Call Me by Your Name (2017) hollywood : Luca Guadagnino ♥♥♥♥♡

‘เอ่ยชื่อคือคำรัก’ แค่ชื่อหนังก็สื่อถึงการเปิดอก ยินยอมรับ เข้าใจความต้องการของตนเอง ไม่ใช่แค่วัยรุ่นช่วง Coming-of-Age แต่รวมถึงผู้ใหญ่ก็ต้องปรับตัว เพราะโลกได้ก้าวมาถึงยุคความรักไร้พรมแดนเรื่องเพศกั้นขวางมาสักพักหนึ่งแล้ว, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เราควรเรียกทศวรรษ 2010s ว่าคือ ‘ยุคทองแห่งความรักไร้พรมแดน’ (Golden Age of LGBT) นับตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2015 เมื่อศาลสูงของสหรัฐอเมริกาได้เปิดไฟเขียว อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ทั่วประเทศ จุดกระแสธงสีรุ้งแพร่ระบาดไปทั่วทุก Social Network และเมื่อปีก่อน Moonlight (2016) ภาพยนตร์ LGBT-themed เรื่องแรกที่สามารถคว้า Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครองได้ ไม่แน่ว่าปีนี้ Call Me by Your Name ถือเป็นอีกเรื่องที่มีโอกาสลุ้นรางวัลใหญ่

เกร็ด: มาไล่ๆดู ทศวรรษนี้กับภาพยนตร์ LGBT-themed เริ่มจะนับไม่ถ้วนแล้วละ อาทิ The Kids Are All Right (2011), Weekend (2011), Blue Is the Warmest Color (2013), Dallas Buyers Club (2014), The Way He Looks (2014), Carol (2015), The Danish Girl (2015) ฯ

เชื่อว่าคงมีหลายๆคนให้ความสนใจติดตามหนังเรื่องนี้ เพราะผู้กำกับภาพสัญชาติไทย สยมภู มุกดีพร้อม ขาประจำของคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตั้งแต่ดอกฟ้าในมือมาร (พ.ศ. ๒๕๔๓), สุดเสน่หา (พ.ศ. ๒๕๔๕), แสงศตวรรษ (พ.ศ. ๒๕๔๙), ลุงบุญมีระลึกชาติ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ฯ ผมคือคนหนึ่งที่ประทับใจในผลงานและความสร้างสรรค์ นี่เป็นผลงานโกอินเตอร์เรื่องที่สอง [เรื่องแรกคือ Antonia (2015)] โดดเด่นกับการจัดแสง และใช้สี ให้สัมผัสคล้ายโปสการ์ดเก่าๆ ความทรงจำอันหอมหวานล้ำค่า ไว้ถึงส่วนนี้จะขอกล่าวถึงโดยละเอียดอีกที

Call Me by Your Name เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับการเติบโต ค้นหาความต้องการ ยินยอมรับในตัวเอง แต่ที่เป็นเซอร์ไพรส์และคือเหตุผล “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะอีกประเด็นหนึ่งตบท้าย ‘ความเข้าใจของคนรอบข้าง’ โดยเฉพาะพ่อ-แม่ที่ไม่ปกปิดกั้น บีบบังคับหน่วงเหนี่ยว ทั้งยังแนะนำมอบกำลังใจ สอนให้โอบรับความสุขทุกข์ อย่าเสียใจกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง

ดัดแปลงจากนิยาย Call Me by Your Name (2007) ของนักเขียนสัญชาติอเมริกัน André Aciman ที่ไปเข้าตาโปรดิวเซอร์สัญชาติอเมริกา Peter Spears กับ Howard Rosenman ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงไว้ก่อนนิยายจะวางขายเสียอีก

เกร็ด: นิยายเล่มนี้คว้ารางวัล 20th Lambda Literary Awards สาขา Gay Fiction

สองโปรดิวเซอร์ชักชวน James Ivory ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน ให้เข้ามาเป็น Executive Producer แต่หลังจากพูดคุยผู้กำกับ/นักเขียนหลายคน โปรเจคก็ไม่ได้คืบหน้าใดๆอยู่หลายปี (Development Hell) จนกระทั่งได้พบกับ Luca Guadagnino ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่ตอนแรกติดต่อขอให้ช่วยค้นหาสถานที่ถ่ายทำในประเทศ Italy ไปๆมาๆเลยชักชวนเป็นผู้กำกับ แต่เจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธ กระนั้นยื่นข้อเสนอ Co-Director ร่วมกับ Ivory ทำให้โปรเจคได้เริ่มเดินหน้าสักที

James Ivory (เกิดปี 1928) ผู้กำกับ/นักเขียนสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Berkeley, California โตขึ้นเข้าเรียน University of Oregon School of Architecture and Allied Arts จบคณะ Fine Arts ตามด้วยปริญญาโทที่ University of Southern California School of Cinematic Arts สาขาภาพยนตร์, ได้รู้จักกับโปรดิวเซอร์สัญชาติอินเดีย Ismail Merchant เมื่อปี 1964 ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ Merchant Ivory Production จนถึงปี 2005 รวมเวลา 44 ปี เป็นคู่ขา(คู่รัก)ที่ร่วมงานกันยาวนานสุดในวงการภาพยนตร์ (บันทึกโดย Guinness World Records), เข้าชิง Oscar: Best Director สามครั้ง ไม่เคยได้รางวัล A Room with a View (1985), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Bombay Talkie (1970), Maurice (1987) ฯ

Ivory ใช้เวลาพัฒนาบทภาพยนตร์นานถึง 9 เดือนตั้งแต่ปี 2014 เสร็จแล้วส่งไปให้ผู้แต่ง Aciman แสดงความเห็นว่า ‘Wow, they’ve done better than the book’ แต่ในมุมมองของ Guadagnino กลับรู้สึกมีหลายอย่างมากเกินไป อาทิ
– ความโป๊เปลือยของนักแสดงที่มีหลากหลายเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด (all sorts of nudity), Ivory แสดงความเห็นว่า ‘Nobody seems to care that much or be shocked about a totally naked woman. It’s the men!’
– การดำเนินเรื่องเรื่อง ซึ่งในนิยายใช้วิธีเล่าย้อนอดีตจากอนาคต 20 ปีให้หลัง คล้ายกับบันทึกความทรงจำ ซึ่ง Guadagnino มองว่าเป็นการสปอยตอนจบมากเกินไป
ฯลฯ

หลังจากการโต้เถียงในวิสัยทัศน์ไม่ได้ข้อสรุป Ivory จึงขอถอนตัวจากการเป็นผู้กำกับ เพราะรู้สึกว่ามันคงไม่เวิร์คแน่ๆ

“It would be awkward, to have two directors working together. It might take longer, it would look terrible if we got in fights on the set, and so on.”

– James Ivory พูดถึงเหตุผลในการถอนตัวจากการกำกับหนังเรื่องนี้

Luca Guadagnino (เกิดปี 1971) ผู้กำกับสัญชาติ Italian เกิดที่ Palermo พ่อเป็นชาว Sicilian ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์, โตขึ้นเข้าเรียนที่ University of Palermo สาขาวรรณกรรม ตามด้วยปริญญาโท Sapienza University of Rome สาขาประวัติศาสตร์และการวิจารณ์ภาพยนตร์ ทำ Thesis เกี่ยวกับผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน Jonathan Demme, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Protagonists (1999), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Melissa P. (2005) ทำเงินอันดับ 1 ใน Box-Office ของ Italy, ตามด้วย I Am Love (2009) เข้าชิง Gloden Globe: Best Foreign Film และ Oscar: Best Costume, ล่าสุดกับ A Bigger Splash (2015) คว้าสองรางวัลจากเทศกาลหนังเมือง Venice คือ Soundtrack Stars Award กับ Best Innovative Budget Award

Guadagnino ตั้งชื่อภาพยนตร์สามเรื่อง I Am Love (2009), A Bigger Splash (2015) และ Call Me by Your Name (2017) ว่า Desire Trilogy คงเพราะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ความต้องการ ที่เร่าร้อนรุนแรง

สำหรับ Call Me by Your Name ในทัศนะของผู้กำกับต้องการสร้างให้มีลักษณะ Family-Oriented ครอบครัวต่างรุ่นสามารถนั่งดูได้พร้อมหน้าโดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวง ไม่ได้ตีตราว่าคือ ‘Gay Movie’ แต่เรียกว่า แนวคิดใหม่ของความต้องการ ‘newborn idea of desire.’ โดยข้อคิดสำคัญที่ฝากฝังไว้

“If this movie has one lesson, it’s that actually, we should always be very earnest with one’s feelings, instead of hiding them or shielding ourselves”.

พื้นหลังปี 1983 ที่ Crema, Lombardy เรื่องราวของเด็กหนุ่มอายุ 17 ปี Elio Perlman (รับบทโดย Timothée Chalamet) สัญชาติ American-Italian เชื้อสาย Jews อาศัยพักร้อนอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ Italy กับครอบครัว ทุกๆฤดูร้อนพ่อ Prof. Samuel Perlman (รับบทโดย Michael Stuhlbarg) จะพานักศึกษาทุนปริญญาเอกมาร่วมอาศัยอยู่ด้วยเป็นเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อช่วยเหลืองานมหาวิทยาลัย ซึ่งปีนี้คือ Oliver (รับบทโดย Armie Hammer) ชายหนุ่มอายุ 24 ปี สัญชาติอเมริกัน เชื้อสาย Jews โดยไม่รู้ตัวทั้งสองตกหลุมรัก แต่เพราะความไม่รู้ไม่เคยไม่แน่ใจของ Elio ทำให้ต้องใช้เวลาค้นหาคำตอบของหัวใจนี้ด้วยตนเอง

สำหรับนักแสดง ประกาศเมื่อปี 2015 ได้ตัว Shia LaBeouf ประกบ Greta Scacchi มีการทดสอบอ่านบทเข้าขากันดี แต่ภายหลังเพราะโปรดักชั่นประสบปัญหา และพฤติกรรม LaBeouf ก็หลุดโลกไปไกล ทำให้ต้องมีการคัดเลือกนักแสดงชุดใหม่

Timothée Hal Chalamet (เกิดปี 1995) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Hell’s Kitchen, Manhattan พ่อเป็นคนฝรั่งเศส เชื้อสาย Jews (ทำให้พูดฝรั่งเศสคล่องทีเดียว) เข้าสู่วงการจากซีรีย์ Homeland (2011-) ภาพยนตร์เรื่องแรก Men, Women & Children (2014) ตามด้วย Interstellar (2014), Miss Stevens (2016), โด่งดัง Breakthrough กับ Call Me by Your Name (2017), Lady Bird (2017) ฯ

รับบท Elio Perlman ชายหนุ่มน้อยหน้าใส มีความอ่อนต่อโลก แต่เฉลียวฉลาดรอบรู้ ชอบอ่านหนังสือ เก่งดนตรี (เปียโน+กีตาร์) คงเพราะฮอร์โมนวัยรุ่นกำลังพลุกพร่าน ยังไม่รู้ความต้องการแท้จริงของตนเอง ทำให้ลุกลี้ลุกรน อยากรู้อยากลอง ค้นหาไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ที่พึ่งพอใจในทุกสิ่งทุกอย่าง อาทิ ทำนองดนตรี รสนิยมทางเพศ และเรื่องของความรัก

Guadagnino พบเจอ Chalamet ครั้งแรกปี 2012 (ตอนอายุ 17 ปี) หลังจากมีผลงานในซีรีย์ Homeland รับรู้สึกโดยทันทีว่าเป็นคนที่อ่อนไหว เฉลียวฉลาด มีความทะเยอทะยานอย่างสูง เหมาะสมกับบท Elio อย่างยิ่ง จึงส่งนิยายเล่มนี้ให้อ่าน แต่กว่าจะได้ร่วมงานจริงๆก็อีกหลายปีให้หลัง

นี่คือผลงานที่ Breakthrough แสดงออกซึ่งความเป็นศิลปินนักแสดงของ Chalamet อย่างแท้จริง สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจ ฮอร์โมนของวัยรุ่น แสดงออกมาให้ผู้ชมรับรู้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ผ่านสีหน้า คำพูดคำจา ท่าทางการเคลื่อนไหว, ช่วงที่ถือเป็นไฮไลท์ น่าประทับใจสุดๆ คงคือ Ending Credit ภาพ Close-Up ใบหน้าแบบ Long-Take เป็นการแสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ทุกข์เศร้าร้องไห้ตาแดงกล่ำ ค่อยๆยอมรับทำใจได้ ก่อนจบด้วยรอยยิ้มเล็กๆมุมปากของความอิ่มเอิบยินดีด้วย นี่น่าจะเพียงพอให้เข้าชิง Oscar: Best Actor ได้อยู่นะ

Armand Douglas Hammer (เกิดปี 1986) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles ครอบครัวเชื้อสาย Jews เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงตัวประกอบซีรีย์ Veronica Mars, Gossip Girl, Desperate Housewives ก่อนได้แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ The Social Network (2010) ตามด้วย J. Edgar (2011), The Lone Ranger (2013), The Man from U.N.C.L.E. (2015), The Birth of a Nation (2016), Call Me by Your Name (2017) ฯ

รับบท Oliver หนุ่มใหญ่สุดหล่อสัญชาติอเมริกัน ภายนอกดูเป็นคนเฟี้ยวๆ แรงๆ หยาบกระด้าง ชอบทำอะไรตรงไปตรงมา รักอิสระไร้กังวล เหมือนจะไม่ค่อยคิดสนจิตใจผู้อื่น แต่แท้จริงแล้วกลับค่อนข้างอ่อนไหว ขี้น้อยใจ ชอบเล่นตัวลีลา เป็นห่วงเป็นใยการกระทำของตนเองต่อ Elio กลัวจะเสียเด็ก รอยยิ้มเขี้ยวทำให้มีเสน่ห์ น่ารักหลงใหลยิ่งนัก

Guadagnino ตกหลุมรักการแสดงของ Hammer จากหนังเรื่อง The Social Network เชื่อว่าเป็นนักแสดงที่มีความซับซ้อนและหลากหลาย ส่วน Hammer ประทับใจหนังเรื่อง A Bigger Splash ถ้ามีโอกาสก็อยากจะร่วมงานกัน แต่พอเขาได้อ่านบทครั้งแรก (ที่ยังเป็นของ Ivory เสียส่วนใหญ่) เกิดความหวาดกลัวเกือบที่จะบอกปัดปฏิเสธเพราะความโป๊เปลือยที่มีมากเหลือเกิน

“I did want to pass; it scared me. There’s a lot of stuff here that I’ve never done on film before. But there’s no way I can’t do this [film], mostly because it scares me so much.”

แต่ Hammer ก็เปลี่ยนใจหลังจากร่วมกับ Chalamet เซ็นสัญญา ‘prohibited full-frontal nudity’ ไม่ให้มีภาพโป๊เปลือยล่อนจ้อนของตนเองปรากฎในหนัง แต่เกือบครึ่งของหนังก็เปลือยท่อนบน เซ็กซี่สุดๆไปเลย

การแสดงของ Hammer มีความน่ารักน่าหยิกแก้มเป็นอย่างยิ่ง คงเพราะฟันเขี้ยวที่มีเสน่ห์ ยิ้มทีทั้งหนุ่มสาวเก้งก้างคงหัวใจหลอมละลาย และด้วยลักษณะของตัวละคร Anti-Hero คำพูดการแสดงออกตรงกันข้ามกับสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ย่อมสร้างเสน่ห์อันพิศวงหลงใหล ไม่น่าแปลกใจที่แม้แต่หนุ่มน้อย Elio จะใคร่สงสัยในความต้องการของตนเอง

เกร็ด: Hammer รับบทตัวละครเป็นเกย์มาแล้ว 2 เรื่องคือ J. Edgar (2011), Final Portrait (2017)

Michael Stuhlbarg (เกิดปี 1968) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Long Beach, California ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เข้าเรียนที่ The Juilliard School จบ Bachelor of Fine Arts เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เด่นอาทิ A Serious Man (2009), Hugo (2011), Men in Black 3 (2012), Blue Jasmine (2013), Steve Jobs (2015), Call Me by Your Name (2017), The Post (2017) ฯ

รับบทพ่อ Prof. Samuel Perlman นักโบราณคดี (Archaeology) ทุกปีในช่วงฤดูร้อน ชอบชักชวนนักเรียนแปลกหน้ามาท่องเที่ยวพักผ่อน และช่วยเหลืองานของมหาวิทยาลัย ด้วยความที่ตัวเขาเกือบเคยมีความสัมพันธ์รักร่วมเพศมาก่อน จึงสามารถเปิดอกยินยอมรับความสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นกับลูกชาย สามารถให้คำแนะนำสำหรับวันคืนร้ายๆ ก้าวผ่านไปได้ด้วยความภาคภูมิใจของครอบครัว

ตัวละครนี้คือพ่อในอุดมคติของชาว LGBT เลยก็ว่าได้ ไม่ปฏิเสธ ไม่ปิดกั้น แถมยังส่งเสริม แนะนำทัศนคติที่เหมาะสมให้กับลูก สังเกตว่าเพื่อนๆของเขาแต่ละคนที่แวะมาเยี่ยมเยือน ก็มีความหลากหลาย อาทิ คู่รักที่คุยกันน้ำไหลไฟดับ, คู่รักเกย์ ฯ

ปล. ผมค่อนข้างเชื่อว่า แม่ Annella Perlman (รับบทโดย Amira Casar) ก็น่าจะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Elio เป็นอย่างดี แต่เธอก็เข้าใจเช่นกันว่า เรื่องแบบนี้ควรเป็นหน้าที่ของพ่อ ให้คำแนะนำกับลูกชายได้ดีกว่าตน จึงคอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ ขนาดขับรถไปรับก็ไม่ปริปากพูดบอกอะไรสักคำ

การทำงานของผู้กำกับ Guadagnino ขอให้นักแสดงอาศัยอยู่ร่วมกันที่เมือง Crema, Lombardy ตลอดระยะเวลาการถ่ายทำประมาณ 2-3 เดือน (แต่ถ่ายทำจริงแค่ 34 วัน) โดยเดือนแรก Hammer กับ Chalamet ที่เพิ่งพบเจอกันครั้งแรก ใช้เวลาทำความรู้จักสร้างสัมพันธ์จนกลายเป็นเพื่อนสนิท วันๆนั่งดูหนัง ปั่นจักรยานท่องเที่ยว ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย

“We’d hang out with each other all the time, because we were pretty much the only Americans there, and we were able to defend one another and really get to know one another,”

ทุกค่ำคืนตั้งแต่เริ่มเปิดกอง จะมีซักซ้อมการแสดงของฉากที่ถ่ายทำวันถัดไป จนกว่าจะเสร็จสิ้นถึงค่อยแยกย้ายไปพักผ่อน ซึ่งลำดับการถ่ายทำจะไล่เรียงตามเนื้อเรื่อง (Chronological Order) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางอารมณ์และความสัมพันธ์ของตัวละคร

สยมภู มุกดีพร้อม ตอนที่เป็นตากล้องถ่ายทำหนังเรื่อง Antonia (2015) ของผู้กำกับ Ferdinando Cito Filomarino เป็นเหตุให้รู้จักกับ Luca Guadagnino ที่เป็นโปรดิวเซอร์ พูดคุยกันถูกคอ และพบว่ามีวิธีการทำงานคล้ายๆกัน เลยชักชวนให้มาร่วมงานในหนังเรื่องใหม่

ความโดดเด่นของพี่สอง ที่ได้รับการยกย่องระดับนานาชาติ คือเรื่องการจัดแสง เพื่อสร้างสัมผัสทางอารมณ์ให้กับตัวละครนั้นๆแตกต่างออกไป ซึ่งหนังเรื่องนี้ Guadagnino โยนโจทย์ให้คือ ต้องการถ่ายหนังด้วยฟีล์ม 35 mm ซึ่งการถ่ายทำที่อิตาลี แสงอาทิตย์จะให้ความเข้มสีและอารมณ์ที่แตกต่างจากการถ่ายในเมืองไทยโดยสิ้นเชิง แถมช่วงนั้นเกิดฝนตกใหญ่ในรอบทศวรรษ กลางวันเมฆครึ้มไม่ค่อยมีแสง จำเป็นต้องสร้างแสงไฟจำลอง เพื่อให้ได้ผลงานภาพตามความต้องการ

“ผมมาจากเมืองไทย ต้องเจอฝนระหว่างถ่ายทำบ่อยมาก ทำให้ค่อนข้างชินว่าถ้าจะจัดไฟเพื่อหลอกว่าเป็นแสงอาทิตย์ เราควรจะใช้ไฟแบบไหน แต่ถึงอย่างนั้นเวลาฝนตกลงมาผมก็อดบ่นไม่ได้ว่าอุตส่าห์มาไกลถึงอิตาลียังจะต้องเจอฝนอีกเหรอ”

เห็นว่าในฉากการประจันหน้าระหว่าง Oliver กับ Elio (ก็ไม่รู้ฉากไหนนะครับ) พี่สอง พอถ่ายฉากนี้เสร็จหลบไปร้องไห้ คงเพราะความซาบซึ้งกินใจของหนัง อารมณ์นี้ย่อมได้ถูกถ่ายทอดลงไปในผลงานการถ่ายภาพของเขาด้วย

ในการนี้พี่สองได้พาเพื่อนคนหนึ่ง ชัยธวัช ไตรสารศรี นักให้สี (Colorist) ไปร่วมด้วยช่วยกันในกระบวนการล้างฟีล์มที่อิตาลี เพื่อให้ได้สัมผัสของหนังในยุค 70s – 80s สังเกตงานภาพจะออกโทนออกน้ำตาลอ่อนๆ เหมือนภาพถ่าย โปสการ์ดเก่าๆที่เก็บไว้นานหลายปี สีตก เสื่อมสภาพ คล้ายกับความทรงจำในอดีตที่ล่วงเลยผ่านมานมนาน

ว่าไปโทนน้ำตาลของหนัง กลมกลืนเข้ากับสีแนบเนื้อมนุษย์ โดยเฉพาะหนุ่มๆทั้งสองที่ชื่นชอบถอดเสื้อ โชว์เรือนร่าง ขนหน้าอก ซิกแพ็ค และกางเกงขาสั้น เรียวขา แก้มก้นสุดเซ็กซี่

เหตุผลที่มีฉากเปลือยเยอะๆ เพราะศาสตราจารย์ Samuel Perlman ได้ค้นพบเจ้ารูปปั้นเปลือยนี่แหละ โคตรเด่นกับไอ้จ้อนของหุ่นนี่ เกินหน้าเกินตาเสียเหลือเกิน หนังทั้งเรื่องมันเลยต้องเปลือยๆแบบนี้แหละ

ฉากหนึ่งที่เจ๋งมากๆของหนัง คือ Long-Take สองหนุ่มเดินวนรอบอนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่ Elio อยู่ข้างหน้ากล้องระยะใกล้ Oliver เดินอ้อมไกลจะมีช่วงขณะหายไปเพราะถูกบัง แต่ทั้งคู่ก็จะมาบรรจบกันที่อีกด้านหนึ่ง, นี่เป็นฉากที่ Elio พยายามพูดบอกถึงความต้องการของตนเองแบบเป็นนัยๆ Oliver ที่เหมือนจะรับรู้แต่คงเกิดความลังเล เลยเดินอ้อมๆหลีกเลี่ยงทำเป็นไม่สนใจ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังมาวนมาบรรจบที่ปลายทาง

เกร็ด: อนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุทธการ Battle of the Piave River ระหว่างกองทัพพันธมิตร Italian Army ต่อสู้กับ Austro-Hungarian Empire ระหว่างวันที่ 15-23 มิถุนายน 1918 ผลลัพท์คือชัยชนะของประเทศอิตาลี เป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของจักรวรรดิ Austria-Hungary

ช็อตที่ผมชอบสุดของหนัง คือ Sex Scene ครั้งแรกของ Elio กับหญิงสาว Marzia (รับบทโดย Esther Garrel) ในค่ำคืนหนึ่งบนทุ่งหญ้า แค่เพียงมุมเล็กๆทางด้านล่างซ้ายของภาพที่พวกเขาร่วมรักกัน เว้นพื้นที่ว่างไว้มากมายเพราะนั่นไม่ใช่ที่ของเธอ นี่เป็นความอยากรู้ต้องการทดลองของชายหนุ่ม นี่ฉันเป็นปกติ เกย์ ไบ หรืออะไร?

ฉาก Sex Scene ครั้งแรกระหว่าง Elio กับ Oliver บนห้องนอนชั้นสอง ขณะกำลังจะได้เริ่มบรรเลงท่วงทำนองแห่งรัก กล้องทำการเลื่อนเคลื่อนไปที่หน้าต่าง ค้างภาพอยู่ที่ต้นไม้หนึ่ง ไม่แน่ใจคือต้นเดียวกับที่คู่รักเกย์มอบให้ครอบครัว Perlman หรือเปล่า แต่ก็มีแนวโน้มสูงว่าน่าจะใช่ เพราะมันจะสื่อนัยยะถึงความรักลับๆที่เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง สูงใหญ่

ความอยากรู้อยากลองของวัยรุ่นนั้นไม่มีขอบเขตจำกัด จนกว่าจะเรียนรู้เข้าใจตนเองก็มักไม่หยุดอยู่แค่นั้น สำหรับฉากลูกพีชที่ Elio ใช้นิ้วจิ้มลงไปจนเป็นรู แล้วเกิดอารมณ์วิปริตช่วยตัวเองแถมเสร็จสรรพ นี่ถือเป็นการทดลองครั้งสุดท้ายของเขา และสามารถรับรู้เข้าใจได้ด้วยตนเองทันที นี่เป็นสิ่งมากเกินเลย แม้ Oliver พร้อมที่จะแสดงความบ้าคลั่งให้เห็นมากกว่านั้น แต่ทั้งคู่ก็ไม่เคยเกินเลยผ่านจุดวิปลาสนี้

ตอนจบของหนังเลือกวัน Hanukkah หรือ Chanukah [Hanukkah ในภาษาฮีบรู หมายถึง การอุทิศตน, Dedication] เทศกาลแห่งแสงสว่าง (Festival of Lights) เป็นการเฉลิมฉลองของชาวอิสราเอล ระยะเวลาเวลาแปดวันแปดคืน นับจากปฏิทินจันทรคติของชาวฮิบรู โดยในแต่ละคืนพวกเขาจะจุดเทียนเพิ่มทีละหนึ่งดวงจนกระทั่งครบแปดคืนแปดดวง และวันสุดท้าย ทุกคนในครอบครัวจะมาร่วมรับประทานอาหารพร้อมกัน รวมทั้งมีการแลกของขวัญ, คนส่วนใหญ่จะเรียกเทศกาลนี้ว่า Jewish Christmas ปี 2017 ตรงกันที่ 12-20 ธันวาคม

เกร็ด: สร้อยคอที่ชายหนุ่มทั้งสองสวมใส่มีชื่อว่า ดาราแห่งเดวิด (Star of David) เป็นอัตลักษณ์ของชาว Jews และศาสนายูดาห์

ตัดต่อโดย Walter Fasano ขาประจำของ Guadagnino เห็นว่าฉบับแรกของผู้กำกับได้เวลา 4 ชั่วโมง แต่ใช้เวลาเพียงเดือนเดียวลดลงเหลือเพียง 132 นาที (รวมเครดิต)

เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองทั้งหมดของ Elio แต่จะไม่ใช่การเล่าย้อนอดีตหรือพูดบรรยายแบบในนิยาย ดำเนินเรื่องไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง วันๆหนึ่งผ่านไป ตื่นเช้า กินข้าว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฯ วนเวียนอยู่เรื่อยไปในช่วงเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ผ่านไปไวเหมือนโกหก

มีหลายครั้งทีเดียวที่ Elio อยู่ตัวคนเดียว ฟุ้งซ่าน ครุ่นคิดโน่นนี่นั่น บทเพลงส่วนใหญ่คัดสรรโดยผู้กำกับ Guadagnino จะเป็นสิ่งอธิบายอารมณ์ความรู้สึก (Expression) ของเขาออกมาทั้งหมด

ช่วงแรกๆที่อารมณ์วัยรุ่นเต็มไปความสนุกสนาน ครื้นเครง เริ่มต้นฤดูร้อนด้วยบทเพลง Hallelujah Junction – 1st movement ประพันธ์/บรรเลงโดย John Adams (เกิดปั 1947) คีตกวีสัญชาติอเมริกา

เมื่อวัยรุ่นได้พบเจอเรื่องราวบางสิ่งอย่าง สร้างความสับสนวุ่นวายอลม่าน เกิดความพลุกพร่านขึ้นในใจ เสียงเปียโนก็มักจะกระโดดโลดเต้นไปมา ด้วยบทเพลง M.A.Y. in the Backyard แต่งโดย Ryuichi Sakamoto (เกิดปี 1952) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น

จริงๆต้นฉบับของบทเพลงนี้เป็นแนวทดลองสุดประหลาดที่ Sakamoto ประพันธ์เพื่อให้เข้ากับ Visual Art ของ Akira Tomita แต่เมื่อได้รับการติดต่อขอลิขสิทธิ์ไป ก็ทำการเรียบเรียงฉบับเปียโน พร้อมบรรเลงบันทึกเสียงให้ด้วยตนเอง (รวมทั้งเพลง Germination อีกเพลง)

ลองฟังเทียบกันดูเองนะ ต้นฉบับ

ที่ใช้ในหนัง มันคนละอารมณ์กันเลยนะ!

บทเพลง Sonatine Bureaucratique ประพันธ์โดย Erik Satie (1866 – 1925) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส, ผู้กำกับเลือกฉบับที่บรรเลงโดย Frank Glazer (1915 – 2015) นักเปียโนสัญชาติอเมริกัน ที่มีความครื้นเครง สนุกสนาน นุ่มนวล ร่าเริงใจ

บทเพลง Une barque sur l’océan (แปลว่า A boat on the ocean) ประพันธ์โดย Joseph Maurice Ravel (1875 – 1937) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค รุ่นน้อง Claude Debussy ไม่กี่ปี โดดเด่นกับสไตล์ Impressionist ที่มีทำนองดนตรีซับซ้อน แต่มีความสวยงามเพราะพริ้ง, บรรเลงโดย André Laplante

สัมผัสอันนุ่มนวล แต่สลับซับซ้อนของบนเพลงนี้ สะท้อนจิตใจของ Elio ในช่วงเวลาหนึ่งได้อย่างตรงมากๆ อะไรคือสิ่งที่ฉันต้องการกันแน่?

สำหรับบทเพลงคำร้องที่แต่งเป็น Original Song ของหนัง Visions of Gideon ขับร้องโดย Sufjan Stevens คือเพลงฉาก Ending Credit (และ Elio เสียบหูฟังเพลงนี้อยู่ด้วยขณะเข้าฉาก)

บทเพลงนี้มี 2 คำร้องที่เด่นมากๆ
– ‘Is it a video?’ นี่คงเป็นการตั้งคำถามกับตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นความจริง ภาพลวงตา หรือแค่สิ่งเกิดขึ้นในหนัง/Video เท่านั้น
– ‘Visions of Gideon’ ผมไปค้นเจอว่า Sufjan ชื่นชอบนำเรื่องราวในไบเบิ้ลมาใส่ในบทเพลงของตนเอง มีความเป็นไปได้ว่าอาจมาจาก Book of Judges ที่กองทัพของ Israelites นำโดย Gideon มีทหารเพียง 300 นาย แต่กลับสามารถเอาชนะกองทัพ Midianite ที่มีจำนวนมหาศาล ด้วยความช่วยเหลือของพระยาห์เวห์ (Yahweh) มาเข้าฝันเกิดเป็นนิมิต (Vision) เห็นวิธีการต่อสู้เอาชนะศัตรู แต่มันใช่ภาพที่เขากล่าวอ้างจริงๆนะหรือ?

วัยรุ่น คือช่วงเวลาแห่งการเติบโต ค้นหาอัตลักษณ์ ความสนใจ เพื่อจะได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีเป้าหมายทางเดินของชีวิต, Elio คือเด็กหนุ่มผู้มีโอกาสใช้เวลาในช่วงพักฤดูร้อน ทดลอง เรียนรู้จัก และเข้าใจความต้องการของตนเอง

Call Me by Your Name การเรียกชื่อขนานนามตนเอง เป็นการแสดงถึงความมั่นใจ ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ตัวตน ความเป็นคนของตนเอง กับคำพูดประโยคที่ว่า

“Call me by your name and I will call you by mine”.

เป็นการส่งเสียงเพรียก ร้องเรียกหาความเป็นตัวของตนเอง, มันไม่ใช่ว่าคนเราต้องเอาความต้องการไปอ้างอิงยึดติดกับผู้อื่น เช่นว่า ครอบครัวบอกให้ฉันต้องเข้าเรียนคณะ … แล้วต้องฟังคำปฏิบัติทำตาม ถ้านั่นเป็นสิ่งที่ใจเราแสวงหาอยู่แล้วคงไม่ใช่เรื่องน่าขัดขืน แต่ถ้าไม่ นี่มันชีวิตของเรา จะไปสนทนฟังคำบังคับของพวกเขาอยู่ทำไม เป็นตัวของตนเองนี่แหละดีเยี่ยมที่สุดแล้ว

ใจความของหนังเรื่องนี้ เป็นการเปิดโลกทัศน์ของคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่วัยรุ่นหนุ่มสาว แต่ยังรวมถึงพ่อ-แม่ และทุกคนในครอบครัว โลกสมัยนี้มันยุคไร้พรมแดนแล้วนะ ควรเรียนรู้จักที่จะไม่จำกัดตนเองอยู่ในกรอบ ค้นพบเจอสิ่งใหม่ๆ ยินยอมรับเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก

ถ้าคุณเป็นคนเพศปกติ ชาย-หญิง รับชมหนังของ LGBT มาหลายๆเรื่อง เชื่อว่าทัศนคติ แนวคิดเกี่ยวกับ ‘ความรัก’ จะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่ว่าจะแปรสภาพมาเป็นกลุ่มรักร่วมเพศอะไรแบบนั้น แต่สามารถยินยอมรับ เข้าใจ ไม่เกิดอคติ หรือปฏิเสธต่อต้าน วางตัวเสมอเป็นกลาง มองเป็นเรื่องปกติ สัจธรรมของชีวิต

แต่ว่าไปหนังเรื่องนี้ค่อนข้าง ‘หัวก้าวหน้า’ อย่างรุนแรงพอสมควร แม้การดำเนินเรื่องจะเนิบๆ เบาๆ ภายนอกนุ่มนวล แต่ภายในลุ่มลึกดั่งคลื่นคลั่ง ปฏิเสธแนวคิดของคนรุ่นเก่าหัวโบราณโดยสิ้นเชิง แต่ผมคิดว่าคนรุ่นนั้นคงไม่คิดจะรับชม ปฏิเสธยืนกราน และตีตราว่าเป็นแค่หนังเกย์ตั้งแต่แรกแล้วละ

สำหรับคนที่รับชมแล้ว คงไม่มีใครรู้สึกว่านี่เป็นแค่ ‘หนังเกย์’ แน่ๆ การพบเจอกันของพวกเขาคือความมหัศจรรย์ ราวกับการได้พบเจอปาฏิหารย์ของชีวิต มันก้าวเลยข้ามผ่าน Sex ความสัมพันธ์ทางเพศ ไปสู่ความรัก ความเข้าใจกันและกัน ถึงสุดท้ายแล้วจะแค่นั้นหลงเหลือเพียงความทรงจำ ก็เพียงพอให้ทั้งชีวิตไม่รู้สึกเสียใจที่ได้เกิดมา

ในนิยายจะยังมีต่อจากหนังอีกพอสมควร (เห็นว่าผู้กำกับวางแผนสร้างภาคต่อไว้แล้วด้วย)
– 15 ปีต่อมา Elio (เรียนจบ)เดินทางไปเยี่ยมเยืยน Oliver (กลายเป็น Prof.)ถึงอเมริกา ไม่เต็มใจนักที่ต้องพบเจอกับครอบครัวลูกๆของอดีตคนรัก ทั้งสองอยู่ในบาร์พูดคุยกันถึงแนวทางการดำเนินชีวิตที่ตรงกันข้ามของพวกเขา ‘หนึ่งอาศัยอยู่ในโลกความจริง อีกหนึ่งอยู่ในโลกแฟนตาซีที่ยังคงปฏิเสธแรงผลักดันภายนอก’
– 20 ปีถัดมา Oliver เดินทางไปเยี่ยมเยืยน Elio ที่อิตาลี หลังจากพ่อเสียชีวิตไปแล้ว ใช้เวลาหวนระลึกความหลัง, นิยายจบด้วยคำบรรยายในเชิงตั้งคำถาม ถ้า Oliver ยังคงมีความรักและจดจำทุกสิ่งอย่างได้จริง เขาควรที่จะอีกครั้งหนึ่ง ‘มองหน้าฉันแล้วเอ่ยชื่อ Call Me by Your Name’

ด้วยทุนสร้างเพียง $3.5 ล้านเหรียญ เข้าฉายจำกัดโรงในอเมริกามาพักใหญ่ คงรอกระแสเข้าชิง Oscar อยู่ เมื่อนั้นฉายวงกว้างเมื่อไหร่ กำไรมหาศาลแน่นอน

ความสวยงามสมบูรณ์แบบของ Call Me by Your Name อยู่ในระดับขนลุกขนพอง หาตำหนิข้อบกพร่องแทบไม่ได้ ชวนให้ตกหลุมหลงใหลคลั่งไคล้ใคร่ปรารถนา อยากที่จะมีชีวิต คนรัก และครอบครัวให้อิสระเปิดกว้างเสรีแบบนี้ แต่ถึงจะไม่มีโอกาสเช่นนั้น อย่างน้อยก็ขอเดินตามรอยเท้าหนังเรื่องนี้ เรียกชื่อเธอด้วยชื่อฉันขณะร่วมรักของเราสอง มีลูกแล้วก็อยากให้อิสระเขาแบบนี้

สิ่งที่โดยส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้สุดของหนัง คือความสอดคล้องในทุกเนื้อหารอง Sub-Plot ล้วนบ่งชี้นำทางเรื่องราวไปสู่ การเปิดเผย ยินยอมรับความเป็นตัวของตนเอง (และเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไร้พรมแดน) ดนตรี Bach, รูปปั้นแกะสลัก Roman, การเมืองหลายพรรค, ภาพยนตร์ของ Luis Buñuel ฯ ถึงผมจะไม่ได้รู้จักทุกเรื่องราวที่หนังเล่ามา แต่ความรู้สึกมันบอกว่าทิศทางมันไปเป็นเช่นนั้นแน่

ขอแนะนำอย่างยิ่งสำหรับพ่อ-แม่ ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น เราอยู่ในยุคสมัยที่เรื่องแบบนี้ควรยินยอมรับกันได้แล้ว อย่าสอนให้เขาปกปิด อับอายในสิ่งที่ตนเองเป็น ถ้าคุณยังทำใจไม่ได้ก็หัดเข้าวัดเข้าวา นั่งสมาธิ เรียนรู้จักการปล่อยวางได้แล้วนะครับ

และสำหรับวัยรุ่นที่ยังมีความลังเล ว้าวุ่นวายใจในชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องรสนิยมทางเพศ แต่รวมถึงปัญหาอื่นๆ การเรียน ครอบครัว ฯ ผมว่าหนังเรื่องนี้จะเปิดโลกทัศน์บางอย่างของคุณให้กว้างมากๆ อย่างคาดไม่ถึงแน่

จัดเรต 13+ กับความโป๊เปลือย เซ็กซี่ และเรื่องรักๆใคร่ๆ

TAGLINE | “Call Me by Your Name ส่งเสียงตะโกนเรียกชื่อตนเองอย่างกึกก้องกังวาน ดังสนั่นสั่นสะท้านไปทั่วผืนปฐพี”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: