Cairo Station (1958) egyptian  : Youssef Chahine ♥♥♥♥

สถานีรถไฟ Cairo Ramses Station ช่างเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ หญิงสาวขายน้ำอัดลมระริกระรี้อยากแต่งงาน ยินยอมศิโรราบแฟนหนุ่มชอบใช้ความรุนแรง (Toxic Masculinity) ขณะเดียวกันยังถูกหมายปองจากชายผู้มีปัญหาทางจิต (Sexual Repression) พยายามสะกดรอย คุกคาม ขู่ฆ่า, หนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดของประเทศ Egypt

ระหว่างที่ผมหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์สัญชาติแอฟริกา ค้นพบว่าไม่ค่อยมีใครนับรวม Egypt และ Tunisia นั่นเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสองประเทศนี้ มีความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ก่อนยุคหนังเงียบ ถึงขนาดมีคำเรียก Hollywood on the Nile หรือ Hollywood of the East, แต่เหตุผลสำคัญจริงๆก็คือชาติพันธุ์ Egyptian มักถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหรับ ตะวันออกกลาง (Middle East) เลยไม่ค่อยสุงสิงกับชาวแอฟริกันผิวสีสักเท่าไหร่

จริงๆมันก็มีหนังอิยิปต์จำนวนไม่น้อยที่น่าสนใจ ผมพยายามมองหาจากหลายๆชาร์ทภาพยนตร์ โด่งดังที่สุดมีอยู่สองการจัดอันดับ

  • Top 100 Egyptian Films โดยเทศกาลหนัง Cairo International Film Festival เมื่อปี 1996
  • 100 Greatest Egyptian Films โดยหอสมุด Bibliotheca Alexandrina เมื่อปี 2006 (ไม่มีการจัดอันดับ)

เอาจริงๆผมก็อยากไล่เรียงสัก Top10 แต่ปัญหาคือมันหาไม่ได้หาดูง่ายขนาดนั้น คุณภาพตามมีตามเกิด แถมบางเรื่องก็ไร้คำแปลซับไตเติ้ล เลยพยายามมองหาผลงานที่ผ่านการบูรณะเรียบร้อยแล้ว Cairo Station (1958) ได้รับการโหวตอันดับ #4 ของเทศกาลหนัง CIFF และเห็นว่าเคยหารับชมได้ทาง Netflix อยู่ระยะเวลาหนึ่ง (ปัจจุบันถูกถอดออกไปแล้ว)

เห็นชื่อหนัง Cairo Station (1958) อาจทำให้หลายคน(รวมถึงผมเอง)พร่ำเพ้อถึงโคตรภาพยนตร์โรแมนติกอย่าง Casablanca (1942), To Have and Have Not (1944), Brief Encounter (1945) แท้จริงแล้วกลับกลายเป็น Psycho (1960), Peeping Tom (1960) ผสมกับ Los Olvidados (1951)

ความตั้งใจของผกก. Chahine ต้องการใช้สถานีรถไฟ Cairo Ramses Station สำหรับสะท้อนวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ภายหลังล้มเลิกระบอบราชาธิปไตย ค.ศ. 1952-53 เปลี่ยนมาเป็นสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Arab Republic of Egypt) ซึ่งช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ใช่ว่าทุกสิ่งอย่างจะราบรื่น กลับเต็มไปด้วยปัญหาวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วนระดับหายนะ


يوسف شاهين, Youssef Chahine (1926-2018) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Egyptian เกิดที่ Alexandria, Kingdom of Egypt ในครอบครัว Melkite Greek Catholic บิดาเป็นทนายความมาจาก Lebanon, ส่วนมารดาสืบเชื้อสายกรีก ทำงานรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า, ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในสื่อภาพยนตร์

At the age of Eight, I discovered that 9.5mm films and projectors were being sold in stores. I saved from allowances enough to buy the projector and then became a regular for the Rabbani Bibi films.

Youssef Chahine

โตขึ้นบิดาโน้มน้าวให้เรียนวิศวะ แต่เจ้าตัวกลับออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เข้าศึกษาการละคอนและโทรทัศน์ Pasadena Playhouse จากนั้นเข้าทำงานแผนกประชาสัมพันธ์สตูดิโอ 20th Century Fox พอเดินทางกลับ Egypt ได้รับความช่วยเหลือจากตากล้อง Alevise Orfanelli จนมีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Father Amine (1950), แจ้งเกิดกับ Son of the Nile (1951), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Blazing Sun (1954), Cairo Station (1958), Saladin the Victorious (1963), The Land (1970), Alexandria… Why? (1979) ฯ

สำหรับ باب الحديد อ่านว่า Bāb al-Ḥadīd แปลตรงตัว The Iron Gate แต่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Cairo Station มีจุดเริ่มต้นจากเรื่องสั้นของนักเขียน Abdel-Hay Adeeb นำแรงบันดาลใจจากความทรงจำวัยเด็ก เคยพักอาศัยอยู่ไม่ห่างไกลจากสถานีรถไฟเมือง El Mahalla El Kubra ได้ยินข่าวเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นภายในสถานี

ผกก. Chahine นำเรื่องสั้นดังกล่าวมาขยับขยาย สร้างแรงจูงใจให้กับฆาตกร ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการเก็บกดทางเพศ (Sexual Repression) และพยายามพัฒนาเรื่องราวให้สามารถสะท้อนวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงทศวรรษ 1950s ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Arab Republic of Egypt)


ณ สถานีรถไฟ Cairo Ramses Station นำเสนอเรื่องราวของ Qinawi (รับบทโดย Youssef Chahine) ชายขาพิการขายหนังสือพิมพ์ ตกหลุมรักหญิงสาว Hannuma (รับบทโดย Hind Rostom) เพราะความร่าเริงสดใส โดยไม่สนใจว่าเธอหมั้นหมายอยู่แล้วกับ Abu Siri (รับบทโดย Farid Shawki) พนักงานยกกระเป๋าเจ้าอารมณ์ ขณะนั้นพยายามรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพแรงงาน สำหรับเจรจาต่อรองนายจ้างในสถานีรถไฟแห่งนี้

เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Qinawi พยายามสารภาพรัก Hannuma กลับถูกเพิกเฉย ไม่สนใจใยดี และเมื่อพบเห็นเธอระริกระรี้กับ Abu Siri ด้วยความอิจฉาริษยา จึงครุ่นคิดวางแผนฆาตกรรม เพื่อจักได้ครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาวแต่เพียงผู้เดียว สุดท้ายแล้วชายป่วยจิตผู้นี้จะทำสำเร็จหรือไม่?


Qinawi, قناوي (รับบทโดย Youssef Chahine) ก็ไม่รู้อดีตเคยพานผ่านอะไรมา นอนซมซานอยู่ข้างร้านขายหนังสือพิมพ์ จึงได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าของร้าน ทำงานเป็นคนขายหนังสือพิมพ์ในสถานีรถไฟ Cairo Ramses Station ตกหลุมรักหญิงสาว Hannuma แอบถ้ำมอง สะกดรอย เปิดเผยความในใจ แต่ฝ่ายหญิงกลับปฏิเสธความรัก ทำให้เขาจมปลักอยู่กับความเคียดแค้น ครุ่นคิดวางแผนฆาตกรรม เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของเธอแต่เพียงผู้เดียว

ด้วยความที่เป็นบทบาทมีความเสี่ยง ท้าทาย เพราะอาจทำลายภาพลักษณ์ที่เคยสร้างมา ติดต่อนักแสดงหลายคนได้รับการบอกปัด หนึ่งในนั้น Mahmoud Morsi ทีแรกตอบตกลง แต่พอจะเซ็นสัญญากลับไม่พึงพอใจค่าจ้าง ไม่รู้จะมองหาใคร โปรดิวเซอร์เลยแนะนำให้รับบทนี้เองเสียเลย

แม้ว่า Chahine จะไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ แต่บทบาทนี้ถือไฮไลท์(ด้านการแสดง)เลยก็ว่าได้ ไม่ใช่แค่ลักษณะทางกายภาพ เดินเป๋ไปเป๋มา ท่าทางลับๆล่อๆ สายตาหื่นกระหาย ความรักที่ต้องการมอบให้เธอคนนั้น พอถูกทรยศหักหลังก็แสดงความเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ ดวงตาพองโต สูญเสียความครุ่นคิด สติสัมปชัญญะ กระทำสิ่งคลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป

นักวิจารณ์ฝั่งตะวันตกมักเปรียบเทียบตัวละครนี้กับ Norman Bates ที่รับบทโดย Anthony Perkins ภาพยนตร์เรื่อง Psycho (1960) ภายนอกดูเหมือนคนปกติทั่วๆไป แต่หลายๆพฤติกรรมลับๆล่อๆ ให้เห็นถึงความเก็บกด อดกลั้น ‘Sexual Repression’ โหยหาการยินยอมรับจากผู้คน (ภายในห้องพักจึงเต็มไปด้วยภาพหญิงสาว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของพวกเธอ) แต่เมื่อไม่สามารถหาหนทางปลดปล่อย ระบายความรู้สึกอัดอั้นภายใน จึงครุ่นคิดกระทำสิ่งคลุ้มบ้าคลั่งออกมา


فريد شوقى محمد عبده شوقى, Farid Shawqi Mohammad Abdou Shawki (1920-98) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เจ้าของฉายา Malek El Terso (The King of the Third Class) เกิดที่ Cairo, Kingdom of Egypt โตขึ้นเข้าศึกษาด้านการแสดงจาก The School of Applied Arts ต่อด้วย Higher Institute of Theatrical Arts, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Angel of Mercy (1946) ในช่วงแรกๆมักรับบทตัวร้าย ก่อนกลายเป็นพระเอก They Made Me a Criminal (1954), ผลงานเด่นๆ อาทิ Cairo Station (1958), The Beginning and the End (1960) ฯ

รับบท Abu Siri, أبو سريع พนักงานขนกระเป๋าเจ้าอารมณ์ ชอบขึ้นเสียง ใช้ความรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่คู่หมั้น Hannuma ทำอะไรไม่พึงพอใจก็พร้อมด่าทอด้วยถ้อยคำแสบกระสันต์ (ก่อนแอบไปตบจูบ ร่วมรัก) ขณะนั้นเป็นแกนนำรวบรวมสมาชิกจัดตั้งสหภาพแรงงาน สำหรับเจรจาต่อรองนายจ้างในสถานีรถไฟแห่งนี้ แต่มักถูกกีดขวาง ใส่ร้ายป้ายสี โยนความผิดเรื่องทำร้ายร่างกายหญิงสาวปางตาย แท้จริงแล้วเป็นฝีมือของ …

ใบหน้าของ Shawki ช่างดูละม้ายคล้าย Anthony Quinn จากภาพยนตร์ La Strada (1954) บทบาทก็มีความดิบเถื่อน บ้าพลัง (Alpha Male) ชอบขึ้นเสียง ใช้อารมณ์ แม้ได้รับนับหน้าถือตาจากเพื่อนร่วมงาน เพราะเป็นลูกผู้ชายใจกล้า แต่กลับคู่หมั้น/ภรรยา กลับกดขี่ข่มเหง ด้วยคำพูดดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือลักษณะของภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity)

การแสดงของ Shawki อาจไม่ได้มีความซับซ้อน ส่วนใหญ่จะพบเห็นตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ระเบิดอารมณ์เกรี้ยวกราด นานๆครั้งถึงแอบมีความกุ๊กกิ๊ก โรแมนติกกับแฟนสาว/คู่หมั้น ซึ่งสามารถสะท้อนปัญหาสังคมในสองระดับ

  • เพราะถูกนายจ้างกดขี่ข่มเหง จึงพยายามรวมกลุ่มสมาชิก จัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิ สวัสดิการ ค่าแรงงานขั้นต่ำ … นี่สะท้อนปัญหาสังคมในยุคสมัยเปลี่ยนแปลง
  • ถึงอย่างนั้นในระบบครอบครัวกลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากนายจ้าง (หรือจะมองว่ามีนายจ้างเป็นต้นแบบอย่าง) กดขี่ข่มเหงแฟนสาว/คู่หมั้น ชอบขึ้นเสียง ใช้ความรุนแรง เผด็จการในครอบครัว

ตัวละครลักษณะนี้ชวนให้ผมนึกถึง Le petit soldat (1963) ของผกก. Jean-Luc Godard พระเอกพยายามต่อสู้กับระบอบเผด็จการ แต่ในระบบครอบครัวกลับทำตัวเหมือนเผด็จการเสียเอง กดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำแฟนสาว/คู่หมั้น ฟังดูตรรกะเพี้ยนๆ ขณะเดียวกันแสดงให้ถึงเห็นความไม่เข้าใจ ยังไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง การเมือง vs. สถาบันครอบครัว แตกต่างกันอย่างไร?


Hind Hussain Mohammed หรือ Nariman Hussein Muhammad Pasha Rustam, ناريمان حسين محمد باشا رستم (1929-2011) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Alexandria, Kingdom of Egypt เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่อายุ 16 แต่เริ่มมีชื่อเสียงจาก Women of the Night (1955), ผลงานเด่นๆ อาทิ Cairo Station (1958), Between Heavena and Earth (1959), Struggle on the Nile (1959) ฯ

รับบท Hannuma, هنومة หญิงสาวขายน้ำอัดอม ผู้มีความระริกระรี้ กระปรี้กระเปร่า ล่องลอยไปมา ไม่สนห่าเหวอะไร เพียงวาดฝันแต่งงานคู่หมั้น Abu Siri ยินยอมก้มหัวศิโรราบแม้ถูกด่าทอ กระทำร้ายร่างกาย บอกปัดปฏิเสธ Qinawi ไม่ใช่เพราะรังเกียจขาพิการ แต่คือความธรรมดาสามัญของอีกฝ่าย (ไม่ชอบความเบื่อหน่าย โหยหาชีวิตที่มีสีสัน)

ผมนึกถึง Marilyn Monroe เจ้าของฉายา ‘Blone Dumb’ เป็นหญิงสาวรักอิสระ ชอบทำสิ่งท้าทาย เสี่ยงอันตราย แอบขายน้ำอัดลม ถูกตำรวจไล่ล่าล้อมจับไม่เว้นวัน สำหรับบางคนเธอคือนางฟ้า ขณะเดียวกันไม่ต่างจากสัตว์ร้าย ต้องถูกล่ามโซ่ เฆี่ยนตี ถึงสามารถควบคุมให้อยู่นิ่ง หญิงสาวสายพันธุ์นี้เลยไม่คู่ควรกับ Qinawi แต่คือผู้ชายบ้าพลังอย่าง Abu Siri

การแสดงของ Rostom ถือเป็นสีสันของหนัง (แม้ถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ) ใบหน้าที่ชอบเล่นหูเล่นตา เต็มไปด้วยร้อยยิ้ม สนุกสนานร่าเริง ปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่ค่อยยี่หร่าอะไรใคร ส่วนกิริยาท่าทางยังพบเห็นขยับเคลื่อนไหวแทบตลอดเวลา กระโดดโลดเต้น วิ่งหลบหนีตำรวจ (เห็นแล้วเหนื่อยแทน) แต่พออยู่สองต่อสองกับคู่หมั้น/แฟนหนุ่ม ท่าทางอ่อยเหยื่อ โชว์เรียวขา หนุ่มๆสมัยนั้นคงน้ำลายสลอ


ถ่ายภาพโดย ألفيزي أورفانيللي, Alevise Orfanelli (1901-61) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติอิตาเลี่ยน แต่มาอาศัยเติบโตอยู่ยัง Alexandria ด้วยความหลงใหลในใน Aziz and Doris Cinema and Cinema House พอโตขึ้นเข้าร่วม The Italian Cinematographic Society (SITCIA) จากนั้นก่อตั้งสตูดิโอ Alvizi Studio เมื่อปี ค.ศ. 1919 ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ Egyptian, ช่วงทศวรรษ 40s ผันตัวมาเป็นตากล้อง ร่วมงานขาประจำผกก. Youssef Chahine ตั้งแต่ Father Amine (1950)

งานภาพของหนังคละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Italian Neorealism เก็บบันทึกภาพวิถีชีวิต บรรยากาศผู้คนอาศัย-ทำงาน-สัญจรไปมา ณ สถานีรถไฟ Cairo Ramses Station ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ แม้กล้องจะขยับเคลื่อนไหวไม่มาก (ส่วนใหญ่จะพบเห็นแค่การแพนนิ่ง นานๆครั้งถึงแทร็คกิ้ง อาจด้วยข้อจำกัดงบประมาณ รวมถึงการถ่ายทำ เลยไม่ค่อยมีการเคลื่อนเลื่อนกล้องที่โฉบเฉี่ยวมากนัก) แต่ลีลาตัดต่อที่มีความกระชับ ฉับไว ช่วยสร้างความวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วน

นอกจากนี้สำหรับตัวละคร Qinawi ที่ค่อยๆสำแดงอาการผิดปกติทางจิต จึงพบเห็น ‘male gaze’ แอบจับจ้อง ถ้ำมอง สอดรู้สอดเห็น และยามค่ำคืนมักปกคลุมด้วยความมืดมิด กลิ่นอายหนังนัวร์ (Film Noir) ซึ่งจะมีการปรับความคมเข้มของภาพให้ยิ่งดูทะมึน อึมครึม … ช่วงทศวรรษนั้นฟีล์มสีกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ผกก. Chahine ตัดสินใจเลือกถ่ายทำหนังด้วยฟีล์มขาว-ดำ เพราะต้องการบรรยากาศนัวร์ๆเมื่อเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์นี่เอง!

หนังปักหลักถ่ายทำยังสถานีรถไฟ Ramses Railway Station หรือ Misr Station หรือชื่อเล่น The Iron Gate ตั้งอยู่ยัง Ramses Square, Cairo สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1856 สำหรับเส้นทาง Cairo – Alexandria ต่อมาได้รับการปรับปรุง ค.ศ. 1892, ค.ศ. 1955 (ตอนถ่ายทำหนัง น่าจะเพิ่งปรับปรุงเสร็จได้ไม่นาน) และครั้งล่าสุด ค.ศ. 2011 ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และพัฒนาสถานีให้มีความทันสมัยใหม่

เกร็ด: ชื่อสถานีเป็นการตั้งให้เกียรติฟาโรห์ Ramses II หรือ Ramesses the Great (1303 BC – 1213 BC)

Abu Siri ยืนถกเถียงกับนายจ้าง แทนที่พวกเขาจะเดินเข้ามาพูดคุย ต่อรอง ประณีประณอม หาข้อสรุปร่วมกัน กลับตะโกนโหวกเหวกโวยวายข้ามชานชาลา (ใช้ทางรถไฟคือเส้นแบ่งระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง ชนชั้น สถานะทางสังคม) ปฏิเสธรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถูกกรอกหูว่าถ้า Abu Siri สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน นายจ้างจะสูญเสียผลประโยชน์มากมายมหาศาล

เมื่อตอนที่หญิงสาวขอแลกเหรียญสำหรับหยอดโทรศัพท์สาธารณะกับ Qinawi มีการแทรกภาพโคลสอัพดวงตา เหลือบลงมองเรียวขา นี่คือลักษณะของ ‘male gaze’ แอบจับจ้อง ถ้ำมอง สอดรู้สอดเห็น แถมยังยืนรับฟังขณะเธอกำลังคุยโทรศัพท์ … เหล่านี้เป็นการใช้ภาษาภาพยนตร์อธิบายพฤติกรรมผิดปกติของตัวละคร

เมื่อตอนที่ Hannuma เดินเข้ามาเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้อง สังเกตว่ามุมกล้องมีลักษณะเหมือนกำลังถ้ำมอง แอบถ่าย หลบซ่อนอยู่ด้านหลังตะกร้า ทีแรกนึกว่าแมว ก่อนค้นพบแท้จริงแล้วคือ Qinawi หลบซ่อนตัวอยู่จริงๆ … ก็เท่ากับว่ามุมกล้องนี้แทนสายตาของ Qinawi ที่กำลังแอบถ้ำมอง Hannuma

สถานีรถไฟเป็นสถานที่ที่มีผู้คนขวักไขว่ แต่ละคนก็มีเรื่องราว ดราม่า โรแมนติก ชีวิตที่แตกต่างกันไป หนึ่งในนั้นคือหญิงสาวตกหลุมรักชายหนุ่ม แต่เหมือนครอบครัวฝ่ายชายจะไม่ยินยอมพร้อมใจ นี่อาจเป็นการพบเจอหน้ากันครั้งสุดท้ายก่อนลาจากชั่วนิรันดร์ … เหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในการสังเกต แอบมอง สอดรู้สอดเห็นของ Qinawi

หลังจากพบเห็นคู่รักหนุ่ม-สาว ดูจากสภาพแล้วคงเกิดความอิจฉาริษยา โหยหาอยากมีคนรัก คู่ครอง สำหรับเติมเต็มตัณหาและความต้องการหัวใจ จึงพยายามเกี้ยวพาราสี Hannuma นั่งอยู่หน้าสถานีรถไฟที่มีรูปปั้น Ramses II ขนาดใหญ่ แต่ที่ผมสนใจคือน้ำพุโพยพุ่งออกมา มันชวนให้จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล (พอหญิงสาวไม่เอาด้วย เธอหันมาจ้องหน้าสบตา มุมกล้องหลังจากนั้นก็แทบจะไม่เห็นน้ำพุอีกต่อไป)

ระหว่างที่ Qinawi กำลังตัดภาพหญิงสาวสวยสำหรับนำไปติดผนังห้อง พอได้ยินเจ้าของร้านหนังสือพิมพ์อ่านข่าวคดีฆาตกรรมหั่นศพ (มันช่างสอดคล้องกันพอดิบดีระหว่างตัดภาพหญิงสาว = หั่นศพ) เกิดอาการสะดุ้งตกใจ รีบลุกหนีหายไป ท่าทางเต็มไปด้วยลับลมคมใน

มันมีสมมติฐานหนึ่งว่า Qinawi อาจคือฆาตกรหลบหนี ก่อนหน้านี้เคยฆ่าหั่นศพหญิงสาว พอได้ยินข่าวดังกล่าวเลยเกิดอาการหวาดกลัว และโดยไม่รู้ตัวซีเควนซ์นี้ยังพยากรณ์อนาคตที่เกือบจะบังเกิดขึ้นอีกครั้ง!

Hannuma แม้เป็นหญิงสาวรักอิสระ แต่เติบโตขึ้นในยุคสมัยก่อน ได้รับการปลูกฝังแนวคิดชายเป็นใหญ่ จึงหมั้นหมายครองรักกับ Abu Siri แม้ถูกอีกฝ่ายกดขี่ข่มเหง ใช้ความรุนแรง ขึ้นเสียงด่าทอ เลยยินยอมก้มหัวศิโรราบ ไม่ต่อต้านขัดขืนประการใด

ซีเควนซ์ร้อง-เล่น-เต้นขบวนรถไฟ สังเกตว่า Hannuma ไม่สามารถเต้นตามดนตรีสมัยใหม่ (บทเพลงมีท่วงทำนอง Western Music) นั่นแสดงว่าเธอเป็นคนรุ่นเก่า แต่มีจิตวิญญาณรักอิสระของคนรุ่นใหม่ ไม่รู้จะเต้นตามยังไง เลยทำได้แค่เปิดขวดน้ำอัดลมขายเท่านั้นเอง

ผมเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะคาดเดาได้ไม่ยาก ซีเควนซ์นี้กำลังเกิดเหตุการณ์อะไร? แต่อยากให้สังเกตการใช้สิ่งสัญลักษณ์สำหรับสื่อแทนความหมายการร่วมเพศสัมพันธ์

  • Hannuma ทำการยั่วเย้าคู่หมั้น Abu Siri ด้วยการโชว์เรียวขา ทำท่าเซ็กซี่
  • เสียงหวูดดังขึ้น นั่นคือสัญญาณรถไฟกำลังเคลื่อนออกจากชานชาลา ขณะเดียวกันมันยังสื่อถึงการเริ่มต้น !@#$ กลบเสียงร้องครวญครางได้ด้วยเช่นกัน
  • กล้องเคลื่อนเลื่อนเข้าไปยังขวดแก้ว Coca Cola ดื่มแล้วให้ความรู้สึกสดชื่น ซาบซ่า กระสันต์ซ่าน
  • ล้อรถไฟเคลื่อนหมุน โยกเป็นจังหวะ กระฉึกกระฉัก พร้อมๆกับรางรถไฟกระเพื่อมขึ้น-ลง

ขณะเดียวกัน Qinawi ยังเอาใบหูแนวกำแพง คงจะได้ยินเสียงร้องครวญคราง ส่วนสายตาจับจ้องมองรางรถไฟ จากนั้นค่อยๆเคลื่อนถอยห่าง หัวใจสั่นสะท้าน จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล

ซีเควนซ์(พยายาม)ฆาตกรรม เต็มไปด้วยสิ่งที่ดูราวกับเป็นสัญญาณเตือนภัย ลางบอกเหตุร้าย เริ่มจากหญิงสาวเดินเข้ามาในโกดังที่ปกคลุมด้วยเงามืด (กลิ่นอาย Film Noir) พานผ่านสุนัข (ภายหลังมันจะเห่าหอน สันชาตญาณถึงอันตราย) จากนั้นชนป้ายเขียนว่าหยุด แต่กลับยังเลือกดำเนินไปต่อ และพอพบเห็นถังน้ำก็ครุ่นคิดว่า Qinawi คงเตรียมไว้ทำอะไรสักอย่าง (ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสื่ออะไร?) … เพลงประกอบก็สร้างสัมผัสอันตราย หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา

ภาพยนตร์ยุคคลาสสิกจะไม่ถ่ายให้เห็นภาพฆาตกรรมตรงๆ มักเต็มไปด้วยสิ่งสัญลักษณ์ลับๆล่อๆ เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดจินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล

เมื่อตอน Qinawi กลับมาที่ห้อง พบเห็นเจ้าแมวเหมียว ในตอนแรกก็สงสารเอ็นดู แววตาของมันชวนให้ครุ่นคิดถึง Hannuma แต่ความรักนำสู่อิจฉาริษยา จู่ๆก็โยนมันทิ้ง จ้องหน้าสบตา จากนั้นเอาไม้มาทุบฟาด … แบบเดียวกันที่เขาพยายามทำกับ Hannuma

ปล. ซีเควนซ์นี้ชวนให้ผมนึกถึง Los Olvidados (1951) ของผกก. Luis Buñuel ซึ่งจะมีฉากที่เด็กหนุ่มเอาไม้ทุบตีเจ้าไก่ ทั้งๆมันไม่เคยทำอะไรให้ กลับใช้ความรุนแรง ระบายความรู้สึกอัดอั้นภายในออกมา

หลังจากพบเห็นว่า Hannuma ยังมีชีวิตอยู่ (ฆ่าผิดคน) Qinawi จึงพยายามไล่ล่า จะเข่นฆ่าเธอให้จงได้ แต่ฝ่ายหญิงก็ดิ้นหลบหนี จนกระทั่งทั้งสองมาติดอยู่บริเวณทางแยกรางรถไฟ (น่าจะเสื้อผ้าติดกับรางรถไฟ ขณะทำการสลับราง) ไม่สามารถไปไหนได้อีก

ผมเพิ่งมาสังเกตเห็นว่าใบหน้าครึ่งหนึ่งของ Qinawi เปลอะเปลื้อนคราบน้ำมัน นี่ชวนให้นึกถึง ‘Two-Face’ ซึ่งสามารถสะท้อนอีกตัวตน ด้านมืดของตัวละครได้ตรงๆเลยละ

ระหว่างที่เจ้าของร้านหนังสือพิมพ์พยายามโน้มน้าว กล่อมเกลา Qinawi จนเริ่มสงบสติอารมณ์ Abu Siri ค่อยๆคืบคลานเข้าด้านหลัง แต่แทนที่จะจับมือง้างออก กลับเลือกกำปลายมีดให้ได้รับความเจ็บปวด เลือดไหลอาบ แต่ผมมองภาพช็อตนี้คือการส่งต่อความเจ็บปวด

  • Qinawi คือตัวแทนระดับบุคคลที่ต้องทุกข์ทรมานจากการเก็บกดทางเพศ (Sexual Repression)
  • Abu Siri ตัวแทนระดับสังคม ถูกนายจ้างกดขี่ข่มเหง และก่อนหน้านี้ยังโดนใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นฆาตกร

คำกล่าวของเจ้าของร้านหนังสือพิมพ์ที่พยายามโน้มน้าว กล่อมเกลา Qinawi ฟังไปมาช่างไม่ต่างจากการชวนเชื่อ สร้างภาพ ลวงล่อหลอกให้ตายใจ จากนั้นจับใส่เสื้อคนบ้า (Straitjacket) ถูกมัดมือไม่ให้สามารถดิ้นรนทำอะไร … ช่างไม่ต่างจากพฤติกรรมของพวกผู้นำ ทำการล่อหลอกให้ตายใจ จากนั้นมัดมือชก ตกเป็นลูกไก่ในกำมือ

ภาพสุดท้ายของหนังสร้างความฉงนให้ผมอย่างมากๆ Abu Siri อุ้มพา Hannuma จากไปยังพอเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ทำไมหญิงสาวคนนี้หลังจากร่ำลาแฟนหนุ่ม ค่ำคืนดึกดื่นทำไมถึงยังไม่กลับบ้าน? ถ้าเรามองว่าเธอคือกระจกสะท้อน Qinawi ทั้งสองต่างสูญเสียคนรัก ยังคงเฝ้ารอคอย คาดหวังให้อีกฝ่ายหวนกลับคืนมา แต่ความเป็นจริงไม่มีวันที่จักบังเกิดขึ้น … หรือก็คือผกก. Chahine ทำได้เพียงจับจ้องมอง เฝ้ารอคอย ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น

ตัดต่อโดย Kamal Abou-El-Ella,

หนังดำเนินเรื่องโดยมีจุดศูนย์กลางคือสถานีรถไฟ Cairo Ramses Station ในระยะเวลาเพียงหนึ่งวัน (เช้าจรดค่ำ) ร้อยเรียงเรื่องราววุ่นๆวายๆของชายพิการ Qinawi ตกหลุมรักหญิงสาวขายน้ำอัดลม Hannuma ที่หมั้นหมายอยู่กับแฟนหนุ่ม Abu Siri

  • อารัมบท, เสียงบรรยายของเจ้าของร้านขายหนังสือพิมพ์ถึง Qinawi 
  • ความวุ่นๆวายๆในสถานีรถไฟ Cairo Ramses Station
    • Hannuma กำลังวิ่งหลบหนีตำรวจสถานี
    • Abu Siri โต้ถกเถียงกับนายจ้างข้ามชานชาลา ไม่พึงพอใจที่ถูกอีกฝ่ายกดขี่ข่มเหง ประกาศจะจัดตั้งสหภาพแรงงาน
    • Qinawi นั่งหลบอยู่ข้างร้านขายหนังสือพิมพ์ ให้หญิงสาวคนหนึ่งแลกเหรียญโทรศัพท์
    • Hannuma ลักลอบขายน้ำอัดลม พอถูกตำรวจไล่ล่าก็ออกวิ่งหลบหนี เฉี่ยวรถไฟ รอดตายหวุดหวิด
  • พฤติกรรมลับๆล่อๆของ Qinawi 
    • Qinawi แอบอยู่ในห้องพักของ Hannuma ถูกพบเจอระหว่างกำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า
    • เมื่อกลับมาห้องพักของตนเอง นำรูปภาพหญิงสาวสวยๆมาตัดแปะโดยรอบห้อง
    • สังเกตเห็นหญิงสาวที่เคยแลกเหรียญโทรทัศน์ แอบติดตาม พบเห็นกับชายคนรัก
    • Qinawi พยายามเกี้ยวพาราสี Hannuma บริเวณน้ำพุ หน้าสถานีรถไฟ
    • ระหว่างนั่งตัดภาพหญิงสาว Qinawi ได้ฟังข่าวคราวฆาตกรรมจากเจ้าของร้านขายหนังสือพิมพ์
    • Abu Siri มอบเงินขนของให้กับ Hannuma แต่เธอกลับยังแอบขายน้ำอัดลม พร้อมเต้นรำทำเพลงกับลูกค้า
    • Abu Siri แสดงความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจต่อพฤติกรรมของแฟนสาว แต่พอพาเข้าห้อง ทั้งสองกลับเล่นจ้ำจี้
  • คดีฆาตกรรม
    • Qinawi ตัดสินใจซื้อมีด ตระเตรียมแผนการบางอย่าง
    • Abu Siri พยายามรวบรวมสมาชิกเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน
    • Qinawi โน้มน้าวให้ Hannuma มายังสถานที่นัดหมาย แต่เธอกลับส่งเพื่อนอีกคนกลายเป็นผู้โชคร้าย
    • บังเอิญว่าเธอคนนั้นยังไม่ตาย เมื่อถูกค้นพบทำให้ Abu Siri ตกเป็นผู้ต้องสงสัย
    • Qinawi บังเอิญพบเจอ Hannuma ขณะถูกตำรวจจับกุม พาไปยังโรงพัก
    • พอตำรวจได้ยินข่าวคดีฆาตกรรม จึงปล่อยตัว Hannuma โดยที่ Qinawi มารอรับ
    • Abu Siri ยืนกรานว่าไม่ใช่ฆาตกร โชคดีว่ามีเบาะแสชี้ตัวคนร้าย
    • Qinawi ตั้งใจจะฆาตกรรม Hannuma แต่กลับถูกล้อมจับกุม

แค่อารัมบทเสียงบรรยายของเจ้าของร้านขายหนังสือพิมพ์ ก็อาจทำให้หลายคนปรับตัว/จับใจความแทบไม่ทัน! อีกทั้งการดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ก็ยังมีความรวดเร็ว กระชับ ฉับไว (แต่ไม่ถึงขั้นเร็วจนดูไม่รู้เรื่องเหมือนภาพยนตร์ในปัจจุบัน) จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงบรรยากาศวุ่นๆวายๆในสถานีรถไฟ

แต่หนังก็ไม่ได้ไฟรนก้นตลอดเวลา จะมีช่วงเวลานั่งพัก พูดคุยสนทนา หรือพร่ำเพ้อถึงเธอของ Qinawi ที่จะดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบ ให้เวลาผู้ชมได้เรียนรู้จักตัวละคร สังเกตเห็นความผิดปกติ ลับลมคมในอะไรบางอย่าง ก่อนเริ่มออกวิ่งหลบหนีตำรวจอีกครั้ง


เพลงประกอบโดย Fouad El-Zahry, فؤاد الظاهري (1916-88) นักแต่งเพลงสัญชาติ Egyptian โตขึ้นเข้าศึกษาไวโอลินยัง King Fouad Institute for Oriental Music จบมาทำงานเป็นอาจารย์สถาบัน Higher Institute of Theatrical Arts มีผลงานออร์เคสตรา ร่วมงานขาประจำผกก. Youssef Chahine ตั้งแต่ The Blazing Sun (1954), Cairo Station (1958) ฯ

งานเพลงของหนังมีส่วนผสมเครื่องดนตรี Egyptian+Western ยกตัวอย่าง Opening Credit บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน Egyptian แต่บทเพลงที่ Hannuma เริงระบำกับผู้โดยสารบนขบวนรถไฟ กอปรด้วยกีตาร์ ฮาร์โมนิก้า มีความเป็น Western Music ซึ่งสามารถสะท้อนช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของ Egypt ซึมซับรับอิทธิพลจากชาติตะวันตกไม่น้อยทีเดียว

ด้วยความที่เรื่องราวของหนังเต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ ทั้งเสียงสนทนา ลีลาตัดต่อ รวมถึงเสียงประกอบรถไฟ (เสียงหวูด เครื่องยนต์ ล้อหมุนกระฉึกกระฉัก ฯ) บทเพลงจึงมักดังขึ้นระหว่าง Qinawi บุคคลที่เต็มไปด้วยลับลมคมใน เพื่อนำเสนอความผิดปกติทางจิตใจ หรือจะมองว่าคือสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร ซึ่งมักเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เศร้าโศกา โหยหาความรัก แต่กลับไม่เคยมีใครพยายามทำความเข้าใจฉัน

หลังจาก Egypt ประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 (Egypt ไม่ได้เป็นอาณานิคม แต่คือรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร ภายหลังแยกตัวออกจาก Ottoman Empire ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ. 1914) ทำให้ Sultan Faud I สถาปนาตนเองขึ้นเป็น King of Egypt (1922-53) แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนยังพึ่งพาอังกฤษ ทั้งกองทัพ การร่างรัฐธรรมนูญ ผู้นำประเทศมีสถานะไม่ต่างจากหุ่นเชิด เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ประชาชน จึงลุกฮือขึ้นต่อต้าน ก่อการปฏิวัติ (1952 Egyptian Revolution) บีบบังคับให้ King Farouk I สละราชบัลลังก์วันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1952 แล้วจัดตั้ง Republic of Egypt วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1953

ในช่วงเวลาสั้นๆของ Republic of Egypt (1953-58) ช่างเต็มไปด้วยเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ เริ่มต้นด้วย General Muhammad Naguib สถาปนาตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรก แต่ดำรงตำแหน่งได้แค่ปีกว่าๆก็ถูกบีบให้ลาออกเมื่อปี ค.ศ. 1954 ทำให้ประเทศไร้ผู้นำจนกระทั่งการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1956 ประธานาธิบดีคนใหม่ Gamal Abdel Nasser ยังไม่ทันไรนำประเทศเข้าสู่วิกฤตการณ์ Suez Crisis หรือ Second Arab–Israeli War (1956) และปี ค.ศ. 1958 ยังทำการรวมประเทศ Egypt กับ Syria ให้กลายเป็น United Arab Republic … เอาถึงแค่ปีที่หนังฉายก็พอนะครับ น่าจะเพียงพอให้เห็นถึงความวุ่นๆวายๆของ Egypt ในช่วงทศวรรษนี้

Cairo Station (1958) คือความพยายามของผกก. Chahine ในการจำลองวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่สะท้อนความวุ่นๆวายๆของ Republic of Egypt (1953-58) ช่วงเวลาที่ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ ไร้สิทธิ์เสียงในการแสดงออก เรียกร้องต่อรองโน่นนี่นั่น ไม่ต่างจากอาการเก็บกดทางเพศ (Sexual Repression)

  • Qinawi คือตัวแทนระดับบุคคล ตกหลุมรักหญิงสาว แต่เมื่อเธอไม่เคยเหลียวแล จึงเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ครุ่นคิดวางแผนฆาตกรรม
  • Abu Siri เพราะถูกกดขี่ข่มเหงโดยนายจ้าง จึงพยายามรวบรวมสมัครพรรคพวก ก่อตั้งสหภาพแรงงาน สำหรับเรียกร้องสิทธิ ต่อรองสวัสดิการโน่นนี่นั่น ถือเป็นตัวแทนระดับสังคม ชนชั้นรากหญ้า

ความล้มเหลวในการฆาตกรรมของ Qinawi และ Abu Siri ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นฆาตกร ทำให้วันนั้นยังไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน ล้วนสะท้อนความล้มเหลวในการลุกฮือขึ้นมาต่อสู้กับพวกผู้มีอำนาจ หน่วยงานรัฐ แม้หลายปีก่อนสามารถโค่นล้มระบอบกษัตริย์ แต่ผู้นำคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กลับหลงระเริงในอำนาจ มีพฤติกรรมคอรัปชั่นไม่แตกต่างกัน

คิดแล้วก็อยากจะคลุ้มบ้าคลั่งแบบเดียวกับ Qinawi คงคือตัวละครที่ผกก. Chahine หมายหมั้นปั้นมือ (ยินยอมแสดงเองด้วยไง) สะท้อนความรู้สึกของตนเองต่อ Republic of Egypt ฉันสามารถทำได้แค่สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่งต่อความรู้สึกให้กับคนรุ่นหลัง


เมื่อตอนเข้าฉายใน Egypt ได้เสียงตอบรับอันเกรี้ยวกราดจากผู้ชม เพราะนำเสนอแนวทางที่ผิดแปลกแตกต่างจากสไตล์ภาพยนตร์ Egyptian ไม่ใช่ Comedy หรือ Melodrama น้ำเน่าๆ แถมยังนำเสนอด้านมืดสังคม ถูกตีตราว่าสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ ผลลัพท์เลยประสบความล้มเหลวย่อยยับ แม้ได้เสียงตอบรับอันดีเยี่ยมเมื่อส่งออกฉายตามเทศกาลหนัง ก็ไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นใดๆกลับมา

จนกระทั่งกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ผู้ชมรุ่นใหม่ๆตั้งแต่ทศวรรษ 70s ต่างให้การยกย่องสรรเสริญความหาญกล้าของผกก. Chahine ทำในสิ่งแปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร ได้รับยกย่องคลาสสิก กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของประเทศ Egypt

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย Association Youssef Chahine ร่วมกับ MISR International Films ไม่ได้มีการระบุคุณภาพ (คาดว่าน่าจะ 4K) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2018 ยังไม่มีจัดจำหน่าย Blu-Ray แต่เพราะเคยเข้าฉาย Netflix เลยสามารถหาไฟล์ WEBRip ได้ไม่ยาก

ในตอนแรกผมแอบคาดหวังว่า Cairo Station (1957) จะเป็นภาพยนตร์รักโรแมนติก (เพราะสถานีรถไฟ มันคือสถานที่แห่งความโรแมนติก) แต่พอพบว่าหนังแนวอาชญากรรม ทำให้เปลี่ยนอารมณ์แทบไม่ทัน แถมอารัมบทก็มีความรวดเร็วติดจรวด ต้องใช้เวลาสักหนึ่งกว่าจะปรับตัว สงบจิตสงบใจ

ความวุ่นๆวายๆของสถานีรถไฟ รวมถึงสารพัดมลพิษ สร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน ทำให้ผมไม่ค่อยรู้สึกประทับใจหนังสักเท่าไหร่ แต่หลังจากได้ค้นคว้าข้อมูล ศึกษาประวัติศาสตร์ Egypt เลยเริ่มเข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไป นำเสนอด้วยวิธีการเช่นนี้เพื่ออะไร สัมผัสได้ถึงความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่สมคำลำลือ

จัดเรต 18+ กับคดีฆาตกรรม อาการป่วยจิตเวช ภาวะชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity)

คำโปรย | Cairo Station เป็นสถานีที่เต็มไปด้วยมลพิษ อาการป่วยจิต เหตุการณ์วุ่นๆวายๆ ก่อนลงเอยด้วยหายนะ
คุณภาพ | เต็มไปด้วยพิ
ส่วนตัว | วุ่นๆวายๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: