Blonde Venus

Blonde Venus (1932) hollywood : Josef von Sternberg ♥♥♥

แม้เป็นภาพยนตร์ที่มักถูกหลงลืม แต่ก็มีหลายสิ่งน่าจดจำ, Marlene Dietrich เต้นกอริลลา Hot Voodoo เสื่อมได้ใจ, บทบาทแรกๆของ Cary Grant เป็นมหาเศรษฐีจ่ายไม่อั้นแม้เพียงความสุขแสนสั้นกับเธอ

เพราะถูกขนาบข้างแซนวิชโดยสองผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Josef von Sternberg เรื่อง Shanghai Express (1932) และ The Scarlet Empress (1934) เลยทำให้ Blonde Venus (1932) มักถูกมองข้ามไปแบบไม่สนหัว

“Even Josef von Sternberg had his off days”.

– Dave Kehr นักวิจารณ์จาก Chicago Reader

แต่เท่าที่ผมค้นหาอ่านจากเบื้องหลัง ปัญหาไม่ถือเป็นความผิดผู้กำกับ Josef von Sternberg แต่คือการนำบทหนังสุดล่อแหลมหมิ่นเหม่ของ Marlene Dietrich ไปผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code ทำให้ถูกตัดเล็มโน่นนี่นั่นจนแทบไม่หลงเหลือความน่าสนใจ สุดท้ายเมื่อเริ่มโปรดักชั่นถ่ายทำ ทั้งสองเลยปลดปล่อยวางความคาดหวังอย่างหมดอาลัย ผลลัพท์จะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมันแล้วกัน!

ผมเองก็แอบสูญเสียดายหนังมากๆ เพราะแรกเริ่มต้นค่อนข้างมีความน่าสนใจทีเดียว แต่อะไรๆกลับคลายความตื่นเต้นลง ผู้ชมเกิดความเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย จนสุดท้ายจะจบแบบไหนก็เอาเถอะ ไม่ยี่หร่าบทสรุปอีกต่อไปแล้ว

คือถ้าหนังเต็มที่กับประเด็นล่อแหลม กล้าๆหน่อยนำเสนอความแตกต่างระหว่าง Sex กับความรักให้เด่นชัดเจนกว่านี้ และตัวละครไม่ต้องยึดถือมั่นต่อหลักศีลธรรมจรรยามากนัก ผลลัพท์น่าจะออกมาสมบูรณ์แบบอาจจะเหนือกว่า Shanghai Express (1932) หรือ The Scarlet Empress (1934) เสียอีกนะ!


Josef von Sternberg ชื่อเดิม Jonas Sternberg (1894 – 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพสู่อเมริกาตอนอายุ 14 ปักหลักอยู่ New York City เข้าโรงเรียนพูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้เลยออกมาเป็นเด็กส่งของ ทำความสะอาด ซ่อมแซมฟีล์มภาพยนตร์ ประมาณปี 1915 ทำงานกับ Word Film Company ได้รับความอนุเคราะห์จาก Emile Chautard ชี้แนะสั่งสอน ว่าจ้างเป็นผู้ช่วย The Mystery of the Yellow Room (1919), สมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 สังกัดหน่วยสื่อสารถ่ายทำสารคดีข่าว เดินทางไปยุโรปเพื่อสะสมประสบการณ์ กำกับเรื่องแรก The Salvation Hunters (1925) ** บ้างถือว่าคือหนัง Indy เรื่องแรกของอเมริกา

แม้จะรับอิทธิพลของ German Expressionism แต่ Sternberg ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา ไม่ใช่แค่สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ยังรวมถึงความคิดอ่าน เป้าหมายอุดมการณ์ แรงผลักดันอันเกิดจากเงื่อนไข และโชคชะตาที่พลิกผันแปรเปลี่ยน

“I care nothing about the story, only how it is photographed and presented”.

สำหรับ Blone Venus ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Mother Love แต่งโดย Marlene Dietrich ซึ่งดูแล้วน่าจะนำจากชีวประวัติ ประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวเอง ที่ได้แต่งงานกับ Rudolf Sieber มีบุตรสาวชื่อ Maria Riva เกิดปี 1924 (ขณะถ่ายทำเรื่องนี้ ลูกของเธออายุ 7-8 ขวบ) และเข้าสู่วงการภาพยนตร์หลังจากนั้น

คนที่แฟนคลับ Dietrich น่าจะรับรู้รสนิยม Bisexual แอ้มพระเอก(และนางเอก)แทบทุกคนใน Hollywood คลั่งไคล้ปาร์ตี้สนุกสุดเหวี่ยง แต่เธอแบ่งแย่งครอบครัว-ชีวิตส่วนตัว-การทำงานออกจากกัน เฉกเช่นเดียวกับความรักและ Sex จึงมิได้ครุ่นคิดจริงจังใครอื่นนอกจากสามี ครองคู่อยู่ร่วมกันจนเขาสิ้นลมหายใจ

Helen Faraday (รับบทโดย Marlene Dietrich) ตกหลุมรักแต่งงานกับ Edward ‘Ned’ Faraday (รับบทโดย Herbert Marshall) มีบุตรชาย Johnny วัยกำลังน่ารัก แต่เมื่อสามีป่วยจากการทำงานต้องใช้เงิน เธอเลยอาสาหวนกลับไปทำงานเก่า นักร้อง-เต้น ตามผับบาร์ ถูกชะตามหาเศรษฐี Nick Townsend (รับบทโดย Cary Grant) บำเรอกามพร้อมเงินไม่อั้น แม้รับรู้อาจแค่ช่วงเวลาสั้นๆก็เกินเพียงพอดี

แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ Ned ล่วงรับรู้พฤติกรรมและที่มาของเงินค่ารักษา จึงเกิดความขุ่นเคือง ยินยอมรับการกระทำนั้นไม่ได้ ต้องการพลัดพรากจาก Johnny มารับเลี้ยงดูแต่เพียงผู้เดียว นั่นทำให้ Helen พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อมิให้ตนเองพลัดพรากจากลูกชายสุดที่รัก


Marie Magdalene ‘Marlene’ Dietrich (1901 – 1992) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เกิดที่ Berlin ในครอบครัวชนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนไวโอลินวาดฝันเป็นนักดนตรี แต่พอได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อมือเลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ โตขึ้นมุ่งสู่วงการแสดง เริ่มจากเป็นนักร้องคอรัส รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ The Little Napoleon (1923) มีผลงานในยุคหนังเงียบหลายเรื่องแต่ไม่ประสบพบเจอความสำเร็จ จนกระทั่งผลงานหนังพูดเรื่องแรก The Blue Angel (1930) และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Josef von Sternberg ร่วมงานกันทั้งหมด 7 ครั้ง

รับบท Helen Faraday หญิงสาวผู้มีความงามดั่งเทพี (Venus) แม้แต่งงานมีครอบครัว รักสามีและลูกมากๆ แต่ลึกๆยังโหยหาอิสรภาพ เปลี่ยนชื่อเป็น Helen Jones ต้องการมีชื่อเสียงโด่งดัง เงินทองไหลมาเทมา โดยเฉพาะการยั่วเย้ายวนคนแปลกหน้าเพื่อมี Sex ซึ่งการจะมีวิถีชีวิตเช่นนั้นได้ จำต้องแลกมาด้วยอะไรบางสิ่งอย่าง

Dietrich จงใจกดน้ำเสียงพูดลงต่ำ ประดิษฐ์ประดอย เพื่อให้ฟังดูนุ่มนวล สุภาพ อ่อนหวาน เหมือนหญิงสาวแรกวัยเยาว์ไร้เดียงสา แต่นั่นถือว่าตรงกันข้ามการกระทำ หรือขณะร่ำร้องเพลงบทเวที ซึ่งเต็มไปด้วยความเซ็กซี่ ยั่วเย้ายวน สายตาร่านสวาท … ถึงเธอร้องเพลงไม่เพราะเท่าไหร่ แต่ลวดลีลานั้นได้ใจ แค่เรียวขา(ที่มองไม่เห็น)สามารถชวนให้หนุ่มๆเคลิบเคลิ้มหลงใหล

อย่างที่บอกไปว่า Dietrich พัฒนาเรื่องสั้นนี้จากชีวิตของตนเอง พยายามอย่างยิ่งจะถ่ายทอดตัวตนจากประสบการณ์ โดยเฉพาะช่วงขณะเข้าฉากกับเด็กชาย สายตาเธอเต็มไปด้วยความรัก เอ็นดู ทะนุถนอม และเมื่อต้องพลัดพรากจาก ช่างเจ็บปวดรวดร้าวทรมานแสนสาหัส


Cary Grant ชื่อจริง Archibald Alec Leach (1904 – 1986) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เกิดที่ Bristol, Horfield ในครอบครัวที่พ่อติดเหล้า แม่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ก็พยายามสอนเขาให้ยิ้มไว้ ร้องเพลง เล่นเปียโน โตขึ้นได้ทุนเข้าเรียน Fairfield Grammar School แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ แต่ตัวเองกลับโดดเรียนจนถูกไล่ออก ใช้เวลาอยู่หลังเวทีที่ Hippodrome ต่อมากลายเป็นนักแสดงออกทัวร์ ตอนอายุ 16 ขึ้นเรือ RMS Olympic เดินทางไปที่อเมริกา ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนพอมีชื่อเสียงใน Broadway แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก This is the Night (1932), เริ่มได้รับบทบาทเด่นกับ Blonde Venus (1932), She Done Him Wrong (1933) ฯ

รับบท Nick Townsend มหาเศรษฐีเพลย์บอย แรกพบเจอตกหลุมรัก Helen Jones แม้รู้ว่าเธอแต่งงานมีบุตรชายน่ารัก ยังพร้อมมอบทุ่มทุกสิ่งอย่างให้ ใช้เงินซื้อเรือนร่างกายเธอมา และทั้งรู้ว่าเมื่อถึงจุดๆหนึ่งต้องพลัดพรากแยกจาก แต่แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นก็เพียงพอสมปรารถนา

“A little of you is worth a lifetime with any other woman”.

– Nick Townsend

ภาพลักษณ์ของ Grant สวมใส่สูทมาดผู้ดี ทะนงในศักดิ์ศรี มีเงินทองล้นฟ้า จับจ่ายใช้สอยซื้อทุกอย่าง ชอบพร่ำคำหวาน พรอดรักสาวสวย … ตัวละครประเภท Stereotype ถ้าเป็นนักแสดงคนอื่นๆคงไม่น่าพูดถึงเท่าไหร่ แต่เมื่อบทบาทนี้ตกเป็นของว่าที่นักแสดงระดับอมตะ จึงพบเห็นร่องลอย ลายเซ็นต์ และเหมือนว่าจะเป็นอิทธิพลให้ผลงานถัดมาอย่าง Suspicion (1944), Charade (1963) ฯ

Sternberg ไม่ได้กำกับการแสดง Grant สักเท่าไหร่ แต่ให้คำแนะนำหนึ่งที่เปลี่ยนทั้งชีวิตเขาไปเลย

“Your hair is parted on the wrong side”.

– Josef von Sternberg ให้คำแนะนำ Cary Grant


ถ่ายภาพโดย Bert Glennon ยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ขาประจำในยุคแรกๆของ John Ford และ Cecil B. DeMille ผลงานเด่น อาทิ The Last Command (1928), The Scarlet Empress (1934), Stagecoach (1939), Drums Along the Mohawk (1939), Dive Bomber (1941) ฯ

ความสนใจของ von Sternerg คือการถ่ายภาพที่สามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกตัวละครออกมา สิ่งโดดเด่นคือการจัดวางองค์ประกอบ แสง-เงา ซึ่งล้วนมีนัยยะสำคัญแฝงซ่อนเร้นอยู่

“Our aim has been to photograph a Thought. It is not conditions, nor is it environment – our faith controls our lives!”

– Josef von Sternberg

ซึ่งนัยยะใจความของ Blone Venus เกี่ยวกับภาพสะท้อนจิตใจ ภายนอก-ภายใน ภาพลักษณ์-ตัวตนแท้จริง ความรัก-Sex ไม่จำเป็นต้องคือสิ่งเดียวกัน, ช่วงขณะ Opening Credit ถ่ายภาพผืนผิวน้ำสะท้อนต้นไม้ใหม่ ถือว่าเข้ากับบริบทหนังโดยแท้

ทั้งการจัดแสงฟุ้งๆ เลือกมุมกล้องวับๆแวมๆ มีกิ่งก้านใบไม้มาบดบังทัศนวิสัย นี่ไม่เพียงสะท้อนการมาถึงของยุคสมัย Hays Code แต่เพื่อความเพ้อฝันจินตนาการผู้ชม ราวกับว่าฉากสาวๆเล่นน้ำนี้ พวกเธอเปรียบดั่งเทพธิดา นางฟ้า กินรี

แซว: ไดเรคชั่นการนำเสนอของฉากนี้ ชักชวนให้ผู้ชมเป็น Peeping Tom แล้วตัวละครของ Dietrich ก็เข้ามาตักเตือนถึงความไม่เหมาะสม

“I want to sell you my body”.

– Edward ‘Ned’ Faraday

เดี๋ยวนะ! ยุคสมัยนั้นถ้าเป็นผู้หญิงพูด คงโดนแบน เซนเซอร์ ห้ามฉาย แต่พอเป็นผู้ชาย เอาเลยตามสบาย เพราะคนส่วนใหญ่คงไม่จินตนาการถึงนัยยะขายตัวจริงๆ … นี่มันสองมาตรฐานชัดๆเลยนะ

บทพูดสนทนาของหนัง เต็มไปด้วยสิ่งสองแง่สองง่ามลักษณะนี้เต็มไปหมดเลยนะครับ ถ้าคุณสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษระดับดี ก็น่าจะพอรับรู้ความเสื่อม มุก Comedy ช่างมีลีลาเย้ายวนกวนประสาทอยู่ไม่น้อยทีเดียว!

เพราะความจนตรอกในชีวิต ทำให้ Helen ตัดสินใจหวนกลับมาทำงานเก่า ช่วงขณะที่เธอมาสมัครงาน สังเกตว่าความมืดอาบปกคลุมใบหน้ามืดมิดสนิท นั่นสะท้อนความหวาดสะพรึง กล้าๆกลัวๆ อายุก็เริ่มมาก จะยังมีใครไหมจ้างงาน

มันดูง่ายและจงใจไปนิด แต่ก็เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของ Helen ราวกับเทพธิดา Blonde Venus ซึ่งหนึ่งในลายเซ็นต์ของ Dietrich คือเรียวขาอันสุดเซ็กซี่ของเธอ ถึงเรื่องนี้น่าจะถูกตัดออก (Hays Code ห้ามใส่ภาพที่มีลักษณะเย่ายวนเซ็กซี่) ด้วยเหตุนี้เลยมีแค่การพูดถึง

Ben Smith: “Let’s see your legs”.
Helen Faraday: “Is that enough?”
Ben Smith: “For the time being.”

ฉากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือการเปลี่ยนเป็นชื่อในวงการ ซึ่งสะท้อนถึง ตัวตน-ภาพลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องคือสิ่งๆเดียวกัน

Dan O’Connor: “What’d you say your name was?”
Ben Smith: “Jones.”
Dan O’Connor: “Well, we’ll change that.”

Helen Jones: “Do you charge for the first mile?”

ประโยคเด็ดของ Taxi แฝงนัยยะค้าบริการ/โสเภณี Helen ซี้ซักถามประาณว่า เธอคิดค่าตัวการมี Sex หรือเปล่า?

Dietrich สวมชุดกอลลิล่า ถูกล่ามโซ่ตรวนเดินไปเดินมา สะท้อนถึงสันชาติญาณ ความต้องการทางกาย(ทางเพศ) ที่ถูกผูกยึดติดอยู่กับหลักศีลธรรมจรรยา แต่เมื่อได้รับอิสรภาพจึงเผยตัวตนธาตุแท้จริง ถอดร่างกลายเป็นหญิงสาวสวย สวมวิกสีบลอนฟูฟ่อง ยืนขึ้นขับร้องเพลง Hot Voodoo ซึ่งเนื้อคำร้องโคตรจะเสื่อมเลยละ (ผมจะไปพูดถึงตอนบทเพลงนี้อีกทีนะครับ)

การได้เสี่ยเลี้ยง ถือเป็นความน่าละอายในมุมคนทั่วไป/ยุคสมัยนั้น ตัวละครของ Dietrich จึงจำต้องปกปิดบัง พยายามหลบซ่อนตัวในเงามืด เลื่อนผ้าม่านติดหน้าต่างอพาร์ทเม้นท์ทุกครั้ง โกหกเพื่อนข้างบ้าน อ้างว่าไปพักอาศัยอยู่กับพี่ ป้า น้า ยาย ใครก็ไม่รู้ละให้ถูกซุบซิบนินทา

นี่ถ้าไม่เพราะสามีเดินทางกลับล่วงหน้าก่อน คงมิรับล่วงรู้ว่าเธอนั้นสูญหายตัวไปไหน แต่ถึงขนาดหญิงสาวพูดบอกความจริงจากใจ เขากลับยินยอมรับเธอไม่ได้ … นี่เพื่อเป็นการบีบเค้นคั้น ให้ผู้ชม(สมัยนั้น)ตระหนักว่าการกระทำดังกล่าว สังคมยังไม่พร้อมเปิดอกรับสักเท่าไหร่

สังเกตว่าชุดของ Dietrich โดยเฉพาะหมวก ปกปิดบังทรงผม สะท้อนการถูกครอบงำด้วยศีลธรรมมโนธรรมทางสังคม (ถ้าเป็นฉากเต้นกอลลิล่า วิกจะฟูฟ่อง แสดงถึงการปลดปล่อยทางอิสรภาพ)

เพราะรักลูกมากจึงไม่อยากสูญเสีย ด้วยเหตุนี้จึงพยายามหลบหนี แต่ไม่ว่าจะแสนไกลสักเท่าไหร่ ก็มักจะรายล้อมรอบด้วยลักษณะของซี่กรงขัง เรียกว่าติดอยู่ในคุกของจิตใจ

ในที่สุดแม่ก็จำยอมรับความพ่ายแพ้ ตระหนักได้ว่าตนเองไม่มีทางหลบลี้หนีไปไหนพ้น แต่เมื่อลูกรักขึ้นรถไฟเคลื่อนจากไป หัวจิตหัใจเธอก็พลันแตกสลาย

โลกใหม่ของ Helen Jones การแสดงที่ยุโรปพบเห็นส่วนใส่ชุดสูทขาว วางมาดสุภาพบุรุษ นี่คล้ายๆ Morocco (1931) ที่ Dietrich แต่งตัวเหมือนผู้ชาย แฝงกลิ่นอายเลสเบี้ยน สะท้อนถึงอิสรภาพทางเพศ หรือได้กระทำในสิ่งที่หญิงสาวโหยหามาตลอดเวลา

แต่ถึงอย่างนั้นสูทสีขาว แฝงนัยยะความว่างเปล่าของจิตใจ เพราะหัวอกของเธอนั้นยังครุ่นคิดถึงแต่ลูกชาย แสร้งปั้นแต่งให้แลดูเยือกเย็นชา เพื่อปกปิดบังความรู้สึกภายใน

ผมไม่ค่อย Happy กับตอนจบ Happy Ending ของหนังสักเท่าไหร่ แต่ภาพช็อตสุดท้าย มือเด็กชายพยายามเอื้อมไปจับตุ๊กตาหมุน สะท้อนถึงความสำคัญของลูก สามารถทำให้พ่อ-แม่ มีแนวโน้มหวนกลับมาคืนดี คลายความโกรธเกลียดให้บรรเทาลง

ตัดต่อโดย … ไม่มีเครดิต แต่น่าจะโดย Josef von Sternberg, ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Helen Farady/Jone ซึ่งจะกระโดดไปข้างหน้า Time Skip นำเสนอช่วงเวลาสำคัญๆเท่านั้น อาทิ
– เมื่อ Helen พานพบเจอ Ned ครั้งแรก
– กระโดดไปวันที่ Helen ตัดสินใจหวนกลับเป็นนักร้อง/นักเต้น
– ช่วงระหว่างสามีเดินทางไปรักษาตัวยังยุโรป
– วันที่สามีหวนกลับมา ทำให้ล่วงรับรู้ความจริง
– การหลบลี้หนีของ Helen จนกระทั่งยินยอมพ่ายแพ้
– มุ่งสู่ยุโรป พานพบเจอเพื่อนเก่า เกลี้ยกล่อมเกลาจนยอมหวนกลับมาสหรัฐอเมริกา

มีทั้งหมด 3 บทเพลงที่ Marlene Dietrich ขับร้องในหนัง
– Hot Voodoo แต่งโดย Ralph Rainger, คำร้องโดย Sam Coslow
– You Little So-and-So (Vous mon Amour) แต่งโดย Leo Robin, คำร้องภาษาอังกฤษโดย Sam Coslow, คำร้องภาษาฝรั่งเศสโดย André Hornez และ André Mauprey
– I Couldn’t Be Annoyed แต่งโดย Richard A. Whiting, คำร้องภาษาฝรั่งเศสโดย Leo Robin

Hot Voodoo เป็นบทเพลงที่มีเนื้อหาล่อแหลม แต่ร้องเรียงด้วยถ้อยคำที่สละสรวยอย่างยิ่ง ขอยกตัวอย่างท่อน

“I’d follow a cave man right into his cave.
That beat gives me a wicked sensation,
My conscious wants to take a vacation!
Got voodoo, head to toes,
Hot voodoo, burn my clothes…”

หญิงสาวติดตามชายคนหนึ่งเข้าไปในถ้ำ จังหวะลีลาของเขาช่างยั่วความรู้สึกชั่วๆบางอย่าง ทำให้ฉันอยากปลดปล่อยจิตใจให้ล่องลอยไป โอ้ละหนอ Voodoo ตั้งแต่ศีรษะจดเท้า เผาทำลายเสื้อผ้าฉันที … จินตนาการต่อเอาเองนะครับ

เทพีวีนัส (Venus) แห่งเทพปกรณัมโรมัน เกี่ยวข้องกับความรัก ความงาม ทีอีกชื่อคือ อโฟรไดท์ (Aphrodite) แห่งเทพปกรณัมกรีกมีความงดงามไม่เป็นสองรองใคร สามารถสะกดใจชายทุกคนได้เพียงพริบตาแรกที่สบมอง อีกทั้งพระนางก็ชอบใจในความสวยงามของตนเองอย่างมาก ไม่ยอมเด็ดขาดหากใครกล้าล้ำเส้นอย่างเด็ดขาด ด้วยแรงริษยาพอๆกับรูปโฉม จนทำให้เป็นที่หวาดหวั่นของเทพหลายๆองค์

วันแรกที่เทพีวีนัสปรากฏตัวบนเทือกเขา Olympus เทพชายทุกองค์แม้แต่เทพซุส (Zeus) ก็อยากได้ครอบครอง แต่นางไม่ใช่หญิงสาวเรียบร้อยหัวอ่อนว่าง่าย ด้วยความโมโหโทโสต้องการแก้เผ็ดโดยจับแต่งงานกับเทพวัลแคน (Vulcan) ซึ่งชอบขลุกตัวอยู่ในโรงงาน ก่อสร้าง ประดิษฐ์สิ่งต่างๆเนื้อตัวมอมแมม แถมยังขาเป๋อีก ทำให้พระนางโกรธขุ่นเคืองอย่างมาก จึงกล้าทำในสิ่งที่เทพีอื่นๆขลาดเขลา นั่นคือการคบชู้สู่ชายกับเทพแห่งสงครามแอริส (Ares)

การเปรียบเทียบตัวละครของ Marlene Dietrich กับเทพีวีนัส ไม่เพียงสะท้อนถึงความรัก ความงาม แต่ยังพฤติกรรมลักลอบเป็นชู้นอกใจสามี ทำในสิ่งสนองใจอยาก ไม่สนผลกระทบใดๆเกิดขึ้นติดตามมา

“What does a man know about mother love?”

– Helen Faraday

คำพูดประโยคดังกล่าว คงเป็นสิ่งที่ Dietrich ต้องการนำเสนอออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ รับรู้ตนเองว่าอาจไม่ใช่แม่ที่ดี แต่เมื่อให้กำเนิดบุตรจากเลือดเนื้อเชื้อไข ย่อมมีสายใยสัมพันธ์มิอาจตัดขาด

สำหรับผู้หญิง อาชีพการงานมักคือสิ่งตรงกันข้ามชีวิตครอบครัว เป็นไปได้ยากที่จะจับปลาสองมือ แล้วออกมาดีเยี่ยมทั้งสองอย่างพร้อมกัน … เอาจริงๆผมว่าก็ทำได้นะ ถ้าสามี-ภรรยา สามารถพูดคุยเปิดอก สื่อสารเข้าใจ และแบ่งเวลากันเป็น แต่ในบริบทของหนัง ด้วยความเห็นแก่ตัวโคตรๆของสามี อ้างหลักศีลธรรมจรรยา ยึดถือมั่นจนหน้ามืดตามัว มันเลยกลายเป็นความเศร้าๆ ฉันทำผิดอะไรถึงตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้

ผมครุ่นคิดไปมา ตัวละคร Cary Grant มิใช่ว่าเปรียบเสมือนผู้กำกับ Josef von Sternberg หรอกหรือ? ถือเป็นคนที่ปลุกปั้น ส่งเธอให้สามารถเติมเต็มความเพ้อฝัน แม้เขาไม่ใช่มหาเศรษฐี แต่เคยตกหลุมร่วมรัก เข้าใจความต้องการ/ธาตุแท้ของอีกฝ่าย สุดท้ายก็แค่พระรอง เพราะเธอยังคงยึดถือสัจจะมั่นในการแต่งงาน รักเดียวใจเดียว

ว่าไปโคตรน่าทึ่งมากๆกับตัวตนของ Marlene Dietrich เสียงเลื่องลือชาถึงจริตจัดจ้าน แรดร่านรุนแรง แต่ทั้งหมดกลับเพียงภาพเปลือกนอก จิตใจแท้จริงกลับบริสุทธิ์สดใส ยึดถือมั่นในรักเดียวใจเดียว แบ่งแยกตัวตน-ภายนอก ออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง … แต่จะมีใครสักกี่คนสามารถเข้าใจ

“I dress for the image. Not for myself, not for the public, not for fashion, not for men. If I dressed for myself I wouldn’t bother at all. Clothes bore me. I’d wear jeans. I adore jeans. I get them in a public store – men’s, of course; I can’t wear women’s trousers. But I dress for the profession”.

– Marlene Dietrich

แม้ลึกๆผมจะเสียดายกับคุณภาพหนังที่น่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้ แต่โดยรวมค่อนข้างชื่นชอบในแนวโน้มเป็นไปได้ หลงใหลเทพี Marlene Dietrich, ประทับใจเล็กๆกับ Cary Grant (แม้จะไม่มีอะไรโดดเด่นก็เถอะ) แสง-เงาสวยๆ บทสนทนาคมคาย และเพลงประกอบสุดเสื่อม ดูจบมีความประทับใจหลงเหลืออยู่มากทีเดียว

จัดเรต 13+ กับความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมจรรยา

คำโปรย | Blonde Venus มีความตราตรึงที่จักค่อยๆถูกหลงลืมเลือน
คุณภาพ | ดีได้กว่านี้
ส่วนตัว | ชื่นชอบ 

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
6 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลtantawanpanda Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
tantawanpanda
Guest
tantawanpanda

เรื่องนี้ภาพสวยมากๆ มีงานของผกกท่านอื่นสไตลนี้แนะนำไหมคะ

%d bloggers like this: