No End (1985) : Krzysztof Kieślowski ♥♥♥♡
ความตายของสามีทำให้ภรรยาแทบมิอาจอดรนทน พยายามหาหนทางปล่อยปละละวาง แต่สถานการณ์การเมืองของประเทศ Poland ช่วงประกาศกฎอัยการศึก (1981-83) ทำให้ทุกสิ่งอย่างถึงคราอับจน หมดสิ้นหนทางหวัง ท้ายที่สุดแล้วเลยหลงเหลือเพียงโศกนาฎกรรม
ก็เหมือนภาพโปสเตอร์ผลงานของศิลปิน Andrzej Pągowski กระโหลกศีรษะคือสัญลักษณ์ความตาย อยู่ปลายตะขอเกี่ยวแปลว่าไม่มีใคร(ในประเทศ Poland)สามารถหลบหนีพ้นโชคชะตากรรม!
ระหว่างรับชม No End (1985) ทำให้ผมครุ่นคิดถึงภาพยนตร์ Love Letter (1995) ต่างมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสูญเสียสามี/ชายคนรัก แล้วฝ่ายหญิงยังมิอาจปล่อยปละละวาง คลายความทุกข์เศร้าโศกเสียใจ จึงค่อยๆรื้อฟื้นความหลัง ค้นพบสิ่งต่างๆในอดีต มีอะไรๆอีกมากที่ไม่เคยรับรู้จักเขาคนนั้น … ทั้งสองเรื่องมีจุดตั้งต้นเดียวกัน หลายๆเหตุการณ์ละม้ายคล้ายคลึง แต่วิธีนำเสนอและบทสรุปแตกต่างคนละขั้วตรงข้าม!
นั่นเพราะผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski สรรค์สร้างภาพยนตร์ No End (1985) เพื่อบันทึกวิถีชีวิต สภาพสังคม สภาวะทางอารมณ์ของชาว Polish ในช่วงระหว่างที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ Polish People’s Republic ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 1981 ถึง 22 กรกฎาคม 1983 ถือเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนไร้สิทธิ เสรีภาพ ตกอยู่ในอาการหวาดหวั่น สั่นสะพรึงกลัว ไร้ซึ่งความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ทำผิดนิดๆหน่อยก็อาจติดคุกติดตาราง ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม
No End (1985) เป็นภาพยนตร์ที่ดูยากมากๆ ไม่ใช่ในแง่ของเทคนิค ลีลา หรือวิธีการนำเสนอ แต่คือรายละเอียดพื้นหลัง จำต้องรับรู้เข้าใจประวัติศาสตร์ประเทศ Poland ในช่วงระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก (1981-83) ซึ่งถ้าคุณสามารถอดรนทนพานผ่านรอบแรก → อ่านบทความนี้ → แล้วหวนกลับไปดูอีกรอบ เชื่อเถอะว่าจะพบเห็นอัจฉริยภาพของผู้กำกับ Kieślowski ถ่ายทอดสภาวะทางอารมณ์ของผู้คนยุคสมัยออกมาได้อย่างหมดสิ้นหวัง
คงต้องกล่าวถึงที่มาที่ไปก่อนการประกาศใช้กฎอัยการศึกของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ Polish People’s Republic จุดเริ่มต้นจากวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1980 มีการลงนามข้อตกลง Gdańsk Agreement ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับกรรมกรแรงงานที่อู่ต่อเรือ Lenin เมือง Gdańsk นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรการค้าเสรี Solidarność หรือ Solidarity (ชื่อเต็มๆ Independent Self-Governing Trade Union “Solidarity”) เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพของชนชั้นแรงงาน โดยไม่ถูกควบคุมครอบงำจากรัฐบาล
แค่เพียงเดือนเดียวหลังการก่อตั้ง Solidarity มีสมาชิกกว่า 10+ ล้านคน! ถือเป็นหนึ่งในสามของประชากรแรงงานทั้งประเทศ แล้วมีการเลือกตั้งช่างไฟฟ้า Lech Wałęsa คนธรรมดาๆสามัญ กลายเป็นประธานคนแรกของ Solidarity นั่นถือเป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง โดมิโนตัวแรกกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ก่อนเติบโตไปสู่การเคลื่อนไหวที่สามารถล้มล้างพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่แค่กับประเทศ Poland แต่ยังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในทศวรรษถัดมา
เกร็ด: Solidarity ได้รับความชื่นชมในฐานะที่สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคประชาสังคม ท่ามกลางการปิดกั้นของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทำให้ Lech Wałęsa ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ (Nobel Peace Prize) เมื่อปี 1983
อิทธิพลของ Solidarity ที่แพร่ขยาย กระจายไปอย่างรวดเร็ว สร้างความหวาดหวั่นต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ กลัวสูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการ และเมื่อการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตามหัวเมืองต่างๆทั่วทั้งประเทศ ทางการจึงประกาศกฎอัยการศึก (Martial law) ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 1981 เพื่อให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจในการจัดการความรุนแรงที่บังเกิดขึ้นโดยทันที!
Krzysztof Kieślowski (1941-96) ผู้กำกับชาว Polish เกิดที่ Warsaw ในช่วงที่ Nazi Germany เข้ายึดครอบครอง Poland ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาทำงานวิศวกรโยธา เลี้ยงดูบุตรชายตามแบบ Roman Catholic, พออายุ 16 ถูกส่งไปฝึกฝนอาชีพนักผจญเพลิง เพียงสามเดือนก็ตัดสินใจลาออก จากนั้นเข้าเรียน College for Theatre Technicians จบออกมาต้องการเป็นผู้กำกับละครเวที แต่เพราะไม่มีวุฒิปริญญาเลยไม่ได้รับการจ้างงาน เพื่อหลบหนีเกณฑ์ทหารจึงยื่นใบสมัครถึงสามรอบกว่าจะได้เข้าศึกษาต่อภาพยนตร์ยัง Łódź Film School
เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Krzysztof Kieślowski คือ Kes (1969) กำกับโดย Ken Loach
เริ่มต้นยุคแรก Early Work (1966-75), ด้วยการสรรค์สร้างสารคดี บันทึกภาพวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วๆไป The Office (1966), Tramway (1966), From the City of Łódź (1968), Factory (1970), จนกระทั่ง Workers ’71: Nothing About Us Without Us (1971) นำเสนอภาพการชุมนุมประท้วงหยุดงานเมื่อปี 1970 โดยไม่รู้ตัวเริ่มถูกทางการสั่งเซนเซอร์, Curriculum Vitae (1975) เลยแทรกใส่แนวคิดต่อต้านหน่วยงานรัฐ (Anti-Authoritarian) ทำให้โดนเพื่อนร่วมอาชีพตำหนิต่อว่า ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง
Polish Film Carrier (1975-88), ช่วงที่ Kieślowski เริ่มสรรค์สร้างผลงานที่ไม่ใช่สารคดี ภาพยนตร์เรื่องแรก Personnel (1975) ** คว้ารางวัล Grand Prize จากเทศกาลหนัง Mannheim International Filmfestival (ที่ประเทศ Germany), ติดตามด้วย The Scar (1976), Camera Buff (1979), Blind Chance (1981), No End (1984) และผลงานชิ้นเอก Dekalog (1988) ซีรีย์ฉายโทรทัศน์ความยาวสิบตอน ได้แรงบันดาลใจจากพระบัญญัติ 10 ประการ
International Film Carrier (1991-94), แม้ช่วงสุดท้ายในชีวิตและอาชีพการงานของ Kieślowski จะมีผลงานเพียง 4 เรื่อง แต่ล้วนประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ การันตีความเป็นตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ The Double Life of Veronique (1991), Blue (1993), White (1994), Red (1994)
ความตั้งใจแรกของผู้กำกับ Kieślowski ต้องการบันทึกสารคดีเกี่ยวกับการพิจารณาไต่สวนคดีความทางการเมือง ภายหลังประกาศกฎอัยการศึก แต่เมื่อไหร่ที่เขานำทีมงานเข้าไปถ่ายทำในศาล ผู้พิพากษากลับหาทางหลบหลีก ปฏิเสธตัดสินความผิด ยื้อๆยักๆเล่นตัวอยู่อย่างนั้น
The judges didn’t want to be recorded at the moment of passing unjust sentences, because they knew that if I turned on the camera, then some time in the future, after three, ten or twenty years, somebody would find this film. And they’d see themselves.
Krzysztof Kieślowski
กล่าวคือในช่วงประกาศกฎอัยการศึก การตัดสินคดีความทางการเมืองมักได้รับใบสั่งจากเบื้องบน แต่สามัญสำนึกของผู้พิพากษาเหล่านั้น ไม่ต้องการให้สร้างความอับอายให้ตนเองและคนรุ่นหลังจากการตัดสินที่ไม่มีความยุติธรรม (ทำไมประเทศสารขัณฑ์ไม่มีแบบนี้บ้างนะ!!) … ผู้กำกับ Kieślowski เลยครุ่นคิดวิธีการอันชาญฉลาด ด้วยการแค่ตั้งกล้องทิ้งไว้ ไม่ได้ใส่ฟีล์ม แสร้งว่ากำลังถ่ายทำ เพียงเท่านั้นผู้พิพากษาก็จะไม่เอ่ยคำตัดสิน ช่วยเหลือนักโทษการเมืองไว้ได้ไม่น้อยเลยละ
It got to the point where I had to hire a second camera in order to make it from one trial to another on time. When a camera was in the courtroom, the judges didn’t pass prison sentences. So I didn’t even load the second camera with film because there wasn’t any need. They were simply dummy camera which were only there so that through plain human fear, the judges wouldn’t pass sentences.
ช่วงระหว่างถ่ายทำสารคดีปลอมๆบนชั้นศาลนี้เอง Kieślowski มีโอกาสรับรู้จัก Krzysztof Piesiewicz (เกิดปี 1945) ขณะนั้นเป็นทนายความ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ Solidarity เลยมีโอกาสขึ้นว่าความคดีทางการเมืองอยู่หลายครั้ง, นอกจากติดต่อประสานงาน ยังช่วยมองหาคดีทางการเมืองที่น่าสนใจ เผื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบสรรค์สร้างภาพยนตร์
จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนร่วมงาน Jerzy Woźniak พลันด่วนเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง แต่ว่า Piesiewicz รับรู้สึกเหมือนวิญญาณยังคงวนเวียน อยู่เคียงชิดใกล้ นำมาพูดคุยผู้กำกับ Kieślowski กลายเป็นแรงบันดาลใจร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์ No End (1985) โดยสร้างตัวละครผู้ล่วงลับ Antek Zyro ใช้เป็นสัญลักษณ์ของ Solidarity ที่ถูกกองเซนเซอร์สั่งห้ามกล่าวถึงในหนัง แต่ทุกเหตุการณ์ที่มีเกิดขึ้น(จากวิญญาณ/เรื่องเหนือธรรมชาติดังกล่าว) ล้วนมีนัยยะซ่อนเร้นเคลือบแฝงอยู่
เกร็ด: Jerzy Radziwilowicz นักแสดงที่รับบท Antek Zyro ผลงานก่อนหน้าเล่นเป็นตัวละครหลักใน Man of Iron (1981) ภาพยนตร์ถือเป็นจิตวิญญาณของ Solidarity ซึ่งการเสียชีวิตตั้งแต่แรกเริ่มต้นใน No End (1985) ยังสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงจุดจบของ Solidarity (ไม่ได้หมายความว่าองค์กรล่มสลายนะครับ แค่ในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก รัฐบาลคอมมิวนิสต์พยายามทำให้ Solidarity เสมือนไร้ตัวตน)
นอกจากนี้ Piesiewicz ยังเป็นคนเสนอแนะให้ดำเนินเรื่องราวผ่านมุมมองอิสตรีเพศ (ถือเป็นครั้งแรกในผลงานของผู้กำกับ Kieślowski) เพราะสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของการสูญเสียสามี/ชายคนรัก ออกมาได้ชัดเจนกว่า
I was once criticized in Poland for making women flat figures, dimensionless and without understanding the essence of femininity. There were actually no women in the Personnel (1975). In The Scar (1976), in Camera Buff (1979), in The Calm (1980) if they were, it was very bad. In Blind Chance (1981), the women were actually just companions in the protagonist’s life. Perhaps that was the reason why I thought that I would make a film about a woman from a woman’s point of view.
Krzysztof Kieślowski
เกร็ด: Krzysztof Piesiewicz แม้ยังคงอาชีพหลักทนายความ แต่ก็ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski หลังจากนี้ร่วมกันพัฒนาบท Dekalog (1988), The Double Life of Véronique (1991) และไตรภาค Three Colours (Blue, White, Red) โดยดูแลในส่วนคำถามอภิปรัชญา หลักศีลธรรม/มโนธรรมและแนวคิดทางการเมืองที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน
เรื่องราวของ Urszula Zyro (รับบทโดย Grażyna Szapołowska) ยังคงเศร้าโศกเสียใจ รับไม่ได้ต่อการสูญเสียสามีจากไปด้วยโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Attack) พยายามหาหนทางหลงลืม สานสัมพันธ์ใครอื่น แต่จนแล้วจนรอดก็มิอาจปล่อยปละละวาง ยังคงหมกมุ่นครุ่นคิดว่าตนเองสัมผัสได้ถึงวิญญาณของชายคนรัก
ก่อนหน้าการเสียชีวิต Antek Zyro เป็นทนายความให้ Darek Stach (รับบทโดย Artur Barciś) ถูกจับกุมข้อหาผู้นำกลุ่มชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่การจากไปอย่างปัจจุบันทันด่วนจึงต้องมองหาทนายคนใหม่ Mieczyslaw Labrador (รับบทโดย Aleksander Bardini) คืออาจารย์วัยใกล้เกษียณของ Antek ทีแรกก็ไม่ได้อยากว่าความให้ แต่รับรู้ว่านี่อาจเป็นคดีสุดท้ายเลยยินยอมตอบตกลง
Mieczyslaw ไม่ได้มีพละกำลังวังชา กล้าบ้าบิ่น หรือวิสัยทัศน์แบบเดียวกับ Antek ความสนใจของเขามีเพียงทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ Darek สามารถก้าวออกมาพ้นคุก ซึ่งวิธีการอาจขัดต่ออุดมการณ์/ความต้องการของจำเลย แต่หลังจากใช้ไม้แข็ง-ไม้อ่อน ทำให้เขายินยอมกระทำตามคำร้องขอ ผลการตัดสินของศาลแม้ได้รับชัยชนะ แต่สิ่งหลงเหลือกลับคือความเวิ้งว่างเปล่า
Grażyna Szapołowska (เกิดปี 1953) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Bydgoszcz หลังเรียนจบมัธยมเข้าเรียนต่อการแสดง National Academy of Dramatic Art, Warsaw เริ่มมีผลงานละครเวทียัง Dolnośląski Theater, Wroclaw Mime Theatre, พอเรียนจบกลายเป็นนักแสดงประจำ National Theatre, Warsaw (ระหว่างปี 1977–84) นอกจากนี้มีผลงานซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อาทิ Another Way (1982), No End (1985), A Short Film About Love (1988), Pan Tadeusz (1999) ฯ
รับบท Urszula Zyro หรือ Ulla ภรรยาหม้ายของ Antek ที่ยังทำใจไม่ได้ต่อการสูญเสีย พออยู่ตัวคนเดียวเมื่อไหร่ต้องหมกมุ่นครุ่นคิดถึงสามี เคยพยายามสะกดจิตให้หลงลืม ร่วมรักหลับนอนกับชายแปลกหน้า ฯลฯ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถปล่อยละวางจากเขาได้เสียที กระทั่งคดีความของ Antek Zyro สิ้นสุดลง สิ่งหลงเหลือสำหรับเธอคือความเวิ้งว่างเปล่าภายใน
ลีลาการแสดงของ Grażyna Szapołowska ชวนให้ผมระลึกนึกถึง Gena Rowlands (โดยเฉพาะหลายๆผลงานร่วมกับสามี John Cassavetes) ทั้งสองต่างโดดเด่นด้านการแสดงออกทางอารมณ์ นำเสนอความอ่อนแอ/เปราะบางของตัวละคร ออกมาได้อย่างสุดเหวี่ยง คลุ้มบ้าคลั่ง (ทั้งสีหน้าสายตา และภาษากายที่เต็มไปด้วยความหมกมุ่นทางเพศ) มุ่งสู่หายนะต่อทั้งตนเองและบุคคลรอบข้าง
ฉากที่ทำให้ผมโคตรประทับใจการแสดงของ Szapołowska ก็คือ Sex Scene และขณะช่วยตนเอง (เหมือนผมเป็นพวกบ้ากามเลยนะ –“) ทั้งสองฉากนี้มีความลุ่มลึกล้ำมากๆนะครับ การกระทำดังกล่าวหาใช่ตอบสนองอารมณ์ทางเพศ แต่คือความต้องการปลดปล่อยตนเองจากชายคนรัก ถึงอย่างนั้นมันกลับทำให้เธอยิ่งหมกมุ่นครุ่นยึดติด แถมยังรู้สึกผิดที่นอกใจสามีอีกต่างหาก (ต้องการทำให้ตนเองหมดรัก/หมดศรัทธาต่อสามี แต่ไม่ว่าเธอจะทำอะไรกลับยิ่งรัก ยิ่งศรัทธา ไม่ผันแปรเปลี่ยนไป)
Aleksander Bardini (1913-95) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ ละครเวที เชื้อสาย Jewish เกิดที่ Łódź วัยเด็กชื่นชอบการเล่นไวโอลิน แสดงละครภาษา Yiddish, โตขึ้นร่ำเรียนการแสดงและกำกับจาก State Higher School of Theatre (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น The Theatre Academy, Warsaw) ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกควบคุมตัวในค่ายกักกัน Lwów Ghetto โชคดีได้รับความช่วยเหลือหลบซ่อนตัวอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ของชาวเยอรมัน จนสามารถรอดชีวิตกลับมาเป็นนักแสดงอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงคราม, ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Long Is the Road (1948), Landscape After the Battle (1970), Spiral (1978), No End (1985), Dekalog (1988), Korczak (1990), The Double Life of Véronique (1991), Three Colours: White (1994) ฯ
รับบท Mieczyslaw Labrador ทนายความวัยใกล้เกษียน เคยเป็นอาจารย์ของ Antek Zyro รับรู้ตนเองว่าไม่ได้มีความเชี่ยชาญคดีความทางการเมือง แต่สาเหตุที่ยินยอมทำคดีของ Darek Stach เพราะเหมือนมีบางสิ่งอย่าง(เหนือธรรมชาติ)พยายามชี้ชักนำทาง คดีความสุดท้ายก็ควรทำออกมาให้ยิ่งใหญ่!
แซว: Labrador Retriever คือสายพันธุ์สุนัขที่ได้รับความนิยมอย่างมากๆๆในสหรัฐอเมริกา เพราะนิสัยเป็นมิตร เลี้ยงง่าย ฝึกไว และเต็มไปด้วยความกระตือรือล้น (high-spirited)
ถึงอย่างนั้นวิธีการของ Mieczyslaw กลับมีลักษณะ ‘Old School’ ไร้ความหาญกล้าบ้าบิ่น ดำเนินไปตามวิถีครรลอง เลยไม่สามารถตอบสนองอุดมการณ์/ความต้องการของลูกความ แม้ผลการตัดสินจะได้รับชัยชนะ กลับหลงเหลือเพียงความเงียบงัน พูดไม่ออกบอกไม่ถูก ไร้ความภาคภูมิใจใดๆ อ่านบทกวีให้ Ulla สะท้อนโชคชะตาชีวิต (และชาว Polish) ภายใต้ช่วงเวลากฎอัยการศึก
I don’t even know how it happened, that I changed from a young wolf to an old dog.
บทกวี I nie wiem nawet jak to się zrobiło… ประพันธ์โดย Ernest Włodzimierz Bryll
Perhaps it was the wind that stung my face.
Or looking at the sky, my jaundiced eye squinted.
Or it was the reflection of fear, not fire, that danced in my spine.
Or maybe nobody had to put this dog-collar on me, nobody came after me and I, myself, went serving humbly like a dog.
Assure me that I’m living free although I weep.
ภาพลักษณ์ของ Aleksander Bardini ชวนให้ผมระลึกนึกถึง Charles Laughton และ Peter Ustinov ชายร่างใหญ่ สูงวัย ศีรษะล้าน ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า โดยเฉพาะถ้ารับบทศาสตราจารย์ ทนายความ หรือผู้ทรงคุณวุฒิไม่ว่าแขนงไหนๆ ล้วนมีความน่าเชื่อถือ พานผ่านประสบการณ์ชีวิตมานักต่อนัก
แต่ขณะเดียวกัน Bardini ก็ทำให้ผู้ชมสัมผัสถึงข้อจำกัดของผู้สูงวัย ความครุ่นคิดอ่านแบบคนรุ่นเก่า หัวโบราณ ‘Old School’ ไร้เรี่ยวแรงพละกำลังแบบคนหนุ่มสาว ไม่มีความหาญกล้า ท้าเสี่ยง กระทำสิ่งนอกกรอบ แปลกใหม่ ท้าทายจารีตสังคม ในสายตาผู้ชมจึงดูอ่อนแอ ขลาดเขลา สนเพียงเอาตัวเองรอดไปวันๆ
ถ่ายภาพโดย Jacek Petrycki (เกิดปี 1948) ตากล้องสัญชาติ Polish เข้าศึกษาสาขาถ่ายภาพจาก Łódź Film School (น่าจะ)รุ่นน้องผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski, หลังเรียนจบเข้าร่วม Warsaw Documentary Films Studio (WFDiF) กลายเป็นช่างภาพสารคดี มีผลงาน(ร่วมกับ Kieślowski) อาทิ First Love (1974), Curriculum Vitae (1975), Hospital (1977), Camera Buff (1979), The Calm (1980), No End (1985), นอกจากนี้ที่เด่นๆยังมี The Provincial Actors (1979), A Lonely Woman (1981), Europa Europa (1990), Journey to the Sun (1999) ฯลฯ
แม้ว่า Petrycki มีความสนิทสนมผู้กำกับ Kieślowski มายาวนาน แต่การถ่ายทำ No End (1985) บังเกิดความขัดแย้ง ทัศนคติเห็นต่างอย่างรุนแรง ฟางเส้นสุดท้ายคือการตัดฉากบุตรชายของ Ulla (แอบไป)เข้าร่วมชุมนุมประท้วง แค่เพียงพูดกล่าวถึงเท่านั้น (ผกก. Kieślowski กลัวว่าหนังจะไม่ผ่านกองเซนเซอร์) หลังจากนี้ทั้งคู่เลยไม่ได้ร่วมงานกันอีกเลย
หนึ่งในความไม่ลงรอยระหว่าง Petrycki และผู้กำกับ Kieślowski อาจคือลักษณะการถ่ายทำที่แทบไม่มีความเป็นสารคดีหลงเหลืออยู่ (คือมันไม่ใช่สไตล์ของ Petrycki) เพราะหนังมอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ นำเสนอผ่านมุมมองสายตาวิญญาณ/สามีผู้ล่วงลับของ Ulla ที่ยังล่องลอยไป-มา บางครั้งก็ยืน-นั่ง เดินผ่านหน้ากล้อง คอยจับจ้องสังเกตเหตุการณ์สิ่งต่างๆบังเกิดขึ้น … มองเป็น Magical Realism ก็พอได้อยู่นะ
สถานที่ถ่ายทำทั้งหมดของหนังล้วนในกรุง Warsaw, Mazowieckie เท่าที่ผมหาข้อมูลได้มีเพียง Powązki Cemetery สุสานประวัติศาสตร์ เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ Poland สำหรับจัดงาน All Souls’ Day (2 พฤศจิกายน) เพื่อหวนระลึกถึงผู้จากไปโดยสัตย์ซื่อและวันแห่งความตาย (สามารถสื่อถึงบุคคลที่จากไปเพราะพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้เช่นกัน!)
สำหรับคนช่างสังเกตช็อตแรกของหนัง น่าจะเริ่มถ่ายทำตั้งแต่ยามเย็นยังพอมองเห็นรายละเอียดสุสาน จนกระทั่งมืดมิดสนิทหลงเหลือเพียงแสงเทียน (ชีวิตที่ดับสูญ/วิญญาณล่องลอย/กลายเป็นเหมือนดาวดาราบนท้องฟากฟ้า) มุมกล้องถ่ายจากเบื้องบน Bird’s Eye View แต่ผมชอบเรียก God’s Eye View สื่อความหมายได้ตรงกว่า
เกร็ด: สำหรับชาวคริสต์ จะเป็นสามวันติดต่อกันเริ่มจาก Halloween (31 ตุลาคม), วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย All Saints’ Day (1 พฤศจิกายน) และ All Souls’ Day (2 พฤศจิกายน)
หลังหมดจาก Opening Credit เริ่มต้นที่ภาพท้องฟ้าเต็มไปด้วยก้อนเมฆ ปกคลุมแสงอาทิตย์ไม่ให้สาดส่องแสงลงมา สามารถสื่อถึงลักษณะของการประกาศกฎอัยการศึก เป็นการปิดกั้นประชาชนทุกสิ่งอย่าง จนมีบรรยากาศอึมครึม มืดหมองหม่น สร้างความรู้สึกปั่นป่วนทรวงใน
ภาพถัดมือคือการกำหมัดแล้วคลาย คล้ายสำนวนไทย “ลูกไก่ในกำมือ” จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด สะท้อนอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ต่อประชาชนชาว Poland ได้เลยกระมัง … ผมยังตีความอีกนัยยะผ่านมุมมองชาว Polish การกำมือเหมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เผชิญหน้า พร้อมท้าชนรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่ยังต้องคลายออกแทนความอดกลั้น เพราะยังต้องพานผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้เสียก่อน
กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลในห้องของบุตรชาย พบเห็นเลโก้สองกอง
- กองแรกบริเวณริมหน้าต่าง สามารถเทียบแทนสถานะของประเทศโปแลนด์(ขณะนั้น)ที่แทบจะถือว่าล่มสลาย/พังทลายไปแล้ว
- อีกกองวางอยู่เหนือเปียโน น่าจะสื่อถึงความเพ้อฝันของเด็กชาย มีบ้าน มีครอบครัวที่สมบูรณ์ หรือคือประเทศโปแลนด์ในอุดมคติ (แต่ขณะนั้นเขาได้สูญเสียบิดาไปแล้ว)
แค่นักแสดงจับจ้องมองกล้อง “Breaking the Fourth Wall” แบบตาแทบไม่กระพริบ ก็สร้างความกระอักกระอ่วนให้ผู้ชมมากๆแล้ว (แอบนึกถึง สัตว์ประหลาด (พ.ศ. ๒๕๔๗)) และพอพูดว่าฉันตายเมื่อไม่กี่วันก่อน เพิ่มความหลอกหลอนสั่นสะท้านทรวงในขึ้นมาทันที
การที่หนังให้ตัวละครที่เสียชีวิต/วิญญาณ Antek Zyro หันมาพูดคุยกับผู้ชม สามารถตีความได้หลากหลาย
- เพื่อสร้างความแปลกแยกให้ตัวละคร ผู้ชมรู้สึกหลอนๆกับการยังคงล่องลอย ไม่ไปสู่สุขคติเสียที เหมือนมีบางสิ่งอย่างยังติดค้างคาใจ
- ลักษณะของการ Breaking the Fourth Wall มักมีบางสิ่งอย่างที่ผู้กำกับต้องการพูดบอก/สื่อสารออกมาผ่านตัวละคร ให้ผู้ชมรับรู้เข้าใจ
- คำพูดของตัวละครขณะนี้ (เกือบจะเป็นครั้งเดียวที่พูดออกมา) คือความรู้สึกที่พรรณาถึงความหวาดกลัว หนาวเหน็บ ยังมีอีกหลายสิ่งอย่างต้องการกระทำ เหล่านี้สามารถสื่อปฏิกิริยาชาว Polish นับตั้งแต่วินาทีที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ประกาศใช้กฎอัยการศึก
- มองในเชิงสัญลักษณ์ ชายคนนี้คือตัวแทนของ Solidarity องก์กรที่ถูกกองเซนเซอร์สั่งห้ามกล่าวถึงในหนัง แต่ยังคงมีอิทธิพลต่อผู้คน เหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น และยังแอบช่วยเหลือ/ชี้แนะนำในสถานการณ์คับขันอยู่หลายครั้ง
ระหว่างที่ตัวละครกำลังสนทนากับผู้ชมอยู่นี้ จะมีการแทรกหลายๆภาพที่ยังติดค้างคาใจ ไม่สามารถปล่อยปละละวาง แน่นอนว่าต้องแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์บางอย่าง
- เมื่อตัวละครพูดบอกว่าตนเองเสียชีวิต ตัดไปภาพโถใส่น้ำตาล พบเห็น(เศษน้ำตาล)ร่วงหล่นออกมาภายนอก (วิญญาณออกจากร่าง)
- ลูกบาสเกตบอลเทียบแทนลูกเมล่อน คือสิ่งที่ตัวละครยังห่วงหาว่าที่ปลูกไว้ตรงระเบียงจะพร้อมรับประทานหรือยัง
- กุญแจที่ไร้น้ำหนักในกระเป๋า หรือคือ Solidarity องค์กรที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ Poland กำลังสูญเสียความเชื่อมั่น (จากการถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปิดกั้นในช่วงประกาศกฎอัยการศึก)
- ยังคงห่วงบุตรชาย เพิ่งเริ่มตระหนักได้ถึงการสูญเสียบิดา สังเกตว่าแสง-เงาอาบฉาบใบหน้าคนละครึ่ง (พยายามปั้นหน้าแสดงออกด้วยความปกติ แต่ภายในเต็มไปด้วยความสับสน ว้าวุ่นวายใจ)
- และสุดท้ายเอกสารคดีความของ Darek Stach คือสิ่งสุดท้ายที่เขายังคงติดค้างคาใจ
สุนัขสีดำปรากฎขึ้นสามครั้งในหนัง ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าชาว Polish มีความเชื่อประการใด? เหมือนมันสามารถมองเห็นวิญญาณผู้เสียชีวิต จึงเข้ามาคลอเคลียละเล่นกับ Antek สัญลักษณ์ความเชื่อมโยงระหว่างโลกคนเป็น-คนตาย
และนอกจากพบเห็นสามครั้งนี้ ยังมีกล่าวถึงในบทกวีของ Ernest Włodzimierz Bryll (อ่านให้ฟังโดย Mieczyslaw Labrador) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสุนัขรับใช้ ชีวิตที่ไร้อิสรภาพ ต้องคอยทำตามคำสั่งเจ้านาย (หรือคือชาว Poland ต้องก้มศีรษะให้พรรคคอมมิวนิสต์)
วินาทีที่ Mieczyslaw Labrador ทำนาฬิกา (ของขวัญจาก Antek) ตกหล่นลงพื้นจนหยุดเดิน พบเห็นใครบางคนกำลังก้าวเดินผ่านไป ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะตระหนักได้ว่าชายคนนั้นน่าจะคือวิญญาณของ Antek ได้ทำบางสิ่งอย่างกับนาฬิกาเรือนนี้ (มองว่าเป็นเหตุการณ์เหนือธรรมชาติก็ได้เช่นกัน) เพื่อให้อาจารย์ของเขาบังเกิดความครุ่นคิดอะไรบางอย่าง
หนังไม่ได้อธิบายเหตุผลของเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ/ความตั้งใจแท้จริงของ Antek ขึ้นอยู่กับตัวละคร/ผู้ชมจะครุ่นคิดตีความไปเอง
- หลังจากที่ Mieczyslaw ตระหนักว่านี่อาจเป็นคดีความสุดท้ายของตนเอง เลยยินยอมตอบตกลงทั้งๆก่อนหน้านี้ปฏิเสธเสียงขันแข็ง
- นาฬิกาหยุดเดิน = กำลังจะเกษียณ = ความตายใกล้แค่เอื้อม นั่นทำให้เขาครุ่นคิดอยากทำอะไรที่ผิดแผกแตกต่าง เพื่อจะได้จดจำจนวันตาย!
- แต่เรายังสามารถมองกลับตารปัตร Antek อาจไม่ได้ต้องการให้ Mieczyslaw ยุ่งเกี่ยวกับคดีนี้เลยก็ได้
- นาฬิกาหยุดเดิน = เลิกยุ่งเกี่ยวกับคดีความนี้
ความที่ Ulla ยังไม่สามารถปล่อยละวางสามี จึงเริ่มทำการขุดคุ้ยค้นหาอดีต ค้นพบรูปภาพถ่ายเก่าๆนำมาวางเรียงราย เปลือกหอยของที่ระลึกจากหาดทราย (สัญลักษณ์ของเพศหญิง ความเจ้าชู้ประตูดิน) สติกเกอร์ติดไม้แร็กเก็ต (ของปลอมทำให้เหมือนของจริง) ลอกออกมาแล้วแปะที่แขน (เหมือนจะสื่อว่าเธอคือตัวปลอมสำหรับเขา) และภาพถ่ายเปลือย (สมัยวัยรุ่นเธอเคยรับงานถ่ายแบบ) แต่ตัดส่วนศีรษะออกไป
การได้พบเห็นสิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ Ulla เริ่มตระหนักว่าสามีไม่ใช่ชายในอุดมคติอย่างที่ตนเองเคยเข้าใจ มีอะไรๆอีกมากไม่เคยล่วงรับรู้ ฉันอาจเป็นแค่คนรักปลอมๆ/ตัวสำรองของใครบางคน
ตรงชื่อของ Mieczyslaw Labrador จู่ๆมีสัญลักษณ์อะไรสักอย่างเขียนด้วยปากกาสีแดง เครื่องหมายคำถาม? หรือตะขอเกี่ยว? แล้วใครกันเป็นผู้วาด? ขึ้นมาเพื่ออะไร? เหล่านี้เป็นปริศนาเหนือธรรมชาติที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ ซึ่งก็สามารถตีความทั้งสองแง่มุม
- คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า Antek เป็นคนเขียนรูปตะขอ (สัญลักษณ์ของยุ่งเกี่ยว เหนี่ยวนำ ตกเป็นเหยื่อ คล้ายๆใบปิดหนัง) เพื่อบอกให้อาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมทำคดีความดังกล่าว
- บางคนมองเห็นเครื่องหมายคำถาม ถึงความเหมาะสมในการให้อาจารย์ Mieczyslaw เข้ามายุ่งเกี่ยวคดีความนี้ (สอดคล้องกับฉากก่อนหน้าที่นาฬิกาหยุดเดิน = หยุดยุ่งเกี่ยวกับคดีความนี้)
มีบางสิ่งอย่างเหนือธรรมชาติที่ทำให้รถของ Ulla จู่ๆหยุดเสียกลางทาง สตาร์ทไม่ติด ที่ปัดน้ำฝนไม่ทำงาน แต่หลังจากขับผ่านสี่แยก พบเห็นรถคันหน้าที่แซงไปประสบอุบัติเหตุ พุ่งชนรถโดยสาร แนวโน้มน่าจะเสียชีวิต ความตายอยู่ใกล้ตัวยิ่งนัก … นั่นทำให้เธอรู้สึกเหมือนสามียังคงอยู่เคียงชิดใกล้ ไม่เหินห่างไปไหน ค่อยบอกเหตุในยามเฉียดเป็นเฉียดตาย
นี่เป็นฉากที่สร้างสัมผัสแห่งความตาย ให้ผู้ชมรู้สึกวาบหวิว สั่นสะท้านทรวงใน เหตุการณ์ใดๆล้วนบังเกิดขึ้นได้ในชีวิต “ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม” ซึ่งในยุคสมัยภายใต้กฎอัยการศึก เรื่องพรรค์นี้บังเกิดขึ้นบนท้องถนนอยู่บ่อยครั้ง (ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ถูกตำรวจยิงตายไม่เว้นวัน)
แซว: Antek มีความสามารถรับล่วงรู้อนาคตตั้งแต่เมื่อไหร่กัน?
หลังจาก Ulla รับรู้ว่าสามีเคยมีแฟนสาวที่หน้าตาเหมือนตนเอง เธอจึงทำเหมือนประชดประชัน ด้วยการมองหาหนุ่มแปลกหน้าชาวอังกฤษ (รับบทโดย Danny Webb) เพียงแค่มีลักษณะนิ้วมือคล้ายคลึงกัน พาขึ้นโรงแรม ร่วมรักหลับนอน … แต่สังเกตว่าเธอให้ฝ่ายชายขึ้นด้านบน Man-On-Top แล้วเพียงจุมพิตเบาๆ ไม่ใช่ French Kiss ดื่มด่ำร่ำราคะ (เป็นแสดงให้เห็นถึงความจงรักสามี แค่ไม่พึงพอใจอดีตที่เพิ่งรับรู้มานี้) ซึ่งพอตระหนักถึงความโง่เขลา (เริ่มรู้สึกผิดที่กระสิ่งนอกใจ) ก็เริ่มส่ายศีรษะ ปฏิเสธการจุมพิต และเหมือนจะไม่เสพสมอารมณ์หมายด้วยนะ
แซว: ปฏิกิริยาของ Antek ที่พบเห็นการกระทำนี้ของภรรยา ดูเหมือนรู้สึกผิดในตนเอง (ไม่ใช่เขารู้สึกผิดหวังในตัวเธอนะครับ) นั่นเพราะตอนยังมีชีวิตคงเคยปฏิบัติต่อ Ulla เหมือนเป็นแค่ตัวสำรองของอีกคนจริงๆนะละ
การเลือกชายแปลกหน้าชาวอังกฤษที่สื่อสารยังไม่ค่อยเข้าใจ สามารถมองถึงความสัมพันธ์กับประเทศประชาธิปไตย (เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา ฯ) แต่มีหรือคนเหล่านั้นจะสามารถช่วยเหลือ แก้ปัญหาภายใน ลดทอนอิทธิพลพรรคคอมมิวนิสต์ หรือรุกรานสหภาพโซเวียต (ก็มีแต่ชาว Polish ที่แก้ปัญหาภายในประเทศ Poland ได้เท่านั้นละ!)
Ulla ต้องการจะหลงลืมสามีให้จงได้ เลยเข้าพบจิตแพทย์เพื่อทำการสะกดจิต ด่ำดิ่งลงสู่ก้นเบื้องจิตใต้สำนึก แต่กลับกลายเป็นว่าสามารถพบเห็นวิญญาณของ Antek นั่งอยู่ตรงเก้าอี้ (อาจมองว่าเขาคือที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเธอก็ได้นะครับ) สื่อสารภาษามือ เบิกบานด้วยรอยยิ้ม (โดยไม่ตะขิดตะขวงต่อสิ่งต่างๆที่เคยบังเกิดขึ้น)
ความพยายามหลงลืมอดีต มักทำให้ผมระลึกนึกถึงช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรมของประเทศจีน (1966-76) ที่มีแนวคิด ‘ทุบทำลายอดีต เพื่อสร้างอนาคตใหม่’ ซึ่งกาลเวลาพิสูจน์แล้วว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะถ้ามนุษยชาติไม่มีอดีตจักมีอนาคตสดใสได้เช่นไร! ฉันท์ใดฉันท์นั้น การที่ Ulla ต้องการหลงลืมสามี/รัฐบาลคอมมิวนิสต์พยายามลบเลือน Solidarity ต่างไม่ใช่หนทางที่เหมาะสมสักเท่าไหร่
ซึ่งความล้มเหลวของการสะกดจิต ไม่สามารถทำให้ Ulla หลงลืมอดีตสามี สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของ Solidarity ที่ไม่มีวันถูกลบเลือน สูญหายไปจากความทรงจำประชาชนชาว Polish
แซว: จิตแพทย์คนนี้ปลุกตนเองให้ตื่นด้วยการใช้กับดักหนู (ชวนให้นึกถึง Inception (2010) ที่ตัวละครของ Leonardo DiCaprio ต้องหมุนลูกข่างหลังตื่นขึ้นทุกครั้ง)
หลังผ่านการถูกสะกดจิต สิ่งที่เคยปกปิด ซุกซ่อนอยู่เบื้องลึกภายในจิตใจของ Ulla ก็เริ่มได้รับการเปิดเผยออกมา ยังคงรัก ครุ่นคิดถึงสามี แต่เพราะความเหงาหงอย โดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่ใครอยู่เคียงข้างกาย นอนแผ่อ้าขาบนเตียง เลยทำการช่วยเหลือตนเอง (Masterbation) แต่ไม่ทันสำเร็จเสร็จกามกิจ ได้ยินเสียงเรียกขัดจังหวะจากบุตรชาย
สรุปแล้วตั้งแต่การจากไปของสามี Ulla ก็ไม่เคยสำเร็จกามกิจ ระบายความต้องการทางเพศออกมา สามารถเทียบแทนสภาวะทางอารมณ์ของชาว Polish หลังจากต้องตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ก็เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ไร้สิทธิเสรีภาพในการพูดบอก-แสดงความครุ่นคิดเห็นใดๆออกมา
บุตรชายตื่นขึ้นจากฝันร้าย เพราะในอดีตเคยพบเห็นมารดาร่วมรักกับบิดา ทั้งๆนั่นเป็นเรื่องธรรมดาของสิ่งมีชีวิต แต่ตอนนั้นเขายังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจ ครุ่นคิดถึงสาเหตุที่มารดากรีดร่ำร้อง ก็นึกว่าเจ็บปวด ถูกกระทำร้าย (จริงๆคือกำลังมีความสุขทางเพศ) … ประเด็นนี้เคลือบแอบแฝงปม oedipus complex รังเกลียดพ่อ โหยหาความรักจากแม่
ผมตีความฉากนี้จากความเข้าใจผิดของบุตรชาย พบเห็นการแสดงความรักระหว่างบิดา-มารดา เป็นความเจ็บปวด กระทำร้ายร่างกาย เปรียบเทียบกับการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลคอมมิวนิสต์ vs. ผู้ต่อต้าน มุมมองของเด็กรุ่นใหม่จะคิดเห็นเป็นเช่นไรละ?
มันจะมีฉากที่เด็กชายแอบไปร่วมการชุมนุมประท้วง แล้วแอบเก็บแก๊สน้ำตากลับบ้าน นี่ก็สะท้อนมุมมองของคนรุ่นใหม่ เห็นการเผชิญหน้าต่อสู้คือเรื่องสนุกสนาน เทรนด์แฟชั่น ยังไม่รับรู้ถึงหายนะ ภยันตราย ความตายที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมมือ
Ulla ทำงานเป็นนักแปลภาษา (Translator) ขณะนั้นเธอกำลังแปลผลงานเล่มหนึ่งของนักเขียนชาวอังกฤษ George Orwell ผมเห็นไม่ชัดว่าเรื่องอะไร แต่ถ้าใครเคยอ่านผลงานอย่าง Animal Farm (1945) ก็น่าจะรับรู้จักความสนใจด้านการเมือง (Social Criticism) วิพากย์วิจารณ์ระบอบเผด็จการอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน (Anti-Totalitarianism)
แซว: ไม่รู้เหมือนกันว่าผลงานของ George Orwell ผ่านกองเซนเซอร์ของโปแลนด์ได้ยังนะ (หรือไม่ผ่านหว่า??)
การที่มารดาสั่งห้ามบุตรชายไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมประท้วง หรือเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง แม้ด้วยความปรารถนาดี แต่นี่ถือเป็นลักษณะหนึ่งของการใช้อำนาจ ‘เผด็จการ’ ด้วยคำพูดในเชิงบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ (ถือเป็นระดับจุลภาคของครอบครัว)
บทเพลงที่เด็กชายนอนฟังอยู่ชื่อว่า Dylemat (แปลว่า Fix) หนึ่งในเพลงชาติของกลุ่มต่อต้าน(คอมมิวนิสต์) เอาไว้อธิบายทีเดียวในส่วนเพลงประกอบนะครับ
Mieczyslaw กับผู้ช่วย Miecio ต่างใช้วิธีไม้แข็ง-ไม้อ่อน นำเสนอคนละมุมมองขั้วตรงข้าม พูดจาโน้มน้าวให้ Darek ครุ่นคิดตัดสินใจว่าจะให้การดำเนินคดีมีทิศทางเช่นไร
- Mieczyslaw ต้องการให้ Darek ตอบรับจดหมายแนะนำของเพื่อนเก่า (ที่กลายเป็นสมาชิกองค์กรแรงงานใหม่ของรัฐบาล) ยินยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อการลดหย่อนโทษ และได้รับเพียงภาคทัณฑ์
- Someone who’s chosen to live must be able to endure a lot.
- (ผู้ช่วย) Miecio ต้องการให้ Darek เปิดเผยจุดประสงค์ อุดมการณ์ แสดงความต้องการของตนเองออกสู่สาธารณะ ไหนๆต้องติดคุกอยู่แล้ว ก็พูดบอกมาเลยโลกรับรู้แล้วกลายเป็นตำนาน
- These are hard times, and it’s important to cry out. Never mind the bars. People will hear you.
ผมชื่นชอบการเปรียบเปรยของทั้งสองทนายความ ที่ใช้หน้าต่าง กรงขัง ล้วนคือสัญลักษณ์ของการถูกควบคุมครอบงำ หรือกฎอัยการศึกก็ได้เช่นกัน
- Mieczyslaw เปิดหน้าต่างออกกลับติดกรงขัง ทำให้ไม่สามารถหลบหนีหรือฆ่าตัวตาย นั่นแปลว่าถ้ายังอยากมีชีวิตก็ต้องอดรนทนต่อไป
- Miecio นั่งอยู่ริมหน้าตา ในเมื่อไม่สามารถหลบหนีหรือตกตาย ก็ส่งเสียงตะโกนมันออกไป ย่อมต้องมีใครสักคนได้ยินเอง
Ulla สนทนากับเพื่อนสนิท Tomek ที่พยายามพูดบอกความใน แต่เธอกลับตอบปัดปฏิเสธไป เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางไปจากประเทศแห่งนี้ (เพราะไม่ได้รับรักจาก Ulla เลยไม่มีอะไรหลงเหลือให้ครุ่นคำนึงหา)
ซึ่งระหว่างการสนทนานั้น จะมีการตัดให้เห็นภาพมือของ Ulla กำลังบิดม้วนถุงน่อง (สามารถวิเคราะห์ถึงความหมกหมุ่น วิตกจริต เต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถหยุดอยู่นิ่ง ต้องทำบางสิ่งอย่างเบี่ยงเบนความสนใจ) จนทำให้นิ้วเท้ายื่นออกมา (สัญลักษณ์ของการหลบหนี ต้องการเป็นอิสรภาพต่อการถูกพันธนาการ)
เช่นกันกับตอนเดินทางไปหาจิตแพทย์ พบเห็นลิฟท์ค้าง มีคนติดอยู่ภาย ส่งสัญญาณของความช่วยเหลือ ต้องการหลบหนีออกมา (สะท้อนถึงบุคคลที่ถูกคุมขัง ประเทศ Poland ในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึก) แต่เธอไม่สามารถทำอะไร แถมไม่ติดต่อาใคร รีบวิ่งแจ้นขึ้นบันได สนเพียงต้องการพบเจอสามีอีกสักครั้ง!
แม้จะเป็นชัยชนะของ Mieczyslaw ที่สามารถทำให้ Darek รอดพ้นโทษทัณฑ์ ได้รับเพียงทัณฑ์บน ไม่ต้องชดใช้ความผิดที่ก่อ แต่สิ่งหลงเหลือสำหรับพวกเขาในชั้นศาล มีเพียงเครือญาติ คนรู้จัก ใครอื่นๆล้วนก้าวเดินออกไปอย่างสงบเสงี่ยม เงียบงัน ไร้คลื่นลมแรงกระเพื่อมทางการเมืองใดๆ สร้างความขื่นขม รวดร้าวระทม … เป็นชัยชนะที่ดูเหมือนพ่ายแพ้
แล้วทำไม Darek ถึงเลือกตัดสินใจเอาตัวรอดด้วยวิธีการนี้? น่าจะเพราะเขาครุ่นคิดถึงภรรยาและบุตร ถ้าตนเองติดคุกหัวโตแล้วครอบครัวจะอยู่รอดอย่างไร เลยยินยอมอดกลั้นฝืนทน แม้ต้องสูญเสียอุดมการณ์ส่วนบุคคล แต่การยังมีชีวิตอยู่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
วิญญาณของ Antek ปรากฎตัวแบบเห็นหน้าชัดๆทั้งหมด 7 ครั้ง! แต่ยังมีฉากอื่นๆที่เห็นแวบๆ หรือเกิดเหตุการณ์เหนือธรรมชาติบางอย่าง (ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องแน่ๆ) อาทิ
- (1) เริ่มต้นนั่งอยู่บนเตียง เล่าว่าตนเองเพิ่งเสียชีวิตได้ 4 วัน
- (2) นั่งอยู่ตรงเก้าอี้ ข้างๆภรรยา ระหว่างเดินทางมาส่งบุตรชายไปโรงเรียน (แล้วเล่นกับสุนัขสีดำ)
- เดินผ่านอาจารย์ Mieczyslaw ทำให้นาฬิกาพกตกแตก
- การปรากฎขึ้นของเครื่องหมายสีแดง บนชื่อของ Mieczyslaw
- ทำให้รถหยุด สตาร์ทไม่ติด หน้าปัดน้ำฝนค้าง สัญญาณบอกเหตุ Ulla ให้รอดพ้นอุบัติเหตุ
- Ulla มองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นสุนัขสีดำกำลังเล่นอะไรบางอย่างกับรถของเธอ
- (3) ปรากฎตัวในห้องน้ำ ก่อนที่ Ulla จะร่วมรักกับชายชาวอังกฤษ
- (4) ระหว่างการสะกดจิต Ulla พบเห็นชายคนรัก และสามารถสื่อสารภาษามือ
- หนังสือพิมพ์หายไปจากมือของ Mieczyslaw
- (5) ปรากฎตัวในเรือนจำ ห้องคุมขังของ Darek
- (6) หลังการตัดสินคดีความ นั่งอยู่ตรงเก้าอี้ด้านหลัง
- (7) และภายหลังการกระทำอัตวินิบาตของ Ulla นำพาเธอก้าวออกเดินสู่สุขคติ
เมื่อความอึดอัดอั้นมาถึงขีดสุด Ulla จึงตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต ด้วยการตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสายโทรศัพท์ แล้วใช้สก็อตเทปปิดช่องว่างทุกสิ่งอย่าง สะท้อนแนวคิดการประกาศใช้กฎอัยการศึก รัฐบาลคอมมิวนิสต์พยายามปิดกั้น กีดกัน ต้องการให้ประชาชนศิโรราบอยู่ภายใต้กฎกรอบ นั่นรวมถึงการปิดปาก … ทีแรกผมไม่เข้าใจว่าตัวละครเอาสก็อตเทปปิดปากขณะจะฆ่าตัวตายทำไมกัน? พอครุ่นคิดในสัญลักษณ์’ห้ามพูด’ทางการเมือง หลายคนในประเทศสารขัณฑ์ก็น่าจะร้องอ๋อ
Only young people commit suicides because of love. To be sure, my female protagonist of No End dies such a death, but this happens because of a total defeat, because of the inability to navigate in the world. Perhaps love directs her emotions, but what is she supposed to do when her only link with the world was her husband, who, from the beginning of the film, is dead.
Krzysztof Kieślowski
การประการใช้กฎอัยการศึก (หรือการปิดประเทศ) ไม่ต่างจากการ ‘ฆ่าตัวตาย’ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะมนุษย์จำเป็นต้องมีการติดต่อสื่อสาร ไม่มีใคร/ประเทศแห่งหนไหนสามารถอยู่อย่างเพียงลำพัง จำต้องพึ่งพาทรัพยากร รวมถึงการนำเข้า-ออกองค์ความรู้ เพื่อความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนยาว … มีเพียงเผด็จการเท่านั้นและที่ไม่เข้าใจเหตุผลดังกล่าว
ภาพสุดท้ายของหนัง Ulla ได้พบเจอสามี Antek ทักทายกันง่ายๆ แล้วจับมือก้าวออกเดินสู่ภายนอกบ้าน กล้องถ่ายผ่านบานหน้าต่างแลดูเหมือนซี่กรงขัง แม้นัยยะคือการได้รับอิสรภาพชีวิต หลุดพ้นพันธนาการกฎอัยการศึกของประเทศ Poland แต่กลับเป็นตอนจบอันสุดแสนสิ้นหวัง เพราะสถานที่แห่งนี้คือโลกหลังความตาย!
ตัดต่อโดย Krystyna Rutkowska (1923–1995),
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง Antek Zyro ซึ่งเป็นวิญญาณ/สามีผู้ล่วงลับของ Ulla (เพิ่งเสียชีวิตได้เพียง 4 วัน) คอยจับจ้องสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ แอบให้ความช่วยเหลือยามคับขัน ชี้แนะนำการพิจารณาคดีความของ Antek Zyro แม้ท้ายสุดจะต้องพบเห็นการกระทำอัตวินิบาตของภรรยา ถึงอย่างนั้นทั้งสองก็สามารถดำเนินไปสู่สุขคติ(มั้งนะ)
ความสนใจของ Antek จะมีสองเรื่องราวดำเนินเคียงคู่ขนานกันไป ซึ่งสามารถเปรียบเทียบความสัมพันธ์ได้อย่างตรงๆเลยนะ ประกอบด้วย
- เรื่องราวของภรรยา Urszula Zyro พยายามกระทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ลืมเลือน ปล่อยละวางความหมกมุ่นครุ่นยึดติดสามีผู้ล่วงลับ
- ทนายความ/อาจารย์ Mieczyslaw Labrador ทำคดีการเมือง(เป็นคดีสุดท้าย) ว่าความให้ Darek Stach เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน
เรายังสามารถแบ่งเรื่องราวของหนังออกเป็น 5 องก์ ตามสภาวะทางอารมณ์ของ Ulla เริ่มต้นจากปฏิกิริยาหลังการสูญเสีย → ครุ่นคิดทบทวนอดีต → จากนั้นแสดงอาการปฏิเสธต่อต้าน → พยายามลบลืมเลือน/เก็บฝังไว้ภายใน → สุดท้ายไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง (นำไปสู่การกระทำอัตวินิบาต)
- อารัมบท, กล้องล่องลอยไปเรื่อยๆมาจนถึง Antek สารภาพกับผู้ชม (Breaking the Fourth Wall) ว่าตนเองเพิ่งเสียชีวิตได้ 4 วัน
- องก์หนึ่ง, แนะนำตัวละคร/ปฏิกิริยาหลังการสูญเสีย
- Ulla ตื่นขึ้นมาด้วยความซึมเศร้าโศก แต่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่มารดา พาบุตรชายไปส่งโรงเรียน
- Joanna ขอความช่วยเหลือจาก Ulla มองหาทนายคนใหม่ว่าความให้สามี Darek Stach
- Mieczyslaw Labrador ยินยอมตอบตกลงว่าความให้ Darek Stach
- องก์สอง, ครุ่นคิดทบทวนอดีต
- Ulla เริ่มขุดคุ้ยอัลบัม จดหมายเก่าๆ พบอะไรหลายๆอย่างที่ไม่เคยรับรู้จักสามี
- ครั้งหนึ่งระหว่างขับรถมีลางบอกเหตุ สามารถเอาตัวรอดพ้น เลยครุ่นคิดว่าเขายังอยู่เคียงข้างกาย
- Mieczyslaw พูดเล่าวิธีการทำงานของตนเองให้กับ Darek
- องก์สาม, แสดงอาการปฏิเสธต่อต้าน
- หลังจาก Ulla รับฟังเรื่องเล่าแฟนเก่าของสามี ปฏิเสธชายอีกคนที่แอบชื่นชอบเธอมานาน แล้วตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้า
- Mieczyslaw ค้นพบวิธีการเอาชนะคดี ด้วยการใช้ใบรับรองจากองค์กร (pro-Communist) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ Darek ปฏิเสธหัวชนฝน
- องก์สี่, พยายามลบลืมเลือน/เก็บฝังไว้ภายใน
- จิตแพทย์ทำการสะกดจิต Ulla เพื่อให้หลงลืมเลือนสามี … แต่กลับเป็นว่าเธอได้พบเห็นเขาซะงั้น
- ระหว่างที่ Ulla กำลังช่วยเหลือตนเอง ได้ยินเสียงละเมอฝันร้ายของบุตรชาย (แทบหลงลืมภาระรับผิดชอบของตนเองไปแล้ว) เล่าถึงความทรงจำเมื่อพบเห็นบิดา-มารดากำลังมีเพศสัมพันธ์ (กลายเป็นปมฝังใจเด็กชาย)
- เกมจิตวิทยาของ Mieczyslaw ด้วยวิธีไม้แข็ง-ไม้อ่อน จนทำให้ Darek ยินยอมทำตามคำร้องขอ
- Ulla หวนกลับไปหาจิตแพทย์ ต้องการถูกสะกดจิตอีกครั้ง (เผื่อว่าจะได้พบเห็นเจอสามี) แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ
- องก์ห้า, สิ่งหลงเหลือคือความเวิ้งว่างเปล่า
- Ulla และบุตรชายไปร่วมงาน All Souls’ Day ที่สุสาน Powązki Cemetery
- ผลการตัดสินคดีความ แม้ว่า Darek จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน แต่รู้สึกเหมือนพ่ายแพ้การต่อสู้
- การกระทำอัตวินิบาตของ Ulla ทำให้ได้พบเจอสามี ร่วมกันก้าวดำเนินไปสู่สุขคติ(มั้งนะ)
เพลงประกอบโดย Zbigniew Preisner (เกิดปี 1955) นักแต่งเพลงสัญชาติ Polish เกิดที่ Bielsko-Biała วัยเด็กชื่นชอบกีตาร์กับเปียโน หัดเล่น-เขียนบทเพลงด้วยตนเอง (ไม่เคยเข้าศึกษาที่ไหน) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์และปรัชญา Jagiellonian University, Krakow จบออกมาทำงานยังโรงละคร Stary Theater, ระหว่างทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Prognoza pogody (1981) มีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เริ่มร่วมงานกันตั้งแต่ No End (1995) จนถึงเรื่องสุดท้าย Three Colours (Blue, White, Red)
สไตล์ของ Kieślowski แม้ยังคงยึดแนวทาง ‘diegetic music’ แต่การได้ร่วมงานกับ Preisner ทำให้ค่อยๆเกิดการเปลี่ยนแปลงทีละนิด (จนกลายเป็นคู่ขวัญผู้กำกับ-นักแต่งเพลง) แทรกใส่ท่วงทำนองแนวทดลอง/Avant-Garde (ไม่ใช่แบบ Traditional Score) เพื่อผู้ชมสัมผัสถึงห้วงอารมณ์ สภาพจิตวิทยาตัวละคร และแฝงแนวความคิดอภิปรัชญาลงไปด้วย!
Main Theme ราวกับคำอธิษฐานของบุคคลที่ตกอยู่ในห้วงความรู้สึกสิ้นหวัง สร้างบรรยากาศอันหมองหม่น อับจนหนทางออก มืดแปดด้าน สัมผัสได้ถึงความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม … เป็นบทเพลงที่มีความตราตรึง สั่นสะท้านทรวงในผู้ชมโดยทันที ได้ยินซ้ำอยู่หลายครั้งตั้งแต่ฉากแรกแนะนำความตาย, ระหว่างร่วมงาน All Souls’ Day, และโดยเฉพาะเมื่อเด็กชายบรรเลงเปียโน (แม้จะแค่เสียงเปียโน ก็สั่นสะท้านจิตวิญญาณมารดาจนมิอาจอดกลั้นธารน้ำตา)
ในหนังยังมีอีกบทเพลงหนึ่ง Dylemat (แปลว่า Fix) ขับร้อง/เล่นเปียโนโดย Przemysław Gintrowski ได้ยินขณะบุตรชายกำลังนอนเล่นปลอกระเบิดควัน (หลังจากแอบเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยไม่บอกมารดา) อ่านจากคำแปลภาษาอังกฤษ พบว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บุตรชายถูกล่อหลอกให้เข้าร่วมกองทัพ แล้วถูก(ทหารเยอรมัน)ยิงตายตั้งแต่วันแรก
บทเพลงนี้ถือเป็นตัวแทนความสิ้นหวัง (สามารถเทียบแทนสงครามโลกครั้งที่สอง กับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลคอมมิวนิสต์ vs. กลุ่มต่อต้าน) ซึ่งศิลปิน Przemysław Gintrowski ยังขับร้องด้วยความเร่ง และใส่อารมณ์เกรี้ยวกราดอย่างรุนแรง
W tej kamienicy, w której syn mój razem ze mną żył, Drewniane schody, brudne ściany, kibla biel. Mieszkał przez ścianę jakiś podejrzany dla mnie typ, No, ale ja byłem w AK – a on w AL. | In the tenement house where my son lived with me, Wooden stairs, dirty walls, white toilet. Some suspect type for me lived by the wall, Well, but I was in the Home Army – and he was in the AL. |
Na schodach mijaliśmy się nie mówiąc sobie nic. Dopóki noża w brzuch nie wsadzi – wszystko gra! Choć wszystko nas dzieliło – łączył nienawistny fryc, No, ale tamten był w AL – a ja w AK. | On the stairs, we passed each other without saying anything Until he puts the knife in his stomach – everything is fine! Although everything divided us – we were united by a hateful fritz, Well, that one was in AL – and I was in the Home Army. |
Spotkania nielegalne tam za ścianą raz po raz, A ja nic na to nie poradzę choć w łeb strzel! Bo przecież Niemców nie nasadzę na sowiecki zjazd, Nawet jeżeli ja w AK, a on w AL. | Illegal meetings there behind the wall again and again, And I can’t help it at least shoot the head! Because I will not put the Germans on the Soviet congress, Even if I am in the Home Army and he is in the AL. |
W tym czasie syn mój, Józef, znikał z domu dzień za dniem, A od nieszczęścia strzegłem go, Bóg prawdę zna! Wtem widzę: stoi w drzwiach sąsiada z rozpalonym łbem, Choć tamten przecież był w AL – a ja w AK. | At that time my son Joseph was disappearing from the house day by day, And from misfortune I have kept him, God knows the truth! Then I see: he is standing in my neighbor’s door with his head lit up, Although the other one was in the AL – and I was in the Home Army. |
Zerżnąłem pasem syna, miał już siedemnaście lat, Najlepszy wiek, żeby najgłupszy wybrać cel – Chcesz walczyć – walcz! Ale jak Polak, nie jak kat! Przecież twój ojciec jest w AK – a on a AL! | I fucked my son with a belt, he was already seventeen, Best age for the dumbest target You want to fight – fight! But like a Pole, not like a hangman! After all, your father is in the Home Army – and he is in AL! |
Syn spojrzał na mnie i powiada, że chce Niemca bić, I że Polaka powołanie dobrze zna. A w czyim spełni je imieniu – nie robi mu nic, Że był w AL – więc może też być i w AK | My son looked at me and says that he wants to beat the German, And that he knows the Pole well. And in whose name he will fulfill it – does nothing to him, That he was in the AL – so he can also be in the Home Army |
A czas się zbliżał, każdy czuł, że już nam ziemia drży I okna mieszkań cięły świat jak okna cel! Tamci do lasu szli, a na ulice szliśmy my, Bo my w AK – a oni byli wszak w AL! | And the time was drawing near, everyone felt that our earth was already trembling And the windows of the apartments cut the world like target windows! The others went to the forest, and we went to the streets, Because we were in the Home Army – and they were in the AL! |
No i się stało, co się stało, co się miało stać, Iż syn mój zginął – ciężko rzec – pierwszego dnia. Nie trzeba było mi chłopaka do Powstania brać, No, ale nie był już w AL – już był w AK. | And what happened, what happened, That my son died – hard to say – on the first day. I didn’t need a boy for the Uprising, Well, but he was no longer in the AL – he was already in the Home Army. |
Ktoś powie – nie on jeden! Tak, lecz dla mnie właśnie on! Nieszczęścia jakoś sprawiedliwie, Boże – dziel! Byleby żył! Za wcześnie Twój ogląda Panie tron! Byleby żył! Niechby już sobie był w AL! | Someone will say – he’s not the only one! Yes, but for me it is him! Misfortunes somehow just, God – divide! If only he was alive! Lord sees your throne too soon! If only he was alive! May he already be in AL! |
ภายใต้ช่วงเวลาแห่งการประกาศใช้กฎอัยการศึกของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ Polish People’s Republic หลังจากวันที่ 13 ธันวาคม 1981 ทำให้วิถีชีวิต สภาพสังคม สภาวะทางอารมณ์ของชาว Polish ตกอยู่ในสภาพมืดหมองหม่น อับจนหนทาง เพราะได้สูญเสียความสามารถในการพูดบอก-แสดงออก สิทธิ เสรีภาพ รวมถึงองค์กรการค้าเสรี Solidarity ที่ถือเป็นแสงสว่างแห่งความหวังของชนชั้นแรงงาน พลันดับมอดลงทันใด
In the years 1982-1983 we lived in Poland in a somewhat unreal atmosphere. Seeking a refuge in religion or in spiritualism, as in this film, became a kind of escape from reality.
Krzysztof Piesiewicz
ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ชาว Polish ต้องแสวงหาแสงสว่าง สิ่งสามารถเป็นความหวัง สำหรับพึ่งพักพิงร่างกาย-จิตใจ เพื่อหลบหลีกหนีจากโลกความจริงอันโหดร้าย รายล้อมรอบด้วยภยันตราย ความตายอยู่ใกล้แค่เพียงเอื้อมมือ
This is a film about people with bowed heads.
Krzysztof Kieślowski
No End (1985) นำเสนอเรื่องราวของการปรับตัว เปลี่ยนแปลง ภายหลังสูญเสียชายคนรัก ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ประกาศใช้กฎอัยการศึก ระหว่างหัวรั้นดื้อดึงดัน vs. ยินยอมก้มหัวเหมือนสุนัข แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกหนทางไหน ล้วนแล้วแต่ ‘No End’ ไร้หนทางออก พบเจอเพียงความสิ้นหวัง หรือโศกนาฎกรรม
- Ulla พยายามลบลืมเลือน ปล่อยปละละวางความหมกมุ่นครุ่นยึดติดต่อสามี Antek แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถทำสำเร็จ จนมาถึงหนทางตัน ‘No End’ เลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต ตายไปแล้วถึงสามารถไปสู่สุขคติเคียงข้างชายคนรัก
- Darek ยินยอมให้ Mieczyslaw ใช้จดหมายแนะนำจากเพื่อนเก่าที่กลายเป็นสมาชิกองค์กรแรงงานใหม่ของรัฐบาล เพื่อตนเองจักได้รับภาคทัณฑ์ ไม่ต้องติดคุกติดตาราง ก้าวออกมาเป็นเสาหลักครอบครัว แต่นั่นก็ทำให้สภาพจิตใจของพวกเขาหลงเหลือเพียงความเวิ้งว่างเปล่า
ถ้าเป็นภาพยนตร์ pro-Solidarity คล้ายๆ Man of Iron (1981) ของ Andrzej Wajda คงจะนำเสนออีกกมุมมองของการลุกขึ้นมา วิ่งเข้าหารถถัง พร้อมเผชิญหน้าความตาย ฆ่าได้หยามไม่ได้! แต่ผู้กำกับ Kieślowski และนักเขียน/ทนายความ Piesiewicz ต่างเห็นพ้องต้องกันว่านั่นคือความคิดที่โง่เขลา ไร้สาระจะนำเสนอ มันมีประโยชน์อะไรในการต่อต้านขัดขืน ตายไปก็เสียชาติเกิด มิสู้วันนี้ยินยอมอดรนทน วันหน้าเมื่อกฎอัยการศึกได้รับการผ่อนปรน ก็จักสามารถเงยศีรษะขึ้นมาท้าต่อสู้ครั้งใหม่ สักวันหนึ่งย่อมต้องได้รับชัยชนะ!
รัฐบาลคอมมิวนิสต์ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก วันที่ 22 กรกฎาคม 1983 สาเหตุเพราะสถานการณ์ความรุนแรงเริ่มผ่อนคลาย และตระหนักว่าการปิดกั้น Solidarity ไม่ก่อเกิดประโยชน์อันใดในเชิงรูปธรรม (เพราะองค์กรนี้กลายเป็นแสงสว่างที่ไม่ว่าอยู่ในช่วงเวลามืดมิดสักเพียงใด ยังทำให้ประชาชนชาว Polish เปี่ยมล้วนด้วยความหวัง) เลยมีการจัดตั้งองค์กรแรงงานที่เป็นฝั่ง pro-Communist ขึ้นมาโต้ตอบกลับ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
แม้หนังจะไม่โดนเซนเซอร์หรือถูกแบนห้ามฉาย แต่เสียงตอบรับจากทางการคอมมิวนิสต์ กลุ่มต่อต้าน(คอมมิวนิสต์) และองค์กรศาสนา ต่างส่ายหัวอย่างไม่พึงพอใจ นั่นเป็นปฏิกิริยาตอบรับที่แทบทำให้ผู้กำกับ Kieślowski ตกอยู่ในสภาพหดหู่สิ้นหวัง
- รัฐบาลคอมมิวนิสต์ มองว่าหนังนำเสนอสภาพสังคมอันเลวร้ายในช่วงเวลาประกาศกฎอัยการศึก
- ฝั่งของ Solidarity เห็นว่าหนังไร้ซึ่งจิตวิญญาณ อุดมการณ์ขององค์กร (เพื่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน) หรือนำเสนอความขัดแย้งต่ออีกฝั่งฝ่าย (หนังไม่ได้มีลักษณะชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล)
- รวมถึงการที่หญิงสาวไม่สามารถปล่อยละวาง ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย ถูกตีความว่าตัวละครยังคงหมกมุ่นยึดติดกับรูปแบบวิถีเดิมๆ (ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์) ไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่
- องค์กรศาสนา (Polish Roman Catholic) ไม่ชื่นชอบหนังเพราะบรรยากาศความสิ้นหวัง, เพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า, ตัวละครเลือกฆ่าตัวตายเพื่อให้ได้อยู่เคียงข้างสามีผู้ล่วงลับ … เหล่านี้ล้วนขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีงาม
…it was terribly received in Poland. I’ve never had such unpleasantness over any other film as I had over this one. It was received terribly by the authorities; it was received terribly by the opposition, and it was received terribly by the Church. Meaning, by the three powers that be in Poland. We really got a thrashing over it.
Krzysztof Kieślowski
แต่ประกายความหวังเกิดขึ้นจากเสียงตอบรับผู้ชม จดหมายทุกฉบับ โทรศัพท์ทุกสายที่ได้รับ ล้วนบอกขอบคุณผู้กำกับ Kieślowski บังเกิดพลังใจในการดำรงชีวิต นำเสนอสภาพสังคมภายใต้ช่วงเวลาประกาศกฎอัยการศึกได้อย่างจริงที่สุด! ประเมินว่าผู้ชมกว่า 200,000+ คน นั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดถึงแม้แต่น้อย
Only one element didn’t give us a thrashing, and that was the audience… never in my life have I received as many letters or phone calls about a film from people I didn’t know as I did after No End. And all of them, in fact—I didn’t get a single bad letter or call—said that I’d spoken the truth about martial law.
เหมือนหนังจะได้รับการบูรณะแล้วนะครับ ฉบับที่รับชมจาก Criterion Channel คุณภาพ Hi-Def เสียงคมชัด รวบรวมอยู่ใน Cinema of Conflict: Four Films by Krzystof Kieślowski ประกอบด้วย The Scar (1976), Camera Buff (1979), Blind Chance (1981) และ No End (1985)
ถึงโดยส่วนตัวจะชื่นชมหนังอย่างมากกๆ ว่ามีความลุ่มลึกล้ำ มิติสลับซับซ้อน สะท้อนอัจฉริยภาพผู้กำกับ Kieślowski แต่ผมไม่ค่อยชื่นชอบบรรยากาศหดหู่ สิ้นหวัง แทบไม่หลงเหลือประกายความหวัง รู้สึกว่ามันสุดโต่งจนเกินจริง (Surreal) อาจต้องบุคคลเคยพานผ่านหายนะลักษณะเดียวกัน (ประชาชนชาวสารขัณฑ์ก็น่าจะพอสัมผัสได้อยู่นะ) ถึงอาจสามารถตระหนักความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้
แนะนำคอหนังการเมือง (Political), ทนาย อัยการ ผู้พิพากษา เกี่ยวกับการพิจาณาคดีความ(ทางการเมือง), อ้างอิงประวัติศาสตร์ประเทศ Poland เก็บบันทึกช่วงเวลาประกาศกฎอัยการศึก (1981-83), โดยเฉพาะจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ทำความเข้าใจอิทธิพลของสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางอารมณ์ของประชาชน
ใครเคยรับชม Three Colours: Blue (1994) เรื่องแรกในไตรภาค Swan Song ของผู้กำกับ Kieślowski น่าจะสัมผัสได้ถึงความละม้ายคล้ายคลึงในจุดตั้งต้น ภรรยาสูญเสียสามี(และบุตรสาว) แต่วิธีการที่เธอใช้ปรับตัวเปลี่ยนแปลงและผลลัพท์สุดท้ายจะมีความแตกต่างออกไป แนะนำให้ลองหามาเปรียบเทียบกันดูนะครับ
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศโคตรตึงเครียด ความขัดแย้งทางการเมือง โศกนาฎกรรม และการกระทำอัตวินิบาต
Leave a Reply