camelot

Camelot (1967) hollywood : Joshua Logan ♥♥♥

‘Don’t let it be forgot,
that once there was a spot.
For one brief shinging moment,
that was known as Camelot!’

จงอย่าลืมเลือน ว่าครั้งหนึ่งเคยมีสถานที่ อันเจิดจรัสจ้าในช่วงเวลาสั้นๆ ดินแดนแห่งนั้นมีชื่อว่า Camelot

ตำนาน King Arthur นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ได้ถูกดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆมากมาย เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆบันทึกไว้ จึงเป็นได้แค่เพียงเรื่องเล่าปรัมปราสืบทอดต่อมา แต่คุณจะเชื่อหรือเปล่า ว่าเรื่องราวนี้เคยเกิดขึ้นจริง ครั้งหนึ่งบนโลกมีดินแดนที่ชื่อ Camelot

นี่เป็นหนังไม่ได้อยู่ในสารบบที่คนทั่วไปจะมีความสนใจรับชม นอกเสียจากคุณหลงใหลในตำนาน King Arthur, ชื่นชอบละครเพลงของ Alan Jay Lerner กับ Frederick Loewe, หรือเป็นแฟนหนังของผู้กำกับ Joshua Logan นักแสดงอย่าง Richard Harris, Vanessa Redgrave หรือ David Hemmings คงไม่มีโอกาสรับชมหนังเรื่องนี้

แต่เหตุผลที่ผมหยิบหนังเรื่องนี้มาดู เพราะบทเพลง Camelot ที่ขับร้องโดย Richard Burton ฉบับละครเพลงปี 1960 เป็นเพลงโปรดของปธน. John F. Kennedy จากคำบอกเล่าของ Jacqueline Kennedy, เห็นว่าเพราะ Jackie ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้แหละ ภาพยนตร์เรื่อง Camelot จึงกลายเป็นกระแสเกิดขึ้นได้ แม้ Burton จะไม่ได้กลับมารับบทนำ แต่ทำนองบทเพลงของ Alan Jay Lerner กับ Frederick Loewe ยังคงอยู่ แถมหนังได้เข้าชิง Oscar 5 สาขา ได้มา 3 รางวัล ถือว่ามีความน่าสนใจทีเดียว ใครดู Jackie (2016) แล้วชื่นชอบ ควรจะลองหาหนังเรื่องนี้มารับชมด้วยนะครับ

น้ำเสียงของ Richard Burton หาได้มีความหล่อเท่ห์ นุ่มนวล แต่มีความกวนๆ (ลองนึกใบหน้านิ่งๆกวนๆของปู่แก่ตามไปด้วยนะครับ) ผสมกับเสียงดนตรี โดยเฉพาะเครื่องเป่าที่ชวนให้เพ้อฝัน ลุ่มหลงใหล, ตอนผมได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกใน Jackie ไม่รู้สึกว่าไพเราะแม้แต่น้อย ออกหลอนๆด้วยซ้ำ แต่หลังจากฟังซ้ำไปซ้ำมาหลายสิบหลายร้อยรอบ ก็ค้นพบเสน่ห์ของเพลงอยู่ที่น้ำเสียงของ Burton ที่ชวนให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้ม เพ้อฝัน คล้อยตาม จนเชื่อว่า Camelot นั้นมีอยู่จริง

นี่เป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างเชื่อว่า ไม่มีนักแสดงคนไหนจะสามารถร้องเพลงนี้แล้วโน้มน้าวจิตใจได้เหมือน Richard Burton อีกแล้ว

ละครเพลง Camelot สร้างโดย Alan Jay Lerner (เนื้อร้อง) กับ Frederick Loewe (ทำนอง) ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง The Once and Future King เขียนโดย Terence Hanbury White (T. H. White) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1958 อ้างอิงจากตำนาน King Arthur กับแนวคิด ‘might makes right’ ของการมีอัศวินโต๊ะกลม (Round Table)

เกร็ด: ชื่อนิยาย The Once and Future King เป็นคำที่เขียนอยู่บนสุสานของ King Arthur “Here lies Arthur, king once, and king to be.”

