Carol

Carol (2015) hollywood : Todd Haynes ♥♥♥♥♡

สิ่งน่าทึ่ง ‘breathtaking’ ที่สุดของชีวิตคู่คือการได้มีลูกร่วมกัน แต่เมื่อใครคนหนึ่งเป็นเกย์และอีกคนยอมรับไม่ได้ ก็มีความจำเป็นต้องเลือกระหว่างทำตามสัญชาติญาณหรือเสียงเรียกร้องของหัวใจ

เกร็ด: คำว่า เกย์ (Gay) หมายถึง บุคคลผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศเดียวกัน จริงๆแล้วไม่ได้จำกัดแค่ชาย-ชาย แต่ยังเหมารวมถึงหญิง-หญิงด้วย แต่คนส่วนใหญ่สมัยนี้มักมองว่า เกย์ คือชายรักชายเท่านั้น, ปัจจุบันคำว่าเกย์ ยังเหมารวมถึงวัฒนธรรมย่อยของคนรักเพศเดียวกันด้วย อาทิ เพลงเกย์ หนังเกย์ เป็นต้น

Carol คือหนังเกย์ที่มีความสง่างาม อ่อนช้อย อหังการ ตราตรึงกับการประชันของสองสุดยอดนักแสดงแห่งยุค Cate Blanchett กับ Rooney Mara เล่นหูจิกตารุนแรงยิ่งกว่ากระแสไฟช็อต ทั้งยังไดเรคชั่นของผู้กำกับ Todd Haynes การจัดมุมกล้อง แสงสี บรรยากาศ (ใช้กล้องฟีล์ม Super 16 mm) ให้สัมผัสแห่งยุค 50s และเพลงประกอบ Minimalist ของ Carter Burwell นุ่มนวลแต่ลุ่มลึกทรงพลัง

ผมเริ่มมีความสนใจ Carol ตั้งแต่ตอนฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้าสองรางวัลคือ Best Actress (Rooney Mara) และ Queer Palm (รางวัลพิเศษสำหรับหนัง LGBT) รอเป็นปีกว่าจะเข้าไทย เกิดความชื่นชอบหลงใหลคลั่งไคล้อย่างมาก แต่ไม่กล้าเขียนบทความวิจารณ์ เพราะรับรู้ตัวเองเลยว่าประสบการณ์การเขียนยังไม่มากพอจะสามารถพรรณาความสวยงามของหนังออกมาได้, หวนกลับมารับชมรอบนี้เชื่อว่าน่าจะเพียงพอแล้วละ ผมจะพยายามอย่างเต็มที่ในการโน้มน้าวผู้อ่านให้ได้รับรู้สึกว่า นี่คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสวยงามที่สุดแห่งปี 2015 จริงๆ

Patricia Highsmith ชื่อจริง Mary Patricia Plangman (1921 – 1995) นักเขียนนิยายสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Fort Worth, Texas พ่อ-แม่หย่ากันก่อนที่เธอจะเกิด ชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตเต็มไปด้วยความหดหู่ อ้างว้าง ทุกข์ทรมาน พบเจอจิตแพทย์อยู่เรื่อยๆ แต่เพราะได้อาศัยอยู่กับย่าสอนเขียนอ่าน มีห้องสมุดขนาดใหญ่ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความเพ้อฝันจินตนาการ ผลงานเขียนเรื่องแรก Strangers on a Train (1950) เป็นแนว Psychological Thriller ประสบความสำเร็จล้นหลาม ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย Alfred Hitchcock,

นิยายเล่มถัดมา The Price of Salt (1952) เนื่องเพราะเป็นแนวโรแมนติกรักใคร่ หญิง-หญิง ที่แตกต่างจากผลงานเรื่องแรกโดยสิ้นเชิง จึงถูกสำนักพิมพ์เดิม Harper & Bros ปฏิเสธไม่ยอมตีพิมพ์จัดจำหน่าย ทำให้เธอต้องย้ายสังกัดหนีได้เป็น Coward-McCann ใช้นามปากกา Claire Morgan ปรากฎว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม ถือเป็นนิยายเลสเบี้ยนเรื่องแรกของโลกที่มีตอนจบ Happy Ending, ปี 1990 ได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนสำนักพิมพ์ Bloomsbury ใช้ชื่อจริงของตนเองแต่กลับเปลี่ยนชื่อนิยายเป็น Carol

เกร็ด: lesbian pulp ก่อนหน้านิยายเล่มนี้ มักมีแต่เรื่องราวโศกนาฎกรรม ตอนจบใครคนหนึ่งมักต้องเสียสติแตก, ฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็หวนกลับไปหาสามี คงเพราะนี่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนของสังคม ยังไม่ได้รับการยอมรับเปิดกว้าง จึงต้องพบจุดจบอันเศร้าสลด จะได้ไม่เกิดการลอกเลียนแบบอย่าง

แรงบันดาลใจของนิยายเรื่องนี้ ถือว่าเป็นกึ่งอัตชีวประวัติของผู้เขียนเอง เมื่อปี 1948 ครั้นทำงานพนักงานขาย Salesgirl อยู่แผนกของเล่น Bloomingdale, New York พบเจอกับหญิงสาวไฮโซผมบลอนด์สวมเสื้อคลุมขนมิงค์ (Mink Coat) ชื่อ Mrs. E.R. Senn (Kathleen Wiggins Senn) ซึ่งแน่นอนว่าตัวละคร Therese Belivet ย่อมแทนด้วย Highsmith เองเลย แต่เรื่องราวความสัมพันธ์กับ Carol Aird พัฒนาขึ้นจากสองอดีตคนรัก Virginia Kent Catherwood กับ Kathryn Hamill Cohen ที่รายแรกสูญเสียสิทธิ์การเลี้ยงดูลูกสาวให้กับสามี เพราะถูกจับได้ว่าลักลอบมีชู้ นอกใจ และเป็นเลสเบี้ยน (มีการจ้างนักสืบไปบันทึกเสียง Love Scene ข้างห้อง แบบในหนังเปี๊ยบๆ)

โปรดิวเซอร์ Dorothy Berwin คือคนแรกที่ให้ความสนใจดัดแปลงนิยายเล่มนี้ ซื้อลิขสิทธิ์ไว้ในครอบครองตั้งแต่ปี 1996 มอบหมายให้ Phyllis Nagy นักเขียนบทละครชื่อดัง ทำการดัดแปลงร่างแรกเสร็จปี 1997 มีความซื่อตรงต่อนิยายมากๆ (เห็นว่า Highsmith เป็นผู้แนะนำ Nagy ให้ดัดแปลงนิยายเล่มนี้โดยเฉพาะ)

แต่ปัญหาของหนังเรื่องนี้ที่กว่าจะได้สร้างก็เกือบสองทศวรรษถัดมา คือการจัดหาทุน และสองนักแสดงนำหญิง ถือเป็นความปกติมากๆในทศวรรษนั้นที่สตูดิโอทั้งหลายยังปิดกั้นเรื่องราวลักษณะนี้ รวมถึงนักแสดงมีชื่อทั้งหลาย ต่างหวาดหวั่นเกรงที่จะต้องเปลืองตัวเล่นฉาก Love Scene อันเร่าร้อนรุนแรง, จนกระทั่งปี 2013 การเข้ามาของ Cate Blanchett และผู้กำกับ Todd Haynes โปรเจคถึงเริ่มมีความก้าวหน้าขึ้นสักที

Todd Haynes (เกิดปี 1961) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา ถือตัวเองว่าเป็นคนบุกเบิก New Queer Cinema ในช่วงต้นทศวรรษ 90s เกิดที่ Los Angeles, California เชื้อสาย Jews มีความสนใจสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Art and Semiotics ที่ Brown University พบเจอ Christine Vachon กับ Barry Ellsworth ร่วมกันก่อตั้ง Apparatus Productions สตูดิโอ Indy ปี 1987 เริ่มสร้างหนังนอกกระแสเรื่องแรก Superstar: The Karen Carpenter Story (1987) ชีวประวัติของนักร้องหญิง Karen Carpenter ที่ใช้ตุ๊กตาบาร์บี้นำแสดง, ตามด้วย Poison (1991) คว้ารางวัล Grand Jury Prize- Dramatic จากเทศกาลหนังเมือง Sundance

ผู้กำกับ Haynes เปิดอกผึ่งผายว่าเป็นเกย์ แต่ความสนใจของเขามิใช่แค่สร้างหนัง LGBT แต่คือทุกประเด็นที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียง ความขัดแย้ง ปัญหาสังคมในยุค Post-Modernist อาทิ การมีชื่อเสียงโด่งดัง, ติดโรค, ติดยาเสพติด, Sex Addict ฯ ผลงานเด่นๆอาทิ Far from Heaven (2002), I’m Not There (2007) [ใช้นักแสดงหลายคนรับบทตัวละครเดียวกัน], Carol (2015) ฯ

Haynes ได้ยินโปรเจคนี้จากเพื่อนที่เป็นนักออกแบบเสื้อผ้า Sandy Powell เล่าให้ฟังว่า Cate Blanchett มีโปรเจคหนึ่งที่อยู่ในความสนใจมานานพอสมควร แต่ยังสรรหาผู้กำกับไม่ได้ ประจวบกับเพื่อนสนิท Vachon ติดต่อชักชวนมาพอดี หลังจากได้อ่านบทคร่าวๆของหนังเกิดความสนใจอย่างยิ่งยวด ในสถานะความปรารถนาต้องการบางสิ่งอย่างจากขั้วจิตใจของตัวละคร

“What was so interesting to me when I first read this script, is how it basically links that hothouse mentality of the desiring subject … to that of the criminal subject, in that both are these over-productive minds that are conjuring narratives constantly … this crazy state of this furtive hyperactivity in the mind.”

Nagy เล่าถึงการเข้ามาของ Haynes ว่ามีแนวคิดความต้องการคล้ายกับตนเองมา นำเสนอทิศทางที่คล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง Brief Encounter (1945) ใช้การพบเจอของตัวละครผลักดันให้เรื่องราวดำเนินไป ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดอธิบายอะไรมากมาย แค่มองหน้าจ้องตาก็สามารถสื่อสารกันและกันได้อยู่แล้ว

“[Haynes and I] are of a similar mind, of similar influences … he understood exactly that we were going for something almost entirely subtextual, and that it required bravery and a resistance to over-explication.”

−Phyllis Nagy

เรื่องราวมีพื้นหลังช่วงเทศกาลคริสต์มาสปี 1952, Therese Belivet (รับบทโดย Rooney Mara) ทำงานอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า Frankenberg, Manhattan พบเจอหญิงสาวไฮโซผมบลอนด์ Carol Aird (รับบทโดย Cate Blanchett) กำลังค้นหาของขวัญปีใหม่ให้กับลูกสาว Rindy ซึ่งเธอได้แนะนำให้ซื้อโมเดลรถไฟ แต่หลังจากจ่ายเงินเสร็จสรรพ Carol ลืมถุงมือวางไว้ พาลให้ทั้งสองนัดหมายพบเจอทานข้าวกลางวัน ชักชวนไปที่บ้าน ตกหลุมรัก ออกเดินทางหนีปัญหา แยกจาก และสุดท้ายหวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง

Catherine Elise Blanchett (เกิดปี 1969) นักแสดงหญิงสัญชาติ Australian เกิดที่ Ivanhoe, Victoria มีชื่อเสียงจากการรับบท ราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ในหนังเรื่อง Elizabeth (1998), โด่งดังสุดจากการรับบท Galadriel ใน Lord of the Rings Trilogy (2001-2003), ตามด้วย The Aviator (2004) คว้า Oscar: Best Supporting Actress, Blue Jasmine (2013) คว้า Oscar: Best Actress, ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับ Haynes เรื่อง I’m Not There (2007)

รับบท Carol หญิงสาวไฮโซผมบลอนด์ แต่งงานแล้วกับ Harge Aird (รับบทโดย Kyle Chandler) มีลูกสาวน่ารัก Rindy แต่ความที่เธอเคยปล่อยตัวปล่อยใจไปกับเพื่อนสาว Abby Gerhard (รับบทโดย Sarah Paulson) แม้จะเลิกราไปแล้วแต่ก็ยังสนิทสนมกันมากอยู่ ทำให้ไม่อาจทนต่อสามีที่มีความมักมากเห็นแก่ตัว ต้องการเป็นอิสระไม่ใช่นกในกรงที่ถูกครอบงำทุกวิถีก้าวของชีวิต

ส่วนตัวคิดว่า Carol ตกหลุมรักแรกพบ Therese ตั้งแต่สบตาเจอกันในร้านขายของเล่น จึงจงใจลืมถุงมือวางทิ้งไว้ ตอนนัดรับประทานอาหารก็เกิดความประทับใจมากล้น จับจ้องมองดวงตาของของเด็กหญิงสาวแรกรุ่น ช่างกลมโตสุกประกายสดใสบริสุทธิ์ เหมือนลูกสาวของเธอไม่มีผิดเพี้ยน, ความสัมพันธ์รักของ Carol ต่อ Therese สะท้อนความรู้สึกระหว่างเธอกับลูกสาวได้อย่างลงตัวพอดิบพอดี แถมเป็นสองสิ่งที่ตัวละครต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างความรักด้วยสันชาตญาณแม่ กับความต้องการพึงพอใจส่วนตน น่าเสียดายที่ยุคสมัยนั้นเลือกได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

การแสดงของ Blanchett สมบูรณ์แบบทุกกระเบียดนิ้ว ดวงตาจับจ้องจิกกัด รอยยิ้มเปี่ยมด้วยเลศนัย ภาษากาย จับถือเปิดกระเป๋า สูบบุหรี่ ท่าทางการเดินบิดตัว ดูดีมีเสน่ห์ หลายคนอาจชอบฉากพบกันครั้งแรกในร้านอาหาร แต่ผมหลงใหลตอนเธอร่างกายสั่นเทิ้ม ลุกขึ้นสวมเสื้อโค้ทต่อรองอดีตสามี อยากเลี้ยงลูกก็รับไป ขออย่ามาก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของฉันอีก ฉากนี้ทำเอาผมจุกจนหายใจไม่ออกเลยนะ

เกร็ด: การสูบบุหรี่ของตัวละคร อารมณ์ประมาณหนังหว่อง ต้องแบบเครียดๆ หวาดหวั่นวิตก มีเรื่องให้ปวดขมับถึงค่อยจุดสูบ แต่ขณะมีความสุข เคลิบเคลิ้มอารมณ์รัก จะไม่เห็นแตะสักครั้ง

Blue Jasmine อาจเป็นหนังที่ Blanchett ปลดปล่อยฝีมือการแสดงออกมาได้อย่างทรงพลังขีดสุด แต่สำหรับ Carol นี่คือภาพลักษณ์ประจำตัวติดตาของ Blanchett มีความสง่างาม อหังการ มีมิติลุ่มลึกล้ำซับซ้อนที่สุดจนถึงปัจจุบัน

Patricia Rooney Mara (เกิดปี 1985) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน น้องสาวของ Kate Mara (อ่อนกว่า 2 ปี) เกิดที่ Bedford, New York เข้าสู่วงการจากภาพยนตร์เรื่อง Urban Legends: Bloody Mary (2005), Tanner Hall (2009), A Nightmare on Elm Street (2010), เริ่ม Breakthrough จากเรื่อง The Social Network (2010), ประสบความสำเร็จโด่งดังกับ The Girl with the Dragon Tattoo (2011) ทำให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress เป็นครั้งแรก

หลังเสร็จจาก The Girl with the Dragon Tattoo โปรดิวเซอร์ก็รีบยื่นเสนอบทนี้ให้กับ Mara ซึ่งเธอก็ชื่นชอบนะแต่ตอบปัดปฏิเสธ เพราะหมดพลังไปมากกับหนังเรื่องนั้นต้องการพักสักระยะ ระหว่างนั้นก็มีนักแสดง Mia Wasikowska ได้รับการติดต่อ แต่เมื่อ Haynes เข้ามาเป็นผู้กำกับ ติดต่อกลับหา Mara อีกครั้ง คราวนี้ด้วยสีหน้าที่อิ่มเอิบ แช่มชื่น พร้อมแล้วที่จะรับบทนี้

Therese Belivet หญิงสาววัยรุ่นแรกแย้ม ด้วยความไร้เดียงสาอ่อนเยาว์ต่อโลก ยังค้นไม่พบความต้องการของตนเอง ทั้งทิศทางเป้าหมายชีวิตและรสนิยมทางเพศ มีความชื่นชอบการถ่ายรูป บันทึกความทรงจำดีๆกับสิ่งสวยๆงามๆ กล้าที่จะทดลองค้นหาอะไรใหม่ๆ ไม่ปิดกั้นปฏิเสธ ดูแล้วน่าจะตกหลุมรักแรกพบ Carol Aid ในความสง่างามของเธอ

ผมมองสายตาอันบ้องแบ้วของ Therese จับจ้องมอง Carol ราวกับแม่ผู้ที่จะเป็นแบบอย่างให้กับตนเอง เพราะเธออยู่ในช่วงวัยกำลังค้นหาอัตลักษณ์ตัวตน สังเกตในร้านอาหารเดทแรก สูบบุหรี่ไม่เป็นแต่อยากเลียนแบบ ชวนไปไหนก็ไป อยากรู้อยากลองอยากเข้าใจ เมื่อเห็นเธอพบเจอความทุกข์ทรมานก็ต้องการช่วยเหลือ จดจำภาพของผู้ชายไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต

ความผิดหวังในรักครั้งแรก สร้างความรวดร้าวทุกข์ทรมานให้กับหญิงสาวล้นพ้น เพราะความที่ตนเองยังมิได้รับรู้เข้าใจอะไรทั้งนั้น แต่จำต้องพลัดพรากแยกจาก ชีวิตดำเนินต่อไปอย่างเงียบเหงาเศร้าซึมไร้สีสัน แต่เมื่อวันหนึ่งโอกาสหวนกลับคืนมา ได้พบเจอ Carol อีกครั้ง เธอจึงทำตัวเหมือนเด็กน้อย บอกปัดปฏิเสธทุกคำขอ แต่เมื่อแยกจากก็เกิดความโหยหา คำนึงถึง สุดท้ายก็มิอาจต้านทานเสียงเพรียกเรียกของหัวใจได้

สิ่งที่ผมหลงใหลในตัว Mara คือดวงตากลมโตจับจ้องมอง แววตาอันใสสื่อใคร่รู้อยากลอง และการพยายามทำปากบู่เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวละคร แต่พอเรื่องราวเดินไปเรื่อยๆก็จะเริ่มรู้สึกได้ว่า เธอกำลังพยายามเลียนแบบ Blanchett (ที่เป็นไอดอลของตนเองด้วย) ตัวละครค่อยๆแปรสภาพเปลี่ยนไป เติบโต เบิกบาน แรกแย้ม ได้อย่างน่ารักน่าชัง มีเสน่ห์น่าหลงใหล ในความเป็นตัวของตนเอง

ระหว่าง Blanchett กับ Mara กับเรื่องนี้ชอบใครมากกว่า? นี่ผมก็เลือกไม่ได้ ทั้งสองต่างเป็นขั้วตรงข้ามที่เติมเต็มกันและกันได้อย่างลงตัวสมบูรณ์แบบ ขณะที่ Mara เหมือนจะเปลืองตัวกว่า ส่วน Blanchett กลับเซ็กซี่กว่า ผู้ใหญ่กับวัยรุ่นสาว ผมอยู่ช่วงวัยกึ่งกลางของพวกเธอพอดีเลยนะ [คือถ้าคุณมีอายุมากหน่อย น่าจะชื่นชอบประทับใจ Blanchett ขณะที่วัยรุ่นเด็กๆ น่าจะหลงใหล Mara มากกว่า]

ทั้ง Blanchett กับ Mara ต่างทุ่มเทสมาธิ จิตวิญญาณให้กับหนังอย่างมาก ขณะซักซ้อมบทพูด หลายครั้งเสนอแนะผู้กำกับให้ตัดทอนประโยคสนทนาออกไป ใช้สายตา ภาษากาย สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาจะทรงพลังกว่า ซึ่งขณะหนึ่งที่ผมชอบมากๆ ณ ร้านอาหารช่วงท้าย หลังจากพูดปัดปฏิเสธมาหลายครั้ง คำถามสุดท้ายของ Carol ต่อ Therese เลือกที่จะเงียบสงัดก้มหน้าไม่พูดตอบ That’s that! เข้าใจได้โดยทันทีว่าหมายถึงอะไร

ถ่ายภาพโดย Edward Lachman สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Haynes ผลงานเด่น อาทิ Erin Brockovich (2000), Far From Heaven (2002), A Prairie Home Companion (2006), I’m Not There (2007) ฯ

เพื่อให้ได้สัมผัสของยุค 50s ใช้กล้อง Super 16 mm ใส่ฟีล์ม 35 mm สังเกตว่าภาพถ่ายจะมี Noise/Gain ความหยาบมากพอสมควร และการล้างฟีล์มจะได้โทนสีที่ออกมาแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

สามโทนสีเด่นๆของหนังประกอบด้วย น้ำตาลอ่อน/ส้ม ให้สัมผัสความอบอุ่น ร่าเริง สดใส

สีฟ้า/น้ำเงิน มักเป็นช่วงเวลาที่มีความหนาวเหน็บ ทุกข์ทรมาน เย็นยะเยือกทางกายหรือใจ

และสีเขียว แทนด้วยความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว มักเป็นสีของความโชคร้าย อันตรายที่ย่างกรายเข้ามา

ฉากที่เซ็กซี่สุดในหนัง คือการนัดเดทแรกของ Carol กับ Therese ไฮไลท์คือระยะของภาพ ซึ่งจะแสดงถึงความใคร่สนใจในตัวกันและกันของทั้งคู่ (หนังจะตัดสลับไปมาในมุมของทั้ง Carol กับ Therese แต่ผมขอเลือกในสายตาของ Therese แคปมาให้ดูแล้วกัน)

ในช็อตแรกสุดเหมือน Long Shot มีพื้นที่ช่องว่างเหลือมากมาย สื่อแทนได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนแปลกหน้าทั้งสองที่ยังไม่รู้จักกันสักเท่าไหร่

แต่พอเริ่มแนะนำตัว รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันเบื้องต้น เป็นภาพ Medium-Shot ระยะที่บ่งบอกถึงความใคร่สนใจ กำลังค่อยๆเรียนรู้จักตัวตนของอีกฝ่าย

ภาพ Close-Up ใบหน้า ทำให้สามารถมองเห็นประกายแสงหนึ่งในดวงตา แม้อีกครึ่งช็อตจะยังมืดดำมิด (คือก็ยังไม่รู้จักอะไรกันมากมาย) แต่เบื้องต้นกับระยะภาพใกล้ชิดขนาดนี้ ถือได้ว่าทั้งสองตกหลุมรักชอบพอ จับจ้องมองกันและกันโดยเริ่มไม่สนสิ่งอื่นใดรอบข้าง

ฉากเลิฟซีน เริ่มต้นที่สองสาวจับจ้องมองกันและกันในกระจก สะท้อนความต้องการแท้จริงในใจของตนเองออกมา, สังเกตว่าฉากนี้ใช้แสงสีเขียว แทนที่จะเป็นโทนสีส้มอบอุ่นสะท้อนความสุขของทั้งคู่ นั่นเพราะการร่วมรักครั้งนี้สุดท้ายแล้วให้ทุกข์มากกว่าสุข มีนักสืบแอบติดเครื่องดักฟังอยู่ห้องข้างๆ

อยากให้สังเกตลีลารักของทั้งคู่ด้วย Mara จะถอดเสื้อเปลือยอกออกก่อน นอนอยู่เบื้องล่างให้ Blanchett ขึ้นค่อมบรรเลงเพลงรัก ยินยอมให้มีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือกว่า ซึ่งหนังจะไม่มีการถ่ายภาพตำแหน่งอื่นเลยนอกเหนือจาก Close-Up ใบหน้าของทั้งสอง (เต็มที่ก็แค่หน้าอก) สะท้อนนัยยะการร่วมรักครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ความสุขกายทางเพศ แต่คืออารมณ์ที่’เหนือ’กว่าคือสุขใจของทั้งคู่

“My angel. Flung out of Space.”

ประโยคนี้ไม่ได้มาจากศัพท์สำนวนไหนนะครับ ความหมายน่าจะประมาณว่า ‘สุดที่รักของฉัน หล่นจากฟากฟ้านภาลัย’ เป็นเสมือนคำเรียกรักของ Carol นิยามให้ชื่อเล่นกับ Therese ว่ามีความพิเศษสุดไม่เหมือนใคร

ว่ากันตามตรง Therese ในช่วงขณะนี้ ประหนึ่งเป็นเพียง Sideline (ด้านข้าง) ในชีวิตของ Carol เท่านั้น เพราะเธอยังไม่โตพอจักเข้าใจวิถีชีวิตหรือพึ่่งพาตัวเองได้ จึงมีหน้าที่เพียงรับและไม่ปฏิเสธสิ่งที่ได้มา

แต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ประโยคหนึ่งของหนังที่ผมชื่นชอบมากๆ

“I took what you gave willingly.”

ช็อตนี้เจ๋งมากๆ ก็ไม่รู้รถยนต์สมัยก่อนกระจกหน้ามันจะสร้างเหล็กตรงกลางมาเพื่ออะไร? แต่นัยยะแบ่งซีกซ้ายขวา Carol บุกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของ Therese เรียบร้อยแล้ว

ความเศร้าเสียใจจากการแยกจาก ไม่ได้พบเจอกัน (ชั่วขณะหนึ่ง) ทำให้ทุกสิ่งอย่างรอบข้างของ Therese เย็นยะเยือก หดหู่ ทุกข์ทรมานเศร้าหมอง

มีช็อตหนึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกตเพราะไม่มีบทพูดสักประโยค ต้องสังเกตจากสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพ Therese เลิกกับแฟนหนุ่ม ช็อตนี้เจ๋งมากๆตรงเลือกกิ่งไม้ไร้ใบ ไร้ความสุขสดชื่น ร่วงโรยรา

และสถานที่ทั้งสองแยกจากกันอยู่ตรงใต้สะพาน สัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงสองฝากฝั่ง(ความสัมพันธ์) ขณะที่หญิงสาวยืนนิ่งอยู่เฉยๆ ชายหนุ่มเดินจากไปด้วยการลัดเลาะเลียบคลองสู่ความคดเคี้ยวของชีวิต

ภาพเบลอๆหลุดโฟกัสของน้ำฝน เห็นเป็นดวงกลมๆสะท้อนแสงสีรุ้งขณะมองออกไปนอกกระจกรถ, นัยยะของฉากนี้ คือความเศร้าเสียใจ (ในจิตใจของ Therese) อาบด้วยคราบน้ำตา เบลอๆพร่ามัว มองเห็นอะไรไม่ชัดเจน

ช็อตที่มีความน่าสนเท่ห์สุดของหนัง เพราะหัวใจของมนุษย์มีอยู่ 4 ห้อง การเลือกหน้าต่างที่แบ่งช่องออกเป็นสี่ ย่อมมีนัยยะสะท้อนถึงภายในกรอบจิตใจของมนุษย์ บุคคลที่อาศัยอยู่ย่อมสะท้อนถึงตัวตนความต้องการ นี่ทำให้ภาพนี้ในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่งมีความสวยงามคลาสสิกมากๆ

นัยยะของช็อตนี้ เพราะ Therese เลือกปฏิเสธทุกสิ่งอย่างของ Carol จิตใจของทั้งสองจึงเริ่มห่างออกจากกัน, หรือจะมองว่าหญิงสาวเหงาๆคนหนึ่งในงานปาร์ตี้นี้ กำลังเฝ้ามองให้ความสนใจ Therese อยู่ห่างๆ

สองช็อตจบสุดท้ายของหนัง ทำเอาหัวใจของผมสั่นสะท้าน เต้นระริกรัว หายใจไม่ทั่วท้อง เป็นสุขเอ่อล้น

กล้องค่อยๆเคลื่อนออกอย่างสั่นๆจาก Therese นัยยะถึงอาการสั่นเทิ้มหวาดกลัว แต่ก็พร้อมแล้วที่จะให้อภัยกับทุกสิ่งอย่าง ดวงตาลอยๆมีแสงสว่างหนึ่งเดียว นั่นก็คือ Carol ที่ฉันต้องการ

ขณะที่ช็อตของ Carol พอมองเห็น Therese มีสีหน้าแปลกประหลาดใจนิดๆ เอียงคอหน่อยๆ ริมฝีปากค่อยๆเผยรอยยิ้ม กล้องเคลื่อนเข้า ‘มาหาสิ สุดที่รักของฉัน (Flung out of space.)’

หลายคนอาจไม่ทันสังเกต หนังเรื่องนี้มีการใช้ Visual Effect ค่อนข้างเยอะทีเดียว เพราะต้องทำการลบเลือนพื้นหลังยุคสมัยปัจจุบัน ให้กลายเป็น New York ทศวรรษ 50s นี่ต้องชมเลยว่ามีความแนบเนียนแยกไม่ออก ถ่ายทำจริง 34 วัน แต่ Post-Production ยาวนานถึง 7 เดือน

ตัดต่อโดย Affonso Gonçalves ยอดฝีมือสัญชาติ Brazilian ผลงานเด่นอาทิ Winter’s Bone (2010), Beasts of the Southern Wild (2012) ฯ เคยร่วมงานกับ Haynes ในมินิซีรีย์ Mildred Pierce (2011) เลยชักชวนให้มาร่วมงานกันอีก

เริ่มต้นที่ชายคนหนึ่ง เดินเข้าไปในบาร์/ร้านอาหาร พบเจอเข้าไปทักทายสองสาวนั่งสนทนาอยู่ที่โต๊ะ จากนั้นในมุมมองของ Therese ขณะอยู่ในรถมองออกไปนอกกระจก หวนระลึกนึกย้อนทบทวนเหตุการณ์ความทรงจำในอดีตที่เคยบังเกิดขึ้นกับตนเอง

ดำเนินเรื่องผ่าน Flashback ภาพความทรงจำของ Therese นับตั้งแต่แรกพบเจอกับ Carol ที่แผนกขายของเล่นห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ดำเนินไปเรื่อยๆจนบรรจบกับปัจจุบัน นี่เท่ากับว่าเรื่องราวของหนัง เป็นการทบทวนค้นหาความต้องการแท้จริงในใจของหญิงสาว ฉันยังคงมีความรัก ความต้องการใช้ชีวิตร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Carol หรือจะสิ้นสุดยุติความสัมพันธ์ทุกสิ่งอย่างลงตรงนี้

ผมค่อนข้างชอบวิธีการนำย้อนสู่ Flashback ของหนัง ใช้รถไฟของเล่นวิ่งผ่านตัดหน้า, รถไฟเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต การเดินทาง ชวนให้นึกถึงหนังเรื่อง Back to the Future ภาคสามที่รถไฟยังสามารถเดินทางข้ามเวลาได้อีกด้วย

ฉบับแรกสุดของหนังความยาว 2 ชั่วโมงครึ่ง ถูกเล็มนี่โน่นนั่นออกค่อนข้างเยอะ จนเหลือเพียง 118 นาที คงเหลือแค่ใจความสำคัญๆที่สุดของหนังเท่านั้น หลายฉากหายไปอาทิ การสนทนาระหว่าง Abby กับ Carol/Therese หรือแม้แต่ Sex Scene ของ Therese กับแฟนหนุ่มก็ถูกตัดออก แอบหวังว่าผู้กำกับจะคิดทำ Director’s Cut ออกมานะ

“We cut a lot of scenes; it was too long, and they were all well-performed and nicely shot—we never, in my opinion, cut things because they were poorly executed. It was just a paring-down process, which all movies do.”

เพลงประกอบโดย Carter Burwell นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกา ขาประจำของสองพี่น้อง Coen ผลงานเด่นอาทิ Miller’s Crossing (1990), Fargo (1996), Being John Malkovich (1999), Adaptation (2002), Where the Wild Things Are (2009), Anomalisa (2015) ฯ

สไตล์งานเพลงของ Burwell คือ Minimalist บรรเลงบทเพลงนุ่มๆเบาๆฟังสบาย แต่มีความลุ่มลึกหนักแน่นทรงพลัง สะท้อนอารมณ์และบรรยากาศของหนังออมาได้อย่างลงตัว, หลายคนอาจมีความรู้สึกให้สัมผัสคล้ายกับผลงานเพลงของ Phillip Grass ก็เห็นว่าเป็นไอดอลของผู้แต่งเลยละ

ถ้าปีนั้น Oscar: Best Original Score ไม่มี Ennio Morricone จาก The Hateful Eight (2015) เป็นตัวเต็งหนึ่งต้องได้รางวัล ก็น่าจะเป็นหนังเรื่องนี้แหละที่มีสิทธิ์ลุ้น

เสียงเครื่องดนตรีที่ทำให้ผมคลั่งสุดในบทเพลง Opening คือ คาริเน็ต เกิดความสั่นสะท้านขึ้นในหัวใจ นัยยถคือความต้องการบางอย่างที่แอบซ่อนอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์/ตัวละคร คลอเคลียด้วยเสียงฮาร์ป (มักดีดรัวๆด้วยจังหวะ 1-2-3) ส่งความยั่วเย้ายวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล หลงติดกับ, บทเพลงนี้ ราวกับบทกวีที่สามารถพรรณาเล่าเรื่องราวโดยย่อ มอบสัมผัสทางอารมณ์ และสร้างบรรยากาศให้หนัง มีกลิ่นอายไปในทำนองนี้

บทเพลง Time ของ Inception ต้องชิดซ้ายไปเลย เมื่อพบกับความ Minimalist ของบทเพลง The End ความรักที่ค่อยๆทวีความเร่าร้อนรุนแรงทรงพลังขึ้นเรื่อยๆ ไวโอลินประสานเสียงไล่โน๊ตขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับฮาร์ปและเปียโน จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งเสียงเดี่ยวไวโอลินประสานเสียงกับคาลิเน็ต สอดคล้องรับเข้ากันได้อย่างลงตัว ว่าไปก็เหมือนคู่รัก Therese กับ Carol ที่ ณ จุดนี้ ก็ราวกับได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

สำหรับบทเพลงที่ Rooney Mara เดี่ยวเปียโนมีชื่อว่า Easy Living เป็นเพลง Jazz Standard แต่งโดย Ralph Rainger กับ Leo Robin เพื่อใช้ในหนังเรื่อง Easy Living (1937) กำกับโดย Mitchell Leisen นำแสดงโดย Jean Arthur

แผ่นครั่งที่ Therese ซื้อให้กับ Carol ขับร้องโดย Bille Holiday (1915 – 1959) นักร้องผิวสีสัญชาติอเมริกัน เจ้าของฉายา Lady Day ด้วยน้ำเสียงแหบหยาบ หม่นเศร้า มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร ร่วมกับวงดนตรีบรรเลงของ Teddy Wilson (1912 – 1986) นักเปียโน Jazz ผิวสีสัญชาติอเมริกัน ผู้ให้นิยาม ‘swing pianist’ ตำนานระดับเดียวกับ Louis Armstrong, Benny Goodman, Ella Fitzgerald ฯ (บ้างเรียกเขาว่า Jazz God เลยนะ)

ใจความของบทเพลงนี้ไม่มีอะไรเลยนะ เพราะฉันรักเธอ เธอก็รักฉัน เราอาศัยอยู่ด้วยกัน อย่างเรียบง่ายไม่มีอะไรต้องเสียใจ, แต่โดดเด่นที่สัมผัส ลีลาการร้อง น้ำเสียง และสไตล์ดนตรีมากกว่า โดยเฉพาะเสียงคาริเน็ต ที่น่าจะเป็นอิทธิพลสำคัญต่อเพลงประกอบหนังเรื่องนี้อย่างยิ่งเลยละ

ถึงหนังจะชื่อ Carol แต่เล่าเรื่องในมุมมองของ Therese หญิงสาวที่จับจ้องมองความสง่างามของสุภาพสตรีคนหนึ่ง ตกหลุมรักคลั่งไคล้ ยินยอมพลีกายถวายตัวเองเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นของเธอ แต่เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ความฝัน ออกเดินทางไกลแค่ไหนก็หนีไม่พ้น จนกว่าจะถึงจุดสิ้นสุดภาระของอดีต ค่อยมีโอกาสเริ่มต้นพบเจอกันใหม่อีกครั้ง

แต่อดีตที่ว่านี้ของ Carol ช่างเลวร้ายกาจรุนแรงยิ่งนัก ด้วยสามีที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัวแอบโรคจิต ต้องการครอบครองเป็นเจ้ากายใจ ทั้งๆที่ก็รับไม่ได้กับพฤติกรรมสำส่อนรักร่วมเพศ พยายามยื้อเหนี่ยวรั้งหาข้ออ้างสุดโต่ง จนในที่สุดหญิงสาวก็อดรนทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ยินยอมรับความพ่ายแพ้ แล้วขอไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับชีวิตที่เป็นของตนเอง

สำหรับ Therese แฟนหนุ่มของเธอแทบไม่ต่างอะไรกับสามีของ Carol ต้องการครอบครอง ครอบงำ เป็นเจ้าของตัวเธอ แต่เพราะยังไม่ได้แต่งงานครองคู่อยู่ร่วมกัน ทำให้ต่างมีอิสรภาพที่จะเลือกทำตามความต้องการใจตัวเอง ซึ่งหลังหญิงสาวได้พบเห็นสิ่งเกิดขึ้นกับ Carol มันจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัดสินใจอะไรกับความสัมพันธ์นี้

สุดท้ายแล้วทั้ง Carol และ Therese ต่างเลือกสนองความต้องการของหัวใจเหนือสิ่งอื่นใดในชีวิต นี่ถือเป็นคำตอบสุดคลาสสิกของหนังเกย์ทั้งหลาย ผมรับชมมากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ต่างก็พยายามนำเสนอคำตอบนี้ เพื่อต้องการสั่งสอนชี้แนะชักนำ ให้กับคนที่ยังมีความลังเลไม่แน่ใจ จงเลือกทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของตนเอง มากกว่าสนเสียงหมูหมากาไก่ หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจความครอบงำจากใคร

หนังเรื่องนี้น่าจะทำให้ผู้ชายหลายๆคนเกิดอาการสั่นสะท้านไปถึงทรวง ภรรยามีชู้ก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเลสเบี้ยนกับผู้หญิงอื่น เอ็นอุ่นๆที่ฉันมีมันไม่ได้สร้างความสุขให้เธอเลยใช่ไหม คิดแล้วมันคงรวดร้าวทรมานใจ รสนิยมทางเพศแบบนี้ยินยอมรับกันไม่ง่ายสักเท่าไหร่

แต่ผมกลับไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่กับถ้ามันจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ตรงกันข้ามมองผู้ชายขี้หึงหวง รับไม่ได้ แถมพยายามบีบบังคับ ไม่ยอมรับนับถือตัวตนของผู้อื่น เป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่รู้จักปล่อยวางชีวิต หรือแม้แต่มิได้เข้าใจความหมายแท้จริงของ ‘ความรัก’ นี่อาจถือเป็นแนวคิดของคนหัวก้าวหน้าสักหน่อย แต่ไม่เลยนะ เป็นทัศนะที่อิงจากพุทธศาสนาสอนให้เราเดินทางสายกลาง รักมากหลงมากก็ย่อมทุกข์หนัก ยึดติดก็มีแต่ถลำลึก อะไรมันจะเกิดก็อยู่ที่ผลของกรรม เพราะเราเคยคบชู้มากรักกับผู้อื่น มาชาตินี้เลยถูกภรรยาดัดหลังสู่ชาย กรรมสนองกรรมไม่เห็นเข้าใจยากตรงไหน

แบบคิดเล่นๆ ผมว่ามันเป็นโอกาสอันดีเสียอีกนะ สามีที่รับรู้ว่าภรรยาเป็นเลส แล้วเปิดใจยอมรับไม่ปฏิเสธปิดกั้น รสชาดชีวิตรักของพวกเขาคงสดใหม่อยู่ตลอดเวลา มีโอกาสลิ้มลองฮาเร็ม Threesome บลาบลาบลา

ทิ้งท้ายกับสิ่งที่ฟังดูไร้สาระแต่คือสัจธรรมความจริง ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ เป็นแนวคิดที่มนุษย์อุปโลกน์สร้างขึ้นเพื่อคำกล่าวอ้างความมีคุณธรรม ยกยอปอปั้นชาติพันธุ์ของตนเองว่ารักเดียวใจเดียวแล้วเป็นมนุษย์ระดับสูงกว่า ในทางพุทธศาสนาไม่ได้มีเขียนจำกัดไว้เลยนะครับว่า ชาย/หญิง แต่งงานมี ภรรยา/สามี ได้ทั้งหมดกี่คน เพียงแนะนำให้รักษาถือศีลข้อ ๓ ไม่ไปแก่งแย่ง ลักลอบแอบเป็นชู้ ผิดผัวเมียผู้อื่นเท่านั้น ดูจากพระมหากษัตริย์ไทยสมัยก่อนเป็นแบบอย่าง สมัยเรียนผมก็ฉงนไปทำไมนางสนมเยอะจัง แล้วมันไม่ผิดศีลเหรอ?? ก็ถ้าแต่งงานถูกต้องตามประเพณีมันจะไปผิดอะไร แต่เห็นกำลังอาจมีกฎหมายห้ามมีเมียน้อย ก็ว่ากันไปตามยุคสมัย

ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยืนปรบมือ (Standing Ovation) นานกว่า 10 นาที เป็นตัวเต็งคว้ารางวัลใหญ่แต่ได้มาเพียง
– Best Actress (Rooney Mara) เสมอกับ Emmanuelle Bercot จากเรื่อง My King (2015)
– Queer Palm ได้รับคำนิยมว่า

“The film we’ve chosen to award is more than a movie, it’s a moment in history. The first time a love story between two women was treated with the respect and significance of any other mainstream cinematic romance. For its heartbreaking performances, stunning mise-en-scene, and overall mastery of craft we are proud to award CAROL with the Queer Palm.”

ด้วยทุนสร้าง $11.8 ล้านเหรียญ ทำเงินรวมทั่วโลก $40.3 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 6 สาขา ไม่ได้สักรางวัล ประกอบด้วย
– Best Actress (Cate Blanchett)
– Best Supporting Actress (Rooney Mara)
– Best Writing, Adapted Screenplay
– Best Cinematography
– Best Costume Design
– Best Original Score

ถูก SNUB อย่างรุนแรงในสาขา Best Picture น่าจะเพราะความที่เป็นหนัง LGBT น่าแปลกใจที่ ชาย-ชาย พอรับได้แล้ว แต่หญิง-หญิง ยังถูกมองข้าม

และการที่ Rooney Mara ได้เข้าชิงเพียง Best Supporting Actress เพราะสตูดิโอมองว่าจะทำให้เธอมีโอกาสลุ้นรางวัลมากกว่าที่จะแข่งขันกันเอง นี่เป็นเรื่องน่าน้อยใจมากๆทีเดียวนะ

ไม่มีอะไรในหนังเรื่องนี้ที่ผมจะไม่ชื่นชอบประทับใจ หลงใหลคลั่งไคล้ในแทบทุกสิ่ง แต่ที่โดดเด่นเป็นประกายเจิดจรัสจ้า คือการแสดงของทั้ง Cate Blanchett กับ Rooney Mara ราวกับมีพลังแม่เหล็กบางอย่างที่ดึงดูดติดแน่น ไม่มีวินาทีไหนอยากคลาดสายตาไปจากพวกเธอแม้แต่น้อย

แนะนำกับคอหนังรักโรแมนติก หญิง-หญิง หวานฉ่ำ, แฝงแนวคิดการใช้ชีวิต ครอบครัว, ภาพสวยๆ กินบรรยากาศ บทเพลงนุ่มลึกทรงพลัง, แฟนๆผู้กำกับ Todd Haynes และชื่นชอบการแสดงของ Cate Blanchett, Rooney Mara ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

จัดเรต 13+ กับความรักหญิง-หญิง เลิฟซีน และความเห็นแก่ตัวของผู้ชาย

TAGLINE | “Carol ของผู้กำกับ Todd Haynes ได้ทำให้ความรักอันสง่างามของ Cate Blanchett กับ Rooney Mara เอ่อล้นออกมานอกจอภาพยนตร์”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: