Caché

Caché (2005) French : Michael Haneke ♥♥♥♥

บางสิ่งอย่างที่ถูกปกปิดบังซ่อนเร้น เมื่อได้รับการเปิดโปง/เผยแพร่ข้อเท็จจริง ย่อมสร้างความตื่นตระหนกหวาดสะพรึงกลัวให้กับทุกผู้พบเห็น อาจแสดงออกด้วยปฏิกิริยาต่อต้าน หรือถึงขั้นยินยอมรับให้อภัยกันไม่ได้เลยทีเดียว, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Caché ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Hidden, หลบซ่อนเร้น … ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอวังวนแห่งความลับ ที่ต่อให้เก็บกักปกปิดบังมิดชิดเพียงใด สักวันหนึ่งความจริงย่อมต้องได้รับการเปิดเผยแพร่ออกมา และเมื่อนั้นกงเกวียนกำเกวียน ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง’

บุคคลผู้มีความลึกลับลมคมใน มักไม่ใช่คนประเภทใจบริสุทธิ์ ต้องเคยครุ่นกระทำสิ่งชั่วร้ายไว้บ้างถึงพยายามปกปิด มิให้ใครอื่นรับล่วงรู้ความคิด เพราะจะทำให้สูญเสียชื่อเสียง หน้าตา ทุกสิ่งสร้างมาอาจพลันล่มสลายลงโดยทันที

เมื่อตอนออกฉาย Caché (2005) ได้รับยกย่องระดับ Masterpiece ผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของปรมาจารย์ผู้กำกับ Michael Haneke โดยทันที! แต่ไม่กีปีถัดจากนั้นเมื่อการมาถึงของ The White Ribbon (2009) และ Amour (2012) ถือว่าบดบังรัศมีอันเจิดจรัสจร้าของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทันที! เช่นกัน

ตามชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลจากหลายๆสำนัก Caché (2005) มักได้รับอันดับสูงสุดในผลงานของผู้กำกับ Haneke แต่ให้ดูปีที่ทำการสำรวจด้วยนะครับ ส่วนใหญ่ยังคาบเกี่ยว/ก่อนหน้าการมาถึงของ The White Ribbon (2009) และ Amour (2012) เลยยังบอกไม่ได้ว่าหนังเรื่องไหนสมควรยกย่องเหนือกาลเวลา


Michael Haneke (เกิดปี 1942) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Austrian เกิดที่ Munich, บิดาเป็นผู้กำกับ Fritz Haneke ส่วนมารดาคือนักแสดง Beatrix von Degenschild หลังจากผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง อพยพไปเติบโตขึ้นที่ Wiener Neustadt, Austria เข้าเรียนยัง University of Vienna ศึกษาปรัชญา จิตวิทยา และการแสดง จบออกมาทำงานนักวิจารณ์ ตัดต่อรายการโทรทัศน์ จนมีโอกาสกำกับซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Seventh Continent (1989) ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม, ตามด้วย Benny’s Video (1992), Funny Games (1997), The Piano Teacher (2001), Caché (2005), The White Ribbon (2009), Amour (2012) ฯ

จุดเริ่มต้นของ Caché เกิดขึ้นหลังจากผู้กำกับ Haneke รับรู้เรื่องเหตุการณ์ Paris massacre of 1961 ที่ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสปกปิดบังจากสาธารณะจนกระทั่งได้รับการเปิดเผยเมื่อปี 1998

“I was totally shocked that I had never heard of this event before”.

– Michael Haneke

เหตุการณ์ Paris massacre of 1961 เกิดขึ้นที่วันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1961 ช่วงระหว่าง Algerian War (1954-62) เมื่อกลุ่ม National Liberation Front (FLN) พร้อมผู้ชุมนุมกว่า 30,000 คน ออกเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสยุติสงคราม และมอบอิสรภาพคืนแก่ประเทศ Algeria (ขณะนั้นฝรั่งเศสยึดครองเป็นประเทศอาณานิคม) แต่กลับถูกผู้บัญชาการตำรวจขณะนั้น Maurice Papon ออกคำสั่งให้ French National Police ใช้ความรุนแรงตอบโต้ประชาชน ประมาณการเสียชีวิต 40-200 คน และร่างของผู้ตายถูกโยนลงแม่น้ำ Seine

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกรัฐบาลฝรั่งเศสปกปิดบังจากสาธารณะ จนกระทั่งเมื่อปี 1998 นักประวัติศาสตร์ Jean-Luc Einaudi ได้ทำการฟ้องร้อง Maurice Papon ข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เคยได้เข้าร่วม Vichy Government ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และขุดคุ้ยเหตุการณ์ Paris massacre of 1961 เปิดโปงความชั่วร้ายของชายคนนี้

Haneke เริ่มพัฒนาบทภาพยนตร์ Caché ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 (กันยายน 2001) ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับ ชายคนหนึ่งกำลังต้องเผชิญหน้าความผิดที่เคยกระทำเมื่อครั้นยังเด็ก, ตัดสินใจเลือกแนว Thriller เพื่อสำรวจปฏิกิริยาแสดงออกของตัวละครต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และทิ้งความคลุมเคลือ whodunit? หลบซ่อนเร้นไว้ ไม่เปิดเผยทุกสิ่งอย่าง

Georges Laurent (รับบท Daniel Auteuil) ได้รับวีดิโอเทปลึกลับที่แอบบันทึกภาพหน้าบ้านของเขา เกิดความหวาดหวั่นวิตกสั่นสะพรึงกลัว ใครกำลังกลั่นแกล้งเล่นตลกหรือวางแผนกระทำอะไรกันแน่? จากนั้นได้รับจดหมายภาพวาดหน้าคนพร้อมเลือดไหลเป็นทาง ค่อยๆหวนระลึกถึงเพื่อนสมัยเด็ก Majid (รับบทโดย Maurice Bénichou) ที่ครอบครัวเคยรับอุปการะอยู่ช่วงขณะหนึ่ง ซึ่ง Georges ได้เคยทำบางสิ่งชั่วร้ายทอดทิ้งไว้ หรือว่าหมอนี่ต้องการหวนกลับมาเอาคืนกันแน่


นำแสดงโดย Daniel Auteuil (เกิดปี 1950) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Algiers, French Algeria บิดาเป็นนักร้องโอเปร่า อพยพกลับสู่ฝรั่งเศสช่วง Algerian War โตขึ้นเริ่มจากแสดงละครเวที Musical Comedy ภาพยนตร์เรื่องแรก L’Agression (1974), เริ่มมีชื่อเสียงกับ Jean de Florette (1986), ภาคต่อ Manon des Sources (1986), A Heart in Winter (1992), Le huitième jour (1996), Le bossu (1997), Girl on the Bridge (1999), The Closet (2001), After You… (2003), โด่งดังสูงสุดคงเป็น Caché (2005)

รับบท Georges Laurent พิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งจองหองอวดดี ตั้งแต่เด็กมีนิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ พร้อมทำทุกสิ่งอย่าง โกหกหลอกลวง พูดจาข่มขู่ดูถูก เพื่อแลกเป้าหมายความสำเร็จพึงพอใจส่วนตนเอง, ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์วีดิโอเทปลึกลับ พยายามจัดการทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนคนรอบข้าง เป็นเหตุให้อะไรๆย่ำแย่เลวร้ายลง จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งได้สูญเสียความเชื่อมั่นจากภรรยาและลูกชายไปโดยสิ้นเชิง

ผู้กำกับ Haneke ให้สัมภาษณ์ว่า เขียนตัวละครนี้ขึ้นโดยมี Daniel Auteuil อยู่ในใจตั้งแต่แรก แม้ยังไม่เคยพบเจอร่วมงานกัน แต่ติดตราภาพลักษณ์ดูเป็นคนลึกลับซับซ้อน มักมีบางสิ่งอย่างเก็บซ่อนเร้นไว้ภายใน, ขณะที่ Auteuil ตอบตกลงรับบทเพราะความใคร่สนใจในเหตุการณ์ Paris massacre of 1961 ซึ่งสร้างความประทับใจให้เขาอย่างมาก

นอกจากภาพลักษณ์ที่ดูลึกลับซ่อนเร้น Auteuil ยังเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งทะนงตน ครุ่นคิดว่าสามารถหาหนทางเอาชนะ/แก้ไขปัญหาได้ทุกสิ่งอย่าง(ด้วยเงิน) แต่เมื่อลูกชายหายตัวออกไปจากบ้าน น้ำตาและความเกรี้ยวกราด มันช่างน่าสมเพศเวทนาเสียจริง

น่าเสียดายที่ผู้กำกับ Haneke ไม่มุ่งเน้นขายการแสดงสักเท่าไหร่ อย่างฉากที่ Majid ฆ่าตัวตาย จะไม่มีมุมกล้อง Close-Up จับจ้องปฏิกิริยาสีหน้าตัวละครนอกจากยืนอ้ำอึ้งทึ่มทื่อขาดสติ และฉากถัดมาในห้องนอน ปกคลุมด้วยความมืดมิดจนแทบมองไม่เห็นอะไรสักอย่าง!

แซว: แต่ Daniel Auteuil คว้ารางวัล European Film Award: European Actor ซะงั้น!


Juliette Binoche (เกิดปี 1964) นักแสดง/นักเต้น สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวนักแสดง/ผู้กำกับ Jean-Marie Binoche และ Monique Yvette Stalens แต่พ่อแม่หย่าร้างตอนเธออายุ 4 ขวบ เติบโตขึ้นในโรงเรียนประจำ วันหยุดอาศัยอยู่กับย่า ชื่นชอบร้องเล่นเต้นการแสดงมากกว่าเรียนหนังสือ โตขึ้นเข้าร่วมคณะทัวร์การแสดงยุโรป เล่นซีรีย์โทรทัศน์ สมทบภาพยนตร์เรื่องแรก Liberty Belle (1983), แสดงหนังของผู้กำกับ Jean-Luc Godard เรื่อง Hail Mary (1985), จากนั้นเริ่มมีชื่อเสียง Family Life (1985), Rendez-vous (1985), Three Colours: Blue (1993), The English Patient (1996), Chocolat (2000), Code Unknown (2000), Caché (2005), Certified Copy (2010) ฯ

รับบท Anne Laurent ภรรยาของ Georges ทำงานสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นคนอ่อนไหวคิดเล็กคิดน้อย หวาดสะพรึงกลัวต่อเหตุการณ์เกิดขึ้นกับครอบครัว ต้องการรับรู้สาเหตุผลแต่สามีกลับพยายามปกปิดบังความจริง สูญเสียน้ำตาจนเหมือนว่าแอบไปลักลอบนอกใจ และเมื่อลูกชายหายตัวไปจากบ้าน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรถึงเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

Binoche เป็นตัวเลือกแรกของผู้กำกับ Haneke เช่นกัน ก่อนหน้านี้เคยร่วมงาน Code Unknown (2000) เลยไม่ต้องพูดคุยอะไรกันมาก แทบจะตอบตกลงโดยทันที

แม้เป็นตัวละครที่หลากหลายด้วยอารมณ์ เริ่มจากหวาดหวั่นสั่นสะพรึง คับข้องขุ่นเคือง ร้องไห้เสียน้ำตา ฯ แต่การแสดงของ Binoche มีความเพียงพอกำลังดี ไม่สะดีดสะดิ้งจนสร้างความรำคาญ ซึ่งล้วนเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งพบเห็นแบบตรงไปตรงมา จับต้องได้

เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกตเหตุการณ์เล็กๆที่ Anne ลักลอบเป็นชู้เพื่อนร่วมงาน นี่เกิดจากความคับข้องคุ่นเคืองสามี ไม่ยินยอมพูดบอกสิ่งซ่อนเร้น/โกหกหลอกลวงเธอตรงๆ นำความไประบายร่ำร้องไห้ซบไหล่เพื่อน แล้วฉากถัดมากลับบ้านค่ำมืด … ใช้จินตนาการสักนิดก็น่าจะเพียงพอเข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นการย้อนรอย ‘ความลับ’ ฉันก็มีบางสิ่งอย่างปกปิดซ่อนเร้นไว้เหมือนกัน!


ถ่ายภาพโดย Christian Berger (เกิดปี 1945) สัญชาติ Austrian ขาประจำของผู้กำกับ Haneke ตั้งแต่ Benny’s Video (1992) เคยได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography เรื่อง The White Ribbon (2009)

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด
– Rue des Iris และ Rue Brillat-Savarin, Paris
– Avenue Lénine, Romainville
– ขณะที่ฉากภายใน/บ้านของ Laurent ถ่ายทำยังกรุงเวียนนา, Austria

เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับวีดิโอเทปลึกลับ ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล HDCAM จึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระนั้นถ้าใครช่างสังเกตจักพบเห็นความแตกต่างเล็กๆน้อยๆด้านคุณภาพภาพ ระหว่างถ่ายทำแบบปกติ, ด้วยกล้อง Surveillance และบันทึกเทปในสตูดิโอ

‘สไตล์ Haneke’ มักมีลักษณะ 1 ช็อต 1 ฉาก ชอบการถ่ายทำ Long Take ด้วยระยะภาพ Long Shot ไม่ค่อยพบเห็น Close-Up จับจ้องสีหน้าอารมณ์ เน้นการขยับเคลื่อนไหว ตำแหน่งทิศทาง และสื่อความหมายผ่านภาษาภาพยนตร์

ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในช็อตนี้ล้วนคือการจัดฉาก ตำแหน่งรถ คนเดินผ่าน มันอาจไม่ได้สื่อนัยยะอะไร แต่เพื่อความสมจริงจับต้องได้ จึงทำสิ่งฝืนธรรมชาติให้ดูเป็นธรรมชาติ

แซว: เกมจับผิดแบบนี้ชวนให้นึกถึง Rear Window (1954) กับ Blow-Up (1966) ขึ้นมาเลย

หนังสือคือกองแห่งองค์ความรู้ อันทำให้ Georges Laurent เกิดความเย่อยิ่งทะนง ครุ่นคิดว่าตนสามารถแก้ไข/ทำอะไรได้ทุกสิ่งอย่าง แต่ในบริบทของภาพยนตร์เรื่องนี้ดั่งสำนวน ‘ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’

ตำแหน่งที่นั่งหัวโต๊ะของ Georges ก็เฉกเช่นกันนะครับ

กิจกรรมยามว่างของลูกชาย Pierrot Laurent คือกีฬาว่ายน้ำ ซึ่งแรกเริ่มซักซ้อมการกลับตัว โดยทุกครั้งโค้ชจะให้คำแนะนำ ทำถูกทำผิด แบบไหนเหมาะสมควร … แต่ชีวิตจริงเมื่อมนุษย์กระทำสิ่งผิดพลาด ไม่มีใครสามารถให้คำชี้แนะนำการกลับตัวกลับใจอย่างแน่นอน!

และช็อตนี้ยังสื่อได้ถึง การว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏจักร(แห่งชีวิต)

รายการโทรทัศน์ของ Georges Laurent คงเป็นการสัมภาษณ์นักเขียน วิพากย์วิจารณ์หนังสือ แต่พื้นหลังกลับเต็มไปด้วยกระดาษห่อปกเปล่าๆ ไม่ใช่หนังสือจริงๆ

ผมว่ามันเข้าสำนวนหนึ่ง ‘ทิศทางชีวิตไม่มีตำราเล่มไหนเขียนบอกไว้’ ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ Georges ประสบพบเจอ เขาถึงไม่สามารถต่อสู้เอาชนะ ก้าวข้ามผ่านมันไปได้

ถ้าเป็นผู้กำกับทั่วไป การแจ้งความต่อตำรวจคงเริ่มจากตัวละครเดินเข้าโรงพัก เขียนคำร้อง พูดคุยต่อรอง … แต่ใน ‘สไตล์ Haneke’ จะไปเสียเวลาลงรายละเอียดพวกนั้นทำไม ข้ามมานำเสนอผลลัพท์ ปฏิกิริยาอารมณ์ หรือเหตุการณ์สะท้อนความรู้สึก แล้วค่อยเล่าย้อนสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาทีหลัง แบบนี้ถือว่ามีระดับ ‘Class’ สูงส่งกว่ามาก

ช็อตนี้เริ่มจาก Georges เดินออกจากสถานีตำรวจ แล้วเกือบถูกรถจักรยานพุ่งชนใส่ ถ้าคนอารมณ์ปกติทั่วไปคงไม่บันดาลโทสะรุนแรงขนาดนี้ แต่เพราะตัวละครเพิ่งพานผ่านช่วงเวลาอันโคตรหงุดหงิดหัวเสีย (เพราะตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความ) วินาทีนี้คือการระบายความรู้สึกอึดอัดอั้น แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธต่อบางสิ่งอย่างออกมา

และถ้าไม่เพราะภรรยาต่อรองเหนี่ยวรั้งไว้ คงมีเรื่องได้ชกต่อยตีเกิดขึ้นแน่ ซึ่งพอทั้งคู่เดินไปขึ้นรถ เบื้องหลังความจริงจึงได้ถูกเปิดเผยอธิบายออกมา

การเลือกนักแสดงผิวสีมาเป็นแพะรับบาปในฉากนี้ ลึกๆผมว่าผู้กำกับ Haneke ต้องการสะท้อนถึงปัญหาการเหยียดผิว พวกเขาไม่ได้ทำกระผิดอะไรแต่กลับกลายเป็นผู้เคราะห์ร้าย จากหลายๆเหตุการณ์ชั่วร้ายเกิดขึ้นบนโลก

เป็นช็อตพิศวงที่อยู่ดีๆก็แทรกเข้ามา ดูแล้วน่าจะคือความทรงจำ/ฝันร้ายของ Georges ครุ่นคิดถึง Majid เพื่อนวัยเด็กที่เคยอาศัยอยู่ร่วม แต่ไม่เคยชื่นชอบพอ ดูถูกเหยียดหยามเพราะชนชาติชั้นกำเนิดต่ำต้อยกว่าตนเอง

สิ่งที่ผมโคตรฉงนก็คือ Majid กำลังทำอะไรฉากนี้? ถอนฟัน?

เรื่องเล่าเกี่ยวกับสุนัขตายตรงกันวันเกิด และรอยแผลเป็นด้านหลังศีรษะ สะท้อนสิ่งเกิดขึ้นกับ Georges Laurent
– สุนัขตายสื่อได้ถึง Majid
– รอยแผลเป็น คือการกระทำที่เป็นตราบาป ฝักลึกอยู่ภายในจิตใจตัวละคร

ระหว่างการสังสรรค์เล็กๆนี้ Georges เดินออกไปหน้าบ้าน ได้รับเทปลึกลับอีกม้วนหนึ่ง ทีแรกต้องการ’ปกปิด’ต่อผองเพื่อนมิให้ว้าวุ่นวายแทนเขา แต่ศรีภรรยากลับพูดบอกสิ่งเกิดขึ้นออกไป เขาเลยต้องเปิดเผยเทปม้วนนั้นออกมา

สังเกตตำแหน่งที่นั่งของ Georges และ Anne หัวโต๊ะคือเจ้าภาพงานเลี้ยง แต่ตรงกันข้ามคือความครุ่นคิด สภาพจิตใจ การแสดงออกของพวกเขา (สามีพยายามปกปิด, ภรรยาต้องการเปิดเผย)

รอยเลือดที่ทำการเชือดคอไก่ มันช่างดูเหมือนริ้วรอยบาดแผล ลักษณะเส้นตรงยาวคล้ายมีด แต่อาบใบหน้าของ Majid ครั้งนี้ ฝังลึกไปถึงขั้วหัวใจ

เมื่อพูดถึงไก่ ก็ชวนให้ครุ่นคิดถึง Los Olvidados (1950) ของผู้กำกับ Luis Buñuel ขึ้นมาทุกที, สัตว์สัญลักษณ์แทนด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ ถูกทุบตีเข่นฆ่านั่นแปลว่าการสูญเสียความเยาว์วัยไร้เดียงสา ขณะเดียวกันก็สามารถสื่อระดับมหภาคได้ถึงชาว Algerian ที่ถูกทางการเข่นฆาตกรรมสังหารโหด

ผู้กำกับ Haneke เคยให้สัมภาษณ์ว่า นี่คือปม Truama หนึ่งตั้งแต่วัยเด็ก มีบ้านอยู่ชนบทแล้วพบเห็นการเชือดคอไก่ จดจำตราฝังใจ โกรธเกลียดความรุนแรงเจ็บปวดตั้งแต่นั้น

เกร็ด: หนังใช้ไก่จริงๆถูกเชือดนะครับ

ฉากวิวาทะของ Georges และ Anne สังเกตว่าทั้งสอง นั่ง-ยืน หันตำแหน่งตั้งฉาก สะท้อนถึงความคิดเห็นต่าง ขัดแย้ง ไม่ลงรอยต่อกัน ขณะที่กระจกด้านหลังศีรษะ สะท้อนมุมมองเพศหญิงคือผู้อยู่เบื้องหลังและความรู้สึกแท้จริงภายในพูดออกมา จอโทรทัศน์เบื้องหน้ากลับมืดมิดดำสนิท ปกปิดทุกสิ่งอย่างไม่พยายามอธิบายอะไร

การพบเจอกันระหว่าง Georges กับ Majid สังเกตจากสภาพห้อง เสื้อผ้า ภาพลักษณ์ของทั้งคู่ แตกต่างตรงกันข้าม คนละชนชั้นฐานะ

แรกเริ่มคือนั่งพูดคุยหันหน้าเข้าหาสนทนา แต่เมื่อ Georges เริ่มทนไม่ไหวจึงลุกขึ้นยืนเพื่อให้ศีรษะตนเองอยู่สูงกว่า จักได้สามารถพูดจาข่มขู่ กดหัว อ้างว่าฉันมีวิทยฐานะ ชนชั้นสูงส่งกว่า

ปัญหาชีวิตไม่ได้มีวิธีทางสำเร็จรูปเหมือนตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ แต่สิ่งน่าสนใจมากๆของมุมกล้องช็อตนี้คือตัวละครเดินเข้า-ออกตรงประตูด้านหลัง คล้ายการลองผิด-ลองถูก ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้

ถัดจากมุมนี้กล้องยังเคลื่อนหมุน 180 องศา มาอีกด้านหนึ่ง (สะท้อนวังวนวัฏจักรชีวิตเช่นกัน) พบเห็นถ้วยกาแฟเรียงรายเกลื่อนกลาด (ขยะสังคม?) และกดโทรศัพท์หาภรรยา พูดโกหกหลอกลวงอ้างว่าไม่ต้องการให้เธอว้าวุ่นวายใจ

ตัวประกอบที่นั่งอยู่ข้างหลังนี่ แย่งซีนไปเต็มๆเลยนะ อยู่ดีๆก็หันมามองสองคนนี้ด้วยสายตาที่มีลับลมคมในชอบกล, ผมครุ่นคิดว่าเป็นการกระทำเพื่อสร้างบรรยากาศความหวาดระแวง บางสิ่งอย่างคอยที่จะจับจ้องมองมา ไม่มีอะไรปลอดภัยในยุคสมัยนี้ อาจเป็นหมอนี่ก็ได้ที่คือเบื้องหลังเทปลึกลับดังกล่าว

ผมชอบสายตาที่จับจ้องมองกัน และภาษากายอันแนบแน่นชิดเชื้อ มันสามารถทำให้ผู้ชมครุ่นคิด จิ้นไปไกลถึงความสัมพันธ์ชู้สาว ความลึกลับจำต้องปกปิดบังซ่อนเร้นไว้

ภาพข่าวน่าจะเป็นเหตุการณ์ Iraq War ซึ่งกำลังเกิดขึ้นคู่ขนานขณะนั้นพอดิบพอดี ซึ่งสะท้อนประเด็น Colonialism ที่สหรัฐอเมริกาต้องการเข้าควบคุม ครอบครอง เพื่อเป็นเจ้าของบ่อขุดน้ำมัน

แต่เรื่องราวของสงครามมันช่างห่างไกลสิ่งที่ Georges และ Anne กำลังประสบพบเจอขณะนั้น นั่นคือการหายตัวไปของบุตรชาย Pierrot ไม่รู้กำลังถูกใครควบคุม ครอบงำ หรือกระทำบางสิ่งอย่างอันชั่วร้าย

ใครเคยรับชม Tenebre (1982) โคตรหนัง Giallo ของผู้กำกับ Dario Argento คงติดตราตรึงลักษณะการตายที่ Quentin Tarantino ยกให้เป็นฉากโปรด ให้นิยามว่า ‘paints the wall with blood’

ความน่าสนใจของฉากนี้นอกจากความตาย คือตำแหน่งของตัวละคร สังเกตว่า Majid ขวางประตูทางออกพอดิบพอดี นั่นแปลว่า Georges ต้องข้ามศพถึงสามารถกลับออกไปใช้ชีวิตปกติได้, นัยยะทางจิตใจ คือการสร้างร่องรอยบาดแผลเป็นภายใน ทำให้มิอาจลืมเลือนจางหายตราบจนวันตาย (สังเกตลักษณะของเลือดบนผนัง คล้ายๆร่องรอยบาดแผลที่พบเห็นบ่อยในหนัง)

ความตายของ Majid ทำให้สภาพจิตใจของ Georges (และภรรยา) เต็มไปด้วยความดำมืดมิด ไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรต่อไปดี ช็อตนี้ถือว่าสะท้อนนัยยะความรู้สึกภายในออกมาได้อย่างงดงาม แต่ขณะเดียวกันทำให้มองไม่เห็นสีหน้าอารมณ์ของนักแสดง

นี่เป็นสิ่งที่ผู้กำกับ Haneke เลือกตัดสินใจแลกมาระหว่าง ความสมจริงด้านการแสดง กับงดงามด้วยภาษาภาพยนตร์

การมาหาของลูกชาย Majid เพื่อกระตุ้นเตือนและทำความเข้าใจตัวตน Georges Laurent ผู้ซึ่งพยายามหลงลืม ต้องการปกปิดบังซ่อนเร้นสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งรูปธรรม และนามธรรม (ทางอารมณ์)

สถานที่ก็คือห้องน้ำ สะท้อนถึงมุมมอง/ทัศนคติของ Georges ต่อทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นและชายหนุ่มคนนี้ ไม่ครุ่นคิดจะให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์ สนเพียงตนเองเอาตัวหลุดรอดพ้นจากเภทภัยหายนะ

แม้พานผ่านเรื่องราวร้ายๆมา สังเกตว่าการแสดงออกของ Georges ยังคงเหมือนเดิม วัยเด็กเคยกีดกันขับไล่ Majid ปัจจุบันกับลูกชาย ก็ยังคงไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่

มุมกล้องเดียวกับตอนที่ Georges Laurent พบเห็น Majid เชือดไก่ใบหน้าเปื้อนเลือด แต่คราวนี้เปลี่ยนมาเป็นพ่อ-แม่ วิ่งไล่จับ Pierrot เพื่อนำพากลับบ้าน (สิ่งที่เกิดขึ้นกับไก่ = Pierrot)

และทิศทางการขับรถ สังเกตว่าหมุนวนตีโค้งเกือบวงกลม สะท้อนถึงวังวน/วัฏจักรแห่งชีวิตเช่นกัน

ช็อตสุดท้ายของหนัง เหมือนการเล่นเกมค้นหา/จับผิด สำหรับคนไม่ทันสังเกตผมให้คำตอบไว้แล้วในรูป คือการพบเจอกันระหว่าง Pierrot (ลูกชายของ Georges) และลูกชายของ Majid พวกเขาควรไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ฉากนี้สามารถใช้อธิบายเหตุผลการหนีหายตัวออกจากบ้านของเด็กชาย

อันนี้เป็นสมมติฐานของผมเองนะครับ, อาจเพราะก่อนหน้านี้ทั้งสองเคยพบเจอกัน และลูกชายของ Majid ได้เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้ Pierrot รับรู้เข้าใจ (อาจจะเปิดวีดิโอเทปบันทึกไว้ให้ชมด้วย) เหตุนี้เลยแสดงออกด้วยความโกรธเกลียดต่อต้าน ไม่พึงพอใจการกระทำของพ่อ-แม่

ตัดต่อโดย Michael Hudecek, Nadine Muse

ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Georges Laurent และครอบครัว ซึ่งจะร้อยเรียงต่อเนื่องด้วยเหตุการณ์ ตั้งแต่การได้รับวีดิโอเทปลึกลับ จดหมายหลายฉบับ อันส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน จนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการค้นหาข้อเท็จจริง

แม้ว่าส่วนใหญ่ของหนังดำเนินไปในไดเรคชั่น ‘1 ช็อต 1 ฉาก’ แต่ก็ไม่เสมอไปถ้าผู้กำกับต้องการนำเสนอ Action-Reaction ระหว่างการพูดคุยสนทนาของสองตัวละคร ซึ่งสะท้อนการเผชิญหน้า มีความครุ่นคิดเห็นแตกต่าง/ตรงกันข้าม (กล่าวคือถ้าการสนทนานั้นเห็นสอดคล้องพ้องกัน ก็มักไม่มีการตัดต่อสลับไปมา)

การไม่ใส่เพลงประกอบใดๆ (แม้แต่ Diegetic Music) จุดประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศอันสมจริงจัง เพิ่มความตึงเครียดเข้มข้น ไร้จังหวะพักผ่อนคลาย เบาสบายอารมณ์จนกว่าหนังจะจบสิ้น


Caché นำเสนอสิ่งครอบจักรวาลของการปกปิดบัง หลบซ่อนเร้นจากอดีต อาทิ
– Georges เคยทำสิ่งชั่วร้ายกาจไว้กับ Majid ปกปิดเรื่องราวนั้นไว้พยายามไม่พูดบอกกล่าวกับใคร
– Anne ลักลอบมีชู้กับเพื่อนร่วมงาน ปกปิดบังสามีไว้ไม่ให้รับรู้ตัว
– มีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นกับ Pierrot ทำให้ไม่ยอมกลับบ้าน
ฯลฯ

ขณะเดียวกันยังนำเสนอ เมื่อความจริงนั้นได้รับการเปิดเผย ปฏิกิริยาแสดงออกของทุกผู้คนรอบข้างจะเป็นเฉกเช่นไรได้บ้าง
– ความลึกลับในการกระทำของ Majid ทำให้ครอบครัว Laurent ตกอยู่ในความหวาดสะพรึง อกสั่นขวัญแหน กลัวใครจะมาทำร้ายร่างกาย(และจิตใจ)
– Anne ไม่พึงพอใจต่อ Georges ที่พยายามแบกทุกสิ่งอย่างไว้ด้วยตนเอง จนสูญเสียความเชื่อศรัทธา ลักลอบเป็นชู้เพื่อนร่วมงานเพื่อระบายความอึดอัดอั้นทุกข์ทรมาน
– การหนีออกจากบ้านของ Pierrot สะท้อนความโกรธเกลียด ไม่พึงพอใจต่อพ่อ-แม่ ต้องการหลบลี้หนีไปอยู่คนเดียว แต่ก็ยังมิสามารถดิ้นรนเอาตัวรอดเองได้
ฯลฯ

เฉกเช่นเดียวกับ Paris massacre of 1961 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสปกปิดบังต่อสาธารณะชนมาหลายทศวรรษ เมื่อได้รับการเปิดเผยแพร่ความจริงย่อมสร้างความช็อค ตกตะลึง คาดไม่ถึง และคงรู้สึกผิดหวัง สูญเสียความเชื่อมั่นที่เคยมี กลายเป็นบาดแผลเป็นภายในจิตใจ ไม่สามารถลบลืมเลือนจางหายได้ชั่วนิรันดร์

ในระดับมหภาคของหนัง ไม่ได้จบแค่เหตุการณ์ Paris massacre of 1961 ยังมีประเด็นอื่นๆสอดแทรกอยู่มากมาย สะท้อนถึงด้านมืดทางประประวัติศาสตร์ที่มักถูกปกปิดบังไว้ อาทิ
– ความแตกต่างทางชนชั้น วิทยฐานะ เชื้อชาติพันธุ์
– การล่าอาณานิคมชาติตะวันตก สงครามอิรัก
– ไหนจะยุคสมัยแห่งการแอบถ่าย Blackmail ทำให้ความเป็นส่วนตัวลดน้อยลง
– วิพากย์การทำงานของตำรวจที่ต้องรอคอยให้เกิดเหตุ ไม่สามารถป้องกันอันตราย
ฯลฯ

แล้วอะไรคือปมหลบส่วนตัว ที่หลบซ่อนเร้นภายในจิตใจผู้กำกับ Michael Haneke ถึงได้รังสังสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมา? แม้ว่า Haneke ยังแบเบาะไม่รับรู้เดียงสาใดๆในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเติบโตขึ้นทศวรรษหลังจากนั้น ทำให้เขาตระหนักทราบถึงข้อเท็จจริงอันเหี้ยมโหดร้าย ทุกข์ทรมานกับโลกความจริงที่แสนอันตราย ด้วยเหตุนี้หลายๆผลงานจึงแฝงความรุนแรง ภาพยนตร์/งานศิลปะเท่านั้นคือสิ่งสามารถระบายอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวออกมาได้


หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามา 3 รางวัล
– Best Director
– FIPRESCI Prize
– Prize of the Ecumenical Jury

ด้วยทุนสร้าง €8 ล้านยูโร (ประมาณ $9 ล้านดอลลาร์) ทำเงินได้ในอเมริกา $3.6 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $16.2 ล้านเหรียญ น่าจะพอกล้อมแกล้มคืนทุน

นอกจากนี้ยังได้เป็นตัวแทนประเทศ Austria ลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ถูกตัดสิทธิ์เพราะหนังพูดฝรั่งเศสไม่ใช่ภาษาออสเตรีย! ด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้ Academy ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรงจนปีถัดมาต้องออกกฎใหม่ ภาษาอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่อังกฤษเป็นพอ

ส่วนตัวชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ ประทับใจบรรยากาศ มิติเรื่องราว และไดเรคชั่นผู้กำกับ Michael Haneke นำเสนอความธรรมดาได้อย่างลุ่มลึกทรงพลัง

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” พยายามครุ่นคิดตระหนักให้ได้ว่า ‘ความลับไม่มีในโลก’ เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้า กล้ายินยอมรับทุกการกระทำ นำเอาความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนแห่งชีวิต

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศอันน่าหวาดสะพรึง พฤติกรรมเห็นแก่ตัว คำพูดโกหกหลอกลวง และความตาย

คำโปรย | ผู้กำกับ Michael Haneke ตีแผ่สัจธรรมความจริงที่หลบซ่อนเร้นใน Caché ให้โลกได้ประจักษ์รับรู้ 
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: