Black Sunday (1960)
: Mario Bava ♥♥♥♡
แค่ภาพใบปิด ดวงตาของ Barbara Steele ก็น่าหวาดสะพรึงกลัวอย่างยิ่งแล้ว, ดัดแปลงหยาบๆจากเรื่องสั้น/นิทานพื้นบ้านรัสเซีย Viy ผลงานแรกแจ้งเกิดผู้กำกับ Mario Bava กลายเป็นภาพยนตร์แนว Gothic Horror ที่มีงานศิลป์ ถ่ายภาพ สร้างแรงบันดาลใจให้ Bram Stoker’s Dracula (1992), Sleepy Hollow (1999)
ครึ่งศตวรรษที่ 20 ในประเทศอิตาลีมี ภาพยนตร์แนว Horror เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นในยุคหนังเงียบ Il mostro di Frankenstein (1920) การก้าวมาเป็นผู้นำของ Benito Mussolini สั่นแบนห้ามสร้างแนวนี้โดยเด็ดขาด จนกระทั่งสิ้นสุดยุคสมัย Italian Fascist หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงค่อยเริ่มต้นฟื้นฟูกับ I vampiri (1956) ของผู้กำกับ Riccardo Freda [โดยมี Mario Bava เป็นตากล้อง] ตามด้วย Caltiki – The Immortal Monster (1959) [Bava เป็นตากล้องอีกเช่นกัน] และเรื่องที่สามคือ Black Sunday (1960)
Black Sunday (1960) ภาพยนตร์แนว Gothic Horror ยุคสมัย Classic ที่โดดเด่นด้านการสร้างบรรยากาศอันหลอกหลอน ขนหัวลุก หวาดสะพรึง ถือเป็นหลักไมล์เรื่องสำคัญของประเทศอิตาลี ประสบความสำเร็จปานกลางในประเทศ แต่ล้นหลามทั่วโลก สมัยนั้นผู้ชมคงกรี๊ดสลบกับ 2-3 ฉากในตำนาน
– Princess Asa Vajda ถูกหน้ากากหนามแหลมตอกเข้าที่ใบหน้า ภายหลังเมื่อถูกนำออกยังคงเห็นเป็นร่องรอยรูพรุน
– ลูกสมุน Igor Javuto ค่อยๆดันตัวขึ้นจากหลุมฝังศพ
Mario Bava (1914 – 1980) ผู้กำกับ ตากล้อง สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ San Remo, Liguria พ่อเป็นนักแกะสลัก ทำงานแผนก Special Effect ในยุคหนังเงียบ, วัยเด็กวาดฝันอยากเป็นจิตรกร แต่ไม่สามารถนำภาพวาดของตนเองไปขายเพียงพอเลี้ยงชีพได้ เลยเลือกเดินตามรอยเท้าพ่อ กลายเป็นผู้ช่วยตากล้อง Massimo Terzano และเริ่มรับงานเองเมื่อปี 1939
อาจไม่ใช่ความตั้งใจในการกำกับภาพยนตร์ แต่เริ่มจาก Ulysses (1955) ที่ตนเองเป็นตากล้องแล้วผู้กำกับทิ้งงาน กึ่งๆบีบบังคับให้เขาต้องควบหน้าที่ไปด้วย ต่อมายัง I Vampiri (1956), The Day the Sky Exploded (1958), Caltiki – The Immortal Monster (1959), The Giant of Marathon (1959) พอมันหลายเรื่องเข้าชักทนไม่ไหว (คือสตูดิโอไม่ให้ Bava รับเครดิตกำกับด้วยไง) สุดท้ายเลยยอมมอบโอกาสให้กำกับหนังของตนเองเสียเลย
ด้วยความชื่นชอบนิทานพื้นบ้านรัสเซียเป็นทุนเดิม เลยเกิดความสนใจดัดแปลงเรื่องสั้น Viy (1835) แต่งโดย Nikolai Gogol (1809 – 1852) รวมอยู่ในหนังสือ Mirgorod (1835) แต่ระหว่างพัฒนาบทร่วมกับ Ennio De Concini และ Mario Serandrei ไปๆมาๆอะไรๆก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลงเหลือเพียงแนวคิด พื้นหลัง Moldavia การฟื้นคืนชีพ แม่มด เท่านั้นกระมังที่คงอยู่
เรื่องราวเริ่มต้น ค.ศ. 1630 ณ Moldavia เจ้าหญิง/แม่มด Asa Vajda (รับบทโดย Barbara Steele) และลูกสมุน Igor Javuto กำลังถูกตัดสินความตายโทษฐานใช้เวทย์มนต์ ประพฤติตนนอกรีตศาสนา ก่อนที่หน้ากากเหล็กแหลมจะทิ่มแทงลงบนใบหน้า เธอได้สาปส่งตระกูล Vajda ให้ลูกหลานรุ่นต่อๆไปถูกจองล้างจองผลาญจนกว่าหมดสิ้นสูญทายาท
สองทศวรรษผ่านมา Dr. Thomas Kruvajan (รับบทโดย Andrea Checchi) และผู้ช่วย Dr. Andre Gorobec (รับบทโดย John Richardson) เดินทางผ่านมาบริเวณนั้น ด้วยความใคร่รู้ใคร่สงสัยแต่ไม่ทันระวังตัว เผลอทำลายไม้กางเขนหน้าหลุมฝังศพของ Asa Vajda เป็นเหตุให้เธอกำลังค่อยๆฟื้นคืนชีพ และขณะเดียวกันพบเจอหญิงสาว Katia Vajda หน้าตาเหมือนเปี๊ยบกับบรรพบุรุษ เป็นเหตุให้ Dr. Andre ตกหลุมรักใคร่โดยพลัน ค่ำคืนนั้นเหตุการณ์อันพิลึกพิลั่นบังเกิดขึ้นมากมาย ความตายของพ่อ การหายตัวของ Dr. Thomas และเพื่อจะให้ตนเองได้กลายเป็นอมตะ นางแม่มดจึงฟื้นคืนชีพ Igor Javuto ลักพาตัวโหลนของตนเอง Katia เพื่อที่จะ…
Barbara Steele (เกิดปี 1937) นักแสดงหญิง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Birkenhead, Cheshire โตขึ้นร่ำเรียนศิลปะที่ Chelsea Art School จบมาได้แสดงละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Bachelor of Hearts (1958), โด่งดังแจ้งเกิดกับ Black Sunday (1960), ผลงานอื่นๆ อาทิ The Pit and the Pendulum (1961), 8½ (1963), Castle of Blood (1964), Shivers (1975), Piranha (1978) ฯ
บทบาท Princess Asa Vajda นางแม่มดที่ชอบทำตาโต ชีวิตเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น คับข้องแค้น ขุ่นเคืองโกรธ ต้องการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โคตรเหง้าตระกูลให้หมดสิ้นสูญ หลงเหลือเพียงตัวตนเองเท่านั้นจะสามารถมีชีวิตต่อไปเป็นอมตะชั่วนิรันดร์
บทบาท Katia Vajda หญิงสาวผู้มีรอยยิ้มหวาน จิตใจดีงาม รักครอบครัวพี่น้อง เรียกได้ว่าตรงข้ามกับ Princess Asa การพบเจอความสูญเสียแทบทำให้เธอคลุ้มคลั่ง แต่เพราะยังความรักต่อชายหนุ่มหล่อ Dr. Andre ทำให้ไม่คิดสาปส่งกับชีวิต ดิ้นรนจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย
สิ่งที่ทำให้ Steele ได้รับการจดจำ ตราตรึง คือภาพลักษณ์ดวงตากลมโต ทรงผมยุ่งๆ เห็นแล้วน่าหวาดสะพรึง ขนหัวลุกพอง สยอง ปีศาจชัดๆ ขณะเดียวกันอีกตัวตนตรงกันข้าม ช่างบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา น่ารักน่าเอ็นดู รอยยิ้มหวานทำให้หนุ่มๆหลอมละลาย ถือเป็นสองตัวละครที่มีความขัดแย้งกันเอง ผู้ชมเลยไม่รู้จะมองเธอในฐานะใด แม่มดใจร้าย/หญิงสาวผู้น่ารัก ช่างเป็นนักแสดงที่มีความงามแบบลึกลับ ‘mysterious beauty’ เสียเหลือเกิน
ความสัมพันธ์ในกองถ่ายระหว่าง Bava กับ Steele ค่อนข้างย่ำแย่ นอกจากปัญหาเรื่องภาษาสนทนา ยังความเรื่องมากของหญิงสาว ไม่ชอบโน่นนี่นั่น แถมการได้รับบทหนังวันละไม่กี่แผ่น (เฉพาะที่เข้าฉาก) ไม่ล่วงอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หวาดสะพรึงกลัวที่ผู้กำกับจะให้เธอโป๊เปลือยเข้าฉาก บางวันก็เลยเมาแอ๋อย่างน่าสมเพศ
“Lord alone knows I was difficult enough. I didn’t like my fangs – I had them changed three times. I loathed my wig – I changed that four times. I couldn’t understand Italian. I certainly didn’t want to allow them to tear open my dress and expose my breasts, so they got a double that I didn’t like at all, so I ended up doing it myself – drunk, barely over eighteen, embarrassed and not very easy to be around.”
– Barbara Steele
ถ่ายภาพโดย Mario Bava ด้วยฟีล์มขาวดำ 35mm โดดเด่นกับมุมกล้อง การจัดแสง-เงา หมอกควัน ใช้ความมืดปกคลุมพื้นหลัง/ใบหน้าตัวละคร เพื่อสร้างสัมผัสบรรยากาศอันหลอกหลอน สั่นประสาท หวาดสะพรึงกลัว
สถานที่ถ่ายทำภายนอก เช่าปราสาทถ่ายทำแถวๆ Arsoli, Lazio ส่วนภายใน สุสาน ทะเลสาบตอนกลางคืน สร้างฉากขึ้นในสตูดิโอ Scalera Film อ้างอิงสถาปัตยกรรม Gothic มากมายด้วยรูปปั้น ภาพวาด ดูเก่าๆ ทรุดโทรม โดยทั้งหมดทาสีขาว-ดำ (Monochrome) รวมถึงเสื้อผ้าตัวละคร เพื่อเพิ่มความเข้มให้กับภาพที่ออกมา
สิ่งที่รกเหลือเกินในหลายๆฉากคือกิ่งไม้ระโยงระยางเหมือนหยากไย่ สะท้อนความรกรุงรัง ว้าวุ่นวายใจ สถานที่แห่งภยันตราย ไม่รู้ได้แรงบันดาลใจจาก Throne of Blood (1957) หรือเปล่านะ,
ในเรื่องการออกแบบ งานศิลป์ ถ่ายภาพโดยเฉพาะการจัดแสงเงา ต้องชื่นชมเลยว่าหนังใช้ความมืด/แสงสว่าง ได้อย่างสวยสดงดงามระดับวิจิตร อย่างช็อตนี้พบเห็นเหมือนภาพเงาของหญิงสาวจูงสุนัข ปรากฎขึ้นครั้งแรกสร้างความสะดุ้งตกตะลึงให้กับตัวละคร (และผู้ชม) ใครหว่า? วินาทีนี้จะเกิดความสับสนเล็กๆ เพราะหญิงสาวคนนี้หน้าเหมือนยัยแม่มดมากๆ หลงนึกว่าเธอฟื้นขึ้นจากหลุมแล้ว แต่พอเริ่มสนทนาค่อยโล่งอกผ่อนคลาย คือโหลนรุ่นปัจจุบันต่างหาก
แซว: สังเหตุพื้นด้านหลังลิบๆบนท้องฟ้า ปรากฎข้อความตัวอักษรอะไรสักอย่างชัดเจน คาดว่าเป็นความเผลอเรอของทีมงานอย่างแน่นอน
ความเจ๋งเป้งของ Sequence นี้ อยู่ที่ไดเรคชั่นการนำเสนอ เริ่มจาก Establish Shot นำเข้าสู่สุสาน หลุมฝังศพ ลำแสงจากสวรรค์สาดส่องลงมา เอ็ฟเฟ็กควันโพยพุ่งเบาๆรอบทิศทาง ฟ้าแลบส่งเสียงร้องคำราม แล้วอยู่ดีๆลมพัดแรง ร้อยเรียงภาพ Montage กิ่งไม้ระโยงระยาง ค่อยๆทำการเคลื่อน/ซูมเข้าไปทีละนิด และตัดไปโคลสอัพมือกับใบหน้าขณะกำลังค่อยๆลุกขึ้นจากพื้น
ภารกิจแรกของ Igor Javuto มีความหลอกหลอนเป็นพิเศษ บุกเข้าไปในปราสาทตระกูล Vajda ล่องลอยมาราวกับสายลมพัด ข้าวของเครื่องใช้ตกหล่นกระจัดกระจาย การปรากฎตัวจักค่อยๆแทรกตัวออกดินระหว่างเงามืด
– Fast Zoom-In ไปที่ Igor เพื่อแสดงความสะดุ้งตกใจกลัว ซอมบี้มาแล้ว!
– Slow Zoom-In ใบหน้าของ Prince Vajda สะท้อนความตื่นตะหนกหวาดสะพรึง
– กล้องเคลื่อนติดตาม Tracking ขณะ Igor ค่อยๆก้าวย่างเดินเข้าหา
– พอ Prince Vajda ยกไม้กางเข็นขึ้น Fast Zoom-Out ทำเอา Igor หนีเตลิดเปิดโปง
– และจบด้วย Fast Zoom-In อีกครั้งตรงประตู บ่งบอกว่าซอมบี้ได้หนีหายจากไปแล้ว
ผมมีความประทับใจราชรถม้าคันนี้เป็นพิเศษ คุ้นๆนึกไม่ออกว่าเคยเห็นจากหนังเรื่องไหน มาอย่าง Slow Motion แต่ขากลับเคลื่อนแบบ Fast Motion ออกแบบด้วยสไตล์ Gothic มีความประณีตละเอียดอ่อนช้อย ซึ่งสามารถตั้งชื่อเล่น ‘ราชรถแห่งความตาย’ และตัวละคร Igor Javuto คือยมทูต ‘God of Death’ ผู้นำความตายมาสู่ตัวละครที่กำลังจะออกเดินทาง
นี่เป็นช็อตที่มีความแนบเนียนอย่างมาก อยู่ดีๆใบหน้าของหญิงสาว ประเดี๋ยวราบเรียบ ประเดี๋ยวเต็มไปด้วยริ้วรอย เท่าที่ผมสังเกตเห็นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการ Dissolve หรือซ้อนภาพสลับสับเปลี่ยนไปมา พอมันตำแหน่งเปะๆเลยดูน่าอัศจรรย์ มายากล ขนหัวลุกเป็นพิเศษ (ราวกับกำลังถูกดูด/สูบพลังวิญญาณออกจากร่าง)
เห็นช็อตนี้นึกถึงหนังเงียบสุดอมตะ The Passion of Joan of Arc (1928) เพราะตัวละครถูกเผาตอนจบเหมือนกัน และมีช็อตที่ใช้บานกระจกหน้าต่าง แทนสัญลักษณ์ของไม้กางเขน
ตัดต่อโดย Mario Serandrei, หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องเล่าผ่านมุมมองตัวละครใดเป็นพิเศษ ใช้สถานที่คือ ปราสาทตระกูล Vadja, Moldavia เป็นจุดหมุน เริ่มต้น-ท้ายสุด จบลงในลักษณะเติมเต็มกันและกัน
สำหรับเพลงประกอบ
– ฉบับอิตาเลี่ยนแต่งโดย Roberto Nicolosi (1914 – 1989) นักดนตรี Jazz ผันมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษ 50s – 60s
– ส่วนฉบับอเมริกันเปลี่ยนมาเป็น Les Baxter (1922 – 1996) นักแต่งเพลง Swing Bands, Lounge music, Exotica โดยเน้นสัมผัสดนตรีที่มีความ Horror มากขึ้น
รู้สึกว่าฉบับที่ผมรับชม ขึ้นเครดิตชื่อหนังว่า The Mask of Satan เสียงพากย์ภาษาอังกฤษ เลยค่อนข้างเชื่อว่าเพลงประกอบคงเป็นผลงานของ Les Baxter ซึ่งมีลักษณะ ‘Expressionist’ มุ่งเน้นสร้างสัมผัสอารมณ์ เสริมบรรยากาศ Horror แบบตรงไปตรงมา เรียกว่าคลาสสิกคงได้กระมัง ใครรับชมแนวนี้มาบ่อยๆคงไม่รู้สึกประทับตราตรึงอะไร คุ้นๆหูเสียด้วยซ้ำ (เพราะเลือกใช้ Archive Music)
หลายคนอาจแปลกใจกับชื่อหนัง Black Sunday มันเกี่ยวอะไรกับวันอาทิตย์? กับคนศาสนาคริสต์คงจะรับรู้ได้ว่า วันอาทิตย์นั้นคือ Sabbath Day หรือวันสะบาโต (แปลว่าการพัก) เพราะหลังจากพระเจ้าสร้างโลกใน 6 วัน เหน็ดเหนื่อยเลยทรงพักผ่อนในวันที่ 7 เพื่อให้มนุษย์ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ถือเป็นวันบริสุทธิ์ห้ามทำกิจกรรมใดๆ จงพักผ่อน ให้ทำเฉพาะกิจกรรมที่ถวายแด่พระเจ้า เช่น การอธิษฐาน การอ่านพระคัมภีร์ และขอบคุณพระเจ้า
Black Sunday ย่อมหมายถึงการกระทำที่ขัดแย้งต่อประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือบูชาความชั่วร้าย ซาตาน ฟื้นคืนชีพคนตาย เข่นฆ่าคนบริสุทธิ์ นำพาขุมนรกมาให้มาบังเกิดขึ้นบนโลกมนุษย์
ผมคงไม่สรุปใจความสำคัญของหนังเรื่องนี้ เพราะไม่เห็นมันจะมีสาระประโยชน์ตรงไหน เป็นผลงานเน้นขายศิลปะสนองตัณหาผู้สร้าง บันเทิงรมณ์มุ่งเน้นสร้างสัมผัสหวาดสะพรึงกลัว สอนให้ผู้ชมรู้จักทำความดีละเว้นความชั่ว หันหน้าเข้าหาศาสนาปฏิบัติธรรม แต่ถามจริงๆเถอะ จะมีไหมคนที่ดูหนังเรื่องนี้จบแล้วปลงใจเข้าวัดเข้าวา หันมาทำความดี เลิกละเว้นกระทำความชั่ว
ลึกๆเหมือนหนังจะมีใจความแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ด้วยนะ ข้อคิดเกี่ยวกับการปลุกผี เสี้ยมสอนให้ชาวอิตาลีรู้จักระแวดระวังเภทภัย อย่าให้เกิดเหตุการณ์อันเลวร้ายบัดซบเหมือนตอน Italian Fascist หรือท่านผู้นำ Benito Mussolini หวนกลับมาปกครองบริหารประเทศอีกเป็นอันขาด!
ที่ผมฉุกครุ่นคิดประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะเท่าที่รับชมหนังแนว Horror หรือ Giallo สัญชาติอิตาลีมาหลายเรื่อง เริ่มจับใจความถึงลักษณะของเรื่องราว การสร้างบรรยากาศ ความหลอกหลอน ชีวิตของตัวละครที่เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น รวดร้าวราน ทุกข์ทรมานกายใจ มักสะท้อนเข้ากับช่วงเวลายุคสมัยการปกครอง Italian Fascist ได้แบบตรงๆเลยละ
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่แค่ทำเงิน 140 ล้าน Lire (=$84,000) เห็นว่าก็แทบคืนทุนทั้งหมดแล้ว กำไรมาจากตอนส่งออกฉายต่างประเทศ ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา
สำหรับฉบับส่งออกฉายต่างประเทศ จะมีการพากย์เสียงภาษาอังกฤษ เปลี่ยนชื่อหนังใหม่ อาทิ The Mask of Satan, Revenge of the Vampire ซึ่งในอเมริกาฉายควบกับ The Little Shop of Horrors (1960) ของผู้กำกับ Roger Corman
อิทธิพลของ Black Sunday แค่เฉพาะฉากเปิดก็เป็นแรงบันดาลใจให้หนังแนว Horror นับไม่ถ้วน อาทิ The Brainiac (1961), Terror in the Crypt (1963), Bloody Pit of Horror (1965), The She Beast (1966) ฯ
ขณะที่ Bram Stoker’s Dracula (1992) ของผู้กำกับ Francis Ford Coppola อิทธิพลหลักๆมาจากงานศิลป์ หลายๆฉากแทบจะคัดลอกเลียนแบบมาอย่างเปะๆ ผิดแผกแตกต่างจาก Dracula เรื่องอื่นๆพอสมควร
ผู้กำกับ Tim Burton ยกให้ Black Sunday คือหนึ่งในหนังเรื่องโปรด และหยิบยืมแนวคิดของหลายๆฉาก โดยเฉพาะหน้ากากหนาม ใส่ลงใน Sleepy Hollow (1999)
“One of the movies that remain with me probably stronger than anything is Black Sunday..There’s a lot of old films – [Bava’s] in particular – where the vibe and the feeling is what it’s about… [t]he feeling’s a mixture of eroticism, of sex, of horror and starkness of image, and to me, that is more real than what most people would consider realism in films…”
– Tim Burton
ส่วนตัวประทับใจชั่วโมงแรงของหนังมากๆเลยนะ แต่ดันไปตกม้าตายช่วงท้าย แถมดันจบแบบ Happy Ending เซ็งเลย! แต่ภาพรวมถือว่ามีความงดงามวิจิตรคลาสสิก ใครชื่นชอบแนวแม่มด แวมไพร์ เรื่องเหนือธรรมชาติ กลับชาติมาเกิด หลงใหลบรรยากาศหลอนๆ ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับภาพอันน่าหวาดสะพรึงกลัว
Leave a Reply