Best of Painter & Artist Films
หลังจากได้รีวิวภาพยนตร์/อนิเมะ ที่เกี่ยวกับ Painter & Artist มาระยะหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาจัดอันดับความยอดเยี่ยม โดยเรื่องที่ติดอันดับในชาร์ทนี้ จะต้องมีงานศิลปะที่เกี่ยวกับการวาดภาพ (รวมภาพสเก็ตและวาดการ์ตูนด้วย) หรืออาจเป็นชีวประวัติของศิลปินที่มีชื่อเสียง หรือมาจากนิยายเรื่องแต่ง(ที่มีตัวละครเป็นศิลปิน จิตรกร) ก็จะนับรวมด้วยนะครับ
Top 20
- El sol del membrillo (1992) : Victor Erice ♠♠♠♠♠
The Quince Tree Sun เป็นหนังที่ดูยากมากๆ ให้ตายเถอะ ดูซ้ำ 10 รอบก็อาจไม่เข้าใจอะไรเลย แต่เมื่อใดที่คุณบรรลุหนังเรื่องนี้ จะพบว่า มันคือหนังเกี่ยวกับชีวิตที่มีชั้นเชิงการเล่าเหนือชั้นมากๆ โดยผู้กำกับชาวสเปนระดับตำนาน Victor Erice ทั้งชีวิตสร้างหนังยาว 3 เรื่อง นี่คือเรื่องสุดท้าย คุณจะทึ่งไปกับภาพวาดของต้น Quince โดย Antonio López García ศิลปินชื่อดังสัญชาติสเปน ที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะวาดเสร็จ
- (=1) Andrei Rublev (1966) : Andrei Tarkovsky ♠♠♠♠♠
คงไม่มีหนังเกี่ยวกับจิตรกรเอกเรื่องไหน มีความโดดเด่นในแง่การนำเสนอได้เท่ากับ Andrei Rublev เพราะผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ขึ้นชื่อเลยว่า ทำหนังได้ลึกซึ้ง เข้าใจยากมาก คุณอาจจะทนดูหนังได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่ขอให้ทนไปเถอะครับ อยากบอกว่ากว่าคุณจะเริ่มเห็น paradise ก็สักช่วงท้ายๆของเรื่อง เมื่อนั้นจะพบว่าแท้จริงความสวยงามมันแอบซ่อนอยู่ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว - La Belle Noiseuse (1991) : Jacques Rivette ♥♥♥♥◊
ถ้าอยากดูจิตรกรขณะสร้างสรรค์ผลงาน ต้องดู La Belle Noiseuse แม้งานศิลปะจะเป็นภาพเปลือย แต่วิธีการนำเสนอของ Jacques Rivette จะทำให้คุณคลั่งไคล้และหลงใหลกับเข้าใจความสวยงามที่อยู่ภายในมากกว่าเรือนร่างของผู้มาเป็นแบบ, เชื่อว่าหลายคนอาจจะทนกับความยาวของหนังไม่ได้ กด fast forward ไปก็ได้สำหรับคนที่ไม่อยากรอ แต่อย่าพลาดกดข้ามช่วงสนทนาแม้แต่น้อย เพราะมันสอดแทรกประเด็นที่เป็นใจความสำคัญของหนังอยู่เรื่อยๆ - Edvard Munch (1974) : Peter Watkins ♥♥♥♥
ภาพวาดงานศิลปะ เป็นสื่อที่นำเสนอจิตวิญญาณของศิลปิน Edvard Munch ถือว่าเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ค้นพบวิธีถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นภาพวาด (Expressionist), ผู้กำกับ Peter Watkins นำเสนอแนวคิด สิ่งที่เป็นแรงบันดาล ด้วยเทคนิคแบบสารคดีเชิงแอบถ่ายที่อาจจะดูยากเสียหน่อย แต่ถ้าทนได้ มันจะทำให้คุณสามารถเข้าใจงานศิลปะอย่างถ่องแท้เลยละ - Cutie and the Boxer (2013) : Zachary Heinzerling ♥♥♥♥♥
หนังสารคดีเกี่ยวกับสองสามีภรรยาที่เป็นศิลปินอาศัยอยู่ใน New York มากว่า 40 ปี Ushio และ Noriko Shinohara คุณจะตราตรึงไปกับ Boxing Painting และทึ่งในเรื่องราวการการต่อสู้ ของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันของสองสามีภรรยา ผ่านการถ่ายภาพที่สวยงามจนไม่รู้สึกว่าเป็นหนังสารคดีเลย ผู้กำกับ Zachary Heinzerling กับหนัง Debut เรื่องนี้ยอดเยี่ยมระดับ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” - The Draughtsman’s Contract (1982) : Peter Greenaway ♥♥♥♥◊