ต้นฉบับละครเพลงปี 1960 กำกับการแสดงโดย Moss Hart นำแสดงโดย Richard Burton รับบท King Arthur, Julie Andrews รับบท Queen Guinevere, Robert Goulet รับบท Sir Lancelot และ David Hurst รับบท Merlin, เปิดการแสดง 873 รอบ เข้าชิง Tony Award 5 สาขา ได้มา 4 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Actor in a Musical (Richard Burton) ** ได้รางวัล
– Best Actress in a Musical (Julie Andrews)
– Best Scenic Design (Musical) ** ได้รางวัล
– Best Costume Design (Musical) ** ได้รางวัล
– Best Conductor and Musical Director ** ได้รางวัล

Joshua Logan (1908 – 1988) ผู้กำกับภาพยนตร์/ละครเวที สัญชาติอเมริกา ที่ชื่นชอบการดัดแปลงละครเวทีเป็นภาพยนตร์ มีผลงานดัง อาทิ Picnic (1955), Sayonara (1957), South Pacific (1958) ฯ ได้รับมอบหมายจาก Jack L. Warner ให้กำกับหนังเรื่องนี้ โดยได้ Alan Jay Lerner กลับมาพัฒนาบทภาพยนตร์ด้วยตนเองเลย

Richard Burton ได้รับการติดต่อให้กลับมารับบท King Arthur แต่บอกปัดไป ไม่ทราบสาเหตุ, Richard Harris (1930 – 2002) นักแสดงสัญชาติไอริช พยายามดิ้นรน ทำทุกวิถีทางเพื่อรับบท King Arthur แต่ถูกปฏิเสธเพราะเสียงร้องของเขาสู้ Burton ไม่ได้ แต่เมื่อโปรดิวเซอร์เลือก Vanessa Redgrave มารับบทบท Guenivere เขาได้เขียนโน้ตสั้นๆส่งให้นาย Warner ว่า ‘Redgrave สูง 5 ฟุต 11 นิ้ว, Burton สูง 5 ฟุต 10 นิ้ว, Richard Harris สูง 6 ฟุต 2 นิ้ว’ แค่นี้เองที่ทำให้ Harris ได้รับบทนำ

King Arthur ฉบับนี้เป็นชายหนุ่มผู้มีคุณธรรมล้นฟ้า เฉลียวฉลาด แต่โง่งมและอาภัพเรื่องความรัก, คน love sick ที่อดกลั้น ฝืนทน จนหน้ามืดตามัว เห็นผิดเป็นถูก คนประเภทนี้น่าเห็นใจนัก ขณะเดียวกันก็น่าสมเพศสิ้นดี เป็นถึงผู้นำประเทศที่ยิ่งใหญ่ แต่กลับพ่ายแพ้จิตใจของตนเอง

การแสดงของ Harris เข้มข้น สมจริง ทุ่มเทให้กับบทบาทอย่างมาก แต่เสียงร้องไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่, เห็นว่าระหว่างถ่ายทำเกิดความเครียดอย่างหนักจนคิดฆ่าตัวตาย ด้วยการกระโดดลงในสระว่ายน้ำ (ที่ไม่มีน้ำ) แต่โชคดีที่ David Hemmings ซึ่งวันนั้นไปรับ Harris ที่บ้านพอดีได้ช่วยชีวิตไว้ ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่นั้น

Harris: “I’m going to jump”
Hemmings: “You can’t do that, There’s no water in the pool”
Harris: “I don’t give a fuck. I fucking hate Warner Brothers and fucking Hollywood, the people here are all fucking arseholes”
Hemmings ปีนขึ้นไปที่ระเบียง “Are you sure you really want to do this?”
Harris: “No, I don’t. Let’s have a drink”.

เกร็ด: Harris ไม่พอใจนาย Warner ที่เจ้ากี้เจ้าการ บังคับให้ใส่วิก, บังคับให้บันทึกเสียงสด แทนที่จะลิปซิงค์ ฯ

ตอนท้ายของครึ่งแรกและช่วงครึ่งหลัง สีหน้าของตัวละคร King Arthur ประมาณว่า ถ้าฉันกล้าฆ่าตัวตาย คงไม่ต้องมาทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้, นี่กระมังที่ทำให้เขาได้ Golden Globe: Best Actor for Musical แต่น่าเสียดายไม่ดีพอได้เข้าชิง Oscar

Julie Andrews ได้รับการติดต่อให้กลับมารับบท Guenevere เช่นกัน แต่คราวนี้เพราะเธอกลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง งานยุ่งจนไม่มีเวลา ทำให้ต้องบอกปัดไป, ไม่ใช่เพราะมีปัญหากับ Jack L. Warner นะครับ เห็นว่าหลังเวทีปีที่ Andrews ได้ Oscar: Best Actress นาย Warner เข้าไปขอโทษที่ไม่เลือกเธอให้แสดงนำใน My Fair Lady (1964) จากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไปในทางที่ดีตลอด เป็นผู้กำกับ Logan ต่างหากที่ต้องการ Vanessa Redgrave ให้รับบทนำ

มีอีกแหล่งข่าวบอกว่าเพราะ Andrews ไม่ต้องการแสดงหนังร่วมกับ Richard Harris จึงบอกปฏิเสธไป (ทั้งคู่เคยร่วมงานกันในหนังเรื่อง Hawaii-1966 ที่ก็ไม่รู้มีปัญหาขัดแย้งอะไร เลยไม่อยากร่วมงานกันอีก)

Vanessa Redgrave (1937 – ยังมีชีวิตอยู่) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ ที่ได้รับการยกย่อง(จากชาวอังกฤษ)ว่า ‘the greatest living actress of our times’ หนึ่งในนักแสดง Triple Crown of Acting ได้รางวัลสาขาการแสดงจาก 3 สถาบันใหญ่สุดของอเมริกา Oscar, Emmy, Tony ผลงานที่โด่งดัง อาทิ Morgan: A Suitable Case for Treatment (1966), Isadora (1968) สองเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, Julia (1977) ได้ Oscar: Best Supporting Actress, Little Odessa (1995) ได้รางวัล Volpi Cup: Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice

Queen Guenevere คือหญิงสาวผู้ชื่นชอบความตื่นเต้น สนุกสนาน การแต่งงานกับ King Arthur ทำให้เธอสูญเสียทุกอย่าง กลายเป็นเหมือนนกในกรง, แต่เมื่อได้พบกับ Lancelot du Lac ตกหลุมรักแบบแอบๆ นี่คงสร้างความเร้าใจในชีวิตให้เธออย่างมาก

การแสดงของ Redgrave ต้องบอกว่าสวยงาม ตราตรึง เสียงร้องของเธอโดดเด่นมาก และชุดที่สวมใส่มีความน่าพิศมัย ช่วยทำให้เรือนร่างและใบหน้าของเธอโดดเด่นเป็นสง่า, แต่ช่วงท้ายที่เธอร้องไห้ นั่นดูไม่ได้เลยละครับ อ้าปากกว้างเหมือนปลาบู่ จริงอยู่มันกระแทกอารมณ์ได้ค่อนข้างแรง แต่เสียภาพลักษณ์ความสวยสง่าน่ารักของตัวละครนี้ไปโดยทันที

Franco Nero นักแสดงชาวอิตาเลี่ยน มีผลงานดังจาก Spaghetti Western เรื่อง Django (1966), รับบท Lancelot du Lac นักรบผู้เก่งกาจ เพื่อนรักเพื่อนแค้นของ Arthur และชู้รักของ Guenevere, Nero กับ Redgrave พบรักกันในกองถ่ายเรื่องนี้ มีลูกด้วยกันคนหนึ่ง แต่รักๆเลิกๆอยู่พักใหญ่ และกลับมาแต่งงานกันเมื่อปี 2006 (ตอนอายุเกิน 60 แล้วทั้งคู่)

David Hemmings รับบท Mordred ลูกนอกสมรสของ Arthur เป็นเด็กฝีปากกล้า แต่ฝีมืองั้นๆ เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ สนเฉพาะกิจประโยชน์ของตนเอง, การแสดงของ Hemmings ถือว่าแย่งซีนในหลายๆฉาก ความน่ารักกวนๆของหมอนี่น่าโดนเตะก้นสักที

ถ่ายภาพโดย Richard H. Kline ขาประจำของผู้กำกับ Richard Fleischer มีผลงานดังอย่าง The Andromeda Strain (1971), King Kong (1976), Star Trek: The Motion Picture (1979) ฯ กับหนังเรื่องนี้ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography แต่พ่ายให้กับ Bonnie and Clyde (1967)

งานภาพของหนังมีการเล่นกับความร่วมสมัยในยุคนั้น อาทิ แพนกล้อง, ซูมเข้าออก ฯ (นี่ไม่ค่อยเหมาะกับหนังแนว Medieval เสียเท่าไหร่) ที่โดดเด่นคือการควบคุมแสงสีให้มีความสวยสดงดงาม และการ Close-Up ใบหน้านักแสดง เพื่อแสดงอารมณ์/ความรู้สึก ของตัวละครออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

ช็อตสวยสุดในหนัง การแต่งงานระหว่าง King Arthur กับ Lady Guenevere ท่ามกลางแสงเทียน (ดวงดาว)

ตัดต่อโดย Folmar Blangsted ชาวเดนมาร์ก ที่มีผลงานดังอย่าง A Star is Born (1954), Rio Bravo (1959) ฯ ใช้การเล่าเรื่องเป็น Flashback ย้อนอดีตของ King Arthur ทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาตั้งแต่เริ่มตกหลุมรักแต่งงานกับ Guenevere จนกระทั่งต้องเสียเธอไป

ปัญหาของหนังคือการตัดต่อที่มีความจืดชืด ไร้รสชาติใดๆทั้งนั้น, หลายครั้งในหนังปล่อย long-take ให้นักแสดงร้องเพลง/แสดงอารมณ์ ออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งบางทีพวกเขาไม่ได้มีการเคลื่อนไหวมากนัก กล้องแช่อยู่ตรงนั้นเกือบนาที ไม่เบื่อให้มันรู้ไป ยิ่งหนังยาวเกือบ 3 ชั่วโมง ครึ่งหลังผมหาวแล้วหาวอีก เหมือนตอนดู South Pacific (1958) ไม่มีผิด

เพลงประกอบโดย Frederick Loewe ที่กลับมาช่วยดูแลงานเพลงให้, ต้องบอกว่ากลิ่นอายเหมือนฉบับละครเพลงเปะๆ (ผมไม่เคยดูฉบับนั้น แต่ฟังฉบับที่ Richard Burton ร้องจนสัมผัสอารมณ์ได้) ส่วนที่ผมประทับใจสุดคือ ทำนอง Camelot ที่จะได้ยินเรื่อยๆอยู่ตลอดทั้งเรื่อง นี่ทำให้ผู้ชมสามารถฮัมตาม ร้องคลอประกอบได้ทันที ถือว่าเป็นบทเพลงมีทำนองที่ติดหู ได้ยินครั้งสองครั้งก็จดจำได้ทันที

ถ้าไม่เทียบกันคงไม่ได้ สำหรับบทเพลง Camelot ฉบับที่ Richard Harris ร้องในหนังเรื่องนี้ คำร้องทำนองเดียวกับ Richard Burton ที่ผมนำมาให้ฟังตอนต้น, แต่ส่วนตัวรู้สึกว่า Harris สู้ Burton ไม่ได้สักนิด คือน้ำเสียงคนระดับกัน ลูกเล่น ลีลาการออกเสียง จังหวะ มันคนละสัมผัสกันเลย ซึ่ง Harris ได้ใส่ความเป็นตัวของตนเองลงไปจนกลายเป็น Camelot ของเขาเอง ที่มีความแตกต่างจากฉบับของ Burton

บทเพลง Lusty Month of May ขับร้องโดย Vanessa Redgrave มาให้ฟัง เพราะอยากให้ได้ยินน้ำเสียงอันนุ่มนวล และการเล่นหูเล่นตาของเธอที่โดดเด่นมากๆ, การ Close-Up ใบหน้าในบทเพลงนี้ถือว่าเป็นไฮไลท์เลย เพราะสายตาที่วอกแวก กลิ้งกลอก เมื่อตัดภาพเห็นคนอื่นๆที่อยู่รอบข้าง ความรู้สึกว่างเปล่า อิจฉาจึงเกิดขึ้น ยิ่งชื่อเพลง Lusty นี่น่าจะเข้าใจกันได้นะครับว่าอิจฉาเรื่องอะไร

Camelot เป็นเรื่องราวที่พูดถึงคุณธรรม การตัดสินถูกผิด และความเสมอภาค,
– หญิงสาวที่ตนแต่งงานด้วย ไปหลงรักชายคนอื่น คนทั่วไปล่วงรู้เข้าคงทนไม่ได้ แต่ไม่ใช่กับ King Arthur ที่แม้จะอิจฉาริษยา เจ็บปวด อยากจะทำอะไรสักอย่าง แต่อดกลั้นฝืนทน เพราะความรักต่อพวกเขาที่มีมากเหนือสิ่งใด นี่เป็นสิ่งที่เหนือกว่า’คุณธรรม’
– ความยุติธรรมเกิดจากการตัดสินถูกผิดด้วยศาล กฎหมายที่ว่าทำผิดอะไรต้องมีหลักฐานยืนยัน ไม่ใช่ปรักปรำใส่ความด้วยลมปาก หรือท้าสู้ฆ่าฟันให้ตายไปข้างหนึ่ง
– อัศวินโต๊ะกลม (Round Table) เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาค นั่งล้อมโต๊ะกลมที่ไม่มีผู้นำ ทุกคนมีความเท่าเทียมกันไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์

เรื่องรักสามเส้าของ Arthur, Guenevere และ Lancelot เป็นสิ่งแสดงคุณธรรม ความยุติธรรม และความเสมอภาค ได้เป็นอย่างดี
– Arthur ให้ความเสมอภาพแก่ Guenevere และ Lancelot ยกพวกเขาในฐานะเท่าเทียมกัน
– การจะตัดสินพวกเขา ต้องอยู่ในความยุติธรรม (ไม่ใช่ความต้องการของตนเอง) ให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน ตัวเองไม่สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้
– เรื่องคุณธรรม … คงไม่มีใครพูดว่า คนเป็นชู้กันเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแน่ๆ แต่ในมุมของคนที่มีความรัก มันผิดคุณธรรมตรงไหน?

ผมค่อนข้างมีปัญหาในการรับชมเรื่องราวน้ำเน่าลักษณะนี้ พระเอกอดทนอดกลั้นยอมรับได้ เพราะคนที่ทำร้ายจิตใจเขาคือคนใกล้ตัวที่ตนรักที่สุด, นี่เป็นสิ่งที่คนสมัยนี้น่าจะรับรู้ได้ว่าไม่สมควรเลย การปล่อยปละให้พวกเขาหลงระเริง แทนที่จะรู้สึกผิดมีแต่จะยิ่งเหลิง แบบนี้การให้อภัยมีประโยชน์อะไร, แต่ผมพยายามมองหนังเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่งด้วยคือเรื่องคุณธรรม การให้อภัย ต้องกับคนที่’สูงส่ง’ จริงๆ ถึงสามารถยอมให้/ตัดสินเรื่องราวความรักลักษณะนี้ได้

มองในมุมคุณธรรม ความถูกต้อง คนนอกมองเข้าไป ยังไงความรักของ Guenevere กับ Lancelot ก็ถือว่าผิด เพราะ Guenevere แต่งงานกับ Arthur ไปแล้ว, แต่ถ้ามองในมุมของพวกเขา ก็คนรักกันมันผิดตรงไหน ไม่มีอะไรในโลกที่สามารถห้ามปรามได้ (นอกเสียจากพวกเขามองเห็น/เข้าใจได้ด้วยตนเอง)

ใจความของหนังจริงๆ ไม่ใช่เรื่องราวความวุ่นวายอะไรพวกนี้นะครับ แต่คือ ‘การจดจำ’ ดังประโยคแรกที่ผมเขียนในบทความนี้ “จงอย่าลืมเลือน ว่าครั้งหนึ่งเคยมีสถานที่ อันเจิดจรัสจ้าในช่วงเวลาสั้นๆ ดินแดนแห่งนั้นมีชื่อว่า Camelot” เราจดจำดินแดนแห่งนี้ ไม่ใช่เพราะเรื่องราวต่างๆนานาที่เคยเกิดขึ้น แต่เพราะมันเป็นสถานที่ที่เคยมีเรื่องราวอะไรต่างๆมากมายเหล่านี้เกิดขึ้น (จดจำสถานที่ไม่ใช่เรื่องราว) เหมือนดั่งที่เราจดจำ กรุงโรม, บาบิลอน, อิยิปต์, อโยธยา ฯ ลองถามตัวเองดูนะครับว่าคุณจดจำเมืองเหล่านี้ได้เพราะอะไร?

เพราะมันคือสถานที่ครั้งหนึ่งมนุษยชาติเคยอาศัยอยู่ มีอารยธรรมที่มีความสำคัญ ยิ่งใหญ่เป็นที่รู้จักใต้หล้า ปัจจุบันยังคงได้รับการกล่าวถึง เหนือกาลเวลา, แต่ใช่ว่าเมืองเหล่านี้จะคงอยู่ตลอดกาล เมื่อวัฏจักรเวียนมา สิ่งที่เคยอภิมหา…แค่ไหน สักวันต้องล่มสลายไป หลงเหลือเพียงแค่ตำนาน เรื่องเล่าสืบขาน ก็อยู่ที่คนยุคถัดๆมาแล้วจะ’เชื่อ’ ว่าครั้งหนึ่งเคยมีเมืองแห่งนั้นเกิดขึ้นบนโลกหรือเปล่า

ด้วยทุนสร้าง $13 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอเมริกา $31.1 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 5 สาขา ได้มา 3 รางวัล
– Best Cinematography
– Best Art Direction-Set Decoration ** ได้รางวัล
– Best Costume Design ** ได้รางวัล
– Best Music, Scoring of Music, Adaptation or Treatment ** ได้รางวัล
– Best Sound

ส่วนตัวค่อนข้างเฉยๆกับหนัง แต่ชื่นชอบหลายๆบทเพลง (แม้ถ้าเทียบกับการร้องของ Richard Burton กับ Julie Andrews จะสู้ไม่ได้เลย) ปัญหาอยู่ที่ผู้กำกับ Joshua Logan ที่ขาดวิสัยทัศน์อย่างมาก ไม่ต่างจากที่ผมเคยพูดถึงใน South Pacific (1958) ใช่ว่ายอดฝีมือของละครเวที จะสามารถเป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ได้

กับคนที่รู้สึกชั่งใจ อยากดูเพราะ Jackie หรือบทเพลงของ Richard Burton แนะนำว่าอย่าคิดมาก หามาดูเลยนะครับ คือหนังมันก็มีดี ดูสนุก แค่ว่าคุณภาพของมันลดลงตามกาลเวลา รีบดูเสียตอนนี้ที่ยังพอสนุกได้ อีก 50 ปีถัดไปกลับมาดูอาจไม่สนุกแล้วจะกลายเป็นรู้สึกเสียเวลาเปล่าๆ

แนะนำกับผู้หลงใหลในตำนาน King Arthur, ชื่นชอบละครเพลงของ Alan Jay Lerner กับ Frederick Loewe, แฟนหนังของผู้กำกับ Joshua Logan นักแสดงอย่าง Richard Harris, Vanessa Redgrave หรือ David Hemmings ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับชู้ รักสามเส้า และการทรยศหักหลัง

TAGLINE | “Camelot นอกจากบทเพลงอันไพเราะและการแสดงของ Richard Harris แล้ว อะไรๆก็ดูผิดที่ผิดทางไปหมด โดยเฉพาะผู้กำกับ Joshua Logan”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: