Blade Runner (1982) : Ridley Scott ♥♥♥♡
คำถามคลาสสิกของหนังแนวไซไฟ ‘มนุษย์คืออะไร?’ ‘อะไรคือความจริง?’ ‘จุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหน?’ Blade Runner เป็นภาพยนตร์ที่ชวนให้ตั้งคำถาม ท้าทายหาคำตอบ สุดท้ายแล้วอาจไม่ได้ข้อสรุปหรือประโยชน์อะไร แต่ก็เพลิดเพลินที่ได้ครุ่นคิด
หนังไซไฟที่ดีเป็นแบบนี้นะครับ มีความสลับซับซ้อนลึกล้ำที่ชวนให้ครุ่นคิดจนปวดเศียรเวียนเกล้า ลักษณะเรื่องราวที่ก่อให้เกิดคำถามข้อสงสัยมากมาย และที่สำคัญคือส่วนใหญ่ไม่มีคำตอบ? คิดให้หัวระเบิดก็ไม่พบนะครับ เพราะเหรียญมีสองด้าน คำตอบไม่ว่าอะไรที่เราคิดได้ ย่อมต้องมีสิ่งตรงกันข้ามที่คนอื่นคิดได้เสมอ นั่นเป็นเพียง ‘ข้อสรุปของเราเอง’ ไม่มีถูกไม่มีผิด
มนุษย์ถามคำถามเพื่ออะไร? คำตอบคือให้ตัวเองเป็นผู้มีความรอบรู้ทรงภูมิ เฉลียวฉลาดขึ้นกว่าเดิม เปิดโลกทัศน์และเข้าใจอะไรต่างๆมาขึ้น, แต่การยิ่งคิดยิ่งรู้จักอะไรมากๆ มักทำให้เกิดความทะนงตน หยิ่งยโสโอหัง คิดว่าตัวเองรอบรู้มากกว่าใคร ทั้งๆที่แท้จริงก็อาจแค่กบในกะลาตัวเล็กๆ ที่ทำได้แค่อวดฉลาดไปวันๆ
สิ่งหนึ่งที่ผมจดจำจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้นพระอานนท์ตรัสถามเรื่อง ขนาดของโลกและจักรวาล ท่านได้อธิบายตอบ
ดูกรอานนท์ จักรวาลหนึ่ง มีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุ มหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้น ดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง
ท่านพระอุทายีที่ได้ฟังคำของพระพุทธเจ้านี้ กล่าวกับพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร?” พระพุทธเจ้ากลับเป็นผู้ตรัสตอบ “ดูกรอุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป”
จากจุดเริ่มต้นของ 2001: A Space Odyssey (1968) ตามมาด้วยความสำเร็จอันล้นหลามของ Star Wars (1977) และการแข่งขันสำรวจอวกาศในช่วงสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย ทำให้ Hollywood ในยุคสมัยหนึ่งเต็มไปด้วยหนังไซไฟ โลกอนาคตล้ำยุคเกิดขึ้นมากมาย แต่มีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องจดจำว่ามีความล้ำยุคก่อนกาลเวลา
Blade Runner ได้แรงบันดาลใจจาก Do Androids Dream of Electric Sheep? นิยายไซไฟปรัชญาของ Philip K. Dick ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1968 มีพื้นหลังเป็นเมือง San Francisco ในยุค Post-Apocalypse ปี 2019 ผลกระทบจากสงครามนิวเคลียร์ (World War Terminus) อันเป็นเหตุให้สรรพสัตว์สิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกได้รับการปนเปื้อนกัมมันตรังสี หุ่นแอนดรอยด์ (Replicant) ได้รับการพัฒนาขึ้นจนมีรูปร่างลักษณะความคิดเหมือนมนุษย์ทุกประการ จุดประสงค์เพื่อทดแทนแรงงานและส่งไปทำงานนอกโลก (Off-World) ตามดวงจันทร์, ดาวอังคาร ฯ มีสถานะดั่งทาส ไม่ได้รับอนุญาติให้กลับลงมาบนโลก
เนื่องจากสรรพสัตว์สิ่งมีชีวิตบนโลกเรียกว่าแทบจะสูญพันธุ์เกือบหมดสิ้น มันเลยมีค่านิยมทัศนคติความเชื่อใหม่ที่ว่า ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของสัตว์จริงๆ (ไม่ใช่หุ่นยนต์หรือตัวที่โคลนมา) จะถือว่าเป็นผู้ร่ำรวย สูงศักดิ์ ใช้แสดงวิทยฐานะของตนเองได้, สำหรับพระเอก Rick Deckard เป็นอดีตตำรวจเก่า เจ้าของแกะหุ่นยนต์ (Electric Sheep) มีความต้องการเงินเพื่อซื้อแกะจริงๆ เติมเต็มสัญญาที่เคยให้ไว้กับภรรยา เขาจึงกลับมารับงานของตำรวจในการตามไล่ล่า/ปลดเกษียณ (retired) หุ่น Nexus-6 ทั้งหกตนที่หลบหนีจากดาวอังคารมาสู่โลก
นับตั้งแต่นิยายตีพิมพ์ ก็มีหลายคนที่ให้ความสนใจ อาทิ ผู้กำกับ Martin Scorsese แต่ก็ไม่เคยได้เริ่มต้นจริงจัง, โปรดิวเซอร์ Herb Jaffe ที่ให้ลูกชายพัฒนาบทส่งไปให้ Philip K. Dick พิจารณาแต่ได้รับการปฏิเสธอย่างไม่ใยดี (แหล่งข่าวบอกว่า บทที่ดัดแปลงห่วยแตกมาก) จนกระทั่งนักเขียน Hampton Fancher เข้ามาพัฒนาบทในปี 1977 และได้ Ridley Scott มานั่งแท่นผู้กำกับ
หลังเสร็จจาก Alien (1979) โปรเจคถัดมาของ Scott คือ Dune ที่ได้เสียเวลาพัฒนาไปเป็นปีๆแล้ว แต่เพราะพี่ชาย Frank Scott ด่วนเสียชีวิตจากไป ทำให้ต้องถอนตัวจากโปรเจค [Dune จึงตกไปอยู่ในมือของ David Lynch ออกฉายปี 1984 ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘the worst movie of the year.’] การร่วมโปรเจคนี้เพราะคิดว่าคงใช้เวลาสร้างไม่นาน เข้ามาเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 1980 แต่กว่าจะเสร็จก็ 2 ปีให้หลัง ไม่สิกว่า 25 ปีให้หลังถึงจะเสร็จ
เกร็ด: หลัง Scott เสร็จจาก Blade Runner ได้ไปเป็นผู้กำกับโฆษณาเปิดตัวคอมพิวเตอร์ Apple Macintosh ที่ชื่อ 1984 ออกฉายงาน Super Bowl XVIII ได้รับการยกย่องว่าเป็นโฆษณา masterpiece (ใครดูหนังเรื่อง Steve Jobs-2015 มาแล้วน่าจะเคยเห็น)
เรื่องมันอยู่ที่ Warner Bros. เมื่อ Scott ถ่ายทำตัดต่อหนังเสร็จแล้ว แต่ผู้บริหารกลัวว่าผู้ชมจะดูไม่รู้เรื่องจึงทำการรื้อการตัดต่อ วิธีการเล่าเรื่องใหม่ทั้งหมด เห็นว่ามีทั้งหมด 7 ฉบับ (บ้าไปแล้ว)
1. ฉบับ Prototype แรกสุดความยาว 113 นาที, จุดแตกต่างที่ชัดเจนมีอยู่ 5 อย่าง
– ฉากเปิดเป็น Opening Title ไม่ใช่คำอธิบายพื้นหลังของ Replicant
– ตอน Deckard หลับฝัน จะไม่เห็น unicorn
– จะมีเสียงบรรยายประกอบทั้งเรื่องของ Harrison Ford (เพื่อให้ผู้ชมดูหนังเข้าใจ)
– ตอนจบไม่ happy ending
– ไม่มี Ending Credit (มีแค่ข้อความ The End แล้วก็จบเลย)
2. ฉบับรอบพรีวิว ฉายที่ San Diego
3. ฉบับฉายโรงภาพยนตร์ในอเมริกา มีชื่อเรียกว่า Domestic Cut ความยาว 116 นาที
– เป็นฉบับแรกที่มีตอนจบแบบ Happy Ending คือ Deckard และ Rachael สามารถหนีออกจากอพาร์ทเมนท์ โดย Gaff ไว้ชีวิต Rachael พูดว่า It’s too bad she won’t live. But then again who does?’ ทั้งสองขับรถออกจาก Los Angeles ใช้ชีวิตอย่างสงบ
4. International ฉายต่างประเทศ ความยาว 117 นาที (ก็ไม่รู้เหมือนกัน 1 นาทีเพิ่มอะไร)
5. US broadcast (1986) ฉบับนี้ฉายทางโทรทัศน์ช่อง CBS มีการตัดทอนฉากโป๊เปลือยออกนิดหน่อย
6. The Director’s Cut (1992) ความยาว 116 นาที นี่เป็นครั้งแรกที่ Warner Bros. ให้อิสระ Scott ในการตัดต่อใหม่ เพราะยอดขาย VHS ของหนังเรื่องนี้กลายเป็น Culture Hit ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จึงเข็นฉบับตัดต่อใหม่เพื่อขายทำเงินได้อีก, มี 3 จุดต่างที่เปลี่ยนไป
– เอาเสียงบรรยายของ Deckard ออกทั้งหมด
– เพิ่มฉากความฝัน ยูนิคอร์นวิ่งผ่านป่า, นัยยะของฉากนี้ เสมือนว่าความฝัน/ความทรงจำของ Deckard มาจากการปลูกฝัง นี่ทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยที่ว่า แท้จริงแล้ว Deckard เป็นมนุษย์/มนุษย์ที่ถูกฝังความทรงจำ/หรือเป็น replicant (เหมือน Rachael)
– ตัด Happy Ending ออกไป
7. ฉบับสุดท้าย The Final Cut (2007) หรือ 25th-Anniversary Edition ความยาว 117 นาที เป็นการทำ re-master จากฉบับ The Director’s Cut ทำเป็น DVD/Blu-ray ที่ได้ใส่หนังฉบับอื่นๆลงไปด้วย
บทภาพยนตร์มีการเปลี่ยนแปลงไปจาก Do Androids Dream of Electric Sheep? พอสมควร คือตัดประเด็นเรื่องแกะทิ้งไปเลย Rick Deckard ไม่มีภรรยา ซึ่งระหว่างทำการติดตามไล่ล่า ยังได้ตกหลุมรักกับแอนดรอย์สาวหนึ่งในเป้าหมาย ถือว่าเรื่องราวบานปลายจากเดิมไปมาก แต่ผู้เขียนนิยาย Dick ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ Scott เป็นอย่างดี
สำหรับคำว่า Blade Runner มาจากชื่อนิยายเล่มหนึ่ง The Bladerunner (1974) เขียนโดย Alan E. Nourse เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเท้าปุก (club foot) ที่เป็นผู้ช่วยของหมอคนหนึ่งรักษาผู้ป่วยในตลาดมืด, เห็นว่า Scott ซื้อเฉพาะลิขสิทธิ์ชื่อหนังสือมานะครับ ไม่ได้เอาอะไรมาจากนิยายเลย
สำหรับนักแสดงนักเขียนบท Fancher ได้วาดภาพตัวละคร Rick Deckard โดยมี Robert Mitchum เป็นแบบ, ผู้กำกับ Scott เข้าไปคุยกับ Dustin Hoffman ค่อนข้างนานแต่แยกทางเพราะความต้องการต่าง สุดท้ายจบลงที่ Harrison Ford พระเอกหนุ่มสุดฮอตสมัยนั้น ที่กำลังโด่งดังจากการรับบท Han Solo ใน Star Wars Trilogy และ Indiana Jones ใน Raiders of the Lost Ark (1981)
Rick Deckard เป็นตัวละครที่ค่อนข้างจืดชืดสิ้นดี เมื่อก่อนอาจเคยเป็น Blade Runner ที่เก่งมากประสบการณ์ (ในนิยายเห็นว่าก่อนรีไทร์ได้ฉายาว่า Mr. Nighttime และ The Boogeyman) แต่ปัจจุบันเมื่อร้างราไปนา ฝีมือเริ่มถดถอย ถือว่าต้องใช้โชคช่วยพอสมควรถึงทำภารกิจรีไทร์ replicant เหล่านี้ได้สำเร็จ แต่พอได้การแสดงของ Ford เพิ่มเข้าไป (ราวกับได้ใส่ตัวตนลงไป) ทำให้ตัวละครมีมิติจับต้องได้ สัมผัสได้ถึงความอ่อนล้าเหน็ดเหนื่อย จนรู้สึกเห็นอกเห็นใจลำบากแทน
สำหรับประเด็นที่ว่า Deckard เป็นมนุษย์หรือ replicant นี่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ คือตัว Ford เคยถูกถามและตอบว่า ตอนแสดงบทนี้คิดอยู่ในใจว่าตัวเองเป็นมนุษย์ แต่ผู้กำกับ Scott ดันไปสร้างประเด็น (ในฉบับตัดต่อใหม่ แทรกใส่ฉากความฝันที่เป็นยูนิคอร์น) ทำให้ผู้ชมสามารถวิเคราะห์ตีความตัวละครนี้ได้ว่าเป็น replicant (แถมพี่แกก็ออกมาพูดตรงๆอีกว่า Deckard คือ replicant ยิ่งทำให้ผู้ชมสับสนไปอีก)
การแสดงของ Ford ได้รับคำชมจากผู้เขียนนิยาย Philip K. Dick ว่ามีความสมจริงยิ่งกว่าที่คิดไว้เสียอีก
“Harrison Ford is more like Rick Deckard than I could have even imagined…if Harrison Ford had not played that role, Deckard would never become an actual person. Ford radiates this tremendous reality when you see him. And seeing him as a character I created is a stunning and almost supernatural experience to me.”
– Philip K. Dick
สำหรับ replicant ทั้ง 6 ตน ในหนังจะเห็นเพียง 5 เท่านั้น (เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้วตนหนึ่ง)
Rutger Hauer นักแสดงสัญชาติ Dutch ที่มีผลงานแจ้งเกิดในหนังของ Paul Verhoeven อาทิ Turkish Delight (1973), Katie Tippel (1975) and Soldier of Orange (1977) เห็นว่า Scott เลือก Hauer โดยไม่เคยพบเจอกันมาก่อน (แต่จากการได้ดูหนังของเขาหลายๆเรื่องจึงเกิดความประทับใจ) เมื่อตอนพบกันครั้งแรก Hauer ตัดสินใจแกล้งเขาด้วยการใส่แว่นสีเขียว กางเกงสีม่วง สวม sweater สีขาว จงใจให้ภาพลักษณ์ผิดเพี้ยนไปเลย ซึ่งสร้างความช็อค สีหน้าซีดเผือกให้กับผู้กำกับไม่น้อย
รับบท Batty หัวหน้ากลุ่ม replicant ที่หลบหนีจากดาวอังคารเดินทางมายังโลก เพื่อค้นหาวิธียืดอายุของตัวเองออกไป (replicant ถูกออกแบบให้มีอายุได้เพียง 4 ปีเท่านั้น), บุคลิกของ Batty มีความเยือกเย็นเหี้ยมโหด (แต่เฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น) หนังทั้งเรื่องทำให้เราเห็นเหมือนว่าเขาเต็มไปด้วยความอัดอั้นเจ็บปวด คับแค้นใจ แต่ตอนท้ายเรากลับได้เห็นมุมคุณธรรมของตัวละครนี้ ไหนๆฉันก็กำลังจะต้องตาย มันเหลืออะไรมีค่าเพียงพอให้ทำได้อีกละ
Hauer ให้สัมภาษณ์บอกว่า Blade Runner คือภาพยนตร์ที่ไม่ต้องอธิบายใดๆ ยอดเยี่ยมที่สุด ไม่มีอะไรเหมือน การได้เป็นส่วนหนึ่งของ Masterpiece ทำให้แนวคิดทัศนคติเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มันเยี่ยมมากๆ, ส่วนผู้เขียนนิยาย Philip K. Dick ให้คำชมสั้นๆว่า ‘the perfect Batty – cold, Aryan, flawless.’
เกร็ด: ฉากช่วงท้าย ‘tears in rain’ เป็น Hauer เขียนบทพูดขึ้นใหม่ตามความคิดต้องการของตนเอง และนำเสนอให้กับ Scott ได้รับอนุญาติให้พูดออกมาตามนั้น
Sean Young (เกิดปี 1959) นักแสดงสาวสวย(ในตอนนั้น) นี่ถือเป็นภาพยนตร์แจ้งเกิดของเธอเลย บทบาทอื่นๆอาทิ Dune (1984), No Way Out (1987), Wall Street (1987) ฯ
รับบท Rachael หุ่น replicant ที่ได้ถูกปลูกฝังความทรงจำของหลาน Tyrell (ที่เป็นคนออกแบบหุ่น NEXUS) นั่นทำให้เธอเชื่อว่าตัวเองคือมนุษย์, ซึ่งวินาทีที่ตัวเองรับรู้ว่าไม่ใช่ มันทำให้ความคิดของเธอเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ลองนึกภาพแบบว่า ถ้าสมมติวันหนึ่งพ่อ-แม่ ที่เลี้ยงเรามาบอกว่าคุณไม่ใช่ลูกของพวกเขา คนทั่วไปจะวีนแตกแค่ไหนก็คล้ายๆแบบตัวละครนี้แหละครับ ความเชื่อศรัทธาเดิมที่เคยมีมาสูญเสียไปหมดสิ้น ถ้าไม่บ้าไปเลยก็ต้องหาที่พึ่งพิงทางจิตใจใหม่ สำหรับ Rachael ต้องถือว่าโชคดี/บังเอิญ ที่ได้พบกับ Deckard แม้ตอนแรกจะไม่ยินยอม แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันอะไรดลใจหมอนี่ให้ตกหลุมรักหญิงสาว
สำหรับ replicant ที่เหลือ
– Daryl Hannah รับบท Pris จัดเป็น ‘basic pleasure model’ หุ่นที่สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ (หุ่นโสเภณี) สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ทุกสัดส่วนราวกับนักกายกรรม เป็นแฟนกับ Batty และเพื่อนของ J. F. Sebastian
– Brion James รับบท Leon Kowalski หุ่นที่ถนัดด้านการต่อสู้ แม้ไม่รวดเร็วแต่มีพละกำลังมหาศาล ไม่เฉลียวฉลาดนักเป็นคนใจร้อน (แต่นั่นเพราะต้องการแก้แค้นให้กับเพื่อน replicant ด้วยกัน)
– Joanna Cassidy รับบท Zhora หุ่นนักฆ่า/สายลับ และได้งานเป็นนักเต้น Exotic dancer ที่ Taffey Bar
อีกตัวละครหนึ่งที่ต้องพูดถึงเลยคือ Dr. Eldon Tyrell (รับบทโดย Joe Turkel) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ชื่นชอบการเล่นหมากรุก เจ้าของ Tyrell Corporation และเป็นผู้สร้าง Nexus Six, เราสามารถเปรียบตัวละครนี้ได้กับ ‘พระเจ้าผู้ให้กำเนิดของหุ่นยนต์’
ถ่ายภาพมีสองคน แต่ที่ได้เครดิตคือ Jordan Cronenweth ที่เข้ามาแทน Derek Vanlint และถ่ายทำส่วนใหญ่ของหนัง, งานภาพของหนังเรื่องนี้อลังการงานสร้างล้ำยุคเป็นอย่างมาก มีการเคลื่อนไหวช้าๆเนิบๆ เพื่อให้ผู้ชมค่อยๆซึมซับรับทิวทัศน์ รายละเอียดต่างๆที่อยู่โดยรอบอย่างเต็มอิ่ม มันอาจไม่ทันใจวัยรุ่นสมัยนี้เท่าไหร่ แต่ลองให้ค่อยๆหายใจเข้าออกนะครับ มันเหมือนเป็นการทำสมาธิ (Mediation) อย่างหนึ่ง ชีวิตของมนุษย์เราก็เป็นแบบนี้แหละ ไม่ได้กระโดดเร่งรีบไปมา คล่อยๆเคลื่อนไหวเดินทางแบบนี้
อิทธิพลของการออกแบบ อาทิภาพวาด Nighthawks ของ Edward Hopper, การ์ตูนไซไฟสัญชาติฝรั่งเศสเรื่อง Métal Hurlant (Heavy Metal) วาดโดย Moebius, ภาพยนตร์เรื่อง Metropolis (1927) ของ Fritz Lang, Visual Style ได้อิทธิพลมาจากผลงานของ Antonio Sant’Elia ชาวอิตาเลี่ยนที่ชื่นชอบการวาด Futurist architect
ภาพวาด Nighthawks ของ Edward Hopper เป็นภาพสีน้ำมัน วาดปี 1942
Metropolis (1927) ของ Fritz Lang
https://ladyfancifull.files.wordpress.com/2015/07/metropolis-still-flicr.jpg
ผลงานของ Antonio Sant’Elia ชื่อ House with external elevators วาดปี 1914
ภาพพื้นหลัง(ไกลๆ) มีลักษณะเป็น matte paintings ภาพวาดกระจกที่นิยมใช้กันในยุค 50s แต่เพราะหนังมีการจัดแสงที่ใช้ความมืดค่อนข้างมาก ทำให้แทบจะจับผิดอะไรไม่ได้เลย วาด/ออกแบบฉากโดย Lawrence G. Paull, David L. Snyder, Linda DeScenna ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Art Direction น่าเสียดายไม่ได้รางวัล
นอกจากนี้ยังมีการจำลองสร้างตึก miniature ใช้กล้องควบคุมการเคลื่อนไหวโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ (นี่เป็นหนังเรื่องที่ 2 ถัดจาก Close Encounters of the Third Kind ที่ใช้วิธีการนี้) ช็อตแรกของหนังเปิดภาพมาด้วยทิวทัศน์ที่มีความอลังการ สุดลูกหูลูกตา และเปลวไฟที่พ่นออกมาได้ตรงจังหวะกับเสียงเพลง อันจะทำให้คุณขนลุกโดยทันที
ช็อตที่ถือว่าตราตะลึงผู้ชมสมัยนั้นมากๆ คือป้ายโฆษณาอันใหญ่ยักษ์ นี่ผมก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าทำอย่างไร คงจะเทคนิค blue-screen แล้วใช้การซ้อนภาพทับเอา
แต่ช็อตที่น่าพิศวงที่สุด มีชื่อว่า ‘shining eyes’ ที่แม้จะไม่รู้ว่าเป็นดวงตาของใคร แต่ได้นำเอาเทคนิคของ Fritz Lang ที่ชื่อว่า Schüfftan Process คือการสะท้องแสงไฟผ่านกระจกเข้าไปที่ดวงตาของมนุษย์ ทำให้เห็นเป็นจุดๆดวงๆ (จากฉาก) นับสิบนับร้อย
กับคนที่มีโอกาสรับชมหนังเรื่องนี้ฉบับตัดต่อที่ 3-5 ฉากจบจะเป็นภาพถ่ายทางอากาศเห็นทิวทัศน์สวยๆ ตัดสลับกับ Rachael และ Deckard ขับรถล่องไปในชนบท (ภาพทางอากาศนี้ไปขอฟุตเทจจาก Stanley Kubrick ที่ไม่ได้ใช้จากหนังเรื่อง The Shining-1980) จะเรียกว่าเป็น Alternate Ending ก็ได้นะครับ ผมไปเจอคลิปใน Youtube เผื่อใครไม่เคยเห็น
สำหรับเครื่อง Voight-Kampff ที่ใช้ตรวจจับความเป็นหุ่นยนต์ เป็นแบบทดสองเชิงจิตวิทยาที่ใช้การถามคำถามเฉลี่ย 20-30 ข้อที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกัน แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอารมณ์ การวัดผลจะอยู่ที่ปฏิกิริยาตอบโต้ (ไม่ใช่คำตอบ) สังเกตสายตา ชีพจร ลมหายใจ ว่ามีความผิดปกติไม่เหมือนมนุษย์มนาหรือเปล่า, Deckard บอกว่า จริงๆแล้ว 6-7 ข้อก็สามารถตอบได้เลย แต่เพื่อความแน่ใจจึงถามเพิ่มไปอีกหลายข้อ ส่วนตอนที่ถาม Rachael เห็นว่าถามเป็นร้อยข้อเลยนะครับ แต่หนังตัดข้าม ให้แค่รู้สึกเหมือนว่าไม่นานมาก
A very advanced form of lie detector that measures contractions of the iris muscle and the presence of invisible airborne particles emitted from the body. The bellows were designed for the latter function and give the machine the menacing air of a sinister insect. The VK is used primarily by Blade Runners to determine if a suspect is truly human by measuring the degree of his empathic response through carefully worded questions and statements.
– คำอธิบายจาก press kit ตอนฉายโรงเมื่อปี 1982
เกร็ด: ไอเดียของเครื่อง Voight-Kampff มาจากเอกสารตีพิมพ์ของ Alan Turing ปี 1951 ที่หลายคนอาจรู้จักในชื่อ The Imitation Game
ตัดต่อโดย Terry Rawlings กับ Marsha Nakashima ทั้งสองน่าจะทำฉบับ 1-5 ที่ฉายช่วงปี 1982 นะครับ ส่วนอีกสองฉบับที่เหลือ Director’s Cut กับ Final Cut น่าจะเป็น Ridley Scott ที่ตัดต่อเองเลย
ผมคงต้องขอพูดเฉพาะ Final Cut ที่ได้รับชมล่าสุดแล้วเท่านั้นนะครับ เพราะแต่ละฉบับคงมีความแตกต่างกันพอสมควรเลยละ
ฉบับนี้มีหลายครั้งทีเดียวที่ใช้การตัดต่อแบบ Montage คือตัดสลับภาพสองเหตุการณ์ไปมา อาทิ ภาพทิวทัศน์ตึกภายนอก กับ สายตา/คนที่อยู่ในรถ ฯ เป็นภาษาภาพยนตร์ที่แปลว่ากำลังมอง/กำลังเห็น, แต่ช็อต shining eyes ที่ผมแคปรูปมาให้ดูด้านบน คิดว่านั่นแทนด้วยสายตาของผู้ชมนะครับ ไม่ใช่ตัวละครไหนในหนัง
เทคนิคการซ้อนภาพ ความหมายแบบเดียวกับ Montage นะครับ แต่ให้สัมผัสอีกอารมณ์หนึ่ง กล่าวคือ
– Montage เป็นการมองเห็น/การกระทำ/ปฏิกิริยาที่แสดงออกมา (กายภาพ/ภายนอก)
– ซ้อนภาพ เพื่อให้เกิดสัมผัสความรู้สึก/ครุ่นคิด (มโนภาพ/ภายใน)
มุมมองการเล่าเรื่องของหนัง ถือว่าเป็นของพระเอก Deckard ที่ออกตามล่าค้นหาหุ่นนอกรีตทั้ง 5-6 ตน เพื่อทำการกำจัด/รีไทร์/สังหาร เสมือน bug/virus ที่ต้องถูกขจัดออกไป (เหมือน Mr. Anderson/Neo ใน Matrix Trilogy ที่ถูก Mr. Smith พยายามหาทางกำจัด), แต่ถ้าเรามองในมุมของเหล่า replicant เป้าหมายของพวกเขาคือการยืดอายุของตัวเองออกไป ได้พบกับผู้สร้างตา (การมองเห็น/วิสัยทัศน์) คนออกแบบวิศวกรเคลื่อนไหว (กายภาพ) ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะบุคคลเดียวเท่านั้นที่อาจจะช่วยได้คือ Tyrell (ออกแบบพันธุกรรม/จิตใจ) เรื่องราวจึงเป็นการออกแสวงหา ‘พระเจ้า/บิดา/ผู้สร้าง’ ซึ่งเมื่อพบแล้ว ได้รับรู้ว่าแม้แต่ผู้ยิ่งใหญ่/เฉลียวฉลาดที่สุด ก็ไม่สามารถทำให้พวกเขามีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ จึงกระทำการ ‘ฆ่าพระเจ้า’ เลิกเชื่อ เลิกศรัทธา และยอมรับชะตากรรมของตัวเอง นั่นคือความตายคือสัจธรรม
เพลงประกอบโดย Vangelis ต้องถือว่าเป็นตัวเลือกที่เลิศมากๆ เพราะชายชาวกรีกคนนี้เชี่ยวชาญเรื่องดนตรี Electronic, Progressive, Ambient ฯ ซึ่งผลงานที่ทำให้ได้ Oscar: Best Score คือ Chariots of Fire (1981) มีดนตรีที่ล้ำสมัยมาก ทำให้หนังเสมือนว่าอยู่เหนือกาลเวลา
บทเพลงมีความมืดหม่น สร้างสัมผัสของโลกอนาคตล้ำยุคไกลๆ ด้วยการผสมเสียงเครื่องดนตรี Classic เข้ากับเครื่อง Synthesizer (เครื่องสังเคราะห์เสียง) ที่ฟังไปก็ไม่รู้ว่ามาเป็นเสียงอะไร จะเรียกว่าเป็นบทเพลงในจินตนาการโลกอนาคตของคนยุค 80s ที่เกิดจากการสังเคราะห์สร้างขึ้น แทบไม่หลงเหลือเสียงเครื่องดนตรีที่เป็นธรรมชาติอยู่เลย
ผมนำ Main Theme มาให้ฟัง ไม่ต้องรีบกดข้ามถ้ายังไม่ได้ยินอะไรนะครับ เพลงมันจะค่อยๆดังขึ้นเรื่อยๆ อย่างใจเย็น วินาทีที่มันดังที่สุด จะทำให้คุณขนลุกขนพอง (ถ้าในหนังมันจะมีเปลวไฟประทุขึ้นมาด้วยตอนฉากเปิดเรื่อง)
Blade คือดาบ แหลมคม มีสองด้าน (มนุษย์/หุ่นยนต์, มีชีวิต/ไม่มีชีวิต) Runner แปลว่านักวิ่ง ขณะเดียวกันสามารถมองได้ว่าคือ การไล่ล่า, Blade Runner คือชื่อหน่วยงานหนึ่งของตำรวจ มีหน้าที่ตามไล่ล่าผู้ร้ายที่เป็นหุ่นยนต์/แอนดรอยด์/ไซบอร์ก/ปัญญาประดิษฐ์ อะไรก็แล้วแต่ที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์แต่ไม่ใช่มนุษย์ ได้รับการจัดว่าเป็นสิ่งนอกเหนือผิดกฎหมาย ต้องถูกกำจัดทำลายหรือรีไทร์ให้สิ้นซาก
นี่เป็นหนังที่ถือว่ามี Theme เยอะมากๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะคิดมองในมุมไหน อย่างที่ผมยกตัวอย่างไป
– มองในมุมของพระเอก Deckard จะเป็นเรื่องราวสืบสวนสอบสวน ค้นหาตัวผู้ร้ายหุ่นที่มีความผิด
– มองในมุมของ replicant คือการออกเดินทางค้นหาพระเจ้าผู้สร้าง
– มองในมุมของ Dr. Tyrell ลงมา (เหมือนพระเจ้ามองมนุษย์) เหมือนการได้พบลูกหลานของตนเอง
ฯลฯ
แต่ถ้ามองมุมแค่ในการนำเสนอของหนัง จะได้ใจความเป็นคำถาม 3 กลุ่ม
1. มนุษย์คืออะไร? หุ่นยนต์คืออะไร? มนุษย์กับหุ่นยนต์ต่างกันอย่างไร?
2. อะไรคือความจริง? ความฝัน? ความทรงจำ?
3. จุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหน? มีอะไรอยู่หลังจากนั้น?
ผมไม่ขอตอบสักคำถามนะครับ เพราะใจความของหนังมันไม่ใช่คำตอบ แต่คือคำถามที่ท้าให้ผู้ชมต้องไปครุ่นคิดเอาเอง ซึ่งจริงๆมันก็หาได้มีคำตอบที่ถูกต้องอยู่เสียทีเดียว ผมก็เลยตอบไม่ได้และไม่ขอตอบดีกว่า
การไว้ชีวิต Deckard ของ Betty นับว่าเป็นประเด็นศีลธรรมที่น่าสนใจทีเดียว ทำไมหุ่นยนต์ที่ถูกไล่ล่ากลับคิดได้ในวินาทีสุดท้ายของชีวิต ผิดกับมนุษย์ที่มีความเด็ดขาดไม่เห็นค่าของอะไร?
“I’ve seen things you people wouldn’t believe. Attack ships on fire off the shoulder of Orion. I watched C-beams glitter in the dark near the Tannhauser gate. All those moments will be lost in time, like tears in rain. Time to die.”
ผมขอเปรียบกับหนังเรื่องนี้ มนุษย์คือพระเจ้า และหุ่นยนต์คือมนุษย์, มันจะเป็นเรื่องเข้าใจได้โดยทันที ถ้าบอกว่าพระเจ้านั้นไม่จำเป็นต้องมีศีลธรรมใดๆเพราะเป็นผู้ออกกฎ/เป็นธรรมชาติ ผิดกับมนุษย์ที่มีสิทธิ์เลือก คิดกระทำ ตัดสินใจตามความต้องการของตนเอง, นี่ชวนให้คิดว่า มนุษย์มีศีลธรรมกว่าพระเจ้า อะไรแบบนั้นเหรอ??? ไม่ใช่นะครับ คำว่า ‘ศีลธรรม’ เป็นกรอบที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง พระเจ้าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นอะไรด้วยเลย เหมือนกับธรรมชาติมีหน้าที่ที่กระทำไปให้เกิดขึ้น อยากดีอยากเลวนั่นมนุษย์คิดตัดสินใจทำเอง ความต้องการ/การกระทำต่างหากที่บ่งบอกความดีความเลวในนิยามของมนุษย์
การที่ Deckard ตกหลุมรัก Rachael และหนีไปด้วยกันช่วงท้าย ผมรู้สึกว่ามีนัยยะคล้ายๆการรวมตัวกันของ มนุษย์กับหุ่นยนต์ (ประเด็นนี้คุณต้องมองว่า Deckard เป็นมนุษย์ ถ้ามองว่าเขาคือหุ่นก็จะใช้ไม่ได้โดยทันที) คล้ายๆกับ Ghost in the Shell ที่เป็นการรวมกันของสองจิตวิญญาณ แต่ในสถานะของหนังเรื่องนี้จะคือ กายกับกาย (กายที่เป็นมนุษย์ กับกายที่เป็นหุ่นยนต์) ซึ่งสามารถตีความหมายได้ว่า มนุษย์กับหุ่นยนต์ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน
จริงๆแล้ว Philip K. Dick ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้มีโอกาสได้ชมหนังเพียง 20 นาทีแรกเท่านั้น (ก่อนจะเสียชีวิตเดือนมีนาคม 1982) แต่ก็ได้แสดงความเห็น ความปรับทับใจรุนแรง (extremely impressed) บอกว่า “It was my own interior world. They caught it perfectly.” ตลกคือ Ridley Scott ไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้เลยนะครับ (คืออ่านแต่บทภาพยนตร์เลย ไม่เคยอ่านนิยาย)
ด้วยทุนสร้าง $28 ล้านเหรียญ ความเรื่องมากของ Warner Bros. ทำให้ฉายครั้งแรกหนังทำเงินทั่วโลกได้เพียง $33.8 ล้านเหรียญ กระนั้นเมื่อมีการเกิดขึ้นของ VHS, Laserdisc ได้กลายเป็นกระแส Cult ขายดีจนทำกำไรได้ เรียกว่าเหนือกาลเวลาไปเลย
เข้าชิง Oscar 2 สาขาด้านเทคนิค เป็นไปได้ยังไงไม่ได้สักรางวัล
– Best Art Direction พ่ายให้กับ Gandhi
– Best Visual Effects พ่ายให้กับ E.T. the Extra-Terrestrial
อิทธิพลที่เกิดขึ้นจาก Blade Runner เรื่องแรกสุดเลยน่าจะเป็น Ghost in the Shell (1995), ตามมาด้วยซีรีย์ Battlestar Galactica (2004) ฯ ถ้าเป็นเกมอาทิ ซีรีย์ Deus Ex, Shadowrun ฯ
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ จำได้ว่ารับชมมาหลายรอบแทบจะหลับทุกครั้ง ตื่นตาตื่นใจกับงานภาพ Visual Effect เฉพาะครั้งแรก หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรน่าค้นหาเท่าไหร่ นอกจากคนชอบคิดวิเคราะห์ คือถ้าผมไม่สร้างบล็อคนี้ก็ไม่คิดจะมาทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้เลยนะครับ คือไม่รู้สึกสนุกคลั่งชื่นชอบได้ขนาดนั้น
ตอนออกฉายหนังถูกนักวิจารณ์สับเละเป็นโจ๊ก แทบทั้งนั้นไม่ชอบวิธีการเล่าเรื่อง และพัฒนาการของตัวละครมีน้อยเกินไป (คือ Visual Effect ตระการตาจนพล็อตเบาไปหน่อย) นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งด้วยที่ทำให้ตัวหนังขาดทุนย่อยยับ แต่กาลเวลาได้แปรสภาพจนมีหลายๆคนยกย่องหนังเรื่องนี้ว่าคือ Masterpiece ของหนังไซไฟ
คือถ้าเทียบกับ 2001: A Space Odyssey (1968) ที่ตั้งคำถามปรัชญาเกี่ยวกับจักรวาล, Solaris (1972) ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีตัวตนตัวตน หรือ Ghost in the Shell (1995) อนิเมชั่นที่ตั่งคำถามเกี่ยวกับมนุษย์หุ่นยนต์ และการผสมร่วมกัน ฯ แค่สามเรื่องนี้ก็พาลให้คำถามเชยๆของ Blade Runner ‘มนุษย์คืออะไร?’ ขาดความน่าสนใจไปโดยสิ้นเชิง (ในสายตาของผมนะ)
แนะนำกับคอหนังไซไฟ ชื่นชอบการคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม เชิงปรัชญา ฯ, ชื่นชอบงานภาพ Visual Effect สวยงามอลังการ เพลงประกอบล้ำยุคโลกอนาคต, แฟนหนัง Ridley Scott และ Harrison Ford ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 15+ กับความอึมครึม ดูยาก ความเข้าใจ ปรัชญา และความตาย
ควรได้ Legendary นะ