Bhaag Milkha Bhaag (2013) : Rakeysh Omprakash Mehra ♥♥♥♡
ความพ่ายแพ้ที่น่าเสียดายที่สุดของ Milkha Singh นักวิ่ง 400 เมตรทีมชาติ India เจ้าของฉายา The Flying Sikh (ซิกผู้บินได้) ใน 1960 Rome Summer Olympics เพียงเพราะเขาหันหลังไปดูคู่แข่ง เสียสมาธิแค่แวบเดียว ทำให้จบอันดับ 4 พลาดเหรียญรางวัล, ทำไมเขาถึงหันหลังในวินาทีนั้น หนังเรื่องนี้มีคำตอบ
โดยปกติแล้ว เป้าหมายสูงสุดของนักกีฬา และหนังเกี่ยวกับโอลิมปิกแทบทุกเรื่อง จะคือการได้เข้าแข่งขันหรือคว้าเหรียญโอลิมปิก แต่หนังเรื่องนี้เปิดเรื่องมา ด้วยฉากความพ่ายแพ้ในการแข่งขันโอลิมปิกของ Milkha Singh แล้วไปจบที่การแข่งขันกระชับมิตรระหว่าง อินเดียกับปากีสถาน ฟังดูมันอาจขัดแย้งกับความรู้สึกนิดๆ เพราะการแข่งขันโอลิมปิกนั้นควรค่าระดับเป็น Climax ของหนังที่สุดแล้ว แต่นี่เป็นหนัง bollywood นะครับ ประเทศนี้เขามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร มีจุดขายในเรื่องใกล้ตัว ครอบครัว ไม่ค่อยไปไกลระดับเอาชนะมวลมนุษยชาติได้, นี่เป็นหนังที่เกี่ยวกับการต่อสู้เอาชนะตัวเอง ถึงโอลิมปิกจะได้รับความพ่ายแพ้ แต่ใจความของหนังคือ การก้าวผ่านความพ่ายแพ้แล้วก้าวเดินสู้ต่อไปข้างหน้า
คงต้องเกริ่นถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่าง India กับ Pakistan สักหน่อย นี่ไม่ต่างอะไรกับ ไทย-พม่า เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ความขัดแย้งที่มองหาจุดเริ่มต้นไม่ได้แล้วว่าเพราะอะไร แค่เหม็นขี้หน้า มองหน้าก็อยากหาเรื่อง, India vs Pakistan ถือว่ามีความขัดแย้งกันมายาวนานน่าจะกว่าไทย-พม่าเสียอีก เริ่มต้นคงเป็นเรื่องระหว่างศาสนาฮินดูกับอิสลาม ก็ไม่รู้พระเจ้าของทั้งสองศาสนาขัดคออะไรกัน มนุษย์โลกของสองศาสนาจึงหาข้ออ้างขัดแย้งกันอยู่เรื่อยๆ, ลามมาจนถึงศตวรรษล่าสุด เมื่ออังกฤษเข้ามายึดครองอินเดีย และยึดครองปากีสถานด้วยกลายเป็น British India แต่แทนที่ปัญหาของทั้งสองประเทศจะจบลง กลับยิ่งทวีความรุนแรง เพราะความแตกต่างที่รับกันไม่ได้ (ทั้งๆที่วัฒนธรรมและการพูดภาษาเดียวกันก็เถอะ) พออังกฤษล่าถอยกลับประเทศไป ทั้งสองฝ่ายจึงแยกตัวออกเป็น 2 ประเทศ คือ Dominion of India และ Dominion of Pakistan
เรื่องดินแดนถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะตอนอังกฤษออกไปตอนช่วง 40s-50s ทั้งสองประเทศยังไม่มีการแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน เกิดเป็นสงครามแย่งชิงดินแดน (Partition of India) หมู่บ้านไหนถูกปากีสถานยึกครอง ต้องเปลี่ยนมานับถืออิสลาม ถ้าไม่ต้องย้ายออกหรือถ้าต่อต้านก็ต้องถูกฆ่า, หมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดของ Milkha Singh คือ Govindpura เดิมเป็นของ British India แต่เมื่อถูก Pakistan ยึดครอง ไม่มีใครยอมเปลี่ยนศาสนาจึงถูกฆ่าล้างหมดหมู่บ้าน, Milkha Singh ตอนเด็กหนีเอาตัวรอดไปอยู่ค่ายผู้อพยพลี้ภัยไปอยู่ที่ Delhi ใช้ชีวิตเติบโตอยู่ที่นั่น
กำกับโดย Rakeysh Omprakash Mehra ที่เคยมีผลงานดังอย่าง Rang De Basanti (2006), เขาเป็นผู้กำกับที่ทำงานค่อนข้างพิถีพิถัน ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ ก่อนหน้ามาทำงานสายภาพยนตร์ เคยเป็นนักกีฬา ได้เข้าร่วมแคมป์คัดตัว เพื่อเข้าแข่งขัน 1982 New Delhi Asian Games แต่ไม่ผ่านรอบสุดท้าย
จากหนังสือชีวประวัติเรื่อง The Race of My Life เขียนโดย Milkha Singh และ Sonia Sanwalka ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Prasoon Joshi, Milkha ขายลิขสิทธิ์หนังสือด้วยราคา 1 rupee เท่านั้น โดยเอากำไรที่เป็นส่วนแบ่งเข้ากองทุน Milkha Singh Charitable Trust เพื่อช่วยเหลือนักกีฬาที่ประสบปัญหาความยากจนหรือเจ็บป่วย ก่อตั้งเมื่อปี 2003, Milkha เชื่อว่า หนังเรื่องนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ เพื่อสานฝันเหรียญทองโอลิมปิกแรกของอินเดีย ในการแข่งขันวิ่งแข่ง ถ้ามีคนทำได้ นี่จะถือเป็นรางวัลที่มีค่าที่สุดแล้ว
นำแสดงโดย Farhan Akhtar นักแสดง โปรดิวเซอร์ และผู้กำกับหนุ่มสุดหล่อ เขาเพิ่งเข้าสู่วงการหนังในช่วงต้นยุค 2000s เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ กลายเป็นผู้กำกับ มีหนังที่กำกับดังๆอย่าง Dil Chahta Hai (2001), จากนั้นมาเป็นนักแสดง อาทิ Rock On!! (2009), Zindagi Na Milegi Dobara (2012) แต่ละเรื่องไม่ธรรมดาทั้งนั้น, ดูจากสภาพร่างกายแล้ว Akhtar ทุ่มสุดตัวเลย เข้าฟิตเนสเล่นกล้าม น่าจะไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ถึงจะได้ร่างกายขนาดนั้น การแสดงก็ถือว่าสมบทบาทมากๆ โดยเฉพาะสีหน้าตอนผิดหวัง สะเทือนไปถึงขั้วหัวใจเลย
Divya Dutta รับบท Isri Kaur พี่สาวของ Milkha ที่รักน้องมากๆ นี่เป็นตัวละครที่มีการแสดงออกทางอารมณ์ค่อนข้างมาก ด้วยสามีที่เอาแต่ใจและอารมณ์ร้อน แต่เมื่อเธออยู่กับ Milkha จะแสดงความรัก ความห่วงใย ความอ่อนโยนให้เสมอ เธอเปรียบเสมือนแม่คนที่สองของ Milkha แต่ผมว่า… เป็นพี่สาวนะแหละดีกว่า
สำหรับนักกีฬาสาวสุดสวย sexy รับบทโดย Meesha Shafi นักแสดง นักร้อง model สัญชาติ Pakistani, เป็นนักแสดง Pakistan ที่ค่าตัวสูงมากๆคนหนึ่ง ตอนเล่นหนังเรื่องนี้เธออายุ 30 กว่าแล้วนะครับ เกิดปี 1981 แต่ถือว่าสวยสุดร้อนแรงทีเดียว
Sonam Kapoor มารับเชิญเล็กๆในหนังเรื่องนี้ด้วยนะครับ เป็นคนที่ Milkha ส่งขนมจีบให้อยู่สักพัก แต่เขากลับมาช้าไป เธอได้แต่งงานย้ายออกไปแล้ว, เห็นว่า Kapoor รับค่าตัวแค่ 11 rupee เท่านั้น (มารับเชิญประมาณ 10 นาทีได้มั้ง)
ถ่ายภาพโดย Binod Pradhan (Devdas-2002, Rang De Basanti-2006) นี่เป็นหนังที่ภาพสวยมากๆเรื่องหนึ่ง แม้จะมีการใช้ cg เข้าช่วยพอสมควร แต่ก็ถือว่าทำได้โดดเด่น, ผมชอบจังหวะที่กล้องหมุนรอบๆ Milkha แล้วย้อนเวลา (นี่เหมือน City of God-2002) มีทั้งจากปัจจุบันไปอดีต และจากอดีตสู่อนาคต, สำหรับฉากวิ่ง บางครั้งใช้ tracking shot ถ่ายเห็นด้านข้าง วิ่งตามตัวละคร นี่เห็นได้แต่กับหนังเท่านั้น ถ่ายทอดสดกีฬามักจะทำไม่ได้, ไฮไลท์ที่ผมชอบที่สุดอยู่ช่วงท้าย เมื่อ Milkha ชนะการวิ่งแข่งแล้ว เขาวิ่งต่อไปรอบๆสนาม กองเชียร์ที่เห็นตัวเป็นๆเป็นพื้นหลัง หนังค่อยๆปรับโฟกัส (Racking-Focus) จนเห็นคนด้านหลังเปลี่ยนเป็นจุดแสงเบลอๆ ฉากนี้สวยมากๆ ระดับที่ผมต้องจัดให้เป็น rare CINEMATOGRAPHY
ตัดต่อโดย P. S. Bharathi ถือว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน ผมเชื่อว่าคนที่ดูหนังเรื่องนี้ ด้วยความคิดว่าเป็นหนังเกี่ยวกับโอลิมปิก จะคิดว่าการแข่งขันน่าจะเป็นไคลน์แม็กซ์อยู่ช่วงท้ายๆ แต่หนังทำลายความคาดหวังของเราด้วยการใส่มาตั้งแต่ต้นเรื่อง แล้วใช้การเล่าย้อนเป็น Flashback อธิบายที่มาที่ไป เรื่องราวที่ส่งผลต่อความพ่ายแพ้ครั้งนี้ และเหตุผลของการไม่อยากไปแข่งกระชับมิตรที่ปากีสถาน ซึ่งกว่าจะได้คำตอบก็ลากไปจนช่วงท้ายของหนังเลย, ข้อเสียเดียวเท่านั้นคือความยาว 189 นาที ฆ่ากันให้ตายดีกว่า หนังยาวไปมากๆ ตัดอะไรๆออกไปบ้างก็ได้นะ
ผมเสียดายประเด็นหนึ่ง หนังอธิบายไม่เคลียร์ว่าทำไม Milkha ถึงตัดสินใจยอมไปแข่งกระชับมิตรกับ Pakisatan, หนังทำเป็นเหมือนว่า เขาถูกบังคับ และเป็นหน้าที่ที่เขาต้องไป จุดนี้หนังน่าจะขยี้ให้ละเอียดไปเลยว่า เขาตัดสินใจไปเพราะอะไร? เพราะถือเป็นใจความสำคัญมากๆของหนัง
เพลงประกอบโดย Shankar-Ehsaan-Loy, ครึ่งชั่วโมงแรกของหนังทำมาดีมาก จนผมอยากที่จะหลงรักหนังเรื่องนี้ แต่พอเพลงแรกของหนังดังขึ้น Maston Ka Jhund ร้องโดย Divya Kumar ใจผมหายวาบ, หนัง bollywood มันจะ hit/miss กับนักดูหนังต่างชาติก็ตรงนี้นะครับ ถ้าเพลงที่ใส่มามันมีทำนอง หรือท่าเต้นที่เห็นแล้วต้องเบือนหน้าหนี กล้าเต้นไปได้ยังไงว่ะ! แบบนี้ถือว่า miss นะครับ ซึ่งบางทีปลาเน่าตัวเดียว เหม็นยกเข่ง, หนังเรื่องนี้ปลาเน่ามันดันเป็นเพลงแรกของหนังเสียนี่ แต่อย่าเพิ่งยอมแพ้ไป มันอาจจะเน่าแค่ตัวเดียวก็ได้ ซึ่งหลังจากนั้นเพลงนั้น เพลงอื่นๆทุกเพลงเพราะหมด เป็นไปได้ยังไง!
เพลง Zinda ร้องโดย Siddharth Mahadevan เป็นเพลง Rock แนว progressive ใช้กีตาร์ กลอง เบส ไม่น่าเชื่อ เพลงนี้เข้ากับบรรยากาศมากๆ ผู้แต่ง Ehsaan Noorani ให้นิยามว่าเป็น ‘anthemic stadium rock feel’ ให้ความรู้สึกฮีกเหิมราวกับมีชีวิต (Zinda แปลว่า Alive)
ยังมีอีกเพลงที่ผมต้องเอามาให้ฟัง ชื่อเพลง Bhaag Milkha Bhaag Rock Version ร้องโดย Siddharth Mahadevan (คนเดียวกับที่ร้อง Zinda, คำว่า Bhaag Milkha Bhaag แปลว่า Run Milkha Run (วิ่ง Milkha วิ่ง) ในหนังมี 2 ความหมาย หนึ่งคือให้ Milkha วิ่งหนีสุดชีวิต อีกหนึ่งคือเสียงเชียร์ของกองเชียร์ ประมาณว่า Milkha สู้ๆ, นี่เป็นสิ่งที่ Milkha ได้ยินแล้วสับสนมาก เพราะมันทำให้เขาระลึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่อยากจดจำในอดีต
‘หนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนเรื่องราวชีวิตของ Milkha Singh แต่เป็นการตีความชีวิตของเขา’ นี่เป็นคำอธิบายหนังของ Prasoon Joshi หนึ่งในผู้ร่วมดัดแปลงบทหนัง ต่อเหตุผลที่หนังมีต่อ การหันหลังกลับมามองคู่แข่งของ Milkha นะครับ ความเป็นจริงมันอาจเป็นความโอหังของ Milkha เอง ที่คิดว่าตัวเองคงชนะแน่ หันมาดูเพื่อยืนยันความมั่นใจ แต่การวิ่งระยะสั้น ความผิดพลาดเพียงชั่ววินาที ก็ตัดสินผลแพ้ชนะ, Milkha Singh ออกมาพูดภายหลังว่า ความผิดพลาดครั้งนั้นคือสิ่งที่เขาเสียใจที่สุดในชีวิต ถ้าเพียงเขาไม่หันมา ตั้งหน้าตั้งตาวิ่งไม่สนใจอะไร อาจจะอย่างน้อยได้เหรียญใดเหรียญหนึ่งติดมือกลับมา
ผมมองหนังเรื่องนี้คือการต่อสู้ ‘เอาชนะตัวเอง’ ทั้งร่างกายและจิตใจ, ชีวิตจริง Milkha แต่งงานกับอดีตนักกีฬา กัปตันทีมวอลเล่ย์บอลสุด Sexy พบกันตอนปี 1955 แต่งงานตอน 1962 ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับหนังเปะๆ แต่หนังไม่ได้นำเสนอจุดนี้นะครับ เพราะต้องการให้เขาเป็นฮีโร่ที่สามารถเอาชนะความต้องการของตัวเองได้, นักกีฬาก็แบบนี้นะครับ หล่อๆ ล่ำๆ ร่างกายแข็งแรง ฟิตปั๋งเป็นที่ต้องตาต้องใจของสาวๆไม่ว่าชาติไหน, หนังมี love scene กับฝรั่งสาวแสนสวย ผมว่ากองเซนเซอร์ของอินเดียคงกุมขมับเลยกระมังกับฉากนี้ คือถ้า love-scene กับผู้หญิงอินเดียด้วยกัน ไม่ได้ฉายแน่นอน แต่กับฝรั่ง… ผ่านสบาย!, ทางใจ มันคือการที่เขาสามารถกลับไปยังสถานที่ที่เป็นความทรงจำอันเลวร้ายที่สุดได้ ถ้าแค่ร้องไห้เสียใจคงไม่มี impact อะไร แต่การได้เจอเพื่อนเก่าสมัยเด็ก นี่ทำให้เขาสามารถผ่านช่วงเวลานี้ได้ง่ายขึ้นเยอะ
The Flying Sikh เป็นฉายาของ Milkha Singh ที่คนรุ่นใหม่ในอินเดียน้อยคนจะรู้จัก (คนทั่วโลกไม่ต้องพูดถึง ไม่น่าจะมีคนรู้จักเขานอกจากคนดูหนังเรื่องนี้แน่) หนังอธิบายการได้ฉายานี้ จากตอนไปแข่งกระชับมิตรกับ Pakistan และ Milkha วิ่งเข้าเส้นชัยนำหน้าคนอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น ราวกับเขาบินไม่ได้วิ่งเข้าเส้นชัย ประธานาธิบดีปากีสถาน General Ayub Khan เห็นแล้วประทับใจมาก ด้วยความที่ Milkha Singh สวมหมวกเป็นคนศาสนาซิก จึงมอบฉายา ซิกผู้บินได้ ให้, ขณะที่ Milkha วิ่งเข้าเส้นชัย ถูกขอให้วิ่งต่อรอบสนาม ผู้หญิง Pakistan ที่สวม Burkhas ต่างพร้อมใจกันยกผ้าขึ้นมาเพื่อให้เห็นหน้าสุดยอดนักกีฬาคนนี้อย่างชัดๆ
ถึง Olympic จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ Milkha Singh สามารถคว้าเหรีญทองใน Asian Games ได้ถึง 4 เหรียญทอง, 1958 Tokyo ได้จาก 200m และ 400m, 1962 Jakarta, Indonesia ได้จาก 400m และวิ่งผลัด 4×400, ในอินเดีย Milkha Singh ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘นักวิ่งที่ดีที่สุดของอินเดีย’ (the finest athlete India has ever produced), สถิติวิ่ง 400m ที่เขาทำได้ใน 1960 Rome Olympic 45.73 วินาที กลายเป็นสถิติของอินเดียที่ยาวนานเป็นเวลาถึง 41 ปี ถูกทำลายลงโดย Paramjit Singh เมื่อ 1998
ด้วยทุนสร้าง ₹300 ล้าน ($4.5 ล้านเหรียญ) หนังฉายวันที่ 12 กรกฎาคม ปี 2013 ทำเงินทั้งโลกสูงถึง ₹1.64 พันล้าน ($24 ล้านเหรียญ) เข้าชิง 10 Filmfare Award ได้มา 6 สาขา ประกอบด้วย
– Best Film
– Best Director
– Best Actor (Farhan Akhtar)
– Best Lyrics (Prasoon Joshi)
– Best Costume
– Best Production Design
ถ้าคุณไม่ใช่คน India ก็สามารถดูหนังเรื่องนี้ได้นะครับ นี่เป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนได้เป็นอย่างดี ในการต่อสู้เอาชนะอุปสรรค ความต้องการของตัวเอง, ความผิดพลาดคือสิ่งที่สามารถส่งต่อเป็นบทเรียนสู่คนรุ่นถัดไปได้ แต่ประวัติศาสตร์มักชอบเกิดขึ้นซ้ำรอย สิ่งที่เราต้องจดจำไว้จึงคือ ‘อย่าประมาท’ เพราะนั่นคือต้นเหตุของปัญหาแทบทุกอย่าง
แนะนำกับนักกีฬาทุกประเภท นี่เป็นหนังสร้างแรงบันดาลใจ, คอหนัง bollywood แฟนหนัง Farhan Akhtar, หนังอาจยาวไปหน่อย แต่ภาพสวย เพลงเพราะ(เกือบทั้งหมด) การแสดงยอดเยี่ยม
จัดเรต 13+ กับฉากที่มีความรุนแรง
[…] 9. Bhaag Milkha Bhaag (2013) : Rakeysh Omprakash Mehra ♥♥♥♡ […]