Blood and Black Lace

Blood and Black Lace (1964) Italian : Mario Bava ♥♥♥♥

ครั้งแรกของวงการภาพยนตร์กับการนับศพ (Body Count) เมื่อฆาตกรสวมใส่หน้ากาก เข่นฆ่าโมเดลลิ่งสาวใน Haute Couture (Fashion House) ผู้ร้ายต้องเป็นคนภายในแน่ๆ แต่ใครกันละ? สีสันของงานภาพมีความสวยสด จัดจ้าน [พอๆกับ Suspiria (1977)] และเพลงประกอบดนตรี Jazz โคตรเซ็กซี่

ในบรรดาหนังแนว Giallo ของ Mario Bava ผมได้ข้อสรุปส่วนตัวว่า Blood and Black Lace น่าจะคือผลงานเรื่องเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับ มีความสวยงาม ลงตัว ยังดูดีเมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้จะโดนปฏิเสธโดยสิ้นเชิงเมื่อตอนออกฉาย ปัจจุบันได้รับการยกย่อง และกลายเป็นอิทธิพลกว้างขวางต่อวงการภาพยนตร์

สิ่งที่ถือว่าเด็ดมากๆกับ Blood and Black Lace คือการตายอันสุด ‘Stylish’ ของสาวๆ เมื่อผสมกับบทเพลง Jazz มันเลยมีความเซ็กซี่อย่างมีศิลปะ ว่าไปเรือนร่างของพวกเธอแทบไม่ต่างอะไรกับหุ่นโมเดล ขยับจับดัดเคลื่อนไหวแต่งตัวแต้มตามที่ผู้สร้างสรรค์ออกแบบต้องการ

Mario Bava (1914 – 1980) ผู้กำกับ ตากล้อง สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ San Remo, Liguria พ่อเป็นนักแกะสลัก ทำงานแผนก Special Effect ในยุคหนังเงียบ, วัยเด็กวาดฝันอยากเป็นจิตรกร แต่ไม่สามารถนำภาพวาดของตนเองไปขายเพียงพอเลี้ยงชีพได้ เลยเลือกเดินตามรอยเท้าพ่อ กลายเป็นผู้ช่วยตากล้อง Massimo Terzano เริ่มรับงานเองเมื่อปี 1939 และตั้งแต่ Ulysses (1955) เมื่อผู้กำกับทิ้งงาน กึ่งๆบีบบังคับให้เขาต้องควบหน้าที่ไปด้วย ต่อมายัง I Vampiri (1956), The Day the Sky Exploded (1958), Caltiki – The Immortal Monster (1959), The Giant of Marathon (1959) พอมันหลายเรื่องเข้าชักทนไม่ไหว (คือสตูดิโอไม่ให้ Bava รับเครดิตกำกับด้วยไง) สุดท้ายเลยยอมมอบโอกาสให้กำกับหนังเรื่องแรก Black Sunday (1960), The Girl Who Knew Too Much (1963), Black Sabbath (1963)

จากความสำเร็จระดับนานาชาติของ Black Sabbath (1963) ทำให้ได้รับความเชื่อมือจากสตูดิโอ มอบอิสรภาพเต็มที่ในการสร้างสรรค์ผลงานถัดไป ซึ่งความสนใจของ Bava ต้องการแหวกทำเนียมปฏิบัติหนังแนวอาชญากรรม whodunit? ที่มักพุ่งเป้าติดตามค้นหาตัวฆาตกรโรคจิตเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการแตกต่างคือขยี้ขยายช่วงขณะฆาตกรรม ‘stalk-and-kill’ ให้ทุกความตายมีความสำคัญ พิเศษเฉพาะตัว และออกมาสวยงาม (แต่ผู้ชมจะมองว่ามันคือความวิปริตผิดมนุษย์มนา)

เกร็ด: Working Title ของหนังคือ L’atelier della morte แปลว่า The Fashion House of Death

ค่ำคืนหนึ่ง ณ Christian Haute Couture ขณะที่ทุกคนกำลังยุ่งวุ่นวายกับการเตรียมงานแฟชั่นโชว์พรุ่งนี้ เกิดการเสียชีวิตปริศนาของ Isabella เป็นเหตุให้ตำรวจ Inspector Sylvester ออกติดตามสืบเสาะค้นหาตัวฆาตกร มันคงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีกถ้า Nicole ไม่พบเจอไดอารี่ของ Isabella ซึ่งอาจจดบันทึกข้อมูลสำคัญบางอย่าง บ่งชี้ชัดว่าใครเป็นฆาตกร นั่นทำให้เธอกลายเป็นศพสอง และต่อเนื่องมาด้วยสาม ความเชื่อของ Inspector Sylvester คือผู้ชายทุกคนที่เกี่ยวข้องกับ Christian Haute Couture น่าจะเป็นฆาตกร จับกักกุมตัวบุรุษทุกคนไว้ยังโรงพัก แต่แล้วกลับมีศพที่สี่ หรือว่า…

เกร็ด: Haute Couture อ่านว่า โอตกูตูร์ แปลว่า การตัดเย็บชั้นสูง, แฟชั่นหรูหราที่ทำขึ้นด้วยมือตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างมีคุณภาพที่สุด ราคาแพง บางครั้งใช้ใยผ้าที่ไม่ธรรมดา บรรจงในรายละเอียดตัดเย็บ และจบงานด้วยช่างผู้มากประสบการณ์ซึ่งมักใช้เทคนิคระยะเวลานาน

การถ่ายภาพปกติแล้ว Bava จะขึ้นชื่อเครดิต กำหนดไดเรคชั่นถ่ายทำด้วยตนเอง (เจ้าตัวเคยเป็นตากล้องมาก่อน) แต่อาจเพราะยังไม่คุ้นเคยกับฟีล์มสี เลยมอบหมายให้ Ubaldo Terzano เดิมทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้อง Camera Operator เลื่อนขั้นได้เครดิตถ่ายภาพไปเต็มๆกับ Black Sabbath (1963), The Whip and the Body (1963), Blood and Black Lace (1964) และ The Road to Fort Alamo (1964)

ต่อยอดจาก Black Sabbath ทัศนคติเกี่ยวกับภาพสีของ Bava เน้นความจัดจ้าน Stylish เรียกได้ว่า ‘House of Color’ สาดมันมาทุกเฉดสีสันจนลวดลายตา ก็ไม่รู้เพื่อสะท้อนอารมณ์หรือเพื่อสร้างสัมผัสบรรยากาศให้กับหนังกันแน่ (เอามันส์เป็นว่าเล่น)

ก็ตั้งแต่ Opening Credit งดงามเสียจนแฟนไชร์ James Bond ชิดซ้ายตกกระป๋องแป๋งไปเลย (ทั้งดนตรีและสไตล์ น่าจะเป็นการล้อเลียนแบบมาตรงๆ) คือผมชอบมากๆ หวนกลับมาดูหลายรอบจนพอจับจุดสังเกตที่เป็นลางบอกเหตุ
– เจ้าหุ่นสีแดงผายมือชี้ไปยัง นั่นเป็นการประกาศอย่างกึกก้องว่าบุคคลผู้นั้นคือ …
– หุ่นสีแดงตัวนี้ยืนข้างใคร ก็ล้วนมีอันเป็นไป
– มีเพียงตัวละครเดียวที่พบเห็นภาพสะท้อนในกระจก หมายถึงบุคคลสองหน้า สองตัวตน

ฉากภายนอกถ่ายทำที่ Villa Sciarra สวนสาธารณะกรุง Rome ตึกด้านหลังสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1546 ผ่านร้อนผ่านหนาว เปลี่ยนมือผู้ครอบครอง (ส่วนใหญ่จะเป็น Cardinal) ทรุดโทรมในช่วงสงคราม บูรณะปรับปรุงใหม่ในสไตล์ Neo-Renaissance ผสมกับ Neo-Gothic พร้อมน้ำพุเสร็จสิ้นประมาณปี 1910-12

หลายๆช็อตของหนังมีการเคลื่อนไหล Dolly Shot อย่างลื่นพริ้ว งดงามมากๆ แต่ด้วยทุนสร้างจำกัด วิธีที่ผู้กำกับใช้ก็คือวางกล้องบนรถเข็นเด็กแล้วจับลากไถลไปมา, ส่วน Crane Shot เห็นว่าดัดแปลงใช้ไม้กระดานหก (Seesaw) ไม่ได้มีงบสำหรับอุปกรณ์ราคาแพงๆพวกนี้

การันตีได้เลยว่า ผู้ชมส่วนใหญ่เมื่อเห็นช็อตนี้ จะครุ่นคิดว่าบุคคลด้านหลังกระจกที่เห็นเป็นเงา น่าจะคือฆาตกรอย่างแน่แท้ (ผมเองก็คนหนึ่งละ เพราะเจ้าหุ่นสีแดงมันชี้บอกขนาดนี้) นี่คือความโคตรเจ๋งของหนังในการลวงล่อหลอก ปอกลอกให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจโน่นนี่นั่นต่างๆนานามากมาย ถูกผิดผมคงไม่เฉลย แต่บอกเลยว่ามันมีอะไรแบบนี้เยอะในหนังจนอาจทำให้คุณเกาหัว ใครกันแน่คือฆาตกร?

การค้นพบไดอารี่ของ Isabella ทำให้ทุกคนใน Haute Couture จับจ้องมองตาเป็นมันวาว ราวกับว่าพวกเขาต่างมีส่วนได้ส่วนเสีย อยากรับรู้เห็นสิ่งอย่างที่อยู่ภายในนั้น (คงจะใคร่สงสัยว่า ตนเองจะได้รับการพูดถึงพาดพิงเช่นไร) เมื่อหญิงสาวอาสานำส่งตำรวจ เก็บใส่กระเป๋าใบนี้ มันได้กลายเป็นมุมมอง Point-of-View ที่สร้างความฉงนสนเท่ห์ ลุ้นระทึก ใครไหนจะมาลักขโมยไปหรือหว่า? เป็นการนำเสนอที่ต้องชมผู้กำกับเลยว่า คิดได้ยังไง เจ๋งเป้งมากๆ

ความน่าสนใจของฆาตกรตนนี้ สวมหน้ากากชุดคลุมที่ปกปิดเรือนร่างใบหน้าอย่างมิดชิด ไม่บ่งบอกหญิงหรือชาย และกับคนที่ดูจนถึงตอนจบย่อมรู้ได้ประกอบด้วย 2 ตัวละคร นั่นทำให้ช่วงกึ่งกลางของหนังเมื่อบรรดาผู้ชายทั้งหมดถูกจับกุมกักตัว ผู้ชมจักถูกโน้มน้าวให้ครุ่นคิดเข้าใจว่าฆาตกรย่อมคือผู้หญิงอย่างแน่แท้! แต่ก็อาจโดนตลบหลังอีกทีหนึ่งเมื่อข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผย … เรียกว่าสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน (แต่ก็ยังพอคาดเดาอะไรๆหลายอย่างออกได้บ้าง)

คาดว่า: ตัวละครนี้คงเป็นแรงบันดาลใจให้ Rorschach แห่ง Watchmen หนังสือการ์ตูนแต่งโดย Alan Moore และ Dave Gibbons ตีพิมพ์ระหว่างกันยายน 1986 – ตุลาคม 1987

หนังเรื่องนี้คือจุดเริ่มต้นของ สาวสวยสมควรถูกฆ่าให้ตาย หวนนึกถึงคำของผู้กำกับ Dario Argento

“I like women, especially beautiful ones. If they have a good face and figure, I would much prefer to watch them being murdered than an ugly girl or man”.

การตายของตัวละครใน Giallo มักทำให้มีความสวยงามแบบเว่อๆ โดดเด่นด้วย Special Effect Make-Up อลังการมากๆ อย่างช็อตนี้ตัวละครถูกกดจมน้ำเสียชีวิต แบบว่าจะสวยไปไหน (เครื่องสำอางค์กันน้ำด้วยนะเนี่ย!)

ขอพูดถึงหุ่นโมเดลตบท้ายสักนิดหนึ่ง นัยยะของมันคือแทนด้วยเรือนร่างไร้วิญญาณของมนุษย์ สามารถจับขยับเคลื่อนไหวแต่งองค์ทรงเครื่องได้ดั่งใจ ในหนังจะมีหุ่นสองประเภท
– ประเภทแรกมีความเหมือนมนุษย์ ดูหลอนๆยังไงชอบกลโดยเฉพาะเจ้าหุ่นสีแดง ลางเหตุร้ายอะไรสักอย่างเมื่อตัวละครเข้าใกล้
– ประเภทสองคือหุ่นโปร่ง ถึงมีโครงสร้างเหมือนแต่สามารถมองเห็นทะลุผ่านใน นี่อาจจะแทนถึงผู้ชาย (ที่แทบถือว่าเป็นคนนอกไม่ได้เกี่ยวอะไร) หรือหญิงสาวที่กลายเป็นศพไร้วิญญาณไปแล้ว

ตัดต่อโดย Mario Serandrei ยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Visconti, Mario Bava ผลงานเด่นๆ อาทิ Ossessione (1943), Senso (1954), Rocco and His Brothers (1960), Black Sunday (1960), The Leopard (1963), Black Sabbath (1963) ฯ

เนื่องจากตัวละครที่มีมากเลยไม่ได้ใช้มุมมองของใครในการเล่าเรื่อง แต่สามารถมองสถานที่ Christian Haute Couture คือจุดหมุนของเรื่องราว (เพราะหญิงสาวและฆาตกร ต่างทำงานในสถานที่แห่งนี้)

การดำเนินเรื่องจะสามารถแบ่งออกได้เป็นตอนๆ ตามลำดับการเสียชีวิตของสาวๆในเรื่อง
– เริ่มจาก Isabella เสียชีวิตระหว่างการเดินทางมาทำงาน โดนรัดคอหายใจไม่ออก
– Nicole ที่ร้านขายของเก่าของชู้หนุ่ม Frank ถูกฉุดกระชากเปลือยกาย และหนามแหลมทิ่มแทงหน้า
– Peggy ที่ชั้นดาดฟ้าบนอพาร์ทเม้นต์ของตนเอง ใบหน้าทาบกับเหล็กร้อน
– Greta สาวผู้โชคร้ายที่บ้านของตนเอง โดนหมอนกดทับสิ้นลมหายใจ
– Tilde โดนกดจมอ่างอาบน้ำ
– Max ชายคนเดียวที่เสียชีวิต ถูกยิงตาย
– Christina สิ้นลมจากตกตึก ทนพิษบาดแผลไม่ไหว

เพลงประกอบโดย Carlo Rustichelli (1916–2004) สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ The Seducer-Man of Straw (1958), Kapò (1960), Divorce Italian Style (1961), The Four Days of Naples (1962), The Organizer (1963), For Love and Gold (1966) ฯ

แวบแรกที่ได้ยิน Main Theme คาดไม่ถึงทีเดียวกับการเลือกดนตรีแนว Jazz อันสุดเซ็กซี่ ยั่วเย้ายวน สัมผัสกลิ่นอาย James Bond ใคร่สงสัยว่ามันจะสร้างบรรยากาศหลอกหลอนสั่นสะพรึงได้อย่างไร แต่ไปๆมาๆนี่คือส่วนงดงามลงตัวมากๆของหนัง สอดคล้องเข้ากับทุกสิ่งอย่าง ถ่ายภาพ แสงสีสัน เรือนร่างหญิงสาว และความตาย รสชาดแห่งอารมณ์ศิลป์ มันช่างรัญจวนใจสียเหลือเกิน

ชื่อหนังภาษาอิตาเลี่ยนคือ Sei donne per l’assassino แปลว่า Six Women for the Murderer (แต่แท้จริงแล้วมี 7 ศพ) ซึ่งการขึ้นชื่อเช่นนี้ทำให้ผู้ชม(ในอิตาลี) ใคร่นับปริมาณคนตาย ถือเป็นครั้งแรกในวงการภาพยนตร์เลยก็ว่าได้ สำหรับเทรนด์ ‘Body Count’ ใครจะรอดไม่รอด!

ขณะที่ชื่อหนังภาษาอังกฤษสร้างความสับสนงุงงงให้อย่างมาก Blood and Black Lace เลือดและลูกไม้สีดำ มันคืออะไรกัน? คำว่า Lace แปลว่า เจือ ลูกไม้ เชือกร้อย(รองเท้า) ถัก ดิ้นเงิน เฆี่ยนให้เป็นแนว, ในบริบทนี้คงสื่อถึงการงาน แฟชั่นดีไซเนอร์ Haute Couture ชุดที่บรรดาสาวๆโมเดลลิ่งสวมใส่ เป็นเหตุให้พบเจอโศกนาฎกรรม เลือดและความตาย

อะไรคือแรงจูงใจของฆาตกร? ทั้ง 7 คนของผู้เสียชีวิต ต่างมีความโชคร้ายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
– Isabella รับรู้ข้อเท็จจริงบางอย่าง จึงถูกฆ่าปิดปากรัดคอเพื่อไม่ให้เปิดโปง สูญเสียผลประโยชน์ของฆาตกร
– Nicole อยู่ดีๆค้นพบไดอารีของ Isabella เพราะความที่ตั้งใจจะเก็บมันไว้เอง ฆาตกรหลงเข้าใจผิดคิดว่าเธอครอบครองมันอยู่ ฉุดกระชากเปลื้องผ้าออกจนเปลือยเปล่าก็ไม่พบเจออะไร
– Peggy คือคนที่แอบขโมยไดอารี่ของ Isabella ที่อยู่ในกระเป๋า Nicole ไว้ในการครอบครอง เสร็จแล้วเผาทิ้งทำลาย เลยโดนฆ่าตายแนบหน้ากับเตาร้อนจนไหม้เกรียม
– Greta สาวผู้โชคร้ายเพราะความต้องการ Alibi ให้ตำรวจปลดปล่อยผู้ชายทั้งหลายสู่อิสรภาพ เลยถูกกด(ขี่)ด้วยหมอน ขาดอากาศหายใจ [คนร้ายอยู่ไม่ได้ถ้าขาดหนุ่มคนรัก]
– Tilde แพะรับบาปเพื่อให้ตำรวจเข้าใจว่าเธอคือฆาตกร เลยโดนกดจมอ่างอาบน้ำ แล้วเชือดข้อมือเสียชีวิต
– Max เพราะถูกคิดว่าทรยศหักหลังเลยโดนยิงตาย
– Christina กรรมตามทันในสิ่งที่ก่อ ตกลงมาจากชั้นสองของตึก ทนพิษบาดแผลไม่ไหว

รวมๆแล้วสิ่งที่คือแรงจูงใจของฆาตกร คือผลประโยชน์ส่วนตนเอง ซึ่งมีเพียง 2 ข้ออ้าง
1) ทรัพย์สินเงินทอง ความลับส่วนตัว
2) อ้างเรื่องความรัก เป็นแรงกระตุ้นผลักดัน พลังให้สามารถกระทำการอันวิปริตผิดมนุษย์มนา

ถ้าเปรียบ Haute Couture คือประเทศอิตาลี (มองในยุคปัจจุบันนั้นหรือ Fascist Italian ก็ได้หมด) เหตุการณ์ฆาตกรรม/สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ย่อมสื่อถึงการตักตวงผลประโยชน์ของผู้นำ นักการเมือง รัฐบาล คอรัปชั่นโกงกิน เข่นฆ่าประชาชนโดยอ้อม จนที่สุดแล้วถ้าไม่รู้จักพอสิ้นสุดยุติสักที (คือถ้าฆาตกรหยุดได้ตั้งแต่ Greta คงไม่มีอีกสามศพตามมา) พวกเขาก็จักถูกทำลายด้วยน้ำมือคนใกล้ชิดของตนเอง

และเพราะการที่ฆาตกรตัวจริง คือเจ้าของ Christian Haute Couture จึงสามารถเทียบแทนได้ถึงอดีตท่านผู้นำ Benito Mussolini ในช่วง Fascist Italian เข่นฆ่าทำลายล้างประชาชนในชาติ และเมื่อภัยพิบัติย่างกรายเข้าถึงตัวก็ทรยศหักหลังทุกสิ่งอย่าง จนสุดท้าย … ถือว่ากรรมตามสนอง

ด้วยทุนสร้าง $150,000 เหรียญ กลับทำเงินในอิตาลีได้เพียง $77,000 เหรียญ โชคร้ายที่หนังเรื่องนี้ไม่มีสตูดิโอไหนกล้าจัดจำหน่ายยังสหรัฐอเมริกา (ยังอีกหลายปีกว่า Hays Code จะถึงจุดสิ้นสุด) เป็นเหตุให้สุดท้ายขาดทุนย่อยยับเยิน

กาลเวลาได้ทำให้หนังแปรสภาพกลายเป็น Cult Film ภาพยนตร์เรื่องสำคัญในยุค Golden Age of Italian Horror

“The roots of the Hollywood slasher are often traced back to Blood and Black Lace, yet Mario Bava’s seminal giallo has a richness of texture and complexity of gaze that have kept its elaborate carnage scintillating even following decades of leeching from genre vultures”.

– Fernando F. Croce จาก Slant Magazine

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง คือความลงตัวในการออกแบบศิลป์ ถ่ายภาพ จัดแสงสี เพลงประกอบ และการตายอันมีความสวยเซ็กซี่มากกว่าน่ารังเกียจขยะแขยง แต่รสนิยมดังกล่าวอาจเหมาะสำหรับผู้เข้าใจในความหมายของ ‘High-Art’ เท่านั้นกระมัง

แนะนำคอหนัง Giallo, Thriller Horror Mystery, แนวอาชญากรรม สืบสวนสอบสวน ค้นหาตัวฆาตกร, หลงใหลภาพถ่าย การจัดแสงสีสันจัดจ้าน, แฟชั่นดีไซเนอร์ โมเดลลิ่ง นักออกแบบทั้งหลาย, แฟนๆผู้กำกับ Mario Bava ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับภาพความตายอันเซ็กซี่ สยดสยอง

TAGLINE | “Blood and Black Lace ผลงานชิ้นเอกของ Mario Bava คือรูปอันจัดจ้าน เซ็กซี่ เลอศิลป์”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: