Camille (1936)
: George Cukor ♥♥♥♥♡
ดอก Camellia มีนัยยะถึง ความอ่อนน้อมถ่อมตน รักในอุดมคติ, ภาพยนตร์เรื่องนี้ Greta Garbo รับบทไฮโซโสเภณี คอยเกาะกินมหาเศรษฐี แต่ตกหลุมรักเทพบุตรสุดหล่อ ระหว่างชีวิตสุขสบายกับอุดมคติแห่งรัก เธอเลือกหัวเราะยิ้มร่า ขณะที่ภายในคลุกเคล้าน้ำตา
ต้นฉบับนวนิยาย La Dame aux Camélias (1848) ของ Alexandre Dumas (1824 – 1895) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส คือกึ่ง-อัตชีวประวัติตนเอง เมื่อขณะอายุ 23 ปี ตกหลุมรักไฮโซโสเภณี Marie Duplessis (1824 – 1847) จุดเด่นของเธอคือติดดอก Camellia ไว้ที่อก
– ถ้าวันนั้นดอกสีแดง แสดงว่าเป็นประจำเดือน ไม่สามารถร่วมรักหลับนอนกับใครได้
– วันไหนดอกสีขาว มาเถิดหนุ่มๆทั้งหลาย พร้อมให้บริการเสพสมหวัง
The Lady of the Camellias เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามตั้งแต่วางจำหน่าย โดยเฉพาะตัวละคร Marguerite Gautier ว่ากันว่าคือโสเภณีชื่อดังที่สุดในโลกวรรณกรรม ทำให้ได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวที โอเปร่า รวมถึงภาพยนตร์จนถึงปีปัจจุบัน (ค.ศ. 2019) มีปริมาณไม่ต่ำกว่า 20 เรื่อง! แต่ฉบับได้รับการยกย่องเหนือกาลเวลามีเพียง Camille (1936) กำกับโดย George Cukor นำแสดงโดย Greta Garbo
ในบรรดาผลงานของ Greta Garbo ผมครุ่นคิดว่า Camille น่าจะเป็นบทบาทยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว ผู้ชมสามารถสังเกตเห็นความขัดแย้งระหว่างการแสดงออกภายนอก กับความต้องการแท้จริงภายใน ช่างเจ็บปวดรวดร้าวทรมานใจ หลั่งไหลธารน้ำตาออกมาโดยไม่รู้ตัว
ลึกๆผมรู้สึกว่านวนิยายไทยอมตะ ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา อาจได้แรงบันดาลใจเสี้ยวส่วนหนึ่งจาก The Lady of the Camellias ความรักที่เป็นไปไม่ได้ระหว่างหม่อมราชวงศ์กีรติ กับนักศึกษาหนุ่มนพพร จบลงด้วยโศกนาฎกรรมในลักษณะคล้ายคลึงกันมากๆ
George Dewey Cukor (1899 – 1983) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจากประเทศฮังการี ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเต้น การแสดง เป็นเพื่อนสนิทกับว่าที่โปรดิวเซอร์ดัง David O. Selznick โตขึ้นหนีจากโรงเรียนกฎหมาย ออกมาทำงานผู้ช่วยผู้จัดการโรงละคร เคยได้กำกับ Broadway ที่มี Bette Davis นำแสดง (แต่ทั้งสองไม่เคยร่วมงานภาพยนตร์กัน เพราะ Cukor ไล่เธอออกจากละครเวทีเรื่องนั้น) การมาถึงของยุคหนังพูด เลือกเซ็นสัญญากับ Paramount Pictures แต่ผลงานแรกกลับถูกยืมตัวไปให้ Universal Pictures ทำงาน Screen Test กำกับบทพูดให้ All Quiet on the Western Front (1930), ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องแรกจริงๆคือ Grumpy (1930), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Royal Family of Broadway (1930), What Price Hollywood? (1932), Little Women (1933)
Cukor หลังจากย้ายมาสังกัด M-G-M ผลงานแรก David Copperfield (1935) ประสบความสำเร็จล้มหลาม ขณะที่สองเรื่องถัดมาค่อนข้างน่าผิดหวังทีเดียว Sylvia Scarlett (1935) กับ Romeo and Juliet (1936) แต่สตูดิโอยังคงมอบโอกาส และโปรดิวเซอร์ Irving Thalberg แนะนำให้ลองร่วมงานกับ Greta Garbo เสนอสองโปรเจคน่าสนใจ Camille และ Maria Walewska
การเลือก Camille ของ Cukor มองว่าเป็นตัวละครเหมาะสมเข้ากันกับ Garbo มากที่สุด มอบหมายให้สามนักเขียน
– James Hilton นักเขียนนวนิยายชื่อดัง Lost Horizon และ Goodbye, Mr. Chips
– Zoë Akins นักเขียนบทละครเวทีหญิง ที่เพิ่งคว้ารางวัล Pulitzer Prize for Drama เมื่อปี 1935
– และ Frances Marion นักเขียนหญิงชื่อดัง เจ้าของสองรางวัล Oscar: Best Writing เรื่อง The Big House (1930), The Champ (1931) และยังเคยพัฒนา Scenario ของ Camille (1915)
เรื่องราวในนวนิยายมีพื้นหลังกลางศตวรรษที่ 19 ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งความครุ่นคิดของ Cukor มองว่าหลายๆอย่างมีความโบราณเก่าก่อน ค่านิยมตกยุคสมัยลงไป ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับเปลี่ยนแปลงโลกทัศนคติให้ดูร่วมสมัย โดยเฉพาะอาชีพโสเภณีของ Marguerite ไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสีย น่าอับอายขายขี้หน้าอีกต่อไป (เรื่องพรรค์นี้ศตวรรษก่อนๆมีความรุนแรงมากๆ แต่อคติดังกล่าวค่อยๆลดลงเมื่อถึงศวรรษที่ 20-21)
Marguerite Gautier (รับบทโดย Greta Garbo) แม้เกิดในครอบครัวต่ำต้อย แต่ค่อยๆไต่เต้าจนกลายเป็นคู่หมั้นมหาเศรษฐี Baron de Varville (รับบทโดย Henry Daniell) ขณะเดียวกันค่อยๆสานสัมพันธ์ ตกหลุมรักเทพบุตรสุดหล่อ Armand Duval (รับบทโดย Robert Taylor) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เพื่ออาศัยอยู่ร่วมแต่งงานกับเขา แต่ถูกพ่อของ Armand (รับบทโดย Lionel Barrymore) โน้มน้าวเกลี้ยกล่อมเกลาให้ล้มเลิกความตั้งใจ ความเป็นจริงมันช่างแสนเหี้ยมโหดร้าย ที่สุดเธอจึงค่อยๆตรอมใจ…
Greta Garbo ชื่อจริง Greta Lovisa Gustafsson (1905 – 1990) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Södermalm, Stockholm วัยเด็กเป็นคนเพ้อฝัน ไม่ชอบโรงเรียน แต่มีศักยภาพผู้นำ ตอนอายุ 15 ระหว่างทำงานในห้างสรรพสินค้าชื่อ PUB ได้เป็นนางแบบขายหมวก ถูกแมวมองชักชวนมาถ่ายทำโฆษณาเสื้อผ้าหญิง แล้วเข้าตาผู้กำกับ Erik Arthur Petschler แสดงหนังสั้นเรื่องแรก Peter the Tramp (1922), นั่นเองทำให้เธอตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Royal Dramatic Theatre’s Acting School, Stockholm เริ่มมีชื่อเสียงจากผลงานของ G. W. Pabst เรื่อง Die freudlose Gasse (1925), เซ็นสัญญากับ Louis B. Mayer มุ่งหน้าสู่ Hollywood ผลงานเด่นๆช่วงหนังเงียบคือ Torrent (1926), The Temptress (1926), Flesh and the Devil (1926), A Woman of Affairs (1928), ก้าวข้ามผ่านยุคหนังพูด Mata Hari (1931), Grand Hotel (1932), Queen Christina (1933), เข้าชิง Oscar: Best Actress ทั้งหมด 3 ครั้ง Anna Christie (1930) กับ Romance (1930)**เข้าชิงปีเดียวกัน, Camille (1936), Ninotchka (1939)
เกร็ด: Greta Garbo ติดอันดับ 5 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Female Legends
รับบท Marguerite Gautier ไฮโซโสเภณี จับจ่ายใช้ชีวิตอย่างเลิศหรูรา คบหามหาเศรษฐีฐานะร่ำรวย ด้วยเพราะไม่ต้องการหวนกลับไปพบเจอความทุกข์ยากลำบากเหมือนวัยเด็ก แต่เมื่อพบเจอหนุ่มหล่อ Armand Duval ค่อยๆเคลิบเคลิ้มหลงใหลในคำหวาน กาลเวลาทำให้เกิดความมั่นใจว่ารักแท้ ต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเขา แต่โลกความจริงมิอาจสมประสงค์ดั่งเพ้อฝัน ท้ายที่สุดนั้นจำต้องเลือกแม้ขัดแย้งความต้องการของหัวใจ
Garbo เป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง มักชอบเก็บตัวเพื่อซักซ้อมตระเตรียมบทล่วงหน้า มีภาพการแสดงในจินตนาการ แต่ผลลัพท์เวลาถ่ายทอดออกมามักไม่เป็นที่พึงพอใจตนเองสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้เธอจึงปฏิเสธรับชมฟุตเทจ หรือแม้แต่ภาพยนตร์เต็มเรื่อง (ยกเว้นเพียง Ninotchka เพราะอยากรับรู้ปฏิกิริยาผู้ชม เมื่อตนลองเล่นหนัง Comedy)
สำหรับ Camille เป็นเรื่องที่ Garbo ได้ถ่ายทอดโลกส่วนตัวของเธอเองออกมา บทบาทเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างการแสดงออกภายนอก กับความต้องการแท้จริงของจิตใจ ซึ่งไฮไลท์คือตอนหัวเราะร่าระหว่าง Baron de Varville เล่นเปียโน Carl Maria von Weber: Aufforderung zum Tanz (1841) ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงเสียงร่ำร้องไห้ ดังกึกก้องอยู่ภายในจิตวิญญาณ
โปรดิวเซอร์ Irving Thalberg แม้เสียชีวิตก่อนหนังสร้างเสร็จ แต่ก็มีโอกาสรับชมฟุตเทจฉากเล็กๆ แสดงความคิดเห็นว่า
“I think we have caught [Greta Garbo] as she should be caught. She will be the most memorable Camille of our time”.
– Irving Thalberg
เกร็ด: ในบรรดาผลงานการแสดงของตนเอง Garbo บอกว่าชื่นชอบ Camille (1936) มากที่สุด
Robert Taylor ชื่อจริง Spangler Arlington Brugh (1911 – 1969) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Filley, Nebraska วัยเด็กอพยพย้ายถิ่นฐานติดตามครอบครัวไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุ 16 ปี กลับมาปักหลักตั้งถิ่นฐานยัง Beatrice, Nebraska ชื่นชอบการเล่น Cello ติดตามอาจารย์มุ่งสู่ Claremont, California เข้าร่วมกลุ่มการแสดงละครเวที เข้าตาแมวมองสตูดิโอ M-G-M อยู่ดีๆได้เซ็นสัญญา 7 ปี ภพยนตร์เรื่องแรก Handy Andy (1934), รับบทนำ Magnificent Obsession (1935), แจ้งเกิดโด่งดัง Camille (1936)
รับบท Armand Duval ชายหนุ่มสุดหล่อ พ่อรวย เรียนจบทนายความแต่ยังหางานทำไม่ได้ พานพบเจอตกหลุมรัก Marguerite Gautier กลัวๆกล้าๆจนกระทั่งค่ำคืนหนึ่งบังเอิญสบตา จึงมีโอกาสพูดคุยสนทนา พยายามอย่างยิ่งจะโน้มน้าวชักจูงให้เธอทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างแล้วมาแต่งงานครองคู่กับเขา แต่แทบทั้งหมดนั้นล้วนเกิดจากฮอร์โมนพลุกพร่าน มิเคยครุ่นคิดถึงอนาคตวันข้างหน้า จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเช่นไร
เรื่องความหล่อ ใส อ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาต้องยกให้ พยายามแสดงออกความรักใคร่ หน้ามืดตามัวดั่งพายุเฮอร์ริเคนโถมกระหน่ำใส่ แม้จุดๆหนึ่งสามารถให้หญิงสาวแสดงความใคร่สนใจ แต่ก็ไร้สติปัญญามองเห็นอนาคต สนเพียงความต้องการพึงพอใจส่วนตนเฉพาะหน้าเท่านั้น … ความรักเช่นนี้ ไม่นานวันย่อมจืดจางไป คำพร่ำพูดหวานก็มักเลือนลางเหลือเพียงแค่สายลมปาก
เห็นว่า Garbo ไม่พยายามตีสนิทชิดเชื้อ Taylor พยายามรักษาระยะห่างเพื่อไม่ให้ตนเองเรียนรู้จักตัวตน(หรือตกหลุมรักในชีวิตจริง) ซึ่งนั่นทำให้เคมีระหว่างกันเป็นไปในลักษณะเพ้อใฝ่ฝัน จินตนาการของใครของมัน ซึ่งถือว่าสอดพ้องเข้ากับเนื้อเรื่องราวของหนังเป็นอย่างมาก!
ถ่ายภาพโดย
– William H. Daniels ตากล้องส่วนตัวของ Greta Garbo และขาประจำผู้กำกับ Erich von Stroheim
– Karl Freund สัญชาติ German ผลงานเด่นๆ The Last Laugh (1924), Metropolis (1927), Dracula (1931) ฯ
งานภาพในสไตล์ของ Cukor อาจไม่ได้โดดเด่นเหมือน ‘Lubitsch’s Touch’ มีกลิ่นอายนัวร์ หรือ German Expressionism แต่มีความระยิบระยับ ละเอียดอ่อน ละมุ่นไม โดยเฉพาะการจัดแสงขณะ Close-Up ใบหน้าของหญิงสาว มักมีความนุ่มนวล ในทางเทคนิคคือฟุ้งๆเบลอๆ เลือกเลนส์ที่ให้สัมผัสเหมือนหยาดน้ำตาคลอ นั่นถือเป็นลายเซ็นต์ผู้กำกับเลยก็ว่าได้
อย่างช็อตนี้ ครั้งแรกที่ Marguerite Gautier ส่องกล้องพบเห็นเทพบุตรสุดหล่อ Armand Duval ลักษณะภาพมีความฟุ้งๆเบลอๆ สะท้อนจิตใจอันกระชุ่มกระชวย ที่ได้พบเห็นคนรวยหล่อเหลา คาดคิดว่าโชคชะตาฟ้ากำลังหล่นใส่ (จริงๆคือเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเขาคือ Baron de Varville)
ซึ่งหลังจาก Marguerite Gautier พบเจอ Baron de Varville ตัวจริงๆ ประจวบการแสดงละครเวทีครึ่งหลังเริ่มต้นพอดี แสงสว่างค่อยๆถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด จิตใจเธอก็เฉกเช่นกัน ผิดหวังในโลกความจริงที่มิอาจเป็นดั่งเพ้อใฝ่ฝัน
การเลือกช็อตสะท้อนกระจก Marguerite Gautier พบเห็น Armand Duval ในงานเลี้ยงปาร์ตี้ ขณะที่เธอหลบออกมาพักห้องส่วนตัว เป็นการสะท้อนความต้องการภายในจิตใจ แสงเทียนเล็กๆส่องประกาย ชายคนนี้คือรักแท้ อยากจะตกหลุมรัก แต่ก็ติดขัดย้อนแย้งกับตัวตน/ความต้องการของจิตใจ
เสียงหัวเราะของ Marguerite Gautier ช่างเต็มไปด้วยความขัดย้อนแย้งกับภายในจิตใจ ซึ่งช็อตนี้แสงเทียนถูกบดบังด้วยศีรษะของ Baron de Varville สะท้อนถึงเขาคือบุคคลผู้กีดกั้นขวาง บดบังความต้องการ อนาคตที่แสนสดใสของเธอเอาไว้
การเลือกบทเพลง Aufforderung zum Tanz แปลว่า Invitation to the Dance สะท้อนเกมความรักระหว่าง Marguerite Gautier กับ Baron de Varville
– ขณะที่ Marguerite Gautier ไม่สามารถเล่นท่อนซับซ้อนสุดของเพลงได้ … ผมว่าเธอน่าจะเล่นได้ ไพเราะมากด้วย แต่เหตุผลที่ไม่ยอมเล่น เพราะต้องการปกปิดบังความรู้สึกแท้จริงไว้
– ส่วน Baron de Varville เล่นแบบแสร้งเล่น ไม่ได้สามารถถ่ายทอดอารมณ์รักแท้จริงออกมา
“She was very delicate, with a slight gesture being enormously suggestive. In the erotic scenes, Camille never touches, but kisses the lover’s entire face. Often she is the aggressor in love. Very original”.
– George Cukor
ผมเพิ่งมาสังเกตจากบทสัมภาษณ์ของ Cukor เพราะหนังสมัยนั้นไม่สามารถนำเสนอ Love Scene ได้อย่างแจ่มแจ้ง วิธีการที่ Garbo ครุ่นคิดนำมาใช้ คือการจุมพิตทั่วทั้งใบหน้า แสดงออกซึ่งความรัก Sex ไร้ซึ่งการสัมผัสด้วยมืออื่นใด
พ่อของ Armand (รับบทโดย Lionel Barrymore) เมื่อมีโอกาสพานพบเจอ Marguerite Gautier พยายามเกลี้ยกล่อมเกลาให้ล้มเลิกความตั้งใจ เลิกร้างราถ้าเธอรักเขาจริง … ไดเรคชั่นของฉากนี้ สังเกตว่า Garbo มีการขยับเคลื่อนไหว บิดม้วนไปรอบห้อง หันหน้า หันข้าง หันหลัง แทบทุกทิศทาง เพื่อสรรหาข้ออ้างบางอย่างในการสนทนา จนท้ายที่สุดเมื่อหมดสิ้นปัญญา เลยแสดงความจริงใจสูงสุดออกมา
ความพยายามบอกเลิกรัก Armand Duval เริ่มจากความมืดมิดปกคลุมในห้อง ชุดของ Marguerite Gautier แรกสุดคือเกาะอก จากนั้นเมื่อต้องยืนกรานว่าตนไม่ได้รักเขา วินาทีนั้นนำผ้าคลุมมาปิดไหล่ ปฏิเสธพูดบอกความจริงออกไป
เมื่อครั้งที่ Marguerite Gautier ป่วยหนัก นอนซมอยู่บนเตียง เพื่อนคนสนิท Gaston (รับบทโดย Rex O’Malley) เดินทางไปเยี่ยมเยียน มันจะแสงไฟที่สาดส่องกวัดไกว สะท้อนถึงจิตใจหญิงสาว เต็มไปด้วยความคลุ้มคาคลั่ง กระวนกระวาย ไม่อาจสงบนิ่งลงได้
ซึ่งช็อตนี้ Gaston เดินไปตรงหน้าเตาผิง พบเห็นภาพสะท้อนในกระจก นั่นแสดงถึงความห่วงใยแท้จริงที่มีให้ มิใช่หน้ากากสวมไว้เวลาพบเจอคบหากันในปาร์ตี้
ผมนำช็อตนี้มาเพื่อชี้ให้เห็นถึงความฟุ้งๆ เบลอๆของภาพ เมื่อผู้ชมรับล่วงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยไม่รู้ตัวสัมผัสดังกล่าวทำให้ธารน้ำตาหลั่งไหลรินออกมาโดยไม่รู้ตัว
ตอนจบดั้งเดิม ตัวละครของ Garbo จะแค่สัมผัสมือกับอดีตคนรัก และนอนตายตาหลับบนเตียง ซึ่งเห็นว่าถ่ายทำไว้ด้วย (แต่ฟีล์มสูญหายไปแล้ว) ผู้กำกับ Cukor รู้สึกว่ามันน่าเบื่อหน่ายไปสักหน่อยเลยกลายมาเป็นแบบในหนัง ถ่ายทำทั้งหมด 3 เทค ครั้งสุดท้ายเรียบๆง่ายๆ แต่ไม่น่าเชื่อทรงพลังสุดๆ
“My mother had just died, and I had been there during her last conscious moments. I suppose I had a special awareness. I may have passed something on to Garbo without realizing it”.
– George Cukor
ตัดต่อโดย Margaret Booth (1898 – 2002) สัญชาติอเมริกัน ทำงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ผลงานเด่นๆ อาทิ Mutiny on the Bounty (1935), Camille (1936) ฯ
เรื่องราวของหนังมีลักษณะเป็นตอนๆ นำเสนอช่วงเวลาการพานพบเจอระหว่าง Marguerite Gautier กับ Armand Duval ในช่วงโอกาสต่างๆ ซึ่งจะกระโดดไปข้างหน้าเรื่อยๆไม่มีย้อนกลับ
– เริ่มต้นทักทายกันครั้งแรก
– หวนกลับมาพบเจอหลายเดือนถัดมา ชักชวนมาร่วมงานเลี้ยงที่บ้าน แต่ดึกดื่นค่ำคืนนั้น Baron de Varville หวนกลับมาพอดิบพอดี
– หลายวัน/เดือนถัดจากนั้น Marguerite พยายามเกลี้ยกล่อมเกลาไม่ให้ Armand ออกเดินทางสู่ Paris ซึ่งเธอตัดสินใจเลิกรา Baron de Varville และออกเดินทางไปใช้ชีวิตร่วมกันยังชนบท
– Marguerite พานพบเจอพ่อของ Armand จำต้องตัดสินใจบอกเลิกร้างรา
– หลายเดือนถัดมาทั้งสองหวนกลับมาพบเจอกัน เป็นเหตุให้ Armand ท้าดวลปืนกับ Baron de Varville แล้วหลบหนีออกนอกประเทศ
– ครึ่งปีถัดมา และวันสุดท้ายในชีวิตของ Marguerite
เพลงประกอบโดย
– Edward Ward (Kismet, The Women, Phantom of the Opera)
– Herbert Stothart (Queen Christina, Mutiny on the Bounty, The Wizard of Oz)
บทเพลงนอกจากได้ยินในงานเลี้ยง (ส่วนใหญ่จะท่วงทำนองสนุกสนาน Waltz, Polka) แสดงละครเวที และหลายครั้งคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ ด้วยท่วงทำนองแห่งความเพ้อฝันหวาน ชวนให้เคลิบเคลิ้มลุ่มหลงใหล แต่เมื่อตื่นขึ้นมาพานพบเจอโลกความจริงเมื่อไร มันช่างเจ็บปวดรวดร้าวเสียเกินทนทรมานใจ
นำบทเพลง Aufforderung zum Tanz (1841) ของ Carl Maria von Weber (1786 – 1826) คีตกวีสัญชาติเยอรมัน แห่งยุคสมัย Romantic Period ฉบับเต็มๆมาให้รับฟัง อาจจะยิ่งทำให้คุณเจ็บปวดรวดร้าวใจ หัวเราะไม่ออกยังไงอย่างนั้น!
Marguerite Gautier คือหญิงสาวผู้มีโอกาสพานพบเจอรักแท้ แต่เธอกลับเกิดความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว ต้องการสิ่งยั่งยืนมั่นคง สนองความพึงพอใจทางกายมากกว่า เลือกครองคู่อยู่กับบารอนที่ไม่ได้รักใคร่ นั่นทำให้เมื่อถึงจุดๆหนึ่งร่างกาย-จิตใจ เกิดความขัดย้อนแย้งกันเอง จนมิสามารถอดรนทนดำรงชีพต่อไปได้
แซว: ในความเป็นจริง Marie Duplessis เสียชีวิตจากวัณโรค, ในนวนิยายเหมือนจะสื่อว่า Marguerite ป่วยซิฟิลิส, ส่วนภาพยนตร์มองเชิงสัญลักษณ์ก็คือ ตรอมใจตาย
Camille เป็นภาพยนตร์ที่พยายามชักชวนให้ผู้ชมมองเห็นคุณค่าของจิตใจ รักแท้แม้ไม่มีอะไรกิน ไร้ที่สุงสิงหัวนอน ย่อมสำคัญกว่าเงินทอง สิ่งข้าวของภายนอกกาย หรือแต่งงานกับชายไม่ได้รัก เพราะการหลอกตนเองลักษณะนี้ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งความจริงย่อมได้รับการเปิดเผยออก และสิ่งหลงเหลือต่อจากนั้นย่อมมีเพียงโศกนาฎกรรม
แต่ลึกๆผมเห็นด้วยกับการตัดสินใจของ Camille จริงอยู่รักแท้แม้มีค่ามาก แต่ความหน้ามืดตามัวขาดสติของ Armand Duval ก็ไม่ใช่เรื่องน่ายกย่องสรรเสริญสักเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อทั้งคู่ไม่สามารถหาความเพียงพอดีต่อกันได้ จิตใจเลยเต็มไปด้วยความปั่นป่วนพลุกพร่าน มิอาจพานพบเจอความสงบสุขได้สักที
สิ่งที่ผมถือว่าทรงคุณค่ายิ่งของหนัง ไม่ใช่เรื่องรักแท้จอมปลอม แต่คือการแสดงออกที่ตรงกันข้ามความต้องการหัวใจ เพราะเหตุใดทำไม มนุษย์ต้องลวงหลอกตนเอง ไม่ยินยอมรับความจริง นั่นต่างหากคือสาเหตุผลแห่งโศกนาฎกรรม
สำหรับผู้กำกับ George Cukor ร่างกายเป็นบุรุษ แต่จิตใจคืออิสตรี นี่ถือว่าภายนอก-ใน ขัดย้อนแย้งแบบเดียวกับตัวละครไม่มีผิดเพี้ยน นั่นทำให้เขาสามารถเข้าใจเรื่องยุ่งๆ วุ่นวาย รายละเอียดเล็กๆน้อยๆของหญิงสาวอย่างละเอียดอ่อน ไม่แปลกเลยจะได้รับฉายา ‘Woman’s Director’ สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้หญิงจนกลายเป็นตำนาน
สำหรับ Greta Garbo จะกลับตารปัตรกับ Cukor ร่างกายอิสตรี แต่จิตใจค่อนข้างทอมบอยเหมือนบุรุษ แถมยังเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง น้อยคนจะสามารถเข้าถึงตัวตนแท้จริง ซึ่งมักตรงกันข้ามการแสดงออก … การได้ร่วมงานกับ Cukor ทำให้ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิท เข้าใจกันและกันอย่างดี คบหากันจนชีวีต่างหาไม่
หนังออกฉายรอบปฐมทัศน์ยังโรงภาพยนตร์แห่งใหม่ Plaza Theatre ที่ Palm Springs, California มีคนดังมากมายจ่าย $10 ดอลลาร์เพื่อรับชม เว้นแต่นักแสดงนำ Greta Garbo ปฏิเสธรับชมผลงานของตนเอง (ไม่ใช่แค่เรื่องนี้นะครับ แต่แทบทุกผลงานของตนเอง)
ด้วยทุนสร้าง $1.486 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $1.154 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $2.842 ล้านเหรียญ เห็นว่าทำกำไร $388,000 เหรียญ และมีโอกาสได้เข้าชิง Oscar: Best Actress (Greta Garbo) แต่พ่ายให้กับ Luise Rainer จากเรื่อง The Good Earth (1936)
ส่วนตัวชื่นชอบคลั่งไคล้ Camille เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแสดงของ Greta Garbo ที่ออกมาจากตัวตน จิตวิญญาณ น่าจะใกล้หัวใจเธอมากที่สุดแล้วกระมัง, ขณะที่ความละเอียดอ่อน ละมุ่นไม ในไดเรคชั่นผู้กำกับ George Cukor ไม่เพียงธารน้ำตาหลั่งไหล จิตใจยังเต็มไปด้วยความทุกข์โศกเศร้า ระกำทรวง
จัดเรต 13+ กับอาชีพโสเภณี เกาะผู้ชายกิน แสวงหาสิ่งตรงกันข้ามความต้องการของจิตใจ
Leave a Reply