Brief Encounter
รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ Brief-Encounter2.jpg

Brief Encounter (1945) British : David Lean ♥♥♥♥

(8/3/2023) ความรักที่มิอาจเปิดเผย, ความสัมพันธ์ขัดต่อศีลธรรม, อัตลักษณ์ทางเพศยังต้องปกปิดบัง, สงครามผ่านมาแล้วก็ผ่านไป, Rachmaninoff: Piano Concerto No. 2, ชีวิตเรานั้นแสนสั้น อยากทำอะไรให้รีบทำ!

เอาจริงๆผมก็อยากเขียน Brief Encounter (1945) แบบบรีฟๆ สั้นๆ … แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไรกัน lol

Brief Encounter (1945) ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในคอลเลคชั่นจตุภาค David Lean directs Noël Coward อีกสามเรื่องประกอบด้วย In Which We Serve (1942), This Happy Breed (1944) และ Blithe Spirit (1945) ช่วงเวลาสั้นๆที่ทั้งสองร่วมงานกัน แต่ก็เหมือนทุกสรรพสิ่งอย่างในหนังเรื่องนี้ เมื่อพบเจอก็ต้องพลัดพรากจาก พอดิบสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นลงพอดี

เหตุผลที่ผู้กำกับ Lean ตัดสินใจดัดแปลงบทละครของ Coward เรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย! เพราะชื่อเสียงอันโด่งดังของฝ่าย มีอิทธิพลเหนือกว่าภาพยนตร์ของผกก. Lean เพียงไม้ใต้ร่มเงา เอาแต่พึ่งพาบารมีคนอื่น เลยยังถูกตีตราว่าเป็นแค่นักเทคนิค (technician) ไม่ใช่ศิลปินแห่งวงการภาพยนตร์! … ซึ่งวิธีการที่ผกก. Lean จะสามารถลบล้างความคิดดังกล่าว ก็คือต้องก้าวออกมายืนด้วยลำแข้ง มองหาสไตล์ลายเซ็นต์อันเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังอีกกว่าทศวรรษที่เขาจะค้นพบตัวตนเอง

คนส่วนใหญ่มักมอง Brief Encounter (1945) คือเรื่องราวโรแมนติก รักต้องห้าม ความสัมพันธ์ขัดแย้งต่อหลักศีลธรรม (โดยเฉพาะกับผู้ดีอังกฤษ ที่ขึ้นชื่อในการปฏิบัติตามขนบกฎกรอบทางสังคมอย่างเคร่งครัด) แต่เพราะหนังสร้างขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ บรรยากาศสงคราม สะท้อนสภาพจิตวิทยาของผู้คนสมัยนั้น (หวาดระแวงเรื่องการคบชู้ บ้านแตกสาแหรกขาด = หวั่นวิตกว่าจะถูกศัตรูโจมตี บ้านช่องพังพินาศ)

และสิ่งทำให้หนังได้รับยกย่องเป็นหนึ่งใน “Greatest British Film of All-Time” คือความจำเพาะเจาะจงของสถานที่/สถานีรถไฟ และการเคลื่อนพานผ่านของกาลเวลา แทบไม่รู้วัน-เดือน-ปี มันช่างมีความลึกลับ พิศวง ชวนต้องมนต์ จุดเริ่มต้นภาพยนตร์แนว ‘เฉี่ยวรัก’ เฉกเช่นเดียวกับ Spring in a Small Town (1948), In the Mood for Love (2000), Carol (2015) ฯลฯ

ในโอกาสอันแสนสั้นที่ House Samyan เลือกนำ Brief Encounter (1945) เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่น่าจะได้รับชม เพราะฉายแป๊บเดียวจริงๆก็หมดรอบเสียแล้ว! โดนกระแส xxx vs. xxx แย่งรอบฉาย ขณะที่คนรักหนังคลาสิกก็ได้แต่ทำใจ ไม่มีอุปสงค์ไหนเลยจะมีอุปทาน


Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนช่างฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานก็ออกไปดำเนินตามความฝันของตนเอง, เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงมอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์, เริ่มต้นจากทำงานเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี ค.ศ. 1930 มีผลงานดังๆอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), ก่อนได้รับโอกาสจาก Noël Coward ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942)

ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ In Which We Serve (1942) ทำให้โปรดิวเซอร์ Anthony Havelock-Allan พยายามจับคู่ Lean-Coward (น่าจะพยายามเลียนแบบ Powell-Pressburger) ดัดแปลงบทละครเวทีของ Coward กำกับภาพยนตร์โดย Lean ประกอบด้วย This Happy Breed (1944) และ Blithe Spirit (1945) แม้ต่างได้รับคำชม ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ผู้ชมส่วนใหญ่กลับมองว่าอิทธิพล/ชื่อเสียงของ Coward อยู่เหนือความคิดสร้างสรรค์ของผกก. Lean

They’d made three films together before this one, In Which We Serve (1942), This Happy Breed (1944), and Blithe Spirit (1945), with Coward as overall artistic supervisor. How much of the success of This Happy Breed and Blithe Spirit had been due to the Coward plays?

นักวิจารณ์ Kevin Brownlow ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการร่วมงานระหว่าง David Lean และ Noël Coward

ในตอนแรก Lean ร่วมกับโปรดิวเซอร์/นักเขียน Anthony Havelock-Allan และ Ronald Neame ครุ่นคิดจะพัฒนาภาพยนตร์โรแมนติก อิงประวัติศาสตร์ เรื่องราวสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ (Mary, Queen of Scots) แต่ได้รับคำทัดทานจาก Coward

What do you know about costumes?

Noël Coward

ระหว่างนั้นเอง Lean มีโอกาสอ่านบทละครองก์เดียว Still Life (1936) แล้วแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมากับ Coward บอกว่าเรื่องราวคาดเดาง่ายเกินไป ไม่มีอะไรสร้างความประหลาดใจ

This woman arrives at a railway station and gets some soot in her eye, meets this man, and they arrange to meet next Thursday, and it goes on, and in the end they part. It’s got no surprises in it. You’re not saying to the audience, ‘Watch carefully. This is interesting.’

David Lean

จากนั้น Lean ก็ให้คำแนะนำว่าควรอารัมบทด้วยการสร้างความลึกลับ (mystery) เหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นในคาเฟ่/ห้องรับรองแห่งนี้ เพื่อชักชวนผู้ชมเกิดความฉงนสงสัย อยากติดตามเรื่องราวไปจนถึงตอนจบ

A busy waiting room. There are two people sitting at a table, talking, a man and a woman. Through the door comes another woman, who sits down at the table. As she sits, talking and talking, you realize there’s something not quite right going on, and a train comes into the station. ‘That’s your train,’ says the woman. ‘Yes,’ says the man, ‘I must go. Good-bye.’ He shakes hands with the other woman, and then you go back and explain that this is the last time they see each other. They were never going to see each other again. And you play once more the first scene in the picture—it made no sense to you at all, and you didn’t hear half the dialogue—and that’s the end of the film, with an added piece, perhaps, with the husband.

หลังจาก Coward ได้รับฟังคำแนะนำของ Lean พูดบอกให้หยุด ‘Say no more!’ จากนั้นหายตัวไปสี่วัน กลับมาพร้อมสิ่งที่เป็นรายละเอียดสำคัญๆของภาพยนตร์ Brief Encounter (1945)

แต่บทหนังจริงๆนั้นเป็นการร่วมพัฒนาระหว่าง Lean, Havelock-Allan และ Neame โดยต่อยอดจากบทละครของ Coward ปรับเปลี่ยน-เพิ่มเติมรายละเอียดให้เข้ากับสื่อภาพยนตร์ (เพราะบทละครนี้มีเพียงฉากเดียว ในคาเฟ่/ห้องรับรอง ณ สถานีรถไฟ)

The script was written by David and myself and Ronnie. You realize that Still Life was a half-hour playlet which takes place entirely in the waiting room of a station. We had to invent scenes that were not there. And there were lots of places where there was no dialogue. We said, ‘Could they go for a row in the lake? Could they go to the cinema?’ Noël said, ‘Only if they go to a bad film.’

โปรดิวเซอร์/นักเขียน Anthony Havelock-Allan

Sir Noël Peirce Coward (1899-1973) นักแสดง/นักเขียน/ผู้กำกับ ภาพยนตร์และละครเวที เกิดที่ Teddington, Middlesex ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านการแสดง มารดาส่งไปโรงเรียนสอนเต้นที่ London มีโอกาสขึ้นเวทีตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เริ่มมีชื่อเสียงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พออายุ 20 หันมาเขียนบท/กำกับละครเวที ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามกับโปรดักชั่น The Vortex (1924), Cavalcade (1931) ฯลฯ

ด้วยความชื่นชอบหลงใหลในละครเวทีหนึ่งองก์ (One-Act play) แม้จะไม่ค่อยได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 20s-30s แต่ Coward ครุ่นคิดสร้างสิบชุดการแสดง (Cycle of Ten) รวมเรื่องสั้น Tonight at 8.30 ด้วยการเล่นสลับวันละ 3 เรื่อง (Triple Bills) แล้วแต่อารมณ์ของนักแสดงนำ Noël และ Gertrude Lawrence

  • We Were Dancing – สุขนาฏกรรมในสองซีน
  • The Astonished Heart – บทละครในหกซีน
  • Red Peppers – ขับร้อง-เล่น-เต้น
  • Hands Across the Sea – สุขนาฎกรรมเบาๆในหนึ่งซีน (light comedy)
  • Fumed Oak – สุขนาฏกรรมที่ไม่น่าขำในสองซีน
  • Shadow Play – บทละครพร้อมเพลงประกอบ
  • Family Album – สุขนาฎกรรมในสมัย Victorian พร้อมเพลงประกอบ
  • Star Chamber – สุขนาฎกรรมเบาๆในหนึ่งซีน
  • Ways and Means – สุขนาฎกรรมในสามซีน
  • Still Life – บทละครเครียดๆในห้าซีน

Still Life (1936) คือหนึ่งในบทละครที่รวบรวมอยู่ใน Tonight at 8.30 มีเพียงฉากเดียว ณ คาเฟ่/ห้องรับรอง (Refreshment Room) ของสถานีรถไฟสมมติ Milford Junction ประกอบด้วย 5 ซีน (มีการลดผ้าม่าน 5 ครั้ง) ดำเนินเรื่องในช่วงระยะเวลา 1 ปี

  • ซีนแรก เดือนเมษายน, ระหว่างหญิงสาว Laura Jesson (รับบทโดย Gertrude Lawrence) กำลังรอรถไฟกลับบ้าน เศษฝุ่นเข้าตา ได้รับความช่วยเหลือจากคุณหมอ Alec Harvey (รับบทโดย Noël Coward) พูดขอบคุณแล้วร่ำลากจากไป
  • ซีนสอง สามเดือนถัดมา, Alec และ Laura มีโอกาสพบเจอกันอีกครั้ง แต่เพราะละครเวทีมีเฉพาะฉากในคาเฟ่/ห้องรับรอง จึงพบเห็นเพียงการพูดคุยสนทนา เล่าถึงกิจกรรมที่เพิ่งกระทำร่วมกัน รับประทานอาหารกลางวัน ท่องเที่ยว ดูหนัง ต่างฝ่ายอยากนัดพบเจอกันอีก แต่ก็พยายามย้ำเตือนว่าพวกเขามีภาระครอบครัวและบุตรที่ต้องรับผิดชอบ
  • ซีนสาม เดือนตุลาคม, Alec มิอาจอดกลั้นความรู้สึกได้อีกต่อไป สารภาพรักกับ Laura แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการทำลายครอบครัวของกันและกัน จึงแอบนัดพบอย่างลับๆ ในแฟลตเพื่อนสนิทของ Alec
  • ซีนสี่ เดือนธันวาคม, Alec และ Laura ต่างตระหนักว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาเริ่มเกินเลยเถิดไปไกล ถึงเวลาที่ต้องยุติ หาหนทางออก โดยเขาครุ่นคิดจะตอบรับข้อเสนอไปทำงานยัง South Africa
  • ซีนห้า เดือนมีนาคม, ครั้งสุดท้ายที่ Alec จะได้พบเจอ Laura ต่างฝ่ายต่างกำลังจะร่ำลา แต่ถูกขัดจังหวะโดย Dolly เพื่อนช่างคุยของ Laura ทำให้เธอพลาดโอกาสร่ำลา เลยครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ก็ทำได้แค่หวนกลับมาจิบบรันดี

เพื่อนสนิทมิตรสหายของ Coward ต่างรับรู้ดีว่าอีกฝ่ายมีรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) ซึ่งความตั้งใจแรกเริ่มสำหรับบทละคร Still Life เขียนให้เป็นเรื่องราวชายรักชาย แต่ยุคสมัยนั้น(โดยเฉพาะผู้ดีอังกฤษ)ยังเป็นสิ่งต้องห้าม สังคมไม่ให้การยินยอมรับได้ … เฉกเช่นเดียวกับการคบชู้นอกใจ ชาย-หญิง

Still Life was the most mature play of the whole series. … It is well written, economical and well constructed: the characters, I think, are true, and I can say now, reading it with detachment after so many years, that I am proud to have written it.

Noël Coward

พื้นหลังช่วงปลายทศวรรษ 30s (ก่อนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง), เรื่องราวของ Laura Jesson (รับบทโดย Celia Johnson) หญิงสาวผู้มีความเบื่อหน่ายในชีวิตแต่งงาน หลังกลับจากช็อปปิ้งที่กรุง London นั่งอยู่ข้างเตาผิง รับฟังบทเพลง Rachmaninoff: Piano Concerto No. 2 แล้วครุ่นคิดเพ้อรำพัน สารภาพความจริงบางอย่างแก่ผู้ชมหนัง

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นการย้อนอดีต (Flashback) เล่าถึงกิจวัตรทุกวันพฤหัสบดีของ Laura ที่จักออกเดินทางเข้าเมืองไปช็อปปิ้ง ดูหนัง รับประทานอาหาร ท่องเที่ยวพักผ่อนคลาย ฯลฯ แล้วระหว่างรอคอยรถไฟกลับบ้าน มักแวะเวียนมายังคาเฟ่/ห้องรับรอง (Refreshment Room) ครั้งหนึ่งบังเอิญฝุ่นเข้าตา ได้รับความช่วยเหลือจากนายแพทย์ Alec Harvey (รับบทโดย Trevor Howard) เกิดความประทับใจไม่รู้ลืม

หลายพฤหัสถัดมา Laura บังเอิญพบเจอ สวนทางกับ Alec เลยชักชวนกันไปรับประทานอาหาร ดูหนัง ท่องเที่ยวพักผ่อน โดยไม่รู้ตัวต่างฝ่ายต่างตกหลุมรักกันและกัน ถึงอย่างนั้นพวกเขายังพยายามหยุดยับยั้งชั่งใจ เพราะต่างก็มีภาระครอบครัวและบุตร ไม่ต้องการทำลายชีวิตสมรสอีกฝั่งฝ่าย

แต่อีกหลายพฤหัสถัดมา พวกเขาก็ตระหนักว่าอารมณ์แห่งรัก ไม่ใช่สิ่งสามารถควบคุม หยุดยับยั้งชั่วใจ Alec จึงสารภาพรัก แล้วพยายามชักชวน Laura ไปยังห้องพักของเพื่อนคนหนึ่ง ในตอนแรกเธอบอกปัดปฏิเสธ แต่พอเปลี่ยนใจกลับมีเหตุการณ์น่าอับอายบังเกิดขึ้น

และพฤหัสสุดท้ายแห่งการร่ำลาจาก Alec ตัดสินใจรับงานที่ South Africa กำลังจะออกเดินทางในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ถึงอย่างนั้นช่วงเวลาสุดท้ายนี้กลับถูกขัดจังหวะโดย Dolly Messiter (รับบทโดย Everley Gregg) เพื่อนช่างคุยของ Laura จนทำให้เธอไม่มีโอกาสได้ร่ำลา เลยครุ่นคิดสั้นจะกระโดดให้รถไฟชน แต่สุดท้ายทำได้แค่หวนกลับมาจิบบรันดี แล้วเดินทางกลับบ้านหาสามี

เกร็ด: Noël Coward รับเชิญเป็นผู้ประกาศในสถานีรถไฟ


Dame Celia Elizabeth Johnson (1908-82) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Richmond, Surrey ชื่อเล่น Betty มีความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก ขึ้นเวทีครั้งแรกตอนอายุ 8 ขวบ โตขึ้นมุ่งสู่ London เข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art รุ่นเดียวกับ Margaretta Scott เทอมหนึ่งเคยเดินทางไป Paris ร่ำเรียนการแสดงกับ Pierre Fresnay ที่สถาบัน Comédie Française, หลังสำเร็จการศึกษาเข้าสู่วงการละครเวที มีผลงานทั้ง West End, Broadways, ภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942), This Happy Breed (1944), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Brief Encounter (1945), I Believe in You (1951), The Captain’s Paradise (1953), The Prime of Miss Jean Brodie (1969) ฯลฯ

รับบท Laura Jesson หญิงสาวผู้มีความเบื่อหน่ายในชีวิตแต่งงาน ไม่ต่างจากนกในกรง เพียงทุกวันพฤหัสออกเดินทางโดยสารรถไฟสู่กรุง London ไปช้อปปิ้ง ดูหนัง รับประทานอาหารกลางวัน โดยไม่รู้ตัวพบเจอตกหลุมรักนายแพทย์ Alec Harvey ต้องการร่วมรักหลับนอน คบชู้นอกใจ แต่จิตสามัญสำนึกพยายามหักห้ามความต้องการเอาไว้ และหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไป เธอกลับตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย

Johnson เป็นตัวเลือกแรกของผู้กำกับ Lean เพราะความประทับใจจากเคยร่วมงานหลายครั้งก่อนหน้า (จริงๆหลังจากนี้ Lean ก็ยังอยากร่วมงานกับ Johnson โดยเฉพาะบทบาท Mrs. Moore ภาพยนตร์ A Passage to India (1984) แต่น่าเสียดาย เธอพลันด่วนเสียชีวิตไปเสียก่อน) ในตอนแรกเธอพยายามบอกปัดปฏิเสธ เพราะไม่ค่อยชื่นชอบงานแสดงภาพยนตร์ อีกทั้งไม่อยากเดินทางไปถ่ายทำนอกกรุง London เนื่องจากภาระครอบครัวต้องคอยดูแล แต่หลังจาก Coward เข้าไปเกลี้ยกล่อม อ่านบทละครให้ฟัง จึงตระหนักว่าไม่ควรบอกผ่านบทบาทนี้

There is no getting away from the fact that it is a very good part and one which I should love to play. I have found myself already planning how I should play bits and how I should say lines.

ข้อความในจดหมายของ Celia Johnson เขียนถึงสามี Peter Fleming

และเมื่อ Johnson เดินทางมาถึงสถานที่ถ่ายทำ (สถานีรถไฟ Carnforth) ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทีมงาน น้ำใจไมตรีจากเจ้าหน้าที่สถานี เวลาว่างๆนั่งเล่นไพ่ โป๊กเกอร์ ครอสเวิร์ด ไม่มีเบื่อหน่ายตลอดระยะเวลาสี่สัปดาห์

You’d think there could be nothing more dreary than spending ten hours on a railway station platform every night, but we do the whole thing in the acme of luxury and sit drinking occasional brandies and rushing out now and then to see the expresses roaring through.

อาจเป็นบทบาทยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของ Johnson แม้ท่าทางอาจดูแข็งๆ เพราะอิทธิพล/ประสบการณ์แสดงละครเวที แต่สีหน้า ดวงตา การใช้ระดับเสียง ล้วนเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ ถ่ายทอดความรู้สึกอึดอัดอั้นจากภายใน ผสมผสานระหว่างความรัก-ความกังวล เดี๋ยวสุข-เดี๋ยวทุกข์ บางครั้งยิ้มร่า แต่ส่วนใหญ่ห่วงโหยหาอาลัย เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แถมไม่สามารถเปิดเผยความต้องการแท้จริง จนแทบจะคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก (nerve breakdown) … เป็นการแสดงที่ดูสมจริงจนอาจทำให้ผู้ชมปั่นป่วนท้องไส้ เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน หัวใจแหลกละเอียด ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป

ความสมจริงทางการแสดงของ Johnson (เราต้องเข้าใจว่ายุคสมัยก่อนกาลมาถึงของ ‘method acting’ นี่คือการแสดงที่มีความสมจริงอย่างมากๆ) สร้างความเดือดดาลให้ผู้ชมอยู่ไม่น้อย มีนายสถานีรถไฟคนหนึ่งพูดบอกผู้กำกับ Lean

Do you realize, Sir, that if Celia Johnson could contemplate being unfaithful to her husband, my wife could contemplate being unfaithful to me?

จริงๆแล้วบทละครของ Coward มันมีความก้ำๆกึ่งๆว่าพระ-นาง ได้ร่วมรักหลับนอนกันหรือเปล่า (แต่ก็มีแนวโน้มสูงว่าพวกเขาได้ร่วมเพศสัมพันธ์) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ตัดความเป็นไปได้นั้นออกไป เพราะผู้กำกับ Lean เข้าใจบริบททางสังคม พื้นเพผู้ดีอังกฤษ นี่คือสิ่งยังมิอาจล่วงล้ำ และสามารถสร้างจิตสามัญสำนึกให้ผู้ชมสมัยนั้นได้อย่างจริงๆจังๆ

ในประเทศเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา การแสดงของ Johnson สร้างความประทับใจอย่างล้นหลามให้ทั้งผู้ชม/นักวิจารณ์ ถึงขนาดเข้าชิง Oscar: Best Actress ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดในอาชีพการงานเลยก็ว่าได้!


Trevor Wallace Howard-Smith (1913-88) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Cliftonville, Kent บิดาเป็นนายประกัน จำต้องพาครอบครัวไปๆกลับๆ อังกฤษ-ศรีลังกา และหลายๆประเทศในเครือจักรภพ พออายุได้แปดขวบถึงลงหลักปักฐานยัง Bristol, South West โตขึ้นเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art (RADA) จากนั้นมีผลงานละครเวที อาสาสมัครทหาร Royal Corps ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, สมทบภาพยนตร์ The Way Ahead (1944), ได้รับเครดิต The Way to the Stars (1945), โด่งดังระดับนานาชาติทันทีกับ Brief Encounter (1945), The Third Man (1949), Sons and Lovers (1960), Mutiny on the Bounty (1962), Ryan’s Daughter (1970), Superman (1978), Gandhi (1982) ฯลฯ

รับบท Dr. Alec Harvey นายแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioner, GP) อายุประมาณสามสิบปลายๆ แต่งงานมีบุตรชายสองคน ทุกวันพฤหัสเดินทางมาเป็นที่ปรึกษายังโรงพยาบาลท้องถิ่น คาดว่าคงเบื่อหน่ายชีวิตครอบครัวไม่ต่างจาก Laura Jesson จึงปล่อยตัวปล่อยใจไปกับความสัมพันธ์ ไม่นานวันก็ตระหนักว่ากำลังเกิดเลยเถิดไปไกล พร้อมยินยอมทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง แต่เมื่อถูกเธอทัดทานเลยจำใจต้องเป็นฝ่ายร่ำลาจากไป

นักแสดงที่เป็นตัวเลือกแรกคือ Roger Livesey แต่หลังจากผู้กำกับ Lean และโปรดิวเซอร์ Havelock-Allen เห็นการแสดงของ Trevor Howard จาก Johnny in the Clouds (1945) เลยตัดสินใจลองติดต่อ ยื่นข้อเสนอ แม้อีกฝ่ายยังแทบไม่เป็นที่รับรู้จักใดๆ

ถึงแม้ Howard ตอบตกลงรับบทนำ แต่ตัวเขากลับมีปัญหาอย่างมากในการทำความเข้าใจตัวละคร อย่างฉากในห้องพักของเพื่อน ทำไมเมื่อฝ่ายหญิงก้าวเข้ามาในห้องถึงยังยื้อยักๆ ชักแม่น้ำทั้งห้า ไม่ร่วมรักหลับนอนกันเสียที?

They know jolly well this chap’s borrowed a flat, they know exactly why she’s coming back to him—why doesn’t he fuck her? All this talk about the wood being damp and that sort of stuff.

Trevor Howard

ความไม่เข้าใจตัวละครของ Howard โดยไม่รู้ตัวส่งผลดีมากๆต่อหนัง เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่อยู่ภายใน ยื้อๆยักๆ ชักแม่น้ำทั้งห้า อยากจะปลดปล่อยอารมณ์ ถาโถมเข้าใส่ แต่บางสิ่งอย่างกีดกั้นขวางไว้ เลยไม่สามารถเกินเลยเถิดไปไกล

มันไม่เชิงว่า Alec เป็นผู้ล่า ‘sex predator’ เพราะหนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา Laura ผู้ชมไม่เคยพบเห็นครอบครัว/กิจวัตรของอีกฝั่งฝ่าย เพียงฉากน่าละอายเมื่อเพื่อนเจ้าของห้องพัก พูดคำเยาะเย้ย เสียดสีถากถาง แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความพยายามของตัวละคร สนแต่จะร่วมรักหลับนอน มีเพศสัมพันธ์ แทบไม่มีอะไรไปมากกว่านั้น

ในจดหมายของ Johnson เขียนถึงสามี ยังกล่าวถึงมุมมองที่เธอรู้สึกต่อ Howard ว่าอีกฝ่ายดูทึ่มทื่อ ซื่อบื้อ (stupid and thick) น่าจะเพราะความไม่เข้าใจต่ออารมณ์/ความต้องการฝ่ายหญิง ครุ่นคิดถึงแต่เรื่องเพศสัมพันธ์ ชีวิตจริงมันมีอะไรมากกว่านั้น … แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอรังเกียจอะไรเพื่อนนักแสดง ตรงกันข้ามรู้สึกเหมือนความรักมารดา (motherly) เอ็นดูเด็กน้อยไร้เดียงสา

ความสำเร็จของหนังไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับ Howard เพราะมันบดบังโอกาสในการแสดง เกือบจะกลายเป็น ‘type cast’ ผลงานอื่นๆแทบไม่มีใครสนใจ “Anyone would think I made nothing else”.


ถ่ายภาพโดย Robert Krasker (1913-81) ตากล้องสัญชาติ Australian เกิดที่ Alexandria, Egypt (แต่ลงใบเกิดยัง Perth, Western Australia) โตขึ้นเดินทางสู่อังกฤษ ทำงานเป็นช่างภาพในสังกัด London Films เลื่อนตำแหน่งสู่ผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ได้รับเครดิตถ่ายภาพเรื่องแรก The Gentle Sex (1943), โด่งดังกับ Henry V (1944), Brief Encounter (1945), Odd Man Out (1947), The Third Man (1949)**คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography (Black-and-White), Senso (1954), Romeo and Juliet (1954), El Cid (1961), The Fall of the Roman Empire (1964), The Running Man (1963), The Collector (1965) ฯลฯ

งานภาพคละคลุ้งด้วยกลิ่นอายหนังนัวร์ (film noir) รับอิทธิพลจาก German Expressionism เกินกว่าครึ่งถ่ายทำตอนกลางคืน ปกคลุมคลุมด้วยความมืดมิด จนแทบมองไม่เห็นรายละเอียดรอบข้าง นี่ไม่ใช่แค่สะท้อนบรรยากาศสงคราม (แม้พื้นหลังของหนังจะคือช่วงปลายทศวรรษ 30s ก็ตามที) แต่ยังสภาพจิตใจตัวละคร Laura Jesson รู้สึกหม่นหมองทุกครั้งเมื่อต้องร่ำลาจากชู้รัก

นี่ต้องชมอัจฉริยภาพของตากล้อง Krasker แม้เพิ่งมีผลงานไม่กี่เรื่อง แต่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ เข้าใจศาสตร์การใช้แสงสว่าง-ความมืดมิด สังเกตการโคลสอัพใบหน้าตัวละคร หลายครั้งจะมีปรับระดับเดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง นี่ยังไม่รวมลูกเล่นอย่างซ้อนภาพ, มุมเอียง, Match Cut ฯ แพรวพราวด้วยความคิดสร้างสรรค์

แซว: แม้ว่า Robert Krasker จะคืออัจฉริยะด้านการจัดแสง-ความมืดมิด แต่กลับมีปัญหาอย่างมากๆกับภาพถ่ายทิวทัศน์ รวมถึงฉากภายนอกสตูดิโอ (ที่ไม่สามารถควบคุมเรื่องการจัดแสง-ความมืดมิด) นั่นทำให้ระหว่างการถ่ายทำ Great Expectations (1946) ถูกผู้กำกับ Lean ไล่ออกจากกองถ่าย … แต่ทศวรรษถัดๆมา Krasker ก็พัฒนาตัวเองจนสามารถถ่ายทำหนัง Historical Epic อย่าง El Cid (1961), The Fall of the Roman Empire (1964) ฯลฯ โดดเด่นไม่เป็นสองรองใคร!


จริงๆแล้วสถานีรถไฟควรต้องอยู่ในกรุง London แต่เพราะหนังถ่ายทำช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมีความวิตกกังวลว่าอาจประสบเหตุการณ์เลวร้าย เลยตัดสินใจออกเดินทางสู่ชานเมือง สถานีรถไฟ Carnforth, Lancashire เชื่อว่าน่าจะปลอดภัยกว่า และไม่ได้มีผู้คนสัญจรไปมามากนัก โดยการถ่ายทำเริ่มตอนสี่ทุ่มครึ่งถึงหกโมงเช้า (ช่วงเวลาเคอร์ฟิว)

สำหรับคาเฟ่/ห้องรับรองของสถานีรถไฟ สถานที่จริงไม่ได้อยู่ชิดใกล้ชานชาลาขนาดนั้น เป็นการต่อเติมฉากภายนอกขึ้นมาใหม่ ส่วนภายในถ่ายทำยังสตูดิโอ Denham Film Studios อยู่ไม่ห่างไกลจากสถานีรถไฟสักเท่าไหร่

เกร็ด: ความสำเร็จอันล้นหลามของ Brief Encounter (1945) ทำให้สถานีรถไฟ Carnforth และคาเฟ่/ห้องรับรอง กลายเป็นดินแดนแสวงบุญของคู่รัก ถึงขนาดมีคำเรียก ‘Mecca for Lovers’

LINK: https://www.movie-locations.com/movies/b/Brief-Encounter.php

รถไฟ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวผู้กำกับ Lean ก็น่าจะตั้งแต่ Brief Encounter (1945) พบเห็นแทบทุกๆผลงานหลังจากนี้ สื่อถึงการออกเดินทาง มุ่งสู่โลกกว้าง อิสรภาพแห่งชีวิต รวมถึงการพบเจอ-พลัดพรากจาก ช่วงเวลาสั้นๆแต่ยั่งยืนยาวอยู่ในความทรงจำ

เวลารถไฟเคลื่อนพานผ่านสถานี มันจะมีเสียงดังขึ้นเตือน ฟังเหมือนสัญญาณฉุกเฉินในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนเครื่องบินเยอรมันลุกล้ำน่านฟ้าเกาะอังกฤษ แม้หนังออกฉายหลังจากสงครามโลก แต่ก็ผู้ชมสมัยนั้นย่อมสามารถหวนระลึก/เปรียบเทียบถึงช่วงเวลา(สงคราม)ที่เพิ่งบังเกิดขึ้น และพานผ่านไป

เกร็ด: โปรดักชั่นหนังคาบเกี่ยวช่วง V-E Day (Victory in Europe Day) ยุโรปประกาศชัยชนะสงครามวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ทำให้ต้องการหยุดพักการถ่ายทำ แล้วนำกล้องทั้งหมดไปบันทึกภาพการออกมาเฉลิมฉลองชัยชนะที่กรุง London

เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เบี่ยงเบนความสนใจจากดราม่าศีลธรรมหนักๆ ตั้งแต่ต้นฉบับบทละคร Coward จึงมักแทรกตัวละครที่เหมือนไม่ได้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อะไร แต่ก็สามารถตีความในเชิงเปรียบเทียบ/คู่ขนาน

  • Laura กับ Dr. Alec ต่างเป็นตัวแทนชนชั้นกลาง (Middle Class) พยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นความสัมพันธ์อยู่เบื้องหลัง
  • เจ้าของร้าน Myrtle Bagot และพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร Albert Godby ตัวแทนชนชั้นทำงาน (Working Class) ต่างหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี ครุ่นคิดอะไรก็พูดบอก แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ตรงด้านหน้าเคาน์เตอร์

และที่น่าทึ่งก็คือช็อตนี้ดูเหมือนผมจะครุ่นคิดไปเอง สังเกตเห็นว่ามันมีแท่งยาวๆ (เหมือนลึงค์/สัญลักษณ์เพศชาย) และโถกดน้ำ (เหมือนมดลูก/สัญลักษณ์เพศหญิง)

เห็นการวางมือบนบ่าแล้วอดไม่ได้ ไม่ใช่ทำให้นึกถึง Carol (2015) แต่คือ Claire’s Knee (1970) ของผู้กำกับ Éric Rohmer เกิดความฉงนสงสัยว่าหัวเข่าไหล่ แฝงนัยยะภาษากายถึงอะไร? สังเกตจากสัมผัสอันนุ่มนวลแทนคำพูดบอกลา น่าจะคือความห่วงหาอาลัย แต่ก็ขอบคุณในทุกสิ่งอย่าง ต่อจากนี้ขอให้ประสบความโชคดี หวังว่าเราจะมีโอกาสพบเจอกันอีก ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน

ผมขี้เกียจทำรูปเคลื่อนไหว (GIF) ก็เลยแคปมาสามภาพ สำหรับคนช่างสังเกตย่อมพบเห็นความแตกต่าง เกิดจากการปรับแสงสว่าง-ความมืดมิด นี่เป็นเทคนิคที่มักพบเห็นกับช็อตโคลสอัพใบหน้าตัวละคร เพื่อให้สร้างจุดจับจ้องให้ผู้ชม ระหว่างเธอกำลังครุ่นคิด จมอยู่กับตนเอง ไม่สนใจโลกภายนอก (เสียงอื่นๆนอกจากความครุ่นคิดตัวละคร ก็จะค่อยๆเบาลงด้วยเช่นกัน)

บางครั้งมันอาจวูบๆวาบๆ เดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง (แต่แค่พื้นหลังนะครับ ใบหน้าตัวละครยังคงสว่างไสวตลอดเวลา) และโดยไม่รู้ตัว กาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ถึงสถานีปลายทาง อย่างรวดเร็วยิ่งนัก! ทุกสิ่งอย่างจักหวนกลับสู่สภาวะปกติ ปลุกตื่นขึ้นจากความพร่ำเพ้อฝัน

ปริศนาเกมครอสเวิร์ดมาจากบทกวี When I Have Fears (1818) มีลักษณะ Elizabethan sonnet ความยาว 14 บรรทัดแต่งโดย John Keats (1795-1821) นักกวีชาวอังกฤษแห่งยุคสมัย Romantic Period

When I have fears that I may cease to be
    Before my pen has glean’d my teeming brain,
Before high-piled books, in charact’ry,
    Hold like rich garners the full-ripen’d grain;
When I behold, upon the night’s starr’d face,
    Huge cloudy symbols of a high romance,

And think that I may never live to trace
    Their shadows, with the magic hand of chance;
And when I feel, fair creature of an hour!
    That I shall never look upon thee more,
Never have relish in the faery power
    Of unreflecting love!—then on the shore
Of the wide world I stand alone, and think,
Till Love and Fame to nothingness do sink.

Flames of Passion ดัดแปลงจากนวนิยาย Gentle Summer แต่งโดย Alice Porter Stoughey … ทั้งสามชื่อนี้ล้วนเป็นนามสมมติ ไม่มีอยู่จริง แต่อ้างอิงถึงหนังเงียบสองสี (Bi-Pack Color) เรื่อง Flames of Passion (1922) เกี่ยวกับหญิงสาวนอกใจสามี คบชู้กับคนขับรถจนตั้งครรภ์! แต่สังเกตจากตัวอย่างหนัง หญิงสาวถูกจับมัด ชนเผ่าพื้นเมือง และกอลลิล่าตัวใหญ่ ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ King Kong (1933)

เกร็ด: บนข้อความเครดิตชื่อหนังจะมี COPYRIGHT MCMXXXVIII หรือคือ MCM1938 สามารถสื่อถึงปีที่สรรค์สร้างภาพยนตร์ปลอมๆเรื่องนี้ ค.ศ. 1938

ไม่เชิงว่าเป็นฝันซ้อนฝัน แต่คือจินตนาการพร่ำเพ้อในความทรงจำของ Laura เริ่มจากถ่ายภาพสะท้อนใบหน้าบนกระจกรถไฟ จากนั้นซ้อนภาพโคมระย้า (สัญลักษณ์ของชนชั้นสูง จุดสูงสุดของชีวิต) และเธอกับ Dr. Alec กำลังร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เต้นระบำ รับชมการแสดง ขับรถท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งพอมาถึงสถานีปลายทาง ทุกสิ่งอย่างก็มลายหายไป

ซีนที่ถือว่านัวร์สุดของหนัง! Alec พยายามโน้มน้าวชักชวน Laura ต้องการร่วมเพศสัมพันธ์ ระหว่างพวกเขาเดินเข้ามายังสถานีรถไฟ บริเวณแห่งนี้ปกคลุมด้วยความมืดมิด ไม่มีแสงสว่างอาบฉาบใบหน้านักแสดง (ด้านที่หันเข้าหากล้อง) สามารถสื่อถึงความต้องการของพวกเขาเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ขัดต่อสามัญสำนึก วิถีทางสังคม(ยุคสมัยนั้น)

ภาพแรกแสดงให้เห็นว่า ต่างฝ่ายต่างอยู่ภายในกฎกรอบที่ห้อมล้อม กีดกั้นขวาง ไม่มีทางที่พวกเขาจะครอบครอง เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน, ส่วนอีกภาพให้สังเกตโปสเตอร์ด้านหลัง มีข้อความ Gloucester Cathedral นั่นคือผนังกำแพง/สิ่งยึดเหนี่ยวรั้งคำตอบของฝ่ายหญิง

แซว: ฉากใดๆที่ตัวละครกอดจูบ ถาโถมเข้าใส่ มักยังบริเวณปกคลุมด้วยความมืดมิด อย่างแอบๆ กลัวใครอื่นพบเห็น

ในแฟลตเพื่อนของ Alec จะมีพรมสไตล์ Persian บนฝาผนังเขียนภาษาอาราบิก (Arabic) ซึ่งเป็น Love Poem แต่งโดย Ali al-Qari (มีชีวิตในช่วงศตววรษที่ 15th) นักกวีแห่งจักวรรดิ Ottoman Empire แปลข้อความได้ว่า

The Utterance of Passion – In My Eye – Speaks To You.

เกร็ด: ผู้กำกับ Billy Wilder ได้แรงบันดาลใจภาพยนตร์ The Apartment (1960) ก็จากฉากนี้แหละ เพื่อนให้เพื่อนยืมห้องพักเพื่อใช้เป็นรังรักกับชู้รัก

นี่ไม่ใช่ Singin’ in the Rain (1952) ที่ใช้สายฝนคือสัญลักษณ์แห่งความสุข โดยปกติแล้วสภาพอากาศสามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร ขณะนี้คือมีความเศร้าโศกเสียใจ นั่นเพราะ Laura อุตส่าห์ถ่อไปถึงห้องพักของ Alec หวังจะร่วมรักหลับนอน แต่กลับถูกโชคชะตาขัดวาง

และสังเกตว่าการวิ่งของเธอ พานผ่านความมืด-แสงสว่าง นี่ก็แสดงถึงความพะว้าพะวัง เต็มไปด้วยความหวาดหวั่น นี่ฉันตัดสินใจทำบ้าอะไรลงไป!

สะพานแห่งนี้อยู่ไกลมากๆเลยนะ ถ่ายทำยัง Great Langdale ณ อุทยานแห่งชาติ Lake District National Park แต่สังเกตจากมุมกล้องพยายามหลบซ่อน/ถ่ายไม่ให้ติดเทือกเขาสูงด้านหลัง เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา กระมัง!

ไคลน์แม็กซ์วินาทีที่ Laura มิอาจควบคุมตนเอง เกิดอาการสูญเสียสติแตก (Nerve Breakdown) จู่ๆตัดสินใจรีบวิ่งออกมานอกคาเฟ่/ห้องรับรอง ต้องการกระโดดให้รถไฟพุ่งชน อยากจะฆ่าตัวตาย นี่เป็นซีนที่เต็มไปด้วยเทคนิคอันแพรวพราว เพื่อสะท้อนสภาพจิตวิทยา สภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร ประกอบด้วย

  • กล้องค่อยๆเอนเอียงสู่ Dutch Angel เพื่อสื่อถึงมุมมองอันผิดเพี้ยน ความครุ่นคิดบิดเบี้ยว หรือโลกทั้งใบกำลังพังทลาย (อยากจะฆ่าตัวตาย)
  • รีบวิ่งออกมาภายนอก ถูกกระแสลมหยุดยับยั้ง แสงไฟกระพริบบนใบหน้า แสดงถึงความหวาดสะพรึง เกิดอาการโล้เล้ลังเลใจ มีบางอย่างฉุดเหนี่ยวรั้วเอาไว้ ไม่ให้เธอกระทำอัตวินิบาต
  • และเมื่อรถไฟเคลื่อนพานผ่าน ปอยผมหล่นมาบดบังหน้าผาก นี่เหมือนการปกปิด/ซุกซ่อนเร้น หรือคือการไม่สามารถเปิดเผยเหตุการณ์ต่างๆ ต้องแสดงออกราวกับว่าไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น

ตัดต่อโดย Jack Harris (1905–71) สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Farnborough, Hampshire สนิทสนมผู้กำกับ David Lean ตั้งแต่เมื่อครั้นเป็นยังนักตัดต่อสตูดิโอ Gaumont แล้วมีโอกาสร่วมงานตั้งแต่ The Happy Breed (1944), Blithe Spirit (1945), Brief Encounter (1945), Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Ladykillers (1955), The Sundowners (1960) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา หวนระลึกความทรงจำ (Flashback) และเสียงบรรยายของ Laura Jesson กับช่วงเวลาสั้นๆ ‘brief encounter’ ที่ได้พบเจอ Dr. Alec ทุกวันพฤหัสบดี ไม่รู้กี่วัน-เดือน-ปี แต่สามารถแบ่งออกเป็น 4 องก์ (ต้นฉบับละครเวทีนั้นมี 5 ซีน แต่หนังสามารถรวบรัดพฤหัสครั้งที่ 3-4 ตัดตอนให้เหลือแค่ 4 องก์)

  • อารัมบท
    • เริ่มต้น ณ คาเฟ่/ห้องรับรองของสถานีรถไฟ พบเห็นการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีระหว่างเจ้าของร้าน Myrtle Bagot และพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร Albert Godby
    • การมาถึงของ Dolly Messiter เหมือนจะขัดจังหวะอะไรสักอย่างระหว่าง Laura กับชายแปลกหน้า
    • ระหว่างโดยสารรถไฟกลับบ้าน Laura ครุ่นคิดด้วยความหงุดรำคาญใจ
    • พอกลับมาถึงบ้าน ส่งบุตรชาย-สาวเข้านอน จากนั้นนั่งพักผ่อน รับฟังบทเพลง Rachmaninoff: Piano Concerto No. 2 แล้วหวนรำลึกความทรงจำ (Flashback)
  • องก์หนึ่ง แรกพบเจอระหว่าง Laura และ Alec
    • ทุกวันพฤหัส Laura จะเดินทางเข้าเมืองมาช็อปปิ้ง ดูหนัง รับประทานอาหาร และก่อนกลับแวะยังคาเฟ่/ห้องรับรอง ณ สถานีรถไฟ
    • บังเอิญฝุ่นเข้าตา ได้รับความช่วยเหลือจากนายแพทย์ Dr. Alec
  • องก์สอง พากันไปท่องเที่ยว สานสัมพันธ์
    • หลายพฤหัสถัดมา Laura บังเอิญพบเจอ Alec ระหว่างกำลังรับประทานอาหาร
    • พากันไปดูหนัง ท่องเที่ยวผ่อนคลาย
    • ก่อนแยกย้ายแวะเวียนมายังคาเฟ่/ห้องรับรองของสถานีรถไฟ
  • องก์สาม วางแผนจะเกินเลยเถิด
    • พฤหัสถัดมา เหมือนว่า Alec จะเบี้ยวนัด แต่ก็ยังรีบวิ่งมาทันก่อนรถไฟออกจากสถานี
    • อีกพฤหัสถัดมา Alec หยิบยืมรถของเพื่อน ขับพา Laura ท่องเที่ยว และชักชวนเธอขึ้นห้องพัก
    • ตอนแรกเธอตอบปัดปฏิเสธ แต่แม้ภายหลังเดินทางมาที่ห้อง บังเอิญเพื่อนของเขาหวนกลับมาพอดิบดี
    • ก่อนจะแยกย้ายแวะเวียนมายังค่าเฟ่/ห้องรับรองของสถานีรถไฟ Alec บอกเล่าว่าตัดสินใจรับงานที่ South Africa
  • องก์สี่ ถึงเวลาร่ำลาจาก
    • พฤหัสสุดท้ายที่ทั้งสองจะได้พบเจอกัน Alec เช่ารถพา Laura ท่องเที่ยวอีกครั้ง
    • ก่อนจะร่ำลาจาก ณ คาเฟ่/ห้องรับรองของสถานีรถไฟ กลับถูก Dolly Messiter เข้ามาขัดจังหวะ ทำลายช่วงเวลาพบเจอกันครั้งสุดท้าย
  • ปัจฉิมบท หวนกลับมาปัจจุบัน Laura ตัดสินใจไม่เปิดเผยเรื่องราวแก่สามี เก็บฝังทุกสิ่งอย่างไว้ในความทรงจำ

สิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ของการตัดต่อ แตกต่างจากฉบับละครเวทีที่มีการกล่าวถึงวัน-เวลา พานผ่านมานานเท่าไหร่ก่อนนำเข้าสู่ซีนนั้นๆ แต่หนังตัดทิ้งรายละเอียดดังกล่าว ไม่รับรู้เรื่องราวดำเนินไปกี่วัน-เดือน-ปี (มีแค่นาฬิกาบอกเวลา รถไฟมากี่โมงเท่านั้น) นั่นสร้างความลึกลับ พิศวง ชวนต้องมนต์ เต็มไปด้วยแรงดึงดูด ทฤษฏีสัมพันธภาพ

โครงสร้างการดำเนินเรื่องชวนให้ผมระลึกถึง In Which We Serve (1942) ต่างเริ่มต้นด้วยอารัมบทค่อนข้างจะยืดยาว จากนั้นเป็นการเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) ตัดสลับกลับไปกลับมาอยู่หลายครั้ง

  • ขณะที่ In Which We Serve (1942) สามารถเปรียบดั่ง ‘ลมหายใจสุดท้ายของเรือพิฆาต’
  • Brief Encounter (1945) นำเสนอการสารภาพความผิดของฝ่ายหญิง หรือจะมองว่าคือความทรงจำครั้งสุดท้ายที่เราจักได้พบเจอกัน

ดั้งเดิมนั้นมีการวางแผนทำเพลงประกอบขึ้นใหม่ (Original Score) แต่เป็น Noël Coward พยายามเรียกร้องขอให้เรียบเรียง/ดัดแปลงท่วงทำนอง Rachmaninoff: Piano Concerto No. 2 เพราะความชื่นชอบโปรดปรานเป็นการส่วนตัว (และเหมือนจะเคยนำมาใช้กับการแสดงละครเวที) เลยได้รับคำแนะนำจาก Muir Mathieson ผู้อำนวยการเพลง (Musical Director) ให้ใช้บทเพลงนี้ประกอบหนังเสียเลยในลักษณะ ‘diegetic music’ พบเห็นตัวละคร Laura Jesson เปิดรับฟังขณะพร่ำเพ้อรำพัน

ผมได้เขียนรายละเอียด ที่มาที่ไป และการตีความบทเพลงนี้ไว้ในบทความ: https://raremeat.blog/rachmaninoff-piano-concerto-no-2-op-18/

เมื่อครั้น Rachmaninoff ประพันธ์บทเพลงนี้ คือช่วงเวลาที่เขาก้าวข้ามผ่านมรสุม ช่วงเวลาอันเลวร้าย รักษาหายจากอาการซึมเศร้า (Depression) จนสามารถค้นพบโลกใบใหม่ ได้รับอิสรภาพแห่งชีวิต ล่องลอยอยู่บนสรวงสวรรค์ และหวนกลับสู่สามัญ

ในบริบทของหนังจะได้ยินเพียงท่อนแรกของ Rachmaninoff: Piano Concerto No. 2, I. Moderate สำหรับสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Laura และ Alec ที่ค่อยๆไล่ระดับจากชายแปลกหน้า → คนรู้จัก → ตกหลุมรัก นั่นคือจุดสูงสุดที่พวกเขาสามารถคบหา แม้มีความต้องการพัฒนาเป็นชู้รัก แต่โชคชะตาและสามัญสำนึกเข้ามากีดกั้นขวางเอาไว้

บางคนตีความบทเพลงนี้เปรียบดั่งเสียงระฆัง ดังปลุกตื่น Laura ขึ้นจากความเพ้อฝัน หลังจากพบเจอ คบหา ตกหลุมรักชายแปลกหน้า แต่เพราะรับรู้ว่านั่นคือสิ่งไม่ถูกต้อง ขัดต่อศีลธรรมจรรยา จนกระทั่งเมื่อเขาร่ำลาจากไป จึงเกิดความตระหนักได้ถึงบางสิ่งอย่าง (จะมองว่ารู้สึกผิด เศร้าโศกเสียใจ หรือสูญเสียดาย ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดตีความ)

เหตุผลที่ Coward โปรดปรานบทเพลงนี้ ผมคาดคิดว่าเพราะมันสะท้อนความเก็บกด อึดอัดอั้น อัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่สามารถเปิดเผยสู่สาธารณะ สังคม(สมัยนั้น)ยังไม่ให้การยินยอมรับ ค่อยๆสะสมพอกพูน จนถึงจุดๆหนึ่งย่อมมิอาจอดกลั้นฝืนทน จำต้องปลดปล่อยทุกสิ่งอย่างออกมา ได้รับความเพลิดเพลินผ่อนคลาย เบาสบาย ราวกับล่องลอยอยู่บนสรวงสวรรค์

สำหรับผู้กำกับ Lean บทเพลงนี้สามารถสะท้อนความอึดอัดอั้น ตลอดการทำงานภายใต้ร่มเงา Coward เฝ้ารอคอยช่วงเวลาที่จะเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการเหนี่ยวรั้ง เมื่อไหร่จะเสร็จสิ้นงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เสียที … แม้ว่า Brief Encounter (1945) จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆออกจากร่มเงาของ Coward แต่อีกทศวรรษถัดๆมา ผู้กำกับ Lean จะสามารถดำเนินไปจนถึงสุดปลายขอบฟ้า

และสำหรับผู้ชมชาวอังกฤษ บทเพลงนี้ยังสะท้อนความอึดอัดอั้นต่อบรรยากาศสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนต้องอดรนทนต่อความหวาดระแวง น่าสะพรึงกลัว พรุ่งนี้ฉันจะยังมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ จนในที่สุด V-E Day (Victory in Europe Day) วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ก็ดำเนินมาถึง มันจึงเป็นการปลดปล่อยทางจิตวิญญาณ หมดทุกข์หมดโศกกันเสียที ได้เวลาเริ่มต้นชีวิตใหม่

สำหรับออร์เคสตราที่ได้ยินในหนังทำการแสดงโดย National Symphony Orchestra กำกับวง Muir Mathieson และบรรเลงเปียโน Eileen Joyce (1907/08-91) นักเปียโนชาว Australian โด่งดังในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เลื่องชื่อในความแม่นเป๊ะ ไม่เคยเล่นผิดพลาด และเต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว … แต่ผมไม่ค่อยอินเท่าไหร่กับนักเปียโนหญิงเล่นบทเพลงของ Rachmaninoff เพราะหลายครั้งมันมีความละมุน นุ่มนวลเกินไป

สังคมผู้ดีอังกฤษ แม้ในปัจจุบันก็ยังมีความละเอียดอ่อนไหวต่อเรื่องการคบชู้นอกใจ ไม่ยินยอมรับการเลิกราหย่าร้าง เพราะขัดต่อหลักศาสนา วิถีทางสังคม ขนบจารีตประเพณีสืบทอดต่อกันมา

เรื่องราวของ Brief Encounter (1945) มีพื้นหลังช่วงปลายทศวรรษ 30s ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวอังกฤษสมัยนั้นยังคงจดจำเรื่องราวการสละราชบัลลังก์ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (Edward VIII) เมื่อปี ค.ศ. 1936 สาเหตุเพราะทรงขออภิเษกสมรสกับ Wallis Simpson แม่ม่ายหย่าร้างชาวอเมริกัน แม้มันไม่ได้ขัดต่อข้อกฎหมายอะไรใดๆ แต่กลับถูกคัดค้านโดยคณะรัฐมนตรี โต้แย้งว่าประชาชนไม่สามารถยอมรับเธอเป็นพระราชินี

เมื่อมีประมุขของประเทศเป็นบรรทัดฐาน ต้นแบบอย่าง ‘social consciousness’ จิตสำนึกทางสังคมเด่นชัดเจนขนาดนี้ มันเลยไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ Laura Jesson จักเกิดความรู้สึกขัดแย้งภายใน ไม่สามารถปล่อยตัวปล่อยใจ กระทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจเหมือนฝ่ายชาย Dr. Alec Harvey

จะว่าไปชนชั้นทางสังคม ‘class consciousness’ ก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมแสดงออกของตัวละครเช่นเดียวกัน

  • ชนชั้นทำงาน (Working Class) มักถูกมองว่ากระทำสิ่งต่างๆตอบสนองสันชาตญาณ ชื่นชอบตกหลุมรักใครก็พูดบอก-แสดงออกมาตรงๆ คบชู้นอกใจฉันไม่สน ชาย-หญิงอยู่สองคนในห้องพัก จะยื้อยักชักแม่น้ำทั้งห้าอยู่ทำไม?
    • เรื่องราว ณ คาเฟ่/ห้องรับรองของสถานีรถไฟ การหยอกล้อระหว่างเจ้าของร้าน Myrtle Bagot และพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร Albert Godby ถือว่าสะท้อนเรื่องราวรักๆใคร่ๆของชนชั้นทำงานได้เป็นอย่างดี
  • ชนชั้นสูง/เชื้อพระวงศ์ (High Class) มักถูกห้อมล้อมด้วยกฎกรอบข้อบังคับ ไม่สามารถโอนอ่อนผ่อนปรน ต้องทำตัวเป็นต้นแบบอย่าง สร้างบรรทัดฐานให้กับสังคม ชาย-หญิงอยู่สองคนในห้องพัก ถ้าไม่ใช่สามี-ภรรยาก็จะไม่มีการแตะเนื้อต้องตัวเป็นอันขาด!

สำหรับชนชั้นกลาง (Middle Class) เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่าง Working Class และ High Class มันจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน ไม่รู้จะครุ่นคิดแสดงออกเช่นไร ระหว่างกระทำสิ่งตอบสนองสันชาติญาณ หรือยึดถือปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม … ผู้ชมที่พื้นฐานทางสังคมแตกต่างกัน ก็ย่อมมีมุมมองครุ่นคิดเห็นต่อหนังที่แตกต่างออกไปเช่นกัน

the working classes can act in a vulgar way, and the upper class can be silly; but the middle class is, or at least considers itself, the moral backbone of society.

นักวิจารณ์ Frances Gray กล่าวถึงละครเวที Still Life (1936) ที่มีกลุ่มเป้าหมายชนชั้นกลางอย่างชัดเจน

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อบุรุษต้องออกจากบ้านเพื่อไปสู้รบสงคราม มีโอกาสจะไม่ได้หวนกลับคืนมา จึงเป็นช่วงเวลาที่สตรีเพศ/ภรรยาราวกับได้รับอิสรภาพในการใช้ชีวิต แต่พวกเธอต้องแบกรับภาระครอบครัว ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด เก็บกดดัน อึดอัดอั้น ‘sexual repression’ ไม่ได้การปลดปล่อยทางเพศ จึงมีอารมณ์อ่อนไหว ความต้องการ(ทางเพศ)ที่รุนแรง … ถือเป็นเรื่องปกติในช่วงสงคราม บุรุษจากบ้านไปนาน สตรีเลยมักมองหาที่พึ่งพักพิงแห่งใหม่

ผมครุ่นคิดว่าความตั้งใจแท้จริงของ Coward ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมเห็นพ้องกับตอนจบบทละคร ตรงกันข้ามคือรู้สึกเจ็บปวด หัวใจแตกสลาย เกิดข้อคำถามทำไมฉันต้องปฏิบัติตามขนบกฎกรอบ วิถีทางสังคม? ภายนอกแสดงตนเป็นภรรยา/มารดาแสนดี แต่จิตวิญญาณกลับทุกข์ระทม จมอยู่ในความขื่นขม มีสภาพไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น

สะท้อนกับความตั้งใจแรกเริ่มของ Coward ที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวความรักชาย-ชาย ตั้งคำถามถึงทำไมต้องซุกซ่อน ปกปิดบัง เพียงเพราะสังคมไม่ให้การยินยอมรับ แต่รสนิยมทางเพศของฉันเป็นแบบนี้ จะให้หักห้าม/บีบบังคับกันได้อย่างไร?

สำหรับผู้กำกับ Lean เรื่องราวของ Brief Encounter (1945) ถือว่าสะท้อนความสัมพันธ์ช่วงสั้นๆกับ Coward ในแง่มุมอาชีพการงานนะครับไม่ใช่เรื่องรักๆใคร่ๆ เต็มไปด้วยความเคารพนับถือ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่มันไม่มีทางที่พวกเขาจะอยู่เคียงข้างตลอดไป … ตัวละคร Alec ถือเป็นตัวตายตัวแทนของผกก. Lean โดยเฉพาะตอนจบออกเดินมุ่งสู่ South Africa บอกใบ้อนาคตอีกทศวรรษข้างหน้า (Lawrence of Arabia (1962) มีบางฉากถ่ายทำที่ Morocco บนกาฬทวีป Africa)

ไม่เพียงเท่านี้ ชีวิตรักของผู้กำกับ Lean ในวิกิพีเดียบอกว่าแต่งงานทั้งหมด 6 ครั้ง! นี่ยังไม่รวมแฟนสาว ชู้รัก สงสัยจะหล่อสัดๆ หนึ่งในนั้นชื่อว่า Josephine Kirby คบหากันเมื่อปี ค.ศ. 1935 รู้ทั้งรู้ว่าเธอมีคู่หมั้นอยู่แล้ว แต่เขากลับยังพาเธอไปออกเดทที่อิตาลี แล้วปีถัดมาถึงค่อยยุติความสัมพันธ์ ระหว่างฝ่ายหญิงอยู่บนขบวนรถไฟ กำลังจะเดินทางกลับบ้านที่ Cheshire … ชีวิตรักของผู้กำกับ Lean ไม่ต่างจากชื่อหนัง ‘Brief Encounter’

She always said, ‘He was the love of my life, and I never got over it’. She knew in her heart of hearts that it would never have worked. He was just too interested in other women, and she had the feeling that he just never would be faithful. She was dead right about him, but I don’t think being dead right makes much difference to how you feel.

Catrine Clay ภรรยาของ John Clay บุตรชายของ Josephine Kirby ที่มักกล่าวถึง David Lean ให้กับภรรยาของบุตรชาย (แต่ไม่เคยกล่าวเรื่องนี้ตรงๆให้กับลูกๆของตนเอง)

นอกจากนี้ ‘Brief Encounter’ ยังมีความหมายคลอบจักรวาลถึงช่วงเวลาสั้นๆ แต่(อาจ)ยั่งยืนยาวอยู่ในความทรงจำ ยกตัวอย่างโปรดักชั่น กองถ่ายหนัง ก็ถือเป็นช่วงเวลาไม่กี่วัน-เดือน ที่คนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเพื่อสรรค์สร้างภาพยนตร์ พอเสร็จสิ้นก็ต่างแยกย้ายไปตามหนทางของตนเอง

ชีวิตมนุษย์นั้นแสนสั้น อายุไขร้อยปีเทียบไม่ได้กับความยาวจักรวาลนับล้านๆๆๆปี, การรับชมภาพยนตร์ก็เช่นเดียวกัน ด้วยความยาวเฉลี่ย 90-120 นาที ถือเป็นระยะเวลาแสนสั้น แต่หนังบางเรื่องจักติดตราตรึง จดจำฝังใจไม่รู้ลืมเลือน ตราบจนวันตายเลยก็มี!

รับชมหนังในปัจจุบัน ยุคสมัยที่การคบชู้นอกใจถือเป็นปกติสามัญ เสรีภาพทางเพศคือสิทธิของฉัน บางคนอาจมอง Brief Encounter (1945) คือเรื่องขบขัน ไร้สาระ แต่สำหรับคนยังมีพอจิตสำนึกอยู่บ้าง ย่อมตระหนักถึงความงดงาม ทรงคุณค่า อุดมคติแห่งรัก … จะว่าไปไม่ต่างจากสวนสัตว์ ที่รวบรวมสรรพชีวิตหาได้ยากในปัจจุบัน

เมื่อหนังสร้างเสร็จมีการทดลองฉายให้ผู้ชมที่ Rochester ใกล้ท่าเรือ Chatham Dockyard ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มชนชั้นทำงาน (Working Class) ปรากฏว่าได้เสียงตอบรับระดับหายนะ เพราะพวกเขาไม่เข้าใจวิถีชีวิตชนชั้นกลาง เอาแต่ส่งเสียงหัวเราะแทบจะทุกฉากโรแมนติก นั่นทำเอาผู้กำกับ Lean ครุ่นคิดว่าอาชีพการงานของตนเองคงจบสิ้นลงแล้ว

(สาเหตุที่หนังทดลองฉายที่ Rochester เพราะผู้กำกับ Lean กำลังยุ่งวุ่นวายกับการถ่ายทำผลงานเรื่องถัดไป Great Expectations (1946) อยู่แถวนั้นพอดี)

At the first love scene, one woman down the front started to laugh—I’ll never forget it. At the second love scene, it got worse. And then the audience caught on and waited for her to laugh, and it ended in an absolute shambles. They were rolling in the aisles. I remember going back to the hotel and lying in bed, almost in tears, thinking, How can I get into the laboratory and burn the negative? I was so ashamed of it.

David Lean

แต่หลังจากเหตุการณ์วันนั้นเมื่อหนังออกฉายวงกว้าง ได้เสียงตอบรับจากผู้ชม/นักวิจารณ์อย่างดีล้นหลาม ด้วยทุนสร้าง $1 ล้านเหรียญ ไม่มีรายงานรายรับ แต่ในประเทศอังกฤษทำเงินสูงสุดอันดับสามแห่งปีรองจาก The Wicked Lady (1945) และ They Met at Midnight (1945)

แม้ว่าหนังถูกแบนในบางประเทศ(ไอร์แลนด์)เพราะความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรม คบชู้นอกใจ แต่เมื่อเดินทางไปถึง Little Carnegie โรงภาพยนตร์ Art House ที่ New York City, สหรัฐอเมริกา กระแสปากต่อปากทำให้สามารถยืนโรงยาวนานถึง 8 เดือน!

ช่วงกลางปี ค.ศ. 1946 หนังมีโอกาสเข้าร่วมเทศกาล Cannes Film Festival ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ! จากจำนวนภาพยนตร์เข้าฉาย 40+ กว่าเรื่อง ได้รับรางวัล Grand Prix (อันดับหนึ่ง เทียบเท่า Palme d’Or) ร่วมกับ 11 ผลงาน (คงเพราะจัดขึ้นปีแรก เลยลดแลกแจกแถมกระมัง)

เกร็ด: จริงๆแล้ว Cannes Film Festival วางแผนจะจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1939 คัดเลือกภาพยนตร์ไว้แล้ว 7 เรื่อง แต่ต้องล้มเลิกเพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง … จนกระทั่ง ค.ศ. 2002 มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษ ตัดสินภาพยนตร์ทั้ง 7 เรื่องที่ควรเข้าฉายในปีนั้น แล้วมอบรางวัล Palme d’Or ย้อนหลังให้กับ Union Pacific (1939)

และช่วงปลายปี ค.ศ. 1946 หนังยังได้เข้าชิง Academy Award จำนวนสามสาขา น่าเสียดายไม่ได้รับรางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับไป (Best Picture ปีนั้นคือ The Best Years of Our Live (1946))

  • Best Director พ่ายให้กับ William Wyler เรื่อง The Best Years of Our Live (1946)
  • Best Actress (Celia Johnson) พ่ายให้กับ Olivia de Havilland เรื่อง To Each His Own (1946)
  • Best Screenplay พ่ายให้กับ The Best Years of Our Live (1946)

ความเป็นอมตะของหนังไม่ได้ต้องรอการพิสูจน์สักเท่าไหร่ เพราะตั้งแต่ครั้งแรกที่นิตยสาร Sight & Sound จัดอันดับ ‘The Greatest Films of All Time’ เมื่อปี ค.ศ. 1952 ภาพยนตร์เรื่องนี้ Brief Encounter (1946) ติดอันดับ 10 ร่วมกับ Le Million (1931) และ The Rules of the Games (1939)

  • Sight & Sound: The Greatest Films of All Time 1952 ติดอันดับ 10 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ 154 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 ติดอันดับ 211 (ร่วม)
  • BFI: Top 100 British films 1999 ติดอันดับ 2
  • Empire: The 100 Best British Films อันดับ 5
  • TIMEOUT: The 100 Best British Films ติดอันดับ 12
  • Total Films: 50 Best British Films ติดอันดับ 44

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย BFI National Archive และ Granada International คุณภาพ High-Definition เสร็จสิ้นเมื่อปี 2008 จัดทำเป็น DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection รวมอยู่ในคอลเลคชั่น David Lean Directs Noël Coward ทั้งหมด 4 เรื่อง (In Which We Serve, This Happy Breed, Blithe Spirit และ Brief Encounter)

(ฉบับที่เข้าฉาย House Samyan ก็น่าจะเป็นฉบับนี้นะครับ ยังไม่พบเห็นข่าวคราวการบูรณะ 4K)


หวนกลับมารับชมคราวนี้แม้ค้นพบความลุ่มลึกล้ำของ Brief Encounter (1945) แต่กลับรู้สึกว่าหนังค่อนข้างห่างจากความเป็น ‘Greatest Movie of All-Time’ ไปไกลเรื่อยๆ (แบบเดียวกับการจัดอันดับครั้งล่าสุดของนิตยสาร Sight & Sound) จะว่าไปเหตุผลที่ผมเคยหลงใหลคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้ น่าจะเกิดจากการตีความบทเพลง Rachmaninoff: Piano Concerto No. 2 แค่นั้นแหละ!

ในบรรดาคอลเลคชั่นเฉี่ยวรัก ความชื่นชอบของผมต่อ Brief Encounter (1945) อยู่ลำดับท้ายๆเลยนะเมื่อเทียบกับ Spring in a Small Town (1948), In the Mood for Love (2000), Carol (2015) ฯลฯ นี่กระมังคือเหตุผลทำให้รู้สึกว่าหนังเฉิ่มเฉยตามกาลเวลา (เพราะได้กลายเป็นอิทธิพลต่อภาพยนตร์ยุคถัดๆมา พบเห็นเกลื่อนเมือง เลยเกิดความเฉื่อยชา น่าเบื่อหน่าย)

หรือเทียบกับหนังรักคลาสสิกอย่าง Casablanca (1942), Letter from an Unknown Woman (1948), The Earrings of Madame de… (1953) ฯ ผมรู้สึกว่า Brief Encounter (1945) ยังขาดสิ่งสร้างความตราตะลึง ให้ผู้ชมจดจำฝังตรึง มีความจำเพาะกลุ่มไปสักหน่อย

แนะนำคอหนังคลาสิก รักโรแมนติก ท้าทายสันชาติญาณ-สามัญสำนึกทางศีลธรรม เหมาะสำหรับบุคคลที่เต็มไปด้วยความเก็บกด อึดอัดอั้น มีบางสิ่งอย่างต้องปกปิดซุกซ่อนเร้นภายใน (อย่างเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ), ชื่นชอบบทเพลง Rachmaninoff: Piano Concerto No. 2, และโดยเฉพาะตากล้อง นักตัดต่อ นักเรียนภาพยนตร์ ศึกษาลูกเล่น เทคนิค วิธีการนำเสนออันแพรวพราวของผู้กำกับ David Lean

จัดเรต pg กับเรื่องราวรักๆใคร่ๆ คบชู้นอกใจ

คำโปรย | แม้เป็นการพบเจอที่แสนสั้น Brief Encounter ของผู้กำกับ David Lean กลับสร้างอิทธิพลเหนือกาลเวลาต่อวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | นื
ส่วนตัว | ชื่นชอบ(ลดลงจากเดิม)


Brief Encounter

Brief Encounter (1945) British : David Lean ♥♥♥♥♡

(27/7/2016) ก่อนที่ David Lean จะได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่ทำหนังโคตร Epic อลังการงานสร้างอย่าง The Bridge on the River Kwai (1957) หรือ Lawrence of Arabia (1962) ครั้งหนึ่งเขาเคยสร้างหนังที่ดูเล็กๆ มีฉากไม่มาก ตัวละครไม่เยอะ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยเทคนิคแพรวพราว

David Lean เริ่มงานสายภาพยนตร์จากการเป็นนักตัดต่อ เขาเคยตัดหนังให้ Powell & Pressburger เรื่อง 49th Parallel (1941) และ One of Our Aircraft Is Missing (1942) ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นผู้กำกับร่วมกับ Noël Coward (ที่ต่อมากลายเป็นนักเขียนบทขาประจำให้กับ Lean) ในหนังเรื่อง In Which We Serve (1942)

Brief Encounter เป็นหนังที่สร้างขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงเพียงเล็กน้อย เรื่องราวไม่ได้เกี่ยวกับสงคราม แนวชวนเชื่อ หรือมีการพูดถึงสงครามแม้แต่น้อย แต่ได้รับการยกย่องว่าเป็น wartime romance ที่มีความเป็นอมตะ เรื่องราวความรักต้องห้าม ที่จบลงด้วยการให้มันเก็บซ่อนในส่วนลึกข้างในจิตใจ เป็นความลับไปตลอดกาล

ดัดแปลงมาจากบทละครสั้นของ Noël Coward ชื่อ Still Life (1936) มีเพียง 1 องก์เท่านั้น ประกอบด้วยนักแสดง 2 คน (Noël Coward กับ Gertrude Lawrence) และ 1 ฉากในห้องรับรอง (refreshment room) ที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่ง, ซึ่งเมื่อดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้ว คงจะมีองค์ประกอบแค่นั้นได้ยังไง จึงมีการใส่สถานที่ที่มีการอ้างถึงจากบทละคร อาทิ บ้านของนางเอก, ห้องของพระเอก, โรงหนัง, ร้านอาหารและ ร้านขายของ ฯ เพิ่มในส่วนของการเล่าเรื่องเข้าไป

ในห้องรับรอง ณ สถานีรถไฟแห่งหนึ่ง Laura Jesson หญิงสาวได้พบกับหมอหนุ่ม Alec Harvey ระหว่างรอรถไฟเข้าเทียบท่า ตกหลุมรักกันทั้งๆที่ทั้งคู่ต่างก็แต่งงานมีลูกแล้ว ในใจรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ผิด เป็นไปไม่ได้ ไม่สมควร แต่ก็ยากที่จะฝืนโชคชะตาตัวเอง ความรักมันไม่เข้าใครออกใคร มนุษย์เราง่ายที่จะตกหลุมรัก แต่ยากที่จะต้องทำใจเลิกรา

นำแสดงโดย Celia Johnson รับบท Laura Jesson,เธอรักครอบครัว รักลูก รักสามี ชีวิตที่สุขสงบสันติ เป็นคนธรรมดาสามัญ คำพูดของเธอที่ว่า ‘ฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่าความรุนแรงดังกล่าว จะสามารถเกิดได้กับคนธรรมดาสามัญเช่นชั้น’ (I didn’t think such violent things could happen to ordinary people.) ความรุนแรงที่ว่านี้ของเธอคือ การตกหลุมรักชายอื่น นอกใจสามี มีชู้, การแสดงของ Johnson แม้จะยังดูแข็งกระด้างไปบ้าง แต่สีหน้าและท่าทางที่มีความกระด้างใจ รู้ว่าตัวเองผิดจึงเกิดความวิตกกังวล สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า ข้างในเธอปั่นป่วนแค่ใดกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้

เกร็ด: หนังสือที่ Laura ยืมหนังสือจาก Boots Lending Library ของร้าน Boots Pharmacies (ก่อตั้งปี 1898 ปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่) เป็นนิยายของ Kate O’Brien (1897-1974) นักเขียนนิยายและบทละครชาว Irish

Trevor Howard รับบท Dr Alec Harvey ชายผู้ซึ่งมีความต้องการไม่แพ้ Laura เขาตกหลุมรักและพร้อมที่จะเสียสละเพื่อเธอ, ผู้ชายเป็นเพศที่ได้เปรียบเสมอเรื่องความรักนะครับ เพราะมีความกล้าตัดสินใจ กล้าพูด กล้าทำมากกว่าผู้หญิง แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ Alec มีอิทธิพลเหนือเธอ เขายื่นขอเสนอต่อ Laura ที่จะทิ้งลูกทิ้งเมียมาอยู่ด้วยกันและขอให้เธอทำตาม ซึ่งการที่เธอจะทำตามคำขอของเขาไหมนั่นอีกเรื่องหนึ่ง Alec ไม่มีการฝืนบังคับเธอ ถือว่าเป็นสุภาพบุรุษมากๆ

นี่เป็นหนัง debut ของ Trevor Howard จากคำให้สัมภาษณ์ของ David Lean บอกว่า ‘Trevor เป็นคนที่ไม่ sensitive อ่อนไหวเลย เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังทำอะไรอยู่ตอนถ่ายหนังเรื่องนี้ แต่ไม่น่าเชื่อว่า ต่อมาเขาจะกลับกลายเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยม’

ผมกึ่งๆมองว่านี่เป็นหนัง Feminist นะครับ เพราะเพศที่เป็นผู้ตัดสินใจเลือกคือ Laura เพศหญิงไม่ใช่ Alec เพศชายที่เป็นผู้ยื่นขอเสนอให้เท่านั้น ทั้งการเป็นชู้, เรื่อง Sex และการเลิกรา ฯ ซึ่งหนังให้การตัดสินใจของเธอ เกิดขึ้นอยู่ในกรอบของศีลธรรม ไม่ได้ให้เกิดความขัดแย้ง หรือเห็นต่างจากสังคม (หนัง Feminist ทั่วๆไป มันจะเป็นการตัดสินใจของฝ่ายหญิง เพื่อก้าวข้ามผ่านขอบเขตอะไรบางอย่าง) นี่ผมเลยเรียกว่าเป็นกึ่งๆ Feminist ที่ปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติต่อความรักและครอบครัวในทิศทางที่เหมาะสม

สิ่งที่คอยยับยั้งชั่งใจ Laura คือ ‘จิตใต้สำนึก’ (Conscience) ซึ่งมักมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรม ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมา ระหว่างความสุขของตนเอง กับความสุขของผู้อื่น ในบางครั้งเราก็ต้องเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขของคนอื่น ผู้หญิงมักมีความละเอียดอ่อนในเรื่องพวกนี้มาก ในระดับที่ผู้ชายคาดกันไม่ถึงทีเดียว

ถ่ายภาพโดย Robert Krasker (The Third Man-1949) เราจะได้เห็นมุมกล้องเอียงๆบ่อยครั้ง แสดงถึงความลังเลสงสัย, มีขณะหนึ่งของการถ่ายภาพที่ทรงพลังมาก กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา Laura แบบม้วน (หมุนกล้อง) อารมณ์ในขณะนั้นจิตใจของเธอมีความสับสนอลม่าน ลังเลไม่แน่ใจ เมื่อวินาทีได้ยินเสียงรถไฟ เธอจึงรีบวิ่งออกมาเป็นครั้งสุดท้าย (มันเหมือนว่าเธอจะพยายามฆ่าตัวตาย แต่จิตใต้สำนึกห้ามเธอไว้)

ในระหว่างถ่ายทำ คาบเกี่ยววันที่ 8 พฤษภาคม 1945 (วันที่ Germany ยอมแพ้สงคราม) ทีมงานต่างหยุดงานเพื่อร่วมเฉลิมฉลองชัยชนะ เว้นแต่ตากล้อง Robert Krasker ที่ถูกสั่งให้ไปเก็บภาพการเฉลิมฉลองทั่ว London

เกร็ด: สถานีรถไฟที่หนังใช้ถ่ายทำคือ Carnforth Station ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ London, เดิมทีจะใช้สถานี London แต่ตอนนั้นมีสภาพเสียหายจากการถูกทิ้งระเบิด ทำให้ทีมงานต้องอพยพหนีไปหาสถานที่ถ่ายทำนอกเมือง, เหตุที่เลือก Carnforth เพราะเป็นสถานีใหญ่ ห่างไกลจากชายฝั่งตะวันออก และสามารถปิดไฟซ่อนตัวขณะเกิดการโจมตีทางอากาศได้

ตัดต่อโดย Jack Harris, หนังใช้การเล่าเรื่องแบบย้อนอดีต (Flashback) เริ่มต้นจาก ณ จุดสิ้นสุด ใช้เสียงบรรยายประกอบภาพที่มาจากความทรงจำ และเพลงประกอบที่เปิดฟังอยู่ขณะนั้น Piano Concerto No. 2 ของ Sergei Rachmaninoff บรรเลงโดย Eileen Joyce, นี่เป็นเพลงโปรดที่ผมชอบที่สุดนะครับ ได้ยินตอนเครดิตขึ้นนี่ตาลุกโพลงเลย ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงนี้ในหนัง มันเหมือนว่าเราได้ฟังเพลงไปเรื่อยๆ ไม่มีการย้อนท่อนเดิมซ้ำ ประมาณว่าเหตุการณ์ช่วงนี้ สอดคล้องกับอารมณ์เพลงท่อนนี้ มันกลายเป็นว่าขณะดู ผมสามารถจับอารมณ์ของหนังได้ จากแต่ละท่อนที่บรรเลงขึ้นมา นี่ถือว่าไม่ธรรมดาเลยนะครับ จะเรียกว่าเป็นหนังประกอบเพลงเลยก็ยังได้

หน้าหนังเป็นเรื่องของความรักที่ขัดต่อศีลธรรม ประเพณี แต่ใจความแฝงของหนัง ผมคิดว่าเป็นการสะท้อนภาพของสงครามในมุมของความรัก มองครอบครัวเป็นเหมือนประเทศ และการเป็นชู้เหมือนความขัดแย้งที่กลายเป็นสงคราม เกิดการต่อสู้ แก่งแย่งให้ได้มาครอบครอง, ซึ่งตอนจบเมื่อ Laura และ Alec ตัดสินใจที่จะไม่พบหน้ากันอีก นี่หมายถึง การไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือสงคราม ต่างฝ่ายไม่แก่งแย่งชิงดีกัน เรื่องทุกอย่างก็จบ สงครามก็จะไม่เกิด

เราจะเลือกเชื่อใจคนที่เราพบกันมาเพียงชั่วครู่ (Brief Encounter) หรือคนที่อยู่กับเรามาหลายปี หรือเกือบทั้งชีวิต

ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปมาก ทำให้ทัศนคติแบบหนังเรื่องนี้ถือว่าเก่า เชย และยิ่งประเด็น Feminist ที่สอนให้ผู้หญิงกล้าพูดกล้าทำกล้าตัดสินใจ ไม่ยึดติดกับกรอบระเบียบของสังคม เรื่องราวแบบนี้ถือว่าตกสมัยไปแล้ว กระนั้นหนังก็ไม่ล้าหลังเลยนะครับ นี่แหละที่เรียกว่า ‘ความคลาสสิก’ มันคือความดีงาม แนวคิดในอุดมคติ ที่เรียกว่าล้าหลังเพราะคนเริ่มคิด ทำแบบนั้นกันไม่ได้แล้ว ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าโลกต่อไปจะเป็นอย่างไร ถ้ามนุษย์ไม่เชื่อในความคลาสสิกอีกต่อไป

ในชีวประวัติของ Billy Wilder บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจหนังเรื่อง The Apartment (1960) มาจากฉากที่ Alec ใช้ห้องของเพื่อน เพื่อจะอยู่กับ Laura สองต่อสอง

หนังถูกแบนในประเทศ Ireland ด้วยสาเหตุเรื่องชู้ นี่ยังถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนในสมัยนั้นนะครับ

เข้าชิง Oscar 3 สาขา ประกอบด้วย Best Director, Best Actress และ Best Writing แต่ไม่ได้สักรางวัล, ฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รางวัล Grand Prize เทียบสมัยนี้ก็ Palme d’Or นะครับ

แนะนำกับคอหนังคลาสสิก, หนังรางวัล, ชอบแนวโรแมนติกอมตะ, ชื่นชอบผู้กำกับ David Lean และอยากดูผลงานของเขาในยุคแรกๆ, แนะนำอย่างยิ่งกันคนทำงานสายภาพยนตร์ นี่เป็นหนังที่แพรวพราวไปด้วยเทคนิค เรียนรู้เพื่อนำไปปรับประยุกต์ใช้

จัดเรต PG หนังไม่ได้มีฉากที่ดูรุนแรงนัก แต่มีเรื่องชู้ที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำสักหน่อยก็ดี

TAGLINE | “Brief Encounter ของ David Lean มีความอมตะที่สวยงาม กับความรักที่อยู่ในธรรมเนียม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: