Chariots of Fire (1981)
: Hugh Hudson ♥♥♥♥♡
หนังรางวัล Oscar สาขา Best Picture ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี เรื่องราวของนักกรีฑาในนามทีมชาติ Great Britain 2 คน ที่เข้าร่วมแข่งกัน 1924 Paris Summer Olympics ประเทศ France, หนังนำเสนอคุณค่าของมนุษย์และความยึดมั่นในอุดมการณ์ที่น่าทึ่ง ถึงขนาดผมต้องยกให้ ‘ต้องดูให้ได้ก่อนตาย’
นักกรีฑา 2 คน ประกอบด้วย Eric Liddell ชาว Scottish ผู้นับถือ Christian อย่างเคร่งครัด และมีความเชื่อว่าพรสวรรค์ของเขาเกิดจากพระเจ้าประทานให้ จึงวิ่งเพื่อความรุ่งโรจน์ของพระเจ้า, Harold Abrahams ชาว English เชื้อสาย Jews ที่วิ่งเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวคือเอาชนะ และต้องการลบคำปรามาสดูถูกจากคนทุกระดับ
Paris Summer Olympics, France จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม ถึง 27 กรกฎาคม ปี 1924 ถือเป็นครั้งที่ 8 ของโอลิมปิกสมัยใหม่ และเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศฝรั่งเศส จัดครั้งแรกเมื่อปี 1900 (ถือเป็นครั้งแรกที่โอลิมปิกจัดซ้ำในประเทศที่เคยจัดมาแล้ว), และในปีเดียวกันนี้ฝรั่งเศสยังเป็นเจ้าภาพจัด Winter Olympics ที่เมือง Chamonix ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการจัดโอลิมปิกฤดูหนาว
กับคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้แล้ว จะมีสิ่งหนึ่งที่จดจำไม่ลืม คือเพลงประกอบที่สุดแนว ทั้งๆที่เรื่องราวของหนังดำเนินขึ้นในยุค 20s แต่เพลงประกอบดันใช้ดนตรี Electronic แบบสังเคราะห์เสียงของยุค 80s ตลกคือมันดันเข้ากันเสียอย่างนั้น! ไปฟังกันก่อนเลยนะครับ ไม่แน่ว่าคุณอาจระลึกได้ว่าเคยได้ยินมาจากที่ไหนสักที่ และนี่กลายเป็นเพลงฮิตที่เคยติดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard ด้วยนะครับ ชื่อเพลง Titles/Chariots of Fire แต่งโดย Vangelis
โปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้ David Puttnam (The Killing Fields) ได้ว่าจ้าง Colin Welland ให้ดัดแปลงเรื่องราวของ Eric Liddell เป็นบทภาพยนตร์, เขาได้ทำการค้นคว้าอย่างหนัก จากหนังสือพิมพ์ ค้นหารูปถ่าย ฟุตเทจที่บันทึกภาพการแข่งขันเอาไว้ นั่นทำให้เขาพบกับนักกรีฑาอีกคนหนึ่ง Harold Abrahams ทั้งสองเป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่ง จึงตัดสินใจสร้างเรื่องราวของทั้งสองไปควบคู่กัน
Welland ได้ประติดประต่อเรื่องราวและแต่งเพิ่มบางส่วนเข้าไปเพื่อให้เนื้อเรื่องมีความสมบูรณ์ขึ้น, Liddell และ Abrahams ทั้งสองมีตัวตนอยู่จริง และได้เหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกที่ Paris, มีตัวละครหนึ่งที่เพิ่มเข้าไป Andrew Lindsay ที่ถือว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก Lord David Burghley (เหรียญทอง 400m ในโอลิมปิก 1928) และ Douglas Lowe (เหรียญทอง 800m ในโอลิมปิก 1924 และ 1928)
นอกจากนี้ประเด็นรอง (subplot) ของหนัง ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง อาทิ Great Court Run การวิ่งรอบ Great Court ที่ Trinity College, Cambridge ในประวัติศาสตร์ Abrahams ไม่มีการบันทึกเอาไว้ว่าเขาวิ่ง แต่คนที่ทำสำเร็จคือ Lord David Burghley ในปี 1927 (ตัวละคร Lindsay ก็ร่วมวิ่งกับ Abrahams แต่ไม่สำเร็จ)
ถ้าคุณเป็นพวกโหลดหนังเถื่อนแล้วหาซับไทยดูไม่ได้ เตือนไว้ก่อนเลยว่า ลำบากแน่ เพราะหนังจะมีคำพูดแบบสำบัดสำนวนราวกับ ‘ภาษาดอกไม้’ มากๆ, ตอนดูหนังเรื่องนี้ ผมไม่เหวอมากเท่า Mr. Turner (2014) คือความเข้าใจในสำนวนมันไม่เลวร้ายเท่าไหร่ ศัพท์ก็ไม่ลึกซึ้งหรือโบราณขนาดนั้น แต่ถ้าคุณภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงพอ อ่าน subtitle ภาษาอังกฤษเชื่อว่าได้มีปัญหาแน่ๆ
กำกับภาพยนตร์โดย Hugh Hudson กับผลงาน debut เรื่องแรก, Hudson มาจากสายโฆษณา เป็นโปรดิวเซอร์และเป็นผู้กำกับ ก่อนหน้านี้เคยทำสารคดี Fangio, A life at 300 km/h เกี่ยวกับนักแข่งรถ Formula 1 แชมป์ 5 สมัย Juan Manuel Fangio, ได้รับมอบหมายจาก David Puttnam ที่เคยร่วมงานกันจนเชื่อมือ ให้มากำกับหนังเรื่องนี้, ต้องบอกว่าแนวทางของ Hudson มีความเป็น British มากๆ (เหมือนเวลาดูหนัง hollywood แล้วพูดว่า ‘หนัง hollywood มาก’ เช่นกันหนังอังกฤษก็มี ‘หนัง british มาก’) ในสไตล์ของความเป็นผู้ดี ทั้งการแสดง คำพูด สำเนียง ท่าทางบุคคลิก ความเย่อหยิ่ง ฯ ถ้าคุณดูหนังที่เป็น british แท้ๆมาหลายเรื่องจะเข้าใจที่ผมพูดได้เลยนะครับ
สำหรับนักแสดง Hudson ต้องการให้บทนำเป็นนักแสดงหน้าใหม่ๆ อายุยังน้อย และมีนักแสดงมืออาชีพ รับบทตัวละครที่ให้การสนับสนุนตัวละครหลัก, กระนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหานักแสดงหน้าใหม่ที่มีความสามารถพอ ครั้งหนึ่ง Hudson และโปรดิวเซอร์ Puttnam ได้ไปดูการแสดงละครเวทีที่ Royal Shakespeare Company และได้พบกับ Ian Charleson ชาว Scottish ที่เข้าตาพอดี จึงได้รับเลือกให้รับบท Eric Liddell
ในประวัติศาสตร์นั้น Liddell สละสิทธิ์ลงแข่ง 100m เพราะแข่งกันวันอาทิตย์จริงๆนะครับ เขาเป็น Christian ที่เคร่งครัดมากๆ, Charleson เห็นว่าเขาแทบกลายเป็นคนของศาสนาหลังเสร็จจากหนังเรื่องนี้เลย เพราะได้ศึกษาอ่านคำภีร์ไบเบิ้ล เพื่อนำแนวคิดมาใช้ประกอบการแสดง และคำพูดสุนทรพจน์ที่เขากล่าวหลังการแข่งขัน ก็เขียนเองกับมือ เพราะรู้สึกบทที่เตรียมไว้นั้นมันไม่สมจริงสักเท่าไหร่, การต่อสู้ของ Liddell คือศรัทธา พระเจ้าสร้างโลกใน 6 วัน และพักผ่อนในวันที่ 7 คือวันอาทิตย์ ซึ่งถ้าเขาลงแข่งในวันนี้ ก็เท่ากับขัดต่อความตั้งใจของพระเจ้า, ในยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อุดมการณ์ของคนสมัยนั้น ‘เพื่อชาติสำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใด’ Liddell ได้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึง ขนาดให้องค์ชายว่าที่ประมุขของประเทศมาคุยขอต่อหน้า ระหว่างประเทศชาติกับความเชื่อ ศรัทธา เขาเลือกศาสนาสำคัญกว่าสิ่งใด, Liddell เป็นตัวแทนของคนที่มีพรสวรรค์และอุดมการณ์ที่ยึดมั่นไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับบท Harold Abrahams ผู้กำกับได้พบ Ben Cross ในการแสดงละครเวทีเช่นกัน แต่เป็นใน Chicago ขณะรับบท Billy Flynn ที่สามารถร้องเล่นเปียโนเองได้ด้วย, หลังจาก Ben Cross ได้อ่านบทหนังก็เกิดความประทับใจ ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่, Abrahams เป็นคนอังกฤษเชื้อสาว Jews ที่ถึงภายนอกจะแต่งตัวเหมือนผู้ดี แต่มักโดนดูถูกจากคนอื่นๆ ในความที่เป็น Jewish ถือว่าชั้นต่ำในสังคมอังกฤษ, การต่อสู้ของ Abrahams คือการพิสูจน์ตัวเอง ว่าความสามารถไม่ได้เกิดจากชาติกำเนิด ซึ่งจากตัวละครนี้เราจะเห็นเลยว่า สังคมอังกฤษสมัยนั้นยังยึดติดกับรูปแบบ ธรรมเนียม วิถีปฏิบัติมากแค่ไหน ไม่ค่อยเปิดใจรับแนวคิดอะไรใหม่ๆเข้ามาเลย, ชัยชนะของ Abrahams จึงเป็นตัวแทนของคนที่ถือว่าไม่มีพรสวรรค์แต่มีพรแสวง (พรสวรรค์ก็มีนะครับ แต่น้อยกว่า Liddell)
สำหรับตัวละครที่แย่งซีนหนังไปเต็มๆคือ Ian Holm (Bilbo ตอนแก่ใน Lord of the Rings) รับบทเป็นอิตาเลี่ยน Sam Mussabini คนนี้มีตัวตนจริงนะครับ เขาเป็นโค้ชที่ชื่อดังและประสบความสำเร็จมากๆคนหนึ่ง นักกีฬาในสังกัดกวาดเหรียญรางวัลมากว่า 11 เหรียญ จาก 5 โอลิมปิก, กระนั้นในยุคหนึ่งเขาก็เริ่มไม่ได้รับความยอมรับ เพราะ Olympics ถือว่าเป็นกีฬาของมือสมัครเล่น (amateurism) แต่ Mussabini เป็นโค้ชของนักกีฬามืออาชีพ (professional) เขาจึงต้องการพิสูจน์ตนเองเช่นกัน แบบเดียวกับ Abrahams, การแสดงของ Holm เด่นมากๆ เขาไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าดูการแข่งขัน แต่ตอนที่เห็นธงชาติอังกฤษถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา ก็รู้ทันทีว่านั่นเป็นชัยชนะของลูกศิษย์ การดีใจของเขาไม่ได้กระโดดโลดเต้น แต่ผ่านสีหน้าและการกระทำ ชกหมวกทะลุ นี่ถือว่าเป็นการแสดงลุ่มลึกมากๆ สมแล้วกับการได้รางวัล Best Supporting Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes น่าเสียดายที่เป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่ Holm ได้แค่เข้าชิง Oscar แต่ไม่ได้รางวัล ปีนั้นแพ้ให้กับ John Gielgud จากหนังเรื่อง Arthur
ถ่ายภาพโดย David Watkin (เจ้าของรางวัล Oscar สาขา Best Cinematrography จากหนังเรื่อน Out of Africa-1985) หนังเรื่องนี้มีฉากเปิดที่ได้รับการพูดถึงมากๆในยุค 80s กลุ่มของนักกีฬาชาย ใส่ชุดสีขาว กำลังวิ่งเลียบชายหาด (แบบในโปสเตอร์) เริ่มจากการ cross-fade ให้เห็นเท้าของตัวละครกำลังวิ่งอยู่บนหาดทราย Tracking-Shot เคลื่อนกล้องตามนักแสดง แล้วเลื่อนภาพขึ้นมาให้เห็นใบหน้า เราจะเห็นนักกีฬาทุกตัวในหนังปรากฏอยู่ในฉากนี้ แต่จะยังไม่รู้ว่าพวกเขาคือใคร จากนั้นตัดไปภาพ long-shot แพนจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง จบที่เห็นพวกเขาวิ่งตรงสู่เมือง, นี่เป็นการบอกให้เรารู้ตั้งแต่ต้นเลย ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับการแข่งขัน วิ่งต่อสู้เข้าสู่เส้นชัย เป็นการเกริ่นที่เหมือนบทคัดย่อ สรุปใจความสำคัญของหนัง นี่แหละครับคือเหตุผลทำให้ฉากนี้มันยิ่งใหญ่
ตัดต่อโดย Terry Rawlings (Alien-1979, Blade Runner-1982) ด้านเทคนิค หนังมีการใช้ fade บ่อยมาก คงเพราะมีการเล่าย้อนอดีต fade จึงเปรียบเหมือนความทรงจำที่เลือนลาง, ด้านการเล่าเรื่อง เนื่องจากมีตัวละครนำ 2 ตัว หนังจึงใช้การสลับกันเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก เริ่มต้นจากปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 1978) เป็นพิธี Memorial การเสียชีวิตของ Harold Abrahams (14 มกราคม 1978) จากนั้นย้อนเวลา จากเสียงการอ่านจดหมายของ Aubrey Montague เพื่อนของ Abrahams ที่ถือว่าเป็นผู้บรรยายเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น (นั่นเป็นจดหมายจริงๆของ Montague นะครับ) หลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงของทั้ง Abrahams สลับกับ Liddell ว่าไปมีอยู่ไม่กี่ครั้งเท่านั้น ที่ทั้งสองจะได้อยู่ร่วมฉากเดียวกัน แม้จะอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ก็ยัง ตัวใครตัวมัน เรื่องใครเรื่องมัน แทบไม่เกี่ยวกันเลย
ในสนามแข่ง Liddell กับ Abrahams ไม่เคยวิ่งแข่งกันจริงๆนะครับ ใกล้เคียงสุดและที่หนังใช้เป็นพื้นหลังของการแข่งคือ 1923 AAA Championship สนาม Stamford Bridge ทั้งคู่ลงแข่ง 100 และ 220 yards เหมือนกันแต่ Abrahams วิ่งไม่ผ่านรอบคัดตัว ส่วน Liddell เข้าที่ 1 ทั้งสองประเภท, กระนั้นในหนังเมื่อใส่ให้ทั้งสองวิ่งแข่งกันแล้ว Abrahams แพ้ การพูดย้ำๆซ้ำเติมต่อความพ่ายแพ้ตัวเอง การตัดต่อที่วนซ้ำพร้อมสโลโมชั่นความพ่ายแพ้เสียจนน่ารำคาญ คงเพราะหนังต้องการให้ผู้ชมรู้สึกแบบที่ Abrahams รู้สึกจริงๆ (ซึ่งก็รู้สึกจริงๆ นี่แหละคนที่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้), ฉากนี้ผมถือว่าเด่นที่สุดของ Abrahams แล้วนะครับ
น่าเสียดายที่ Rawlings ไม่เคยได้ Oscar หรือ BAFTA สักตัวเลยนะครับ เขาได้เข้าชิง Oscar จากหนังเรื่องนี้ (แพ้ให้กับ Michael Kahn จากเรื่อง Raiders of the Lost Ark) ส่วน BAFTA ได้เข้าชิงกับ Alien (1979), Chariots of Fire (1981) และ Blade Runner (1982) แต่ไม่ได้สักครั้ง
เพลงประกอบโดย Vangelis เป็นคอมโพเซอร์ชาวกรีก มีผลงานดังๆอย่าง Blade Runner (1982) เชี่ยวชาญดนตรีประเภท electronic, progressive, ambient, jazz, pop rock, และ orchestral ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งของวงการเพลง Electronic เลยนะครับ, กับหนังเรื่องนี้ที่ทำให้เขาได้ Oscar สาขา Best Music, Original Score ถ้าพูดกันเฉยๆ ไม่เคยดูหนังมาก่อน คงไม่มีใครเห็นความเหมาะสมที่จะใช้รูปแบบเพลงสมัยใหม่ประกอบเรื่องราวยุคก่อน แต่เพราะผู้กำกับแนะนำให้กับ Vangelis เองเลยว่า ‘ฉันต้องการเพลงสมัยใหม่ ที่เป็นตัวแทนต่อความคิดและความเชื่อล้าหลังในสมัยก่อน’ หลังจากแต่งเพลงนี้เสร็จแล้ว Vangelis อุทิศให้กับพ่อของเขาบอกว่า ‘พ่อของฉันเป็นนักวิ่ง และนี่เป็นเพลงสรรเสริญของเขา’
เกร็ด: เพลง Chariots of Fire ถูกใช้เปิดในพิธีมอบเหรียญรางวัลใน 2012 London Summer Olympic
เกร็ด: เพลง Chariots of Fire ได้รับเลือกจาก Steve Jobs ไปใช้ตอนเปิดตัว Macintosh เมื่อเดือนมกราคม ปี 1984
เกร็ด: เพลง Jerusalem ตอนท้ายของหนัง ถือว่าเป็นเพลงชาติอย่างไม่เป็นทางการของอังกฤษ (England’s unofficial national anthem)
เราวัดคุณค่าของคนที่อะไร? เป็นคนดีของสังคม?, ทำตามทุกกรอบระเบียบที่กำหนดไว้ทุกอย่าง?, ตั้งใจเรียน สอบได้คะแนนดี จบการศึกษาสูง?, ทำงานเงินเดือนดีได้เลื่อนขั้น? ฯ สำหรับผม คุณค่าของคนอยู่ที่ การค้นพบตัวเองและ ‘ใช้ชีวิตตามอุดมการณ์ของตน’, ถ้าคุณมีความฝันและกำลังเดินอยู่ในเส้นทางนั้น ผมถือว่าคุณเป็นคนที่ทรงคุณค่ามากๆ ไม่ว่าอุดมการณ์นั้นจะคืออะไร ดีเลว เพื่อตนเองหรือเพื่อคนอื่น มันแสดงว่าคุณได้ใช้ชีวิตที่เกิดมาอย่างคุ้มค่า, กับคนที่มีชีวิตไปวันๆ ไม่มีเป้าหมาย หรือมีความฝันแต่ไม่เสี่ยงที่จะก้าวเดิน ผมอยากให้ถามตัวเองว่า ‘เกิดมาทำไม?’
ผมหลงรักหนังเรื่องนี้ ในการนำเสนออุดมการณ์ที่แน่วแน่ของสองตัวละคร ความกล้าหาญที่ไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรคปัญหาใดๆ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เป็นใคร หรือยิ่งใหญ่มาจากไหน, มนุษย์เราไม่มีค่าอะไรเลยถ้าไม่มีอุดมการณ์ เปรียบได้เหมือน หุ่นกระบอกที่ถูกเชิดชักไปมา ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง แต่การตามคนอื่นไม่ใช่สิ่งไม่ดีนะครับ ถ้ามันเป็นการตัดสินใจของคุณเอง ไม่ใช่เลือกเพราะต้องการตามคนอื่น นี่ก็ยอมรับได้, กระนั้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ย่อมคือการคิด/ทำ ในสิ่งที่ไม่เหมือนคนอื่น นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะพบกันง่ายๆ อุดมการณ์ในหนังเรื่องนี้ถือว่า อุดมคติ มาก ถ้าคุณสามารถมีชีวิตได้อย่างพระเอก ใครคนไหนก็ได้ไม่ต้องทั้งสอง จะถือว่าสุดยอดเลย นี่แหละที่เรียกว่า ‘ไม่เสียชาติเกิด’
ชื่อหนัง Chariots of Fire มาจากบทกวีของ William Blake ที่ดัดแปลงมาจากข้อความในคำภีร์ไบเบิ้ล เราจะได้ยินจากเสียงเพลงบทสวดสรรเสริญพระเจ้า Jerusalem ตอนท้ายของหนัง
And did those feet in ancient time,
Walk upon Englands mountains green:
And was the holy Lamb of God,
On Englands pleasant pastures seen!
And did the Countenance Divine,
Shine forth upon our clouded hills?
And was Jerusalem builded here,
Among these dark Satanic Mills?
Bring me my Bow of burning gold;
Bring me my Arrows of desire:
Bring me my Spear: O clouds unfold!
Bring me my Chariot of fire!
I will not cease from Mental Fight,
Nor shall my Sword sleep in my hand:
Till we have built Jerusalem,
In Englands green & pleasant Land
ประโยคต้นฉบับในไบเบิ้ลคือ “And it came to pass, as they still went on, and talked, that, behold, there appeared a chariot of fire, and horses of fire, and parted them both asunder; and Elijah went up by a whirlwind into heaven.”
ความหมายของชื่อหนัง น่าจะสื่อถือความไม่ย่อท้อยอมแพ้ ต่ออุปสรรค์ข้างหน้าที่จะขัดขวางเราไว้ไม่ให้ถึงเส้นชัย แต่เป้าหมายไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นตรงข้างหน้า สิ่งที่เราตั้งใจแน่วแน่มันจะมีความยั่งยืนอยู่คงนิรันดร์
ในบรรดาหนังเกี่ยวกับโอลิมปิกที่เป็น ‘หนัง’ ไม่ใช่ ‘สารคดี’ ผมคิดว่า Chariots of Fire น่าจะเป็นหนังที่ดังที่สุด ได้รับการพูดถึงมากที่สุด และได้รางวัลมากที่สุดแล้วนะครับ สำหรับ Oscar เข้าชิง 7 สาขา ได้มา 4 ประกอบด้วย
1. Best Film
2. Best Writing
3. Best Costume Design
4. Best Music, Original Score
ที่พลาดไปคือ Best Director, Best Supporting Actor (Ian Holm) และ Best Edited
สำหรับ Golden Globe Awards นั้น หนังถูกมองว่าเป็นภาษาต่างประเทศเสียอย่างนั้น แต่ก็ได้รางวัลมา Best Foreign Film
เข้าชิง BAFTA Awards (Oscar ของ British) 11 สาขา ได้มา 3 ประกอบด้วย
1. Best Film
2. Best Supporting Actor (Ian Holm)
3. Best Costume Design
และหนังได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ด้วย ได้มา 2 รางวัล
1. Best Supporting Actor (Ian Holm)
2. Prize of the Ecumenical Jury – Special Mention (Hugh Hudson)
มีหลายคนมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังที่ Most Overratted Film, ถ้าสังเกตคนที่จัดอันดับ ส่วนมากจะเป็นชาร์ทของอเมริกัน นี่ถือเป็นเรื่องปกตินะครับ ที่คนอเมริกันจะชอบดูถูกคนอื่น และดูถูกหนังของอังกฤษ ถึงจะพูดภาษาอังกฤษเหมือนกัน แต่สำเนียงทำให้รู้เลยว่าเกิดที่ไหน เป็นอคติต่อชาติกำเนิด คล้ายๆกับเรื่องราวในหนัง, ผมอ่านคำวิจารณ์ของ Roger Ebert ถึงเขาจะให้หนังเรื่องนี้ 4 ดาวเต็ม แต่คำพูดที่เขียนออกมา มันชัดเลยว่า อคติที่มีต่อคนอังกฤษนั้นสูงมาก ‘I have no interest in running and am not a partisan in the British class system.’ มันเลยไม่แปลกอะไรที่หนังจะถูกมองว่า Overratted นะครับ
นี่เป็นหนังที่มีความน่าสนใจมากๆ ถ้าสามารถมองข้ามอะไรหลายๆอย่าง ที่ไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ออกไป, ฮีโร่ทั้ง 2 คน ถือว่าเป็นคนมีอุดมการณ์แน่วแน่ ทำให้เรารู้สึกอยากร่วมเป็นกำลังใจให้พวกเขา ผลลัพท์ออกมาเลยยิ่งใหญ่ ชัยชนะที่ได้เลยอิ่มเอิบ นี่เป็นหนัง Feel Good ที่สะท้อนคุณค่าของมนุษย์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
แนะนำอย่างยิ่งกับนักกีฬาทุกประเภท ดูเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ, ผู้มีความท้อแท้ในชีวิต ต้องการดูหนังที่ให้กำลังใจ, คนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบชนชั้นของประเทศอังกฤษในยุค 20s, คอหนังรางวัล เพลงเพราะ เนื้อเรื่องเยี่ยม แนวทางการกำกับน่าสนใจ
จัดเรต PG เป็นความตั้งใจของผู้สร้าง เพราะถ้าเป็นเรต G คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นหนังสำหรับเด็ก
[…] 4. Chariots of Fire (1981) : Hugh Hudson ♥♥♥♥♡ […]