chicago

Chicago (2002) hollywood : Rob Marshall ♥♥♥

ภาพยนตร์ Musical รางวัล Oscar: Best Picture เรื่องแรกในศตวรรษ 21s ความเซ็กซี่ของหญิงสาว ถูกนำเสนอออกมาในลีลา ท่วงท่าอันเย้ายวน และเสื้อผ้านับน้อยชิ้น จนบางทีก็อยากเบือนหน้าหนี, โดยผู้กำกับ Rob Marshall นำแสดงโดย Renée Zellweger, Catherine Zeta-Jones และ Richard Gere

ผมค่อนข้างต่อต้านหนังเรื่องนี้ประมาณสักกลางเรื่อง เมื่อหญิงสาว 5 คน ร้องเพลง Cell Block Tango แต่ละคนแต่งตัวอย่างนางมารร้าย สวมชุดยางลาเท็กซ์ ลีลาท่าเต้นยั่วเย้ายวน โชว์เนื้อหนังมังสารัดรูปทุกสัดส่วน … วินาทีนี้ผมตั้งคำถาม อะไรคือความเซ็กซี่ของหนังเรื่องนี้

วันก่อนที่ผมได้ดูหนังเรื่อง Roxie Hart (1942) ที่ดัดแปลงจากบทละครเรื่อง Chicago (1926) เขียนโดย Maurine Dallas Watkins เหมือนกับหนังเรื่องนี้ แม้อะไรๆจะต่างออกไปมาก แต่ผมเรียกหนังเรื่องนั้นว่า มีความเซ็กซี่ในการนำเสนอ, แต่สิ่งที่ผมเห็นใน Chicago (2002) มันคือความเซ็กซี่ในเนื้อหนังมังสา ที่พอรับชมไปๆมาๆ ก็หาได้มีความเย้ายวนหลงเหลืออยู่ เหลือแต่ซี่ไม่เหลือเซ็ก และ/หรือ เหลือแต่เซ็กไม่เหลือซี่

คงอาจมีคนที่คลั่งไคล้ ชื่นชอบในหนังเรื่องนี้ หลงเข้ามาอ่าน ก็ขอให้ทำใจนิดนึงนะครับ ใช่ว่ารสนิยมของคุณและผมจะเป็นแบบเดียวกัน ถ้ารู้สึกทนอคติไม่ได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องอ่านต่อ แต่ถ้าอยากเห็นมุมมองของคนที่เห็นต่าง ลองสละเวลาดูสักเล็กน้อย คือผมยอบรับในส่วนที่ว่าหนังมีคุณภาพอันยอดเยี่ยม คู่ควรกับ Oscar ปีนั้น แต่หนังนำเสนอในสิ่งที่ จริยธรรม มีค่าต่ำกว่า สามัญสำนึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ยอมรับ และต่อต้านแบบหัวแข็งมาโดยตลอด

ในปี 1975 มีการนำบทละคร Chicago ของ Maurine Dallas Watkins มาปัดฝุ่นใหม่ สร้างเป็นละครเพลงโดย John Kander เขียนเนื้อร้องโดย Fred Ebb แล้วตีพิมพ์บทละครด้วยเครดิต Fred Ebb กับ Bob Fosse เปิดแสดงครั้งแรกที่ 46th Street Theatre ทั้งหมด 936 รอบ (ถึงปี 1977) แม้จะมีรอบการแสดงสูงขนาดนี้ แต่ตัวละครเพลงกลับไม่ได้รับความนิยมเสียเท่าไหร่ จนกระทั่งฉบับ World Tour เมื่อปี 1996 เริ่มต้นที่ Broadway เป็น Encores! Series จากนั้นเดินทางไปทั่วโลก เคยมาเปิดการแสดงที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2009 รวมการแสดงกว่า 7,800 รอบ (นับถึง สิงหาคม 2015) ถือสถิติของละครเพลงที่เปิดการแสดงต่อเนื่องยาวนานที่สุดของอเมริกัน (ยาวเป็นอันดับ 3 ประวัติศาสตร์ Broadway)

ผู้กำกับ Rob Marshall คงมีโอกาสได้รับชมการแสดง Chicago ตั้งแต่ฉบับแรกเมื่อปี 1975 แล้วเกิดความชื่นชอบหลงใหล, ตัวเขาเอามาจากสายผู้กำกับ Broadway ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก (เคยเข้าชิง Tony Award อยู่หลางครั้ง) ก่อนหน้านี้เคยกำกับภาพยนตร์ฉายโทรทัศน์เรื่อง Annie (1999) และ Chicago ถือว่าเป็นการเริ่มต้นกับสื่อภาพยนตร์เป็นครั้งแรก (debut), มอบหมายให้ Bill Condon ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ (ไม่แน่ใจว่าตอนแรก Condon ได้รับการวางตัวให้เป็นผู้กำกับด้วยหรือเปล่า ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ Marshall)

เรื่องราวมีพื้นหลังอยู่ในเมือง Chicago ยุค Prohibition นำเสนอความคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทนายความ นักข่าว ลูกขุน และผู้พิพากษา ออกมาในเชิงเสียดสีประชดประชัน ด้วยคอนเซ็ปที่ว่า ‘celebrity criminal’

Roxie Hart หญิงสาวผู้แต่งงานมีสามีแล้ว แต่ตัวเองมีความฝันทะเยอทะยาน ด้วยความไร้เดียงสาของตน คิดว่าชายหนุ่มคนหนึ่งที่พบเจอ อ้างตัวเองว่าเป็นแมวมองสรรหาผู้หญิงหน้าตาดีๆ สามารถผลักดันเธอให้กลายเป็นดารานักแสดงมีชื่อเสียง แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นแค่ผู้ชายขายเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น แค่ต้องการหลอกฟันเธอเท่านั้น, ความเคียดแค้น และผิดหวังในความอ่อนต่อโลกของตน ทำให้ Roxie คิดสั้น ยิงปืนฆ่าชายคนนั้นเสียชีวิต

นำแสดงโดย Renée Zellweger นักแสดงสาวชาวอเมริกัน เมื่อตอนยังสาวสวยสะพรั่ง ฝีมือการแสดงตอนนั้นถือว่าเฉิดฉาย, มีผลงานเป็นที่รู้จักเรื่องแรกๆ คือ Texas Chainsaw Massacre: The Next Generation (1994) ตามมาด้วย Empire Records (1995), Jerry Maguire (1996) โด่งดังสุดๆกับ Bridget Jones’s Diary (2001) และปีถัดมา Chicago ทำให้เธอได้เข้าชิง Oscar: Best Actress

แต่หลังจากหนังเรื่องนี้ Zellweger ก็อยู่ในช่วงขาลง ตกต่ำลงเรื่อยๆจนมีช่วงหนึ่งหายหน้าหายตาไปจากวงการ เพิ่งกลับมาเห็นปีสองปีนี้ กับ Bridget Jones’s Baby (2016) แต่ใบหน้าเปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ คงเพราะพิษจากการทำศัลยกรรมทำให้หน้าเละ ปัจจุบัน… ไม่รู้สิครับ

Zellweger กับบท Roxie Hart ว่ากันตามตรง เทียบกับ Ginger Rogers ยังห่างชั้นกันมาก แต่ Zellweger มีวิธีเข้าถึงตัวละครที่ต่างออกไป, ครึ่งแรกของหนัง Roxie เป็นหญิงสาวไร้เดียงสา แล้วค่อยๆเรียนรู้พัฒนาตัวเองขึ้น จนกลายเป็นผู้หญิงกร้านโลก มากประสบการณ์ (แต่ก็ยังมีมุมอ่อนต่อโลกให้เห็นอยู่) คือเราจะเห็นพัฒนาการของตัวละครชัดเจน ผิดกับ Rogers ที่ตลอดทั้งเรื่องไม่มีพัฒนาการใดๆ แต่จะมีการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามอารมณ์ของเธอ

Catherine Zeta-Jones รับบท Velma Kelly (Cicero), นักแสดงร้องเล่นเต้น (showgirl) ที่ถูกจับข้อหาฆาตกรรมสามี ที่มีชู้กับน้องสาวของตน, ด้วยทรงผมบ็อบที่เหมือน Louise Brooks และท่าทีหยิ่งยโสโอหัง ลีลาท่าเต้นของ Jones แสดงออกซึ่งบุคลิก นิสัยของตัวละครอย่างชัดเจน

Zeta-Jones นักแสดงสาวสัญชาติ Welsh เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นนักแสดง Broadway มีผลงาน debut เป็นภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างอังกฤษ/ฝรั่งเศส เรื่อง 1001 Nights (1990) แล้วได้รับโอกาสให้เล่นละครโทรทัศน์ แต่เพราะเธอมักได้รับบทซ้ำๆจนกลายเป็น Typecast ในอังกฤษ เลยย้ายมาอยู่ Los Angeles เริ่มเล่นหนัง Hollywood โดยเริ่มจาก The Mask of Zorro (1998) เพิ่งได้รับคำชมจากหนังเรื่อง Traffic (2000) จนกระทั่งได้รับโอกาสให้ร้องเล่นเต้นใน Chicago (2002)

ผมถือว่า Zeta-Jones เป็นนักแสดงระดับกลางของ Hollywood ที่ไม่ค่อยมีผลงานเด่นดังนัก แต่เคยประสบความสำเร็จขนาดได้ Oscar: Best Supporting Actress มาแล้ว จากหนังเรื่องนี้ ช่วงหลังๆเห็นว่าเธอหันกลับไปรับงานแสดงละครเวที จนได้รางวัล Tony Awards: Best Actress in a Musical จากเรื่อง A Little Night Music (2010) เวลาที่เหลือคงไปเลี้ยงลูก มีผลงานภาพยนตร์ประปราย ครั้งล่าสุดที่เห็นคือ Red 2 (2013)

ภาพลักษณ์ของ Zeta-Jones คือหญิงแกร่ง นางร้าย ซาดิส ซึ่งกับบท Velma Kelly ถือว่าตรงกับลักษณะเด่นของเธอเลย และด้วยหุ่นที่ลำบึกบึน ต้นขาอวบใหญ่ สายตาทรงผมอันยวนเย้า น้ำเสียงอันทรงพลัง เข้มแข็ง หนักแน่น เชื่อว่าคงทำให้หนุ่มๆคลั่งหลั่ง

Richard Gere รับบท Billy Flynn ทนายความผู้สนแต่ชื่อเสียงและเงินทอง, เปรียบตัวละครนี้ได้กับนักเชิดหุ่น ที่ชอบจับชักใย ขยับผู้อื่นเหมือนเป็นตุ๊กตา ให้เคลื่อนไหวตามใจอยากของเขา

Richard Tiffany Gere นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เริ่มต้นจากการแสดงละครเวที มีผลงานภาพยนตร์ในช่วงกลางยุค 70s ที่โด่งดังคือ Days of Heaven (1978) ของผู้กำกับ Terrence Malick และ American Gigolo (1980) เคยได้รับการโหวตให้เป็น Sexiest Man Alive ของนิตยสาร People เมื่อปี 1993 และ 1999

ส่วนตัวคิดว่า Gere เป็นนักแสดงที่ขาดเสน่ห์อันน่าหลงใหล คือใบหน้าของเขาช่างจืดชืด ดูเหมือนตัวประกอบมากกว่าเป็นนักแสดงนำ ขาด passion ในการเป็นนักแสดง และดูร่างกายอ่อนแอเกินไป, แม้หนังเรื่องนี้การแสดงของ Gere จะถือว่าโดดเด่น แต่ผมกลับรู้สึกว่า มันไม่ใช่ตัวตนของเขา เหมือนการพลิกบทบาท รับบทที่ไม่เข้ากับภาพลักษณ์ของตนเอง … (ไม่รู้ผมคิดไปเองหรือเปล่านะ?)

Queen Latifah รับบท Matron ‘Mama’ Morton, หญิงวัยกลางคนที่เป็นเหมือน แม่เล้า เป็นผู้ดูแลควบคุมนักโทษหญิง, ผมคิดว่านี่เป็นตัวละครที่เหมาะกับ Latifah อย่างมาก ด้วยความที่เธอเป็นหญิงร่างใหญ่ หยิบจับอะไรๆก็เต็มไม้เต็มมือ (เหมือน Godmother) บุคคลิกท่าทางเป็นคนที่ชอบควบคุมบงการ ดูแลหญิงสาวเหมือนลูกหลาน ถ้าไม่ติดว่ามี Zeta-Jones อีกคนที่โดดเด่น เชื่อว่า Latifah ต้องได้ Oscar: Best Supporting Actress ไปครองแน่ๆ

อีกคนหนึ่งที่ต้องพูดถึง John C. Reilly รับบท Amos Hart สามีของ Roxie ผู้อาภัพ, นอกจาก Reilly แล้ว ผมนึกถึง Bill Murray อีกคนที่สามารถรับบทนี้ได้ (จดจำจาก Lost in Translation-2003) ความจืดจางของตัวละครนี้ เปรียบได้กับ Mister Cellophane นายกระดาษแก้ว ที่บอบบาง ไร้ค่า ไร้ตัวตน

ถ่ายภาพโดย Dion Beebe ตากล้องชาว Australian น่าจะเรียกว่าเป็นขาประจำของ Marshall ต่อมาเลยก็ได้, สไตล์เด่นของ Beebe คือการเล่นกับภาพสี ในระดับ highly-saturated กับหนังเรื่องนี้จะมีแสงเงา ความมัน แวววับ สะท้อนชุดที่นักแสดงสวมใส่ และการเคลื่อนกล้องที่มีชีวิตชีวา ลื่นไหลต่อเนื่อง แทบจะไม่มีหยุดนิ่งเลย

ถึงหนังจะชื่อ Chicago แต่ดันไปถ่ายทำที่ Toronto, Canada ทั้งเรื่อง (มันใช่เรื่องไหมเนี่ย)

ไฮไลท์ของหนัง คือการตัดต่อโดย Martin Walsh ใช้การสลับระหว่างเพลง/เต้น กับเนื้อเรื่องที่ดำเนินไป บางครั้งเป็นสองเหตุการณ์คู่ขนานเกิดขึ้นพร้อมกัน บางครั้งเป็นกำลังหลับฝันจินตนาการ ตัดสลับกับภาพปัจจุบัน อนาคต ฯ มีทั้งเพื่อสร้างอารมณ์ประกอบเหตุการณ์, อธิบายเรื่องราว/ตัวละคร/ความคิด, แต่การใส่เพลงประกอบควบคู่ไปกับการดำเนินเรื่อง มีข้อเสียหนึ่งคือ ทำให้เรื่องราวดำเนินไปข้างหน้าค่อนข้างช้า และผู้ชมบางคนรู้สึกเหมือนถูกขัดจังหวะด้วยเพลงประกอบ

นักวิจารณ์ Roger Ebert เปรียบหนังเรื่องนี้ว่าเหมือนกำลังฟังเพลง และรับชมการเต้นใน Music Video มีแทร็กต่างๆที่เปิดต่อเนื่องไปพร้อมๆกัน คั่นด้วยเนื้อเรื่องที่เหมือนให้พักหายใจ มากกว่าที่จะเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีความต่อเนื่องทางเนื้อเรื่อง

Although modern audiences don’t like to see stories interrupted by songs, apparently they like songs interrupted by stories.

– Roger Ebert

หนังมี Roxie Hart เป็นตัวละครหลัก และการดำเนินเรื่องจะเป็นไปตามมุมมองของเธอ ตามติดความคิดความรู้สึก เหตุการณ์ต่างๆ (นี่ผิดกับหนังเรื่อง Roxie Hart ที่ใช้มุมมองของ นักข่าว เป็นผู้เล่าเรื่อง)

เพลงประกอบโดย John Kander คือคนเดียวกับที่สร้างละครเพลง Broadway ฉบับปี 1975 ที่มีการนำมาเรียบเรียง ขับร้องใหม่ให้เข้ากับบรรยากาศของหนัง คงมีการปรับเปลี่ยนทำนองเพลงเล็กน้อยด้วยละ แต่เนื้อร้องน่าจะยังคงเหมือนเดิม

เพลงเปิดเรื่อง All That Jazz เป็นการแนะนำสองตัวละครหลัก เริ่มต้นจาก Velma Kelly สู่การปรากฎตัวของ Roxie Hart ใช้การตัดสลับเหตุการณ์ของสองตัวละครนี้คู่ขนานกัน, เพลงมีกลิ่นอายของ Jazz ยุค 20s-30s ที่หอมกรุ่น ฟุ้งกระจาย

สำหรับเพลงที่ผมชอบสุดในหนัง เป็นบทเพลงต่อมา Funny Honey เสียงร้องอันแหลมหวานของ Renée Zellweger ผมว่าถ้าเธอเป็นนักร้องคงแจ้งเกิดไม่ได้แน่ แต่พอร้องในหนังเรื่องนี้ กลับเป็นว่าทำให้ Roxie มีตำหนิในน้ำเสียงที่ผลลัพท์ออกมาดูดีไร้ที่ติ, เพลงนี้ที่ผมชอบสุด คือตอนท่อนแรปของ John C. Reilly (จริงๆมันก็ไม่ใช่แรปนะครับ เป็นแค่เสียงพูดประกอบอารมณ์) ที่พอใส่อารมณ์เข้าไป ทำให้หนังเกิดความพีคแบบขนลุกเลย, เพลงนี้ใช้การตัดสลับระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับภาพเพลงน่าจะในหัวของ Roxie Hart ต้องการร้องตะโกนออกมา แต่ทำได้แค่ในจินตนาการ

หนึ่งในบทเพลงที่เจ๋งมากๆ คือ We Both Reached for the Gun เป็นการตัดสลับระหว่างการสัมภาษณ์ครั้งแรกของ Roxie กับเพลงที่มีเรื่องราวเป็นหุ่นเชิด หุ่นกระป๋อง (ภาพในจินตนาการของ Roxie เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น), Billy ถือว่าเป็นคนชักใยอยู่เบื้องหลังของ Roxie ทุกสิ่งอย่าง จะขยับไปทางไหน เคลื่อนไหวยังไง รวมถึงการขยับปากพูด (ตุ๊กตา Roxie ขยับปากแต่เป็นเสียงของ Billy)

บทเพลง Roxie (the Name on Everyone’s Lips) บอกตามตรงผมไม่ชอบเพลงนี้ และเรื่องราวก่อนเข้าสู่เพลง แต่โปรดักชั่น แนวคิดถือว่าเจ๋งมากจนต้องพูดถึง, มีการใช้กระจกสะท้อนแสดงตัวตนของ Roxie ที่เริ่มจากบานเดียว ต่อมาเป็นสอง เป็นสี่ สุดท้ายหลายสิบ -> จากกระจกเปลี่ยนเป็นผู้ชายใส่สูท (มีทั้งผิวขาว ผิวสี ผิวเอเชีย, จัดว่าเป็น Human Props) ที่คอยสัมผัส พาเธอเจิดจรัสดั่งดวงดาว, การจัดแสงและเสื้อผ้า ทำให้ Roxie สว่างสดใสท่ามกลางความมืดมิดรอบด้าน

ขณะเต้น A Tap Dance, ขณะ Billy พูดคำถาม/ปราศัย เสียงแท็ปจะเบาลง แต่พอพูดจบจะมีการรัวเท้า เหมือนเสียงปรบมือประกอบจังหวะ, ซึ่งความเร็ว ลีลาของการเต้นแท็ป สามารถขับเร่งอารมณ์ระหว่างฉาก ให้ค่อยๆพีคขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้อง ทำนองใดๆ, ผมถือว่าฉากนี้ทำอารมณ์ให้กับหนังได้สูงสุดแล้ว

ส่วนเพลงที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song คือ I Move On สงสัยเพลงนี้แต่งเพิ่มกระมัง เพราะถ้าเอามาจาก Broadway คงไม่น่าได้เข้าชิง Original Song เป็นน่า ขณะที่เพลงดังขึ้น เปรียบเสมือนการเกิดใหม่ของ Roxie และ Velma จบเพลงด้วยคำร้อง All That Jazz เป็นการล้อกับต้นเรื่องที่เพลง All That Jazz เป็นเพลงเปิดหนังเช่นกัน, ฟังเพลงลักษณะนี้ ผมมักนึกถึง Benny Goodman ที่ได้รับฉายาว่า King of Swing เสมอ อยากลุกขึ้นมาเต้นให้รู้แล้วรู้รอดไป

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการนำเสนอความคอรัปชั่นของสังคมยุคหนึ่ง (ใน Chicago) ที่ขาดสามัญสำนึก จริยธรรม ศีลธรรม เมื่อหญิงสาวสามารถเอาตัวรอดจากการคดีฆาตกรรมได้ โดยคำอ้างหลอกลวงโป้ปด แค่ว่า เพื่อป้องกันตัวเอง

เหตุนี้กระมัง หนังจึงมีความจำเป็นต้องนำเสนอ เนื้อหนังมังสาของหญิงสาว ออกมาให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความขยะแขยง เปรียบเทียบความรู้สึกกับความเน่าเฟะ เละเทะ ด้านมืดของสังคมที่แอบซ่อนอยู่ภายใน (คือถ้ามีเสื้อผ้ามาปกปิด ก็คงมองไม่เห็นอะไร)

Roxie เป็นหญิงสาวที่มีความฝัน ต้องการมีชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทอง แต่เพราะความที่ตัวเองไม่ได้มีอะไรโดดเด่น ต่อให้แสวงหาแค่ไหน คงจะมีชื่อเสียงโด่งดังไปมิได้ ซึ่งเมื่อโอกาสเข้ามาถึง แสงสี เงินทอง ชื่อเสียง ทุกสิ่งอย่าง เธอจึงเลือกที่จะไขว่คว้า ฉวยโอกาส ครอบครอง ทำให้ตัวเองเด่นดังเหนือกว่าคนอื่น และได้พบว่า ความจริงแล้วทุกสิ่งอย่างนี้ มันก็คือภาพลวงมายา ที่ครั้งหนึ่งได้เคยครอบครอง แต่ไม่นานก็จากไป มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่หลงเหลืออยู่ คือมิตรภาพระหว่างมิตรแท้และศัตรู

ด้วยทุนสร้าง $45 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $170.6 ล้านเหรียญ ทั่วโลก $306.8 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 13 รางวัล 12 สาขา ได้มา 6 รางวัล
– Best Picture  ** ได้รางวัล
– Best Director
– Best Actress (Renée Zellweger)
– Best Supporting Actor (John C. Reilly)
– Best Supporting Actress (Catherine Zeta-Jones)  ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actress (Queen Latifah)
– Best Adapted Screenplay
– Best Cinematography
– Best Art Direction  ** ได้รางวัล
– Best Costume  ** ได้รางวัล
– Best Edited ** ได้รางวัล
– Best Sound Mixing ** ได้รางวัล
– Best Original Song เพลง I Move On (สาขานี้พ่ายให้กับ Lose Yourself ของ Eminem จาก 8 Mile)

จริงๆ Oscar ปีนี้ ตัวเต็งคือ Gangs of New York ของ Martin Scorsese กับ The Pianist ของ Roman Polanski

ส่วนตัวไม่ชอบหนังเรื่องนี้ แต่ให้ความรู้สึก SO-SO เพราะหลงใหลในเทคนิคการนำเสนอ โดยเฉพาะการตัดต่อที่โดดเด่นมากๆ เกินหน้าเกินตาส่วนอื่น สามารถสร้างอารมณ์คู่ขนาน สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่สิ หนึ่งเล่าเรื่อง หนึ่งอธิบายสิ่งอยู่ในใจ เป็นการนำเสนอที่มีความลึกล้ำ เท่ห์บรรเจิด

ส่วนคะแนนคุณภาพ ที่ให้แค่ SUPERB เพราะรู้สึกว่า เพลงในหนังมีทั้งที่ Hit และ Miss คละเคล้ากันไป อย่าง Cell Block Tango ที่ทำให้ผมเบือนหน้าหนีตอน ‘Doing Number 17’, เพลง Roxie ตอนที่เธอสาธยายความเน่าเฟะของตัวเองออกมา ยิ่งรู้สึกขยะแขยง, I Can’t Do It Alone ของ Velma คือน้ำเน่าของการกลืนน้ำลายตนเอง เหล่านี้ผมรู้สึกว่าเป็นเพลงที่ Miss อย่างรุนแรง, ในขณะที่เพลงอย่าง All That Jazz, When You’re Good to Mama, We Both Reached for the Gun, Mister Cellophane, A Tap Dance ฯ ล้วนเป็นเพลง HIT ที่มีนำเสนอออกมาได้น่าสนเท่ห์ ยอดเยี่ยมมากๆ

แนะนำกับคนชื่นชอบหนังเพลง กลิ่นอายอเมริกายุค 20s-30s, รู้จักบทละคร Chicago หรือเคยรับชม Roxie Hart (1942), แฟนๆหนัง Renée Zellweger, Catherine Zeta-Jones, Richard Gere ฯ ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความเซ็กซี่ โป๊เปลือยที่ต้องใช้วัยวุฒิในการรับชม

TAGLINE | “Chicago ของ Rob Marshall มีเทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจ Renée Zellweger, Catherine Zeta-Jones, Richard Gere สุดยอดทั้งนั้น แต่ก็มีหลายส่วนน่าขยะแขยง จนบางทีก็อยากเบือนหน้าหนี”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: