BNK48 : Girls Don’t Cry (พ.ศ. ๒๕๖๑)
: นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ♥♥♥♡
เรากำลังอาศัยอยู่ในศตวรรษแห่งการเติมเต็มความฝัน ทุกสิ่งอย่างรอบข้างเสี้ยมสั่งสอน ชักชวนเชื่อ ปลูกฝังทัศนคติให้ลุ่มหลงใหลในเป้าหมายที่มีตัวตนจับต้องได้ พยายาม และยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่าง เพื่อไขว่คว้าความสำเร็จสมหวังมาครอบครองเป็นเจ้าของ
มารู้ตัวอีกทีผมก็เป็นคนหนึ่งที่พลอยยึดติดกับโลกทัศนคติ ‘ทุนนิยม’ ต่อให้พยายามปลีกตัวออกห่าง ค้นหาหนทางสงบสุข แต่จิตใจก็ยังโหยหาบางสิ่ง พยายามอย่างยิ่งเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว สิ้นสูญเวลาไปกับอะไรก็ไม่รู้ไร้สาระ อนาคตตายไปคงได้ลัลล้าในคุกขุมนรกใต้บาดาล อีกไม่รู้กี่กัลป์กัปจะได้หวนกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกรอบ
สิ่งที่ยกมานี้อาจเหมือนไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับ BNK48 แต่เคยรับรู้กันบ้างรึเปล่าว่า Idol มันมีจุดเริ่มต้นที่มาที่ไปเช่นไร?
“Thou shalt not make unto thee any graven image”
เก่าแก่สุดที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์คือ บัญญัติ ๑๐ ประการ รายการคำสอนและข้อปฏิบัติตามคัมภีร์ฮีบรู ซึ่งเชื่อว่าพระยาห์เวห์ได้ประทานแก่วงศ์วานอิสราเอล ผ่านทางโมเสส ที่ภูเขาซีนาย สลักไว้บน ๒ แผ่นหิน หนึ่งในนั้นมีข้อความว่า ‘ห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน’ ห้ามกราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น พราะเราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่หวงแหน
คำว่ารูปเคารพนี้แหละครับที่เป็นจุดกำเนิดของคำว่า ‘Idol’ ซึ่งถ้าใครเคยอ่านหนังสืออพยพ (Exodus) หรือรับชมภาพยนตร์อย่าง The Ten Commandments (1956), Exodus: Gods and Kings (2014) เมื่อตอนที่โมเสสลงมาจากเทือกเขาซีนาย พบเห็นฝูงชนทั้งหลายกำลังสักการะบูชาเทพเจ้าวัวทองคำ (Golden Calf) เกิดอาการเกรี้ยวกราดโกรธ โยนแผ่นศิลาที่มีพระบัญญัติสิบประการลงสู่พื้นจนแตกละเอียด นำเอารูปหล่อดังกล่าวมาบดเป็นผงละเอียดโปรยลงในน้ำและบังคับให้ผู้หลงใหลดื่มกิน ประกาศต่อสาวกผู้ยังพอมีความจงรักภักดีอยู่บ้าง ใช้ดาบเข่นฆ่าล้างคนอื่นที่หมดสิ้นสูญในความเชื่อศรัทธาขัดแย้งต่อพระศาสนา ไม่เว้นแม้แต่พ่อ-แม่ ลูก-หลาน หรือญาติมิตรผองเพื่อนสนิทของตนเอง
เกร็ด: เทพเจ้าวัวทองคำ ตีความได้ถึงสัญลักษณ์ของ ‘วัตถุนิยม’ อันเกิดจากสิ่งของมีค่าที่ชาวยิวนำติดตัวมา ตุ้มหู ตั่งทอง เครื่องประดับ ฯ เมื่อหลอมหล่อกลายเป็นรูปปั้นลูกวัว สัตว์สัญลักษณ์ของความโง่เขลาเบาปัญญาดั่งเด็กน้อย ขี้เกียจคร้านสันหลังยาว เคี้ยวเอื้องอย่างเชื้องช้าน่าเหนื่อยหน่าย
พุทธศาสนาไม่มีบัญญัติศีลข้อห้ามลักษณะเกี่ยวกับการสร้างรูปเคารพดังกล่าว นั่นเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นถึงวิวัฒนาการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายร้อยพันปีถัดมาหลังทรงปรินิพพาน เมื่อมนุษย์ค่อยๆแปรสภาพจากการความเชื่อศรัทธาในพระพุทธ/จิตวิญญาณ กลายมาเป็นวัตถุนิยมสักการะ เจดีย์ รูปหล่อปั้น แกะสลัก ภาพวาด งานศิลปะ ฯ นี่ก็ถือเป็นการแสดงความเคารพบูชาลักษณะหนึ่ง ซึ่งยังช่วยสร้างบารมีให้ภพภูมิชาติถัดๆไป มีโอกาสถือกำเนิดเกิดใกล้พุทธกาลขึ้นเรื่อยๆ
กาลเวลาและความเสื่อมของยุคสมัยจิตนิยม ค่อยๆนำพาโลกให้เข้าสู่ระบอบทุนนิยมเงินตรา หรือเรียกว่าวัตถุนิยม ซึ่งวิวัฒนาการขั้นต่อไปคือการแปรสภาพทุกสิ่งที่แต่ก่อนเคยได้แค่คิดมีลักษณะนามธรรม ให้สามารถจับต้องได้กลายเป็นวัตถุตัวตนรูปธรรม
หนึ่งในนั้นคือ ‘ความฝัน’ ซึ่งส่วนตัวมองว่าทุกวันนี้มีลักษณะเป็น ‘วัตถุนิยม’ ชิ้นหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว มักมีเป้าหมายสามารถจับต้องได้ ดัชนีชี้วัดเป็นตัวเลข ราคาแห่งความสำเร็จชัดเจน อาทิ ใครได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่ม BNK48 วัดกันด้วยยอดไลค์ ฟอลโล่วอินสตราแกรม ติดเทรนด์บ่อยๆ ขายตั๋วจับมือได้เยอะๆ ปริมาณสูงสุดจักมีโอกาสกลายเป็นแกนหลัก เซ็มบัตสึ ๑๖ คน
วัฒนธรรมไล่ล่าตามความฝัน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจุดเริ่มต้นจากตรงไหน คาดคิด(เดา)ว่าน่าจะมาจากฝั่งชาติตะวันตก ‘อเมริกัน’ ดินแดนเสรีที่เมื่อกว่า ๒๐๐ ปีก่อน ผู้คนต่างหลั่งไหลออกเดินทางแสวงหาโลกใหม่ เพ้อวาดฝันโชคดีส้มหล่นใส่ก็จักประสบความสำเร็จร่ำรวยมั่งมี ตามมาด้วยยุคการล่าอาณานิคมที่ประเทศเหล่านี้แพร่ขยายอิทธิพล แนวคิด ความเชื่อ สู่โลกตะวันออก ที่แม้มีความล้าหลังป่าเถื่อน แต่ชาวเราก็อาศัยอยู่ร่วมกับโลกอย่างสงบสันติสุขร่มเย็น
สำหรับญี่ปุ่น ทั้งๆต้นศตวรรษก่อนหน้าเป็นประเทศปิดและมีความชาตินิยมอย่างสูง แต่หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง จำต้องเปิดรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก อเมริกันเอาแนวคิดทุนนิยมมาเผยแพร่ ชักชวนเชื่อให้คนรุ่นใหม่มองหาสิ่งที่เป็นเป้าหมาย ความฝันสูงสุดในชีวิตแทนการต่อสู้รบทำสงคราม ซึ่งก็สามารถทำสำเร็จในวงการอนิเมชั่น แทบทุกเรื่องที่ผมเคยรับชมล้วนพูดถึง ‘ความฝัน’ และหนทางไขว่คว้าจนประสบความสำเร็จสมหวังดั่งใจ
ขณะที่คำว่า Idol เห็นว่ามาจาก Cherchez l’idole (1963) [ภาษาอังกฤษแปลว่า The Chase] ภาพยนตร์สัญชาติ French-Italian กำกับโดย Michel Boisrond ที่ในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จระดับปรากฎการณ์ สืบเนื่องจากมีบทเพลง La plus belle pour aller danser (แปลว่า Most Beautiful for Dancing) ของ Sylvie Vartan นักร้องสาวที่ขณะนั้นอายุเพียง ๑๘-๑๙ ปี แต่มีความน่ารักน่าชังอย่างมาก (ดูจากคลิปก็พอฟินอยู่) ส่งยอดขายเกินล้านก็อปปี้ในญี่ปุ่น
แซวเล่น: ไม่เห็นมีใครเรียกกัน แต่คงถือได้ว่า Sylvie Vartan คือไอดอลหญิงคนแรกของโลก
ปรากฎการณ์ดังกล่าวที่ญี่ปุ่น ทำให้เกิดกระแสวัยรุ่นหนุ่ม-สาว มีความน่ารักน่าชัง อายุระหว่าง ๑๔-๑๘ ปี ได้รับการผลักดันให้ออกอัลบัม แสดงซีรีย์/ภาพยนตร์ Pop-Star ประสบความสำเร็จมากมาย หนึ่งในนั้นโด่งดังระดับตำนาน Momoe Yamaguchi (เกิดปี 1959) อยู่ในวงการช่วง 1972-80 ตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี! [ไม่รู้ชื่อของเธอคือจุดเริ่มต้นของคำว่า Moe ด้วยหรือเปล่านะ] ซึ่งช่วงทศวรรษ 80s ในประเทศญี่ปุ่น มีคำเรียกว่า ‘Golden Age of Idols in Japan’
มีขึ้นก็ต้องมีลง ความนิยมของ Pop-Idol ค่อยๆเริ่มเสื่อมลงในช่วงทศวรรษ 90s แต่ก็ทำให้เกิดแรงผลักสำคัญอันเนื่องจากวงการอนิเมชั่น วิวัฒนาการสร้างตัวละครให้มีความน่ารักน่าชังเป็นจุดขาย ว่ากันว่าเริ่มนับความโมเอะตั้งแต่ Sailor Moon (1992 – 1997), Cardcaptor Sakura (1998 – 2000) ฯ เนื้อเรื่องราวเป็นอย่างไรไม่รู้ละ ถ้าออกแบบตัวละครให้มีลักษณะโดดเด่นก็แทบจะขายออกแล้ว และขณะเดียวกันหลายๆไอดอลก็ผันตัวมาเป็นนักพากย์ Seiyuu ผลักดันให้ทั้งสองวงการเติบโตไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียง
ต่อมา Idol Group จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เริ่มต้นปี 1999 จาก Arashi วงบอยแบนสังกัด Johnny & Associates ตามด้วย Hello! Project Kids, Berryz Kobo, °C-ute, และเมื่อปี 2005 ด้วยแนวคิดของโปรดิวเซอร์ Yasushi Akimoto ต้องการสร้าง ‘ไอดอลที่คุณสามารถพบเจอได้’ ก่อให้เกิด AKB48 ตั้งชื่อตามย่าน Akihabara (แปลว่า Autumn Leaf Field) หรือย่อๆ Akiba จากเคยเป็นตลาดมืดค้าขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ค่อยๆพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจนปัจจุบันนี้กลายเป็นย่านศูนย์กลางของเหล่าโอตะคุ เต็มไปด้วยร้านขายอนิเมะ มังงะ วีดิโอเกม และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
เกร็ด: ในช่วงทศวรรษ 2000s ทางฝั่งยุโรป/อเมริกา ก็มีถือกำเนิดรายการโทรทัศน์ Pop Idol เริ่มต้นประเทศอังกฤษเมื่อปี 2001 เพื่อคัดสรรหาบุคคลผู้มีความสามารถโดดเด่นด้านการร้องเพลงเป็นหลัก (ไม่เน้นขายหน้าตาแบบฝั่งเอเชีย) ก่อนส่งต่อให้ American Idol (2002 – ปัจจุบัน) รายการโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์อเมริกา
AKB48 เป็นกลุ่มไอดอลของประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยสมาชิกกว่า ๑๐๐ คนที่มีช่วงอายุตั้งแต่ ๑๓ ถึง ๒๗ ปี ด้วยปณิธานหลักคือการสร้างกลุ่มไอดอลที่สามารถพบเห็นได้ทุกวันในโรงละคร ซึ่งแตกต่างจากวงอื่นๆที่จะพบเห็นได้เฉพาะตามงานคอนเสิร์ตหรือในรายการโทรทัศน์เท่านั้น โดยโรงละครของวงตั้งอยู่ที่ร้าน Don Quijote ในย่าน Akihabara
วิธีการคัดสรรสมาชิกวง แต่ละรุ่นผ่านการคัดเลือกด้วยระบบการออดิชั่น รุ่นแรกมีผู้สมัครเกือบๆ ๘,๐๐๐ คน หลงเหลือเพียง ๒๔ คน เรียกว่าเค็งคิวเซย์ (เด็กฝึกหัด) หลังจากได้รับการฝึกอบรมซักซ้อม ๒๐ คน ได้รับแต่งตั้งเป็นเซ็มบัตสึทีมเอ เปิดการแสดงรอบแรกวันที่ ๘ ธันวาคม มีผู้เข้าชมเพียง ๗ คน แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ออกซิงเกิ้ลอินดี้ชุดแรก Sakura no Hanabiratachi ไต่อันดับ ๑๐ ชาร์ทอออริคอน และมียอดขายสัปดาห์แรก ๒๒,๐๑๑ ก็อปปี้
กติกาของสมาชิกวงนี้ จะไม่สามารถมีแฟนได้ ต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี การฝ่าฝืนข้อบังคับจะส่งผลให้ความนิยมตกต่ำลงและอาจถูกกดดันจากสังคมและฝ่ายบริหารให้ออกจากวง ด้วยระบบที่เรียกว่า ‘การจบการศึกษา’ ซึ่งหมายถึงการให้สมาชิกที่มีอายุมากหรือต้องการยกเลิกสัญญาไปทำอย่างอื่น สามารถออกจากวงเพื่อทำตามปณิธานของตนเองต่อไป
ความนิยมของ ABK48 ถือเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมในญี่ปุ่น เมื่อปี 2012 มียอดขายซิงเกิ้ลกว่า ๑๑.๗ ล้านก็อปปี้ ประมาณ ๗,๐๐๐ ล้านบาท ทำให้กลายเป็น ‘กลุ่มดนตรีหญิงที่มียอดขายซิงเกิ้ลสูงสุดในญี่ปุ่น’ ด้วยเหตุนี้โปรดิวเซอร์จึงมีแนวคิดขยายวงให้มีความกว้างขวางขึ้นโดตั้งชื่อ ‘วงน้องสาว’ ในตอนแรกแบ่งเป็นในญี่ปุน ๕ วง และต่างประเทศตามมาอีก ๕ วง เริ่มจาก JKT48 (กรุงจาการ์ต้า, อินโดนีเซีย), BNK48 (กรุงเทพฯ, ประเทศไทย), MNL48 (กรุงมะนิลา, ฟิลิปปินส์) และ TPE48 (กรุงไทเป, ไต้หวัน)
BNK48 กลุ่มไอดอลหญิงของประเทศไทย และเป็นวงน้องสาวต่างประเทศ ลำดับที่ ๓ ของกลุ่ม AKB48 ก่อตั้งโดย บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ เริ่มเปิดออดิชันครั้งแรกเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ด้วยสมาชิก ๓๐ คน ซิงเกิลแรกออกในชื่อ อยากจะได้พบเธอ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ยอดขาย ๑๓,๕๐๐ ก็อปปี้ และปัจจุบันนี้มีโรงละครประจำชื่อว่า BNK48 The Campus ตั้งอยู่ชั้น ๔ เดอะมอลล์บางกะปี ขนาด ๓๕๐ ที่นั่ง
และเนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีหลังเปิดตัว BNK48, บีเอ็นเคโฟรตีเอต ออฟฟิศ มีความสนใจสร้างภาพยนตร์สารคดีเบื้องหลังเกี่ยวกับวง เพราะเคยได้ร่วมทำหนังสือ B SIDE กับ Salmon Books เลยได้รับคำแนะนำให้รู้จักวิชัย มาตกุล ครีเอทีฟโปรดิวเซอร์ของบริษัท Salmon House (บริษัทในเครือ บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด) แต่ด้วยความที่โปรดักชั่นเฮาส์เคยผลิตแค่สารคดีขนาดสั้น ๑๐ นาที เลยติดต่อเต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ขณะนั้นจวนเจียนใกล้เสร็จ Die Tomorrow (พ.ศ. ๒๕๖๐) ให้เข้ามาคุมงานสร้างโปรเจคขนาดยาวเรื่องนี้
คนที่ติดตาม ABK48 คงรู้ได้ว่ามีการสร้างสารคดีวงออกฉายแทบทุกปี ถือเป็นอีกจุดขายหนึ่งเพื่อให้ฐานแฟนคลับรองๆ (ที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้) ได้มีโอกาสติดตามความเคลื่อนไหว พบเห็นเบื้องหลัง และฟินๆกับรุ่นถัดไป ซึ่งก็มีการต่อยอดไปยังมังงะ อนิเมะ วีดีโอเกม รายการโทรทัศน์ ขยายฐานการตลาดจนสามารถเข้าถึงได้ง่ายตามปณิธานของโปรดิวเซอร์โดยแท้
เต๋อ นวพล เล่าว่า ‘ตอนแรกไม่คิดว่าจะใหญ่โตมโหฬารนะ คิดว่าทำสัก ๓ เดือนเสร็จ ทำไปทำมากลายเป็นหนังยาวเรื่องใหม่ของเราไปแล้ว’ ด้วยความไม่รู้ว่าเรื่องราวมันจะมีมีทิศทางเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำให้ทุกสิ่งอย่างดูคาดเดายากไปหมด ซึ่งเต๋อก่อนหน้านี้ก็ติดตาม(แอบๆ)เป็นแฟนของวง ช่วงแรกๆทำการบ้านเตรียมตัวไว้เยอะ อ่านบทสัมภาษณ์โน่นนี่นั่น แต่พอเข้าไปอยู่ร่วมกับพวกน้องๆเลยค้นพบว่า สิ่งที่ควรทำคือโยนทิ้งทุกสิ่งเคยครุ่นคิดไว้ แล้วนั่งจับเข่าพูดคุยสัพเพเหระเรื่อยเปื่อย ทำให้มีโอกาสได้ค้นพบหลายมุมมองที่ไม่เคยได้ยินฟังจากที่ไหน สุดท้ายโปรเจคนี้คือการบันทึกติดตามดูโลกของ BNK48 ไม่ใช่เกิดจากการความพยายามปั้นแต่งให้กลายเป็นโน้นนี่นั่นตามใจเรา
วิธีหลักๆที่ใช้คือ นั่งสัมภาษณ์ในห้องแคบๆ ถ่ายหน้าตรงให้น้องๆหันมองกล้อง จับสีหน้าอารมณ์ความรู้สึกขณะเล่าคำตอบเรื่องราวของตนเอง เห็นว่ามีเวลาคนละสามชั่วโมง น่าจะเป็นเดือนๆกว่าจะครบหมดเสร็จสิ้น
(ไปจิ๊กมาจากทวิตเตอร์ของเต๋อ ฉากแคบๆนั่นกะละมังที่น้องๆเข้าไปอุดอู้เบียดเสียด ถูกบีบโดยจิตวิทยาของผู้กำกับไม่ให้เสียสมาธิมองใครอื่นนอกจากกล้อง แสงไฟ และตนเองขณะให้สัมภาษณ์)
นอกจากการสัมภาษณ์ ยังมีถ่ายภาพหลังเวที ขณะซักซ้อม เตรียมตัวการแสดง รวมทั้งขุดๆคุ้ยๆคลิปเก่าๆ จากเฟสบุ๊คบ้าง อินสตราแกรมบ้าง แต่ฟุตเทจแฟนเก่านี่ก็ไม่รู้ไปโจรกรรมมือถือน้องเค้ามาหรืออย่างไร
เนื่องจากใช้การพูดสัมภาษณ์ดำเนินเรื่องอย่างเดียวเป็นสิ่งน่าเบื่อประไร วิธีการที่นักตัดต่อสารคดีนิยมทำกันคือ Cutaway Shot แทรกภาพอื่นๆระหว่างที่เสียงบรรยายดำเนินไป มักเลือกให้สอดคล้องเข้ากับบทสนทนานั้น หรือบางครั้งเอ่ยถึงคลิปๆหนึ่งอยู่ ก็มีปรากฎฟุตเทจนั้นขึ้นมา จะได้เห็นภาพไม่ต้องจินตนาการไปไกลว่าคืออะไร
เพื่อมุ่งเน้นบางคำพูด จะมีหลายๆข้อความปรากฎขึ้นตัวเล็กๆแต่ดึงดูดสายตาให้ใคร่สนใจมองเหลือเกิน ซึ่งก็มีทั้งประโยคความหมายดีๆ ความพยายามไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ ขีดฆ่าทิ้งเพราะมันอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป
ขณะที่ชื่อน้องๆ มีการแอบแฝงหลักจิตวิทยาเล็กๆเพื่อให้ผู้ชมที่ไม่เคยรับรู้จักสนใจวง BNK48 มีโอกาสจดจำ’บางคน’ได้
– First Impression, ครั้งแรกที่ใบหน้าน้องๆคนนั้นปรากฎขึ้น ข้อความชื่อถือเป็นการแนะนำตัว แต่ก็ยังไม่ค่อยน่าจดจำเท่าไหร่หรอกเพราะยังหาจุดสังเกตน่าสนใจไม่ค่อยได้ นอกเสียจากบางคนที่มีภาพลักษณ์โดดเด่นมากๆ ก็มักขึ้นใจโดยทันที อาทิ เณอปราง (ใบหน้าคมเข้ม วุฒิผู้นำสูง หัวหน้ากลุ่ม), จ๋าจ๋า (ไฝใต้ตาของน้องมีเสน่ห์มากๆ ทีแรกก็ไม่ได้จำชื่อหรอก เรียกในใจน้องไฝว์),ไข่มุก (ใบหน้ากลม แอ๊บแบ๊ว ดูญี่ปุ่นมากๆ), น้ำใส (คนเดียวที่ใส่แว่น ทำให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากๆ ทีแรกจำชื่อไม่ได้เช่นกัน เรียกในใจน้องแว่น), มี่โกะ (พูดญี่ปุ่นพร้อม Subtitle ขึ้นข้อความย้ายจาก ABK48 ใครจะจดจำไม่ได้!)
– กับคนที่ได้รับโอกาสจากเต๋อให้ออกหน้ากล้องบ่อยๆ นิสัยบุคลิกภาพตัวตนจะเริ่มปรากฎ จนกระทั่งเมื่อมีการเลือกตั้งเซ็มบัตสึครั้งแรก สองคนนี้จะโดดเด่นขึ้นมาทันที ปูเป้ (เขี้ยวขมูขีบ่งบอกอารมณ์เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย โดดเด่นเรื่องพัฒนาการทางความคิดและความสนุกสนานมีชีวิตชีวา) และ จิ๊บ (รู้ตัวเองว่าไม่สวยเท่าไหร่ ไม่เคยติดเซ็น แต่รู้ตัวเองว่าอยากเป็นอะไร)
– หลายคนที่เริ่มปรากฎตัวบ่อยขึ้น แต่เนื่องจากทิ้งระยะห่างหายไปสักพักแล้ว ชื่อของน้องก็จะปรากฎขึ้นมาใหม่ เผื่อถ้ามีความน่าสนใจก็จะจดจำได้ … ส่วนนี้ไม่ขอพูดถึงแล้วกันนะว่ามีใครบ้าง จะได้ไม่เอาเปรียบน้องๆที่ผมจำไม่ได้จริงๆ
แต่คือมันก็มีนะ ผมเปิดไล่ดูรายชื่อ ๒๙+๑ สี่คนที่แกร็ดจบการศึกษาไปแล้วไม่ได้มาร่วมสัมภาษณ์ บางคนเห็นรูปคุ้นหน้าแต่ระลึกอะไรเกี่ยวกับน้องไม่ได้เลย นี่คงต้องโทษเต๋อที่ไม่สามารถให้ความเท่าเทียมกันได้ทุกคน โทษตัวน้องเองที่ก็ไม่สามารถหาจุดยืนสร้างความโดดเด่นได้ และผมเองก็อาจผิดด้วยกระมังที่ดันจดจำไม่ได้หมด แต่ใครที่ไม่เคยติดตามวงนี้แล้วจดจำได้หมดในคราเดียวนี่ ก็พาตัวเองไปหาบัตรจับมือให้ครบทุกคนเลยนะ นั่นมันระดับคลั่งไคล้มากๆแล้วละ
สำหรับเพลงประกอบ ร่วมงานกันอีกครั้งกับวงดูโอ้สองพี่น้อง Plastic Plastic หลังจาก Die Tomorrow (พ.ศ. ๒๕๖๐) มีส่วนผสมของ เปียโน กีตาร์ กลอง และยังเสียงสังเคราะห์ (ถึงจะมีแค่สองคน แต่ก็สามารถผลัดกันบันทึกเสียงเล่นดนตรี แล้วนำไปรวบรวมเรียบเรียงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้) ทำหน้าที่ชี้ชักนำทางอารมณ์ของผู้ชมให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่น้องๆเล่าเรื่องขณะสัมภาษณ์ ซึ่งหลายครั้งสามารถคาดเดามู้ดของช่วงหัวข้อนั้นได้เลยจากท่วงทำนองเพลง
ก็ใช่ว่าหนังจะมีอารมณ์เดียวเปล่าเปลี่ยวไปตลอดทั้งเรื่อง มีการปรับเปลี่ยนแปลงไปมาไม่ให้เบื่อหน่ายซ้ำซากจำเจ เริ่มต้นตั้งแต่ท่วงทำนองสนุกสนานครื้นเครง เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ผิดหวังทุกข์เศร้าโศก ความคาดหวังใหม่ เพ้อฝันด้วยกำลังใจ รอยยิ้ม(และคราบน้ำตา)แห่งความสำเร็จ
ฉากสุดท้ายของหนัง ด้วยบทเพลงชื่อ Into the Light ใช้การเดี่ยวเปียโน แล้วตัดต่อภาพให้มีจังหวะสอดคล้องรับกัน ท่ามกลางสปอร์ตไลท์ที่สาดส่องเข้ามา สลับกับความมืดมิดด้านหลังเวที เป็นอารมณ์โหยหาแสงไฟ เป้าหมาย ความสำเร็จของน้องๆวง BNK48 และช็อตสุดท้าย(มั้งนะ)เณอปรางพับจรวดร่อนบิน ภาพสโลโมชั่นก่อนค่อยๆ Fade-In-Black ตราบใดยังมีชีวิตก็คงต้องต่อสู้ดิ้นรน
สามซิงเกิ้ลของ BNK48 ที่สามารถใช้แบ่งองก์ของหนังประกอบด้วย
– อยากจะได้พบเธอ
– คุกกี้เสี่ยงทาย
– วันแรก
แนวเพลงของวง ในเมืองไทยเหมือนจะเรียกแค่ Pop, J-Pop แต่มีผู้ให้คำเปรียบเปรยว่าเหมือน Bubblegum Pop ที่เคยได้รับความนิยมในช่วง 1967 – 72 มีลักษณะเพลงป็อปที่มีจังหวะเร็ว ท่อนฮุคสนุกสนานร้องตามได้ โดยมุ่งตลาดที่ผู้ฟังช่วงก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่น, ซึ่งถ้าให้คำนิยามในยุคสมัยนี้ คงต้องเจาะจงผู้ฟังวัยรุ่นและชายกลางคน แฟนคลับวงไอดอลที่เมื่อเวลาไปร่วมคอนเสิร์ตก็มักร้องเต้าตาม และส่งเสียงเชียร์ไปพร้อมกับพวกเธออย่างมีจังหวะ เคลือบด้วยน้ำตาลที่มีข้อคิดในเนื้อเพลงเป็นครั้งคราว
ไม่ได้อยากพูดให้เสียอารมณ์ แต่ส่วนตัวรู้สึกเลยว่าต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น ร้อง-เล่น-เต้น โปรดักชั่น ทุกสิ่งอย่างดีกว่ามากๆ (ก็แน่ละ ตลาดหลักมันต้องการแข่งขันสูงกว่าอยู่แล้ว มาเทียบอะไรกับตลาดรองละ!) มันกลายเป็นว่ากระแสนิยมของ BNK48 ในประเทศไทย มันออกในเชิง ‘ชาตินิยม’ ไปเสียอย่างงั้น ซึ่งก็คงอย่างที่ใครๆหลายคนสามารถเข้าใจได้ วงนี้ไม่ได้เน้นขายคุณภาพ/ศักยภาพ แต่คือ ‘ความพยายาม’
มันตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ ‘ความพยายาม’ กลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง สามารถนำมาสร้างกำไร ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง วัดผลเป็นความสำเร็จ จับต้องได้ดั่งวัตถุรูปธรรม? นี่คงไม่มีใครให้คำตอบในเชิงรูปธรรม เป็นปี ตัวเลขแน่นอน แต่ผมครุ่นคิดว่าคงเกิดจากผลพลอยวิวัฒนาการของโลก ค่อยๆปรับเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อยจนกลายเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปจะถือกำหนดขึ้นปุ๊ปปั๊ปแบบไม่มีปี่ขลุ่ย
ถือเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า กับการนำเอา’ความพยายาม’มาเป็นจุดขาย? หลายคนอาจสงสัย มันมีเรื่องอะไรไม่เหมาะสมงั้นหรือ? ลองมองคล้ายๆกันว่า ถ้านำเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาถ่ายภาพนู้ดโป๊เปลือยร่างกายต่อหน้ากล้อง เป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า? (ผมไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนี้นะครับ) เปลี่ยนคำพูดใหม่ในเชิงนามธรรม การนำเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มาปลดเปลื้องตัวตนจิตวิญญาณของตนเองต่อหน้าสาธารณะ เป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า? (อยู่ที่สติปัญญาของคุณแล้วละจะเข้าใจสิ่งที่ผมสื่อถึงไหม)
นี่ยังไม่ได้พูดถึงหนังเรื่องนี้เลยนะ แค่เสนอแนะแนวคิดถึงการปรากฎขึ้นของ AKB48/BNK48 ที่สร้างข้อครหากับสังคมในแง่ของนามธรรมจิตใจ พวกเธอโตพอแล้วหรือที่จะพบเจอการแข่งขันราวกับ Battle Royale ผู้ชนะเท่านั้นถึงได้รับโอกาสมีชีวิตตัวตนในโลกดังกล่าว
เลวร้ายไปกว่านั้นผมมองสังคมของ AKB48/BNK48 ไม่ต่างอะไรกับ Salò, or the 120 Days of Sodom (1975) ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวน้องๆในการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด แต่คือบุคคลที่คิดค้นริเริ่มโปรเจคนี้ขึ้นมา มันไม่ได้มีเหตุผลประโยชน์อื่นเลยนอกจากเรื่องของ ‘เงิน’ ขายได้ ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง ด้วยข้ออ้างขายฝันความพยายามไม่เคยฆ่าคน แต่ในความเป็นจริงย่อมมีบุคคลที่พยายามแทบตายทั้งชีวิต ชาตินี้ก็ไม่ประสบพบเจอความสำเร็จ
แต่จะว่าไปมันก็ไม่ใช่ความผิดของ Yasushi Akimoto เพียงบุคคลเดียว เรื่องราวดังกล่าวนี้ล้วนคือ Demand-Supple เพื่อตอบสนองผู้บริโภคทั้งหลาย พูดง่ายๆก็คือถ้าไม่มีโอตาคุชื่นชอบความน่ารักน่าชังของเด็กวัยรุ่นหญิงสาว ใครกันจะไปครุ่นคิดสร้าง AKB48 ขึ้นมาให้เสียเวลา
สุดท้ายแล้วมันก็วกกลับไปที่จุดเริ่มต้น สาเหตุเพราะวิวัฒนาการของโลก จากเคยมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ (จิตนิยม) ค่อยๆแปรสภาพหลงใหลในสิ่งของ (วัตถุนิยม) และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งจากความฝันนามธรรม จับต้องได้มีตัวตนกลายเป็นรูปธรรม
ถึงผมจะไม่ใช่โอตะของ BNK48 แต่ก็ผ่านพบเห็นตามเทรนด์มาสักพักหนึ่ง เคยฟังเพลง แต่ไม่ได้ใคร่สนใจที่ตัวบุคคล ก็เพิ่งทราบจากหนังนี่นะแหละที่ชี้ชักนำถึงวัฒนธรรมวงอันเป็นจุดขาย มุมหนึ่งก็ดีอยู่ทำให้เรารู้จักน้องๆที่ตัวบุคคลมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันภาพรวมของความเป็นวงก็ค่อยๆลบเลือนหายไปโดยสิ้นเชิง
นี่ทำให้ส่วนตัวมอง BNK48 ไม่ใช่วงดนตรีอีกต่อไป มีสถานะเหมือนค่ายเพลงที่รวบรวมหลายๆศิลปิน ตัวใครตัวมันแต่ก็ชอบออกอัลบัมรวมพึ่งพากันและกัน แค่วิถีวัฒนธรรมต้องแข่งกันคว้าดาวเหมือน Reality อย่าง The Star, Academy Fantasia สถิติน่าสนใจคือสองรายการนี้สิ้นสุดลงที่ ๑๒ ฤดูกาลเท่ากันเปะ BNK48 จะสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้หรือเปล่านะ
เอาจริงๆไม่ค่อยน่าแปลกใจเท่าไหร่ที่วงนี้จะประสบความสำเร็จ เพราะตลาดเมืองไทยค่อนข้างเปิดรับอิทธิพลจากญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะ (น่าจะรองจากอเมริกาและจีน เท่านั้นละมั้ง) ประเมินเป็นตัวเลขคร่าวๆ เพื่อนผมสมัยเรียนแทบทุก ๕ คน ต้องมีหนึ่งอ่านการ์ตูน/ติดอนิเมะ/หรือชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น (ผมเองก็หนึ่งในนั้นนะ) การมาถึง BNK48 ก็พบเห็นหลายคนประกาศแสดงตนเองชัดเจนว่าเป็นโอตาคุ พบเห็นมันในหนังตะโกนเชียร์ เณอปราง! เณอปราง! เณอปราง!
ถ้าผมเลือกน้องสาวสักคนในกลุ่ม คงเป็นปูเป้ เดินตามเป็ดปู๊ป ความน่าสนใจคือทัศนคติมองโลกในแง่ดี พูดคุยด้วยรอยยิ้มสนุกสนาน (คุ้นๆว่าเธอไม่ได้ร้องไห้ หรือร้องหว่า?) ไม่ยินยอมแพ้ต่อสิ่งที่ตนเองคิดว่ามีศักยภาพเพียงพอ พยายามจนในที่สุดสามารถกลายเป็นเซ็มบัตสึสมปรารถนา แม้ปรากฎใน MV เพียง ๒ วินาทีก็เถอะ
ถึงส่วนตัวจะไม่ชื่นชอบแนวคิดของวง BNK48 แต่สารคดีเรื่องนี้ก็มีหลายสิ่งชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล ไดเรคชั่นของเต๋อ นวพล ฝีมือจัดจ้านเฉียบคมขึ้นเรื่อยๆ, ตัดต่อมีความลื่นไหลมากๆ, เพลงประกอบ Plastic Plastic ชี้ชักนำอารมณ์ให้ดูสนุกขึ้นกว่าเดิมหลายสิบเท่า, และสุดท้ายคือโลกทัศนคติ พบการเติบโต ประสบการณ์ของพวกน้องๆ ว่าไปดูน่าสนใจยิ่งๆกว่าสารคดีเรื่องนี้อีกนะ!
นี่เป็นสารคดีที่ก้าวข้ามผ่านจุดขายเฉพาะกลุ่มโอตะ แต่ยังคือหนังวัยรุ่นในช่วงเวลาแห่งการเติบโต พัฒนาการ (Coming-of-Age) สร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลผู้ท้อแท้หมดสิ้นหวังในชีวิตได้มาก เพราะพวกเขาจะเริ่มครุ่นคิดถึงสิ่งที่ตนเคยประสบพบ ยังมีน้องๆกลุ่มนี้อาจเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ ยากลำบาก บางครั้งดูหนักหนาสาหัสกว่าเราเองเสียอีก กลับยังสามารถต่อสู้ดิ้นรนอดทนต่อไป แล้วทำไมฉันถึงจะกลายเป็นเช่นนั้นไม่ได้บ้างเล่า!
จัดเรต ๑๓+ ทำไมต้องเอาโลกทัศนคติทุนนิยม ไปปลูกฝังกับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก
Leave a Reply