Burning (2018)
: Lee Chang-dong ♥♥♥♥♡
วินาทีที่จุดบุหรี่สูดลมหายใจเข้าปอด ใบยาสูบหรือกัญชาค่อยๆมอดไหม้เห็นเป็นประกายเพลิงดวงเล็กๆ เกิดเป็นความสุขสำราญขึ้นถึงสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า ช่วยตัวเองเสร็จแล้วค่อยๆตกลงมา พ่นเอาควันพิษที่ใครๆต่างรังเกียจขยะแขยง แถมยังส่งผลกระทบต่อธรรมชาติรอบข้าง ยึดติดมากยิ่งหมกมุ่นเลิกไม่ได้ ห่างแล้วลงแดงแทบขาดใจตาย ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อระเบิดความอึดอัดอั้นนั้นออกมา
ไปเจอบทกลอนบทหนึ่งของนักเล่นหุ้น (เปรียบตัวเองกับแมงเม่า) รู้สึกว่าใจความช่างเข้ากับหนังโดยแท้
“เมื่อแมงเม่าเมามัวมั่วมอดม้วย
มักหมกมุ่นหมุนมวยมิหม่นหมอง
เม่ามอดม้วยเมามัวมั่วไม่มอง
มักหม่นหมองมองมั่วเมื่อมัวเมา”
ผมมีความอิ่มอกอิ่มใจอย่างมากที่ได้รับชมหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ เป็นอรรถรสประสบการณ์ทางจิตที่เหนือชั้นกว่าผลงานของ Christopher Nolan เป็นไหนๆ (รายนั้นเขาเน้นสัมผัสประสบการณ์ทางกาย ตราตรึงกับความยิ่งใหญ่อลังการขนลุกขนพอง) เพราะหลายสิ่งอย่างในโลกมองไม่เห็นด้วยตา ใช้สมองครุ่นคิดยังอาจไม่เพียงพอ ต้องจิตวิญญาณร่วมด้วยช่วยสัมผัสถึงเกิดความเข้าใจถ่องแท้
Burning เป็นภาพยนตร์ที่จะทำให้คุณรู้สึกมอดไหม้เหมือนก้นบุหรี่ รับสัมผัสไคลน์แม็กซ์ของการมี Sex จากนั้นค่อยๆจมดิ่งตกลงสู่ก้นเหวนรก กลายเป็นเศษเดนขี้เถ้าอันไร้ค่า เลิกราตัดขาดไม่ได้ก็ลงแดงแทบขาดใจ อยากจะทำอะไรบางอย่างกับความเร่าร้อนรุนแรงที่สุมอยู่เต็มอกนี้
ก็ว่ากันตามตรงหลังจากรับชมหนังเรื่องนี้จบ มันมีแรงผลักดันขั้นรุนแรงทำให้ผมต้องหาสถานที่ระบายความอึดอัดคับใคร่ออก กว่ากองไฟสุมในอกจะเริ่มเย็นลงได้ก็เป็นวันทีเดียว ยิ่งถ้าใครเลยพานพบเจอเหตุการณ์ลักษณะคล้ายๆกันนี้มา การันตีเลยว่าคุณคงจะรักคลั่งกับหนังอย่างแน่นอน
สมัยเรียนผมมีเพื่อนคนหนึ่ง ไอ้นี่บ้านรวยไฮโซขับรถหรู แต่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนชอบมาขอลอกการบ้านและฝากเช็คชื่อให้ ด้วยเหตุนี้มันเลยมักตอบแทนด้วยการชักชวนไปเที่ยวเล่นที่บ้าน จัดงานเลี้ยงปาร์ตี้ใหญ่โตราวกับ Jay Gatsby วันๆไม่เห็นทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากวางโปรแกรมเที่ยวแน่นเอี๊ยดยาวเหยียด ชีวิตไม่จำเป็นต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ถามถึงปรัชญาชีวิต ‘เมิงเกิดมาทำไมว่ะ?’ คำตอบก็มักจะ ‘ไม่รู้ แต่ต้องใช้ให้คุ้มไม่เสียชาติเกิด’
การที่ไฮโซชนชั้นสูงมองชีวิตเหมือนดั่งเกม ‘ของเล่น’ ความสนุกสนาน คงถือเป็นวิวัฒนาการทางความคิดของอีกด้านมุมโลก สนองโครงสร้างทางสังคมที่มีร่ำรวยย่อมต้องพบคนจน สุขสบาย-ทุกข์ยาก เสกโลโซ-เป้ไฮร็อค เติมเต็มกันและกันอย่างหยิน-หยาง ขาว-ดำ ดี-ชั่ว ฯ ปัญหามักเกิดขึ้นเมื่อใดใครคนหนึ่งพยายามก้าวข้ามกระโดดผ่านเส้นแบ่ง จากชนชั้นล่างต้อยต่ำหาเช้ากินค่ำ-ต้องการร่ำรวยสุขสบายไฮโซ สาเหตุที่น้อยนักจะทำสำเร็จเพราะกระบวนการคัดกรองตรวจสอบ หนึ่งในวิธีการคือพิสูจน์ตนเองให้ผู้อื่นประจักษ์เห็น ทรงคุณค่ามากพอถึงมีโอกาสได้รับการสนับสนุนเลื่อนขั้น แต่ถ้าไม่จักถูกผลักไสถีบส่งทำลายล้าง ชะโงกดูเงาจันทร์เสียบ้างสิ จักได้เรียนรู้เจียมกะลาหัวตนเอง
ตั้งแต่เขียนบทความในบล็อคนี้มาเกือบๆพันเรื่อง มีเพียง 2 ครั้งเท่าที่จดจำได้ว่าทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งลักษณะนี้ คือ Paris, Texis (1984) และ sex, lies and videotape (1989) ถ้าใครเคยรับชมทั้งสองเรื่องน่าจะพอมองเห็นความสัมพันธ์คล้ายๆกันในไดเรคชั่น ค่อยๆปล่อยให้ตัวละครพูดคุยสนทนาเคลื่อนไหว มีความเชื่องช้าน่าหลับ แต่ถ้ายังตื่นจะตาพองโต ทุกสิ่งอย่างในร่างกายลุกขึ้นชูชัน คือประสบการณ์ที่จะกัดกร่อนกินผู้ชมจากภายใน มอดไหม้ลุกโชติช่วงจนมิอาจดับมอดสนิทลงได้ทันทีเมื่อหนังจบ
Lee Chang-dong (เกิดปี 1954) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu เมืองแห่งนักการเมืองอนุรักษ์นิยม (Right-Wing) เรียนจบสาขาวรรณกรรมเกาหลีจาก Kyungpook National University กลายเป็นครูสอนหนังสือ เขียนบท กำกับละครเวที พออายุ 40 กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Green Fish (1997) ประสบความสำเร็จล้นหลาม, ตามด้วย Peppermint Candy (2000), Oasis (2002), ได้รับคำขอจากปธน. Roh Moo-hyun ที่ต้องการเลือกสรรบุคคลผู้อยู่ในสายงาน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวงระหว่างปี 2003 – 2004, หมดภาระหน้าที่หวนกลับมาสร้าง Secret Sunshine (2007), Poetry (2010) กวาดรางวัลมากมายตามเทศกาลใหญ่
ช่วงระหว่างที่หายไปกว่า 8 ปี ก็ไม่ใช่ว่าจะเลิกร้างลาออกจากวงการ กลายเป็นโปรดิวเซอร์ให้ผู้กำกับรุ่นน้องอยู่หลายเรื่องระหว่างรอค้นหาโปรเจคในความสนใจ จนกระทั่งได้พบเจอเรื่องสั้น Barn Burning (1983) รวมอยู่ในหนังสือ The Elephant Vanishes (1993) แต่งโดย Haruki Murakami (เกิดปี 1949) นักเขียนนิยายขายดี สัญชาติญี่ปุ่น ผลงานที่หลายคนอาจรู้จักอาทิ A Wild Sheep Chase (1982), Norwegian Wood (1987), The Wind-Up Bird Chronicle (1994–95), Kafka on the Shore (2002), 1Q84 (2009–10) ฯ
เกร็ด: ฉบับภาษาไทยชื่อตอน ‘มือเพลิง’ รวมในหนังสือ ‘เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน’ แปลโดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
เกร็ด2: แรงบันดาลใจของเรื่องสั้นนี้ เห็นว่ามาจากอีกเรื่องสั้นหนึ่ง Barn Burning (1939) แต่งโดย William Faulkner (1897 – 1962) นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม สัญชาติอเมริกัน ซึ่งในหนังก็จะมีการกล่างถึง Faulkner อยู่ด้วยนะ
สไตล์การเขียนของ Murakami มักนิยมเล่าเรื่องในมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ผู้มักโหยหาอิสรภาพ ความสันโดษ วิพากย์ความตกต่ำของคุณค่าความเป็นมนุษย์ สะท้อนเสียดสังยุคสมัยทุนนิยม/ชนชั้น มักสอดแทรกวัฒนธรรมป๊อป ดนตรีแจ๊ส แมว และชอบทิ้งปมปลายเปิดค้างคาไว้ให้ผู้อ่านชอกช้ำระกำทุกข์ ถ้าอ่านแล้วไม่หลงรักคลั่ง ก็พาลไม่อยากหาคบค้าสมาคมร่วมชุมชนคนเหงาด้วยอีกเลย
Barn Burning คือเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มที่มีครอบครัวแล้ว ผู้กำลังเผลอมีใจให้นางแบบสาวผู้มีหัวใจเสรี และมีโอกาสได้รู้จักกับผู้ชายคนใหม่ของเธอที่ดูดีกว่า ทั้งมีงานอดิเรกท้าทายศีลธรรมด้วยการแอบเผาโรงนาที่ไม่มีใครใช้อีกแล้วอยู่เสมอ
ความสนใจของ Chang-dong ที่พาลให้มาพบเจอสนใจเรื่องสั้นนี้ เกิดจากความต้องการวิพากย์สังคมที่ตนพบเห็นกับวัยรุ่นยุคสมัยปัจจุบันนี้
“It is a story about young people in today’s world. When they think of their lives and the world, it must feel like a mystery”.
ใครเคยรับชมผลงานเก่าๆของ Chang-dong อย่าง Peppermint Candy (2000) น่าจะรับรู้ซึ้งถึงความเกรี้ยวกราดโกรธคลุ้มคลั่ง ที่เป็นความพยายามอธิบายสาเหตุผล ทำไมชาวเกาหลีใต้ปัจจุบัน(นั้น)ถึงมีลักษณะนิสัย แนวคิดอิทธิพล เต็มไปด้วยความรุนแรงขนาดนี้? นี่ก็ผ่านมาจากเรื่องนั้นกว่าทศวรรษแล้ว สงสัยวัยรุ่นใหม่ๆคงทอดทิ้งลืมเลือนอดีตโดยสิ้นเชิงอีกตามเคย? ครานี้เขาเลยช่างแม้งกับอดีตไม่สนใจแล้ว เอาปัจจุบันนี่แหละเป็นที่ตั้ง แล้วค้างคาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหตุผลไว้ มอบอิสระปลายเปิดให้ครุ่นคิดเพ้อจินตนาการตามเอาเอง นี่ทำให้หนังดูดีมีระดับสูงขึ้นกว่าก่อนมากๆเลยละ
[วิธีการที่ Peppermint Candy ใช้นำเสนอสาเหตุผลของความเกรี้ยวกราด คือการถอยหลังย้อนอดีตไปเรื่อยๆทุกสิบปี ด้วยไดเรคชั่นคล้ายๆกับ Memento (2000) เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงที่พบเจอในปัจจุบัน ล้วนรับอิทธิพลส่งผลพวงมาจากอดีตแทบทั้งหมดสิ้น]
ร่วมงานกับ Oh Jung-Mi ดัดแปลงบทภาพยนตร์ โดยต้องถือว่ามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากเรื่องราวต้นฉบับนิยายอย่างมากทีเดียว คงความสัมพันธ์รักสามเส้า กับงานอดิเรกชอบเผาโรงนาไว้ นอกนั้นคือการแต่งเติมเสริมเพิ่ม มุมมองต่างสุดขั้วของสองชนชั้น ค้นหาเป้าหมายชีวิต และเหตุผลอธิบายของการทำไมต้องเผาโรงนา ทั้งในลักษณะรูปธรรม และนามธรรม
เรื่องราวของ Jong-su (รับบทโดย Yoo Ah-in) ชายหนุ่มหน้าตาเจี๋ยมเจี้ยม เรียนจบอยากเป็นนักเขียนแต่ยังขาดแรงบันดาลใจ ชีวิตวันๆรับจ้างทั่วไปไร้แก่นสาน วันหนึ่งพบเจอ Hae-mi (รับบทโดย Jeon Jong-seo) เพื่อนสาวร่วมชั้นเรียน เคยอยู่บ้านใกล้ๆกันแต่กลับจดจำไม่ได้ ชักชวนไปนั่งก๊งเหล้าระลึกความหลัง พาขึ้นห้องให้ไปเลี้ยงแมวขณะที่ตนเองตั้งใจออกเดินทางค้นหาความฝันที่ประเทศเคนย่า จากนั้นก็ …
เมื่อวันที่ Hae-mi เดินทางกลับมา Jong-su ไปรับที่สนามบินพร้อมพบเจอ Ben (รับบทโดย Steven Yeun) เห็นว่ารู้จักกันตอนอยู่แอฟริกา ตรงกันข้ามกับเขาที่อยู่บ้านนอกชนบทขับรถบรรทุกโกโรโกโส ชายแปลกหน้าผู้นี้ขี่รถสปอร์ท อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์สุดหรู ทำงานอะไรไม่รู้แค่บอกว่ามีชีวิต’เล่นๆ’ไปวันๆ เห็นแล้วน่าอิจฉาริษยายิ่งนัก คงไม่แปลกอะไรถ้า Hae-mi จะตกหลุมรักหลงใหล ฉันจะไปสู้อะไรได้กับหมอนี่
เหตุเกิดเมื่อเย็นวันหนึ่ง Ben และ Hae-mi เดินทางมายังบ้านของ Jong-su หลังจากเสพกัญชาจนมึนเมามายล่องลอย เมื่อหญิงสาวสลบไสลหมดสติ สองหนุ่มพูดคุยถึงงานอดิเรกยามว่าง Ben เล่าว่าชื่นชอบเผาโรงนาของคนอื่นโดยไม่มีเหตุผลอะไรทุกๆ 2-3 เดือน นับไล่วันดูก็ใกล้ถึงกำหนดแล้ว และบอกได้สถานที่ตั้งใจจะก่อเหตุครั้งนี้แล้ว, ตื่นเช้าขึ้นมา Jong-su ในสภาพมึนเบลอ แม้จดจำรายละเอียดอะไรไม่ได้นักจึงพยายามตื้อถามว่าเผาโรงนาไปแล้วหรือยัง ออกวิ่งดูโดยรอบบริเวณก็ไม่พบเห็นเศษซากขี้เถ้าแห่งหนใด แต่ขณะเดียวกันกลับเริ่มติดต่อ Hae-mi ไม่ได้ โทรไปก็ไม่รับสาย มันเกิดบ้าอะไรขึ้นกันแน่เนี่ย!
Yoo Ah-in ชื่อจริง Uhm Hong-sik (เกิดปี 1986) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu ขณะเรียนวิจิตรศิลป์ Gyeongbuk Arts High School เข้าตาแมวมองที่มาดักซุ่มหน้าโรงเรียน เริ่มต้นจากรับงานโฆษณา สมทบซีรีย์ พักงานไปช่วงหนึ่งเพื่อค้นหาตัวเอง ร่ำเรียนการแสดงอย่างจริงจัง หวนกลับมาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Boys of Tomorrow (2007) ครานี้ก็กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ ประสบความสำเร็จกับซีรีย์ Sungkyunkwan Scandal (2010) และภาพยนตร์ Punch (2011), Secret Love Affair (2014), Veteran (2015), The Throne (2015) ฯ
รับบท Jong-su ชายหนุ่มหน้าตาเจี๊ยมเจี้ยม เรียนจบแล้วไม่มีการงานทำเป็นหลักแหล่ง ชอบทำตาลอยๆ อ้าปากหวอ ไร้เป้าหมายใดๆในชีวิต หวนกลับไปอาศัยบ้านชนบทเพราะพ่อไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธของตนเองได้ ดันไปทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงขั้นขึ้นโรงศาลเตรียมตัวติดคุก ทีแรกพยายามหาทางช่วยเหลือแต่ภายหลังก็ปล่อยไปตามกรรมเวรของเขาเอง
การได้บังเอิญพบเจอ Hae-mi ก็ซื้อบื้ออยู่สักพัก แต่เมื่อเธอรุกเข้าหาลิ้มรสชาดความรัก นั่นกลายเป็นความใฝ่ฝันเล็กๆของตนเองขึ้นมา พบเห็นเสาส่งสัญญาณสองต้นเกิดอารมณ์ช่วยตนเอง (เพราะนั่นเป็นสิ่งสุขสำราญที่สุดในชีวิต) แต่การมาถึงของ Ben แม้ภายนอกจะไม่แสดงออกอะไร ลึกๆแล้วคงมีความอิจฉาริษยา เทียบกับคนเองแล้วคงได้แค่ทำใจหลีกทางให้ก็เท่านั้น
แต่เมื่อ Hae-mi หายตัวไปไม่ติดต่อกลับมา ความว้าวุ่นวายใจจึงเริ่มบังเกิด นี่มันเกิดบ้าอะไรขึ้น! พยายามทุกวิถีทางในการติดตามค้นหาก็ครุ่นคิดว่าคงมีแต่ Ben เท่านั้นที่คือชนวนเหตุ แม้ไม่ทราบข้อเท็จจริงแต่ด้วยสัญชาติญาณรับสัมผัสได้เมื่อพบเห็นสาวอีกคนหน้าตาเหมือน Hae-mi ไม่ผิดเพี้ยน และเหตุการณ์หลายๆอย่างเหมือนกำลังซ้ำรอยเดิม เมื่อนั้นความคลุ้มคลั่งแค้นที่สะสมภายในจึงทะลักออกมา แผดเผาทุกสิ่งอย่างรวมถึงเสื้อผ้าให้มอดไหม้วอดวายไม่หลงเหลืออะไร
พบเห็นความเจี๊ยมเจี้ยมของนักแสดงเกาหลีทีไร ชวนให้นึกถึง Cha Tae-hyun จาก My Sassy Girl (2001) เสียทุกที แต่เบื้องหลังความเป็นมาถือว่าแตกต่างพอสมควร เรื่องนั้นคือนายเจี๊ยมเจี้ยมเติบโตขึ้นในครอบครัวที่รอบข้างเต็มไปด้วยผู้หญิง แม่ชอบใช้ความรุนแรง ตัวเขาเลยไม่ค่อยชอบเจ็บตัว แต่กลับหลงใหลในหญิงสาวที่กล้าใช้ความรุนแรง *-* ขณะที่เรื่องนี้ ตัดแม่ทิ้งไปเลยหนีหาผัวใหม่ อาศัยอยู่กับพ่อไม่สามารถจัดการกับความเกรี้ยวกราดโกรธของตนเองได้ (Anger Disorder) ตัวเขาเลยไม่ชอบความรุนแรง แต่ใช่ว่าภายในจิตใจลึกๆจะไม่มีอยู่
ความป้ำๆเป๋อๆเอ๋อเหรอของ Jong-su เกิดจากการขาดเป้าหมายและความตั้งใจ ไม่มีทั้งพ่อ-แม่ ที่เป็นแรงผลักดันหรือตัวแบบอย่าง การได้พบเจอ Hae-mi เลยทำให้ชีวิตเริ่มมีเป้าหมายขึ้นบ้าง ขณะที่ Ben คือศัตรูคู่แข่งเชิงชาย อดไม่ได้จะเปรียบเทียบแต่ก็รู้ว่าคงแค่เพ้อฝัน ซึ่งหลังจากได้สูญเสียสิ่งใกล้ตัวมอดไหม้วอดวายไป ทิศทางของเขาเลยค่อยๆเด่นชัดเจน ถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่างขึ้นมาเสียที
ไฮไลท์ของ Yoo Ah-in คือพัฒนาการตัวละครที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ช่วงต้นเรียกได้ว่าแทบจะไร้เดียงสา จากนั้นชีวิตก็ค่อยๆเรียนรู้สะสมประสบการณ์ เมื่อไต่เต้าขึ้นจนเกือบระดับเดียวกับศัตรูคู่แข่งเชิงชาย ถึงได้รับรู้เข้าใจตัวตนแท้จริงของเขา แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธออกมาในฉากไคลน์แม็กซ์ รุนแรงร้าวรานทรงพลังอย่างที่สุด
สังเกต: ภาพช็อตนี้มีพื้นหลังเป็นเส้นตรง (สะท้อนถึงชีวิตที่ตรงไปตรงมาของ Jong-su) และต้นไม้อะไรสักอย่าง (สัญลักษณ์ของการเรียนรู้ เติบโต)
Steven Yeun ชื่อเกิด Yeun Sang-yeop (เกิดปี 1983) นักแสดงสัญชาติ Korean-American เกิดที่กรุง Seoul พ่อเป็นสถาปนิกที่ย้ายงานไปเรื่อยๆ เคยอาศัยอยู่ Regina, Saskatchewan ก่อนปักหลักยัง Michigan นับถือคริสต์ศาสนา, โตขึ้นเรียนจบจิตวิทยา Neuroscience จาก Kalamazoo College ระหว่างนั้นมีโอกาสรู้จักกับ Jordan Klepper ทำให้เกิดความสนใจด้านการแสดง มุ่งสู่ Chicago เข้าร่วมกลุ่ม The Second City แล้วได้รับเลือกแสดงบท Glenn Rhee ในซีรีย์ The Walking Dead (2010 – 16) ประสบความสำเร็จโด่งดังเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ, สำหรับภาพยนตร์ได้รับความสนใจจากผู้กำกับ Bong Joon-ho หนึ่งในนักแสดงหลักของ Okja (2016) และค่ำคืนหนึ่งได้รับโทรศัพท์ติดต่อสอบถามอยากร่วมงานกับ Lee Chang-dong หรือเปล่า? แทบจะตอบรับโดยทันทีเพราะคือไอดอลส่วนตัวที่อยากร่วมงานอย่างยิ่ง
รับบท Ben หนุ่มหล่อรวย ขับรถหรูอพาร์ทเม้นท์หรา ไม่มีใครล่วงรู้ทำงานอะไรหรือเป็นทายาทมหาเศรษฐีจากไหน ความสนใจ/งานอดิเรกหนึ่งเดียวของเขา คือการเผาโรงนาของผู้อื่น นี่ฟังดูรูปธรรมแต่แท้จริงแล้วคือนามธรรม เพราะโรงนาคือสัญลักษณ์ของสิ่งใกล้ตัวที่มีความสำคัญมากยิ่งของเกษตรกร หรือเรียกว่าคือจิตวิญญาณของพวกเขา การเผาทำลายทิ้งมันคือฉกกระชากแย่งชิง อะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้แต่สื่อแทนถึงก่อให้เกิดการสูญเสียสิ้นดับหายล่วงลับไป
ความบังเอิญของ Ben ที่ได้พบเจอ Hae-mi ทำให้เกิดความหลงใหลในความบ้าบอคอแตก มุมมองอุดมการณ์ชีวิตอันไร้สาระของเธอ ฟังแรกๆดูน่าสนใจ แต่สักพักก็อ้าปากหาวอย่างน่าเบื่อหน่าย หลังจากทาลิปติกปั้นแต่งให้แปรสภาพกลายเป็นดั่งใจเขา อะไรเกิดขึ้นต่อจากนั้นคงไม่มีใครบอกได้ แต่ถือว่าหญิงสาวได้สูญสิ้นอัตลักษณ์ตัวตนเอง เจือจางหายมอดมลายจากโลกใบนี้ไป
ไปอ่านเจอการตีความหนึ่งมองตัวละครนี้ว่าเป็นเกย์ เพราะในห้องน้ำมีกระเป๋าเครื่องสำอางค์ไว้ทาหน้าแต่งแต้มให้หญิงสาว และมันก้ำกึ่งไม่รู้ว่าหมอนี่ร่วมรักกับหญิงสาวจริงหรือเปล่า? แต่ผมมองฉากนั้นในเชิงสัญลักษณ์ วิธีการเผาทำลายโรงนาของ Ben คือการแปรสภาพอัตลักษณ์ของหญิงสาว ให้กลายเป็นดั่งใจของเขาเอง สูญสิ้นความมีตัวตน ลาจากเจ้าของเดิมชั่วนิรันดร์
ปัญหาของ Yeun ที่รับรู้ตัวเองโดยทันทีถ้าจะเล่นหนังเรื่องนี้ คือภาษาเกาหลีไม่ค่อยแข็งแกร่งเท่าไหร่ (ตอนแสดง Okja พูดภาษาอังกฤษทั้งหมด) ทีแรกก็ไม่อยากทำเสียประวัติของ Chang-dong แต่หลังจากได้พูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยน เลยกล้าตัดสินใจแน่แน่วนี่เป็นโอกาสไม่ใช่หามาได้โดยง่ายๆ กลับมาฝึกหัดพูดภาษาบ้านเกิดอย่างคล่องแคล่ว ระหว่างร่วมงานก็มีความสุขสงบผ่อนคลาย เพราะรอบข้างมีแต่เพื่อนร่วมชาติ ไม่ต้องแข็งขันหรือบางวันถูกเหยียดสีผิวสัญชาติ
เหตุผลที่ Chang-dong เลือก Yuen มารับบทนี้ เพราะรูปลักษณ์และ Charisma ได้จากความสำเร็จระดับนานาชาติของ The Walking Dead จึงดูมีความเข้าใจในฐานะชนชั้น มาดเท่ห์ด้วยเสน่ห์ เหมือนเพลย์บอยที่มองชีวิตดั่งเกมของเล่น ความรักไม่มีบัญญัติในพจนานุกรม ร้องไห้ไม่เป็นเพราะไร้ซึ่งความรู้สึกอ่อนไหว ชีวิตมิได้ต้องทนทุกข์เหน็ดเหนื่อยยาก คนเห็นอื่นร้องไห้ถูกทรมานเลยกลายเป็นความใคร่สนใจ
ความน่าสนใจของช็อตนี้ไม่ใช่การหาวอย่างเหนื่อยหน่าย แต่คือภาพหมาจิ้งจอกสวมสูทที่ตั้งอยู่ข้างๆ และเหมือนมันถูกบิดเบือนด้วยรอยไหม้/คราบสนิม นี่สะท้อนเข้ากับตัวตนของตัวละครนี้ (หมาป่า = สัตว์ที่ปลิ้นปล้อนหลอกลวง, รอยไหม้/บิดเบือน = บางสิ่งอย่างชั่วร้ายภายใน)
Jeon Jong-seo (เกิดปี 1994) นักแสดงหญิงหน้าใหม่ในวงการ ยังไม่ทันเรียนจบสาขาภาพยนตร์จาก Sejong University เพิ่งสมัครเซ็นสัญญากับ Agency ก็ได้รับการคัดเลือกมาแสดงหนังเรื่องนี้ทันที เรียกว่าโชคชะตากำหนดให้เป็นดาราโดยแท้
รับบท Hae-mi ตั้งแต่เด็กหลงรัก Jong-su เพราะคือฮีโร่ที่ช่วยชีวิตตนตอนพลัดตกบ่อน้ำ แต่ฝังใจที่เขาบอกว่าเธอไม่สวยเลยเก็บเงินทำศัลยกรรม วันหนึ่งบังเอิญพบเจอระหว่างเป็นพริตตี้จับรางวัล จึงพร้อมรุกเข้าหาแบบพลีกายถวายใจ เล่าความเพ้อฝันต้องการค้นหาเป้าหมายชีวิตยิ่งใหญ่ ‘Great Hunger’ บางสิ่งอย่างมองไม่เห็นด้วยตา ต้องใช้ใจและจิตวิญญาณสัมผัส ออกเดินทางสู่เคนย่านั่งดูพระอาทิตย์ตกดินอย่างเดี่ยวดายร้องไห้น้ำตาซึม บังเอิญพบเจอ Ben ระหว่างทางกลับเกิดความหลงใหลในบางสิ่ง หลงลืมตนเองจนโชคชะตาทำให้เธอจางหายตัวไปอย่างน่าพิศวง
ผมก็บอกไม่ถูกนะว่า ทำไม Hae-mi ถึงเกิดความหลงใหลในตัว Ben แนวโน้มคือเรื่องเงิน เซ็กส์ และความไฮโซเลิศหรูแปลกใหม่ในชีวิต นั่นอาจเป็นการผจญภัยในโลกใหม่/ทวีปแอฟริกาของเธอ ที่ครานี้แตกต่างตรงข้างกายยังมี Jong-su อยู่ไม่ห่างมากนัก (แตกต่างจากตอนไปเคนย่า ไม่มีใครเคียงข้างสักคน) จนในที่สุดก็สามารถเติมเต็มความกระหายของตนเอง ค้นพบความสุขสูงสุดในชีวิต นั่งดูพระอาทิตย์ตกดินพร้อมคนรักสนิทชิดเชื้อห้อมล้อมข้างกาย ถัดจากนั้นเธอจึงแปรสภาพกลายเป็นนกน้อยโผลโบยบินล่องลอยสู่โลกกว้างอิสระเสรี ไร้ซึ่งการยึดติดจากรูปกายและจิตวิญญาณ
Jong-seo ได้รับการติดต่อบอกว่า ผ่านการคัดเลือกไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าการถ่ายทำ เจ้าตัวบอกยังไม่ทันเตรียมความพร้อมใดๆ รับชมผลงานก่อนหน้าของ Lee Chang-dong หรือแม้แต่อ่านหนังสือของ Murakami แต่นั่นก็ทำให้เธอเรียนรู้ทุกสิ่งอย่างผ่านการทำงาน กล้าเล่นกล้าเสี่ยง ผิดๆถูกๆแบบไม่หวั่นเกรงกลัวอะไร เหมือนจะเปลืองตัวแต่ผมว่ากำลังดีเลยละ
ใครๆคงต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Jong-seo อนาคตในวงการสดใสมากๆ ความน่ารักน่าชังไร้เดียงสาของเธอสร้างความวาบหวิบสยิวกายใจ และเมื่อหายตัวไปก็ค่อยๆแผดเผามอดไหม้ทุกสัมผัสความรู้สึก จนเกิดความรวดร้าวทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
บทเรียนที่ Jong-seo ได้รับจากการแสดงหนังเรื่องนี้ เธอบอกว่ายังไม่ได้ครุ่นคิดว่าจะทำอะไรต่อไปในชีวิต แต่รับรู้สึกตัวว่าต้องค้นหาเป้าหมายความสนใจให้พบเจอเสียก่อน (สงสัยจะฟังคำแนะนำของ Yoo Ah-in มาเยอะมากแน่ๆ) ก็เหมือนตัวละครนี้ที่มีความหิวโหยกระหาย อยากที่จะเติมเต็มความต้องการของตนเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นตักน้ำเทใส่ หรือแต่งแต้มทาหน้าตาให้กับตนเอง
สายตาที่เหม่อมองขึ้นสูง ช่างเต็มไปด้วยความเพ้อฝันหวาน กระหายที่จะเติมเต็มความหิวโหยของตนเอง โบกโบยบินสู่ฟากฟ้า จิตวิญญาณเป็นอิสระเสรีต่อร่างกาย ซึ่งเหมือนว่าหลังจากผ่านเย็นวันนั้น เธอก็ได้รับการตอบสนองนี้เสียที ในลักษณะที่คนทั่วไปคงมองไม่เห็นแน่แท้
สามตัวละครหลักถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่ต่างพยายามออกค้นหาเป้าหมาย บางสิ่งอย่างในชีวิต
– Jong-su เริ่มต้นจากชีวิตไร้เป้าหมาย รู้ว่าอยากเขียนนิยายแต่ยังขาดแรงบันดาลใจ เหตุการณ์ทั้งหมดในหนังเรื่องนี้คงจะคือสิ่งที่เขาจะถ่ายทอดลงมาเป็นหนังสือเล่มแรกอย่างแน่แท้
– Ben ทุกๆ 2 เดือน ออกค้นหาบุคคลที่จะถูกตนเผาทำลายโรงนา เพื่อสร้างความพึงพอใจส่วนตน เกิดสัมผัสของความมีชีวิตที่ไม่ได้ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนอะไร
– Hae-mi ออกค้นหาเป้าหมายชีวิต เดินทางไปไกลถึงเคนย่าพบเจอความทุกข์รวดร้าวแสนสาหัส กลับมาพบเจอความสุขแท้จริงช่างอยู่ใกล้ตัวยิ่งนัก
ถ่ายภาพโดย Hong Kyung-pyo ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติเกาหลี ผลงานเด่น อาทิ Il Mare (2000), Tae Guk Gi: The Brotherhood of War (2004), Mother (2009), Snowpiercer (2013) ฯ
ไดเรคชั่นของ Lee Chang-dong นิยมให้ตากล้องถือด้วยมือ Hand-Held มีความสั่นๆแม้จะเป็นช็อตอยู่นิ่งไร้การเคลื่อนไหว แต่ส่วนใหญ่มักเดินติดตามตัวละคร และเป็นแบบ Long-Take ค่อยๆสร้างสัมผัสบรรยากาศ มานุ่มๆเชื่องช้าแต่ทรงพลัง เกิดความสมจริงอย่างที่สุด
ให้ข้อสังเกตนิดหนึ่งกับทุกสิ่งอย่างที่ปรากฎในหนัง เมื่อมีการพูดเอ่ยถึง จะมีช็อตฉากที่พบเห็น/แสดงออกมา ซึ่งล้วนสามารถครุ่นคิดตีความสื่อความหมายบางสิ่งอย่าง นี่เรียกว่าครบองค์ กาย(การกระทำ/แสดงออก)-วาจา(พูดออกมา)-ใจ(ครุ่นคิดความหมาย) อาทิเช่น
– เล่าถึงพระอาทิตย์ตกดิน -> ก็ได้นั่งดูพระอาทิตย์ตกดินจริงๆ
– เอ่ยถึงแสงสว่างที่ลอดส่องเข้ามาในห้องของ Hae-mi -> Jong-su ได้โชคดีพบเห็นจริงๆด้วย
– มีดที่ปรากฎในตู้เก็บ -> ได้นำไปใช้ในตอนจบ
ฯลฯ
หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด
– ชนบท Paju, Gyeonggi เดินทางเพียงชั่วโมงเดียวจากกรุง Seoul อยู่ชายแดนติดกับเกาหลีเหนือ
– ย่านคนรวยในเกาหลีใต้ Gangnam, Seoul สถานที่เงียบสุด ถนนสะอาดสุด ตำรวจขับรถผ่านไปมาอยู่เรื่อยๆ
เริ่มต้นมาด้วยช็อตสุดพิศวงนี้ ตู้คอนเทนเนอร์แห่งความลับ และควันบุหรี่โพนพ่นออกมา คนสูบแอบหลบมุมอยู่ด้านข้าง, นี่สื่อถึงการมอดไหม้(จากภายใน)ที่มองไม่เห็นด้วยตา เว้นแค่ควันซึ่งคือผลลัพท์สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งเมื่อหมดมวนพระเอกเดินมาเปิดตู้หยิบเสื้อผ้าข้าวของ (สิ่งสำคัญภายใน) เดินไปส่งยังห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งพบเจอกับ Hae-mi (สิ่งที่จะคือเป้าหมายชีวิตของเขาถัดไป)
การพบเจอกับเพื่อนเก่าของ Jong-su แทบไม่ต่างอะไรกับการถูกหวย จับฉลากได้รางวัลเป็นนาฬิกาสีชมพูเรือนหนึ่ง สัญลักษณ์ของเวลาที่เหมือนการนับถอยหลังสู่บางสิ่งอย่าง ระเบิดเวลา? จุดสิ้นสุดของชีวิต?
ละครใบ้ของ Hae-mi เป็นการชี้ชักนำถึงใจความของหนัง ‘สิ่งสำคัญสุดไม่ได้มองเห็นด้วยตา’ เหมือนการปอกกินผลส้มจากอากาศธาตุ แต่เราสามารถจินตนาการรับรู้ทางใจได้ว่ามีรสชาติหวานอร่อย
มันจะมีช็อตโคตรน่ารักน่าชังของ Jeon Jong-seo อยู่ดีๆก็แลบลิ้นออกมา ขณะนั้นเหมือนเพื่อจะสื่อว่าส้มผลนี้อร่อยเหาะ แต่ก็มีนัยยะของการเปิดเผยสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเธอออกมา
และการฟุบหลับของหญิงสาวที่พบเห็นได้บ่อยครั้งเกิ้น เมามายเมื่อไหร่ก็หมดสติ นี่คงสื่อถึงสิ่งต่างๆที่เธอครุ่นคิดพูดออกมาคือการเพ้อฝันหวาน เพราะตอนตื่นยังไม่สามารถเติมเต็มเป้าหมายที่ต้องการได้ ก็เลยนอนหลับฝันกลางวันต่อไปเสียดีกว่า
เสาสัญญาณโทรศัพท์ กับหอคอยที่ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา มองเห็นจากห้องพักของ Hae-mi คือสัญลักษณ์ของจุดสูงสุด เป้าหมายปลายทางความสำเร็จ
– สำหรับ Hae-mi มันคือสิ่งพบเห็นใกล้ตัว แต่เธอมักไม่ค่อยให้ความสนใจสักเท่าไหร่
– ขณะที่ Jong-su เพราะคือสิ่งที่ผมเห็นวินาทีไคลน์แม็กซ์ร่วมรักกับหญิงสาว ทำให้ครั้งถัดๆมาจับจ้องมองแล้วสำเร็จความใคร่ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสุขสมหวัง ภาพของเป้าหมายปลายทางในชีวิต
การมาถึงของ Ben พบเจอกับ Jong-su ยังสนามบิน สถานที่แห่งการเดินทาง พบเจอ-แยกจาก สื่อได้ถึงการเข้ามารุกราน พัวพัน แก่งแย่งชิง Hae-mi คนรักของหวงไปจากอ้อมอกของตน
จากนั้นเดินทางไปกินเครื่องใน ตับไตไส้พุง หรือคืออวัยวะที่เป็นตัวแทนภายใน/จิตใจของสิ่งมีชีวิต และมนุษย์ … นี่เป็นการสื่อนัยยะถึง ‘มนุษย์กินคน’ ของหมอนี่ที่ชอบเริ่มจากกัดกร่อนกิน ทำลายสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจไม่ให้หลงเหลือ
แซวกับช็อตนี้: รอยยิ้มหื่นๆของ Steven Yeun ประกอบภาพพื้นหลังที่มีรูปโปสเตอร์หญิงสาว ถ่ายติดแค่ทรวงอกของพวกเธอ หื่นว่ะ! (หน้าอก = ส่วนของจิตใจ)
ณ คาเฟ่แมว (เห็นสติ๊กเกอร์ลางๆที่ติดอยู่ไหมเอ่ย?) ขณะนั้น Ben กำลังดูลายมือให้กับ Hae-mi แล้วเอ่ยถึงบางสิ่งอย่างที่ติดคั่งค้างคาอยู่ภายใน ก่อนนำก้อนหินสีดำเล็กๆมาวางไว้บนมือ เพื่อบอกว่าเขาอาสาเป็นผู้นำมันออกจากจิตใจของเธอ
นัยยะของการสนทนานี้ สิ่งที่คั่งค้างคาในจิตใจของหญิงสาวคือความกระหายในการค้นหาเป้าหมายชีวิต ‘Great Hunger’ ซึ่งการที่ Ben นำเอาก้อนหินมาวางใส่มือ คือประสงค์ของเขาเพื่อให้เธอพบเจอความต้องการ กลายเป็นอิสระจากพันธนาการนี้ (ด้วยการทำให้เธอสาบสูญหายไปจากโลก)
แซว: ขณะที่ Ben มักพบเห็นพูดคุยโทรศัพท์อยู่บ่อยครั้ง แต่ Jong-su หลายครั้งมีคนโทรไปหากลับไม่มีเสียงพูดปลายทาง นั่นอาจจะไม่สื่อถึงใครเลยก็ได้ (ประมาณพวกโรคจิตแกล้งเล่น) ไม่ใช่แค่ Hae-mi ที่ตอนแรกโทรไปไม่ค่อยมีสัญญาณ หรือแม่ที่อยากขอยืมตัง ซึ่งถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ สื่อถึงการสื่อสารไม่ได้รับการโต้ตอบสนอง (นี่ก็เหมือน สิ่งใกล้ตัวแต่กลับมองไม่เห็น)
ในอพาร์ทเม้นท์ของ Ben จะมีช็อตที่ Jong-su กับ Hae-mi ยืนสูบบุหรี่อยู่ด้านนอก (เหมือน Ben จะไม่สูบบุหรี่ พี่แกเล่นกัญชาอย่างเดียวเลย!) ช็อตนี้แสดงถึงความเป็นคนนอกของพวกเขา เลยมิอาจให้การช่วยเหลือทำอาหารการกินมื้อนี้ได้
สำหรับช็อตนี้แม้ทั้งสองยืนอยู่ในมุมกระจกบานเดียวกัน แต่กลับไม่มองหน้าสบตาหันคนละข้าง ราวกับความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากำลังเริ่มระหองระแหง มีระยะห่าง เจือจางลง
พาสต้า คืออาหารอิตาเลี่ยนที่ทำจากเส้น คลุกเคล้าพัวพันกันอย่างยุ่งเหยิง … แต่เอะ! เหมือนว่าสุดท้ายพวกเขาจะไม่ได้กินกันนะ เห็นออกไปไนท์คลับไฮโซแห่งหนึ่งเสียอย่างนั้น *-*
เป็นความน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งกับการถ่ายทำฉากนี้ ที่สามารถเลือกมุมกล้องเก็บภาพตอนพระอาทิตย์กำลังค่อยๆตกดิน และต่อเนื่องลากยาวถึงช่วงเวลา ‘magic hours’ ได้อย่างสวยงามสมบูรณ์แบบ
หลักๆของฉากนี้มีทั้งหมด 4 สาระสำคัญ/ช่วงเวลา
– สูบกัญชาแล้วส่งต่อให้กัน เพื่อเกิดความมึนเมาในช่วงเวลาพระอาทิตย์กำลังค่อยๆเคลื่อนคล้อยลับขอบฟ้าพอดิบพอดี
– ช่วงของ Magic Hours (พระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว แต่ยังคงมีแสงสีส้มเรืองรอง) Hae-mi กำลังเมาได้ที่ ลุกขึ้นมาถอดเสื้อโยกตัวโบยบินพร้อมบทเพลง Miles Davis: Ascenseur pour l’Echafaud
– เมื่อท้องฟ้าเปลี่ยนจากสีส้มกลายเป็นสีน้ำเงิน Ben เล่าให้ Jong-su ถึงงานอดิเรกของตนเอง คือการเผาโรงนาผู้อื่นให้วอดวาย, วินาทีนั้นที่ Jong-su พูดถึงเรื่องนี้ กล้องจะถ่ายด้านข้างกำลังสูบกัญชา แล้วมีการปรับโฟกัสสลับไปมาระหว่างทั้งสอง ให้เห็นคมชัดเฉพาะตัวละคร สะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวไม่สนทุกสิ่งอย่างรอบข้าง
– Hae-mi ฟื้นคืนสติขึ้นมา เดินทางขึ้นรถกลับกับ Ben ไปแล้วไปลับหายตัวสู่ความมืดมิดชั่วนิรันดร์
ในความทรงจำวัยเด็กของ Jong-su ได้เคยเผาโรงนาไปแล้วครั้งหนึ่ง (รวมถึงเสื้อผ้าทุกสิ่งอย่าง) เพราะการหนีไปมีชู้รักใหม่ของแม่ ทอดทิ้งให้เขากับพ่อต้องอยู่กันสองคนอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย นี่ถือเป็นการกระทำเพื่อระบายความคับข้องแค้นหนักแน่นเต็มอก ให้ทุกสิ่งอย่างมอดม้วยมรณาถูกทำลายสูญสิ้นลงไปในกองเพลิง
แต่ใครจะไปคิดว่าภาพในความฝันนี้ของ Jong-su ได้แปรสภาพกลายเป็นสัญลักษณ์การเผาไหม้โรงนาของ Ben (วัยเด็กเผาโรงนาจริงๆ, ตอนโตถูกเผาทางใจ) อีกครั้งที่เขาถูกอิสตรีเพศทอดทิ้งหายตัวจากไป (วัยเด็กคือแม่, ตอนโตคือหญิงคนรัก) ประวัติศาสตร์มันชอบเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม!
การวิ่งค้นหาโรงนาที่ถูกเผาวอดวาย จะพบเห็นสองโทนสี เพราะเริ่มวิ่งตั้งแต่พระอาทิตย์ยังอยู๋บนขอบฟ้า (จะเป็นโทนส้มอ่อน) และค่อยๆเคลื่อนคล้อยจนลับผืนดิน (กลายเป็นโทนน้ำเงิน) ซึ่งเหมือนว่าจะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจของ Jong-su ที่จะค่อยๆแปรเปลี่ยนไป จากลุ่มร้อนดั่งเปลวเพลิงกลายเป็นหนาวเหน็บเย็นยะเยือก หมดสิ้นจิตวิญญาณแห่งชีวิต
หลายๆช็อตของการวิ่ง สังเกตว่าจะมีฝูงนกบนฟากฟ้าคงจะโบยบินกลับรัง พวกมันช่างมีชีวิตอิสระเสรีไร้พันธการใดๆ ผิดกับเหล่ามนุษย์นั้นไซร้ ต่างหลงใหลยึดติดกับเป้าหมายบางอย่าง จนหลายครั้งมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัวเอง
การที่ Jong-su ในช่วงแรกๆยังไม่รับรู้ว่า โรงนาของตนโดนเผา (นี่เป็นการพูดเชิงนามธรรม) นั่นไม่ใช่เพราะสติปัญญาความเชื่องช้าของเขา แต่คือการมองข้ามไม่ได้สนใจ พยายามออกวิ่งมองไปข้างหน้าสถานเดียว ไม่เคยหยุดหันหลังครุ่นคิดพิจารณาตนเอง ซึ่งในช่วงนี้หนังจะนำเสนอคู่ขนานกันระหว่าง
– Jong-su ออกวิ่งตามหาโรงนา แห่งไหนกันแน่ที่ถูกเผา
– Jong-su ออกติดตามค้นหา Hae-mi ที่หายตัวไป
ไม่ใช่ว่าสองสิ่งนี้คืออย่างเดียวกันหรอกหรือ??
และการออกวิ่งอย่างไร้เป้าหมายเช่นนี้ ยังสื่อแทนสัญลักษณ์ของการดำเนินไปของชีวิตเช่นกัน เพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น/มนุษย์เกิดมาทำไม จึงออกวิ่งค้นหาเป้าหมาย/คำตอบ สุดท้ายไม่พบเจออะไรย่อมหมายถึงนั่นเป็นสิ่งไม่ใช่ใครทุกๆคนจะพบเจอได้ในชาตินี้
ใครเคยรับชม Secret Sunshine (2007) น่าจะรับรู้ได้ว่า ผู้กำกับ Lee Chang-dong แสดงทัศนะต่อ Yoido Full Gospel Church (โบสถ์ขนาดใหญ่สุดในโลก ของเกาหลีใต้) ว่าเต็มไปด้วยความลวงหลอก ชั่วร้าย คอรัปชั่นสิ้นดี (นี่ก็คล้ายๆนิกายจานบินบ้านเรา), ซึ่งฉากนี้ในหนัง การเข้าโบสถ์ของ Ben ย่อมสื่อถึงหมอนี่มันคนจอมปลอมชัดๆเลย
ฉากต่อมาน่าเสียดายผมไม่สามารถหาภาพ Capture มาให้รับชมได้ คือ Art Gallery ภาพวาดขนาดใหญ่ที่ Jong-su จับจ้องมองอยู่ ถ้านั่นไม่ชื่อว่า ‘Burning’ ก็กระไรอยู่ ใช้โทนสีส้มแดง ประกอบด้วยรูปเปลวไฟ นักดับเพลิง สื่อได้ตรงกับชื่อหนังไม่ผิดเพี้ยน
ใครเคยรับชม Ran (1985) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa น่าจะพอคุ้นเคยช็อตจบที่กลายเป็นตำนานของหนัง นักแสดงยืนอยู่ท่ามกลางพื้นหลังภูเขาไล่เรียงเป็นลำดับขั้น นัยยะสื่อถึงความแตกต่างชนชั้น และจุดจบทางสังคม
สำหรับช็อตนี้ในหนัง Ben ยืนจับจ้องมองท้องฟ้าและพื้นผิวน้ำ อยู่ตำแหน่งสูงสุดของเนินดิน (แทนด้วยสถานะชนชั้นสูง) ขณะที่ Jong-su ค่อยๆไต่ย่องขึ้นมา หลบหมอบอยู่ด้านหลังรถ สื่อถึงความชนชั้นต่ำกว่าของเขา แต่ก็กำลังไต่เต้าขึ้นมาสู่เสมอภาคเท่าเทียม
ภูเขาพื้นหลังที่ก็เป็นเนินสามระดับขั้น นั่นคือการเปรียบเทียบสะท้อนกับวิถีชนชั้นของมนุษย์ (สูง-กลาง-ต่ำ) แต่เพราะธรรมชาติไม่มีการขีดเส้นแบ่งกำหนดไว้ มันเลยเป็นระนาบเดียวกันทั้งหมด ผิดกับฝั่งของมนุษย์ มีทั้งผืนดิน-ผืนน้ำ และรถสปอร์ต แบ่งแยกความแตกต่างอย่างชัดเจน
แมวชื่อ Boil ก็คิดได้นะ! สัตว์สัญลักษณ์แทนถึงจิตใจ/ตัวตนของ Hae-mi, เหตุผลที่เธอขอให้ Jong-su มาเลี้ยงอาหารแมวที่ห้องไม่ยอมให้ย้ายไปไหน เพราะกลัวมันจะไม่คุ้นเคย นี่เลยไม่แปลกกับความพยายามหลบหนีออกจากห้องของ Ben หาใช่บ้านแท้จริงของมันไม่
ผมคิดเพ้อเจ้อเล่นๆ เจ้าเหมียวตัวนี้คือร่างต้องคำสาปของ Hae-mi เพราะหลังจากเธอหายสาปสูญ ถึงทำให้ Jong-su มีโอกาสพบเจอตัวจริง หลังจากสะดีดสะดิ้งไปให้อาหารที่ห้องกลับไม่เคยเห็นตัว
แซว: สังเกตว่าเจ้าเหมียวหางกุดด้วยนะ, หางของสัตว์ คือสิ่งที่ใช้ควบคุมการเดินบิดส่ายตัวไปมา เมื่อไม่มีหางก็เดินลำบาก ไร้ซึ่งทิศทางแก่นสานในชีวิต
ห้องน้ำ สถานที่เก็บซ่อนความลับอันมืดมิด สกปรกที่สุดของมนุษย์ ระบายความอึดอัดอั้นขี้แตกขี้แตนออกมา ด้วยเหตุนี้ในตู้และลิ้นชักจึงเป็นจุดที่ใช้เก็บตัวตน และความทรงจำ (ประมาณ Trophy/ของที่ระลึก ของฆาตกร)
เห็นช็อตนี้แล้วชวนให้นึกถึงบ่อน้ำ (อ่างล้างหน้าก็มีลักษณะคล้ายๆบ่อน้ำ) เรื่องเล่าของ Hae-mi ที่เคยบอกว่าวัยเด็กตกลงไป แล้วได้รับการช่วยเหลือจาก Jong-su ไม่ว่านั่นจะคือเหตุการณ์จริงหรือไม่ ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ก็คือ บุคคลที่อยู่ในจุดตกต่ำสุดของชีวิตและได้พบเจอแสงสว่าง ใครคนหนึ่งที่คือผู้ช่วยเหลือตนเองให้รอดพ้นจากมุมมืดมิดของโลกใบนี้ได้ … แต่น่าเสียดายกับครั้งที่สอง คงเพราะการถูกล็อตเตอร์รี่รางวัลที่ 1 ซ้ำอีกครั้ง เป็นสิ่งเกิดได้ยากยิ่งกว่า
การก้มหน้ามองอ่างล้างหน้าของ Ben มันก็เหมือนว่าเขาจับจ้องมองบางสิ่งที่ตกลงไป (ในบ่อน้ำ) แล้วยิ้มเยอะเย้ยหยัน เงยหน้าขึ้นมองกระจกส่องดูเงาตนเอง นี่ฉันเป็นใครกันแน่?
เพราะความที่ Ben เป็นคนไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ความรู้สึก (ไม่เคยหลั่งน้ำตาร้องไห้) รวมถึงอัตลักษณ์ตัวตนเอง เขาเลยต้องการสรรค์สร้างผู้อื่น (ด้วยการแต่งหน้าทาปาก) เปลี่ยนแปลงให้มีรูปลักษณะดั่งใจปรารถนา กลายเป็นของๆเขาแต่เพียงผู้เดียว ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างที่เคยมีมา
ความคลุมเคลือของหนังที่ไม่บอกว่า Ben ทำอะไรกับหญิงสาว? แต่ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ จะถือว่าไม่คลุมเคลือเลยนะ เพราะช็อตนี้เธอได้แปรสภาพกลายเป็นของๆเขา ร่ำลาจากเจ้าของเดิม ถึงหญิงสาวคนนี้จะไม่ใช่ Hae-mi แต่คงไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่
ไคลน์แม็กซ์ตอนจบ ประกอบด้วย 2 ช็อต Long-Take เท่านั้นเอง เลือกสถานที่รอบข้างเต็มไปด้วยโรงนา สภาพอากาศหิมะกำลังจะตกหนาวเหน็บเย็นยะเยือก แต่นั่นเทียบไม่ได้กับความลุ่มร้อนภายในทรวงอกของ Jong-su ระเบิดความคลุ้มคลั่งแค้นออกมาเพื่อแผดเผาทุกสิ่งอย่างให้วินาศวอดวาย
สาเหตุที่ Jong-su ถอดเสื้อผ้าโยนเข้าไปในรถเผาไฟ ไม่ใช่เพราะมันเปลื้อนเลือดต้องการกลบเกลื่อนหลักฐานนะครับ แต่เป็นการสะท้อนกับกึ่งกลางเรื่องในฉากความทรงจำ (ในฝัน) เมื่อแม่หนีพ่อไปกับชู้ ตัวเขานำทุกสิ่งอย่างรวมถึงเสื้อผ้าโยนเข้าไปในกองเพลิงของโรงนาให้มอดไหม้วอดวาย ไม่ต้องการจะมีอะไรหลงเหลือติดตัวไปสู่การเริ่มต้นวันใหม่ ให้ความรุนแรงทั้งหมดนี้ที่กระทำจบสิ้นลงไปโดยทันที ทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง
แซว: จริงๆฉากนี้ช็อตเดียวจนจบเลยก็ยังได้ แต่สาเหตุที่ต้อง 2 ช็อต ตัดตรงขณะ Jong-su กลับขึ้นบนรถกลายเป็นภาพหน้ากระจก เพื่อให้สามารถมีจังหวะแทนที่รถหรูราคาแพงคันนี้ด้วยสุมกองเพลิง (ถ้าสังเกตกันดีๆ ก็จะพบว่าไม่ใช่รถที่มอดไหม้)
ตัดต่อโดย Kim Hyeon และ Kim Da-won, หนังทั้งเรื่องใช้มุมมองสายตาของ Jong-su พบเห็นการกระทำของเขา และจับจ้องเฝ้าสังเกตพบเห็นสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมาย จากทั้งสถานที่และผู้คนรอบข้าง
ในช่วงแรกๆของหนัง ทุกครั้งเมื่อ Jong-su เดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ สายตาของเขาจะกวาดมองไปโดยรอบ เช่นกันกับกล้องเคลื่อนไหลติดตาม นี่เป็นการสร้าง Establish Shot เพื่อให้ผู้ชมเกิดความสัมพันธ์ รู้จักมักคุ้นเคยกับสถานที่นั้นๆเสียก่อน จากนั้นครั้งถัดๆมาถึงค่อยมุ่งเน้นนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้น การพูดคุยสนทนา กระทำแสดงออกของตัวละครเป็นหลัก
เราสามารถแบ่งหนังออกได้เป็น 3 องก์
– เรื่องราวระหว่าง Jong-su กับ Hae-mi หวนกลับมาพบเจอ ตกหลุมรัก และแยกจากกัน
– รักสามเส้าของ Jong-su, Ben กับ Hae-mi ซึ่งช่วงนี้ก็สามารถแบ่งได้เป็นอีกสององก์ย่อย ความไฮโซของ Ben และความโลโซของ Jong-su
– ความขัดแย้งของสองหนุ่ม Jong-su กับ Ben ในการออกติดตามหา Hae-mi
ความเชื่องช้าถึง 148 นาที อาจทำให้หลายๆคนรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหน่าย แต่ผมว่าเป็นระยะเวลาพอดิบพอดีที่ความลุ่มร้อนจะสะสมอัดแน่นสุมอยู่เต็มอก และเมื่อถึงฉากสุดท้ายขณะความเกรี้ยวกราดโกรธปะทุระเบิดออก จะเกิดความเข้าใจสูงสุดถึงเหตุผลของตัวละคร ทำไมถึงแสดงออกมาเช่นนั้น! ก็แค่ว่า 2 ชั่วโมงครึ่งยังรู้สึกทุกข์ทรมานเพียงนี้ ชีวิตจริงคงไม่แปลกที่ต้องบ้าคลั่งรุนแรงขนาดนั้น
เพลงประกอบโดย Lee Sung-hyun หรือชื่อในวงการ Mowg ผลงานเด่นๆ อาทิ I Saw the Devil (2010), Masquerade (2012), Hwayi: A Monster Boy (2013), Dongju: The Portrait of a Poet (2016) ฯ
เสียงดีดสายกีตาร์โน๊ตต่ำๆ ตามด้วยลีดเบสอ่อนๆ และเคาะกลองกรับ สร้างสัมผัสอันลึกลับซับซ้อน ชวนให้เกิดความพิศวงสงสัย สิ่งปรากฎพบเห็นอยู่เบื้องหน้า แท้จริงแล้วมีอะไรแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ภายในบ้างหรือเปล่า
(ไว้ถ้ามี Soundtrack เมื่อไหร่ จะนำคลิปมาลงให้นะครับ)
แถมให้กับบทเพลง Jazz ประพันธ์/บรรเลงโดย Miles Davis ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Elevator To The Gallows (1958) กำกับโดย Louis Malle มอบสัมผัสอันโหยหวน ล่องลอย อ้างว้าง ซึมเศร้า รวดร้าวทุกข์ทรมาน ซึ่งตัวละครของ Jeanne Moreau ขณะนั้นกำลังเดินอย่างล่องลอยไร้แก่นสานเป้าหมายในชีวิต สะท้อนเข้ากับ Hae-mi ขณะเธอลุกขึ้นถอดเสื้อเต้นโยกโบกสะบัดไปมา ล่องลอยจากพันธการของเรือนร่าง สู่อิสรภาพไร้ขอบเขตจำกัด
หน้าหนังของ Burning คือความลุ่มร้อนแผดเผาทรมานของคนเคยตกหลุมร่วมรักหลับนอนกับหญิงสาว แต่กลับค่อยๆห่างร้างราเมื่อการมาถึงของชายอีกคนหนึ่ง จากนั้นเธอก็หายสาบสูญไปชั่วนิรันดร์ ออกติดตามค้นหาจนสุดความสามารถมิอาจพบเจอ จำต้องระบายความอึดอัดคับข้องแค้นดังกล่าวลงสู่หมอนั่นที่คาดว่าน่าจะเป็นเบื้องหลังตัวการทุกสิ่งอย่าง
สิ่งหลบซ่อนอยู่เนื้อใน คือเรื่องราวของการสูญเสียของรักของหวง บางสิ่งอย่างใกล้ตัว หรือเป้าหมายชีวิต อันก่อให้เกิดความเกรี้ยวกราดโกรธคับข้องแค้น ลุ่มร้อนทุกข์ทรมานสุมอยู่เต็มอก เมื่อถึงจุดมิอาจสะกดความอัดอั้นไว้ภายในก็ถึงคราต้องปะทุระเบิดออก อานุภาพทำลายล้างทุกสิ่งอย่างรอบข้างให้มอดไหม้กลายผงธุลีเถ้าถ่าน
ทารกน้อยเกิดมาไม่มีอะไรติดตัวทั้งนั้นนอกจากบุญกรรม เติบโตขึ้นจักค่อยๆเรียนรู้ ค้นหาเป้าหมายชีวิต ครอบครองสิ่งของรักของหวง แล้วเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบเมื่อได้รับหรือสูญเสีย
– Jong-su เริ่มต้นไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีอุดมการณ์เป้าหมายชีวิตใดๆ ก่อนค่อยๆยินยอมรับการเข้ามาของ Hae-mi จนถือว่าเป็นเจ้าของของเธอก็ยังได้ ต่อด้วยค้นพบเจอความต้องการแท้จริงของตนเอง นั่นทำให้เมื่อเขาสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง จึงระบายความเกรี้ยวกราดโกรธคับข้องแค้นออกมาอย่างรุนแรงถึงที่สุด
– Hae-mi หญิงสาวผู้มากด้วยอุดมการณ์เป้าหมายชีวิต ออกเดินทางค้นหาถึงเคนย่าเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่ร้องไห้ขี่มูกโป่งกลับบ้าน ก่อนมีโอกาสพบเจอความสุขจริงแท้ที่ปรากฎว่าอยู่ใกล้แค่เอื้อม
– Ben คือผู้ที่มิได้ครอบครองเป็นเจ้าของอะไรใคร หรือมีเป้าหมายใดๆในชีวิต แต่ความสนใจของเขาคือการแก่งแย่งชิง ขโมยเอาบางสิ่งจากผู้อื่นแปรสภาพให้กลายเป็นของตนเอง
การที่หนังไม่เปิดเผยว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น Hae-mi เราสามารถจินตนาการได้ว่า
– เธอก็แค่หายตัวไปอย่างลึกลับ ไม่เกี่ยวข้องกับ Ben เป็นตายร้ายดีไม่มีใครบอกได้
– การหายตัวไปเกี่ยวข้องกับ Ben อาจถูกลักพาตัว นำไปขาย หรือฆ่าให้ตาย
– เป็นไปได้ว่า Hae-mi อาจไม่ได้มีตัวตนตั้งแต่แรก เพราะคำอ้างถึงใบหน้าที่ไปศัลยกรรมมา (ของปลอม/ไร้ตัวตน) อาจคือบางสิ่งอย่างที่ทั้ง Jong-su และ Ben จินตนาการขึ้นเอง
– มองในเชิงสัญลักษณ์ Hae-mi เมื่อได้บรรลุเป้าหมายความต้องการของตนเอง โบยบินกางปีกสู่อิสระเสรีภาพจึงไม่หวนคืนกลับมาสู่วิถีของโลกมนุษย์
ทั้ง Jong-su และ Ben ต่างมีความต้องการครอบครอง Hae-mi แต่วิธีการของพวกเขาสะท้อนสิ่งที่คือวิถีแนวคิดของชนชั้นที่เหลื่อมล้ำกันอยู่
– Jong-su ตัวแทนคนชนชั้นล่าง ชีวิตเริ่มต้นนับจากศูนย์ จะทำอะไรก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไต่เต้าเดินขึ้นบันไดสูงขึ้นเรื่อยๆ
– ขณะที่ Ben คือบุคคลผู้มีทุกสิ่งอย่างพร้อมแล้ว ไม่ได้ต้องดิ้นรนเริ่มต้นจากนับหนึ่ง อยากได้อะไรก็จับจ่าย ลักขโมย หรือหาวิธีปรับเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นของตนเอง
ถึงคนเราจะเลือกเกิดบนพื้นฐานฐานะชนชั้นทางสังคมไม่ได้ แต่สติปัญญาสามารถค่อยๆเรียนรู้พัฒนา จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งเกิดเป็นความเสมอภาคเท่าเทียม นี่สะท้อนถึงไคลน์แม็กซ์ตอนจบ หลังจากที่ Jong-su รับรู้ด้วยสันชาติญาณถึงตัวตนแท้จริงของ Ben ครุ่นคิดเข้าใจว่าได้สูญเสีย Hae-mi ไปชั่วนิรันดร์แล้ว จึงทำการตอบโต้ล้างแค้นเอาคืน เรียกทวงคืนสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเอง
มันก็พอมีความเป็นไปได้ที่ Ben อาจไม่ใช่คนที่ทำให้ Hae-mi สาบสูญหายไปชั่วนิรันดร์ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้เขาจะกลายเป็นแพะผู้โชคร้าย ตัวแทนของชนชั้นสูงที่ถูกโค่นล้มอำนาจจากบุคคลผู้ต่ำต้อยกว่า … แม้หนังจะปลายเปิดขนาดนี้ แต่เชื่อเถอะว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากครุ่นคิดความเป็นไปได้นี้แน่!
ในมุมของผู้กำกับ Lee Chang-dong สร้างหนังเรื่องนี้ชักชวนให้คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิต ความเกรี้ยวกราดโกรธมีสาเหตุจากอะไร? ความลุ่มร้อนที่แผดเผาอยู่ภายในจิตใจ สามารถก่อให้เกิดผลลัพท์ใดได้บ้าง?
“This is a film about anger. I think everyone is angry these days. I think it was also some people’s anger that made Trump president. What I pay attention to is the anger of young people. Youngsters don’t understand why they don’t have a future or hope. They don’t have a specific target for this anger”.
เพราะยึดติดมากเมื่อสูญเสียเลยเกิดความคลุ้มคลั่ง ครุ่นคิดในมุมกลับกัน ถ้าคนเราไม่มีสิ่งที่เป็นของรักของหวง หรือเป้าหมายใดๆในชีวิต นั่นก็แปลว่าเขาย่อมไม่รู้จักการสูญเสีย เกิดอารมณ์เกรี้ยวกราดโกรธ ลุ่มร้อนรนทุกข์ทรมาน รวมถึงไร้ซึ่งพลังทำลายล้างทุกสิ่งอย่างรอบข้าง โลกทั้งใบคงจะพบเจอสงบสุขอย่างแน่แท้
เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้าสองรางวัล
– FIPRESCI Prize **รางวัลของนักวิจารณ์ และยังสร้างสถิติคะแนนสูงสุดใน Jury Grid แซงหน้า Toni Erdmann (2016) ที่เพิ่งถือไว้เมื่อสองปีก่อน
– Vulcain Prize for the Technical Artist มอบให้กับ Jum-hee Shin ผู้เป็น Art Director
สิ่งที่โดยส่วนตัวคลุ้มคลั่งกับหนังเรื่องนี้ คือความน่ารักน่าชังของนางเอก Jeon Jong-seo พริตตี้ตั้งแต่วินาทีแรก จนกระทั่งถึงตอนถอดเสื้อเปลื้องผ้าลุกขึ้นเต้นต่อหน้าสองหนุ่มและพระอาทิตย์ตกดิน ใครจะไปคิดว่านั่นคือจุดเปลี่ยนของทุกสิ่งอย่าง ราวกับเธอได้โบยบินหายลับสู่ฟากฟ้าไกล ค้นพบเจอเติมเต็ม ‘Great Hunger’ สำเร็จมรรคคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่เพราะความจริงมันอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น การสูญหายไปของเธอกลายเป็น MacGuffin ที่ไม่มีใครล่วงรู้ให้คำตอบได้ สร้างความร้าวฉานให้พระเอกและผู้ชม มันเกิดบ้าคลั่งอะไรขึ้น คันหัวใจแค่ไหนก็เกาไม่หาย ดิ้นพร่านทรมานกระสับกระส่าย ดื่มน้ำเย็นมีแต่จะลุ่มร้อนไข้สูงขึ้น นี่คือประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ที่สั่นสะเทือนไปถึงภายในทรวงอก หลอมละลายทุกสิ่งอย่างกลายเป็นเศษขี้เถ้าไร้ค่า มอดม้วยมรณาดับสิ้นสูญมิอาจทำอะไรไปต่อได้
ผมโชคดีเล็กๆ ที่การเขียนบทความนี้สามารถช่วยระบายเพลิงไฟสุมเต็มอกนี้ออกมาได้ ซึ่งสิ่งหลงเหลืออยู่ภายในก็ไม่ใช่เศษขี้เถ้าแต่เป็นขี้ไต้ สามารถใช้เป็นชนวนจุดติดไฟในการทำงานได้อีกมากโข
แนะนำคอหนัง Mystery Thriller, โรแมนติก รักสามเส้า, ดราม่าสะท้อนความเกรี้ยวกราดรุนแรงจากภายใน, แฟนๆผู้กำกับ Lee Chang-dong และนักแสดงนำ Steven Yeun, Yoo Ah-in ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความเร่าร้อนรุนแรง ทัศนคติที่อันตราย และกองเพลิงแห่งความเกรี้ยวกราดโกรธแค้น
Leave a Reply