charulata

Charulata (1964) Bollywood : Satyajit Ray ♥♥♥♥

ผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Satyajit Ray เรื่องราวของภรรยามหาเศรษฐี ที่วันๆไม่รู้จะทำอะไร อาศัยอยู่ในคฤหาสถ์หลังใหญ่โต เหมือนนกในกรง เมื่อมีตัวผู้อีกตนเข้ามากระเซ้าเย้าแหย่ มีหรือจะไม่เตลิดไปไกล, The Lonely Wife รับบทโดย Madhabi Mukherjee กับการแสดงที่ได้รับยกย่องว่า ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ ลึกล้ำที่สุดในอินเดีย

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Nastanirh (The Broken Nest) เขียนโดย Rabindranath Tagore พหูสูตชาว Bengali (คนนี้อัจฉริยะรอบด้าน ทั้งเขียนนิยาย แต่งกวี ประพันธ์เพลง เล่นละคร วาดรูป ฯ เก่งทุกอย่างจนได้รับการยกย่องว่าเป็นพหูสูต) เคยได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1913, สำหรับนิยายเรื่องนี้ มีนักวิเคราะห์มองว่า อาจได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของพี่ชาย Jyotirindranath Tagore และภรรยา Kadambari Devi ที่เธออาจจะแอบชอบ Rabindranath แต่พอเขาหนีไปแต่งงาน จึงทนไม่ได้ ตรอมใจฆ่าตัวตาย

พ่อของ Satyajit เป็นเพื่อนสนิทกับ Rabindranath มาก่อน แต่ตัวเขาเพิ่งมารู้ตอนโต (เพราะพ่อเสียชีวิตไปตอนเขาอายุ 2 ขวบ เลยไม่มีโอกาสรู้จักกัน) สมัยเป็นนักเรียน ได้มีโอกาสพบตัวจริง แต่ Rabindranath ก็อายุไม่ยืนนัก เสียชีวิตในปี 1941 ก่อนที่ Satyajit จะเริ่มสนใจสร้างภาพยนตร์เสียอีก, ก่อนหน้านี้ Satyajit เคยวางแผนดัดแปลงนิยายของ Rabindranath เรื่อง Ghare baire (The Home and the World) ในปี 1948 แต่ก็ล้มเหลว เพราะประสบการณ์ยังอ่อนด้อย ถ้าฝืนสร้างไปรังแต่จะสร้างชื่อเสีย [แต่เรื่องนี้ก็ได้สร้างสำเร็จเมื่อปี 1984]

สำหรับนิยายเรื่อง Nastanirh คงไม่ได้รับความสนใจจาก Satyajit ถ้าไม่ได้เป็นชู้กับ Madhabi Mukherjee จนถูกภรรยา Bijoya Ray จับได้ (เห็นว่าแบบคาหนังคาเขา), เธอขู่ฟ้องหย่าแต่ Satyajit คุกเข่าอ้อนวอน บอกว่าชีวิตนี้จะไม่แต่งงานกันคนอื่น ให้เธอใจเย็นยกโทษ และขอเวลาจัดการเรื่องนี้เอง, สิ่งหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจคือ Satyajit สร้าง Charulata เพื่อเป็นการขอโทษภรรยา หรือต้องการนำเสนอเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ส่วน Madhabi Mukherjee ทั้งสองยังได้ร่วมงานกันอีกครั้งใน Kapurush (1965) [ชื่อหนังแปลว่า ไอ้ขี้ขลาด, The Coward] นี่น่าจะเป็นเรื่องที่สื่อถึงตัวเขาเอง (แต่ผมยังไม่เคยดูนะครับ เลยบอกไม่ได้ว่าชู้คู่นี้จบลงยังไง)

ปล. สุดท้าย Bijoya ก็ไม่ได้หย่ากับ Satyajit นะครับ อยู่ด้วยกันจนวันตาย

ด้วยเหตุนี้กระมัง Satyajit เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า Charulata เป็นหนังที่เขาตั้งใจสร้างที่สุด สมบูรณ์แบบแทบไม่มีข้อบกพร่อง และเป็นเรื่องโปรดชอบที่สุด (ในบรรดาหนังที่เขาสร้าง)

เริ่มต้นฉากแรก ไม่มีบทพูดนาน 10 นาที Charu (นำแสดงโดย Madhabi Mukherjee) แสดงความว่างเปล่า อ้างว้าง เดียวดาย ไม่มีอะไรทำ ด้วยการเดินไปมารอบบ้าน ถักผ้า หยิบอ่านหนังสือ ถือกล้องเปิดหน้าต่างส่องคนที่เดินไปมาข้างนอก จบฉากด้วยสามี Bhupati (รับบทโดย Shailen Mukherjee) เดินผ่านไปอย่างไม่เห็นหัว

เป็นคนรวยชีวิตก็ลำบากเหมือนกัน ตรงที่พอไม่ต้องดิ้นรนก็ไม่รู้จะทำอะไรดี เวลาว่างมีมากมายเหลือล้น, สิ่งที่สามี Bhupati ใช้เวลาผ่านไปคือ ทำหนังสือพิมพ์การเมือง The Sentinel อันเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์สูงส่ง เสี้ยมสอน แนะนำ/กล่องเกลา เพื่อให้ประชาชนเลือกข้างตามความสนใจของตน, ส่วนภรรยา Charu วันๆเดินไปเดินมา อ่านหนังสือ เรื่อยเปื่อย ยังหาความสนใจของตนไม่พบ

แนะนำ: หนังแนวรวยล้นฟ้าแล้วว่างไม่รู้จะทำอะไร ใครชอบแนวนี้ลองไปหาหนังของ Michelangelo Antonioni มารับชมนะครับ รับรองว่า จะมีอะไรให้คุณคิดจนไม่รู้สึกเบื่อเลยละ

ด้วยเหตุนี้ สามีจึงต้องการหาอะไรให้ภรรยาไม่เบื่อ จึงได้ชักชวนพี่น้อง ทั้งฝั่งของตน Amal (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) ชายหนุ่มจบใหม่ ชื่นชอบการแต่งกลอน และฝั่งของ Charu ให้มาเป็นปลิงเกาะกินดูดเงินของเขาให้ไปใช้ฟรีๆ แลกกับการไม่ทำให้พวกเขาเบื่อ

ชื่อนิยาย Nastanirh (The Broken Nest = รังนกที่พัง) เราสามารถเปรียบบ้านทั้งหลังได้กับกรงนก (เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นเฉพาะในบ้านและสวนเท่านั้น) คนที่อาศัยอยู่ข้างในเปรียบได้กับนก ถูกจองจำขังไว้ ไม่มีอิสรภาพ, เราจะเห็นกรงนก, ประตู/หน้าต่าง มีกรงเหล็ก (เหมือนห้องขัง), พรมที่เอาไปปูข้างนอก จะเป็นมีลายนก, กล้องที่ Charu ใช้ ก็เหมือนกล้องส่องนก ฯ

พื้นหลัง/วอลเปเปอร์ ของหนัง จะมีลวดลายดอกไม้ ลูกไม้ นี่เปรียบเหมือนสวน (Garden) ที่รายล้อมไปด้วยสิ่งสวยงาม ไว้ใช้ดึงดูดเหล่านก แมลง ให้มาดมดอม อาศัยอยู่

แต่พอฉากที่อยู่ในสวนจริงๆ กลับมีแต่กิ้งไม้ใบเฉา ร่วงโรยหล่น สภาพดูไม่ได้

การแสดงของ Madhabi Mukherjee ถือว่าทรงพลังมากๆ ไม่ใช่ที่บทพูด แต่เป็นสีหน้า ท่าทาง (ภาษากาย) การจะดูหนังเรื่องนี้ให้เข้าใจ ต้องมองให้ลึก รับรู้ คิดวิเคราะห์ตามว่า Charu คิดอะไรในใจ นี่ต้องใช้สังเกตพฤติกรรมการแสดงออกของเธอ (ที่ดูผิดแปลกจากปกติ) เช่นว่า ทำไมถึงส่องกล้องดู Amal ทั้งๆที่อยู่ใกล้กันขนาดนั้น, ทำไมเดินไปเดินมารุ่มเร้าร้อนใจ ขณะ Amal อ่านเรื่อง ‘Light of a Moonless night’ (แสงสว่างในคืนไร้แสงจันทร์), ทำไมทำหมากโดยใช้ใบขนาดใหญ่ (แถมเอายัดใส่ปากบังคับให้กินอีก) ฯ ผมว่ามันก็ไม่ได้เข้าใจยากนะ คนดูละครไทยบ่อยๆอาจจับทางได้, ถ้าคุณช่างสังเกต และอ่านภาษากายออก จะพบว่าในใจของ Charu นั้นเหมือนเด็กน้อย เวลาได้พบสิ่ง/อะไร ที่ตนชื่นชอบสนใจ ก็จะมอบความสำคัญ แสดงความต้องการเป็นเจ้าของ … ในที่นี้คือ เธอแอบชอบ Amal แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้

กับฉากการแสดงของ Madhabi ที่ผมประทับใจที่สุดคือ ตอนขอโทษท้ายสุด … คำพูดของเธอมีแค่ Come in (เข้าบ้านสิ) แต่น้ำตา สีหน้าและอารมณ์ที่แสดงออกมา ทำเอาผมเจ็บแทนเลย กับความฝันที่เป็นไปไม่ได้ แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป เรียนรู้ ยอมรับ ทำความเข้าใจ ขอโทษ ให้อภัยฉันเถอะ จะไม่ทำอีกแล้ว

Soumitra Chatterjee ชายหนุ่มสุดหล่อใน Apur Sansar (1959) รับบท Amal ลูกพี่ลูกน้องของ Bhupati เพิ่งเรียนจบ ชื่นชอบการแต่งกลอน เขียนนิยาย แต่ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะทำอะไรดี ไร้เป้าหมาย, การได้มาอยู่ในบ้านหลังนี้ ทำให้ค้นพบความต้องการของตนเอง และของ Charu (แต่เหมือนว่า สิ่งที่ Charu เขียน จะสวยงามมีพรสวรรค์กว่า Amal อยู่มาก) การที่ Amal ตัดสินใจออกจากบ้านในช่วงท้าย เพราะเขาไม่ต้องการเป็นคนทรยศ Bhupati (ดูเหมือนว่า Bhupati ก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจของ Charu โดยที่ทั้งคู่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ)

การแสดงของ Chatterjee สามารถทำความเข้าใจได้โดยไม่ต้องสังเกตภาษากาย เป็นตัวละครที่พูด/รู้สึกอะไร ก็แสดงออกมาเช่นนั้น ไม่ค่อยปกปิดไว้ (ยกเว้นบางเรื่องที่พูดออกมาไม่ได้ เขาก็จะไม่พูด แต่สีหน้าแสดงออกมาเต็มๆ), นี่เหมือนกับตอนแสดงใน Apur Sansar มากๆ ใครจดจำเขาได้ ก็คงประทับใจไม่เสื่อมคลาย

Shailen Mukherjee (ไม่แน่ใจว่าเป็นญาติอะไรกับ Madhabi หรือเปล่า) รับบท Bhupati Dutta (สามี) เป็นคนที่ยุ่งชีวิตมาก ทั้งๆที่ก็ไม่จำเป็นต้องวุ่นวายขนาดนั้นก็ได้ แต่คงเพราะสิ่งที่เขาค้นพบ มันคืออุดมการณ์ที่เหนือกว่าตนเอง ทำเพื่อส่วนรวม, เป็นคนมองการณ์ไกล แต่มองใกล้ไม่เห็น (หรือ มองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว คิดว่าปลอดภัย) การตัดสินใจเลือกคนใกล้ตัว มาทำงานให้ เชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในตัวพวกเขา นี่ไม่ใช่สิ่งผิด แต่เขาไม่เคยรู้จักสิ่งที่เรียกว่าอิสรภาพ คิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง แต่แท้จริงแล้ว เงินซื้ออิสรภาพไม่ได้, การที่คนใกล้ตัวต่างทรยศต่อความจริงใจของ Bhupati เกิดเพราะ เขาได้สร้างกรงขังพวกเขา จำกัดเสรีภาพ ขาดความเป็นส่วนตัว นี่จึงทำให้นกตัวอื่นๆ ต่างพยายามที่จะดิ้นรน แสวงหาทางออก มีเพียงภรรยาของเขา Charu ที่ถึงเห็นว่าเธอเบื่อแค่ไหน แต่ก็เต็มใจที่จะถูกขังอยู่ในนี้ ไม่คิดหนีไปไหน, เป็น Bhupati เองที่ช่วงท้าย คิดหนีออกไปจากกรงของตัวเอง แต่สุดท้ายเขาก็คิดได้และกลับมา

การแสดงของ Shailen ภายนอกเราจะเห็นเขาวุ่นๆอยู่ตลอด ทุกครั้งที่ปรากฎตัว ก็เหมือนมีแต่เรื่องงานอยู่ในหัว อย่างตอนที่จะฟัง Amal อ่านเรื่อง ‘Light of a Moonless night’ เขาก็คิดไปเรื่องดาราศาสตร์ ดวงดาว ไปคนละเรื่องเลย, ช่วงท้ายที่พอ Bhupati เห็น Charu ร้องไห้กับจดหมายของ Amal ไม่น่าเชื่อว่าเขาสามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ (ผมเองทีแรกก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เห็นจากภาษากายของทั้งสอง ก็คิดว่าคงไม่มีผิดแน่) แสดงความเจ็บปวดออกมาทางสีหน้าได้ซีดเผือก ท่าทางหมดอาลัยตายอยาก

ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra ขาประจำของ Satyajit, ลีลางานภาพของหนังเรื่องนี้ต้องถือว่า มีลูกเล่นแทบทุกอย่างที่สมัยนั้นทำได้ ส่วนใหญ่จะผ่านสายตาของ Charu บางครั้งมองผ่านกล้องส่อง บางครั้งมองจากด้านหลังของเธอ

กับ 10 นาทีแรก ที่ Charu นำเสนอความว่างเปล่า ไม่มีอะไรทำ แต่กล้องกลับมีการเคลื่อนไหวที่ลื่นไหล เลื่อนซ้ายขวา ซูมเข้าออก ตัดต่ออย่างรวดเร็ว นี่ฟังดูอาจรู้สึกขัดแย้งกับสิ่งที่หญิงสาวทำ แต่คือการสร้างความตื่นเต้นให้กับชีวิต เช่น รีบเดินไปเปิดหน้าต่าง ส่องดูชายคนหนึ่งที่อยู่ข้างนอกเดินผ่านไป (ก็ไม่รู้มันน่าตื่นเต้นตรงไหน)

กับฉากที่เป็นไฮไลท์มี 2 ฉาก
1) ตอนที่ไกวชิงช้า แล้วกล้อง Tracking เคลื่อนตามขณะที่ Charu ไกวไปด้วย (คงให้ Madhabi ถือกล้องขณะโยกไปด้วย) ให้ความรู้สึกเหมือนโลกต้องไกวรอบตัวฉัน (โลกหมุนรอบตัวฉัน) ในฉากนั้นเธอร้องเพลงไปด้วย มีท่อน Rippling, laughing, in wave and billow. (กระเพื่อม, หัวเราะ, เป็นคลื่นในทะเล) คงเป็นการล้อกับเพลงด้วยนะครับ

2) ในจินตนาการของ Charu ใช้การซ้อนภาพขณะที่ตาจ้องกล้องไม่กระพริบ มีภาพผืนน้ำ ทะเลสาบ เรือเข้าฝั่ง, กรงนก เครื่องกรอด้าย, ชิงช้าสวรรค์ แสงไฟระยิบระยับ, ผู้คน พื้นเมือง ใส่สูท เทพเจ้า ฯ นี่คือความทรงจำวัยเด็กของ Charu นะครับ ที่ต่อมาเธอจะนำไปเขียนเป็น… ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นบทกลอน หรือนิยาย/เรื่องสั้น

โปรดักชั่นของหนังเรื่องนี้ สร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมด ไม่ได้ใช้สถานที่/คฤหาสถ์ จริงๆขณะถ่ายทำ ออกแบบโดย Art Direction คู่ใจ Bansi Chandragupt มีการผสมผสานระหว่างโลกตะวันออก และความทันสมัยของโลกตะวันตก (ยุค Victorian) ได้อย่างลงตัว

ตัดต่อโดย Dulal Dutta ขาประจำอีกคนของ Satyaji, หนังที่ใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพ การตัดต่อถือเป็นภาษาที่สำคัญ เพราะจำเป็นต้องให้ลงตัว ไม่เยิ่นเยิ้อยืดยาวเกินไป กับคนที่ไม่คุ้นเคยหนังประเภทนี้ รับรองว่าดูหลับแน่นอน แต่ถ้าคุณดูเป็น จะพบว่ามันน่าตื่นเต้นมาก และหนังตัดต่อได้กระชับฉับไว ไม่มีส่วนขาดส่วนเกินแม้แต่วินาทีเดียว

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray ที่ยังคงใช้เพลงเพื่ออธิบายอารมณ์ ความคิดภายในของตัวละคร, เพิ่มเติมที่หนังเรื่องนี้มีการร้อง รำ เต้น และแสดงสด ในสไตล์เพลงรูปแบบพื้นบ้านของอินเดีย

เพลงที่ Charu ร้อง ขณะไกวชิงช้า เป็นเพลงของผู้แต่งนิยาย Rabindranath Tagore ชื่อ Fule Fule Dhole Dhole, ส่วนเพลงที่ Amal ร้องให้กับ Charu ประพันธ์โดย Jyotirindranath Tagore พี่ชายของ Rabindranath และเป็นสามีของ Kadambari Devi

Satyajit เป็นคนชื่นชอบอะไรๆที่เป็นตะวันตก (Western) พอสมควร เขาเลือกสร้างหนังเรื่องนี้เพราะรู้สึกว่า บทหนัง พื้นหลังมีกลิ่นไอของความเป็นตะวันตก และลักษณะของหนัง มีความคล้ายกับบทเพลงของ Mozart (คือ หนังมีการแสดงออกแบบตรงไปตรงมา เหมือนสไตล์เพลงของ Mozart ที่นำตัวเองใส่ลงไปในบทเพลง มีทั้งสนุกสนาน ทุกข์เศร้า ครบทุก หลายหลายอารมณ์)

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือ การค้นหาความต้องการของตนเอง เหมือนการจับนก 4-5 ตัวใส่ลงไปในกรง คงมี 2-3 ที่ดิ้นรน ต้องการหนีออกไป, หนึ่งในนั้นคงอยู่เฉยๆ ต่อให้กรงเปิดออกก็ไม่สนใจ พึงพอใจกับความสุขที่ตนมี, อาจจะมีอีกหนึ่งหนีออกไปแล้วกลับเข้ามา, บางตัวอยู่ข้างนอกดีๆอยู่แล้ว อยากเข้ามา ฯ เหล่านี้คือทางเลือกของคนในการใช้ชีวิต

แต่เป้าหมายจริงๆของ Satyajit เป็นสิ่งที่ผมไม่รู้ชัดนะครับ ว่าเขาสร้าง Charulata เพื่อขอโทษภรรยา หรือทำเพื่อแสดงความติสต์ ในความเป็นศิลปินของตนเอง บอกกล่าวให้โลกรับรู้ ว่าช่วงเวลาขณะนี้ ฉันกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบในหนัง

สำหรับหนุ่มๆทั้งหลายที่ตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้า คายไม่ออกคล้ายๆแบบนี้ หรือมุมกลับกันกับสาวๆ ที่จับได้ว่าแฟนหนุ่ม/สามี ไปมีชู้กับคนอื่น ลองอดทนกับเขาสักนิดนะ อย่าเพิ่งอะไรๆก็คิดหย่า ให้แก้ตัวสักครั้งสองครั้ง ถ้ายังเป็นเหมือนเดิมก็ควรเลิกไปเสีย จะอดรนทนไปทำไม แต่ถ้าคุณรักมากและไม่อยากเลิก ก็ทนไปเองนะครับ ชีวิตแบบที่อยู่ไม่สุข มันเพราะคุณเลือก/ตัดสินใจ/กระทำด้วยตัวเอง เหมือนคนที่จะยอมตกอยู่ในกรงขัง เปิดประตูให้แล้วก็ยังไม่ออก ไม่รู้จะเรียกว่า โง่ ดื้อด้าน หรือ … อะไรดี

ต้องบอกว่า Charulata ของ Satyajit Ray ยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบสมคำร่ำลือจริงๆ แต่มีความยากในการรับชมพอสมควร (ผมจัดไว้ที่ Intermediate) เพราะมีการเล่าเรื่องโดยใช้ภาพ ภาษาภาพยนตร์ค่อนข้างเยอะ และสิ่งที่อยู่ในใจของตัวละคร คุณต้องคิดวิเคราะห์ค้นหาคำตอบเอาเอง จึงอาจถือว่านี่เป็นหนังเรื่องที่ดูยากที่สุดของ Satyajit Ray

บรรดานักวิจารณ์ทั้งในอินเดียและต่างประเทศ ยกย่องว่า Charulata คือ Masterpiece ผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของ Satyajit Ray ทำให้เขาคว้ารางวัล Silver Bear จากเทศกาลหนัง Berlin เป็นครั้งที่ 2 ติดกัน (เพิ่งได้รางวัลนี้มาจาก Mahanagar เมื่อปีก่อนหน้า) และปลายปีได้รางวัล Golden Lotus Award สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในงานประกาศรางวัล National Film Awards [เป็นเรื่องที่ 3 ของ Satyajit ที่ได้รางวัลนี้ นับจาก Pather Panchali-1955 และ Apur Sansar-1959]

ส่วนตัวชื่นชอบและหลงรักหนังเรื่องนี้ แต่น่าเสียดายที่ไม่กลายเป็นเรื่องโปรด เพราะหนังมันไม่ได้มีอะไรสอนใจผมเลย, คือเทคนิค การแสดง งานภาพ การเล่าเรื่อง เพลงประกอบ ล้วนน่าสนใจ ทำออกมาได้เลิศหรู แต่ก็เท่านั้นแหละครับ ไม่มีสิ่งไหนที่ถูกใจมากเป็นพิเศษ

แนะนำกับนักกวี ชื่นชอบการอ่านนิยาย หรือฟังเพลงคลาสสิกเพราะๆ, หลงใหลความงามของ Madhabi Mukherjee และแนวทางการกำกับของ Satyajit Ray, คอหนัง bollywood คลาสสิกเก่าๆ การันตีคุณภาพ ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับเรื่องชู้และนกในกรง

TAGLINE | “Charulata คือผลงาน Masterpiece กึ่งชีวประวัติของ Satyajit Ray และการแสดงสุดตราตรึงของ Madhabi Mukherjee”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: