Broken Flowers (2005) : Jim Jarmusch ♥♥♥♡
Bill Murray เนี่ยนะรับบทตัวละครฉายา Don Juan? วันหนึ่งได้รับจดหมายสีชมพูลึกลับ บอกว่าลูกชาย -ที่เพิ่งรับรู้ว่ามีตัวตน- กำลังติดตามหา นั่นเป็นสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถูกผลักดันให้ต้องเดินทางหวนกลับไปพบเจอบรรดาแฟนเก่า Sharon Stone, Frances Conroy, Jessica Lange และ Tilda Swinton, คว้ารางวัล Grand Prix (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
บอกตามตรงว่าผมจินตนาการไม่ออก Bill Murray เนี่ยนะเพลย์บอย? แต่นั่นคือความพิศวงของหนังที่ไม่ได้ชักชวนให้ผู้ชมใช้ตรรกะใดๆค้นหาคำตอบ แค่ว่าเกิดความบันเทิงเพลิดเพลินไปกับมันก็เพียงพอแล้ว … หนังตลกเมืองไทยก็แบบนี้ไม่ใช่รึ
แค่ว่าความ Comedy แบบลุ่มลึกสไตลิสต์ อาจไม่ได้ถูกรสนิยมผู้ชมวงกว้างสักเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบผู้กำกับ Jim Jarmusch สามารถเรียกได้เลยว่า ‘Rock Star’ แห่งวงการอินดี้
James Robert Jarmusch (เกิดปี 1953) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Cuyahoga Falls, Ohio ลูกคนกลางจากพี่น้องสามคน แม่ชอบพาเขาไปทิ้งไว้ในโรงหนังใกล้บ้านระหว่างทำงานรับจ้างโน่นนี่นั่น เลยมีโอกาสดูหนังควบเกรดบีอย่าง Creature From the Black Lagoon (1954), Attack of the Crab Monsters (1957), Thunder Road (1958), ต่อด้วยหนังใต้ดินของ Andy Warhol, Robert Downey, Sr. ฯ หลังจบมัธยมปลายมุ่งสู่ Chicago ทีแรกได้เข้าเรียน Medill School of Journalism แต่เขาไม่ได้สนใจในหลักสูตรนักข่าว เลยย้ายมา Columbia University ศึกษาภาษาอังกฤษ, วรรณกรรมอเมริกัน, ต่อมาสมัครเข้าเรียน Tisch School of the Arts กลายเป็นลูกศิษย์ László Benedek มีเพื่อนร่วมรุ่น Sara Driver, Tom DiCillo, Howard Brookner, Spike Lee ฯ ปีสุดท้ายสร้างภาพยนตร์ Thesis เรื่อง Permanent Vacation (1980) เข้าตาอาจารย์ Nicholas Ray ได้กลายเป็นผู้ช่วยกองถ่ายสารคดี Lightning Over Water (1980) ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ทำร่วมกับ Wim Wenders ขอนำฟีล์มที่หลงเหลือถ่ายทำหนังสั้นกลายเป็นขนาดยาว Stranger Than Paradise (1984) แจ้งเกิดโด่งดัง ได้รับการยกย่อง ‘Landmark of Modern Independent Filmmaker’
ผลงานเด่นๆ อาทิ Down by Law (1986), Mystery Train (1989), Dead Man (1995), Ghost Dog: The Way of the Samurai (1999), Coffee and Cigarettes (2003), Broken Flowers (2005), Only Lovers Left Alive (2013), Paterson (2016) ฯ
สไตล์ของ Jarmusch มักมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับคนนอกคอก ผู้อพยพ มุมมองต่างชาติ หรือบุคคลที่สาม, ซึ่งเพื่อนสนิทนักดนตรี Tom Waits ให้คำอธิบายไว้ว่า
“The key, I think, to Jim, is that he went gray when he was 15 … As a result, he always felt like an immigrant in the teenage world. He’s been an immigrant – a benign, fascinated foreigner – ever since. And all his films are about that”.
– Tom Waits
สำหรับ Dead Flowers (Working Title ของหนัง นำจากบทเพลง Sticky Fingers วง The Rolling Stones) ได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดของสองเพื่อนสนิท Bill Raden และ Sara Driver ใช้เวลาพัฒนาบทสองสัปดาห์ครึ่ง และอุทิศให้ผู้กำกับ Jean Eustache ที่หลังจากสร้าง The Mother and the Whore (1973) ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ขณะอายุเพียง 41 ปี
Don Johnston (รับบทโดย Bill Murray) ฉายา Don Juan หลังจากประสบความสำเร็จในธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องการมีชีวิตอย่างสุขสงบหลังเกษียณ แต่แฟนสาว Sherry (รับบทโดย Julie Delpy) กลับทอดทิ้งไปโดยไม่ทราบสาเหตุ พอดิบพอดีจดหมายลึกลับสีชมพูส่งมาถึงบ้าน รายละเอียดบอกว่าบุตรชายวัย 19 ปี กำลังติดตามหาตัวพ่อ! ทีแรกครุ่นว่าเป็นเรื่องตลกเลยไม่คิดจะทำอะไร แต่ถูกเพื่อนบ้าน Winston (รับบทโดย Jeffrey Wright) คะยั้นคะยอและเสือก ทำให้เขาต้องออกเดินทางเพื่อหวนกลับไปพบเจออดีตแฟนเก่าทั้งหลาย ประกอบด้วย
– Laura (รับบทโดย Sharon Stone) ทำงานเป็นนักออกแบบตู้เสื้อผ้า ก่อนหน้านี้แต่งงานกับนักแข่งรถที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มีบุตรสาว Lolita (รับบทโดย Alexis Dziena) อยู่ในวัยริร่านสวาท, ครั้งนี้เหมือนว่า Don ได้มีโอกาสรำลึกความหลัง
– Dora (รับบทโดย Frances Conroy) จากเคยเป็นสาว ‘flower girl’ (น่าจะประมาณลูกคุณหนู) ปัจจุบันแต่งงานกับ Ron (รับบทโดย Christopher McDonald) ทำงานอสังหาริมทรัพย์ ใช้ชีวิตอย่างชนชั้นกลาง รับประทานอาหารคลีน สร้างภาพให้ดูดี แต่เมื่อถูกซักถามเรื่องลูกกลับเป็นประเด็นอ่อนไหวขัดแย้ง
– Carmen Markowski (รับบทโดย Jessica Lange) จากเคยมีความลุ่มหลงใหลในการเป็นทนาย หลังสุนัขตัวโปรดตาย กลายมาเป็นนักสื่อสารสัตว์ สามารถรับฟังและพูดคุยกับหมาแมว ล่วงรับรู้ความลึกลับบางอย่างในการแวะมาเยี่ยมเยือนหาของ Don Johnston ในครั้งนี้ และเหมือนว่าเธอจะมีความสัมพันธ์ลึกลับ (เลสเบี้ยน?) กับเลขาสุดเซ็กซี่ (รับบทโดย Chloë Sevigny)
– Penny (รับบทโดย Tilda Swinton) อาศัยอยู่ชนบทลึกลับห่างไกล ท่ามกลางแฟนหนุ่มคลั่งรถ Big Bike เมื่อพานพบเจอหน้า Don Johnston ความทรงจำครั้งเก่าก่อนยังคงโกรธเกลียดเคียดแค้น เลยโดยผัวใหม่ชกตาบวมเข้าให้
– Michelle Pepe อดีตแฟนสาวคนสุดท้าย แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ระหว่างทางขณะแวะซื้อดอกไม้ พานพบเจอหญิงสาวชื่อ Sun Green (รับบทโดย Pell James) แสดงความเป็นห่วงเป็นใยอย่างผิดสังเกต
ความล้มเหลวจากทริปดังกล่าว ทำให้ Don Johnston ตัดสินใจหวนกลับมาบ้าน ขณะออกจากสนามบินพานพบเห็นเด็กชายหนุ่มคนหนึ่ง (รับบทโดย Mark Webber) และวันถัดมาพบเห็นเขาแถวๆบ้าน จึงครุ่นคิดคาดว่าเขาคงคือบุตรชายตนเอง แต่ความเข้าใจผิดทำให้รีบวิ่งหนี และมีรถเต่าคันหนึ่งสวนมา พบเห็นเด็กชายหนุ่มอีกคน (รับบทโดย Homer Murray บุตรชายแท้ๆของ Bill Murray) สบสายตาด้วยความฉงนสงสัย
เกร็ด: Jarmusch ได้ขอให้นักแสดงหญิงทั้งหมดเขียนจดหมายสีชมพูในมุมมองของตนเอง จากนั้นนำมารวบรวมประติดประต่อ จนกลายเป็นจดหมายจริงสำหรับส่งหาพระเอก
นำแสดงโดย William James Murray (เกิดปี 1950) นักแสดง คอเมอเดี้ยน สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Evanston, Illinois พี่น้องแปดคน นับถือ Roman Catholic สมัยวัยรุ่นร่วมกับเพื่อนเป็นนักร้องวง Rock โตขึ้นเข้าเรียนต่อเตรียมแพทย์ Regis University แต่ตัดสินใจออกมาเป็นตลกในสังกัด The Second City ต่อด้วยจัดรายการวิทยุ The National Lampoon Radio Hour จากนั้นกลายเป็นนักแสดง Off-Broadway มุ่งสู่วาไรตี้โชว์ Saturday Night Live ไม่นานนักเริ่มได้รับความนิยมจนมีโอกาสแสดงภาพยนตร์ Meatballs (1979), Caddyshack (1980), Tootsie (1982), Ghostbusters (1984), Ed Woods (1994), The Royal Tenenbaums (2001), และได้เข้าชิง Oscar: Best Actor เรื่อง Lost in Translation (2003)
รับบท Don Johnston ผู้ต้องการใช้ชีวิตวัยเกษียณแบบไม่ต้องทำอะไร นั่งอยู่ตรงโซฟา ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง เต็มไปด้วยความเฉื่อยชา หน้านิ่ง ว่างเปล่า แต่วันๆมักถูกรบกวนโดยเพื่อนบ้าน พยายามชี้ชักนำให้ทำโน่นนี่นั่น แม้ไม่ค่อยเต็มใจแต่กลับยินยอมตาม (เพราะวันๆก็ไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้ว) ออกเดินทางพานพบเจอแฟนเก่า ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป สุดท้ายพอกลับมาบ้านเห็นเด็กชายหนุ่มน่าสงสัย อดไม่ได้ครุ่นคิดว่านั่นอาจคือลูกของตนเอง
เกร็ด: ภาพยนตร์ที่ตัวละครรับชมในบ้านคือ The Private Life of Don Juan (1934) สร้างโดยผู้กำกับ Alexander Korda น่าจะเป็นฉบับยอดเยี่ยมดีสุดแล้วกระมัง
ใครๆก็น่าจะบอกได้ว่า Jarmusch เลือก Murray จากบทบาท Lost in Translation (2003) [แต่ Murray เคยมารับเชิญเล็กๆเรื่อง Coffee and Cigarettes (2003)] ก็ตั้งแต่ช็อตแรกที่นั่งจุ้มปุกตรงโซฟา เรียกได้ว่าเหมือนเปะ ทั้งสีหน้า ท่วงท่าทาง เต็มไปด้วยความไม่แคร์ยี่หร่าต่ออะไร แต่ภายในจิตใจชัดเจนว่าหมกมุ่น คลุ้มคลั่ง สูญเสียดาย มีบางสิ่งอย่างหลบซ่อนเร้นอยู่
Murray เป็นนักแสดงที่มีอารมณ์ศิลปินมากๆคนหนึ่ง ก่อนหน้านี้จากความล้มเหลวไม่ทำเงินของ The Razor’s Edge (1984) ทำให้พี่แกพักงานในวงการถึง 4 ปี เพื่อไปศึกษาร่ำเรียนปรัชญา ประวัติศาสตร์ และใช้ชีวิตกับบุตรชายที่เพิ่งคลอด, เช่นกันหลังเสร็จจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ครุ่นคิดว่าน่าจะเป็นบทบาทยอดเยี่ยมสุดในชีวิต เลยตั้งใจจะรีไทร์ถาวร … แต่ก็ทนเสียงเรียกร้องของ Wes Anderson ไม่ไหว หวนกลับมาแสดง The Darjeeling Limited (2007)
ถ่ายภาพโดย Frederick Elmes (เกิดปี 1946) สัญชาติอเมริกัน แจ้งเกิดโด่งดังกับ Eraserhead (1977), Blue Velvet (1986), Wild at Heart (1990), เริ่มร่วมงานกับ Jarmusch ตั้งแต่ Night on Earth (1991)
ทั้งๆคือหนัง Road Movie แต่ข้อเรียกร้องของ Bill Murray คือเขาจะต้องออกเดินทางไม่ไกลกว่า 1 ชั่วโมง จากบ้านที่ Hudson Valley, New York ซึ่งทั้งหมดของหนังถ่ายทำไม่เกิน New Jersey (แต่ผู้ชมถูกหลอก ให้ดูเหมือนขึ้นเครื่องบินไปไกลมากๆ)
Jarmusch เป็นผู้กำกับที่มีรสนิยมในงานศิลป์ไม่น้อยเลยนะ ออกแบบหลายๆฉาก/เลือกภาพวาดติดฝาผนัง สามารถอธิบายตัวตนของตัวละครได้เป็นอย่างดีมากๆ
บ้านของ Don Johnston จะมีความมืดมิด แสงสีน้ำเงินปกคลุมตลอดเวลา เต็มไปด้วยความเย็นยะเยือกหนาวเหน็บ นานๆครั้งถึงพบเห็นเปิดไฟ ก่อเกิดความอบอุ่นขึ้นบ้างในบ้านหลังนี้, สังเกตงานศิลป์ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวาดสไตล์ Expressionist คงอยากจะกรีดกรายบางสิ่งอย่างออกมากระมัง
บ้านของครอบครัว Winston มีความเป็น African/Ethiopian สีสันสว่างสดใส (เรียกว่าตรงกันข้ามกับสีผิวพวกเขาเลยละ) เน้นโทนเขียว-เหลือง-ส้ม เกิดความผ่อนคลายสบายตาเวลารับชม
บ้านของ Laura ฝาผนังลวดลายดอกไม้ เน้นโทนสีแดง-เหลือง เต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส ขณะที่รูปภาพถ่ายมักของสามีผู้ล่วงลับ หรือไม่ก็รถแข่ง, โทรศัพท์ของลูกสาวประดับเพชร/คริสตัล แลดูระยิบระยับ โลกสวยไปเสียหมด
อาหารการกิน จะมีช็อต Close-Up เอ็นไก่ (ส่วนใกล้อวัยวะเพศที่สุด) ดื่มไวน์แดงให้เกิดอารมณ์ยั่วยวน และทรงผมสับปะรดราวกับเป็นของหวาน
บ้านของ Dora มีความหรูหรา เรียบง่าย ทาผนังสีขาว ประดับภาพดอกไม้และบ้านสไตล์ Minimalist ขณะเดียวกันแสงภายนอกสาดส่องบานเกล็ด แลดูเหมือนซี่กรงขังคุก … บริสุทธิ์แต่ไม่ผุดผ่อง
อาหารคลีน ประกอบด้วยข้าว สเต็กไก่ แครอท และไวน์ขาว ดูเรียบง่ายธรรมดา แต่ไฮโซหรูหรา
บ้าน/ที่ทำงานของ Carmen เน้นความเป็นธรรมชาติ ทำจากไม้ รูปภาพก็มักมีแมวเป็นองค์ประกอบ หรือไม่ก็ภาพทิวทัศน์/ธรรมชาติไปเลย
Carmen สวมกางเกงสีชมพูอย่างมีนัยยะสำคัญ, ขณะที่เลขาสาว เดรสในกราวด์มีลวดลายแจ๊สจ๊าด กระโปรงสั่นติ่งเพื่อยั่วยวน แต่ดูแล้วคงไม่ใช่เพื่อยั่วสวาทลูกค้าอย่างแน่นอน
บ้านของ Penny ดูรกร้าง ห่างไกล ไม่ได้รับการเอาใจใส่สักเท่าไหร่ (ราวกับไม่มีสัก Penny เดียว) รายล้อมด้วยธรรมชาติ ตัดกับความลุ่มหลงใหลในรถ Big Bike อกสีชมพู แปลว่าภายในจิตใจยังโหยหาสิ่งสวยๆงามๆ
แซว: Tilda Swinton ย้อมผมดำ ดูแมนมากๆ
ตัดต่อโดย Jay Rabinowitz สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Jarmusch ตั้งแต่ Down by Law (1986), ผลงานเด่นอื่นๆ Requiem for a Dream (2000), 8 Mile (2002), I’m Not There (2007), The Tree of Life (2011) ฯ
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Don Johnston ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นตอนๆได้อย่างชัดเจน แบ่งแยกด้วยการ Fade-in-Black และ Fade-out-Black (นั่นคือสไตล์ลายเซ็นต์ของ Jamusch เลยก็ว่าได้)
– อารัมบทกับแฟนสาวที่กำลังจะทิ้งไป Sherry
– ถูกล่อลวงโดยเพื่อนบ้าน Winston
– พานพบเจอแฟนเก่า Laura, Dora, Carmen, Penny และ Michelle [ว่าไปชื่อแฟนเก่า ช่างมีความสอดคล้องจองกันเสียจริง!]
– หวนกลับมา พานพบเจอเด็กชายหนุ่ม
พบเห็นสองสามครั้งที่ Don Johnston หลับตา/นอนฝัน ปรากฎภาพ Flashback ประมวลผลความทรงจำ หวนระลึกนึกย้อนถึงช่วงเวลาที่พานผ่านมา ซึ่งถือเป็นการสะท้อนถึงความสูญเสียดายที่เกิดขึ้นภายในจิตใจตัวละครได้อย่างชัดเจนทีเดียว
สำหรับเพลงประกอบ มีลักษณะของ Diegetic Music เปิดฟังจากแผ่น CD แต่ที่มีความติดหู คือผลงานเพลงของ Mulatu Astatke นักแต่งเพลงชาว Ethiopian ผู้ได้รับฉายาบิดาแห่ง Ethio-Jazz โดยเฉพาะบทเพลง Yekermo Sew (1974) มอบสัมผัสเซ็กซี่ เร่าร่าน ฟังแล้วดีต่อใจเสียจริง
บทเพลง Opening/Closing Song ชื่อ There is an End (2002) แต่งโดย Craig James Fox ขับร้องโดย The Greenhornes ร่วมกับ Holly Golightly เนื้อคำร้องบทเพลงนี้สะท้อนความเงียบสงัดได้เป็นอย่างดี
Words disappear,
Words weren’t so clear,
Only echos passing through the night.
แซว: ถึงชื่อเพลงคือ นี่คือจุดจบ แต่หนังเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง
สไตล์ของ Jarmusch นำเสนอตัวละครที่มีมุมมองราวกับคนนอก ในบริบทนี้ก็คือตัวละครของ Bill Murray ออกเดินทางหวนกลับไปพานพบเจอบรรดาแฟนเก่า เห็นเรื่องราวชีวิตพวกเธอที่ปรับเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็มีทั้งดีขึ้น-แย่ลง ในรูปแบบคงไม่มีใครครุ่นคาดคิดถึง
– Laura (และลูกสาว) ผู้ยังคงมีความเร่าร้อน ร่านแรง ชีวิตต้องการสิ่งเร้าใจตลอดเวลา (สามีแข่งรถ มอดไหม้ไปกับเปลวเพลิง) ทำอาชีพออกแบบตู้เสื้อผ้า (สัญลักษณ์ของสิ่งหลบซ่อนเร้นภายใน) ดูไม่ต่างจากโสเภณีสักเท่าไหร่
– Dora อาชีพอสังหาริมทรัพย์ อาศัยอยู่บ้านหรูหรา กินอาหารคลีน แต่ทั้งหมดนั่นคือการสร้างภาพ เพราะความสุขแท้จริงของการมีลูก สื่อถึง Sex ที่ไม่สุขสมหวัง ใกล้ถึงจุดแตกหักเต็มทน
– Carmen จากเคยเป็นนักกฎหมายที่เคร่งขัดด้วยระเบียบ เปิดโลกทัศน์ออกนอกกฎกรอบทางสังคม หันมาสื่อสารพูดคุยกับธรรมชาติ/สรรพสัตว์ ค้นพบความต้องการตนเองกับเพศเดียวกัน
– Penny ระบายความเกรี้ยวกราดโกรธที่สะสมภายในจิตใจ แปรสภาพกลายมาเป็นสิงห์นักบิด ใช้ชีวิตกับนักเลงหัวรุนแรง ปลีกหลีกหนีสังคมเมืองอาศัยอยู่ลึกลับห่างไกล
– และ Michelle ถือเป็นปัจฉิมบท คือการสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
แซว: ในความคิดเห็นส่วนตัว 4+1 แฟนเก่าของตัวละคร ผมไม่รู้สึกว่าใครมีชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมเลยนะ นั่นอาจสะท้อนถึงปม Trauma จากการเลิกร้างรากับ Don Johnston ยังคงฝังจิตคาใจพวกเธอไม่รู้ลืม
Broken Flowers คือเรื่องราวของชายผู้โหยหาบางสิ่ง สูญเสียดายกับอะไรหลายๆอย่างที่ตัดสินใจทอดทิ้ง พยายามปะติดปะต่อปัจจุบัน แต่ก็ไร้ซึ่งโอกาส ความตั้งใจ และไม่รู้จะทำอย่างไรเมื่อได้รับมา
“He wants something. I think the film is somehow about yearning – and I don’t know where that came from. Yearning for something that you’re missing, and not necessarily being able to define what it is you’re missing”.
– Jim Jarmusch
ใครกันคือเจ้าของจดหมายแท้จริง? นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญของหนังนะครับ เพราะสำหรับผู้กำกับ Jarmusch ปรัชญาชีวิตของเขาก็เหมือนคำอธิบายตัวละคร อดีตเป็นสิ่งพานผ่านมาแล้ว อนาคตหาใช่เรื่องที่ต้องเร่งรีบร้อน ปัจจุบันต่างหากคือช่วงเวลาสำคัญที่สุด แค่นั้นก็เหลือเฟือเพียงพอแล้ว
“I’d like the audience to carry that moment around somewhere in them for a little while”.
คำถามตัวละครที่ว่า Are you a Buddhist? ในมุมของผู้กำกับ Jarmusch แสดงออกมาว่ามีความเข้าใจ แต่นั่นไม่ใช่วิถีของเขาที่จะปฏิบัติแสดงออกได้
“To me, if you can live that way, then you’re a f—kin’ Zen Master. The highest thing I could aspire to is to be in any given moment, at that moment. Real easy to say, real hard to do”.
แต่ผมว่าความเข้าใจของผู้กำกับ Jarmusch ต่อศาสนาพุทธหรือนิกายเซ็นค่อนข้างผิดเพี้ยนไปมาก กล่าวคือเขามองเห็นแค่การแสดงออกภายนอก สงบนิ่งเฉย พยายามหลงลืมอดีต ไม่ครุ่นคิดยึดติดต่อสิ่งใด นั่นทำให้กาลเวลาเคลื่อนผ่านก็จักเกิดความโหยหา เริ่มอยากได้บางสิ่งอย่างกลับคืนมา … หลักคำสอนของพุทธ การปล่อยวาง ไม่ใช่ไม่พยายามครุ่นคิดหรือทำอะไร เริ่มต้นคือทำความเข้าใจถึงสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? เราถึงไม่ควรเอาจิตไปหมกมุ่นครุ่นยึดติดกับกิเลสตัณหา เกิดความเบื่อหน่ายต่อราคะ-โทสะ-โมหะ และเมื่อนั้นสิ่งที่โหยหาแท้จริงจักคือความสงบ ไม่หวนกลับสู่วิถีวังวนของโลกอีกต่อไป
ช็อตสุดท้ายของหนัง กล้องหมุน 360 องศา วนรอบตัว Bill Murray ด้วยสายตากลิ้งเกลือกกรอกไปมา นั่นเป็นการสื่อถึง มนุษย์คือศูนย์กลางโลก(และจักรวาล) ด้วยเหตุนี้ทั้งผู้กำกับและตัวละคร จึงเอาแต่หมกมุ่นครุ่นยึดติดอยู่กับวิถีของตนเอง ไม่พยายามทำความเข้าใจ หรือแคร์อะไรใครอื่น
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes โดยมีประธานคณะกรรมการคือ Emir Kusturica สามารถคว้ารางวัล Grand Prize of the Jury (ที่สอง) สูงสุดเท่าที่ผู้กำกับได้เคยรับมา
ด้วยทุนสร้างประมาณ $10 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $13.7 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $46.7 ล้านเหรียญ น่าจะเป็นผลงานประสบความสำเร็จที่สุดของ Jarmusch อีกเช่นกัน
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ โคตรประทับใจความจืดชืดของ Bill Murray โดดเด่นน่าจะเป็นรองเพียง Lost in Translation (2003) และบทเพลงสไตล์ Ethio-Jazz เกิดความลุ่มหลงใหลขึ้นมาทันที
แนะนำคอหนัง Comedy สไตล์นิ่งๆ Minimalist, Road Movie เพื่อค้นหาบางสิ่งอย่าง, แฟนๆผู้กำกับ Jim Jarmusch และทีมนักแสดงนำโดย Bill Murray ไม่ควรพลาด!
จัดเรต PG กับความเอ๋อเหรอ Don Juan
Leave a Reply