Bratya Karamazovy (1969) : Kirill Lavrov, Ivan Pyryev, Mikhail Ulyanov ♥♥♥♥
สามพี่น้อง Karamazov ต้องอดทนกับพ่อผู้ปากร้าย จิตใจเลวทราม วันๆหมกมุ่นสุรานารี ไม่รู้เมื่อไหร่จะตายๆไปเสียสักที กองมรดกจะได้ตกถึงลูกหลาน แต่แค่การคิดแบบนี้ ไม่นานเวรกรรมก็ตามสนองพวกเขาแล้ว, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
หลังความผิดหวังจาก The Brothers Karamazov (1958) หนัง Hollywood ของผู้กำกับ Richard Brooks ผมจึงตัดสินใจหาภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากผลงานชิ้นเอกเรื่องสุดท้ายของ Fyodor Dostoyevsky ฉบับได้รับการกล่าวขานชื่นชม มีความใกล้เคียงกับนิยายต้นฉบับที่สุด ก็ได้มาพบกับหนังเรื่องนี้ เป็นตัวแทนของสหภาพโซเวียต ได้เข้าชิงติด 5 เรื่องสุดท้าย Oscar: Best Foreign Language Film แม้ไม่ได้รางวัลกลับไป แต่ถือว่ามีความน่าสนใจทีเดียว
นี่เป็นหนังที่ดูยากพอสมควร เชื่อว่าหลายคนอาจหลับสนิทชนิดไม่ตื่น เพราะความยาว 232 นาที และวิธีการเล่าเรื่องแบบ Melodrama นักแสดงพูดคุยสนทนากันแทบตลอดทั้งเรื่อง ไม่ค่อยมี action การกระทำเกิดขึ้นเสียเท่าไหร่, จริงๆถ้าคุณรับชม The Brothers Karamazov (1958) มาก่อน ก็อาจสามารถทนความอืดอาดยืดยาวได้ไม่ยาก และจะมองเห็นเข้าใจความลึกล้ำสวยงามของนิยายและหนังเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมาก ในระดับที่ “ต้องอ่าน/ดู ให้ได้ก่อนตาย”
ขอเริ่มจากผู้แต่งนิยาย Fyodor Mikhailovich Dostoyevsky (1821 – 1881) เกิดที่ Moscow, Russian Empire ทั้งๆที่เชื้อสายต้นตระกูลของตนเองมาจากผู้ดีชั้นสูง แต่เพราะพ่อหลบหนีออกจากบ้าน ทิ้งยศศักดิ์ทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง ทำงานเป็นหมอประจำกองทัพที่ Moscow Hospital ทำให้ Fyodor เติบโตขึ้นในโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยคนเจ็บ ยากจน ชนชั้นต่ำของประเทศ, ตอนอายุ 3 ขวบ ได้ฟังเรื่องเล่าเทพนิยายจากแม่นม ทำให้เกิดความอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่นั้น เรียนเขียนอ่านได้ตอนอายุ 4 ขวบ แม่สอนโดยใช้คำภีร์ไบเบิ้ล, ด้วยความที่เป็นคนเลือดร้อน ดื้อด้าน ทะลึ่งเร้น พ่อจึงส่งไปเรียนโรงเรียนประจำ หลังจากแม่เสียชีวิตด้วยวัณโรค เข้าเรียน Nikolayev Military Engineering Institute แต่ตัวเองไม่มีความชื่นชอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมมากนัก พอพ่อเสียชีวิตเลยตั้งใจเรียนให้จบ** ได้ตำแหน่งในกองทัพ Lieutenant Engineer ไม่นานก็ลาออก อุทิศตัวให้กับการเขียนหนังสือผลงานเรื่องแรก Poor Folk (1846) ได้รับการยกย่องว่าเป็น Social Novel เรื่องแรกของรัสเซีย
**บันทึกการเสียชีวิตของพ่อคือ โรคลมชัก แต่มีข่าวลือว่าถูกฆาตกรรมโดยคนรับใช้
Dostoyevsky เข้าร่วมกลุ่ม Utopian Socialists ถูกจับจากการวิพากย์วิจารณ์ระบอบการปกครอง Tsarist Russia ตัดสินประหารชีวิต แต่ลดโทษให้เป็นผู้ใช้แรงงานที่ Siberia ทำงานหนักอยู่ 4 ปี ได้รับการปล่อยตัว กลับมาเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ชีวิต การเอาตัวรอดผ่านเหตุการณ์ที่คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ แต่โชคชะตามิอาจคาดเดา หลังจากได้แต่งงานไม่กี่ปีภรรยาก็ด่วนเสียชีวิตจากไป จมอยู่ในความทุกข์ยาก ติดเหล้าติดการพนันสิ้นเนื้อประดาตัว สภาพจิตใจย่ำแย่ถึงขีดสุด จนกระทั่งได้พบเจอแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง ถึงได้หมดเคราะห์หมดโศกเสียที
สไตล์ของ Dostoyevsky มีความเป็น Realism นำเสนอปัญหาสังคม-การเมือง สำรวจจิตวิทยา-จิตวิญญาณ ความเชื่อ-ศรัทธาของมนุษย์ ชอบตั้งคำถาม บทสนทนาเปิดประเด็นเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา ‘ถ้าพระเจ้าไม่มีจริง โลกจะกลายเป็นเช่นไร?’
ผลงานชื่อดังของผู้เขียน ประกอบด้วย Crime and Punishment (1866)**, The Idiot (1869), Demons (1872), The Brothers Karamazov (1880)** [** เรื่องที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Magnum Opus/Masterpiece]
สำหรับผลงานชิ้นเอกเรื่องสุดท้ายในชีวิตของ Dostoyevsky เป็นผลลัพท์ที่ได้จากประสบการณ์ชีวิตตัวเองล้วนๆ ใช้เวลา 2 ปีเต็ม ตีพิมพ์ลง The Russian Messenger นิตยสารรายสัปดาห์ระหว่างมกราคม 1879 ถึงพฤศจิกายน 1880 แต่ยังไม่ทันจะได้วางขายรวมเล่ม Dostoyevsky ก็สิ้นลมลงไปก่อน
พื้นหลังทศวรรษที่ 19th ประเทศ Russia เรื่องราวของครอบครัว Karamazov ประกอบด้วย
Fyodor Pavlovich Karamazov อายุ 55 ปี แต่งงานมาแล้ว 2 ครั้ง มีลูกชาย 3 คน (ข่าวลือว่าอาจมีลูกนอกสมรสคนหนึ่งที่ว่าจ้างให้เป็นพ่อครัว คนใช้ส่วนตัว) พ่อไม่มีความสนใจใยดีลูกๆของตน วันๆสำมะเลเทเมา มองหาคู่ครองว่าที่ภรรยาคนใหม่ ตกหลุมรัก Grushenka แต่กลับถูกลูกชายคนโตสวมเขา จึงเกิดความอาฆาตเคียดแค้น กระนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ ‘หมาเห่าใบตองแห้ง’ ใกล้วันลงโลงเต็มที
Dmitri Fyodorovich Karamazov (ชื่อเล่น Mitya, Mitka, Mitenka, Mitri) ลูกชายคนโตจากการแต่งงานครั้งแรก มีนิสัยเหมือนพ่อ หัวรั้น ดื้อดึง มักมาก ชื่นชอบการใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายไปกับสุรานารี อะไรทุกอย่างที่เงินซื้อได้ หวนกลับไปหาครอบครัวเฉพาะเมื่อมีปัญหาทางการเงินเท่านั้น, ในตอนแรกหมั้นหมายกับ Katerina Ivanovna เพราะเรื่องเงินล้วนๆ แต่พอพบเจอตกหลุมรักกับ Grushenka ก็ตั้งใจหมายครองให้จนได้ ไม่สนใจว่าจะสร้างความร้าวฉานให้กับพ่อมากน้อยขนาดไหน
Ivan Fyodorovich Karamazov (ชื่อเล่น Vanya, Vanka, Vanechka) ลูกคนแรกจากการแต่งงานครั้งที่สอง เป็นคน Rationalist ยึดมั่นในเหตุผลหลักการ ไม่เชื่อเรื่องของพระเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติ เพราะเหตุนี้จึงมองว่ามนุษย์มีอิสระที่จะสามารถคิดทำอะไรก็ได้ตามใจไม่ผิด, Ivan ตกหลุมรัก Katerina ที่เป็นคู่หมั้นของ Dmitri แต่ไม่ได้การตอบรับ จึงตัดสินใจที่จะปล่อยเธอไป ออกเดินทางสู่ Moscow เพื่อทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง แต่ก็หวนกลับมาเพราะจิตสำนึกรู้ผิดของตนเอง
Alexei Fyodorovich Karamazov (ชื่อเล่น Alyosha, Alyoshka, Alyoshenka, Alyoshechka, Alexeichik, Lyosha, Lyoshenka) น้องคนเล็ก ลูกชายคนที่สองจากการแต่งงานครั้งที่สอง เป็นพระฝึกหัด (novice) อยู่ที่ Russian Orthodox Monastery ศรัทธาในศาสนาเกิดขึ้นจากความตรงกันข้ามกับพี่ชายแท้ๆ Ivan ที่ไม่เชื่ออะไรทั้งนั้น แต่ด้วยความไร้เดียงสา อ่อนเยาว์วัยในวิถีของโลก Father Zosima จึงส่งเขาให้กลับไปช่วยเหลือดูแลพี่ชายทั้งสองและพ่อ มิให้ทอดทิ้งสิ้นหวัง เชื่อมั่นในสัจธรรมความดีงาม
Pavel Fyodorovich Smerdyakov ข่าวลือว่าคือลูกนอกสมรสของ Fyodor Karamazov กับหญิงใบ้ข้างถนนที่เสียชีวิตตอนเกิด รับเลี้ยงให้กลายเป็นคนใช้ ทำงานเป็น Lackey และพ่อครัว เป็นคนที่ morose and sullen, และป่วยเป็นโลก epilepsy, ในบรรดาพี่น้องลูกในสมรสของ Fyodor มีความสนิทสนมกับ Ivan เป็นพิเศษ ประทับใจใน atheism เดียวกัน จึงได้วางแผนและกระทำการบางสิ่งอย่าง ตอบสนองความต้องการของตนเอง ไม่สนว่าเป็นเรื่องถูกผิดประการใด
Agrafena Alexandrovna Svetlova (ชื่อเล่น Grushenka, Grusha, Grushka) หญิงสาวคนสวยทำงาน (Jezebel) เรียกเสียงหัวเราะรอยยิ้มจากลูกค้าผู้ชาย มีความฝันต้องการเป็นอิสระในชีวิต ไม่ต้องการถูกควบคุมชี้ชักนำโดยใคร ในตอนแรกมองทั้ง Fyodor และ Dmitri คือของเล่นสนองตัณหา แต่เมื่อได้พบเจอกับมิตรภาพของ Alyosha และความทุ่มเทรักสุดหัวใจ ยินยอมทำทุกอย่างของ Dmitri ตัวตนธาตุแท้ความอ่อนหวาน เป็นมิตร (generosity) จึงเปิดเผยแสดงออกมา
Katerina Ivanovna Verkhovtseva (ชื่อเล่น Katya, Katka, Katenka) หญิงสาวคู่หมั้นของ Dmitri เหตุเกิดจากศักดิ์ศรีและคุณธรรมค้ำคอ (noble martyr) ทั้งๆที่พวกเขาไม่ได้รักกันเท่าไหร่ Dmitri มอบเงินช่วยเหลือพ่อของเธอจากการติดหนี้ ทำให้หญิงสาวต้องการแสดงออกขอบคุณด้วยการครองคู่แต่งงาน แต่แล้วตัวตนแท้จริงก็ได้รับการเปิดเผยช่วงท้าย จิตใจอันเต็มไปด้วยความแพศยา คือนางแม่มดปีศาจร้ายที่สวมหน้ากากนางฟ้า ไม่สนว่าความถูกผิดแค่จิตใจของตนเองได้รับการตอบสนองที่พึงพอใจ
ในนิยาย ตอนที่ได้รับการกล่าวขวัญพูดถึงมากที่สุดคือ The Grand Inquisitor พี่รอง Ivan ขณะพูดคุยกับ Alyosha ได้เล่าเรื่องของ Spanish Inquisition พบเจอกับพระเยซูที่ได้ทำการหวนคืนกลับมาสู่โลก ด้วยความไม่เชื่อจึงจับพระองค์ขังคุกไว้แล้วถามว่า
“Why hast Thou come now to hinder us? For Thou hast come to hinder us, and Thou knowest that… We are working not with Thee but with him [Satan]… We took from him what Thou didst reject with scorn, that last gift he offered Thee, showing Thee all the kingdoms of the earth. We took from him Rome and the sword of Caesar, and proclaimed ourselves sole rulers of the earth… We shall triumph and shall be Caesars, and then we shall plan the universal happiness of man.”
The Grand Inquisitor บอกกับพระเยซูว่า ไม่ควรมอบอิสรภาพให้กับมนุษย์ เพราะมีแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง ซึ่งพระองค์ก็ไม่เถียงอะไร แค่เพียงตอนจบเดินเข้ามาหาแล้วจูบปากชายคนนั้น ด้วยความตกตะลึงคาดไม่ถึง จึงบอกห้ามมิให้กลับมาแถวนี้แล้วปล่อยพระองค์ไป, หลังจาก Alyosha ได้ฟังเรื่องเล่านี้ จึงได้จูบ Ivan ทำให้เขาเกิดความเข้าใจอะไรบางอย่าง แล้วทั้งสองก็แยกจากกัน ตั้งใจว่าคงไม่ได้พบกันอีก
(หนังไม่ได้เล่าเรื่องนี้นะครับ เปลี่ยนไปเป็น Ivan เล่าเรื่องนายพลคนหนึ่งกับเด็กชายที่เขวี้ยงก้อนหินใส่หมาขาหัก)
สำหรับภาพยนตร์ฉบับนี้ สร้างโดย Ivan Aleksandrovich Pyryev (1901 – 1968) ผู้กำกับสัญชาติ Russian เกิดที่ Kamen-na-Obi, Altai Krai ในครอบครัวชนบทชาวนา พ่อเสียชีวิตในสงครามตั้งแต่เด็ก พออายุครบ 14 สมัครเป็นทหารแนวหน้า ได้รับบาดเจ็บ 2 ครั้ง รับเหรียญเกียรติยศ St. George Crosses, เริ่มสนใจสร้างการแสดงขณะเป็นสมาชิก Red Army ได้รู้จักกับ Grigory Alexandrov กลายเป็นนักแสดงละครเวที เขียนบท และกำกับภาพยนตร์
คว้ารางวัล Stalin Prize ได้ถึง 6 ครั้งจาก Tractor-Drivers (1939), They Met in Moscow (1941), Secretary of the District Committee (1942), Six O’Clock after the War is Over (1944), Ballad of Siberia (1947) และ Cossacks of the Kuban (1949) ได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ People’s Artist of the USSR เมื่อปี 1948
ก่อนหน้านี้ Pyryev เคยนำนิยายของ Dostoevsky เรื่อง The Idiot (1958) มาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี คงมีความต้องการสร้าง The Brothers Karamazov ตั้งแต่ตอนนั้น แต่เพราะเพิ่งมีฉบับ Hollywood ออกฉาย เลยต้องปล่อยล่วงมาอีก 10 ปี ร่างกายอิดๆออดๆ กลายเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายที่ไม่ทันสร้างเสร็จก็เสียชีวิตลงระหว่างการถ่ายทำ สองนักแสดงนำหลักของหนัง Mikhail Ulyanov กับ Kirill Lavrov จึงตัดสินใจร่วมกันสานต่อให้เสร็จตามประสงค์ของผู้กำกับ
นำแสดงโดย Mikhail Alexandrovich Ulyanov (1927 – 2007) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติ Soviet เกิดที่ Tara, Omsk ได้รับการยกย่องจดจำเป็น Theatrical Figure ของรัสเซียในยุคหลังสงครามโลก เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวทีที่ Vakhtangov Theatre ภาพยนตร์เรื่องแรก The House I Live In (1957) ผลงานดังระดับนานาชาติ อาทิ The Brothers Karamazov (1969), Tema (1979), Private Life (1982) รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ People’s Artist of the USSR เมื่อปี 1969
รับบท Dmitri Karamazov, ภาพลักษณ์ของ Ulyanov ค่อนข้างตรงกันข้ามกับ Yul Brynner ขนาดเสน่ห์ความโอหังจองหอง เป็นชายผู้ลุ่มร้อนรน เดือดเนื้อร้อนใจ มักมากใฝ่รัก พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รักมาครอบครอง, แต่เมื่อให้กาลอยู่ในชั้นศาล ไม่น่าเชื่อว่ากลับสามารถเชิดหน้าชูคอ ภาคภูมิในสิ่งที่ตนไม่ได้ทำ ยืนกรานแม้สังคมจะตัดสินว่าเขาผิด ก็กล้าพูดความจริงออกมาว่าพระเจ้าต่างหากที่รู้อยู่เต็มอก
Kirill Lavrov (1925 – 2007) นักแสดง ผู้กำกับสัญชาติ Soviet เกิดที่ Leningrad เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Vasyok Trubachev I ego tovarishchi (1955) มีชื่อเสียงจาก The Alive and the Dead (1964) รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ People’s Artist of the USSR เมื่อปี 1972
รับบท Ivan Karamazov, นี่คือภาพลักษณ์ของ Ivan ที่ทรงพลังมากๆ (ทำเอา William Shatner เป็นง่อยไปเลย) เย่อหยิ่งจองหองทะนงตน เพราะตัวเขาไม่เชื่อในเรื่องของพระเจ้า คิดว่าตัวเองมีอิสรภาพสามารถคิดทำได้ดั่งใจทุกอย่าง ไม่ต้องสนใจถูกผิดอนาคต แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น มันทำให้เขาสำนึกหลงผิด คิดว่าเป็นการกระทำจากฝีมือของตน ราวกับคนเสียสติ เพราะรับรู้ค้นพบว่าตัวเองคิดเข้าใจผิดมาตั้งแต่ต้น เรียกร้องหาคำขอขมาโทษจากพระเจ้า แต่มันอาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้
Andrey Vasilyevich Myagkov (เกิดปี 1938) นักแสดงสัญชาติ Soviet เกิดที่ Leningrad พ่อเป็นนักเคมี ทำให้โตขึ้นเรียนจบ Leningrad Institute of Technology สาขา Chemical Engineer ขณะเดียวกันก็เริ่มสนใจเป็นนักแสดงละคร เข้าเรียนที่ Moscow Art Theatre ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Adventures of a Dentist (1965) ตามด้วย The Brothers Karamazov (1969) ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ The Irony of Fate (1975), Office Romance (1977), The Garage (1979), A Cruel Romance (1984) ฯ
รับบท Alyosha Karamazov, นี่เป็นตัวละครที่มีทั้งด้านอ่อนปวกเปียก และเข้มแข็งแกร่งดั่งภูผา เพราะความที่ตัวเขายังอ่อนต่อโลก มีอะไรๆอีกมากให้ต้องเรียนรู้ กาลเวลาจะค่อยๆสั่นสอน นำทาง ชักจูงไปยังทิศทางที่ตัวเองสามารถยินยอมรับ เข้าใจ ปล่อยวางทิฐิของตัวเองได้
Mark Isaakovich Prudkin (1898 – 1994) นักแสดงสัญชาติ Soviet เกิดที่ Klin มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นนักแสดงละครเวที Moscow Art Theater ตั้งแต่ปี 1924 คว้ารางวัล Stalin Prize ถึง 3 ครั้ง แสดงภาพยนตร์บ้างประปราย รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ People’s Artist of the USSR เมื่อปี 1961
รับบท Fyodor Pavlovich Karamazov, ในค่ำคืนสุดท้ายของชีวิต ทำตัวราวกับเป็นเด็กหนุ่มน้อย เตรียมห้องหับห้องนอนเพื่อรอรับการตัดสินใจของ Grushenka ถ้าเธอยินยอมตกลงแต่งงานอยู่กินกับเขา ก็พร้อมมอบทุกสิ่งอย่างให้โดยไม่สนใจแคร์ลูกคนไหน นี่คือตนแท้จริงของพ่อ ที่โดยปกติจะเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว โมโหโทโส เบื่อหน่ายต่อทุกสิ่งอย่างบนโลก ต้องการเพียงความรักแต่มิได้รับกลับมา
Valentin Yurevich Nikulin (1932 – 2005) นักแสดงสัญชาติ Soviet เกิดที่ Moscow พ่อเป็นนักเขียนบทละคร แม่เป็นนักเปียโป เข้าเรียนการแสดงที่ Moscow Art Theater School ได้รับการยกย่องว่าเป็น Melodeclamator สามารถร้องเล่นเต้นเล่นทุกบทบาทได้สมจริง
รับบท Pavel Smerdyakov, สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้กับตัวละครนี้ กระทำเช่นนั้น มันคือความเจ็บแค้นทนทุกข์ทรมาน ทั้งกายใจจากการถูกทิ้งขว้าง ไม่รับรู้ ไม่สนใจใยดี ราวกับเงาของมนุษย์ที่น้อยคนจะสังเกตให้ความสนใจ แต่มันสามารถคืบคลาน ครอบงำ กลืนกิน ให้กลายเป็นปีศาจร้าย ขยำทำลายทุกสิ่งที่อยู่ขวางหน้า
Lionella Pyryeva (เกิดปี 1938) อดีตภรรยาของผู้กำกับ Pyryev รับบท Grushenka, ในช่วงแรกๆ รอยยิ้มที่เหมือนจะดูจอมปลอม ถึงน่ารักแต่ไม่มีใครคิดว่าเป็นคนดี แต่เมื่อได้พบกับคนจริง ลูกผู้ชายที่พร้อมเสียสละมอบให้ทุกสิ่ง รอยยิ้มแห้งๆที่ออกมาจากจิตใจนั้น มันกลับช่างงดงามสดใส ตลบอบอวล หอมกรุ่นจากเตา
Svetlana Korkoshko (เกิดปี 1943) รับบท Yekaterina Ivanovna, หญิงสาวผู้เปรียบเสมือนงูเห่า เชิดหน้าชูคอ หยิ่งผยองในศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิง แต่แท้จริงแล้ว พร้อมย้อนแย้งแว้งฉกกัด ฆ่าให้ตายแม้กับอดีตคู่หมั้นชายหนุ่มที่รักมาก ใบหน้าและรอยคราบน้ำตา สะท้อนความต้องการทุกสิ่งอย่างออกมา แสดงถึงความอิจฉา มารยา ริษยา เรียกได้ว่าเป็นนางพญางูเห่าโดยแท้
ถ่ายภาพโดย Sergei Vronsky, ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำภายใน กล้องจึงมักมีการเคลื่อนไหวตามติดตัวตัวละคร หลายครั้งจะเห็นเพียงด้านข้าง/ด้านหลังของคู่สนทนา กล่าวคือถ้าตัวละครไหนกำลังพูดคุยหรือเป็นจุดสนใจอยู่ในฉากนั้น ก็มักจะถ่ายให้เห็นใบหน้าของเขาเต็มๆ กล้องเคลื่อนไหวติดตามไปรอบๆ สำหรับคู่สนทนาก็แล้วแต่จะหันหน้า หันข้าง หรือเดินผ่านหน้ากล้อง บางทีได้ยินแต่เสียงไม่เห็นหน้าผู้พูดเลยก็มี
คิดว่าประมาณสัก 70-80% ของหนัง ที่ใช้ระดับภาพ Medium Shot เห็นตั้งแต่ส่วนอกขึ้นไปถึงศีรษะนักแสดง นี่เป็นระยะการสนทนาของมนุษย์ ซึ่งมองความตั้งใจของผู้สร้างได้คือ การให้หนังได้พูดคุยสื่อสารกับผู้ชม ซึ่งจะมีอยู่หลายครั้งทีเดียว เหมือนว่านักแสดงจ้องมองกล้อง พูดเอ่ย ถามคำถามอะไรบางอย่าง
ตัดต่อโดย V. Yankovsky, ลักษณะของหนังเป็นการใช้บทสนทนาดำเนินเรื่องมากกว่าจะแสดงออกหรือกระทำการใดๆ ถ้าคุณรับชมฉบับของ Hollywood มาก่อน จะพบว่ามีเหตุการณ์อะไรหลายๆอย่างเกิดขึ้นแทรกอยู่มากมาย แต่ฉบับนี้คงเพื่อประหยัดงบประมาณและเวลา จึงมีเพียงคำพูดเอ่ยสนทนา อ้างอิงกล่าวถึงเท่านั้น ซึ่งก็จะคลอบคลุมเนื้อหาของช่วงที่หายไปอย่างแนบเนียนทุกสิ่งอย่าง นี่ผมไม่ก็รู้เหมือนกันว่าในนิยายเขียนแบบนี้หรือเปล่าหรือเป็นการสร้างสรรค์ของผู้ดัดแปลงบท แต่มันทำให้ผู้ชมที่ไม่คุ้นเคยได้นอนหลับสลบไสลเพราะตามติดเรื่องราวที่พวกเขาพูดคุยกันไม่ทันแน่
ว่าไปลักษณะการนำเสนอแบบนี้ คล้ายๆกับการบันทึกเสียงอ่านหนังสือลงแผ่น Drama-CD หรือการแสดงละครเวที ที่มักเน้นบทสนทนามากกว่าการกระทำใดๆให้เกิดขึ้น ซึ่งลีลาการเล่าเรื่องมันอยู่ที่อรรถรสและความซับซ้อนของบทพูด ว่าจะทำได้แนบเนียนลงตัวมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจุดนี้ผมคงต้องชมอย่างออกนอกหน้าเลยว่า หนังเตรียมการพัฒนาบทภาพยนตร์ได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ
สำหรับคนที่ชื่นชอบแนว All-Talk มีแต่บทพูดสนทนา ขอแนะนำอีกเรื่องในตำนาน The Mother and The Whore (1973) หนังสัญชาติฝรั่งเศสของผู้กำกับ สักครั้งหนึ่งในชีวิตกับ 3 ชั่วโมง นั่งฟังพวกเขาฝอยไป ถ้าทนได้ก็อาจมองเห็นความสวยงามของชีวิต
ในฉบับที่ผมได้รับชม มีการแบ่งหนังออกเป็น 3 ส่วน (ราวกับ 3 แผ่น CD/DVD) ซึ่งจะมีเครดิตขึ้นต้นเรื่องทุกครั้ง ไม่แน่ใจว่าเป็นการแยกฉาย 3 ภาคในรัสเซียหรือเปล่า แต่เห็นฉบับ International ตัดรวมต่อเนื่องเป็นภาคเดียวจบ
เพลงประกอบโดย Isaak Shvarts, บทเพลงมักจะดังขึ้นช่วงเปลี่ยนฉาก/Sequence ของหนังเท่านั้น ไม่ค่อยได้ยินระหว่างฉากที่เต็มไปด้วยคำพูดบทสนทนา เป็นการใช้เพลงประกอบเพื่อทดแทนช่องว่าง ขณะไร้การสนทนาเสียมากกว่า
งานปาร์ตี้ที่มีการนำเอาชาวยิปซีมาร้องเล่นเต้น กล้องหมุนไปเรื่อยๆ นี่เป็นฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง (คงเพราะมันมี Action เกิดขึ้นเยอะสุดด้วยกระมัง) รอยยิ้มของ Grushenka แม้มันจะดูแห้งๆเปลื้อนด้วยคราบน้ำตา แต่มันออกมาจากใจจริงแท้ เป็นความสุขเศร้าสำราญน้อยนิดที่มีในหนังเรื่องนี้
The Brothers Karamazov เป็นเรื่องราวเชิงปรัชญา ที่ตั้งคำถามใหญ่ๆกับการมีตัวตนของพระเจ้า (God), อิสรภาพในการคิด (Freedom) และความมีศีลธรรม (Morality) โดยมีเรื่องราวที่ทำให้แต่ละตัวละครต้องดิ้นรนมีชีวิต ท้าทายกับความเชื่อศรัทธา ข้อสงสัย และเหตุผล
อาจฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ผมจะขอลองเปรียบพ่อ Fyodor คือพระเจ้าผู้ให้กำเนิดบุตร 3+1 คน พฤติกรรมที่ไม่เคยสนใจลูกๆทั้งหลาย มอมเมาอยู่กับสุรานารี เปรียบได้กับความไม่สนใจ เงียบสงัด (Silence) ที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์โลก เป็นการตั้งคำถาม พระองค์ทรงเอาแต่เพลิดเพลินกับความสุขสำราญบนสวรรค์หรือไร เลิกทำหน้าที่ดูแลลูกๆของตนแล้วหรือ, แต่นี่เราก็สามารถย้อนแย้งถึงเหตุผลที่พ่อ/พระเจ้า กลายเป็นแบบนี้ เพราะการขาดความรัก ลูกๆทั้ง 3+1 ไม่มีใครแสดงออกที่จะสนใจดูแล ปรารถนาสาปแช่งให้ตายๆจากไปเสีย จะได้หมดทุกข์หมดโศกกันเสียที นี่คือการฆาตกรรมแนวคิดการมีตัวตนของพระเจ้า … เมื่อมนุษย์ทั้งหลายสูญสิ้นศรัทธาจากพระผู้เป็นเจ้า โลกจะกลายเป็นเช่นไร
– Dmitri ขัดแย้งก้าวร้าว ไม่ยอมรับความทุกข์ทรมานเจ็บปวดที่ได้รับจากพ่อ ครุ่นคิดเอ่ยปากว่าจะฆ่าแต่ก็ไม่มีวันทำได้ เพราะรู้ตัวเองดีนั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง, เปรียบก็คือ ถึงไม่ยอมรับ ไม่เคารพ แต่เข้าใจการมีตัวตนของพ่อ/พระผู้เป็นเจ้า
– Ivan คือคนที่ปฏิเสธ ไม่ยอมรับพ่อ/พระผู้เป็นเจ้า เขาจึงตัดสินใจหนีไปอยู่ Moscow ซึ่งพอหวนคืนกลับมาตอนที่พ่อ/พระเจ้าไม่อยู่แล้ว ก็แทบคลุ้มคลั่งกลายเป็นคนบ้าเสียสติ รับไม่ได้อีกเช่นกันกับโลกใบใหม่นี้ (จริงๆตอนต้นเรื่องเขาก็พูดเปรยๆไว้แล้วว่า If this belief is destroyed, people will lose not only their love for their neighbor, but every living force keeping them alive. นี่ก็เข้าตัวเองเต็มๆเลย)
– Alyosha ในความเชื่อศรัทธาต่อพ่อ/พระผู้เป็นเจ้า ตอนแรกกับการสูญเสีย Father Zosima ก็หักห้ามทำใจไม่ได้เลย แต่ค่อยๆเรียนรู้เข้าใจ พอถึงคราพ่อแท้ๆของตนจากไป ก็หาได้สิ้นสูญศรัทธาความเชื่อของตนเองไม่ ไม่ว่าโลกไหนพระเจ้าก็จะอยู่ในใจของเราเอง
– สำหรับ Pavel จะมองว่าคือมารนอกศาสนา บุคคลนอกรีต ผู้บ่อนทำลายพ่อ/พระเจ้า ซึ่งกรรมก็ตอบสนองตามทันควัน ยังไม่ทันได้ใช้ชีวิตที่เป็นสุขตามฝัน ก็พบกับความทุกข์ทรมานจากสิ่งที่ตนเองเป็น/กระทำ
สำหรับสองสาว มองเป็นเชิงสัญลักษณ์พวกเธอจะกลับตารปัตรต้นเรื่องกับช่วงท้าย เข้าสำนวน ‘รู้หน้าไม่รู้ใจ’
– Grushenka ช่วงแรกเหมือนจะมาร้าย แต่ช่วงท้ายกลับกลายเป็นคนดี จริงใจ เข้าใจ รักยิ่ง
– Katerina ช่วงแรกแสดงออกว่าเป็นผู้ดีมีคุณธรรมด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี แต่เพราะความทะนงตนฆ่าได้หยามไม่ได้ ช่วงท้ายเลยต้องการทวงคืนสิทธิ์ของตนเอง กลายเป็นนางพญางูเห่า พิษร้ายแรงนัก
สิ่งที่เป็นใจความสำคัญสุดท้ายของหนัง “การกระทำของคน ใครอะไรเป็นสิ่งตัดสินว่าผิด”, ชายคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ฆ่าพ่อของตัวเอง สังคมตัดสินว่าผิดจริง แต่เขาไม่ได้กระทำ จิตใจและพระเจ้าเท่านั้นที่รู้คำตอบเป็นผู้ตัดสินได้
Father Zosima ด้วยความที่มีสติปัญญาล้ำเลิศ และประสบการณ์สูงวัย การคุกเข่าก้มหัวให้กับ Dmitri ในหนังมีคำอธิบายอยู่แล้ว ผมจะขอเสริมเติมให้อีกนิดนึง นี่คล้ายกับการกระทำของพระสงฆ์ในนิกาย Zen ที่ชอบทำอะไรพิลึกๆแผลงๆ แฝงความหมายปรัชญาคิดให้ตายบางทีก็หาคำตอบไม่ได้, ตอนผมเห็นครั้งแรกในฉบับหนัง Hollywood ก็ครุ่นคิดหัวแทบแตกว่าคืออะไร เหมือนว่าเรื่องนั้นจะอธิบายแบบงงๆสับสน ซึ่งคำตอบจากหนังเรื่องนี้ทำให้ผมกระจ่างขึ้นมากทีเดียว นั่นคือการพยากรณ์โชคชะตาของ Dmitri ว่าจะต้องพบเจอกับเรื่องร้ายๆมากมาย ถูกสังคมตัดสินประณามต่อว่าเป็นผู้ผิด ทั้งๆที่อาจไม่ได้ทำอะไรทั้งนั้น แต่ขอให้อดทนไว้กายใจเอาไว้ ก้มหัวลงด้วยความยกย่องเห็นใจ … นี่เป็นคำทำนายที่ไม่ผิดเลย
We are all cruel, gentlemen.
We are all monsters.
We all make other people cry – mothers, babies.
But of all of us, let it be so: let me be the nastiest of all. Let it!
กับทัศนะทางพุทธ “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง” การตัดสินของสังคม/ผู้คน/ศาล ถึงไม่ได้ทำปิตุฆาตแต่ถูกตัดสินว่าผิด การลงโทษมันก็เพียงขณะยังเป็นมนุษย์ ตายไปไม่ได้ต้องรับโทษทัณฑ์จากกรรมที่ตนไม่ได้ก่อ กลุ่มคนที่ตัดสินเราว่าผิดต่างหาก ก็ไม่รู้อะไรบ้างจะเกิดขึ้นบ้างกับพวกเขา
เกร็ด: ปิตุฆาต (patricide มาจากภาษาละติน pater (พ่อ) และ -cida (ฆ่า)) มาจาก ปิตุ (พ่อ) และ ฆาต (ฆ่า) หมายถึง การฆ่าบิดาของตัวเอง, ในทางกฎหมาย การทำปิตุฆาตมีโทษถึงประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ทางพุทธศาสนาเป็น 1 ใน 5 อนันตริยกรรม (กรรมที่หนักที่สุด) ผู้นั้นจะได้รับโทษทั้งทางโลกและทางธรรม
– โทษของทางโลกคือจะถูกผู้คนประณามและสาปแช่ง ไม่คบค้าสมาคมใดๆเลย และยังถูกกฎหมายบ้านเมืองลงโทษอีก
– ส่วนโทษของทางธรรม ฟ้าดินก็ไม่อาจจะยกโทษให้แม้แต่น้อย, ไม่สามารถบวชเข้ามาเป็นภิกษุได้เลยเพราะถือว่าเป็นผู้ต้องปาราชิก, สำหรับฆราวาสแล้วจะไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานใดๆเลยตลอดชีวิตในชาติที่ยังมีชีวิตอยู่, และเมื่อตายจากโลกไปจะต้องตกนรกเพียงสถานเดียว มหาขุมนรกอเวจี ไม่สามารถขึ้นสวรรค์ได้ ต่อให้ทำกรรมดีมากมายเพียงใดก็ไม่อาจหนีพ้นจากนรกไปได้
“Remember: truth will shine on Earth!”
จริงๆไม่ใช่หนังเรื่องนี้ที่ผมตกหลุมรักคลั่งไคล้ แต่คือเนื้อเรื่อง บทประพันธ์ นิยายของ Fyodor Dostoyevsky ที่มีความลึกล้ำซับซ้อน แฝงข้อคำถาม ชวนให้คิดสงสัย มันมีความกล้า บ้า ทรงพลัง กับประเด็นต่างๆที่ตั้งขึ้นมา ท้าให้ไม่ใช่แค่ชาวรัสเซียยุคสมัยนั้น แต่ทั่วโลกทุกยุกสมัยครุ่นหาคำตอบของปรัชญาชีวิตเลยก็ว่าได้ และไม่ใช่แค่คริสต์ศาสนา แต่ยังรวมถึงพุทธ อิสลาม ฮินดู ฯ ก็ยังสามารถคล้อยคิดติดตามไปด้วยได้อย่างน่าพิศวง ถือได้ว่านี่เป็นผลงานนิยายสุดยิ่งใหญ่ระดับโลก ที่แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเทียบความยอดเยี่ยมไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้ผมค้นพบ พอรับทราบเข้าใจ ว่ามีเรื่องราวอันสุดพิเศษนี้เกิดขึ้นอยู่บนโลกด้วย
แนะนำกับผู้รู้จักนิยายของ Fyodor Dostoevsky สนใจหนังแนวความขัดแย้งในครอบครัว อิงกับศาสนา ความเชื่อ ศีลธรรม-จรรยา ความเชื่อศรัทธา, แฟนๆผู้กำกับ Richard Brooks, นักแสดง Yul Brynner, Lee J. Cobb, Maria Schell, Claire Bloom ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับพฤติกรรมเนรคุณ และความเห็นต่างของสังคม
Leave a Reply