Berlin: Symphony of a Metropolis

Berlin: Die Sinfonie der Großstadt (1927) Weimar Republic : Walter Ruttmann ♥♥♥♥

มีคำเรียกภาพยนตร์สารคดีลักษณะนี้ว่า ‘City Symphony’ ร้อยเรียงช่วงเวลา 1 วัน 1 คืน ณ กรุงเบอร์ลิน, สาธารณรัฐไวมาร์ บันทึกไว้เป็น ‘Time Capsule’ คล้ายๆกับ Man With a Movie Camera (1929) แค่ว่าเทคนิคไม่ตื่นตระการตาเท่า

เริ่มต้นขอกล่าวถึงแนวภาพยนตร์ City Symphony ถือเป็น Documentary ประเภท Avant-Garde (บ้างเรียกว่า Avant-Doc) บันทึกภาพเมืองใหญ่ๆ วิถีชีวิตผู้คน จัดหมวดหมู่ร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างบทกวี (มักด้วยเทคนิค Soviet Montage) ได้รับความนิยมช่วงทศวรรษ 20s ยุคหนังเงียบ ยกตัวอย่างเช่น
– Manhatta (1921) กำกับโดย Charles Sheeler และ Paul Strand บันทึกภาพเมือง Manhattan ความยาว 1 Reel (10 นาที) [ลิงค์รับชม]
– Paris Nothing but the Hours (1926) กำกับโดย Alberto Cavalcanti
– Twenty Four Dollar Island (1927) กำกับโดย Robert Flaherty
– Études sur Paris (1928) กำกับโดย André Sauvage
– The Bridge (1928), Rain (1929) กำกับโดย Joris Ivens
– São Paulo, Sinfonia da Metrópole (1929) กำกับโดย Adalberto Kemeny
– Bezúčelná procházka (1930) กำกับโดย Alexandr Hackenschmied
ฯลฯ

ซึ่งมีอีก 2 เรื่อง ถือว่าโด่งดังที่สุดสำหรับภาพยนตร์แนว City Symphony
– Berlin: Symphony of a Metropolis (1927) กำกับโดย Walter Ruttmann
– The Man with a Movie Camera (1929) กำกับโดย Dziga Vertov

ถึงแม้ Berlin: Symphony of a Metropolis จะไม่ตื่นตระการด้านเทคนิคภาพยนตร์เท่า Man With a Movie Camera แต่ถือว่ามีความงดงาม อลังการ ทรงคุณค่า เพราะได้บันทึก ‘ภาพ’ วิถีชีวิต ตึกระฟ้า รามบ้านช่องของชาวเบอร์ลิน ช่วงทศวรรษ 20s เก็บฝังไว้เป็น ‘Time Capsule’ ให้คนรุ่นหลังลูกหลานได้มีโอกาสพานพบเห็น

เมืองไทยเราก็ภาพยนตร์ลักษณะคล้ายๆกันนี้อยู่เยอะมากนะครับ เรื่องสำคัญๆหอภาพยนตร์ได้รวบรวมไว้ใน “๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู” ส่วนของภาพยนตร์ข่าว ข่าวสาร และบันทึกเหตุการณ์ อาทิ
– พระราชพิธีบรมราชาภิเษก (พ.ศ. ๒๔๖๘), ชมสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๓)
– น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ (พ.ศ. ๒๔๘๕), รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน (พ.ศ. ๒๔๙๐) กำกับโดย แท้ ประกาศวุฒิสาร
ฯลฯ


Walter Ruttmann (1887 – 1941) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ German เกิดที่ Frankfurt am Main, โตขึ้นร่ำเรียนสถาปนิก ทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เริ่มให้ความสนใจภาพยนตร์ต้นยุค 20s เริ่มจากทดลองสร้างภาพยนตร์ Abstract Film ประเภท Absolute films ด้วยการทำลูกเล่น Visual Effect เส้นตรง ทรงวัตถุ ขยับเคลื่อนไหว เปลี่ยนขนาดสีสัน ฯ ผลงานเด่นๆคือ Lichtspiel: Opus I ถึง Opus IV (1921-25)

“Since I began in the cinema, I had the idea of making something out of life, of creating a symphonic film out of the millions of energies that comprise the life of a big city”.

– Walter Ruttmann

เป็นความตั้งใจของ Ruttmann ตั้งแต่ก้าวสู่วงการภาพยนตร์ ต้องการสรรค์สร้างสิ่งที่มีแนวคิดคล้ายวงดนตรี Symphony โดยเครื่องดนตรีแทนด้วยภาพทุกสิ่งอย่าง ร้อยเรียงเข้าด้วยกันด้วยจังหวะ ลีลา ภาษา ต่อเนื่อง สอดคล้องจอง

ร่วมงานกับนักเขียน Carl Mayer (ขาประจำของ F. W. Murnau อาทิ The Last Laugh, Sunrise) และตากล้อง Karl Freund (ผลงานเด่นๆ Metropolis, Dracula) วางโครงสร้างหลวมๆ ให้อิสรภาพในการถ่ายทำ แล้วค่อยไปเพิ่ม-ลดเนื้อหาน่าสนใจระหว่างการตัดต่อ

เรื่องราวแบ่งออกเป็น 5 Reel (ฟีล์ม 5 ม้วน โดยเฉลี่ย 12-13 นาที รวมแล้วความยาว 65 นาที) มีข้อความ Title Card ขึ้นต้นและลงท้าย

I Akt: เริ่มต้นด้วยภาพพื้นผิวน้ำ ต่อด้วยกราฟิกมีลักษณะเหมือนพระอาทิตย์ขึ้น จากนั้นร้อยเรียงการเดินทางโดยรถไฟมุ่งสู่กรุงเบอร์ลิน พบเห็นสองข้างทางที่จะค่อยๆพัฒนาขึ้น จากท้องทุ่งกว้าง บ้านเป็นหลัง ตึกระฟ้า มาจนถึงสถานีปลายทาง นาฬิกาเวลาตีห้า ท้องถนนว่างเปล่า ผู้คนน้อยนัก นำสุนัขออกมาเดินเล่น จากนั้นเริ่มทะยอยมากเข้า คาคลั่งฝูงชน จบองก์ด้วยภาพเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม

II Akt: นำเสนอวิถีชีวิตชาวเมืองยามเช้า 8 โมง เริ่มต้นเปิดประตูหน้าต่าง ทำความสะอาด เด็กๆไปโรงเรียน ไปรษณีย์ส่งจดหมาย ร้านค้าทะยอยเริ่มกิจการ ท้องถนนเต็มไปด้วยรถรา ผู้คนเดินทางมาถึงที่ทำงาน ตระเตรียมสิ่งของโน่นนี่นั่น ปากกา ดินสอ ยกเครื่องพิมพ์ ลิฟท์ขึ้นลง หมุนโทรศัพท์ ต่อสายเคเบิ้ล จบลงด้วยภาพลิง สุนัขกัดกัน และวางหูโทรศัพท์

III Akt: ร้อยเรียงวิถีการทำงานของชาวเมือง ก่อสร้าง เซลล์แมน พ่อค้า เกิดการต่อสู้ขัดแย้งระหว่างคนสอง ถูกรายล้อมด้วยฝูงชน จนตำรวจต้องเข้ามาห้ามปราม รถราคาคลั่ง พ่อกับเจ้าสาวมาถึงหน้างานแต่ง หนุ่มสาวเกี้ยวพาบนท้องถนน รถม้าลากโลงศพ คนรวยนั่งรถมีโชเฟอร์ขับ รัฐมนตรีขึ้นลงที่ทำการ เกิดประท้วงตามท้องถนน ขนส่งข้าวของด้วยรถราง รถไฟ เครื่องบิน ตำรวจจราจรโบกมือไม้ เดินข้ามถนนยังยุ่งยาก รถไฟสวนกัน จบลงด้วยพาดหัวข่าวหนังสือ

IV Akt: พักกลางวันเวลา 12 นาฬิกา ผู้คนเริ่มดื่มกิน สรรพสัตว์ สิงโตก็เช่นกัน ขณะเดียวกันเด็กๆหิวโซข้างถนน คนจนนั่งซึม คนรวยรับประทานอาหารเลิศหรูหรา เหลือทิ้งขว้างอย่างน่าเสียดาย เครื่องจักรพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับบ่าย ขึ้นข้อความ Krise (Crisis), Mord (Murder), Börse (Markets), Heirat (Marriage) และหกครั้ง Geld (Money) ภาพเครื่องเล่น Roller Coaster ลมพัดแรง ใบไม้ปลิว ภาพกราฟฟิกหมุนๆ ฝนฟ้าคะนอง เครื่องจักรหยุดทำงาน หมดสิ้นภาระอีกวัน เก็บของโน่นนี่นั่น ออกเดินทางกลับบ้าน เด็กๆเล่นน้ำพักผ่อน แข่งกีฬาสารพัด คนรวยดินเนอร์หรูหรา จบลงด้วยหนุ่มสาวเกี้ยวพา

V Akt: ร้อยเรียงความบันเทิงยามค่ำคืน แสงไฟสาดส่อง รถราคาคลั่ง ผู้คนขวักไขว่ สองข้างทางสว่างไสว ตามด้วยในโรงภาพยนตร์ ละครเวที เล่นสกี ฮอกกี้ ปั่นจักรยาน ชกมวย ลีลาศเต้นรำ ดื่มด่ำผับบาร์ แชมเปญหรูหรา คาสิโน และจบลงด้วยการจุดพลุ และแสงส่องจากภัตราคาร

เกร็ด: แม้เรื่องราวทั้งหมดดำเนินขึ้นเพียง 1 วัน 1 คืน แต่การถ่ายทำนั้นกินเวลาเป็นปีๆ ไหนจะต้องคอยจัดหมวดหมู่ภาพ ร้อยเรียงการตัดต่อ ใช้เวลาไปอีกไม่น้อยทีเดียว

เครดิตตากล้อง ประกอบด้วย Robert Baberske, Reimar Kuntze, László Schäffer และ Karl Freund
ส่วนการตัดต่อโดย Walter Ruttmann

คงต้องถือว่า Ruttmann รับอิทธิพลจาก Soviet Montage มาไม่น้อย ร้อยเรียงภาพด้วยการจัดหมวดหมู่ (Catalogue) อาทิ รถไฟเคลื่อนผ่าน พบเห็นทิวทัศน์สองข้างทางกระโดดเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปเรื่อยๆ, ทิวทัศน์ท้องถนน รถไฟ รถราง เครื่องบิน พายเรือ, ภาพการกิน มีทั้งคนรวย คนจน สิงสาราสัตว์ ผับบาร์ทั่วไป ไนท์คลับอย่างหรู ฯลฯ

สิ่งที่ถือเป็นตัวเชื่อมของหลากหลายเรื่องราว คือท้องถนนหนทาง ซึ่งจะพบเห็นรถราง รถไฟ ผู้คนเดินขวักไขว่ หลายครั้งสวนทางกัน บางทีตั้งฉาก แม้แต่การข้ามถนนยังไม่ใช่เรื่องง่าย ชีวิตมนุษย์ วิถีเมืองใหญ่ ก็เฉกเช่นนี้แล

สำหรับบทเพลงประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม ต้นฉบับดั้งเดิมประพันธ์โดย Edmund Meisel ซึ่งก็ได้มีการ ‘Reconstructed’ และบูรณะฟีล์มเสร็จสิ้นเมื่อปี 2007 น่าจะหารับชมได้ในบางฉบับ DVD


เมืองเบอร์ลิน ตลบอบอวลไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา หลากหลายชนชั้นฐานะ ซึ่งทั้งหมดที่นำเสนอไม่ได้มีจุดประสงค์ทางการเมือง สะท้อนปัญหาสังคม หรือนัยยะอื่นใดเคลือบแอบแฝง เป็นเพียงการบันทึกภาพความจริง ประวัติศาสตร์ โดยมิได้ปรุงแต่งใส่ความคิดเห็นผู้สร้างอะไรลงไป ตัวคุณเองต่างหากที่มโนเพ้อภพ ครุ่นคิดรู้สึกว่า หนังพยายามชี้ชักนำให้เห็นความแตกต่าง

ยังมีอีกหนึ่งความน่าสนใจของ Berlin: Symphony of a Metropolis เพราะได้ออกฉายก่อนหน้าการมาถึงของ Joseph Goebbels ที่เมื่อกลายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการชวนเชื่อ ก็ได้ควบคุม ครอบงำ กำหนดทิศทางสร้างสรรค์ภาพยนตร์เสียใหม่ เป็นเหตุให้ผู้กำกับยอดฝีมือชาวเยอรมันทั้งหลาย ใครรับไม่ได้ก็อพยพย้ายหนีหายออกไป หนังเรื่องนี้จึงกลายเป็น ‘Time Capsule’ บันทึกประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของกรุงเบอร์ลิน ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงสู่ Nazi Germany และล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ตึกระฟ้า รามบ้านช่อง ท้องถนนหนทาง แทบทุกสิ่งอย่างที่พบเห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ถูกทำลาย วอดวาย กลายเป็นซากปรักหักพัง ไม่หลงเหลืออะไรทั้งนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง! … แค่คิดก็ขนหัวลุกแล้วลนะครับ

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้อาจไม่มีอะไรที่สนุก ตื่นเต้น แต่ผมมีความเพลิดเพลินใจในการรับชม ‘ภาพ’ ประวัติศาสตร์กรุงเบอร์ลิน เมื่อทศวรรษ 20s แถมการร้อยเรียงมีการจัดหมวดหมู่ นำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจ งดงามดั่งบทกวี

จัดเรต PG กับบางภาพชวนเวียนหัว

คำโปรย | ไม่เพียงงดงามแต่ยังทรงคุณค่า Berlin: Die Sinfonie der Großstadt ของผู้กำกับ Walter Ruttmann บันทึกภาพกรุงเบอร์ลินไว้ใน Time Capsule
คุณภาพ | -ทรงคุณค่า
ส่วนตัว | เพลิดเพลินใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: