Bob le flambeur (1956)
: Jean-Pierre Melville ♥♥♥♥
คงไม่มีการปล้นคาสิโนครั้งไหน จบแบบคาดเดาไม่ได้เหมือน Bob the Gambler ชายสูงวัยสุด ‘cool’ ที่ใช้เวลา 20 ปี หลังออกจากคุกไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับโจรกรรมใดๆ เว้นเพียงนิสัยติดการพนันเข้าสายเลือด แต่เงินทองไม่เคยหมดตัวเพราะนิสัยชอบช่วยเหลือเอื้อเฟื้อมากด้วยน้ำใจ วันหนึ่งหูผึ่งเมื่อได้ยินจำนวนเงินมหาศาลในตู้เซฟ รวบรวมสมัครพรรคพวกอีก 8 คน (รวมตัวเองเป็น 9) ต้องการปล้นครั้งสุดท้ายทิ้งทวน แต่แล้ว…
เพราะนี่คือหนังของผู้กำกับ Jean-Pierre Melville อย่าคาดหวังหน้าหนังที่พบเห็นจะคือสาระใจความสำคัญ ถ้าคุณสามารถครุ่นคิดตามไปเรื่อยๆก็น่าจะค้นพบว่า นี่ไม่ใช่หนังโจรกรรมขโมยเงิน แต่เกี่ยวกับชายชื่อ Bob/ผู้กำกับ Melville ผู้ชื่นชอบการเล่นพนันขันต่อ ทั้งในลักษณะรูปธรรมและนามธรรม
เชื่อว่าหลายคนคงเกาหัว การพนันในรูปธรรมยังพอเข้าใจ ใช้สิ่งของเงินทองวางเป็นอัตราต่อรองแลกเปลี่ยน ทายถูกได้กำไรคืน เดาผิดสูญเสียหมดตัว แล้วในเชิงนามธรรมนี่ยังไง? คุณเคยมีเพื่อนแบบไม่ค่อยสนใจอะไร ปล่อยให้โชคชะตาฟ้าดินนำพา ชอบความเสี่ยงท้าทายตายเอาดาบหน้าบ้างหรือเปล่าละ! บุคคลที่มีลักษณะนิสัยประมาณนี้เปรียบได้กับ ‘นักพนัน’ ใช้ชีวิตตนเองเป็นเดิมพัน ถ้ามันจะชนะก็ชนะ จะแพ้ก็แพ้ ทุกอย่างเต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ คาดเดาจิตใจอะไรไม่เคยได้ หมอนี่ราวกับคนขึ้นเครื่องเล่น Roller-coaster ถือไพ่ High-Stake อยู่ตลอดเวลา
ผู้กำกับ Stanley Kubrick ที่เพิ่งสร้างภาพยนตร์ The Killing (1956) หลังจากได้รับชม Touchez Pas au Grisbi (1954) และ Bob le Flambeur (1956) บอกไม่คิดสร้างภาพยนตร์แนว Crime Film อีกต่อไปแล้ว เพราะสองเรื่องนี้คือที่สุดของความยิ่งใหญ่
“I gave up doing ‘Crime Films’ because Jean-Pierre Melville did the greatest with Bob le Flambeur (1956) and Jacques Becker did the second best with Touchez Pas au Grisbi (1954)”.
แม้ผู้กำกับ Melville จะเริ่มสร้างภาพยนตร์ก่อนหน้าการมาถึงของ French New Wave แต่หนังเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นพ่อทูนหัว (God-father) โคตรแห่งอิทธิพลต่อยุคสมัยนี้ ด้วยงบประมาณน้อยนิด นักแสดงสมัครเล่น แบกกล้องถ่ายทำตามท้องถนนทั่วกรุง Paris จัดแสงด้วยธรรมชาติ และยังมี Jump-Cut อยู่ครั้งหนึ่ง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ Jean-Luc Godard ตัดต่อ Breathless (1960) ด้วยวิธีการไดเรคชั่นนั้น
เกร็ด: Bob le flambeur เป็นหนังเรื่องโปรดของ Jean-Luc Godard, Jim Jarmusch, Mike Hodges, Quentin Tarantino, Paul Thomas Anderson, Neil Jordan
Jean-Pierre Melville ชื่อเดิม Jean-Pierre Grumbach (1917 – 1973) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวเชื้อสาย Alsatian Jews, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมกลุ่ม French Resistance ต่อสู้กับ Nazi หลังสิ้นสุดสงครามเกิดความสนใจด้านภาพยนตร์ แต่ไม่มีสตูดิโอไหนอยากว่าจ้างเพราะไม่มีประสบการณ์ เลยตัดสินใจเป็นนักสร้างหนังอิสระ กำกับ-เขียนบท-โปรดิวเซอร์ ด้วยตนเองทั้งหมด ผลงานเรื่องแรก Le Silence de la mer (1949) โด่งดังเป็นพลุแตก ตามด้วย Les enfants terribles (1950), When You Read This Letter (1953) และหนัง Crime Film เรื่องแรก Bob le flambeur (1956)
เกร็ด: ความชื่นชอบในนิยายของ Herman Melville (1819 – 1891) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ยุคสมัย American Renaissance ที่มีผลงานดังคือ Moby Dick (1851) เลยตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลตนเองจาก Grumbach กลายเป็น Melville ฟังดูเท่ห์กว่าเยอะ
Melville เป็นผู้มีความหลงใหลความเป็นอเมริกัน และภาพยนตร์ Hollywood ในช่วงทศวรรษ 30s – 40s โดยเฉพาะแนว Gangster ที่พัฒนาต่อยอดกลายเป็นหนังนัวร์ ด้วยเหตุนี้ผลงานของเขาจึงมักเกี่ยวกับภาพลักษณ์ การกระทำ (โคตรเท่ห์) ไม่เน้นบทพูดสนทนา ให้การแสดงและภาษาหนังเป็นสิ่งอธิบายทุกสิ่งอย่าง
“He drove an American car and wore an American hat and Ray-Bans, and he always had the Armed Forces Network on his car radio, listening to Glenn Miller”.
– Daniel Cauchy (รับบท Paolo) พูดถึง Melville
หลังเสร็จจาก When You Read This Letter ผู้กำกับ Melville ได้รับการติดต่อจาก Henri Bérard ให้ดัดแปลงสร้าง Rififi (1955) เกิดความสนใจอย่างมากตบปากรับคำพร้อมเริ่มต้นทำงาน แต่เพราะโปรดิวเซอร์เปลี่ยนใจอยากให้ Jules Dassin ผู้กำกับสัญชาติอเมริกันที่ถูก Hollywood Blacklist กำลังร่อแร่ไร้งานทำใกล้หมดตัว เดินทางมาขอโปรเจคนี้แบบซึ่งๆหน้า ทำเอา Melville ใจอ่อนพร้อมอำนวยอวยพรให้ประสบความสำเร็จ (คงประมาณตัวเองยังพอมีกินอยู่ดีไม่มีปัญหาเท่าไหร่)
ด้วยความรู้สึกโคตรเท่ห์ในการกระทำของตนเองครั้งนั้น ทำให้ Melville เกิดแนวคิดเกี่ยวกับ Bob le flambeur ชายผู้หลงใหลการพนันขันต่อ มีภาพลักษณ์บุคลิกเท่ห์ๆ ชื่นชอบช่วยเหลืออุปถัมภ์ผู้อื่น ไปที่ไหนก็มีคนรู้จักมักคุ้นเคย แต่เจ้าตัวยืนกรานปฏิเสธไม่ขอรับน้ำใจใดๆจากใคร เพราะมันไม่ ‘cool’ ในสายตาของเขาเอง
Bob Montagnéa (รับบทโดย Roger Duchesne) อดีตโจรปล้นธนาคารที่หลังออกจากคุกเลิกทำงานนี้มากว่า 20 ปี ปัจจุบันเป็นนักเล่นพนันอยู่แถวเขต Montmartre, Paris ไม่ได้ทำอาชีพอะไรอื่น โชคชะตามักเข้าข้างทุกครั้งเมื่อใกล้หมดตัว แทงม้าที่ไม่เคยชนะวันนั้นกลับเข้าวินที่หนึ่ง เสร็จแล้วนำเงินไปถลุงเล่นในบ่อน เหลือเท่าไหร่ก็มักแจกจ่ายสงเคราะห์ช่วยเหลือคนที่ตนถูกชะตาด้วย ขนาดสารวัตรตำรวจยังเคยติดหนี้บุญคุณช่วยชีวิตไว้, เด็กหญิงสาวคนหนึ่งหนีออกจากบ้าน ก็ช่วยอุปถัมภ์แบบไม่สน Sex ตอบแทน
วันหนึ่ง Bob หูผึ่งจากการได้ยินจากเพื่อนสนิท ว่าบ่อนการพนัน Grand Prix ในช่วง High Season เวลาเช้าตรู่ตี 5 จะมีเงินเก็บในตู้เซฟสูงกว่า 800 ล้านฟรังก์ เลยคิดวางแผนปล้นชิง รวบรวมสมัครพรรคพวกจากหลากหลายแขนงกลายเป็นทีม ซักซ้อมวางแผนเตรียมการ จินตนาการถึงสิ่งที่ควรเป็น แต่แล้วก็มีเหตุไม่คาดฝันบางอย่างเกิดขึ้น
เนื่องจากทุนสร้างที่มีจำกัด ผู้กำกับเลยเลือกนักแสดงที่ค่าตัวถูกๆ ไม่ค่อยมีคิวงาน หรือหน้าใหม่ในวงการ เน้นที่ภาพลักษณ์รูปร่างหน้าตา มากกว่าทักษะฝีมือการแสดง
Roger Duchesne (1906 – 1996) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส แม้จะเข้าสู่วงการตั้งแต่ปี 1934 กลับไม่ค่อยมีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ ขณะนั้นกำลังติดเหล้าอย่างหนักจนไม่มีใครว่าจ้าง ผู้กำกับ Melville คงเลือกที่ภาพลักษณ์หน้าตาคล้ายกับตนเอง, รับบท Bob Montagnéa หวีผมขาวเนี๊ยบ สวมสูทอย่างเท่ห์ เดินเชิดหน้าตัวตรงไม่เคยก้มหัวให้ใคร มีความสุภาพบุรุษลูกผู้ชาย ห้องนอนเป็น Penthouse อย่างหรูมีเครื่อง Slot Machine ตั้งอยู่ นอกจากเล่นพนันแล้ว ยังชอบให้การช่วยเหลือคนอื่น สังเกตเห็นอะไรไม่เหมาะสมเข้าไปแนะนำสั่งสอน ส่งเสียเลี้ยงดู Anne (รับบทโดย Isabelle Corey) ไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทน แค่เป็นสีสันในชีวิตก็พอ
Isabelle Corey (1939 – 2011) ขณะนั้นเดินเรื่อยเปื่อยหางานทำอยู่แถวเขต Montmartre, Paris ไปเข้าตาผู้กำกับ Melville พบเห็นเธอเดินบนท้องถนน (แบบในหนังเปี๊ยบเลยนะ) ชักชวนขึ้นรถอเมริกันเปิดประทุนของตนเอง สอบถามอยากเป็นนักแสดงไหม เพิ่งมารู้ทีหลังอายุยังไม่ถึง 16 ปีด้วยซ้ำ หลังจากแสดงหนังเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็น Modelling และนักแสดงสมใจอยาก, รับบท Anne คงจะหนีออกจากบ้านเพื่อมีเริ่มต้นมีชีวิตหนทางเป็นของตนเอง พบเจอผู้ชายสามคนเข้ามาพัวพัน
– Bob ชายสูงวัยผู้ยินดีช่วยเหลืออุปถัมภ์ แต่ปฏิเสธการรับหรือฉวยโอกาส และพยายามกีดกันไม่ให้คบหาบางคนที่พึ่งพาไม่ค่อยได้
– Paolo ชายหนุ่มผู้ตกหลุมรักทะนุถนอมเธอดั่งไข่ในหิน ไม่ต้องการให้ทำอะไรสักอย่าง อยากที่จะปรนเปรอปรนิบัติเลี้ยงดู หาเงินให้ใช้จ่ายแบบไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานอะไร
– Marc ชายหนุ่มผู้มอบความรักแบบแอบหวังผลประโยชน์ ตัวเองไม่ยอมทำงานพึ่งพาไม่ค่อยได้ หรือเรียกว่า ‘pimp’ พยายามเสี้ยมสอนให้เธอหางานทำ (จะได้เอาเงินนั้นไปใช้จ่ายในชีวิต) เคยถูก Bob ปฏิเสธไม่ให้ยืมเงิน ด้วยความคับแค้นพอได้ยินว่าวางแผนปล้นบ่อน เลยรีบแจ้นนำเรื่องไปบอกกับตำรวจ
ถ่ายภาพโดย Henri Decaë ขาประจำของผู้กำกับ Melville ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก ก่อนกลายเป็นขาประจำของผู้กำกับรุ่น French New Wave อาทิ Les Amants (1958), Le Beau Serge (1958), The 400 Blows (1959) ฯ
เพราะความที่ทุนจำกัดอีกเช่นกัน จึงต้องเลือกใช้สถานที่ถ่ายทำจริงๆ วนเวียนอยู่แถว Montmartre, Paris และ Deauville แบกกล้อง Hand-Held ใช้แสงธรรมชาติ เดินเก็บภาพไปมาบนท้องถนน, ส่วนฉากภายในที่สตูดิโอ Jenner เน้นห้องที่มีลักษณะ ขาว-ดำ (ดี-ชั่ว, กลางวัน-กลางคืน ฯ) บนพื้นผนังกำแพงเห็นตัดสลับกัน
หลายครั้งที่หนังใช้การแพนกล้องหมุนเกิน 180 องศา เคลื่อนตามติดตัวละครจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งของห้อง นี่คงได้แรงบันดาลใจจาก Scrolling Shot ของผู้กำกับ Kenji Mizoguchi แต่แค่ว่าบางครั้งจะมีหยุดพักกลางทางเพื่อหยิบของ หยุดยืนมอง, นัยยะของการแพนกล้องติดตามนี้ คือการเคลื่อนสายตาจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง วงเวียน หรือวงล้อนำโชคชะตาชีวิตของ Bob ที่มีขึ้นมีลง เดี๋ยวรวย-จน ดี-ชั่ว โค้งมนวนไปมา
(ตอนต้นเรื่องจะมีช็อตถ่ายจากมุมสูง รถน้ำวิ่งวนรอบในวงเวียน นั่นสะท้อนได้ถึงวัฏจักรวงกลมของชีวิต)
พื้นหลังกรุง Paris ช็อตนี้ น่าจะเป็นเพียงภาพถ่าย/ภาพวาด มหาวิหารพระหฤทัยแห่งมงมาทร์ (Basilique du Sacré-Cœur de Montmartre) ไม่น่าจากอพาร์ทเม้นท์จริงๆที่มองเห็นโบสถ์หลังนี้แน่
เสื้อโค้ทกันฝนของ Anne ชวนให้ระลึกถึงโคตรหนังนัวร์เรื่อง Port of Shadows (1938) ของผู้กำกับ Marcel Carné เมื่อตัวละครของ Jean Gabin พบเจอ Michèle Morgan ครั้งแรกก็ชุดนี้ สะท้อนถึงความยังเป็นเด็กสาว กลัวเปียกฝน (จริงๆนัยยะของเสื้อโค้ทกันฝน มันคล้ายถุงยางอนามัย สวมเพื่อปกป้องกันเพศภัย)
Sequence นี้จะมีความประหลาดหนึ่ง คือหลายช็อตจะเป็น Dutch Angle (ถ่ายมุมเอียง) มักขณะที่ Anne คุยกับ Bob ราวกับว่ามีบางสิ่งอย่างที่เธออยากขอบคุณคืนสนองต่อเขา แต่ขณะเดียวกันกลับถูกเท ปฏิเสธไม่ยอมรับหน่ายเดียว โลกมันเลยเอียงๆไม่เท่ากัน
แซว: เห็นว่าตอนแรก Melville อยากให้ Jean Gabin รับบท Bob แต่ค่าตัวพี่แกสูงเว่อ เลยได้แค่เพ้อฝัน
ไนท์คลับ มันควรเป็นสถานที่เต็มไปด้วยความมืดมิด แต่การออกแบบฉากกลับเลือกกำแพงที่มีแสงไฟเป็นดวงๆ เห็นแล้วชวนให้ลายตา สอดคล้องกับความขาว-ดำ สว่าง-มืด ที่มันขัดแย้งกันเองได้อย่างลงตัว
สถานที่ซักซ้อมของกลุ่มโจร คือในสนามหญ้านอกเมืองที่ทิ้งขยะ (เห็นเศษซากรถเก่าวางเรียงราย) ว่าไปทำยังกะสนามฟุตบอล มีผงชอล์กโรยไว้เป็นเส้นตามแบบพิมพ์เขียวสถานที่จริง ต้องใช้การถ่ายจากช็อตมุมสูงก้มลงมาเท่านั้นถึงพอมองเห็นภาพรวม
เห็นชอล์กที่โรยเป็นวงกลม นั่นคือเป้าหมายตู้เซฟในลิฟท์ (สถานที่เก็บเงินอยู่ภายในลิฟท์ สามารถเคลื่อนขึ้นๆลงๆ ดั่งวัฏจักรชีวิต รวย-จน) มองเชิงสัญลักษณ์ก็กงจักร (ของชีวิต)
ยังนึกภาพไม่ออก ก็เข้าสู่จินตนาการปล้นของ Bob หัวขโมยทั้ง 9 ยืนประจำตำแหน่งพร้อม ใครมีหน้าที่อะไรก็ปฏิบัติไป แค่ว่าไม่มีใครอื่นนอกจากพวกเขาเข้าฉากนี้
การปรากฎขึ้นของฉากนี้ ทำให้ผมคาดคิดแนวโน้ม 2 อย่างที่เป็นไปได้ ซึ่งก็ตามคาดจริงๆ
1) การปล้นเกิดขึ้นแน่ และมันอาจไม่เป็นไปตามแผน (ก็แน่ละ การปล้นที่ไหนมันจะสำเร็จไปตามแผนเสียทุกอย่าง)
2) ไม่มีการปล้นเกิดขึ้น เลยนำเสนอฉากนี้ขึ้นก่อนเพื่อไม่ให้ผู้ชมรู้สึกเก้อ ผิดหวังกับการรอคอย
ซีนที่ถ่ายตอนกลางคืน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการจัดแสงได้ ทุกอย่างจึงอยู่ที่การเลือกเลนส์/ฟิลเลอร์ ประเภทของฟีล์ม และสารเคมีที่ใช้ล้าง ซึ่งคงคล้ายๆกับตอนที่ Godard ทำกับ Breathless (1960) ถึงได้ภาพออกมาคมชัด สัมผัสนัวร์ มืดมิดตัดกับสว่างได้ขนาดนี้
เป้าหมายของการโจรกรรมคือ 800 ล้านฟรังก์ แต่ถ้าคำนวณคร่าวๆจากกำไรที่ Bob น่าจะได้ ผมว่าใกล้เคียงหรือไม่ก็มากเกินแล้วละ ก็ดูชิบละล้านวางเรียงเป็นกองพะเนิน นี่ผู้จัดการบ่อนยังไม่รู้ตัวอีกหรือว่าถูกปล้น (คนโคตรดวงดีแบบนี้ มันเลวร้ายกว่าการถูกปล้นเสียอีกนะ) คนอะไรมันจะโชคดีเหนือธรรมชาติได้ถึงขนาดนี้
ความโชคดีของ Bob ทำให้ใครๆก็อยากจับจ้องรุมมองอยู่ด้านหนึ่ง ตอนแรกมีไม่กี่คน แต่ช็อตนี้ร่วมกันลุ้นระทึก แถมยังมีครั้งหนึ่ง หญิงสาวฝากดวงให้กับเขา ซึ่งก็พลอยได้รับอานิสงฆ์ไปกับเขาด้วย
ตัดต่อโดย Monique Bonnot หนึ่งในขาประจำของ Melville, เริ่มจากเสียงบรรยายของผู้กำกับ Jean-Pierre Melville แล้วใช้มุมมองของ Bob Montagnéa ในการเล่าเรื่องทั้งหมด และจะมีฉากหนึ่งเป็น Sequence ในจินตนาการของเขา จำลองแผนการปล้นจริงๆ โดยมีแค่หัวขโมย ไร้ซึ่งพนักงาน/เงินจริง ขณะถูกปล้น
ลีลาของการเปลี่ยนภาพมีค่อนข้างหลากหลายทีเดียว เดี๋ยวเลื่อนซ้าย เลื่อนขวา บางครั้งใช้ Whip pan นี่สอดคล้องกับไดเรคชั่นการแพนกล้องหมุนตามตัวละคร (Scrolling Shot) ว่าไปด้วยลักษณะคล้ายๆวงกลม สอดคล้องกับวัฏจักรของหนัง ขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา ได้เช่นกัน
จะมีไฮไลท์การตัดต่อหนึ่ง หลังจาก Sequence ในจินตนาการของ Bob เมื่อ Roger (คนที่เป็นผู้เปิดตู้เซฟ) ทำการทดลองไขกุญแจ ใช้การตัดสลับไปมาระหว่างใบหน้าของคนที่ยืนรอลุ้น ลำโพง เครื่องวัด และปฏิกิริยาใบหน้าของเจ้าหมาน้อย เดี๋ยวหูลู่ หูตั้ง เบือนหน้าหนี เหมือนจะเห่า แทบสามารถแทนอารมณ์ลุ้นระทึกของผู้ชมได้เลยละ (ชัดเจนกว่าใบหน้าของมนุษย์ ที่ลุ้นระทึกจับเวลาอยู่อีกนะ!)
สำหรับ Jump-Cut ที่มีเพียงครั้งเดียวในหนัง อยู่ช่วงท้ายตอนที่กลุ่มโจรเดินทางมาถึงคาสิโน Grand Prix ขณะพวกเขาลงจากรถเดินเข้ามาหากล้อง มีการตัดต่อแบบสลับระยะภาพ ไกล-ใกล้-ไกล คือถ้าฉากในจินตนาการของ Bob กลางเรื่อง ซีนนี้จะเป็นการเดินตรงๆเข้ามาเลยจนกระทั่งเกิด Whip-Pan แต่ระหว่างปฏิบัติการจริง กลับมีช็อตหนึ่งนี้แทรกเข้ามาคั่น
นี่ถือเป็นแนวคิด Jump-Cut ต่างจากหลายคนเข้าใจพบเห็นใน Breathless (1960) นั่นเรียกว่า ‘Jump-Cut within scenes’ กล่าวคือใช้การถ่ายทำ Long Take แล้วนำมาตัดเล็มส่วนเกินในซีนนั้นออกไป, แต่ในกรณีของหนังเรื่องนี้ การกระโดดหมายถึง ตัวละครกำลังเดินเข้าหากล้อง แล้วมีการเปลี่ยนระยะภาพสลับไปมา เพื่อสร้างจังหวะเร่งเร้าการกระทำ ให้ผู้ชมเกิดความตื่นเต้นลุ้นระทึก
แต่เหมือนคนส่วนใหญ่จะเข้าใจคอนเซ็ปของ Jump Cut ในจักรวาลทัศน์ของ Godard ไปเรียบร้อยแล้วละ แต่นั่นก็ไม่ใช่หนังเรื่องแรกนะครับ ดั้งเดิมแรกสุดมีมาตั้งแต่สมัย Georges Méliès เล่นมายากล ก่อนมาเฟื่องฟูยุค Russian Montage ไฮไลท์คือ Man with a Movie Camera (1929)
เพลงประกอบโดย Eddie Barclay, Jo Boyer จัดเต็มด้วยดนตรีสไตล์ Jazz กลิ่นอาย Paris ทั้งสร้างบรรยากาศ เสริมอารมณ์นัวร์ และมอบสัมผัสที่กลั่นออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร
แค่ Prologue ของหนัง ก็ทำให้ผมมีความฟินมากๆ ตอนเสียงบรรยายพูดขึ้นว่า
“Montmartre is both heaven … and hell”.
ช่วงรอยต่อระหว่างสวรรค์-นรก จะเป็นภาพรถรางเลื่อนกำลังค่อยๆเคลื่อนลง แล้วดนตรีทำการไล่ระดับโน้ตจากสูงไหลลงต่ำ แล้วพอเสียงบรรยายขึ้นว่า ‘and hell’ ทำนองเพลงฟังดูมีความเคลิบเคลิ้มงดงาม ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ (คงเป็นการแสดงโลกทัศนะของผู้กำกับ บอกว่านรกบนดินแห่งนี้ น่าอยู่กว่าโบสถ์วิหารเบื้องบนสรวงสวรรค์เสียอีก)
เสียงไซโลโฟนหลังจากที่ Bob เล่นหมดตัวในฉากแรก สร้างสัมผัสที่เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า, ออกเดินเรื่อยเปื่อยบนท้องถนนยามอรุณรุ่ง เปลี่ยนเป็นเสียง Accordion ตามด้วยเครื่องเป่า ชีวิตของเขาช่างดูเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างเดียวดาย ราวกับโลกในความฝันของผู้กำกับ Melville
ไฮไลท์ของเพลงประกอบคือฉากในคาสิโนช่วงท้าย เมื่อ Bob เริ่มเล่นชนะร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆจนเริ่มหลงลืมตัว ดนตรี Jazz นุ่มๆ มอบสัมผัสราวกับสรวงสวรรค์ โชคชะตาฟ้าดินบันดาล และบางสิ่งอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดถึงได้บังเกิดขึ้น
Bob Montagné เป็นผู้ชายสุดเท่ห์ ใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง วางตัวอยู่ระหว่างดีสุดขั้ว-ชั่วสุดขีด เหมือนจุดเริ่มต้นของหนังระหว่างกลางคืน-กลางวัน ผู้คนมากมายให้ความเคารพนับถือ ชอบช่วยเหลือคนอื่น-แต่ไม่รับน้ำใจจากใคร, ไม่ต้องอธิบายอะไรหลายคนคงเข้าใจได้ ชายคนนี้ย่อมคืิอตัวแทนผู้กำกับ Jean-Pierre Melville และเรื่องราวทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็ราวกับความเพ้อฝันหวาน ในโลกแฟนตาซีจินตนาการของเขาเอง
เมื่อกว่า 20 ปีก่อน Bob โด่งดังกับการปล้นธนาคารจนถูกจับได้ติดคุก ถ้านับไล่ย้อนตามปีที่สร้าง 1956 – 20 = 1936 นี่สื่อถึงความเป็นคนรุ่นเก่า ‘Old School’ ซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นจุดเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะแนวคิดของอาชญากร(และตำรวจ)
“These days, gangsters are pathetic delinquents. Gangsters back then, there was more to them”.
เงินทองยุคสมัยนั้นยังไม่ได้มีคุณค่าเหนือจิตใจคน ได้มาก็ต้องเสียไปเป็นเรื่องปกติเหมือนการพนันขันต่อมีแพ้ชนะ ชีวิตมีขึ้นมีลง หมุนเวียนวนราวกับวัฏจักร นี่คือทัศนคติของ Bob/ผู้กำกับ Melville สิ่งสำคัญทรงคุณค่าสุดในชีวิตคือความเท่ห์ จับจ่ายใช้สอยเงินเพื่อซื้อใจ ขายความสุขสำราญ ทั้งนี้ไม่มีเงินสักแดงชีวิตก็ร่ำรวยด้วยมิตรภาพเพื่อนฝูง
แล้วปล้นคาสิโนนี่ยังไง ทำดีมา 20 ปี จะมาเสียแก่หรือตอนนะรึ? ในมุมมองของ Bob การโจรกรรมไม่ต่างอะไรกับเล่นพนัน เพียงแค่ว่า
– การโจรกรรมต้องใช้การวางแผน ซักซ้อม ตระเตรียมการอย่างรัดกุม, ความเสี่ยงคือถูกจับ ผิดพลาด เสียชีวิต
– ขณะที่การพนัน ไม่จำเป็นต้องวางแผนเตรียมการใดๆ แค่มีเงินทุนตั้งต้นก็สามารถเริ่มต้นได้-เสีย กำไร-ขาดทุน, ความเสี่ยงคือเรื่องของดวงชะตา โชคเข้าข้างก็ร่ำรวย วันนั้นซวยก็หมดตัว
ในมุมของผู้กำกับ Melville ชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยความน่าพิศวงหลงใหล ก็เหมือน Bob ใครจะไปล่วงรับรู้เบื้องหน้ากาลไกล อุตส่าห์ตระเตรียมแผนการโจรกรรมมาอย่างดี แต่ค่ำคืนนั้นดัน …. คือถ้าคนเราสามารถพยากรณ์มองเห็นอนาคต คงไม่มีใครเสียเวลามากมายกับชีวิตขนาดนี้ เดินดุ่มๆเข้าไปแล้วร่ำรวยกลับออกมา แบบนั้นไม่ง่ายกว่าหรอกหรือ!
หนึ่งในตัวแปรโชคชะตาของหนังคือผู้หญิง จริงอยู่เป็นเพศที่น่าหลงใหล ใช้เรือนร่างความงามเต้าไต่จนได้ดิบดี (จากสาวข้างถนน -> ขายดอกไม้ -> Hostess -> มีคนเลี้ยงดู) แต่อารมณ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ สามารถฆ่าคนตาย และนำความร่ำรวยมาสู่
“Lady Luck, his old mistress, made him forget why he was there”.
ชะตากรรมตอนจบของ Paolo ต้องถือว่าคือกรรมสนองตนเอง เพราะเป็นผู้ยิงปืนฆ่า Marc ด้วยความโกรธแค้นริษยาหมกมุ่น ซึ่งทั้งสองคือผู้ชายที่สนิทชิดเชื้อกับ Anne แต่พบจุดจบเพราะต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ(เรือนร่าง)เธอ ผิดกับ Bob ที่ก็เป็นอีกคนมีความใกล้ชิด แต่เขาวางตัวเป็นกลางมิได้ต้องการสิ่งใดคืนสนอง ชีวิตเลยรอดพ้นจากโชคร้าย และได้ครอบครอบหญิงสาว(ทางใจ)แทน
โชคชะตาอะไรที่ทำให้ Bob เล่นไพ่ชนะยิ่งกว่าถูกหวย? ผมมองพฤติกรรมของ Bob เปรียบเสมือนคนกลางที่คอยซื้อขาย โชค/ดวงชะตา เขาได้รับมันมาจากการพนันแล้วก็สูญเสียไป ส่วนที่เหลือส่งมอบให้คนอื่นได้เป็นความโชคดีอำนวยอวยพรกลับมา สะสมเก็บไว้ในตนเอง 20 ปีผ่านไป หลายคนที่ตอนนั้นเคยลำบากปัจจุบันได้ดี อยากช่วยเหลือคืนสนองแต่พี่แกกลับปฏิเสธ (เลยยังมิได้สูญเสียความโชคดีนั้นไป) จนกระทั่งเมื่อตั้งใจทำบางสิ่งอย่าง ไม่ทันได้เริ่มเสี่ยง คุณความดีนั้นก็ได้คืนสนองกลับตนเอง จับได้ไพ่ป๊อกชนะครั้งแล้วครั้งเล่า แถมรอดชีวิตไม่ถูกจับตายจากเพื่อนตำรวจของตนเองด้วยอีก
มองด้วยแนวคิดนี้ก็แปลว่าผู้กำกับ Melville มองสิ่งที่คือคุณความดี ตนเคยเสียสละให้แก่เพื่อนฝูง ไม่ว่าจะเงินทอง สิ่งของ หรือแม้แต่อนุญาตให้เพื่อนผู้กำกับ Jules Dassin สร้าง Rifiti (1955) เพราะคาดหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต ผลกรรมทั้งหลายที่เคยเป็นผู้ให้มา จักหวนย้อนคืนกลับสู่ตนเอง ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยด้วยเงินทองสิ่งของ แค่เพียงมิตรสหายมากล้นถือว่าเป็นมหาเศรษฐีสุขทางใจได้เหมือนกัน
ฟังดูคล้ายแนวคิดของพุทธศาสนาอยู่มากนะ แต่ผู้กำกับ Melville ถือเป็นเดียรถีย์ ไม่เคารพนับถือเทวนิยมใดๆ ทุกสิ่งอย่างในภาพยนตร์ของเขาคือโลกทัศน์ความเข้าใจของตนเอง อย่างที่บอกไปราวกับความเพ้อฝันหวาน แฟนตาซีจินตนาการของพี่แก ถ้ามันเป็นได้เช่นนั้นจริงๆก็เยี่ยมไปเลยนะสิ
สำหรับชาวพุทธ ถ้าเรามองหนังเรื่องนี้ว่าคือ ‘แนวคิด’ ผมว่ามันก็ไม่ผิดอะไรนะ กฎแห่งกรรมมันก็มีลักษณะคล้ายๆกันนี้แหละ แค่ว่ามันมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนกว่านี้มากๆเลยละ นี่ต้องถือว่าผู้กำกับ Melville ได้ค้นพบความลับพื้นฐานของจักรวาลโดยอาจไม่ทันรู้ตัวเข้าแล้วสิ!
ด้วยทุนสร้าง 17.5 ล้านฟรังก์ (ประมาณ 1 ใน 10 เท่าของทุนสร้างปกติสมัยนั้น) ไม่ค่อยเพียงพอต่อการจ่ายค่าตัวนักแสดง ต้องใช้วิธีการ Stand-by หาเงินเพิ่มได้เมื่อไหร่ค่อยเรียกให้มาถ่ายทำต่อ เลยกินเวลา 18 เดือนเต็ม เมื่อออกฉายมีปริมาณผู้เข้าชมทั่วฝรั่งเศส 716,920 คน (น่าจะทำกำไรคืนทุนได้อยู่นะ)
ภาพยนตร์ที่ถือว่ารับอิทธิพล/remake จาก Bob le Flambeur มาเต็มๆ อาทิ
– Ocean’s Eleven (1960) และ Ocean’s Eleven (2001)
– Hard Eight (1997) ของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson
– The Good Thief (2002) ของผู้กำกับ Neil Jordan
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบมากๆของหนัง คือการพนันในลักษณะนามธรรม เพราะชีวิตเราไม่มีทางล่วงรับรู้ได้หรอกอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามัวแต่ครุ่นคิดจัดวางด้วยแบบแผนให้เดินตาม วันๆมันคงน่าเบื่อประไร
ผมเองก็เป็นคนชอบเสี่ยง วัดดวง พนันขันต่อกับชีวิต การไปตายเอาดาบหน้านี่บ่อยมาก รู้สึกมันตื่นเต้นท้าทายยั่วเย้ายวนใจเสียเหลือเกิน อะไรคาดเดาไม่ได้มันจะท้าทายความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คนโสดใช้ชีวิตแบบนี้ก็สนุกดีนะครับ แต่ถ้าแต่งงานมีครอบครัวเมื่อไหร่ก็จบกันเลย ผู้หญิงเป็นตัวแปรแห่งโชคชะตาจริงๆ ฮะๆๆ
แนะนำคอหนังอาชญากรรม แนวโจรกรรม นักพนัน คาสิโน, กลิ่นอาย Film Noir ด้วยไดเรคชั่นของ French New Wave, รู้จักผู้กำกับ Jean-Pierre Melville ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับการพนันขันต่อ, โจรกรรม และฆาตกรรม
Leave a Reply