
Chelsea Girls (1966)
: Andy Warhol, Paul Morrissey ♥♥♥
การทดลองเกี่ยวกับสื่อภาพยนตร์ที่แปลกประหลาด แต่กลับประสบความสำเร็จที่สุดของ Andy Warhol ด้วยการบันทึกภาพเรื่อยเปื่อยของผู้พักอาศัยใน Hotel Chelsea แล้วนำมาฉายสองจอพร้อมกัน ‘Split Screen’ ความยาวตั้ง 210 นาที จะมีใครดูรู้เรื่องไหมเนี่ย?
แซว: ช่วงนี้ผมกำลังเขียนถึงหนังแนว Feminist พบเห็นชื่อ Chelsea Girls (1966) เคยติดชาร์ท Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 อันดับ 202 (ร่วม) ก็คาดเดาว่าคงน่าจะเกี่ยวอะไรสักอย่างกับสตรี แต่หลังจากนั่งดูได้ประมาณหนึ่งนาที ตัดสินใจเปิดอินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูล ก่อนพบเจอว่าคือผลงานของ Andy Warhol
One of the most powerful, outrageous, relevant and noticeable movies anyone anywhere has made!
นักวิจารณ์จากนิตยสาร Newsreel
หลายคนอาจรับรู้จัก Andy Warhol ในฐานะศิลปิน ‘Pop Art’ สรรค์สร้างหลากหลายผลงานที่ถือเป็น ‘Iconic’ แห่งทศวรรษ 60s ด้วยความแปลกประหลาด รูปแบบใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้ง The Factory โรงงานรวบรวมศิลปิน นักเขียน นักดนตรีใต้ดิน ฯ มาร่วมสังสรรค์ปาร์ตี้ เสพยา มั่วกาม และร่วมสร้างงานศิลปะมากมาย
ภาพยนตร์ก็เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ Warhol ได้ทำการทดลองประหลาดๆ Experimental, Avant-Garde, Art-House, Underground Film (ก็แล้วแต่จะเรียก) ผลงานเป็นที่รู้จัก อาทิ
- Kiss (1963) ความยาว 50 นาที มีเพียงการจุมพิตระหว่างชาย-ชาย หญิง-หญิง และชาย-หญิง
- Eat (1964) ความยาว 45 นาที นำเสนอการรับประทานอาหารของศิลปิน Robert Indiana
- Blow Job (1964) ไม่ต้องอธิบายกระมัง
- Sleep (1964) ความยาว 20 นาที ถ่ายภาพระหว่างหลับนอนของ John Giorno (คู่ขาขณะนั้นของ Warhol)
- Empire (1965) บันทึกภาพตึก Empire State Building ระยะเวลา 485 นาที (ประมาณ 8 ชั่วโมง) ด้วยจุดประสงค์ “to see time go by.”
- Empire (1965) คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
- Blue Movie (1969) aka. Fuck ภาพยนตร์เรื่องแรก(ฉายในวงกว้าง)พบเห็นฉากร่วมเพศสัมพันธ์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัย Golden Age of Porn
ในบรรดาภาพยนตร์ทดลองของ Warhol ผลงานได้รับการชื่นชม เป็นที่รู้จัก และน่าจะประสบความสำเร็จที่สุดก็คือ Chelsea Girls (1966) แต่เอาจริงๆนอกจากแนวคิด ‘split screen’ ที่เหมือนจะน่าสนใจ มันก็ไม่ได้มีห่าเหวอะไรสักเท่าไหร่ เพียงบันทึกภาพเรื่อยเปื่อยของผู้พักอาศัยใน Hotel Chelsea เท่านั้นนะแหละ
แม้นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนนหนังเพียงดาวเดียว (1/4) แต่การติดอันดับนิตยสาร Sight & Sound แสดงว่ามันต้องมีดีอะไรบางอย่าง ซึ่งผมก็เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น อยากรู้อยากเห็น เลยอดรนทนนั่งชมจนจบสามชั่วโมง แล้วก็ค้นพบว่ามันมีบางสิ่งอย่างน่าสนใจอยู่จริงๆ โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ Eric Says All และ Pope Ondine แอบมีสาระอย่างคาดไม่ถึง!
Everybody tastes different. … This is my taste.
Eric Emerson
ภาพยนตร์เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของ ‘taste’ รสนิยมล้วนๆนะครับ คือถ้าคุณรู้สึกว่าไม่ชอบ ไม่ใช่แนว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรจะอดรนทน เสียเวลาสามชั่วโมงไปเปล่าๆ, แต่สำหรับคนที่ว่างจัดๆ ไม่รู้จะทำอะไร Chelsea Girls (1966) สามารถเป็นเพื่อนคุยฆ่าเวลา รับฟังการสนทนา สาระ-ไร้สาระ โดยไม่รู้ตัวประเดี๋ยวมันก็ผ่านไป
เกร็ด: โปสเตอร์หนังออกแบบโดย Alan Aldridge (ขาประจำของ Warhol) โดยหญิงสาวคือ Clare Shenstone ขณะนั้นอายุเพียง 16 ปี นำแรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะของ Francis Bacon โดยใช้หน้าต่างแต่ละบาน คือแต่ละห้องพัก แต่ละเรื่องราว เห็นว่าผกก. Warhol มีความชื่นชอบการเป็นอย่างมาก ถึงขนาดพูดบอกว่า “I wished the movie was as good as the poster”.
Andrew Warhola Jr. (1928-87) ศิลปิน ‘Visual Artist’ ชาวอเมริกัน ผู้นำหลักในขบวนการศิลปะ ‘Pop Art’ เกิดที่ Pittsburgh, Pennsylvania ครอบครัวอพยพจาก Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Slovakia) บิดาทำงานเหมืองถ่านหิน นับถือ Ruthenian Catholic, ช่วงวัยเด็ก ล้มป่วยจากโรคทางระบบประสาท ส่งผลให้สุขภาพอ่อนแอและทำให้ผิวสีซีดตลอดชีวิต ช่วงเวลานั้นใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนเตียง มารดามักนำสมุดระบายสีให้วาดเล่นแก้เหงา จึงค้นพบความชื่นชอบด้านศิลปะตั้งแต่นั้น
ต่อมาเข้าศึกษาพาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) ณ Carnegie Institute of Technology (ปัจจุบันคือ Carnegie Mellon University) สนิทสนมกับเพื่อนร่วมรุ่น Philip Pearlstein เคยพากันออกเดินทางท่องเที่ยว New York แล้วนำเอาแฟ้มผลงานไปโชว์ให้บริษัทต่างๆ สะดุดตานิตยสาร Glamour ได้งานฟรีแลนซ์ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
หลังเรียนจบก็ย้ายมาปักหลัก New York City ทำงานวาดภาพประกอบนิตยสารชื่อดังอีกหลายเล่ม Vogue, Harper’s Bazaar, The New Yorker รวมถึงออกแบบรองเท้าให้แบรนด์เนมชื่อดังอย่าง I. Miller ขณะเดียวกันยังมีโอกาสจัดงานแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ค.ศ. 1956 นำเอาผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนคุ้นเคยอย่างกระป๋องซุป Campbell’s Soup Cans, ขวดน้ำอัดลม Green Coca-Cola Bottles มาวาดด้วยสีอะคริลิกลงบนผืนผ้าใบ แบบเดียวกับที่ถูกจัดเรียงบนชั้นตาม Supermarket แรกๆไม่ได้เสียงตอบรับดีนัก แต่ภายหลังกลายเป็นหนึ่งในภาพเขียนราคาหลายสิบล้านเหรียญ!


เมื่อปี ค.ศ. 1963, ระหว่าง Warhol มองหาสถานที่สำหรับทำเป็นเป็นสตูดิโอแห่งใหม่ พบเจอตึกเคยเป็นโรงงานเก่า 231 East 47th Street, Midtown Manhattan ตั้งชื่อว่า The Factory จากนั้นก็ชักชวนคนหนุ่มสาว ศิลปิน จิตรกร นักเขียน นักแสดง นักดนตรี ฯลฯ มาร่วมเฮฮาปาร์ตี้ เสพยา มั่วกาม และสรรค์สร้างผลงานศิลปะ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ บทเพลง รวมถึงภาพยนตร์แนวทดลอง
สำหรับ Chelsea Girl (1966) จากคำบอกเล่าของผู้ร่วมเขียนบท Ronald Tavel มีจุดเริ่มต้นที่ไนท์คลับ Max’s Kansas City ร้านดื่มกินประจำของ Warhol วันหนึ่งหยิบเอาผ้ากันเปื้อน ขีดเส้นแบ่งตรงกึ่งกลางรอยพับ แล้วเขียนตัวอักษร B และ W คนละฟากฝั่ง จากนั้นพูดคำอธิบาย …
I want to make a movie that is a long movie, that is all black on one side and all white on the other.
Andy Warhol
สิ่งที่ Warhol นำเสนอกับ Tavel คือคำอธิบาย ‘Visual Concept’ ต้องการแบ่งภาพออกเป็นสองส่วน สองหน้าจอ ‘Split Screen’ ฟากฝั่งหนึ่งนำเสนอเรื่องราวหนึ่ง อีกฟากฝั่งหนึ่งก็นำเสนออีกเรื่องราวหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามเสมอๆ
เกร็ด: จริงๆแล้ว Chelsea Girls (1966) ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Warhol ที่ฉายแบบสองจอ ‘split screen’ ก่อนหน้านี้ยังมี Outer and Inner Space (1966)
ในเครดิตยังมีชื่อร่วมกำกับ/ผู้กำกับตัวจริง Paul Morrissey (เกิดปี 1938) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York ครอบครัวเชื้อสาย Irish, โตขึ้นเข้าศึกษา Ampleforth College ตามด้วย Fordham University (ต่างเป็นโรงเรียนศาสนา Catholic), ช่วงระหว่างทำงานนักวิจารณ์นิตยสาร Film Culture ชื่นชอบประทับใจผลงานยุคแรกๆของ Andy Warhol แม้พวกเขาอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม แต่กลับสนิทสนม (ถือเป็นมือขวาของ Warhol) ร่วมกันสรรค์สร้างภาพยนตร์ อาทิ Chelsea Girls (1966), The Velvet Underground and Nico (1966), Flesh (1968), Trash (1970), Women in Revolt (1971) ฯ
Warhol was always the person who was bringing something new to the scene. He had a wonderful way of seeing things, and he could make you look at things in a different way. He was a very shrewd observer of human nature.
Warhol was always about the idea of celebrity, and I was always interested in character. I think that’s why we worked well together, because we had different interests but a similar approach to our work.
Paul Morrissey

ในส่วนงานสร้างของหนัง เริ่มต้นช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ค.ศ. 1966 ถ่ายทำยังห้องพักโรงแรม Chelsea Hotel – 222 West 23rd Street ณ Chelsea, Manhattan (แต่เอาจริงๆมีเพียงนักกวี René Ricard เคยอาศัยอยู่โรงแรมแห่งนี้) ส่วนฉากอื่นๆ(ที่เต็มไปด้วยแสงสี)ย้ายมายังสตูดิโอ The Factory
สำหรับนักแสดงก็เต็มไปด้วยขาประจำ ‘Warhol Superstar’ อาทิ Nico, Brigid Berlin, Gerard Malanga, Mary Woronov (รับบท Hanoi Hannah), Ingrid Superstar, International Velvet, Randy Borscheidt, Eric Emerson, Ondine (รับบท Pope) ฯลฯ
หนังมีการถ่ายทำทั้งหมด 14 เรื่อง แต่ผกก. Morrissey เลือกมาเพียง 12 เรื่อง โดยเฉลี่ยความยาว 33 นาที รวมระยะเวลาทั้งหมด 6.5 ชั่วโมง (ถ้าฉายต่อเนื่องกัน) ซึ่งตามแผนการของ Warhol ให้อิสระกับคนฉายว่าจะเลือกเอาตอนไหนฉายก่อนฉายหลัง ขอเพียงปรากฎภาพสองจอพร้อมกัน ส่วนเสียงโปรเจคเตอร์ฝั่งไหนก็ได้ทั้งนั้น (แต่ก็มีระบุไว้ว่าเรื่องไหนแนะนำให้ฉายโปรเจคเตอร์ฝั่งไหน เพื่อผู้ชมพบเห็นความแตกต่าง ‘visual juxtaposition’ ระหว่างสองจอภาพยนตร์)
- Nico in Kitchen: เริ่มต้นในห้องครัว Nico กำลังตัดเล็มผม สนทนากับแฟนหนุ่ม Eric ละเล่นกับบุตรชาย Ari
- Father Ondine & Ingrid: ชายคนหนึ่งเรียกตนเองว่า Pope สนทนากับ Ingrid แลกเปลี่ยนพูดคุยประการณ์ทางเพศและศาสนา
- Bridgit Holds Court: หญิงสาวคนหนึ่งเรียกตัวเองว่า The Duchess หลังฉีดยา Amphetamin พูดคุยกับ Warhol และเพื่อนผ่านโทรศัพท์
- Boys in Bed: หนุ่มๆสาวๆ ละเล่นสนุกสนานบนเตียง
- Hanoi Hannah: หญิงสาวชาวเวียดนาม เล่นเกมกลั่นแกล้งเพื่อนหญิง
- Wore Hanoi Hannah and Guests: หญิงสาวชาวเวียดนาม ก็ยังคงกลั่นแกล้งเพื่อนหญิงต่อไป
- Mario Sings Two Songs: เพื่อนชายสองคน Ed และ Patrick ถูกขัดจังหวะโดยกะเทย Mario ขับร้องเพลงให้ฟัง
- Marie Menken (Color): ชายคนหนึ่งถูกมารดาพร่ำสอนถึงแฟนสาว (แต่งสูทผูกไทด์)
- Eric Says All (Color): Eric เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศและยาเสพติด
- Color Lights on Cast (Color): กลุ่มนักแสดงละเล่นกับแสงสี
- Pope Ondine: ชายคนหนึ่งเรียกตัวเองว่า Pope หลังจากฉีก Methedrine เล่าประสบการณ์เล่นยา
- Nico Crying (Color): Nico อยู่คนเดียวในห้อง แล้วร่ำร้องไห้ออกมา
ส่วนอีกสองเรื่องที่ถ่ายทำไว้ แต่ด้วยเหตุผลบางประการเลยจึงจำต้องตัดออกไป
- Afternoon นำแสดงโดย Edie Sedgwick เธออ้างว่าขณะนั้นเซ็นสัญญาผู้จัดการ Albert Grossman ไม่อนุญาตให้ปรากฎตัวในภาพยนตร์ แต่ภายหลัง Walhol ก็นำฟุตเทจดังกล่าวมาใช้ในอีกผลงาน Afternoon (1965)
- The Closet นำแสดงโดย Nico และ Randy Borscheidt นั่งพูดคุยกันในตู้เสื้อผ้า เหตุผลที่เอาออกเพราะผลพวงจาก Afternoon ทำให้ปริมาณหนังฉายไม่สมดุลกัน ซึ่งภายหลังก็นำออกมาฉายแยก The Closet (1966)
เป็นความตั้งใจของ Warhol ที่จะไม่รวบรวมทั้ง 12 ตอนให้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องเดียว! เพราะต้องการมอบประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปในแต่ละครั้ง น่าเสียดายฉบับ DVD ที่ผมรับชมมันกำหนดมาตายตัว เลือกไม่ได้ด้วยว่าอยากดูตอนไหนคู่กับตอนไหน (แต่เป็นฉบับฉายตามคำแนะนำของ Warhol ตามภาพซ้ายเลยนะ)


เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกตลวดลีลา แสงสีสัน เทคนิคถ่ายภาพของหนัง (เพราะมัวแต่ดูสลับไปมาระหว่างสองจอ มองหาความสัมพันธ์ ไม่ก็อ่านแต่ซับไตเติ้ล) มีอยู่หลายตอนทีเดียวทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
- ขณะที่ตอน Nico in Kitchen จะมีโทนขาวสว่าง, Father Ondine & Ingrid ที่ฉายควบคู่กันจักปกคลุมด้วยความมืดมิดแทบตลอดเวลา
- ทั้งสองตอนของ Hanoi Hannah ต่างมีลีลาถ่ายภาพที่จัดจ้านอย่างมากๆ กล้องซูมเข้า-ซูมออก ปรับโฟกัสเบลอ-ชัด แพนนิ่ง บางครั้งก็ Whip-Pan ติดตามหาบุคคลกำลังพูดคุยสนทนา
- เฉดสีตอน Eric Says All (แดง) ก็มักตรงกันข้ามกับ Color Lights on Cast (น้ำเงิน) ซึ่งสามารถมองว่าสีสันเหล่านั้นเกิดจากอาการเคลิบเคลิ้มระหว่างเล่นยาก็ได้กระมัง
- ในแง่เทคนิคภาพยนตร์ สีสันและลวดลายอาบฉาบใบหน้า Nico Crying ระหว่างกำลังร่ำร้องไห้ยาวนานกว่า 30+ นาที ช่างมีความตราตรึงยิ่งนัก ซึ่งยังสามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของเธอได้อีกด้วย
ถ้านำเอา Chelsea Girls (1966) ฉายแบบปกติ ไม่ใช่แบ่งแยกสองจอพร้อมกัน ‘split screen’ มันแทบไม่แตกต่างจากภาพยนตร์ สารคดีทั่วๆไป พบเห็นการพูดคุย เล่าเรื่องราว ประสบการณ์ชีวิต ลักษณะเหมือนสัมภาษณ์แบบไม่มีผู้สัมภาษณ์ (มีแต่ผู้ถูกสัมภาษณ์) ทำการสนทนาเรื่อยๆเปื่อยๆ มองผิวเผินเหมือนจะไร้สาระ แต่อาจมีบางสิ่งอย่างคาดไม่ถึงซุกซ่อนอยู่ในนั้นก็เป็นได้
ระหว่างที่ผมรับชมเรื่องราว Eric Says All เอาจริงๆมันก็ไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไร แต่เมื่อ Eric Emerson กำลังพร่ำเพรื่อถึง ‘taste’ รสสัมผัสของชีวิต มนุษย์เราต่างมีไม่เหมือนกัน ก็เหมือนแต่ละเรื่องราว แต่ละห้องพัก นั่นทำให้ผมเกิดความตระหนักว่า ‘สิ่งไร้สาระสำหรับเรา มันอาจมีสาระสำหรับคนอื่น’
การพูดคุยสัมภาษณ์ทั้งสาวจริง-สาวหลอกของ Chelsea Girls (1966) ด้วยความยาวกว่า 3-6 ชั่วโมง มันก็ไม่แน่นะครับว่าอาจมีสักประโยคหนึ่ง หัวข้อสนทนาหนึ่ง หรือเรื่องราวนึงที่สามารถจี้แทงใจ ทำให้เกิดสาสน์สาระ สร้างความตระหนักถึงอะไรบางอย่างแก่ผู้ชม … มันอาจจะมีหรือไม่มีก็แล้วแต่ ผมพบเจอตอน Eric Says All บางคนอาจชื่นชอบ Hanoi Hannah, Pope Ondine ฯ ถ้าเราไม่ปิดกั้นตนเอง หรือคาดหวังอะไรสูงส่ง ก็อาจพบเจอสรวงสวรรค์โดยไม่ทันรับรู้ตัว
I wanted to make a movie that would make its own commentary on the conventional way movies are made, so I decided to do something that anti-movie in every respect. I made it as anti-plot as possible.
Andy Warhol
ผมครุ่นคิดว่าเป้าหมายของ Chelsea Girls (1966) คือความพยายามลบเลือนเส้นแบ่งบางๆระหว่างศิลปะขั้นสูง (High Art) และวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) ต้องการท้าทายไม่ใช่แค่ศักยภาพในการรับชม แต่ยังขยับขยายความเป็นไปได้ของสื่อภาพยนตร์ … มันไม่จำเป็นว่าเรื่องราวต้องมีเนื้อหาสาระ แค่เพียงสามารถถ่ายทอดวัตถุประสงค์/ความตั้งใจของผู้สร้าง ก็ถือว่าเป็นผลงานศิลปะได้แล้วนะครับ
ก่อนหน้านี้ผลงานภาพยนตร์ของ Warhol มักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ชมทั่วไป อาจเพราะความเฉพาะตัว ติสต์เกิ้น ไม่ใช่กระแสหลัก (Mainstream) จึงมีคำเรียก ‘Underground Film’ ไม่ได้แปลว่าหนังผิดกฎหมาย ฉายใต้ดินอะไรแบบนั้นนะครับ มันก็คือภาพยนตร์ทั่วๆไปนะแหละ ด้วยลักษณะทุนต่ำ นอกกระแส ขัดแย้งต่อค่านิยมทางสังคม มักเกี่ยวกับเรื่อง(รักร่วม)เพศ เล่นยา ความรุนแรง ดูน่าขยะแขยงเกินกว่าคนสมัยนั้นจะอดรนทน
Underground cinema is basically a creature of publicity and mutual congratulations on artistry – it’s no more than that. It has its own inbred journals, its coteries, its stars, its sophisticated audiences, its esoteric language. It’s basically a social phenomenon. And what it has done is to create a new set of standards and a new climate in which movies are discussed, and this may turn out to be a great contribution to the medium.
นักวิจารณ์ Pauline Kael
จนกระทั่งการมาถึง Chelsea Girls (1966) ซึ่งเอาจริงๆหนังก็ไม่ได้ดีเด่น ผิดแผกแตกต่างจากผลงานอื่นๆก่อนหน้า แต่เพราะถูกด่ากราดจากนักวิจารณ์ โดยไม่รู้ตัวช่วยสร้างกระแสความสนใจแก่ผู้ชมอย่างล้นหลาม (ยิ่งด่ายิ่งดัง)
a pointless, excruciatingly dull three-and-a-half hours spent in the company of Andy Warhol’s friends.
นักวิจารณ์จากนิตยสาร Variety
What we have here is 3½ hours of split-screen improvisation poorly photographed, hardly edited at all, employing perversion and sensation like chili sauce to disguise the aroma of the meal. Warhol has nothing to say and no technique to say it with. He simply wants to make movies, and he does: hours and hours of them.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 1/4
More monotonous and ridiculous than anything else, the picture unfolds some two dozen young people, some of whom are supposed to be “drag queens,” sitting around and talking or shooting up with drugs. There are endless scenes of these bores sitting around and mumbling to each other or drowsing or staring off into space, all photographed with the eye of a sleepy voyeur. Occasionally, something like a plot develops, but Mr. Warhol is so devoid of any sense of structure or purpose that he can’t sustain even the simplest dramatic notion. He relies on the “split screen” device to make his inanities look novel. But it is a gimmick that has nothing to do with art or entertainment, but only with a cynical exploitation of sex, drugs and other youthful pursuits.
Bosley Crowther นักวิจารณ์จาก The New York Times
ก่อนหน้านี้ทัศนคติผู้ชม/นักวิจารณ์มอบให้กับผลงานของ Warhol จะออกไปทางติสต์ๆ “Artistic”, “Camp”, “Put-on”, “Boring” แต่หลังจาก Chelsea Girls (1966) กลับกลายเป็น “Degenerate”, “Disturbing”, “Homosexual”, “Druggy” ล้วนเป็นถ้อยคำดูถูก เหยียดหยาม มีความรุนแรง สาหัสสากรรจ์ ต่ำทรามกว่าเคยได้รับมา
Chelsea Girls was the movie that made everyone sit up and notice what we were doing in films (and a lot of times that meant sit up, stand up, and walk out). Until then the general attitude toward what we did was that it was “artistic” or “camp” or “a put-on” or just plain “boring.” But after Chelsea Girls, words like degenerate and disturbing and homosexual and druggy and nude and real started being applied to us regularly.
Andy Warhol
แม้หนังจะไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไร แต่การอดรนทนกว่าสามชั่วโมง จนค้นพบคำอธิบายเกี่ยวกับ ‘taste’ รสนิยมในการรับชม เอาจริงๆแค่นั้นก็ทำให้มุมมองของผมปรับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากๆ รู้สึกเหมือนจะมีอะไรบางอย่าง แต่มันอาจไม่มีอะไรเลยก็ได้ ท้าทายให้ลองค้นหาด้วยตัวคุณเอง
การจะรับชมภาพยนตร์แนว ‘Experimental’ มันไม่จำเป็นว่าเราต้องเข้าใจเนื้อหาภายใน เพราะบางครั้งมันอาจไม่มีอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ แต่คือแนวคิด วิธีการ เหตุผลของการสรรค์สร้าง นั่นถือเป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง ขึ้นอยู่กับ ‘taste’ รสนิยมของผู้รับสาสน์ จะสามารถยินยอมรับ-เข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน
This was a distinction used to suggest the difference between a Hollywood movie and a porno film or some other type of experimental cinema. To Andy, the movie was a movie, and that’s all that mattered. It was more real than any real movie.
Gus Van Sant กล่าวถึงภาพยนตร์ของ Andy Warhol
จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย การสนทนาที่มีความล่อแหลม รสนิยมส่วนบุคคล
Leave a Reply