Carrie

Carrie (1976) hollywood : Brian De Palma ♥♥♥♥

ดัดแปลงจากนิยายเรื่องแรกของ Stephen King ที่ได้สะท้อนความหวาดสะพรึงกลัวของอิสตรีเพศออกมา, เรื่องราวของเด็กหญิงสาวแรกรุ่น Carrie ถูกเพื่อนหัวเราะเยาะเย้ยจากการมีประจำเดือนครั้งแรก กลั่นแกล้งหลอกให้ตายใจสารพัด แต่เลวร้ายที่สุดคือทำให้อับอายขายหน้าในค่ำคืน Prom Night เธอจึงได้แสดงบางสิ่งอย่างออกมาที่จะทำให้คุณหัวเราะไม่ออก

ผมไม่เคยรับชม Carrie (2013) ที่นำแสดงโดย Chloë Grace Moretz เลยบอกไม่ได้ว่าเทียบกับต้นฉบับนี้ได้มากน้อยเพียงใด แต่จากคำของเหล่านักวิจารณ์ที่ออกมา น่าจะเป็นตอบได้อย่างดีว่าอย่าไปเสียเวลาหามารับชมดูเลยนะครับ ชะตากรรมที่คาดเดาได้ของหนัง remake แต่เห็นว่าหนังทำกำไรได้พอสมควร หรือใครเป็นแฟนๆของน้อง Moretz ก็ลองเสี่ยงดูเองแล้วกัน

สิ่งน่าทึ่งของต้นฉบับ Carrie (1976) สามารถชักจูง หลอกล่อ นำทางให้ผู้ชมรู้สึกอิ่มเอิบ หัวใจพองโต ไปถึงจุดปลอดภัย Safe Zone แล้วทำการฉุดกระชาก แวงกัด ถูกธรณีสูบลงขุมนรก แค่เพียง 20 นาทีสุดท้ายของหนังกับความ Horror ที่ประดาทังเข้ามา สามารถบดขยี้หัวใจของคุณให้แหลกสลายเป็นผุยผง อาจถึงขั้นนอนไม่หลับ จดจำภาพติดตาขึ้นมาได้ทันที

Brian Russell De Palma (เกิดปี 1940) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Newark, New Jersey ครอบครัวมีเชื้อสาย Italian ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านคอมพิวเตอร์ เคยคว้ารางวัล Science-Fair จากโปรเจค ‘An Analog Computer to Solve Differential Equations’ เข้าเรียน Columbia University สาขาฟิสิกส์ แต่พอได้รับชม Citizen Kane (1941) และ Vertigo (1959) เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ในภาพยนตร์ เข้าเรียน Sarah Lawrence College โรงเรียนหญิงล้วนที่เพิ่งเปิด Coed ปีแรกๆ De Palma เป็นหนึ่งในผู้ชายไม่กี่คน รายล้อมด้วยหญิงสาววัยรุ่นมากมาย

เริ่มมีผลงานหนังทุนสร้างต่ำ ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 60s แต่กว่าจะได้ออกฉาย Murder a la Mod (1968), Greetings (1968) เริ่มสร้างหนัง Hollywood จาก Get to Know Your Rabbit (1972) ได้รับคำวิจารณล้นหลามเรื่อง Sisters (1973) ถือเป็นทศวรรษแห่ง American New Wave รุ่นเดียวกับ Francis Ford Coppola, Martin Scorsese, John Carpenter, Paul Schrader, Steven Spielberg ฯ

ประมาณปี 1975, De Palma ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่งให้อ่านนิยายเรื่อง Carrie (1974) เขียนโดย Stephen King ที่ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียงใดๆ เกิดความชื่นชอบประทับใจอย่างมาก พยายามค้นหาว่ามีใครซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงหรือยัง ใช้เวลากว่า 6 เดือนถึงได้พบตัวโปรดิวเซอร์ Paul Monash รีบเข้าไปพูดคุยแสดงความสนใจ ก็พบว่าโปรเจคอยู่ในขั้นตอนการเขียนบทแล้ว ใช้เส้นสายเล็กน้อยกับ United Artists ทำให้ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้

เกร็ด: Carrie เป็นนิยายเรื่องแรกของ King ที่ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์

Carrie เป็นนิยายเรื่องที่ 4 ของนักเขียนสัญชาติอเมริกา Stephen King แต่เป็นเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์ Doubleday วางขายวันที่ 5 เมษายน 1974, แรงบันดาลใจของนิยายเรื่องนี้ เป็นคำท้าทายจากผู้หญิง (ไม่แน่ใจว่าภรรยาของเขาหรือเปล่า)

“You write all those macho things, but you can’t write about women.”

King รับคำท้าทาย พัฒนาเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีพลังจิต(เคลื่อนย้ายสิ่งของได้) ขณะพบว่าตัวเองมีประจำเดือนครั้งแรก เพื่อนๆกลับหัวเราะเยาะเย้ย โยนผ้าขนหนูใส่, หลังจากเขียนฉากอาบน้ำได้ 3-4 หน้า ก็ตัดสินใจขยำโยนทิ้งถังขยะ, ภรรยาของ King คงได้หยิบอ่านขณะกำลังนำขยะไปทิ้ง มีความชื่นชอบสนใจ เลยให้กำลังใจเขาเขียนต่อ ช่วยเหลือแนะนำเรื่องราวในมุมมองของหญิงสาว

“I persisted because I was dry and had no better ideas… my considered opinion was that I had written the world’s all-time loser.”

ขณะที่ King เขียนนิยายเล่มนี้ ยังทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ Hampden Academy และรับงาน part-time เฝ้าถังซักผ้า มีชีวิตดิ้นรนลำบากยากแค้น แต่ทันทีที่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ ปีแรกมียอดขายกว่า 1 ล้านฉบับ ก็ตัดสินใจลาออกมาทุ่มเวลาให้กับการเขียนทันที

ปีถัดมา King ได้รับการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยได้รับเงินเพียง $2,500 เหรียญ น้อยมากเมื่อเทียบกับความสำเร็จของหนัง กระนั้นเขาก็ไม่มีความเสียใจหรือเรียกร้องอะไรเพิ่ม

“I was fortunate to have that happen to my first book,”

เพราะหนังเรื่องนี้ได้ทำให้ชื่อของ Stephen King เป็นที่รู้จักไปทั่วอเมริกา(และทั่วโลก) นิยายขายดีติดอันดับ หลายๆเรื่องได้รับความสนใจ ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงต่างๆมากมาย

Carietta ‘Carrie’ White (รับบทโดย Sissy Spacek) หญิงสาวอายุ 16 ปี อาศัยอยู่ Chamberlain, Maine ร่วมกับแม่ Margaret (รับบทโดย Piper Laurie) ผู้คลั่งไคล้ศาสนาอย่างขีดสุด พยายามเสี้ยมสอน ปลูกฝังความหวาดกลัวเกี่ยวกับเลือดและผู้ชาย แต่ Carrie กลับคิดรู้สึกตรงกันข้าม กระนั้นก็ทำให้เธอไม่ค่อยมีเพื่อนที่โรงเรียน เป็นศัตรูกับ Chris Hargensen (รับบทโดย Nancy Allen) ที่จองล้างจองผลาญทุกอย่าง ขณะเดียวกัน Sue Snell (รับบทโดย Amy Irving) เป็นหญิงสาวเพียงคนเดียวที่ต้องการผูกสนิทเป็นเพื่อนกับเธอ

Mary Elizabeth ‘Sissy’ Spacek (เกิดปี 1949) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Quitman, Texas ตอนอายุ 6 ขวบได้ขึ้นแสดงละครเวทีโรงเรียนครั้งแรก มีความชื่นชอบหลงใหลจึงตัดสินใจเป็นนักแสดง ตอนเรียนมัธยมที่ Quitman High School งาน Prom Night ได้รับเลือกเป็น Homecoming Queen เข้าเรียนการแสดงที่ Actors Studio กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของโรงงาน Andy Warhol มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Badlands (1973) ผลงาน debut ของผู้กำกับ Terrence Malick, คว้า Oscar: Best Actress จากเรื่อง Coal Miner’s Daughter (1980) ผลงานเด่น อาทิ 3 Women (1977), Raggedy Man (1981), Missing (1982), The River (1984), Crimes of the Heart (1986), JFK (1991), In the Bedroom (2001), The Help (2011) ฯ

รับบท Carrie White เด็กหญิงสาวแรกรุ่นผู้โคตรโชคร้าย เกิดเติบโตในครอบครัวที่แม่มีอคติกับเพศชาย ไปโรงเรียนก็ถูกกลั่นแกล้ง ไร้เพื่อน รอบตัวเต็มไปด้วยศัตรู แต่เมื่อค้นพบความแตกต่างของตัวเอง มีพลังจิตสามารถควบคุมสิ่งของต่างๆ ทัศนคติหลายๆของเธอก็กำลังค่อยๆเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น แต่แล้ว…

ถึงตอนถ่ายทำ Spacek จะอายุ 25 ปีแล้ว แต่ยังมีเรือนร่าง ใบหน้าเหมือนเด็กหญิงสาววัยรุ่นอายุ 16 ปี สายตาของเธอครึ่งแรกเต็มไปด้วยความสดใส อ่อนโยน ซื่อบริสุทธิ์ จากใจจริงแท้ รอยยิ้มที่ทำให้หนุ่มๆทั้งหลายหัวใจแทบละลาย ไม่เคยคิดว่าผู้หญิงเนิร์ดๆอย่างเธอจะมีมุมเจ้าหญิงแบบนี้ด้วย แต่กับ 20 นาทีสุดท้าย ความหวาดหวั่นกลัว อับอายขายขี้หน้า แปรสภาพกลายเป็น Trauma ดวงตาพองโตแทบไม่กระพริบ ร่างกายสั่นเทิ้ม ความหวาดกลัวแผ่ซ่านออกมาได้น่าขนหัวลุกพอง แค่นี้ก็เพียงพอให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress เป็นครั้งแรก

เกร็ด: ช็อตช่วงท้าย ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องเป็นมือของ Spacek แต่เธอยืนกรานจะขอเล่นเอง ถูกกลบฝังอยู่ใต้ก้อนหินพร้อมกับหลอดหายใจ เมื่อถึงจังหวะนั้นก็…

Piper Laurie ชื่อเดิม Rosetta Jacobs (เกิดปี 1932) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Detroit, Michigan ในครอบครัวชาว Jews โตขึ้นย้ายมา Los Angeles เข้าเรียนโรงเรียน Hebrew School เพื่อแปรสภาพความขี้อายของเธอให้กลายเป็นกล้าแสดงออก พ่อแม่จับให้เข้าเรียนการแสดงจนเริ่มมีความสนใจ เซ็นสัญญากับ Universal Trudios รุ่นเดียวกับ Julie Adams และ Rock Hudson เริ่มมีชื่อเสียงจาก Louisa (1950) ทำให้ได้ออกเดทกับว่าที่ ปธน. Ronald Reagan (แต่ Reagan เลือกแต่งงานครั้งที่ 2 กับ Nancy Davis) หลังจากได้เข้าชิง Oscar: Best Actress จากเรื่อง The Hustler (1961) ไม่มีงานหนังติดต่อเข้ามา ผันตัวเป็นนักละครเวที Broadway จนกระทั่งหนังเรื่องนี้ที่ได้หวนกลับคืนสู่จอเงินอีกครั้ง

รับบท Margaret White แม่ของ Carrie ที่หวนแหน รักคลั่งลูกสาวคนนี้มาก พยายามบังคับขู่เข็นให้มีความเชื่อเข้าใจเหมือนตนเอง เพราะความที่ถูกสามีทอดทิ้งไปมีหญิงอื่น ทอดทิ้งเธอและลูกให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวยากลำบาก ความผิดหวังในรักแปรสภาพกลายเป็นเกลียดชัง Trauma อันทำให้เกิดความหวาดกลัว รังเกียจ ต่อต้านผู้ชาย แต่ Carrie กลับเป็นลูกไม้หล่นไกลต้น ต้องการเป็นอิสระจากการถูกครอบงำ ครุ่นคิดแสดงออกเป็นตัวของตนเอง นี่ทำให้แม่รู้สึกผิดหวังในตัวเธออย่างมาก

การแสดงของ Laurie ระดับ Oscar เลยนะครับ (อย่างน้อยก็ได้เข้าชิง) เหมือนว่า Stephen King จะเชี่ยวชำนาญการเขียนตัวละครประเภท คลั่งศาสนาเป็นอย่างมาก (The Mist ก็อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเห็น) และนักแสดงที่รับบท สามารถทำให้คนคลื่นไส้ รังเกลียดต่อต้านได้ ย่อมต้องไม่ธรรมดาเช่นกัน, สายตาเงยมองด้านบน ปากพ่นพึมพัมคำสอน นี่มันการล้างสมองชัดๆ

Amy Davis Irving (เกิดปี 1953) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา ภรรยาคนแรกของผู้กำกับ Steven Spielberg เห็นว่าพบรักกันในกองถ่ายหนังเรื่องนี้ เกิดที่ Palo Alto, California ทั้งพ่อและแม่เป็นนักแสดง ทำให้ Irving เริ่มต้นการแสดงตั้งแต่อายุ 9 เดือน โตขึ้นเข้าเรียนที่ American Conservatory Theater ตามด้วย London Academy of Music and Dramatic Art มีผลงาน Off-Broadway ตอนอายุ 17, สำหรับภาพยนตร์ไป Audition ได้บท Princess Leia ใน Star Wars (1976) แต่ผู้กำกับ De Palma ขอแลกเธอกับผู้กำกับ George Lucas เพราะ Carrie Fisher ที่ได้บทในหนังเรื่องนี้ กลับไม่ยอมเล่นฉากเปลือย (ถือเป็นส้มหล่นของ Fisher ไปนะครับ)

รับบท Sue Snell แม้ตอนแรกจะเป็นหนึ่งในผู้กลั่นแกล้ง Carrie แต่ก็สำนึกกลับตัวได้ ต้องการเป็นเพื่อนเธอจากใจจริง ร้องขอให้แฟนหนุ่ม Tommy Ross ชักชวนเธอให้เป็นคู่เดท Prom Night คงเพราะมโนธรรมข้อนี้กระมังที่ทำให้เธอกลายเป็น …

De Palma เป็นเพื่อนสนิทรุ่นเดียวกับ Steven Spielberg เอ่ยปากชักชวนให้มาเยี่ยมกองถ่ายบ่อยๆ เพราะมีสาวๆอยู่เต็มไปหมด Spielberg มาแล้วก็เอ่ยปากชักชวนหญิงสาวทุกคนออกเดท แต่มีเพียง Irving คนเดียวเท่านั้นที่ยินยอมไปด้วย ทั้งคู่แต่งงานกันปี 1985 หย่าขาดปี 1989

Nancy Allen (เกิดปี 1950) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา ภรรยาคนแรกของผู้กำกับ Brian De Palma เกิดที่ The Bronx, New York City พ่อเป็นผู้หมวดที่ Yonkers ด้วยความขี้อายตั้งแต่เด็ก แม่จับเธอเข้าโรงเรียนสอนการเต้นตั้งแต่อายุ 4 ขวบ พัฒนาขึ้นเป็นความสนใจ เข้าเรียน High School of Performing Arts ตามด้วย Jose Quintano’s School for Young Professionals แต่จบออกมากลายเป็นนักแสดง มีผลงานตัวประกอบเล็กๆเรื่องแรก The Last Detail (1973) มีชื่อเสียงโด่งดังก็จากหนังเรื่องนี้

รับบท Chris Hargensen ศัตรูคู่อาฆาตของ Carrie คงเพราะความเป็นเด็กหญิงสาวหลงตัวเอง เอาแต่ใจ ถูกครอบครัวตามจนเสียคน แม้กับแฟนหนุ่มยังเล่นเร้าลีลา ยื้อยักไม่ยอมเสียตัวให้ พอจงเกลียดใครก็จงชังแบบต้องให้ตายไปข้าง

Allen เป็นนักแสดงคนสุดท้ายที่ De Palma เลือกเองกับมือ คงตกหลุมรักในอีกด้านของความใสซื่อบริสุทธิ์ ทั้งคู่แต่งงานกันปี 1979 หย่าขาดปี 1984

นี่ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ John Travolta ที่ได้รับบทสำคัญไม่ใช่แค่ตัวประกอบพื้นหลัง ในตอนแรกได้พิจารณารับบท Tommy Ross แต่ผู้กำกับเห็นมุมขบถเล็กๆในภาพลักษณ์เลยเปลี่ยนให้มารับบท Billy Nolan แฟนหนุ่มของ Chris Hargensen คงด้วยเหตุนี้ Travolta เลยติดภาพวัยรุ่น Bad Boy หล่อเท่ห์นิสัยเลวๆมาด้วย

Isidore Mankofsky เป็นตากล้องคนแรกของหนัง แต่เกิดความขัดแย้งทางความคิดสร้างสรรค์กับผู้กำกับ เลยเปลี่ยนเป็น Mario Tosi ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน มีผลงานเด่นอาทิ The Killing Kind (1973), Report to the Commissioner (1975), Carrie (1976), Sybil (1976) ฯ

หลายฉากของหนังมีความสว่างเบลอ High Key สโลโมชั่นราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์ ความฝัน Paradise อาทิ ในห้องอาบน้ำต้นเรื่อง, งาน Prom Night ให้สัมผัสที่อิ่มเอิบสดใส ฯ แต่เมื่อความชั่วร้ายบางสิ่งอย่างเกิดขึ้น งานภาพจะกลับตารปัตรตรงกันข้าม ความมืดเข้าครอบงำ รวดเร็วคมเข้มชัด Low Key บรรยากาศชวนให้ขนลุกขนพองสยอง

การเคลื่อนกล้องและสโลโมชั่นถือเป็นไฮไลท์ของหนัง มีหลายฉากเจ๋งๆ อาทิ
– ฉากอาบน้ำต้นเรื่อง กล้องจะค่อยๆเคลื่อนผ่าน แทรกตัวเข้าไปในห้องอาบน้ำ เห็นเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของสาวๆแบบสโลโมชั่นไม่มีปกปิดบังอะไร มาจนถึง Carrie ที่กำลังถูสบู่อาบน้ำ มีการยกมือขึ้นปกปิดเต้าปทุมถัน ของรักของสงวน เลื่อนกล้องจากขาขึ้นมาหยุดตรง… แล้วอยู่ดีๆเลือดประจำเดือนสีแดงก็ไหลออกมาอย่างน่าตกใจ
– การเคลื่อนกล้องด้านข้าง จะมีฉากขณะสาวๆถูกทำโทษออกกำลังกาย, Billy Nolan และเพื่อนๆ ขณะกำลังเดินไปฆ่าหมู ฯ
– การหมุนกลองมุมเงย 360 องศา ฉากที่ Tommy Ross เต้นรำกับ Carrie
– ไฮไลท์สุดสะพรึงของหนัง เมื่อสายตาของ Sue Snell พบเห็นเชือกพิศวงที่ผู้ติดกับอะไรบางอย่าง กล้องจะค่อยๆเคลื่อนตามเชือก/สายตา ของหญิงสาวไปจนพบเห็นความจริง
ฯลฯ

มีอยู่ 2-3 ช็อตที่ใช้เลนส์ชื่อว่า Split-Focus Diopter ภาพจะคมชั้นทั้ง 2 ฝั่งในระยะใกล้ไกล, อย่างช็อตในห้องเรียนนี้ สังเกตว่าผมของ Tommy จะเบลอๆ เพราะตกในช่วงเลนส์ระยะไกล เป็นการนำเสนอปฏิกิริยาของทั้งสองตัวละครไปพร้อมๆกัน มีความแตกต่างราวฟ้ากับเหว (Tommy มีความอับอายขายหน้าที่ได้ยินคำชมนี้ ส่วน Carrie คำพูดชมของเธอออกมาจากใจจริง)

นอกจากนี้ยังมีช็อตที่เป็น Iconic ของหนัง แต่ผมขอไม่นำภาพมาใส่นะครับ เพราะเป็นการสปอยรุนแรง มีทั้งหมด 3 ฉากที่ใครๆเห็นคงหลอนสะพรึงไม่แพ้กัน
– ฉากที่ Carrie เปื้อนเลือดบนเวที ดวงตาลุกโพลง โกรธแค้นเคือนทุกคนที่หัวเราะเยาะเย้ยเธอ
– การตายของแม่ที่เหมือนกับรูปปั้นของ Saint Sebastian (เปลี่ยนจากธนูปักเป็นมีดเครื่องครัว)
– และฉากเอื้อมขว้าแขนจากขุมนรก

ตัดต่อโดย Paul Hirsch ขาประจำของ De Palma และมีผลงานอย่าง Star Wars (1976), The Empire Strikes Back (1980), Footloose (1984), Mission: Impossible (1996), Ray (2004) ฯ หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่เน้นกับ Carrie ที่เป็นชื่อหนัง เล่าเรื่องในมุมมองบุคคลที่ 3

การเล่าเรื่องดำเนินไปของหนัง ได้ชักนำพาอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม/ตัวละคร ให้คล้อยตามไปกับเรื่อยราว เป็นสุข อิ่มเอิบ อบอุ่นใจ ก่อนถูกทรยศหักหลัง พลิกกลับตารปัตรในช่วงท้าย, ต้องชมเลยว่านี่เป็นการลำดับเรื่องราวได้เต็มเปี่ยมทรงพลัง ผลลัพท์ประสิทธิภาพสูงสุด

ช่วงการตัดต่อที่เป็นไฮไลท์คือ Split-Screen เดิมนั้น Hirsch ตัดให้ทั้ง Sequence ของ Prom Night เป็นการแบ่งหน้าจอทั้งหมด แต่ผู้กำกับ De Palma รู้สึกไม่โอเคเท่าไหร่ จึงลดทอนให้เหลือเพียงแค่ช่วงเวลาสำคัญๆ ขณะที่ Carrie ตัดสินใจล้างแค้นเอาคืนทุกสิ่งอย่างเท่านั้น

เพลงประกอบโดย Pino Donaggio นักแต่งเพลงสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่เพิ่งมีผลงานกับหนัง Don’t Look Now (1973) ตามมาด้วย Piranha (1978), Body Double (1984), Death Proof (2007) ฯ

เดิมนั้น De Palma ได้ติดต่อ Bernard Herrmann ที่เคยร่วมงานกันตอน Obsession (1976) แต่ขาประจำของ Hitchcock พลันด่วนเสียชีวิตไปก่อน ซึ่งผู้กำกับก็ขอให้ Donaggio นำเอาโน๊ตไวโอลิน 4 ตัว Theme ของ Psycho (1960) แทรกใส่ได้ยินในหนังอยู่เรื่อยๆ

บทเพลงส่วนใหญ่ของหนังแทบไม่มีกลิ่นอายของความ Horror ชวนให้ขนลุกขนพองอยู่เลย อย่าง Theme from Carrie ด้วยสัมผัสที่นุ่มนวล ล่องลอย ฟูฟ่อง (ได้ยินในฉากอาบน้ำ) เสียงฟลุตแทนด้วยความอิ่มเอิบ เป็นสุขล้น ราวกับความฝันที่ได้สมหวังกลายเป็นจริง

แต่แล้วความชั่วร้ายก็ค่อยๆคืบคลานเข้ามา Bucket of Blood เป็นบทเพลงไฮไลท์ที่ผมชื่นชอบมากๆ ขณะที่กล้องกำลังไล่ไปตามเส้นเชือก มันมีความหวั่นวิตก น่าสะพรึงกลัว หวาดเสียว หัวใจสั่นระริกรัว บางสิ่งอย่างมันกำลังจะเกิดขึ้นแน่ๆ โอ้! ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

บทเพลงคำร้องในงาน Prom Night ตอนที่ Carrie เต้นรำกับ Tommy แต่งคำร้องโดย Merrit Malloy ขับร้องโดย Katie Irving ชื่อเพลง I Never Dreamed Someone Like You (Could Love Someone Like Me)

 

Prom Night ค่ำคืนสุดท้าย งานเลี้ยงเพื่อเฉลิมฉลองเลิกลาความเป็น ‘เด็ก’ ของเหล่านักเรียนจบชั้นมัธยม หลายคนฝังใจเชื่อว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะนับจากนี้พวกเขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แยกย้ายออกเดินในเส้นทางสายความฝันของตนเอง ไม่มีทางหวนกลับคืนสู่อดีตวันวานอันหวานหอมนี้ได้อีก

ซึ่งการที่ Prom Night กลายเป็นค่ำคืนแห่งความอับยศ น่าอับอายขายขี้หน้าที่สุด มีนัยยะถึงการจบสิ้นสูญความเป็นผู้ใหญ่ ไม่มีทางที่ใครจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่น ความฝันอนาคตที่สวยสดใส ให้หวนกลับคืนมาได้ วิธีการเดียวเท่านั้นคือทำลายทุกสิ่งอย่างให้สิ้นสูญลงไปพร้อมเพียงกัน พอกันทีอนาคต

Carrie เป็นเรื่องราวที่สะท้อนความหวาดกลัวของเพศหญิงออกมาในเชิงรูปธรรม กลัวเลือด/ประจำเดือน กลัวการถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับการยอมรับ อกหักจากผู้ชาย อับอายขายขี้หน้า ฯ ความอึดอัดอั้นที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ได้รับการปลดปล่อยออกมาโดยพลังจิตของหญิงสาว เมื่อฉันอดรนทนต่อความทุกข์ทรมานนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เธอจึงระเบิดมันออกมา หน้ามืดตามัว ไม่สนถูกผิด จัดการทุกคนทุกสิ่งที่ขวางหน้า แม้แต่คนที่เคยให้การช่วยเหลือสนับสนุนดูแล และแม่ผู้เป็นรักยิ่งแต่กลับอาฆาตมาดร้าย เปลี่ยนไปเป็นคนละคน

เหตุการณ์ธรณีสูบ ผมไม่ค่อยแน่ใจนัยยะของศาสนาคริสต์เท่าไหร่ แต่สำหรับพุทธศาสนา มี 5 ครั้งในสมัยพุทธกาลที่เกิดธรณีสูบขึ้น อันประกอบด้วย
1. พระเทวทัต ที่จองล้างจองผลาญพระพุทธเจ้ามาช้านาน พยายามลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าหลายครั้งแต่มิเคยสำเร็จ ครั้งหนึ่งปล่อยหินหล่นทับพระพุทธเจ้า แต่หินกลับกระเด็นหนีอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทว่าสะเก็ดหินกลับไปถูกข้อพระบาทจนห้อเลือด ความชั่วร้ายต่างๆ ที่สะสมมาหลายชาติ ก็ได้บันดาลให้แผ่นดินลงโทษ เพราะไม่อาจจะแบกความชั่วไว้ได้ต่อไป แยกตัวออกสูบพระเทวทัตตกลงขุมนรกอเวจี
2. พระเจ้าสุปปพุทธะ พระบิดาของเจ้าชายเทวทัต ที่มีจิตอาฆาตแค้นพระพุทธองค์หลังจากโอรสของตนถูกธรณีสูบ จึงตั้งใจกลั่นแกล้งไม่ให้ไปบิณฑบาต ด้วยการเกณฑ์อำมาตย์ข้าราชบริพารไปนั่งเสพเมรัยขวางทางพระพุทธองค์ เมื่อเสด็จดำเนินผ่านไม่ได้ก็ทรงอดพระกระยาหาร 1 วัน พระอานนท์จึงทูลถามทราบโทษของพระเจ้าสุปปพุทธะ ‘ดูก่อนอานนท์ หลังจากนี้ไปนับได้ 7 วัน พระเจ้าสุปปพุทธะจะลงอเวจีตามพระเทวทัตไป’
3. นันทมานพ ผู้ความต้องการกามราคะฝังแน่นในใจมาช้านานต่อพระอุบลวรรณาเถรีที่ได้ออกบวชบรรลุอรหัตผล วันหนึ่งทราบข่าวว่าจำพรรษาอยู่ในกระท่อมกลางป่า แอบซ่อนตัวรออยู่จนถึงเช้าอยู่ใต้เตียงนอนในกระท่อม เมื่อพระอุบลวรรณาเถรีกลับจากบิณฑบาต นั่งพักสงบอยู่บนเตียง นันทมาณพได้ออกมาจากที่ซ่อนเข้าปลุกปล้ำ หลังจากเสพสมจนสำเร็จความใคร่ดังใจปรารถนา พอก้าวลงจากแคร่ก็ถูกแผ่นดินสูบตกลงสู่มหานรกอเวจี
4. นางจิญจมาณวิกา เป็นผู้รับอาสาจากปริพาชกที่อิจฉาพระพุทธองค์ โดยเริ่มแรกหลบเข้าไปในวัดเชตวันฯ และทำทีว่าเดินออกมาจากวัด เมื่อคนถามก็บอกว่า ไปอยู่กุฏิของพระสมณโคดม จนผู้คนระแวงสงสัย ทำอย่างนี้อยู่ 9 เดือน ขณะที่ท้องของนางก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะเอาไม้กลึงนูนไปผูกรัดเอาไว้ จนเมื่อสบโอกาส ขณะที่พระพุทธองค์เทศนา นางก็ร้องตะโกนว่า พระองค์ทำนางท้อง ซึ่งก็ไม่ทรงแก้ตัวอะไร เพียงแต่ตรัสว่า เรื่องนี้มีแค่ 2 คนคือ พระองค์กับนางจิญจมาณวิกาเท่านั้นที่รู้ ก็ยิ่งสร้างความสงสัยใหญ่หนักเข้าไปใหญ่ เมื่อท้าวสักกเทวราชเห็นดังนั้น จึงสั่งให้เทพบุตรประจำตัวแปลงร่างเป็นหนูไปกัดเชือกที่หน้าท้องปลอมหลุดออกมา แล้วนางตกใจวิ่งหนีไปแต่ไปได้ไม่ไกลธรณีก็สูบเอาลงนรกอเวจีไป
5. นันทยักษ์ ผู้มีฤทธิ์เดชเหาะมาบนอากาศ เมื่อเหาะมาถึงตรงที่พระสารีบุตรกำลังเข้านิโรธสมาบัติอยู่ในอากาศธาตุ ในบริเวณนั้นว่างเปล่าจากอากาศธาตุนันทยักษ์มิสามารถเหาะผ่านไม่ได้ จึงเกิดบันดาลโทสะ มีจิตคิดกระทำปาณาติบาตต่อพระสารีบุตรด้วยความพาลในสันดาน เหาะขึ้นบนอากาศ ใช้กระบองซึ่งเป็นอาวุธแห่งตนฟาดลงบนศีรษะของพระสารีบุตร ความแรงแห่งการฟาดนั้น สามารถพังภูเขาในคราวเดียวกันได้ถึง 100 ลูก แต่พระสารีบุตรซึ่งอยู่ในนิโรธสมาบัตินั้น หาได้รับอันตรายจากการประทุษร้ายของนันทยักษ์ไม่ เมื่อเห็นดังนั้นพลันบังเกิดเพลิงเร่าร้อนขึ้นในอก ตกโกนเสียงดังลั่น ‘เร่าร้อน … เร่าร้อน’ แล้วตกลงมาจากอากาศ แผ่นดินเปิดช่องดึงร่างหายลับตาไปในบัดดล จมดิ่งลงสู่มหานรกอเวจี อันลึกสุด

จะเห็นว่าผู้ถูกธรณีสูบจริงๆในสมัยพุทธกาล ต่างล้วนทำกรรมหนักที่ไม่สามารถให้อภัยได้ สะสมมาจากหลายชาติปางก่อน ซึ่งทั้งนั้นถ้าไม่กับพระพุทธเจ้าก็พระอริยสงฆ์สาวก ไม่มีกรณีอื่นที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นได้

มองเป็นบทสรุป การเปรียบเทียบเชิงรูปธรรมของหนังแล้วกัน กับเหตุการณ์ความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของ Carrie มันเลวร้ายเสียจนผืนแผ่นพระธรณีไม่สามารถให้ที่เหยียบย่ำยืนอีกต่อไปได้ จำต้องถูกสูบดูดกลืนลงสู่ใต้ดินขุมนรก แต่เอาจริงๆ Carrie เลวร้ายถึงขั้นถูกธรณีสูบเลยจริงๆนะหรือ!

ผมคิดว่าไม่เลยนะครับ Carrie คือเด็กหญิงสาวที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ผุดผ่อง สดใสร่าเริง มันไม่ใช่ความผิดของเธอที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์วิปโยคครั้งนี้ แต่จะโทษแม่ Margaret หรือศัตรูคู่อาฆาต Chris ก็ยังไม่ใช่อีก ใครกันละที่เป็นต้นตอสาเหตุของปัญหานี้?

ข้อสรุปของผมเอง เหตุผลที่ทำให้เด็กหญิงสาว แสดงพฤติกรรมอันก้าวร้าว การกระทำที่บ้าคลั่ง เสียสติแตก เห็นแก่ตัว ล้วนเป็นผลพวงมาจากสังคม สถาบัน สิ่งแวดล้อมรอบข้อง อาทิ สถาบันครอบครัว พ่อ-แม่, สถาบันการศึกษา ครู-อาจารย์, เพื่อน คนรัก ฯ กับบุคคลที่มีความคิดเห็น แสดงออก กระทำแตกต่างจากผู้อื่น (แกะดำ) มักไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงตกเป็นศูนย์กลางของการถูกกลั่นแกล้ง (Bully) กีดกัน ปฏิเสธต่อต้าน ฯ

นี่จึงถือเป็นเรื่องราวของบุญกรรม บารมี และโชคชะตา ซึ่งความโชคร้าย อัปมงคลทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้กับ Carrie มองได้เป็น โศกนาฎกรรม โดยแท้

ทั้งๆที่เรื่องราวของหนังเกี่ยวกับ เด็กหญิงสาวแรกรุ่น แต่ผู้กำกับ/เจ้าของนิยาย กลับเป็นผู้ชาย นี่ทำให้ผมมอง Brian De Palma และ Stephen King ต่างมีปัญหาในการทำความเข้าใจอิสตรีเพศ มองพวกเธอมีความน่าสะพรึงกลัว เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ บางครั้งเป็นสิ่งมีชีวิตสวยงามที่สุด แต่หลายครั้งกลับชั่วร้ายยิ่งกว่าปีศาจ จุดเริ่มต้นของความสุดขั้วนี้ก็คือ การมีประจำเดือนครั้งแรก นี่คือสัญลักษณ์ของการมีชีวิต (birth and dead)

ด้วยทุนสร้าง $1.8 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ในปีแรก $14.5 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน $33.8 ล้านเหรียญ เรียกว่ากำไรมหาศาล เข้าชิง Oscar 2 สาขา
– Best Actress (Sissy Spacek)
– Best Supporting Actress (Piper Laurie)

เมื่อปี 2010 นักเขียน Stephen King ให้ความเห็นย้อนหลังเกี่ยวกับ Carrie ต้นฉบับนี้ว่า ‘good movie’ และคอมเมนต์ถึงภาคใหม่ที่กำลังสร้างตอนนั้น ‘The real question is why, when the original was so good?’

เกร็ด: นี่เป็นหนังโปรดลำดับที่ 8 ของ Quentin Tarantino

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้เลยละ ประทับใจใน direction ของผู้กำกับ Brian De Palma ที่ถือเป็นสไตล์ลายเซ็นประจำตัว พบเห็นได้ในหนังหลายๆเรื่อง ช่วงท้ายและตอนจบเป็นอะไรที่คาดไม่ถึงจริงๆ ทำเอาผมสะดุ้งแบบไม่ทันตั้งตัว (ทั้งๆที่ก็คาดคิดไว้แล้วว่าอาจมีอะไรแบบนั้น แต่มันก็ตกใจจริงๆ)

หนังเรื่องนี้ให้ข้อคิดบทเรียนสอนใจอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” คิดทำอะไรกับผู้อื่น หวนกลับมานึกย้อนถึงตัวเองถ้าได้รับการปฏิบัติตอบแทนอย่างนั้นบ้าง จะมีความรู้สึกกับเขาเช่นไร

แนะนำกับคอหนัง Horror, พลังเหนือธรรมชาติ, Coming-of-Age สะท้อนจิตวิทยาวัยรุ่นหญิงสาว, นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิเคราะห์ ศึกษาทำความเข้าใจปัญหา ลองหาทางออกให้กับ Carrie ดูนะครับ, แฟนๆนิยายของ Stephen King ผู้กำกับ Biran De Palma ชื่นชอบนักแสดง Sissy Spacek, John Travolta ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของมนุษย์ และความบ้าคลั่งช่วงท้าย

TAGLINE | “Carrie ของผู้กำกับ Brian De Palma จะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย ชะล่าใจ ก่อนฮุคปล่อยหมัดเด็ดที่ทำให้บ้าคลั่ง เสียสติแตก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: