Cabaret (1972)
: Bob Fosse ♥♥♥♥
คอรัปชั่น, ความเพ้อฝัน, Sex สามเส้า, นาซี เหล่านี้คือประเด็นที่ทำให้หนังเพลงเรื่องนี้เข้าชิง Oscar 10 สาขา ได้มา 8 รางวัล แต่พลาดภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีให้กับ The Godfather (1972), นำแสดงโดย Liza Minnelli ในด้านมืดของโลก ยังมีเธอที่เป็นเหมือนแสงสว่าง
สำหรับคนที่ยังไม่รู้ Liza Minnelli เธอคือลูกสาวของ Judy Garland และผู้กำกับ Vincente Minnelli ที่เรียกได้ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ทั้งความสามารถ การแสดง ร้องเพลง และชีวิตจริงของเธอ, ในโลกที่ Liza เติบโตขึ้นมาใช่ว่าจะมีความสุขนัก แม่สติแตกบ่อยๆ เข้าออกโรงพยาบาลจิตเวทเป็นว่าเล่น สุดท้ายเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด ส่วนพ่อก็ธรรมดาที่ไหน แม้จะแต่งงานใหม่หลายรอบ แต่คนวงในรู้กันดีว่าผู้ชายคนนี้เป็นเกย์
ตอนเริ่มแตกเนื้อสาว ค่ำคืนออกไปเป็นนักร้องนักแสดงตาม nightclub โรงละครที่ New York มีผลงานการแสดง Broadway เรื่องแรก Flora the Red Menace (1965) ที่ทำให้ได้รางวัล Tony Award: Best Actress in a Musical, สำหรับภาพยนตร์มีผลงานแรกตั้งแต่ยังเด็ก In the Good Old Summertime (1949) ที่นำแสดง Judy Garland แต่ปรากฎตัวแค่ช่วงท้ายนิดเดียวเท่านั้น, ผลงานการแสดงแรกตอนโตคือ Charlie Bubbles (1967) กำกับ/นำแสดงโดย Albert Finney, ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress ครั้งแรกจากหนังเรื่อง The Sterile Cuckoo (1969) คว้ารางวัลนี้ได้สำเร็จกับ Cabaret (1972), ปีถัดมารายการโทรทัศน์ Liza with a Z (1972) ได้รางวัล Emmy Award สาขา TV special และปี 1990 Grammy มอบรางวัล Grammy Legend Award, ถือเป็นนักแสดงไม่กี่คนที่สามารถคว้ารางวัลจาก 4 สถาบันใหญ่ของอเมริกา Tony, Academy, Emmy และ Grammy ได้ครบถ้วน
ด้วยฝีมือและผลงานการันตีอย่างนี้ ใครๆคงคาดหวังให้ Liza Minnelli คือตัวตายตัวแทนของ Judy Garland แต่ไม่เลยนะครับ, มันเหมือนว่า Liza คือผลลัพท์ด้านมืดของ Garland เธอไม่เคยเล่นหนังโลกสวยสดใสเหมือนแม่ แต่ในโลกอันแสนสกปรกโสโครก เธอรับบทหญิงสาวที่ดวงตาเป็นประกายเดียวกัน มองหาความสุขสดใสของโลก, กระนั้น… เมื่อชื่อเสียงความสำเร็จล้นหลาม ก็ไม่มีอะไรหลงเหลือให้เธอไขว่คว้าค้นหาอีก เริ่มมองชีวิตตนเองไร้ค่า ติดเหล้าติดยา เป็นหนึ่งในขาประจำแก๊งค์ขี้เมาในโรงงานของ Andy Warhol แต่งงานทั้งหมด 4 ครั้ง (น้อยกว่าแม่ครั้งหนึ่ง) ไม่รู้ทำบุญอะไรมาที่อายุยืนยาวกว่าทั้งพ่อและแม่ ปัจจุบันปี 2017 ยังมีชีวิตอยู่ อายุ 70 กว่าแล้ว ปรากฎตัวให้เห็นบ้างนานๆที
การแสดงของ Liza ในหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในตำนาน ทั้งเสียงร้องอันทรงพลัง และลีลาท่าเต้นที่ใช้ร่างกายทุกสัดส่วนได้อย่างเซ็กซี่สวยงาม เสียอย่างเดียวคือข้างในจิตใจของตัวละครนี้ ผมมองว่ามันอ้างว้างว่างเปล่า Nihilist ไร้จิตวิญญาณความรู้สึกใดๆ แต่ก็ถือว่าใช่สำหรับตัวละครที่การกระทำบางอย่างของเธอ ‘On my whims!’ แบบไม่สนใจอะไรใครที่แท้จริง
หนังดัดแปลงมาจากละครเพลง Broadway เรื่อง Cabaret (1966) ของ John Kander กับ Fred Ebb ที่ดัดแปลงมาจากนิยายรวมเรื่องสั้น Goodbye to Berlin (1939) กึ่งอัตชีวประวัติของผู้เขียน Christopher Isherwood เคยมีการสร้างเป็นละครเวทีครั้งหนึ่งแล้วเรื่อง I Am a Camera (1951) ของ John Van Druten
เรื่องราวมีพื้นหลังในกรุง Berlin ปี 1931 ขณะที่ Nazi กำลังค่อยๆเรืองอำนาจ มีสถานที่ดำเนินเรื่องหลักคือ Kit Kat Klub เป็น nightclub ที่มีการแสดงของ Cabaret เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียน Cliff Bradshaw (ฉบับหนังจะเปลี่ยนชื่อเป็น Brian Roberts นำแสดงโดย Michael York) กับนักแสดงสาวคาบาเร็ต Sally Bowles (นำแสดงโดย Liza Minnelli)
คาบาเร่/คาบาเรต์ (Cabaret) คือรูปแบบความบันเทิงที่ประกอบด้วย การแสดงตลก, การร้องเพลง, การเต้นและการแสดงละคร(สั้นๆ) ในสถานที่อย่างเช่น ร้านอาหาร, ไนต์คลับ, บาร์ ที่มีเวทีการแสดงอยู่ด้วย โดยผู้ชมจะนั่งอยู่กับโต๊ะ มักมีการดื่มกินอาหารควบคู่ไป, ประเทศที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงประเภทนี้คือ ฝรั่งเศส เมื่อปี 1881 ในย่าน Montmartre ต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลาย กระจายไปทั่วยุโรปและทั่วโลก, พิธีกร MC (Master of Ceremonies) ของคาบาเร่ จะถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของการแสดงโชว์ ที่จะคอยแนะนำ ร่วมเล่น ร่วมแสดงไปกับการแสดงนั้นๆ เพื่อสร้างสีสันให้เกิดขึ้นกับผู้ชม
เกร็ดที่คนไทยชอบเข้าใจผิดๆ: คาบาเร่ ไม่จำเป็นต้องเป็นการแสดงของสาวประเภทสองเท่านั้น ผู้หญิง/ผู้ชายแมนๆ ก็สามารถแสดงได้, สาเหตุที่คนไทยเข้าใจผิดๆแบบนี้ เพราะการแสดงคาบาเร่ชื่อดังของไทยคณะแรก ทิฟฟานี่ โชว์ พัทยา มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มของสาวประเภทสอง
ในปี 1971 ผู้กำกับ Bob Fosse รับรู้ว่า Harold Prince ผู้กำกับละครเพลง Broadway เรื่อง Cabaret (1966) มีความสนใจที่จะดัดแปลงบทละครเพลงนี้ให้กลายเป็นภาพยนตร์ จึงรีบเข้าไปเสนอตัวเองเป็นผู้กำกับด้วยความตั้งใจแน่วแน่, แม้โปรดิวเซอร์จะมีความสนใจผู้กำกับที่มีผลงานดังๆอย่าง Billy Wilder, Joseph Mankiewicz หรือ Gene Kelly เกิดความลังเลในตัว Fosse ที่เพิ่งทำหนังเรื่อง Sweet Charity (1969) เกือบทำให้ Universal ล้มละลายมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ใจอ่อน เพราะเชื่อมั่นในแนวทางการกำกับ (direction) ของ Fosse ที่ทำละครเวทีประสบความสำเร็จมานับไม่ถ้วน จึงยอมให้มาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้
Bob Fosse (1927-1987) ผู้กำกับ นักเขียนบท นักแสดง นักออกแบบท่าเต้น ภาพยนตร์/ละครเวที สัญชาติอเมริกา ในชีวิตกำกับภาพยนตร์เพียง 5 เรื่องเท่านั้น นอกจากเรื่องนี้ มีผลงานที่ถือว่าเป็น Masterpiece คือ All that Jazz (1979), Fosse ได้รางวัล Tony Awards for choreography (ออกแบบท่าเต้น) ทั้งหมด 8 ครั้ง มากที่สุดในประวัติศาสตร์ เข้าชิง Oscar: Best Director 3 ครั้ง ได้มา 1 รางวัลจาก Cabaret ซึ่งสามารถเอาชนะผู้กำกับตัวเต็งปีนั้น Francis Ford Coppola ที่กำกับ The Godfather (1972) ไปได้อย่างพลิกความคาดหมาย
Cabaret ผลงานลำดับที่ 2 ของ Bob Fosse ด้วยความตั้งใจสร้าง ‘adult musical’ ภาพยนตร์เพลงสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่หนังเพลงได้เรต X ขณะฉาย (เทียบกับปัจจุบันคงได้เรต R) นี่เป็นเหตุให้ผู้ชมสมัยนั้นตกตะลึง เกิด Controversies ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน ไม่คิดมาก่อนว่าจะสามารถมีหนังลักษณะนี้เกิดขึ้นได้
เกร็ด: หนังโป๊เรื่องแรกของโลก Blue Movie (1969) ของ Andy Warhol ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ adult film และ Cabaret คือหนึ่งในหนังที่ได้รับอิทธิพลมาเต็มๆเลย
Cabaret เริ่มต้นจาก MC (นำแสดงโดย Joel Grey) ร้องเล่นเต้นเพลง Wilkommen (Welcome men) บอกให้ผู้ชม ทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้ข้างนอก ‘Leave your troubles outside.’ ความเครียด ความขัดแย้ง ความเหน็ดเหนื่อย ฯ ให้เตรียมพร้อมเปิดใจรับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการแสดง ทุกสิ่งอย่างมีความสวยงาม
Joel Grey เคยรับบท MC จากละครเพลง Cabaret ได้รางวัล Tony Award: Best Performance by a Featured Actor in a Musical (นักแสดงสบทบชายยอดเยี่ยม) กลับมารับบทเดิมในฉบับภาพยนตร์, Grey ได้เรียนสำเนียง German จนพูดได้คล่องแคล่วเพื่อใช้ในการแสดงชุดนี้โดยเฉพาะ, ต้องบอกว่าชายคนนี้ทุ่มเทสุดตัว มีความโดดเด่นมว๊ากก แต่งหน้าหลอนโคตรๆ โดยเฉพาะคำพูดที่ดัดเสียง ดัดจริตได้อย่างบ้าคลั่ง แย่งซีนในทุกๆฉากที่ปรากฎตัว, ยอดเยี่ยมขนาดนี้มีหรือจะพลาด Oscar: Best Supporting Actor
บทเพลง Mein Herr (แปลว่า Sir, ท่าน) ร้องเล่นเต้นโดย Liza Minnelli เป็นบทเพลงแนะนำตัวละคร Sally Bowles ที่แต่งขึ้นใหม่ใช้ในหนังเป็นครั้งแรก เพื่อ Liza จะได้ร้องเล่นเต้นด้วยตนเองได้, การเล่นเต้นกับเก้าอี้ ผมเปรียบกับผู้ชาย มีการขึ้นค่อม นั่งขี่ โยกไปมา ยกแยกขา ฯลฯ พอจะดูเหมือนท่าทางการมี Sex อยู่นะครับ
นี่ถือเป็นบทเพลงที่แสดงความสามารถทางกายภาพของ Liza ได้สมบูรณ์แบบที่สุด โดยเฉพาะท่าโยกสะโพกนุ่มๆของเธอ มีความเซ็กซี่เย้ายวนอย่างมาก
เกร็ด: Liza Minnelli ออกแบบเครื่องแต่งกาย แต่งหน้า ทำผมด้วยตนเองทั้งหมด (ด้วยการช่วยเหลือจากพ่อ Vincente Minnelli) รวมถึงไฝเสน่ห์ตรงแก้มด้วย (ตัวจริงไม่มีไฝเม็ดนี้นะครับ)
เงิน คือหนึ่งในความคอรัปชั่นของหนัง ตัวละคร Fritz Wendel (รับบทโดย Fritz Wepper นักแสดงชาว German) Gigolo หนุ่มชาวยิว (หลอกคนอื่นว่าตัวเองเป็น คริสเตียน) มีฐานะยากจน ชอบโปรยเสน่ห์ให้สาวๆ(ที่มีฐานะ)หลงใหล เพื่อล่อลวงเอาเงินของเธอ แต่ครั้งหนึ่งดันไปตกหลงรัก Natalia Landauer (รับบท Marisa Berenson) หญิงสาวชาวยิวที่มีฐานะร่ำรวย, Fritz จะได้กลายเป็นหนูตกถังข้าวสารสมใจหรือไม่ต้องลุ้นกัน
Money, Money ร้องเล่นเต้นโดย Joel Grey กับ Liza Minnelli เป็นบทเพลงที่เรียกเสียงหัวเราะ(ของผม) ได้มากที่สุด ดังขึ้นในจังหวะเพื่อเสียดสีประชดประชันตัวละคร Fritz Wendel ได้ชัดเลย
Sex รักสามเส้าของ Sally Bowles, Brian Roberts (รับบทโดย Michael York) ครูสอนภาษาอังกฤษ และ Maximilian von Heune (รับบทโดย Helmut Griem) มหาเศรษฐีชาวเยอรมัน มีความสับสนยุ่งเยิงอลม่าน ที่จะทำให้คุณคาดไม่ถึงกับผลลัพท์ที่เกิดขึ้น
Michael York นักแสดงสัญชาติอังกฤษ กับหนังเรื่องนี้ ติ๋มได้ใจจริงๆ เล่นกล้ามให้ใครเห็นว่าภายนอกเข้มแข็ง แต่อ่อนแอปวกเปียกภายใน ตอนแรกผมคิดว่าตัวละครนี้เป็นเกย์ด้วยนะครับ แต่เมื่อกลายเป็นแฟนกับ Sally ก็เกือบทำให้ผมเปลี่ยนใจได้แล้วเชียว, ตัวละคร Brian Roberts เรียนจบจาก Cambridge (Sally มักเข้าใจผิดคิดว่าจบจาก Oxford) ด้วยมาดของผู้ดี ที่น่าจะเป็นคนปกติที่สุดของหนังแล้วแต่ไม่เลย เป็นคนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ โดยเฉพาะความหึงหวงที่รุนแรงมากๆ คงเพราะความรักที่เขาไม่เคยคิดว่าจะได้พบ แต่เมื่อเจอแล้วก็ไม่อยากที่จะเสียมันไป
Helmut Griem นักแสดงสัญชาติเยอรมัน ใบหน้าของพี่แกเหมือนมหาเศรษฐีเพลย์บอกมาก แถมไว้หนวดอะไรก็ไม่รู้ สีทองอีกต่างหาก ต้องมีลับลมคมในแน่ๆ, ตัวละคร Maximilian von Heune คือคนมีเงินที่วันๆไม่รู้จะทำอะไรดี ใช้จ่ายไร้สาระก็ไม่มีหมด ชีวิตของคนพวกนี้น่าเบื่อมาก เขาจึงทำทุกอย่างเพื่อฆ่าเวลา
บทเพลง Two Lady ขับร้องโดย Joel Grey อธิบายทุกสิ่งอย่างได้ตรงเผง ในแบบที่กลับตารปัตรกัน
นาซีและชาวยิว ในบทเพลง Tiller Girls และ If You Could See Her From My Eyes ทั้งสองเพลงขับร้องโดย Joel Grey มีการเปรียบชาวยิวเหมือนกอลลิล่าสาว นี่มองได้ 2 มุมมอง คือ ดูถูกเหยียดหยาม และประชดประชัน, ในสมัยนั้น นาซีมองว่าชาวยิวไม่ใช่มนุษย์ ปลูกฝังความคิดกับประชาชนให้แสดงการเหยียดหยามออกมา กระทำการต่างๆ ฆ่าให้ตายได้เหมือนกับสัตว์ เทิดทูนชาติพันธุ์ตนเองดั่งบทเพลง Tomorrow Belongs to Me (นี่เป็นเพลงที่มักได้รับความเข้าใจผิดว่าเป็นเพลงประจำชาติของ Nazi ทั้งๆที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบในละครเพลงเท่านั้น)
ผมหยิบเอา If You Could See Her From My Eyes มาให้ฟัง เริ่มต้นด้วยการหมุนนาฬิกา เข็มหยุดที่ประมาณเลข 11 แปลว่าเวลาใกล้หมดแล้ว, กอลลิล่ากินกล้วย (สื่อถึง Sex) และตอนที่ MC มอบแหวนให้ แต่แทนที่จะสวมที่นิ้วกลับใส่ที่จมูก ดั่งวัวควาย (ความหมายถึง จูงจมูก ให้เดิน/ทำตามสั่ง)
ถ่ายภาพโดย Geoffrey Unsworth ตากล้องยอดฝีมือชาวอังกฤษ ที่มีผลงานดังอย่าง 2001: A Space Odyssey (1968), Murder on the Orient Express (1974), Superman (1978)
ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้ที่ทำให้ได้ Oscar: Best Cinematography คือทุกสิ่งอย่างของการถ่ายภาพเลยก็ว่าได้ ทั้งการจัดแสงสี บรรยากาศหนัง, การเคลื่อนกล้อง มุมกล้อง, การจัดวางตำแหน่ง ฯ เห็นว่าการจัดฉาก บรรยากาศของหนังให้กลิ่นอาย German Expressionist มีช็อตหนึ่งที่จัดวางนักแสดง เหมือนภาพวาดของ Portrait of the Journalist Sylvia von Harden ของ Otto Dix วาดขึ้นเมื่อปี 1926
เปิดเรื่องมางานภาพก็สร้างความฉงนให้กับผู้ชมแล้ว นั่นมันอะไรกัน?, ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร รู้แค่มันคือภาพสะท้อนจากฉากบนเวที เห็นผู้คนเบลอๆ ขมุกขมัว นี่คงหมายถึงภาพอันเลือนลาง ราวกับความฝัน นี่คงเป็นความแตกต่างระหว่างชีวิตจริงกับการแสดง Cabaret ซึ่งตอนจบของหนัง ก็จะวนกลับไปที่ฉากนี้อีกแล้วแช่หน้าคนไว้ ก่อนที่เครดิตเงียบๆจะเคลื่อนผ่าน
หนังใช้การถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ในประเทศเยอรมัน รวมถึงนักแสดงตัวประกอบ ทีมงานแทบทั้งหมดเป็นชาวเยอรมัน (แต่ในกองถ่ายพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก)
ตัดต่อโดย David Bretherton ชาวอเมริกา มีผลงานดังคือ An Affair to Remember (1957), The Diary of Anne Frank (1959) ฯ
โลกของหนังแบ่งออกเป็น 2 ใบ, ใน Kit Kat Klub และเรื่องราวที่อยู่ข้างนอก ซึ่งใช้การตัดสลับเล่าเรื่องกัน สามารถมองได้ทั้ง บทเพลง/การแสดงเต้นประกอบเรื่องราว หรือ เรื่องราว/ประกอบการร้องเล่นเต้น
ซึ่งส่วนเด่นสุดของการตัดต่อคือ การแสดงใน Kit Kat Klub ที่มีลีลาตัดต่อภาพไปมา ผสานกับการเคลื่อนไหวของกล้องที่โฉบเฉี่ยว (เห็นเงาด้านหลังของผู้ชมผ่านไปมา) เพื่อสร้างอารมณ์ให้กับบทเพลงนั้นๆ, นี่อาจเป็นเทคนิคที่คอหนังเพลงยุคเก่าๆไม่ประทับใจเท่าไหร่ เพราะในยุคของ Fred Astaire ทุกการเต้นเกิดขึ้นในช็อตเดียวไม่มีตัด แต่หนังเรื่องนี้ตัดเป็นสิบเป็นร้อยครั้งในบทเพลงเดียว แต่อย่าดูถูกเทคนิคนี้ไปนะครับ จริงอยู่มันอาจไม่ได้ทำให้ผู้ชมหลงใหลในตัวนักแสดง แต่สามารถกำหนดกรอบอารมณ์ให้ผู้ชมรับรู้ได้ดังที่ผู้กำกับต้องการ
เรื่องราวในชีวิตประจำวันดำเนินไป พบเจอกับเรื่องราวเหตุการณ์บางอย่างอันคับข้องใจ บทเพลงจากร้าน Kit Kat Klub จะดังขึ้น, บางครั้งใช้การตัดสลับกันระหว่างร้องเล่นเต้นภายในร้านกับนอกร้าน, บางครั้งร้องเล่นเต้นให้จบก่อน แล้วค่อยเล่าเรื่องต่อ, และมีบางครั้งที่เหตุการณ์เล่าต่อเนื่องไปเลยในไนท์คลับ จะถือว่าเหล่านี้คือการผสมผสานระหว่างชีวิตจริงกับโลกของการแสดง (ที่แปลว่าทั้งสองโลกคือสิ่งเดียวกันด้วย)
เพลงประกอบเรียบเรียงโดย Ralph Burns แต่งทำนองโดย John Kander คำร้องโดย Fred Ebb ในสไตล์แจ๊สเป็นหลัก เน้นเสียงเครื่องเป่าและกลอง (จะเห็นวงดนตรีคาบาเร่ ในหนังด้วยนะครับ)
เอะ… จะว่าไป Jazz นี่มันคือมุมมืดของวงการเพลงหรือยังไง ถึงได้บรรเลงแล้วเข้ากับหนังที่เกี่ยวกับด้านมืดของโลกขนาดนี้?, สงสัยจะใช่
Sound Effect ในฉากการเต้นที่ Kit Kat Klub มีการใช้เสียงตอบรับของผู้ชม อาทิ เสียงหัวเราะ ปรบมือ ฯ (บางครั้งจะตัดให้เห็นสีหน้า/การตอบรับ ของผู้ชมด้วย) ได้ยินเป็นพื้นหลังประกอบในจังหวะที่หนังต้องการให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วม คือถ้าคุณดูหนังคนเดียวแล้วหัวเราะในบทเพลง อาทิ Money, Two Lady ฯ จะรู้สึกเหมือนมีคนหัวเราะร่วมไปด้วย
บทเพลงที่ผมชอบที่สุดของหนัง Maybe This Time ขับร้องโดย Liza Minnelli นี่เป็นบทเพลงที่ขับสิ่งอยู่ในข้างในจิตใจออกมาด้วยพลังเสียงในระดับสัมผัสความรู้สึกได้ แสดงถึงความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว โหยหายของหญิงสาว ที่ฟังแล้วขนลุกซู่ ชวนให้หวนระลึกถึง Judy Garland ใน A Star is Born (1954) แม่ลูกร้องเพลงได้บ้าคลั่ง เต็มสุดเสียงไม่ต่างกันเลย
บทเพลงสุดท้ายของหนัง Cabaret ขับร้องโดย Liza Minnelli มีใจความชักชวนให้ผู้ชมมารับชมการแสดงคาบาเร่ เปรียบเทียบเพราะมันคือชีวิตของมนุษย์, ‘Life is a Cabaret, old chum.’ ถือเป็นท่อนที่ทำให้เพลงนี้ติดหู ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ถึงขนาดติดอันดับ 18 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Songs
มันคืออะไรกัน Life is a Cabaret? ชีวิตคือการแสดง? คาบาเร่คือชีวิต? นี่เป็นประโยคที่ชักชวนให้มนุษย์รู้จักคุณค่าของชีวิต กล้าจะลุกขึ้นมาก้าวเดิน ทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่วันๆคุดคู้อยู่แต่ในบ้านอย่างเรื่อยเปื่อยไร้การตัดสินใจ, การเปรียบชีวิตดั่งคาบาเร่ คือบอกว่ามันต้องมีสุขทุกข์ เศร้าสมหวัง ดีใจเสียใจ ที่เรียกว่ารสชาติชีวิต ควรต้องมีสัมผัสอันตื่นเต้นเร้าใจ ให้มันคุ้มกับการเกิดขึ้นมา ถือเป็นประโยคสร้างกำลังใจนะครับ
ในด้านมืดของโลก สิ่งที่ทำให้สกปรกโสมมประกอบด้วย ความคอรัปชั่น, เงินทอง, อำนาจ (Nazi), หลงใหลในกามนารี (Sex) อะไรอีกละ… ใจความของหนังนำเสนอ ตีแผ่สิ่งเหล่านี้ออกมาให้ประจักษ์ ขณะเดียวกันก็บอกด้วยว่าอย่าหวาดกลัวไป นี่เป็นสิ่งธรรมดาสากลในโลก เราสามารถเลือกที่จะรับ แสวงหา หรือปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบอย่างตัวละครในหนัง แค่รับรู้ว่ามีแล้วเป็นตัวของตนเอง และถ้าเป็นไปได้กล้าออกมาทำอะไรบางอย่าง ร่วมกันสร้างโลกให้มันดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
เราสามารถมองหนังเรื่องนี้ได้ในมุมของ Escapist ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสมม ดั่งคำพูดของ MC ที่ว่า ‘We have no troubles here. Here, life is beautiful!’ นี่เป็นการหนีโลก โกหกตัวเอง เพราะหนังนำเสนอเรื่องราวที่เต็มไปด้วยปัญหา ความวุ่นวายมากมาย แค่ว่าใน Kit Kat Klub ได้ตีความความวุ่นวายต่างๆเหล่านั้น แปรให้กลายเป็นสิ่งสนุกสนาน ตลกขบขัน (แต่บางครั้งมันอาจดูไม่ตลกเท่าไหร่)
มีคนเรียกใบหน้าของ MC ว่า The Face of Evil ซึ่งถ้าเปรียบเทียบ Kit Kat Klub เสมือนหน้าตาของ Weimar Germany ที่แอบซ่อนความชั่วร้ายไว้เบื้องหลัง หมอนี่สามารถเปรียบได้กับ Adolf Hitler เลยละ (ปัจจุบันมีคนเปรียบใบหน้านี้คล้ายกับ Donald Trump แล้วนะครับ เร็วมากๆ)
ด้วยทุนสร้าง $2.3 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลก $42.8 ล้านเหรียญ กำไรเน้นๆ, เข้าชิง Oscar 10 สาขา เท่ากับ The Godfather แต่คว้ารางวัลได้มากกว่าถึง 8 สาขา ประกอบด้วย
– Best Director
– Best Actress in a Leading Role (Liza Minnelli)
– Best Actor in a Supporting Role (Joel Grey)
– Best Cinematography
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Sound
– Best Film Editing
– Best Music, Scoring Original Song Score and/or Adaptation
ที่พลาดสองสาขาคือ
– Best Picture (พ่ายให้กับ The Godfather)
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium (พ่ายให้กับ The Godfather)
ผมว่าหนัง Overrated เกินตัวไปสักนิด เพราะสาขาอย่าง Best Director นั้นเหมาะกับ Francis Ford Coppola มากกว่า เช่นกันกับ Best Cinematography และ Best Score ที่ถ้าใครดู The Godfather มาคงจะรับรู้ได้ว่าเรื่องนั้นโดดเด่นกว่ามากๆ
กระนั้นการได้ Best Director ของ Bob Fosse ในปีนั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์ในตำนานไปเลย เพราะเขายังได้ Tony Award: Best Direction of a Musical จากเรื่อง Pippin และ Emmy Award: Outstanding Directorial Achievement in Comedy. Variety or Music จากเรื่อง Liza with a Z ถือเป็นผู้กำกับคนแรกและคนเดียวที่ทำได้
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แต่ไม่หลงรักเพราะมีประเด็นล่อแหลมค่อนข้างเยอะ, คลั่งไคล้ในการร้องเล่นเต้นของ Liza Minnelli กับ Joel Grey และบรรยากาศของหนังที่สะท้อนด้านมืดของมนุษย์ได้อย่างลึกล้ำ
แนะนำกับคอหนังเพลง ชื่นชอบการแสดง Cabaret นักร้องเล่นเต้นทั้งหลาย และแฟนๆ Liza Minnelli, Michael York, Joel Grey ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต R ไม่เหมาะกับเด็ก
Leave a Reply