เรื่องราวของ draughtsman (นักสเก็ตภาพ) ถูกว่าจ้างให้วาดภาพคฤหาสถ์ 12 รูป ในระยะเวลา 12 วัน เมื่อวาดเสร็จภาพเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ เพื่อตามหาฆาตกร ฤานี่จะเกิดขึ้นเพื่อจัดฉากป้ายสีคนบางคน, หนังเรื่องนี้สุดพิศวงงงงวย ด้วยเทคนิควิธีการนำเสนอที่แปลกล้ำ โดยผู้กำกับชาวอังกฤษ Peter Greenaway ที่จะทำให้คุณเหมือนกำลังชื่นชมงานศิลปะอันสวยงามมากกว่าชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง - Pirosmani (1969) : Giorgi Shengelaia ♥♥♥♥♥
อัจฉริยะจิตรกรแห่งสหภาพโซเวียต Niko Pirosmani นักวาดภาพ Primitivist เชื้อสาย Georgian เขาไม่มีอาจารย์สอน วาดภาพสีน้ำมันเป็นด้วยตัวเอง น้อยคนอาจจะรู้จักเขา และน้อยยิ่งกว่าจะรู้จักหนังเรื่องนี้, รูปของ Pirosmani ปรากฏในธนบัตร 1 Iari ของประเทศ Georgia นะครับ, หนังเรื่องนี้สอนแนวทางการใช้ชีวิตแบบพอเพียงที่ดีมากๆ จนผมต้องจัดหนัง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
- The Horse’s Mouth (1958) : Ronald Neame ♥♥♥♥
Sir Alec Guinness นักแสดงชาวอังกฤษชื่อดัง รับบทเป็นจิตรกร Expressionist ไส้แห้งที่พร้อมทำทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ขโมยของ, รีดไถคนรวย เพื่อนำเงินที่ได้ไปวาดภาพในจินตนาการของตน, The Horse’s Mouth เป็นหนังที่สะท้อนตัวตนของศิลปิน และความหมายของงานศิลปะออกมาได้ตรง เสียดสีได้เจ็บแสบที่สุด ถ้ามีโอกาส “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” - Painted Fire (2002) : Im Kwon-taek ♥♥♥◊
Jang Seung-Ub คืออัจฉริยะที่ค้นพบอาณาจักรของการวาดภาพที่คนธรรมดาไม่สามารถไปถึงได้ และ Im Kwon-taek คืออัจฉริยะที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของ Jang Seung-Ub ออกมาได้อย่างเหนือชั้น, น่าเศร้าที่ Chi-hwa-seon เป็นหนังเอเชียเรื่องเดียวที่ติดชาร์ทนี้ - Picassos Äventyr (1978) : Tage Danielsson ♥♥♥◊
หนังตลกเสียดสี Pablo Picasso จิตรกรเอกของโลกชาวสเปน โดยนักแสดงและผู้กำกับสัญชาติสวีเดน ที่ทั้งเรื่องไปถ่ายทั่วยุโรป พูดกัน 10 ภาษา (แต่ไม่มีภาษา Swedish), ถึงจะบอกว่าเป็นหนังตลกล้อเลียน แต่เป็นหนังที่ทำเพื่อคาราวะ Picasso ให้คนดูทั่วไปสามารถเข้าใจผลงานของเขาได้แม้ไม่มีความรู้เรื่องงานศิลปะเลย แถมตลกมากๆด้วย - Mr. Turner (2014) : Mike Leigh ♥♥♥◊
J. M. W. Turner จิตรกรสัญชาติอังกฤษในยุค Romanticist เขาเป็นคนกักขฬะ เห็นแก่ตัว ไม่แคร์ผู้อื่น งานศิลปะจึงสะท้อนตัวตน สะเทือนอารมณ์ และสัมผัสได้ นี่ถือเป็นก้าวใหญ่ครั้งสำคัญของวงการศิลปะ ซึ่งใช่ว่าจะถูกใจทุกคน แต่ไม่ว่าใครจะพูดถึงเขาอย่างไร ศิลปินไม่ได้มีหน้าที่ฟังคำของนักวิจารณ์ แค่วาดภาพให้ออกมาให้สุดฝีมือก็พอ
- Séraphine (2008) : Martin Provost ♥♥♥◊
Séraphine Louis ศิลปินสาวใหญ่ผู้อาภัพ ผมให้ฉายาเธอว่า ‘ซินเดอเรลล่าแห่งวงการศิลปะ’ กระนั้นมันก็ไม่มีรองเท้าแก้ว รถม้าฟักทองหรือนางฟ้าแม่ทูนหัว แถมตอนจบนางซินยังต้องผิดหวังเพราะเจ้าชาย แถมสติแตกเข้าโรงพยาบาลบ้า (มันเหมือนยังไงกัน!)
- Pollock (2000) : Ed Harris ♥♥♥◊
นักข่าวสัมภาษณ์ คุณรู้ตอนไหนว่าวาดภาพเสร็จ “How do you know when you’re finished with a painting?” Jackson Pollock ถามกลับ คุณรู้ตอนไหนว่าร่วมรักเสร็จ”How do you know when you’re finished making love?” จิตรกร Abstract ขี้เมาชื่อดังของอเมริกาที่โชคดีได้ศรีภรรยา แต่โชคร้ายเสียชีวิตเพราะเมาแล้วขับ ผลงานกำกับเรื่องแรกและนำแสดงโดย Ed Harris ที่เกิดมารับบทนี้โดยเฉพาะ - Crumb (1994) : Terry Zwigoff ♥♥♥◊
หนึ่งในภาพยนตร์สารคดีที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก เรื่องราวของ Robert Crumb นักวาดการ์ตูนใต้ดิน (18+) ชื่อดังของอเมริกา ผลงานของเขาได้กลายเป็นตำนาน เราจะได้เห็นแรงจูงใจ ภูมิหลัง ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิด การสร้างสรรค์ผลงาน อะไรเป็นแรงขับเคลื่อน อะไรคือความต้องการของ Crumb ดูจบแล้วคุณจะตั้งคำถาม เกิดอะไรขึ้น ทำไมพวกเขาถึงกลายเป็นแบบนี้? - Portrait of Jennie (1948) : William Dieterle ♥♥♥♥
จากนิยายขายดีของ Robert Nathan กลายมาเป็นภาพยนตร์โรแมนติก แฟนตาซีสุดคลาสสิค โดยโปรดิวเซอร์ในตำนาน David O. Selznick นำแสดงโดย Jennifer Jones และ Joseph Cotten เรื่องราวของจิตรกรไส้แห้งที่ได้พบกับหญิงสาว Jennie และเธอกลายมาเป็นแบบให้กับภาพวาด masterpiece ของเขา - Frida (2002) : Julie Taymor ♥♥◊
หนังชีวประวัติของ Frida Kahlo จิตรกร Surrealist ชื่อดังสัญชาติ Mexican, เธอเป็นผู้หญิงที่โชคร้าย ประสบอุบัติเหตุทำให้กระดูกสันหลังหัก แต่ก็ไม่ย้อท้อ กลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง โดยผู้กำกับ Julie Taymor ผู้หญิงคนแรกที่กำกับละครเวทีแล้วได้รางวัล Tony Award สาขา Best Direction of a Musical, จะว่านี่เป็นหนัง Feminist ก็ได้นะครับ
- My Left Foot (1989) : Jim Sheridan ♥♥♥◊
สุดยอดการแสดงของ Daniel Day-Lewis กับบท Christy Brown ชายผู้ป่วยเป็นโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) ทั้งร่างกายสามารถขยับได้แค่เท้าซ้ายข้างเดียว แต่สามารถกลายเป็นนักเขียน ศิลปิน วาดภาพเอาเงินมารักษาตนเองและเลี้ยงดูครอบครัวได้ นี่เป็นหนังที่ให้แรงบันดาลใจกับคน ขณะเดียวกันก็นำเสนอคนที่ไม่ใช่แค่พิการทางร่างกาย แต่รวมถึงจิตใจ
- Les Amants de Montparnasse (1958) : Jacques Becker & Max Ophüls ♥♥♥◊
The Lovers of Montparnasse เรื่องราวเกี่ยวกับปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของ Amedeo Modigliani จิตรกรชื่อดังสัญชาติอิตาลี ที่ทั้งชีวิตไม่ได้รับการยอมรับ แต่พอเสียชีวิตแล้ว ภาพ Nu Couché ถือเป็นภาพเปลือย (Nude) ราคาสูงที่สุดในโลก $170.4 ล้านดอลลาร์ (แพงกว่าภาพที่แพงที่สุดของ Van Gogh เสียอีก)
- The Agony and the Ecstasy (1965) : Carol Reed ♥♥♥◊
Michelangelo Buonarroti เป็นประติมากรชื่อดัง ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) แต่เขาไม่ใช่จิตรกร ขณะอายุ 30 ถูกเชิญตัวมาที่กรุงโรมเพื่อทำงานออกแบบหลุมฝังศพให้กับสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 แต่ยังไม่ทันที่จะเริ่ม Pope Julius II เปลี่ยนใจสั่งให้เขาวาดภาพตกแต่งเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) นี่เองทำให้เกิดภาพวาด The Creation of Adam ที่โด่งดังที่สุดในโลก
- Van Gogh (1991) : Maurice Pialat ♥♥♥◊
67 วันสุดท้ายของชีวิตจิตรกรเอก Vincent van Gogh เกิดอะไรขึ้นในจิตใจของเขา เรื่องราว การดำเนินชีวิต ถ่ายทอดออกมาในสไตล์หนังฝรั่งเศส โดยผู้กำกับ Maurice Pialat นำแสดงโดย Jacques Dutronc ชายผู้หน้าตาไม่เหมือน Van Gogh สักนิด แต่การแสดงของเขากินขาด
- Lust for Life (1956) : Vincente Minnelli ♥♥♥
ชีวประวัติจิตรกรเอกของโลก Vincent van Gogh เล่าถึงแรงบันดาลใจ แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ไปจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Irving Stone กำกับโดย Vincente Minnelli (An American in Paris-1951) นำแสดงโดย Kirk Douglas (Spartacus-1960) รับบท Vincent Van Gogh ว่ากันว่านี่เป็นการแสดงที่ทุ่มเทที่สุดและยอดเยี่ยมที่สุดของเขาเลย
Honorary Mention
- Honey and Clover : Anime Series ♥♥♥♥
ศิลปะคือสื่อที่ใช้ค้นหาตัวเอง ผลงานแต่ละชิ้นที่สร้างขึ้นมาในอนิเมะเรื่องนี้ แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ในใจตัวละครนั้น ไม่เพียงแค่ภาพวาด แต่รวมถึง งานปั้น, ออกแบบ, งานไม้, ดินเผา - Taare Zameen Par (2007) : Aamir Khan ♥♥♥♥
เด็กทุกคนมีความพิเศษในตัว ภาพวาดเด็กชายคนหนึ่งที่เป็น Dyslexia และภาพวาดของเด็กชายเกี่ยวกับภาพในความฝันของเขา พรสวรรค์ที่โดดเด่นอาจปรากฏขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กที่มีความผิดปกติทางร่างกาย
รู้จักกันกี่เรื่องเอ่ย? ผมใช้เวลาเกือบเดือนในการรวมรวมชาร์ทนี้ ด้วยต้องการความหลากหลายที่สุด สำหรับอันดับ 1 บอกตามตรงว่าเลือกไม่ได้ หลายชาร์ทที่ผมเห็นจะเลือก Andrei Rublev อันดับ 1 แต่เชื่อว่าเขาคงยังไม่ได้ดู The Quince Tree Sun เป็นแน่ เพราะหนังเรื่องนี้ มันมีมิติลึกซึ้งพอๆกับ Andrei Rublev เลย ซึ่งผมก็เลือกไม่ได้ว่าหนังพระเจ้าสร้างทั้งสองเรื่องนี้ เรื่องไหนยอดเยี่ยมกว่ากัน ก็เลยยกไว้เทิดทูนที่อันดับ 1 ทั้งคู่
มีเรื่องอื่นๆที่ผมดูแล้วแต่รู้สึกว่ายังไม่ดีพอที่จะติดชาร์ทนี้ อาทิ Rembrandt (1936), Utamaro and His Five Women (1946), An American in Paris (1950), Vincent & Theo (1990), La vie de bohème (1992), A Soul Haunted by Painting (1994), Basquiat (1996), What Dreams May Come (1998), Girl with a Pearl Earring (2003), Nightwatching (2007), Rembrandt’s J’Accuse (2008), Rang Rasiya (2008), Dhobi Ghat (2010), Bakuman (Anime Series 2010-2013), Goltzius and the Pelican Company (2012), Big Eyes (2014)
ใครมีหรือค้นพบหนัง/อนิเมะ เรื่องอื่นๆที่ตกชาร์ทไปแนะนำเข้ามาได้นะครับ ซึ่งเมื่อผมดูแล้วคิดว่ายอดเยี่ยมกว่า จะมาอัพเดทชาร์ทให้ด้วยนะครับ
หมายเหตุ
♥ ที่อยู่หลังชื่อเรื่อง คือคะแนนความชอบของผมนะครับ เต็ม 5 ดาว (เรื่องโปรด)
◊ คือ 1/2 คะแนน
♠♠♠♠♠ พระเจ้าสร้าง ไม่สามารถให้ค่าคะแนนได้
[…] Best of Painter & Artist Films […]