Chimes at Midnight

Chimes at Midnight (1965) : Orson Welles ♥♥♥♥♡

ดัดแปลงจากจตุภาค Henriad ของ William Shakespeare, Orson Welles นำเฉพาะเรื่องราวส่วนที่สนใจ Jack Falstaff ชายผู้ซึ่งไร้เกียรติและศักดิ์ศรี (Honor) กับช่วงแรกของหนัง Henry V อาจมีคนสงสัย ตัวละครใกล้ตายผู้นี้มีที่มาที่ไปยังไง หนังเรื่องนี้มีคำตอบ

ใจจริงผมอยากจัดเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่เพราะหนังเข้าถึงค่อนข้างยาก ผู้ชมทั่วไปคงดูไม่รู้เรื่องแน่ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีประสบการณ์รับชม/อ่าน บทละครของ Shakespeare และ/หรือดูหนังของ Orson Welles มาพอสมควร ถึงจะเห็นความสวยงามสุดยิ่งใหญ่จากหนังเรื่องนี้ ผมจึงขอข้ามการต้องดูไปแล้วกัน, แต่ถ้าคิดว่าตัวเองเก่งภาษาอังกฤษพอสมควร ชื่นชอบ Henry V แนะนำอย่างยิ่งเป็นที่สุด ให้ลองหาเรื่องนี้มารับชม

ก่อนที่จะดูหนังเรื่องนี้ ไปหา Henry V (1944) และ/หรือ Henry V (1989) มารับชมก่อนนะครับ (แนะนำถ้าจะดูทั้งสองเรื่อง ให้ไล่ลำดับตามปีที่สร้างด้วย) การได้เข้าใจส่วนหนึ่งของจตุภาค Henriad มาก่อน จะทำให้คุณสามารถปรับตัวเรื่องภาษา มีความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆมากขึ้น จากนั้นค่อยมาดู Chimes at Midnight ที่เป็นเรื่องราวขณะพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ก่อนจะขึ้นครองราชย์ (ในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4) สมัยวัยรุ่นทรงเป็นคนเกเร เด็กเสเพลมาก่อน อะไรที่ทำให้พระองค์กลายเป็นวีรกษัตริย์ผู้ยึดมั่นในเกียรติและศักดิ์ศรี (แบบใน Henry V) แบบนี้น่าจะทำให้คุณสนใจหนังขึ้นมากด้วย

ชายแก่ที่นอนอยู่บนเตียงใกล้ตาย และเสียชีวิตก่อนพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ยกทัพไปฝรั่งเศส ใน Henry V ชื่อ Sir John Falstaff ในจตุภาค Henriad มีบทบาทอย่างมากใน Henry IV Part 1 และ Part 2 ถือว่าเป็นพี่เลี้ยงให้กับ Prince Hal (พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5) แต่ไม่ใช่ในแบบอย่างที่ดี เป็นครูที่สอนพระองค์ให้รู้ว่า เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ จะ”ต้อง”ไม่มีวันกลายเป็นคนแบบนี้!

Orson Welles ณ ตอนนั้นไม่มีอะไรในชีวิตต้องพิสูจน์แล้ว เขาเคยสร้างภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมจากบทประพันธ์สุดห่วย (Touch of Evil) มีผลงานเป็นที่ใครๆต่างยกย่องพูดถึงมาหลายศตวรรษ (Citizen Kane), กับบทละครของ Shakespeare เคยสร้างมาแล้ว 2 เรื่อง Macbeth (1948), Othello (1951) แต่ Chimes at Midnight ถือว่าเป็นโปรเจคในฝันเรื่องสุดท้าย มีตัวละครที่มีเรื่องราวใกล้เคียงกับชีวิตตนเองมากที่สุด จนสามารถเรียกได้ว่า นี่เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับเลยก็ได้

ในช่วงทศวรรษที่ 30s ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ Welles เคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับละคร Broadway ดัดแปลงบทประพันธ์ของ Shakespeare จำนวน 9 เรื่อง เรียกโปรแกรมว่า Five Kings, จากนั้นเมื่อปี 1960 ที่ประเทศ Ireland ได้นำหนึ่งในการแสดงชุดนั้นกลับมาเปิดรอบการแสดงใหม่ ชื่อว่า Chimes at Midnight (นี่คือการแสดงละครเวทีเรื่องสุดท้ายของ Welles ด้วย) น่าเศร้าที่ Welles ไม่เคยประสบความสำเร็จกับ Broadway เลยสักเรื่อง นั่นทำให้เขาต้องการนำเอาเรื่องราวของ Falstaff มาสร้างเป็นภาพยนตร์แทน

เพื่อที่จะให้หนังได้รับทุนสร้าง Welles โกหกกับโปรดิวเซอร์ Emiliano Piedra ชาวสเปน บอกว่ากำลังทำหนังที่มีลักษณะคล้ายๆ Treasure Island นี่ทำให้เขาได้เงินทุนก้อนหนึ่งมาสร้างหนัง จริงอยู่นี่เป็นการกระทำที่ไร้เกียรติและศักดิ์ศรี หลอกลวง ปลิ้นปล้อน แต่ผลลัพท์ที่ออกมานั้นคุ้มค่าเกินคาดหมาย โอ้! มันเป็นกรรมอะไรของ Welles กันนะ

Sir John Falstaff ชายสูงวัย ตุ้ยนุ้ย อ้วนใหญ่ ใบหน้าอัปลักษณ์ ไว้หนวดเครายาว มีนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ โกหก หลอกลวง ปลิ้นปล้อน ไร้เกียรติและศักดิ์ศรี, อาศัยอยู่ที่ Boars Head Tavern มีชีวิตไปวันๆไร้เป้าหมาย เป็นหัวขโมยและตัวตลก เมื่อคราที่ต้องรบทัพจับศึก คัดเลือกทหารใหม่ในสังกัดแบบไม่สนคุณภาพ ในสนามรบก็หลบซ่อนหางจุกตูด หลีกเลี่ยงเข้าปะทะ นอนแกล้งตาย ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองมีชีวิตรอด

Orson Welles ถือว่าเกิดมาเพื่อรับบทนี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่ Charles Foster Kane, Hank Quinlan, Harry Lime หรือ Cardinal Wolsey ฯ ความกักฬระ ใบหน้า น้ำเสียง ท่าทาง ราวกับ Falstaff กลับชาติมาเกิดไม่ผิด, ตัวตนจริงๆของ Welles ณ ขณะนั้น ก็กลายเป็นแบบตัวละครนี้ด้วย โกหก หลอกลวง ปลิ้นปล้อน เอาแต่ใจ ไม่แคร์ผู้อื่น, ‘What is honor?’ กับคนที่จะเกิดข้อสงสัยนี้ ชีวิตต้องเคยถูกทรยศ หักหลังมานับครั้งไม่ถ้วน จากที่เคยยึดมั่น เต็มไปด้วยอุดมการณ์ ศักดิ์ศรี ปัจจุบัน ไม่เหลือความเชื่ออะไรหลงอยู่แล้ว

Welles พูดถึงตัวละคร Falstaff ว่า เป็นตัวละครที่ Shakespeare สร้างขึ้นมาได้ยิ่งใหญ่ที่สุด (Shakespeare’s greatest creation) และบอกว่า ‘เป็นตัวละครเข้าถึงยากที่สุด’ (the most difficult part I’ve ever played.) ฟังดูไม่น่าจริงเท่าไหร่ เพราะ Welles เกิดมาเพื่อตัวละครนี้

Keith Baxter รับบท Prince Hal ในตอนแรกมีศักดิ์เป็น Prince of Wales รัชทายาท ต่อมาเมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 สวรรคต จึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็น พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 แห่งอังกฤษ

เมื่อตอนเป็นเจ้าชาย ช่วงวัยรุ่นมีนิสัยชื่นชอบความสนุกสนาน จะเรียกว่าเกเร เสเพล ก็ยังได้, ชอบกลั่นแกล้งผู้คน เห็นความเดือนร้อนของผู้อื่น คือความสุขของตน นั่นเพราะตัวเขายังไม่เห็นความสำคัญของตนเอง ไม่มีภาระหน้าที่อะไรต้องรับผิดชอบ ความอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นอยากลอง นี่คือวิถีของวัยรุ่นทั่วไป เพื่อการค้นหาเป้าหมายชีวิต สิ่งที่ต้องการเป็นต่อไป

แต่สักวันเด็กหนุ่ม ต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่, สงคราม Battle of Shrewsbury ได้ทำให้องค์ชายเจริญชันษาขึ้น เพราะต้องต่อสู้เป็นตายในสนามรบ กับเพื่อนพี่น้อง อดีตมิตรสหายที่ทำการทรยศต่อพระบิดา พลาดพลั้งพ่ายแพ้คือเสียชีวิต นั่นทำให้พระองค์รับรู้บทเรียน ความแตกต่างระหว่างโลกความจริง กับสิ่งที่เขาเคยใช้ชีวิตผ่านมา (จดจำจาก Falstaff เป็นแบบอย่าง)

ซึ่งพอถึงวันที่ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงรู้ ตระหนักในภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ต้องเป็นคนของประชาชน ไม่ใช่ยังทำนิสัยสำมะเลเทเมา ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนตัวเอง ให้ผู้อื่นยอมรับนับถือ มันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตัดความสัมพันธ์ กับคนที่แม้ตัวเองยังหาความสัตย์จริงไม่ได้ จะให้ขึ้นมากลายเป็นตัวตลกในสายตาคนอื่นหรือไร

ในมุมของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 โลกของ Falstaff เปรียบได้กับ ของเด็กเล่น ตัวตลก กบในกะลา คือความสนุกสนานชั่วครั้งคราวค่ำคืน ไม่สามารถเทียบสาระ คุณค่าประโยชน์ใดในโลกความจริงได้ นี่เป็นสิ่งที่ Falstaff ไม่สามารถตระหนักเข้าใจได้ เมื่อถูกปฏิเสธขับไล่ นั่นทำให้เขาตรอมใจ หมดอาลัยในชีวิต

หลายคนคงเกิดคำถาม กับการตัดสินใจของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 นั้นเหมาะสมแล้วหรือ? คำตอบของคนส่วนใหญ่คงเห็นด้วย สะใจ สมน้ำหน้า เพราะคนอย่าง Falstaff ได้รับผลกรรมเช่นนี้ ก็เหมือนกรรมตามสนอง แต่ผมชี้ให้เห็นในด้านตรงข้ามด้วย ว่านี่มองเป็นการอกตัญญู ไร้สำนึกบุญคุณโดยสิ้นเชิง แม้เหมือนว่าพระองค์จะมอบโอกาสให้ด้วย เช่นว่า ถ้า Falstaff กลับตัวได้ ก็จะพิจารณาตามความสามารถ แต่นั่นก็มากเกินที่ชายแก่จะรับได้แล้ว

สิ่งที่ผมคิดว่า พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ยังไม่เข้าใจ (และคนดูหนังส่วนใหญ่ด้วย) อะไร ทำไมที่ทำให้ Falstaff กลายเป็นแบบนี้, ผมมองลึกไปถึงคำถามที่ Sir John พูดขึ้นมาว่า ‘What is honor?’ ก็แทบเข้าใจเลยว่า ชายคนนี้ในอดีตต้องยิ่งใหญ่มากๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธา ความเชื่อมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี เป็นผู้มีฝีมือ บารมี คู่ใจกษัตริย์ (ถึงขนาดได้รับการแต่งตั้งเป็นท่านเซอร์) แต่ยุคสมัย กาลเวลา ผู้คนรอบข้าง สิ่งแวดล้อม ฯ อะไรหลายๆอย่าง ได้ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้าม (คืออะไรก็ไม่รู้นะครับ แต่มันคงต้องเยอะและเจ็บปวดมากๆ ไม่เช่นนั้นจะเปลี่ยนคนประเภทนี้ได้ยังไง)

มองเทียบกับ Orson Welles ในยุคแรกๆ เขาคือชายหนุ่มอัจฉริยะ ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ ความตั้งใจ ต่อมาเมื่อถูกสตูดิโอผู้สร้างต่อต้าน Blacklist ความเจ็บปวด เคียดแค้นได้สะสมฝั่งลึกในใจ จนช่วงยุคหลังๆ มีชีวิตแบบขอไปที หลอกลวง ปลิ้นปล้อน เพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ตนต้องการ

ถ้าคิดเทียบกันแล้ว ผมเชื่อว่าคุณจะไม่อยากมอง Falstaff ว่าเป็นคนไม่มีอะไรดีแน่ๆ เพราะก็เหมือน Welles ถ้าไม่มีอะไรดี เขาคงไม่ได้รับการจดจำระดับนี้แน่

สำหรับนักแสดงชื่อดังอื่นๆ
– John Gielgud รับบท พระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 แห่งอังกฤษ (Gielgud คือ 1 ใน 3 นักแสดงอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ เคียงข้าง Ralph Richardson และ Laurence Olivier)
– Jeanne Moreau รับบทโสเภณี Doll Tearsheet (ขนาดเป็นโสเภณียังน่ารักน่าชังได้ขนาดนี้)

ถ่ายภาพโดย Edmond Richard ตากล้องชาวฝรั่งเศส ที่เคยร่วมงานกัน Welles เรื่อง The Trial (1962) และมีผลงานดังอย่าง The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972)

ตัดต่อโดย Elena Jaumandreu, Frederick Muller และ Peter Parasheles

งานภาพของหนัง นอกจากมุมกล้องอันแปลกตาที่เห็นได้บ่อยในหนังของ Welles หลายครั้งในหนังเรื่องนี้นักแสดงจะพูดหันหน้าเข้าหากล้อง นี่เป็นความตั้งใจของ Welles ที่ต้องการให้เหมือนละครเวที เวลานักแสดงพูดสนทนามักจะหันหน้าเข้าหาผู้ชม (แต่ไม่สบตากับกล้องนะ), แต่ก็มีหลายฉากที่ตัวละครหันหลังให้กล้อง เพราะนักแสดงคิวไม่ว่าง จึงต้องใช้นักแสดงแทนเข้าฉาก

ภาพมุมเงยเห็นเพดาน ท้องฟ้า แสดงถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่

ภาพมุมก้มเห็นพื้น แสดงถึงความต้อยต่ำกว่า

สำหรับฉากที่ถือว่าเป็นตำนานของหนังเรื่องนี้คือ Battle of Shrewsbury ที่ทั้งฉากมีตัวประกอบเพียง 180 คน (เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่ามีหลายพัน/หมื่น) Welles ถ่ายฉากนี้ในระยะ Medium-Shot, Close-Up หลายครั้งเป็นแบบ long-takes แล้วใช้การตัดต่อแบ่งออกเป็นส่วนเล็กๆ นำมาประติดประต่อกัน เพื่อสร้างความต่อเนื่องแบบกระโดดสลับไปมา ซึ่งให้ผลลัพท์ที่เหนือชั้น มีความสมจริงมากๆ (ใช้เวลาถ่ายทำ 10 วัน ตัดต่อ 6 สัปดาห์ ได้เวลา 6 นาที)

อุปกรณ์/เทคนิคที่ใช้ถ่ายทำประกอบด้วย กล้อง Hand-Held, เลนส์ Wide-Angle, ภาพสโลโมชั่น, Speed-Up Shot, ภาพนิ่ง (Static Shot), Swish Pan และ Rapid movement ฯ มีช็อตที่เห็นดาบฟันเนื้อเลือดกระฉูด, นี่ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆเลยที่ฉากสงคราม เห็นแล้วรู้สึกขยะแขง น่ารังเกียจ แสดงถึงการต่อต้านความรุนแรงของสงคราม (anti-wars) ที่ค่อนข้างชัดเจน

ในสนามรบ ยังมีการตัดภาพของชายร่างใหญ่ ใส่ชุดเกราะเทอะทะ ยืนทึ่มทื่อ ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไปไหน แทรกเข้ามาระหว่างการต่อสู้ระยะประชิด, นั่นคือ Falstaff ที่ในสนามรบก็ยังมีสถานะเป็นตัวตลก ไร้เกียรติและศักดิ์ศรี คนอื่นต่อสู้ฆ่าฟันเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่หมอนี่รักตัวกลัวตาย เข้าร่วมแบบไม่ต่อสู้ ทำยังไงก็ได้ (แอบหลังต้นไม้) เพื่อให้ตนเองรอดชีวิตออกจากสนามรบนี้

อีกหนึ่งไฮไลท์คือช่วงท้าย ขณะที่ Falstaff พยายามหาทางแทรกตัวเข้าไปหากษัตริย์องค์ใหม่ ภาพจะถ่ายผ่านหอกไม้สูงที่ทหารถือไว้ ราวกับเป็นซี่กรงขัง อุปสรรคขวากขนาม กั้นขวางไม่ให้ตัวเขาเข้าถึงตัวพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5

เนื่องจากทุนสร้างที่จำกัด ทำให้กระบวนการถ่ายทำมีปัญหามาก ทั้งก่อนและหลังถ่ายทำเสร็จ, อย่างการอัดเสียงเกิดขึ้นหลังภายหลังการถ่ายทำทั้งหมด จะเห็นว่าหลายครั้งปากขยับไม่ตรงกับเสียง เสียงพากย์กับนักแสดงคนละคนกัน, และการตัดต่อมีหลายครั้งที่เหมือนจะกระโดดข้ามไปมา ฯ นี่ถือเป็นตำหนิของหนังที่มีค่อนข้างมาก แต่ไม่ส่งผลต่อเรื่องราวของหนังสักเท่าไหร่

เพลงประกอบโดย Angelo Francesco Lavagnino ที่เคยทำเพลงให้ Welles ในเรื่อง Othello (1951), จะมีเพลงหนึ่ง เป็นเสียงดนตรีพื้นบ้านของอังกฤษ ดังขึ้นคลอประกอบแทบทุกครั้งในฉากที่ Falstaff อยู่ใน Boars Head Tavern เป็นการสร้างบรรยากาศให้เหมือนกับอยู่ใน Tavern (ผมเรียกว่า Tavern Theme)

ในระหว่าง Battle of Shrewsbury เพลงประกอบนอกจากเสียงเครื่องดนตรีแล้ว ยังมีเสียง Sound Effect ของดาบกระทบเกราะ เสียงคำราม กรีดร้องของทหาร กระดูกหัก เท้าย้ำโคลน ฯ เพื่อสร้างความอลม่านวุ่นวายให้เกิดขึ้น

ใจความของหนัง คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ เกียรติและศักดิ์ศรีคือสิ่งจำเป็นต่อชีวิตหรือไม่, ด้วยวิธีการนำเสนอตัวละครหนึ่ง ที่ละทิ้งเกียรติและศักดิ์ศรีไปหมดสิ้น มีอะไรหลงเหลืออยู่กับคนพวกนี้บ้าง และการมีตัวตนของพวกเขา เพียงพอต่อการเคารพยกย่อง มีชีวิตอยู่หรือเปล่า?

การได้รู้จักกับ Falstaff ถือเป็นบทเรียนสำคัญให้กับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 เพราะทำให้พระองค์เลือกที่จะไม่ดำเนินรอยตามอย่างที่ Sir John ผู้นี้เป็น นี่ถือว่าไม่ใช่สิ่งไร้ค่าเสียประโยชน์ทั้งหมด เพราะชีวิตของคนๆหนึ่ง สามารถเป็นบทเรียนสอนชีวิตของคนอื่นได้, จริงอยู่สำหรับ Falstaff ผลลัพท์อาจคือความอัปยศ อดสู แต่ผมมิอาจดูถูก หมิ่นแคลน ตัดสินคนประเภทนี้ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเบื้องหลังเขาเคยเป็นมาอย่างไร คนพวกนี้ต้องถือว่าผ่านโลกมามาก “อย่าด่วนตัดสินคนจากแค่สิ่งที่เห็น” จนกว่าจะทำความเข้าใจ รู้จักกับตัวตนของเขา เมื่อถึงตอนนั้นส่วนมากจะรู้สึกเห็นใจ และขอให้ชาติหน้าเขาได้พบเจอ ทำอะไรที่ดีกว่านี้

Chimes at Midnight เป็นคำที่มาจาก Henry IV, Part 2 เป็นประโยคที่ Falstaff รำพันกับ Justice Shallow เพื่อเป็นการหวนรำลึกถึงช่วงเวลาความสุขสันต์ในอดีตที่ปัจจุบันเหมือนว่าได้ผ่านไปแล้ว ‘We have heard the chimes at midnight, Master Shallow’

เกร็ด: ถ้าใครตั้งใจดูหนังมากๆ จะได้ยินเสียงกระดิ่งดังอยู่เรื่อยๆตลอดทั้งเรื่อง

Welles เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า Chimes at Midnight คือหนังที่เขาชอบที่สุด ถ้าสมมว่าผมได้ขึ้นสวรรค์ แล้วเลือกเอาหนังเรื่องหนึ่งขึ้นไปได้ ก็จะเลือกเรื่องนี้แหละ

“It’s my favorite picture, yes. If I wanted to get into heaven on the basis of one movie, that’s the one I would offer up. I think it’s because it is to me the least flawed; let me put it that way. It is the most successful for what I tried to do. I succeeded more completely in my view with that than with anything else.”

– Orson Welles ให้สัมภาษณ์กับ Leslie Megahey เมื่อปี 1982

ส่วนตัวหลงรัก หลงใหลหนังเรื่องนี้มากแทบทุกสิ่งอย่าง แม้จะมีข้อตำหนิเล็กๆน้อยๆมากมาย หาได้มีความสมบูรณ์แบบ แต่เรื่องราว การแสดง เทคนิค วิธีการนำเสนอ ฯ ถ้าคุณดูหนังของ Orson Welles มาพอสมควร จะสามารถเข้าใจและจับทางได้ทันที ซึ่งข้อตำหนิเหล่านี้เหมือนจะเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคที่พอจะให้อภัยได้ เพราะใจความสำคัญ ความความตั้งใจยังอยู่ครบ และมันยิ่งใหญ่เกินพรรณา

มีนักวิจารณ์หลายคนยกย่องว่านี่คืออีกหนึ่ง Masterpiece ของ Orson Welles และตัวเขาบอกว่า นี่คือหนังที่ตั้งใจสร้าง และชื่นชอบที่สุด, ส่วนตัวแอบสองจิตสองใจ แต่ก็รู้สึกว่าใช่ นี่เป็นหนังที่อธิบายตัวตนของ Welles ได้ดีที่สุด เรียกว่าเป็น magnum opus ได้จริงๆ

ปล. magnum opus เป็นภาษาละติน แปลว่า Masterpiece, สมบูรณ์แบบ

แนะนำกับคนชื่นชอบภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทละครของ William Shakespeare โดยเฉพาะจตุภาค Henriad, หนังดราม่า ปรัชญาชีวิต สงคราม ประวัติศาสตร์อังกฤษ พรรณาด้วยภาษาดอกไม้, และแฟนๆที่หลงใหลในสไตล์ กำกับและการแสดงของ Orson Welles

จัดเรต 13+ กับแนวคิด ‘ไร้เกียรติและศักดิ์ศรี’ ความเห็นแก่ตัวและการกระทำที่ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง

TAGLINE | “Chimes at Midnight เป็น magnum opus ของ Orson Welles คือชีวิตจริง ตัวตน ปรัชญา ความไม่อยากแต่จำเป็น โอ้! ทำไมชีวิตของอัจฉริยะถึงได้เป็นแบบนี้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: