Bonnie and Clyde

Bonnie and Clyde (1967) hollywood : Arthur Penn ♥♥♥

ภาพยนตร์ที่เป็นจุดเปลี่ยน New Hollywood หรือ American New Wave เปิดประตูสู่อิสรภาพอันไร้กฎกรอบของ Hays Code ให้พบความรุ่งโรจน์และตกต่ำที่สุดไปพร้อมๆกัน เฉกเช่นเดียวกับสองนักแสดงนำ Warren Beatty และ Faye Dunaway ในอดีตเคยยิ่งใหญ่สุดๆ ปีก่อนไม่น่ามาพลาดท่าเสียแก่เลย

วงการภาพยนตร์โลกเริ่มการปฏิวัติมาตั้งแต่ Breathless (1959) ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard ถือกล้องเดินถ่ายหนังบนท้องถนน เรียกโลกทั้งใบนี้ว่า ‘ฉากที่ยิ่งใหญ่ สมบูรณ์แบบที่สุด’ หรือถ่ายทำในห้องเล็กๆมีเพียงสองตัวละครพูดคุยเดินไปมา เฝ้าสังเกตพฤติกรรมเรื่องราวของพวกเขา แค่นี้ก็เกิดความบันเทิงเริงรมย์แล้ว

แต่สำหรับ Hollywood ยังมีบางสิ่งที่เหนี่ยวรั้งอนาคตไว้ นั่นคือ Hays Code (ชื่อเต็ม Motion Picture Production Code) แนวทาง/ข้อตกลงร่วมกันของผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกัน ออกมาเพื่อเป็นพื้นฐาน จรรยาบรรณ ให้ยึดถือปฏิบัติตั้งแต่ปี 1927 ในช่วงเวลาที่ Will H. Hays เป็นประธาน Motion Picture Producers and Distributors of America (MPPDA) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Motion Picture Association of America (MPAA) กฎหลักๆอาทิ ไม่ให้มีภาพโป๊เปลือย, กอดจูบแบบร่านรัก, ความรุนแรง, เสพยา, ฆาตกรรม, โจรกรรม, ข่มขืน, ซาดิสต์ ฯ

Hays Code ในทศวรรษ 60s ได้กลายเป็นสิ่งล้าหลัง เพราะการเติบโตของวงการภาพยนตร์โลก ประเทศอื่นๆไม่ได้มีกฎบังคับอะไรพวกนี้ จึงสามารถนำเสนอความรุนแรง เรื่องต้องห้ามทั้งหลาย (Taboo) ออกมาตรงๆแบบไม่มีลีลาปกปิด แล้วมันก็แพร่ออสโมซิสกลับสู่อเมริกา กลายเป็น Anatomy of a Murder (1959), Suddenly Last Summer (1959), โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Psycho (1960) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ปรับประยุกต์วิธีการนำเสนอความรุนแรงให้เข้ากับ Hays Code ได้อย่างน่าตกตะลึง ส่งเสียงกรี๊ดลั่นของผู้ชมไปทั่วผืนปฐพี

Bonnie and Clyde คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ในช่วงเวลาแห่งการล่มสลายของ Production Code ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ยุคจัดเรตติ้ง สิ่งที่หนังนำเสนอออกมาสร้างความช็อค ตกตะลึงให้กับผู้ชม รวมทั้งผู้สร้างภาพยนตร์มองเห็นความเป็นไปได้สูงสุดของวงการที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งขณะที่คุณค่าของงานศิลปะกำลังถูกยกระดับให้สูงขึ้น จริิยธรรมสามัญสำนึกของผู้คนก็ค่อยๆตกต่ำลงถึงขีดสุดเช่นกัน

ผมเคยรับชม Bonnie and Clyde ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน เกิดรสชาติขมขื่นขึ้นในปาก นี่เรากำลังมีแนวคิดทัศนคติผิดๆ สงสารเห็นใจบุคคลผู้กระทำการโฉดชั่วช้า ผิดกฎหมาย หลักศีลธรรมจรรยาอยู่หรือเปล่า ค่อนข้างจะไม่ชอบภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างยิ่ง

แต่การได้หวนกลับมารับชมครานี้ ผมเกิดมุมมองทัศนคติที่แตกต่างออกไป สงสัยว่ามันใช่ความผิดของพวกเขาหรือเปล่าที่กลายเป็นคนแบบนี้ คำตอบที่คิดได้ลดอคติต่อหนังลงไปพอสมควร และเกิดความเข้าใจเลยว่า ทำไม Bonnie and Clyde ถึงกลายเป็นหลักเขต ‘landmark’ ไม่ใช่แค่ยุคสมัย New Hollywood แต่ยังของประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

Arthur Hiller Penn (1922 – 2010) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania ในครอบครัวเชื้อสาย Russian Jewish ตอนอายุ 19 สมัครเป็นทหารประจำการอยู่ที่ประเทศอังกฤษ คงได้พบเห็นและใช้เวลาว่างในโรงละครท้องถิ่น ทำให้เกิดความสนใจด้านนี้ และเมื่อรับชมภาพยนตร์ Citizen Kane (1941) ตัดสินใจต้องการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์, ผลงานเรื่องแรก The Left Handed Gun (1958) แม้ล้มเหลวในอเมริกา แต่คืนกำไรเมื่อฉายในยุโรป, ผลงานถัดมา The Miracle Worker (1962) คว้า Oscar สองสาขา, กลายเป็นตำนานกับ Bonnie and Clyde (1967), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Alice’s Restaurant (1969), Little Big Man (1970) ฯ

บทภาพยนตร์ Bonnie and Clyde พัฒนาโดย David Newman กับ Robert Benton ส่งให้ผู้กำกับ Penn ช่วงต้นทศวรรษ 60s แต่ขณะนั้นเจ้าติดพันอยู่กับ The Chase (1966) ทั้งสองจึงต้องมองหาผู้กำกับใหม่ ติดต่อ François Truffaut กำลังติดพันกับ Fahrenheit 451 (1966) แต่ก็ได้แนะนำต่อให้ Jean-Luc Godard

ว่ากันว่าเหตุผลที่ Godard บอกปัดปฏิเสธ เพราะเขาต้องการถ่ายทำที่ New Jersey เดือนมกราคม ในช่วงฤดูหนาว แต่โปรดิวเซอร์ของหนังขณะนั้น Norah Wright คัดค้านบอกว่าไร้สาระ เพราะเรื่องราวดำเนินใน Texas มีอากาศอบอุ่นตลอดปี จะไปถ่ายทำ New Jersey ทำไม! Godard เลยสวนกลับ

“I’m talking cinema and you’re talking weather. Goodbye.”

เมื่อ Warren Beatty เข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจคในฐานะโปรดิวเซอร์ บอกกับนักเขียนทั้งสองว่า ถึงบทหนังจะเป็นสไตล์ของ French New Wave แต่นี่คือเรื่องราวของชาวอเมริกัน ควรที่จะเลือกผู้กำกับในประเทศของเราดีกว่า ติดต่อไปยัง George Stevens, William Wyler, Karel Reisz, John Schlesinger, Brian G. Hutton, Sydney Pollack ต่างบอกปัดปฏิเสธ และพอดีกับ Arthur Penn เพิ่งเสร็จจากโปรเจคล่าสุด ตบปากรับคำโดยทันที

พื้นหลังในช่วงทศวรรษ Great Depression (1929 – 1941) หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเศรษฐกิจของหลายๆประเทศเข้าสู่สภาวะถดถอย อัตราผู้คนตกงานเพิ่มสูงขึ้น ชีวิตมียากจนข้นแค้นแสนลำบาก, เรื่องราวของวัยรุ่นหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ที่เกิดความเบื่อหน่ายต่อโลก ต้องการบางสิ่งอย่างเพิ่มสีสันให้กับชีวิต กลายเป็นอาชญากร หัวขโมย ฆ่าคน ใช้ชีวิตนอกกฎหมาย กลายเป็นศัตรูของรัฐ (Public Enemy)

Bonnie Elizabeth Parker (1910 – 1934) เกิดที่ Rowena, Texas ตอนเรียน ม.ปลาย ตกหลุมรักชายคนหนึ่ง ลาออกจากโรงเรียนเพื่อแต่งงาน แต่ไม่นานก็แยกอยู่ (ไม่ได้หย่า) อาศัยอยู่กับแม่ ทำงานเป็นเด็กเสริฟ วาดฝันอยากเป็นนักแสดง ชื่นชอบการแต่งบทกวี

Clyde Chestnut Barrow (1909 – 1934) เกิดที่ Ellis County, Texas ครอบครัวถูกขับไล่ที่ทำให้ต้องอพยพสู่ West Dallas [แบบหนังเรื่อง The Grapes of Wrath (1940)] อาศัยอยู่ในสลัมไม่มีบ้านเป็นของตนเอง เริ่มก่ออาชญากรรมครั้งแรกตอนอายุ 16 ร่วมกับพี่ชาย Buck ปล้นร้านค้า ธนาคาร ขโมยรถ ถูกคุมขังที่ Eastham Prison Farm ถูกข่มขืนนับครั้งไม่ถ้วน ครั้งหนึ่งอดรนทนต่อไปไม่ไหว ใช้ท่อเหล็กทุบหัวโจทก์เสียชีวิต (ฆาตกรรมครั้งแรก) ต่อมาถูกส่งไปทำงานอย่างหนักจึงเอาขวานตัดสองนิ้วเท้าเพื่อให้พิการทำงานไม่ได้ แต่เพียง 6 วันหลังจากนั้นได้รับภาคทัณฑ์ปล่อยตัว

Bonnie กับ Clyde พบกันครั้งแรกวันที่ 5 มกราคม 1930 ที่บ้านของเพื่อนบริเวณ West Dallas น่าจะตกหลุมรักแรกพบโดยทันที

เรื่องราวของหนังมีส่วนผสมทั้งจากเหตุการณ์จริง และส่วนที่แต่งเติมเสริมเข้าไป อาทิ
– เงินที่ได้จากการปล้นธนาคารสมัยนั้นช่างน้อยนิดยิ่งนัก ไม่กี่สิบดอลลาร์ หาได้มีความสุขสบายแม้แต่น้อย หลายครั้งได้รับบาดเจ็บต้องพักรักษาตัวหลายวันกว่าที่จะสามารถออกปล้นครั้งใหม่ได้
– ถึงมีภาพคาบซิการ์ ถือปืน แต่ Bonnie ไม่สูบ ไม่เคยปล้น ยิงปืน หรือฆ่าใคร ทุกครั้งที่ก่ออาชญากรรมมักหลบอยู่ในรถไม่ก็เป็นคนขับพาหลบหนี
– ทั้ง Bonnie และ Clyde รักครอบครัวของตนเองมากๆ นัดพบเจอกันอยู่เรื่อยๆ แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยในสิ่งที่พวกเขาทำ แต่ก็ไม่เคยทอดทิ้งกันและกัน
– บทกวีที่ Bonnie แต่งขึ้น ไม่ได้รับการตีพิมพ์ขณะพวกเขายังมีชีวิต แต่ถูกค้นพบหลังจากพวกเขาเสียชีวิต ส่งให้โดยครอบครัว
– หลังจากทั้งสองเสียชีวิต แม้จะมีความต้องการให้ฝังเคียงข้างกัน แต่เพราะแม่ของ Bonnie ไม่ยอมรับ Clyde จึงนำร่างของลูกสาวไปฝังที่อื่นแยกจากกัน

นำแสดงโดย Henry Warren Beatty (เกิดปี 1937) นักแสดง/โปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Richmond, Virginia, มีความสนใจในภาพยนตร์ตั้งแต่เด็กจากพี่สาว Shirley MacLean หลงใหลคลั่งไคล้ The Philadelphia Story (1940) เพราะรู้สึกว่า Katharine Hepburn มีภาพลักษณะนิสัยคล้ายๆกับแม่ของตนเอง โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงกับ Stella Adler Studio of Acting กลับจากเป็นทหารอากาศ เริ่มมีผลงานซีรีย์โทรทัศน์ ละครเวที Broadways ภาพยนตร์เรื่องแรก Splendor in the Glass (1961) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที, ร่วมงานผู้กำกับ Penn ครั้งแรก Mickey One (1965), กลายเป็นดาวค้างฟ้ากับ Bonnie and Clyde (1967)

ไม่ใช่แค่ด้านการแสดงเท่านั้น Beatty ยังเป็นโปรดิวเซอร์ เขียนบท และกำกับภาพยนตร์ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Shampoo (1975), Heaven Can Wait (1978) ** กำกับเรื่องแรก, Reds (1981) ** คว้า Oscar: Best Director, Dick Tracy (1990), Bugsy (1991), Bulworth (1998) ฯ

รับบท Clyde Barrow หนุ่มหน้าใสหัวใจอ่อนโยน เพราะวัยเด็กพบเจอแต่ความทุกข์ยากลำบาก ถูกสังคมรุมทำร้าย จึงเกิดความปฏิเสธต่อต้าน เลือกใช้ชีวิตอยู่เหนือกฎหมายบ้านเมือง, ครั้งหนึ่งพบเจอตกหลุมรัก Bonnie Parker แต่ก็ต้องใช้เวลามากทีเดียวกว่าจะปรับตัว เพื่อสนองความต้องการของเธอได้

ตอนที่ Beatty กลายมาเป็นโปรดิวเซอร์หนัง ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะรับบทแสดงนำ แต่เพราะถูกผู้กำกับ Penn เกลี้ยกล่อมจนยินยอมตกลง มีข้อแม้ตัดฉากเลิฟซีนกับประเด็น Homosexual ออกไป แต่ถ้าคุณรับรู้ประวัติของ Clyde เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคุก ก็น่าจะรับรู้เหตุผลได้ทำไมตัวละครถึงอ่อนปวกเปียกภายในเช่นนั้น

ริมฝีปากของ Beatty เซ็กซี่น่าดู คาบไม้ขีดไฟ (เล่นกับไฟ) เปิดอ้านิดๆ พยายามยิ้มแย้มตลอดเวลา นี่รับอิทธิพลมาจาก Jean-Paul Belmondo เรื่อง Breathless (1960) อย่าางแน่นอน [ซึ่ง Belmondo ก็ได้แรงบันดาลใจจาก Humphrey Bogart อีกที], ด้านการแสดงก็ต้องชมว่า Beatty สามารถโน้มน้าวให้ผู้ชมเกิดความสงสารเห็นใจต่อตัวละคร มากกว่าสมเพศสมน้ำหน้าในการกระทำอันชั่วช้าของพวกเขา

Dorothy Faye Dunaway (เกิดปี 1941) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Bascom, Florida ในครอบครัวเชื้อสาย Scots-Irish ทำให้ช่วงวัยเด็กเดินทางไปๆกลับๆอเมริกากับยุโรป, มีความชื่นชอบร้องเล่นเต้น เปียโน จบสาขาการแสดงละครเวททีที่ Boston University เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก The Happening (1967) ตามด้วย The Chase (1966), กลายเป็นตำนานกับ Bonnie and Clyde (1967), โด่งดังกับ Little Big Man (1970), Chinatown (1974), The Towering Inferno (1974) ฯ คว้า Oscar: Best Actress เรื่อง Network (1976)

รับบท Bonnie Parker หญิงสาวผู้โหยหาร่านในความรัก เพราะความเบื่อหน่ายอ้างว้างในชีวิต ต้องการค้นหาทำบางสิ่งอย่างที่ขนลุกเนื้อเต้น ไม่สนว่าถูกหรือผิด แค่ความพึงพอใจที่สุดเป็นพอ, หลังจากพบเจอตกหลุมรัก Clyde ต้องการครอบครองเขาแต่เพียงผู้เดียว แม้กายยังไม่ได้แต่จิตใจถือว่าเป็นเจ้าของแล้ว กระนั้นการมาถึงของพี่ชายและภรรยา ทำให้เธอเกิดความอิจฉาริษยา รังเกียจต่อต้านพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง

“We rob banks.”

ประโยคนี้ติดอันดับ 41 จาก AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes เมื่อปี 2005

ก่อนที่ Beatty จะรับบท Clyde ตัวเต็งหนึ่งบทบาทนี้คือพี่สาว Shirley MacLaine แต่เมื่อเขาตัดสินใจรับบทพระเอกแทน มันคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ตัวเลือกประกอบด้วย Jane Fonda, Tuesday Weld, Ann-Margret, Leslie Caron, Carol Lynley, Sue Lyon, ขณะที่แฟนสาวของ Beatty ขณะนั้น Natalie Wood พยายามโน้มน้าวชักจูงแต่เหมือนจะมีปากเสียงทะเลาะวิวาทกัน เย็นวันนั้นเห็นว่าเธอพยายามฆ่าตัวตาย โชคดีรอดมาได้ เข้าบำบัดรักษาอาการทางจิตอยู่หลายเดือน

Curtis Hanson ว่าที่ผู้กำกับ L.A. Confidential (1997), 8 Mile (2002) ฯ ขณะนั้นทำงานเป็นช่างภาพนิ่ง ได้มีโอกาสรู้จักกับ Dunaway จากการถ่ายแบบโมเดลลิ่ง ช่วยส่งรูป Portfolio ของเธอให้ Beatty และ Penn พิจารณา ว่ากันว่าเป็นเหตุให้เธอได้รับเลือกแสดงบทบาทนี้, Beatty ต้องการตอบแทน Hanson ด้วยสินน้ำใจเล็กๆน้อยๆ แต่เจ้าตัวปฏิเสธ ขอเป็นผู้ช่วย/สังเกตการณ์ในกองถ่ายแทน

ท่าทางการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะใบหน้าสายตา และสำเนียงการพูดเหน่อๆของ Dunaway สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในออกมาอย่างชัดเจน ค่อนข้างเหมือนเด็กเอาแต่ใจ อยากได้อะไรต้องได้ อิจฉาเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุข ฯ ผมชอบสุดก็ตอน Bonnie เห็น Clyde ปล้นครั้งแรก อารมณ์ทางเพศพุ่งพรวดรุนแรง สะท้อนถึงความสุขกระสันต์ที่ไม่เคยได้รับการเติบเต็มของตนเอง แต่กลับกลายเป็น…

เพราะความล่มปากอ่าวในครั้งแรกและถัดๆมา คงทำให้ Bonnie แทบคลั่งตาย แต่ค่อยๆเรียนรู้จักความอดทน เติบโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อได้เสพสมอารมณ์หมาย ก็เท่ากับชีวิตได้รับการเติมเต็มความต้องการเสียที

เกร็ด: ชุดของ Bonnie ออกแบบโดย Theadora Van Runkle ได้กลายเป็นแฟชั่นยอดฮิตในทศวรรษนั้น มีคำเรียกว่า ‘Bonnie and Clyde Look’

สำหรับนักแสดงสมทบขอพูดถึงแค่คร่าวๆก็แล้วกัน
Gene Hackman รับบท Buck Barrow ว่ากันว่าบทหนังฉบับแรกๆที่นำเสนอว่า Clyde เป็นเกย์ ก็กับพี่ชายคนนี้แหละ แต่เมื่อประเด็นนี้ถูกตัดออกไปก็ยังพอพบเห็นร่องรอยอยู่บ้าง เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขามันช่างสนิทสนมแนบแน่นเสียเหลือเกิน, เพราะบทบาทนี้ของ Hackman ทำให้ได้แสดงหนังเรื่อง The French Connection (1971) คว้า Oscar: Best Actor และกลายเป็น Typecast ภาพลักษณ์ของความดิบเถื่อนบ้าคลั่งเสียสติแตก

Michael J. Pollard รับบท C.W. Moss จากเด็กปั๊มเชี่ยวชาญการซ่อมรถ กลายเป็นสมาชิกของแก๊งค์ Barrow ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ถูกต้อง Moss น่าจะเด็กสุดในกลุ่ม ทำให้ถูกโน้มน้าวชักจูงจมูกได้โดยง่าย ปมที่ทำให้กลายเป็นแบบนี้ เพราะถูกพ่อปกครองเผด็จการใช้ความรุนแรง เลยดูไม่ค่อยสมประกอบเท่าไหร่ด้วย

Estelle Parsons คว้า Oscar: Best Supporting Actress จากบทบาท Blanche Barrow ทั้งๆที่ Blanche  ตัวจริงยืนกราน ฉันไม่ใช่ยัยบ๊องบ้าบอสติแตกแบบนี้! ‘That film made me look like a screaming horse’s ass!’, พ่อของ Blanche เป็นนักเทศน์ที่คงเลี้ยงลูกแบบเคร่งครัด บีบบังคับให้อยู่ในกฎกรอบศีลธรรมมากๆแน่ เธอถึงได้เพี้ยนๆขนาดนี้ ยิ่งการที่แอบแต่งงานกับ Buck ถือเป็นการก่อกบฎขัดแย้งต่อครอบครัว แสดงว่าชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตหาความสุขไม่ได้เลยสักนิด

นี่เป็นภาพยนตร์ Debut ของ Gene Wilder ในบท Eugene Grizzard อาชีพสัปเหร่อที่ถูกแก๊งค์ Barrow ขโมยรถ เลยขอให้แฟนสาวขับอีกคันติดตาม ทีแรกวาดมาดเอาจริงจังแต่พอถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีปืนก็ปอดแหกถอยรถกลับ แล้วอยู่ดีๆ Clyde ก็ขับรถวนกลับเช่นกัน จี้พวกเขาพาไปลัลล้าร่วมสนุกด้วยกัน, นี่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงของสัปเหร่อ H.D. Darby และแฟนสาว Sophia Stone ที่ถูกขโมยรถและโดนลักพาตัวโดยแก๊งค์ Barrow ลงข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์

ถ่ายภาพโดย Burnett Guffey เจ้าของรางวัล Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง From Here to Eternity (1953) แม้ระหว่างการทำงานจะมีเรื่องขัดใจกับผู้กำกับอยู่เรื่อง แต่ก็สามารถคว้าอีกรางวัลได้จาก Bonnie and Clyde (1967)

ความตั้งใจแรกของ Beatty ต้องการถ่ายทำด้วยภาพขาว-ดำ แต่สตูดิโอ Warner Bros. โดย Jack L. Warner ที่ออกทุนสร้าง ยืนกรานยังไงก็ตองถ่ายทำด้วยภาพสีตามค่านิยมยุคสมัย นี่ทำให้การถ่ายทำล่าช้าไปมากด้วย เพราะการถ่ายทำยังสถานที่จริง Texas เสียเวลาก็ตรงจัดแสงสี ล้างฟีล์มเนี่ยแหละ

ผมไม่แน่ใจว่าหนังมีการ Remaster ไปแล้วหรือยัง แต่ในฉบับที่ผมรับชม จะมีภาพโทนน้ำตาลอ่อนๆ อันเกิดจากการเสื่อมสภาพของฟีล์มตามกาลเวลา แต่นี่ถือเป็นไฮไลท์เลยนะ เพราะมันเข้ากับยุคสมัยพื้นหลังในช่วงทศวรรษ 30s ราวกับโปสการ์ดภาพถ่ายเก่าๆ ให้สัมผัสถึงความคลาสสิก

ฉากเปิดเรื่องในห้องนอนของ Bonnie ในสภาพโป๊เปลือย เดินไปมา นอนกลิ้งดิ้น หยิบเสื้อผ้าจะมาสวมแต่ไม่ใส่ เหม่อมองไปข้างนอกหน้าต่าง, การถ่ายภาพช่วงนี้ไม่เชิงเป็น Long Take แต่สะท้อนความรู้สึก จิตวิทยาของตัวละครออกมา โดดเด่นมากๆกับการที่อยู่ดีๆซูมเข้าไปที่ดวงตาเห็นแสงไฟหลอดเล็กๆ จะมีอะไรใครไหมสักคนที่นำพาฉันออกจากโลกแห่งความมืดมิดนี้

ช็อตนี้ธรรมดาเสียที่ไหน สังเกตว่าครึ่งซีกขวาของภาพมีลักษณะเบลอๆ ตกอยู่ภายใต้เงามืดที่สาดส่องจากด้านซ้าย ดวงไฟก็มีขนาดใหญ่กว่าด้วย, นัยยะสื่อถึง ซีกหนึ่งของชีวิตที่ยังขาดหายไป เลยมองเห็นไม่ชัดเจน

ไดเรคชั่นตอนที่ Bonnie พบเจอกับ Clyde ครั้งแรก ทั้งสองออกเดินไปเรื่อยๆตามท้อง กล้องเคลื่อนติดตาม Tracking ด้านข้างเลื่อนตามรางมาเรื่อยๆตรงๆ นี่สะท้อนถึงเส้นทางชีวิตของหญิงสาวที่พยายามเดินเป็นเส้นตรงสุจริตมาโดยตลอด แต่มันช่างน่าเบื่อหน่ายเสียกระไร, เมื่อพบเห็น Bonnie หลังจากการปล้นครั้งแรก พวกเขาขับรถแบบไม่แคร์ถนน ลดเลี้ยวเคี้ยวคดไปมา นั่นคือจุดเริ่มต้นของชีวิตที่มิได้เป็นเส้นตรงอีกต่อไป

ศพแรกของหนัง ผู้ชมสมัยนั้นคงช็อคแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะมันแบบว่าต่อหน้าต่อตา แต่ถ้าคุณจับจ้องสังเกตช็อตนี้ให้ดีๆ กระจกมันไม่ได้แตกนะครับ กระสุนมันจะทะลุไปได้ยังไง และใบหน้าของ Stuntman วินาทีที่ถูกยิงอาบด้วยเลือดมาก่อนแล้วด้วย ไม่ค่อยเนียนเท่าไหร่ แต่ใช้การตัดต่อไวๆมองไม่ทัน แค่นี้คนขวัญอ่อนก็กรี๊ดลั่นแล้วละ

นี่เป็นช็อตที่ล้อกับภาพสุดท้ายของหนัง การตายของชายคนแรก ย่อมส่งผลกรรมสนองให้ทั้ง Bonnie และ Clyde สูญเสียชีวิตตอนท้าย

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องที่พวกเขาไปรับชมกันหลังเหตุการณ์นี้คือ Gold Diggers of 1933 (1933)

นี่เป็นช็อตที่โดยส่วนตัวมองว่าคือ Masterpiece ของหนัง เพราะขณะที่ Clyde ออกวิ่งติดตาม Bonnie ไปในทุ่งข้าวโพด กล้องค่อยๆเลื่อนขึ้นช้าๆ (น่าจะใช้เครน) สังเกตให้ดีๆจะเห็นเงามืดเคลื่อนพาดผ่านช็อตนี้ด้วย

คงเพราะผมรับชมหนังของผู้กำกับ John Ford มาหลายเรื่องติดๆ เลยเริ่มสังเกตก้อนเมฆ แสงเงาที่มาจากปรากฎการณ์ธรรมชาติ ซึ่งช็อตนี้ให้ตายเถอะ! ว่ากันว่าเป็นความบังเอิญของธรรมชาติล้วนๆ แต่ผู้กำกับตัดสินใจนำมาใช้จริง เพราะสามารถสื่อนัยยะ พยากรณ์จุดสิ้นสุดของ Bonnie กับ Clyde

แต่ผมมองนัยยะของฉากนี้ Clyde วิ่งไล่ติดตาม Bonnie ที่กำลังเกิดความเครียดหนักจากเหตุการณ์ยิงกันเกือบตาย ก้อนเมฆเคลื่อนผ่านสามารถสื่อความหมายได้ว่า ‘เดี๋ยวความทุกข์โศกมันก็ผ่านไป’

ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่า ผู้กำกับทำอะไรกับฉากนี้ ถ่ายให้หลุดโฟกัส หรือใช้เลนส์/ฟิลเลอร์ ให้ภาพออกมาฟุ้งๆเบลอๆ การพบเจอกับครอบครัวของ Bonnie มีสัมผัส ‘เหมือนฝัน’ ความสุขที่มีอยู่ในจินตนาการของพวกเขาเท่านั้น

สำหรับฉากสุดท้ายของหนัง ถ่ายทำยังสถานที่จริง Bienville Parish, Louisiana เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1934 จากการซุ่มดักของ 4 Texas Ranger และอีก 2 Louisiana Officers นำโดย Frank Hamer

Frank Hamer (รับบทโดย Denver Pyle) [1884 – 1955] ในหนังนำเสนอในภาพลักษณ์ Texas Ranger ผู้มีความอาฆาตแค้นต่อ Bonnie and Clyde หลังจากถูกทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ในความเป็นจริง Hamer ไม่เคยพบเจอพวกเขามาก่อน และคือตำนาน Texas Ranger ที่ตอนนั้นเกษียณตัวไปแล้ว หวนคืนกลับมาเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ ซึ่งได้ทำการศึกษา Pattern รูปแบบการปล้น และเส้นทางของแก๊งค์ Barrow จนสามารถวางตำแหน่งซุ่มดักรอ จัดการพวกเขาได้จริงๆ [นี่ก่อนการถือกำเนิดของ FBI อีกนะ]

ภรรยาหม้ายและลูกชายที่ได้รับชมหนัง ยื่นเรื่องส่งฟ้องศาลข้อหาทำให้ภาพลักษณ์ของ Frank Hamer สูญเสียหาย สุดท้ายประณีประณอม ตกลงกันได้นอกรอบเสร็จสิ้นปี 1971 (คงได้ค่าเงินปิดปากเยอะอยู่)

ฉากนี้ถูกเรียกว่า ‘Dance of Death’ (ชื่อเดียวกับตอนจบของ Breathless) เพราะทั้ง Bonnie กับ Clyde ขณะถูกกราดยิง พวกเขาดิ้นแดนซ์ก่อนตายกันได้อย่างเมามันส์แบบสุดๆ ซึ่งเทคนิคที่ใช้คือการติด Squibs (ประทัด?) ไว้ในเสื้อผ้าของ Beatty และ Dunaway เชื่อมด้วยสายระโยงระยาง เห็นระเบิด/เลือดปลอม/ควัน พวยพุ่งออกมา

ช็อตสุดท้ายของหนัง เลือกถ่ายภาพผ่านกระจกที่ถูกยิงทะลุ พื้นหลังคือเหล่า Texas Ranger ที่ออกจากพุ่มไม้ชื่นชมผลงานความสำเร็จ เงียบๆแล้วตัดขึ้น The End

ตัดต่อโดย Dede Allen นักตัดต่อหญิงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ศิลปิน’ ขาประจำของ Penn และ Beatty มีผลงานสุดคลาสสิกอย่าง The Hustler (1961), Bonnie and Clyde (1967), Dog Day Afternoon (1975), Reds (1981) ฯ

เรื่องราวของหนังเล่าผ่านสายตาของ Bonnie กับ Clyde นับตั้งแต่พวกเขาพบเจอกันครั้งแรก ก็เห็นอยู่ด้วยกันตลอดเวลา จนกระทั่งความตายก็มิอาจพรากจาก

ไฮไลท์การตัดต่ออยู่ที่ฉากไคลน์แม็กซ์ มีการลำดับภาพที่รวดเร็วฉับไว ทุกช็อตแทนสายตาของตัวละครและปฏิกิริยาที่แสดงออก เรื่องราวเกิดขึ้นภายในเสี้ยวเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น, ผมชื่นชอบช็อตที่ Bonnie หันมาทำหน้าเยิ้มแย้มเอียงหัวเล็กๆ เป็นการบอกรักครั้งสุดท้ายก่อนถูกยิง และขณะที่ Clyde พอตระหนักได้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น ย่อตัวพยายามวิ่งเข้าหาเพื่อปกป้องคนรัก น่าเสียดายที่ช้าไปไม่ทันการเสียแล้ว

แว่นตาดำที่หลงเหลือเพียงข้างเดียว เป็นการพยากรณ์ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพวกเขา ถึงเวลาที่ความตายจะแยกจากกันแล้วกัน

Owen Gleiberman นักวิจารณ์ของ Vareity ให้คำบรรยายฉากนี้แทนคำพูดของ Bonnie ในสายตาที่เธอส่งถึง Clyde ได้อย่างตรงเผง

“Oh God this is it! Just like we knew it would happen. But we dreamed that it wouldn’t. And we don’t even have time to say goodbye. And I love you….”

สำหรับเพลงประกอบ ในเครดิตขึ้นว่า Charles Strouse แต่ผมกลับจดจำได้แต่เสียง Banjo ไฮไลท์ในฉากขับรถไล่ล่า กับบทเพลง Foggy Mountain Breakdown ที่แต่งโดย Earl Scruggs บรรเลงโดย Flatt & Scruggs and the Foggy Mountain Boys เป็นแนว Bluegrass-Style (ถือเป็น Sub-Genre ของแนว Country รับอิทธิพลจาก Jazz และ Blue มักบรรเลงด้วย Banjo หรือ Guitar) เคยขึ้น Billboard Hot 100 สูงสุดอันดับ 55

จริงๆแล้ว Bluegrass-style เริ่มได้รับความนิยมในช่วงกลางทศวรรษ 40s ซึ่งบทเพลงนี้แต่งบันทึกเสียงครั้งแรกปี 1949 หาได้ตรงกับพื้นหลังของหนังต้นทศวรรษ 30s แม้แต่น้อย แต่เพราะผู้ฟังส่วนใหญ่มักจินตนาการ Old-Time ในลักษณะคล้ายๆกันนี้ ก็เลยหยวนๆกันไป

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามชี้ชักนำเสนอ Bonnie กับ Clyde ไม่ได้มีความต้องการอยากปล้นธนาคาร ฆ่าคนตาย หรือทำร้ายใคร แต่เพราะพวกเขาตกอยู่ในสภาวะหมดสิ้นหวังในชีวิต อันเป็นผลกระทบมาจากยุคสมัย Great Depression ติดกับอยู่ในความกระหายของตนเอง การกระทำชั่วเปรียบเสมือนช่องทางแห่งการกอบกู้ อิสรภาพ เติมเต็มอารมณ์ สนองตัณหาความต้องการของตนเอง

คงไม่มีอะไรใคร หรือสิ่งใดจะสามารถอธิบายถึงเหตุผลที่ Bonnie กับ Clyde กลายเป็นอาชญากร นอกเสียจากโชคชะตาชีวิตของพวกเขาเอง, เกิดในทศวรรษแห่งความยากลำบาก ครอบครัวมิอาจต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดเองได้ มีลูกก็มิเคยสนใจใยดี ทิ้งๆขว้างๆ ไม่ก็ปกครองอย่างเผด็จการเข้มงวด พอเติบโตขึ้นสังคมก็ไม่มีที่ว่างเพียงพอรองรับ แล้วนี่ฉันจะมีชีวิตทำยังไงต่อไป? ทางออกของพวกเขาจึงมีเพียงต่อสู้ดิ้นรนขัดแย้ง แม้นั่นเป็นสิ่งที่โลกมนุษย์มิอาจยินยอมรับได้ก็ตามที

เรื่องราวของ Bonnie กับ Clyde ไม่ได้โด่งดังเพราะมีฝืมือในการปล้นเก่งกาจ หรือความโฉดชั่วร้ายอันตรายมากยิ่ง แต่ล้วนเกิดจากสื่อ หนังสือพิมพ์ ข่าวสารมันเริ่มแพร่หลายไปไวในทศวรรษนั้น แถมยังถูกใส่ไฟกระพรือปีกให้ดูน่ากลัวขนหัวลุก ผู้คนที่เพิ่งเริ่มรู้จักการบริโภคข่าว จึงมิอาจ’กรอง’ข้อเท็จจริงได้รวดเร็วไวเท่ายุคสมัยนี้ ทำให้หลงเชื่อถูกชักจูงไปได้โดยง่าย (แต่ก็ใช่ว่าคนสมัยนี้ จะไม่ถูกชี้ชักนำจูงจมูกจากข่าวเท็จต่างจากสมัยก่อนสักเท่าไหร่)

มันมีความแปลกประหลาดอย่างหนึ่ง ที่บังเกิดขึ้นน่าจะพร้อมๆยุคสมัยของข่าวสารนี้เลย นั่นคือเมื่อพบเห็นบุคคลผู้มีชื่อเสียง (ไม่ว่าในทางที่ดีหรือชั่ว) มักวิ่งกรูเข้าหา ขอลายเซ็นต์ ถ่ายรูป ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง, บอกตามตรงว่า ผมไม่เข้าใจนิสัยสันดานของคนลักษณะนี้เลยนะ มันเพื่ออะไร? อยากมีชื่อเสียงขึ้นหน้าลงหนังสือพิมพ์ ให้กลายเป็นที่พูดถึงในสังคม แค่นั้นนะเหรอ! ชีวิตของคุณมันช่างไร้ค่า ไร้ตัวตนขนาดนั้นเชียว ขอแค่สักครั้งหนึ่งได้ปรากฎรูป มีผู้คนรู้จัก ดีชั่วไม่สน … คนแบบนี้ต่างกับอาชญากรเช่นไรกัน!

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Bonnie and Clyde กลายเป็นตำนาน ได้รับการยกย่องว่าคือ Masterpiece/Landmark ของ Hollywood นั่นคือเสรีภาพไร้ข้อจำกัดในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ยึดติดอยู่กับข้อจำกัดของ Hays Code อีกต่อไป เฉกเช่นเดียวกับอิสรภาพในการใช้ชีวิตของ Bonnie และ Clyde อาชญากรผู้กระทำการทุกสิ่งอย่างนอกเหนือกฎหมาย, ถือเป็นเรื่องราวที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลง ‘อิสระ เสรีภาพ’ โลกยุคสมัยได้อย่างชัดเจนมากๆ น่าจะโดยที่ผู้สร้างภาพยนตร์มิได้รู้ตัวเองด้วยซ้ำ

ตอนที่ทดลองฉายหนังให้กับเจ้าของสตูดิโอ Jack L. Warner ว่ากันว่าเป็นไปด้วยความย่ำแย่ขีดสุด เพราะนาย Warner ลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำถึง 3 ครั้ง แสดงความรังเกียจออกมามากๆ ถึงขนาดมีความตั้งใจลดเกรดหนัง ออกฉายโรง Drive-In แต่เพราะ Beatty แอบนำหนังไปฉายเทศกาล Montreal Film Festival ได้รับการยืนปรบมือ ต้องออกไปโค้งคำนับถึง 14 ครั้ง ถ้ายังคงยื้อยักดื้อด้านอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องแล้ว

ด้วยทุนสร้าง $2.5 ล้านเหรียญ ผลลัพท์ติด Top 5 ทำเงินสูงสุดแห่งปีที่ $50.7 ล้านเหรียญ (สูงเป็นอันดับสองของสตูดิโอ Warner Bros. ขณะนั้น เป็นรองเพียง My Fair Lady) รวมรายรับทั่วโลกประมาณ $70 ล้านเหรียญ

แม้เสียงวิจารณ์ตอนออกฉายจะค่อนข้างแตก ถูกตำหนิต่อว่าในเรื่องความรุนแรงเกินขีดจำกัดรับได้ แต่มีนักวิจารณ์หลายคนยกย่องว่าเป็น Masterpiece โดยเฉพาะสองนักวิจารณ์หน้าใหม่แห่งยุคนั้น ที่ต่อมากลายเป็นตำนานคือ Roger Ebert และ Pauline Kael ทำให้ปลายปีหนังได้เข้าชิง Oscar 10 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Warren Beatty)
– Best Actress (Faye Dunaway)
– Best Actor in a Supporting Role (Gene Hackman)
– Best Actor in a Supporting Role (Michael J. Pollard)
– Best Actress in a Supporting Role (Estelle Parsons) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Story and Screenplay – Written Directly for the Screen
– Best Costume Design
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล

ปีนั้นโดน SNUB สาขา Best Edited, ส่วนภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของ In the Heat of the Night เอาชนะได้ทั้ง The Graduate และ Bonnie and Clyde

เรื่องราวมีอยู่ว่า เมื่อตอนครบรอบ 50 ปีของหนังเรื่องนี้ที่ถือว่าเป็น Landmark ของ Hollywood และเนื่องจากสองนักแสดงนำ Warren Beatty, Faye Dunaway ยังคงมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ จึงได้รับเกียรติสูงสุดให้มาเป็นผู้เปิดซองประกาศรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2016 ซึ่งตัวเต็งปีนั้นมีสองเรื่องที่ขับเคี่ยวกันมาตลอดอย่างสูสีคือ La La Land กับ Moonlight แต่เพราะซองที่ได้รับมาเกิดความผิดพลาด แม้ Beatty จะลังเลใจ แต่ Dunaway ก็มิใคร่สนใจประกาศชื่อ La La Land โดยพลัน แต่แล้วทุกสิ่งก็ ‘fuck up’ สมกับบทบาทที่พวกเขาได้รับจนโด่งดังในหนังเรื่องนี้ เมื่อนั่นเป็นจดหมายผิดซอง และผู้ชนะแท้จริงคือ Moonlight

“one of the worst moments I’ve ever had”

– Faye Dunaway

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ Oscar ที่มีการมอบซองประกาศรางวัลผิด ก่อนหน้านี้ปี 1964 เมื่อ Sammy Davis Jr. ประกาศรางวัลสาขา Best Music Score เป็นชื่อใครก็ไม่รู้จากสาขาอื่น พอรู้ตัวก็รีบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาตัวรอดได้แบบทันควัน

สิ่งที่โดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบเท่าไหร่กับหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ คือการทำให้ผู้ชมเกิดความสงสารเห็นใจตัวละคร, กับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะมากพอ ย่อมสามารถแยกแยะการกระทำของพวกเขา ความถูกต้อง และสามัญสำนึกออกจากกันได้ แต่สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาว -มันอาจเพราะผมคิดมากไปเองก็ได้- แนวโน้มสูงที่พวกเขาอยากจะเลียนแบบความหล่อเท่ห์แรดร่านของตัวละคร มันอาจไม่ใช่การปล้นแบงก์หรือฆ่าคน แต่คือทัศนคติ แนวคิดบางอย่าง ความรุนแรงได้ถูกปลูกฝังไว้ในจิตวิญญาณเรียบร้อยแล้ว

นี่เป็นลักษณะ ‘ดาบสองคม’ ของภาพยนตร์ ในความตั้งใจของผู้สร้างไม่มีหรอกนะครับ จะนำเสนอความเลวโฉดชั่วร้ายของตัวละครโดยไม่สะท้อนผลกรรมจากการกระทำนั้นออกมา แต่มันขึ้นอยู่กับผู้ชมจะมองเห็น เข้าใจ ตีความในลักษณะเช่นไร นี่คือเสรีภาพที่ต้องแลกมาด้วยความรับผิดชอบของตนเอง เหมือนดาบที่เป็นอาวุธใช้ปกป้อง ย่อมสามารถเข่นฆ่าทำลายล้างได้เช่นกัน

แนะนำกับคอหนังอาชญากรรม, Gangster, สนใจเรื่องราวของ Bonnie and Clyde, นักประวัติศาสตร์ ชื่นชอบกลิ่นอายของทศวรรษ 30s, ตำรวจ สายสืบ ผู้พิทักษ์สันติราชทั้งหลาย รู้จักไว้เป็นบทเรียน, แฟนๆผู้กำกับ Arthur Penn นักแสดง Warren Beatty, Faye Dunaway, Gene Hackman, Gene Wilder ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความรุนแรง พฤติกรรมชั่วร้าย และภาพความตาย

TAGLINE | “Bonnie and Clyde คือภาพยนตร์ที่เป็นดาบสองคม และจุดเปลี่ยนยุคสมัยของ Hollywood”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
tantawanpanda Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
tantawanpanda
Guest

ขอบคุณสำหรับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนะคะ เพิ่งได้ดูเรื่องนี้ไม่นานมานี้เอง แล้วก็มาอ๋อ นักแสดงนำ2คนนีนี่เองที่ประกาศผลผิด ลาลาแลนด์ มูนไลต์5555

คิดว่าในแง่ดาบสองคน ก็มีเห็นใจตัวละครบ้างนะคะขณะชม แต่ค่อนข้างแยกแยะได้เพราะมีหนังยุคปัจจุบันที่นำเสนอแนวนี้มาก แล้วจุดจบตัวละครที่เลือกเดินทางผิดก็ไม่ดี แต่ที่อึ้งคือรายได้ รายได้สูงมากกก(เพิ่งรู้ว่าตอนแรก WBกะเท) คงเป็นเพราะแปลกใหม่เพิ่งอยู่ในยุคปลดล็อกความรุนแรงนี่เอง คนเลยสนใจเยอะ

แต่คิดว่าบทภรรยาพี่ชายโอเวอร์มาก เราตั้งฉายาเธอระหว่างดูว่า ป้ากรี๊ด ค่ะ อะไรจะร้องน่ารำคาญตลอดเวลาได้ขนาดนั้น ไม่ชอบตัวละครนี้เลย 5555 ได้ออสการ์นี่งงไปอีก

นอกนั้นก็โดยรวมจัดว่าชอบเรื่องนี้ค่ะ

ขอบคุณสำหรับการรีวิวและหนังอื่นๆที่แนะนำนะคะ

%d bloggers like this: