Blade Runner 2049 (2017) : Denis Villeneuve ♥♥♥♥♡
สิ่งที่ Ryan Gosling ออกตามหาคือ ‘ปาฏิหารย์แห่งชีวิต’ สิ่งมีชีวิตที่ถือกำเนิดจากหุ่น Replicants นี่ชวนให้ตั้งคำถามว่า แล้ว ‘จิตวิญญาณ’ (Soul) คืออะไร? มีจุดเริ่มต้นจากที่ไหน? และสิ้นสุดลงเมื่อไหร่?, ผู้กำกับสัญชาติแคนาเดียน Denis Villeneuve ได้สร้างปาฏิหารย์ก้าวผ่านต้นฉบับ Blade Runner (1982) ในทุกๆระดับ ไม่ใช่แค่งานภาพที่ลึกล้ำยุค แต่รวมถึงปรัชญาร่วมสมัย คงเหลือแค่กาลเวลาจะผ่านไปเมื่อไหร่เท่านั้น
ผมค่อนข้างเพลิดเพลินเต็มอิ่มกับ 163 นาทีของหนัง ครุ่นคิดวิเคราะห์ตามอย่างปวดกระโหลก พยายามสังเกตมองหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ ต้องถือว่า Blade Runner 2046 เป็นภาพยนตร์ที่ดูยากมากๆเรื่องหนึ่ง มีความซับซ้อนในการครุ่นคิดวิเคราะห์ระดับที่ 2001: A Space Odyssey (1968) กลายเป็นเด็กน้อยไปเลยในยุคสมัยนี้ แต่มันอาจไม่ใช่ First Impression ความประทับใจแรกของใครหลายๆคน เพราะเราอยู่ในยุคที่เรียกว่า ‘รวมสมัย’ หลายสิ่งอย่างและแนวคิดของหนัง ถูกมองว่าได้มีการผสมผสาน รับอิทธิพลจากสื่อหลายแขนง ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ แต่ยังรวมถึงอนิเมชั่น เกม เพลง หนังสือ ภาพวาด งานศิลปะ ฯ กระนั้นส่วนผสมต่างๆที่คลุกเคล้าจนกลายมาเป็นเมนูเด็ด การันตีเลยว่าไม่เคยพบเจอที่ไหนมาก่อนแน่ และคิดว่าอาจเป็น A La Carte อาหารจานเดียว ที่มีแนวโน้นไม่สามารถแปรสภาพกลายเป็น Fast Food แพ็กใส่หีบห่อได้แน่
หวนนึกถึงหนังเรื่อง Tron: Legacy (2010) ความงดงาม Visual Art ของหนังเรื่องนั้นอยู่ในระดับ Masterpiece แค่เนื้อเรื่องราวมันไม่ได้มีความลึกล้ำซับซ้อนมากพอ สนองคอหนัง Sci-Fi ได้อย่างเต็มอิ่ม จึงทำให้อาจแค่ครั้งเดียวเท่านั้นในประวัติศาสตร์ (Disney คงไม่เข็นภาคต่อออกมาง่ายๆแน่) หาภาพยนตร์มีความสวยงามลักษณะนี้เรื่องอื่นใดคงไม่ได้แล้ว, สำหรับ Blade Runner 2049 ก็แอบหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น ผมลุ้นให้พบเจอความสำเร็จมากพอ เพราะมันมีประเด็นปลายเปิดอยู่มาก สามารถขยายจักรวาลนี้ออกไปให้ไม่มีที่สิ้นสุด กระนั้นก็ขอไม่ Ridley Scott หรือ Denis Villeneuve หรือ Christopher Nolan ใครสักคนมาสานต่อด้วยนะ ต้องอาศัยผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์ระดับนี้เท่านั้น ถึงสามารถสนองคอหนัง Sci-Fi ได้อย่างเพียงพอและน่าพึงพอใจ
ก่อนจะไปเริ่มต้นพูดถึงหนัง เนื่องจากภาคใหม่นี้ดำเนินเรื่องราวห่างจากภาคแรกเป็นเวลาถึง 30 ปี (หนังสร้างห่างกัน 35 ปี) ผู้กำกับ Denis Villeneuve ได้มีการสร้างหนังสั้นขึ้น 3 เรื่อง มอบหมายให้สองศิลปินยอดฝีมือ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการรับชมหนังเรื่องนี้ ประกอบด้วย
– Black Out 2022 อนิเมชั่นสร้างโดย Shinichirō Watanabe ผู้กำกับอนิเมะซีรีย์ Cowboy Bebop (1998), Samurai Champloo (2004), Space Dandy (2014) ฯ นำเสนอจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ Black Out เมื่อปี 2022 โลกตกอยู่ในความมืดมิดสนิท อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นใช้งานไม่ได้ ทำให้ข้อมูลต่างๆช่วงปีก่อนหน้านี้สูญหายแทบหมดสิ้น
– 2036: Nexus Dawn หนังสั้นกำกับโดย Luke Scott (ลูกชายของ Ridley Scott), เรื่องราวของ Niander Wallace (รับบทโดย Jared Leto) ยื่นเรื่องต่อหน้า Lawmaker (หนึ่งในนั้นนำแสดงโดย Benedict Wong) เพื่อต้องการซื้อ/ฮุบกิจการของ Tyrell Corporation ที่ล้มละลาย ให้เป็นส่วนหนึ่งของ Wallace Corporation
– 2048: Nowhere to Run หนังสั้นกำกับโดย Luke Scott เช่นกัน, เรื่องราวของ Sapper Morton (รับบทโดย Dave Bautista) หุ่น Nexus-8 ที่เหลือรอดชีวิต ได้เผลอเข้าไปพัวพันกับเหคุการณ์อะไรบางอย่างทำให้ถูกพบตัว อันจะเป็นเรื่องราว Prologue นำเข้าสู่หนังเรื่องนี้
ใครสนใจอ่านรายละเอียดเต็มๆ คลิกโลด: https://pantip.com/topic/36937792
สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่าจำเป็นต้องดูภาคแรกก่อนหรือเปล่า ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งเลยนะครับ ถึงเรื่องราวจะไม่ได้ต่อเนื่องกัน แต่มีหลายสิ่งอย่างที่คุณควรรับรู้เข้าใจก่อนรับชมหนังเรื่องนี้
ผู้กำกับ Ridley Scott สร้าง Blade Runner (1982) ไม่ได้คาดคิดหวังให้มีภาคต่อ แถมตอนฉายก็ขาดทุนย่อยยับเยิน เสียงวิจารณ์ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จนแทบสูญเวลาสองปีในชีวิตไปเปล่าๆ แต่การมาถึงของ VHS, แผ่น Laser Disc, CD/DVD สร้างยอดขายระดับ Blockbuster กลายเป็นกระแส Cult ได้รับความนิยมอย่างสูง จนสตูดิโอผู้สร้าง Warner Bros. ขู่เข็นกึ่งบังคับให้ Scott ทำการตัดต่อปรับปรุงหนังให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น กลายเป็น The Director’s Cut (1992) และ The Final Cut (2007) [คงไม่มี Ultimate Cut เกิดขึ้นตามมาอีกนะ] เพราะทนเสียงเรียกร้องของแฟนๆไม่ไหว
ใน Wikipedia ระบุว่าภาคต่อของ Blade Runner เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1999 เมื่อผู้สร้างหนังสัญชาติอังกฤษ Stuart Hazeldine ได้พัฒนาบทภาพยนตร์โดยอ้างอิงจากนิยายไซไฟของ K.W. Jeter เรื่อง The Edge of Human [ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Do Androids Dream of Electric Sheep? ของ Philip K. Dick] ตั้งชื่อโปรเจคว่า Blade Runner Down แต่เพราะติดขัดเรื่องลิขสิทธิ์กับผู้แต่ง ทำให้ต้องขึ้นหิ้งไว้ไม่ได้รับการสานต่อ
หลังเสร็จจากการตัดต่อ The Final Cut เมื่อปี 2007 ผู้กำกับ Ridley Scott จึงเริ่มวางแผนภาคต่อด้วยตนเอง ตั้งชื่อ Working Title ว่า Metropolis มอบหมายให้นักเขียน Travis Adam Wright พัฒนาเรื่องราวเกี่ยวกับ Off-World Colonies และสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Tyrell Corporation ภายหลังการเสียชีวิตของผู้ก่อตั้ง
ปีถัดมา หนังสือพิมพ์ New York Times รายงานว่า Tony Scott น้องชายผู้ล่วงลับของ Ridley ได้วางแผนสร้าง Blade Runner prequel อาจใช้ชื่อว่า Purefold ดำเนินเรื่องในปี 2019 วางแผนเป็นซีรีย์สั้นความยาว 5-10 นาทีต่อตอน ออกฉายไม่ผ่านเว็บก็โทรทัศน์ แต่ติดขัดเรื่องเงินทุน สุดท้ายก็เลยต้องล้มเลิกโปรเจคไป
เกร็ด: เห็นว่า Christopher Nolan ก็เคยมีความสนใจพัฒนาภาคต่อของ Blade Runner ด้วยนะครับ
Scott พยายามเตะถ่วงหนังเรื่องนี้มานานหลายปี หาข้ออ้างโน่นนี่นั่น โปรเจคล้นมือ จนกระทั่งยอมประกาศว่าคงหาเวลาไม่ได้ จึงกำลังสรรหาผู้กำกับใหม่อยู่ Andrew A. Kosove กับ Broderick Johnson สองโปรดิวเซอร์ได้เข้าหาผู้กำกับ Denis Villeneuve ที่ตอนนั้นยังไม่มีโด่งดังนักในอเมริกา ตอนแรกก็บอกปัดปฏิเสธเพราะกำลังเตรียมงานสร้าง Arrival (2016) แต่หลังจากได้ข้อสรุปเรื่องตารางเวลา โปรดิวเซอร์บอกว่ารออีกสักปีจะเป็นไร จึงยอมเปลี่ยนใจตอบตกลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015 จากนั้น Harrison Ford ตบปากรับคำกลับมา และนักเขียนบทภาพยนตร์จากต้นฉบับ Hampton Fancher จึงได้ร่วมแจมด้วยอีกคน
Denis Villeneuve (เกิดปี 1967) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ French Canadian เกิดที่ Trois-Rivières, Quebec พ่อเป็นชาวฝรั่งเศส เรียนจบ Université du Québec à Montréal เริ่มต้นจากทำหนังสั้นคว้ารางวัล ได้กำกับตอนหนึ่งของ Cosmos (1996), สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก August 32nd on Earth (1998) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Un Certain Regard นักแสดงคว้ารางวัล Prix Jutra: Best Actor, ตามด้วย Maelström (2000) คว้ารางวัล FIPRESCI Prize จากเทศกาลหนังเมือง Berline และกวาด 5 รางวัล Genie Award (เทียบเท่ากับ Oscar ของประเทศแคนาดา) รวมถึง Best Picture, Best Director ฯ ข้ามมาทำงาน Hollywood เรื่องแรก Prisoners (2013) รวมดาราดังอย่าง Hugh Jackman, Jake Gyllenhaal, Viola Davis ฯ
Villeneuve ถือเป็นผู้กำกับรุ่นเดียวกับ Christopher Nolan เกิดก่อนซ้ำด้วย (Nolan เกิดปี 1970 เป็นชาวอังกฤษ ทำงาน Hollywood มาตั้งแต่ปี 2000) แต่มามีชื่อเสียงระดับโลกทีหลัง น่าจะเพราะอุปสรรคเรื่องภาษา (Villeneuve พูดฝรั่งเศสตามพ่อ สำเนียงอังกฤษถึงปัจจุบันก็ยังไม่ชัดเท่าไหร่) ทำให้กว่าจะได้มาเริ่มงาน Hollywood ก็ปี 2013, ว่ากันตามตรง หลังจากรับชมหนังเรื่องนี้ผมรู้สึก Villeneuve เป็นผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์ ความสามารถโดดเด่น ควบคุมงานสร้างได้เหนือกว่า Nolan เสียอีกนะ โดยเฉพาะรสนิยมความสนใจถูกลิ้นสัมผัสของผมมากๆ ตั้งแต่ได้เคยรับชม Sicario (2015), Arrival (2016) และหนังเรื่องนี้ที่ได้ยืนยันความมั่นใจ พาลให้อยากสรรหาหนังแคนาดายุคแรกๆของพี่แกมาดูเลยทีเดียว เห็นว่าปัจจุบันเป็นเจ้าของสถิติ คว้า Genie Award: Best Director ได้ถึง 4 ครั้ง เป็นรองเพียง David Cronenberg ที่กวาดไป 5 มีแนวโน้มสูงมากจะทำลายลงได้ น่าจะถือว่าเป็นผู้กำกับสัญชาติ Canadian ประสบความสำเร็จ ได้รับการยกย่องกล่าวขาน มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก
Blade Runner ภาคแรกได้แรงบันดาลใจจาก Do Androids Dream of Electric Sheep? นิยายไซไฟปรัชญาของ Philip K. Dick ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1968 มีพื้นหลังเป็นเมือง San Francisco ในยุค Post-Apocalypse ปี 2019 ผลกระทบจากสงครามนิวเคลียร์ (World War Terminus) อันเป็นเหตุให้สรรพสัตว์สิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกได้รับการปนเปื้อนกัมมันตรังสี บริษัท Tyrell Corporation ได้สร้างหุ่น Replicants ได้รับการพัฒนาขึ้นจนมีรูปร่างลักษณะความคิดเหมือนมนุษย์ทุกประการ จุดประสงค์เพื่อทดแทนแรงงานและส่งไปทำงานนอกโลก (Off-World) ตามดวงจันทร์, ดาวอังคาร ฯ มีสถานะดั่งทาส ไม่ได้รับอนุญาติให้กลับลงมาบนโลก แต่กลับมีหุ่น Nexus-6 หกตนที่สามารถหลบหนีมาได้สำเร็จ ทำให้ Rick Deckard อดีตตำรวจเก่า หรือ Blade Runner ถูกเรียกตัวมาเพื่อตามไล่ล่าปลดเกษียณ (retired) หุ่นขบถกลุ่มดังกล่าว แต่ดันมีหุ่นหญิงสาวสวยชื่อ Rachael ก็ไม่รู้ไปทำเสน่ห์ท่าไหนให้ Deckard ตกหลุมรัก หลังจากปลดระวางหุ่น Nexus-6 ทั้งห้าตนสำเร็จ ตัดสินใจไว้ชีวิตเธอ แล้วหนีไปอาศัยอยู่ด้วยกันไกลแสนไกล
Blade Runner 2049 ดำเนินเรื่องหลังจากเหตุการณ์ภาคแรก 30 ปี ย้ายสถานที่มาเป็น Los Angeles เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ K6-3.7 (รับบทโดย Ryan Gosling) ได้ปลดระวางหุ่น Nexus-8 ตนหนึ่ง ทำให้ได้ค้นพบบางสิ่งอย่างที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ โครงกระดูกที่ถูกฝังไว้มีร่องรอยของการคลอดเด็กทารก สืบค้นพบนั่นคือ Rachael ที่คงตั้งครรภ์กับ Deckard เรื่องราวการตามหาสิ่งมีชีวิต ที่ไม่รู้จะเรียกหุ่นยนต์หรือมนุษย์หรืออะไรดี จึงได้เริ่มต้นขึ้น
Ryan Thomas Gosling (เกิดปี 1980) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ London, Ontario เริ่มมีผลงานตั้งแต่อายุ 12 สมทบละครซีรีย์หลายเรื่อง พออายุ 19 ถึงค่อยเริ่มคิดจริงจังกับการแสดง รับบทนำเรื่องแรก The Believer (2001) โด่งดังกับ The Notebook (2003), Half Nelson (2006), Lars and the Real Girl (2007), Blue Valentine (2010), Drive (2011), The Big Short (2015), La La Land (2016) ฯ
รับเจ้าหน้าที่ตำรวจ K6-3.7 หรือ Jo เป็นหุ่น Replicants รุ่นใหม่ของ Wallace Corporation ที่มีรูปลักษณ์ ความคิดอ่านเหมือนมนุษย์แทบทุกประการ ใบหน้านิ่งๆ ไม่เคยยิ้ม ซีเรียสจริงจังตลอดเวลา แต่กลับตกหลุมรัก Joi โฮโลแกรมปัญญาประดิษฐ์ แม้มิเคยได้สัมผัสแตะต้องก็เหมือนเติมเต็มซึ่งกันและกัน (หุ่น Replicants ที่ไร้จิตวิญญาณ ตกหลุมรักกับโฮโลแกรมที่ไร้ตัวตน)
การพบเจอร่อยรอยของสิ่งไม่น่าเป็นไปได้ ทำให้ K ต้องออกเดินทางสืบค้นหาลูกของ Rachael ยังสถานที่ต่างๆ พบเจอหลายสิ่งอย่างคาดคิดไม่ถึง อันทำให้กระบวนการคิด ทัศนคติเปลี่ยนแปลงไป จนสามารถก้าวผ่านเอาชนะข้อจำกัดของตัวเอง ราวกับว่าตัวเขากลายเป็นผู้มี ‘จิตวิญญาณ’ ความเป็นมนุษย์ขึ้นมา
ผู้กำกับบอกว่า พัฒนาตัวละครนี้ขึ้นมาโดยมีภาพของ Gosling อยู่ในใจตั้งแต่แรก ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ตอบตกลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 เพราะความสนใจอยากร่วมงานกับ Villeneuve และตากล้อง Roger Deakins, เรื่องการแสดงผมรู้สึกขำขันกับใบหน้านิ่งๆ ท่าทางจริงจังของ Gosling อย่างมาก ขัดแย้งกับบุคลิกตนเองพอสมควร ถือเป็นหุ่นที่โคตรเก็บกด ไม่ค่อยแสดงอารมณ์อะไรออกมาชัดเจน มีความสุขก็แค่ยิ้มมุมปากเล็กๆ เว้นแค่ตอนความรวดร้าวอัดอั้นทรมานใจถึงขีดสุดพร้อมปะทุออกมา หายใจเข้าลึกๆแล้วระบายออกโดยกลั้นหายใจ ถึงจะดูตลกๆ แต่เลือดขึ้นหน้าก็ทรงพลังอยู่นะ
สำหรับเครื่อง Voight-Kampff ที่ใช้ตรวจจับความเป็นหุ่นยนต์ในภาคแรก ได้รับการพัฒนาต่อจนกลายเป็นเครื่องประเมินประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ Blade Runner น่าจะใช้คอมพิวเตอร์ล้วนๆประมวลผลออกมา ไม่ได้ต้องใช้มนุษย์เป็นผู้ตรวจสอบเหมือนก่อน, ซึ่งลักษณะการทดสอบเป็นการใช้ถามคำถามเชิงจิตวิทยา ที่มีผลกระทบทางอารมณ์ การประเมินผลวัดจากปฏิกิริยาการโต้ตอบ สายตา ชีพจร ลมหายใจ ว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า
K ผ่านเข้าห้องทดลอง/เครื่องนี้สองครั้ง ในช่วงขณะสองอารมณ์
– ครั้งแรกประเมินผลมา สมาธิ ปฏิกิริยาโต้ตอบดีเยี่ยม อยู่ในสภาพพร้อมรับมือทุกสถานการณ์
– ครั้งสองหลังจากได้ค้นพบความจริงบางอย่าง เกิดความปั่นป่วนไม่สงบภายใน ผลลัพท์การทดสอบก็แน่นอนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป
เหมือนว่า LAPD ใช้เจ้าเครื่อง Voight-Kampff เพื่อตรวจสอบการทำงานของหุ่น Replicants กล่าวคือ ถ้ายังมีความมั่นคงในอารมณ์หน้าที่การงาน ย่อมสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิผล ไม่เป็นภัยต่อมนุษย์ ซึ่งเมื่อไหร่เกิดความผิดปกติเกิดขึ้น แปลว่าหุ่นตนนั้นมีแนวโน้มเป็นอันตราย ต้องได้รับการถูกกำจัดทำลาย
Ana Celia de Armas Caso (เกิดปี 1988) นักแสดงสัญชาติ Cuban เกิดที่ Santa Cruz del Norte เติบโตขึ้นที่ Havana เข้าเรียนการแสดงที่ National Theater School of Cuba มีผลงานเรื่องแรก Una rosa de Francis (2006) จากนั้นย้ายไปอยู่สเปนตามด้วย Hollywood ประกบ Keanu Reeves เรื่อง Knock Knock (2015) กับ Exposed (2016)
รับบท Joi โฮโลแกรมปัญญาประดิษฐ์ คนรักของ K เธอเป็น AI ที่สนองตามความต้องการของเจ้าของทุกอย่าง เพื่อให้เป็นที่รักหนึ่งเดียว เหมือนจะมีความคิดต้องการเป็นของตัวเอง แต่นั่นเกิดจากการโปรแกรมมาหรือเปล่า
ร้อยทั้งร้อยกับคนที่เคยรับชมหนังเรื่อง Her (2013) ของผู้กำกับ Spike Jonze นำแสดงโดย Joaquin Phoenix ต้องพูดถึงในลักษณะเดียวกัน ผมเพิ่งหามารับชมเมื่อคืนก็ยังรู้สึกว่ามีอิทธิพลอยู่เต็มเปี่ยม เทียบไม่ได้เลยกับหนังเรื่องนั้น แต่ก็มีการเติมเต็มบางสิ่งอย่างที่ Her ไม่สัมฤทธิ์ผล นั่นคือ ‘Sex กับตัวตายตัวแทน’ กับหนังเรื่องนั้นคุณจะรับรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่กับ Blade Runner เป็นความรู้สึกที่จับต้องไม่ได้เสียเท่าไหร่ เพราะพระเอกเป็นหุ่น มี Sex กับหุ่นโสเภณี สวมวิญญาณโดย Hologram มันอะไรว่ะ!
ความรักระหว่าง K กับ Joi มองได้เหมือนการแสวงหาจิตวิญญาณของตนเอง, K คือหุ่น Replicants ที่มีร่างแต่ไร้จิตวิญญาณ ขณะที่ Joi นั้นมีแต่รูปวิญญาณความคิดแต่ไร้ซึ่งรูปร่างจับต้องได้ นั่นทำให้เธอพยายามแสวงหาที่สิงสถิตย์เป็นของตัวเอง เหตุผลที่ K ตกหลุมรักเธอ เหมือนเพื่อเป็นการแสวงหาและเติมเต็มความต้องการเป็นมนุษย์ (ร่างกาย+จิต) เมื่อใดที่ทั้งสองรวมกันก็เหมือนว่า ‘ความมีชีวิต’ ได้บังเกิดขึ้น เช่นกันกับขณะสูญเสีย ร่างกายที่ไร้วิญญาณก็ไม่หลงเหลืออะไรให้ยึดเหนี่ยว
Ana de Armas น่ารักน่าชังดีนะครับ แต่เธอเคยแต่งงานแล้ว หนุ่มๆทั้งหลายก็ทำใจไว้เลย, ผมชอบดวงตาที่ใสซื่อบริสุทธิ์ มันเหมือนไม่มีอะไรเคลือบแฝงซ่อนอยู่ แต่กับ AI เพราะโปรแกรมถูกสร้างมาแบบนั้น คุณไม่มีทางรับรู้สิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจของเธอเป็นแน่ มันอาจกลวงโบ๋ไม่มีอะไรเลยแบบหุ่นโสเภณีตนนั้นที่พูดถึงก็ได้ (แต่นั่นผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเธอหมายถึงอะไร)
Harrison Ford (เกิดปี 1942) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Chicago, Illinois, ในตอนแรกมีความสนใจเป็นนักพากย์กีฬา DJ จัดรายการวิทยุ แต่สมัครงานไม่ได้เลยมาเล่นหนัง รับบทสมทบใน American Graffiti (1973), The Conversation (1974), Apocalypse Now (1979) ถือเป็นเด็กปั้นของ Francis Ford Coppola ที่ได้แนะนำต่อกับ George Lucas รับบท Han Solo ในไตรภาคแรก Star Wars และ Steven Spielberg ตัวละคร Indiana Jones เรื่อง Raiders of the Lost Ark (1981)
หวนกลับมารับบท Rick Deckard ที่ครานี้กลายเป็นตาแก่หัวดื้นรั้น ไม่ชอบฟังคำใคร ใช้ชีวิตไปวันๆกับสุนัขตัวหนึ่ง ไม่หลงเหลือเป้าหมายใดๆในชีวิต, การมารุกรานของ Jo ได้นำพาความสับสนวุ่นวายอลม่าน พาลขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตที่อยากหลงลืม กระนั้นก็ทำให้ได้หวนพบเจอลูกรักที่หายตัวไป ไม่ได้เห็นหน้ากว่า 20 ปี
ประเด็นที่ว่า Deckard เป็นมนุษย์หรือหุ่น Replicants ยังคงไม่ได้รับการนำเสนอในหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับ Villeneuve จงใจสร้างความคลุมเคลือ ค้างคาคงไว้แบบเดิม เก็บให้เป็นข้อถกเถียงจนชั่วลูกชั่วหลาน (และมันไม่ใช่สาระด้วยที่จะคิดหาคำตอบด้วยนะครับ)
การนำ Ford กลับมา เอาจริงๆไม่ใช่เรื่องจำเป็นนัก แต่เพื่อให้เกิดกลิ่นอาย Nostalgia สนองแฟนหนังรุ่นเก่าที่อยากเห็นชะตากรรมของตัวละครคุ้นเคย ซึ่งก็มีความคล้ายกับ Star Trek (2009), Tron: Legacy (2010), Star Wars: The Force Awakens (2015) พระเอกภาคเก่าๆ หวนกลับมาเพื่อเป็นจุดเชื่อมประสานรอยต่อ ระหว่างโลกเก่ากับโลกใบใหม่ ให้สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยตนเอง
ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังกับสิ่งที่ Deckard กลายเป็นพอสมควร แต่นี่เป็นตัวละครที่ภาคแรกก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นอยู่แล้ว ซ้ำร้าย misfit ทำอะไรก็ผิดพลาด ดวงซวย โชคร้ายไปหมด มาภาคนี้ต่อยใครก็แพ้ไปหมด แถมไคลน์แม็กซ์ยังกลายเป็น Damsel in Distress ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รอคอยพระเอกตัวจริงขี่ม้าขาวมาช่วย
Jared Joseph Leto (เกิดปี 1971) นักแสดง/นักร้อง สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Bossier City, Louisiana, แม่เป็นชาว Hippie เลยส่งเสริมให้ลูกๆมีความสนใจเกี่ยวกับงานศิลปะ เป็นนักดนตรีร่วมกับพี่ชาย โตขึ้นเข้าเรียน University of the Arts, Philadelphia หลังจากเริ่มสนใจในภาพยนตร์ ย้ายไปเรียน School of Visual Arts, New York City จบมาได้งานรายการโทรทัศน์ แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก How to Make an American Quilt (1995) ได้รับคำชมแรกจาก Prefontaine (1997) ตามด้วย The Thin Red Line (1998) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Fight Club (1999), American Psycho (2000), Panic Room (2002), Alexander (2004), คว้า Oscar: Best Supporting Actor จาก Dallas Buyers Club (2013) ล่าสุดรับบท Joker ในจักรวาล DC
รับบท Niander Wallace นักประดิษฐ์/ผู้ก่อตั้ง Wallace Corporation ที่ทำการฮุบกิจการของ Tyrell Corporation เมื่อปี 2036 ผูกขาดการผู้ผลิตหุ่น Replicants (เจ้าตัวเรียกว่า Angel) กระนั้นสิ่งหนึ่งที่ชายตาบอดแต่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ผู้นี้ทำไม่ได้ คือสร้างนางฟ้าที่สามารถสืบพันธุ์ได้ ซึ่งเมื่อได้ยินว่าหนึ่งในหุ่น Nexus รุ่นก่อนของ Tyrell สามารถคลอดลูกได้สำเร็จ จึงมีความต้องการเด็กคนนั้น เพื่อเติมเต็มบทบาทของตนเอง จะได้กลายเป็นพระเจ้าอย่างเต็มตัวเสียที
ขณะที่ Dr. Eldon Tyrell นักประดิษฐ์/ผู้ก่อตั้ง Tyrell Corporation เปรียบเทียบได้คือพระเจ้าผู้สร้างของเหล่า Replicants แต่ Niander Wallace ยังไม่ได้สามารถยกตนเสมือนได้ (หุ่นหญิงสาวต้นเรื่องที่ถูกกรีดท้อง นั่นเป็นบริเวณมดลูก สิ่งที่เจ้าตัวยังสร้างไม่สำเร็จสักที) เพราะถึงสามารถสร้างเรือนร่างของ Rachael ให้เหมือนเก่าก่อนได้ แต่ยังขาดซึ่งจิตวิญญาณ (ดวงตาเป็นหน้าต่างของจิตใจ แค่สีตาผิดก็สะท้อนถึงคนละตัวตน/จิตวิญญาณ)
ความตั้งใจแรกของผู้กำกับ ต้องการให้ David Bowie มารับบทนี้ เห็นว่าติดต่อไว้แล้วด้วยแต่พี่แกพลันด่วนเสียชีวิตจากไปก่อนเริ่มการถ่ายทำเล็กน้อย, ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสนิท Jean-Marc Vallée ที่เคยร่วมงานกับ Leto เรื่อง Dallas Buyers Club (2013) ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
เพื่อความสมจริงกับตัวละคร Leto สวมใส่คอนแทคเลนส์ชนิดที่มองอะไรไม่เห็นจริงๆ เพิ่มความสมจริงให้กับการแสดงอย่างมาก, สำหรับการแสดงต้องชมเลยว่า Leto ได้สร้างมิติความลุ่มลึกให้กับตัวละครอย่างมาก พูดจาช้าๆเนิบๆแต่เต็มไปด้วยภาษาปรัชญา ภาพลักษณ์เหมือนศาสดา/บาทหลวง ที่กุมชะตากรรมของโลกทั้งใบไว้ในมือ
ในภาคแรก หัวหน้ากลุ่ม Nexus-6 รับบทโดย Rutger Hauer นักแสดงสัญชาติ Dutch กับหนังเรื่องนี้ผู้กำกับจงใจมากๆในการเลือก Sylvia Hoeks (เกิดปี 1983) นักแสดงหญิงสัญชาติ Dutch เช่นกัน เธอมีชื่อเสียงจาก Duska (2007) คว้ารางวัล Golden Calf: Best Actress (เทียบเท่ากับ Oscar ของประเทศเนเธอร์แลนด์) และหนังรางวัลเรื่อง The Best Offer (2013) ของผู้กำกับ Giuseppe Tornatore (Cinema Paradiso)
รับบท Luv หุ่น Angel ที่ Wallace ถือว่าสมบูรณ์แบบสุดตั้งแต่เคยสร้างมา เป็นทั้งเลขานุการ รองประธานบริษัท (ทำงานแทน Wallace น่าจะได้แทบทุกอย่าง) และนักฆ่ายอดฝีมือ มีนิสัยหยิ่งยโสโอหัง หลงตัวเอง มองผู้อื่นเป็นเพียงเศษดินไร้ค่า เสียชีวิตจากการถูกกดให้จมน้ำมิด มองขึ้นไปเห็นเพียงเงาลางๆของความเป็นมนุษย์
คงเพราะ Hoeks เป็นโมเดลลิ่งด้วยกระมัง ความ Sexy รัดรูป สวยสง่า แถมการแสดงยังแรงได้ใจ พาลให้ผู้ชมรังเกียจ หมั่นไส้ได้อย่างถึงทรวง โดยเฉพาะคำพูดว่า I’m the best. ต้องคนที่ high จัดๆ หลงตัวเองสุดๆ ถึงจะกล้าชมตัวเองขนาดนี้
Robin Gayle Wright (เกิดปี 1966) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Dallas, Texas มีชื่อเสียงจากละครโทรทัศน์ Soap Opera ตามด้วยภาพยนตร์ The Princess Bride (1987), Forrest Gump (1994), Unbreakable (2000), Moneyball (2011), Wonder Woman (2017) ฯ
รับบท Lt. Joshi หัวหน้าที่เป็นมนุษย์ของ K เป็นคนเย่อหยิ่งทะนงตน อวดดี เต็มเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีหน้าที่ของความเป็นมนุษย์, ในมุมมอง หน้าที่รักษาความสงบของผู้พิทักษ์สันติราช LAPD จึงมิได้มีความสนใจสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากหุ่น Replicants แต่รับรู้ว่าการมีตัวตนนี้ ย่อมสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นมากกว่าเป็นผลดีแน่
Wright รับบทนี้ได้ขั้วเดียวกับ Hoeks ทำให้ผู้ชมเกิดความรังเกียจหมั่นไส้ได้ถึงทรวง ภายนอกเหมือนหญิงแกร่ง แต่ภายในกลวงโบ๋ ว่างเปล่า เห็นดื่มเหล้าคลายเครียดแทบจะตลอดเวลา และไร้ซึ่งครอบครัวคนรัก (เหมือนพยายามอ่อย K ด้วยนะ แต่เขาไม่เอา)
ถ่ายภาพโดย Roger Deakins (เกิดปี 1949) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ผู้ถือสถิติเข้าชิง Oscar: Best Cinematography 13 ครั้งไม่เคยได้รางวัล แต่กับหนังเรื่องนี้ต้องได้แน่ๆ ทุกสำนักฟันธง ผลงานเด่นๆ อาทิ The Shawshank Redemption (1994), Fargo (1996), No Country for Old Men (2007), True Grit (2010), Skyfall (2012), Sicario (215) ฯ
หนังถ่ายทำทั้งหมดในโรงถ่ายที่ Budapest, Hungary เห็นว่าเหมาเป็นสิบๆโรงสร้างขึ้นใหม่เอี่ยม, จริงๆหนังถ่ายทำที่ไหนก็ได้ในโลก แต่เหตุผลที่เลือก Hungary คงเพราะประหยัดงบกว่าการสร้างที่ Hollywood วิสัยทัศน์นี้มาแนวเดียวกับ Peter Jackson ตอนก่อตั้ง WETA Company ที่ New Zealand เพื่อกระจายการงานและรายได้สู่ประเทศอื่นของโลกบ้าง
ลักษณะของงานภาพมักจะค่อยๆเคลื่อนเข้าไปอย่างช้าๆ คล้ายๆกับ Blade Runner ภาคแรก จัดวางองค์ประกอบ แสงสี ตำแหน่ง มุมกล้อง ทิศทางการเคลื่อนไหว แม้แต่ฤดูกาล (ฝนตก, หิมะ) ล้วนมีนัยยะสำคัญสื่อความหมายบางอย่าง, เพื่อให้ผู้ชมค่อยๆซึมซับรับบรรยากาศ และครุ่นคิดตีความหมายของปรัชญา สิ่งต่างๆที่แอบซ่อนอยู่ในหนัง
ออกแบบ Production Designer โดย Dennis Gassner ในสไตล์ Futurism ผสม Art-Deco ที่ยังคงรับอิทธิพลมาจากภาคแรก เพิ่มเติมคือจะได้เห็น Macro Structure ของฟาร์มโซล่าเซลล์, Wasteland ที่ San Diego (ที่เต็มไปด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์) และเมืองแห่งหมอก Las Vegas ยังเต็มไปด้วยแสงสีส้มจากกัมมันตรังสี (มนุษย์ทั่วไปคงอยู่ไม่ได้ แต่ Replicants ไม่แน่)
เห็นว่า Villeneuve ไม่ได้ชื่นชอบการใช้ Visual Effect มากนัก มักสร้างฉากขนาดใหญ่สมจริง การถ่ายภาพเป็นไปได้ง่าย และนักแสดงมีความอินกับสถานที่มากขึ้น (แบบเดียวกับ Nolan ไม่มีผิด)
“The only violence I got in my life was winter, And weather helped me figure out this movie a lot. I started from the premise that the ecosystem has collapsed, and I started to build a new Los Angeles.”
Villeneuve เล่าให้ฟังถึงตอนสมัยเด็กๆ อาศัยอยู่กับครอบครัวที่ Quebec ช่วงฤดูหนาวยาวนานถึง 6-7 เดือน โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มองเห็นลิบๆจากหน้าต่างห้องครัว ไม่มีแสงแดด ทุกส่งอย่างขาวโพลน ราวกับวันสิ้นโลก ธรรมชาติได้เอาคืนทุกสิ่งอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น, ก็เหมือนหนังเรื่องนี้ที่สภาพแวดล้อมบนโลกหลังสงครามนิวเคลียร์ ไม่เป็นใจให้มนุษย์อาศัยอยู่ จำต้องส่งหุ่นยนต์ไปสรรหาทรัพยากรจากนอกโลกมาใช้หล่อเลี้ยง
สำหรับสภาพอากาศที่ปรากฎอยู่ในหนัง รู้สึกว่าจะมีเพียง 3 ฤดูคือ ร้อน, ฝนตก และหิมะ ซึ่งมักจะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่อยู่ภายในของ K ออกมาโดยไม่รู้ตัว
– Prologue จะเริ่มต้นก่อนพายุเข้า LA
– เมื่อมีบางสิ่งอย่าง เรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้เกิดขึ้น เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
– ตอนที่ K รับรู้ความจริงบางอย่างจากห้องแลปของ Dr. Ana Stelline อากาศภายนอกหิมะตก หนาวเย็นจัดสุดขีด (จิตใจของเขาก็สั่นสะท้าน รวดร้าวปานนั้น)
– การได้พบเจอกับ Deckard ในสถานที่ราวกับร้อนระอุ ดั่งเปลวเพลิง/เชื้อเพลิงที่เผาผลาญไหม้ชีวิต
– ฝนตกในฉากไคลน์แม็กซ์
– Epilogue การตาย หิมะ หนาวเหน็บ สิ้นสุด
ผมจะใช้การวิเคราะห์เป็นช็อตๆฉากๆไปนะครับ ดูสิว่าคุณสามารถเข้าใจเรื่องราวได้อย่างที่ผมสังเกตเห็นหรือไม่
ดวงตานี้เป็นของใคร? ปริศนาแรกของหนังที่คงไม่มีใครให้คำตอบได้นอกจากผู้กำกับ (นัยยะเดิมคือ แทนด้วยดวงตาของผู้ชม/วิสัยทัศน์ถึงอนาคต) ความน่าฉงนสงสัยสำหรับคนเคยรับชมภาคแรกมากแล้ว Opening ช็อตนั้นจะเต็มไปด้วยจุดแสงระยิบระยับ ‘shining eyes’ แต่ครานี้กลับมืดมิดสนิทราวกับมีนัยยะถึงหายนะ ความสิ้นหวัง,
นัยน์ตาสีเขียว… เอะ คนที่มีดวงตาสีนี้ในหนังได้รับการกล่าวถึงคือ Rachael แล้วพันธุกรรมนี้จะสืบถึงลูกหรือเปล่านะ?
รถ Spinner 2.0 บินผ่านสถานที่เหมือนฟาร์มโซล่าเซลล์ ถัดไปอีกหน่อยเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ เลี้ยงหนอนไส้เดือน (อาหารโปรตีน) ที่เกิดจากการตัดแต่งพันธุวิศวกรรมให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้, นี่เป็นการนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก ภายหลังยุคสงครามนิวเคลียร์ ที่ไม่หลงเหลือต้นไม้ใบสีเขียวสดใสอีกหน่อยไป เต็มไปด้วยเหล็กโลหะ เครื่องจักรกล และขยะอิเล็กทรอนิกส์
ที่บ้านของ Nexus-8 ในระหว่างการต่อสู้ขัดขืน จะมีช็อตที่ถ่ายให้เห็นผนังด้านหนึ่งที่ถูกกระแทก สังเกตว่าจะมีเส้นตรงแนวนอนที่หลุดออกมา ดันนูนออก และพังทลาย ซีนนี้มีนัยยะถึงการทำลายขอบเขตเส้นแบ่งกั้นระหว่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘Replicants’ ซึ่งสะท้อนกับเรื่องราวของหนัง เมื่อหุ่นยนต์สามารถมีลูกได้ เส้นแบ่งบางๆนี้ราวกับได้พังทลายลง
หนึ่งในช็อตที่ผมชื่นชอบมากๆ
– ต้นไม้สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ชีวิต’ การเกิดและความตาย
– รถ Spinner ด้านหลังคือตัวแทนของเทคโนโลยีที่เปิด(ประตู)ออกไว้
– K นั่งอยู่ในตำแหน่งมุมฉากของสามเหลี่ยม ระหว่างทั้งสองสิ่ง
ถ้าแทนภาพนี้ตามสมการคณิตศาสตร์สามเหลี่ยม จะคล้ายกับทฤษฎีบทพีทาโกรัส มีสองสิ่งที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ‘มนุษย์’ กับ ‘หุ่นยนต์’ (สมมติว่า Deckard เป็นมนุษย์ มีลูกกับ Rachael ที่เป็นหุ่น) เมื่อทั้งสองเกิดความสัมพันธ์กัน ผลลัพท์ที่ออกมาจะคล้ายกับสมการ A2+B2=C2
ข้ามมาที่บ้านของ K ถ้าคุณเคยรับชม Arrival (2016) จะรู้ว่าผู้กำกับ Villeneuve มีความหลงใหลกับบานกระจกหน้าต่างเป็นอย่างมาก ซึ่งครานี้ยังคงมีลักษณะคล้ายภาพวาด Abstract ของ Piet Mondrian ที่รูปของเขามีใจความคือ ‘การแปรสภาพของธรรมชาติ’ (denaturalization) [ภาพวาดที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ภาพวาดธรรมชาติ] มองออกไปหรือมองเข้ามา เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง หินเหล็กปูน เทคโนโลยีทั้งนั้น
หนึ่งในช็อตสวยงามที่สุดของหนัง เมื่อ K พา Joi ขึ้นไปบนด่านฟ้าเป็นครั้งแรก (ซีนนี้ฝนตกนะครับ) ราวกับได้พบความมหัศจรรย์ในชีวิต เธอเงยหน้าขึ้น ดื่มด่ำกับสายฝนที่พรำลงมา ขณะเดินเข้ามาหา มีจังหวะหนึ่งเห็นแสงสามสี เขียว-แดง-น้ำเงิน งดงามเหนือคำบรรยาย
พระราชวังของพระเจ้าองค์ใหม่ Wallace Corporation เน้นแสงสีเหลืองทองอร่าม เห็นเงาสะท้อนพื้นผิวน้ำเป็นประกายระยิบระยับ พริ้วไหวไปมาราวกับโลกใต้น้ำ มีนัยยะสื่อถึงภายในจิตใจ/จิตวิญญาณ ของมนุษย์
ลักษณะของสถานที่แห่งนี้ สะท้อนกับแนวคิดหลักจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Freud ที่ว่าตัวตน/จิตใต้สำนึกของมนุษย์ มักหลบซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งพระราชวังนี้ ราวกับจมอยู่ใต้มหาสมุทรเลยละ
การเกิดใหม่ของ Replicants หล่นลงมาจากผืนแผ่นพลาสติกใส คล้ายกับผลไม้(มักกะลี)ที่สุกหง่อมร่วงลงสู่พื้นดิน, นี่คงแตกต่างจากการสร้างหุ่นแบบปกติทั่วไป ดูแล้วน่าจะเป็น Prototype ตัวต้นแบบเสียมากกว่า เป็นความพยายามของ Wallace ที่จะสร้าง Angel สามารถดำรงชีพ สืบพันธุ์ต่อวงศ์ตระกูลได้เอง
“ความรู้สึกแรกของทุกสิ่งมีชีวิตคือ ‘ความกลัว’ ทั้งๆที่ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าตัวเองคืออะไร เกิดมาทำไม แต่กลับมีความหวาดกลัวที่จะสูญเสีย’ชีวิต’ของตนเองไป”
นี่เป็นข้อสรุปเชิงปรัชญา ที่เกิดจากการสังเกตุ ผมคุ้นๆว่าเคยได้ยินที่ไหนแต่จำไม่ได้แล้ว ยกตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ ทำไมทารกน้อยคลอดออกมาแล้วต้องร้องไห้? มันไม่ใช่แค่เหตุผลทางการภาพ เพื่อเป็นการหัดหายใจด้วยตนเองครั้งแรกเท่านั้น แต่เพราะความหวาดกลัวต่อสิ่งใหม่ๆที่กำลังได้พบเจอ เกิดขึ้น ครั้งแรกในชีวิตเลยนะ
ความท้าทายสุดในด้าน Visual ของหนัง คือการซ้อนภาพ Ana de Armas คงสวมใส่ชุด Motion Capture ตลอดทั้งเรื่อง และต้องจดจำตำแหน่งและจังหวะของ Gosling ให้ได้ เพื่อจะเคลื่อนไหว สื่อสารได้อย่างพอดิบพอดี
เกร็ด: ฉากค้นหา DNA มองเห็นหน้าจอมีความละม้ายคล้าย Slot Machine ที่มี 3 ช่องหมุนไปเรื่อยๆ หยดเหรียญนั่งลุ้นเมื่อไหร่จะได้แจ็กพ็อตแตก
ณ Wasteland ที่ San Diego (ทางตอนใต้ของ Los Angeles) สถานที่ขับถ่ายของเสีย ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นศูนย์รับเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ถูกนำทอดทิ้งเหมือนขยะเช่นกัน, นี่เป็นดินแดนที่แทบไม่มีอะไรหลงเหลือได้อยู่ ผู้คนเจ้าถิ่นจึงเต็มไปด้วยความป่าเถื่อน บ้าคลั่งเสียสติ หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งอาจม ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ คุณธรรม มโนธรรม หรือศีลธรรม
จริงๆมันเป็นคำใบ้ที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต กับภาพย้อนอดีตในความทรงจำของ K ขณะที่เด็กผู้ชายคนอื่นๆจะโกนผม แต่ตัวละครของเขากลับไว้ผมยาว ซึ่งมีนัยยะสื่อถึง…
นางฟ้าที่ไหนจะไปเกลือกกลั้วกลิ้งยังดินแดนไกลปืนเที่ยง Wasterland สุดโสมมแห่งนี้แน่ ซึ่งเธอก็นั่งลัลล้าอยู่ในวิหาร ให้ช่างเขียนทำเล็บ เงยหน้ามองดูสิ่งที่อยู่เบื้องบน (นี่เป็นนัยยะที่บอกว่า สวนอีเดนแห่งนี้อยู่ใต้น้ำแน่ๆ ไม่ได้ล่องลอยอยู่บนชั้นฟ้า)
ถือเป็นช็อตหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากๆ ยิ้มร่าตอนเห็น เป็นการบ่งบอกนิสัยเริดเชิดหยิ่ง หัวสูงของ Luv ได้อย่างร้อนแรงสุดๆ
ห้องแลปของ Dr. Ana Stelline (รับบทโดย Carla Juri) อาศัยอยู่ในตู้กระจกปิดกั้นจากภายนอก มีลักษณะเป็นห้องโปร่ง สามารถคิดจินตนาการถึงอะไรก็ได้ ปรากฎเป็นภาพโฮโลแกรมขึ้นมา, เธอเป็นนักสร้างความฝัน/ความทรงจำที่เก่งที่สุด สังเกตจากรูปลักษณะสถานที่ราวกับว่ามันคือ ‘สมอง’ ของมนุษย์ กักเก็บจินตนาการและความทรงจำต่างๆไว้
สถานที่ถัดมาคือท้องทะเลทรายแห่ง Las Vegas ที่ได้แปรสภาพกลายเป็นศูนย์กลางของสงครามนิวเคลียร์ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเต็มไปด้วยกัมมันตรังสี จึงทำให้แสงส่องลงมาเห็นเป็นฝุ่นสีส้ม
คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จัก Las Vegas ดินแดนที่เต็มไปด้วยโรงแรม สถานบันเทิง และบ่อนการพนัน (น่าจะรวมถึงโสเภณีชั้นสูงด้วยกระมัง) คือถ้าคุณมีเงินก็สามารถนำมาละลายทรัพย์ได้ไม่มีวันหมดสิ้น,
สำหรับสถาปัตยกรรมที่ปรากฎ เต็มไปด้วยรูปปั้นของหญิงสาว มีความ Sexy โป๊เปลือย บ้างปรักหักพัง นี่คงมีนัยยะสื่อถึงจุดสิ้นสุดความสำราญ ฟุ้มเฟ้อของมวลมนุษยชาติ ปัจจุบันในโลกใบนี้พวกเขามีชีวิตยากลำบากยากเข็น ประชากรล้นเมือง ไม่มีอันจำกิน แล้วความสนุกสนานเพลิดเพลินใจ จะไปหาพักผ่อนได้จากที่ไหน
การที่ Deckard อาศัยหลบซ่อนอยู่ในสถานที่แห่งนี้ สะท้อนนัยยะถึงการจมปลักอยู่กับอดีต มีชีวิตอยู่กับความหลัง ไม่สามารถเดินหน้าอยู่กับปัจจุบันได้, จะเห็นว่าฉากในห้องอาหาร ประกอบด้วยโฮโลแกรมของ Elvis Presley, Marilyn Monroe, Liberace ซึ่งหนังก็ยังมีเพลงของ Frank Sinatra เรียกว่าหวนระลึกความแก่กันเลยทีเดียว
ความตะกุกตะกัก เสียงขาดๆหายๆของฉากนี้คงสร้างความรำคาญใจให้กับผู้ชมอย่างยิ่ง (ขณะต่อยกันด้วยบทเพลง Suspicious Minds ของ Elvis Presley) แต่นั่นมีนัยยะสะท้อนกับความทรงจำที่ก็มักขาดๆหายๆ จดจำ ประติดประต่อ เป็นรูปเป็นร่างไม่ค่อยได้ เว้นแต่บทเพลง Can’t help falling in love ของ Elvis Presley นี่ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมาบังอาจขัดได้
ตอนที่ K ได้พบเจอความจริงจากที่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นตัวเองมาตั้งนาน ถ้าคุณเคยรับชม Blade Runner ภาคแรก จะพบความคล้ายคลึงกับตอนที่ Rachael รับรู้ตัวเองว่าเป็นหุ่น Replicants ก็เหมือนถ้าสมมติวันหนึ่งพ่อ-แม่ที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก บอกว่าคุณไม่ใช่ลูกของพวกเขา คนทั่วไปจะวีนแตกขนาดไหน ความเชื่อศรัทธาเดิมที่เคยมีมาคงสูญเสียไปหมดสิ้น ถ้าไม่บ้าไปเลยก็ต้องหาที่พึ่งพิงเป้าหมายชีวิตใหม่, ซึ่งกับ Jo สิ่งที่เขาครุ่นคิดได้จากการเห็นโฮโลแกรมของ Joi เข้าใจถึงความธรรมดาของตนเอง ‘ถึงฉันจะไม่ใช่ตนพิเศษ แต่ก็มิได้แปลว่าจะเป็นไม่ได้’
ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อนกับการจัดแสงที่หมุนสลับไปมาระหว่างความมืดกับแสงสว่าง, ฉากที่ Wallace พูดคุยต่อรองกับ Deckard บทสนทนาของพวกเขา ข้อความแต่ละประโยค มักมีน้ำเสียงขึ้นๆลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ยั่วยวนสลับปฏิเสธ ราวกับลมหายใจเข้าออก สอดคล้องรับกับการจัดแสงไม่มีผิดเพี้ยน
สถานที่แห่งนี้คือเกาะกลางน้ำ เปรียบได้กับจิตวิญญาณ/หัวใจ ที่อยู่ภายในกึ่งกลางตัวของมนุษย์ (ปลาน้อยที่ชอบกระโดด นัยยะถึงความพยายามดิ้นรนให้ตัวเองหลุดพ้นเหนือน้ำ) การเล่นแสงแบบนี้ จึงมีความหมายถึงจิตใจที่โล้โลเลไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่ง Deckard เกิดความมั่นคงเด็ดขาด แสงสว่างก็ราวกับจะหยุดเคลื่อนไหว
(หารูปไม่ได้ เลยเอาภาพนิ่งของผู้กำกับ Villeneuve ที่กำลังนั่งพิจารณาบทสนทนามาให้ชม)
ไคลน์แม็กซ์ของหนัง เป็นการต่อสู้ที่ค่อนข้างทุลักทุเล ตรงด้านนอกกำแพงริมชายฝั่งทะเลแปซิฟิก ระหว่าง Jo กับ Luv เพื่อแย่งชิง Deckard ที่กำลังถูกนำพาไปสู่นรก Off-World, นี่เป็นสถานที่รอยต่อระหว่างผืนแผ่นดิน (ในที่นี้คือกำแพงเหล็ก) กับมหาสมุทร สื่อนัยยะถึงความเป็นความตาย (รอยต่อของชีวิต) สู้กันจมแหล่ไม่จมแหล่ สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก เส้นแบ่งระหว่าง มนุษย์กับหุ่นยนต์ ท้องฟ้ากับใต้น้ำ (สวรรค์/นรก) ความเห็นแก่ตัวกับเสียสละ ผู้ชนะลอยอยู่เหนือน้ำ ส่วนผู้แพ้ก็จมดิ่งราวกับดอกบัวในโคลนตม มองเห็นความงามด้านบนแต่ไม่มีปัญญาสามารถเอื้อมมือไขว่คว้าถึงได้
ตัดต่อโดย Joe Walker สัญชาติอังกฤษ มีผลงานอาทิ Shame (2012), 12 Years a Slave (2013), Sicario (2015), Arrival (2016) ฯ เชื่อว่าหลายคนที่ไม่คุ้นกับการดำเนินเรื่องของหนังไซไฟปรัชญา คงได้หลับสนิทคาโรง เพราะความยาว 163 นาที พร้อมกับการตัดต่อช้าๆเนิบๆ ซึมซาบซับบรรยากาศ สามารถฆ่าคนตายได้แน่ๆ แต่กับเหตุผลที่ผมอธิบายไป ช่วงเวลาภาพค่อยๆเคลื่อนไป มีให้คุณได้ครุ่นคิดตีความ วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ สังเกตรายละเอียดต่างๆ ใช้มันให้เป็นประโยชน์นะครับ แล้วคุณจะรู้สึกว่าหนังแอบดำเนินเรื่องเร็วไปด้วยซ้ำ (เพราะคิดตามไม่ทัน)
หนังใช้มุมมองของ K แทบจะตลอดทั้งเรื่อง มีการแทรกภาพจากความทรงจำ, หวนระลึกถึงคำพูดสำคัญๆ และยังใส่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาซ้ำอีกด้วย ราวกับกลัวผู้ชมหลงลืม นี่เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่เลยะ
กระนั้นเรายังสามารถตีความหนังในหลายมุมมอง แบบเดียวกับที่ Blade Runner ต้นฉบับสามารถครุ่นคิดได้ ซึ่งคุณจะพบว่ามีการทิ้งหัวเชื้อ หลายประเด็นค้างคาไว้ คงเผื่อความสำเร็จอาจจะได้สานต่อ
– มุมมองของ K/Jo มีเรื่องราวการสืบสวนสอบสวน (Crime, Film Noir) ออกเดินทางค้นหาเด็กผู้เป็นปาฏิหารย์แห่งชีวิต เพื่อเติมเต็มความต้องการของตนเอง
– มุมมองของ Wallace กับ Luv พวกเขาเปรียบตัวเองดั่งพระเจ้า มองโลกใบนี้เป็นเพียงทางผ่าน ออกตามหาบุตรแห่งสวรรค์ เพื่อเติมเต็มเงื่อนไขการได้เป็นผู้สร้างทั้งมวล
– มุมมองของ Lt. Joshi ผู้พิทักษ์สันติราชแห่ง LAPD โลกที่มีสองฝั่งกำแพงมักเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การต่อสู้ สงคราม ถ้าสามารถควบคุมบางสิ่งอย่างได้ก็ควรต้อง ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’
– มุมมองของ Freysa หุ่น Nexus-8 อัครสาวกที่พบเจอปาฏิหารย์แห่งชีวิต เฝ้ารอคอยวันขึ้นมาเรืองอำนาจของหุ่น Replicants รวบรวมสมัครพรรคพวก เตรียมพร้อมเปิดฉากทำสงครามสู้รบขั้นเด็ดขาดกับฝั่งมนุษย์
– มุมมองของชายสูงวัย Deckard แก่แล้วอยากอยู่อย่างสงบ แต่พวกคนรุ่นใหม่กลับพยายามหาเรื่องก่อกวน สร้างความวุ่นวาย ปลุกผีให้ขึ้นจากหลุม
ต้องถือว่าหนังทิ้งประเด็นปลายเปิดไว้มากมาย อาทิ สงครามระหว่างมนุษย์กับ Replicants, เกิดอะไรขึ้นต่อไปกับ LAPD หรือ Wallace Corporation ฯ เรียกได้ว่าปูพื้นฐานจักรวาล Blade Runner ไว้แน่นทีเดียว แต่จะมีโอกาสได้ไปต่อไหม คงต้องลุ้นกันยาวๆ
สำหรับเพลงประกอบ ในตอนแรก Villeneuve มอบหมายงานให้ขาประจำ Jóhann Jóhannsson แต่ไปๆมาๆกลับถูกไล่ออกพร้อมเซ็นสัญญาปิดปากไม่สามารถพูดอะไรได้ (ให้คาดเดาคงไม่ถูกใจสตูดิโอผู้สร้าง) จึงตกเป็นงานหนักของ Hans Zimmer กับ Benjamin Wallfisch ที่เพิ่งร่วมงานกันมาหยกๆจาก Dunkirk (2017) เริ่มต้นเดือนกรกฎาคม มีเวลาทำเพลงประมาณ 2 เดือนกว่าๆเท่านั้น
งานเพลงเป็นความพยายามเลียนแบบต้นฉบับ Blade Runner ของคีตกวีชาวกรีก Vangelis (จริงๆพี่แกก็ยังมีชีวิตอยู่นะครับ แปลกใจที่ทำไมไม่ติดต่อให้หวนกลับมาสานงานต่อ) เน้นการใช้เสียงจาก Synthesizer (เครื่องสังเคราะห์เสียง) ไม่น่าเชื่อว่ายังให้สัมผัสที่ล้ำอนาคต เต็มไปด้วยความยิ่งใหญ่ทรงพลัง ขนลุกขนพอง ฟังกี่รอบก็ไม่รู้จักเบื่อเลย, นอกจากนี้ยังมีร้องคอรัสที่คล้ายบทสวดมนต์ กดลูกคอต่ำๆ ให้เสียงออกมาจากหลอดลม สร้างสัมผัสหลอนๆสั่นสะท้าน นี่รับอิทธิพลจากอนิเมะ Akira (1988) กับ Ghost in the Shell (1995) มาเต็มๆเลยนะ
ลักษณะของบทเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศ เสริมอารมณ์ให้กับฉากนั้นๆ แต่บางครั้งผมกลับรู้สึกว่า Zimmer กับ Wallfisch เหมือนจะใส่ดนตรี เล่นทำนองของใหญ่มากเกินไปหน่อยหรือเปล่า, คือมันจะมีเสียงหนึ่ง ให้สัมผัสเหมือนรถซิ่ง กำลังเร่งเครื่องให้ล้อหมุนแรงๆก่อนออกทะยานตัว ฟังดูมันล้ำแรงกว่าปกติไปหน่อย ภาพรวมถึงคล้ายกับ Vangelis แต่ก็ไม่เชิงใช่เสียทีเดียว
มี 4 เพลงคลาสสิกที่แทรกอยู่ในหนัง ประกอบด้วย
– Summer Wind (1965) ต้นฉบับเป็นภาษาเยอรมัน Frank Sinatra นำมาแปลขับร้องเป็นภาษาอังกฤษในปี 1966
– Suspicious Minds (1969) ขับร้องโดย Elvis Presley ติดชาร์ท Billboard Hot 100 อันดับ 1 นานถึง 18 สัปดาห์
– Can’t Help Falling in Love (1961) ขับร้องโดย Elvis Presley
– One For My Baby (And One More For The Road) ต้นฉบับแต่งเพื่อใช้ในหนังเรื่อง The Sky’s the Limit (1943) ขับร้องโดย Fred Astaire ซึ่ง Frank Sinatra นำมาขับร้องใหม่ในปี 1947
ขอเลือก Can’t Help Falling in Love บทเพลง Pop Ballad ของ Presley จากอัลบัม Blue Hawaii นำมาให้หวนระลึกรับฟังกัน
หุ่นหญิงสาวที่สามารถตั้งครรภ์ คลอดลูกออกมาได้ (ไม่ต้องไปคิดสนว่าพ่อมันจะเป็นมนุษย์ หรือ Replicants นะครับ) ในทาง Common Sense ของเราๆคงรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เช่นกันกับความรักระหว่างหุ่นกับโฮโลแกรม มันเพี้ยนพิศดารยิ่งกว่า มนุษย์ตกหลุมรัก AI ใน Her (2013) มากๆเลยนะ แต่ให้มองข้ามความผิดปกตินี้ไป ตั้งข้อสมมติว่ามันอาจเกิดขึ้นได้ มีบุคคลผู้สามารถครุ่นคิดพบเจอคำตอบ ปริศนาความลับของโลกในการให้กำเนิด ประดิษฐ์สิ่งมีชีวิตให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยตนเอง สืบทอดวงศ์ตระกูล มีลูกหลอนเต็มบ้านเต็มเมือง ถ้าเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มนุษย์ย่อมมีสถานภาพไม่ต่างอะไรกับ ‘พระเจ้าผู้สร้าง’ ที่สามารถให้กำเนิดทุกสรรพสิ่ง (นี่รวมถึงวันที่ 1-5 สร้างแผ่นดิน ผืนน้ำ ป่าไม้ และพันธุวิศวกรรม ตัดแต่งยีนส์ของสัตว์อื่นๆ)
ประเด็นคำถามอยู่ที่ ถ้ามนุษย์ประดิษฐ์สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาแล้วสามารถสืบพันธุ์สืบทอดต่อวงศ์ตระกูล แล้วเจ้าสิ่งนั้นมันมี ‘จิตวิญญาณ’ (Soul) หรือเปล่า? ลองให้ความหมายมันคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? มีตัวตนจับต้องได้ไหม? และจุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหน?
หนังไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้โดยตรง แต่ได้สร้างเรื่องราวที่มีแนวคิดใกล้เคียง เปรียบเทียบกับสิ่งที่ตัวละคร K พบเจอ เริ่มต้นจากเป็นเพียง Blade Runner ธรรมดาๆ มีเพียงตัวตนแต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ
– วันหนึ่งเมื่อได้พบเจอ รับรู้การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่าปาฏิหารย์ เกิดความหวาดกลัว** สับสนลังเล ไม่แน่ใจในชีิวิต จะเรียกว่านั่นคือวินาทีที่ ‘จิตวิญญาณ’ ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว
– ตกหลุมรักกับ Joi เราสามารถมองได้ว่าเธอคือรูปลักษณะ ตัวตนของ ‘จิตวิญญาณ’ จับต้องไม่ได้แต่มีตัวตน
– เมื่อตอนที่ K ได้รับรู้ความจริงเกี่ยวกับปาฏิหารย์/หลังการจากไปของ Joi ความผิดหวังทำให้หัวใจเขาจมดิ่ง ดับวูบ นั่นน่าจะคือวินาทีของ จิตวิญญาณดับสิ้นสูญ
– แล้วตัวฉันเองคือใคร? ชีวิตมีค่าอะไร? นั่นคือการตั้งคำถามเกี่ยวกับจิตวิญญาณของ K ซึ่งก็ได้ค้นพบคำตอบ กระทำสิ่งที่’มีมนุษยธรรม’ เท่านี้ก็ราวกับว่าเหมือนตัวเขากลายเป็นผู้มีจิตวิญญาณ ขึ้นมาแล้ว
** อ้างอิงจากข้อสังเกตของ Wallace ที่พูดถึง ‘ความกลัวคือความรู้สึกแรกของทุกสิ่งมีชีวิต’
จิตวิญญาณ (Soul) กับความเป็นมนุษย์ (Humane) ไม่ใช่สิ่งเดียวกันนะครับ แต่หนังเรื่องนี้พยายามทำให้เหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน กระทำในสิ่งที่มีมนุษยธรรม ก็เท่ากับมีจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว นี่ไม่ใช่สิ่งผิดแต่ก็ไม่ถูกต้อง
กำแพงที่หนังพูดถึง สิ่งแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ ไม่ใช่จากรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่สามารถสังเกตมองออกแล้ว แต่คือสิ่งอยู่ภายใน จิตวิญญาณ (Soul) และความมีมนุษยธรรม (Humane) มนุษย์มีทั้งสองอย่างนี้แต่ Replicants ไม่มี ซึ่งพวกเขาก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อออกแสวงหา จนกระทั่งได้พบเจอกับ ‘ปาฏิหารย์’ ทำให้เกิดความเข้าใจว่า จิตวิญญาณและมนุษยธรรมคืออะไร แต่แค่มันอาจไม่ใช่สำหรับคนรุ่นพวกเขา Adam กับ Eve ที่เกิดขึ้นมา นั่นคืออนาคตของพวกเขา สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากหนึ่งในพวกเขา เต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณและมนุษยธรรม มีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ ไม่สามารถแบ่งแยกกั้นขวางด้วยกำแพงได้อีกต่อไป
แล้วสำหรับมนุษย์อย่างเราๆละ อ้างว่ามีเป็นผู้มีจิตวิญญาณและคุณธรรมสูงส่ง แต่กลับทิ้งๆขว้างๆ ไม่สนใจใยดี มีแล้วไง? ไม่มีแล้วไง? เลวร้ายชั่วช้ายิ่งกว่าเหล่า Replicants ในหนังเสียอีก, นี่เป็นการเสียดสีประชดประชันที่รุนแรงมากๆ เปรียบเปรยถึงแนวโน้มวันสิ้นโลก มันอาจเป็นเรื่องสมควรแล้วก็ได้ ที่เมื่อไหร่สังคมมนุษย์หมดสิ้นสองสิ่งนี้ ก็จะแปรสภาพกลับเป็นสัตว์เดรัจฉาน เหมือนหุ่น Blade Runner ตัวเปล่าๆ มีแต่ร่างไร้ซึ่งจิตวิญญาณ
นี่เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่ผมถือว่า หนังได้ก้าวผ่าน Blade Runner ต้นฉบับไปไกลโขทีเดียว ไม่ใช่แค่การตั้งคำถามมนุษย์คืออะไร? แต่ลึกล้ำไปถึงการค้นหาจิตวิญญาณ เป้าหมายชีวิต และคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ด้วยทุนสร้าง $150 ล้านเหรียญ ถือเป็นป้ายราคาที่สูงพอสมควร แต่รายรับสัปดาห์แรกในอเมริกาที่ประมาณ $32 ล้านเหรียญ ค่อนข้างน่าผิดหวังทีเดียว คงต้องลุ้นกันตลาดต่างประเทศอย่างเดียวโดยเฉพาะตอนเข้าฉายญี่ปุ่น ประเทศนี้ชื่นชอบหนังไซไฟปรัชญาที่สุดแล้ว น่าจะประสบความสำเร็จได้พอสมควรเลย
ส่วนตัวค่อนข้างหลงใหลคลั่งไคล้ ตกหลุมรักหนังพอสมควรในความลึกลับซับซ้อน แนวคิดปรัชญาที่น่าทึ่ง และโปรดักชั่นสุดอลังการ ว่าไปเป็นเรื่องแรกในรอบ 4-5 ปีที่ผมตัดสินใจกลับเข้าไปดูซ้ำรอบสอง แต่คงไม่มากกว่านี้แล้วละ เพราะเก็บรายละเอียดเขียนใส่บทความนี้ได้พออิ่มตัวแล้ว ซึ่งก็ทำให้พบข้อตำหนิเล็กน้อยพอสมควร จากความยาวที่มากเกินทำให้หนังดูล้นๆ และอะไรๆก็สวยงามไปหมด ‘too many good things’ แทนที่จะชื่นชอบอาจทำให้เลี่ยนออกมาได้
เป็นความท้าทายของคอหนัง Sci-Fi นักปรัชญา หรือผู้ชอบครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความโดยเฉพาะ, นักสร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย ตากล้อง นักแต่งเพลง, ศิลปินหลงใหลศิลปะ Futurism, Dystopian, Art-Deco, แฟนๆผู้กำกับ Denis Villeneuve นักแสดง Ryan Gosling, Harrison Ford, Jared Leto ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศหนัง ภาพโป๊เปลือย และคำหยาบ Fuck!
ผมชอบภาคนี้นะแต่ยังไม่ถึงขั้นก้าวข้ามภาคแรก ผมว่าแอดต้องดูภาคแรกใหม่ซึมซับบรรยากาศ อาจจะพบอะไร เหมือนกับหลายๆเรื่องที่แอดย้อนกลับมาดู
ผมเห็นต่างนะ ทุกสิ่งอย่างของภาคนี้ล้ำกว่าภาคแรก เทคโนโลยี ความซับซ้อนเรื่องราว วิสัยทัศน์ของ Villeneuve แต่ประเด็นคือคนดูยังคงติดตากับความแปลกใหม่ล้ำสมัยของภาคแรก รวมถึงอิทธิพลที่มีต่อวงการ เลยไม่มีใครอยากยินยอมรับว่าภาคใหม่ยอดเยี่ยมกว่า
มันต้องหมดเจนเนอเรชั่นนี้ไปเลยนะครับ ให้เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันมารับชมหนังทั้งสองเรื่อง ความคิดเห็นของพวกเขาน่าจะค่อนข้างไปทางภาคใหม่มากกว่า