Breakfast at Tiffany’s (1961) : Blake Edwards ♥♥♥♡
ภาพลักษณ์ที่กลายเป็น ‘Fashion Icon’ ของ Audrey Hepburn ในนงเยาว์นิวยอร์ค ได้สะท้อนค่านิยมผู้คนแห่งศตวรรษ 20 ลุ่มหลงใหลความร่ำรวย เลิศหรูหรา สิ่งของภายนอกแลดูระยิบระยับงามตา สูงส่งมีมูลค่ากว่าจิตวิญญาณความเป็นคน
ลองมาครุ่นคิดวิเคราะห์ความหมายชุด ‘Little Black Dress’ ออกแบบโดย Hubert de Givenchy
– ชุดเดรสดำโชว์เรือนร่าง เอวบาง เรียวขาสุดเซ็กซี่ ขายความงามวับๆแวมๆ ชักชวนให้ผู้พบเห็นเคลิบเคลิ้มหลงใหล ตกหลุมรัก
– ถุงมือยาวถึงศอกต้องการสัมผัสที่นุ่มนวลอ่อนไหว ปฏิเสธการเปรอะแปดเปื้อนสิ่งสกปรกโสโครกจากภายนอก
– ทรงผมม้วย (Chignon) ม้วนขึ้นสูงประดับมงกุฎเพชร สะท้อนความเพ้อใฝ่ฝัน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง
– แว่นดำขนาดใหญ่โตเทอะทะ ปกปิดหลบซ่อนสายตา/ตัวตนแท้จริงไว้ภายใต้
– ปากคาบไม้สูบบุหรี่ (Cigarette Holder) ก้านยาวเกินตัว ชอบสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นแบบที่ตนเองไม่ใครสนอะไรใคร
– ปลอกคอระยิบระยับประดับด้วยเครื่องเพชรเลิศหรู ออดอ้อนด้วยเจ้าแมวน้อย คลอเคลีย เลียแข้งขา ทำตัวไร้เดียงสา
– รองเท้าหนังจระเข้/สัตว์เลื้อยคลาน เหยียบย่ำดูถูกชนช้ำต่ำกว่า
เกร็ด: ชุด Little Black Dress ตัวนี้ถูกประมูลขายยัง Christie’s Auction House, London เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2006 ได้ราคา $804,700 เหรียญ สูงลำดับ 2 ของที่ระลึกจากภาพยนตร์ [อันดับ 1 คือรูปปั้น Oscar: Best Picture ของ Gone With The Wind (1939) ซื้อโดย Michael Jackson มูลค่า $1.5 ล้านเหรียญ]
คงมีเพียงคนตาบอด ถึงมองไม่เห็นความสวยสง่าของชุดเดรสดังกล่าวนี้! ขณะเดียวกันก็มีเพียงคนตาบอดเท่านั้น ถึงมองเห็นความงามภายนอก เป็นสิ่งสูงส่งทรงคุณค่าเหนือกว่าอื่นใด!
Breakfast at Tiffany’s เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนค่านิยมของมนุษย์ ไม่เพียงทศวรรษ 50s-60s ตามพื้นหลังเรื่องราว แต่สามารถเหมารวมทั้งศตวรรษ 20 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน (ศตวรรษ 21) โลกที่ผู้คนเต็มไปด้วยความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง หลงใหลในภาพมายา รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส อัตลักษณ์ภายนอก พยายามทุกวิธีทางเพื่อตอบสนองราคะ-โทสะ-โมหะ หลงลืมเลือนสิ่งทรงคุณค่าสูงสุดภายใน ได้รับการเตือนสติก็ไม่เคยสาแก่ใจ
รับชมหนังรอบนี้ ผมพบเห็นสิ่งที่เป็น ‘ด้านมืด’ หลบซ่อนเร้นแฝงอยู่มากมาย ชัดเจนเลยว่าผู้กำกับพยายามกลบเกลื่อน บิดเบืือน สร้างภาพมายา’ขายฝัน’ แถมตอนจบ Happy Ending เป็นอะไรที่โลกสวยเกินจริง นอกเสียจากการแสดงของ Audrey Hepburn และบทเพลง Moon River โดยรวมรู้สึกค่อนข้างน่าผิดหวังทีเดียว
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดจากนวนิยาย Breakfast at Tiffany’s (1958) แต่งโดย Truman Capote ชื่อจริง Truman Streckfus Persons (1924 – 1984) นักเขียนชื่อดังสัญชาติอเมริกัน นอกจากเรื่องนี้มีอีกผลงานเด่นคือ In Cold Blood (1966)
Capote เขียน Breakfast at Tiffany’s ขึ้นจากความทรงจำของตนเอง เมื่อครั้นยังหนุ่มแน่นอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ที่ New York City รู้จักเพื่อนสาวห้องข้างๆชื่นชอบจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ คาดหวังได้ตกถังข้าวสารเข้าสักวัน, สำหรับตัวละคร Holly Golightly เห็นว่าเกิดจากการผสมรวมผู้หญิงมากหน้าหลายตาที่เขาเคยรู้จักคบหา อาทิ Gloria Vanderbilt, Oona O’Neill, Carol Grace, Maeve Brennan, Doris Lilly, Dorian Leigh, Suzy Parker, หรือแม้แต่ Marilyn Monroe
ในตอนแรก Capote ขายลิขสิทธิ์ตีพิมพ์นวนิยายให้กับนิตยสารสตรี Harper’s Bazaar คาดหวังได้ลงฉบับกรกฏาคม 1958 แต่บรรณาธิการกลับสั่งปรับแก้ภาษาให้มีความเหมาะสมควร ด้วยความคับข้องขุ่นเขืองไม่เข้าใจ เลยย้ายหนีไปนิตยสารบุรุษ Esquire ฉบับเดือนพฤศจิกายน 1958 และรวมเล่มวางขายเดือนถัดมา
ด้วยความสำเร็จล้นหลามของนวนิยาย ได้รับการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์โดย Paramount Pictures ในตอนแรกมอบหมายให้ผู้กำกับ John Frankenheimer เล็งนักแสดงนำคือ Marilyn Monroe แต่เพราะ
– Paula Strasberg เป็นคนแนะนำ Monroe ไม่ให้รับบท ‘lady of the evening’ เพราะจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของตนเอง เธอรับฟังแล้วบอกปัดปฏิเสธ
– ต่อมาเมื่อได้ Audrey Hepburn ตบปากรับคำ เธออ้างว่าไม่รู้จัก John Frankenheimer อยากได้ผู้กำกับมีชื่อกว่านี้ ส้มเลยล่นใส่ Blake Edwards
แซว: เพราะพลาดโอกาสจากโปรเจคนี้ ทำให้ John Frankenheimer เอาเวลาไปสร้างสองผลงานชิ้นเอก Birdman of Alcatraz (1962) และ The Manchurian Candidate (1962)
Blake Edwards ชื่อจริง William Blake Crump (1922 – 2010) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Tulsa, Oklahoma พ่อเลี้ยงของเขาคือ J. Gordon Edwards หนึ่งในผู้กำกับหนังเงียบชื่อดัง ก่อนผันตัวมาเป็น Production Manager ในยุคหนังพูด ทำให้ตั้งแต่เด็กคลุกคลีอยู่วงการภาพยนตร์ หลังเรียนจบสมัครทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สังกัด US Coast Guard ปลดประจำการออกมาทำงานกำกับละครโทรทัศน์ สนิทสนมกับ Mickey Rooney ร่วมกันทำรายการซิทคอม, โด่งดังกับซีรีย์ Peter Gunn (1959), ภาพยนตร์ Operation Petticoat (1959), ผลงานเด่นๆ อาทิ Breakfast at Tiffany’s (1961), Days of Wine and Roses (1962), และแฟนไชร์ The Pink Panther
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย George Axelrod (1922 – 2003) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ก่อนหน้านี้มีชื่อเสียงจากละครเวที The Seven Year Itch ที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันออกฉายปี 1955 นำแสดงโดย Marilyn Monroe, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Breakfast at Tiffany’s (1961), The Manchurian Candidate (1962), The Lady Vanishes (1979) ฯ
เรื่องราวของ Holly Golightly (รับบทโดย Audrey Hepburn) หญิงสาวผู้มีความเพ้อใฝ่ฝัน อยากเป็นหนูตกถังข้าวสาร พบเจอแต่งงานกับชายมหาเศรษฐี (ไม่ต้องหล่อก็ได้ แค่อายุต่ำกว่า 50 ปี) ชีวิตจะได้สุขสบายมั่งมี แต่งชุดสวยๆ เครื่องประดับเพชรพลอยระยิบระยับ แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้นอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หลังเล็กๆ สนิทสนมกับนักเขียนหนุ่มไส้แห้ง Paul Varjak (รับบทโดย George Peppard) โดยไม่ตัวค่อยๆตกหลุมรัก แต่ก็พยายามกีดกัดหัวใจอย่างหนัก เพราะความรักมันกินได้เสียที่ไหน!
Audrey Hepburn ชื่อเกิด Audrey Kathleen Ruston (1929 – 1993) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Ixelles, Brussels ประเทศ Belgium แม่ของเธอ Baroness Ella van Heemstra สืบเชื้อสายขุนนาง Dutch, ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนบัลเล่ต์ ร้องคอรัส ระหว่างเป็นตัวประกอบเล็กๆภาพยนตร์ Monte Carlo Baby (1952) เข้าตานักเขียนชื่อดัง Colette เลือกเธอมาแสดงนำละครเวที Broadway เรื่อง Gigi เสียงตอบรับดีล้นหลาม ได้รับการชักชวนมาทดสอบหน้ากล้อง Roman Holiday (1953)**คว้ารางวัล Oscar: Best Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sabrina (1954), The Nun’s Story (1959), Breakfast at Tiffany’s (1961), Charade (1963), My Fair Lady (1964), Wait Until Dark (1967) ฯ
รับบท Holly Golightly ดวงตาเศร้าๆ ทำตัวเอาแต่ใจ ลุ่มหลงใหลเงินทอง เครื่องประดับของมีค่า ชอบแต่งตัวโก้หรูหรา เครื่องประดับน่าจะราคาแพง จัดแจงคบหาแต่เพื่อนรวย คาดหวังความสวยจักได้ตกถังข้าวสาร อิ่มเอิบสุขสำราญไม่ต้องวิ่งหนีดั้นดนไปไหนอีก, ตัวตนแท้จริงคือ Lula Mae Barnes หญิงสาวบ้านๆจนๆ แต่งงานเมื่อพ้นอายุ 14 ปี แถมยังมีลูกชาย-สาว (และน้องชาย) ทอดทิ้งพวกเขาออกมาแสวงโชคในเมืองใหญ่ หวังว่าสักวันจะได้หวนกลับไป ใช้ชีวิต ‘Happy Ever After’
อาชีพของ Holly ไม่ใช่ Call Girl หรือหญิงขายบริการ แต่มีลักษณะเหมือนเด็กนั่งดริ้งค์ คิดค่าจ้างเป็นนาที/ชั่วโมง ได้รับคำนิยามจากผู้แต่ง ‘American Geisha’ ซึ่งในนิยายเธอทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเงินและความสุขสบาย คบหากลุ่มมาเฟีย นายหน้าค้ายา และยังได้หมดทั้งชาย-หญิง (Bisexual)
ผู้แต่งนวนิยาย Capote ไม่พึงพอใจการเลือก Hepburn อย่างยิ่งยวด รู้สึกว่าตนเองถูก Paramount ทรยศหักหลัง
“Paramount double-crossed me in every way and cast Audrey”.
– Truman Capote
สำหรับ Hepburn ทีแรกก็รู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะสมกับตัวละครนี้เท่าไหร่ แต่เพราะทั้ง Marilyn Monroe และ Shirley MacLaine ต่างบอกปัดปฏิเสธ เลยจำต้องยินยอมพร้อมใจ แล้วใส่ความเป็นตัวตนเองลงไป ขี้เล่น ซุกซน โหยหาบางสิ่ง แม้ไม่โดดเด่นเท่า Roman Holiday (1953) หรือ My Fair Lady (1964) แต่คือบทบาทได้รับการจดจำสูงสุดในชีวิต
ไฮไลท์การแสดงของ Hepburn คือขณะนั่งริมหน้าต่าง ขับร้องบทเพลง Moon River น้ำเสียงอันนุ่มนวล สายตาเหม่อล่อง จิตใจลอยออกไปไกล เมื่อไหร่ที่ฉันจะสามารถไปถึงเป้าหมายความตั้งใจเสียที
เกร็ด: ค่าตัวของ Hepburn คือ $750,000 เหรียญ กลายเป็นนักแสดงหญิงค่าตัวสูงสุดในโลกขณะนั้น! เทียบค่าเงินปี 2016 ประมาณ $5.9 ล้านเหรียญ
George Peppard Jr. (1928 – 1994) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Detroit, Michigan หลังเรียนจบสมัครเป็นทหารเรือ ปลดประจำการออกมาเรียนต่อวิศวกรรมโยธาที่ Purdue University ได้เป็นสมาชิกของคณะการแสดง Purdue Playmakers และ Beta Theta Pi เรียนจบแล้วการมาเป็นสมาชิกของ Pittsburgh Playhouse ต่อด้วย Actors Studio แสดงละครเวที จัดรายการวิทยุ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Strange One (1957), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Home from the Hill (1960), ตามด้วย Breakfast at Tiffany’s (1961), สมทบ How the West Was Won (1962) ฯ
รับบท Paul Varjak นักเขียนหนุ่มหล่อ ที่ยังไม่ประสบพบความสำเร็จในชีวิตสักเท่าไหร่ เลยรับจ๊อบอาชีพแมงดา ให้มหาเศรษฐินีหญิงรับเลี้ยงดูแล ซึ่งเธอก็ได้มอบอพาร์ทเม้นท์หลังนี้เป็นของขวัญ คือเหตุจับพลัดพบเจอ Holly ทีแรกคบหาคิดแค่เพื่อน จากนั้นค่อยๆล้ำเลยเถิด ทอดทิ้งทุกสิ่งแยกแลกคำว่าแฟน แต่ได้รับคำตอบแทน ‘ถ้ามีเงินร่ำรวย ฉันจะแต่งกับนายทันที’ ทั้งรู้ว่าคงต้องอกหักแน่ กลับไม่คิดยอมพ่ายแพ้แต่โดยง่ายดาย
ตัวเลือกแรกของผู้สร้างคือ Steve McQueen แต่เพราะติดสัญญาอยู่กับรายการโทรทัศน์ Wanted: Dead or Alive (1958) จึงไม่สามารถปลีกตัวออกมาได้ ส้มหล่นใส่ Peppard แต่ความที่เขาเป็นนักแสดง Method Acting ซีเรียสจริงจังกับชีวิตมากเกินไป จนแทบไม่มีใครในกองถ่ายคบหาเป็นเพื่อนสนิทสนม
เรื่องการแสดงถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ แต่ภาพลักษณ์ใบหน้า Charisma ของ Peppard หาจุดเด่นเอกลักษณ์อะไรไม่ได้สักเท่าไหร่ เป็นคนหล่อล่ำที่ดูจืดชืดแสนธรรมดา ผมว่าพี่แกเหมาะเป็นนักแสดงละครเวที/โทรทัศน์ มากกว่าเล่นหนังบทพระเอก! ซึ่งหลังจากปีทองช่วงต้นทศวรรษ 60s ชีวิตก็ค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเมื่อมีโอกาสแสดงนำซีรีย์ The A-Team (1983-87) น่าจะประสบความสำเร็จที่สุดแล้วกระมัง
เกร็ด: รูปภาพด้านหลังช็อตนี้คือ Charles III of Spain (1716 – 1777, ครองราชย์ 1759 – 1778) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปกครองในยุโรปที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เฉลียวฉลาดรอบรู้จักใช้คนเป็น ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนล้นหลาม
อดไม่ได้ต้องแถมให้กับ Mickey Rooney ชื่อเกิด Joseph Yule Jr. (1920 – 2014) เกิดที่ Brooklyn, New York City เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังระดับตำนาน แต่พอโตขึ้นหลังสงครามโลก ชื่อเสียงก็ค่อยๆถดถอย เลยผันตัวเป็นตลก จัดวิทยุ รายการโทรทัศน์ แสดงภาพยนตร์บ้างประปราย อาทิ Breakfast at Tiffany’s (1961), Requiem for a Heavyweight (1962), It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963), The Black Stallion (1979) ฯ
รับบท I. Y. Yunioshi ชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ชั้นบนสุดของอพาร์ทเม้นท์ มักถูกกลั่นแกล้งโดย Holly Golightly ให้ต้องหงุดหงิดหัวเสียลุกขึ้นมากดกริ่งเปิดประตู ไม่ก็หนวกหูรำคาญเพราะเสียงงานเลี้ยงสังสรรค์ในห้องของเธอ
ประเด็นคือ กาลเวลาทำให้ตัวละครนี้ถูกมองว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ ‘Asian Racism’ นี่ไม่ใช่ความตั้งใจของทั้งผู้กำกับและ Rooney เพราะยุคสมัยนั้นเรื่องแบบนี้ ใครๆต่างมองว่าคือเรื่องตลกขบขัน
“Blake Edwards … wanted me to do it because he was a comedy director. They hired me to do this overboard, and we had fun doing it … Never in all the more than 40 years after we made it – not one complaint. Every place I’ve gone in the world people say, ‘God, you were so funny.’ Asians and Chinese come up to me and say, ‘Mickey you were out of this world'”.
– Mickey Rooney
กระแสเหยียดเชื้อชาติของหนัง เริ่มได้รับการเอ่ยถึงครั้งแรกปี 1990 โดยนักวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์ The Boston Globe แสดงความเห็นต่อตัวละครนี้ว่า
“an irascible bucktoothed nerd and an offensive ethnic caricature”.
มารุนแรงขึ้น เมื่ออยู่ในสารคดี Dragon: The Bruce Lee Story (1993) ภรรยาหม้าย Linda ให้สัมภาษณ์ถึงตอนเธอกับ Bruce Lee (ขณะยังมีชีวิตอยู่) มีโอกาสรับชม Breakfast at Tiffany’s ที่สหรัฐอเมริกา พบเห็นผู้ชมหัวเราะอย่างขาดสติกับพฤติกรรมตัวละครนี้ แต่ทั้งเขาและเธอต่างรับไม่ได้จนต้องเดินออกกลางคัน
“I wouldn’t have done it. Those that didn’t like it, I forgive them and God bless America, God bless the universe, God bless Japanese, Chinese, Indians, all of them and let’s have peace”.
– Mickey Rooney
ถ่ายภาพโดย Franz Planer (1894 – 1963) ตากล้องยอดฝีมือ สัญชาติ Austria-Hungary เคยเข้าชิง Oscar: Best Cinematographer ถึงห้าครั้งไม่เคยคว้ารางวัล ผลงานเด่นๆ อาทิ Letter from an Unknown Woman (1948), Champion (1949)*, Death of a Salesman (1951)*, Roman Holiday (1953)*, The Big Country (1958), The Nun’s Story (1959)*, Breakfast at Tiffany’s (1961), The Children’s Hour (1961)* ฯ
หนังเดินทางไปปักหลักถ่ายทำยังกรุง New York
– Tiffany & Co. ตั้งอยู่ที่ 727 Fifth Avenue at 57th Street, Manhattan
– อพาร์ทเม้นท์ของ Holly & Paul ตั้งอยู่ที่ 169 East 71st Street, Manhattan
– นอกจากนี้ก็ New York Public Library ตั้งอยู่ที่ Fifth Avenue & 42nd Street, Manhattan
ฯลฯ
แม้จะเป็นเช้าตรู่ แต่ New York City คือหนึ่งในเมืองรถติดที่สุดในโลก, การถ่ายทำฉากเปิดยุ่งยากเต็มไปด้วยความวุ่นวาย กั้นถนนยังไม่เท่าไหร่ แต่ฝูงชน’ไทมุง’หลายสิบร้อยรุมล้อม นั่นสร้างความกดดันให้กับผู้กำกับ ทีมงาน โดยเฉพาะ Hepburn ทำอะไรผิดพลาดพลั้งไปหมด กระทั่งว่าเทคหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ มีคนโดนกระแสไฟฟ้าช็อตเกือบตาย นั่นเรียกสติให้เธอรีบๆถ่ายทำฉากนี้ให้เสร็จ จะได้เลิกกองเสียที
เกร็ด: Hepburn เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ตนเองไม่ชอบกินครัวซ็อง (Croissant) หรือพวกขนมปังอบ (Danish Pastries) อารมณ์เวลาเคี้ยวเลยแบบว่า ไม่ค่อยยี่หร่ากับมันสักเท่าไหร่
ว่ากันว่ามีแมวประมาณ 9 ตัวในหนัง (ตรงกับชื่อหนังสือ Nine Life ของ Paul Varjak) และต้องใช้ครูผู้ฝึกสอนจนชำนาญการ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะที่จะทำให้น้องเหมียวทำตามคำสั่ง กระโดดเกาะโน่นนี่นั่น หนาวจนตัวสั่นช่วงท้าย
แมวไร้ชื่อ เป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่เปรียบได้กับ Holly Golightly/Lula Mae Barnes จะชื่ออะไรก็แค่คำเรียก คล้ายหน้ากากสวมใส่ ไม่ได้มีความหมายสลักสำคัญเท่าไหร่, เฉกเช่นเดียวกันกับ Paul Varjak ที่ถูกเธอเรียกว่า Fred อ้างว่ามีหน้าตาเหมือนน้องชาย แต่ตัวตนใช่ที่ไหน
ห้องของ Holly สะท้อนตัวตนความสนใจของเธอ แรกเริ่มมีเพียงความว่างเปล่า เฟอร์นิเจอร์คง Build-In แทบไม่ได้ซื้ออะไรใหม่ ข้าวของเครื่องใช้กระจัดกระจาย หาโน่นนี่นั่นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แถมกระเป๋าใส่เสื้อผ้าใช้เป็นที่เก็บโทรศัพท์ (มันเสียงดัง เลยเก็บซ่อนไว้ไม่หนวกหู)
ผิดกับห้องของ Paul Varjak ได้รับการประดับตกแต่งอย่างเลิศหรูพิศมัย (โดยมหาเศรษฐินีหญิง 2E ย่อมาจาก Mrs. Emily Eustace Failenson) ลวดลายผนัง เฟอร์นิเจอร์ ราวกับหลุดจากโลกแฟนตาซีเพ้อฝัน แต่ลักษณะของผ้าม่าน มู่ลี่ สถานที่แห่งนี้ไม่ต่างอะไรกับกรงขัง
ฉากภายในของ Tiffany & Co. ร้านขายเพชรชื่อดังที่สุดของ New York City ปกติแล้วปิดวันอาทิตย์ แต่เพื่อใช้ถ่ายทำหนังจึงยินยอมเปิดให้กรณีพิเศษ (ครั้งแรกครั้งเดียวในศตวรรษที่ 20) ซึ่งภายนอกมีการว่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยกว่าสี่สิบคน เพื่อไม่ให้เกิดการโจรกรรมขึ้นระหว่างวัน!
สภาพห้องหลังจากที่ Holly วาดฝันจะแต่งงานกับมหาเศรษฐีชาว Brazillian ชื่อ José da Silva Pereira (รับบทโดย José Luis de Vilallonga) ผนังแปะโปสเตอร์ กระจกบานใหญ่เรียงรายด้วยดอกไม้(ปลอม) เด่นมากๆคือสตั๊ฟวัวอยู่เหนือศีรษะของหญิงสาว (และมีเจ้าเหมียวนั่งครอบหัวอยู่อีกชั้น)
จากห้องที่เคยว่างเปล่า คาคั่งไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าภายในจิตใจหญิงสาว จะมีความสุขเอ่อล้นดั่งที่คาดหมั้นหมายไว้หรือเปล่า
ผมชอบช็อตนี้มากเลยนะ ถ่ายมุมเงยขึ้น พบเห็นตึกระฟ้าสูงใหญ่แห่งมหานคร New York City ชายหนุ่ม-หญิงสาว ก็แค่มนุษย์ตัวเล็กๆที่มีความเพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยาน เงยหน้ามองขึ้นสูง เพ้อใฝ่ฝันว่าสักวันตนเองจะได้ไต่เต้าขึ้นไปถึงบนยอดนั้นแล้วมองย้อนกลับมา วิวทิวทัศน์คงแปลกตาไม่น้อยทีเดียว
ฉากสุดท้ายของหนังนี้ เห็นว่าถ่ายทำที่สตูดิโอ Paramount (สงสัยเพราะไม่ต้องการให้น้องเหมียว วิ่งหนีหายตัวไปไหน) สังเกตบริเวณรอบข้าง ตรอกซอกซอยเต็มไปด้วยกล่องไม้ว่างเปล่า ถังขยะเรียงราย นี่เป็นการสะท้อนสถานะทางจิตใจของหญิงสาว หลังจากสูญเสียถังข้าวสารที่กำลังจะตกใส่ ชีวิตตกอับจมปลักไม่หลงเหลืออะไร ถ้าขืนยังจะฝืนดั้นด้นจะเริ่มต้นใหม่ คงไม่ต่างอะไรจากลูกแมวเร่ร่อนเปียกปอนตัวนี้อย่างแน่แท้
ตัดต่อโดย Howard Smith, แม้หนังจะเริ่มต้นอารัมบทด้วย Holly Golightly เดินรับประทานอาหารเช้าที่ Tiffany & Co. แต่เรื่องราวทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองสายตาของ Paul Varjak ซึ่งถือเป็นอวตารของผู้แต่งนวนิยาย Truman Capote ตั้งแต่วันแรกเข้าพักอาศัยในอพาร์ทเม้นท์ จนกระทั่งออกจากคุก รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปีเต็ม
เพลงประกอบโดย Henry Mancini (1924 – 1994) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน หลังจากเคยร่วมงานผู้กำกับ Edwards จากซีรีย์ Peter Gunn (1959) เกิดความประทับใจจนกลายเป็นขาประจำ ผลงานเด่นๆ อาทิ Breakfast at Tiffany’s (1961), Days of Wine and Roses (1962), Charade (1963), The Pink Panther (1963) ฯ
Soundtrack ยึดเมโลดี้ท่วงทำนองของบทเพลง Moon River เป็นแกนหลัก จากนั้นเรียบเรียงร้อย Orchestra สร้างสรรค์หลายๆ Variation (เน้นสัมผัส Jazz ที่กำลังได้รับความนิยมช่วงทศวรรษนั้นเป็นหลัก) ให้สอดคล้องรับกับเรื่องราวเหตุการณ์ อารมณ์นั้นๆ ด้วยเหตุนี้จึงติดหูเร็ว ดูหนังจบรอบเดียวก็แทบจะฮัมตามได้แล้ว
นอกจาก Moon River มีอีกบทเพลงหนึ่งได้ยินในงานเลี้ยงปาร์ตี้ ชื่อว่า Something for Cat ด้วยสัมผัส Jazz สุดเซ็กซี่ เมามันส์ โยกส่ายนหัวตาม ติดกลิ่นอาย The Pink Panther อยู่นิดๆ (ก็แน่ละคนแต่งเดียวกัน)
มาที่ไฮไลท์บทเพลง Moon River เดิมนั้นผู้แต่งคำร้อง Johnny Mercer ตั้งชื่อไว้ว่า Blue River แต่มาค้นพบมีใครบางคนใช้ชื่อดังกล่าวไปแล้ว เลยจำต้องเปลี่ยนมาใช้แม่น้ำสายพระจันทร์แทน, สำหรับ Mancini ใช้เวลาเป็นเดือนๆกว่าจะแต่งทำนองเสร็จ เพราะต้องจินตนาการใบหน้าของ Hepburn ทำอย่างไรให้ออกมาเพียงพอดีกับระดับเสียงที่มีจำกัดของเธอ
“It was one of the hardest things I ever had to write, because I couldn’t figure out what this lady would be singing up there on the fire escape”.
– Henry Mancini
หลังจาก Hepburn ได้รับชมหนังเมื่อใส่เพลงประกอบเสร็จแล้ว เขียนจดหมายขอบคุณ Mancini
“I have just seen our picture—Breakfast at Tiffany’s—this time with your score. A movie without music is a little bit like an aeroplane without fuel. However beautifully the job is done, we are still on the ground and in a world of reality. Your music has lifted us all up and sent us soaring. Everything we cannot say with words or show with action you have expressed for us. You have done this with so much imagination, fun and beauty. You are the hippest of cats—and most sensitive of composers. Thank you, Dear Hank.
Lots of love, Audrey.”
กระนั้น Marty Rankin ผู้บริหาร Paramount Pictures เมื่อได้รับชมหนังกลับไม่ชื่นชอบบทเพลงนี้เท่าไหร่ ต้องการให้ถูกตัดหั่นทิ้งออกไปทั้งฉาก ซึ่งเป็น Hepburn ลุกยืนกรานพูดขึ้นว่า
“Over my dead body!”
ความสำเร็จของบทเพลงนี้
– คว้ารางวัล Oscar: Best Original Song
– Grammy Awards สามรางวัล Record of the Year, Song of the Year และ Best Instrumental Arrangement
– และเมื่อกาลเวลาผ่านไป ติดอันดับ 4 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Songs
แม้ Moon River จะมีจุดเริ่มต้นจากน้ำเสียงของ Audrey Hepburn แต่ยังมีนักร้องอีกคนหนึ่งที่ได้รับยกย่องกล่าวขวัญ คือสัญลักษณ์ของบทเพลงนี้เช่นกันคือ Andy Williams สืบเนื่องจากงานประกาศรางวัล Oscar ปีนั้น พี่แกขึ้นขับร้องบนเวที จากนั้นออกอัลบัม Moon River and Other Great Movie Themes (1962) ยอดขายระดับ Certified Gold เกินล้านแผ่น [ปี 1967 ยอดขายถึง 2 ล้าน] และยังไต่สูงสุดอันดับ 3 ชาร์ท Billboard Top 200
ใครขับร้องไพเราะกว่าก็เปรียบเทียบกันดูเองนะครับ
ทำไมนางเอกถึงไปรับประทานอาหารเช้าที่ Tiffany? ร้านขายเครื่องประดับเพชรแห่งนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเพ้อใฝ่ฝันของหญิงสาว ใคร่อยากได้ครอบครองเป็นเจ้าของ แต่ก็มีเพียง ‘เงินทอง’ เท่านั้นถึงสามารถตอบสนอง และที่ต้องเป็นยามเช้าหลังตื่นนอน (แต่เหมือนเธอยังฝันหวาน ไม่ได้นอนมากกว่า) เพื่อให้ตระหนักถึงความจริง วันนี้ยังได้แค่เฝ้ามอง อนาคตสักวันต้องไขว่คว้ามาสวมใส่คล้องคอให้จงได้!
หญิงสวยกับเพชรงามถือเป็นของคู่กัน ที่ช่วยเสริมความตระการตา มูลค่าราคาสูงยิ่งๆขึ้นไป แต่ถึงกระนั้นสิ่งเหล่านี้ก็แค่เพียงภาพลักษณ์ภายนอก มิสามารถบ่งบอกคุณค่าความงามทางจิตใจ นั่นไม่ใช่สิ่งมองเห็นด้วยตาเปล่าหรือรับรู้ได้โดยทันที
“The beauty of a woman is not in the clothes she wears, the figure that she carries, or the way she combs her hair. The beauty of a woman is seen in her eyes, because that is the doorway to her heart, the place where love resides. True beauty in a woman is reflected in her soul. It’s the caring that she lovingly gives, the passion that she shows & the beauty of a woman only grows with passing years.”
– Audrey Hepburn
ใจความของ Breakfast at Tiffany’s นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวผู้พยายามทำทุกสิ่งอย่าง เพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งของที่เธอครุ่นคิดว่าล้ำค่าที่สุดในโลก นั่นคือเงินทอง เพชรพลอย และมหาเศรษฐีร่ำรวย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเธอก็กำลังได้รับบทเรียนจากเพื่อนรักเพื่อนตาย ‘ความรัก’ บริสุทธิ์ จริงใจต่างหาก! สูงค่าเสียจนไม่สามารถประเมินด้วยตัวเลขใดๆได้
ตอนจบดั้งเดิมในนวนิยาย หลังจาก Holly ถูกจับติดคุก เป็นเหตุให้มิอาจครองคู่ว่าที่สามีมหาเศรษฐี และเมื่อกลับออกมาพบเจอ Paul แม้ได้รับคำเสี้ยมสั่งสอนให้รู้จักคุณค่าความหมายชีวิต แต่เธอกลับไม่ครุ่นคิดกลับตัวกลับใจ สุดท้ายแยกทางใครทางมัน ไม่หวนกลับมาพบเจอกันอีก
นี่คือสาเหตุผลที่ทำให้ผมมองว่า ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ช่างมายา ‘สไตล์ Hollywood’ โลกสวยเกินจริงไปเสียหน่อย ไม่กล้านำเสนอด้านมืด ความสิ้นหวังของตัวละคร ที่ยังสะท้อนค่านิยมผู้คนในยุคสมัยนั้น-นี้ ต่างจมปลักอยู่กับความเพ้อฝันหวาน ลวงหลอกตนเอง มืดบอดเสียจนมองไม่เห็นสิ่งสวยงามทรงคุณค่าที่สุดภายในจิตใจคน
ด้วยทุนสร้าง $2.5 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาได้ 9.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $14 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม
เข้าชิง Oscar 5 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Actress (Audrey Hepburn)
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium
– Best Art Direction-Set Decoration, Color
– Best Music, Original Song เพลง Moon River ** คว้ารางวัล
– Best Music, Scoring of a Dramatic or Comedy Picture ** คว้ารางวัล
สิ่งน่างุนงงยิ่งกว่าไก่ตาแตก หนังถูก SNUB สาขา Best Costume ไร้ชื่อของทั้ง Edith Head และ Hubert de Givenchy (ออกแบบเฉพาะชุดของ Hepburn)
ส่วนตัวชื่นชอบประทับใจการแสดงของ Audrey Hepburn ต่อให้เสื้อผ้าแฟชั่นสวยอลังการสักเพียงไหน ก็มิอาจกลบเกลื่อนบดบัง ความบริสุทธิ์สดใส ตัวตนจิตวิญญาณแท้จริงลงได้, นอกจากภาพลักษณ์ที่กลายเป็น Fashion Icon ก็บทเพลงประกอบ Moon River น้ำเสียงเล็กๆแต่ดังกึกก้องกังวาลย์ สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจของผู้ชมทั้งโลก
แนะนำคอหนังโรแมนติก-ดราม่า ผสมคอมเมอดี้เล็กๆ, แฟชั่นดีไซเนอร์ ออกแบบเสื้อผ้าหน้าผม, บทเพลงเพราะๆของ Henry Mancini และแฟนๆผู้คลั่งไคล้ Audrey Hepburn พลาดได้อย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัยรุ่น หนุ่ม-สาว ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรน ต้องการแสวงหาโชคลาภ ความสำเร็จในเมืองหลวง ต่างแดน ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจช่วยกระตุ้นเตือนสติ สร้างแรงบันดาลใจให้ไม่มากก็น้อย
จัดเรต 13+ กับด้านมืดของความโลกสวยที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน
ข้อมูลแน่นและมีบางสิ่งที่ผมมองข้ามไปในภาพยนตร์ ยิ่งได้อ่านยิ่งเข้าถึงแต่ละฉากได้ดียิ่งขึ้น สองชั่วโมงที่เสียไปจะไร้ประโยชน์ หากเราไม่ได้นำคุณค่าที่ภาพยนตร์สร้างไว้มาเป็นทางเลือกในการดำเนินชีวิตของราเอง .. ขอบคุณผู้เขียนบทความนี้จากใจจริงครับ ( :