Black Narcissus

Black Narcissus (1947) British : Powell & Pressburger ♥♥♥♥

(14/3/2023) กลิ่นน้ำหอม Narcisse Noir มันช่างตลบอบอวลในความ Erotic และ Exotic ทุกช็อตฉากสร้างขึ้นในสตูดิโอ แต่อาจมีความงดงามกว่าสถานที่จริง! ทำการสำรวจจิตใต้สำนึกของมนุษย์ งดงามและอัปลักษณ์อย่างที่สุด

It is the most erotic film that I have ever made. It is all done by suggestion, but eroticism is in every frame and image, from the beginning to the end.

Michael Powell

one of the first truly erotic films.

Martin Scorsese

อีโรติกา (Erotica) คือวรรณกรรมหรือศิลปะเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เร้าอารมณ์ กระตุ้นทางเพศ คนส่วนใหญ่มักเหมารวมถึงสื่อลามก (Pornography) แต่ในความเป็นจริงนั้น Erotic Art ไม่จำเป็นต้องโป๊เปลือย วับๆแวมๆ อาจแค่ภาพวาด ภาพถ่ายทิวทัศน์ ธรรมชาติสวยๆ สีสันสดใส ก็สามารถปลุกอารมณ์ กระตุ้นความรู้สึก(ทางเพศ)ภายใน

ความอีโรติกของ Black Narcissus (1947) ไม่ใช่แค่พฤติกรรมหมกมุ่น ยั่วเย้ายวน ร่านราคะของบรรดาแม่ชี/หญิงสาวชาวอินเดีย แต่ยังคือทุกช็อตฉากของหนังที่มีการขับเน้นความคมเข้มของ Technicolor สร้างความรัญจวน ปั่นป่วน เกิดความประทับใจ ลุ่มหลงใหล ปลุกเร้าสัมผัสภายใน

ผมครุ่นคิดอยากปรับปรุงบทความ Black Narcissus (1947) และ The Red Shoes (1948) มาสักพักใหญ่ๆ เพราะตระหนักว่าสองเรื่องนี้ต้องใช้ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์พอสมควร ถึงสามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน และเมื่อได้หวนกลับมาครั้งนี้ก็รู้สึกอึ้งทึ่ง คาดไม่ถึง ประทับใจในความลุ่มลึก สลับซับซ้อน มองผิวเผินเหมือนไม่มีอะไร แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดซุกซ่อนเร้นอยู่มากมาย … สองเรื่องนี้ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดของ Powell & Pressburger

ความน่าอึ้งทึ่งของ Black Narcissus (1947) ไม่ใช่แค่การถ่ายทำทุกช็อตฉากในสตูดิโอ ด้วยเทคนิค Matte Painting/Glass Painting ล่อหลอกใครหลายคนครุ่นคิดว่าคือสถานที่จริง! แต่การใช้อารามชีบนเทือกเขาสูงในเชิงสัญลักษณ์ เปรียบเทียบกับความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง โดยเฉพาะจักรวรรดิอังกฤษต่ออาณานิคมอินเดีย (British Raj) พยายามควบคุมครอบงำ ทำราวกับพระเจ้า ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างให้เป็นไปตามแนวทางของตน (Colonialism) แต่สุดท้ายแล้วก็มิอาจเอาชนะวิถีแห่งธรรมชาติ สันชาตญาณมนุษย์ และความต้องการแท้จริงของจิตวิญญาณ

ปล. อดไม่ได้ที่จะต้องพาดพิงถึง The River (1951) จากผู้เขียนนวนิยายคนเดียวกัน กำกับโดย Jean Renoir เปรียบดั่งกระจก/ภาพสะท้อนของ Black Narcissus (1947) เพราะเรื่องนั้นคือหนังฟีล์มสี Technicolor เรื่องแรกๆที่เดินทางมาถ่ายทำยังประเทศอินเดียจริงๆ ซึ่งผู้ชมจะได้รับสัมผัส บรรยากาศ พบเห็นความแตกต่างจากการถ่ายทำในสตูดิโออย่างสิ้นเชิง!


Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา สำเร็จการศึกษา Dulwich College แล้วทำงานนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 1925 เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926), ต่อด้วยตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928) และ Blackmail (1929) และได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)

Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ Universities of Prague and Stuttgart แต่ต้องลาออกเพราะบิดาเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German แล้วอพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ และลักลอบขึ้นเกาะอังกฤษปี ค.ศ. 1935 โดยไม่มีพาสปอร์ตทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric

Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี ค.ศ. 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger พัฒนาบทภาพยนตร์, แม้ทั้งสองมีอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิท เพราะทัศนคติ/แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์มีทิศทางเดียวกัน เพียงมองตาก็รับรู้ความต้องการอีกฝั่งฝ่าย, เมื่อปี ค.ศ. 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers สรรค์สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯลฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางใครทางมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์

เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งกำกับและเขียนบท


หลังเสร็จสร้าง A Matter of Life and Death (1946) ผู้กำกับ Powell ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนนักแสดง Mary Morris ที่เคยร่วมงานเมื่อครั้น The Thief of Bagdad (1940) และ The Spy in Black (1939) ให้รับรู้จักนวนิยาย Black Narcissus (1939) แต่งโดย Rumer Godden ก่อนหน้านี้เพิ่งเคยถูกดัดแปลงสร้างเป็นละครเวที Broadway โดย Lee Strasberg ระหว่างปี ค.ศ. 1941-42

Margaret Rumer Godden (1907-98) นักเขียนนวนิยาย สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Eastbourne, Sussex บิดาทำงานบริษัทขนส่ง Brahmaputra Steam Navigation Company อพยพครอบครัวสู่อินเดียเพื่อหลบหนีสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปักหลักอาศัยอยู่ยัง Narayanganj, British Raj (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ Bangladesh), หลังสงครามสิ้นสุดพาครอบครัวหวนกลับเกาะอังกฤษ เข้าศึกษาต่อ Moira House School กระทั่งปี ค.ศ. 1925 เธอตัดสินใจเดินทางสู่ Calcutta เปิดโรงเรียนสอนเต้นและภาษาอังกฤษ ระหว่างนั้นก็เริ่มเขียนนวนิยาย โด่งดังกับ Black Narcissus (1939), The River (1946), The Greengage Summer (1958), In This House of Brede (1969) ฯ

Black Narcissus (1939) นวนิยายลำดับที่สามของ Godden แต่เป็นครั้งแรกติดชาร์ทหนังสือขายดี Best Selling! เรื่องราวของกลุ่มแม่ชี Anglo-Catholic ที่พยายามก่อตั้งอารามชียังเมืองสมมติ Mopu (ใกล้ๆเมือง Darjeeling พบเห็นทิวเขาหิมาลัยอยู่เบื้องหลัง) ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้พวกเธอต้องล้มละเลิกความตั้งใจดังกล่าว

ว่ากันว่า Godden นำประสบการณ์จากการเข้าร่วม Catholic Church (เธอเปลี่ยนจาก Christian มานับถือ Catholic) สังเกตเห็นความล้มเหลวของบรรดามิชชันนารี/แม่ชี ที่แทบจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีความเชื่อชาวอินเดียได้สักเท่าไหร่! แล้วทำการผสมผสานเข้ากับเรื่องราว(กึ่งๆชีวประวัติ)ของตัวเธอเอง เมื่อปี ค.ศ. 1938 เพิ่งคลอดบุตรคนที่สอง นวนิยายเขียนมาสองเล่มยังขายไม่ค่อยออก เงินเก็บหร่อยหรอ สามีก็ไม่ค่อยอยู่บ้าน เลยเริ่มตั้งคำถามในเชิง ‘self-criticism’ นี่ฉันกำลังทำในสิ่งถูกต้องอยู่หรือเปล่า?

เกร็ด: สถานที่ตั้งอารามชี ในหนังสือชีวประวัติของ Godden เล่าว่าเขียนขึ้นจากประสบการณ์เมื่อครั้นวัยเด็ก ครอบครัวพาไปปิกนิกยังปราสาทร้างแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ปกคลุมด้วยเมฆหมอก ช่างมีความลึกลับ น่าพิศวง บรรยากาศเหนือจริงยิ่งนัก!

For all its convent setting, the novel thrums with sex, portrayed with a subtlety that seems only to intensify its power. The story is simple, but the narrative takes an unshakeable hold, building to a climax involving sexual obsession, insanity and tragic death, which, despite the gothic elements, is handled with masterful restraint.

นักวิจารณ์ Rosie Thomas จากนิตยสาร The Guardian กล่าวถึงนวนิยาย Black Narcissus (1939)

ผู้กำกับ Powell เกิดความสนใจนวนิยาย Black Narcissus (1939) เพราะสัมผัสได้ถึงความ Erotic ที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ในความ Exotic เชื่อว่ามันน่าจะสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ ถ้าได้รับการดัดแปลงเป็นสื่อภาพยนตร์

the story, so coolly told in excellent prose, would be wildly exotic and erotic on the screen.

Michael Powell

Pressburger ติดต่อหา Godden พาเธอไปรับประทานอาหารกลางวัน แล้วนำเสนอแผนการพัฒนาเรื่องราว ด้วยการให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางเพศ (Sexual Elements) ซึ่งเธอเห็นพ้องกับวิสัยทัศน์ดังกล่าว เลยยินยอมมอบอิสรภาพในการดัดแปลงภาพยนตร์โดยไม่เข้ามายุ่งย่ามก้าวก่าย (ทีแรกไม่เชื่อว่าจะผ่านกองเซนเซอร์ด้วยซ้ำ)

แม้ว่า Godden ไม่ได้มีปัญหากับบทหนัง แถมยังให้การอนุมัตินักแสดงหลายๆคน แต่เธอกลับไม่ประทับใจการสร้างฉากในสตูดิโอ แทนที่จะเดินทางสู่อินเดีย ถ่ายทำยังสถานที่จริง ถึงขนาดประกาศกร้าว …

Everything about it was phoney. The Himalayas were just muslin mounted on poles… I have taken a vow never to allow a book of mine to be made into a film again.

Rumer Godden

แซว: แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อตอนภาพยนตร์ The River (1951) ก็ได้รับการโน้มน้าวจากผู้กำกับ Jean Renoir จนโอนอ่อนผ่อนปรน แต่ก็เป็นคนร่วมดัดแปลงบทหนังด้วยตนเอง


General Toda Rai ผู้ครองแคว้น Mopu ชักเชิญชวนกลุ่มแม่ชี Anglo-Catholic ให้มาใช้สถานที่ยังปราสาทร้างบนยอดเขา ด้านหลังติดกับเทือกเขาหิมาลัย สำหรับสร้างโรงเรียน สถานพยาบาล สอนอาชีพ และศาสนา ให้กับชาวบ้านในชุมชนละแวกนั้น, แม่อธิการจึงมอบหมาย Sister Clodagh (รับบทโดย Deborah Kerr) พร้อมแม่ชีอีก 4 คน ออกเดินทางมาปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ประกอบด้วย

  • Sister Philippa (รับบทโดย Flora Robson) มีหน้าที่ปลูกพืชผัก ทำสวนครัว ดูแลกิจการงานทั่วไป
  • Sister Briony (รับบทโดย Judith Furse) ดูแลในส่วนสถานพยาบาล และงานที่ต้องใช้พละกำลัง
  • Sister Blanche หรือ Sister Honey (รับบทโดย Jenny Laird) สำหรับสอนการเย็บปักถักร้อย ทำลูกไม้ (Lace-Making) และเธอสามารถเข้ากับคนอื่นได้ง่าย
  • Sister Ruth (รับบทโดย Kathleen Byron) เป็นครูสอนหนังสือ ร่างกายอิดๆออดๆ แต่มีความระริกระรี้แรดร่าน โหยหาอิสรภาพชีวิต

เมื่อคณะชีเดินทางมาถึงคฤหาสถ์แห่งนี้ ได้รับความช่วยเหลือจาก Mr. Dean (รับบทโดย David Farrar) ชายชาวอังกฤษที่ลงหลักปักฐาน อาศัยอยู่ร่วมกับชาวบ้านมาหลายปี เข้าใจวิถีชีวิต แนวคิด รวมถึงพูดคุยสื่อสารภาษาท้องถิ่น แต่ด้วยความหล่อเหลา จึงทำเอาบรรดาแม่ชีโดยเฉพาะ Sister Ruth บังเกิดความลุ่มหลงใหล

อีกเรื่องวุ่นๆคือการมาถึงของ Dilip Rai (รับบทโดย Sabu) บุตรชายของ General Toda Rai อ้างว่าต้องการมาร่ำเรียนหนังสือ ศึกษาวิชาความรู้ แต่ไปๆมาๆเกิดความลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักหญิงสาวรับใช้ Kanchi (รับบทโดย Jean Simmons) แล้วพากันหนีหายตามไป

การได้อาศัยอยู่ยังปราสาทแห่งนี้ บนเทือกเขาสูง พบเห็นทิวทัศน์สุดลูกหูลูกตา ลมพัดแรงอยู่แทบตลอดเวลา โดยไม่รู้ตัวทำให้บรรดาแม่ชี ไม่สามารถควบคุมตนเอง ปล่อยตัวปล่อยใจ ล่องลอยอยู่ในความทรงจำ หวนรำลึกความหลัก ปลุกเร้าอารมณ์ กระตุ้นทางเพศ จนแทบคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก … มันช่างเป็นสถานที่ที่มีความลึกลับ น่าพิศวง ชวนต้องมนต์


Deborah Kerr ชื่อจริง Deborah Jane Trimmer (1921 – 2007) นักแสดงหญิงสัญชาติ Scottish เจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Actress ถึง 6 ครั้งแต่กลับไม่เคยได้สักรางวัล! เกิดที่ Glasgow, Lanarkshire วัยเด็กมีความสนใจการเต้นบัลเล่ต์ ก่อนเปลี่ยนมาเอาดีด้านการแสดง Hicks-Smale Drama School, จากนั้นมีผลงานละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Contraband (1940) แต่ฉากของเธอถูกตัดออก, เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Life and Death of Colonel Blimp (1943), ตามด้วย Black Narcissus (1947), โกอินเตอร์ตั้งแต่ King Solomon’s Mines (1950), Quo Vadis (1951), From Here to Eternity (1953), The King and I (1956), An Affair to Remember (1957), The Sundowners (1960), The Innocents (1961) ฯ

รับบท Sister Clodagh แม้อายุยังน้อยแต่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง จนได้รับโอกาสจากแม่อธิการให้เดินทางไปบุกเบิกอารามชียังเมือง Mopu ในตอนแรกๆเต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด แต่พอพบเห็นแม่ชีคนอื่นๆค่อยๆสูญเสียการควบคุม ตัวเธอเองก็เริ่มหวนรำลึกถึงอดีต ความทรงจำเมื่อครั้นก่อนมาหันมาพึ่งพาศาสนา แม้ยังพอมีสามัญสำนึกคอยหักห้ามความรู้สึก ท้ายที่สุดหลังเกิดเหตุโศกนาฎกรรม ก็จำใจล้มเลิกภารกิจ เดินทางกลับสู่ดินแดนศิวิไลซ์ Calcutta

Kerr เป็นตัวเลือกแรกของ Pressburger แต่ไม่ใช่สำหรับ Powell มองว่าเธออายุน้อยไปหน่อย (ขณะนั้นเพิ่งอายุ 25-26 เท่านั้นเอง) เหตุผลจริงๆเชื่อกันว่า Powell เคยคบหาทั้ง(อดีต) Kerr และ(ปัจจุบันนั้น) Byron ไม่ต้องการจะรถไฟชนกัน … แต่สุดท้ายก็ชนกันอยู่ดี

การแสดงออกของ Kerr ท่าทางเย่อหยิ่ง สีหน้าจริงจัง พยายามสร้างภาพ Sister Clodagh ให้ได้รับการยอมรับ รวมถึงพิสูจน์ความเป็นผู้นำ ที่สามารถควบคุมจัดการทุกสิ่งอย่างตามความต้องการเปะๆ แต่ความเข้มแข็งดังกล่าวล้วนเพื่อปกปิดซุกซ่อนด้านอ่อนแอภายใน ความรักที่ไม่สมหวัง สิ่งใดๆล้วนไม่เป็นไปตามความเพ้อฝัน

ปราสาทหลังนี้ราวกับมีความลึกลับบางอย่าง ทำให้แม่ชีทั้งหลายต้องเผชิญหน้ากับตัวตนเอง รื้อฟื้นความทรงจำ ทำสิ่งต่างๆผิดพลาด แม้แต่ Sister Clodagh ก็ยังแทบไม่อาจควบคุมตนเอง พยายามอย่างที่สุดจะหยุดยับยั้ง เก็บกดดัน โน้มน้าวแม่ชีคนอื่น สุดท้ายแล้วเธอก็รับรู้ตัวว่านั่นเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถเอาชนะ จึงยินยอมรับความพ่ายแพ้ และหวนกลับไปเผชิญหน้าความเป็นจริง

ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ชื่อเสียงของ Kerr โด่งดังไกลถึง Hollywood ถูกจับเซ็นสัญญาทาสกับสตูดิโอ M-G-M เลยตัดสินใจย้ายไปปักหลักตั้งถิ่นฐานยังสหรัฐอเมริกา ก่อนกลายเป็นนักแสดงระดับตำนาน

an artist of impeccable grace and beauty, a dedicated actress whose motion picture career has always stood for perfection, discipline and elegance”.

คำโปรยเมื่อครั้งได้รับรางวัล Academy Honorary Award ค.ศ. 1993

Kathleen Byron ชื่อจริง Kathleen Elizabeth Fell (1921-2009) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manor Park, Essex โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Bristol Old Vic Theatre School มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก The Young Mr. Pitt (1942), เข้าตาผู้กำกับ Powell & Pressburger ร่วมงานกันสามครั้ง A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Small Back Room (1949)

รับบท Sister Ruth แม่ชีที่เหมือนจะมีร่างกายอ่อนแอ ได้รับมอบหมายให้เป็นครูสอนหนังสือ แต่วันๆเอาแต่จับจ้อง Mr. Dean แอบชื่นชอบ ลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักใคร่ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ แสดงความอิจฉาริษยาต่อ Sister Clodagh ที่มีโอกาสอยู่เคียงชิดใกล้ กระทั่งวันหนึ่งตัดสินใจถอดชุดแม่ชี ตรงรี่เข้าหาชายคนแรก พอถูกปฏิเสธเลยครุ่นคิดฆาตกรรมศัตรูหัวใจ

ผู้กำกับ Powell หมายหมั้นปั้นมือ (เพราะตอนนั้นกำลังสานสัมพันธ์) ต้องการมอบบทบาทนี้ให้ Byron โดยเฉพาะ! เมื่อสามารถโน้มน้าวโปรดิวเซอร์และ Pressburger รีบส่ง Telegram หาโดยทันที!

When I was offered Black Narcissus, Michael Powell sent me a telegram saying, ‘We’re offering you the part of Sister Ruth; the trouble is, you’ll never get such a good part again!’ He was more or less right.

Kathleen Byron

ในหนังสือชีวประวัติของ Powell กล่าวว่าเคยถูก Bryon เอาปืนจ่อศีรษะ น่าจะด้วยความอิจฉาริษยากระมัง นั่นสร้างความโคตรๆประทับใจ ถึงขนาดยินยอมเล่นกับไฟ ชักชวนมาแสดงบทบาทนี้ทั้งๆเคยมีประเด็นกันอยู่ … แต่เธอออกมาให้สัมภาษณ์บอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง ก็แล้วแต่จะเชื่อนะครับ

การแสดงของ Bryon มีความดัดจริตจนเกือบจะ Over-Acting แต่สามารถสะท้อนความเก็บกด อึดอัดอั้น ‘Sexual Repression’ จนสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับอารมณ์ สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองตัณหาความใคร่ ไม่รู้จักสามัญสำนึก ผิดชอบชั่วดี มีสภาพไม่ต่างจากคนคลุ้มบ้าคลั่ง … Pressburger ให้คำนิยามน้ำเสียงชวนฝัน และดวงตาเบิกพองโตเหมือนแมวสกุลลิงซ์ ‘dreamy voice and great eyes like a lynx’

ภาพจำ ‘iconic’ ของ Bryon คือฉากทาลิปสติก ช่างมีความยั่วเย้ายวน รัญจวน เซ็กซี่อีโรติก (แต่หลายคนอาจรู้สึกเซ็กซ์เสื่อม จากความน่าหวาดสะพรึง) คือสัญลักษณ์การปลดปล่อย เสรีภาพทางเพศ ปฏิเสธทำตามคำสั่งใดๆของ Sister Clodagh นี่เป็นการเผชิญหน้าท้าทาย ไม่สนห่าเหวอะไรนอกจากกระทำสิ่งตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนตน

ความสำเร็จอันล้นหลามของ Black Narcissus (1947) ทำให้ Bryon ถูกจดจำในฐานะ ‘the mad nun’ สูญเสียโอกาสในอาชีพการงานพอสมควร หลังจากนี้แทบจะไม่มีบทบาทดีๆยื่นเข้ามา นอกเหนือจากตัวละครที่มีความโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย เต็มไปด้วยอาการคลุ้มบ้าคลั่ง


David Farrar (1908-95) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Forest Gate, Essex ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 14 ทำงานนักข่าวหนังสือพิมพ์ Morning Advertiser จนกระทั่งกลายเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการเมื่ออายุ 17 ปี หลังจากนั้นเริ่มค้นพบความสนใจด้านการแสดง ภาพยนตร์เรื่องแรก Head Over Heels (1937), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Sexton Blake and the Hooded Terror (1938), Danny Boy (1941), Went the Day Well? (1942), โด่งดังกับ Black Narcissus (1947), The Small Back Room (1949) ฯลฯ

รับบท Mr. Dean ชายชาวอังกฤษ ปักหลักอาศัยอยู่อินเดียมานานหลายปี จนสามารถพูดคุยสื่อสาร เรียนรู้จักวัฒนธรรม ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทน General Toda Rai ให้ความช่วยเหลือคณะแม่ชี Anglo-Catholic แต่เชื่อว่าพวกเธอคงอาศัยอยู่ได้ไม่นาน เพราะความเย่อหยิ่งทะนงตน ย่อมไม่มีทางปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตชาวพื้นเมืองได้แน่

แม้หนังจะไม่คำอธิบายเบื้องหลัง ที่มาที่ไปของตัวละครนี้ แต่ผมรู้สึกว่าเขาคือกระจกสะท้อน Sister Clodagh ต่างเป็นบุคคลที่พยายามหลบหนีบางสิ่งอย่างจากอดีต (น่าจะเรื่องของความรัก!) และถึงแม้เข้าใจวิถีชาวพื้นเมือง สามารถปรับตัวใช้ชีวิต แต่ตัวตนแท้จริงดูไม่ได้ยี่หร่าอะไรใคร (ทั้งชาวอินเดีย และแม่ชีทั้งหลาย) ต้องการปลีกวิเวก ปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ

ผมรู้สึกว่า Farrar ดูหล่อเหล่าในสไตล์ผู้ดีอังกฤษ ผสมความดิบเถื่อน หยาบกระด้าง แถมชอบสวมกางเกงขาสั้น รัดรูป เพิ่มความเซ็กซี่ ‘alpha male’ สร้างความยั่วเย้ายวนให้สาวๆเคลิบเคลิ้มหลงใหล ขณะเดียวกัน ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ มองตาเข้าใจ Sister Clodagh จึงบังเกิดความรู้สึกบางอย่างลึกๆขึ้นมาภายใน (จะมองว่าแอบชื่นชอบก็ยังได้)


Jean Merilyn Simmons (1929 – 2010) นักร้อง/นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Lower Holloway, London, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการร้อง-เล่น-เต้น หลังสงครามโลกครั้งที่สองสมัครเข้าเรียน Aida Foster School of Dance ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Val Guest รับบทเล็กๆใน Give Us the Moon (1944), ตามด้วย Caesar and Cleopatra (1945), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Great Expectations (1946), Black Narcissus (1947), ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress ครั้งแรกเรื่อง Hamlet (1948), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Robe (1953), Guys and Dolls (1955), The Big Country (1958), Spartacus (1960), Elmer Gantry (1960), The Happy Ending (1969) ฯ

รับบท Hasanphul แต่ใครๆมักเรียกว่า Kanchi หญิงสาวชาวอินเดีย อายุ 17 ปี ได้รับการฟากฝังจาก Mr. Dean ให้พักอาศัยอยู่อารามชี ทำงานเป็นคนรับใช้ แต่เธอกลับใช้เวลาส่วนใหญ่พยายามยั่วเย้ายวน Dilip Rai หรือ The Young General จนอีกฝ่ายตัดสินใจหนีตามไปครองรักร่วมกัน

เพราะถือเป็นตัวละครสำคัญ แต่ยุคสมัยนั้นการจะหานักแสดงอินเดียในประเทศอังกฤษ และต้องมีฝีไม้ลายมือ จริตจัดจ้าน มันแทบจะไม่มีความเป็นไปได้! ถึงอย่างนั้นทีมงานก็ยังลงประกาศหนังสือพิมพ์ ผู้สมัครกว่า 1,600+ คน ผลลัพท์คือ Jean Simmons ได้รับคำชื่นชมจากผู้แต่งนวนิยาย Godden ว่า “perfectly fulfilled my description”

ตอนรับชมหนังครั้งแรก ผมไม่ได้เอะใจอะไรเกี่ยวกับตัวละครนี้เลยนะ (อาจเพราะตอนนั้นผมยังไม่ค่อยมักคุ้นใบหน้าของ Simmons และหนังทำออกมาได้แนบเนียนสุดๆ) รู้สึกชื่นชมในทุกๆท่วงท่า อากัปกิริยา ลีลาขยับเคลื่อนไหว รวมถึงการแสดงออกทางสีหน้า ดวงตา เต็มไปด้วยความยั่วเย้ายวน ชวนเสน่หา แม้แทบไม่มีบทพูดสนทนา แต่ผู้ชมสามารถรับรู้ความต้องการของเธอ สนแค่เพียงอย่างหนึ่งเดียวเท่านั้น!

แม้หลังจากรับรู้ว่านักแสดงผิวขาว แต่งหน้าย้อมสีให้กลายเป็นคนผิวเหลือง (Whitewashing) ผมก็ไม่ได้รู้สึกอคติต่อต้านสักเท่าไหร่ เราต้องเข้าใจข้อจำกัดยุคสมัยนั้น ไม่ใช่เพราะผู้สร้างแสดงทัศนคติ ‘Racism’ แต่เพราะมันไม่มีจริงๆจะให้ทำไง … คือหนังทั้งเรื่องแม้งก็ปลอมๆอยู่แล้ว ไม่ได้เดินทางไปถ่ายทำยังอินเดีย การจะมีนักแสดงผิวขาวย้อมสี ก็ไม่ได้ทำให้อะไรๆเลวร้ายลงหรอกนะครับ

(จริงๆถ้าหนังเดินทางมาถ่ายทำยังอินเดีย และคัดเลือกนักแสดงจาก Bollywood ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่พร้อมรับเล่นบทบาทนี้ อาทิ Mumtaz Shanti, Nargis, Suraiya, Madhubala ฯ รู้จักกันบ้างไหมเอ่ย?)

การให้นักแสดงผิวขาวย้อมสี มันก็พอมีความดีความชอบอยู่เหมือนกันนะ แสดงให้เห็นถึงความดัดจริต จอมปลอม และพฤติกรรมสำส่อนที่สะท้อนสันดานธาตุแท้ชาวอังกฤษ เมื่อเข้ายึดครอบครองประเทศอินเดีย ก็มีเพียงเป้าหมายอันหนึ่งเดียวเท่านั้น!


Sabu Dastagir (1924-63) นักแสดงชาวอินเดีย เกิดที่ Karapur, Mysore, Kingdom of Mysore (ขณะนั้นคือ British India) เป็นบุตรของคนขี่ช้าง เมื่อตอนอายุ 13 ได้รับการพบเจอโดยผู้กำกับ Robert J. Flaherty แสดงนำสารคดี Elephant Boy (1937), จากนั้นมีโอกาสเดินทางสู่อังกฤษ เอาจริงเอาจังด้านการแสดง โด่งดังกับ The Thief of Bagdad (1940), Jungle Book (1942), Black Narcissus (1947) ฯ

รับบท Dilip Rai หรือที่ใครๆเรียกว่า The Young General หนุ่มหล่อ หน้าตาดี (มั้งนะ) แต่งตัวอย่างหรูหรา เครื่องประดับราคาแพง ฉีดพ่นน้ำหอม Narcisse Noir ใครได้กลิ่นย่อมรู้สึกเคลิบเคลิ้มหลงใหล เดินทางมายังอารามชี อ้างว่าต้องการร่ำเรียนวิชาความรู้ อยากศึกษาวัฒนธรรมตะวันตก แต่ไม่นานก็หมดความสนใจ เอาเวลาไปพรอดรักกับ Kanchi สนเรื่องของตัวตนเองดีกว่า!

บทบาทของ Sabu ไม่ว่าจะภาพยนตร์เรื่องไหนๆ ล้วนมีลักษณะ ‘stereotypes’ ชาวอินเดียผู้ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีความนอบน้อม บริสุทธิ์จริงใจในสายตาชาวอังกฤษ แต่ผมว่า Black Narcissus (1947) อาจเป็นครั้งแรก(และครั้งเดียว)ที่ได้เล่นตัวละครมีมิติมากกว่านั้น นั่นคือความพยายามปกปิดบังตัวตนแท้จริงด้วยเครื่องประดับ กลิ่นน้ำหอม สารพัดข้ออ้างว่าต้องการร่ำเรียนหนังสือ จนกระทั่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง -แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการ- ความต้องการ/สันชาติญาณแท้จริงก็ถูกเปิดเผยออกมา

จะว่าไปยุคสมัยนั้น ผมแทบไม่เคยพบเห็น ‘sex symbol’ ชายชาวอินเดียเลยนะ อาจเพราะการเป็นประเทศอาณานิคม ความหัวสูงส่งของผู้ดีอังกฤษอังกฤษ ไม่ยินยอมลดตัวลงมาเติมเต็มแฟนตาซีเรื่องเพศกับคนชนชั้นต่ำกว่า (ผิดกับคนดำหรือละติน ที่สร้างความคุกคามทางเพศให้กับคนขาวได้มากกว่า) แต่ใกล้เคียงสุดก็น่าจะ Sabu ในบทบาทภาพยนตร์เรื่องนี้นี่แหละ โดยไม่รู้ตัวท่าทางเอ๋อๆเหรอๆ แท้จริงแล้วแทบไม่แตกต่างจาก ‘sexual predator’


ถ่ายภาพโดย Jack Cardiff (1914-2009) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Great Yarmouth, Norfolk ครอบครัวเป็นเจ้าของ Music Hall ทำให้รับรู้จักโปรดักชั่นภาพยนตร์มาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ พออายุ 15 ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง เด็กตอกสเลท หนึ่งในนั้นคือ The Skin Game (1931) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock, ค่อยๆไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ในสังกัด London Films ทำให้มีโอกาสถ่ายทำ Wings of the Morning (1937) ภาพยนตร์ Technicolor เรื่องแรกของประเทศอังกฤษ, หลังสงครามได้มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Powell & Pressburger ตั้งแต่ควบคุมกล้อง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), ได้รับเครดิตถ่ายภาพ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The African Queen (1951), The Barefoot Contessa (1954), War and Peace (1956), Death on the Nile (1978), Conan the Destroyer (1984) ฯ

ก่อนหน้านี้ผู้กำกับ Powell เป็นคนชื่นชอบออกไปถ่ายทำยังสถานที่จริงเอามากๆ แต่ประสบการณ์หลังจาก I Know Where I’m Going! (1945) และ A Matter of Life and Death (1946) ทำให้เขาตระหนักถึงประโยชน์จากการถ่ายทำภายในสตูดิโอ เพราะสามารถ ‘ควบคุม’ ทุกสิ่งอย่างให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ โดยไม่ต้องเฝ้ารอคอยสภาพอากาศ ลมฟ้าฝน เดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง รวมถึงงบประมาณค่าเดินทาง ที่พักอาศัย สำรวจสถานที่ ขนย้ายอุปกรณ์ ฯ

Black Narcissus (1947) คือความตระหนักได้โดยทันทีของผู้กำกับ Powell ว่าการเดินทางสู่อินเดีย เป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย สิ้นเปลืองงบประมาณเกินไป ด้วยเหตุนี้จึงครุ่นคิดวางแผนถ่ายทำ ก่อสร้างฉากยังสตูดิโอ Pinewood Studios ยกเว้นบ้านพักของ Mr. Dean ได้สถานที่ Leonardslee Gardens, West Sussex

เห็นภาพเบื้องหลังอาจทำให้หลายคนอ้าปากค้าง ไหนละทิวทัศน์สวยๆ หน้าผาสูงชัน พื้นหลังเทือกเขาหิมาลัย ฉากต่างๆสร้างขึ้นล้วนอยู่บนพื้นดิน ไม่ได้ดูอันตราย เสี่ยงตาย แล้วที่พบเห็นในหนังทำได้อย่างไร?

ในยุคสมัยที่ยังไม่ CGI (Computer Graphic Interface) วิธีการของหนังก็คือภายหลังถ่ายทำเสร็จสิ้น (Post-Production) จะมีการนำไปฉายขึ้นฉากด้วยเครื่อง Rear Projection แล้วเอาภาพวาดทิวทัศน์บนกระจก Matte Painting/Glass Painting โดยศิลปิน W. Percy Day มาวางซ้อนไว้เบื้องหน้า แล้วค่อยถ่ายทำซ้ำอีกครั้ง (จริงๆถ้าไม่ใช้ Rear Projection จะนำเอาภาพวาดบนกระจกไปตั้งยังสถานที่จริงเลยก็ได้ แต่มันมีความยุ่งยากวุ่นวายกว่า)

Our mountains were painted on glass. We decided to do the whole thing in the studio and that’s the way we managed to maintain colour control to the very end. Sometimes in a film its theme or its colour are more important than the plot.

Michael Powell

เกร็ด: ใครสนใจอยากรู้วิธีการของ Matte Painting เห็นมีอยู่หลายคลิปใน Youtube ลองหารับชมดูนะครับ [Click Here]

Cardiff เล่าว่าได้แรงบันดาลใจการจัดแสงและสีสัน (Color Palette) จากผลงานศิลปะของ Johannes Vermeer (1962-75) จิตรกรชาว Dutch แห่งยุคสมัย Baroque Period ซึ่งหนังก็ได้ทำการเคารพคารวะตั้งแต่ช็อตแรก (ไม่นับรวม Opening Credit) แต่ไม่ใช่การ ‘recreate’ ภาพวาดไหนนะครับ คนที่เคยพบเห็นสไตล์ Vermeer ย่อมรับรู้ว่าพี่แกชอบวาดภาพติดหน้าต่าง เพื่อให้แสงจากภายนอกสาดส่องเข้ามา มอบสัมผัสที่แตกต่างในแต่ละช่วงเวลา

สังเกตแสงจากภายนอกที่สาดส่องผ่านบานเกร็ดเข้ามาในห้องแม่อธิการแห่งนี้ ทำให้ดูราวกับเธออยู่ภายในกรงขัง ถูกบางสิ่งอย่างเหนี่ยวรั้ง นั่นคือมายาคติที่ครุ่นคิดว่าฉันสามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง ไม่มีสถานที่แห่งหนใดที่กลุ่ม Anglo-Catholic จะไม่สามารถเข้าไปพัฒนา ทำภารกิจศาสนา … ไม่ต่างจากกบในกะลา

ในห้องหับหนึ่งของปราสาทแห่งนี้ ก็เต็มไปด้วยกรงนกขนาดเล็ก-ใหญ่ สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์แทนบรรดาแม่ชีที่กำลังจะมาพักอาศัย แทนที่จะได้โบกโบยบินอย่างอิสรภาพ กลับเหมือนถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ราวกับเรือนจำขนาดใหญ่ ไม่สามารถหลบหนีเอาตัวรอดไปไหน

นัยยะดังกล่าวสื่อถึงมายาคติของบรรดาแม่ชี ที่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง ครุ่นคิดว่าสามารถทำอะไรได้ทุกสิ่งอย่าง จึงพยายามเข้ามาปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น ให้ดำเนินไปตามวิถีทางของฉัน โดยไม่สนห่าเหวอะไรอย่างอื่นทั้งนั้น … นั่นคือทัศนคติอันคับแคบ เห็นแก่ตัว กบในกะลา ไม่ต่างจากนกในกรงขัง

General Toda Rai รับบทโดย Esmond Knight (1906-87) นักแสดงผิวขาวชาวอังกฤษ หนึ่งในขาประจำของ Powell & Pressburger ซึ่งทำการย้อมสีผิวให้เป็นชาวอินเดีย แล้วแต่งองค์ทรงเครื่องราชปุต (Rajput) … แนบเนียนจนดูไม่ออกจริงๆ

แซว: หนึ่งในประโยคคำพูดของ General Toda Rai ที่มีความล่อแหลมโคตรๆ บอกว่าบรรดาแม่ชี/ชาวยุโรปชอบรับประทานนั้นคือไส้กรอก (Sausages) ลองจินตนาการดูเองนะครับว่ามันความสองแง่สองง่ามยังไง? และล้อกับเรื่องราวของหนังยังไง?

Sausages! They will eat sausages. Europeans eat sausages wherever they go. They will eat them when they come… and until they can tell the cook what else they want to eat.

General Toda Rai

หนังไม่เคยพูดบอกออกมาตรงๆว่าปราสาทแห่งนี้ (The Palace of Mopu) ดั้งเดิมถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร รับรู้เพียงแค่ว่าเคยเป็นที่พักอาศัยของสตรี ไม่มีบุรุษอื่น(นอกจากผู้ครองแคว้น)เข้ามาย่างกราย แต่เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอคาดเดากันว่าคือ ฮาเร็มของผู้ครองแคว้น ไม่ก็ซ่องโสเภณี

ออกแบบเครื่องแต่งกาย (Costume Design) โดย Alfred Junge แบ่งสไตล์เสื้อผ้าออกเป็นสามรูปแบบ

  • General Toda Rai และ The Young General มักสวมใส่ชุดหรูหรา เสื้อผ้าไหม เครื่องประดับราคาแพง ขับเน้นโทนสีสันสดใส เพื่อสะท้อนสถานะทางสังคมของพวกเขา
  • แม่ชีสวมชุดขาว อ้างอิงจากเครื่องแบบยุคกลาง (Medieval) เพื่อสื่อถึงจิตใจอันบริสุทธิ์ อุทิศตนให้กับพระเจ้า ขณะเดียวกันยังสร้างความแตกต่าง (other-worldliness) จากผู้คน ชนพื้นเมือง และธรรมชาติโดยรอบ
    • ในความเป็นจริงคณะชีกลุ่มนี้ไม่ได้ขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง ต่างมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นภายใน แปดเปื้อนเหมือนเลือดบนชุดของ Sister Ruth (นี่แอบปักธงโชคชะตากรรมของตัวละครเลยนะเนี่ย!)
  • สำหรับชุดของหญิงสาวชาวพื้นเมืองอินเดีย แม้เต็มไปด้วยสีสันแต่จะซีดเซียว/สีอ่อนกว่า (General ทั้งสอง) เน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติ และสวมใส่เครื่องประดับราคาถูก ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายของ Nepalese, Bhutanese, Tibetan

นี่น่าจะคือ Saint Faith หรือ Saint Faith of Conques (ภาษาสเปน Santa Fe) นักบุญที่เชื่อกันว่าคือหญิงสาวจากเมือง Agen, Aquitaine ผู้เปี่ยมล้นด้วยศรัทธาศาสนา ไม่ยินยอมแปรเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา ในช่วงการกวาดล้างชาวคริสเตียนของจักรวรรดิ Roman Empire ระหว่างปี ค.ศ. 287-290 เลยโดนทัณฑ์ทรมานจนเสียชีวิตด้วยเหล็กร้อน

แต่จะว่าไปรูปปั้นของ Saint Faith ไฉนถึงมีลักษณะ สีสัน ช่างละม้ายคล้าย … Kanchi? มันต้องมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่างกันแน่ๆ

แทนที่ Sister Ruth ซึ่งรับหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือจะสอนหนังสือ กลับมอบหมายให้เด็กชาย Joseph Anthony บุตรของพ่อครัวที่ทำงานให้ General Toda Rai เลยสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ แต่รูปที่พบเห็นบนกระดานดำ ดาบ ปืน เรือรบ ฯ เป็นฉากเล็กๆที่จะทำให้ผู้ชมตระหนักถึงเป้าหมายแท้จริงของชาวอังกฤษต่ออาณานิคมอินเดีย ไม่ได้ต้องการจะเสี้ยมสอนวิชาความรู้ แต่ด้วยจุดประสงค์ซ่อนเร้นบางอย่าง

แนวคิดของมิชชันนารี มันมีความสองแง่สองง่ามเสมอๆนะครับ มุมหนึ่งมองว่าเป็นการนำเอาความเจริญไปเผยแพร่สู่ท้องถิ่นทุรกันดาร แต่ขณะเดียวกันยังเป็นการทำลายวิถีชีวิต ลบล้างวัฒนธรรมท้องถิ่น (เพราะต้องปรับเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างให้ดำเนินไปตามวิถีของผู้เข้ามา)

เกร็ด: เด็กชาย Joseph Anthony มักใช้คำเรียก Lemini (ออกเสียงคล้าย Lemony) เป็นคำภาษา Nepali ที่แปลว่า Nun, แม่ชี เห็นว่านำจากต้นฉบับนวนิยายของ Rumer Godden เขียนไว้เช่นนี้

ถ้าผมจำไม่ผิดมีการสั่นระฆังทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งล้วนมีเหตุมีผล ที่มาที่ไป แต่จุดประสงค์หลักๆคือต้องการเรียกร้องความสนใจต่อบุคคลที่อยู่เบื้องล่าง

  • ครั้งแรกเมื่อคณะชีเดินทางมาถึงสถานที่แห่งนี้ สั่นเพื่อป่าวประกาศโดย Sister Ruth เวลาเที่ยงตรง
  • ครั้งสองก็ยังคงสั่นโดย Sister Ruth ช่วงเวลายามเช้า แต่จุดประสงค์แท้จริงเหมือนต้องการปลุกตื่น Mr. Dean เรียกร้องให้เขาหันมาสนใจ
  • ครั้งสามโดย Sister Clodagh น่าจะช่วงเช้า หลังรับทราบเหตุโศกนาฎกรรมเกิดขึ้นกับเด็กชาย (ทำให้ไม่มีชาวบ้านเดินทางมายังอารามชีแห่งนี้) เพื่อเรียกร้องขอคำแนะนำจาก Mr. Dean
  • และครั้งสุดท้ายโดย Sister Clodagh ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ต้องการขอความช่วยเหลือจาก Mr. Dean แล้วจู่ๆก็เกิดการฉุดกระชากกับ Sister Ruth จนเกิดเหตุโศกนาฎกรรม

แซว: ผมไม่รู้ว่า Luis Buñuel นำแนวคิดการสั่นระฆัง (รวมถึง Ghungroo กำไลกระดิ่งของอินเดีย ที่หญิงสาวสวมใส่ขณะเต้นรำ) มาปรับใช้ในภาพยนตร์ Belle de Jour (1967) หรือเปล่านะ? พอได้ยินเสียงกรุ้งกริ้ง อารมณ์ทางเพศก็พลุกพร่านขึ้นมา (เสียงเรียกร้องหาการมีเพศสัมพันธ์)

แซว2: ผมจับจ้องมองภาพนี้ไปมา ทำให้ตระหนักถึงความสูงชันของหน้าผา ตั้งอย่างโด่เด่ ฤาจะแทนด้วยลึงค์/อวัยวะเพศชาย และบรรดาแม่ชีพักอาศัยอยู่เบื้องบน (Woman-On-Top)

นี่เป็นสองช็อตที่ดูขัดแย้งกันอยู่เล็กๆ ดวงตาของ Sister Clodagh ถูกบดบังด้วยเงามืดพอดิบดี (สื่อถึงการมองไม่เห็นอะไรบางอย่าง) แต่ตรงกันข้ามกับ Sister Philippa เหม่อมองออกไป แล้วพูดบอกว่าสถานที่แห่งนี้ทำให้เธอเห็นภาพไกลไป จนไม่พบเห็นสิ่งที่อยู่ตรงข้างหน้าว่ากำลังทำอะไร

I think you can see too far. I look out there, and … then I can’t see the potato I’m planting.

Sister Philippa

นัยยะของคำพูดประโยชน์นี้ ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ I Know Where I’m Going! (1945) สื่อถึงความสนใจของบางคนที่เอาแต่มองไปข้างหน้า ครุ่นคิดถึงเป้าหมายปลายทาง ไม่เคยเหลียวแล(คนที่อยู่เบื้อง)หลัง ให้ความสนใจสิ่งต่างๆรอบข้าง รวมถึงความต้องการแท้จริงของตนเอง

ระหว่างกำลังคุกเข่าสวดภาวนา Sister Clodagh เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง แล้วเกิดภาพหวนระลึกความทรงจำ (Flashback) ถึงชายคนที่เธอเคยตกหลุมรัก (ก่อนมาบวชเป็นแม่ชี) แต่ฉากนี้มีการแอบบอกใบ้ความแตกต่างระหว่างทั้งสอง, ขณะที่ Clodagh ยืนตกปลาอยู่ในทะเลสาป พบเห็นแสงสะท้อนระยิบระยับ แฟนหนุ่มของเธอกลับยืนอยู่บนผืนดิน ถ่ายติดโขดหินด้านหลัง (นี่เป็นการบอกใบ้ถึงความเข้ากันไม่ได้ของทั้งสอง น้ำกับดิน)

ผมเคยอ่านเจอสักแห่งหนไหน การโป้ปดที่ดีต้องมีความจริงผสมอยู่บ้าง! ทั้งๆส่วนใหญ่ของ Black Narcissus (1947) ล่อหลอกผู้ชมด้วยภาพวาดทิวทัศน์พื้นหลัง แต่ก้อนเมฆช็อตนี้น่าจะเป็นของจริงอย่างแน่นอน และลักษณะอึมครึม มืดครึ้ม เหมือนฝนใกล้ตก สามารถสะท้อนการมาถึงของ Dilip Rai หรือ The Young General กำลังนำพาความวุ่นๆวายๆให้บังเกิดขึ้นในอารามชีแห่งนี้!

เท่าที่ผมพยายามไล่หาดูพบว่า Holy Man ปรากฎตัวทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งต่างก็ยังคงนั่งสงบนิ่งเงียบ ไม่ขยับเคลื่อนไหวติง โดยจะมีช็อตโคลสอัพใบหน้า และตัดมาทิวทัศน์เทือกเขาหิมาลัยสวยๆ

  • ครั้งแรกตอนอารัมบท พูดกล่าวถึง พบเห็นทิวทัศน์ตอนกลางวันสวยๆ
  • ครั้งสองยามค่ำคืนแรกที่คณะชีเดินทางมาถึง พบเห็นทิวทัศน์ตอนกลางคืนสวยๆ
  • ครั้งสามระหว่าง Sister Clodagh (และ Mr. Dean) กำลังสำรวจอาณาบริเวณของอารามชี พวกเขาถือว่าเข้ามาก่อน Holy Man พร้อมกับหญิงสาวนำอาหารมากราบไว้ ส่วนทิวทัศน์ด้านหลังสังเกตว่าเต็มไปด้วยเมฆหมอก บดบังวิสัยทัศน์ (สื่อตรงๆถึงพวกที่มารบกวนความสงบของ Holy Man)
  • ครั้งสี่หลังจาก Sister Ruth สูญหายตัวไป คณะชีออกติดตามหา Sister Clodagh มาพร้อมกับเด็กชาย Joseph Anthony พยายามจะสอบถามแต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ ส่วนพื้นหลังยามค่ำคืนมองแทบไม่เห็นอะไร (มืดมิดกว่าครั้งที่สอง)

การมีตัวตนของ Holy Man สร้างความลึกลับ สัมผัสเหนือธรรมชาติ ถ้ามองตามเรื่องราวเหมือนไม่ได้มีความสลักสำคัญประการใด แต่การมีตัวตนสามารถสื่อถึงบุคคลชายขอบ (ซึ่งก็นั่งอยู่บริเวณสุดปลายขอบอารามชี) ในอดีตเคยมีทุกสิ่งอย่าง แล้วเกิดตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง ปัจจุบันเลยเลือกที่จะละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง

จุดสูงสุดที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่การอาศัยอยู่บนเนินเขา หรือทำตัวหัวสูงส่งเหนือกว่าใครเขา แต่คือการลด-ละ-เลิก ปล่อยวางทุกสิ่งอย่าง ใช้ชีวิตตามวิถีธรรมะ (ธรรมะ=ธรรมชาติ) เมื่อจิตบังเกิดความว่างเปล่า ก็สามารถมุ่งสู่นิพพาน (เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา)

Parfums Caron บริษัทผลิตน้ำหอมชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1904 คือผู้ผลิตน้ำหอม Narcisse Noir เมื่อปี ค.ศ. 1911 นอกจากภาพยนตร์ Black Narcissus (1947) ยังมีการกล่าวถึงใน Sunset Boulevard (1950) ปัจจุบันบริษัทยังเปิดกิจการอยู่นะครับ สามารถหาซื้อได้ทางเว็บ E-Commerce อย่าง Amazon

การฉีดน้ำหอม คือหนึ่งในการสร้างภาพ มายาคติ พยายามปกปิดบังกลิ่นที่แท้จริง หรือก็คือตัวตนเอง ทำให้ผู้อื่นเมื่อได้รับสัมผัสทางกลิ่น บังเกิดความรู้สึกอันพึงพอใจ (ทั้งๆที่ตัวเราอาจไม่ได้มีกลิ่นอันพึงประสงค์สักเท่าไหร่)

ค่ำคืนคริสต์มาส วันสมโภชพระคริสตสมภพ เฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู ระหว่างที่บรรดาแม่ชีกำลังร่วมพิธีมิสซา Sister Clodagh กลับหวนระลึกถึงเมื่อครั้นก่อนเป็นแม่ชี ได้รับแหวนแต่งงานจากคู่หมั้นในค่ำคืนวันคริสต์มาสเดียวกันนี้

มองผิวเผินการย้อนอดีตครั้งนี้ (Flashback) มีจุดเชื่อมโยงคือวันคริสต์มาส แต่ถ้าเราตีความในเชิงเปรียบเทียบ (เพราะเป็นการตัดต่อแบบสลับไป-มา) วันประสูติพระเยซู = หมั้นหมายแฟนหนุ่ม นั่นแปลว่าความสนใจแท้จริง/เหตุผลที่ Sister Clodagh บวชเป็นแม่ชี ก็เพราะพระเยซู = แฟนหนุ่ม ถ้าชาวคริสต์ตระหนักได้เช่นนี้ คงไม่แปลกถ้าหนังจะถูกประณาม ‘blasphemous’

The King and the Beggar-maid เรื่องสั้นความยาวหนึ่งหน้ากระดาษ (Broadside Ballad) ตีพิมพ์ช่วงศตวรรษที่ 16th เล่าเรื่องราวของ King Cophetua กษัตริย์แห่งแอฟริกาที่ไม่เคยมีความต้องการสตรีใดๆ แล้วจู่ๆวันหนึ่งมองออกไปนอกปราสาท พบเห็นหญิงสาวขอทาน Penelophone ตกหลุมรักแรกพบโดยทันที ตัดสินใจสู่ขอแต่งงาน ไม่สนความแตกต่าง และได้ร่วมใช้ชีวิตตราบจนวันตาย ร่วมหอลงโลงเดียวกัน

เรื่องราวของ Dilip Rai และ Kanchi เป็นความพยายามล้อเลียนความเย่อหยิ่งหัวสูงของพวกผู้ดีอังกฤษ ที่ไม่เคยเห็นค่าความสำคัญชนชาวอินเดีย ทั้งๆเรื่องของความรัก (ที่เป็นอุดมคติศาสนาคริสต์) ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น สถานะ หรือเชื้อชาติพันธุ์ แล้วมันผิดอะไรที่พระราชากับขอทาน/สาวรับใช้ จะไม่สามารถครองคู่อยู่ร่วม มีเพศสัมพันธ์

งานปัก (embroidery) ของ Sister Clodagh คือภาพของ Saint Francis of Assisi (1181-1226) นักบุญชาวอิตาเลี่ยน ผู้เป็นที่รักของมนุษย์และสรรพสัตว์ แนะนำให้ลองหารับชมภาพยนตร์ The Flowers of St. Francis (1950) ของผู้กำกับ Roberto Rossellini ดูนะครับ

สาเหตุที่อารามชีแห่งนี้คาคลั่งด้วยคนพื้นเมืองอินเดีย หาใช่เพราะเพราะจิตศรัทธา แต่คือ General Toda Rai จ่ายเงินว่าจ้างมา คาดหวังว่าเมื่อชาวบ้านให้การยินยอมรับ เสพติดเป็นอุปนิสัย ก็จักเดินทางแวะเวียนมาเองด้วยใจ … แต่ยังไม่ทันไรเพราะความเพิกเฉยเฉื่อยชาต่อการรักษาผู้ป่วย ก่อเกิดโศกนาฎกรรมขึ้นกับเด็กชาย ทำให้ไม่มีชาวบ้านคนไหน ต่อให้จ่ายเงินก็ไม่มีใครคิดอยากหวนกลับมา

ความน่าขบขันของฉากนี้ก็คือ Sister Clodagh หลังจากเคาะระฆังขอความช่วยเหลือ Mr. Dean ก็เร่งรีบเดินทางมา เสื้อผ้าไม่สวมใส่ เปลือยอกท่ามกลางคณะชี จะสร้างความยั่วเย้ายวนไปไหน! … ในบริบทนี้ Mr. Dean ถือเป็นตัวแทนชนพื้นเมืองอินเดีย ที่ได้ปลดเปลื้อง(เสื้อผ้า) เปิดเผยตัวตนแท้จริง ว่าพวกเขาไม่เคยสนใจอารามชีแห่งนี้สักเท่าไหร่

ฉากยามเย็นช่างมีความตื่นตระการตายิ่งนัก ทั้งการจัดแสง โทนสีสัน สร้างบรรยากาศได้เหมือนพระอาทิตย์กำลังตกดิน พอดิบพอดีกับช่วงเวลาแห่งหายนะ/ความมืดมิดกำลังคืบคลานเข้ามา และเมื่อมองลงไปด้านล่างพบเห็นเพียงเมฆหมอกปกคลุม สื่อถึงความสัมพันธ์(ระหว่างเบื้องบน-ล่าง)ที่ขาดสะบั้น ชาวบ้านพื้นเมืองไม่สามารถยินยอมรับ/ปฏิเสธอารามชีแห่งนี้โดยสิ้นเชิง!

ความตั้งใจแรกของผู้กำกับ Powell ไม่ได้ต้องการให้แม่ชีมีการแต่งหน้าหรือทาลิปสติก แต่หลังจากถ่ายทำไปสักพักก็เริ่มตระหนักถึงข้อจำกัดบางอย่าง ใบหน้านักแสดงดูเหือดแห้ง ซีดเซียว ไร้ชีวิตชีวา จึงจำเป็นต้องแต่งหน้าทาลิปสติกสีเนื้อ เพื่อให้เกิดความมันวาว สะท้อนแสงเข้าหากล้อง … นี่คือเหตุผลที่ทำไมต้องมีการแต่งหน้าก่อนถ่ายทำภาพยนตร์!

Sister Ruth จากชุดแม่ชีเปื้อนเลือด มาสวมใส่ชุดแดงแรงฤทธิ์ และทาลิปสติกแดง นี่คือสีแห่ง ‘passion’ ความหลงใหลคลั่งไคล้ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ โกรธรังเกียจ อิจฉาริษยา ตัณหาราคะ ความรุนแรง การต่อสู้ โศกนาฎกรรม ความตาย ฯลฯ

The moment with the lipstick is incredible. By itself it is a very sensual scene but, also, within the drama it represents the fear that the person that Ruth has become might also be lurking in any of the other nuns.

ระหว่างที่ Sister Ruth ทาลิปติกอยู่ฟากฝั่งตรงข้ามกับ Sister Clodagh (ดูราวกับภาพสะท้อนกันและกัน ความมืด-แสงสว่าง) จะมีการตัดภาพไปยังเปลวเทียนใกล้มอดดับ (จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ที่กำลังหมดสูญสิ้นไป) และภาพวาดฝาผนัง หญิงสาวเปลือยอก ปกปิดเรือนร่างด้วยเครื่องประดับ (ตัวตนแท้จริงที่กำลังเปิดเผยออกมา)

ผู้กำกับ Powell อยากจะให้ Byron แสดงความระริกระรี้ เก็บอาการตื่นเต้นไว้ไม่อยู่ เมื่อมาถึงบ้านของชายที่แอบรัก Mr. Dean แต่เธอกลับไม่เห็นด้วย พยายามพูดโน้มน้าวอธิบายว่า

She’s very happy now she’s in his presence.

Kathleen Byron

แม้ว่า Powell จะไม่เห็นด้วยกับทิศทางตัวละครดังกล่าว แต่หลังจากถ่ายทำเสร็จก็ยอมรับว่าเป็นการแสดงที่ดี เลยไม่ได้มีการปรับแก้ไขอะไรใดๆ


ในบ้านพักของ Mr. Dean จะมีรูปปั้นพระพุทธ (นี่ไม่ได้สะท้อนความเชื่อศรัทธาของตัวละครนะครับ คงแค่เพียงล้อกับ Holy Man ตัวแทนบุคคลผู้ไม่ยี่หร่าอะไรใคร) และสิ่งน่าสนใจที่สุดนั้นคือผีเสื้อ สัญลักษณ์ของวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลง (Metamorphosis) ซึ่งสามารถสื่อถึง Sister Ruth หลังจากถอดชุดชี ก็ราวกับชีวิตได้รับอิสรภาพโบยบิน พร้อมกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตน

แต่วินาทีที่ Sister Ruth ได้รับการตอบปฏิเสธจาก Mr. Dean (มุมกล้องเงยขึ้น เห็นด้านหลังไม่แน่ใจว่าพระราหู หรือสัตว์ในเทพนิยาย ในตำแหน่งเหมือนกำลังจะกลืนกินฝ่ายหญิง) ทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้เลยพังทลาย จู่ๆงานภาพอาบฉาบด้วยโทนสีแดง (ผมตีความว่าคืออาการเลือดขึ้นหน้าจนเป็นลมล้มพับ) แล้วทุกอย่างปกคลุมด้วยความมืดมิด ช็อตถัดมาหลังจากฟื้นคืนสติ พบเห็นเขาในมุมเอียงๆ (Dutch Angle) ไม่มีทางที่ทุกสิ่งอย่างจะหวนกลับไปเป็นดังเดิม

เมื่อไม่ได้เขามาครอบครอง Sister Ruth ราวกับถูกผีเข้า (หรือถูกกลืนกินโดยปีศาจร้าย) ดวงตาแดงกล่ำ ใบหน้าซีดเซียว เต็มไปด้วยความอาฆาตมาดร้าย เมื่อได้ยิน Sister Clodagh กำลังเคาะระฆังยามใกล้รุ่ง จึงเปิดประตูออกมา พร้อมที่จะเข่นฆาตกรรมอีกฝั่งฝ่าย (สังเกตว่าเบื้องล่างปกคลุมด้วยเมฆหมอก มองไม่เห็นอะไรทั้งนั้น ไม่มีใครช่วยเหลือเธอได้ทั้งนั้น)

ซีเควนซ์นี้เห็นว่ามีการทำเพลงประกอบ (Soundtrack) ขึ้นมาก่อนเสร็จสรรพ แล้วถึงทำการออกแบบ (Choreographed) ท่าทางการเดิน ขยับเคลื่อนไหว ให้นักแสดงดำเนินไปตามจังหวะเสียงเพลง เปิดฟังไปพร้อมขณะกำลังถ่ายทำ

แซว: สำหรับผู้กำกับ Powell นี่เป็นฉากที่มีความน่าหวาดสะพรึงยิ่งนัก เพราะว่า Kerr คืออดีตคนรัก, Byron คือชู้คนปัจจุบัน พวกเธอเหมือนกำลังเข่นฆ่ากันเพื่อแก่งแย่งชิง … ชายคนรัก

It was a situation not uncommon in show business, I was told, but it was new to me.

Michael Powell

หลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรม Sister Clodagh จึงตัดสินใจนำพาคณะชีหวนกลับสู่ Calcutta เมื่อหันกลับมามองปราสาทบนยอดเขา พบเห็นเมฆหมอกค่อยๆเคลื่อนเข้ามาบดบัง (นี่เกิดจากเอ็ฟเฟ็กหมอกนะครับ ทำออกมาได้น่าทึ่งทีเดียว) ผู้ชมชาวอินเดียและนักวิจารณ์หลายคนมักมองว่า นี่คือภาพสัญลักษณ์ความพ่ายแพ้/การถอยร่นของจักรวรรดิอังกฤษ (British Empire) ออกจากอาณานิคมอินเดีย (British Raj)

ตากล้อง Cardiff เป็นคนเสนอแนะฉากจบของหนัง เริ่มต้นจากน้ำหยดลงบนใบรูบาร์บ (Rhubarb) แล้วติดตามด้วยสายฝน และหมอกควันเคลื่อนเข้ามา พอดิบพอดีคณะชีกำลังเดินทางกลับ Calcutta ค่อยๆหายลับไปจากสายตา … เหมือนจะบอกว่าอย่าหวนกลับมาอีกเลย

แซว: Jack Cardiff เรียกติดตลกถึงฉากนี้ว่า “Worst idea I ever had”. แต่ต้องถือเป็นหนึ่งในฉากน่าประทับใจที่สุด(ของ Cardiff)เลยก็ว่าได้

จริงๆแล้วผกก. Powell ถ่ายทำอีกตอนจบ (Alternate Ending) การสนทนาระหว่างแม่อธิการและ Sister Clodagh เพื่อล้อกับฉากอารัมบท แต่เพราะความประทับใจตอบจบใหม่นี้มากกว่าเลยไม่ได้แทรกใส่เข้ามา ส่วนฟุตเทจนั้นเหมือนว่าจะสูญหายไปแล้วกระมัง

ตัดต่อโดย Reginald Mills (1912-90) สัญชาติอังกฤษ จากเคยเป็นผู้ช่วยตัดต่อของ David Lean หลังสงครามมีโอกาสร่วมงานกับ Powell & Pressburger เริ่มตั้งแต่ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), เข้าชิง Oscar: Best Edited เรื่อง The Red Shoes (1948), The Tales of Hoffmann (1951), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Servant (1963), Romeo and Juliet (1968), Jesus of Nazareth (1977) ฯ

หนังนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มแม่ชี Anglo-Catholic ระหว่างที่ได้รับอนุญาตจาก General Toda Rai ผู้ครองแคว้น Mopu ใช้สถานที่ยังปราสาทร้างบนยอดเขา ด้านหลังติดกับเทือกเขาหิมาลัย สำหรับสร้างโรงเรียน สถานพยาบาล สอนอาชีพ และศาสนา ให้กับชาวบ้านในชุมชนละแวกนั้น

  • การมาถึงของคณะชี
    • แม่อธิการมอบหมายให้ Sister Clodagh พร้อมแม่ชีทั้งสี่ ออกเดินทางมายังปราสาทที่เมือง Mopu
    • General Toda Rai แวะเวียนมายังปราสาทหลังนี้ มอบหมายหน้าที่ Mr. Dean เป็นผู้ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแก่บรรดาแม่ชี
    • เมื่อคณะชีเดินทางมาถึง เต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆวายๆในการจัดเก็บสัมภาระ ตระเตรียมความพร้อม และเปลี่ยนแปลงสถานที่ให้สอดคล้องความต้องการของพวกเธอ
  • การมาถึงของ Kanchi & Dilip Rai
    • Mr. Dean พยายามให้ความช่วยเหลือคณะชี แต่กลับถูก Sister Clodagh ขับไล่ไสส่ง ขณะเดียวกันก็นำพาหญิงสาวชาวอินเดีย Kanchi มาฝากไว้เป็นสาวรับใช้
    • บรรดาแม่ชีเริ่มเกิดความรู้สึกแปลกๆกับสถานที่แห่งนี้
    • Sister Clodagh เริ่มหวนระลึกความทรงจำ (Flashback) เมื่อครั้นก่อนบวชเป็นแม่ชี
    • The Young General เดินทางมาขอร่ำเรียนหนังสือ และได้พบเจอกับ Kanchi
  • การเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นในอารามชี
    • Kanchi พยายามเกี้ยวพาราสี The Young General ก่อนที่พวกเขาจะหนีตามกันไป
    • ค่ำคืนวันคริสต์มาสที่การมาถึงของ Mr. Dean (และ The Young General) สร้างความเดือดดาลให้ Sister Clodagh
    • Sister Ruth ต้องการลาออกจากคณะชี แถมยังแอบสั่งเสื้อผ้า ลิปสติก เครื่องสำอางค์ ตระเตรียมพร้อมหลบหนี
    • Sister Philippa ปลูกดอกไม้แทนพืชผัก แสดงเจตจำนงค์ต้องการย้ายออกจากสถานที่แห่งนี้
    • Sister Briony ปฏิเสธรักษาคนไข้ แต่ Sister Honey แอบให้ยารักษา วันถัดมาเด็กชายเสียชีวิต เลยถูกเหมารวมว่าเป็นความผิดของคณะชี
  • สภาพจิตใจที่มิอาจอดรนทนอีกต่อไป
    • Sister Clodagh พยายามโน้มน้าว Sister Ruth แต่เธอไม่ต้องการเป็นแม่ชีอีกต่อไป สวมใส่ชุดเครส เตรียมไปพบเจอ Mr. Dean กลับถูกบอกปัดปฏิเสธ
    • Sister Ruth ต้องการเข่นฆาตกรรม Sister Clodagh แต่ตนเองประสบเหตุโศกนาฎกรรม
    • Sister Clodagh เลยตัดสินใจล้มเลิกภารกิจ เก็บข้าวของ และเริ่มออกเดินทางจากไป

บ่อยครั้งที่หนังมีการแทรกภาพย้อนอดีต (Flashback) หวนระลึกความทรงจำของ Sister Clodagh เพื่ออธิบายเหตุผลการตัดสินใจบวชเป็นแม่ชี ซึ่งทำให้ผู้ชมเกิดความตระหนักว่าเธอกำลังวิ่งหนีบางอย่าง ไม่ยินยอมรับสภาพความจริง สิ่งที่กระทำอยู่ขณะนี้(บวชเป็นแม่ชี)เพียงข้อแอบอ้าง สร้างภาพ หลอกลวงตนเอง


เพลงประกอบโดย Brian Easdale (1909-95) คีตกวีสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manchester เข้าศึกษายัง Royal College of Music เป็นลูกศิษย์ของ Armstrong Gibbs และ Gordon Jacob แต่งอุปรากรเรื่องแรกเมื่อตอนอายุ 17 ปี! ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้เข้าร่วม Crown Film Unit แล้วถูกส่งไปประเทศอินเดีย ทำให้ค้นพบความชื่นชอบใน Indian Music ทั้งยังมีโอกาสรับรู้จัก Rumer Godden และผู้กำกับ Carol Reed แนะนำให้ Powell & Pressburger ร่วมงานขาประจำตั้งแต่ Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948)**คว้า Oscar: Best Original Score, The Battle of the River Plate (1956), Peeping Tom (1960) ฯ

คนที่เคยรับชมหนัง Bollywood น่าจะพูดประสานเสียงเดียวกันว่า งานเพลงของ Black Narcissus (1947) ไม่ได้มีความเป็นอินเดียสักเท่าไหร่! แม้ว่า Easdale นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านหลายชิ้นกลับมาประเทศอังกฤษ แต่นั่นก็แค่สร้างกลิ่นอาย/เสียงดนตรีที่ละม้ายคล้าย หาใช่จิตวิญญาณแท้จริงของ ‘Indian Traditional Music’

แต่จะว่าไปนั่นคือแนวคิดการทำเพลงที่ใช่สำหรับหนัง เพราะนำเสนอเรื่องราวของคณะชีที่ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจวิถีชาวอินเดีย ตรงกันข้ามสนแต่จะควบคุมครอบงำ ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น ให้สอดคล้องเข้ากับวิถีทางของตนเอง … เช่นนั้นแล้วท่วงทำนองเพลงจึงมีความเป็นอังกฤษ > อินเดีย

Main Theme เสียงแรกที่ได้ยินคือ ‘Tibetan horn’ ด้วยลักษณะเหมือนงวงช้าง ส่งเสียงทุ้มยาว (บ้างเรียกว่าเสียงร้องของช้าง) นำพาผู้ฟังราวกับขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุดของหิมาลัย และขณะเดียวกันยังพากลับสู่จุดเริ่มต้น การถือกำเนิด ครรภ์มารดา (ภาษา Tibetan ยอดเขา Everest จะมีคำเรียก Qomolangma แปลว่า Holy Mother)

It is a long, deep, whirring, haunting wail that takes you out somewhere beyond the highest Himalaya peaks and at the same time back into your mother’s womb.

A New Convent in the Himalays ท่วงทำนองมีความวาบหวิว สั่นสยิวกาย สถานที่แห่งนี้ช่างลึกลับ น่าพิศวง ชวนต้องมนต์ มอบสัมผัสแห่งธรรมชาติที่ไม่ใช่แค่เสียงสายลมพัดหวน (Sound Effect) แต่ยังเครื่องดนตรีและคำร้องคอรัส พยายามทำให้สอดคล้องจอง ปลิดปลิวไปพร้อมกับจิตวิญญาณ

แบบเดียวกับ I Know Where I’m Going! (1945) ที่มีการผสมผสานเสียงธรรมชาติ สายลม ฝนพรำ ไม่ใช่แค่ให้สอดคล้องบทเพลง แต่เมื่อฟังแล้วสัมผัสได้ว่ามีท่วงทำนองในทิศทางเดียวกัน นี่คือลักษณะของดนตรีพรรณนา Tone poem (หรือ Symphonic poem) ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวี ภาพวาด หรือตำนานต่างๆ มุ่งใช้เสียงดนตรีบรรยายให้ผู้ฟังจินตนาการเห็นภาพหรือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังเสียงเพลงเหล่านั้น

บทเพลงที่ผมรู้สึกว่ามีความละม้ายคล้าย ใกล้เคียงกับ ‘Indian Music’ มากที่สุดก็คือ Native Girl Kanchi (เพลงประจำตัวละครหญิงชาวอินเดีย มันก็ต้องมีกลิ่นอายเพลงอินเดียสินะ!) ตั้งแต่นาทีที่ 1.00 ตรงกับหญิงสาวกำลังโยกเต้น ระบำงู จริงๆแล้วเธอกำลังเพลิดเพลิน หลงระเริงกับตนเอง แต่มันบังเอิญว่าเจ้าชาย(ในฝัน)เปิดประตูเข้ามาพบเห็นพอดิบดี

มีนักวิจารณ์/ผู้ชมหลายคนแสดงความประทับใจท่าเต้นของ Kanchi คือหนึ่งในไฮไลท์ของตัวละครนี้ แต่เพราะผมพานผ่าน The River (1951) และ The Music Room (1958) เลยรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ตราตรึงสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นนี่กลายเป็นเทรนด์ของภาพยนตร์อินเดีย (จริงๆต้องบอกว่าสไตล์ Powell & Pressburger) จะต้องมีฉากที่พบเห็นกิจกรรมทางวัฒนธรรม ร้อง-เล่น-เต้น และสื่อสารภาษาอื่นไม่ใช่อังกฤษ

Narcissus มาจาก Νάρκισσος (กรีก) อาจแผลงมาจาก ναρκη (narke) หมายถึง การหลับ, ความไม่รู้สึก, ในเทพปกรณัมกรีก (Greek mythology) คือนายพรานจากดินแดน Thespiae, Boeotia (บางตำนานเล่าว่าเป็นบุตรของเทพแม่น้ำ Cephissus กับนางไม้ Liriope) ผู้มีชื่อเสียงด้านความงาม แล้วหยิ่งทะนง หลงตนเอง รังเกียจบุคคลที่รักเขา ครั้งหนึ่งเลยถูกเทพเจ้าแห่งการแก้แค้น Nemesis ล่อหลอกไปยังบ่อน้ำทำให้พบเห็นภาพสะท้อนเงาของตนเอง โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักเงานั้นจนมิอาจละสายตา ไม่เป็นอันกินอันนอนหรือขยับไปไหน และสิ้นใจอยู่ข้างบ่อน้ำนั้น … ฟังดูคล้ายๆสำนวน ‘หมองูตายเพราะงู’ แต่เปลี่ยนจากความประมาทมาเป็นลุ่มหลงในตนเอง

นอกจากชื่อดอกไม้นาร์ซิสซัส, ทางการแพทย์ยังนำมาตั้งเป็นชื่อความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder, NPD) หรือเรียกสั้นๆว่าโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Syndrome) อาการหลักๆคือการรับรู้สึกว่าตัวเองสำคัญมากกว่าความเป็นจริง หมกมุ่นครุ่นคิดถึงแต่อำนาจ ความสำเร็จ หรือเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเอง ต้องการถูกชมเชยจากทุกคนรอบข้าง ชอบการเอารัดเอาเปรียบ และไม่สนความรู้สึกใครอื่น

  • โอ้อวดเพื่อให้ผู้อื่นปฏิบัติราวกับตนอย่างอยู่เหนือกว่า
  • คงอยู่กับจินตนาการเกี่ยวกับอำนาจ ความสำเร็จ ความฉลาด ความมีเสน่ห์ และอื่น ๆ 
  • มองว่าตัวเองพิเศษ เหนือกว่าผู้อื่น และเกี่ยวข้องกับคนหรือสถาบันดัง
  • ต้องการให้คนอื่นชื่นชมตลอดเวลา
  • รู้สึกว่าตนเองควรได้รับการปฏิบัติแบบพิเศษและผู้อื่นควรเชื่อฟังตน
  • เอาเปรียบผู้อื่นเพื่อผลดีต่อตนเอง
  • ไม่ยอมเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ และความจำเป็นของผู้อื่น
  • อิจฉาผู้อื่นและเชื่อว่าผู้อื่นก็อิจฉาตนเช่นกัน
  • ขี้โม้และมีพฤติกรรมดื้อรั้น

Black Narcissus (1947) นำเสนอเรื่องราวของคณะชี ต่างมีความเย่อหยิ่งทะนงตน เต็มไปด้วยอาการหลงตัวเอง อาศัยอยู่บนปราสาทสูงใหญ่ พื้นหลังติดเทือกเขาหิมาลัย ครุ่นคิดว่าตนเองราวกับพระเจ้า สนแต่จะควบคุมครอบงำ ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น ให้ชาวพื้นเมืองอินเดียต้องดำเนินตามวิถีทางของตนเอง

หนังทำการเปรียบเทียบความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเองของมนุษย์ กับอารามชีตั้งอยู่บนยอดเขาสูง มองไปทางไหนพบเห็นทั่วแคว้นพสุธา แถมสายลมแรงพัดอยู่ตลอดเวลา สร้างความวาบหวิว สั่นสยิวกาย ดั่งสำนวนไทย ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ หมายถึงบุคคลที่มีตำแหน่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์สูงๆ มักพบความโดดเดี่ยว หวาดระแวง เหงาลึกๆ แม้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายแต่กลับรู้สึกเหมือนตัวคนเดียว ว่างเปล่าเปลี่ยวจิตวิญญาณ

อีกลักษณะนิสัยของคนหัวสูง ไฮโซ ผู้ดีอังกฤษ คือไม่ยินยอมก้มหัว มองลงต่ำ แลเหลียวบุคคลชนชั้นรากหญ้า หรือก็คือชาว(พื้นเมือง)อินเดีย แสดงความรังเกียจ เดียจ เหยียดยาม (Racism) มีมูลค่าไม่ต่างจากคนรับใช้ ไพร่ ขี้ข้าทาส ปฏิเสธการเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับคนพื้นเมือง หรือวิถีทางธรรมชาติ

ความตั้งใจของผู้แต่ง Rumer Godden ไม่ใช่แค่ต้องการเสียดสีวิถีชาวอังกฤษ ต่ออาณานิคมอินเดีย (British Raj) หรือมิชชันนารี/แม่ชีเผยแพร่ศาสนาคริสต์ แต่ยังทำการวิพากย์วิจารณ์ตัวตนเอง ‘self-criticism’ ทบทวนสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ (เมื่อตอนเขียนนวนิยายเล่มนี้ ค.ศ. 1938) หลังจากเพิ่งคลอดบุตรคนที่สอง นวนิยายสองเล่มยังขายไม่ค่อยออก เงินเก็บหร่อยหรอ สามีก็ไม่ค่อยอยู่บ้าน นี่ฉันกำลังทำในสิ่งถูกต้องอยู่หรือเปล่า?

เรื่องราวของ Black Narcissus จึงเปรียบดั่งบ่อน้ำที่สะท้อนภาพเงาตนเอง ทำให้สิ่งต่างๆที่พยายามปกปิดซ่อนเร้น ได้ถูกเปิดเผยความจริงออกมา อย่างความทรงจำของ Sister Clodagh แสดงให้เห็นว่าเธอกำลังวิ่งหนีบางอย่าง ไม่ยินยอมรับสภาพความจริง สิ่งที่กระทำอยู่ขณะนี้(บวชเป็นแม่ชี)เพียงข้อแอบอ้าง สร้างภาพ หลอกลวงตนเอง

  • Sister Philippa จากเคยมีหน้าที่ปลูกพืชผัก ทำสวนครัว โดยไม่รู้ตัวกลับเปลี่ยนมาเป็นดอกไม้ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ใช้สอยอะไร แต่ความงดงามของมันสร้างความเบิกบานหฤทัย ทำให้สูญเสียความสามารถในการครุ่นคิดตัดสินใจ
    • มนุษย์พยายามทำสิ่งต่างๆเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน/ส่วนรวม โดยไม่สนความเป็นไป วิถีธรรมชาติ หรือความงดงามที่อยู่ภายในจิตใจ
    • ดอกไม้จึงเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติชีวิต ความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณ
  • Sister Briony แม้เป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง แต่ความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว (ที่ปล่อยปละละเลยเด็กชายจนเสียชีวิต) ทำให้พบเห็นด้านอ่อนแอของจิตใจ เกิดอาการหวาดกังวล วิตกจริต หมดสิ้นพละพลัง เรี่ยวแรงจะทำอะไร
    • สื่อตรงๆถึงภายนอกที่ดูเข้มแข็ง แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความอ่อนไหว
  • Sister Blanche หรือ Sister Honey แม้เต็มไปด้วยอัธยาศัย มิตรไมตรี ความปรารถนาดีงาม แต่เธอเป็นคนขาดความรอบคอบ เอ้อละเหยลอยชาย ปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่สามารถควบคุมคำพูด-การแสดงออกของตนเอง
    • ความปรารถนาดีไม่ใช่สิ่งถูกต้องเสมอไป บางครั้งก็อาจนำพาหายนะให้บังเกิดขึ้นโดยไม่รับรู้ตัว
  • Sister Ruth จากครูสอนหนังสือที่เคยหลบซ่อนตัวเอง อ้างว่าร่างกายเจ็บป่วยอิดๆออดๆ แต่พอตกหลุมรักแรกพบ Mr. Dean ลุกขึ้นมาถอดชุดแม่ชี สวมใส่ชุดแดง กล้าพูดบอก-แสดงออก กระทำในสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตน
    • Sister Ruth เป็นตัวแทนของ ‘Sexual Repression’ ความต้องการเพศที่ถูกเก็บกด ไม่สามารถเปิดเผยออกมาตามบริบททางสังคม (ในที่นี้ก็คือการเป็นแม่ชี) จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งมิอาจอดรนทน จึงแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมา

Everyone is a house with four rooms, a physical, a mental, an emotional and a spiritual. Most of us tend to live in one room most of the time, but unless we go into every room every day, even if only to keep it aired, we are not a complete person.

Rumer Godden

รวมถึงกลิ่นน้ำหอม Narcisse Noir ของ Dilip Rai หรือ The Young General ที่พยายามปกปิดบังกลิ่นตัวตน ความต้องการแท้จริง ปากอ้างว่าสนใจเรียนหนังสือ รับรู้วัฒนธรรมตะวันตก แต่ทั้งหมดล้วนเพียงสร้างภาพ ต้องการอวดร่ำอวดรวย ก่อนท้ายที่สุดเมื่อตกหลุมรักสาวรับใช้ Kanchi เลยตัดสินใจหวนกลับสู่วิถีทางของตนเอง

และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน แทนที่จะเดินทางไปยังสถานที่จริง กลับสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอที่อังกฤษ ล่อหลอกผู้ชมด้วยภาพวาดสวยๆ ครุ่นคิดว่าคือทิวทัศน์งามๆ (ว่ากันว่าชาวพื้นเมืองอินเดียที่อาศัยอยู่ใกล้กับเทือกเขาหิมาลัย ก็ยังหลงเชื่อสนิทใจ) รวมถึงการทำงานของผู้กำกับ Powell ก็ไม่แตกต่างจากคณะชี พยายามควบคุมทุกสิ่งอย่างให้ดำเนินตามวิสัยทัศน์ของตนเอง

เมื่อตอนสรรค์สร้าง I Know Where I’m Going! (1945) ผู้กำกับ Powell & Pressburger พยายามชวนเชื่อผู้ชม ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปให้ถึงเป้าหมายปลายทาง เพียงค้นพบความต้องการที่อยู่ภายในจิตใจก็พอแล้วละ! Black Narcissus (1947) นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนที่อยู่บนจุดสูงสุด (หรือจะมองว่า ณ เป้าหมายปลายทางก็ได้เช่นกัน) พยายามแสดงให้เห็นว่ามันไม่มีอะไรน่าอภิรมณ์เริงใจ เพราะความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง จักบดบังวิสัยทัศน์การมองเห็น ทำให้ไม่สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง สนแต่จะควบคุมครอบงำ สุดท้ายแล้ววิมานในอากาศก็จะเลือนหาย และสูงสุดหวนกลับสู่สามัญ!

แม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้สร้างในช่วงระหว่างสงคราม แต่ผมยังรู้สึกว่าเราสามารถเปรียบเทียบถึง Adolf Hitler และนาซีเยอรมัน (มันเป็นความต่อเนื่องของ Powell & Pressburger ที่ร่วมงานกันตั้งแต่ยุคสมัยสงคราม) ที่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง ต้องการที่จะครอบครองทุกสิ่งอย่างใต้หล้า ผลลัพท์ก็คือประสบความพ่ายแพ้ย่อยยับเยิน

เช่นเดียวกับจักรวรรดิอังกฤษ (British Empire) แม้เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่แนวคิดเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม (Colonialism) กำลังถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรงและกว้างขวาง รวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพของอินเดีย ก็ทำการอารยขัดขืนจนมิอาจควบคุมได้อีกต่อไป … หนังออกฉายในอังกฤษวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 ก่อนหน้าเพียงไม่กี่เดือนที่สหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากปากีสถาน-อินเดีย 14-15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 นั่นทำให้นักวิจารณ์หลายคนมองว่า Black Narcissus (1947) คือภาพยนตร์บันทึกประวัติศาสตร์ นำเสนอความพ่ายแพ้/การถอยร่นของจักรวรรดิอังกฤษ ออกจากผืนแผ่นดินแดนภารตะ!

ทำไมมนุษย์ถึงไม่ค่อยลดละทิฐิ ปรับตัวเข้ากับวิถีธรรมชาติ ยินยอมรับสภาพความจริง แล้วมองผู้อื่นอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน? เหล่านี้อาจเป็นคำพูดง่ายๆ แต่ในทางปฏิบัติคนส่วนใหญ่กลับทำไม่ได้ สาเหตุจากความหลงตนเอง ‘Narcissus’ เป็นอาการที่มนุษย์ไม่สามารถตระหนักรับรู้ จมปลักอยู่ในมายาคติ หมกมุ่นครุ่นยึดติดว่าสิ่งที่ฉันครุ่นคิดทำอยู่นั้นถูกต้อง ต่อให้พยายามจำจี้จำไช ก็อาจไม่ก่อให้การเปลี่ยนแปลงอันใด ถ้าเราไม่ช่างหัวแม้งแบบ Mr. Dean ก็ปล่อยละวาง นั่งสงบนิ่ง ไม่ขยับเคลื่อนไหวติงแบบ Holy Man นั่นคือที่สุดของหนทางออกแล้วกระมัง


หนังใช้ทุนสร้างประมาณ £280,000 ปอนด์ เมื่อเข้าฉายในกรุง London เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม ไม่มีรายงานรายรับ เพียงบอกว่า ‘notable box office attraction’ ซึ่งพอเข้าฉายฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1949 มียอดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 1.38 ล้านใบ (เกินล้านใบก็ถือประสบความสำเร็จล้นหลามแล้วนะ!)

I found it an exquisite cinematic jewel, and exotic bloom among the potted plants of Hollywood… I can’t say how authentic Black Narcissus is, but the lotus land to which it carries us is uniquely unforgettable.

Philip K. Scheuer จากหนังสือพิมพ์ The Los Angeles Times

ในสหรัฐอเมริกา หนังถูกประณาม ‘condemned’ โดยองค์กรศาสนา Catholic Legion of Decency เรียกร้องให้มีการตัดซีนที่มีความหมิ่นเหม่ ดูไม่เหมาะสม รวมๆแล้วหายไปประมาณ 10 ฉาก แต่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของ Pressburger ยินยอมทำตามเพื่อโอกาสในการเข้าฉายวงกว้าง

นอกจากนี้ช่วงปลายปี หนังยังสามารถคว้ารางวัลจากทั้ง Academy Award และ Golden Globe ประกอบด้วย

  • Academy Award
    • Best Cinematography, Color ** คว้ารางวัล
    • Best Art Direction-Set Decoration, Color ** คว้ารางวัล
  • Golden Globe Award
    • Best Cinematography, Color ** คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ High-Definition แต่ยังไม่เห็นข่าวคราวฉบับ 4K แต่เชื่อว่าน่าจะทำแน่ๆ สามารถหาซื้อ DVD/Blu-ray ได้จาก Criterion Collection และ Carlotta (ของฝรั่งเศส) หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

เกร็ด: Black Narcissus ยังเคยได้รับการดัดแปลงเป็นมินิซีรีย์ (mini-Series) จำนวน 3 ตอน (ละ 57-60 นาที) นำแสดงโดย Gemma Arterton เข้าฉายทาง FX, BBC One ช่วงปลายปี ค.ศ. 2020 งานภาพสวยโคตรๆ แต่เห็นคะแนน IMDB แค่ 5.9, มะเขือเน่า 57%, ก็อย่าไปคาดหวังอะไรมากแล้วกัน

เมื่อตอนผมรับชมหนังครั้งแรก ยังจดจำไม่รู้ลืมว่าถูกหลอก หลงเชื่อสนิทใจ เพราะไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าการถ่ายทำในสตูดิโอยุคสมัยนั้น จะมีเทคนิคที่สามารถสร้างภาพได้อย่างสมจริงขนาดนี้! พออ่านเจอรายละเอียดก็รู้สึกตกตะลึง อึ้งทึ่ง และเกิดความไม่พึงพอใจขึ้นมานิดๆ

หวนกลับมารับชมรอบนี้ไม่ถูกหลอกแล้ว เย่!! แต่ก็ได้ค้นพบความน่าประทับใจยิ่งๆขึ้นกว่าเดิม จากประสบการณ์ภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้น นั่นคือนัยยะเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับสถานที่ ซึ่งสอดคล้องสำนวน ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ และการได้อาศัยอยู่กับวิถีธรรมชาติ จักทำให้สันชาตญาณ ตัวตนธาตุแท้จริง จิตวิญญาณของมนุษย์ค่อยๆถูกเปิดเผยออกมา

แนะนำคอหนังอีโรติก สะท้อนจิตวิทยา สอดแทรกปรัชญา-ศาสนา, นักเขียนนวนิยาย บทละคร เคยอ่านผลงานของ Rumer Godden ศึกษาโครงสร้างและการดำเนินไปของเรื่องราว, โดยเฉพาะศิลปิน จิตรกร ตากล้อง ชื่นชมทิวทัศน์ภาพวาดสีสันสวยๆ กลิ่นอายวัฒนธรรมอินเดีย

ใครสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ชีที่มีความล่อแหลม แนะนำให้ลองหา The Nun’s Story (1959), Viridiana (1961), The Nun (1966), The Devils (1971), Benedetta (2021) ฯลฯ

จัดเรต 15+ กับความ Erotic & Exotic

คำโปรย | Black Narcissus ของ Powell & Pressburger สำรวจจิตใต้สำนึกของมนุษย์ งดงามและอัปลักษณ์ที่สุด
คุณภาพ | วิจิศิป์
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ


Black Narcissus

Black Narcissus (1947) : Michael Powell, Emeric Pressburger

(7/4/2016) หนัง British เชิงจิตวิทยาผสมศาสนา ดัดแปลงจากนิยายของ Rumer Godden โดยผู้กำกับ Michael Powell และ Emeric Pressburger นำแสดงโดย Deborah Kerr เรื่องราวเกิดขึ้น ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งบนเทือกเขา Himalayas กลุ่มของแม่ชีที่เดินทางไปสอนศาสนาแก่คนท้องถิ่น แต่ได้พบกับบางสิ่งบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของพวกเธออย่างรุนแรงจนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด การันตีด้วยอันดับ 154 ของนิตยสาร Sight & Sound

สำหรับคนที่ชื่นชอบ The River และ The Red Shoes ยังมีหนังอีกเรื่องที่ต้องพูดถึง คือ Black Narcissus หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายของคนเขียน The River และกำกับโดยผู้สร้าง The Red Shoes ซึ่งในบรรดา 3 เรื่องนี้ Black Narcissus ถูกสร้างเป็นหนังก่อนเรื่องอื่นในปี 1947 ตามด้วย The Red Shoes (1948) และ The River (1951) ผมคิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ Jean Renoir สร้าง The River เพราะได้ดู Black Narcissus แน่ๆ และความดื้นรั้นที่จะต้องไปถ่ายยังสถานที่จริงถึงอินเดียเท่านั้น เพราะ Black Narcissus ถ่ายในสตูดิโอตลอดทั้งเรื่อง ใครที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วอาจคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ใช่ไหม ภาพในหนังออกจะสวยสมจริงขนาดนั้น … จริงครับ Black Narcissus ถ่ายใน Pinewood Studios ที่ London แทบทั้งเรื่อง ไม่มีถ่ายจากสถานที่จริงเลย คนที่ดูทั้ง Black Narcissus และ The River คงสัมผัสได้ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง หนังที่ถ่ายในสตูดิโอ และหนังที่ถ่ายจากสถานที่จริง

ขณะผมดูหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ได้เพ่งพิจารณาภาพหนังมาก แต่ถือว่าภาพสวยมากๆ แต่ดัดไปเอะใจกับฉากที่ถ่ายภาพขณะตัวละครมองลงไปที่หน้าผา มันแปลกๆแหะ เลยลองสังเกตแบบจริงจังดู รู้สึกภาพมันไม่เป็นธรรมชาติจริงๆ ไปหาข้อมูลในเน็ตเลยพบว่าหนังแทบทั้งเรื่องถ่ายในสตูดิโอจริงๆ เล่นเอาผมประหลาดใจไม่น้อยเลย เทคนิคที่ใช้เรียกว่า matte paintings คือการวาดภาพทิวทัศน์ (landscape) ลงในกระจก ภาพ Himalayas วาดโดย W.Percy Day นี่ไม่ใช่เทคนิคใหม่นะครับ มีมาตั้งแต่ยุคหนังขาวดำแล้ว อาทิฉาก Skull Island ใน King Kong (1933) แต่ที่โด่งดังมากๆคือภาพวาด Death Star ใน Star Wars (1977), และฉาก Warehouse ใน Raiders of the Lost Ark (1981) ผู้กำกับ Powell ให้เหตุผลที่เลือกถ่ายในสตูดิโอว่า เพื่อให้เขาสามารถควบคุมสีและแสงให้เป็นไปอย่างที่ต้องการได้ ซึ่งในบางฉาก สีของพื้นหลังมีความหมายต่อพล็อตอารมณ์ และเนื้อเรื่องของหนังด้วย

‘Our mountains were painted on glass. We decided to do the whole thing in the studio and that’s the way we managed to maintain color control to the very end. Sometimes in a film its theme or its color are more important than the plot.’

นำแสดงโดย Deborah Kerr นักแสดงหญิงชาวสก็อตผู้อาภัพ Oscar เธอได้เข้าชิง Best Actress ถึง 6 ครั้งแต่ไม่เคยได้ จนต้องมอบ Academy Honorary Award ให้ในปี 1994 การแสดงใน Black Narcissus ได้เปิดประตูสู่ hollywood กลายเป็นนักแสดงที่ได้รับการจับตามองอย่างมาก ในกองถ่ายเห็นว่า Powell เคยแอบหยอดขนมจีบใส่เธอด้วย ตั้งแต่ร่วมงานกันใน The Life and Death of Colonel Blimp แต่หลังจากที่ Kerr ตัดสินใจไป hollywood ทั้งคู่จึงต้องเลิกลากัน สำหรับบทแม่ชี Clodagh เธอยังดูสาวไปเสียนิดที่จะกลายเป็น Saint ซึ่งเราจะเห็นว่า เธอไม่สามารถควบคุมอะไรๆให้เป็นไปอย่างที่เธอต้องการได้เลย จะไปโทษตัวละครว่าประสบการณ์ไม่มากคงไม่ได้ เพราะสิ่งที่พวกเธอเจอ มันเป็นการทดสอบตัวเองเพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่า แม้มันจะล้มเหลวแต่ก็เป็นบทเรียนที่สำคัญ(ของตัวละคร)

ในหนังมีแม่ชีหลายคน ซึ่งแต่ละคนก็เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจน คนหนึ่งคือพลัง Strength, คนหนึ่งคือความเฉลียวฉลาด Wisdom, คนหนึ่งคือความกล้าหาญ Courage และคนสุดท้ายคือความอิจฉาริษยา Jealousy แม่ชี Ruth นำแสดงโดย Kathleen Byron (ตอนถ่ายหนังเธอเป็นกิ๊กกับ Powell อยู่) เธอสามารถแสดงความอิจฉาริษยาออกมาทางสีหน้า ท่าทาง คำพูดได้น่ากลัวมากๆ ยิ่งตอนที่เธอถูกแต่งหน้าให้ซีดเผือด ขอบตาแดงกล่ำ สวมชุดสีแดง (เลือด&ความตาย) ผมเห็นเธอแวบแรกเปิดประตูออกมา ผงะเลย ขนลุกซู่ ใบหน้าหลอนติดตามากๆ การแสดงของเธอในหนังเรื่องนี้กรุยทางสู่ hollywood แบบเดียวกับ Deborah Kerr แต่ชีวิตจริงกลับคล้ายกับหนังเรื่องนี้เสียงั้น ขณะที่ Kerr ประสบความสำเร็จอย่างมากใน hollywood Byron กลับได้เล่นแค่หนังเกรด B จนต้องซมซานกลับอังกฤษ ได้รับบทภรรยาติดเหล้าขี้อิจฉา … ช่วงบันปลายชีวิตเห็นว่าเธอได้มีโอกาสเล่นเป็นตัวประกอบใน Saving Private Ryan (1998) ด้วยนะครับ หาเธอเจอหรือเปล่าเอ่ย?

นักแสดงชาย ในหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้น Mr. Dean รับบทโดย David Farrar เขาเป็นตัวแทนของคนที่ไม่จริงจังอะไรมากกับชีวิต อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด อยากจะทำอะไรก็ทำ ตัวละครนี้มีลักษณะแบบเดียวกับ Holy Man แต่รายนั้นไม่รับรู้ ไม่สนใจ ไม่พูดอะไร ไม่ทำอะไรทั้งนั้น Mr.Dean จะยังรับรู้ รับฟังแต่ไม่เอามันมาคิดให้ลำบากใจ มีตัวละครหนึ่งพูดไว้ “คนที่จะอยู่สถานที่แบบนี้ได้ ถ้าไม่เป็นแบบ Mr.Dean ก็เป็นแบบ Holy Man” เหมือนว่าคนพูดจะลืมไปอีกตัวละครหนึ่ง คือ Angu Ayah รับบทโดย May Hallatt ผมว่าเธอเป็นยัยแก่ที่ติ๊งต้องแต่น่ารักนะ เธออาจดูเหมือนคนบ้า สติไม่เต็มเท่าไหร่ มองโลกในแง่ร้าย แต่เธอพูดคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง คงเพราะเธอเป็นคนไม่ต้องการอะไรมากในชีวิต ใครอยากจะสั่งอะไรก็สั่ง ใครอยากจะให้ทำอะไรก็ทำ ปากร้ายแต่ก็ไม่ขัดใจใคร คิดอะไร รู้สึกอะไรพูดออกมาแบบนั้น ผมเลยบอกว่า จิตใจเธอสวยงามมากๆ

ผมแบ่งเรื่องราวของหนังออกได้เป็น 3 ระดับ
1) holiness vs libido ความเชื่อต่อ Order/ศาสนา/พระเจ้า สิ่งที่เหนือกว่าตัวเอง กับ ความต้องการเพื่อตอบสนองตนเอง แม่ชีทุกคนในหนังจะมีเรื่องราวของตนเองก่อนที่จะมาเป็นแม่ชี การที่พวกเธอได้มาอยู่ในสถานที่นี้ทำให้ระลึกถึงความทรงจำพวกนั้น เป็นการต่อสู้ทางจิตใจ ระหว่างสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ vs อดีตสิ่งที่เคยเป็น ผมสังเกตเหตุผลของพวกเธอ มีความคล้ายกันคือ เพื่อหนีอะไรบางอย่าง ผมรู้สึก ‘สมน้ำหน้า’ พวกเธอนะครับ การหนีไม่ใช่การแก้ปัญหา นี่แสดงถึงจิตใจของพวกเธอที่ไม่ได้บริสุทธิ์จริงๆ กระนั้นก็ต้องเข้าใจพวกเธอด้วยว่า นั่นคือความเชื่อของพวกเธอที่คิดว่ามันแก้ปัญหาได้ และเมื่อปัญหานั้นมันกลับมา พวกเธอจะต้องเลือกอีกครั้ง
2) civility vs the wild คือความรักระหว่าง prince กับ begger maid นายพลหนุ่ม (Young General) นำแสดงโดย Sabu และ begger maid แสดงโดย Jean Simmons เรื่องนี้เป็น subplot ที่เข้าใจได้ไม่ยาก ช่วงแรกเราจะได้ยินนายพลหนุ่มพูดว่า เขาอยากเป็นคนเก่ง ฉลาด มีชื่อเสียง (ได้อิทธิพลจากภายนอก,ยุโรป) แต่ภายหลังเมื่อเขาตกหลุมรัก begger maid แล้ว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เขาต้องการเป็นเหมือนบรรพบุรุษที่เป็นนักรบที่เก่งกาจ กล้าหาญ สุภาพและไม่โกงใคร (อิทธิพลภายใน)
3) control vs desire ถือเป็นจุดสุดท้ายของหนัง ระหว่างแม่ชี Clodagh, แม่ชี Rudy และ Mr.Dean ความขัดแย้งของคนที่ต้องการควบคุม กับคนที่ทำเพื่อสนองใจอยาก เกิดเป็นความ “อิจฉาริษยา” “เคียดแค้น” “รังเกียจเดียดฉัน” ภาพของแม่ชี Rudy คือสิ่งที่อยู่ในจิตใจเธอ ถูกนำเสนอออกมาให้เห็น

หลังจากดูหนังของ Michael Powell มา 2 เรื่อง ผมเริ่มจับทางสไตล์ของผู้กำกับได้นิดหน่อยแล้วนะครับ เลยเอามาแบ่งปัน โดยแบ่งข้อสังเกตเป็นข้อๆ ถ้าหนังเรื่องต่อไปที่สร้างโดย Powell มีลักษณะคล้ายแบบนี้ แสดงว่าความเข้าใจผมถูกต้องเลย
1) เรื่องราวจะต้องมีการบีบคั้นอารมณ์ของตัวละครบางตัวให้ถึงขีดสุด เธออาจจะต้องเลือก/ตัดสินใจบางอย่าง แล้วทำการปลดปล่อย/ระเบิดออกมาเป็นไคลน์แม็กซ์ของหนัง
2) แนวคิดของหนังจะเป็นการต่อสู้ของอะไรบางอย่าง การควบคุมvsอิสระ, Idealist vs Realistic, ดีvsชั่ว, ถูกvsผิด ฯ
3) ตอนจบจะไม่มีคำตอบว่า แนวคิดไหนดีกว่ากัน แต่นำเสนอข้อดีข้อเสียของทั้งสองแนวคิด และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประทะกัน
ย้อนดูหนังของ Martin Scorsese เขาเคยกล่าวว่าได้รับอิทธิพลการทำหนังมาจาก Michael Powell ไม่น้อย จะสังเกตเห็นได้ชัดโดยเฉพาะข้อ 1) หนังเรื่อง Taxi Driver, Raging Bull ที่ตัวละครจะถูกบีบคั้นทางอารมณ์และความรู้สึก จนต้องปลอดปล่อยออกมาในช่วงท้ายของหนัง ผลงานยุคหลังยังคงมีร่องรอยนี้ให้เห็นอย่าง Shutter Island, The Wolf of Wall Street เราเห็น Leonardo DiCaprio ค่อยๆได้รับการสะสมทางอารมณ์จนระเบิดออกอย่างรุนแรงและบ้าคลั่ง

ถ่ายภาพโดย Jack Cardiff คงต้องยกให้กับพี่แกเลยละครับ Best Cinematography เหมาเรียบทั้ง Golden Globe และ Academy Award จะมีสักกี่คนที่สามารถถ่ายภาพในสตูดิโอ แล้วให้ความรู้สึกสมจริงได้ขนาดนี้ ทั้งการจัดแสง ควบคุมสี ทำได้สวยงามมากๆและมีความหมายด้วย ต้องยกเครดิตให้กับ Alfred Junge อีกคนที่ได้ Oscar สาขา Best Art Direction ออกแบบฉากมาได้สวยงาม เป็นธรรมชาติ และเหมือนจริงสุดๆ ภาพวาด Himalayas ที่ผมชอบที่สุดคือตอนเช้ามืดช่วงหนังใกล้ถึงไคลน์แม็กซ์ ที่แม่ชี Clodagh ยืนเหม่อมองท้องฟ้าและภูเขา มันเป็นรุ่งอรุณที่มืดมัว เหมือนเป้าหมายที่มองไม่เห็นอนาคต ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร, ฉาก close-up ก็โดดเด่น โดยเฉพาะใบหน้าของแม่ชี Rudy เราสามารถเห็นเหงื่อเม็ดโป้งๆ ลิปสติกสีแดงที่ใช้ทาปาก ดวงตาสะท้อนแสงไฟเป็นดวง ถึงจุดนี้ผมต้องยอมรับเลยว่า Jack Cardiff เป็นสุดยอดตากล้อง หนึ่งในตำนานคนสำคัญของวงการภาพยนตร์โลก

ตัดต่อโดย Reginald Mills ผมไม่ถือว่าหนังเรื่องนี้การตัดต่อเด่นมากนะครับ ช่วง Flashback ผมรู้สึกว่าแปลก ไม่น่าใส่เข้ามาทำให้หนังเสียจังหวะ แต่เพื่อเติมเต็มเรื่องราวก็พอให้อภัย จะมีที่เด่นก็ช่วงท้ายที่ตัดสลับระหว่างแม่ชี Rody กับ แม่ชี Clodagh ที่ทำออกมาได้จังหวะเปะมากๆ นี่อาจเป็นอีกสไตล์หนึ่งของผู้กำกับ Powell นะครับ คือเขาสามารถกำกับจังหวะนักแสดงให้พูด สนทนากันได้เปะมากๆ ประโยคคำพูดในหนังถ้าใครฟังออก เห็นว่าใช้คำพูดจากนิยายเลยนะครับ มีการเล่นคำให้คล้องจองกันด้วย ถ้าฟังไม่ออกก็โชคร้ายหน่อยนะครับ

เพลงประกอบโดย Brian Easdale มีการทดลองหลายอย่างเกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะเสียงเพลงที่จะมีเสียง Chorus คล้ายเสียงสวดมนต์ประกอบเข้ามาด้วย และฉากไคลน์แม็กซ์ เดิมที Powell ตั้งใจจะให้ฉากนั้นไม่มีเสียงเพลงเลย เป็นการแสดงล้วนๆ แต่ก็ใส่เพลงเข้ามา ซึ่งมันก็ขับอารมณ์ให้รู้สึกลุ้น ตื่นเต้น ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

มีเกร็ดนิดนึงในฉากนี้นะครับ Deborah Kerr ณ ขณะนั้นถือว่าเป็นคนรักเก่า (ex-lover) และ Byron ซึ่งตอนนั้นเป็นคนรักปัจจุบันของ Powell การต่อสู้ ตบตีของทั้งสองในหนังเป็นอะไรที่ถือว่าบังเอิญสุดๆเลย (It was a situation not uncommon in show business)

สำหรับฉากจบที่คณะแม่ชีกำลังเดินทางกลับ แม่ชี Clodagh หันกลับมามองปราสาท Mopu เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เมฆหมอกจะเคลื่อนเข้ามาบดบัง มีคนตีความฉากนี้ว่าเป็นการพยากรณ์เหตุการณ์บางอย่างที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เรื่องราวดำเนินเรื่องใน India ขณะที่เป็นอาณานิคมของ British หลังจากหนังฉาย 6 เดือน British ก็ถอนกำลังกลับประเทศและคืนอำนาจการปกครองและอิสระภาพแก่ India ซึ่งถ้าเปรียบคณะแม่ชีเป็นเหมือนประเทศอังกฤษ พวกเธอเดินทางไปยังดินแดนที่ลี้ลับ เพื่อปกครอง สอนหนังสือ/ศาสนา/แนวคิดต่างๆให้กับคนพื้นเมือง แต่กลับไม่สามารถเอาชนะใจคนในพื้นที่ได้ จนสุดท้ายพวกเธอก็ต้องยอมแพ้และซมซานกลับไป ฉากที่ว่านี้คือการโบกมือลากับประเทศอาณานิคมของตน ‘a last farewell to their fading empire’

เดิมที Powell ไม่ได้วางแผนจะจบหนังขณะที่ฝนตกลงมานะครับ มี lost footage ที่แม่ชี Clodagh ร่ำไห้ต่อหน้า Reverend Mother และโทษตัวเองเกี่ยวกับความล้มเหลวครั้งนี้ เพื่อเป็นการล้อกับฉากตอนเปิดเรื่อง แต่ตอนขณะถ่ายฉากฝนกำลังตกลงบนใบไม้ Powell เห็น footage แล้วชอบมาก เขาเลยเลือกจบแค่นั้น ส่วน footage ที่ถ่ายไว้ไม่รู้เก็บไว้ที่ไหน จึงคาดว่าสูญหายไปเรียบร้อยแล้ว

แม่ชีแพ้อะไร บรรยากาศ, ลม, ความสูง? … ผมคิดว่าพวกเธอแพ้ภัยตัวเองนะครับ เราจะเห็นหนังเล่นกับความสูงหลายอย่าง Superior Order, Mopu เป็นปราสาทอยู่บนภูเขาสูง, แม่ชีกลุ่มนี้ทำตัวสูงส่ง มองคนพื้นเมืองเป็นคนต่ำต้อย ทั้งๆที่ทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แล้วอะไรที่แบ่งว่า คุณอยู่เหนือกว่าฉัน … เพราะความที่สูงกว่า มีอารยธรรมมากกว่า เช่นนั้นเหรอ? … การที่คนหัวสูงมาอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ต้องคลุกคลีกับคน(ที่พวกเธอคิดว่าเป็นคน)ชั้นต่ำ มันทำให้ความรู้สึกต่อคุณค่าของตนเองลดต่ำลงไปด้วย ความจริงแล้วก่อนที่พวกเธอจะกลายเป็นคนสูงส่งแบบนั้น ต่างก็เคยเป็นคนธรรมดา เป็นหญิงสาวที่เคยมีความรัก มีปมชีวิต บางคนหนีปัญหาพวกนั้นเพื่อมาเป็นแม่ชี มันเป็นความรู้สึกต้อยต่ำ เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่พวกเธอเป็นอยู่ขณะนี้ คนพวกนี้ทำให้พวกเธอระลึกถึงความทรงจำครั้งเก่านั้น ธาตุแท้ของคนเลยเริ่มที่จะแสดงออกมา

ผมมองว่า “ลม” มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึงชีวิตที่เคลื่อนไหว ดำเนินไป ไม่มีทางควบคุม หรือหยุดนิ่งได้ คล้ายกับสายน้ำใน The River สไตล์งานเขียนของ Rumer Godden นี่ชัดมาก เธอชอบเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิต เราสามารถมองหาสัญลักษณ์ที่เปรียบเทียบกับการมีชีวิตอยู่ในนิยายของเธอ (น่าจะได้ทุกเรื่องเลย) สำหรับแม่ชี พวกเธอมีความต้องการที่จะควบคุมทุกสิ่งอย่างให้อยู่ในระเบียบ แต่สภาพแวดล้อมนี้ไม่มีทางควบคุมได้ “ลม” จึงมองเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าเป็นเหตุผลจริงๆที่ทำให้แม่ชีทั้งหลายเปลี่ยนไปนะครับ

ในเมื่อรู้ตัวว่าไม่สามารถต้านลมได้ สิ่งที่แม่ชีทำก็คือหนี จริงๆมันก็มีวิธีสู้กับลมอยู่นะครับ คืออย่าไปต้านลม เราต้องลู่ลม ในหนังแม่ชีไม่เคยมีความคิดจะลู่ลมเลยก็เพราะ ความคิดที่ว่าตัวเองสูงส่งกว่าคนอื่น ไม่มีทางที่จะลดตัวลงไปให้อยู่ในระดับเดียวกับคนอื่น การลู่ลมจะเป็นการยอมรับว่าตัวเองไม่ได้สูงส่งขนาดนั้น และการจะทำอย่างนั้นได้ จะต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นปมของพวกเธอ ซึ่งถ้าสามารถเอาชนะปมอดีตเหล่านั้นได้ คงไม่มีอะไรที่จะเอาชนะไม่ได้อีกแล้ว … ที่อังกฤษยอมถอนทัพกลับประเทศก็เพราะเหตุนี้นะครับ ไม่สามารถชนะใจคนอินเดียได้ ถ้าเพียงเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่มองว่าตัวเองเหนือกว่า เชื่อว่าผลลัพท์คงออกมาแตกต่างกว่านี้

ชื่อหนัง Black Narcissus กับคนที่รู้จักตำนานเทพ Narcissus ย่อๆก็คือ เทพที่เกิดจากวีนัส (เทพีแห่งความงาม) และอพอลโล่ (เทพแห่งการทำนายและการรักษา มีนิสัยมั่นใจในตัวเองสูงและลุ่มหลงตัวเอง) Narcissus เป็นเทพที่เกิดมาโคตรหล่อ แต่เพราะความหลงตัวเอง ไม่คิดว่าจะมีใครที่จะสวยงามหล่อเหล่าไปมากกว่าตน แต่เมื่อเห็นเงาสะท้อนในแม่น้ำก็ตกหลุมรัก (ตกหลุมรักกับเงาของตัวเอง) แต่เพราะไม่สามารถสัมผัสกับคนในสายน้ำได้ จึงตรอมใจฆ่าตัวตาย เรียกว่าตายเพราะความหล่อของตัวเองก็ได้ เทพนิยายเรื่องนี้ใกล้เคียงกับหนังมาก เปรียบคนที่หลงตัวเองได้อาทิ แม่ชี, ประเทศอังกฤษ, คนที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ฯ สุดท้ายแล้วก็ตายด้วยความหลงตัวเอง แพ้ภัยตัวเอง (เหมือนแม่ชี Rudy ที่ตายเพราะตัวเอง) คำว่านาร์ซิสซัสจึงมักจะถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรียกบุคลิกภาพของคนหลงตัวเอง และเป็นชื่อของดอกไม้ป่าซึ่งมักขึ้นอยู่ริมลำธาร มีความงดงามเป็นพิเศษ บางคนก็เรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า ดอกแดฟโฟดิล (Deffodill) กลิ่นของมันถูกนำมาทำเป็นน้ำหอม หนึ่งในนั้นเรียกว่า Black Narcissus

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคนชอบหนังที่ใช้ความคิด ต้องวิเคราะห์อย่างหนักถึงจะเข้าใจหนัง ชอบดูภาพสวยๆ หนังภาพสีเก่าหน่อย คุณภาพดี มีความคลาสสิค แฟนหนังของ Michael Powell และ Martin Scorsese ไม่ควรพลาด จัดเรต 13+ สำหรับการแสดงออกของความอิจฉาริษยาที่ถือว่าแรง อาจปลูกฝังแนวคิดผิดๆต่อเด็กเล็กได้

คำโปรย : “Black Narcissus โดยผู้กำกับ Michael Powell และ Emeric Pressburger นำแสดงโดย Deborah Kerr พบกับเรื่องราวที่แฝงแนวคิด เชิงจิตวิทยาวิเคราะห์ที่ตัวละครมีความลึกลับซ้ำซ้อน ภาพสวย ออกแบบฉากยอดเยี่ยม จัดเป็นอีกหนึ่งสุดยอดหนังที่ไม่ควรพลาด”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบ : LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: