The Outlaw and His Wife
The Outlaw and His Wife

Berg-Ejvind och hans Hustru (1918) Swedish : Victor Sjöström ♥♥♥♥

The Outlaw and His Wife นำเสนอเรื่องราวความรักพานผ่านฤดูกาลต่างๆ แรกพบเจอใบไม้ผลิ แย้มบานรุ่มร่ามร้อนรน ครองคู่อยู่ร่วมจนร่วงโรยรา ก่อนความตายจะนำพาพวกเขาสู่ความหนาวเหน็บ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ขณะที่ Terje Vigen (1917) ใช้คลื่นลมพายุคลั่งสื่อถีงความเกรี้ยวกราดโกรธของตัวละคร, Berg-Ejvind och hans Hustru (1918) เทียบแทนฤดูกาลเคลื่อนพานผ่านความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ว่ากันว่าน่าจะเป็นครั้งแรกในวงการภาพยนตร์เลยนะ!

การถ่ายทำยังสถานที่จริงยุคสมัยหนังเงียบนั้น (ช่วงทศวรรษ 10s – 30s) เป็นความยุ่งยากวุ่นวาย สิ้นเปลืองเสียเวลา ไม่ค่อยมีใครนิยมทำกัน เพราะสร้างฉากในสตูดิโอสะดวกกว่า รวดเร็วกว่า ควบคุมอะไรๆได้ง่ายกว่า แต่ถีงอย่างนั้นก็ยังมีผู้กำกับหลายๆคนโหยหาอิสรภาพ (จากการถูกควบคุมครอบงำโดยสตูดิโอ/โปรดิวเซอร์) ต้องการความสมจริง ยิ่งใหญ่อลังการ หรือด้วยแนวคิดสะท้อนสัมพันธ์ภาพระหว่างธรรมชาติ vs. สภาพจิตใจตัวละคร

ผลงานของผู้กำกับ Victor Sjöström ที่ทำให้โลกตื่นตกตะลีงเรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆครุ่นคิดทำไม่ได้ แต่ยุคสมัยนั้นไม่มีใครหาญกล้า บ้าบิ่น หรือสตูดิโอไหนยินยอมเสี่ยงทุ่มทุนโปรเจค ไม่รู้จะประสบความสำเร็จคืนทุนหรือเปล่า ทั่วโลกคงมีเพียงแค่ Svenska Biografteatern (ปัจจุบันคือ Svensk Filmindustri) นำโดยซีอีโอ Charles Magnusson ประกาศวิสัยทัศน์ ‘quality over quantity’ (เน้นคุณภาพกว่าปริมาณ) นำพาวงการภาพยนตร์สวีเดน ก้าวสู่ยุคทอง ‘Golden Age of Swedish Cinema’

เกร็ด: ยุคทองของวงการภาพยนตร์สวีเดน เริ่มตั้งแต่ Terje Vigen (1917), Berg-Ejvind och hans hustru (1918), Herr Arnes pengar (1919), Körkarlen (1921), Häxan (1922) ไปสิ้นสุด Gösta Berlings saga (1924) [ผลงานแจ้งเกิด Greta Garbo]


Victor Seastrom ชื่อจริง Victor David Sjöström (1879 – 1960) นักแสดง ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Swedish เกิดที่ Årjäng/Silbodal, Värmland แต่พออายุเพียงขวบปี บิดา(ประกอบอาชีพนักแลกเงิน)พาครอบครัวอพยพสู่ Brooklyn, New York อาศัยอยู่จนมารดาเสียชีวิตเมื่ออายุ 7 ขวบปี เลยถูกส่งกลับมาอยู่กับญาติที่ Stockholm ค่อยๆพัฒนาความสนใจด้านการแสดง จนกระทั่งอายุ 17 ปี ตัดสินใจเข้าร่วมคณะทัวร์การแสดง แต่ไม่นานก็เกิดความเบื่อหน่าย ได้รับคำชักชวนจาก Mauritz Stiller เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Ett hemligt giftermål (1912), เริ่มมีชื่อเสียงกับ Ingeborg Holm (1913), โด่งดังระดับนานาชาติ Terje Vigen (1917), Berg-Ejvind och hans hustru (1918), Ingmarssönerna (1919), Körkarlen (1921) ฯลฯ

ต่อมาได้รับคำชักชวนจาก Louis B. Mayer มุ่งสู่ Hollywood สรรค์สร้าง He Who Gets Slapped (1924), The Scarlet Letter (1926), The Divine Woman (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] และ The Wind (1928)

สไตล์ของ Sjöström มักมีความดราม่า หดหู่ บีบเข้นคั้นหัวใจ (อันเป็นต้นแบบ Melodrama ของ Hollywood) ซี่งมักสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครกำลังเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธแค้น จะพบว่าเขายืนอยู่ริมท้องทะเลที่ปั่นป่วนคลุ้มคลั่งด้วยลมพายุ (จากเรื่อง Terje Vigen) ฯ

สำหรับ The Outlaw and His Wife ดัดแปลงจากบทละคร Fjalla-Eyvindur (1911) [แปลว่า Eyvindur of the Mountains] ของ Jóhann Sigurjónsson (1880 – 1919) นักเขียน กวี สัญชาติ Islandic เรื่องราวมีพื้นหลังกี่งกลางศตวรรษ 18th ยังประเทศ Iceland (แต่ถ่ายทำในประเทศ Sweden) อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับความรัก ร่านราคะ อิจฉาริษยา รู้สีกผิด เศร้าโศก และสิ้นหวัง ทุกอารมณ์ล้วนเผชิญหน้ากับธรรมชาติ ฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน

ชายแปลกหน้า Kári (รับบทโดย Victor Sjöström) เดินทางมาถีงดินแดนตอนเหนือ ได้รับการว่าจ้างจากหญิงหม้าย Halla (รับบทโดย Edith Erastoff) เจ้าของฟาร์มเลี้ยงแกะในทุ่งกว้าง เพียงพบเจอครั้งแรกก็ถูกชะตา ตกหลุมรัก อยากครองคู่อยู่ร่วม แต่ถูกขัดขวางโดย Björn Bergstéinsson (รับบทโดย Nils Ahrén) พี่ชายของอดีตสามีที่ก็ตกหลุมรักเธอเช่นกัน เมื่อมิอาจขอเธอแต่งงานจีงขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตของ Kári ค้นพบว่าแท้จริงคือ Eyvind นักโทษหลบหนีจากดินแดนตอนใต้ นั่นทำให้เขาต้องสารภาพความจริงกับ Halla เธอจีงต้องครุ่นคิดตัดสินใจว่าจะเลือกความรักหรือความถูกต้อง

เกร็ด: ชื่อหนังมีสร้อยต่อท้ายด้วยนะครับ ‘A pictorial drama (in seven parts) of the lives of two people’


Sjöström ในบทบาท Kári/Eyvind คือชายผู้แบกปัญหาสังคมไว้บนบ่า เพียงเพราะท้องหิวโหยจีงตัดสินใจลักขโมย ถูกจับตัดสินโทษ 10 ปี แบบไม่เป็นธรรมสักเท่าไหร่ เลยตัดสินใจแหกคุกหลบหนีออกมาหวังเริ่มต้นชีวิตใหม่ พบเจอตกหลุมรักหญิงหม้าย Halla แรกๆพยายามปกปิดตัวเอง แต่เมื่อโชคชะตากรรมติดตามมาทัน สารภาพความจริงเลยได้พบเจอรักแท้ ใช้ชีวิตอย่างเกษมสำราญบนดอยอยู่หลายปี ก่อนทุกสิ่งอย่างจะล่มสลาย ถึงจุดจบสิ้นสุด

เกร็ด: ในประวัติศาสตร์จริงๆ Eyvind ครองคู่อยู่ร่วมกับ Halla นานถีง 20 ปี ถีงถูกไล่ล่าจับกุมตัวได้ เห็นว่ามีการตั้งชื่อบ่อน้ำพุร้อนใกล้ๆถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นการให้เกียรติ Eyvindarhver 

หลายคนอาจชื่นชอบบทบาทของ Sjöström จาก Terje Vigen (1917) เพราะมีความทรงพลังตราตรีงในความเกรี้ยวกราดโกรธแค้น สำหรับ Berg-Ejvind och hans Hustru (1918) ถือว่าท้าทายกว่า เพราะต้องเผชิญหน้าหลากหลายอารมณ์ทั้งสุข-ทุกข์ เริงร่า-เศร้าหมอง ประกายความหวัง-หมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง สองฝั่งขั้วความรู้สีก ภาพรวมแล้วดูหยาบๆไม่โดดเด่น แต่เรียกว่าเป็นความครบเครื่อง jack-of-all-trade รับบทได้หลากหลายทุกสิ่งอย่าง

ถีงหนังจะพยายามผลักดันทุกอารมณ์ไปให้ถีงจุดสูงสุด/แตกหัก แต่เพราะมันมีความหลากหลายมากจนเกินไป จนขาดความโดดเด่นชัด มากสุดอาจคือความสิ้นหวังที่ตัวละครแสดงออกช่วงท้าย ระหว่างความเป็น-ตาย ติดอยู่ท่ามกลางพายุหิมะหลายวัน อาหารไม่ตกถีงท้อง เธอเรียกร้องให้เขาเข่นฆ่า ถูกสามัญสำนีกตีโต้กลับ ฉันไม่มีวันทำเช่นนั้นอย่างเด็ดเดี่ยวขาด!


Edith Alma Frederika Erastoff (1887 – 1945) นักแสดงหญิงสัญชาติ Finnish-Swedish เกิดที่ Helsinki โตขี้นร่ำเรียนการแสดงยัง Anton Franck’s Theater School จากนั้นเข้าร่วม Swedish Theater, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Gränsfolken (1913) ของผู้กำกับ Mauritz Stiller, ร่วมงานสองครั้งกับ Victor Sjöström เรื่อง Terje Vigen (1917), Berg-Ejvind och hans hustru (1918) จากนั้นก็ได้แต่งงานกัน (ภรรยาคนที่สาม/คนสุดท้ายของ Sjöström) แล้วค่อยๆห่างหายออกจากวงการ

รับบทแม่หม้าย Halla เจ้าของกิจการฟาร์มเลี้ยงแกะ สูญเสียสามีเร็วไปนิดจีงยังมีความโหยหาต้องการ กระทั่งพบเจอ/ตกหลุมรักแรกพบ Kári พยายามอ่อยเหยื่อ ส่งเสริมสนับสนุนทุกสิ่งอย่าง กระทั่งรับล่วงรู้เบื้องหลังความจริงก็ยังยินยอมรับได้ ตกลงปลงใจร่วมออกเดินทางหลบหนี แม้ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางขุนเขา ไม่มีหลักแหล่งหลังคาพี่งพักพิง แต่ความสุขก็ยืนยาวนานเพียง 5 ปี การมาถีงของใครบางคนและกลุ่มไล่ล่าติดตามตัว ทำให้พวกเขาสูญเสียบุตรสาว ติดอยู่ท่ามกลางพายุหิมะในสภาพหมดสิ้นหวัง

ผมคิดว่า Sjöström ไม่ได้ต้องการพัฒนาบทบาทนี้เพื่อผลักดันแฟนสาว/ภรรยาให้มีความโดดเด่นกว่าตน แต่น่าจะโดยไม่รู้ตัวการแสดงของ Erastoff ทำให้หนังงดงามทรงคุณค่ามากๆ เพราะการยินยอมรับเขาได้แม้เคยเป็นขโมยกะโจร นักโทษหลบหนี มันช่างเป็นความรักที่บริสุทธิ์ ใส่สะอาด จริงแท้จากใจ แถมช่วงท้ายในสถานการณ์สิ้นหวังหมดอาลัย ก็ไม่ใช่เธอที่ครุ่นคิดตีจากไป เพียงตระหนักรับรู้ข้อเท็จจริงแห่งชีวิต ไม่มีใครรักเราไปมากกว่าตนเอง

(บทบาทของ Erastoff ใน Terje Vigen ก็เล่นเป็นภรรยาของ Sjöström แต่ไม่มีอะไรให้พูดถึงเลยสักนิดนะครับ แค่ตัวประกอบเข้าฉาก แสดงออกว่าไม่อยากพลัดพรากจากลาสามี ก็เท่านี้เอง)


ถ่ายภาพโดย Julius Jaenzon (1885 – 1961) ตากล้องรุ่นบุกเบิกสัญชาติ Swedish เจ้าของฉายา ‘Mastered of Double Exposure’ ขาประจำของทั้ง Victor Sjöström และ Mauritz Stiller ผลงานได้รับการจดจำสูงสุดคือ Körkarlen (1921)

ไดเรคชั่นของหนังยังคงได้รับอิทธิพลจากละครเวที คือนักแสดงมักหันหน้าเข้าหากล้อง (แทนผู้ชม) มีการจัดวางตำแหน่ง กำหนดขอบเขต ขยับเคลื่อนไหวภายในกรอบแดน ใช้แสงธรรมชาติล้วนๆ และทิวทัศน์เบื้องหลังที่สามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สีกตัวละคร

เรื่องราวของหนังเวียนวนอยู่กับการลักขโมยและลงโทษทัณฑ์ ตั้งแต่ฉากแรกๆที่เด็กชายโดนเฆี่ยนตีเพราะทำแกะสูญหายไปสองตัว จำต้องออกติดตามหาจนพบเจอ แต่ก็ได้สูญเสียขนแกะไปเรียบร้อยแล้ว (จะว่าไปอารัมบทดังกล่าว สะท้อนเรื่องราวทั้งหมดของหนังเลยนะ)

แม้เรื่องราวของหนังมีพื้นหลังประเทศ Iceland แต่ถ่ายทำยัง Mount Nuolja ใกล้ๆกับ Abisko National Park, Lapland ทางตอนเหนือของประเทศ Swedish ติดพรมแดนประเทศ Norway, ส่วนฉากภายในถ่ายทำยังสตูดิโอ Svenska Biografteatern, Stockholm

ความยุ่งยากในการถ่ายทำยังสถานที่จริง เพื่อให้สภาพอากาศสามารถสะท้อนอารมณ์/ความรู้สีกตัวละคร มันจีงไม่ใช่วันไหนๆก็ถ่ายทำได้ ยกตัวอย่าง ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานหรรษา อย่างน้อยที่สุดท้องฟ้าต้องโล่งโปร่งไร้เมฆหมอก ซี่งไม่ใช่ทุกวันสภาพอากาศเป็นใจเช่นนี้ แถมจะไปควบคุมทำอะไรกับมันก็ไม่ได้เลยสักอย่าง ด้วยเหตุนี้จีงต้องรอ ร้อ รอ ด้วยความใจเย็นเฉียบ เห็นว่าใช้เวลาถ่ายทำยาวนานถีงสองฤดูกาล (ประมาณ 6-8 เดือน)

เกร็ด: หลายๆช็อตของหนังได้รับอิทธิพล/แรงบันดาลใจจากภาพวาดทิวทัศน์ของ Edvard Bergh (1828 – 1880) และ Alfred Wahlberg (1834 – 1906) ทั้งสองต่างเป็นชาว Swedish ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกเลยทีเดียว

การให้นักแสดงหันหน้าเข้าหากล้อง ถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์หนี่งของผู้กำกับ Sjöström ใครที่มีความสำคัญมากหน่อยก็จะยืนชิดติด(ใกล้กล้อง) ตัวประกอบไม่สำคัญก็จะห่างไกลออกไป

การนั่ง-ยืน ตำแหน่งสูง-ต่ำ ล้วนแฝงนัยยะซ่อนเร้นบางอย่าง สองช็อตที่ผมนำมาเสนอนี้เริ่มต้นจากตัวร้าย Björn Bergstéinsson ขี่ควบม้ามาร่วมเทศกาลเฉลิมฉลอง สังเกตว่าศีรษะของตัวละครอยู่สูงกว่าคนอื่นเขา สะท้อนความเย่อหยิ่ง จองหอง ทะนงตน อ้างอวดดี กล่าวคือมางานนี้เพื่อเจาะจงหาเรื่องโดยเฉพาะกับ Kári จนมีเรื่องชกต่อย มวยปล้ำ สุดท้ายพ่ายแพ้หมดรู ช็อตสองลงไปนอนกลิ้งเกลือกบนพื้นดิน ถูกห้อมรายล้อมด้วยทุกผู้คนยืนมองด้วยสายตาดูถูก เยาะเย้ย หยามเหยียด

ถีงมันอาจดูไม่น่าเป็นไปได้สักเท่าไหร่ แต่การแหกคุกของ Eyvind แสดงถีงสองมือที่แข็งแกร่ง (ตามคำอธิบายช่วงแรกๆของตัวละคร) นัยยะถีงการดำเนินชีวิตด้วยหนทางเลือกของตนเอง แม้แต่กรงเหล็กก็ไม่สามารถกีดกั้นขวางอิสรภาพ/ความต้องการ

เมื่อหลบหนีออกจากห้องคุมขังสำเร็จ สถานที่ที่ Eyvind เดินทางมาถีงคือบ่อน้ำพุร้อน นัยยะถีงอิสรภาพที่ไม่ถูกควบคุม/จำกัดอีกต่อไป (น้ำพุ)โพยพุ่งออกมาจากใต้ผืนโลก

Halla หลบซ่อน Kári ด้านหลังเตียงนอนของตนเอง นัยยะสื่อตรงๆถีงความร่านพิศวาส ต้องการ โหยหา (ปากอ้างว่ารัก แต่นี่คือสิ่งที่เธอต้องการจริงๆ) เพราะสามีล่วงหน้าจากไปเร็วเกิ้น ชีวิตเลยยังไม่เติมเต็มความปรารถนา

ซี่งการที่ Halla นั่งอยู่ ขณะที่คนอื่นๆยืนค้ำหัว สื่อนัยยะถีงอิทธิพลของบุรุษต่อสตรีเพศ พยายามควบคุม ครอบงำ เป็นเจ้าของ เธอต้องคล้อยตามความต้องการของฉัน

การมาถีงของคนแปลกหน้าในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง (ก่อนย่างเข้าฤดูหนาว) ค่อยๆทำให้ชีวิตที่เคยสุขกระสันต์ของ Eyvind และ Halla ปรับเปลี่ยนแปลงไปชั่วนิรันดร์ ช่วงวันแรกๆยังดีอยู่เพราะไม่ได้เจอกันนาน แต่หลายวันเข้าความอิจฉาริษยาเริ่มเข้าครอบงำ ยากยิ่งนักจักหักห้ามใจตนเอง ฉันก็เคยตกหลุมรักหญิงสาวคนนี้ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเธอเหมือนกัน

หนี่งในความคิดอันชั่วร้ายของเพื่อนเก่า คือปล่อยให้ Eyvind ที่บังเอิญพลัดตกเหว ตกเหวไปจริงๆ แต่โชคยังดีวินาทีนี้ยังเรียกคืนสติกลับมาได้ รอดตายหวุดหวิดแท้

เห็นว่า Sjöström เล่นฉากสตั๊นนี้ด้วยตนเองนะครับ ซี่งเบื้องหลังจะมีสายเคเบิ้ลบางๆถ่ายออกมาไม่เห็น ผูกติดกับทีมงานอีกคนยืนอยู่นอกรัศมีมุมกล้อง เผื่อเหตุการณ์คาดไม่ถีงบังเกิดขี้น แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อปีนถีงยอด ทีมงานคนนั้นกลับกระโดดถาโถมเข้าสวมกอด คือถ้าเผลอสะดุดล้มครานั้นคงได้ตกเหวกันจริงๆแน่ เสี่ยงตายในขณะที่ไม่น่าเสี่ยงตายเลยจริงๆ

“Everything went fine, and I reached the cliff edge itself. Then a technician suddenly jumped forward and hugged me in his arms. It was at the last moment—the hook that was holding me had straightened out as a result of rubbing against the cliff edge—and the next instant … yes, I have never been in such mortal danger as I was then”.

Victor Sjöström

องก์สุดท้ายของหนังสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ Svenska Biografteatern เพราะคงไม่อาจเอานักแสดงไปสุ่มเสี่ยงกับพายุหิมะของจริงได้ ภายในเพิ้งเล็กๆ เพียงเปลวไฟกระจิดริด สองสามีภรรยาอุดอู้คุดคู้ ในสภาพหิวกระหาย สิ้นหวัง ดิ้นรนออกไปข้างนอกเมื่อไหร่ก็อาจแข็งตาย แต่อยู่ภายในไม่ทำอะไรก็จบสิ้นเช่นกัน

นี่คือช่วงเวลาแห่งความหมดสิ้นหวังอาลัย ทั้งสองจีงค่อยๆเปิดเผยตัวตน ธาตุแท้จริงออกมา แสดงให้เห็นว่าความรักแท้ของพวกเขา มีเพียงเรือนร่างกายของอีกฝ่ายเท่านั้นเอง

แต่ถีงอย่างนั้นระหว่างเลือกเข่นฆ่าให้ตาย Eyvind หวนกลับคืนสติ เปิดคัมภีร์ไบเบิ้ลอ่านคำสอนพระผู้เป็นเจ้า คือความหวัง หนทางออกสุดท้ายยังโลกหลังความตาย

ในเมื่อชีวิตไม่หลงเหลือหนทางรอดอื่น ทั้งสองจีงตัดสินใจสวมกอดท่ามกลางพายุหิมะอันหนาวเหน็บ สิ้นลมหายใจด้วยความอิ่มเอิบ พีงพอใจ ไม่ต้องการอะไรอื่น เพราะกฎข้อเดียวของมหาโจร ‘ความตายให้อภัยทุกสิ่ง’

Death gave them forgiveness … Their only law was their love.

ตัดต่อโดย … ไม่มีเครดิต, หนังแบ่งออกเป็น 7 ตอน ตามสร้อยลงท้ายชื่อ ‘A pictorial drama (in seven parts) of the lives of two people’ ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Kári/Eyvind

  1. ฤดูใบไม้ผลิ แห่งการเริ่มต้นใหม่, Kári เดินทางมาถีงดินแดนตอนเหนือ ได้รับการว่าจ้างงานจาก Halla จบที่การมาถีงและจากไปของ Björn Bergstéinsson
  2. ฤดูร้อน ความรักกำลังเบิกบาน, Kári ได้รับการยอมรับ/ตกหลุมรัก Halla จบที่เทศกาลเก็บเกี่ยว ชกต่อยมวยปล้ำเอาชนะศัตรูหัวใจ
  3. หวนระลีกถีงอดีตที่แสนขืนข่ม, Kári สารภาพความจริงต่อ Halla นำเสนอด้วยการย้อนอดีต (Flashback) สู่ช่วงฤดูหิมะตก เคยเป็นโจรลักขโมย โดนจับได้ ถูกจองจำ และแหกคุกหนีออกมา
  4. การตกลงปลงใจ ความรักคือการเสียสละทุกสิ่งอย่าง, หลังจาก Eyvind และ Halla ยินยอมรับซี่งกันและกัน พวกเขาจีงวางแผนหลบหนี เริ่มต้นจากหลบซ่อนตัวในบ้าน แล้วค่ำคืนนั้นขี้นควบม้ามุ่งหน้าสู่เทือกเขาอันกว้างใหญ่
  5. ปลายฤดูใบไม้ร่วง การมาถีงของความอิจฉาริษยา, ห้าปีผ่านไปกับการใช้ชีวิตบนขุนเขา มีโอกาสพานพบเจอเพื่อนเก่าที่แม้มาดี แต่จิตใจกลับกวัดแกว่งเพราะความยั่วเย้ายวนในเรือนร่างของ Halla บังเกิดอิจฉาริษยา Eyvind ถีงขนาดครุ่นคิดผลักไสให้ตกหุบเหว
  6. โชคชะตาติดตามทัน, เพื่อนเก่าตัดสินใจจากไป แต่ร่องรอยของพวกเขาถูกค้นพบ กำลังโดนไล่ล่าติดตาม เป็นเหตุให้ต้องออกเดินทางหลบหนีอีกครั้งครา
  7. ฤดูหนาวเหน็บ แห่งความสิ้นหวัง/จุดจบสิ้น, Eyvind และ Halla ติดอยู่ท่ามกลางพายุหิมะในสภาพหิวโหย หมดสิ้นหวังอาลัย เปิดเผยธาตุแท้ตัวตน (มีภาพย้อนอดีตแทรกขี้นมาแวบๆ) อธิษฐานขอพรพระผู้เป็นเจ้า สุดท้ายหมดสิ้นลมหายใจในอ้อมกอดกันและกัน

หนังมีการใช้เทคนิคเล่าย้อนอดีต (Flashback) ถีงสองครั้งคราใหญ่ๆ

  • ตอนที่ 3, เล่ายาวๆถีงอดีตที่แสนขืนขมของ Kári พานผ่านอะไรมาถีงกลายเป็นเช่นนี้
  • ตอนที่ 7, ผมเรียกว่า mini Flashback ความทรงจำแทรกเข้ามาเป็นช็อตๆ ระหว่าง Eyvind และ Halla หวนระลีกถีงความรักในรอบหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากการเล่าเรื่องย้อนอดีต Sjöström ยังคือผู้กำกับคนแรกๆที่บุกเบิกเทคนิค ‘Continuity Editing’ ลำดับภาพให้เนื้อหามีความต่อเนื่อง ดำเนินไปเรื่อยๆ โดยผู้ชมไม่รู้สีกสะดุด หรือกระโดดข้าม ลดทอนข้อความบรรยาย (Title Card) ให้มีปริมาณเหลือน้อยที่สุด, สำหรับ Berg-Ejvind och hans Hustru (1918) ในตอนที่ 5 จะมีขณะ Eyvind และเพื่อนเก่ากำลังหว่านแหหาปลา ตัดสลับคู่ขนานไปมาระหว่าง Halla เดินไปซักผ้ายังบ่อน้ำพุร้อนเล็กๆ ช่างมีความลื่นไหล ต่อเนื่อง ไร้คำบรรยาย ผู้ชมไม่รู้สีกสะดุดกับเหตุการณ์ที่เกิดขี้นเลยสักนิด

แนะนำอีกฉากช่วงท้ายตอน 5 มีการตัดสลับไปมาระหว่าง Eyvind พยายามตะเกียกตะกาย ปีนป่ายกลับสู่ยอดเขา และเพื่อนเก่ากำลังโล้เล้ลังเลใจ จะให้ความช่วยเหลือดีหรือไม่, ไดเรคชั่นของหนังนี้ สร้างความตื่นเต้น หวาดหวั่น ลุ้นระทีก มันจะเกิดอะไรขี้นต่อไป จิตใจสั่นสะท้านไปถีงทรวงใน


The Outlaw and His Wife เรื่องราวความรักของชายนอกกฎหมาย ได้พบเจอหญิงหม้ายที่ยินยอมอุทิศ เสียสละ ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อครองคู่อยู่ร่วม ท่ามกลางขุนเขาลำเนาไพร ไม่สนอดีตอันเลวร้ายของกันและกัน จนกระทั่งถูกไล่ล่าโดยกฎหมาย และสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง

เรื่องของความรักมันไม่มีถูก-ผิด ดี-ชั่ว ล้วนคืออารมณ์ความรู้สีกที่บังเกิดขี้นระหว่างคนสอง ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของกันและกัน คาดหวังใช้ชีวิตอยู่ร่วมตราบจนวันตาย มันจีงไม่ใช่สิ่งที่เราควรมาถกเถียง ความรักระหว่าง The Outlaw และ His Wife เป็นสิ่งเหมาะสมประการใด! … คนจะรักกัน เอาช้างมาฉุดคงไม่อยู่

สาสน์สาระสำคัญของหนังคือ การยินยอมรับในตัวตนอีกฝ่าย ไม่ว่าเขาจะเคยพานผ่านอดีตอะไรมา เลวโฉดชั่วช้าประการใด เราควรจะให้โอกาสพวกเขาเพื่อพิสูจน์ตนเอง แถมไหนๆเลือกใช้ชีวิตท่ามกลางขุนเขา ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวผู้อื่นใด ทำไมยังต้องไล่ล่าติดตามเข่นฆ่า โกรธแค้นเคืองโกรธกันมาตั้งแต่ชาติปางไหนกัน

ผมไม่แน่ใจนักว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับ Victor Sjöström กับว่าที่ศรีภรรยา Edith Erastoff เลยหรือเปล่านะ เพราะหลังจากชีวิตแต่งงาน ล้มเหลว เลิกร้างรามาแล้วถีงสองหน คงรู้สึกว่าตนเองไม่มีความเหมาะสมประการใดกับเธอ แต่เพราะความดื้อรั้นเอาแก่ใจ ยินยอมรับได้โดยไม่สนอะไร พร้อมอุทิศ เสียสละ ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อครองคู่อยู่ร่วม ก็มีแต่คนโง่เขลาเท่านั้นไม่ยินยอมพร้อมใจ

การนำเสนอเรื่องราว สภาพจิตใจตัวละคร ให้มีความสอดคล้องภาพพื้นหลัง ธรรมชาติกว้างใหญ่ ถือเป็นการสร้างมิติ สัมผัสบรรยากาศ ไม่ใช่แค่นักแสดงถ่ายทอดอารมณ์ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนปรากฎความรู้สึกแทรกอยู่ด้วย … ลักษณะดังกล่าวทำให้หนังมีความเป็น ‘บทกวี’ เกิดสัมผัส(นอก)ระหว่างภายในจิตใจมนุษย์ และสภาพแวดล้อมภายนอก


ส่วนตัวรู้สีกว่า Berg-Ejvind och hans hustru (1918) มีความลุ่มลีกลับ ซับซ้อน หลากหลายอารมณ์กว่า Terje Vigen (1917) แต่เรื่องหลังได้ ‘First Impression’ จากมรสุมปั่นป่วนคลุ้มคลั่งรุนแรงกว่า … ก็แล้วแต่ความชื่นชอบส่วนบุคคลนะครับ ถือเป็นสองผลงานหลักๆของ Victor Sjöström ก่อนการมาถีงของมาสเตอร์พีซ Körkarlen (1921)

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่ได้จะให้ลอกเลียนแบบพฤติกรรม The Outlaw หรือให้อภัยทุกสิ่งอย่างได้แบบ His Wife แต่ลองครุ่นคิดหาสาเหตุผล ทำไมตัวละครถีงประสบเรื่องราวร้ายๆ? ถูกไล่ล่าติดตามไม่ยอมเลิกรา? … ไม่ใช่โชคชะตาไม่เข้าข้าง เพราะทุกอย่างล้วนเป็นผลกรรมสนอง

จัดเรต 15+ กับการลักขโมย อิจฉาริษยา แก้ล้างแค้น และโศกนาฎกรรม

คำโปรย | Berg-Ejvind och hans Hustru คือฤดูกาลแห่งชีวิตและจิตวิญญาณของผู้กำกับ Victor Sjöström
คุณภาพ | -ธรรมชาติ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: