Boat People

Boat People (1982) Hong Kong : Ann Hui ♥♥♥♥

ภายหลังไซ่ง่อนแตก ค.ศ. 1975 ชาวเวียดนามใต้ต้องเลือกระหว่างศิโรราบต่อพรรคคอมมิวนิสต์ หรือหาหนทางขึ้นเรือหลบหนีออกนอกประเทศ จะว่าไปไม่แตกต่างจากหลังสงครามกลางเมืองจีน (1945-49) สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋นอพยพสู่เกาะไต้หวัน รวมถึงปัจจุบันที่ชาวฮ่องกงกำลังเตรียมตัวลี้ภัย ไปให้ไกลก่อนดินแดนแห่งนี้กลับคืนเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ ค.ศ. 2047

Boat People (1982) เป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในความสนใจของผมมานานมากๆ เตะตาเตะใจตั้งแต่เห็นติด Top10 ในลิส “Best Hong Kong Movie of All-Time” และเมื่อตอนหาข้อมูลนักแสดงหลิวเต๋อหัว พบว่าเจ้าตัวได้รับการผลักดันจากโจวเหวินฟะ แนะนำผู้กำกับสวีอันฮัวให้เลือกเด็กหนุ่มหน้าใสคนนี้ แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที!

ระหว่างรับชม Boat People (1982) ทำให้ผมระลึกถึง Apocalypse Now (1979) และ The Killing Fields (1984) ที่แม้ไม่ใช่หนังสงคราม (ถือเป็น Post-Wars film) แต่เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย ภาพความตายบาดตาบาดใจ (เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนรับชมนะครับ!) เผยให้เห็นถึงสันดานธาตุแท้เผด็จการ สนเพียงสร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่คนในชาติกลับปฏิบัติเหมือนเชือดหมูเชือดไก่ ไม่ใคร่สนหลักศีลธรรม มโนธรรม และมนุษยธรรม พบเห็นความคอรัปชั่นแทรกซึมอยู่ทุกๆระดับ

แต่สิ่งน่าตกอกตกใจที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็คือ รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้ออกทุนสร้าง! สาเหตุเพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน เพิ่งเกิดสงครามจีน-เวียดนาม (Sino-Vietnamese War) หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สาม เป็นการสู้รบชายแดนระยะเวลาสั้นๆ ช่วงระหว่าง 17 กุมภาพันธ์ถึง 16 มีนาคม ค.ศ. 1979 เพื่อตอบโต้การบุกยึดครองกัมพูชาของเวียดนามเมื่อต้นปี 1978 (เป็นการทำลายอิทธิพลเขมรแดงที่จีนให้การหนุนหลัง) … ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนอนุมัติสร้างภาพยนตร์ที่มีลักษณะต่อต้านเวียดนาม (Anti-Vietnam)

ซึ่งการได้รับทุนสร้างจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนนั้น ทำให้หนังถูกตีตราจากพวกฝั่งขวา/เสรีนิยม (Leftist) ว่าเป็นหนังชวนเชื่อ (Propaganda) เมื่อได้รับเลือกเข้าร่วมสายการประกวด (in-competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes กลับถูกรัฐบาลฝรั่งเศสล็อบบี้ห้ามฉาย เพราะกลัวจะทำลายความสัมพันธ์อันดีกับอดีตประเทศอาณานิคม (เวียดนามเคยตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส)

นอกจากนี้หนังยังถูกแบนในไต้หวัน (ช่วงนั้นมีนโยบายห้ามนำเข้าหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่) ขณะที่กองเซนเซอร์จีนก็สั่งห้ามฉายเพราะดูไม่ค่อยเหมือนหนังต่อต้านเวียดนาม ส่วนฮ่องกงหลังจากกลับคืนสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่ ค.ศ. 1997 จะไปรอดพ้นการโดนแบนได้อย่างไร

โชคชะตากรรมของ Boat People (1982) ก็เลยล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร … ผู้ชมที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็น่าจะรู้สึกเคว้งคว้าง หมดสิ้นหวังอาลัยเช่นกัน!


สวีอันฮัว, 許鞍華 (เกิดปี 1947) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่อันชาน มณฑลเหลียวหนิง, บิดาเป็นคนจีน มารดาชาวญี่ปุ่น เมื่ออายุ 5 ขวบ ครอบครัวย้ายมาปักหลักอยู่มาเก๊า ค้นพบความชื่นชอบด้านวรรณกรรม บทกวี สมัยเรียนเข้าร่วมชมรมการแสดง สำเร็จการศึกษาภาษาอังกฤษและวรรณกรรม University of Hong Kong, จากนั้นไปเรียนต่อสาขาภาพยนตร์ London Film School

เมื่อเดินทางกลับฮ่องกง มีโอกาสทำงานผู้ช่วยผู้กำกับหูจินเฉวียน (King Hu) จากนั้นเข้าร่วม Television Broadcasts Limited (TVB) กลายเป็นนักเขียนบท กำกับสารคดีฉายโทรทัศน์ Below the Lion Rock หนึ่งในนั้นคือตอน Boy from Vietnam (1978) บันทึกภาพผู้อพยพ เด็กชายชาวเวียดนามแอบเข้าฮ่องกงอย่างผิดกฎหมาย เพื่อติดตามหาพี่ชาย … กลายเป็นจุดเริ่มต้น Vietnam Trilogy

สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก The Secret (1979) คว้ารางวัล Golden Horse Award: Best Feature Film, ติดตามด้วย The Spooky Bunch (1980), The Story of Woo Viet (1981) ถือเป็นเรื่องที่สองของ Vietnam Trilogy ชายหนุ่มหูเยว่, 胡越 (รับบทโดยโจวเหวินฟะ) กำลังหาทางหลบหนีออกจากฮ่องกง เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งมายังฟิลิปปินส์ เอาตัวรอดด้วยการเป็นมือปืนรับจ้าง

ภายหลังสิ้นสุดสงครามจีน-เวียดนาม, Sino-Vietnamese War เมื่อปี 1979 รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์นำเสนอโปรเจคที่มีลักษณะชวนเชื่อ ต่อต้านเวียดนาม (Anti-Vietnam) แม้นั่นไม่ใช่ความตั้งใจของผู้กำกับสวีอันฮัว แต่โปรดิวเซอร์มองว่านั่นคือโอกาสหายากยิ่ง (ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมาก่อน ผู้กำกับจากฮ่องกงหรือไต้หวันที่แสวงหาทุนสร้างจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่) และสามารถเลือกสถานที่ถ่ายทำยังเกาะไหหลำ (เพราะคงไม่มีทางเข้าไปถ่ายทำยังดานัง ซึ่งในประเทศจีนก็เพียงมณฑลแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมและอยู่ใกล้เวียดนามมากที่สุด)

สำหรับ 投奔怒海 (แปลตรงตัวว่า Into the Raging Sea) ชื่อภาษาอังกฤษ Boat People (1982) ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในไตรภาค Vietnam Trilogy ร่วมงานกับนักเขียน Chiu Kang-Chien, 邱剛健 (ตั้งแต่ The Story of Woo Viet (1981)) ได้แรงบันดาลใจจากบทสัมภาษณ์ที่ผู้กำกับสวีอันฮัว เมื่อตอนถ่ายทำสารคดี Boy from Vietnam (1978) มีโอกาสพูดคุยกับผู้อพยพชาวเวียดนามนับร้อย ส่วนใหญ่คือพวกเข้าเมืองผิดกฎหมาย เล่าถึงประสบการณ์อันน่าหวาดสะพรึงระหว่างอยู่บนเรือ รอดไม่รอด ถึงไม่ถึงฝั่ง

ฉบับร่างแรกพัฒนาตัวละครโตมินห์ (รับบทโดยหลิวเต๋อหัว) นักโทษหลบหนีออกจาก New Economic Zone (N.E.Z) เรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางข้ามมหาสมุทร (ตามชื่อหนัง Boat People) แต่ความยุ่งยากในการถ่ายทำ รวมถึงงบประมาณที่จำกัด ก็เลยต้องมองหาเรื่องราวอื่นเสริมเพิ่มเติมเข้าไป

In the original script he gets away and most of the film is set at sea. And in the real story the boat was sunk. What happened was that the Viet­namese had two patrol boats which fired into the hull of the refugee boat and then went around and around it, until they created a great whirlpool, so that the whole boat was sunk. It was in all the newspapers in Hong Kong at the time. But we couldn’t shoot the whirlpool, be­cause technically it was impossible for us.

ผู้กำกับสวีอันฮัว

ผู้กำกับสวีอันฮัวได้แรงบันดาลใจตัวละครช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa (รับบทโดย หลินจื่อเสียง) จากการค้นพบหนังสือ Letter to Uncle Wah (ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าเขียนโดยใคร ตีพิมพ์ปีไหน) นำเสนอในลักษณะไดอารี่ของเด็กหญิงชาวเวียดนาม (เขียนถึง Uncle Wah) บรรยายความทุกข์ยากลำบากในการดำรงชีวิต แม้พื้นหลัง ค.ศ. 1974 แต่ก็แทบไม่แตกต่างจากหลังไซ่ง่อนแตก ค.ศ. 1979

During our research, we came across a book written by a Japanese reporter called Letter to Uncle Wah. It’s set in Vietnam in 1974 and written in the form of a diary for a little girl. And we found, when comparing this account with conditions in Vietnam after the Liberation, that the living stan­dards of the very poor had not basically changed. If anything, they were worse. So the details of the diary could be trans­posed to 1978.

แซว: Chiu Kang-Chien เล่าว่าในการพัฒนาบท Boat People (1982) ทำให้เขาต้องนั่งฟัง Mozart: Requiem ไม่ต่ำกว่าร้อยๆรอบ เพื่อซึมซับบรรยากาศอันหดหู่ หมดสิ้นหวัง จักได้เข้าใจความรู้สึกชาวเวียดนามสมัยนั้น


เรื่องราวเริ่มต้นปี ค.ศ. 1975 หลังจากไซ่ง่อนแตก ช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa (รับบทโดย หลินจื่อเสียง) มีโอกาสบันทึกภาพชัยชนะของของเวียดนามเหนือ ขณะเดียวกันก็หันไปพบเห็นเด็กชายขาขาดคนหนึ่ง กลายเป็นภาพจำติดตา ทำให้เขาอยากหวนกลับมาเวียดนามอีกครั้ง

สามีปีให้หลัง Akutagawa ก็มีโอกาสเดินทางกลับมาเวียดนามอีกครั้ง ด้วยคำเชื้อเชิญอย่างเป็นทางการของรัฐบาล เพื่อบันทึกภาพ New Economic Zone พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในเมืองดานัง พบเห็นเด็กๆเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่ไม่นานก็รู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่าง เพราะทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจัดฉาก สร้างภาพภายนอกให้ดูดี แท้จริงแล้ว…

หลังจาก Akutagawa ได้รับอนุญาตให้สามารถออกเตร็ดเตร่ เดินทางไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆด้วยตนเอง (โดยไม่มีใครติดตาม) ทำให้พบเห็นสภาพเสื่อมโทรมของประเทศเวียดนาม ทหาร/ตำรวจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้าน ประชาชนอดๆอยากๆไม่มีอันจะกิน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแลกมาด้วยเงินๆทองๆ โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ไร้สามัญสำนึก มโนธรรม ศีลธรรม สนเพียงทำอย่างไรให้อิ่มท้อง เอาตัวรอดไปวันๆ


หลินจื่อเสียง, 林子祥 (เกิดปี 1947) นักร้อง/นักแสดง เกิดที่ฮ่องกง บิดาเป็นหมอสูติศาสตร์ ส่งบุตรชายเข้าโรงเรียนนานาชาติ ทำให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสได้ตั้งแต่เด็ก, คุณปู่ซึ่งก็เป็นหมอเหมือนกัน ชอบพาหลานชายไปชมภาพยนตร์ แต่เจ้าตัวมีความชื่นชอบด้านการร้องเพลง ร้อง-เล่นเปียโน ดีดกีตาร์, โตขึ้นเดินทางไปศึกษาต่อประเทศอังกฤษ ตามด้วยสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาฮ่องกงตัดสินใจเป็นนักร้อง ออกอัลบัมแรก Lam (1976) มีบทเพลงทั้งภาษาอังกฤษ/กวางตุ้งดังๆติดชาร์ทอันดับหนึ่งนับไม่ถ้วน, นอกจากนี้ยังรับงานแสดง ซีรีย์ ภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Luckies Trio (1978), The Secret (1979), Boat People (1982), King of Beggars (1992) ฯ

รับบทช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa เคยถ่ายภาพชัยชนะของกองทัพเวียดนามเหนือหลังไซ่ง่อนแตก แล้วถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก สร้างความประทับใจให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ จึงชักชวนเขากลับมาบันทึกภาพ New Economic Zone พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในเมืองดานัง เพื่อนำเสนอพัฒนาการหลังสิ้นสุดสงคราม ประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลกอีกครั้ง! แต่ไม่นานก็ตระหนักว่าสิ่งเหล่านั้นคือการจัดฉาก สร้างภาพลวงหลอกตา เพราะเมื่อพบเห็นเด็กสาวก๋ามเนือง แอบติดตามไปที่บ้าน รับรู้ถึงวิถีชีวิต สภาพครอบครัว เต็มไปด้วยความยากจนข้นแค้น พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแลกมาด้วยเงินๆทองๆ เอาตัวอยู่รอดไปวันๆ

ใครที่รับรู้จักหลินจื่อเสียง คงจดจำหนวดงามๆ หล่อมั้งนะ! ต้องชมในความทุ่มเทพยายาม เพราะช่างภาพเป็นอาชีพที่ต้องกระตือรือล้น เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น สังเกตว่าตัวละครเลือกจะบุกป่าฝ่าดง ออกเดินทางผจญภัย หลายๆครั้งถึงขนาดเอาชีวิตเข้าเสี่ยง เพื่อให้ได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริง แม้ไม่มีกล้องบันทึกภาพ แต่นั่นคือสิ่งจักถูกเปิดเผยแก่ผู้ชมภาพยนตร์!

ซึ่งเมื่อตัวละครพบเห็นความเหี้ยมโหดร้ายของสังคม หลายๆครั้งก็มิอาจอดกลั้นฝืนทน แสดงออกปฏิกิริยาอารมณ์อย่างเกรี้ยวกราด ครุ่นคิดว่าตนเองต้องกระทำบางสิ่งอย่าง แม้ไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก แต่สำหรับคนที่เขามีโอกาสรับรู้จัก แม้เสี่ยงชีวิตเข้าแลกก็ยินยอมเสียสละ เพื่ออนาคตน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่

การที่ตัวละครนี้แสดงปฏิกิริยาอารมณ์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ถือเป็นการชี้ชักนำทางผู้ชม (Manipulate) ให้รับรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันนั้น คนที่สามารถสังเกตได้จะรู้สึกอึดอัดรำคาญใจ เพราะนี่คือลักษณะหนึ่งของการ ‘ชวนเชื่อ’ ซึ่งผมรู้สึกว่าผู้กำกับสวีอันฮัวจะไม่รับรู้ตนเองด้วยซ้ำนะ


หลิวเต๋อหัว, 劉德華 (เกิดปี 1961) นักแสดงชาวจีน หนึ่งในสี่จตุรเทพแห่งวงการเพลงป๊อป (กวางตุ้ง) เกิดที่เขตไทโป เกาะฮ่องกง, สมัยเด็กมีฐานะยากจน หลังเรียนจบเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงฝึกหัดสถานีโทรทัศน์ TVB มีชื่อเสียงจากบทเอี้ยก้วย ซีรีย์มังกรหยก (1983), ส่วนภาพยนตร์เริ่มจาก Boat People (1982), As Tears Go By (1988), A Moment of Romance/ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ (1990), Internal Affairs ภาคหนึ่งกับสาม, House of Flying Daggers (2004), The Warlords (2007), A Simple Life (2011) ฯลฯ

รับบทโตมินห์ (To Minh) เพราะเคยเป็นคนแปลภาษาให้ทหารอเมริกัน หลังสงครามเลยถูกส่งตัวไปใช้แรงงานยังค่าย New Economic Zone แต่ได้รับการปล่อยตัวเพราะมีอาการบาดเจ็บที่ต้นขา ตระเตรียมวางแผนขึ้นเรือหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา พยายามลักขโมยกล้องถ่ายรูปของ Shiomi Akutagawa จึงถูกจับกุมตัวแล้วส่งกลับไปค่ายอีกครั้ง ครานี้โดนสั่งทำงานปลดเหมืองระเบิด เหลือเวลาอีกเพียง 4 วันจะออกเดินทางไปจากนรกขุมแห่งนี้

เกร็ด: ชื่อที่คนเวียดนามนิยมใช้คือ ตงมินห์, Thông Minh ไม่ใช่ To Minh (อาจแปลมาผิดเพราะออกเสียงคล้ายๆกัน) ซึ่งคำว่า Minh แปลว่าเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด มีความยอดเยี่ยม

แรกเริ่มนั้นผู้กำกับสวีอันฮัวต้องการโจวเหวินฟะให้มารับบทโตมินห์ แต่พอเจ้าตัวรับรู้ว่าหนังได้ทุนสร้างจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ กลัวจะสูญเสียแฟนๆจากไต้หวัน (และโดน Blacklist) เลยบอกปัดปฏิเสธ พร้อมแนะนำนักแสดงหน้าใหม่ที่เพิ่งเคยร่วมงานแต่ยังจดจำชื่อไม่ได้ ทีแรกก็ไม่ใครรับรู้ว่าคือใคร แต่มันคือโชคชะตาของหลิวเต๋อหัวให้ได้รับบทบาทภาพยนตร์เรื่องแรกนี้

ทีแรกผมดูไม่ออกเลยนะว่าตัวละครนี้คือหลิวเต๋อหัว เพราะใบหน้ายังดูละอ่อน แถมมีการย้อมสีผิวให้คมเข้ม (เหมือนชาวเวียดนาม) กลมกลืนไปกับตัวประกอบจนแยกไม่ออก แต่การแสดงถือว่าเจิดจรัสมากๆ (กว่าหลินจื่อเสียงด้วยซ้ำไป!) โดยเฉพาะตอนปลดระเบิด สีหน้าอันตึงเครียด สมาธิอันแน่แน่ว สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ทำเอาผมแทบไม่กล้าผ่อนลมหายใจ

ยุคสมัยนั้นกับการแสดงที่โคตรสมจริงขนาดนี้ ถือว่าอนาคตในวงการของอาหลิวได้เปิดกว้างอย่างมากๆ จนสามารถประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่กลับมีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่หวนกลับมาร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮัว หนึ่งในนั้น A Simple Life (2011) เรียกว่าสูงสุดกลับคืนสามัญคงไม่ผิดอะไร ซึ่งถือเป็นอีกผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของทั้งคู่ด้วยนะครับ


หม่าซือเฉิน, 馬斯晨 นักแสดง/ผู้ช่วยผู้กำกับ ด้วยความชื่นชอบภาพยนตร์ จึงมักรวมกลุ่มเพื่อนๆ พูดคุยพบปะสังสรรค์ยัง Patio Cafe ในโรงแรม Renaissance Kowloon Hotel ย่านจิมซาจุ่ย (เหมือนจะปิดบริการไปแล้ว) วันหนึ่งไปเข้าตาแมวมอง ผู้กำกับสวีอันฮัวชักชวนมาเป็นแสดงภาพยนตร์ Boat People (1982), แต่อาจเพราะหน้าตาธรรมดาๆ เลยพยายามทำงานเบื้องหลัง ก่อนค่อยๆเลือนหายตัวออกไปจากวงการ

รับบทก๋ามเนือง (Cam Nướng) เด็กสาวชาวเวียดนาม สูญเสียบิดาจากสงคราม มารดาล้มป่วยอิดๆออดๆแต่ก็แอบรับงานโสเภณี กลายเป็นพี่คนโตในครอบครัวดูแลน้องๆอีกสองคน กลางวันเปิดแผงลอยขายชานอ้อย กลางคืนรับจ้างล้างจานใกล้ๆย่านผู้หญิงขายบริการ ครั้งหนึ่งระหว่างกำลังจ่ายตลาด ชูนิ้วกลางใส่ Shiomi Akutagawa สร้างความฉงนสงสัยจนทำให้เขาติดตามมาจนถึงบ้าน ขอให้เธอเป็นไกด์พาไปยังสถานที่ต่างๆ

เกร็ด: Cam แปลว่าส้ม, ส่วน Nướng มาจากแหนมเนือง หรือแหนมย่าง (แปลว่า ย่าง) นำมารวมกันอาจงงๆ ส้มย่าง??

ทีแรกผมนึกว่าทีมงานคัดเลือกนักแสดงเวียดนาม เพราะความกลมกลืน ดูไม่ฝืนธรรมชาติเลยสักนิด! แต่แท้จริงหม่าซือเฉินเป็นชาวฮ่องกงแท้ๆ นั่นสร้างความประหลาดใจให้ผมอย่างมากๆ นั่นแสดงว่าเธอมีความสามารถที่โดดเด่น แม้อายุยังน้อยแต่พร้อมทุ่มเทให้กับการแสดง … โดยเฉพาะฉากตั้งใจจะเสียความบริสุทธิ์ พบเห็นภาษากายที่หลายๆคนน่าจะอ่านออกอย่างชัดเจน (คือเข้าใจเรื่องพรรค์นี้ตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ!)

น่าเสียดายที่แม้ฝีไม้ลายมือโดดเด่น เห็นว่าคว้ารางวัล Best New Performer ตัดหน้าหลิวเต๋อหัวด้วยซ้ำนะ! แต่เพราะรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ธรรมดาเกินไป เลยไม่มีใครไหนมอบโอกาสทางการแสดงให้สักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Wong Chung-kei, 黃宗基 ร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮัวตั้งแต่ The Secret (1979), Boat People (1982), An Autumn’s Tale (1987), Painted Faces (1988), God of Gamblers (1989), Once Upon a Time in China (1991), King of Beggars (1992) ฯ

งานภาพของหนังมีลักษณะคล้ายๆการถ่ายทำสารคดี (documentary-like) เน้นความเป็นธรรมชาติ ดูสมจริง ดิบ เถื่อน กลิ่นอายเหมือน Neorealist แต่ไม่ใช่ Neorealist (เพราะทุกสิ่งอย่างเป็นการจัดฉากขึ้นจึงไม่ใช่คำที่ถูกต้องสักเท่าไหร่) เลือกถ่ายทำยังเกาะ/มณฑลไหหลำ เพราะมีสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ใกล้เคียงประเทศเวียดนามมากที่สุด

ถึงหนังได้รับการบูรณะแล้ว แต่ผมยังรู้สึกว่างานภาพมีความเก่าๆ ดูซีดๆ แทบจะไม่มีสีสันอะไร แต่นั่นถือว่าเข้ากับบรรยากาศอันหมองหม่น แสดงถึงความเสื่อมโทรมของเวียดนามยุคสมัยนั้น และไฮไลท์คือสีแดงของเลือด เมื่อปรากฎขึ้นจะมีความโดดเด่นชัดเจนมากๆ … แอบให้ความรู้สึกเหมือน Schindler’s List (1993) แต่แทนที่จะเป็นฟีล์มขาว-ดำ กลับปรับโทนสีอื่นๆให้ดูจืดจาง ซีดลง แล้วเมื่อไหร่สีแดง/เลือดปรากฎขึ้น ผู้ชมย่อมสัมผัสได้ถึงหายนะ ความตาย

แม้งานภาพจะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา บดขยี้หัวใจผู้ชมให้แตกสลาย แต่ผู้กำกับสวีอันฮัวไม่ได้พึงพอใจในไดเรคชั่นสักเท่าไหร่ แสดงความเห็นว่าประเด็นของหนังมันทรงพลังเกินกว่าจะหาวิธีนำเสนอ ‘visual style’ ให้มีความโดดเด่นไปกว่า

In Boat People the style does not make a statement. It’s just a plain narrative. But I still can’t think of better ways to shoot it.

I’m not very satisfied with the style of the film. I didn’t find a way of shooting it that was wholly appro­priate. Perhaps it was because the sub­ject matter is so strong, the script and dialogue so carefully written, that I couldn’t use an obtrusive visual style. 

ผู้กำกับสวีอันฮัว

30 เมษายน ค.ศ. 1975 วันแห่งการเสียกรุงไซ่ง่อน (เรียกโดยผู้สนับสนุนเวียดนามใต้) หรือการปลดปล่อยไซ่ง่อน (เรียกโดยผู้สนับสนุนเวียดนามเหนือ) คนไทยเรียกเหมารวมว่าว่า ไซ่ง่อนแตก หลังจากสหรัฐอเมริกาอพยพทหารออกไป กองทัพเวียดนามเหนือก็กรีฑาเข้ามาในเวียดนามใต้

แต่ท่ามกลางการปรบมือ ขบวนพาเรดทหาร/รถถังเข้ายึดเมืองไซ่ง่อน ช่างภาพชาวญี่ปุ่น Akutagawa กลับพบเห็นเด็กชายขาพิการคนหนึ่ง อดรนทนไม่ได้ต้องติดตามไปบันทึกภาพ มันเป็นความขัดย้อนแย้งต่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่ใครต่อใครพยายามถูกปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ นั่นคือฝั่งผู้พ่ายแพ้ย่อมต้องก้มหัว ศิโรราบ ยินยอมรับโชคชะตากรรมหลังจากนี้

ไดเรคชั่นของหนังทั้งเรื่องก็จะเป็นไปในทิศทางนี้นะครับ เริ่มต้นด้วยสิ่งสวยหรู ดูดี แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการสร้างภาพ ลวงหลอกตา เพราะเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ ทุกสิ่งอย่างล้วนกลับตารปัตรตรงกันข้าม อะไรที่หลงเหลือล้วนคือหายนะ ความวิโยค โศกนาฎกรรม

Last night I dreamed of Chairman Ho
He has a long, long beard and silvery hair
I long to hold him, to snower kisses on him
May Chairman Ho live 10000 years!
May Chairman Ho live 10000 years!

ระหว่างที่เด็กๆกำลังขับร้องเพลงสรรเสริญลุงโฮจิมินห์ (ไม่ได้มีความแตกต่างจากประธานเหมาเจ๋อตุงเลยนะ!) ช่างภาพชาวญี่ปุ่น Akutagawa ก็พูดประโยคแรกของหนัง “Don’t look at the camera”. นี่ไม่ใช่แค่คำบอกกล่าวเด็กๆ อย่าหันมาสบตาหน้ากล้อง เดี๋ยวภาพถ่ายออกมาไม่สวย แต่ยังคือคำสนทนา/ท้าทายผู้ชม เพราะการสั่งห้ามมักทำให้มนุษย์เกิดความอยากรู้อยากเห็น ต้องการจับจ้องมอง (เสือกเรื่องราวบ้าน) รับรู้ให้ได้ว่าภาพยนตร์นี้กำลังจะนำเสนออะไร

โดยปกติแล้วรองเท้ามีไว้สวมใส่ แต่ชายคนนี้กลับนำมาห้อยคออย่างภาคภูมิใจ ทำราวกับเป็นของสูงส่งล้ำค่า แต่ผมรู้สึกเหมือนเป็นการอวดอ้างตนเองเสียมากกว่า (ก็ไม่รู้ว่าเข่นฆ่าจริงๆหรือลักขโมยมา) เพื่อเขาจะได้ใช้ชีวิตอยู่ใน New Economic Zone โดยไม่ต้องหวาดกลัวจะถูกจับกุมข้อหาต่อต้านรัฐบาล … รองเท้าคู่นี้คือเป็นหลักประกันถึงความจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิส์

โชคชะตากรรมของลุงคนนี้ ก็ไม่รู้เสียชีวิตอย่างไร แต่แทนที่จะได้สวมใส่รองเท้าคู่นี้ก้าวเดินสู่ยมโลก กลับตกเป็นของชายคนที่นั่งอยู่ทางซ้าย ราวกับต้องการจะสื่อว่าบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์ก็คือผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ไม่ได้ใคร่สนความต้องการของประชาชนสักเท่าไหร่

ระหว่างทางกลับจาก New Economic Zone มีการหยุดมุงดูเหตุการณ์ไฟไหม้ ตำรวจกำลังไล่ล่าจับกุมตัวผู้ก่อเหตุ ด้วยสันชาตญาณนักข่าวของ Akutagawa จึงรีบเร่งตรงเข้าไปบันทึกภาพโดยพลัน

เหตุการณ์ไฟไหม้อาคารหลังนี้ สามารถเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงสงคราม การต่อสู้ ทำให้ประเทศชาติมอดไหม้วอดวาย ตำรวจ vs. ผู้ก่อการร้าย ก็คือตัวแทนเวียดนามเหนือ vs. ใต้ ผลลัพท์คือต่างฝ่ายต่างตกลงมา นอนแอ้งแม้ง ไม่ว่าฝั่งฝ่ายไหนล้วนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะที่บุคคลนอก Akutagawa ทั้งๆไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นแค่เพียงบันทึกภาพ กลับถูกถีบส่ง โดนกระทำร้ายร่างกาย อย่ามาเสือกเรื่องชาวบ้าน!

ต่อให้พยายามสร้างภาพ New Economic Zone ให้ดูดีสักเพียงไหน แต่ไม่มีใครสามารถควบคุมเด็กๆตัวเล็กๆ บีบบังคับให้พวกเขาทำโน่นนี่นั่น เพราะสันชาตญาณมนุษย์ต้องการความรัก ความอบอุ่น ใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง สังเกตได้จากการขอให้อุ้ม เพื่อเติมเต็มความเวิ้งว่างเปล่าภายในจิตใจ

ฉากนี้ยังสะท้อนการจัดการของเบื้องบน/คอมมิวนิสต์ ที่สนเพียงภาพลักษณ์ โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัด ขีดความสามารถบุคคล คนๆเดียวจะจัดการทุกสิ่งอย่างได้อย่างไร? แต่เมื่อผลลัพท์ออกมาไม่น่าพึงพอใจ ก็สั่งย้าย ไล่ออก กำจัดภัยพาล ไร้ซึ่งจิตสามัญสำนึก มนุษยธรรม มโนธรรมประการใด!

Akutagawa หลังพบเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายๆอย่างใน New Economic Zone เลยตัดสินใจร้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่เงวียน (Comrade Nguyễn) ให้ออกเตร็ดเตร่ไปด้วยตนเองโดยไม่มีใครคอยติดตาม

สถานที่ที่พวกเขาเดิน-คุย คือบริเวณริมชายหาด พบเห็นต้นมะพร้าว และพระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า ซึ่งสามารถสื่อถึงจุดสิ้นสุดของมายา ภาพลวงหลอกตา (เวียดนามที่แสร้งว่าเจิดจรัสดั่งพระอาทิตย์) หลังจากนี้เรื่องราวจะดำเนินสู่ยามค่ำคืนอันมืดมิด พบเห็นวิถีชีวิต/สภาพแท้จริงของสาธารณรัฐเวียดนาม

เมื่อได้รับโอกาสออกเตร็ดเตร่ไปตามดานัง Akutagawa กลับพบเจอเห็นแต่ผู้คนที่ไม่เป็นมิตร แสดงสีหน้าเคร่งเครียด ปฏิเสธพูดคุยสนทนา นั่นเพราะพวกเขายังเต็มไปด้วยอคติต่อชาวต่างชาติ กลัวจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วโดนตัวส่งตัวเข้า New Economic Zone ในมุมมองพวกเขาไม่ต่างจากคุก สถานกักกัน มีแต่นักโทษ อาชญากร รับโทษทัณฑ์

จนกระทั่งมาถึงร้านขายอาหารข้างทางแห่งหนึ่ง มีคนทำชามใส่เส้นหล่นลงพื้น แล้วมีเด็กๆกรูเข้ามาหยิบรับประทาน หนึ่งในนั้นคือเด็กสาวก๋ามเนือง หันมาชูนิ้วกลางใส่ Akutagawa สร้างความประทับใจ ฉงนสงสัย ทำไมเธอถึงปฏิบัติต่อเขาเช่นนั้น เลยแอบติดตามไป

Akutagawa แอบติดตามก๋ามเนืองมาจนถึงเรือ? เธอมาทำอะไรยังสถานที่แห่งนี้กัน? พอวางกระชอนก็เห็นถกกางเกงลง … อ๋อ … ปลดทุกข์ ซึ่งจะว่าไปเรื่องราวต่อจากนี้ก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ในครอบครัวของเด็กสาว หรือคือสภาพที่แท้จริงของประเทศเวียดนาม

ถ่ายทุกข์บนเรือ นี่มันอะไรกันเนี่ย?? ระบบสาธารณสุขของเวียดนามสมัยนั้นย่ำแย่ขนาดนั้นเชียวหรือ?? ขณะเดียวกันทำไมต้องบนเรือ หรือจะล้อถึง Boat People กลุ่มบุคคลที่ถูกมองเป็นสิ่งปฏิกูล/ของเสีย ต้องขับออกจากประเทศเวียดนาม??

แซว: จะมีฉากที่เฉลยว่าสถานที่แห่งนี้ตอนกลางเรื่องด้วยนะครับ ก๋ามเนืองยังพูดบอกว่าการถ่ายทุกข์ลงทะเล เป็นความรู้สึกที่ผ่อนคลายจริงๆ

นี่เป็นช็อตเล็กๆที่นำเสนอสภาพครอบครัวของก๋ามเนือง (สามารถเทียบแทนระดับจุลภาคของประเทศเวียดนาม) สังเกตว่าภายในบ้านปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่ภายนอกกลับสว่างไสว และพวกเขาทั้งสี่ต่าง(ไล่ระดับความสูงกันเลยนะ) ยืนคนละฟากฝั่งกับ Akutagawa แสดงถึงการไม่ยินยอมรับเข้าพวกเดียวกัน

น้องชายคนรองวันหญาก (Văn Nhạc) สวมหมวกทหารเวียดนาม (น่าจะของบิดา) ประดับสองดั้ง เป็นคนพูดคุยต่อรองกับ Akutagawa รับรู้ทางหนีทีไล่ เข้าใจผลประโยชน์ที่จะได้รับ ทำตัวเหมือนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในครอบครัวนี้ (เทียบแทนด้วยสังคมที่ชายเป็นใหญ่ และอำนาจการปกครองอยู่ในเงื้อมมือเผด็จการทหาร)

ฟาร์มไก่ เป็นชื่อที่หลอกลวงผู้ชมเอามากๆ เพราะใครๆคงนึกว่าคงเป็นฟาร์มหรือไก่ตัวเป็นๆ แต่ที่ไหนได้ … นี่คือไดเรคชั่นของหนังที่ผมอธิบายไป เริ่มต้นด้วยการสร้างภาพลวงหลอกผู้ชม จากนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ

สถานที่แห่งนี้ทำให้ Akutagawa ได้พบเจอกับโตมินห์ (กล้องถ่ายมุมเงยให้สัมผัสเหมือนคือสวรรค์บันดาล โชคชะตาที่ได้พบเจอ) เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจาก New Economic Zone มารักษาแผลที่ขาหน้า และวันหญากยืนเหยียบศพผู้เสียชีวิต ทำราวกับว่าตนเองคือวีรบุรุษ ภาคภูมิใจในสิ่งที่กระทำ (กล้องถ่ายจากเบื้องบนค่อยๆซูมเข้าหา ราวกับสวรรค์จับจ้องมอง/จดบันทึกความตายของคนเหล่านั้นไว้)

ตัดกลับมาทางฝั่งเจ้าหน้าที่เงวียน นำพา Akutagawa มายังบาร์แห่งหนึ่ง หนังไม่ได้ระบุชื่อคุณนาย (รับบทโดย เหมียวเฉียนเหริน) เพียงแค่คำอธิบายว่าพื้นเพเป็นชาวจีน เมื่อญี่ปุ่นยึดครองไซ่ง่อน (ค.ศ. 1940) เสียตัวครั้งแรกให้นายพลขณะอายุ 14 ตามด้วยฝรั่งเศส อเมริกัน (ที่ผลัดกันเข้ายึดครองไซ่ง่อน) พานผ่านประสบการณ์มาจากโชกโชน และขณะนี้ก็ตกมาเป็นของเขา ปัจจุบันอายุย่างเข้า 50 ยังคงสวยไม่สร่าง

ผมชอบการเลือกบทเพลง La Vie en Rose ของ Édith Piaf เปิดแผ่นเสียงคลอประกอบบรรยากาศร้าน (ขณะรับฟังคำบรรยายของเจ้าหน้าที่เงวียน) เพื่อสะท้อนตัวตนของคุณนาย แม้พลีกายให้ผู้ชายมากมาย แต่บุคคลที่เธอรักมากสุดกลับเป็นชายหนุ่มโตมินห์ พร้อมปรนเปรอ มอบเงินทอง หวังว่าเขาจะสามารถเอาตัวรอด หลบหนีออกไปจากประเทศแห่งนี้

เพียงเห็นเลือดจากการหั่นสเต็ก Medium-Rare ก็ทำให้ Akutagawa เกิดอาการปั่นป่วนท้องไส้ หวนระลึกเหตุการณ์ที่ฟาร์มไก่ ซึ่งเราสามารถตีความถึง(เลือด)มนุษย์และ(เลือด)สัตว์ ประชาชนชาวเวียดนามมีสภาพไม่แตกต่างจากหมูหมากาไก่สักเท่าไหร่!

สำหรับประชาชนทั่วๆไป ข้าวปลาไม่มีอันจะกิน เด็กชายวันหญากต้องขุดคุ้ยกองขยะ เผื่อค้นพบสิ่งของมีค่านำไปค้าขายได้ราคา แต่โชคร้ายอะไรปานนั้น หยิบระเบิดมือขึ้นมา ตูม! แล้วพบเห็นใครบางคนวิ่งเอาธงชาติเวียดนามมาปกคลุม มองมุมหนึ่งเพื่อไม่ให้ผู้ชมทนเห็นภาพบาดตาบาดใจ ซึ่งลักษณะนี้คล้ายๆพิธีศพของทหาร คือการให้เกียรติ/สตุดีความเสียสละ ตายอย่างลูกผู้ชาย เพื่อคนอื่นจักรอดชีวิตอีกมากมาย

สิ่งหลงเหลือที่ก๋ามเนืองนำกลับบ้าน คือรองเท้าของวันหญาก คงต้องการเก็บไว้ให้น้องสวมใส่ ล้อกับคุณลุงตอนต้นเรื่องที่ห้อยรองเท้าทหารอเมริกัน แต่เรื่องราวขณะนี้มันไม่มีความน่าภาคภูมิใจอะไรเลยสักนิด!

บาร์ของคุณนาย ชั้นบนคือห้องนอนสำหรับรองรับแขกเหรื่อ บุคคลมีอำนาจ ยศฐาบรรดาศักดิ์ ชนชั้นสูงที่ครอบครองเวียดนามขณะนั้นๆ (ผันแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา) แต่เธอดูไม่ได้กะตือรือล้น หลังเสร็จกามกิจก็สวมใส่เสื้อผ้า ยกมือข้างหนึ่งพาดไว้เหนือศีรษะ (เป็นท่วงท่าที่เหมือนคนไม่ยี่หร่าอะไรใคร)

ส่วนชั้นล่างด้านหลัง คุณนายกลับซุกซ่อนชู้รักโตมินห์ ชายหนุ่มคนธรรมดาๆ หน้า(ไม่)บ้านๆ ไร้ซึ่งการงาน ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพักพิง สถานภาพถือว่าชนชั้นต่ำ แต่เธอกลับเต็มไปด้วยอารมณ์พิศวาส ร่านราคะ โอบรัดกัดกินมือของอีกฝ่าย (สัญลักษณ์ของเพศสัมพันธ์)

แซว: หมอน คือสิ่งสำหรับหนุนศีรษะเวลาหลับนอน ถ้าเป็นหนังอาชญากรมักซุกซ่อนปืนไว้ใต้หมอน แสดงถึงสิ่งสำคัญ ของรักของหวง ส่วนภาพยนตร์เรื่องนี้คุณนายเก็บเงินส่วนตัวเอาไว้ เพื่อนำมามอบให้ชู้รัก (จริงๆเรียกโตมินห์ว่าแมงดา น่าจะชัดเจนกว่านะ)

กล้องถ่ายรูปของ Akutagawa ถือเป็นจิตวิญญาณ ของรักของหวง เลยไม่ยินยอมให้โตมินห์ลักขโมยเอาไป พยายามเหนี่ยวรั้ง ทำทุกสิ่งอย่าง กดบาดแผลที่หน้าขาจนเขาล้มลง แสดงอาการเจ็บปวด ไม่สามารถวิ่งหลบหนีตำรวจ ซวยแล้วกรู! และโดยที่ไม่มีใครล่วงรับรู้ บาดแผลดังกล่าวซุกซ่อนแผ่นทองคำ ตั้งใจไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับขึ้นเรือออกเดินทาง คาดหวังไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสหรัฐอเมริกา … มันช่างล้อกันได้เจ็บปวดยิ่งนัก!

ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะสังเกตไม่ยากว่า การแสดงออกที่ผิดปกติของก๋ามเนือง แท้จริงแล้วต้องการจะทำอะไร (ก็หนังพยายามชี้นำซะขนาดนั้น) รวมถึงคำตอบของ Akutagawa ร้อยทั้งร้อยไม่มีทางทำสิ่งเหล่านั้นโดยเด็ดขาด! นี่เป็นฉากที่ผมมองว่าสะท้อนความสิ้นหวัง เด็กสาวยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง (แม้กระทั่งขายตัว) เพื่อให้ตนเองและครอบครัวสามารถเอาชีวิตรอดไปวันๆ

แต่สิ่งที่ผมสนใจคือปฏิกิริยาแสดงออกของ Akutagawa จริงๆคงตระหนักมาสักพักแล้วละ จนกระทั่งเห็นขึ้นไปบนเตียง พร่ำบ่นเรื่องเท้าไม่สะอาด เลยเข้าไปยกอุ้มขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อบอกว่าเธอยังเป็นเด็กน้อย อายุฉันก็มากเท่ารุ่นพ่อ จะไปมีอารมณ์/ความต้องการทางเพศได้อย่างไร

แซว: เรื่องราวของก๋ามเนือง สามารถเชื่อมต่อกับคุณนาย (ที่เคยเสียตัวให้นายพลญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 14) ถ้าฉากนี้เธอขายตัวได้สำเร็จ โชคชะตาชีวิตคงดำเนินไปไม่แตกต่างกัน

ปฏิกิริยาของ Akutagawa หลังส่งก๋ามเนืองกลับบ้าน ตรงไปยังบาร์ของคุณนาย ดื่มเหล้าหมดแก้วแล้วแก้วเล่า แล้วเขวี้ยงขว้างลงบนพื้น ท่ามกลางแสงสีแดงอาบฉาบ แสดงถึงความรู้สึกภายในอันเกรี้ยวกราด … ไม่ได้โกรธพฤติกรรมของก๋ามเนืองนะครับ แต่คือสภาพแวดล้อม(แสงสีแดง)ที่หล่อหลอมให้เธอกลายมาเป็นแบบนั้นต่างหาก!

เหมืองระเบิด คือบริเวณที่เคยใช้สู้รบระหว่างสงคราม จึงมีการฝังระเบิดไว้ใต้ดินสำหรับลอบทำลายศัตรู แต่ก็มีบางลูกที่ยังไม่เคยใช้งาน พอจบสงครามก็ไม่มีใครไหนหวนกลับมาขุดกลบ จึงกลายเป็นหน้าที่พลเมืองชั้นเลว สมาชิก New Economic Zone รับหน้าที่เสี่ยงตายไม่เว้นวัน ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย/รั้วลวดหนาม (แต่ถึงยังรอดตัว บางคนก็หัวใจแตกสลาย)

การนำเสนอฉากปลดระเบิดแม้ไม่ได้มีเทคนิคหวือหวา แต่ต้องชมเลยว่าเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ลุ้นระทึก แทบมิอาจผ่อนลมหายใจ เพราะตัวละครต้องกระทำสิ่งอย่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามลำดับขั้นตอน ผิดพลาดพลั้งก็อาจดับดิ้นแค่เพียงเสี้ยววินาที … สะท้อนถึงการมีชีวิตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ทำอะไรผิดหูผิดตา/ไม่เป็นที่พึงพอใจเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ก็อาจระเบิดลง ถูกเก็บเข้ากรุ ตกตายทั้งร่างกาย-จิตใจ

เอาจริงๆมันก็มีโอกาสมากมายหลายครั้งเลยนะที่ Akutagawa จะถ่ายรูปคู่กับก๋ามเนือง แต่หนังกลับเลือกขณะฝนตกพรำ หลังจากพูดบอกผู้ติดตามว่าจะไม่ยื่นขอต่อวีซ่า (สายฝน=หยาดน้ำตาแห่งการร่ำลา) อีกไม่นานก็จักเดินทางกลับญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากนี้เขายังพาเธอไปเลี้ยงอาหารหรู (คงตั้งใจให้เป็นงานเลี้ยงอำลา)

Hồ chủ-tịch vĩ-đại sống mãi trong sự nghiệp của chúng
แปลว่า Great President Ho living in our live forever.

ภายหลังการเสียชีวิตของโตมินห์ หนังตัดมาจากภาพวาด(ชวนเชื่อ)ในร้านอาหารหรูๆแห่งหนึ่ง ข้อความภาษาเวียดนามแปลว่า ‘ลุงโฮจิมินห์จะอยู่ภายในจิตใจพวกเราตลอดไป’ ซึ่งสามารถสื่อถึงโตมินห์จะอยู่ในใจผู้ชมตลอดไปก็ได้เช่นกัน (แต่หลายคนอาจตีความในทิศทางตรงกันข้าม ว่าโศกนาฎกรรมของโตมินห์เกิดจากความคอรัปชั่นในการบริหารจัดการรัฐบาลคอมมิวนิสต์/ลุงโฮจิมินห์)

มารดาของก๋ามเนือง โดนทางการควบคุมตัวข้อหาค้าประเวณี กระทำสิ่งขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีงาม ระหว่างกำลังถูกประจานต่อหน้าผู้คน เธอตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต ด้วยการใช้ตะขอทิ่มแทงเข้าที่บริเวณลำคอ เหมือนปลาที่ถูกเบ็ดเกี่ยว ไม่สามารถแหวกว่ายดิ้นรน หลุดรอดพ้นจากโชคชะตากรรม

ผมเห็นตะขอฉากนี้ทำให้นึกถึงปลาตัวใหญ่ที่ก๋ามเนือง(และ Akutagawa)ต่อรองซื้อขาย ตั้งใจจะนำมาทำเป็นอาหารเย็น แต่น้องชายวันหญากดันโดนลูกระเบิดเสียชีวิต มันก็เลยถูกทิ้งขว้างไว้ข้างกองขยะ … ประสบโชคชะตาไม่แตกต่างกัน

อย่างที่บอกไปว่ากล้องถ่ายรูปคือจิตวิญญาณของ Akutagawa ไม่ยินยอมให้ถูกลักขโมยโดยโตมิญ แต่หลังจากพบเห็นการกระทำอัตวินิบาต(มารดาของก๋ามเนือง) ทำให้บางสิ่งอย่างภายในของเขาได้หมดสูญสิ้น ตกตายไป ซึ่งระหว่างกำลังเก็บกล้องใส่กล่อง จะมีการตัดต่อเคียงคู่ขนานกับการตอกปิดฝาโลงศพ!

ไม่ใช่ว่า Akutagawa หมดความสนใจในการเป็นช่างถ่ายภาพนะครับ แต่คือสูญเสียความเชื่อมั่นในประเทศแห่งนี้ เลยต้องการให้ความช่วยเหลือก๋ามเนือง ยินยอมขายกล้องที่เป็นของรักของหวง/จิตวิญญาณของตนเอง เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายขึ้นเรือออกเดินทาง ไปให้ไกลจากขุมนรกแห่งนี้

รอยแผลเป็น สำหรับชายชาติทหารมักคือสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ ได้ผ่านการต่อสู้เสี่ยงเป็นเสียงตาย! สำหรับเจ้าหน้าที่เงวียน อาจมีความอับอายอยู่เล็กๆเลยบอกปัดปฏิเสธ Akutagawa ไม่ยินยอมให้ถ่ายรูปจนกว่าจะถึงวันตายของตนเอง นี่ก็ล้อกับรองเท้าทหารอเมริกันของลุง (ตอนต้นเรื่อง) บอกว่าต้องการสวมใส่ในวันที่ตนเองเสียชีวิต แต่สุดท้ายแล้วโชคชะตาทั้งสองเหมือนกันเปะ เมื่อวันนั้นมาถึง (แม้เจ้าหน้าที่เงวียนยังมีชีวิตอยู่ แต่การถูกย้ายไปดูแล New Economic Zone ไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น) ต่างไม่มีใครได้รับในสิ่งคาดหวัง

ในกรณีของเจ้าหน้าที่เงวียน เหตุผลที่ไม่ได้ถ่ายรูปแผลเป็นเพราะ Akutagawa เพิ่งขายกล้องให้คุณนาย จริงๆถ้าเขาต้องการก็สามารถหยิบยืมมาก่อนก็ได้ แต่ในบริบทนี้จะสื่อว่าเขาสูญเสียความเชื่อมั่นต่อเวียดนามไปหมดสิ้น ภาพถ่ายรอยแผลเป็น (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ ชัยชนะจากสงคราม) จึงไม่อยู่ในสายตาอีกต่อไป

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า เจ้าหน้าที่เงวียนทำอะไรผิดพลาดถึงถูกส่งเข้ากรุ ไม่รู้ความรับผิดชอบต่อ Akutagawa หรือเปล่า? แต่หลักการทำงานของคอมมิวนิสต์ก็เช่นนี้แหละ ใครทำอะไรไม่ถูกใจเจ้านาย ก็มักโดนเช่งหัว ขับไล่ สูญเสียทุกสิ่งอย่างสร้างมาทันใด

ภายหลังการเสียชีวิตของมารดา ก๋ามเนืองและน้องชายกำลังจะถูกส่งไป New Economic Zone ค่ำคืนสุดท้ายขณะกำลังเตรียมเก็บข้าวของ ร้อยเรียงภาพในบ้านที่ดูโหวงเหวง วังเวง ปกคลุมด้วยความมืดมิด เทียบแทนถึงเวียดนามขณะนั้น ช่างมีความน่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งนัก!

การมาถึงของ Akutagawa แบกถังน้ำมันเข้ามา (ทีแรกผมนึกว่าจะนำมาเผาบ้าน ล้อกับตอนต้นเรื่องที่เขาพบเจอกลุ่มผู้ต่อต้าน) จากนั้นช่วยขับกล่อมร้องเพลง แล้วกล้องค่อยเคลื่อนเลื่อนจากชั้นล่างขึ้นไปบนหลังคา น่าจะแทนด้วยความคาดหวังว่าสักวันประชาชน(ชั้นล่าง)จะมีสิทธิ์เสียง เทียบเท่าเทียมบรรดาเบื้องบน(ชนชั้นสูง)ที่อาศัยอยู่อย่างเลิศหรูสุขสบาย

แวบแรกผมนึกถึงการเริงระบำแห่งความตายจากภาพยนตร์ The Seventh Seal (1957) ขณะที่ฉากนี้คือการเสียสละของ Akutagawa แม้ร่างกายมอดไหม้ แต่ก็สามารถกลายเป็นเปลวไฟ/แสงสว่างแห่งความหวัง (เริงระบำ=)อำนวยอวยพรให้ก๋ามเนืองสามารถหลบหนีจากสถานที่แห่งนี้ อยู่รอดปลอดภัย และมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่

เมื่อพูดถึงการเผาไหม้ตัวตาย นี่ย่อมเป็นการอ้างอิงพระสงฆ์ทิก กว๋าง ดึ๊ก (Thích Quảng Đức) ภิกษุมหายานชาวเวียดนามที่จุดไฟเผาตัวเองจนมรณภาพ ณ ถนนสี่แยกกรุงไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1963 เพื่อประท้วงรัฐบาลโรมันคาทอลิกที่ข่มเหงชาวพุทธในประเทศเวียดนามใต้ มีการบันทึกภาพถ่ายโดย Malcolm Browne ได้รับเผยแพร่ไปทั่วโลกจนคว้ารางวัล Pulitzer Prize

No news picture in history has generated so much emotion around the world as that one.

John F. Kennedy ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาขณะนั้น

ผู้กำกับสวีอันฮัวคงคาดหวังว่าผู้ชมจะบังเกิดความรู้สึกบางอย่างกับฉากนี้! สำหรับผมเต็มไปด้วยความโกรธ เกรี้ยวกราด เหมือนเปลวไฟกำลังลุกมอดไหม้อยู่ภายใน แต่เพราะได้แค่จับจ้องมอง เพียงรับชมภายนตร์ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลืออะไร เวลาผ่านไปสักพักเลยกลายเป็นขี้เถ้าถ่าน ท้อแท้หมดสิ้นหวังอาลัย

ช็อตสุดท้ายของหนัง ก๋ามเนืองเหม่อมองออกไปท่ามกลางมหาสมุทรอันไกลโพ้น ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร เธอจักสามารถไปถึงฝั่งฝันไหม หรืออาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างกลางท้องทะเล เพียงแช่ภาพค้างไว้แล้วปล่อยให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนมีความหวัง กำลังใจ แต่ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับโชคชะตากรรม

ตัดต่อโดย Kin Kin, 健健 ในเครดิตมีเพียงสองผลงาน Boat People (1982) และ Homecoming (1984)

หนังนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa ซึ่งสามารถเปรียบได้กับมุมมองของผู้ชมผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ (ตัวละครมองเหตุการณ์ผ่านเลนส์กล้องถ่ายรูป = ผู้ชมพบเห็นตัวละครผ่านจอภาพยนตร์) ซึ่งปฏิกิริยาทั้งหลายที่(ตัวละคร)แสดงออกมา(เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ) ล้วนคือความรู้สึกนึกคิดของผู้สร้าง ต้องการชี้นำอารมณ์ผู้ชมให้เป็นไปในทางทิศเดียวกัน … นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าการครอบงำ ‘manipulate’

เราสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์

  • อารัมบท, วันไซ่ง่อนแตก
  • ภาพลวงตาของ New Economic Zone
    • Shiomi Akutagawa ได้รับเชิญจากรัฐบาลเวียดนามให้ถ่ายภาพ New Economic Zone พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ประชาชนอาศัยกันอย่างสงบสันติสุข
    • แต่หลังจากพบเห็นเหตุการณ์ตำรวจไล่จับกลุ่มผู้ต่อต้าน ทำร้ายอีกฝั่งฝ่ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส/เสียชีวิต ก็ตระหนักถึงความผิดปกติที่ถูกซุกซ่อนเร้นไว้
  • สภาพความเป็นจริงของชาวเวียดนาม
    • Akutagawa ได้รับอนุญาตให้ออกไปเตร็ดเตร่ยังสถานที่ต่างๆโดยไม่มีผู้ติดตาม
    • บังเอิญถูกชะตาก๋ามเนือง เลยแอบติดตามไปจนถึงบ้าน พบเห็นวิถีชีวิตทุกข์ยากลำบาก ต้องทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ท้องอิ่ม ปล้นสิ่งของผู้เสียชีวิต (ฟาร์มไก่) ขุดคุ้ยเศษซากกองขยะ มารดากลายเป็นโสเภณี ฯลฯ
    • ตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีชีวิตอย่างหรูหรา สุขสบาย ดื่มกินเสพสำราญ สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ต้องสนอะไรใครนอกจากเลียแข้งเลียขาเจ้านาย
  • เรื่องราวของโตมินห์
    • โตมินห์ต้องการขึ้นเรือหลบหนีมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา เลยพยายามลักขโมยกล้องถ่ายรูปของ Akutagawa แต่โดนจับได้เลยถูกส่งกลับไปยัง New Economic Zone
    • Akutagawa ได้รับใบผ่านจาก ติดตามโตมินห์ไปพบเห็นสภาพที่แท้จริงของนักโทษใน New Economic Zone
    • โตมินห์ถูกมอบหมายให้ทำงานเหมืองระเบิด ระหว่างเฝ้ารอคอยการขึ้นเรือหลบหนี แต่พอวันนั้นมาถึง ก็มิอาจดิ้นหลุดพ้นโชคชะตากรรม
  • การตัดสินใจของ Shiomi Akutagawa
    • Akutagawa ตัดสินใจไม่ต่อวีซ่า แต่ต้องการช่วยเหลือโตมินห์ให้ออกไปจากนรกขุมนี้

สิ่งหนึ่งที่ต้องชมคือการลำดับเรื่องราวที่มีความค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็ก เช่นเดียวกับภาพโหดๆที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ให้ผู้ชมปรับตัว บังเกิดภูมิต้านทาน สามารถอดรนทนดูหนังจนจบ … และสำหรับคนที่อินกับเรื่องราวมากๆ มันจะเกิดความโกรธเกลียดเกรี้ยวกราด สะสมอันแน่นจนแทบปะทุระเบิดออกมา


เพลงประกอบโดย Law Wing-Fai, 羅永暉 คีตกวีชาวฮ่องกง สำเร็จการศึกษาด้านการแต่งเพลงและเครื่องดนตรีสังเคราะห์จาก University of California ชื่นชอบมองหาสไตล์เพลงใหม่ๆ ผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านจีน-คลาสสิกตะวันตก ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Hong Kong Academy for Performing Arts มีผลงานทั้งออร์เคสตรา, Chamber Music, Opera, ละครเวที, ซีรีย์โทรทัศน์, ร่วมงานบ่อยครั้งกับผู้กำกับสวีอันฮัว อาทิ Boat People (1982), A Simple Life (2011) ฯ

ถึงผมไม่เคยรับรู้ว่าบทเพลงกลิ่นอาย Vietnamese นั้นเป็นเช่นไร แต่เหมือนหนังจะไม่ได้สนใจสักเท่าไหร่ (นอกจากที่เด็กๆขับร้องบทเพลงภาษาเวียดนาม) พยายามทำให้เป็นสากล/เข้าถึงผู้ชมด้วยดนตรีคลาสสิก สำหรับเสริมเติมแต่งอารมณ์ และผสมเสียงจากเครื่องดนตรีสังเคราะห์เมื่อต้องการเน้นย้ำเหตุการณ์อันเลวร้าย ภาพความตาย สร้างความปั่นป่วนท้องไส้ รำคาญแก้วหูเสียจริง

ไม่ใช่ว่าทุกบทเพลงจะขับเน้นแต่อารมณ์หดหู่ หมดสิ้นหวัง ยกตัวฉากฉากที่ก๋ามเนืองนำพา Akutagawa แนะนำให้รู้จักฟาร์มไก่ เริ่มต้นขณะออกวิ่งด้วยท่วงทำนองครึกครื้นเครง อลเวง เสียงเครื่องเป่าล้อละเล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่นั่นกลับเป็นการลวงล่อหลอกผู้ชม แบบเดียวกับการดำเนินเรื่องของหนัง เริ่มต้นสร้างภาพให้ดูดี ก่อนค่อยเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วสถานที่แห่งนี้คือ…

น่าเสียดายที่หนังไม่มีอัลบัมเพลงประกอบ เพราะผมพยายามหาคำแปลบทเพลงภาษาญี่ปุ่นของ Akutagawa (ครั้งแรกขับร้องให้เด็กๆฟัง และช่วงท้ายกับสองพี่น้องก่อนพาหลบหนี) แต่ก็ไม่มีเจ้าไหนแปลซับไตเติ้ลให้เลย (แต่เพลงที่เด็กๆขับร้องสรรเสริญลุงโฮกลับมีคำแปล ซะงั้น!) นี่แสดงว่าผู้กำกับสวีอันฮัวจงใจใช้บทเพลงนี้ สำหรับผู้ชมที่ไม่รับรู้เนื้อคำร้อง ยังสามารถทำความเข้าใจท่วงทำนอง ห้วงอารมณ์ที่ตัวละครขับขานออกมา … เท่าที่ผมพอจับใจความได้บางคำ เกี่ยวกับการเดินทางไกล แม้ต้องทนทุกข์ยากลำบากขนาดไหน แต่ถ้าเราสามารถอดรนทน สักวันหนึ่งย่อมพบเจอหนทางออก ท้องฟ้าสว่างสดใส


ผู้กำกับสวีอันฮัว สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของฮ่องกงช่วงปลายทศวรรษ 70s คาคลั่งไปด้วยคลื่นผู้อพยพมากหน้าหลายตา ไม่ใช่แค่จากเวียดนาม ยังรวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ (หลบหนีการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76)) ทำให้ปริมาณประชากรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สถานที่อยู่อาศัยเริ่มคับแคบแออัด ท้องถนนเต็มไปด้วยคนยากไร้ ขอทาน อาชญากรเต็มบ้านเต็มเมือง คุณภาพชีวิตสวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยความฉงนสงสัยว่ามันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น? ผู้กำกับสวีอันฮัวจึงเริ่มครุ่นคิด ศึกษาค้นคว้า แล้วค้นพบต้นตอของปัญหา จากนั้นก็สรรค์สร้างสารคดี Boy from Vietnam (1978), ติดตามด้วยภาพยนตร์ The Story of Woo Viet (1981) และ Boat People (1982) ด้วยจุดประสงค์แทนคำอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้น ให้ชาวฮ่องกงได้รับรู้โดยทั่วกัน

Boat People เป็นคำเรียกที่มีความจำเพาะเจาะจงถึงผู้อพยพชาวเวียดนาม พยายามหลบหนีออกนอกประเทศทางเรือ ตั้งแต่หลังสงคราม Vietnam War (1955-75) ช่วงระหว่างปี 1975-95 คาดการณ์ตัวเลขมากกว่า 800,000+ คน โดยปลายทางอันดับหนึ่งคือฮ่องกง (น่าจะใกล้สุดกระมัง) แต่ส่วนใหญ่กลับไม่สามารถเอาตัวรอดชีวิต เพราะต้องเผชิญหน้าโจรสลัด พายุลมฝน หรือถูกล้อมสังหารโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ (เพราะคนเหล่านี้มักพกพาเงินทอง สิ่งข้าวของราคาแพงๆติดตัวไปเริ่มต้นชีวิตยังประเทศใหม่) ประมาณผู้เสียชีวิตในทะเลกว่า 200,000-400,000 คน!

I don’t know what Political Truth is. All I know is that I stand by the statements I make in Boat People, the things I say and present in it. I have been under a lot of attack in Hong Kong, as well as here, for the movie and its politics. I’ve been bandied about by one party and another as anti-Communist – which I firmly state that I am not. The film has been shamelessly used by political parties as a weapon for attacking other parties. But Boat People is a survival story set in a tragic moment in history. It’s not a propaganda state­ment against Communism.

ผู้กำกับสวีอันฮัว กล่าวในรอบสื่อ (Press Conference) ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes

ผู้กำกับสวีอันฮัว พยายามให้คำอธิบายถึง Boat People (1982) คือเรื่องราวแนวต่อสู้เอาชีวิตรอด (Survival) โดยมีพื้นหลังในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูประเทศ ปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้พ่ายแพ้ (เวียดนามใต้) แม้คนส่วนใหญ่ยินยอมก้มหัว ศิโรราบต่อพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยเลือกต่อสู้ เผชิญหน้า หรือหาหนทางหลบหนีขึ้นเรือออกนอกประเทศ ขอไปเสี่ยงโชคชะตาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ดีกว่า (ต้องอดรนทนทุกข์ยากลำบากภายใต้ระบอบเผด็จการ)

ใครเคยรับชมหลายๆผลงานของผู้กำกับสวีอันฮัว ก็น่าจะตระหนักถึงคำพูดดังกล่าวเป็นความจริง! เธอไม่น่าจะรับรู้ตนเองด้วยซ้ำว่ากำลังสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่สามารถตีความประเด็นการเมือง แสดงออกว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนขนาดนี้ ผมครุ่นคิดว่าอาจเพราะการเติบโตในครอบครัวสองสัญชาติ (บิดาเป็นคนจีน มารดาชาวญี่ปุ่น) ได้สร้างอิทธิพลต่อความคิด โลกทัศนคติ เข้าใจความแตกต่าง หลากหลาย พอสังเกตเห็นอะไรไม่ชอบมาพากล ย่อมเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากขบครุ่นคิดค้นหาคำตอบ แล้วเอามาตรฐานตนเองเป็นที่ตั้ง แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งนั้นอย่างตรงไปตรงมา (ที่ให้ตัวละคร Akutagawa เป็นชาวญี่ปุ่น เพราะต้องการนำเสนอผ่านมุมมองบุคคลนอก(ไม่ใช่คนจีนหรือเวียดนาม))

ความสนใจจริงๆของผู้กำกับสวีอันฮัว มักเกี่ยวกับเรื่องของชีวิต การต่อสู้ดิ้นรน โดยเฉพาะหญิงสาวที่ต้องปรับเอาตัวรอดในสถานการณ์แตกต่างออกไป ซึ่งสำหรับ Boat People (1982) สังเกตว่าตัวละครเพศหญิงล้วนมีมิติกว่าเพศชายเสียอีก

  • เด็กหญิงก๋ามเนืองมีวัยวุฒิมากสุดในครอบครัว จึงต้องพยายามดูแลน้องๆ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เมื่อสนิทสนมกับ Akutagawa ต้องการขายความบริสุทธิ์ เพื่อแลกกับอนาคตของครอบครัว
  • คุณนาย (เหมียวเฉียนเหริน) ยินยอมขายตัวให้ชาวฝรั่งเศส อเมริกัน จีน ญี่ปุ่น ใครก็ตามที่มีลาภยศ ตำแหน่งสูงศักดิ์ ทำให้รู้จักผู้คนมากมาย มีเส้นสายเต็มไปหมด จึงสามารถเปิดบาร์ ขายเหล้าหรู เอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์

สำหรับโตมินห์ที่ถือว่าเป็นตัวละครหลักในบทร่างฉบับแรกๆ ก็เต็มไปด้วยความพยายามในการต่อสู้ดิ้นรน มีความเพ้อฝันอยากออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา แต่โชคชะตาล้วนนำพาให้ประสบเรื่องร้ายๆ จนท้ายที่สุดก็ไม่สามารถไปไกลเกินกว่าผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน

เอาจริงๆการมองหนังประเด็นการเมือง (Political) ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เพราะปัจจัยแวดล้อม/สภาพสังคม ล้วนเป็นผลกระทบต่อความไร้ศักยภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาล/หน่วยงานรัฐ แต่การจะโทษว่ากล่าวตรงๆถึงพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว! อย่าลืมว่าพื้นหลังของหนังเพิ่งสิ้นสุดสงครามเวียดนามไปไม่นาน ประเทศยังอยู่ในช่วงการบูรณะฟื้นฟู ใครเคยศึกษายุโรป/สหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกทั้งสองครั้งจะมีคำเรียก ‘Great Depression’ รวมไปถึงการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง พวกมหาอำนาจประชาธิปไตยนี่ตัวดีเลยนะ ใช้อำนาจศาลกำจัดคนเหล่านั้นให้พ้นภัยพาล … มันไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมในแง่มุมการเมืองหรอกนะครับ

ความพิลึกพิลั่น อาจจะถือว่าคือโชคชะตากรรม! ผู้ชม/นักวิจารณ์มักมองหนังเรื่องนี้ด้วยความสุดโต่งจากทั้งสองฝั่ง หนึ่งคือเห็นนัยยะใจต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Anti-Communist) หรือต่อต้านเผด็จการ (Anti-Totalitarianism) ขณะที่พวกขวาจัด (Leftist) พอได้ยินว่าสรรหาทุนจากรัฐบาลจีน จึงต้องเป็นหนังชวนเชื่อ (Propaganda) สนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิต์ … มันเป็นไปได้อย่างไรที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง Boat People (1982) จะถูกลอยคอพร้อมกันจากโลกทั้งสองฝั่ง

นั่นถือเป็นสิ่งโคตรๆ Ironic สำหรับ Boat People (1982) เพราะนำเสนอเรื่องราวของคนที่ต้องการหลบหนี (ออกจากกะลาครอบ) ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ในสถานการณ์ที่ถูกรายล้อมด้วยความเหี้ยมโหดร้าย (ไม่ว่าผู้ชม/นักวิจารณ์ฝั่งฝ่ายไหน ล้วนจ้องจิกภาพยนตร์เรื่องนี้ดั่งอีแร้งกา) ท้ายที่สุดก็ได้แต่ล่องลอยคอ เคว้งคว้างอยู่กลางทะเล ไม่รู้อนาคตจักดำเนินไปถึงเป้าหมายปลายทางหรือเปล่า

แซว: ถ้าค้นหนังใน Google จะปรากฎชื่อไทยว่า “ใส่ความบ้าท้านรก” ผมรู้สึกว่ามันไม่เข้าเค้าเสียเลยนะ! แต่ระหว่างกำลังมองหาโปสเตอร์หนังกลับพบอีกชื่อไทย “สิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน” ฟังดูเหมาะสมกว่ามากๆ (ไม่แน่ใจว่าใครป้อนข้อมูลผิดๆหรือเปล่า แต่ชื่อจากโปสเตอร์นี้น่าจะถูกต้องนะครับ)

หนังเข้าฉายในฮ่องกงเดือนตุลาคม 1982 สามารถทำเงิน HK$15.4 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม สูงเป็นอันดับ 5 แห่งปี! นอกจากนี้ยังคว้ามาอีก 5 รางวัล Hong Kong Film Awards และเป็นตัวแทนฮ่องกงส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ

  • Best Film **คว้ารางวัล
  • Best Director **คว้ารางวัล
  • Best Actor (George Lam)
  • Best Actress (Cora Miao)
  • Best Actress (Season Ma)
  • Best New Performer (Andy Lau)
  • Best New Performer (Season Ma) **คว้ารางวัล
  • Best Screenplay **คว้ารางวัล
  • Best Cinematography
  • Best Editing
  • Best Art Direction **คว้ารางวัล
  • Best Original Score

ดั้งเดิมหนังได้รับเลือกเข้าสายการประกวด (in-competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes แต่หลังถูกล็อบบี้จากรัฐบาลฝรั่งเศส ก็ยังมีการแอบลักลอบนำเข้าฉายนอกสายการประกวด (out-competition) ถึงอย่างนั้นเสียงตอบรับกลับแตกละเอียด แม้ได้รับคำชมถึงลูกเล่นลีลา วิธีการนำเสนอน่าประทับใจ อย่างที่บอกไปว่าผู้ชม/นักวิจารณ์ฝั่งเสรีนิยม (Leftist) ต่างมองว่าเป็นหนังชวนเชื่อคอมมิวนิสต์ (Propaganda) แม้แต่ผู้กำกับสวีอันฮัวยังโดนโจมตีในการสัมภาษณ์สื่อ (Press Conference)

At some point, we were asked to negotiate with the [authorities] in Paris, and were told that we couldn’t be included in the [main] competition anymore. We were still given the status of ‘official selection’, [but were instead] presented there as the ‘film surprise’. And they told me that the preceding ‘film surprise’, which was also prevented by the government [from competing], was Andrei Tarkovsky’s Stalker. At that point, I was so smitten I just said yes.

ผู้กำกับสวีอันฮัว กล่าวถึงการโดนระงับฉายในสายการประกวดเทศกาลหนังเมือง Cannes

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ 4K ได้รับการอนุมัติโดยผู้กำกับสวีอันฮัว สามารถหารับชมออนไลน์และเบื้องหลังได้ทาง Criterion Channel

แม้โดยส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบหนังที่มีความรุนแรงสุดโต่ง แต่อาจเพราะภูมิต้านทานจาก Apocalypse Now (1979) และ The Killing Fields (1984) ทำให้ไม่ค่อยเกิดอคติต่อ Boat People (1982) นี่ต้องปรบมือให้วิสัยทัศน์ของผู้กำกับสวีอันฮัว ค่อยๆเปิดเผยเรื่องราว รายละเอียด พบเห็นความเหี้ยมโหดร้ายอย่างมีลำดับขั้น ผู้ชมจึงสามารถค่อยๆปรับตัว เข้าถึงข้อเท็จจริงอันหมดสิ้นหวัง

สำหรับผู้ชมต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตก ย่อมไม่สามารถเข้าใจว่า Boat People (1982) เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ระดับ ‘Best Movie of All-Time’ ได้อย่างไร (เมื่อเทียบกับ Apocalypse Now (1979) หรือ The Killing Fields (1984) ก็ยังห่างไกลโข) แต่สำหรับชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน หรือประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนาม เกาหลีเหนือ และสารขัณฑ์ นี่เป็นหนังที่นำเสนอข้อเท็จจริง เปิดโปงความเหี้ยมโหดร้ายของเผด็จการ มันจะบังเกิดความเกรี้ยวกราดอย่างรุนแรงขึ้นมาด้วยระหว่างรับชม

ความเหนือกาลเวลาของ Boat People (1982) ทำให้ผู้ชมโดยเฉพาะชาวฮ่องกง(และไต้หวัน) ตระหนักถึงอนาคตที่มีแนวโน้มสูงมากๆ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ ยังคงพยายามจะเข้ายึดครอง หวนกลับมาเป็นเจ้าของ แล้วปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างให้ดำเนินไปในทิศทางเดียว ‘จีนหนึ่ง’ ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง (ฮ่องกงได้ถูกขีดเส้นตายไว้แล้วคือ ค.ศ. 2047) เหตุการณ์แบบภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีโอกาสหวนย้อนกลับมาบังเกิดขึ้น!

แนะนำคอหนังสงคราม (Post-Wars) การเมือง (Political) แนวเอาตัวรอด (Survival), สนใจประวัติศาสตร์เวียดนาม สภาพสังคมหลังเหตุการณ์ไซ่ง่อนแตก, โดยเฉพาะช่างภาพ นักข่าว น่าจะสร้างแรงบันดาลใจได้มาก

จัดเรต 18+ กับการสังหารโหด ความคอรัปชั่นของเผด็จการ ก่อนรับชมเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนละ!

คำโปรย | Boat People ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับสวีอันฮัว จักทำให้จิตวิญญาณผู้ชมล่องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | เคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: