Casablanca (1942) hollywood : Michael Curtiz ♥♥♥♥♡

(3/9/2017) ไม่มีทางที่เราจะวางตัวเป็นกลางในรักสามเส้า ต้องเลือกระหว่างเป็นผู้ร้ายแย่งชิงเธอมา ไม่ก็ยินยอมเสียสละให้เธอไปกับเขา นี่สะท้อนกับการเลือกข้างในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากอเมริกาพยายามวางเฉยเป็นกลางมาหลายปี แต่เมื่อญี่ปุ่นบุกโจมตี Pearl Harbour ก็ถึงเวลาต้องตัดสินใจเสียที, ภาพยนตร์รักโรแมนติก นัวร์ ช่วงสงครามโลก สุดคลาสสิก นำแสดงโดย Humphrey Bogart, Ingrid Bergman ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์สัญชาติอเมริกายอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Casablanca เป็นภาพยนตร์ที่ทุกผู้ชม นักวิจารณ์ คนรักหนังทั้งหลาย ต่างตกหลุมรักคลั่งไคล้เหนือกาลเวลา ทั้งที่ว่ากันตามตรง เทคนิคทางภาพยนตร์หาได้ยิ่งใหญ่เทียบเท่า Citizen Kane (1940) หรือ The Godfather (1972) แม้แต่น้อย เพียงมนต์เสน่ห์ของการหวนระลึก ความรัก ความเสียสละ และเพื่อประเทศชาติ นี่คือความคลาสสิกสมบูรณ์แบบลงตัวเป็นที่สุด

“Casablanca is a triumph of the filmmaking process. It’s like what makes a good meal. A great chef, of course, but (it’s) the ingredients. The ingredients have to be perfection. In this case, they are.”

– ผู้กำกับ William Friedkin (The French Connection, The Exorcist)

ในบรรดาภาพยนตร์ระดับตำนาน ลองจินตนาการตามดูนะครับ
– นึกถึง Gone With The Wind (1939) คิดถึงอะไรก่อน? … เรื่องราวรักโรแมนติกสุดอลังการของ Clark Gable และ Vivien Leigh
– นึกถึง Citizen Kane (1940) คิดถึงอะไรก่อน? … การกำกับและงานภาพโคตรล้ำของ Orson Welles
– นึกถึง The Godfather (1972)  คิดถึงอะไรก่อน? … การแสดงของ Marlon Brando เป็นเจ้าพ่อมาเฟีย และผู้กำกับ Francis Ford Coppola

แล้วถ้านึกถึง Casablanca (1942) ละ? เหมือนว่ามันจะกว้างๆมีหลายอย่างเหลือเกิน
– คำพูด ใบหน้ากวนๆของ Humphrey Bogart
– สีหน้า ดวงตาอันทุกข์ระทมของ Ingrid Bergman
– อารมณ์หวนระลึก (Nostalgia) คิดถึงอดีต
– การเสียสละเพื่อ(คนรัก)อนาคตที่ยิ่งใหญ่
– งานภาพขาว-ดำ นัวร์ สะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจ
– บทเพลง As Time Goes By
– ประโยคคำพูดสุดคลาสสิก อาทิ

 “Here’s looking at you, kid.”
 “Louis, I think this is the beginning of a beautiful friendship.”
“Play it, Sam. Play ‘As Time Goes By’.”
ฯลฯ

เวลาผมนึกถึง Casablanca จะแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆตรงที่ อารมณ์ความรู้สึกจะปรากฎขึ้นมาก่อน คล้ายกับการได้พบเจอเพื่อนเก่า/อดีตคนรัก ที่เคยผ่านอะไรๆมาด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุข ตกหลุมรัก ฯ หวนระลึกถึงความทรงจำสมัยวันวาน เกิดความอยากที่จะย้อนคืนกลับไป แต่เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ใบหน้ายิ้มแย้มทักทาย แต่ในใจช้ำร้าวระทม

นี่คือมนต์เสน่ห์ ความมหัศจรรย์เล่นตัวของ Casablanca ที่ทำตัวเป็นเหมือนหญิงสาว ให้คุณตกหลุมรักแล้วแยกจาก กาลเวลาผ่านไปกลับมารับชมพบเจออีกครั้ง หวนระลึกถึงอดีตความประทับใจ พอหนังจบเธอก็จากไปอีกครั้ง ไม่มีวันที่เราจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของ เว้นเพียงแต่ในความทรงจำชั่วนิรันดร์

การรับชมหนังเรื่องนี้เพียงครั้งเดียว ย่อมไม่อาจทำให้คุณเกิดความรู้สึกหวนระลึก (Nostalgia) เช่นนี้แน่ๆ แต่เมื่อไหร่ หลายปีผ่านไป วัยวุฒิเพิ่มขึ้น มีโอกาสรอบสอง-รอบสาม มันก็จะมีรอบสี่-รอบห้า สิบ-ยี่สิบ ตามมาแน่ๆ … แล้วอย่าว่าผมไม่เตือน

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ มาจากบทละครเวทีที่ไม่ได้รับการสร้างของคู่สามี-ภรรยา Murray Burnett และ Joan Alison เรื่อง Everybody Comes to Rick’s, แรงบันดาลใจมาจากฤดูร้อนปี 1938 เมื่อ Burnett ขณะยังเป็นครูสอนหนังสือ ทริปท่องเที่ยว Vienna มีโอกาสช่วยเหลือ ลักลอบนำพาชาว Jews ขนเงินออกจากประเทศ Austria (ขณะนั้นถูก Nazi ยึดครองไปแล้ว) เดินทางถึงเมืองแห่งหนึ่งตอนใต้ของฝรั่งเศส ใกล้ๆกับทะเล Mediterranean พบเจอไนท์คลับที่มีนักเปียโน Jazz ผิวสี, ผู้ลี้ภัยต่างสัญชาติมากมาย, ทหารฝรั่งเศส อิตาลี Nazi อยู่รวมกันอยู่ในที่เดียว ฯ ทุกคนก้มหน้าก้มตากระซิบกระซาบ เต็มไปด้วยความน่าพิศวงสงสัย

กลับสู่อเมริกา Burnett ได้พบเจอกับว่าที่ภรรยา Alison ร่วมกันพัฒนาบทละคร Everybody Comes to Rick’s เสร็จสิ้นเมื่อปี 1940 แต่ไม่สามารถหานายทุนผู้สร้างได้ เลยนำไปเสนอสตูดิโอสร้างภาพยนตร์ MGM, Warner Bros. เผื่อว่าจะมีโอกาส (ถูก MGM บอกปัดเพราะ Louis B. Mayer ไม่ชอบบท) ซึ่งเมื่อผ่านตาของนักวิเคราะห์เนื้อเรื่อง (Story Analysis) Stephen Karnot ทำการอนุมัติผ่านโดยทันที ให้คำนิยมว่า ‘sophisticated hokum’ จากนั้นส่งไปถึงมือของ Irene Diamond ผู้เป็น Story Editor (บรรณาธิการบทภาพยนตร์) โน้มน้าวให้โปรดิวเซอร์ Hal B. Wallis ซื้อบทละครนี้มาทันทีเมื่อเดือนมกราคม 1942 ในราคาสูงถึง $20,000 เหรียญ (เป็นจำนวนเงินสูงสุดสมัยนั้น สำหรับบทละครที่ไม่เคยได้รับการสร้าง)

สำหรับเรื่องราวในบทละครเวที เกิดขึ้นก่อนการเข้าร่วมสงครามของอเมริกา Rick เป็นทนายความ พบเจอกับสาวอเมริกัน Lois Meredith (ในหนังเปลี่ยนชื่อเป็น Ilsa Lund) ที่กรุง Paris ทั้งคู่ตกหลุมรักแล้วแยกจาก เธอพบรักใหม่กับ Victor Laszlo แต่โชคชะตาก็นำพาให้กลับมาพบ Rick อีกครั้งที่ไนท์คลับแห่งหนึ่ง (ไม่แน่ใจใช่ Casablanca หรือเปล่านะครับ)

แรกสุดเลยโปรดิวเซอร์ Wallis มอบหมายการดัดแปลงบทภาพยนตร์ให้กับคู่แฝด Julius และ Philip Epstein แต่พวกเขากลับหนีงานไปพัฒนาบทหนังชวนเชื่อ (Propaganda) เรื่อง Why We Fight (1942) ของผู้กำกับ Frank Capra เพื่อไม่ให้เสียเวลาจึงว่าจ้าง Howard Koch ให้เข้ามาสานงานต่อ เดือนกว่าๆผ่านไปได้จำนวน 30-40 หน้ากระดาษ ซึ่งพอสองพี่น้อง Epstein เสร็จสิ้นงานเพื่อชาติ หวนกลับมาพัฒนาโปรเจคนี้ต่อ ได้ปฏิเสธงานของ Koch โดยสิ้นเชิง เริ่มพัฒนาเรื่องราวขึ้นใหม่หมด แต่ใช่ว่าโปรดิวเซอร์จะขับไล่ Koch ไปเสีย ตัดสินใจให้แยกกันพัฒนาบทหนังของตนเอง แต่ก็ไม่มีใครเสร็จทันเมื่อเริ่มโปรดักชั่นถ่ายทำ

เกร็ดไร้สาระ: สองพี่น้อง Epsteins ได้รับค่าจ้าง $30,416 เหรียญ, ส่วน Koch ได้เงิน $4,200 เหรียญ

ยังมีนักเขียนอีกคนแต่ไม่ได้ขอรับเครดิต Casey Robinson เข้ามาช่วยปรับปรุง ขัดเกลาบทเป็นเวลา 3 สัปดาห์ระหว่างการถ่ายทำ โดยเฉพาะในฉากย้อนอดีต Flashback ของตัวละคร Rick และ Ilsa (Robinson ขอที่จะไม่รับเครดิตจากบทภาพยนตร์ที่ตนไม่ได้พัฒนาเองทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีชื่อเข้าชิง Oscar: Best Writing อย่างน่าเสียดาย)

บทสนทนาและเรื่องราว เห็นว่ามีความหยาบคาย ส่อเสียด ยิ่งกว่าที่ปรากฎในหนังเสียอีก แต่ติดที่ Hays Code สมัยนั้นมีความเข้มงวดกวดขัน อย่างฉากที่ Rick ได้ยิน Sam เล่นเพลง As Time Goes By เขารีบเดินตรงเข้ามาพูดว่า ‘What the fuck are you playing?’ แน่นอนผู้ชมย่อมไม่ได้ยินคำที่ผมขีดเส้นเอาไว้ หรือแม้แต่เรื่องราวของ Captain Renault กับหญิงสาวคนหนึ่งที่มาขอความช่วยเหลือจาก Rick หลายคนอาจเกิดความสงสัยถึงที่มาที่ไป จริงๆมันคือการมี Sex แลกกับ Visas ออกนอกประเทศ

ฉากที่ Ilsa ยินยอมรับว่ายังรัก Rick อยู่ พวกเขากอดจูบกัน แล้ววินาทีนั้นหนังเฟดข้ามไปเลย หลายคนคงเดาได้ว่ามันคงไม่ใช่แค่การหวนระลึกอดีตแน่ๆ แต่เป็นการสะท้อนเรื่องราวของ Captain Renault ที่ผมเล่าไป Ilsa ใช้เรือนร่างกายและ Sex เพื่อขอแลกกับ Letter of Transit, น่าสงสัยใช่ไหม ทั้งๆที่ Rick ให้การช่วยเหลือหญิงสาวคนนั้นรอดพ้นจากมือมารมา แต่พอมันเกิดขึ้นกับตัวเอง เขากลับ…

สำหรับ Quote บทสนทนาอมตะของหนัง เห็นว่าบางประโยคเป็นการพูดผิดของนักแสดง เช่นว่า “Play it again, Sam” จริงๆมันมีแค่นี้ แต่ Bergman กลับพูดลิ้นพันกันออกมาว่า “Play it once, Sam, for old times’ sake.” ซึ่ง Dooley Wilson ทำหน้ามึนๆสับสน เธอจึงพูดซ้ำอีกรอบว่า “Play it, Sam. Play ‘As Time Goes By’.” เช่นกันกับคืนนั้นที่ Rick ขอให้ Sam เล่นเพลงนี้อีกครั้ง “You played it for her, you can play it for me,” and “If she can stand it, I can! Play it!”

ส่วนประโยค “Here’s looking at you, kid” ได้ยิน 4 ครั้ง เป็นประโยคอันดับสูงสุดของหนังจาก AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes ติดอันดับ 6, ไม่มีปรากฎในบทภาพยนตร์สักฉบับ เป็นคำพูดติดปากของ Bogart ขณะที่สอน Bergman เล่นโป๊กเกอร์ระหว่างการถ่ายทำ พูดซ้ำๆเพื่อให้เหมือนตัวเองเก่งกว่า

ความล่าช้าของบทหนัง บังคับให้การถ่ายทำจำต้องเป็นไปแบบเรียงลำดับ นักแสดงยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนจบของหนังจะเป็นอย่างไร Bergman เคยถาม Zoch ว่า ‘Which man should I love more…?’ เขาตอบว่า ‘I don’t know… play them both evenly.’ น่าอัศจรรย์ที่ความวุ่นวายของบทภาพยนตร์ กลับได้ผลลัพท์ออกมาอย่างน่าทึ่ง ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบที่สุด

เกร็ด: บทหนังเรื่องนี้ ได้รับการยกย่องโดย WGA ว่าคือ Greatest Screenplays ของ Hollywood

เพื่อเลียนแบบความสำเร็จของหนังเรื่อง Algiers (1938) ที่ใช้ชื่อเมืองเป็นชื่อหนัง จาก Everybody Comes to Rick’s จึงถูกเปลี่ยนเป็น Casablanca ชื่อเมืองท่าติดมหาสมุทร Atlantic ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ Morocco ซึ่งขณะสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีสถานะเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศส

เกร็ด: เมือง Casablanca ได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1956

เกร็ด2: Casa Blanca ภาษาสเปนแปลว่า White House (บ้านสีขาวนะครับ ไม่ใช่ทำเนียบขาว)

สำหรับผู้กำกับ ในตอนแรก Wallis ตอนการ William Wyler แต่เขาไม่สะดวกเท่าไหร่, คนถัดมาคือ Howard Hawks ที่เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแนว ‘Musical Comedy’ เห็นว่าวันหนึ่งไปทานอาหารกลางวันร่วมกับ Michael Curtiz ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับ Sergeant York (1941) บ่นว่าไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับ ‘those hill people’ ทั้งสองเลยเกี่ยวก้อย ขอสลับโปรเจคกัน

(Musical ที่ Hawks พูดถึงคือ ฉากที่มีร้องเพลง La Marseillaise ไม่รู้จะกำกับยังไงให้ออกมาน่าสนใจ)

Michael Curtiz ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian ชื่อเดิม Mihaly Kertesz (1888 – 1962) เกิดที่ Budapest ในครอบครัวชาว Jews ฐานะปานกลาง โตขึ้นเข้าเรียนที่ Royal Academy of Theater and Art ฝึกพูดได้ 5 ภาษา ตั้งใจจะเป็นนักแสดงออกท่องยุโรป แต่ได้ทำงานใน National Hungarian Theater เสียก่อน และได้กำกับภาพยนตร์หนังเงียบเรื่องแรก Ma és holnap (1912)

Curtiz มีผลงานมากมายในประเทศบ้านเกิด แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศ ทำให้เขาตัดสินใจออกท่องยุโรป สร้างภาพยนตร์อยู่ที่ Vienna, Berlin ฯ ผลงานเด่นสร้างหนังเกี่ยวกับคำภีร์ไบเบิ้ลระดับ Epic เรื่อง Sodom und Gomorrha (1922) และ Die Sklavenkönigin (1924) [ชื่ออังกฤษ Moon of Israel] ที่ทำให้ Cecil B. Demille ต้องท้าดวลด้วยการสร้าง The Ten Commandments (1923)

Jack และ Harry Warner หลังจากได้รับชม Moon of Israel เกิดความประทับใจในผลงานนี้มาก โดยเฉพาะ Visual ของหนัง ทิศทางมุมมอง การเคลื่อนกล้อง ที่มีคำเรียกว่า Expressionistic Style ถึงขนาด Jack เอ่ยปากชมว่า ‘pure genius.’ ขอให้ Harry เดินทางไปยุโรปปี 1926 เพื่อเอ่ยปากชักชวน Curtiz ให้มาทำงานใน Hollywood ซึ่งเจ้าตัวก็ตอบตกลง ทั้งๆที่ตัวเองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคำ (คือเป็นคนที่ปฏิเสธใครไม่เป็น มาอยู่ Hollywood ได้กำกับหนังปีละ 6-7 เรื่อง ไม่เคยได้หยุดพัก เพราะหัวหน้าสั่งมา เขาก็ตอบตกลงหมด)

แซว: ทั้งๆที่ภาษาอังกฤษของ Curtiz เข้าขั้นห่วยแตก แต่บทสนทนา คำพูดของตัวละครกลับคมคายเสียนี่กระไร

สไตล์การทำงานของ Curtiz เป็นคนที่ต้องการรับรู้เบื้องหลังของทุกๆเรื่องราว ก่อนเริ่มต้นถ่ายทำภาพยนตร์ทุกครั้ง เช่นว่า ตนเองไม่เคยรู้จักโลกใต้ดินของอเมริกามาก่อน ก็ทำการจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่ เข้าไปนอนในคุกอยู่สัปดาห์หนึ่งเพื่อศึกษาเรียนรู้ สังการการใช้ชีวิต พูดคุยกับนักโทษทั้งหลาย, หรือตอนจะทำหนัง Western เรื่องแรก ก็เข้าห้องสมุดหาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญของ Texas อยู่ถึงสามสัปดาห์จนกลายเป็นผู้รอบรู้ ฯ

เกร็ด: Curtiz เป็นผู้กำกับที่บ้างานมาก ได้รับฉายา ‘a demon for work.’ มาทำงานตั้งตี 5 อาศัยอยู่ในสตูดิโอถึง 2-3 ทุ่มทุกวัน ไม่ค่อยชอบกลับบ้าน ไม่กินข้าวกลางวันเพราะคิดว่าทำให้เกิดความขี้เกียจ

สำหรับผลงานที่น่าสนใจของ Curtiz มี 6 เรื่องได้เข้าชิง Oscar: Best Picture ประกอบด้วย Captain Blood (1935), The Adventures of Robin Hood (1938), Four Daughters (1938), Yankee Doodle Dandy (1942), Casablanca (1943), Mildred Pierce (1945) แต่มีเพียง Casablanca เรื่องเดียวเท่านั้นที่คว้ารางวัล

สำหรับนักแสดง ถือได้ว่าเป็นระดับ International ประกอบด้วย 34 สัญชาติ โดยมีอเมริกันแท้ๆเพียง 2-3 คนเท่านั้น

Humphrey DeForest Bogart (1899 – 1957) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York City เป็นเด็กหัวขบถตั้งแต่เด็ก พี่แม่วางแผนอะไรไว้ให้ไม่เคยสนใจ เหมือนจะจงใจสอบตกให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน สมัครเข้าเป็นทหารเรือ เดินทางไปฝรั่งเศสขณะสงครามโลกครั้งที่ 1

“At eighteen, war was great stuff. Paris! Sexy French girls! Hot damn!”

พอปลดประจำการ ได้กลายเป็นนักแสดงละครเวทีอยู่หลายปี จนกระทั่ง Wall Street Crash ปี 1929 ทำให้นักแสดงหลายคนมุ่งหน้าสู่ Hollywood มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกหนังสั้น 2 reel เรื่อง The Dancing Town (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] ผลงานหนังพูดเรื่องแรก Up the River (1930) กับเพื่อนสนิท Spencer Tracy ของผู้กำกับ John Ford

ช่วงต้นทศวรรษ 30s Bogart จะไปๆมาๆระหว่าง Broadway กับ Hollywood มีผลงานละครเวทีเรื่องหนึ่ง The Petrified Forest (1934) ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ New York Times ว่าเป็นผลงานการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต (ขณะนั้น) Warner Bros. จึงไม่รอช้า ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์แล้วให้ Bogart นำแสดงด้วย ผลลัพท์ประสบความสำเร็จล้นหลาม กลายเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงในวงกว้าง

ด้วยความที่เป็นคนหัวขบถไม่ค่อยฟังคำพูดใคร พูดจาตรงไปตรงมาขวานผ่าซาก พาลให้เกิดความขัดแย้งไม่พึงพอใจกับโปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ/นักแสดงหลายคนไม่อยากร่วมงานด้วย แต่ไม่ใช่กับ John Huston เพื่อนสนิทขี้เมาหัวขบถพอๆกัน ตั้งแต่ High Sierra (1941) [Huston ดัดแปลงบท] ตามมาด้วย The Maltese Falcon (1941) [Huston กำกับเรื่องแรก] ทั้งสองกลายเป็นคู่บารมีที่ส่งเสริมกันจนมีชื่อเสียงโด่งดังและกลายเป็นตำนาน

Bogart มีผลงานอมตะมากมาย แต่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor เพียง 3 ครั้ง คว้ามา 1 รางวัล Casablanca (1942), The African Queen (1951) **ได้รางวัล, The Caine Mutiny (1954) ผลงานอื่นๆ อาทิ To Have and Have Not (1944), The Big Sleep (1946), Dark Passage (1947), The Treasure of the Sierra Madre (1948), In a Lonely Place (1950), Sabrina (1954), The Barefoot Contessa (1954) ฯ

เพราะความที่เป็นคนดื่มหนัก สูบหนัก สูงวัยขึ้นจึงกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหาร แต่เจ้าตัวไม่เคยแสดงอาการสนใจจนกระทั่งป่วยหนัก คีโมรักษายังไงก็ไม่หายช้าไปแล้ว เพียงอายุ 57 ปีก็เสียชีวิตไปก่อนหน้าเพื่อนร่วมรุ่นทั้งหลาย

รับบท Rick Blaine เพราะรักครั้งแรกหัวใจก็แตกสลาย ทำให้กลายเป็นคนหน่ายโลก ไม่สนแคร์อะไรทั้งนั้น แต่ปากที่ว่าร้ายจิตใจยังมีความอ่อนไหว (Sentimental) และเมื่อต้องตัดสินใจเลือก ก็พร้อมเป็นผู้เสียสละต่อความรัก และประเทศชาติ (Patriotism)

เกร็ด: Bogart ชอบเล่นหมากรุกมาก เกมกระดานที่ปรากฎในช็อตเปิดตัวละคร Rick เขากำลังเล่นอยู่กับเพื่อนในกองถ่าย เห็นว่ามันเท่ห์ดี สะท้อนรสนิยมของตัวละคร เลยขอผู้กำกับใส่เข้ามา ซึ่งตัวละครเหมือนว่ากำลังเล่นกับตัวเอง

Rick เป็นเจ้าของไนท์คลับ Rick’s Café Américain ใน Casablanca สถานที่ซึ่งรวบรวมผู้อพยพลี้ภัยจากทั่วยุโรป ระหว่างรอคอย Visas เพื่อเดินทางสู่ดินแดนแห่งความฝันอเมริกา แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อคนรักเก่า Ilsa Lund เดินเข้ามาในร้านพร้อมกับสามี Victor Laszlo ความทรงจำในรักแรกพบของเขาจึงค่อยๆหวนกลับคืนมาสร้างความร้าวฉานในจิตใจ

เดิมนั้นบทนี้ Jack L. Warner สนใจ George Raft แต่ได้รับการปฏิเสธ โปรดิวเซอร์ Wallis จึงเลือก Bogart ที่มีสัญญาผูกพันธ์กับ Warner Bros. อยู่พอดี ถือว่าเป็นบทโรแมนติกแรกของเขาเลยละ ก่อนหน้านี้มักได้รับบท Gangster นักเลง ฯ ไม่เคยได้รับบทรักโรแมนติกอะไรแบบนี้ ซึ่งทำเอาเจ้าตัวในฉากย้อนอดีต ไม่รู้จะแสดงออกมาอย่างไร

“I’m not up on this love stuff and don’t know just what to do,”

ถึงบทโรแมนติกจะดูเก้งๆกังๆ แต่หลังจากนั้น คำพูด-ท่าทาง สีหน้า-สายตา ราวกับคนที่ได้ค้นพบวันสิ้นโลก มีชีวิตอยู่ไปอย่างวันๆไม่แคร์ยี่หร่าอะไร เพราะบทบาทนี้แหละที่ทำให้ Bogart กลายเป็นตำนาน จะเรียกว่า ‘anti-hero’ ก็ว่าได้ ถึงไม่ได้มีความหล่อเหลา แต่ทั้งหนุ่มสาว ต่างคลั่งไคล้หลงไหล

เกร็ด: Bogart ในการจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Male Legends ได้รับการยกย่องสูงสุด อันดับ 1

Ingrid Bergman (1915 – 1982) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Stockholm ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านการแสดง แม่เสียชีวิตตอน 2 ขวบ พ่อจากไปตอนอายุ 13 ทำให้ต้องอาศัยอยู่กับลุงป้า โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Royal Dramatic Theatre School (โรงเรียนเดียวกับ Greta Garbo ที่จบล่วงหน้าไปก่อนหลายปี) แค่เพียงปิดเทอมแรกก็ได้ถูกจ้างให้เป็นตัวประกอบกับ Swedish Film Studio ปีถัดมาลาออกมาทำงานเต็มเวลา มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Munkbrogreven (1935)

เดินทางสู่ Hollywood โดยคำชักชวนของ David O. Selznick มีผลงานเรื่อง Intermezzo: A Love Story (1939) ด้วยความที่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง คิดว่าเล่นเรื่องเดียวแล้วกลับบ้าน แต่ปรากฎว่าหนังประสบความสำเร็จล้นหลาม

“with light brown hair and blue eyes who was painfully shy but friendly, with a warm, straight, quick smile.”

Bergman เข้าชิง Oscar 7 ครั้งได้มา 3 รางวัล จากเรื่อง Gaslight (1944), Anastasia (1956), Murder on the Orient Express (1974) [สาขา Best Supporting Actress] ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ For Whom the Bell Tolls (1943), Spellbound (1945), Notorious (1946), Joan of Arc (1948), Stromboli (1950), Europe ’51 (1952), Journey to Italy (1954), Autumn Sonata (1978) ฯ

ช่วงบั้นปลายชีวิตของ Bergman ต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านม เสียชีวิตปี 1982 สิริอายุ 67 ปี

รับบท Ilsa Lund หญิงสาวที่ยังอ่อนต่อโลก ไม่สามารถหักห้ามความต้องการของตนเองได้ ตกหลุมรักชายสองคน แต่มิอาจเลือกว่าจะไปกับชายคนไหน จึงมอบการตัดสินใจให้กับ Rick ปล่อยตัวปล่อยใจให้เป็นไปตามโชคชะตาฟ้าดิน

มีนักแสดงมากมายที่เป็นตัวเต็งรับบทนี้ อาทิ Ann Sheridan, Hedy Lamarr, Luise Rainer, Edwige Feuillère, Michèle Morgan, Tamara Toumanova ฯ แต่ตัวเลือกแรกความตั้งใจของโปรดิวเซอร์ Wallis คือ Ingrid Bergman แต่เพราะเธอติดสัญญากับ David O. Selznick ที่ขณะนั้นต้องการเธอให้รับบท For Whom the Bell Tolls จึงทำการแลกเปลี่ยนกับ Olivia de Havilland เป็นการตอบแทน

จริงๆต้องโทษ Selznick ที่ไม่สามารถหาบทดีๆให้กับ Bergman สานต่อความสำเร็จจาก Intermezzo: A Love Story (1939) แต่พี่แกก็มีความหึงหวนนักแสดงในสังกัดเหลือเกิน โปรดิวเซอร์ Wallis ใช้วิธีเกลี้ยกล่อมโดยส่งสองพี่น้อง Epstein ไปเล่าพล็อตหนังให้ฟัง ไม่ถึง 20 นาทีก็รำพันออกมา ‘Oh, what the hell! It’s a lot of shit like Algiers (1938)!’ แล้วยินยอมปล่อยให้ยืมตัว

การแสดงของ Bergman ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกสะท้อนออกมาผ่านสีหน้าและดวงตา ในช็อต Close-Up ใบหน้าของเธอ จะมีการใช้แสงสีอ่อนและผ้าพันแผลเป็น Filter ทำให้เห็นดวงตาเป็นประกาย เกิดสัมผัสความรวดร้าวทรมานใจ สับสนว้าวุ่นวาย อ่อนหวาน และหวนระลึก

นี่ไม่ใช่การแสดงยอดเยี่ยมสุดของ Bergman แน่ๆ เธอยังคงเป็นหญิงสาวหน้าใส ท่าทางเก้ๆกังๆ เต็มไปด้วยความสับสนว้าวุ่นวายใจ เห็นว่าเธอไม่ค่อยอยากเล่นหนังเรื่องนี้นัก เพราะต้องทิ้งโปรเจค For Whom the Bell Tolls ที่ต้องการแสดงมากๆ พอถ่ายทำเสร็จก็รีบกลับไปตัดผมสั้นเพื่อเตรียมรับบทในหนังที่ทำให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress ครั้งแรกโดยทันที

เกร็ด: จริงๆแล้ว Bergman สูงกว่า Bogart ถึง 5 เซนติเมตร (2 นิ้ว) แต่ที่เห็นในหนัง Bogart จะสูงกว่าพอสมควร นั่นเพราะเขายืนบนแท่น/ใส่รองเท้าสูง หลอกตาให้เห็นว่าตัวเองสูงกว่า ไม่เช่นนั้นคงแปลกพิลึกที่นางเอกสูงกว่าพระเอก (มีไม่กี่ช็อตเท่านั้นที่เห็นทั้งสองยืนคู่กัน ส่วนใหญ่ใครคนหนึ่งมักจะนั่งอยู่)

สำหรับนักแสดงสมทบอื่น ผมจะขอพูดแค่คร่าวๆนะครับ เพราะมีสำคัญๆเยอะมาก

Paul Henreid (1908 – 1992) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติ Austrian อพยพสู่อเมริกาเมื่อปี 1935 มีสองบทบาทที่ได้รับการจดจำค่อ Casablanca (1942) และ Now, Voyager (1942),

รับบท Victor Laszlo สามีของ Ilsa Lund พื้นหลังเป็นชาว Czechoslovakia ผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน Nazi (Czech Resistance) เคยถูกคุมขัง กักตัวในค่ายนาซีแต่สามารถหลบหนีเอาตัวรอดออกมาได้ มีความต้องการเดินทางไปอเมริกา เพื่อสานต่องานของตัวเอง แต่เพราะความรักในตัวภรรยา ถ้านี่คือปลายทางของเขาจริงๆ อย่างน้อยให้เธอได้มีชีวิตรอดปลอดภัย ห่างไกลจากสงครามที่กำลังเกิดขึ้น

โปรดิวเซอร์ Wallis ติดต่อ Herbert Marshall, Dean Jagger, Joseph Cotten แต่ไม่มีใครว่าง จึงมาลงเอยที่ Henreid แต่ต้องบอกว่าเรื่องการแสดง ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงเท่าไหร่ ยกเว้นแผลตรงคิ้วที่ไร้คำอธิบาย กลายเป็นภาพลักษณ์อันน่าจดจำให้กับตัวละครอย่างยิ่ง, เห็นว่าระหว่างการถ่ายทำ Henreid ค่อยข้างมีปัญหาขัดแย้งกับนักแสดงร่วมงาน เรียก Bogart ว่า ‘a mediocre actor.’ ซึ่งก็โดน Bergman สวนกลับไปว่า ‘prima donna’ (ถ้าแปลก็ประมาณ เแต๋ว)

Claude Rains (1889 – 1967) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ เคยร่วมงานกับผู้กำกับ Curtiz เรื่อง The Adventures of Robin Hood (1938) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Mr. Smith Goes to Washington (1939), The Wolf Man (1941), Casablanca (1942), Notorious (1946), Lawrence of Arabia (1962) ฯ

รับบท Captain Louis Renault หัวหน้าตำรวจของ Vichy France (เมืองขึ้นของฝรั่งเศส) เป็นคนที่ค่อนข้างคอรัปชั่น พยายามวางตัวเป็นกลางกับ Germany แรกๆไม่ชอบขี้หน้าของ Rick เสียเท่าไหร่ เพราะ ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ แต่พอเมื่อต่างฝ่ายเปิดไพ่สุดท้ายขึ้นมา พวกเขากลายเป็นมิตรแท้ที่ดีต่อกัน

ในบรรดานักแสดงของหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่าคนที่เล่นดีสุดคือ Rains นี่แหละ คอเมอดี้แย่งซีนในทุกๆฉาก ทั้งท่าทางการเคลื่อนไหว สีหน้านิ่งๆกวนๆ (พอๆกับ Bogart เลยละ) และประโยคบทพูด ที่ผมชอบสุดคือ “I’m shocked, shocked to find that gambling is going on in here!” จากนั้นรับเงินที่เพิ่งได้จากโต๊ะพนัน, แน่นอนว่า Rains ต้องได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor แต่ก็พลาดไป ทำให้ทั้งชีวิตของเขาไม่ได้ Oscar สักตัว

แต่ประโยคที่ได้รับการจดจำสุดของ Captain Renault คือ “Major Strasser has been shot… round up the usual suspects.” [ติดอันดับ 32 ของ AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes] แทนที่จะให้จับตัวฆาตกรที่ยืนอยู่ตรงหน้า กลับให้ออกตามหาผู้ต้องสงสัย นี่แปลว่าเขาก็เห็นด้วยกับการกระทำของ Rick เป็นอย่างยิ่ง

Conrad Veidt (1893 – 1943) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติ German เจ้าของบทบาท The Cabinet of Dr. Caligari (1920), The Man Who Laughs (1928), The Thief of Bagdad (1940) ฯ ตัวเองเป็นชาว Jews สู่อเมริกาเพื่อหลบหนี Nazi

รับบท Major Heinrich Strasser แห่ง Third Reich เป้าหมายการเดินทางสู่ Casablanca เพื่อติดตามเอกสารที่สูญหายไป หาทางจัดการ Victor Laszlo และสังเกตการณ์กึ่งๆควบคุมเมืองขึ้นของฝรั่งเศสนี้

ฟังดูตลกแต่เป็นเรื่องจริง นักแสดงสัญชาติ German ทั้งหลายในหนัง ล้วนอพยพลี้ภัยมาอยู่อเมริกาเพราะสืบเชื้อสาย Jews แต่กลับได้รับบทแต่เป็น Nazi ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2,

ฟังดูตลกกว่าอีก นักแสดงที่ได้ค่าตัวสูงสุดในหนัง ไม่ใช่ Bogart หรือ Bergman แต่คือ Veidt เพราะเป็นนักแสดงที่มีผลงานประสบความสำเร็จมายาวนานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ว่าไปตอนนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังกว่านักแสดงอื่นใดในหนังเสียอีก

Peter Lorre (1904 – 1964) นักแสดงสัญชาติ Austro-Hungarian เจ้าของบทบาทฆาตกรในเรื่อง M (1930), The Man Who Knew Too Much (1934) ฯ เพราะเป็นชาว Jews เลยอพยพลี้ภัยมาอยู่อเมริกาตั้งแต่ปี 1933

รับบท Signor Ugarte พ่อค้าขาย Visas เถื่อน ที่ก็ไม่รู้จับพลัดจับพลูเป็นเจ้าของ Letter of Transit ได้อย่างไร ฝากให้ Rick เพื่อนที่ไม่เคยชอบหน้าแต่เชื่อใจสุดเป็นผู้ดูแลชั่วคราว แต่ขณะเดียวกันก็ถูกจับกุม เสียชีวิตขณะอยู่ในคุก

ถึงบทจะน้อย แต่ภาพลักษณ์ของ Lorre ยังคงตราตรึงและเป็น Typecast นับตั้งแต่ M (1930) เราสามารถจินตนาการได้เลยว่าเขาเป็นคนฆ่าผู้ส่งสาสน์ เพราะใบหน้านี่มันใช่ชัดๆเลย

Dooley Wilson (1886 – 1953) นักแสดง/นักร้องสัญชาติอเมริกัน เดิมเป็นนักตีกลองและนักร้อง ออกทัวร์ไนท์คลับที่ London และ Paris จับพลัดจับพลูแสดงละครเวที Broadway และได้รับบทในภาพยนตร์ โด่งดังที่สุดก็คือ Casablanca (1942)

รับบท Sam นักเปียโนสัญชาติอเมริกา ที่ก็ไม่รู้เบื้องหลังเป็นอย่างไร แค่เพียงพอมีความสุขกับชีวิตที่ได้รับ ไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้ แต่ก็เป็นห่วงเดือดร้อนแทนเจ้านาย Rick ไม่อยากให้เขาบอบชอกช้ำใจไปมากกว่านี้

ก่อนที่จะได้ Wilson มารับบท Sam เห็นว่าโปรดิวเซอร์มีความสนใจให้นักเปียโนเป็นผู้หญิง เล็งนักร้องอย่าง Hazel Scott, Lena Horne, Ella Fitzgerald ฯ แต่การได้ Wilson ยืมตัวจาก Paramount Picture กลายเป็นคนผิวสีคนเดียวในกองถ่าย เพิ่มความหลากหลายให้น่าสนใจขึ้นอีก (และตรงกับบทละครต้นฉบับด้วย)

เห็นว่า Wilson เล่นเปียโนไม่เป็น แต่สามารถเลียนแบบได้อย่างเหมือน (เปียโนบรรเลงโดย Elliot Carpenter) ส่วนเสียงร้องเป็นของเขาเอง บันทึก Sound-On-Film มีความไพเราะน่าจดจำอย่างยิ่ง,

ถ่ายภาพโดย Arthur Edeson (1894 – 1970) ตากล้องในตำนานสัญชาติอเมริกา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง American Society of Cinematographers (A.S.C.) มีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ที่โด่นเด่นอาทิ Robin Hood (1922), The Thief of Bagdad (1924), The Lost World (1925), Frankenstein (1931), The Invisible Man (1933), The Maltese Falcon (1941) ฯ เข้าชิง Oscar: Best Cinematography 3 ครั้ง ไม่เคยได้สักรางวัล จากเรื่อง In Old Arizona (1929), All Quiet on the Western Front (1930), Casablanca (1942)

หนังแทบทั้งเรื่องถ่ายทำในสตูดิโอ ยกเว้นฉากแรกๆที่ Major Strasser เดินทางมาถึงโดยเครื่องบิน ถ่ายทำที่ Van Nuys Airport, Los Angeles ส่วนช็อตที่เห็นทั้งเมือง Casablanca และเครื่องบินตอนจบ เป็นโมเดล Cardboard ทำจากกระดาษ เพื่อประหยัดงบประมาณในการถ่ายทำ

 

ถึงจะบอกว่าหนังเรื่องนี้โดดเด่นที่บทหนังและการแสดงเป็นหลัก แต่งานภาพและตัดต่อถือว่ามีความไม่ธรรมดาแม้แต่น้อย direction ของผู้กำกับ Curtiz มีลีลาวิสัยทัศน์ที่โดดเด่น ทั้งมุมมอง ทิศทาง การเคลื่อนกล้องอย่างมีชีวิตชีวา เล่นกับแสงเงา กระจก ช่องว่าง ได้อย่างมีความน่าฉงนสนเท่ห์ไม่น้อย

ฉากเปิดตัวของ Rick ต้องชมเลยว่ามีความน่าสนเท่ห์อย่างมาก เพราะหนังให้เวลาแนะนำเรื่องราว สถานที่ ตัวละคร โน่นนี่นั่น จากภาพแผนที่ทวีปแอฟริกา มายัง Casablanca หน้าร้าน O.K. Rick เข้ามาภายใน ลำดับมาจนถึงห้องการพนันชั้นใน เซ็นเช็ค แล้วกล่องเคลื่อนขึ้นเห็น Rick หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ กล้องถอยออกเห็นเขากำลังเดินหมากรุกกับตนเอง

เล่นกับเงาช็อตนี้ ระหว่างพา Captain Renault ขึ้นไปบนห้อง จะเห็นเงาของ Rick เดินไปหยิบเงิน ผู้ชมสมัยนี้คงไม่รู้สึกอะไร แต่มันคือเทคนิคที่หวือหวา แปลกตา หลอนๆ คล้ายๆกับการเล่นเงาของ German Expressionist แต่ในยุคสมัยนี้จะเรียกว่า นัวร์

ช็อตนี้ผมเคยพูดถึงในบทความเก่า เป็นฉากหนึ่งใน Flashback เริ่มต้นถ่ายจากพื้น เห็นเงาของป้ายชื่อร้าน จากนั้นกล้องเคลื่อนขึ้น (Tilt Up) แล้วเคลื่อนติดตาม Rick เดินเข้าไปหา Ilsa กำลังหลงใหลกับบทเพลงที่ Sam กำลังเล่นเพลง As Time Goes By

สำหรับกระจก เด่นสุดคงเป็นใบหน้าของ Bergman ภาพสะท้อนลักษณะนี้มีนัยยะถึง สิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจกับการแสดงออกมีความตรงกันข้าม หรือความสันสนว้าวุ่นวายใจ เลือกไม่ได้ระหว่าง Rick กับ Victor

สำหรับการจัดแสงพื้นหลัง มีโดดเด่นอยู่ 2 ช็อต

ช็อตเปิดตัว Sam มี Spotlight ส่องตรงมาเขากับเปียโน แล้วให้บริเวณอื่นปกคลุมด้วยความมืดมิดแทบจะมองไม่เห็น นี่เป็นลักษณะหนึ่งของการโฟกัสภาพ ให้ผู้ชมจับจ้องมอง สนใจเฉพาะบริเวณที่มีแสงสว่าง เพราะพื้นหลังมืดๆไม่มีความสำคัญใดๆ

แต่พื้นหลังมืดครึ้มเหมือนจะไม่มีอะไรน่าสนใจ บางครั้งกลับสะท้อนสิ่งที่อยู่ข้างในของตัวละครออกมา (เป็น Expressionist) อย่างช็อตนี้ จิตใจของ Rick เต็มไปด้วยความรวดร้าวระทม ระลึกถึงอดีตที่แสนหวานแต่ขื่นขม ดื่มสุราให้เมามายจะได้หลงลืมอดีตที่มืดมัว (พื้นด้านหลังเลยมืดมิด) อย่างน้อยก็ขอให้มันผ่านพ้นค่ำคืนวันนี้ไปเสียก่อนแล้วกัน

ตอนที่ Rick ได้รับจดหมายจาก Ilsa ยืนอ่านท่ามกลางสายฝน หยดน้ำได้ทำให้หมึกของตัวอักษรค่อยๆไหลย้อยลงมา ราวกับคราบรอยน้ำตาของชายหนุ่มที่เต็มไปด้วยความเศร้าผิดหวัง (แต่เราจะไม่เห็นเขาหลั่งน้ำตาออกมาจริงๆในฉากนี้)

ฉากไฮไลท์ของหนังอยู่ตอนจบ ณ สนามบินที่เต็มไปด้วยหมอกควันแทบมองอะไรไม่เห็น จุดประสงค์เพื่อไม่ให้มองเห็นพื้นหลังอื่นๆของสตูดิโอ กระนั้นความหมายนัยยะของฉากนี้ หมอกควันแสดงถึงอนาคตที่ไม่แน่ไม่นอน คาดการณ์มองไม่เห็น อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวที่มีความพลิกผัน เซอร์ไพรส์ หักมุม คาดไม่ถึง

และช็อตสุดท้ายของหนัง ชายสองคนออกเดินสู่หมอกควัน อนาคตที่มองไม่เห็น แต่พวกเขาวางแผนเตรียมพร้อมเริ่มต้นชีวิตใหม่

เกร็ด: จะมีสัญลักษณ์หนึ่งชื่อ Cross of Lorraine (ภาษาฝรั่งเศส Croix de Lorraine) เริ่มต้นใช้ครั้งแรกที่เมือง Lorraine ทางตะวันออกของประเทศฝรั่งเศสในช่วง 1871 – 1918 (สงครามโลกครั้งที่ 1) และหวนกลับมาใช้อีกครั้งกับกลุ่มเคลื่อนไหว Free France ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อปลดแอกดินแดนของฝรั่งเศสที่ตกอยู่ภายใต้ Nazi German, ในหนังไม่ได้มีแค่ไม้กางเขนที่แหวนนะครับ ลองสังเกตหาที่เงาของพื้นหลังดู มีหลายช็อตทีเดียวคล้ายๆรูปไม้กางเขนนี้

ตัดต่อโดย Owen Marks (1899 – 1960) นักตัดต่อสัญชาติอังกฤษ เซ็นสัญญาผูกพันธ์ระยะยาวกับ Warner Bros. ตั้งแต่ปี 1928 เข้าชิง Oscar 2 ครั้งจาก Casablanca (1942) และ Janie (1944),

เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Rick เป็นหลัก จากสิ่งที่เขากำลังได้พบเจอและในความทรงจำ นอกจากนั้นมีการแทรกใส่พล็อตรอง เรื่องราวของผู้คนต่างๆที่เฝ้าอาศัยรอคอย Visas อาศัยอยู่ใน Casablanca แทรกคั่นสร้างสีสันเติมเต็มให้หนัง ที่ส่วนใหญ่มักจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวหลักสักเท่าไหร่

พล็อตรองน่าสนใจๆ ที่มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่โผล่มาครั้งเดียวจบ อาทิ
– เรื่องราวของนักล้วงกระเป๋า (รับบทโดย Curt Bois) พบเห็นพูดคุยสนทนากับใคร มีเรื่องได้ต้องระวังตัวทุกที
– เรื่องราวของ Yvonne (รับบทโดย Madeleine LeBeau) หญิงสาวที่ถูก Rick ทิ้งอย่างรวดเร็ว วันถัดมานำพาแฟนหนุ่มคนใหม่ที่เป็นทหารเยอรมันมาด้วย, เห็นครั้งสุดท้ายกำลังร้องเพลงชาติ La Marseillaise อย่างสุดหัวใจ
– เรื่องราวของ Annina Brandel (รับบทโดย Joy Page) หญิงสาวสัญชาติ Bulgaria ที่ลี้ภัยมาพร้อมกับแฟนหนุ่มเพิ่งแต่งงาน พบเห็นครั้งแรกสำนักงานของ Captain Renault ต่อมาเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ Rick ที่ได้ช่วยโกง Roulette ให้
ฯลฯ

ว่าไปเรื่องราวของพล็อตรองทั้งหลายเหล่านี้ ชวนให้ผมระลึกถึง Playtime (1967) หนังฝรั่งเศสในตำนานของผู้กำกับ Jacques Tati ในฉากไคลน์แม็กซ์ร้านอาหาร/ไนท์คลับ ยามค่ำคืน ที่เต็มไปด้วยพล็อตรองมากมาย (แต่หนังเรื่องนี้ไม่มีพล็อตหลัก) ซึ่งแต่ละเหตุการณ์มักเริ่มต้นจะการเป็นเอกเทศ แล้วส่งผลกระทบลูกโซ่ เกิดความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับผู้คน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปมากมาย, ผมค่อนข้างเชื่อว่า ผู้กำกับ Tati น่าจะศึกษาแนวทางการเขียนบท ดำเนินเรื่อง วางพล็อตจาก Casablanca อย่างแน่นอน

เพลงประกอบโดย Max Steiner (1888 – 1971) คีตกวีสัญชาติ Austrian ถือว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ ตอนอายุ 12 สามารถแต่ง Operetta เรื่องแรก พออายุ 15 สามารถทำได้ทุกอย่าง แต่งเพลง เล่นดนตรี กำกับวง, เริ่มต้นจากทำงานในประเทศอังกฤษ อพยพย้ายมา Broadway และ Hollywood ตั้งแต่ปี 1929 ได้รับการยกย่องว่าคือ ‘the father of film music’

ฉายา ‘บิดาแห่งเพลงประกอบภาพยนตร์’ ต้องถือว่าเริ่มต้นจาก King Kong (1933) ที่มีการใช้บทเพลงในลักษณะของ Soundtrack เพื่อสร้างบรรยากาศ และอารมณ์ให้กับหนังเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้ ช่วงแรกๆของหนัง Talkie มักจะมีแต่เสียงพูด, เพลงจากการเล่นดนตรี/ในผับบาร์ไนท์คลับ/เปิดฟังจากวิทยุ, หรือถ้ามีเพลงประกอบก็จะเป็น accompany คล้ายๆการบรรเลงบทเพลง Orchestra ในยุคหนังเงียบ ไม่ได้เน้นสร้างบรรยากาศ หรืออารมณ์ให้กับหนัง)

นอกจากนี้ Steiner ยังถือเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด Character Themes บทเพลงที่เป็นตัวแทนของตัวละครนั้นๆ เพื่อสะท้อนตัวตน อารมณ์ ความรู้สึก ของบุคคลนั้นออกมา (แต่ไม่ใช่ว่าทุกตัวละครในหนังนะครับ เฉพาะตัวละครหลักๆ อาทิ พระเอก, นางเอก, ตัวร้าย ฯ) ซึ่งแนวคิดนี้ยังต่อยอดไปถึง Scene และ Situation Themes บางฉากเกิดเหตุการณ์สิ่งอย่างที่ไม่คาดฝัน กระแทกกระทั้นทางอารมณ์ บทเพลงเฉพาะฉาก จะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้อย่างชัดเจน เห็นภาพ เข้าใจ

Steiner เข้าชิง Oscar 24 สาขา (มาครั้งเป็นรองเพียง Alfred Newman และ John Williams) ได้มา 3 รางวัลจาก The Informer (1935), Now, Voyager (1942), Since You Went Away (1944) แต่ผลงานโดดเด่นที่เป็นตำนานคือ Gone with the Wind (1939), The Searchers (1956) ฯ

สำหรับ Casablanca ถึง Steiner จะเป็นผู้ประพันธ์ Soundtrack ประกอบหนัง แต่เขาไม่ใช่ผู้แต่งเพลง As Time Goes By นะครับ บทเพลงนี้ Burnett อ้างอิงไว้ที่ต้นฉบับของ Everybody Comes to Rick’s แต่งคำร้องและทำนองโดย Herman Hupfeld เพื่อใช้ในละครเพลง Broadway เรื่อง Everybody’s Welcome (1931) ต้นฉบับขับร้องโดย Frances Williams ได้รับความนิยมพอสมควร, ซึ่งเมื่อได้รับการ re-introduce ใหม่กับ Casablanca ขับร้องโดย Dooley Wilson ที่กลายเป็น Leitmotif ของหนัง ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงล้นหลาม ในการจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs ได้คะแนนโหวตเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียง Over the Rainbow ของ Judy Garland เท่านั้น

ความไพเราะคลาสสิกของบทเพลงนี้มาจากท่อนคำร้อง ‘As Time Goes By’ ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อเรื่องของหนัง ที่เกี่ยวกับความทรงจำรักครั้งเก่าก่อนของ Rick กับ Ilsa เมื่อเวลาผ่านไป อะไรหลายๆอย่างได้แปรเปลี่ยน แต่มีสิ่งหนึ่งไม่มีวันเปลี่ยนไปสำหรับพวกเขา นั่นคือ ‘ความทรงจำ’ เมื่อวันวาน ซึ่งก่อกำเนิดประโยคที่ว่า “We’ll always have Paris.” [AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes ติดอันดับ 43]

ผมนำ Record ฉบับแรกสุดของ As Time Goes By มาให้ฟังกัน ขับร้องโดย Rudy Vallée ร่วมกับวง Connecticut Yankees เมื่อปี 1931, คุณอาจไม่คุ้นกับท่อน Prelude ของบทเพลงนี้สักเท่าไหร่ เพราะความยาวทำให้ต้องตัดออกจากฉบับหนัง มักไปเริ่มต้นที่ You must remember this, …  ทำให้กลายเป็นท่อนที่ถูกลืมในหลายๆฉบับ Cover

Steiner มีความต้องการอย่างยิ่งที่จะเขียนเพลงใหม่ใช้แทน As Time Goes By แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะ Ingrid Bergman หลังถ่ายทำหนังเสร็จก็รีบแจ้นไปตัดผมเล่นหนังเรื่องใหม่ ไม่สามารถกลับมาถ่ายซ่อมถ้ามีการแก้ไขเพลงประกอบได้ ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ Steiner ทำได้ จึงคือเปลี่ยนโทนของเพลงประกอบ ให้อิงกับเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaise เป็นอีกทำนอง Leitmotif ประกอบเคียงคู่หนัง (คือก็ยอดเยี่ยมไพเราะนะครับ แต่หนังเรื่องหนึ่งมันจะมีเพลงฮิตอมตะมากกว่า 1 เพลงได้อย่างไร)

สำหรับเพลงชาติ Nazi จริงๆแล้วคือ Horst Wessel Lied แต่ไม่สามารถนำไปใช้ เพราะติดข้อตกลงเรื่องลิขสิทธิ์ (เพราะ Nazi เป็นศัตรูสงคราม นำมาใช้มันจะเหมือนหนัง Propaganda เกินไป) ทำให้ Steiner เลือกบทเพลง Die Wacht am Rhein มาใช้แทน

สำหรับบทเพลงอื่นที่ Wilson ขับร้อง ประกอบด้วย
– It Had to Be You แต่งโดย Isham Jones, คำร้องโดย Gus Kahn
– Shine แต่งโดย Ford Dabney, คำร้องโดย Cecil Mack, Lew Brown
– Avalon แต่งโดย Al Jolson, Buddy DeSylva และ Vincent Rose
– Perfidia แต่งโดย Alberto Dominguez
– The Very Thought of You แต่งโดย Ray Noble
– Knock on Wood แต่งโดย M. K. Jerome, คำร้องโดย Jack Scholl ** นี่เป็นบทเพลง Original Song เดียวของหนัง

“It’s December, 1941 in Casablanca. What time is it in New York? I bet they’re asleep in New York. I bet they’re asleep all over America.”

หนังเรื่องนี้เริ่มต้นค่ำคืนวันที่ 2 ธันวาคม 1941 (ดูวันที่จากเช็คที่ Rick เซ็น) ก่อนหน้าญี่ปุ่นโจมตี Pearl Habour เช้าตรู่วันที่ 7 ธันวาคม 1941 และปธน. Franklin D. Roosevelt ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ วันที่ 8 ธันวาคม 1941, ถ้านับนิ้วไล่วันเวลาที่เกิดขึ้น เรื่องราวของหนังจะจบลงก่อนวันที่ 4 หรือ 5 ธันวาคมเท่านั้น จะเรียกว่าช่วงเวลา Wars-Eve (สัปดาห์หมาหอน) ก่อนเข้าร่วมสงครามโลกของอเมริกาก็ว่าได้

กระนั้นมันก็หาใช่เรื่องสำคัญที่ต้องให้วันแห่งการเสียสละของ Rick ตรงกับการถูกโจมตี Pearl Habour หรือประกาศเข้าร่วมสงครามของอเมริกา เพราะหนังก็มีนัยยะสำคัญคล้ายๆกันอยู่แล้ว คือ การต้องแสดงออก ทำอะไรสักอย่างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีทางที่ใครจะสามารถอยู่นิ่งเพิกเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ซึ่งการตัดสินใจของ Rick และการเข้าร่วมสงครามของอเมริกา ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของทั้งสองเหตุการณ์

Casablanca มองในมุมสังคมวิทยา เป็นหนังที่ทำให้ผู้ชมหวนคิดถึงสถานการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบโลกขณะนั้น ยุโรปเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก ใครมีฐานะเงินทองก็คงสามารถหนีเอาตัวรอด เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปแสวงโชคยังดินแดนแห่งความฝัน (American Dream) แต่ถ้าไม่ก็จมปลัก รอคอยวันเวลา ดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างยากเข็น

ร้าน Rick’s Café Américain เปรียบได้กับสรวงสวรรค์, Paradise, Oasis ท่ามกลางทะเลทราย ห่างไกลจากแนวหน้าสงคราม แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยตลาดมืด องค์กรใต้ดิน ขณะที่ฝรั่งเศสกับเยอรมันร้องเพลงชาติแข่งกัน Rick พยักหน้ายินยอมให้พวกเขาใช้สถานที่เป็นเหมือนสนามรบ (Battle Ground) แต่ตัวเองกลับเพิกเฉยพยายามไม่เข้าข้างฝั่งไหน นี่เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย

การมาถึงของ Ilsa หญิงสาวที่เคยเป็นรักแรกพบของ Rick ทำให้เขารู้ตัวเองเลยว่า ไม่สามารถอยู่นิ่งเพิกเฉยเป็นกลางต่อความรู้สึกของตนเองได้อีกแล้ว, หญิงสาวบอกว่าตัวเองเป็นกลางในรัก ไม่สามารถเลือกได้ระหว่างผู้ชายทั้งสองคน จึงยินยอมปล่อยให้ Rick เป็นผู้ตัดสินใจ เมื่อโชคชะตาอยู่ในกำมือของตนเอง จำเป็นต้องเลือก ว่าจะเป็นคนเห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อตนเอง (ไม่เข้าร่วม WW2) หรือเสียสละความสุขให้กับผู้อื่น/ส่วนรวม (เข้าร่วมสงครามโลก)

หนึ่งในนักเขียนบทภาพยนตร์ Howard Koch มองว่า Rick เปรียบได้กับ ปธน. Franklin D. Roosevelt ชายผู้กุมโชคชะตาของชาติอเมริกาไว้ขณะนั้น เช่นเดียวกับ Rick ที่จะต้องเป็นผู้เลือก วางหมากว่าจะไปกับ Ilsa หรือปล่อยให้เธอไปกับ Victor

ซึ่งการเสียสละที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีแค่ตอนจบของหนังเท่านั้น ถือเป็น Theme หลักที่จะพบเจอได้ตลอดทั้งเรื่อง มีลักษณะปลูกฝันทัศนะคติ ชักชวนเชื่อ ในช่วงสงครามจะหมายถึง ‘การเสียสละส่วนตัวเพื่อเข้าร่วมสงคราม มันอาจมีความเจ็บปวดยากลำบาก แต่เราสามารถมองได้เหมือนกับการเสียสละในความรัก เพื่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในโลก’

“the idea that painful sacrifice and going off to war could be romantic gestures done for the greater good.”

คงไม่ผิดอะไรถ้าจะกล่าวว่า Casablanca คือภาพยนตร์แนวชวนเชื่อ ให้ผู้ชมเกิดทัศนคติคิดทำบางสิ่งอย่างเพื่อสังคมส่วนรวม เพราะเมื่อผ่านพ้นยุคสมัยของสงครามมาแล้ว ใจความของหนังจึงเหลือเพียง ‘การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อสันติสุขส่วนรวม คือคุณธรรมขั้นสูงสุดของมนุษย์’

ด้วยทุนสร้าง $878,000 เหรียญ ทำเงินในการฉายครั้งแรก $3.7 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามา 3 รางวัล ประกอบด้วย
– Outstanding Motion Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Humphrey Bogart)
– Best Supporting Actor (Claude Rains)
– Best Writing, Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Music (Score of a Dramatic or Comedy Picture)

ถึงหนังจะออกฉายเดือนพฤศจิกายนปี 1942 แต่ตามกฎของ Academy สมัยก่อนนั้นจะยกยอดหนังฉายหลังเดือนตุลาคม รวมไว้ในปีถัดไป ทำให้ Casablanca ได้เข้าชิง Oscar ประกาศรางวัลตอนปี 1944 (ปีสุดท้ายที่มีหนังเข้าชิง 10 เรื่อง)

ตอนหนังได้รับการประกาศชนะภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ยังไม่ทันที่ Hal B. Wallis โปรดิวเซอร์ของหนังจะขึ้นรับรางวัล เจ้าของสตูดิโอ Jack L. Warner รีบแจ้นขึ้นเวทีไปตัดหน้ารับรางวัลด้วยใบหน้ายิ้มแย้มพึงพอใจ ขณะที่เจ้าของผลงานกลับไม่มีโอกาสขึ้นไปรับรางวัล นี่สร้างความร้าวฉานให้กับให้กับ Wallis อย่างมาก ไม่นานจากนั้นก็ยื่นใบลาออกจาก Warner Bros.

“I couldn’t believe it was happening. Casablanca had been my creation; Jack had absolutely nothing to do with it. As the audience gasped, I tried to get out of the row of seats and into the aisle, but the entire Warner family sat blocking me. I had no alternative but to sit down again, humiliated and furious … Almost forty years later, I still haven’t recovered from the shock.”

– Hal B. Wallis

เมื่อปี 1984 สตูดิโอคู่แข่ง MGM/UA เพราะความที่เป็นเจ้าลิขสิทธิ์ฉายหนังผ่านโทรทัศน์ ว่าจ้าง Color Systems Technology ให้ทำการ Colorization หนังคลาสสิกหลายๆเรื่อง รวมถึง Casablanca ซึ่งพอ Ted Turner เข้ามาซื้อกิจการของ MGM/UA เมื่อปี 1988 ได้ตั้งใจจะยกเลิกสัญญานี้ แต่ก็ได้ช้าเกินไปเสียแล้ว หมดงบประมาณ $450,000 เหรียญ จำต้องนำออกฉายช่อง WTBS แน่นอนไม่ได้รับเสียงตอบรับดีนัก

ไม่ขอแนะนำให้รับชม Casablanca ฉบับภาพสีนะครับ เพราะจะทำให้อรรถรสหลายๆอย่างในการรับชมเปลี่ยนไป และความตั้งใจของผู้สร้างแท้จริงไม่ได้ทำหนังให้เหมาะสมกับความเข้ม โทนสี แต่ถ้ายังจะดื้อด้าน แนะนำให้ไปรับชมต้นฉบับขาว-ดำ เสียก่อนนะครับ แล้วค่อยไปหาหนังสีดู อย่างน้อยที่สุดจะได้เกิดการเปรียบเทียบ และค้นพบแน่ว่า มันไม่ใช่เรื่องความเหมาะสมแม้แต่น้อย (กระนั้นก็ทำให้เรารู้ว่า ชุดนางเอกที่สวมใส่ เธอนิยมสีฟ้าจริงๆ)

ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับชม แต่กว่าจะเข้าใจเหตุผลมนต์เสน่ห์และความมหัศจรรย์ ก็น่าจะเป็นสิบๆรอบที่หวนกลับมา เริ่มตระหนักได้ครั้งแรกจาก Hiroshima mon amour (1959) จากนั้นก็เฝ้ารอวันจะ Revisit บทความนี้

เปรียบ Casablanca คือหญิงสาวที่ใครๆต่างตกหลุมรักคลั่งไคล้ มีความงามเลิศคลาสสิกที่สุด แต่ไม่มีวันที่ใครจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของ มีเพียงช่วงเวลาแห่งรักเท่านั้น ที่คุณสามารถเก็บความประทับใจให้กลายเป็นความทรงจำไม่รู้ลืม

Casablanca เป็นหนังที่แนะนำเลยว่า ต้องรับชมให้ได้มากกว่า 1 รอบ เพื่อจะได้ซึมซับเห็นความสวยงามแท้จริงที่แอบซ่อนอยู่ในห้วงแห่งกาลเวลา, แต่กับคนที่เพิ่งเคยได้ดูหนังเป็นครั้งแรก ให้ทิ้งช่วงระยะห่างไปอีกสักสองสามเดือน หรือปีสองปีค่อยกลับมาว่ากัน As Time Goes By เวลาผ่านไปเท่านั้น คุณถึงจะเริ่มเห็นคุณค่า เข้าใจความหมายของการ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศนัวร์ สุรา-นารี-การพนัน คำพูดกวนๆของพระเอก และชาตินิยมนาซี

TAGLINE | “Casablanca เป็นภาพยนตร์ที่ทำตัวเหมือนหญิงสาว ให้เราตกหลุมรักแล้วแยกจาก กาลเวลาผ่านไปกลับมารับชมอีก เกิดความหวนระลึกถึงอดีต พอหนังจบก็เล่นตัวจากไปอีก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE


Casablanca

Casablanca (1942)

(22/11/2015) ถ้าถามว่า Casablanca อยู่ที่ไหน เชื่อว่าคนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ แต่ถ้าถามรู้จักหนังเรื่อง Casablanca ไหมนี่ไม่แน่นะครับ เชื่อว่าน่าจะมีคนรู้จักมากกว่าแน่ๆ ในบรรดาหนังที่ผมดูมี มีไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่จะใช้ชื่อเมืองเป็นชื่อหนัง ซึ่งเหตุผลที่หนังใช้ชื่อนี้ แค่เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง เกิดแค่ในเมืองนี้เท่านั้น ผมว่าเอาจริงๆมันก็มีชื่ออื่นให้ตั้งได้เยอะแยะเลยนะ แต่เรื่องนี้ถือเป็นงานทดลองแรกๆ ที่ใช้ point-of-view เป็นเมืองๆหนึ่ง โดยเล่าเรื่องวนเวียนอยู่แต่ในเมืองๆนี้เท่านี้ ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง ใช้แค่สถานที่ๆหนึ่งใน Casablanca เป็นที่เล่าเรื่องเท่านั้น ใครดูเรื่องนี้แล้วคงจะรู้ว่ามันคือที่ไหน

สิ่งแรกที่อยากพูดถึงก่อนเลยคือผู้กำกับ Michael Curtiz เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่มี vision เรื่องการกำกับภาพมากๆ เหมือนว่าเขามีภาพในหัวที่ต้องการอยู่แล้ว และต้องการถ่ายทอดภาพนั้นออกมาแบบเปะๆเลย หนังของเขาแทบทุกเรื่องจะมีการใช้ Crane เล่นกับมุมกล้องอย่างมาก เขาได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีพลังในการกำกับมาก ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเวลานอน มีคนเปรียบว่า “เขาไม่ใช่มนุษย์ที่มีเนื้อหนังกระดูก แต่เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่มีฟิล์มและเหล็ก” “I felt that he was not flesh and bones, that he was part of the steel of the camera”

Michael Cutriz กำกับหนังที่เป็น Masterpiece หลายเรื่อง แต่มีเพียง 2 เรื่องที่ได้เป็น Top 100 AFI คือ Casablanca และ Yankee Doodle Dandy และได้ Oscar สาขา Director จาก Casablanca ในปี 1942

สำหรับนักแสดง คนแรกที่ต้องกล่าวถึงเลยคือ Humphrey Bogart เขาคือหนึ่งในตำนานนักแสดงของ hollywood ใครที่ชอบดูหนังเก่าๆ ยังไงก็ต้องรู้จักเขาคนนี้ AFI ได้จัดอันดับ 100 star อันดับ 1 ก็คือ Humphrey Bogart นี่แหละ ความสามารถในการแสดงคงไม่ต้องพูดอะไรมาก เขาสามารถทำให้คุณรู้สึกถึงอารมณ์ของตัวละคร ผ่านสีหน้า การแสดงอันสุดยอด สำหรับ Casablanca เขาคือชายสุดกวน ที่เหมือนจะไม่แคร์อะไรในโลกแล้ว จะมีก็เพียงหญิงสาวที่เขาเคยรัก ซึ่งหลายร้อยหลายพันเมืองในโลก ทำไมเธอถึงมาเจอเขาในเมืองนี้ คุณจะรู้สึกถึงความเป็นปวดของชายคนนี้ผ่านการแสดงของ Humphrey Bogart ได้แน่นอน น่าเสียดายที่ Humphrey ไม่ได้ Oscar จากหนังเรื่องนี้ แต่ก็ยังได้เข้าชิงนะ

คนที่สองคือนางเอก Ingrid Bergman หนึ่งในตำนานนักแสดงหญิงที่ผมชอบที่สุด เธอเป็นคน Swedish ความงามของเธอทำให้หนังทุกเรื่องที่เธอเล่น มีสีสัน มีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างมาก และเธอได้รับการจัดอันดับของ AFI เป็นอันดับ 4 greatest women star สำหรับ Casablanca อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เธอแสดงได้ดีที่สุด แต่ความงามของเธอทำให้ความรู้สึกของ Humphrey Bogart ต่อการแสดงความอกหักในรัก หนักแน่นขึ้นไปอีก หนังของเธอที่ผมชอบที่สุดคือ Notorious หวังว่าผมจะมีโอกาสรีวิวหนังเรื่องนี้นะครับ

หนังยุคเก่าๆ จะยังไม่ค่อยนิยมเล่นเพลงออเครสต้าตลอดหนังทั้งเรื่อง แต่ Max Steiner นักประพันธ์เพลงผู้ก้าวมาจาก Broadways ได้แต่งเพลงให้กับหนังคลาสสิคมากมาย อาทิ Gone with the Wind, King Kong (1933) ใน Casablanca เพลงที่เขาแต่ง และให้ Dooley Wilson ขับร้อง แน่นอนว่าเป็นหนึ่งในเพลงที่เป็นตำนาน As Time Goes By ลองฟังดูนะครับ

เทคนิคการแต่งเพลงประกอบของ Max Steiner ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในสมัยนั้น เขามีความเชื่อว่าทุกตัวละครต้องมีเพลงประกอบของตัวเอง ที่เรียกว่า Character Song แน่นอนว่าเทคนิคนี้ถูกใช้กันมากในปัจจุบัน เพราะตัวละครแต่ละตัวมีความคิด ความรู้สึก การแสดงออกแตกต่างกัน เพลงประจำตัวจะถูกใช้เมื่อถึงโอกาสสำคัญของตัวละครนั้นๆ แสดงถึงตัวตน เป็นเอกลักษณ์ และเราสามารถรับรู้บุคคลิกตัวละครนั้น ได้จากการที่แค่ฟังเพลง Character Song

Arthur Edeson ตากล้องระดับตำนาน เขาเริ่มจากการเป็นช่างภาพทั่วๆไป แต่เมื่อเทคโนโลยีภาพยนตร์เริ่มเข้ามา เขาก็ผันตัวเอง เป็นตากล้องภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1914 ด้วยผลงานกำกับภาพกว่าร้อยเรื่อง เขาได้ฉายาว่า “master craftsmen” บ้างก็เรียกว่า “zenith of Hollywood photography” (Zenith = สุดยอด) และใน Casablanca เขาได้รับเกียรติสูงสุด ด้วยการได้รับ Oscar สาขา Best Black and White Cinematography สาขานี้ได้ถูกแบ่งออกแบบ Black and White และ Color ในปี 1936 เป็นครั้งแรก และครั้งสุดท้ายที่มีการแยก คือปี 1966 เป็นปีที่ปิดฉากรางวัลสาขา Best Black and White Cinematography

เขาเป็นผู้กำกับภาพที่ขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายภาพ realistic ซึ่งเราจะรู้สึกถึงความสมจริงค่อนข้างมาก แม้ต้นฉบับเรื่องนี้จะเป็นแค่สีขาวดำ แต่ความรู้สึก ความเข้มข้นและความอ่อนไหวของการถ่ายภาพ ยิ่งสนับสนุนให้อารมณ์ของหนังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ภาพหนึ่งที่ผมชอบมากๆ คือฉากที่ถ่ายพื้น เห็นเงาของป้ายชื่อร้าน Rick แล้วไล่กล้องขึ้นมา ฉากนี้ถือว่าคลาสสิคมากๆ เล่นกันแสงและเงาได้งดงาม หรือแม้แต่ฉากจบที่เป็นหมอกควันและเครื่องบินที่บินจากไป อารมณ์ที่ได้จากการถ่ายภาพแบบนี้ สมแล้วที่เขาได้ออสก้าจากงานภาพระดับ Masterpiece เรื่องนี้

เทคนิคการเล่าเรื่องและการตัดต่อ ค่อนข้างมีเสน่ห์ทีเดียว หนังเริ่มเล่าเรื่องจาก Casablanca เป็นภาพกว้างๆ ก่อนที่จะโฟกัสไปที่ตัวละครตัวหนึ่ง นำเสนอบุคคลิก มิติของตัวละครนั้น ไปจนถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป กว่าครึ่งชั่วโมงแรก หนังแทบไม่ได้บอกอะไรเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับอะไร เล่าแค่ว่า นี่คือ Casablanca และนี่คือตัวละครนำ ผมเรียกมันว่า เสน่ห์ของหนังคลาสสิค คือเราไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่าเป้าหมายของหนังคืออะไร แค่สนุกไปกับมัน สนุกกับการเล่าเรื่อง สนุกกับเพลงประกอบ การตัดต่อ ภาพและเสียง ผมไม่แน่ในนักว่านี่เป็นหนังเรื่องแรกหรือเปล่าที่มีการเล่าย้อนอดีต ที่เรียกว่า Flashback สมัยนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักการเล่าย้อนอดีตแล้ว แต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกภาพยนตร์ เพราะคนสมัยก่อน ความเข้าใจในภาพยนตร์คือการเล่าเรื่องราว แต่ไม่เคยมีการย้อนไปหาอดีต มันคงเป็นอะไรที่อึ้งมากๆ ทีเดียว

ผมได้ยินว่าบทหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมีปัญหาทีเดียว เพราะถ่ายโดยไม่รู้ตอนจบ เป็นอะไรที่เกิดขึ้นบ่อยใน hollywood ยุคนั้น คือมีเรื่องเล่าดีๆ แต่ไม่รู้จะจบยังไง ผมชอบตอนจบนะ คือตอนจบเรื่องนี้สามารถสร้างสรรค์อะไรได้เยอะแยะเลย จะให้คนนี้ไปกับคนนี้ หรือไปกันทั้งหมด หรือ… แต่ตอนจบแบบในหนัง ได้สร้างบรรยากาศบางอย่างที่ไม่มีใครคาดถึงมาก่อน จะเรียกว่า “หักมุม” ก็ได้ …. ก็เช่นเดิม สมัยก่อน หักมุม มันไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่ พอได้มาเจอกับหนังเรื่องนี้ ก็คงเกิดอาการ พูดไม่ออก บอกไม่ถูก เป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันเป็นอย่างมาก ซึ่งก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ข้อวิพากย์นี้แหละที่ทำให้ Casablanca กลายเป็นหนังสุดคลาสสิค เป็นตอนจบที่ใช่เลย

หนังเรื่องนี้หาได้ง่ายตามร้านขาย/เช่า หนังทั่วๆไปเลยนะครับ เพราะถือเป็นภาพยนตร์ที่มีคนรู้จักมาก ขนาดว่ามีการ colorize ใส่สีให้หนัง (มันอารมณ์คล้ายๆแปลงหนังจาก 2D เป็น 3D แต่ยุคก่อนมันจะเป็น แปลงหนังขาวดำ ให้เป็นหนังสี) แต่ผมแนะนำให้ดูขาว-ดำ นะครับ จะได้เห็นงานถ่ายภาพระดับตำนานของหนังเรื่องนี้ อารมณ์มันก็ต่างกันด้วย นักแสดงทั้งสองก็สุดยอดมากๆ หนังเรื่องนี้มีคำในตำนาน Best Quote อยู่มากมายเลย เชื่อว่าใครได้ดูแล้วคงจะจำประโยคเด็ดๆจากหนังเรื่องนี้ได้หลายคำเลย โดยเฉพาะประโยคนี้

“Louis, I think this is the beginning of a beautiful friendship.”

คำโปรย : “This is the beginning of a beautiful friendship. Casablanca ผลงานสุดคลาสิคจาก Michael Curtiz นำแสดงโดย Humphrey Bogart และ Ingrid Bergman”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE

2
Leave a Reply

avatar
2 Comment threads
0 Thread replies
2 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] Casablanca (1942)  : Michael Curtiz ♥♥♥♥♡ […]

trackback

[…] Casablanca (1942)  : Michael Curtiz ♥♥♥♥♡ […]

%d bloggers like this: