Breathless (1960) : Jean-Luc Godard ♥♥♡
(20/9/2022) คลื่นลูกใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ เริ่มต้นที่ Breathless (1960) จากความเป็นนักเลง(หนัง)ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard โปรดิวเซอร์บอกความยาวมากเกินไป แต่แทนที่จะตัดทิ้งบางฉาก กลับพัฒนาเทคนิค Jump-Cut หั่นตรงโน้นนิด เล็มตรงนี้หน่อย เอาออกทีละน้อยๆ จนกลายเป็นอมตะแล้วหมดสิ้นลมหายใจ
Breathless (1960) เป็นภาพยนตร์ที่บรรดานักวิจารณ์ นักประวัติศาสตร์ ผู้กำกับบางคน และติ่งหนังหลายท่าน ยกย่องสรรค์เสริญในฐานะคลื่นลูกใหม่ (New Wave) ผลงานที่ปฏิวัติวงการ(ภาพยนตร์) ด้วยการเปิดมุมมองโลกทัศน์ ให้ก้าวออกมาจากกฎกรอบ ขนบวิถี รูปแบบวิธี(สรรค์สร้างภาพยนตร์)ดั้งเดิม เพราะอดีตนักวิจารณ์/ผู้กำกับ Jean-Luc Godard พบเห็นข้อจำกัดของยุคสมัยก่อน มีความเชื่อว่าทุกสถานที่บนโลกนี้สามารถใช้เป็นฉากพื้นหลัง รวมถึงเนื้อเรื่องราวที่ตอบสนองตัณหาส่วนบุคคล หรือคือความเป็นศิลปิน ‘auteur’ ของผู้สรรค์สร้าง
อิทธิพล/ความสำคัญของ Breathless (1960) มักได้รับการยกย่องเทียบเท่า A Trip to the Moon (1902), The Birth of a Nation (1915), Battleship Potemkin (1925), Citizen Kane (1941) ฯลฯ ผลงานที่ถือเป็นเสาหลักไมล์แห่งวงการภาพยนตร์ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับแบ่งแยกยุคสมัย pre-Breathless และ post-Breathless (Truffaut ให้คำเรียกว่า before-Godard และ after-Godard) ซึ่งนักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คำนิยามภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าคือจุดเริ่มต้นภาพยนตร์ยุคสมัยใหม่ (Modern Cinema)
Modern movies begin here, with Jean-Luc Godard’s “Breathless” in 1960. No debut film since Citizen Kane (1941) has been as influential. It is dutifully repeated that Godard’s technique of ‘jump cuts’ is the great breakthrough, but startling as they were, they were actually an afterthought, and what is most revolutionary about the movie is its headlong pacing, its cool detachment, its dismissal of authority, and the way its narcissistic young heroes are obsessed with themselves and oblivious to the larger society.
นักวิจารณ์ Roger Ebert จัดเป็น Great Movie
ตอนที่ผมตัดสินใจหวนกลับมารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกรอบ (และอีกรอบ) เพราะครุ่นคิดว่ามันอาจมีอะไร ความลุ่มลึกล้ำแอบซ่อนเร้นไว้ ที่ต้องใช้ประสบการณ์/ความสามารถขั้นสูงถึงรับรู้พบเห็น แต่สุดท้ายแล้วก็ยังคงส่ายหัวเหมือนเดิม แถมรู้สึกว่ามันเป็นเทรนด์แฟชั่นที่เลวร้ายยิ่งกว่าคาดคิดไว้เสียอีก! นอกเสียจากถ้าคุณเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว ชื่นชอบความเท่ห์ แนว เจ๋ง แต่ผมขอเรียกว่า เก๋าเจ๊ง (เป็นคำภาษาจีน แปลว่า ชาติหมา, คำด่า) และบรรดานักเรียน/นักศึกษาภาพยนตร์ ที่มักได้รับการบ้านให้ต้องวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ทุกช็อตฉาก
ตัวหนังจริงๆไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบนัก หลายครั้งเห็นชัดเลยว่ายังทดลองผิดลองถูก ขาดๆเกินๆ แม้พอมี ‘jump cut’ ดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่เนื้อเรื่องราวที่มีเพียง Godard และ Godard ยิ่งรับชมผมยิ่งรู้สึก ‘dégueulasse’ … จริงอยู่หนังมีคุณค่าเลิศล้ำทางศาสตร์ศิลปะ สามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ในเชิงสัญลักษณ์ทั้งหมด แต่ความเป็นมนุษย์ของผู้กำกับ Godard ไม่ปรากฎอยู่เลยสักนิด!
When we talked, I talked about me, you talked about you, when we should have talked about each other.
Michel Poiccard/Laszlo Kovacs ตัวละครของ Jean-Paul Belmondo
ถ้ามองอย่างผิวเผินคำพูดประโยคนี้สะท้อนความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน (รวมถึงผู้กำกับ Godard เองด้วยนะครับ) ขณะเดียวกันยังแฝงนัยยะถึงภาพยนตร์ซึ่งคือการสื่อสารทางเดียว แต่ยุคสมัย pre-Breathless และ post-Breathess กลับมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิง
- pre-Breathless, ยุคสมัยก่อน ผู้กำกับมักสรรค์สร้างภาพยนตร์ตามใบสั่งสตูดิโอ/เบื้องบน ภายใต้กฎกรอบข้อบังคับทางสังคม (Hays Code, กองเซนเซอร์ประเทศต่างๆ ฯลฯ) มักมอบความบันเทิงพร้อมสาสน์สาระอันดีที่เป็นประโยชน์ หรือชักชวนเชื่อสร้างค่านิยมบางอย่าง
- post-Breathless, ความที่ Godard เริ่มต้นจากเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du cinéma เมื่อเขากลายมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ จึงนำสิ่งที่ตนเองอยากสรรค์สร้าง อยากนำเสนอ เพื่อตอบสนองตัณหาส่วนบุคคล โดยไม่สนห่าเหวว่าจะมีคุณประโยชน์-ให้โทษต่อสังคมประการใด
อ.ศิลป์ พีระศรี เคยให้คำสอนหนึ่งที่ไพเราะมากๆ “พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน… ถึงจะเรียนศิลปะ” แต่นั่นคือสิ่งที่คุณจะไม่มีวันพบเจอจากการรับชมภาพยนตร์ของ Jean-Luc Godard เพราะเขาเป็นผู้กำกับคนแรกๆที่ตั้งคำถามว่า ศิลปะ(ภาพยนตร์)มันจำต้องมีความเป็นมนุษย์หรือไม่? ตัวกู-ของกู มึงจะมาเสือกทำไม!
I know nothing of life except through the cinema.
Jean-Luc Godard
Jean-Luc Godard (1930-2022) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ French-Swiss เกิดที่กรุง Paris บิดาเป็นนายแพทย์ชาว Swiss ฐานะร่ำรวย ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหลบลี้ภัยอยู่ Switzerland, เริ่มรู้จักภาพยนตร์จากการอ่านบทความ Outline of a Psychology of Cinema เขียนโดย André Malraux ตามด้วยความสนใจนิตยสาร La Revue du cinéma จากนั้นเริ่มมีโอกาสพบปะผู้คนในวงการ, เมื่อปี 1950 สมัครเข้าศึกษาคณะมานุษยวิทยา University of Paris แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง เพราะไปหมกตัวอยู่ Ciné-Clubs ตามด้วย Cinémathèque Française รับรู้จักบรรดาพรรคเพื่อนผู้หลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์ François Truffaut, Jacques Rivette, Claude Chabrol, เคยร่วมกับ Éric Rohmer ก่อตั้งวารสาร La Gazette du cinéma แต่อยู่รอดแค่เพียงห้าฉบับ! จากนั้นได้รับคำชักชวนจาก André Bazin กลายเป็นนักวิจารณ์(คนแรกของกลุ่มที่ได้)ตีพิมพ์บทความลงนิตยสาร Cahiers du Cinéma
ระหว่างที่ยังเป็นนักวิจารณ์ก็ได้ทดลองทำหนังสั้นเรื่องแรก Opération béton (1955), ตามด้วย Une femme coquette (1955), จากนั้นรับฟังโปรเจคแนวอาชญากรรมของ Truffaut ที่ร่วมพัฒนากับ Chabrol แรงบันดาลใจจากข่าวหนังสือพิมพ์ The News in Brief เรื่องราวของ Michel Portail กับแฟนสาวนักข่าวชาวอเมริกัน Beverly Lynette เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1952 ลักขโมยรถคันหนึ่งเพื่อไปเยี่ยมมารดา อาศัยอยู่โรงพยาบาลที่ Le Havre, Seine-Maritime แต่ระหว่างทางดันไปฆ่าสายตรวจเสียชีวิต ต่อมาถูกแฟนสาวทรยศหักหลัง เลยโดนตำรวจไล่ยิงเสียชีวิต! พยายามติดต่อหาโปรดิวเซอร์แต่ไม่มีใครไหนให้ความสนใจ … ต่อมา Godard ร่วมงานกับ Truffaut สร้างหนังสั้นเรื่อง Une histoire d’eau (1958) บันทึกภาพกรุง Paris หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ 1958
หนังสั้นอีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ Charlotte et son Jules (1958) ได้แรงบันดาลใจจากบทละครองก์เดียว Le Bel Indifférent (1940) ของ Jean Cocteau [ต้นฉบับละครเวทีรับบทโดยโดย Édith Piaf และ Paul Meurisse] นำแสดงโดย Jean-Paul Belmondo และ Anne Colette ทั้งหมดถ่ายทำในห้องพักโรงแรม Rue de Rennes … ใครที่รับชม Breathless (1960) ก็น่าจะมักคุ้นเคยฉากนี้เป็นอย่างดี
เกร็ด: เสียงของตัวละคร Jean-Paul Belmondo พากย์ทับโดยผู้กำกับ Jean-Luc Godard
ช่วงปี 1958, Godard ก็นำเอาหลายๆผลงานหนังสั้นไปฉายตามเทศกาลต่างๆ เลยพบเจอเพื่อนผู้กำกับร่วมรุ่นอย่าง Alain Resnais, Jacques Demy, Jacques Rozier, Agnès Varda เริ่มบังเกิดความต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาว ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาสพบเจอโปรดิวเซอร์ Georges de Beauregard ของ 20th Century Fox ได้รับชักชวนให้พัฒนาบทหนัง Pêcheur d’Islande (1959) แต่หลังจากทำงาน 6 สัปดาห์ ก็บังเกิดความเบื่อหน่ายเลยละทอดทิ้งโปรเจคนี้ไป
หลังจากที่ Truffaut ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ The 400 Blows (1959) กลายเป็นผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ที่ได้รับการจับตามองระดับนานาชาติ เลยต้องการช่วยเหลือผลักดันเพื่อนสนิท Godard ที่อุตสาหะเดินทางมาหาถึงเทศกาลหนังเมือง Cannes (ปี ค.ศ. 1959) นอกจากยินยอมมอบบทร่างที่เคยพัฒนา ยังช่วยเขียนจดหมายค้ำประกัน (ให้แก่ Beauregard) จนได้รับงบประมาณ FRF 400,000 ฟรังก์ฝรั่งเศส (ประมาณ $80,000 เหรียญ) แม้เพียงน้อยนิดแต่ก็ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญ
แนวทางการทำงาน/พัฒนาบทหนังของ Godard ถือว่าผิดแผกแตกต่างจากรูปแบบวิถีดั้งเดิมที่เคยมีมา (ที่มักต้องเขียนบทหรือทำ Storyboard จนแล้วเสร็จก่อนเริ่มถ่ายทำ) ใช้เพียงบทร่าง (Treatment) ของ Truffaut มาเป็นโครงสร้างอ้างอิง ส่วนรายละเอียด บทพูดสนทนา จะครุ่นคิดสดๆวันนั้น พอสมองตันเมื่อไหร่ก็ยุติการถ่ายทำน
ส่วนเรื่องราวของหนังได้มีปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องความสนใจของ Godard ขณะนั้นๆ โดยเฉพาะตอนจบ Truffaut เล่าว่าในบทร่างไม่ได้มีฉากเริงระบำแห่งตาย เพียงแค่ชายคนนั้น (Michel Portail) เดินอยู่บนท้องถนนแล้วผู้คนต่างหันมามอง เพราะจดจำใบหน้าเขาได้จากหนังสือพิมพ์
In my script, the film ends with the boy walking along the street as more and more people turn and stare after him, because his photo’s on the front of all the newspapers … Jean-Luc chose a violent end because … he was in the depths of despair when he made the picture. He needed to film death, and he needed that particular ending.
François Truffaut
เกร็ด: François Truffaut เคยให้สัมภาษณ์ถึงบรรดาผลงานของ Jean-Luc Godard เรื่องที่ชื่นชอบสุดก็คือ Breathless (1960)
Of all Jean-Luc’s films, Breathless is my favorite. It’s the saddest. There is deep unhappiness; even, as Aragon says, “deep, deep, deep” unhappiness.
เรื่องราวของอาชญากรหนุ่ม Michel Poiccard (รับบทโดย Jean-Paul Belmondo) ผู้มีความลุ่มหลงใหลดาราดัง Humphrey Bogart ชอบวางมาดนักเลง ลูบริมฝีปาก สูบบุหรี่มวนต่อมวน สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ หลังลักขโมยรถหรูจาก Marseille ระหว่างทางกำลังถูกตำรวจไล่ล่า ยิงปืนสวนกลับจนมีผู้เสียชีวิต แล้วออกเดินทางหลบหนีมาถึงกรุง Paris
Michel ตกหลุมรักนักศึกษาสาวชาวอเมริกัน Patricia Franchini (รับบทโดย Jean Seberg) พบเจอขณะกำลังป่าวประกาศขายหนังสือพิมพ์ New York Herald Tibune พยายามเกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน โน้มน้าวให้เลิกกับแฟนหนุ่ม หลังจากเธอรับรู้ว่าเขาคืออาชญากร ทีแรกก็ดูระริกระรี้ เหมือนมีความตื่นเต้นที่ได้ทำอะไรแปลกใหม่ แต่ภายหลังตัดสินใจแจ้งความกับตำรวจ ทำให้เขาถูกล้อมยิงเสียชีวิต
Jean-Paul Belmondo (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine บิดาเป็นนักแกะสลักชาวอิตาเลี่ยน ส่วนมารดาคือจิตรกรวาดภาพ, ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเล่นกีฬาฟุตบอล ต่อยมวย เคยขึ้นเวทีสมัครเล่นชนะรวด 3 ไฟต์ แต่เลิกชกเพราะเห็นหน้าตัวเองในกระจกแล้วรับไม่ได้, หลังจากปลดประจำการทหาร เข้าเรียนด้านการแสดง Conservatoire of Dramatic Arts จบมาเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก On Foot, on Horse, and on Wheels (1957), เข้าตาผู้กำกับ Jean-Luc Godard ชักชวนมาเล่นหนังสั้น Charlotte and Her Boyfriend (1958) และแจ้งเกิดกลายเป็นตำนาน Breathless (1960), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Léon Morin, Priest (1961), That Man from Rio (1964), Pierrot le Fou (1965), Borsalino (1970), The Professional (1981) ฯลฯ
รับบท Michel Poiccard/László Kovács จิ๊กโก๋หนุ่ม โจรกระจอก ชอบก่ออาชญากรรมไปทั่ว สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย อารมณ์ผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยอย่างไม่สามารถคาดเดาได้ แต่เพราะตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง ตัดสินใจเสี่ยงตายมาหาเธอที่ Paris พยายามเกี้ยวพาราสี โน้มน้าวชักจูงจมูก ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ชักชวนไปอยู่อิตาลีด้วยกัน แต่สุดท้ายกลับถูกทรยศหักหลัง เพราะไม่สามารถอาจอ่านใจหญิงคนรัก รู้สึกหมดสิ้นเรี่ยวแรงกาย-ใจ เริงระบำครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นลม พ่นควันบุหรี่ออกจากปาก
เกร็ด: László Kovács (1933-2007) คือชื่อหนุ่มน้อยชาวฮังกาเรียนที่เดินทางมาร่ำเรียนภาพยนตร์ในฝรั่งเศส ก่อนกาลต่อมาจะกลายเป็นตากล้องชื่อดัง มีผลงานอย่าง Easy Rider (1969), Five Easy Pieces (1970), Paper Moon (1973), New York, New York (1977), Ghostbusters (1984) ฯลฯ
เพราะเคยร่วมงานผู้กำกับ Godard มาตั้งแต่หนังสั้น Charlotte and Her Boyfriend (1958) เลยเข้าใจวิธีการทำงานที่ผิดแผกแตกต่างจากปกติ ทำให้เต็มเปี่ยมด้วยความกระตือรือล้น (ผิดกับทีมงานคนอื่นๆ ต่างไม่แน่ใจว่าตนเองกำลังพบเจออะไร) แต่ก็มีความเชื่อมั่นว่าหนังคงไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
แม้ว่า Breathless (1960) จะไม่ใช่การแสดงดีที่สุดของ Belmondo (ดีที่สุดผมยกให้ Léon Morin, Priest (1961)) แต่บทบาทนี้กลายเป็น ‘ภาพจำ’ ระดับตำนาน ด้วยการสวมสูทหลวมๆ ปากคาบบุหรี่ ทำคางยื่นๆ ชอบเอามือลูบริมฝีปาก พูดจาวกไปวนมา อารมณ์ผันแปรเปลี่ยนตลอดเวลา เอาแน่เอานอนไม่ได้สักสิ่งอย่าง! นักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert ให้ความเห็นว่าชายคนนี้ดูยังไงก็อัปลักษณ์ (ugly) แต่มันเท่ห์ระเบิด จนวัยรุ่นสมัยนั้นนิยมแต่งตัวเลียนแบบกันเกลื่อนเมือง
I distrust a close-mouthed man. He generally picks the wrong time to talk and says the wrong things. Talking’s something you can’t do judiciously unless you keep in practice.
Kasper Gutman จากภาพยนตร์ The Maltese Falcon (1941) นำแสดงโดย Humphrey Bogart
แม้หนังจะไม่มีการอธิบายที่มาที่ไป อดีตเคยพานผ่านอะไร (เราไม่จำเป็นต้องรับล่วงรู้ก็ได้) แต่หลายอย่างสิ่งอย่างสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ อย่างการพยายามเลียนแบบ Humphrey Bogart สะท้อนถึงชีวิตที่ไร้จุดหมาย เลยต้องการใครสักคนเป็นต้นแบบอย่าง รวมถึงหญิงสาวสำหรับตกหลุมรัก/พึ่งพักพิง (เมื่อสูญเสียเธอไปเลยแทบหมดสิ้นลมหายใจ), หรือพฤติกรรมต่อต้านสังคม ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัวที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ บังคับให้ต้องทำโน่นนี่นั่นตามคำสั่ง เมื่อเติบโตขึ้นได้รับอิสรภาพ เลยปฏิเสธจะยินยอมก้มหัวศิโรราบต่อทุกสิ่งอื่นใด
ในชีวิตจริงของ Godard อาจไม่ใช่นักเลงหัวไม้ ชื่นชอบการลักขโมย ปล้นฆ่าผู้อื่นใด แต่ผลงานทั้งหมดล้วนสะท้อนความครุ่นคิด จิตวิญญาณ อย่างความชื่นชอบสื่อภาพยนตร์ จึงมักมีการอ้างอิงนักแสดงคนโปรดแทรกใส่เข้ามา (รวมถึงทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในความสนใจขณะนั้นๆ วรรณกรรม ดนตรี งานศิลปะ ฯ) และโดยเฉพาะความไม่ต้องการอยู่ภายใต้กฎกรอบข้อบังคับ โหยหาอุดมคติ ‘เสรีภาพ’ ในการสรรค์สร้างงานศิลปะ
Jean Dorothy Seberg (1938-79) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Marshalltown, Iowa บรรพบุรุษอพยพมาจาก Sweden, เมื่ออายุ 12 หลังพบเห็น Marlon Brando เรื่อง The Men (1950) เกิดความมุ่งมั่นจะเป็นนักแสดง, โตขึ้นเข้าศึกษาด้านการแสดง University of Iowa ได้รับคัดเลือกจากนักแสดง 18,000+ คน รับบทนำ Saint Joan (1957) ของผู้กำกับ Otto Preminger แต่เสียงตอบรับกลับย่ำแย่ ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
I have two memories of Saint Joan. The first was being burned at the stake in the picture. The second was being burned at the stake by the critics. The latter hurt more. I was scared like a rabbit and it showed on the screen. It was not a good experience at all. I started where most actresses end up.
Jean Seberg
Preminger รู้สึกเห็นใจ Seberg เลยใช้เส้นสายช่วยเหลือเซ็นสัญญาระยะยาวกับ Columbia Pictures และมีอีกผลงานร่วมกันคือ Bonjour Tristesse (1958) ซึ่งระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พบเจอกับว่าที่สามีคนแรก François Moreuil ระหว่างอาศัยอยู่ฝรั่งเศสมีโอกาสรับบทนำ Breathless (1960) ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม! ระหว่างนั้นก็ไปๆกลับสหรัฐอเมริกา-ฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Five Day Lover (1961), Lilith (1964), Paint Your Wagon (1969), Airport (1970) ฯ
รับบท Patricia Franchini นักศึกษาชาวอเมริกัน สาวมั่น ตัดผมสั้น ใบหน้าเบิกบานด้วยรอยยิ้ม เดินทางมาร่ำเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน ขณะนี้ทำงานขายหนังสือพิมพ์ New York Herald Tibune เหมือนพยายามเกี้ยวพาบรรณาธิการชาวฝรั่งเศส คาดหวังว่าจะได้ตีพิมพ์หนังสือของตนเอง
เธอเป็นคนกล้าพูด กล้าทำ กล้าเสี่ยง มีความเป็นตัวของตนเองสูง ไม่หวาดหวั่นกลัว Michel Poiccard แม้รับรู้ว่าคืออาชญากร เพราะจิตใจนั้นหยั่งรากลึก ดั่งก้นเบื้องมหาสมุทร ไม่มีใครสามารถครุ่นคิดคาดเดาความต้องการแท้จริง ทรยศหักหลังเขาเพียงเพราะต้องการพิสูจน์ความรัก นั่นสร้างความหมดสิ้นหวังให้ Michel รำพันคำพูดสุดท้าย
C’est vraiment dégueulasse.
คำพูดสุดท้ายของ Michel Poiccard เหมือนจะให้คำนิยาม Patricia Franchini
ในตอนแรก Godard มีความต้องการ Anna Karina ตกหลุมรักแรกพบจากโฆษณาถ่ายแอบชุดอาบน้ำ แต่พอบอกว่ามีฉากนู๊ดเธอกลับบอกปัดปฏิเสธ ซะงั้น! (แต่หลังจากนี้พวกเขาก็ได้ร่วมงานกัน ครองคู่แต่งงาน แล้วเลิกราหย่าร้าง) ต่อมาแสดงเจตจำนงค์ต่อโปรดิวเซอร์ Beauregard ช่วงมองหานักแสดงพอมีชื่อเสียงสักหน่อย แต่สามารถรับค่าตัวต่ำๆ ให้คำแนะนำ Jean Seberg โดยติดต่อผ่านสามี(ชาวฝรั่งเศส)ของเธอ Francois Moreuil (ได้เล่นเป็นตัวประกอบเล็กๆในหนังด้วย) ยินยอมรับค่าตัวเพียง $15,000 เหรียญ (เท่ากับ 1 ใน 6 ของทุนสร้าง $90,000 เหรียญ)
It’s a crazy experience – no spots, no makeup, no sound! But it’s so un-Hollywood manners that I’m becoming natural.
Jean Seberg เล่าถึงประสบการณ์ในกองถ่ายภาพยนตร์ Breathless (1960)
แม้ว่า Seberg จะไม่มีความเชื่อมั่นต่อหนัง เพราะพบเห็นการจัดการในกองถ่ายที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย นี่ฉันมาทำอะไรอยู่ฝรั่งเศส? แต่การแสดงของเธอลุ่มลึกยิ่งนัก ผู้ชมแทบสัมผัสไม่ได้เลยว่าหญิงสาวกำลังครุ่นคิดอะไร ล่องลอยไปมาเหมือนจิตวิญญาณ เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน มารยาพิศวง แต่ก็โคตรน่าหลงใหล
ตัวละครนี้ไม่เชิงว่าคือหญิงสาวในอุดมคติของ Godard (ผมคิดว่า Anna Karina น่าจะตรงกว่านะ) มีลักษณะขั้วตรงกันข้ามกับ Michel Poiccard ที่สามารถเติมเต็มกันและกัน ชายโฉด-หญิงชั่ว ภายนอกแสดงออกอย่างใสซื่อบริสุทธิ์ แต่ภายในกลับไม่เคยยี่หร่าอะไรใคร สนเพียงได้กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ ได้บรรลุเป้าหมายความต้องการส่วนตน ก็แค่นั่น! … เอาจริงๆผมว่าเธอตกหลุมรักบรรณาธิการชาวฝรั่งเศส เลยไม่ได้ยี่หร่าอะไรกับ Michel ที่พยายามโน้มน้าว ชักจูงจมูก บีบบังคับโน่นนี่นั่น เมื่อมิอาจต่อต้านขัดขืนจึงต้องสมยินยอม แล้วลองพิสูจน์ตนเองว่ามีใจให้เขาหรือเปล่า ผลลัพท์สุดท้ายก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดตีความ
กลายเป็นว่านี่คือบทบาทแจ้งเกิดโด่งดังระดับนานาชาติของ Seberg ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม ถึงขนาดผู้กำกับ Truffaut ยังยกย่องว่า “the best actress in Europe.” แต่เจ้าตัวกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นเลยนะ! อาจเพราะช่วงขณะนั้นกำลังจะเลิกราสามีด้วยกระมัง
นอกจากผลงานการแสดง Seberg ยังเป็นคนที่ให้การสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ NAACP, Black Panther แถมมีข่าวลือว่าเธอตั้งครรภ์กับคนผิวสี (สมัยนั้น Miscegenation ยังไม่ได้รับการยอมรับ) แถมระหว่างมีความสัมพันธ์กับ Clint Eastwood ถูกเขาทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย จนต้องหันหน้าเขาหายาเสพติด เขียนจดหมายลาตาย สิริอายุเพียง 40 ปี
Forgive me. I can no longer live with my nerves.
จดหมายลาตายของ Jean Seberg
สองตัวละครนำของหนัง ต่างมีอุปนิสัยเห็นแก่ตัว, เอาแต่ใจ, หลงตัวเอง, ไร้มโนธรรมประจำใจ (เหล่านี้เรียกว่า Anti-Hero) ถ้าเรามองเพียงการแสดงออกภายนอก จักสามารถรับรู้เข้าใจธาตุแท้ตัวตนของ Michel ได้โดยทันที เพราะการกิริยาท่าทาง คำพูด พฤติกรรมแสดงออก ล้วนตรงต่อความครุ่นคิดภายในจิตใจ อยากทำอะไรก็ทำ ลักทรัพย์ ขโมยรถ ไม่จ่ายค่าแท็กซี่ แทบจะไม่มีลับลมคมในซ่อนเร้นใดๆ
ตรงข้ามกับ Patricia ที่เปลือกภายนอกไม่มีทางรู้เลยว่าครุ่นคิดอะไร อยากทำอะไร หรือเมื่อตอนเมื่อรู้ว่า Michael เป็นอาชญากรเข่นฆ่าตำรวจ ทำไมถึงปกปิด ยินยอมให้ความช่วยเหลือ … แล้วอยู่ดีๆไฉนถึงทรยศหักหลัง มันเหมือนว่าสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในของหญิงสาว (ในมุมมองของ Michel) คือจิตวิญญาณแห่งความชั่วร้าย ยัยปีศาจ สัตว์ประหลาดในคราบมนุษย์
The American, Patricia, is on a psychological level, whereas the guy, Michel, is on a poetic level. They use words — the same words — but they don’t have the same meaning.
Jean-Luc Godard
นี่ไม่ใช่ว่า Godard มีอคติต่อเพศหญิงหรืออย่างไร? (หลายคนอาจครุ่นคิดเช่นนั้นเพราะมักเทียบแทน Michel = Godard) แต่มันก็ไม่จำเป็นนะครับ ผมมองว่าต้องการนำเสนอลักษณะ Anti-Hero ภาพของชายโฉด-หญิงชั่ว ที่มีความละม้ายคล้ายและแตกต่างตรงกันข้าม สามารถเติมเต็มกันและกัน สังเกตจากภาพโปสเตอร์ เสื้อผ้าหน้าผม ลีลาการพูดสนทนา พฤติกรรมแสดงออก ขณะที่ Michel ตกหลุมรักใคร่/ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Patricia กลับมองเขาเพียงกลเกมแห่งความรัก ไม่ใช่คู่แท้ก็แค่เลิกราแล้วหาใหม่
ผมพยายามครุ่นคิดหาสาเหตุผล มันเกิดอะไรขึ้นกับ Michel และ Patricia? ทำไมพวกเขาถึงครุ่นคิดแสดงออก มีมุมมองโลกทัศน์เช่นนั้น? คาดว่าคงเป็นผลกระทบจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เติบโตพานผ่านช่วงเวลาโรคระบาดใหญ่ Great Depression มีความเหน็ดเหนื่อย ทนทุกข์ยากลำบาก ไร้ที่พึ่งพักพิง ขาดเป้าหมายชีวิต มองไม่คุณค่าอนาคต ทำให้กระทำสิ่งต่อต้านสังคม ต้องการสร้างโลกส่วนตัว หรือหาหนทางหลบหนีไปให้แสนไกล
ทศวรรษ 50s-60s คือช่วงเวลา ‘counterculture’ การมาถึงของบุปผาชน (Hippie) กลุ่มคนที่มิอาจอดรนทนต่อสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยขนบกฎกรอบ ต่อต้านระบอบทุนนิยม เป็นพวกรักอิสระ โหยหาเสรีภาพ อยากดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ภูมิฐาน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ยึดติดกับสิ่งข้าวของราคาแพง หรือความสัมพันธ์ทางเพศผัวเดียว-เมียเดียว … แม้หนุ่มสาวทั้งสองจะไม่ได้เล่นยา แต่พฤติกรรมของพวกเขาก็สามารถเหมารวมเข้าพวกฮิปปี้ได้เช่นกัน!
วิธีการทำงานของ Godard จะไม่มีบทหนังที่พัฒนาแล้วเสร็จ เพียงพล็อตเรื่องคร่าวๆ (Treatment สำหรับยื่นของบประมาณ) แผนงานหยาบๆสำหรับงานสร้าง ถ่ายทำที่ไหน? เมื่อไหร่? ต้องใช้อุปกรณ์อะไรไหม? จักได้เตรียมการนัดหมายนักแสดง/ทีมงานให้พร้อมสรรพ
เมื่อเริ่มต้นการถ่ายทำ Godard ถึงค่อยเริ่มต้นครุ่นคิดเขียนแผนงานประจำวัน (แต่ก็มีจดบันทึกคล้ายๆ Post-It ตระเตรียมไว้ก่อนละเอียดยิบ) บทพูดนักแสดง (แม้ไม่มีการดั้นสด แต่ก็ไม่ได้มีการบันทึกเสียง Sound-On-Film) ทุกสิ่งอย่างสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตลอดเวลา
Most directors lose four hours with a plan that requires five minutes of shooting; me, I prefer five minutes of work for the group—and three hours for me to think.
For Breathless I wrote each afternoon after shooting; The Little Soldier in the mornings; A Woman Is A Woman I wrote in the studio while the actors were putting on their makeup.
I ask the producer for five weeks, knowing that I’ll have fifteen days of effective shooting. Sometimes you have to wait a whole day to know what you can do. But I ask everyone not to leave. Naturally, they suffer. That’s why I always insist on paying them very well. The actors suffer from another point of view, an actor likes to have the impression that he dominates his character, but with me they rarely have that impression.
Jean-Luc Godard อธิบายถึงวิธีการทำงานของตนเอง
ดั้งเดิมนั้น Godard อยากได้ตากล้อง Michel Latouche ที่เคยร่วมงานมาตั้งแต่ถ่ายทำหนังสั้น แต่โปรดิวเซอร์ Beauregard นำพาตากล้องอีกคนที่อยู่ในสังกัด Raoul Coutard แรกๆก็ฮึดฮัด แต่เมื่อเริ่มสื่อสารเข้าใจ เลยกลายเป็นเพื่อนสนิท ร่วมงานขาประจำช่วงทศวรรษ 60s
ถ่ายภาพโดย Raoul Coutard (1924-2016) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของบรรดาผู้กำกับ French New Wave, สมัยเด็กตั้งใจร่ำเรียนเคมี แต่ไม่มีทุนการศึกษาเลยหันมาเป็นช่างภาพ เข้าร่วมสงคราม French Indichina War (1946-54) ในฐานะ ‘war photographer’ อาศัยอยู่เวียดนามถึง 11 ปี กลับมาฝรั่งเศสกลายเป็นฟรีแลนซ์ให้นิตยสาร Paris Match และ Look กระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Pierre Schoendoerffer ทั้งๆไม่เคยมีประสบการถ่ายทำภาพยนตร์ แต่กลับได้เสียงชื่นชม The Devil’s Pass (1958), ติดตามมาด้วยผลงานแจ้งเกิดโด่งดัง Breathless (1960), Shoot the Piano Player (1960), Vivre sa Vie (1962), Jules et Jim (1962), Le Mépris (1963), Bande à part (1964), Pierrot le Fou (1965), Z (1969) ฯลฯ
ประสบการณ์จากการเป็นช่างภาพสงคราม ทำให้ Coutard สามารถปรับตัวเข้ากับวิธีทำงานของ Godard ที่มีลักษณะเหมือกองโจร ‘guerrilla unit’ ถ่ายทำรวดเร็ว ประสิทธิภาพสูง พยายามใช้แสงธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่ว่าตอนกลางวัน-กลางคืน ฉากภายนอก-ภายใน และสมัยนั้นยังไม่มีกล้องมือถือ (Hand-Held Camera) เลยนั่งอยู่บนรถเข็น แล้วให้ทีมงานช่วยกันขยับลาก เคลื่อนไหลไปมาแทบไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง (ไม่ใช่ตั้งกล้องไว้บนรถเข็นแล้วลากนะครับ ถ้าทำแบบนั้นจะได้ภาพที่ค่อนข้างสั่น Coutard มักเป็นคนถือกล้องไว้ตลอดเวลา)
สำหรับแสงธรรมชาติยุคสมัยนั้นถือมีความท้าทายอย่างยิ่ง (เพราะข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของกล้อง) โดยเฉพาะฉากกลางคืน เทคนิคที่ Godard และ Coutard ครุ่นคิดค้นขึ้นโดยไม่ต้องติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงเพิ่มเติม คือใช้ฟีล์ม Ilford HP5 ที่มีความไวแสงสำหรับถ่ายภาพนิ่ง (ความยาว 18 เมตร) นำมาปะติดปะต่อให้กลายเป็นฟีล์มภาพยนตร์ (ความยาว 120 เมตร) แล้วใช้กล้อง Cameflex (เป็นกล้องรุ่นเดียวที่สามารถใช้กับฟีล์ม Ilford HP5) เพียงเท่านั้นก็ทำให้ภาพมีความสว่างพอมองเห็นรายละเอียดในความมืดได้ … แต่กล้อง Cameflex มีข้อเสียคือเสียงดังมากๆ ทำให้หนังไม่สามารถบันทึกเสียง Sound-On-Film จำเป็นต้อไปพากย์เสียงทับภายหลัง
สำหรับฉากในตำนานของหนัง ถ่ายทำในโรงแรมเคยชื่อว่า Hôtel de Suède ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Les Rives de Notre-Dame Hotel ตั้งอยู่ 15 Quai Saint-Michel ในห้องหมายเลข 12 (หันหน้าออกถนนใหญ่) แต่ก็ไม่ได้คงสภาพไว้เหมือนเก่าก่อนนะครับ พัฒนาปรับปรุงไปไหนต่อไหนแล้ว
สิ่งหนึ่งที่ Breathless (1960) ปฏิวัติวงการภาพยนตร์ คือทำลายกำแพงแนวคิด ‘ภาพยนตร์ต้องถ่ายทำในสตูดิโอ’ ในห้องพัก ตามท้องถนน บันทึกภาพผู้คนสัญจรไปมา แม้ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ถ่ายยังสถานที่จริง (ต้องย้อนไปตั้งแต่ Nanook of the North (1922) รวมถึงยุคสมัย Italian Neorealist) แต่สามารถสร้างความตระหนักให้ผู้คนยุคสมัยนั้น เข้าถึงเสรีภาพในการสรรค์สร้างภาพยนตร์
หลายครั้งที่รับชมก่อนหน้า ผมไม่เคยสังเกตเลยว่าการถ่ายทำโดยรอบกรุง Paris มีความสลักสำคัญประการใด? แต่เมื่อประสบการณ์ภาพยนตร์สูงขึ้นจึงเริ่มตระหนักถึงการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ ‘Time Capsule’ ร้อยเรียงวิถีชีวิต ผู้คน ความเป็นไปในช่วงเวลาดังกล่าว ปัจจุบันสถานที่เหล่านั้นคงเปลี่ยนแปลงไปมากๆ บางแห่งก็ไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิมอีกต่อไป … ใน Wikipedia (ของฝรั่งเศส) มีรายละเอียดครบทุกฉากเลยนะครับ ผมคงกล่าวถึงแค่สถานที่สำคัญๆ
LINK: https://www.bfi.org.uk/features/locations-jean-luc-godard-breathless
It seems that, if we had footage of Godard shooting his film, we would discover a sort of accord between the dramatized world in front of the camera (Belmondo and Seberg playing a scene) and the working world behind it (Godard and Raoul Coutard shooting the scene), as if the wall between the real and projected worlds had been torn down.
Pierre Marcabru นักวิจารณ์จากนิตยสาร Combat
การถ่ายทำดำเนินไปตามลำดับ (Chronological order) ยกเว้นเพียงฉากแรก(ที่ Marseilles)ถ่ายหลังสุด ใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมด 23 วัน (ระหว่าง 17 สิงหาคม ถึง 12 กันยายน ค.ศ. 1959) โดยการทำงานมีตั้งแต่ 15 นาทีถึง 12 ชั่วโมง ล้วนขึ้นอยู่กับ Godard วันไหนคิดไม่ออกบอกไม่ถูกก็เลิกงานเร็ว … อารมณ์ศิลปินแท้ๆ
แซว: ความไม่แน่นอนของตามอารมณ์ศิลปิน สร้างความวิตกกังวลให้ทีมงานในกองถ่าย โปรดิวเซอร์ Beauregard ก็พยายามเข้ามาพูดคุยปรับความเข้าใจ แต่กลับสร้างความไม่พึงพอใจให้ Godard เลยเกิดการชกต่อยแลกหมัดกลางร้านกาแฟ
After all, I’m an asshole.
Michel Poiccard
คำพูดประโยคแรกของหนังไม่เพียงสื่อถึงตัวละคร Michel แต่ยังสามารถเหมารวมผู้กำกับ Jean-Luc Godard รับรู้ตนเองว่าไม่ใช่คนดีเลิศเลอสักเท่าไหร่ เพราะความสนใจของเขาในการสรรค์สร้างภาพยนตร์มีเพียงสองอย่าง ‘ผู้หญิงกับปืน’ สัญลักษณ์ของ Sex & Violence สิ่งสามารถสร้างความตื่นเต้นรุกเร้ากาย-ใจ หรือก็คือชีวิตและความตาย!
ภาพแรกของหนังคือหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีรูปการ์ตูนหญิงสาวโตเต็มวัย แต่สวมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นเหมือนชุดของเด็ก (และอุ้มตุ๊กตา) ถ้ายุคสมัยนี้คงมีคนตั้งประเด็น Pedophillia แต่เราสามารถชี้ถึงตัวละคร Patricia Franchini ภายนอกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนนิสัยเอาแต่ใจเหมือนตัวเหมือนเด็กน้อย
เมื่อลดหนังสือพิมพ์ลงมาถึงเปิดเผยรูปร่างใบหน้า Michel Poiccard สวมสูทหลวมๆ ปากคาบบุหรี่ ทำคางยื่นๆ ชอบเอามือลูบริมฝีปาก พูดจาวกไปวนมา อารมณ์ผันแปรเปลี่ยนตลอดเวลา เหล่านี้คือการลอกเลียนแบบ Humphrey Bogart แต่ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์นะครับ ยังมีการอ้างอิงคำพูด การแสดง จากผลงานภาพยนตร์หลายๆเรื่องเลยละ!
หนึ่งในกฎเหล็กของภาพยนตร์ยุคสมัยก่อนก็คือนักแสดงไม่ควรหันหน้าเข้าหากล้อง “Breaking the Fourth Wall” เพราะมันจะสร้างความกระอักกระอ่วย ทำลายความลื่นไหลของเนื้อเรื่องราว บังเกิดข้อสงสัยกำลังคุยกับใครอยู่? แต่ผู้กำกับ Godard ไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น บ่อยครั้งให้นักแสดงหันมาพูดคุยผู้ชม เหมือนต้องการจะชี้แนะนำอะไรบางอย่าง
If you don’t like the shore…
Michel Poiccard
if you don’t like the mountains…
if you don’t like the city…
then get stuffed!
ผมแอบเกาหัวกับคำแปลนี้พอสมควรเคยนะ เพราะ stuffed หมายถึง สัตว์สตัฟฟ์ (นำเอาสัตว์ที่เสียชีวิตมารักษาสภาพดั้งเดิมของมัน) ในบริบทนี้มันน่าจะเป็นคำหยาบคายประมาณว่า “ถ้าคุณไม่ชอบทะเล ภูเขา หรือเมือง ก็ไปตายซะเถอะ!” แต่ใครมันจะกล้าแปลตรงๆแบบนี้!
แซว: Subtitles ของหนังค่อนข้างจะมีปัญหามากๆเลยนะ เพราะศัพท์ฝรั่งเศสบางคำสามารถสื่อความหมายภาษาอังกฤษได้หลายอย่าง นั่นทำให้แต่ละฉบับ DVD/Blu-Ray มีการแปลซับใหม่ที่ให้ผลลัพท์แตกต่างกันไป
หลายคนคงรับรู้ว่าเทคนิค ‘jump cut’ ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจแรกเริ่มของผู้กำกับ Godard สำหรับคนช่างสังเกตก็น่าจะพบว่าหลายๆฉากเป็นการถ่ายทำแบบ Long Take พอเห็นตรงไหนสามารถกระโดดข้าม ตัดฟีล์มทิ้งบางส่วน อย่างช็อตนี้เสี้ยววินาที Michel ยิงตำรวจสายตรวจ กล้องค่อยๆเคลื่อนจากใบหน้า(Michel)ลงมาลำตัว → เปลี่ยนทิศทางยังมือถือปืน → จากนั้นถึงเหนี่ยวไก, แต่มันจะมีเสี้ยววินาที ‘jump cut’ ขณะกำลังง้างไกปืนแล้วจู่ๆตัดควับ! พบเห็นลูกกลิ้งกำลังหมุน ผมครุ่นคิดว่าเพียงประมาณ .03 วินาที (ที่ภาพเคลื่อนจากตำแหน่งง้างไกถึงลูกกลิ้ง) แค่นี้ก็เอาเว้ยเห้ย ต้องยอมใจ
ผมเห็นภาพช็อตนี้แล้วนึกถึงคำพูดของผู้กำกับ Ingmar Bergman กล่าวถึง Jean-Luc Godard ว่าไม่เคยชื่นชอบผลงานของไอ้เด็กเวรนี่เลย เต็มไปด้วยความกลับกลอกปอกลอก รู้สึกเหมือนกำลังถูกแทงข้างหลังอยู่ตลอดเวลา
I’ve never gotten anything out of his movies. They have felt constructed, faux intellectual and completely dead. Cinematographically uninteresting and infinitely boring. Godard is a fucking bore. He’s made his films for the critics.
In this profession, I always admire people who are going on, who have a sort of idea and, however crazy it is, are putting it through; they are putting people and things together, and they make something. I always admire this. But I can’t see his pictures. I sit for perhaps twenty-five or thirty or fifty minutes and then I have to leave, because his pictures make me so nervous. I have the feeling the whole time that he wants to tell me things, but I don’t understand what it is, and sometimes I have the feeling that he’s bluffing, double-crossing me.
Ingmar Bergman กล่าวถึง Jean-Luc Godard
ภาพช็อตนี้ Michel นั่งอยู่หน้าโต๊ะเครื่องแป้งที่มีกระจกบานใหญ่ แต่เขายังหยิบกระจกบานเล็กขึ้นมาส่องมองใบหน้า สามารถสื่อความในเชิง ‘counterculture’ หรือที่ผู้กำกับ Bergman เรียกว่า double-crossing การตีความหนังได้หลากหลายมิติ จากสิ่งพบเห็นเบื้องหน้า นัยยะเชิงเบื้องหลัง เกี่ยวกับภาพยนตร์ และตัวตนของ Godard แล้วแต่ความสามารถผู้ชมในการขบครุ่นคิดวิเคราะห์
ผมโคตรสงสัยมานมนานว่าฉากการพบเจอระหว่าง Michel พบเจอกับ Patricia ขณะกำลังเร่ขายหนังสือพิมพ์ New York Herald Tribune มันกลายเป็นตำนานได้อย่างไร? ก็แค่เดินไปเดินกลับ ตากล้อง Coutard นั่งอยู่บนรถเข็น กระทั่งค้นหาข้อมูลพบเจอว่าสถานที่แห่งนี้คือย่าน Champs-Élysées
เกร็ด: Avenue des Champs-Élysées ถนนในเขตที่ 8 ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นย่านการค้าที่ประกอบด้วยโรงละคร ร้านกาแฟ และร้านค้าหรูหรา (มีค่าเช่าต่อปีสูงสุดในยุโรป เกินกว่า $1.5 ล้านดอลลาร์) สองข้างทางมีต้นเกาลัดที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม จนมีผู้ขนานนามว่า “ถนนที่สวยที่สุดในโลก”
ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า Patricia ก็คือถนนสายนี้ สวยที่สุดในโลก (ในสายตาของ Michel และผู้กำกับ Godard) เดินไป-กลับคือจะพบเห็นทั้งด้านหน้า-หลัง อุปนิสัยดี-ชั่ว แต่ผมยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมต้องหนังสือพิมพ์ New York Herald Tribune อาจต้องการสื่อถึงความเป็นชาวอเมริกันของหญิงสาว มั้งนะ? (ไม่น่าจะใช่หนังสือพิมพ์ดีที่สุดในโลกหรอกนะ)
ระหว่างการสนทนาครั้งนี้ทำให้ผู้ชมรับรู้ว่าเพราะเหตุใด Michel (และผู้กำกับ Godard) ถึงมีความสนใจหนังสือพิมพ์เสียเหลือเกิน? ในหนังบอกว่าสำหรับดูดวงชะตาราศี (Horoscope) วันนี้-พรุ่งนี้จะประสบโชคดีหรือร้าย? ซึ่งการที่ New York Herald Tribune ไม่ตีพิมพ์บทความดังกล่าว เหมือนต้องการสื่อว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต –“
“Live dangerously until the end!” คือคำโปรยสำหรับโปรโมทภาพยนตร์ Ten Seconds To Hell (1959) ของผู้กำกับ Robert Aldrich ซึ่งสามารถสื่อถึง Michel (และผู้กำกับ Godard) เลือกใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยง ท้าความตาย จนกระทั่งหมดสิ้นลมหายใจ
แซว: เหตุผลที่ผมขีดฆ่า เพราะจุดจบของ Jean-Luc Godard ตามข่าวบอกว่ารู้สึกเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่ายกับการมีชีวิตอยู่มากกว่า เลยตัดสินใจกระทำการุณยฆาต
ถ้าหนังไม่มีการอ้างอิงถึง Cahiers du Cinéma ก็พิลึกแล้วละครับ เพราะขณะนั้น Godard ยังเป็นนักเขียน/บรรณาธิการประจำนิตยสาร เลยต้องช่วยโปรโมทสัหน่อย ขณะเดียวกันหญิงสาวคนนี้ก็ตั้งคำถามชวนฉงน
หญิงสาว: Have you anything against youth?
Michel: Sure do. I prefer old people.
คือผมไม่เข้าใจว่า Godard มีปัญหาอะไรกับคนหนุ่มสาว? มันเหมือนคำพูดลอยๆแบบไม่ได้ครุ่นคิด ปฏิกิริยาโต้ตอบกลับโดยอัตโนมัติ สันชาตญาณที่ชอบทำอะไรขัดย้อนแย้งผู้อื่น ต่อต้านสังคม ปฏิเสธเห็นพ้องกับใครใดๆ
ชีวิต! อะไรๆก็บังเกิดขึ้นได้ โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย Jacques Rivette (ผู้กำกับร่วมรุ่น French New Wave) มารับเชิญในบทชายถูกรถชนเสียชีวิต ตรงสี่แยก ณ ตำแหน่งป้ายหยุดรถ แต่บรรดาคนเข้าไปมุงกลับไม่มีใครครุ่นคิดให้ความช่วยเหลือ แถมผู้ขับรถชนเหมือนกำลังค้นหากระเป๋าสตางค์ ลักขโมยเงินเสียด้วยซ้ำกระมัง
การพบเจอความตายต่อหน้าต่อตาลักษณะนี้ ย่อมทำให้ Michel ตระหนักถึงเวลาชีวิตนั้นแสนสั้น อะไรๆก็สามารถบังเกิดขึ้นได้ ต่อเนื่องจากใบปิดภาพยนตร์ที่เดินผ่านมา นี่คือเหตุผลทำให้เขา “Live dangerously until the end!”
ฉากในบริษัทท่องเที่ยว (Travel Agency) นั้นมีสอง Long Take เดินวนไปวนมา
- ครั้งแรก, Michel เดินเข้ามาพบเจอพูดคุยกับเพื่อนเก่า Tolmatchoff บอกว่ากำลังติดตามหา Antonio Berutti เพื่อจะทวงคืนเงินของตนเอง
- ครั้งหลัง, สารวัตรตำรวจ Inspector Vital เดินเข้ามาพูดคุยสอบถาม Tolmatchoff บอกว่ากำลังติดตามหา Michel เพื่อไล่ล่าจับกุมตัว
ระหว่างที่ Inspector Vital กำลังล้วงความลับจาก Tolmatchoff มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีต เคยเปิดโปงพวกพ้องชื่อ Bob Montagné นี่เป็นการอ้างอิงถึงภาพยนตร์ Bob le Flambeur (1956) ของผู้กำกับ Jean-Pierre Melville
แซว: ชื่อตัวละคร Tolmatchoff ออกเสียงคล้ายๆ tomahawk (ขีปนาวุธระยะไกล) แต่ผันคำไปเรื่อยๆจะกลายมาเป็น tip-off หมายถึงการเปิดเผยข้อมูลลับแก่ผู้อื่น และขณะนี้ยังยื่นมือจับบริเวณส่วนศีรษะเครื่องบิน (top of) รวมถึงให้คำแนะนำโปรแกรมท่องเที่ยว (trip off) ด้วยเช่นกัน!
นี่เป็นการนำเสนอภาพประตูชัยฝรั่งเศส (Arc de triomphe de l’Étoile) ได้อย่างเท่ห์มากๆ โดยให้กล้องตั้งอยู่กึ่งกลางถนนแพนนิ่งจากฝั่งซ้ายไปขวา เริ่มจากพบเห็นสารวัตรตำรวจกำลังรีบเร่งวิ่งลงทางข้ามใต้ดิน เลื่อนมาหยุดตำแหน่งกึ่งกลางชั่วครู่ จากนั้นถึงค่อยเคลื่อนต่อไปอีกฟาก Michel ก้าวขึ้นมาอย่างไม่รีบร้อนประการใด (ตำรวจวิ่งลงฝั่งซ้าย-อาชญากรเดินขึ้นข้างขวา กึ่งกลางคือประตูชัย)
เกร็ด: ประตูชัยฝรั่งเศส (Arc de Triomphe de l’Étoile แปลว่า Triumphal Arch of the Star) คืออนุสรณ์สถานสำคัญในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่กลางจัตุรัส Place Charles de Gaulle หรือชื่อเดิมจัตุรัสแห่งดวงดาว (Place de l’Étoile) ทางทิศตะวันตกของ Champs-Élysées เริ่มสร้างขึ้นระหว่าง 1806-36 ความตั้งแรกเริ่มเพื่อสดุดีวีรชนทหารหาญที่ได้ร่วมรบเพื่อประเทศฝรั่งเศส หลังจากชัยชนะของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ในยุทธการ Battle of Austerlitz (1805) แต่การล่มสลายของ Napoleon เมื่อ ค.ศ. 1815 ประตูชัยแห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ด้วยสถาปัตยกรรม Neoclassical
The Harder They Fall (1956) ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Humphrey Bogart แค่ท่าทางคาบบุหรี่ก็ชัดเจนถึงความพยายามลอกเลียนแบบของ Michel อีกทั้งเรื่องราวยังเกี่ยวกับเบื้องหลังการล้มมวย ซึ่งจะมีฉากที่ Michel ทำท่าต่อยมวยด้วยนะครับ (Belmondo ก็เป็นนักมวยเก่าเช่นกัน)
เพราะการตัดสินใจแวบเข้าโรงภาพยนตร์ Cinéma Le Normandie (ปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่นะครับ) ทำให้ Michel เอาตัวรอดพ้นจากการถูกตำรวจไล่ล่า ซึ่งหนังก็จบฉากนี้ด้วย Iris Shot เพื่อให้ผู้ชมสังเกตเห็นการคลาดแคล้วกันแค่เพียงเสี้ยววินาที (ขณะที่ Michel กำลังเดินเข้าโรงหนัง กล้องถ่ายภาพสะท้อนบนกระจก)
ฉากที่ Michel ทุบทำร้ายคนแปลกหน้าในห้องน้ำชาย (เพื่อปล้นเงินมาปรนเปรอ Patricia) เห็นว่าเป็นการอ้างอิงเหตุการณ์คล้ายๆกันนี้จากภาพยนตร์ The Enforcer (1951) นำแสดงโดย Humphrey Bogart แต่ผมไม่เคยรับชมหรอกนะ
ตลอดการขับรถครั้งนี้ สังเกตว่าจะไม่มีช็อตที่ถ่ายให้เห็นทั้งสองอยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน ตัดสลับไปมาระหว่างฝั่งซ้าย Michel <> ฝั่งขวา Patricia และก็ ‘jump cut’ กระโดดไปข้างหน้า นั่นเพราะความสัมพันธ์ของทั้งสองยังคงเหินห่าง ไม่ได้เปิดใจให้กันและกัน
การใช้เทคนิค ‘jump cut’ ตลอดทั้งซีเควนซ์นี้อาจทำให้หลายคนรู้สึกตื่นเต้น หัวใจระริกรัว เหมือนการแข่งขัน ‘Tour de France’ แต่แท้จริงแล้วฉากนี้ต้องการนำเสนอความน่าเบื่อหน่ายของ Michel เพราะเอาแต่พูดโน้มน้าว ชักจูงจมูก พยายามสั่งให้ Patricia เลิกราแฟนหนุ่มที่กำลังเดินทางไปหา นั่นทำให้หญิงสาวเกิดอาการร้อนรน เมื่อไหร่จะหยุดพร่ำเพ้อสักที (เลยได้ยินแต่คำพูดที่อยากรับฟัง) อยากไปถึงจุดหมายปลายทางโดยเร็วพลัน
ระหว่างการสนทนาจะมีขณะหนึ่งที่ Patricia สอบถามการใช้คำสรรพนาม ‘vous’ หรือ ‘tu’ ทั้งสองต่างแปลว่า ‘คุณ’ ผมเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศส แต่เท่าที่ลองค้นหาข้อมูลพบว่ามีการใช้ที่แตกต่างกันเล็กน้อย
- คำสุภาพ/เป็นทางการจะใช้ vous, แต่ถ้าเป็นกันเองกับคนสนิทถึงใช้ tu
- ถ้ามีหลายคน(มากกว่าหนึ่ง)ใช้ vous, กล่าวถึงบุคคลเดียวใช้ tu
- พูดคุยกับคนอายุมากกว่าใช้ vous, เด็กกว่าใช้ tu (แต่ถ้าอีกฝ่ายบอกให้ใช้ tu เพื่อความสนิทสนม ก็ควรต้องทำตามเพราะถือเป็นมารยาทสังคม)
ผมไม่ค่อยแน่ใจนัยยะการตั้งคำถามนี้สักเท่าไหร่ เพราะบทสนทนาต่อมาของ Michel พูดว่าฉันอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ กลับได้ยินคำว่า ‘toi’ ซึ่งไม่ใช่ทั้ง vous หรือ tu แต่ก็มีความหมาย ‘คุณ’ แค่เป็นการเน้นเสียงเพื่อแสดงถึงความสำคัญ … และมีเสียง Sound Effect ดังวิ้งๆขึ้นมาด้วยนะ
Van Doude (1926–2018) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส รับเชิญในบทแฟนหนุ่มของ Patricia หนังสือที่มอบให้น่าจะคือ The Wild Palms (1939) แต่งโดย William Faulkner ซึ่งมีเรื่องราวหญิงสาวเสียชีวิตหลังจากทำแท้ง
ภายหลังจากนี้ Patricia ยังมีการกล่างถึงประโยคจากหนังสือเล่มนี้ ระหว่างพูดคุย/เกี้ยวพาราสีกับ Michel
Patricia: Between grief and nothing I will take grief.
Michel: Grief’s stupid. I’d choose nothing. It’s not better … but grief’s a compromise. I want all or nothing.
ผมรู้สึกว่าประโยคนี้สะท้อนความตายของผู้กำกับ Godard ได้อย่างชัดเจนเลยนะ! เขาไม่ต้องการให้ใครรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ เมื่อถึงเวลาก็แค่จากโลกนี้ไป เห็นข่าวบอกว่าไม่มีพิธีการ ไม่มีงานศพ เพียงหมดสิ้นลมหายใจ
แซว: ขณะที่ Patricia ขึ้นไปหาแฟนหนุ่มที่ชั้นบน (พบเห็นทิวทัศน์ด้านนอก), Michel แอบนั่งรอคอยอยู่ชั้นล่าง (รอบข้างมีเพียงผนังกำแพง) ราวกับต้องการสื่อถึงสรวงสวรรค์-ขุมนรก สะท้อนลักษณะความสัมพันธ์ต่อทั้งสองตัวละครได้อย่างชัดเจน
นี่เป็นอีกช็อตที่ผู้ชม(ชาวฝรั่งเศส)สมัยนั้นอาจรู้สึกตื่นตาตื่นใจ เพราะสามารถบันทึกภาพวินาทีที่แสงไฟในย่าน Champs-Élysées เปิดติดขึ้นมา เป็นสิ่งหายากรับชม … เอิ่ม
ช็อตนี้นอกจากบอกเวลากลางคืนกำลังมาถึง ยังสื่อถึงสภาพจิตใจของ Michel กำลังปกคลุมด้วยความมืดมิด! เพราะพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ แฟนสาว Patricia กำลังกอดจูบพรอดรักกับแฟนหนุ่ม … แม้ภายหลังเธอบอกว่าไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กัน แต่ดูจากท่าทางระริกรี้ รอยยิ้มกริ่ม (ระหว่างทางก่อนกลับเข้าห้องพัก) ใครหลงเชื่อก็บรมโง่แล้วละ!
Patricia แสดงสีหน้าไม่ค่อยพึงพอใจ Michel ที่ขึ้นมาหลับนอนบนห้องพักของตนเอง เขาเลยทำตัวอย่างสามใบหน้า ‘อ้ากว้าง แฉกยิ้ม ปากจู๋’ พอเธอเลียนแบบตาม สร้างความรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมานิด … การแสดงออกทางใบหน้านี้จะพบเห็นอีกครั้ง ยังวินาทีแห่งความตายของ Michel เหมือนต้องการประชดประชัน Patricia และแสยะยิ้มให้โชคชะตาของตนเอง (กลับตารปัตรจากการแสดงออกครั้งแรก)
นี่คือภาพวาด The Lovers (1923) ผลงานของจิตรกร Pablo Picasso ในรูปแบบ Neoclassicism ได้แรงบันดาลใจจากบทละครโศกนาฎกรรม Romeo and Juliet ของ (1597) ของ William Shakespeare คงไม่ต้องอธิบายหรอกมั้งว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร
ความน่าสนใจอยู่ที่ Patricia ต้องการอุดมคติแห่งรักเหมือนกับคู่ของ Romeo and Juliet นั่นสร้างข้อสงสัยว่าหลังการจากไปของ Michel เธอจะยินยอมลงเอยแบบ Juliet หรือเปล่า?
จุดเริ่มต้นของวังวนเลข 8 (ถ้ามองเอียงๆจักคือสัญลักษณ์อนันต์, Infinity, ∞) เกิดจากคำพูดพร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อยของ Michel ผู้หญิงไม่สามารถทำอะไรใน 8 วินาที (ส่วนใหญ่จะทำได้เพียงครึ่งหนึ่ง) ระหว่างกำลังเปิดนิตยสาร Photographing the Female Figure โดย Bunny Yeager ฉบับปี 1957
A woman will never do in eight seconds what she’ll gladly do eight days later. It’s all the same,
Michel Poiccard
eight seconds or eight days. Why not eight centuries?
ตั้งแต่นั้นมา 8 ก็กลายเป็นเลขพิศวงที่มักถูกกล่าวซ้ำๆอีกหลายครั้ง เล่นเกมนับหนึ่งถึงแปดถ้าไม่ยิ้มฉันจะบีบคอ, ให้คะแนนความสวยของ Patricia แปดเต็มสิบ ฯลฯ
แซว: ผมรู้เลยว่าผู้กำกับ Godard เพิ่งมาเริ่มละเล่นเลข 8 ระหว่างถ่ายทำฉากนี้ เพราะถ้าเขาครุ่นคิดได้ตั้งแต่แรก มันจะมีหลายๆฉากก่อนหน้าที่สามารถอ้างอิงถึงเลข 8 เช่นว่า … ถ้าเปลี่ยนจากห้านาทีเป็นแปดนาที มันจะได้นัยยะของอนันต์/ชั่วนิรันดร์ด้วยนะ!
The French always say one second when they mean five minutes.
Patricia Franchini
ผมไม่เคยรับชม Forty Guns (1957) ของผู้กำกับ Samuel Fuller เลยลองหารับชมตัวอย่างหนังก็แอบอึ้งทึ่งไปเลย เพราะหนังคาวบอยเรื่องนั้นไม่ได้ใช้ม้วนกระดาษ แต่คือมองผ่านลำกระบอกปืน แล้วตัดไปภาพชาย-หญิงกำลังโอบกอดจูบอย่างดื่มด่ำ … ผกก. Fuller คือผู้จุดประกายแนวคิด “ภาพยนตร์ = ผู้หญิง + ปืน” ให้ผกก. Godard เลยนะครับ!
All you need to make a movie is a girl and a gun.
Jean-Luc Godard
LINK: https://www.youtube.com/watch?v=OoIOITmuTdg&t=65 ตัวอย่างหนัง Forty Guns (1957) นาทีที่ 1:05
เพราะเหตุนี้เองทำให้ผมครุ่นคิดว่าช็อต Patricia มองผ่านม้วนกระดาษ บอกใบ้ถึงการเล็งผ่านกระบอกปืน ซึ่งสามารถสื่อความพร้อมที่จะเข่นฆ่า ทรยศหักหลังอีกฝั่งฝ่าย แต่ก่อนจะไปถึงเวลานั้น ปล่อยให้เขายิงอสุจิเข้าช่องคลอดก่อนแล้วกัน –“
ภาพติดผนังด้านข้างๆคืออีกผลงาน Surrealist ของ Piccaso ชื่อว่า Jacqueline aux Fleurs (1953) แปลว่า Jacqueline with Flowers หญิงสาวในชื่อว่า Jacqueline Roque พบเจอเมื่อปี 1953 ขณะอายุ 27 ปี (ส่วน Piccaso ขณะนั้นอายุ 72) แล้วแอบสานสัมพันธ์โรแมนติก หลังจากภรรยาคนแรก Olga Koklova ล้มป่วยเสียชีวิต ทั้งสองเลยได้ครองคู่รักอยู่ร่วมกัน
ในห้องน้ำ Patricia กำลังติดภาพวาด La Petite Fille au ruban bleu (1880) [แปลว่า Portrait of Irène Cahen d’Anvers หรือ The Little Girl with the Blue Ribbon] ผลงานของจิตรกรเอก Pierre-Auguste Renoir ในสไตล์ Impressionist
นัยยะของทั้งสองภาพนี้ต้องการเปรียบเทียบ Patricia = Jacqueline Roque (อายุ 27-28 ปี) และ Irène Cahen d’Anvers (วัย 8 ขวบ) แต่สังเกตความแตกต่างไหมเอ่ย?
- Jacqueline aux Fleurs (1953) ติดอยู่ห้องนอน/นั่งเล่น สถานที่ที่อยู่ภายนอก หรือคือภาพลักษณ์ การแสดงออก คือหญิงสาวอายุ 20+ กว่าปี
- La Petite Fille au ruban bleu (1880) ติดอยู่ห้องน้ำ สถานที่ที่มักปกปิดซ่อนเร้น หรือคือภายในจิตใจตัวละคร ไม่ต่างจากเด็กสาววัย 8 ขวบ
แซว: การหันหน้าของ Patricia ทิศทางตรงกันข้ามกับภาพวาดเด็กสาว ก็สามารถสะท้อนถึงตัวตนแท้จริงที่กลับตารปัตรตรงกันข้าม ไม่ได้มีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา(เหมือนภาพวาด)สักเท่าไหร่ … ผมสั้น <> ผมยาว ด้วยนะ!
สำหรับภาพที่ถือเป็นตัวแทนของ Michel (จะมีขณะที่กล้องถ่ายใบหน้าตัวละคร แล้วเคลื่อนเลื่อนมายังรูปนี้ติดอยู่บนฝาผนังเตียงนอน) ชื่อว่า L’Annee Nouvelle แปลว่า The New Year ผลงานของ Pablo Picasso ตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ l’Humanité ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 1953 (แต่ถ้าสังเกตจากตัวเลขมุมบนขวา 3.12.53 น่าคือวันที่วาด 3 ธันวาคม 1953)
ผมครุ่นคิดว่าน่าจะเป็นภาพคนสวมหน้ากากซานตาครอส (Santa Claus) ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับ Michel ภายนอกพยายาม’สวมหน้ากาก’แสดงออกว่าเป็นคนดี ปรนเปรอนิบัติแฟนสาว Patricia แต่ตัวตนแท้จริงนั้นคืออาชญากร พร้อมปล้น-ฆ่า กระทำสิ่งตอบสนองตัณหา ความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น, ส่วนเจ้านกคือสัญลักษณ์เสรีภาพ อิสรภาพ บินวนห้อมล้อมรอบตัวละคร โบยบินถึงพระอาทิตย์เลยมั้งนะ (สังเกตจากการลงสีในกรอบภาพ)
ผมคุ้นๆเคยอ่านเจอว่าจิตรกรคนโปรดของ Godard ก็คือ Paul Klee (1879-1940) ศิลปินชาว Swiss-German มีผลงานทั้ง Expressionism, Cubism และ Surrealism ภาพนี้ชื่อว่า Kettledrummer (1940) แปลว่า The Timpanist มองออกรึเปล่าว่าเป็นกลองทิมปานียังไง?
เกร็ด: Paul Klee วาดภาพนี้ในช่วงวันท้ายๆของชีวิต แม้ร่างกายเจ็บปวดอิดๆออดๆ แต่กลับมีความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ทำงาน (สรรค์สร้างผลงานศิลปะ) หัวใจดังเหมือนจังหวะเสียงกลอง
นี่เป็นอีกภาพที่สามารถสะท้อนถึง Michel เลือกใช้ชีวิตตื่นเต้น ท้าทาย เสี่ยงอันตราย หัวใจสั่นระริกเหมือนจังหวะเสียงกลองทิมปานี จนกว่าจะถึงคราที่หมดสิ้นลมหายใจ
โปสการ์เล็กๆก็เป็นอีกผลงานของ Paul Klee ชื่อว่า Der furchtsame grausame (1938) แปลว่า The Timid Brute, เป็นชื่อที่แปลกแต่ก็สะท้อนเข้ากับ Michel อีกเช่นกัน คือดูเป็นคนเหนียงอาย (Timid) แต่บ้าพลัง ชอบใช้ความรุนแรง (Brute)
และบริเวณข้างหลังโทรศัพท์ยังมีนิตยสาร Silver Screen ฉบับเดือนตุลาคม 1959 หน้าปกใบหน้า Rock Hudson น่าจะกำลังโปรโมทภาพยนตร์ Pillow Talk (1959)
ผมสังเกตว่า Patricia หลังจากพานผ่านค่ำคืนอันสุขสันต์กับแฟนหนุ่ม เลยพยายามปฏิเสธ ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์กับ Michel แต่เพราะถูกเขารบเร้า โน้มน้าวเชิงบีบบังคับ เช้าวันนี้ดูแล้วคงไม่ยินยอมไปไหน เธอจึงตัดสินใจแน่วแน่ตั้งแต่เปลี่ยนมาสวมใส่ชุดลายทางตรง ยืนตะเบะหน้ากระจก เอาก็เอาว่ะ! พอออกมาก็ยินยอมสวมหมวก สูบบุหรี่ เลิกปิดกั้นตนเอง ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามโชคชะตากรรม
ตอนแรกผมเห็นแวบๆหน้าปกแผ่นเสียง Bach: Magnificat แต่ก็เอะใจว่านั่นมันคือออร์เคสตร้าไม่ใช่เหรอ (มีคำเรียก Baroque Orchestra) แต่บทเพลงที่ได้ยินกลับมีแต่เสียงบรรเลงเปียโน เลยหาข้อมูลไม่ได้ว่าบทเพลงอะไร (คาดว่าน่าจะเป็น Chopin) ซึ่งหลังจากเพลงจบเธอถามเขาว่า
Patricia: Do you prefer records or the radio?
Michel: Quiet, I’m thinking.
นี่เป็นอีกครั้งที่ผมสังเกตว่า Michel (และผู้กำกับ Godard) เวลาตอบคำถามที่มีสองทางเลือกซ้าย-ขวา พี่แกจะมองหาคำตอบที่สามอยู่เสมอ (ก่อนหน้านี้ก็ ‘vous’ กับ ‘tu’ แล้วพูด ‘toi’) ซึ่งเป็นการสะท้อนอุปนิสัยตัวตน ไม่ยินยอมอยู่ภายใต้กฎกรอบ บริบทใดๆที่ใครพยายามวางไว้ สนใจเพียงมองหาหนทางเลือกของตนเองเท่านั้น!
หลังจาก Patricia ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับ Michel มุมกล้องจะเคลื่อนเข้าใกล้ ถ่ายทำระยะประชิด Close-Ups ใบหน้านักแสดงทั้งสอง ขณะที่ฝ่ายหญิงดูไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมสักเท่าไหร่ พระเอกหนุ่มก็พยายามปลดเปลื้อง ถอดเสื้อผ้า จนกระทั่งได้เล่นผีผ้าห่ม คลุมโปง จากนั้นกล้องค่อยๆขยับเลื่อนออกไปหยุดตรงหน้าต่าง ได้ยินเสียงเพลง (อะไรก็ไม่รู้) สร้างความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง (ระหว่างเล่น Sex) พอแล้วเสร็จกามกิจ หญิงสาวก็ลุกขึ้นมาปิดวิทยุ
แซว: Call Me by Your Name (2017) ได้แรงบันดาลใจ Sex Scene จากภาพยนตร์เรื่องนี้นี่เอง! ที่พอหนุ่มๆเริ่มร่วมรัก กล้องก็ค่อยๆเคลื่อนเลื่อนออกไปนอกหน้าต่าง
หลังเสร็จกามกิจ Patricia สวมใส่เสื้อเชิ้ตของ Michel หมายความว่าร่างกาย(ภายนอก)ของเธอได้กลายเป็นของเขาเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเดินมายืนเคียงข้างภาพถ่ายตนเอง ดูราวกับภาพสะท้อนในกระจก แต่สามารถสื่อถึงอดีต-ปัจจุบัน … ผมตีความฉากนี้ไปไกลถึง pre-Breathless กับ post-Brestless จุดเปลี่ยนหลังจาก Patricia ร่วมรัก Michel หรือคือการผสมผสานทางภาพยนตร์ระหว่าง Hollywood กับฝรั่งเศส จักก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่
การตั้งครรภ์ที่ไม่รู้จริง-ปลอมของ Patricia (แต่ก็น่าจะจริง เพราะเห็นเธอคลำท้องอยู่หลายครั้ง) ยังสามารถสื่อการให้กำเนิดยุคสมัย(คลื่นลูก)ใหม่ของวงการภาพยนตร์ … ซึ่งเรายังตีความต่อได้อีกว่าเด็กในครรภ์ ก็คือภาพยนตร์เรื่องนี้นี่แหละ (จะได้คลอดหรือไม่ ผู้กำกับ Godard ก็ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื่องของอนาคต)
ระหว่างกำลังแต่งตัวเพื่อเตรียมไปทำงาน Patricia ระหว่างยืนส่องกระจกตั้งคำถาม?
Do you prefer my eyes, my mouth or my shoulders?
Patricia Franchini
แม้ว่า Michel ไม่พูดตอบคำถามนี้ แต่เขาก็ลุกขึ้นมาวางมือบนไหล่และบั้นท้าย … ใครที่รับชมหลายๆผลงานของผู้กำกับ Godard คงพบเห็นคำถาม-ตอบเกี่ยวกับ คุณชอบอวัยวะส่วนไหนในร่างกาย? A Woman Is a Woman (1961), Le Mépris (1963) ฯ เพื่อให้ผู้ชมรู้จักการแยกแยะองค์ประกอบต่างๆของภาพยนตร์
ตอนแรกพอได้ยิน Michel พูดว่า “ฉันเหนื่อย ฉันกำลังจะตาย” ทำให้ผมครุ่นคิดถึงชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส À bout de souffle แปลตรงตัวว่า Out of Breath เลยมองหาซับไตเติ้ลภาษาฝรั่งเศส แต่ประโยคที่ตัวละครพูดกลับคือ “Je suis fatigué .. Je vais mourir.” เป็นอีกครั้งที่ผมรู้สึกเสียดายแทนผู้กำกับ Godard น่าจะใส่คำพูดตรงกับชื่อหนังสักหน่อย
เพราะถ้ามองจากแนวคิด “ภาพยนตร์ = ผู้หญิง + ปืน” นี่คือตอนจบในองก์ของ ‘ผู้หญิง’ หลังจากนี้จักเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเอาตัวรอดจาก ‘ปืน’ ซึ่งต่างทำให้ตัวละครรู้สึกเหน็ดเหนื่อย หมดสิ้นเรี่ยวแรง (กาย-ใจ) และลมหายใจเช่นเดียวกัน
เมื่อหนุ่มสาวก้าวออกจากห้องพัก หนังนำภาพมุมสูงจากเฮลิคอปเตอร์ พบเห็นทิวทัศน์สถานที่สำคัญๆในฝรั่งเศส อาทิ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre), มหาวิหารน็อทร์-ดาม (Notre-Dame de Paris) ฯลฯ ดูแล้วน่าจะต้องการสื่อถึงความสุขบนสรวงสวรรค์ (ของ Michel) หลังสำเร็จเสร็จกามกิจ
การปรากฎตัวของผู้กำกับ Jean-Luc Godard ไม่ใช่แค่มารับเชิญ (Cameo) ในฉากทั่วๆไปแบบ Alfred Hitchcock แต่ยังสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ เพราะเป็นคนพบเห็น แจ้งตำรวจ ชี้ตัว Michel หรือคือบุคคลทรยศหักหลังพระเอก
ในแง่มุมหนึ่ง Godard คือบุคคลทรยศผู้กำกับพวกพ้อง ด้วยการแหกขนบกฎกรอบ รูปแบบวิธีการสรรค์สร้างภาพยนตร์ และผลงานเรื่องนี้ยังเป็นการชี้นำ สำหรับเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่
บอกตามตรงเลยว่า ผมไม่เห็นความจำเป็นสักเท่าไหร่ในการใส่ฉากสัมภาษณ์นักเขียน Mr. Parvulesco รับบทโดย Jean-Pierre Melville (ก็ขนาดว่า Melville ยังเคยแนะนำให้ตัดทั้งซีเควนซ์นี้ทิ้งไป) นอกเสียจากคำพูดเท่ห์ๆ ทรงเสน่ห์ สาเหตุที่ผู้กำกับ Godard ไม่ยินยอมตัดทิ้ง คงเพราะประโยคเหล่านี้กลั่นออกมาจากปรัชญาชีวิตของเขาเอง (และการได้ผู้กำกับคนโปรด Melville มารับเชิญฉากนี้ จะให้ตัดทิ้งได้ยังไงละ!)
ฉากนี้แม้มีหลายประโยคคมๆ แต่เมื่อเทียบคำถาม-ตอบสุดท้าย อากัปกิริยาของทั้ง Parvulesco และ Patricia ต่างพยายามเน้นย้ำให้ผู้ชมจดจำฝังใจ!
- Parvulesco ขณะพูดตอบคำถามดังกล่าว ถึงขนาดต้องถอนแว่น โน้มตัวมาข้างหน้า เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่น เอาจริงจัง ฉันไม่ได้พูดเล่นๆก็แล้วกัน
- Patricia เมื่อได้ยินคำตอบดังกล่าวก็ถอดแว่นออกเช่นกัน จากนั้นคาบขาแว่น แสดงถึงความลุ่มหลงใหล ชื่นชอบประทับใจ อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ครุ่นคิดกระทำอะไรบางอย่างกับ Michel ก็เป็นได้
แล้วทำไมต้องไปถึงสนามบิน Paris Orly Airport (ORY)? นั่นเพราะการสัมภาษณ์ครั้งนี้มันช่างเต็มไปด้วยแนวคิด อุดมคติ ปรัชญาอันสูงส่ง ไม่ใช่ทุกคนบนภาคพื้นโลกจักสามารถรับรู้เข้าใจ ล่องลอยมาเหนือฟากฟ้านภาลัย (สนามบินยังมักใช้เป็นสถานที่แห่งความตาย วิญญาณล่องลอยสู่สรวงสวรรค์)
ระหว่างที่กำลังคาบขาแว่นอยู่นั้น จากโดยปกติที่มักตัดต่อ ‘jump cut’ ครานี้กลับพบเห็นในลักษณะซ้อนภาพ (Cross-Cutting) เป็นการสื่อถึงหญิงสาวกำลังครุ่นคิดถึงถ้อยคำเพิ่งได้ยิน ‘กลายเป็นอมตะ แล้วตกตายไป’ ผมก็ไม่รู้อะไรยังไง แต่มันต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับ Michel อย่างแน่ๆ
ขณะที่ Michel กำลังขับรถที่ปล้นมาไปขาย แต่เพราะใบหน้าของเขาปรากฎอยู่กลางหนังสือพิมพ์ ใครพบเห็นล้วนจดจำได้ทั้งนั้น จึงต้องเปลี่ยนแผนมารีดไถ ชิงทรัพย์เจ้าของอู่ ใช้ชีวิตบนความเสี่ยงตายอีกครั้ง! … คำว่า immortal ไม่ได้แปลว่า อมตะนิรันดร์ ไม่มีวันตายเท่านั้นนะครับ บางครั้งยังสื่อความถึงการกระทำที่นอกเหนือความเข้าใจมนุษย์ สังคมยินยอมรับไม่ได้ (การปล้น-ฆ่า ก่ออาชญากรรม สามารถเรียกว่าพฤติกรรมไม่กลัวตาย ‘immotal’ ก็ได้เช่นกัน!)
ระหว่างนั่งแท็กซี่เที่ยวชมเมือง Michel ชี้ให้เห็นถึงบ้านเกิดของตนเองยัง Rue de Vaugirad ซึ่งมีความเก่าแก่ยาวนาน จริงอยู่มันอาจดูโบร่ำราณ แต่เมื่อเทียบกับอีกตึกที่พึ่งก่อสร้างขึ้นใหม่ฝั่งตรงข้าม Rue Bonaparte แม้มีความโมเดิร์นสมัยใหม่ แต่มันกลับดูธรรมดา ไร้มนต์เสน่ห์ ทำลายทัศนียภาพอันงดงามไปโดยสิ้นเชิง!
สองช็อตนี้เป็นการนำเสนออดีต-ปัจจุบัน ห่างกันแค่ข้ามถนน! ซึ่งสามารถตีความได้ครอบจักรวาล เหมารวมถึงยุคสมัยของวงการภาพยนตร์ pre-Breathless และ post-Breathless เลยก็ยังได้
เมื่อสารวัตรตำรวจติดตามมาพบเจอ Patricia ปฏิกิริยาของเธอสังเกตได้ว่ามีลับลมคมใน ฝืนธรรมชาติอย่างชัดเจน! เมื่อแรกพบเห็นใบหน้า Michel ลืมตาโพลงกลับพูดบอกไม่รู้จัก แต่หลังจาก Inspector Vital ข่มขู่เรื่องพาสปอร์ต กลับสวมใส่แว่นดำแล้วบอกว่าคุ้นๆเหมือนคนรู้จัก … เอิ่ม ปกติมันควรจะสลับกันนะ คือสวมแว่นดำมักเพื่อปกปิดอาการตื่นตกใจ และถอดออกเมื่อกำลังพูดบอกความจริง
ระหว่าง Michel กำลังปกปิดบังใบหน้าด้วยหนังสือพิมพ์ จะพบเห็นการ์ตูนแถบ (Strip Comic) ชื่อเรื่อง Juliette de Mon Coeur แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ The Heart of Juliet Jones สร้างโดย Elliott Caplin, วาดโดย Stan Drake ตีพิมพ์ครั้งแรก 9 มีนาคม 1953 จนถึงฉบับสุดท้ายวันที่ 1 มกราคม 2000
การ์ตูนสามช่องเรื่องนี้ มักมีเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว พี่สาวผมน้ำตาล Juliet เป็นคนนอบน้อม อ่อนไหว ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน, น้องสาวผมบลอนด์ Eve นิสัยเห็นแก่ตัว แรดร่านผู้ชาย ชอบสร้างปัญหาให้พี่สาวและบิดา … เนื่องจากผมอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออก เลยบอกไม่ได้ว่าเรื่องราวในการ์ตูนมีความสัมพันธ์อะไรกับหนัง
ใครรับชมฉบับที่มีซับไตเติ้ลดีสักหน่อย น่าจะล่วงรู้ว่าซีเควนส์นี้คือการบันทึกภาพเหตุการณ์จริง ขบวนเสด็จฯ ปธน. Dwight D. Eisenhower ระหว่างกำลังเดินทางมายังประตูชัย Arc de triomphe de l’Étoile เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1959 (ถือเป็นครั้งที่สองของ Eisenhower เพราะก่อนหน้านี้เคยมาในฐานะนายพล ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1944) แต่สังเกตว่ามีการตัดต่อ ‘jump cut’ เพื่อไม่ให้เห็นหน้าท่านประธานาธิบดี … กลัวต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ กระมัง??
ยุคสมัยนั้นการถ่ายทำเหตุการณ์จริงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ต้องวางแผนเตรียมการมาอย่างดี (อย่างช็อตนี้พลาดแล้วก็พลาดเลยละ) ซึ่งนี่ถือเป็นอีกความท้าทายของผู้กำกับ Godard ไม่ใช่แค่บันทึกภาพประวัติศาสตร์ แต่ต้องการสื่อว่าภาพยนตร์จะถ่ายทำที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น!
แม้ฉากนี้เหมือนเป็นความบังเอิญ (เพราะโปรดักชั่นหนังก็ช่วงนี้พอดิบดี) แต่เราสามารถมองนัยยะความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศส-สหรัฐอเมริกา (Hollywood) ได้ด้วยเช่นกัน!
ระหว่างที่ Patricia หลบหนีการติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เธอแวะเวียนเข้าไปยังโรงภาพยนตร์ Cinéma Mac-Mahon ตั้งอยู่ย่าน Mac-Mahon เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1938 ปัจจุบันก็ยังดำเนินกิจการอยู่ (ผมบังเอิญค้นชื่อโรงหนังแห่งนี้แล้วพบเจอรอบฉาย ช่วงนี้มีแต่โปรแกรมหนัง Godard คาดว่าคงเป็นโปรแกรมรำลึก Retrospect อย่างแน่นอน)
ส่วนภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่นั้นคือ Whirlpool (1950) กำกับโดย Otto Preminger เรื่องราวของนักจิตวิทยาสาว Ann Sutton (รับบทโดย Gene Tierney) เป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomniac) หลังจากพบเจอชายนักสะกดจิต David Korvo โดยไม่รู้ตัวตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม
Ann: No matter what I tell you, you don’t want to hear the truth. You won’t let me tell it. You think I’m lying!
Whirlpool (1950) ฉากที่ Ann Sutton คุยกับสามี Dr. Sutton พยายามปกปิดความผิดของ David Korvo
Dr. Sutton: You are.
Ann: Oh no, Bill.
Dr. Sutton: Does this cheap parasite mean so much to you that you’re willing to risk everything to cover up for him?
ประโยคสุดท้ายได้ยินจากหนังขณะนี้ ถือว่าตรงต่อสิ่งที่ Patricia กำลังกระทำอยู่ นั่นคือพยายามปกปิด ให้ความช่วยเหลือ Michel หลบหลีกเอาตัวรอดจากตำรวจ แต่มันคุ้มกันแล้วหรือกับความเสี่ยงดังกล่าว?
หลังจากหลบหนีตำรวจมาได้ Patricia และ Michel ก็มารับชมภาพยนตร์อีกเรื่อง Westbound (1958) ยังโรงภาพยนตร์ Cinéma Napoléon บริเวณย่านหมายเลข 8th arrondissement of Paris ปัจจุบันกลายเป็นร้านค้าอะไรก็ไม่รู้
Male Voice: Beware, Jessica. On the kiss’s beveled edge, time is a void. Avoid, avoid memory’s broken pledge.
Female Voice: You’re wrong, sheriff. Your tale is noble and tragic like the mask of a tyrant. No drama so perilous or magnetic, no detail can make our love pathetic.
มันเป็นจังหวะพอดิบพอดีที่พอเสียงพากย์ผู้ชายดังขึ้น Michel ก็จุมพิตกับ Patricia จากนั้นเสียงของหญิงสาว แสดงความคิดเห็นขัดแย้ง แล้วกำลังกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ครั้งนี้ เป็นรักที่สุดมหัศจรรย์ น่าหลงใหล
น่าจะถือเป็นครั้งแรกๆของสื่อภาพยนตร์เลยกระมัง ที่(สามารถ)บันทึกภาพยามค่ำคืนของกรุง Paris ช่างเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ‘enchanting’ ยิ่งนัก! (อ้างอิงจากภาพยนตร์ Midnight in Paris (2011)) สถานที่ดังๆก็คาเฟ่ Le Select Montparnasse (เปิดกิจการตั้งแต่ปี 1923), บาร์เครื่องดื่ม La Pergola ปัจจุบันเป็นร้านอาหารอิตาเลี่ยน ฯลฯ
ชายคนนี้คือ Philippe de Broca (1933-2004) ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส แม้สนิทสนมกับแก๊งค์ French New Wave แต่ก็ไม่ถูกจัดเข้าพวก Cahiers du Cinéma หรือ Left Bank เพราะมักทำหนังตลาด เน้นความบันเทิง ผลงานดังๆอาทิ Swords of Blood (1962), That Man from Rio (1964) ฯลฯ เป็นเพื่อนสนิท/ร่วมงานขาประจำกับ Jean-Paul Belmondo
สตูดิโอถ่ายภาพแห่งนี้คือสถานที่ที่ Patricia เปิดเผยธาตุแท้ตัวตน (มันจะมีช็อตที่เธอเปิดผ้าม่านออกมา) แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดคือการเล่นละครตบตา หลังกลับจากโทรศัพท์แจ้งเบาะแสตำรวจ ก็เดินเวียนวนกลมรอบห้อง ต้องการโน้มน้าวให้ Michel หลบหนีออกไปจากสถานที่แห่งนี้ … กลับตารปัตรจากก่อนหน้านี้ที่เขาพยายามสรรหาสรรพวิธีโน้มน้าวชักจูงให้เธอตกหลุมรัก มาคราวนี้หญิงสาวครุ่นคิดว่าตนเองคงสามารถเกลี้ยกล่อมเกลา แต่ที่ไหนได้!
แซว: สังเกตว่าชุดของทั้งสองหวนกลับมาลายทางตรง-ลายทางขวาง ครุ่นคิดเห็นต่างกันอีกแล้วหรือนี่
ก่อนหน้านี้จะมีฉากที่ Patricia วิ่งตามจุดเป็นเส้นตรง แสดงอาการเพลิดเพลินสำเริงกาย-ใจ หลังใช้เวลาค่ำคืนครองรักแฟนหนุ่ม ผิดกับการเริงระบำแห่งความตายของ Michel หลังจากถูกแฟนสาวทรยศหักหลัง ออกเดินวิ่งตุปัดตุเป๋ยังถนน Rue Campagne-Première (น่าเสียดายที่ถนนสายนี้เปลี่ยนมาเทยางมะตอยไปเสียแล้ว)
ถ้ามองผิวเผิน ท่าทางการวิ่งคงสะท้อนสภาวะทางอารมณ์/สภาพจิตใจตัวละคร ขณะเดียวกันยังสามารถสื่อถึงวิถีภาพยนตร์ยุค pre-Breathless และ post-Breathless จากเคยดำเนินเป็นเส้นตรงตามทิศทางกำหนดไว้ กลายเป็นซิกแซกคาดเดาอะไรไม่ได้
Patricia คงรู้สึกผิดอยู่ไม่น้อย เพราะขณะวิ่งติดตามมีการยกมือวางทาบตรงหัวใจ (ภาษากายแสดงถึงความเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน) คาดไม่ถึงว่า Michel จะยินยอมเลือกความตาย ปฏิเสธหลบหนีเอาตัวรอด นั่นทำให้เมื่อมาถึงตำแหน่งที่เขาล้มลง ก้มลงมองและยกมือขึ้นบดบังใบหน้า
เมื่อ Michel วิ่งจนหมดเรี่ยวแรง ทรุดล้มลง จะมีการพ่นควันบุหรี่ออกมา ใครเพิ่งรับชมครั้งแรกๆคงรู้สึกฮาขบขัน เพราะมันแสดงถึงความตลกร้ายของชื่อหนัง Breathless หรือภาษาฝรั่งเศส À bout de souffle หมายถึง Out of Breath, ผมมาครุ่นคิดดูสักพักไม่รู้ทำไมนึกถึงท่อไอเสียรถยนต์ (หนังเรื่องนี้มันก็สไตล์ GTA-Grand Thief Auto ขโมยรถเป็นว่าเล่น!) นอกจากการพ่นมลพิษสู่โลก ยังหมายถึงเชื้อเพลิงกำลังหมด รวมถึงลมหายใจ
คำพูดประโยคสุดท้ายของ Michel ชาวฝรั่งเศสคงเข้าใจไม่ยาก แต่ต่างชาติอย่างเราๆก็ได้แต่เกาหัวกับซับไตเติ้ล ไม่รู้เจ้าไหนถูกต้องที่สุด เพราะคำว่า dégueulasse สามารถแปลว่าน่ารังเกียจ ขยะแขยง ชวนให้คลื่นไส้ และยังรวมไปถึง scumbag/coward ขี้ขลาดตาขาว (เป็นคำดูถูกหญิงสาวที่ Michel พูดกล่าวถึงบ่อยครั้งทีเดียว)
- ต้นฉบับฝรั่งเศส: C’est vraiment dégueulasse.
- แปลเวอร์ชั่นหนึ่ง: It’s really disgusting.
- แปลเวอร์ชั่นสอง: You’re a real scumbag.
- แปลเวอร์ชั่นสาม (Criterion ฉบับปี 2007): Makes me want to puke.
- แปลเวอร์ชั่นสี่ (ฉบับบูรณะปี 2010): You are a real creep.
ถ้าตามบริบทของหนัง คำพูดสุดท้ายของ Michel ชี้เป้าไปที่ Patricia แต่เราสามารถตีความถึงวงการภาพยนตร์ยุคสมัยเก่า (pre-Breathless) หรือคือการโจมตี Hollywood ตรงๆเลยก็ยังได้
สำหรับคำพูดสุดท้าย Patricia คือความฉงนสงสัย ไม่เข้าใจคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า Michel ต้องการสื่อถึงอะไร? ผู้ชมก็เช่นกันนะ!
- ต้นฉบับฝรั่งเศส: Qu’est-ce que c’est “dégueulasse”?
- แปลเวอร์ชั่นหนึ่ง: What is “disgusting”?
- แปลเวอร์ชั่นสอง: What’s a scumbag?
- แปลเวอร์ชั่นสาม (Criterion ฉบับปี 2007): What’s that mean, “puke”?
- แปลเวอร์ชั่นสี่ (ฉบับบูรณะปี 2010): What’s a creep?
เกร็ด: ตอนจบของภาพยนตร์เรื่อง High Sierra (1941) ที่นำแสดงโดย Humphrey Bogart หลังจากตัวละครของ Bogie ถูกเข่นฆ่าเสียชีวิต แฟนสาวของเขาก็พูดสอบถามประโยคคล้ายๆกัน
Mister, what does it mean… when a man “crashes out”?
Marie Garson (รับบทโดย Ida Lupino)
ภาพปฏิกิริยาสุดท้ายของ Patricia คือลูบริมฝีปาก เลียนแบบท่วงท่าของ Michel (ที่ก็ลอกมาจาก Bogie อีกทีหนึ่ง) สามารถสื่อถึงการยินยอมรับอิทธิพล แนวคิด วิถีชีวิต ความตายของเขาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง … ก่อนสุดท้ายจะหันหลังกลับ เพื่อสื่อถึงการละทอดทิ้งตัวตนเอง แล้วจากไป FIN!
ตัดต่อโดย Cécile Decugis (1934-2017) สัญชาติฝรั่งเศส หนึ่งในขาประจำผู้กำกับ French New Wave เคยร่วมงานผู้กำกับ Jean-Luc Godard ตั้งแต่หนังสั้น Charlotte et son Jules (1958), โด่งดังกับ Breathless (1960), Shoot the Piano Player (1960), My Night at Maud’s (1969), Claire’s Knee (1970), Love in the Afternoon (1972), The Marquise of O (1976) ฯลฯ
ฉบับแรกที่ตัดต่อเสร็จได้ความยาวกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง! โปรดิวเซอร์ Beauregard บอกว่านานเกินไป เลยขอคำปรึกษาจากผู้กำกับรุ่นพี่ Jean-Pierre Melville ให้คำแนะนำสมฐานะ ‘godfather’ แห่งยุคสมัย French New Wave
I told him to cut everything that didn’t keep the action moving, and to remove all unnecessary scenes, mine included. He didn’t listen to me and instead of cutting whole scenes as was the practice then, he had the brilliant idea of cutting more or less at random within scenes. The result was excellent.
Jean-Pierre Melville
เกร็ด: Jean-Pierre Melville เคยทำการทดลอง ‘jump cut’ เพียงครั้งเดียวในภาพยนตร์ Bob le Flambeur (1956) แต่มันก็ไม่ได้ดูหวือหวา น่าตื่นตาตื่นใจ ถึงอย่างนั้นใครๆต่างเชื่อกันว่านั่นคือแรงบันดาลใจให้ Jean-Luc Godard เลยละ!
เกร็ด2: ภาพยนตร์เรื่องแรกจริงๆที่ทำการทดลองเทคนิค ‘jump cut’ นั่นคือ Man with a Movie Camera (1929)
การหั่นตรงโน้นนิด เล็มตรงนี้หน่อย ไม่ได้ทำอย่างมั่วๆซั่วๆ แต่มีการเลือกเฉพาะฉากที่มีความเยิ่นเย้อยืดยาว รู้สึกน่าเบื่อหน่าย จุดประสงค์เพื่อกระโดดข้ามรายละเอียดที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ ยกตัวอย่างการสนทนาระหว่างขับรถ ‘jump cut’ มาพร้อมประโยคพูดรวบรัดตัดตอน ให้ความรู้สึกเหมือนกระโดดข้ามถ้อยคำพร่ำเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ตัดทิ้งไป!
หลายคนมักตีความ ‘jump cut’ ทำให้ผู้ชมเกิดพลัง อะดรีนาลีน เลือดลมสูบฉีด เหมือนจังหวะการหายใจสั้นๆเร็วๆระหว่างออกกำลังกาย (เหมือนหนังแอ๊คชั่นสมัยนี้ กล้องสั่นๆ ตัดต่อเร็วๆ จักสร้างความตื่นเต้นรุกเร้าใจ) แต่มันก็มีข้อเสียคือทำให้เหตุการณ์ในฉากนั้นๆขาดความต่อเนื่องลื่นไหล ดูไม่เป็นธรรมชาติ และไม่สามารถสัมผัสอารมณ์จากการแสดงได้เลย (เพราะถูกกลบเกลื่อนจากเทคนิคดังกล่าว)
แซว: ชื่อหนัง Breathless หรือภาษาฝรั่งเศส À bout de souffle (แปลว่า Out of Breath) ล้วนเกี่ยวกับลมหายใจ ซึ่งเทคนิคตัดต่อ ‘jump cut’ มันเป็นความบังเอิญสอดคล้องนัยยะชื่อหนังได้อย่างน่าอึ้งทึ่ง!
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของโจรกระจอก Michel Poiccard หลังจากขโมยรถหรู ออกเดินทางจาก Marseille มุ่งสู่ Paris เพื่อเกี้ยวพาราสีนักศึกษาสาวชาวอเมริกัน Patricia Franchini พยายามโน้มน้าวชักชวนให้ร่วมหลบหนีไปยังอิตาลี แต่จนแล้วจนรอดก็มิอาจหลุดพ้นโชคชะตากรรม
- อารัมบท Michel ลักขโมยรถหรู ออกเดินทางจาก Marseille มุ่งสู่ Paris
- ชีวิตใน Paris ของ Michel และ Patricia
- เดินทางมาถึงที่พักของ Patricia กลับไม่พบเจอใคร เลยไปหยิบยืมเงินจากอดีตแฟนสาว Liliane
- พยายามติดตามหา Antonio เพื่อทวงเงินที่เคยฝากไว้ (หรือจากเคยร่วมก่ออาชญากรรมก็ไม่รู้นะ)
- พบเจอ Patricia กำลังขายหนังสือพิมพ์ New York Herald Tribune
- ขับรถเที่ยวเล่นรอบกรุง Paris
- แอบติดตาม Patricia พรอดรักกับแฟนหนุ่ม
- Michel พยายามพรอดรัก เกี้ยวพาราสี Patricia
- เช้าวันถัดมา Michel หลับนอนอยู่ในห้องของ Patricia
- จากนั้นพูดคุยสนทนา เกี้ยวพาราสี และร่วมรักหลับนอน
- Patricia หลังรับรู้ว่า Michel คืออาชญากรหลบหนี
- Michel ขับรถมาส่ง Patricia เพื่อสัมภาษณ์ Parvulesco (รับบทโดย Jean-Pierre Melville)
- แล้วนั่ง Taxi มายังสำนักพิมพ์ ทำให้ Patricia พบเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพิ่งรับรู้ว่า Michel คืออาชญากรหลบหนี
- พยายามหาหนทางหลบหนีตำรวจ แล้วมาพบเจอ Antonio แนะนำสถานที่หลบลี้ภัย (Safehouse)
- เช้าวันถัดมา Patricia ระหว่างออกไปซื้ออาหาร ตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งตำรวจ กลับมาร่ำลา Michel
- แม้ได้รับกระเป๋าเงินจาก Antonio แต่ทว่า Michel กลับไร้เรี่ยวแรงพลังใจที่จะรีบหลบหนี
เอาจริงๆหนังสามารถแบ่งแยกย่อยได้มากกว่านี้ แต่ผมมองฉาก Michel พยายามพรอดรัก/เกี้ยวพาราสี Patricia คือจุดหมุน/กึ่งกลางของเรื่องราว เพราะระยะเวลาเกือบๆครึ่งชั่วโมง (ประมาณ 25 นาที) อยู่แต่เพียงภายในห้องพัก อพาร์ทเม้นท์ของหญิงสาว … รับชมรอบนี้ผมก็ยังรู้สึกว่าเป็นฉากที่เยิ่นยาวเกินไป แถมแทบไม่มี ‘jump cut’ ช่วยสร้างความน่าหลงใหล แต่เราสามารถวิเคราะห์ถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ชาย-หญิง มีลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ (อ้างอิงจากเสื้อผ้าที่ตัวละครสวมใส่)
- Michel สวมชุดอาบน้ำลายทางตรง, Patricia สวมเสื้อยืดลายทางขวาง (กำลังโอบอุ้มน้องหมีอย่างไร้เดียงสา) เป็นช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต่างเป็นตัวของตนเอง ยังไม่สามารถปรับตัวเข้าหากัน พบเห็นความต่างแตกต่างในหัวข้อสนทนาด้วยเช่นกัน
- Michel ถอดชุดอาบน้ำออกเหลือเพียงกางใน พยายามแสดงความบริสุทธิ์จริงใจ ให้หญิงสาวบังเกิดความลุ่มหลงใหล (แต่มันก็สื่อถึงความต้องการที่เพียงเพศสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน)
- Patricia เข้าไปในห้องน้ำ เปลี่ยนมาสวมชุดแขนกุดลายทางตรง เหมือนว่าจะเริ่มแสดงความสนใจฝ่ายชาย ยินยอมให้โอบกอดลูบไล้ (มักถ่ายภาพระยะใกล้ Close-Up) และที่สุดก็ร่วมรักหลับนอน (ภายใต้ผีผ้าห่ม)
- หลังเสร็จกามกิจ Patricia สวมใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวลายทางตรงของ Michel สามารถสื่อถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เหมือนว่าจะตกหลุมรักอีกฝั่งฝ่าย
- และทั้งสองลุกขึ้นมาสวมใส่เสื้อผ้า เตรียมตัวออกไปทำงาน กลับสู่โลกความเป็นจริง
เพลงประกอบโดย Martial Solal (เกิดปี 1927) คีตกวี/นักเปียโนแจ๊ส สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Algiers, French Algeria ในครอบครัวเชื้อสาย Jews มารดาเป็นนักร้องอุปรากร เลยพยายามโน้มน้าวบุตรชายให้ร่ำเรียนดนตรีตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเคยถูกไล่ออกจากโรงเรียน (เพราะ French Algeria อยู่ภายใต้การปกครองของ Vichy France ที่ให้การสนับสนุน Nazi Germany) เลยศึกษาดนตรีคลาสสิกด้วยตนเอง จนมีโอกาสทำการแสดงให้ทหารอเมริกันที่เข้ามายึดคืนประเทศ, หลังจากนั้นย้ายมาปักหลักกรุง Paris กลายเป็นนักแต่งเพลง ออกอัลบัมเดี่ยว ร่วมงานศิลปิน Django Reinhardt, Sidney Bechet, Don Byas และทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Two Men in Manhattan (1959), Breathless (1960), Testament of Orpheus (1960), Léon Morin, Priest (1961) ฯ
ผู้กำกับ Jean-Pierre Melville ซึ่งเคยร่วมงาน Martial Solal ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Two Men in Manhattan (1959) เป็นคนแนะนำ Jean-Luc Godard ให้ได้พบเจอ เลือกใช้นักแต่งเพลงคนนี้ … แต่เหมือนว่า Godard จะไม่มีความสนใจในเพลงประกอบสักเท่าไหร่ เลยเอาหนังที่ตัดต่อแล้วเสร็จมาเปิดให้ Solal บอกเพียงแค่อยากได้เครื่องดนตรี Banjo แค่นั่นแล้วก็จากไป ไม่รู้ว่าพูดทีเล่นทีจริง ไม่ได้บอกว่าต้องการกี่เพลง ใส่ตรงไหน สไตล์อะไร อารมณ์ยังไง
Solal เลยทำเพลงแบบตามใจ ใช้ดนตรีแนวถัด Jazz แต่เป็นแบบวงใหญ่ Big Band ประกอบด้วยเครื่องดนตรีกว่า 30 ชิ้น! (เจ้าตัวบอกว่าไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน แต่เมื่อได้รับอิสรภาพก็เลยอยากทดลองสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ) ซึ่งต้องถือว่ามีความเข้ากับสไตล์หนังเอามากๆ ตั้งแต่ตัวละครที่มักครุ่นคิด-พูดสนทนา-กระทำสิ่งต่างๆตามใจ อารมณ์ก็ผันแปรเปลี่ยนไปมา และโดยเฉพาะลีลาตัดต่อ ‘jump cup’ จักยิ่งสร้างความตื่นเต้นรุกเร้าใจ
แต่ผมขอเริ่มที่บทเพลง New York Herald Tribune เสียงเปียโนมอบสัมผัสโรแมนติก ความรักมันช่างหวานแหวว เพิ่มความซาบซ่านด้านการประสานเสียงไวโอลิน ขับเน้นให้ Jean Seberg เจิดจรัสเหลือเกิ้น … แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าใครสังเกตลักษณะการบรรเลงของบทเพลงนี้ ท่อนหลักๆล้วนมีการไล่โน๊ตจากสูงลงต่ำ (ราวกับสรวงสวรรค์ลงสู่ขุมนรก) ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นอายเศร้าๆ เหงาๆ เหมือนมีการซุกซ่อนเร้นลับลมคมในบางอย่าง
La Mort (แปลว่า The Death) เริ่มต้นด้วยการประสานเสียงเครื่องดนตรีดังกระหึ่ม เน้นย้ำอยู่สองสามครั้ง ราวกับลมหายใจห้วงสุดท้าย แล้วติดตามด้วยเสียงแซกโซโฟน ชวนให้โยกเต้น เริงระบำบนเส้นทางแห่งความตาย ไม่มีใครไหนสามารถหลบหนีพ้นโชคชะตากรรม
แล้วเมื่อนำทั้งสองบทเพลงมารวมกัน New York Herald Tribune + La Mort กลายมาเป็น L’Amour, La Mort ที่เริ่มต้นด้วยเสียงแห่งความตาย แต่ท่วงทำนองหวานแหววโรแมนติกของ New York Herald Tribune กลับเต็มไปด้วยความหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา แท้จริงแล้วหญิงสาวไม่ได้ยี่หร่ากับความรักของชายหนุ่มสักเท่าไหร่ … เขาเพิ่งมาตระหนักได้ก็เมื่อกำลังจะหมดสิ้นลมหายใจ (หรือจะมองว่าขาดเธอคือขาดใจตาย ก็ได้เช่นกัน)
ส่วนบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดในอัลบัมชื่อว่า Poursuite (แปลว่า Pursuit) คือฉากการไล่ล่า-หลบหนี ท่วงทำนองมีความตื่นเต้นเร้าใจ ด้วยดนตรีสไตล์ Jazz ใครช่างสังเกตจะพบว่ามีลักษณะรุก-รับ เปียโนเล่น-หยุด คั่นด้วยเสียงรัวกลอง ซึ่งสอดคล้องการตัดต่อสลับไปมาระหว่างผู้ไล่ล่า-หลบหนี เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา จนกว่าฝั่งฝ่ายใดจะหลุดจากวังวนดังกล่าว
นอกจาก Original Soundtrack ยังได้ยินบทเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง Mozart: Clarinet Concerto in A major, K. 622 บอกใบ้โชคชะตากรรมตัวละคร เพราะนี่คือ Swan Song หนึ่งในผลงานชิ้นสุดท้ายที่ Mozart ประพันธ์เสร็จสมบูรณ์ก่อนเสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1791
แซว: ความที่ตัวละครของ Jean-Paul Belmondo พูดบอกว่าบิดาเป็นนัก Clarinetist ทำให้ผมลองค้นหาข้อมูลและค้นพบญาติฝั่งมารดาของผู้กำกับ Godard เป็นนักแต่งเพลง Jacques-Louis Monod (1927-2020) คาดว่าน่าจะคงเคยพบเจอ/รับรู้จักกันอยู่กระมัง
ภาพยนตร์ยุคคลาสสิก (Classical Cinema) คือช่วงเวลาที่ภาพยนตร์สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก มีเรื่องราวและวิธีการนำเสนอที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ด้วยโครงสร้าง 3 องก์ (ปูเรื่อง, เผชิญหน้า, แก้ไขปัญหา) และมักแฝงข้อคิดสาระประโยชน์ ภายใต้กฎกรอบข้อตกลงร่วมกันของสังคม (Hays Code หรือกองเซนเซอร์ประเทศต่างๆ)
ภาพยนตร์ยุคสมัยใหม่ (Modern Cinema) บ้างก็ให้คำนิยามง่ายๆว่าคือความพยายามทำให้ภาพยนตร์แตกต่างจากยุคสมัยคลาสสิก (Classical Cinema) ไม่จำเป็นต้องรู้สึกบันเทิงเริงใจหรือแฝงสาระข้อคิด มีการนำเสนอเรื่องราวที่สลับซับซ้อน ไม่ยึดติดกับโครงสร้าง กฎกรอบข้อบังคับทางสังคม หรือรูปแบบวิธีการนำเสนอ/ภาษาภาพยนตร์
บรรดานักวิจารณ์ นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ พยายามมองหาช่วงเวลาสำหรับแบ่งแยกยุคสมัย Classical Cinema vs. Modern Cinema
- บ้างเริ่มนับตั้งแต่ Citizen Kane (1941) เพราะโครงสร้างดำเนินเรื่องมีความสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยเทคนิควิธีการนำเสนอที่ล้ำยุคสมัย ถึงอย่างนั้นเนื้อเรื่องราวยังมีความเป็นคลาสสิก แฝงข้อคิด และอยู่ภายใต้กฎกรอบข้อตกลงร่วมกันทางสังคม (ถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมดด้วยนะ!)
- บ้างเริ่มนับที่ Rome, Open City (1945) จุดเริ่มต้นยุคสมัย Italian Neorealist เพราะคือภาพยนตร์ถ่ายทำนอกสตูดิโอ บันทึกวิถีชีวิต สภาพความเป็นจริง แต่เพราะเนื้อเรื่องราวมักมีทิศทางเดียวกัน ออกไปทางสารคดี นำเสนอความทุกข์ยากลำบากของชีวิต เลยยังขาดความหลากหลายในการนำเสนอ
การมาถึงของ French New Wave เอาจริงๆต้องเริ่มนับตั้งแต่ The 400 Blows (1959) มีความครบเครื่องที่สุดของ Modern Cinema แต่บรรดานักวิจารณ์/นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์กลับยกให้ Breathless (1960) ผมคาดว่าส่วนหนึ่งเพราะเทคนิค ‘jump cut’ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังก้าวกระโดดสู่อีกยุคสมัย
ถ้าพิจารณาในส่วนเนื้อเรื่องราว The 400 Blows (1959) ถือเป็นการอารัมบท(ของเด็กหนุ่ม)เพิ่งเริ่มต้นพฤติกรรมหัวขบถ(กระทำสิ่งต่อต้านขัดขืนขนบกฎกรอบทางสังคม โหยหาอิสรภาพชีวิต) และตอนจบมอบความรู้สึกไม่แน่นอน ยังไม่รับรู้ว่าอนาคตจักดำเนินต่อไปเช่นไร(แช่ภาพแล้วซูมเข้าหาใบหน้าเด็กชาย) ผิดกับ Breathless (1960) ที่พระเอกพร้อมเผชิญหน้าท้าต่อยตี ถูกตำรวจไล่ล่าก็เข่นฆ่าแม้งเลย! เรียกว่าพร้อมแหกขนบกฎกรอบทุกสิ่งอย่าง ไม่สนห่าเหวอะไรใคร นอกจากเสรีภาพของตนเอง นั่นคือทัศนคติของนักปฏิวัติ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองโลกทัศน์ผู้ชมสมัยนั้นได้โดยทันที!
ทำไมฉันต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง? สรรค์สร้างงานศิลปะตามรูปแบบวิถีเคยมีมา? การเป็นโจร ฆาตกร อาชญากร หรือนักเลงภาพยนตร์ ย่อมสามารถกระทำสิ่งตอบสนองตัณหา ความพึงพอใจส่วนตน ไม่ต้องสนหัวอะไรใคร เต็มที่กับทุกวี่วัน เมื่อความตายมาเยือนจักได้กลายเป็นนิรันดร์
Breathless is my film, but it’s not me. It is only a variation on a theme of Truffaut who had the idea for the scenario. Using Truffaut’s theme, I told the story of an American girl and a Frenchman. Things couldn’t go well between them, because he thinks about death all the time, while she never gives it a thought.
The guy is obsessed with death, even has presentiments of it. This is why I shot the scene of the accident where he sees a man die on the street. I quoted the phrase of Lenin’s — “We’re all dead men on leave” — and I chose the Clarinet Concerto by Mozart since he wrote it just before he died.
Jean-Luc Godard
ผมไม่คิดว่า ‘ความตาย’ ที่ผู้กำกับ Godard ครุ่นคิดเมื่อตอนสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ จะคือสิ่งเดียวกับตอนเลือกจบชีวิตด้วยการทำการุณยฆาตหรอกนะครับ … เพราะนี่คือผลงานเรื่องแรก จึงยังเต็มเปี่ยมพลัง ความคาดหวัง เลยนำเสนออุดมการณ์เป้าหมาย อนาคตที่อยากให้บังเกิดขึ้น(ต่อวงการภาพยนตร์) และบั้นปลายชีวิตของตนเอง ซึ่งความตายของตัวละครน่าจะต้องการสื่อถึงจุดสิ้นสุดยุคสมัย หลังจากนี้วงการภาพยนตร์จะปรับเปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งเรายังสามารถเปรียบเทียบ Michel คือตัวแทนวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส (ที่กำลังดิ้นรนเฮือกสุดท้ายก่อนตกตายไป) ส่วน Patricia หญิงสาวชาวอเมริกันมาจาก Hollywood (มีความดัดจริต เต็มไปด้วยลูกเล่ห์ มารยาเสน่ห์ หาความจริงใจไม่ได้เลยสักนิด!) นั่นทำให้คำพูดตอบจบ(ของ Michel) เป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับ Godard (ต่อวงการ Hollywood) ใครเคยติดตามหลายๆบทสัมภาษณ์ ก็เต็มไปด้วยคำด่าพ่อล่อแม่ทั้งนั้น
I pity the French Cinema because it has no money. I pity the American Cinema because it has no ideas.
Movies in Hollywood now, for the past 20 or 30 years, are made mainly by lawyers or agents.
Americans have no past, so they buy the pasts of others. Europe has memories, America has t-shirts.
Spielberg, like many others, wants to convince before he discusses. In that, there is something very totalitarian.
American pictures usually have no subject, only a story. A pretty woman is not a subject. Julia Roberts doing this and that is not a subject.
In films, we are trained by the American way of moviemaking to think we must understand and ‘get’ everything right away. But this is not possible. When you eat a potato, you don’t understand each atom of the potato!
Jean-Luc Godard
การลูบริมฝีปากตอนจบของ Patricia เธอคงไม่ได้ลอกเลียนแบบ Humphrey Bogart แต่เป็น Michel ที่สร้างอิทธิพล/แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตหลังจากนี้ หรือคือความคาดหวังของผู้กำกับ Godard ต่อวงการ Hollywood จะรับเอาความเปลี่ยนแปลงคลื่นลูกใหม่ไปปรับประยุกต์ใช้กับตนเอง … เรื่องของอิทธิพลการสรรค์สร้างภาพยนตร์ มันก็เวียนวนไปวนมาอยู่อย่างนี้แหละครับ เดี๋ยวยุโรป เดี๋ยวอเมริกา เอเชียก็พอมี เพราะศิลปินสามารถเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกกลมๆ
ในบรรดาประโยคเด็ดจากภาพยนตร์ Breathless (1960) วลีอมตะที่สุดย่อมคือคำตอบของ Jean-Pierre Melville ระหว่างการสัมภาษณ์ที่สนามบิน Patricia พยายามแทรกถามอยู่หลายครั้ง อะไรคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิต?
Patricia: What is your greatest ambition in life?
Jean-Pierre Melville: To become immortal … and then die.
เพราะเป็นประโยคที่ออกจากปาก Melville ทำให้ผมลังเลเล็กๆว่า Godard ครุ่นคิดคำตอบเองหรือเปล่า? แต่ถึงไม่ใช่ก็น่าจะได้รับการสืบทอดแนวคิด/เป้าหมายชีวิตดังกล่าวมาเต็มๆ (สมควรอย่างยิ่งเลยละที่บรรดาผู้กำกับรุ่น French New Wave จะยกให้ Jean-Pierre Melville คือบิดาทูนหัว ‘godfather’)
รับชม Breathless (1960) หลังการเสียชีวิตของ Jean-Luc Godard แม้ส่วนตัวจะไม่ชอบอุปนิสัย/ตัวตนสักเท่าไหร่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคือนักเลง นักปฏิวัติแห่งวงการภาพยนตร์ สามารถไต่เต้าถึงจุดสูงสุด กลายเป็นอมตะและตกตายอย่างที่เพ้อฝันไว้อย่างสมบูรณ์แบบ
We barged into the cinema like cavemen into the Versailles of Louis XV.
Jean-Luc Godard กล่าวถึงก้าวแรกในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์
ด้วยทุนสร้าง FRF 400,000 ฟรังก์ฝรั่งเศส (ประมาณ $80,000 เหรียญ) เข้าฉายในฝรั่งเศสวันที่ 16 มีนาคม 1960 แต่ไม่ใช่ตามโรง Art-House อย่างที่หลายคนครุ่นคิดเข้าใจ กลับเป็นในเครือข่ายโรงหนังทั่วๆไปจำนวน 4 แห่ง ด้วยเสียงตอบรับดียอดเยี่ยมและกระแสปากต่อปาก ทำให้ยอดจำหน่ายตั๋ว 4 สัปดาห์แรกสูงถึง 259,046 ใบ! รวมตลอดทั้งโปรแกรม 2.296 ล้านใบ ประเมินว่าสามารถทำกำไรสูงกว่าเงินลงทุน 50+ เท่าตัว!
หนังได้เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ด้วยนะครับ แต่เหมือนจะเป็นรอบพิเศษ (เพราะไม่มีรายชื่อใน-นอกสายการประกวด และสมัยนั้นยังไม่มี Directors’ Fortnight ด้วยนะ!) ส่วนไฮไลท์คือเทศกาลหนังเมือง Berlin ช่วงนั้นยังจัดเดือนมิถุนายน ประธานกรรมการ Harold Lloyd มอบรางวัล Silver Berlin Bear: Best Director
นอกจากนี้ช่วงปลายปี ยังได้เข้าชิงและลุ้นอีกหลายรางวัล (สมัยนั้นยังไม่มี César Awards)
- เข้าชิง BAFTA Awards: Best Foreign Actress (Jean Seberg)
- คว้ารางวัล Prix Jean Vigo: Feature Film
- นิตยสาร Cahiers du Cinéma มีการโหวต Top 10 Film Award ติดอันดับ 3 แห่งปี (รองจาก Sansho the Bailiff (1954) และ L’avventura (1960))
- French Syndicate of Cinema Critics มอบรางวัล Critics Award: Best Film เคียงคู่กับ Le Trou (1960)
ความยิ่งใหญ่ของ Breathless (1960) เริ่มขึ้นไม่นานหลังจากออกฉาย เมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกา กลายเป็นอิทธิพลให้บรรดาผู้กำกับรุ่นใหม่ New Hollywood (บางทีก็เรียกว่า American New Wave) ซึ่งภายหลังการล่มสลายของ Hays Code คือหนึ่งในแรงบันดาลใจภาพยนตร์ Bonnie and Clyde (1967)
There are precious few titles in the history of cinema that can truly be called ‘revolutionary,’ and Godard’s Breathless is one of those few – it gave us a new way of making movies and a new way of thinking about them, a new rhythm of life, a new way of looking at ourselves.
Martin Scorsese
อิทธิพลที่ค่อยๆแพร่กระจายออกสู่วงกว้าง ทำให้หนังได้คำยกย่องชื่นชม กลายเป็นหนึ่งใน ‘ตำราภาพยนตร์’ ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก การันตีจากผลโหวตของหลายๆสำนัก
- อันดับ 15 นิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll เมื่อปี 2002
- อันดับ 13 นิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll เมื่อปี 2012
- อันดับ 11 นิตยสาร Sight & Sound: Director’s Poll เมื่อปี 2012
- อันดับ 65 นิตยสาร Cahiers du cinéma: Top 100 of all time
- อันดับ 75 นิตยสาร Empire: The 100 Best Films Of World Cinema
หนังได้รับการบูรณะครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2010 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ภายใต้การดูแลของตากล้อง Raoul Coutard จากนั้นอีกทศวรรษถัดมาก็ปรับปรุงคุณภาพ 4K โดยสตูดิโอ Studiocanal ร่วมกัน CNC (Centre National du Cinéma et de l’Image Animée) และเข้าฉายเทศกาลหนัง Cannes Classics 2020
ปล. ผมไม่แน่ใจว่า Criterion ได้ปรับเปลี่ยนคุณภาพหนังมาเป็น 4K แล้วหรือยัง (เพราะออกเป็น Blu-Ray ตั้งแต่การบูรณะเมื่อปี 2010) แต่เห็นค่ายอื่นๆทะยอยออกแผ่นกันแล้วนะครับ ใครสะสมภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะซื้อกันเหนื่อยทีเดียว
ส่วนตัวผมไม่ชอบหนังเรื่องนี้เลยนะ โดยเฉพาะอุปนิสัย-แนวความคิด-พฤติกรรมตัวละครหลักทั้งสอง มันแสดงถึงสันดานธาตุแท้-ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ยิ่งนำเสนอแบบ Anti-Hero ผู้ชมรู้สึกสงสาร-ห่วงใย-อยากให้กำลังใจ แทนที่จะได้รับบทเรียนจากผลการกระทำ กลับกลายเป็นยกย่องเชิดชู ครุ่นคิดลอกเลียนแบบตาม! มันเหมือนเราเห็นนักเลงรุ่นพี่ทำตัวกร่างๆ ชอบรีดไถเงิน กลั่นแกล้งใช้กำลังกับผู้อื่น แล้วใครต่อใครสรรเสริญว่าเท่ห์ ยิ่งใหญ่ ไอดอล ต้องการเลียนแบบอย่าง … ตรรกะแบบนี้มันใช่เหรอครับ?
ผมเข้าใจนะว่า Breathless (1960) มีอิทธิพลอะไร ยิ่งใหญ่ขนาดไหน สามารถครุ่นคิดตีความในเชิงสัญลักษณ์ยังไง แต่ว่ากันตามตรงมันไม่ใช่หนังที่ผู้ชมทั่วไปสามารถเข้าถึง มองผ่านเปลือกภายนอกที่มีความเป็น Godard และ Godard มากจนเกินไป (แถมถ้าคุณไม่เคยรับชมผลงานอื่นของผู้กำกับ Godard ก็อาจไม่เข้าใจอะไรหลายๆอย่าง) … อยากให้ลองทบทวนว่า ถ้า Breathless (1960) ไม่ได้เปิดประตูสู่ ‘ภาพยนตร์ยุคสมัยใหม่’ คุณภาพของหนังสมควรค่าเรียกว่ามาสเตอร์พีซหรือไม่?
Breathless was a mistake. There used to be just one way. There was one way you could do things. There were people who protected it like a copyright, a secret cult only for the initiated. That’s why I don’t regret making Breathless and blowing that all apart.
When I shot Breathless, I thought I was doing something very specific. I was directing a thriller, a gangster movie. When I saw it for the first time, I understood that I had done something quite different. I thought I was filming Son of Scarface or Scarface Returns and I realized that I had rather filmed Alice in Wonderland, more or less.
Jean-Luc Godard
ผมมักเรียก Jean-Luc Godard ว่าเป็น ‘นักเลงภาพยนตร์’ ที่สนใจเพียงตอบสนองตัณหา ความต้องการของตนเอง ครุ่นคิดกระทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด แหกคอก นอกรีต ไม่สนกฎระเบียบ พร้อมท้าต่อยตีกับใครต่อใคร เชื่อมั่นในเสรีภาพของการสรรค์สร้างงานศิลปะ
คนที่เป็นติ่งของ Godard จักมีคำเรียก ‘ไพร่ภาพยนตร์’ เพราะผลงานของปู่แกล้วนมีความเฉพาะเจาะจง ยากที่จะทำความเข้าใจ แต่ง่ายที่จะลุ่มหลงใหล ซึ่งพอเกิดอาการคลั่งไคล้ก็มักกลายเป็นเหมือนเด็กอาชีวะ ทำตัวกร่าง วางตัวหัวสูงส่ง ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง (ที่สามารถทำความเข้าใจหนังของ Godard) เต็มไปด้วย ‘อัตตา’ ชอบท้าต่อยตีกับใครอื่นไปทั่ว
นอกจาก Jean-Luc Godard ผมยังมักเห็น Wong Kar-Wai, Christopher Nolan ฯลฯ ที่มักมีบริพารคอยต่อล้อต่อเถียง ศาสดาของข้าพุทธเจ้าห้ามแตะต้อง ห้ามล้อเลียน เห็นแล้วเพลียอกเพลียใจ ได้แต่ปล่อยให้คนเหล่านั้นเห่าหอนไป ไม่มีประโยชน์อะไรจักถกเถียงให้กลายเป็นหมาอีกตัว
แนะนำคอหนังอาชญากรรม นำเสนอผ่านมุมมองผู้ร้ายเท่ห์ๆ (Jean-Paul Belmondo) นางเอกทรามๆ (Jean Seberg) แนวต่อต้านวีรบุรุษ (Anti-Hero) แบบไม่สนพฤติกรรมถูก-ผิด ดี-ชั่ว, ใครหลงใหลฝรั่งเศสทศวรรษ 60s ภาพยนตร์เรื่องนี้เก็บภาพกรุง Paris ฝังไว้ในไทม์แคปซูล
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียน/นักศึกษา นักวิจารณ์ นักประวัติศาสตร์ คนทำงานสายภาพยนตร์ ควรจะศึกษาผลงานเรื่องนี้ให้ละเอียดแตกฉาน ตั้งแต่กระบวนการสร้างจนถึงผลลัพท์ และอิทธิพลติดตามมา
จัดเรต 15+ กับความเห็นแก่ตัว หลงตนเอง สร้างค่านิยมผิดๆ เป็นนักเลงมันเท่ห์ตรงไหน?
คำโปรย | Breathless ของ Jean-Luc Godard จักทำให้คุณหยุดหายใจ เพราะขาดอากาศหายใจ
คุณภาพ | เก๋าเจ้ง
ส่วนตัว | เสียดายลมหายใจ
Breathless (1960)
(24/12/2015) ถ้าเราให้คำนิยาม “ภาพยนตร์” ว่าคือการเล่าเรื่องผ่านการเคลื่อนไหว Jean-Luc Godard เป็นผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่ยังมีชีวิตอยู่ อายุก็ 85 แล้ว แต่ยังมีพลังเหลืออีกมาก หนังของ Godard ขึ้นชื่อเรื่อง Long-Take เป็นอย่างมาก หนังที่ถ่ายทำโดยใช้เทคนิค Long-Take นักแสดงต้องจำบท ที่ไม่รู้กี่หน้าต่อกี่หน้า จังหวะ การกระทำ การแสดงต้องเปะๆ และไม่ผิดพลาดเลย ยิ่งฉากไหนที่มี Long-Take ยาวๆ หลุดหัวเราะมาทีต้องเริ่มถ่ายตั้งแต่แรกใหม่ เวลาที่ผมเจอหนังที่ใช้ Long-Take มันจะเหมือนหายใจไม่ออกครับ คือมันสมจริงมากๆ ทำให้เราลุ้นไปกับตัวละคร ผมเรียกว่า Breathtaking
แต่เดี๋ยวก่อน Breathless ไม่ใช่หนัง long-take นะครับ คือตอนถ่ายอาจจะใช้ long-take จริง แต่หนังที่ฉายออกมาใช้การตัดต่อแบบ jump-cut เป็นเทคนิคที่เจ๋งมากๆ ไม่เคยมีหนังเรื่องไหนกล้าทำมาก่อน ฉากกระโดดไป กระโดดมา ทั้งๆที่ดูก็รู้ว่ามันน่าจะเป็น long-take สาเหตุที่หนังต้อง jump-cut เป็นความบังเอิญในความงี่เง่ามากๆ เพราะหนังยาวเกินไป… ผมละอยากให้ไปดูหนัง bollywood เหลือเกิน หนังของชาตินี้ ความยาวหนังขั้นต่ำคือ 2 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยผมว่า 2 ชั่วโมงครึ่งด้วยซ้ำ… Breathless ความยาว 1 ชั่วโมง 30 นาที เห็นว่าต้นฉบับจริงก่อนใช้ jump-cut หนังยาว 2 ชั่วโมง producer บอกยาวไป *-*
ผมขอเล่าภาพรวมของหนังก่อนแล้วกัน นี่เป็นเรื่องราวของชายขี้ขโมย กับหญิงเล่นตัว ผมลองมาวิเคราะห์ดูทั้งสองตัวละครเป็นคาแรคเตอร์ที่ anti-hero มาก นี่ก็ไม่เชิงเป็นจุดเริ่มต้นนะ แต่มีหนังที่ได้แรงบันดาลใจจากสองตัวละคร คาแรคเตอร์แบบนี้ คือ Bonnie and Clyde ใครได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คงรู้ว่ามันใกล้เคียงมากๆ ทั้งสองเป็นโจรและฆาตกรชื่อดังมากๆที่มีตัวตนอยู่จริง ใน Breathless เกือบครึ่งเรื่องที่มีฉากอยู่ในห้องนอน ถ้าพูดกันตรงๆนี่เป็นฉากที่ขี้เกียจมากๆ ผมมีปัญหามากตอนดูฉากนี้ เพราะมันทำให้ผมอึดอัดกับตัวละครทั้งสอง ฝ่ายชายก็พยายามโน้มน้าวผู้หญิงให้ทำตามที่เขาขอ ฝ่ายหญิงก็เล่นตัว อ้างโน่นอ้างนี่ เปลี่ยนเรื่อง เดินไปเดินมา ผมไม่ชอบตัวละครคู่นี้เลย มันเสียเวลาและไร้สาระมาก แต่ผมยอมรับนะว่า หนังนำเสนอตัวละครที่สัมผัสได้จริง แฝงรสนิยมของผู้กำกับในบทสนทนา เรื่องราว แนวคิด เหตุและผลของการกระทำ หนังเรื่องนี้แจ้งเกิดให้กับ Jean-Paul Belmondo นักแสดงนำชายของเรื่อง ปู่แกยังมีชีวิตอยู่นะ เล่นหนังของ Godard หลายเรื่องทีเดียว Jean Seberg นักแสดงนำหญิงที่ได้ฉายาว่า Audrey Hepburn แห่่งฝรั่งเศส น่าเสียดายเธอเสียชีวิตเร็วไปหน่อย ตอนอายุ 40 เอง
เดิมทีบทหนังเรื่องนี้เขียนโดย François Truffaut แต่ Truffaut ก็ตัดสินใจ drop เพราะเรื่องขาดความน่าสนใจ เป็น Godard ที่มาเห็นเข้าเลยมาขอบทไปเขียนต่อและกำกับ เห็นว่าวิธีการเขียนบทหนังเรื่องนี้คือ หนังกำหนดสถานที่ถ่ายทำไว้คร่าวๆ ตอนวันถ่าย Godard ก็จะเขียนไอเดียที่จะถ่าย ตอนถ่ายจะพูดถึงไอเดียกว้างๆให้นักแสดงฟัง และปล่อยให้นักแสดงซ้อม เล่นสดตามความคิดของเขาเลย นี่เป็นหนึ่งในวิธีที่หนังสมัยก่อนทำกัน คือจะไม่รอจนบทหนังเสร็จก่อน คิดไป เขียนไป ถ่ายไป พร้อมกันในครั้งเดียว ผมคิดว่า Godard คงมีภาพกว้างๆว่าจะให้หนังเป็นอย่างไร แต่รายละเอียดต่างๆคงคิดขึ้นระหว่างถ่ายหนัง อย่างฉากในห้องนอนที่สุดแสนยาวนั้น ได้ยินว่า Godard โยนไอเดียไป แล้วให้นักแสดงทั้งสองเล่นรับกันเอง โดยไม่ตัดกล้องเลย … นี่แสดงว่านักแสดงต้องเก่งมากๆ คือเขาไม่ได้แค่ท่องจำบท แต่ต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นจริงๆ บทพูดก็ต้องออกมาเองไม่มีบทให้ ถ้าเป็นหนังสมัยนี้ไม่มีทางทำแบบนี้ได้แน่ๆ หนังใช้เวลาถ่ายทำแค่ 23 วันเท่านั้น
ตากล้องเรื่องนี้คือ Raoul Coutard ขาประจำของ François Truffaut กับ Jean-Luc Godard ต้องยอมรับว่างานภาพในหนังเรื่องนี้ มีความคล้ายคลึงกับหนังเรื่อง The 400 Blows ของ Truffaut พอสมควร มีฉากที่ทำการเลื่อนกล้องจากมุมสูงหลายครั้ง แต่ที่แตกต่างที่สุดคงเป็นการถ่ายแบบ Hand-Held ซึ่งจะเคลื่อนที่ตามตัวละครตลอดทั้งเรื่อง บางทีถ่ายแต่ด้านหลังตัวละคร บางทีถ่ายแต่ด้านหน้าตัวละคร วิธีการใช้ Hand-Held เป็นจุดเริ่มต้นของการถ่าย Long-Take นะครับ การใช้ Long-Take ยุคแรกๆ ไม่ได้หวือหวามากมาย ใช้กับการสนทนาที่ยาวนาน จนพอฟีล์มหมด ทุกอย่างจะหยุด เปลี่ยนกล้องเปลี่ยนฟีล์มแล้วถ่ายต่อ ทุกอย่างเคลื่อนไหว ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่ คุ้นๆว่าสมัยก่อนฟีล์มถ่ายหนังม้วนหนึ่งมันถ่ายได้ไม่กี่นาทีเท่านั้น ถ้าเห็น Long-Take ไหนยาวเกิน 10 นาที นี่ไม่ธรรมดาเลย ยิ่งถ้าดูไม่ออกเลยว่าไปเปลี่ยนฟีล์มตอนไหนนี่ สุดยอดมากๆๆ
การตัดต่อหนังฉบับแรก โดย Cécile Decugis และ Lila Herman ได้หนังความยาว 2 ชั่วโมง ผมก็ไม่เข้าใจนะครับว่าทำไมหนังยาวไป เอาว่า Godard ต้องตัดให้หนังสั้นกว่านี้ โดยปกติถ้าเป็นผู้กำกับสมัยนี้คงจะเลือกตัดฉากที่มีความสำคัญน้อยออกไป แต่ Godard เขาไม่ทำแบบนั้นครับ เขาคงไว้ทุกฉาก แต่ทำการตัดแบบ jump-cut คือตรงไหนยาวไป ตรงไหนบทพูดมันเวิ่นเว้อ ตัดทุกอย่าง (สมัยนั้นเพราะความที่มันเป็นแผ่นฟีล์ม คำว่าตัด คือตัดฟีล์มจริงๆเลย) มันเลยรู้สึกเหมือนทุกฉากจะมีการกระโดดไปมา แต่เราจะเห็นความต่อเนื่องจากการตัดนั้น เหมือนฟีล์มกระตุก แต่มันคือความจงใจในความไม่ตั้งใจ ตอนหนังออกฉาย มันกลับเป็นความฮิตที่ Godard เองก็คาดไม่ถึง สำหรับคนที่ดูหนังของ Godard มาหลายๆเรื่องแล้ว jump-cut ไม่ถือว่าเป็นสไตล์ของเขาเลยนะครับ ใน Breathless ถือว่าเป็นความบังเอิญจริงๆ หนังสมัยนี้หลายเรื่องที่มีการตัดต่อที่หวือหวา จุดเริ่มต้นก็มาจาก Breathless นี่แหละ
เพลงประกอบ เป็นเปียโนบรรเลงคลอฟังง่ายๆ ไม่มีอะไรหวือหวา แต่งโดย Martial Solal เอาจริงๆใน Breathless มันแทบจะไม่มีเพลงประกอบนะครับ เพลงที่เกิดขึ้นในหนัง เป็นเพลงที่เกิดจากสถานที่ ในฉากนั้นที่มีดนตรีบรรเลงอยู่ เพราะว่า หนังใช้การถ่าย Long-Take เน้นการเล่าเรื่องที่เป็น realistic จะให้อยู่ดีๆเพลงบรรเลงดังขึ้นมามันก็ไม่ได้ ดังนั้นเพลงประกอบหนังเรื่องนี้จะเกิดจาก แผ่นเสียงที่กำลังเล่นอยู่(ในหนัง) เดินผ่านร้านเครื่องดนตรี เสียงเพลงที่เปิดจากวิทยุในรถ
ตอนฉากเปิดเรื่อง ผมขยับลำโพงอยู่สองสามรอบ เพราะสงสัยว่าลำโพงมีปัญหาหรือเปล่า แต่จริงๆหนังใช้การเฟดเสียงเข้า คือ ตอนแรกไม่มีเสียงอะไรเลย จนกระทั่งพระเอกขโมยรถคันแรกสำเร็จจึงเกิดเสียงแรกขึ้น ผมเรียกว่าการเฟดเสียงนะครับ เหมือนตอนเราเปิดเพลงและค่อยๆเลื่อน Volume ขึ้น คิดไม่ถึงเหมือนกันว่าจะมีหนังที่ทำแบบนี้ด้วย
ผมไม่ชอบ Breathless เลยนะครับ และรู้สึก “เสียเวลา” มากที่ดูหนังเรื่องนี้ คือนอกจาก jump-cut แล้ว หนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรที่ทำให้ผมชอบเลย ตัวละครชายหญิงที่โดดเด่นมากๆ แต่ผมรู้สึกถึงความไร้สาระ ผู้ชายโคตรเห็นแก่ตัว ผู้หญิงโคตรเอาแต่ใจ หนังมันเล่าเรื่องมาอย่างบริสุทธิ์ ตรงๆเลย ทำให้คนดูไม่สามารถคิดอะไรต่อจากหนังได้ แต่ผมกลับมาคิดนะ ถ้าผมเป็นผู้ชายเจอผู้หญิงแบบนี้ ก็ไม่เอาหรอก ไม่อยากคบด้วยซ้ำ ถ้าผมเป็นผู้หญิงเจอผู้ชายแบบนี้ก็ไม่เอาเหมือนกัน คำพูดที่สื่อถึงสองตัวละครนี้ได้มากที่สุดคือ “Two things are important in life. For men, women. For women, money”
ถ้าไม่ใช่เพราะ jump-cut บอกตามตรงว่าผมคงดูหนังเรื่องนี้ไม่จบแน่ อยากจะปิดทิ้งเพราะฉากในห้องแล้ว มันยาวมากๆ ผมใช้ความอดทนมากในการดูฉากนี้ คือมันรำคาญนะครับ และเนื้อเรื่องมันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นเลย จะมีอีกทีก็ฉากจบ ที่ผมว่าเจ๋งดีนะ มันเหมือนกับพระเอกที่เดินไปสู่ฉากจบ กำลังเต้น คำพูดประโยคสุดท้ายในหนัง ที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก บอกเลยว่าผมไม่รู้สึกถึง impact เท่าไหร่ ณ จังหวะนั้น พระเอกมัน “à bout de souffle” (out of breath) พอดี ซึ่ง ณ จุดนี้คือความหมายของชื่อหนัง
ผมแนะนำสำหรับท่านที่อยากดูว่า jump-cut มีลักษณะอย่างไร แต่ถ้าดูเพื่อความบันเทิง อาจจะได้ความรู้สึกขยาดๆ มากกว่าจะรู้สึกทึ่งนะครับ หนังไม่ได้ต้องอาศัยการตีความมากก็เข้าใจ ผมมีความรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มัน Over-Hit แม้แต่ Godard เองก็บอกว่า “ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้คือความผิดพลาด” แต่เขาก็ไม่เสียใจที่ได้สร้างหนังเรื่องนี้
คำโปรย : “Breathless ความไม่ตั้งใจในความตั้งใจของ Jean-Luc Godard นอกจาก jump-cut ที่เป็นตำนานแล้ว ที่เหลือคือความน่าสมเพศของตัวละคร กับความเห็นแก่ตัวของฝ่ายชาย และความเอาแก่ใจของฝ่ายหญิง ถ้ามนุษย์ชายหญิงคิดได้แค่นี้ โลกเราคงสวยงามได้แค่แบบในหนังเท่านั้น”
คุณภาพ : THUMB UP
ความชอบ : WASTE
อคติไปนะเหมือนยังเข้าไม่ถึง