนาที่ว่า โลกแท้จริงไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้ แต่เป็นสวรรค์ที่เป็นโลกหลังความตาย
สำหรับฉาก Chariot Race เดิมทีสร้างฉากถ่ายทำในกรุง Rome ประเทศ Italy แต่เพราะปัญหาเรื่องแสง เงา เกิดความผิดพลาดที่ทำให้ Stuntman เสียชีวิต และ Italy ตอนนั้นเปลี่ยนผู้นำเป็น Benito Mussolini ที่เผาทำลายฉากหนังอเมริกันทิ้งหมด จึงต้องมาถ่ายใหม่ทั้งหมดที่ LaCienega และ Venice Boulevards ในเมือง Los Angeles, หลังจาก MGM ได้ลิขสิทธิ์หนัง Louis B. Mayer ได้ชมฟุตเทจฉากนี้ ไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ รู้สึกมันจืดชืดไปสักหน่อย จึงได้วางเงินเดิมพันแก่ผู้ชนะในแต่ละรอบสูงถึง $100 เหรียญ (เทียบค่าเงินสมัยนี้นี่น่าจะหลาย $10,000 นะครับ) ผลลัพท์คือ กล้อง 42 ตัว บันทึกภาพการแข่งขันได้อย่างสมจริง และเกิดอุบัติเหตุชนกันที่เกือบคร่าชีวิต Stuntman ไปอีกหลายคน (ซึ่งเราจะเห็นภาพการชนกันในหนังด้วย ฉากนั้นมีม้าตายจริงๆนะครับ แต่คนรอด)
เกร็ด: หนึ่งใน 60 ตากล้องและผู้ช่วยผู้กำกับ (assistant directors) ฉาก Chariot Race นี้ คือ William Wyler ที่กลายมาเป็นผู้กำกับของหนัง Ben-Hur (1959)
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด นอกจากภาพสีและเสียงระหว่างเวอร์ชั่น 1925 และ 1959 คือเรื่องราวของหนัง, จะพบว่า 1925 มีความกระชับ รวบรัดกว่ามาก ผิดกับ 1959 ที่เยิ่นเย้อ ยืดยาว (1925 ยาว 143 นาที, ส่วน 1959 ยาว 212 นาที) และมีการขยายประเด็น บางอย่างเพิ่ม เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ สร้างความสมเหตุสมผลของเนื้อหา, การปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่อง มีจุดที่น่าสนใจอยู่ 3 แห่ง
1) เรื่อง Esther จำได้ว่าเวอร์ชั่น 1959 เป็น Ben-Hur ให้อิสระภาพแก่เธอเป็นของขวัญแต่งงาน (แม้เธอจะไม่ได้แต่งก็เถอะ แต่ถือว่าเป็นไทแล้ว) แต่เวอร์ชั่นนี้ Esther ตั้งแต่ต้นจนจบยังคงเป็นทาสอยู่
2) ในเวอร์ชั่นนี้ Ben-Hur ได้รวบรวมพี่น้องชาว Jews จากทั่วทุกสารทิศ เพื่อเตรียมต่อสู้สงครามกับ Roman โดยจะยกให้พระเยซูเป็นกษัตริย์แห่งชาวยิว (Kings of Jewish) แต่เวอร์ชั่น 1959 ตัดประเด็นนี้ทิ้งไปเลย
3) แม่และน้องสาวที่เป็นโรคเรื้อน (Lepers) เวอร์ชั่น 1959 ให้ Ben-Hur ได้พบกันแม่และน้องสาวขณะทั้งสองอยู่ใน Valley of the Lepers ซึ่งเวอร์ชั่นนี้ Ben-Hur ได้เจอทั้งสองหลังจากที่หายเป็นปกติแล้ว
ฉากตอนที่แม่และน้องสาวหายจากการเป็น Leaper ผมอ้าปากค้างเลยละครับ ปาฏิหารย์มากๆ ใช้การซ้อนภาพหรือยังไงไม่ทราบ ทำไมมันถึงเนียนได้ขนาดนั้น รายด่างดำเฟดหายไปเลย, ตอนที่ตึกถล่มก็อีกฉาก ผมขยี้ตาคลิกย้อนดูสองสามรอบ นึกว่าถล่มทับคนจริงๆ (ใช้การซ้อนภาพ)
The Guinness Book of World Records (2002) ได้บันทึกไว้ว่า นี่เป็นหนังที่เคยมีการตัดต่อฟีล์มที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งเฉพาะ Chariot Race ก็ยาวกว่า 200,000 ฟุต (60,960 เมตร) นักตัดต่อ Lloyd Nosler ต้องตัดให้เหลือความยาวแค่ 750 ฟุต (228.6 เมตร) เทียบเป็นอัตราส่วน ความยาวฟีล์มที่ถ่ายต่อความยาวที่ใช้ คือ 267:1
MGM ใช้คำโปรโมทหนังเรื่องนี้ว่า “The Picture Every Christian Ought to See!” และ “The Supreme Motion Picture Masterpiece of All Time”, ด้วยทุนสร้าง $3.9 ล้านดอลลาร์ สูงที่สุดในยุคหนังเงียบ ผลลัพท์ที่ได้ ตลอดการฉายหนังทำเงินในอเมริกาประมาณ $5.5 ล้านเหรียญ รวมทั้งโลก $10.7 ล้านเหรียญ ว่ากันว่าสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในยุคหนังเงียบ (รองจาก The Birth of A Nation-1921 และ The Big Parade-1925) แต่สตูดิโอกลับขาดทุนประมาณ $698,000 เพราะทุนสร้างไม่ได้รวมค่าโฆษณา และรายรับที่ต้องหารสองแบ่งกับโรงฉาย, กระนั้นความสำเร็จของหนังเรื่องนี้และ The Big Parade (1925) ทำให้ MGM พลิกโฉมหน้า กลายเป็นสตูดิโอหลักของ hollywood ขึ้นมาทันที
ผมดูหนังเงียบมาหลายเรื่องมากแล้ว ต้องยอมรับว่านี่เป็นหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง ทั้งการออกแบบฉาก สร้างฉากที่ต้องสเกลระดับเท่าของจริงเท่านั้น, เสื้อผ้าหน้าผม ที่ไม่รู้ต้องเตรียมเยอะเท่าไหร่, ตัวประกอบ ได้ยินว่า 125,000 คน, บางเทคนิคผมยังต้องขยี้ตา คลิกย้อนดูว่าทำได้ยังไง นี่แสดงถึงความล้ำยุคสมัยของหนังขณะนั้น ที่ยังสามารถทำให้ผู้ชมยุคนี้สามารถตื่นตาตื่นใจไปได้, ฉาก Chariot Race ในหนัง Ben-Hur (1959) มีคนยกย่องว่าเป็น ‘ฉาก Action ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษ’ ผมสงสัยว่าเขาลืมหนังเรื่องนี้ไปหรือเปล่า เพราะ Chariot Race ในหนังเรื่องนี้ ด้วยอะไรๆที่เก่ากว่าถึง 30 ปี แต่ได้ภาพที่สมจริงไม่แพ้กัน แบบนี้จะไม่ให้เรียกว่าเป็น ‘ฉาก Action ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหัสวรรษ’ ได้หรือยังไง!
แนะนำหนังกับคนชื่นชอบดูหนังเงียบ หรือต้องการชมต้นฉบับที่แท้จริงของ Ben-Hur มันอาจมีความยากในการดูเล็กน้อย เพราะหนังค่อนข้างเก่า แต่ความตื่นเต้น รับรองว่าไม่แพ้ Ben-Hur (1959) แน่นอน
จัดเรต 13+ กับความรุนแรง
Leave a Reply