Bruce Lee A Warrior's Journey

Bruce Lee: A Warrior’s Journey (2000) hollywood : John Little ♥♥♥♥

(mini Review) สารคดีรวบรวมฟุตเทจภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย Game of Death ที่สร้างไม่เสร็จของบรูซ ลี ให้ความเคารพคารวะยกย่องตำนานอย่างสมเกียรติ พร้อมนำเสนอชีวประวัติคร่าวๆ อุดมการณ์ ปรัชญา และแนวคิด พล็อตเรื่องราว ความตั้งใจของหนัง, นี่ถ้าบรูซ ลีสามารถสร้าง Game of Death ได้เสร็จสำเร็จละก็ ผมเชื่อว่าอาจถึงระดับขึ้นหิ้ง Masterpiece เลยละ

ในชีวิตของบรูซ ลี มีภาพยนตร์ทั้งหมด 4 เรื่องที่สร้างเสร็จขณะยังมีชีวิตอยู่
– The Big Boss (1971)
– Fist of Fury (1972)
– Way of the Dragon (1972)
– Enter the Dragon (1973)

แต่ก่อนหน้าที่จะบินไปอเมริกา ถ่ายทำหนังเรื่องสุดท้าย Enter the Dragon (1973) ลีได้ค้างโปรเจคหนึ่งไว้ ถ่ายทำไปแล้วแล้วบางส่วน เป็นผลงานกำกับเรื่องใหม่ตั้งชื่อว่า Game of Death รับเหมาทำทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ กำกับ คิดเขียนบท ออกแบบฉาก ออกแบบการต่อสู้ ติดต่อนักแสดงไว้หมดแล้ว ตัดสินใจพักงานไว้สร้างไว้ก่อนเพราะต้องการมุ่งหน้าสู่ Hollywood, เมื่อถ่ายทำหนังเรื่องใหม่เสร็จก็ถึงเวลากลับมาสานงานที่คั่งค้างไว้ต่อ แต่โชคชะตาฟ้ากำหนดไม่ให้เขามีโอกาสสร้างหนังเรื่องนี้ได้สำเร็จได้

Golden Harvest ในช่วงทศวรรษนั้นมีความพยายาม ต้องการนำเอาฟุตเทจสุดท้ายของบรูซ ลี มาเติมเต็มสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉาย แต่เพราะไม่มีใครล่วงรับรู้ว่าพล็อตหนังเรื่องราวเป็นอย่างไร (ทุกสิ่งอย่างอยู่ในหัวของบรูซ ลีทั้งหมด) ทำให้มีการคิดพล็อตหนังเนื้อเรื่องใหม่หมด โดยผู้กำกับ Robert Clouse (ที่กำกับเรื่อง Enter the Dragon) ฟุตเทจที่ใช้ได้มีอยู่เพียง 11 นาที ช่วงเวลาที่เหลือก็หานักแสดงหน้าเหมือนมาแสดงแทน แถมมีการเอาภาพใบหน้ามาตัดแปะทับ, ผมทนดู Game of Death (1978) อยู่ได้ประมาณ 20 นาที ก็ปิดทิ้ง เป็นหนังที่ไร้คุณค่า ไร้จรรยา ไม่เพียงแต่ไม่ให้การเคารพ แต่ยังหยามเกียรติตำนานของบรูซ ลีโดยสิ้นเชิง

ประเด็นคือ Game of Death (1978) ดันประสบความสำเร็จทำเงินอย่างมากใน Hong Kong กลายเป็นกระแส ให้มีการหากินกับคนตาย ด้วยการนำเอาฟุตเทจ 11 นาทีนี้ไปดัดแปลงสร้างหนังคล้ายๆกันอีกหลายเรื่อง (คือเปลี่ยนพล็อตเรื่องราวของหนังเท่านั้น) อาทิ
– Goodbye Bruce Lee: His Last Game of Death (1975)
– Enter the Game of Death (1978)
– The True Game of Death (1979)
– Game of Death II (Tower of Death) (1981)

ผ่านมา 28 ปีนับจากบรูซ ลี เสียชีวิต ปี 1999 Bey Logan ได้ทำการค้นพบฟุตเทจ 23 นาทีเพิ่มเติมของ Game of Death ที่ไม่เคยถูกเผยแพร่สู่สาธารณะมาก่อน โชคดีที่ทศวรรษแห่งการตัดแปะลอกเลียนได้จบสิ้นลงแล้ว, John Little หนึ่งในอดีตลูกศิษย์ของลี เมื่อเห็นฟุตเทจนี้ เกิดความสนใจอยากรู้ที่มาที่ไปโดยละเอียด จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล สัมภาษณ์ภรรยา Linda Emery และนักแสดงที่ยังมีชีวิตอยู่ ฯ ทำให้ค้นพบข้อเท็จจริง รวบรวมนำเสนอเป็นภาพยนตร์สารคดี ส่งตรงลง VHS และ DVD โดย Warner Home Video ซึ่งใน Bonus Feature ของ Enter the Dragon ก็จะรวมสารคดีเรื่องนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งด้วย

ความตั้งใจของบรูซ ลี ต่อ Game of Death คือการผสมผสานแนวคิด อุดมการณ์ ปรัชญาของตนเอง เข้ากับศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เรื่องราวเป็นยังไงไม่ได้น่าสนใจนัก แต่สำหรับฉากไคลน์แม็กซ์ พระเอกและผองเพื่อนอีก 2 คน จะต้องเข้าไปยังวิหารความสูง 5 ชั้น แต่ละชั้นจะมียอดฝีมือที่เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ ใครก็ตามที่สามารถไปถึงยอดก็จะเป็นผู้ชนะในเกมแห่งความตายนี้

ทั้ง 5 ชั้นประกอบด้วย
– ชั้นที่ 1: Gate to Enlightenment คู่ต่อสู้จะเป็นแนวเตะอย่างเดียว, นักสู้ที่ติดต่อไว้คือ Hwang In Sik ชาวเกาหลีที่เคยต่อสู้กับลีใน The Way of the Dragon
– ชั้นที่ 2: Temple of the Preying Mantis คู่ต่อสู้จะเก่งมวยกังฟู หมัดตั๊กแตน, นักสู้ที่ติดต่อไว้คือ Taky Kimura ครูมวยของ Jun Fan Gung Fu
– ชั้นที่ 3: Temple of the Tiger คู่ต่อสู้จะเก่งการใช้อาวุธ กระบองและ Nunchaku, นักสู้คือ Dan Inosanto ยอดฝีมือของ Filipino Martial Arts
– ชั้นที่ 4: Temple of Gold คู่ต่อสู้จะเก่งทุกอย่างทั้งต่อยเตะ, คู่ต่อสู้คือ Ji han Jae สายดำระดับ 7 ของ Hapkido
– ชั้นที่ 5: Temple of the Unknown ชั้นสุดท้ายคือศัตรูที่มีความสูงสุด (Highest Level of Martial Arts) สามารถประยุกต์ปรับตัวต่อสู้ได้หลากหลาย, คู่ต่อสู้คือนักบาสเกตบอล NBA และลูกศิษย์ของลี Kareem Abdul Jabbar ด้วยความสูง 7 ฟุต 4 นิ้ว แต่มีจุดอ่อนคือสายตาสู้แสงไม่ค่อยได้

การต่อสู้กับครูมวยทั้ง 5 ชั้น มีนัยยะถึงความยึดติดในรูปแบบของนักสู้สมัยก่อน คือถ้าคุณเก่งหมัดก็ไปทางสายมวย เก่งเตะก็ไปเทควันโด อาวุธก็เคนโด้ ฯ กับคนที่สามารถกำชัยเหนือความหลากหลายได้ทั้งหมด (ก็คือบรูซ ลีนะแหละ) คือผู้สามารถก้าวผ่านถึงจุดสูงสุดของ Martial Arts และชั้นสุดท้ายกับ Unknown ความไม่รู้ คือจุดสูงสุดของการไม่ยึดติดกับรูปแบบ มีความยืดหยุ่นคล่องตัว นี่แหละจะสามารถเอาชนะได้ทุกสิ่ง

เกร็ด: ชุดของบรูซ ลี ใส่ชุดวอร์ม (track suit) สีเหลือง ไม่ขึ้นตรงต่อสำนักไหน มีนัยยะแทนด้วยการไม่ยึดติดในสไตล์การต่อสู้รูปแบบใด (ถ้าใครเคยดูหนังจีนเก่าๆ จะรู้ว่าสำนักต่างๆมักมีชุดประจำของตัวเองชัดเจน ซึ่งชุดวอร์ม … สมัยนั้นไม่มีใส่แน่นอน)

เกร็ด2: Quentin Tarantino นำแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้ รวมทั้งชุดวอร์มสีเหลือง ใส่ให้กับ Uma Thurman ในหนังเรื่อง Kill Bill

แนวคิดทางปรัชญาของ Game of Death ถือว่าคือเป้าหมายสูงสุดของศิลปะการต่อสู้ ไร้รูปแบบ ไร้สไตล์ ไร้กรอบข้อจำกัดที่ครอบงำความคิด หลงเหลือเพียงตัวของตนเอง เมื่อไปถึงจุดนั้นได้ … ก็ไม่รู้สิครับว่าเกิดอะไรขึ้นต่อ หลุดพ้น? สงสัยเพราะบรูซ ลี สามารถไปถึงเกือบๆจุดนั้นได้ พระเจ้าเลยไม่อนุญาตให้เขามีชีวิตอยู่ต่อ เลยต้องแลกมากับโชคชะตาชีวิต

“Empty your mind, be formless. Shapeless, like water. If you put water into a cup, it becomes the cup. You put water into a bottle and it becomes the bottle. You put it in a teapot, it becomes the teapot. Now, water can flow or it can crash. Be water, my friend.”

– Bruce Lee

ผมค่อนข้างเชื่อเลยนะ เมื่อได้เห็นฟุตเทจครึ่งชั่วโมงของ Game of Death ว่าอาจคือ Masterpiece ของบรูซ ลี เพราะหลังจากได้สั่งสมประสบการณ์สร้างภาพยนตร์ด้วยตนเองจาก The Way of the Dragon น่าจะเรียนรู้ข้อผิดพลาดต่างๆ นำมาปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความลงตัวสมบูรณ์มากขึ้น นี่ขนาดเพียงแค่ฉากไคลน์แม็กซ์ที่มีเพียง 3 ชั้นที่สุดท้าย มันก็มีเรื่องราว แนวคิด ภาษา ปรัชญาที่ลึกล้ำ ไม่ใช่แค่นักสู้ทั้งหลายประลองฝีมือกัน แต่กลับมีความหมายนัยยะลึกซึ้งยิ่งใหญ่สูงสุด

สำหรับสารคดีเรื่องนี้ถือว่าทำออกมาได้น่าสนใจเยี่ยมยอดเลยละครับ แนะนำสำหรับคนที่เคยรับชมหนังของบรูซ ลีทั้ง 4 เรื่องก่อนหน้านี้มาหมดแล้ว และกำลังครุ่นคิดหา Game of Death หนังเรื่องสุดท้ายที่สร้างไม่เสร็จมารับชม ถึงมันอาจมีหลายเรื่องที่ดูน่าสนใจ แต่ผมไม่คิดว่ามันจะควรค่าแก่การเสียเวลาแม้แต่น้อย, รับชมสารคดีนี้เรื่องเดียว ปิดฉากตำนานบรูซ ลี แถมพ่วงด้วยเรื่องราวชีวประวัติ แนวคิด ปรัชญา บทสัมภาษณ์ และฟุตเทจสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ บอกเลยว่าผมยังขนลุกขนพองกับสิ่งที่เห็น รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ชาตินี้ไม่มีวันได้ดู Game of Death ในฉบับสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ก็จะขอจดจำตำนานของนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่นี้ไว้ เทียบเท่าหรืออาจจะสำคัญยิ่งกว่า Muhammad Ali เสียอีก

จัดเรต PG กับฉากการต่อสู้

TAGLINE | “สารคดีเรื่องนี้ นำเอาฟุตเทจ Game of Death ของบรูซ ลีที่หลงเหลือ มานำเสนอได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เคารพคารวะตำนานได้อย่างสมเกียรติ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: