Children of Paradise (1945) : Marcel Carné ♥♥♥♥♡
อเมริกามี Gone With The Wind (1939) ส่วนฝรั่งเศสมี Les Enfants du Paradis หรือ Children of Paradise หนัง Epic สุดโรแมนติก ว่ากันว่ายอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก, เรื่องราวของหญิงสาวตกหลุมรักชายหนุ่ม แต่ใช้ชีวิตอยู่กับอีกคน วันๆจึงโหยหาถึงแต่เขา ไม่รู้จะมีวันได้สมหวังหรือเปล่า … ผมว่าหนังเรื่องนี้ยอดเยี่ยมกว่า Gone With The Wind อีกนะครับ
กับคำโปรยของหนังที่ว่า ‘Gone With The Wind ของฝรั่งเศส’ ทำให้ผมสนใจหนังเรื่องนี้มาสักพักแล้ว เมื่อได้ดูก็บอกเลยว่าไม่ผิดหวัง เพียงแต่…ไม่เห็นมันจะเหมือนกับ Gone With The Wind สักนิด! ตัวละคร เรื่องราว พื้นหลังนี่คนละเรื่อง แต่กลิ่นอายของความ Epic ยิ่งใหญ่อลังการ กับฉากสร้างใหญ่ที่สุด ใช้ตัวประกอบมากที่สุด และทุนสร้างสูงที่สุดของฝรั่งเศส(สมัยนั้น) นี่กระมังคือจุดขายเทียบความยิ่งใหญ่กับ Gone With The Wind
ทีแรกผมไม่ได้เอะใจกับปีที่หนังออกฉายเท่าไหร่ แต่พอได้ค้นหาข้อมูลหนังก็นึกขึ้นมาได้ว่า 1945 เพิ่งจบสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ, วงการภาพยนตร์ในยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอิตาลีช่วงทศวรรษนั้นเรียกได้ว่า ‘ยุคมืด’ ไร้ซึ่งภาพยนตร์ได้รับการสรรค์สร้าง ออกฉาย เว้นว้างไปหลายปี สงครามส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้อย่างมากที่สุด
สำหรับหนังเรื่องนี้เห็นว่าได้รับการสร้างขึ้นในช่วงระหว่างสงครามโลก รัฐบาล Vichy Government ระหว่างที่ Nazi ยังยึดครองฝรั่งเศสอยู่ด้วย! นี่ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว! ซึ่งถ้าใครสังเกตดีๆ จะพบเห็นตัวประกอบใส่ชุดทหาร นั่นคือ Nazi ตัวจริงๆถูกเกณฑ์มาร่วมเล่นหนัง (โดยไม่รู้ตัวว่านี่เป็นหนังของกลุ่มต่อต้าน)
สมัยนั้น Nazi ห้ามฉายหนังความยาวเกิน 90 นาที ซึ่งผู้กำกับได้ตัดแบ่งออกเป็น 2 ภาค ด้วยความตั้งใจจะเอามารวมเป็นเรื่องเดียวกันหลังสงครามจบ, ซึ่งพอถึงวัน Paris ได้รับอิสรภาพ เลยไม่ต้องฉายแยก จัดฉายฟรีๆทั่วเมืองเพื่อร่วมฉลองชัยชนะ ทำให้สามารถยืนโรงยาวนานติดต่อกันถึง 54 สัปดาห์
ผู้กำกับ Marcel Carné ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มากมายในการสร้าง Les Enfants du Paradis ตั้งแต่เกณฑ์ตัวประกอบว่ากันว่ากว่า 2,000 คน, สร้างฉากใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสขณะนั้น, ทีมงานหลายคนยังเป็นชาว Jews อาทิ Alexandre Trauner ผู้ออกแบบ สร้างฉาก (Art Director), Joseph Kosma แต่งเพลงประกอบ ทั้งสองต้องทำงานแบบหลบๆซ่อนๆ ไม่ให้ถูกจับได้, นี่เป็นการกระทำที่บ้าบิ่น แต่ผลลัพท์ออกมากลายเป็นว่า สมคำอ้าง ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่
เขียนบทโดย Jacques Prévert กวีและนักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส, พื้นหลังดำเนินเรื่องใน Paris ยุค July Monarchy (1830-48) มีจุดศูนย์กลางอยู่รอบ Funambules Theatre (Funambules=เชือกไต่, Tightrope) ใกล้กับ Boulevard du Temple ในหนังจะถูกเรียกว่า ‘Boulevard du Crime’
เรื่องราวดำเนินขึ้นในโลกของการละคร ประกอบด้วย หญิงสาวและชาย 4 คนที่ตกหลุมรักนางเอกคนเดียวกัน นักแสดงใบ้ (Mime), นักแสดง (Actor), โจร (นักเขียนบท), ผู้ดี (นายทุน), เรื่องราวยังได้นำเสนอประเภทการแสดง (Genre) อาทิ การแสดงใบ้ (Mimic Acting), ตลก ล้อเลียน (Comedy), ละครชีวิต (Drama), โรแมนติก (Romance) และโศกนาฎกรรม (Tragedy)
แรงบันดาลใจของหนังเกิดขึ้นจากการพบกันระหว่างผู้กำกับ Carné และนักแสดงนำ Jean-Louis Barrault ที่ Nice ซึ่ง Barrault มีความสนใจอยากสร้างหนังเกี่ยวกับ Baptiste Debureau และ Frédérick Lemaître สองนักแสดงชื่อดังในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 (1820s-1830s), Carné เอาแนวคิดนี้ไปเล่าให้ Prévert ซึ่งขณะนั้นมีความสนใจฆาตกรโรคจิต Pierre Lacenaire แต่ไม่สามารถสร้างหนังที่เกี่ยวกับอาชญากรคนนี้ได้ (เพราะถูก Nazi สั่งห้าม) จึงเห็นเป็นโอกาสเอา Lacenaire ยัดไส้ใส่ในหนังเรื่องนี้เข้าไปด้วยเสียเลย
4 ตัวละครหลักของหนัง ได้อ้างอิงมาจากบุคคลจริงที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์
– Baptiste Debureau คือนักแสดงใบ้ชื่อดัง
– Frédérick Lemaître คือนักแสดงละครเลื่องชื่อ ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทและคู่แข่ง (rival) เปิดการแสดงที่ Boulevard of Crime,
– Pierre Lacenaire เป็นอาชญากรชื่อดังในฝรั่งเศส
– และ Comte Édouard de Montray ได้แรงบันดาลใจมาจาก Duc de Morny
มีนักวิจารณ์เปรียบว่า ‘ถ้า Carné คือผู้กับแนวหน้าของฝรั่งเศส Prévert จะคือนักเขียนบทแนวหน้าของฝรั่งเศสเช่นกัน’ เห็นว่าทั้งสองเป็นคู่ขากัน (ทั้งการทำงานและอาจจะเป็นคู่เกย์กันด้วย) ทำหนังร่วมกันหลายเรื่องในยุค 60s-80s แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนที่ยอดเยี่ยมหรือประสบความสำเร็จไปกว่า Les Enfants du Paradis ซึ่งหลังจากสงครามโลกจบไปสิบปี French New Wave ได้ถือกำเนิดขึ้น ทำให้ยุคสมัยของ Carné และ Prévert สิ้นสุดไปโดยปริยาย
Arletty รับบท Claire “Garance” Reine หญิงสาวโสเภณี ใช้กายแลกความสุข วันหนึ่งเธอตกหลุมรัก Baptiste Deburau เพราะความจริงใจและทะนุถนอม แม้กายของเธอจะตกเป็นของคนอื่น แต่ใจได้มอบให้กับเขาเพียงผู้เดียว, บอกตามตรงผมไม่รู้สึกว่า Arletty มีความสวย น่ารัก หรือสดใสแม้แต่น้อย อาจมีแววตาที่ลุ่มหลง แต่ใบหน้าเป็นคนที่มีลับลมคมใน มีเลศนัย และน่าพิศวง นี่เป็นกระมังที่มีความน่าดึงดูด ที่ทำให้ชายไหนๆต่างก็หลงใหล
Jean-Louis Barrault รับบท Baptiste Deburau, ว๊าว ต้องบอกว่าขณะแสดงสวมบท ตัวตลกใบ้ (Mime) นี่คือสุดยอดการแสดงเลยละ คิดว่าอาจยอดเยี่ยมยิ่งกว่า Charlie Chaplin และ Buster Keaton รวมกันอีก, พอลบการแต่งหน้าออกกลายเป็นคนธรรมดา ทีแรกผมก็จำเขาไม่ได้นะครับ ยังกะคนละคน แววตาของเขาดูลุ่มหลงใหลมากไปเสียหน่อย กระนี่เป็น passion ของความต้องการที่สัมผัสได้ล้นออกมานอกจอ อาจจะดูเกินไปก็จริงแต่แสดงออกมาได้ขนาดนี้ถือว่าไม่ธรรมดาเลยนะครับ
Pierre Brasseur รับบท Frédérick Lemaître, ผมมองว่าการแสดงใบ้ กับการแสดงพูด มันคนละศาสตร์กันนะครับ แต่หนังเรื่องนี้ Barrault แสดง Mime ได้เกินหน้าเกินตา Brasseur ไปมากเลยละ ไม่ใช่ Brasseur ไม่สุดยอดนะครับ แต่จังหวะทรงพลังสุดของหนัง เกิดจากการแสดงของ Mime
การแสดงของ Deburau กับ Lemaître ถือว่าตรงข้ามกันแทบทุกอย่าง คนหนึ่งแสดงใบ้ คนหนึ่งแสดงพูด นิสัยก็ตรงข้ามกัน คนหนึ่งให้อ่อนหวาน จริงจัง ให้เกียรติผู้อื่น อีกคนรุนแรง ทิ้งๆขว้างๆ ประชดประชัน ความรักของ Reine ก็ยังสะท้อนตัวตนของทั้งคู่ Lemaître คือความสนุกชั่วข้ามคืน ส่วน Deburau คือรักนิรันดร์
Marcel Herrand รับบทมหาโจร Pierre-François Lacenaire ความรักต่อ Reine คือความพิศวง มองเธอดั่งเทวดา ‘Angle’ ดอกฟ้าที่หมาวัดอย่างเขาต้องการครอบครอง, การแสดงของ Herrand มีความเข้มข้นจริงจัง ด้วยทรงผมม้วนๆปิดหน้าผาก และหนวดแบบแปลกๆ ใบหน้าของเขาราวกับมหาโจรที่ยิ่งใหญ่ กล้าพูดกล้าทำทุกสิ่งอย่าง โดยไม่สนความถูกผิด ขอแค่ที่ใจตนต้องการ
Louis Salou รับ Comte Édouard de Montray หล่อ เลิศ เชิด หยิ่ง นี่คือภาพลักษณ์ของท่าน Count ที่หลงตัวเองคิดว่าตนซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง เขาได้ครอบครอง Reine ก็จริง แต่แค่เพียงกายไม่ใช่ใจของเธอ, การตายของเขา ให้เปรียบก็คือ เทวดาถูกหมาคาบไปแดก ตายได้น่าสลดมาก เพราะความเย่อเหยิ่งของตนเองทั้งนั้น
ถ่ายภาพโดย Marc Fossard และ Roger Hubert, หนังใช้การถ่ายภาพขาว-ดำ นี่แอบผิดหวังคาด เพราะ Gone With The Wind ถ่ายด้วยภาพสี ก็หลงนึกไปว่า คำโปรยอลังการขนาดนี้ จะได้เห็นภาพสี แต่พอฉากเปิดหนัง จะสีหรือขาวดำก็ไม่สนแล้ว ต้องบอกว่าอลังการงานสร้างสุดๆ เป็นการพาผู้ชมเข้าไปสู่โลกของหนังได้โดยทันที มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ผู้คนที่แออัดยัดเยียดกันในถนน ไม่ใช่ถนนที่เล็กนะ แต่เป็นปริมาณคนที่มากมายมหาศาล
Roger Ebert เปรียบเทียบฉากเปิดเรื่องนี้ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับ ฉากที่คนเจ็บนอนอยู่เต็มถนนใน Gone With The Wind มันดูมากมาย ไม่มีที่สิ้นสุด, ฉากนี้ยังมีนัยยะถึงการแบ่งชนชั้นด้วยนะครับ ฝูงชนที่เดินระดับพื้นคือคนชั้นต่ำ คนที่ขี่ม้า หรือมองเห็นสูงกว่าฝูงชนมักจะเป็นคนชั้นสูง ส่วนนางเอก Reine เหมือนว่าเราจะเห็นเธอแค่ส่วนหัว แต่จะไม่เห็นทั้งตัว นั่นคือความพยายามสร้างจุดยืนในสังคม เหมือนให้ตนมีอากาศหายใจ
ไม่ใช่แค่ฉากที่ยิ่งใหญ่อลังการนะครับ เสื้อผ้าหน้าผม อุปกรณ์ประกอบฉากก็ต้องจัดเต็ม เพราะความที่เป็นหนังย้อนยุค (Period) เสื้อผ้าสมัยปัจจุบันย่อมใช้ไม่ได้ ออกแบบเสื้อผ้าโดย designer ชื่อดังของฝรั่งเศส Mayo (เป็นจิตรกรด้วย) ไม่น่าเชื่อว่าหนังสามารถสรรหาสิ่งเหล่านี้มาได้อย่างพอเพียง ทั้งๆที่ตอนนั้นอาหารการกินขาดแคลน ว่ากันว่าตัวประกอบที่มาร่วม ส่วนใหญ่จะมาเพื่อหาอาหารกิน ซึ่งพอรู้ว่าจะมีงานเลี้ยงหลังถ่ายเสร็จ ก็กรูกันไปที่งานเลี้ยงก่อนเริ่มถ่ายหนังอีก
นอกจากฉากเปิดเรื่องที่ถ่ายภายนอกแล้ว ฉากอื่นๆส่วนใหญ่จะถ่ายภายใน อาทิ ห้องนอน บาร์ ร้านอาหาร และโรงละคร, มีตัวละครหนึ่งที่ถือว่าเป็นคนเชื่อมระหว่างภายในกับภายนอก ชายขอทานตาบอด (รับบทโดย Gaston Modot) ผมหัวเราะลั่นเลยตอนรู้ความจริงที่เป็นความลับของเขา ภายนอกข้าเป็นขอทานมองไม่เห็น แต่ข้างในข้าคือคนทั่วไปที่มองเห็นทุกสิ่งอย่าง, ข้างในนี่ไม่ใช่แค่ นอกอาคารในอาคารนะครับ ยังเปรียบเทียบได้กับ การแสดงออกภายนอก และสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจด้วย
ในโรงละคร ที่นั่งของผู้ชมจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1) หน้าเวที สำหรับคนชนชั้นกลางทั่วไป 2)ที่นั่ง VIP เป็นห้องเดี่ยวๆ อยู่ข้างๆหรือชั้นสอง สำหรับคนชั้นสูง มีฐานะทางสังคม และ 3) ชั้นบนสุด ที่ราคาถูกสุด (เพราะมองไม่ค่อยเห็น) เป็นที่นั่งของคนชั้นต่ำ, ฟังดูมันขัดแย้งกันนะครับ แทนที่คนชั้นต่ำจะอยู่ชั้นล่างแต่กลับอยู่บนสุด เหนือกว่าคนชนชั้นสูงอีก, ในภาษาฝรั่งเศส จึงมีการเปรียบเทียบที่นั่งของผู้ชมกลุ่มนี้ว่าเสมือนพระเจ้า (The Gods) หรือ Paradise ของคนชั้นต่ำ (Children of Paradise) เพราะน่าจะเป็นสถานที่เดียวที่ตัวเองอยู่สูงกว่าคนชั้นสูง
ตัดต่อโดย Henri Rust และ Madeleine Bonin, หนังแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง
– ตอนแรกชื่อ Boulevard du Crime (Boulevard of Crime) เกิดขึ้นในปี 1827
– ตอนที่สองชื่อ L’Homme Blanc (The Man in White) เกิดขึ้น 7 ปีถัดมา
การเล่าเรื่องของหนังถือว่ามีลูกเล่นลูกชนพอสมควร ในตอนแรกใช้การส่งไม้พลัด แนะนำตัวละครทีละตัว พอจะแนะนำคนถัดไป ก็จะมีเหตุให้ตัวละครคนก่อนได้พบกับตัวละครถัดไป, สำหรับตอนสอง เริ่มต้นจากการแสดงของ Lemaître, จากนั้นเป็นการแสดงของ Deburau, ส่วน Lacenaire กับ Count Montray ก็ผลัดกันแสดงความอิจฉาต่อ Reine, ต้องบอกว่าการลำดับภาพของหนังเรื่องนี้ ทำให้เรื่องราวของหนังไหลลื่นราวกับสายน้ำและฝูงชน
เพลงประกอบโดย Joseph Kosma แต่เพราะเขาเป็น Jewish ตอนบันทึกเสียงจึงต้องให้ Maurice Thiriet ทำหน้าที่แทนเขาทุกอย่าง และแสดงเป็น Conductor ในหนังด้วย
เพลงประกอบใช้ Orchestra เต็มวง บรรเลงได้อลังการ ยิ่งใหญ่มากๆ แต่หนังออกไปทาง realist สักหน่อย ทำให้ไม่ค่อยได้ยินเพลงประกอบในช่วงเวลาปกตินัก นอกเสียจากในช่วงการแสดงประกอบละครเวที หรือจากวงดนตรีในบาร์เท่านั้น
กับหนังเรื่องนี้ เรื่องราวระหว่าง Baptiste Deburau และ Frédérick Lemaître แค่สองคนนี้ก็ถือว่ามีความน่าสนใจมากๆแล้ว เพราะเราสามารถมองความยิ่งใหญ่ของพวกเขา เปรียบเทียบได้กับ 2 ยุคสมัยของวงการภาพยนตร์ คือ หนังเงียบ และหนังพูด, แต่เมื่อหนังใส่อีก 2 ตัวละครเข้ามา ซึ่งแทนด้วยระบบชนชั้นของฝรั่งเศส หนังเรื่องนี้จึงมีความวุ่นวายระดับ ห้าเส้า ที่พัวพันกันยิ่งกว่างูกินหาง, นี่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครทำให้เหมือนได้
แต่หนังใส่ตำหนิชิ้นใหญ่ๆเข้ามา คือตัวละคร Nathalie รับบทโดย María Casares ที่แต่งงานอยู่กินกับ Deburau และมีลูกด้วยกันแล้ว, กระนั้นจิตใจของ Deburau กลับไม่ได้อยู่ที่ Nathalie แม้แต่น้อย, ถึงตัวละครนี้จะเป็นกระจกสะท้อน Count Montray ที่ได้ครอบครอง Reine เช่นกัน (แต่ไม่ได้ร่างกาย) การที่ผู้ชายทิ้งลูกเมียไปหาเมียน้อย นี่ทำให้ Deburau ถูกมองเป็นคนเลวได้ทันที และเขาไม่มีจิตสำนึกผิดสักนิด ที่เมื่อเมียหลวงอ้อนวอนขอร้อง และลูกชายตนเองที่รออยู่ข้างนอก, หนังคงต้องการนำเสนอ passion อันรุนแรงที่เป็นแรงผลักดันให้กับ Deburau ที่แม้แต่คุณธรรม ศีลธรรมไม่สามารถเอามาประเมินค่าได้, มันไม่ผิดที่หนังจะมีเรื่องราวแบบนี้ แค่ผมมองเห็นเป็นมะเร็งชิ้นใหญ่ที่รับไม่ได้เท่าไหร่
ตอนจบ กับการกลืนหายเข้าไปในฝูงชน Deburau ไม่สามารถไล่ตาม Reine ได้ทัน, เพราะ Deburau เป็นนักแสดงตัวตลกใบ้ ตัวแทนของหนังเงียบที่หมดสิ้นยุคสมัยไปแล้ว วิ่งตามความก้าวหน้าไปไม่ทัน, ส่วนการตายของท่าน Count โดยฝีมือของ Lacenaire คือการจบสิ้นความแตกต่างระหว่างคนชั้นสูงกับคนชั้นต่ำ
เปรียบกับ Gone With The Wind ต้องบอกว่าทั้งสองเรื่องนี้โคตร Epic ในระดับการสร้าง เรื่องราว เทคนิคและแนวคิดเหมือนกัน, ในอเมริกา แน่นอนพวกเขามองเห็นแต่หนังชาติตนเอง Gone With The Wind หรือ Casablanca ย่อมยอดเยี่ยมกว่า, กับนักวิจารณ์ พวกเขาไม่ค่อยถูกกับหนังแนวนี้สักเท่าไหร่ ต้องแบบ Citizen Kane หรือ Vertigo, มีครั้งหนึ่งที่เทศกาลหนังเมือง Cannes พยายามจัดอันดับหนังยอดเยี่ยม แต่เทศกาลนี้ผู้ชมชื่นชอบหนังของผู้กำกับเจ๋งๆ อย่างหนังของ Jean-Luc Godard หรือ François Truffaut หรือ Jean Vigo มากกว่า
ส่วนตัวถ้าเทียบระหว่าง Children of Paradise กับ Gone With The Wind ในแง่เรื่องราว ผมชอบเรื่องราวที่เกี่ยวกับโรงละครและการแสดง มากกว่าประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองและ racisim เป็นไหนๆ, เทคนิค การเล่าเรื่องและการแสดง Children of Paradise ทำได้ดีกว่า แต่เพราะหนังเป็นภาพขาวดำ งานภาพ เสียง เพลงประกอบ Gone With The Wind จะยอดเยี่ยมกว่า, ในระดับโลก ถ้าบอกว่า Children of Paradise คือหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมที่สุดในโลก นี่อาจดูเกินจริงไปเสียหน่อย แต่ถ้าในฝรั่งเศส สามารถเรียกได้เลยว่า Children of Paradise เป็นหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมที่สุด
Children of Paradise คือจดหมายรักต่อศิลปะการแสดงทุกแขนง ไม่ใช่กับแค่กับภาพยนตร์ แต่รวมถึงละครเวทีและศิลปินทุกสาขา, ถ้าคุณเป็นนักแสดง หรือโตขึ้นอยากเป็นนักแสดง ไม่ว่าจะแขนงไหนๆ นี่เป็นหนังที่ผมแนะนำว่า “ต้องดู” เพื่อศึกษา เรียนรู้ เอามาเป็นแบบอย่าง ไม่แน่ว่าดูจบแล้ว หนังอาจกลายเป็นหนังโปรดของคุณเลยก็ได้
François Truffaut พูดถึงหนังเรื่องนี้ว่า ‘ผมอยากเอาหนังที่ผมกำกับทุกเรื่อง แลกกับการได้กำกับหนังเรื่อง Children of Paradise’
“I would give up all my films to have directed Children of Paradise”
หนังได้เข้าชิง Oscar 1 สาขา Best Original Screenplay แต่ไม่ได้รางวัล
แนะนำกับคอหนัง Classic, แฟนหนังหนังฝรั่งเศส, ชอบหนังรักหลายเส้า, ถ้าคุณเคยดู Gone With The Wind ให้หาหนังเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกันดูนะครับ เรื่องไหนยิ่งใหญ่กว่ากัน หาคำตอบเองเลย
จัดเรต 13+ เพราะมีการฆ่า คนเมาและโสเภณี
Leave a Reply