Chang: A Drama of the Wilderness (1927)
: Merian C. Cooper, Ernest B. Schoedsack ♥♥♥♡
ช้าง ภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่ถ่ายทำในเมืองไทย โดยว่าที่สองผู้กำกับ King Kong (1933) เข้าชิง Oscar ครั้งแรกในสาขา Unique and Artistic Production (ปัจจุบันคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) แม้จะไม่ได้รางวัลแต่ถือว่าสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมต่างประเทศ ที่ไม่เคยเห็นผืนป่าแผ่นดินสยามมาก่อน
ในยุคหนังเงียบ มีหนังประเภทหนึ่ง (ตอนนั้นยังไม่มีคำเรียกของ Documentary) เป็นการบันทึกภาพเรื่องราวการสำรวจ ออกเดินทางไปยังดินแดนที่ (ชาวอเมริกาและยุโรป) คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้พบเห็นรู้จัก นับตั้งแต่ Nanook of the North (1922) [เรื่องนี้ถือว่าคือภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของโลก] หนังเงียบแนวนี้จึงเริ่มได้รับความนิยมจากคนหลายๆกลุ่ม, จริงอยู่มันอาจไม่ใช่ pure-documentary เพราะมีการเตี้ยมเตรียมการเกิดขึ้น แต่นั่นคือวิถีของคน เรื่องราวจริงๆของผู้คนในยุคสมัยนั้น บันทึกไว้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ ที่มีความสำคัญระดับโลก
Chang: A Drama of the Wilderness เป็นผลงานของสองคู่หู Merian C. Cooper กับ Ernest B. Schoedsack
Ernest Beaumont Schoedsack (1893-1979) เกิดที่ Council Bluffs, Iowa ตอนอายุ 14 หนีออกจากบ้าน เข้าร่วม road gangs มาจนถึง San Francisco ได้ทำงานเป็น surveyor และช่างถ่ายภาพหนังสือพิมพ์ The New York Times, ด้วยความสูง 6 ฟุต 5 นิ้ว (1.96 เมตร) เพื่อนๆให้ฉายาเขาว่า Shorty
Merian Caldwell Cooper (1893 – 1973) เกิดที่ Jacksonville, Florida เป็นลูกคนสุดท้อง ตอนอายุ 6 ขวบ ตั้งใจว่าโตขึ้นจะกลายเป็นนักสำรวจ หลังเรียนจบเข้าร่วม U.S. Naval แต่ถูกไล่ออกปีสุดท้าย ภายหลังเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นนักบินเครื่องบินรบ เคยเครื่องบินตก และเป็นเชลยสงครามหลายครั้ง เคยแม้กระทั่งถูกตัดสินประหารชีวิตตอนที่ทำเครื่องบินตกในแดนของรัสเซียระหว่างไปรบให้แก่โปแลนด์ แต่ก็หนีรอดออกมาได้, หลังสงครามกลายเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ The New York Times
Schoedsack พบกับ Cooper ครั้งแรกที่เวียนนา ปี 1918 ขณะทำงานเป็นนักข่าวของ The New York Times เหมือนกัน ด้วย Lifestyle และชื่นชอบการผจญภัยเหมือนกัน ต่อมาได้ตัดสินใจเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ มีผลงานร่วมกันเรื่องแรก Grass (1925) บันทึกเรื่องราวการอพยพของชาวเผ่า Bakhtiari ข้ามแม่น้ำและภูเขาในดินแดนที่เป็นอิหร่าน ถือเป็นภาพยนตร์สารคดีชาติพันธุ์วิทยา (ethnographic) เรื่องแรกของโลก
ฤดูร้อนปี 1925 ด้วยการสนับสนุนจาก Paramount ทั้งสองออกเดินทางสู่ประเทศสยามโดยไม่เคยรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้าบ้าง ด้วยความตั้งใจที่เรียกว่า ‘Natural Drama’ สร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เกิดขึ้นในธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ
เมื่อถึงเมืองไทย ได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และนายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือน (เจ้าของบริษัทพยนต์พัฒนากร ที่มีโรงหนังพัฒนากร และชอบนำภาพยนตร์ไปฉายถวาย ร.6 บ่อยครั้ง) ใช้เวลาถ่ายทำนานถึงปีครึ่ง ที่จังหวัดน่าน แพร่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี ชุมพร มีการนำช้างมาเข้าฉากถึง 400 เชือก, คงด้วยความล่าช้าของโปรเจค จากทุนสร้างที่เตรียมไว้ $70,000 เหรียญ เพิ่มขึ้นเป็น $95,000 เหรียญ (ประมาณเงินไทยตอนนั้น 2 แสนบาท)
Schoedsack กับ Copper มีบทหนังที่จะถ่ายทำอยู่ในใจแล้ว (เขียนบทโดย Achmed Abdullah) แต่ตัดสินใจอาศัยอยู่ในป่า (ทำให้ Copper ติดไข้ป่ามาลาเรีย) เพื่อเรียนรู้ ศึกษาวิถีชีวิตของสัตว์แต่ละชนิดเพิ่มเติม จะได้ปรับเปลี่ยนเรื่องราวไปตามสถานการณ์
สำหรับนักแสดงนำ ครู (Kru) เป็นชาวประมง, นายพราน, คนเผยแพร่ศาสนา และช่างทาสี ได้เป็นไกด์ส่วนตัวและแปลภาษาของ Cooper กับ Schoedsack ก่อนถูกขอให้รับบทนำ ซึ่งเด็กๆทั้งสองคือลูกของครูจริงๆ สัตว์เลี้ยงในคอกก็เช่นกัน ส่วนภรรยาเล่นโดยแฟนของเพื่อนคนหนึ่ง (แฟนครูคงอาย ไม่กล้าเข้ากล้อง)
สมัยนั้นการฆ่าสัตว์ป่ายังไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ทุกการตายที่เห็นคือเรื่องจริงทั้งหมด (ก็ไม่รู้จะเตี้ยมกับสัตว์ป่ายังไงนะครับ) วิธีการถ่ายทำ Schoedsack จะเป็นคนถ่ายหนังทุกฉาก ขณะที่ Copper จะถือปืนไรเฟิลอยู่ข้างๆ ถ้ามีเหตุการณ์พลาด
เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่ถ่ายด้วยฟีล์ม panchromatic (คือฟิล์มที่มีความไวต่อทุกสีของแสง รวมทั้งรังสี ultraviolet มีความสามารถในการเก็บโทนต่างๆได้เป็นอย่างดี และเวลาล้างฟิล์มต้องทำในความมืดเท่านั้น)
ฉากหนึ่ง ถ่ายจากด้านบนขณะที่เสือดาวปีนต้นไม้ Schoedsack เล่าให้ฟังว่า ในหนังสือที่เขาเคยอ่านบอกว่า เสือปีนต้นไม้ได้ไม่เกิน 11 ฟุต เขาจึงตั้งกล้องที่ 13 ฟุต แต่ปรากฏว่าเจ้าเสือตัวนั้นมันกระโดดมาตะครุบถึงกล้อง เกือบที่จะพลาดตกต้นไม้แล้ว
เห็นว่ามีอยู่หลายช็อตที่ถ่ายทำให้สวนสัตว์ Central Park Zoo, New York เพราะต้องการเก็บภาพ Close-Up ปฏิกิริยาของสัตว์ป่า โดยการฉายของพวกเขาขึ้นจอ (แต่ใช่ว่าสัตว์ทุกตัวเมื่อเห็นตัวเองแล้วจะมีปฏิกิริยาตอนสนองที่ดี), อย่างช็อตเจ้าลิงวิ่งหนีเสือ ที่ใช้การถ่าย tracking shot แบบ Close-Up นี่ก็น่าจะในสวนสัตว์ ไม่เช่นนั้นจะได้ภาพใบหน้าชัดๆได้ยังไง
สำหรับไฮไลท์อยู่ที่ Elephant Stampede กล้องถ่ายภาพจากพื้นเห็นโขลงช้างเดินผ่าน, กล้องสมัยก่อนมันไม่ได้อัตโนมัติเหมือนปัจจุบันนะครับ เวลาถ่ายทำตากล้องต้องยืนหมุนฟีล์ม ประจำอยู่ตรงที่จะถ่าย ถือว่าเป็นฉากเสี่ยงตายที่สุดในหนังของทั้งสอง, วิธีการคือ ใช้ลูกช้างตัวเล็กๆ สร้างฉากจำลองให้ดูเหมือนเป็นช้างโตเต็มวัย แล้ว Schoedsack กับ Copper ขุดหลุมซ่อนตัวอยู่ข้างใต้ขณะลูกช้างเดินผ่าน, คิดว่าเพราะฉากนี้แหละที่ผู้ชมเห็นแล้ว ตราตะลึง อึ้งทึ่งว่าทำไปได้ยังไง และได้เข้าชิง Oscar
หลังจากถ่ายหนังเสร็จ กลับไปอเมริกา ตัดต่อโดย Louis R. Loeffler เข้าฉายที่ New York รอบปฐมทัศน์ถือว่ามีความยิ่งใหญ่อลังการมาก ใช้วง Orchestra เครื่องดนตรี 60 ชิ้น โดยมี Hugo Riesenfeld ประพันธ์เพลงให้ ฉายในระบบ Magnascope ผู้ชมตราตะลึง อึ้งทึ่งในการผจญภัยสุดยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เกิดกระแสปากต่อปาก ทำเงินได้มหาศาล
เข้าฉายเมืองไทยปีถัดมา แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่, ผมว่าเพราะถึงหนังจะถ่ายทำในเมืองไทย แต่ไม่มีความเป็นไทยอยู่สักนิด คือเป็นเรื่องของธรรมชาติและป่า การต่อสู้ เอาตัวรอด … คนไทยที่มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ก็คงมีแต่ชาวเมือง ชาวกรุง ไม่ได้มีความตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจอะไรเท่าไหร่
ฉบับที่ผมได้ดู มีเพลงประกอบของวงฟองน้ำ วงดนตรีที่ผสมผสานดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก ก่อตั้งโดย บุญยงค์ เกตุคง และ บรูซ แกสตัน เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒, มีการใช้เครื่องดนตรีไทย ระนาด ฉิ่งฉาบ กลอง และช่วงเปิด/ปิด หนังมีขับเสภา ที่มีใจความเกี่ยวกับวิถีชีวิต ผมเชื่อว่าคนไทยฟังออกแน่ แต่จะเข้าใจไหมนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
กับคนที่เคยดูหนังเรื่อง King Kong ไม่ว่าจะฉบับไหน ‘ผู้กำกับชื่อดังเดินทางไปยังดินแดนที่ไม่มีใครสำรวจ กลับมาได้นำเสนอสิ่งอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน’ ใจความของหนังเรื่องนั้น ไม่ใช่ว่าได้แรงบันดาลใจ กึ่งอัตชีวประวัติของ Schoedsack กับ Copper ขณะมาสำรวจถ่ายทำหนังเรื่องช้างที่เมืองไทยนี้หรอกหรือ
ถ้าคุณเป็นคนไทย สมควรหาหนังเรื่องนี้มารับชมอย่างยิ่ง มันอาจจะไม่มีอะไรหวือหวา ตื่นเต้นเร้าใจ แต่นี่คือประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งในดินแดนสยาม ที่มีป่า มีสัตว์ป่า คนอาศัยอยู่ในป่า ความอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติสวยๆ เรื่องราววิถีชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ, ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกอิ่มเอิบ หลงรัก หลงใหล ประทับใจ แม้มันจะมีความโหดร้ายอยู่บ้าง แต่มันคือความจริงของการต่อสู้เพื่อมีชีวิตในอดีต ภาพที่เห็นในหนังคือบรรพบุรุษที่เป็นชาติพันธุ์ของพวกเรา ถ้าโลกปัจจุบันไม่ได้เจริญพัฒนาเปลี่ยนไป พวกเราคงยังต้องมีชีวิตแบบหนังเรื่องนี้
จัดเรต 13+ กับการฆ่าสัตว์ป่า
ผมชื่อสุธีร์ ครับพอดีทำสารคดีเรืองช้าง สนใจหนังเรื่องนี้เพื่อนำบางส่วนไปประกอบสารคดีช้าง อยากสอบถามว่า จะทำหนังสือขออนุญาติได้ที่ใครบ้างครับ
อ้างอิงนำไปใช้ได้เลยนะครับ บทความที่ผมเขียนไม่ได้มีลิขสิทธิ์ใดๆ
จะสามารถหาสารคดีชุดนี้ได้จากที่ไหนครับ อยากชมมาก เห็นแต่ทีค่เป็นสั้นๆ1-2นาที