Cavalcade

Cavalcade (1933) hollywood : Frank Lloyd ♥♥♥

อีกหนึ่ง Worse Oscar: Best Picture นำเสนอครอบครัวชาวอังกฤษ มีชีวิตพานผ่านวันสิ้นปี 1899 จนถึงปีใหม่ 1933, พบเห็นสงคราม Second Boer War (1899-1902), การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (22 มกราคม 1901), เรือไททานิคล่ม (14 เมษายน 1912) และสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-18)

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือดอกไม้ประดับพื้นหลัง หนังนำเสนอแค่มุมมองตัวละคร อิทธิพลผลกระทบ สภาพจิตใจขณะพานผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวเท่านั้นเอง!

รับชมยุคสมัยปัจจุบัน แทบทั้งนั้นส่ายหัวกับความไม่มีอะไรสักอย่าง ไร้อารมณ์ร่วมจับต้องได้ แค่ภาพยนตร์บันทึกประวัติศาสตร์ แฝงซ่อนเร้นประเด็น Patriotism แต่ผมว่า Anti-Wars กลับโดดเด่นชัดกว่า

จริงๆถ้าเราลดอคติคาดหวังต่อหนังลง ผมมองว่า Cavalcade เป็นภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมหนึ่ง มีไดเรคชั่นเป้าหมายนำเสนอเด่นชัดเจน และทำออกมาได้ค่อนข้างดีมากๆด้วย จะเรียกว่าหนังอาร์ท (Art Film) ที่มาก่อนเวลาเลยก็ยังได้


ต้นฉบับของ Cavalcade คือละครเวทีสร้างโดย Sir Noël Peirce Coward (1899 – 1973) นักเขียน/นักแสดง/ผู้กำกับละครเวที สัญชาติอังกฤษ ในชีวิตเคยสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อร่วมกับ David Lean เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น In Which We Serve (1942) แต่ได้รับการยกย่องคว้ารางวัล Academy Honorary Award

Coward มีความต้องการสร้างละครเวทีที่มีโปรดักชั่นอลังการ ทีแรกครุ่นคิดเรื่องราวเกี่ยวกับ French Revolution แต่เมื่อพบเห็นภาพถ่ายเก่าๆจากหนังสือพิมพ์ Illustrated London News ขณะกองทัพทหารอังกฤษกำลังขึ้นเรือออกเดินทางสู่ Boer War เลยเกิดแรงบันดาลใจ Cavalcade

เพื่อความอลังการงานสร้างที่สุด ทีแรก Coward ติดต่อ London Coliseum (โรงละครขนาดใหญ่สุดในประเทศอังกฤษขณะนั้น) แต่คิวไม่ว่างเลยจำต้องเลือก Theatre Royal, Drury Lane ที่มีขนาดรองลงมา เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ 13 ตุลาคม 1931 นำแสดงโดย Mary Clare, Edward Sinclair แม้ประสบปัญหาขัดข้องทางเทคนิคเล็กน้อย แต่ได้เสียงตอบรับอย่างดีล้นหลาม กลายเป็นละครเวที West End ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งปี 405 รอบการแสดง สิ้นสุดกันยายน 1932

ความสำเร็จของละครเวที แม้ยังประเทศอังกฤษมีหรือจะไม่เข้าหูเข้าตาสตูดิโอ Fox Film Corporation ส่งตากล้องไปบันทึกการแสดงสดหวังใช้เป็นไกด์ไลน์สร้างภาพยนตร์ ทีแรกวางตัว Frank Borzage แต่ได้รับการปัดปฏิเสธ โปรดิวเซอร์เลยมองหาผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ (เพราะเข้ากับพื้นหลังเรื่องราว) และได้ตัว Frank Lloyd สดๆร้อนๆเพิ่งคว้า Oscar: Best Director จากเรื่อง The Divine Lady (1929)

Frank William George Lloyd (1886 – 1960) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Glasgow, Scotland พ่อเป็นชาว Welsh แม่เชื้อสาย Scottish โตขึ้นมุ่งสู่ London กลายเป็นนักร้อง/แสดงละครเวที มุ่งสู่ Hollywood แสดงหนังเงียบสังกัด Universal Studio แต่เสียงตอบรับไม่ดีเลยผันสู่เบื้องหลัง สร้างชื่อตอนอยู่สตูดิโอ Fox ชื่นชอบดัดแปลงวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง A Tale of Two Cities (1917), Les Misérables (1917), Oliver Twist (1922) ฯ ปรับตัวสู่ยุคหนังพูด The Divine Lady (1929), Cavalcade (1933), Mutiny on the Bounty (1935) ฯ

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Reginald Berkeley, Sonya Levien เห็นว่าแทบไม่มีการปรับเปลี่ยนแปลง เพิ่มตัดต่อเติมเนื้อหาส่วนใดจากละครเวทีออกไปเลย

เรื่องราวของครอบครัว Marryot และคนรับใช้ เล่าผ่านมุมมองของภรรยา/แม่ Jane Marryot (รับบทโดย Diana Wynyard) พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่วันสิ้นปี 1899 จนถึงปีใหม่ 1933
– สงคราม Second Boer War (1899-1902) พบเห็นสามี/พ่อ Robert Marryot (รับบทโดย Clive Brook) และคนรับใช้ Alfred Bridges (รับบทโดย Herbert Mundin) เตรียมตัวออกเดินทางเข้าร่วมปฏิบัติการ Siege of Mafeking เพื่อยึดครองเมือง Mafeking (ปัจจุบันคือ Mahikeng, South Africa)
– แม้ได้รับชัยชนะกลับจากสงคราม แต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ทรงสวรรคตวันที่ 22 มกราคม 1901
– ปี 1908, อดีตคนรับใช้ Alfred และภรรยา Ellen Bridges (รับบทโดย Una O’Connor) ออกไปตั้งตัว เปิดกิจการผับบาร์ของตนเอง แต่เขากลับมีอาการคล้ายๆ PTSD ดื่มเหล้าเมามายหัวราน้ำ ประสบอุบัติเหตุรถชนเสียชีวิต
– 25 กรกฎาคม 1909, ครอบครัว Marryot บังเอิญพบเจออดีตคนรับใช้เก่า Bridges ที่ริมทะเล พบเห็น Louis Blériot สร้างประวัติศาสตร์ขับเครื่องบินข้ามช่องแคบอังกฤษเป็นครั้งแรก
– เมษายน 1912, พี่ชายคนโต Edward Marryot (รับบทโดย John Warburton) แต่งงานกับเพื่อนเล่นวันเด็ก Edith Harris (รับบทโดย Margaret Lindsay) ขึ้นเรือ RMS Titanic ตั้งใจไปฮันนีมูนยังสหรัฐอเมริกา แต่แล้ว…
– การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง (1914 – 18) ทำให้พ่อ Robert ต้องหวนกลับไปรับใช้ชาติ ขณะที่ลูกชายคนเล็ก Joe Marryot (รับบทโดย Frank Lawton) ก็อาสาสมัครเป็นทหาร วันหนึ่งระหว่างวันพักผ่อน พบเจอตกหลุมรัก Fanny Bridges (รับบทโดย Ursula Jeans) ที่กลายเป็นนักร้อง/นักเต้น พยายามเกี้ยวพาราสีแต่เธอกลับลีลาเล่นตัว แล้วโศกนาฎกรรมก็บังเกิดขึ้นอีกหน
– 11 พฤศจิกายน 1918 ณ Trafalgar Square พบเห็น Jane ร่ำร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ ท่ามกลางฝูงชนที่ต่างยินดีปรีดากับการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง


นำแสดงโดย Diana Wynyard ชื่อเกิด Dorothy Isobel Cox (1906 – 1964) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Lewisham, South London เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที เข้าร่วมคณะ Liverpool Repertory Company ตามด้วย Hamilton Deane Repertory Company มีโอกาสไปแจ้งเกิด Broadway และแสดงภาพยนตร์สังกัด Fox Film Coporation ผลงานเด่นๆ Cavalcade (1933), On the Night of the Fire (1939), Gastlight (1940) ฯ

รับบทภรรยา/แม่ Jane Marryot เริ่มต้นเอ่อล้นด้วยความรัก แต่มักพานพบเจอการสูญเสีย เป็นเหตุให้จิตใจที่เคยเป็นสุขค่อยๆทุกข์เศร้าหมองจนหมดอาลัย เพราะเหตุไฉนทำไมโชคชะตาถึงเล่นตลกบ่อยครั้งครากับฉันขนาดนี้

กราฟความสุขของตัวละครนี้ เริ่มต้นจากสูงสุดค่อยๆลดต่ำลงจนเหลือศูนย์(ลงไปติดลบ) ตรงกันข้ามกับการแสดงของ Wynyard เริ่มต้นเหมือนไม่มีอะไรค่อยๆสะสมความอึดอัดอั้นทรมาน จากเคยยิ้มนานกลายเป็นอมทุกข์เศร้าหมอง ถ่ายทอดผ่านสีหน้าอารมณ์ตัวละครได้อย่างหม่นหมองรวดร้าวราน

นักแสดงอื่นขอไม่พูดถึงแล้วกันนะครับ เพราะโดดเด่นมีเพียง Wynyard อยู่คนเดียว นอกนั้นเหมือนตัวประกอบสมทบ Ensemble Cast มีลักษณะ Charactor Stock เท่านั้นเอง


ถ่ายภาพโดย Ernest Palmer (1885 – 1978) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน มีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Seventh Heaven (1927), Street Angel (1928), สู่หนังพูด Cavalcade (1933), และคว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง Blood and Sand (1941)

ตัดต่อโดย Margaret Clancey (1897 – 1989) นักแสดง/นักตัดต่อหญิง สังกัดสตูดิโอ Fox ตามด้วย United Artists

หนังถ่ายทำทั้งหมดยังสตูดิโอ Fox แม้ฉากภายนอกก็ใช้เทคนิค Rear Projection ฉายภาพที่กองสองไปถ่ายทำไว้ขึ้นฉากพื้นหลัง นักแสดงไม่จำต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสถานที่จริง

ไดเรคชั่นของหนัง นำเสนอผ่านมุมมองสายตาของ Jane Marryot ประสบพบเจอเรื่องราวการสูญเสียต่างๆนานา แต่จะไม่มีการนำภาพโศกนาฎกรรมเหล่านั้นถ่ายทอดให้ผู้ชมพบเห็น
– สามี Robert Marryot ไปสงคราม Second Boer War แต่จะไม่มีภาพการสู้รบเข่นฆ่าฟัน
– การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย มีเพียงข่าวหนังสือพิมพ์ ขบวนนำพระศพก็ไม่พบเห็น
– เรือไททานิคล่ม เห็นแค่ป้ายชื่อเท่านั้นละ
– สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รับรู้จากการอ่านจดหมายแล้วเป็นลมล้มพับ

การที่หนังไม่นำเสนอภาพเหตุการณ์สูญเสียสักอย่าง ถือเป็นความอาร์ทอย่างหนึ่ง! เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงความรู้สึกตัวละคร ที่ก็รับรู้สิ่งต่างๆจากได้ยินมา อ่านหนังสือพิมพ์ หรือข้อความในจดหมาย ไม่จำเป็นต้องประสบพบเห็นด้วยตา สามารถเกิดความรวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัสได้เช่นกัน

ถึงกระนั้นมุมมองผู้ชมยุคสมัยปัจจุบัน ถ้าไม่เคยล่วงรู้ประวัติศาสตร์มาก่อนคงยากจะเข้าใจ หงุดหงิดหัวเสียเพราะไม่เห็นมันมีอะไร! หนังนำเสนอเพียงปฏิกิริยา สีหน้า อารมณ์ตัวละคร ขณะประสบพบเห็น พานผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ทุกครั้งที่กำลังจะ Time Skip มีภาพทหารม้ากำลังเดินทัพ ตัวอักษรปรากฎขึ้นเลขปีคริสต์ศักราช นั่นเป็นการสะท้อนชื่อหนัง Cavalcade แทนความหมายกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน คงเป็นความตั้งใจให้คล้ายๆแม่ไกวเปลเด็กของ Intolerance: Love’s Struggle Throughout the Ages (1916)

นอกจากนี้หนังยังมีความโดดเด่นอีกประการหนึ่ง คือการสอดแทรก Comedy เข้าไปในบทสนทนา แทบทุกครั้งจะมีการตบมุกล้อเลียน ขำบ้างไม่ขำบ้าง คนไม่คล่องแคล่วภาษาอังกฤษอาจเสียเปรียบพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น

Annie: Eh, where is Africa Mr. Bridges?
Alfred Bridges: Well I don’t rightly know where it is but, it’s bloody hot when ya get there.

เกร็ด: Cavalcade คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการใช้คำหยาบ Damn, Hell, และ Hell of a lot ซึ่งล้วนมาจากต้นฉบับละครเวที สาเหตุรอดตัวเพราะยังอยู่ช่วงก่อนหน้าการมาถึงของ Hays Code หรือที่เรียกว่า Pre-Code

และช่วงท้ายจะมีการสรุปประมวลผลเหตุการณ์ หวนระลึกห้วงความทรงจำ 30 ปี ของครอบครัว Marryot ใช้เทคนิคซ้อนภาพจากอดีต ผสมเสียงและบทเพลงสลับเปลี่ยนไปมา ช่างดูสับสนวุ่นวายอลม่านเสียจริง! … แต่ทุกสิ่งอย่างได้เกิดขึ้นพานผ่านพ้นไปหมดแล้ว ปัจจุบันหลงเหลือเพียงความว่างเปล่าที่แสนเงียบเหงาและสงบสุข

สำหรับเพลงประกอบ ส่วนหนึ่งนำจากต้นฉบับละครเวทีของ Noël Coward เพิ่มเติมเพลงชาติอังกฤษ, แนวปลุกใจทหาร (Patriotic Song), Ballads, Hyms, Jazz ฯ ล้วนเพื่อให้สอดคล้องเข้ากับยุคสมัยและเรื่องราว อาทิ
– Cavalcade March Song (1932) ทำนอง Louis De Francesco, คำร้อง Reginald Berkeley
– Edward Elgar: Pomp and Circumstance March No. 1 in D Major, Op. 39 (1901) ดังขึ้นเมื่อตอนเริ่มต้น/สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
– Frédéric Chopin: Sonata No. 2 in Bb-, Op. 35: Marche Funebre (1837) งานพระศพ Queen Victoria
– Johann Strauss: Kaiserwalzer (Emperor Waltz), Op. 437 (1889) ในงานเลี้ยงบอลรูม และบนเรือไททานิค
– Auld Lang Syne (1788) คำร้องโดย Robert Burns
– Soldiers of the Queen (1894) แต่งโดย Leslie Stuart
– When Johnny Comes Marching Home (1863) แต่งโดย Louis Lambert
– Over There (1917) แต่งโดย George M. Cohan
ฯลฯ

นำบทเพลง Lover of My Dreams (Mirabelle Valse) แต่งโดย Noël Coward ในหนังขับร้องโดย Ann Shaw, Adele Crane และ Stuart Hall

Great Depression ช่วงปลายทศวรรษ 20s แพร่ระบาดความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ปกคลุมทั่วผืนแผ่นดินโลก เศรษฐกิจฝืดเคือง เงินทองหายาก ข้าวปลาไม่ค่อยมีกิน แต่นั่นหาใช่จุดสิ้นสุดชีวิต รับชมละครเวที/ภาพยนตร์เรื่องนี้ ย่อมสามารถหลบหลีกหนี ‘Escapist’ และสร้างขวัญกำลัง แรงบันดาลใจให้ใครๆสามารถลุกขึ้นก้าวเดิน

ดูจากความตั้งใจของ Noël Coward และผู้กำกับ Frank Lloyd รังสรรค์สร้าง Cavalcade ให้มีกลิ่นอายรักชาติ ‘Patriotism’ ปลุกผู้ชมให้ฮึกเหิม เกิดกำลังใจลุกขึ้นต่อสู้ แม้พานผ่านโศกนาฎกรรมมากมาย ตราบใดยังชีวิตก็ยังต้องดิ้นรนดำเนินต่อ

ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อมองในมุมของ Jane Marryot แม่ผู้เต็มไปด้วยความหวาดสะพรึงกลัว อันเนื่องจากสงครามทำให้เกิดการพลัดพราก ชีวิตต้องทนทุกข์ยากตกระกำลำบาก นี่ถือเป็นใจความต่อต้าน Anti-War อันก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมสูญเสีย จากเคยสุขสำราญแปรสภาพสู่หมดสิ้นหวังอาลัย

หลายคนอาจสงสัย ทำไมผมถึงจัดหนังเรื่องนี้เข้าหมวด Art Film? นั่นเพราะไดเรคชั่นดำเนินเรื่อง มีความแน่วแน่ในการนำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร ด้วยลีลาหลีกเลี่ยงนำเสนอเหตุการณ์ออกมาตรงๆ นี่เป็นวิธีการที่หนังอินดี้ทุนสร้างต่ำๆสมัยปัจจุบันนี้นิยมกัน แม้เรื่องนี้กลับจัดเต็มงบประมาณ เลยสามารถเรียกว่า ‘Art Film ที่มาก่อนเวลา’ ก็น่าจะได้อยู่!


ด้วยทุนสร้างประมาณ $1.2 เหรียญ ทำเงินได้ $3.5 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จกำไรล้นหลามทีเดียว, เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
– Outstanding Production **คว้ารางวัล
– Best Director **คว้ารางวัล
– Best Actress (Diana Wynyard)
– Best Art Direction **คว้ารางวัล

อีกเหตุผลหนึ่งที่หนังถูกปู้ย้ำปู้ยีเมื่อกาลเวลาผ่านไป เพราะสามารถเอาชนะเรื่องที่กลายเป็นตำนานอย่าง 42nd Street, Little Women และ The Private Life of Henry VIII. ได้อย่างน่ากังขา

เกร็ด: Cavalcade คือภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวของ Fox Film Corporation ที่คว้ารางวัล Oscar: Best Picture ก่อนผนวกรวมบริษัทกับ 20th Century Pictures เมื่อปี 1935 เปลี่ยนชื่อเป็น 20th Century Fox

เกร็ด 2: Frank Lloyd เป็นผู้กำกับคนที่สองถัดจาก Lewis Milestone คว้า Oscar: Best Director ได้ถึงสองครั้งจาก The Divine Lady (1929) และ Cavalcade (1933)

ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆกับหนัง แต่อดไม่ได้จะยกย่องไดเรคชั่น/เป้าหมายของหนัง มีความแน่วแน่ชัดเจน เรียกได้ว่า ‘Art Film ที่มาก่อนกาลเวล’ น่าเสียดายผู้ชมสมัยนี้มองไม่เห็นคุณค่าความสำคัญนั้น

แนะนำคอหนัง War Drama บันทึกประวัติศาสตร์ แฝงใจความต่อต้านสงคราม, แฟนๆผู้กำกับ Frank Lloyd และนักแสดงนำ Clive Brook, Diana Wynyard ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับโศกนาฎกรรมที่แม้ไม่พบเห็น แต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของตัวละคร

คำโปรย | แม้ดูยังไงก็น่าเบื่อ แต่ Cavalcade ของผู้กำกับ Frank Lloyd จัดเป็นหนังอาร์ทก่อนเวลา ที่มีเป้าหมายโดดเด่นชัดเจน
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | เฉยๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: