Chinatown (1974)
: Roman Polanski ♥♥♥♥
ในมุมชาวอเมริกัน (และอีกหลายๆประเทศ) มอง Chinatown นอกจากอาหารอร่อย คือสถานที่ชั่วร้ายอันตราย แหล่งมั่วสุมกบดานอาชญากร ความตายเกิดขึ้นประเดี๋ยวเดียวก็ถูกหลงลืม … ผมว่าชาวจีนแท้ๆ อาจไม่ปลื้มเท่าไหร่กับโลกทัศนคตินี้
ใครรับชมภาพยนตร์มาเยอะๆ แม้ยุคสมัยปัจจุบัน ย่านชุมชนชาวจีน ‘Chinatown’ ยังคงพบเห็นทัศนคติของการดูถูก เหยียดหยาม ‘Racism’ แฝงซ่อนเร้นอยู่ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในอดีตชาวอเมริกันได้ถูกปลูกฝังค่านิยมชวนเชื่อ ให้จงเกลียดจงชัง ‘Yellow Peril’ ดูถูกเหยียดหยามไม่ต่างจากชาวผิวสี เพราะความหวาดระแวงกลัวการถูกยึดครอง ‘Colonialism’ จากชาติตะวันออก ทำให้มีการเขียนระเบียบ Page Act of 1875, Chinese Exclusion Act of 1882 และ Geary Act of 1892 ชนเชื้อสายจีนที่เข้ามาพำนักอาศัยในสหรัฐอเมริกา แม้ได้รับอิสรภาพเสมอภาคเท่าเทียมคนอื่นทั่วไป แต่จักไม่มีสิทธิ์เป็นพลเมืองอเมริกัน!
ทั้งๆเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ภาพยนตร์เรื่อง Chinatown ในความรู้สึกของผม จัดเต็มด้วยโลกทัศนคติชวนเชื่อ ปลูกฝังอคติต่อชุมชนชาวจีน สร้าง’ตำนาน’ที่ถือเป็นการดูถูกเหยียดหยาม แม้โปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ/นักเขียนบท อาจไม่ได้ครุ่นคิดถึงประเด็นนี้ แต่ความไม่รู้ตัวสะท้อนอาการหลงระเริง และถูกสังคมครอบงำความคิดไปเรียบร้อยแล้ว
เกร็ด: ได้ยินว่าบทร่างแรกๆของหนัง นักเขียน Robert Towne ไม่คิดใส่ฉากดำเนินเรื่อง/ไคลน์แม็กซ์ยัง Chinatown เสียด้วยซ้ำ! แค่เพียงกล่าวอ้างถึง เป็นพื้นหลังตัวละคร และตำนานความเชื่อของชาวอเมริกันเท่านั้น
จริงๆผมไม่ได้ละเอียดอ่อนไหวกับประเด็นเหยียดเชื้อชาติ/สีผิวที่กล่าวมาสักเท่าไหร่ เป็นมุมมองเพิ่งครุ่นคิดได้หลังจากดูหนังจบ เลยไม่เกิดอคติระหว่างรับชม ถึงกระนั้นอยากให้ใครๆลองตระหนักประเด็นนี้ลึกๆไว้ข้างใน คุณอาจพบเห็นด้านมืดที่หลบซ่อนเร้นอยู่ใต้ความความมืด ‘Noir’ อีกชั้นหนึ่ง
ทำไมถึงตั้งชื่อหนัง Chinatown? ก็เพื่อสะท้อนเรื่องราว อาชญากรรม ลับลวง ความเป็น-ตาย ราวกับว่าพวกเขาอาศัยอยู่ Chinatown ชุมชนแห่งความชั่วร้าย(ที่สุดในสหรัฐอเมริกา)
จุดเริ่มต้นของ Chinatown เกิดจากโปรดิวเซอร์ Robert Evans ด้วยความประทับใจใน Robert Towne (เกิดปี 1934) ก่อนหน้านี้เป็น Script Doctor ให้ความช่วยเหลือบทภาพยนตร์ดังๆไม่รับเครดิตอย่าง Bonnie and Clyde (1967), The Godfather (1972) ฯ พร้อมจ่ายเงิน $175,000 เหรียญ สำหรับดัดแปลงนวนิยาย The Great Gatsby แต่เจ้าตัวคาดคิดว่าคงทำได้ไม่ดีกว่าผู้เขียนต้นฉบับ F. Scott Fitzgerald ถึงกระนั้นขอเงิน $25,000 เหรียญ แล้วพัฒนาเรื่องราวของตนเองกลายมาเป็น Chinatown
Towne พัฒนาบทหนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงของ William Mulholland (1855–1935) [ตัวละครชื่อ Hollis I. Mulwray] หัวหน้าวิศวกร Los Angeles Department of Water and Power ผู้ควบคุมงานสร้างท่อส่งน้ำจาก Owens Valley สู่ Los Angeles ระยะทาง 230 ไมล์
และอ้างอิงเหตุการณ์เขื่อนแตก St. Francis Dam เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1928 สร้างความเสียหายต่อ Santa Clara River Villey ผู้เสียชีวิตกว่า 600 คนซึ่ง William Mulholland ผู้ตรวจสอบเขื่อนขณะนั้น กลายเป็นแพะให้ต้องสิ้นสุดอาชีพการงานตนเอง
หลังจากโปรดิวเซอร์ Evans อ่านบท เกิดความชื่นชอบประทับใจอย่างมาก ทีแรกติดต่อผู้กำกับ Peter Bogdanovich แต่ถูกบอกปัด ต่อด้วย John Huston ซึ่งชื่นชอบบท แต่เจ้าตัวกำลังเตรียมงานโปรเจคอื่นอยู่ เลยขอแค่เป็นนักแสดงรับเชิญ สุดท้ายลงเอย Roman Polanski อ้างว่าต้องการวิสัยทัศน์ผู้กำกับจากยุโรปมองสหรัฐอเมริกา ซึ่งคงจะสร้างสรรค์ให้มืดหม่น รุนแรงกว่า
Rajmund Roman Thierry Polański (เกิดปี 1933) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Polish-French เกิดที่กรุง Paris มีเชื้อสาย Jews ปี 1936 ครอบครัวเดินทางกลับกรุง Kraków ประเทศ Poland อาศัยอยู่ที่นั่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังเอาตัวรอดผ่านพ้น สถานที่เดียวจะนำพาเขาหลีกหนีความทุกข์ทรมานเจ็บปวดรวดร้าวทางใจคือโรงภาพยนตร์
“Movies were becoming an absolute obsession with me. I was enthralled by everything connected with the cinema—not just the movies themselves but the aura that surrounded them.”
ภาพยนตร์เรื่องโปรดชื่นชอบที่สุดคือ Odd Man Out (1947) หนังนัวร์ของผู้กำกับ Carol Reed เป็นแรงผลักดันสำคัญให้ Polański กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์
“I still consider it as one of the best movies I’ve ever seen and a film which made me want to pursue this career more than anything else… I always dreamt of doing things of this sort or that style. To a certain extent I must say that I somehow perpetuate the ideas of that movie in what I do.”
ช่วงทศวรรษ 50s เข้าเรียนที่ National Film School in Łódź เลือกสาขาการแสดง รุ่นเดียวกับผู้กำกับดัง Andrzej Wajda มีผลงานเรื่องแรกเป็นหนังสั้น Rower (1955) [น่าจะสูญหายไปแล้ว], หนังยาวเรื่องแรก Knife in the Water (1962) ได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film, ตามด้วย Repulsion (1965), โกอินเตอร์ Hollywood เรื่อง Rosemary’s Baby (1968), สร้าง Macbeth (1971) ระบายความคับข้องแค้นที่ภรรยา Sharon Tate ถูกฆาตกรรมสังหารโหด
เรื่องราวมีพื้นหลัง ค.ศ. 1937, นักสืบเอกชน J.J. ‘Jake’ Gittes (รับบทโดย Jack Nicholson) ได้รับการว่าจ้างจากภรรยา ให้เปิดโปงความชู้สาวของ Hollis I. Mulwray (รับบทโดย Darrell Zwerling) หัวหน้าวิศวกร Los Angeles Department of Water and Power ผู้พยายามต่อต้านการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ อ้างว่าพื้นรากฐานไม่มั่นคง อาจประสบเหตุการณ์เขื่อนแตกซ้ำรอยเดิม, หลังจาก Jake ติดตามตัวจนได้หลักฐานภาพถ่าย ตีพิมพ์ข่าวใหญ่ลงหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้ภรรยาตัวจริง Evelyn Cross Mulwray (รับบทโดย Faye Dunaway) คนละคนกับที่ว่าจ้างปรากฎตัวขึ้น และวันถัดมาพบเจอศพ Hollis ตำรวจคาดการณ์ว่าเกิดจากอุบัติเหตุ แต่ใครๆย่อมครุ่นคิดได้นั่นมาจากฆาตกรรมอำพรางแน่ๆ
เหตุการณ์นั้นกระตุ้นสันชาตญาณนักสืบของ Jake มันต้องมีเบื้องลึกไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน พยายามจุ้นเสือกเสนอหน้า เป็นเหตุให้โดนตักเตือนกรีดจมูกจากมาเฟีย (รับบทโดย Roman Polanski) สานสัมพันธ์กับ Evelyn ทำให้มีโอกาสพบเจอ Noah Cross (รับบทโดย John Huston) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง/เจ้าของ Los Angeles Department of Water and Power ซึ่งต้องการผลักดันการสร้างเขื่อนด้วยจุดประสงค์บางอย่าง และการปรากฎตัวของตัวละครปริศนา Katherine เธอคือใครกันแน่ มีความสัมพันธ์อะไรกับ Evelyn และ Noah
นำแสดงโดย John Joseph Nicholson (เกิดปี 1937) สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Neptune City, New Jersey เดินทางสู่ Hollywood เมื่อปี 1954 ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ออฟฟิศที่ MGM Cartoon Studio พวกเขาเสนองานนักวาด Animator แต่ปฏิเสธเพราะต้องการเป็นนักแสดง, มีโอกาสเรียนการแสดงที่ Players Ring Theater ผลงานเรื่องแรก The Cry Baby Killer (1958) ตัวประกอบสมทบใน The Little Shop of Horrors (1960) The Raven (1963), The St. Valentine’s Day Massacre (1967) ฯ เริ่มมีชื่อเสียงจากเขียนบท The Trip (1967) และสมทบ Easy Rider (1969) ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor โด่งดังระดับ ‘Superstar’
รับบท J.J. ‘Jake’ Gittes นักสืบเอกชนผู้มีความเชี่ยวชำนาญในสายงาน เป็นคนเหมือนจะแคร์ความรู้สึกลูกค้า แต่ลึกๆคงมิได้ยี่หร่าอะไรใคร (สังเกตท่าทางอันเบื่อหน่ายขณะรับฟังคำบรรยายของ Hollis Mulwray และสีหน้ากระหยิ่มยิ้มเมื่อตีพิมพ์ข่าวในหนังสือพิมพ์) กระนั้นเมื่อถูกลูบเคราเฉือนจมูก เก็บเอาความคับข้องแค้นกลายเป็นดื้อรั้น ต้องการค้นหาคำตอบปริศนาฆาตกรรมนี้ให้จงได้
อดีตของ Gittes เคยทำงานเป็นตำรวจยัง Chinatown ออกสืบคดีต่างๆมากมาย แต่สถานที่แห่งนี้ทำให้เขาสูญเสียเพื่อน คู่ขา หรือแม้แต่หญิงสาวตกหลุมรักต้องมีอันเป็นไป เมื่อถึงจุดๆหนึ่งอดรนทนไม่ไหวจึงหลบหลีกหนีออกมา … โชคชะตาทำให้เขาต้องหวนกลับไปเผชิญหน้า สู่จุดตั้งต้นเดิมอีกครั้งหนึ่ง
Nicholson คือตัวเลือกแรก ความตั้งใจหนึ่งเดียวของผู้เขียนบท Towne หลังจากอ่านบทก็ตอบรับโดยทันที และเป็นผู้แนะนำต่อให้ Polanski ที่อยากร่วมงานกันมานาน รับรู้การมีตัวตนของโปรเจคนี้จนได้รับโอกาสกำกับ
ใครเคยรับชมโคตรหนังนัวร์อย่าง The Maltese Falcon (1941) และ The Big Sleep (1946) ทั้งสองเรื่องนำแสดงโดย Humphrey Bogart จะพบเห็นความคล้ายคลึงอย่างมากต่อหนังเรื่องนี้ ซึ่งต้องถือว่า Nicholson สวมรองเท้าของ Bogart บทบาทลักษณะเดียวกัน แต่ก็ได้รังสรรค์ความแตกต่างเฉพาะตัว นั่นคือด้านอ่อนไหวของตัวละคร ด้วยน้ำเสียงนุ่มลึกหนักเบา และลีลาขยับเขยื้อนใบหน้า (ลายเซ็นต์ของ Nicholson เลยนะ) ถึงไม่คลาสสิกเท่าแต่สามารถเทียบชั้นตำนาน
เกร็ด: Nicholson ให้ทีมงานปักชื่อ Jake Gitter ในเสื้อเชิ้ตทุกตัวของตนเอง แม้เป็นสิ่งไม่เห็นในหนัง แต่เพื่อทำให้เขาเข้าถึงบทบาทนี้โดยเร็ว
เกร็ด 2: ตลอดชีวิตของ Nicholson ปฏิเสธรับบทบาทอื่นที่เกี่ยวกับนักสืบ เพื่อให้ผู้ชมจดจำตราตรึงเขากับ Jake Gittes เรื่องเดียวเท่านั้น
Dorothy Faye Dunaway (เกิดปี 1941) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Bascom, Florida ในครอบครัวเชื้อสาย Scots-Irish ทำให้ช่วงวัยเด็กเดินทางไปๆกลับๆอเมริกากับยุโรป, มีความชื่นชอบร้องเล่นเต้น เปียโน จบสาขาการแสดงละครเวททีที่ Boston University เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก The Happening (1967) ตามด้วย The Chase (1966), กลายเป็นตำนานกับ Bonnie and Clyde (1967), โด่งดังกับ Little Big Man (1970), Chinatown (1974), The Towering Inferno (1974) ฯ คว้า Oscar: Best Actress เรื่อง Network (1976)
รับบท Evelyn C. Mulwray ภรรยาของ Hollis Mulwray แต่ไม่มีท่าทีเศร้าโศกเสียใจเมื่อรับรู้สามีคบชู้ หรือตอนเขาเสียชีวิตจมน้ำตาย แสดงถึงความมีลับลมคมในหลบซ่อนไว้ เดี๋ยวยินดีเดี๋ยวยินร้าย เป็นเหตุให้ Jake ต้องการขวนขวายรับล่วงรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด
หนังไม่พูดบอกออกมาตรงๆถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Evelyn กับ Noah Cross แต่ผู้ชมสามารถล่วงรับรู้ว่าเมื่อครั้นยังเด็กหญิงอายุ 15 ถูกพ่อแท้ๆข่มขืนจนตั้งครรภ์ จากนั้นคลอดลูกสาว Katherine ครุ่นคิดเข้าใจผิดว่าเธอคือน้องสาว จนกระทั่งว่าได้รับความช่วยเหลือจาก Hollis ทราบความจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ยินยอมขอเธอแต่งงาน
ความตั้งใจของนักเขียน Towne จินตนาการบทบาทนี้โดยมี Jane Fonda, ขณะที่โปรดิวเซอร์ Evans อยากให้ภรรยาตนเองขณะนั้น Ali MacGraw แต่เธอกลับนอกใจเขา ขอหย่าไปแต่งงานใหม่กับ Steve McQueen, ส่วนผู้กำกับ Polanski ยืนกรานเลือก Faye Dunaway เพราะการแต่งหน้าของเธอดูเหมือนแม่แท้ๆของเขาเอง … แต่ลึกๆคงผิดหวังอย่างมากทีเดียวละ
Dunaway ได้รับการจดจำจาก Bonnie and Clyde (1967) ภาพลักษณ์สาวเปรี้ยวผู้มีความโฉบเฉี่ยว ซึ่งเธอเป็นนักแสดงที่สามารถถ่ายทอดบทบาทมิติทับซ้อนหลายชั้น สะสมความเก็บกดอัดอั้นไว้ผ่านสาตา ท่วงท่าทางลีลาได้อย่างลึกล้ำ น้ำตาแห่งความเจ็บปวดรวดร้าว ทั้งๆพูดบอกความจริงแต่กลับไม่มีใครอยากเชื่อ น่าสงสารเห็นใจ และชะตากรรมโชคร้ายสุดๆ
ว่ากันว่า Dunaway ทำตัวเป็นราชินีในกองถ่าย โคตรเรื่องมากเอาแต่ใจ ขนาดว่าจะกดชักโครกยังต้องให้ผู้ช่วยทำ ขัดแย้งผู้กำกับอยู่เรื่อย ครั้งหนึ่งเพราะไม่ยอมอนุญาตให้ไปเข้าห้องน้ำ ต้องถ่ายทำฉากนี้ให้เสร็จก่อน เลยฉี่ใส่แก้วแล้วสาดใส่หน้า (เป็นเกร็ดซุบซิบที่ก็ไม่รู้จริงหรือเปล่านะ!)
John Marcellus Huston (1906 – 1987) นักเขียนบท กำกับ แสดงภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Nevada, Missouri, พ่อของเขา Walter Huston สมัยนั้นเป็นนักแสดงแร่ สร้างอิทธิพลให้อย่างมาก หลงใหลในภาพยนตร์ ยกย่อง ‘Charlie Chaplin was a god.’ โตขึ้นมุ่งสู่ New York ได้งานนักแสดง Broadway ต่อมากลายเป็น Dialogue Writer (เขียนบทพูด) ในหนังของผู้กำกับ William Wyler กลายเป็นทั้งอาจารย์ เพื่อนสนิท ช่วยแนะนำอะไรหลายๆให้ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Maltese Falcon (1941), ส่วนผลงานการแสดงเด่นๆ อาทิ The Cardinal (1963), Chinatown (1974)
รับบท Noah Cross ชายสูงวัย ร่ำรวยมหาเศรษฐี เจ้าของ Los Angeles Department of Water and Power สมัยก่อนเคยสนิทสนมกับ Hollis Mulwray แต่หลังจากความเห็นไม่ลงรอยเรื่องการสร้างเขื่อน เป็นเหตุให้ขัดแย้งเลิกคบหาสมาคม
Noah เป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยความโลภ ละโมบ ตัณหา และราคะ อ้างโน่นนี่นั่นก็เพื่อสนองความต้องการ ขนาดลูกสาวแท้ๆยังไม่เว้น กระทำความชั่วร้ายได้ทุกสิ่งอย่าง
ไม่เพียงภาพลักษณ์ของ Huston สร้างความทรงภูมิ ศักดิ์สูงส่งให้ตัวละคร แต่ยังลีลาคำพูด ท่วงท่าทาง การแสดง ยกระดับความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ โลกต้องหมุนรอบตนเอง ขนาดเรียกชื่อ Jake Gittes แบบผิดๆถูกๆ (เห็นว่า Huston พูดคำนี้ไม่ได้จริงๆ) ไม่มีใครอีโก้สูงจัดเท่าชายสูงวัยคนนี้อีกแล้ว
แซว: การเข้าฉากระหว่าง Huston กับ Nicholson เต็มไปด้วยความตึงเครียด สาเหตุเพราะ Nicholson ขายขนมจีบ กำลังเกี้ยวพาราสี Anjelica Huston (ลูกสาวของ Huston) คำถามแรงๆแบบ “Mr. Gittes…do you sleep with my daughter?” พวกเขาไม่ได้แต่งงาน แต่ครองคู่อยู่ร่วมตั้งแต่ปี 1973 – 1990
ถ่ายภาพโดย … ทีแรกผู้กำกับต้องการ William A. Fraker ที่เคยร่วมงานเรื่อง Rosemary’s Baby (1968) แต่กลับถูกโปรดิวเซอร์ขัดขวาง เพราะหวาดกลัวความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะสร้างความยุ่งยากในการควบคุมการสร้าง เลยเปลี่ยนมาเป็น Stanley Cortez แต่กลับไม่เป็นที่พึงพอใจของ Polanski เพราะความเชื่องช้า สไตล์คลาสสิก ไม่เหมาะไดเรคชั่น Naturalistic (แต่ก็พอมีฟุตเทจหลงเหลืออยู่) สุดท้ายเลยมาลงเอย John A. Alonzo ที่มีอีกผลงานเด่นคือ Scarface (1983)
เพื่อให้ได้สัมผัสทศวรรษ 30s งานภาพเน้นโทนสีน้ำตาล-ดำ เล่นกับแสง-เงา กลางวัน-กลางคืน กลิ่นอายหนังนัวร์ (ด้วยคำเรียก Neo-Noir) ทิศทางมุมกล้องอิทธิพลจาก Citizen Kane (1941), The Maltese Falcon (1941), The Big Sleep (1945), Rear Window (1954), Vertigo (1959) ฯ
สถานที่ถ่ายทำคือ Los Angeles, California ไม่ไกลจาก Hollywood สักเท่าไหร่, แต่ทั้งๆชื่อหนัง Chinatown กลับมีเพียงช่วงท้ายฉากเดียวยัง Spring Street, Chinatown
ลายเซ็นต์แรกของหนังนัวร์คือแสงลอดผ่านบานเกร็ด เงาที่อาบพื้นผนังและตัวละคร มีลักษณะเหมือนกรงขัง ติดกับอยู่ภายในอะไรบางสิ่ง ต้องการดิ้นรนโบยบินเป็นอิสระ
รับอิทธิพลเต็มๆจาก Citizen Kane (1941) ภาพถ่ายสะท้อนจิตวิทยาตัวละคร, อย่างช็อตนี้เทคนิค Deep Focus คมชัดใกล้-ไกล บนเวทีก็พูดพร่ามไป แต่ผู้ฟังคนนี้กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ การ์ตูนล้อเลียน นั่นแปลว่า เขามิใคร่สนใจคำอภิปรายปราศัยนี้แม้แต่น้อย
มุมกล้องเงยขึ้น พบเห็นผู้อภิปรายบนเวที และมีภาพถ่ายขนาดใหญ่ใครสักคนด้านหลัง ราวกับบุคคลผู้นี้คอยสนับสนุนหนุนหลัง ไม่ว่าอย่างไรการสร้างเขื่อนแห่งนี้ย่อมบังเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
แต่พอ Hollis Mulwray ขึ้นเวทีปราศัยบ้าง สังเกตว่าแม้มุมเงยขึ้นเหมือนกันแต่ต่ำลงกว่าเดิมมาก ภาพด้านหลังถูกบดบังตัดตอน แปลว่า เขามีทัศนคติแตกต่างขัดแย้ง ความคิดเห็นไม่ได้รับการสนับสนุน และข้างๆติดธงสหรัฐอเมริกาด้วย ครุ่นคิดแทนประชาชนส่วนมากเป็นที่ตั้ง (ขณะที่ผู้ปราศัยคนก่อนหน้ายืนบดบังธงชาติ ถือว่าสนเพียงผลประโยชน์ส่วนตนเองเท่านั้น!)
นักแสดงรับเชิญคนนี้คือ Rance Howard พ่อของผู้กำกับ Ron Howard และเป็นทวดของนักแสดง Bryce Dallas Howard
การกวาดต้อนแกะเข้ามาในที่ประชุมลงมติสร้างเขื่อนแห่งนี้ สัญลักษณะสะท้อนความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของประชาชน ทั้งๆสนับสนุนการสร้างเขื่อนเพื่อมีน้ำกินน้ำใช้ แต่แท้จริงแล้วนายทุน Noah Cross กลับแสวงหาผลประโยชน์อื่นใส่ตนเองเท่านั้น
ทั้ง Sequence ของการติดตาม Hollis Mulwray หลายคนคงคาดเดาได้ว่าหนังรับอิทธิพลจากสองผลงานชิ้นเอกผู้กำกับ Alfred Hitchcock เรื่อง Rear Window (1954) และ Vertigo (1959)
ผมชื่นชอบช็อตนี้มากๆ ถ่ายตรงกระจกมองหลังรถ (คาดว่าคงใช้ Blue Screen แล้วซ้อนฟีล์มทับ) ความน่าสนใจมิใช่สิ่งอยู่เบื้องหน้ากำลังดำเนินไป แต่คือข้อเท็จจริงหลบซ่อนเร้นด้านหลัง/ภายในจิตใจคน
แทบทุกสิ่งอย่างในหนังเรื่องนี้เข้าสูตรสอง ซึ่งมักจะ 1) ปกติ 2) บกพร่อง/ถูกทำลาย
– นาฬิกาสองเรื่อง หนึ่งปกติ สองถูกทำลาย
– จมูกของพระเอก ข้างหนึ่งปกติ สองถูกเฉือน
– ดวงตาของนางเอก ข้างหนึ่งปกติ อีกข้างเป็นอะไรสักอย่าง
– แว่นตาฆาตกรตัวจริง อันหนึ่งปกติ อีกอันแตกละเอียด
– สามีนอกใจภรรยา (มีเมียสองคน), พ่อเอาลูกทำเมีย, Katherine มีสถานะเป็นทั้งน้องสาวและลูกของ Evelyn
ฯลฯ
ผู้เขียน Towne ให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จากความไม่ตั้งใจ เขาและ Polanski มิเคยพูดกันประเด็นนี้เลย ซึ่งผลลัพท์เป็นการสร้างความไม่สมดุล ดี-ชั่ว ถูก-ผิด เป็น-ตาย ฯ สองสิ่งตรงข้ามเติมเต็มกันและกัน
หนังมีการดำเนินไปของเวลา สามารถสังเกตได้จากแสงอาทิตย์-ความมืดมิด เริ่มตั้งแต่เช้า กลางวัน ตกเย็น (Magic Hour) พลบค่ำ (Blue Hour) ค่ำคืน และดึกดื่น
อย่างช็อตนี้ แสงสีส้มอ่อนๆเกิดจากช่วงเวลา Magic Hour ยามเย็น พระอาทิตย์กำลังใกล้ตกดิน ซึ่งจะสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึก สภาวะจิตวิทยาตัวละคร และสถานการณ์ เรื่องราวขณะนั้นๆด้วย
Roman Polanski รับเชิญในบทกุ้ยเชือดจมูกของ Jack Nicholson เพราะความสมจริงมากๆของฉากนี้ ทำให้ผู้ชมหลงเชื่อว่านักแสดงถูกเฉือนจมูกจริงๆ
แซว: Polanski ไม่ได้อยาก Cameo ฉากนี้สักเท่าไหร่ เพราะเขาต้องตัดผมโกนหนวด หล่อเหลาออกหน้ากล้อง ช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย
ว่าไปเครื่องแต่งกายของนางเอก โดยเฉพาะหมวกที่มีตาข่ายบดบังใบหน้าของเธอ สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการปกปิดบัง ซ่อนเร้นบางสิ่งอย่าง ราวกับกรงขังที่จำต้องเก็บกดข้อเท็จจริงไว้ภายใน มิอาจเปิดเผยออกมาได้
การพบเจอกันระหว่าง Jake Gittes กับ Noah Cross นอกจากเรียกชื่อไม่เคยถูกแล้ว ให้สังเกตตำแหน่งทิศทางของทั้งคู่ มักนั่งตั้งฉาก หันหน้า-หันหลัง แทบจะไม่เคยเห็นพ้องจับจ้องมองหน้ากันตรงๆเลย สะท้อนโลกทัศน์ ความคิดเห็นต่าง ราวกับศัตรู ไม่ถูกโฉลก หรือควรค่ายกย่องนับถือกันและกัน
à la carte มื้อนี้คือปลา ดวงตายังใสๆบริสุทธิ์ นี่ละม้ายคล้ายแกะต้นเรื่อง สิ่งที่ Noah รับประทานเข้าปาก คือความไร้เดียงสาของมนุษย์ หาได้รับล่วงรู้ข้อเท็จจริงของนักล่า ผู้กอบโกย(กิน) แสวงหาผลประโยชน์สู่ตนเองสถานเดียว
แซว: ชื่อตัวละคร Noah เป็นการเปรียบเทียบตรงๆกับ Noah’s Ark ผู้สร้างเรือเพื่อช่วยเหลือทุกสรรพสิ่งมีชีวิตให้รอดพ้นจากน้ำท่วมโลก
สวนส้ม ถ่ายทำที่ Triad Ranch, 3240 Sunset Valley Road, California บ้านของนักแสดงชื่อดัง Walter Brennan เพื่อนสนิทของ John Huston [แต่เหมือน Brennan จะไม่ทันมีชีวิตรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้]
ฉากนี้ถ่ายทำโดย Stanley Cortez ก่อนถูก Polaski ไล่ออก น่าจะเป็นช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดินไปแล้วแต่ท้องฟ้ายังไม่หมดแสง สะท้อนเข้ากับอารมณ์ Gittes หลังจากถูกซ้อม หมดสภาพ
หนังไม่ได้นำเสนอ Love Scene ที่มีความหวือหวาอะไร แค่กอดจูบพูดชมตาสวยแล้วตัดมาช็อตนี้ พบเห็นเพียงท่อนบนร่างกายที่เปลือยเปล่า พูดคุยสนทนา ล้วงความลับของอีกฝ่าย
แม้ทั้งสองร่วมรัก ร่างกายเปลือยเปล่า ไร้สิ่งปกปิด แต่ข้อเท็จจริงบางอย่างก็ยังมิได้รับการเปิดเผย หลบซุกซ่อนเร้นภายในจิตใจอย่างมิดชิด และเสียงนาฬิกาติกๆ ราวกับเวลาความสัมพันธ์ทั้งคู่กำลังใกล้สิ้นสุดลง (นี่เป็นการพยากรณ์โศกนาฎกรรมตอนจบด้วยเช่นกัน)
เมื่อ Gittes พบเห็นตัวละครปริศนา Katherine หลบซ่อนอยู่ในรถ Evelyn เพื่อซักถามข้อสงสัย ค้นหาคำตอบว่าเธอคือใคร, การจัดแสงและเงามืดอาบฉาบใบหน้าตัวละคร สะท้อนถึงบางสิ่งอย่างที่พวกเขาต่างปกปิดซ่อนเร้น ไม่ต้องการพูดเอ่ยถึง แต่เมื่อถูกบีบบังคับจำยอมต้องกล่าวออก แม้จะไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดก็เถอะ
จะมีขณะหนึ่งที่ Evelyn ก้มหน้าลงแล้วไปถูกแตรดังขึ้น นี่เป็นการพยากรณ์โชคชะตากรรมตอนจบของเธอเช่นกัน ในลักษณะไม่แตกต่าง
หลังจากความจริงทุกอย่างได้รับการเปิดเผย Gittes ตัดสินใจเลื่อนม่านปิด ใครอ่านภาษาภาพยนตร์ฉากนี้ออกคงครุ่นคิดว่า หนังคงกำลังจบลงด้วยดี แต่ที่ไหนได้…
“Forget it, Jake. It’s Chinatown”.
พูดโดย Joe Mantell (รับบทโดย Lawrence Walsh) ได้กลายเป็นวลีอมตะ ติดอันดับ 74 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes เพื่อสะท้อนถึงดินแดนอาชญากรรมแห่งนี้ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ไม่มีทางแก้ไขอะไรได้ทันแล้ว ปล่อยวางเสียเถิด อีกไม่นานเดี๋ยวก็หลงลืมผ่านพ้นไป
วลีประโยคนี้ยังกลายเป็นสำนวนของชาว Hollywood ถึงบุคคลเคยประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์โด่งดัง แล้ววันหนึ่งตกต่ำสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง มักรำพันว่า “It’s Chinatown” ราวกับวิถีวัฏจักรแห่งชีวิต จงเรียนรู้จักการปลดปล่อยวางยึดคิด
ตัดต่อโดย Sam O’Steen (1923 – 2000) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของผู้กำกับ Mike Nichols ผลงานเด่นๆ อาทิ Who’s Afraid of Virginia Woolf (1966), Cool Hand Luke (1967), The Graduate (1967), Rosemary’s Baby (1968), Chinatown (1974) ฯ
อีกลายเซ็นต์ของหนังนัวร์ ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาตัวละคร J.J. ‘Jake’ Gittes ปรากฎตัวทุกฉากในหนัง ซึ่งแต่เดิมในบทหนัง จะมีเสียงบรรยาย ‘Voice Over’ ของ Gittes อธิบายประกอบ แต่ผู้กำกับ Polanski ตัดทิ้งออกไป เพื่อให้ผู้ชมรับรู้เรื่องราวข้อเท็จจริงไปพร้อมๆตัวละครด้วยเลย
ไดเรคชั่นการเล่าเรื่อง ช่างตรงกับคำบรรยายที่ Jake เปรียบเทียบถึงการร่วมรักของ Chinaman, เริ่มต้นมี Sex ไม่กี่นาทีแล้วหยุด พักไปอ่านหนังสือขงจี๊อ เสร็จแล้วกลับมาหารอบใหม่ต่อไปสักพักแล้วก็หยุด เดินออกไปชมจันทร์ … อะไรแบบนั้น
“Hey, what’s the matter with ya? You’re screwin’ just like a Chinaman!”
กล่าวคือเรื่องราวของหนังจะค่อยๆได้รับการเปิดเผยทีละนิด (เหมือนการมี Sex) จากนั้นเบี่ยงเบนไปทำอย่างอื่นสักพัก แล้วค่อยหวนกลับมาเฉลยเงื่อนงำต่อไป เสร็จแล้วพัก เล่าเรื่องต่อ … เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบจนถึงจุดไคลน์แม็กซ์
เพลงประกอบโดย… ทีแรก Polanski เลือกใช้บริการญาติห่างๆ Phillip Lambro ผลลัพท์เป็นที่น่าพึงพอใจของตนเอง แต่โปรดิวเซอร์กลับเกิดความหวาดหวั่นวิตก เลยชักชวนนักแต่งเพลง Bronisław Kaper เมื่อรับชมหนังให้คำแนะนำ
“It’s a great film, but you have to change the music”.
โดยที่ Polanski ไม่รู้ตัว โปรดิวเซอร์ Evans จ้างวาน Jerry Goldsmith (1929 – 2004) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน ใช้เวลา 10 วัน สร้างสัมผัสอันหลอกหลอน โหยหวน เศร้าสร้อย ผ่านเสียงเดี่ยวทรัมเป็ต (เป่าโดย Uan Rasey) ได้รับการจดจำติดอันดับ 9 ชาร์ท AFI’s 100 Years of Film Scores
Goldsmith ให้คำแนะนำ Uan Rasey ในการเป่าทรัมเป็ต “play it sexy — but like it’s not good sex!” จินตนาการถึงควันบุหรี่ลอยโพยพุ่งเป็นรูปหญิงสาวในจินตนาการ มันช่างสวยงามแต่ว่างเปล่า เพราะสุดท้ายเปลวฝุ่นควันก็ย่อมเลือนลางเจือจางหาย คงหลงเหลือเพียงภาพประทับตราตรึงภายในจิตใจ
Chinatown คือเรื่องราวของคนที่เคยกระทำผิดพลาดในอดีต พยายามหลบหลีกหนีให้ไกล แต่สุดท้ายก็หวนกลับมาตายรัง จำต้องเผชิญหน้ากับมันอีกครั้ง
– Jake Gittes เคยพานผ่านช่วงเวลาร้ายๆที่ Chinatown หลบหลีกหนีออกมาเป็นนักสืบเอกชน สุดท้ายต้องหวนกลับไปเผชิญหน้าโศกนาฎกรรมอีกครั้ง
– Evelyn Cross Mulwray เคยถูกพ่อกระทำชำเราตั้งแต่เด็ก พยายามหลบหลีกหนีไปแต่งงานกับ Hollis Mulwray สุดท้ายหวนกลับมาเผชิญหน้าอีกครั้ง
– Hollis Mulwray เคยสร้างเขื่อนแตก พยายามหลบหลีกหนีจาก Noah Cross แต่สุดท้ายก็ต้องเผชิญหน้ากันอีกครั้งเพื่อสร้างเขื่อนใหม่
ขณะที่คนดีพบเจอแต่เรื่องร้ายๆ คนโฉดชั่วกลับเสวยสุขสบาย โดยเฉพาะ Noah Cross มหาเศรษฐีตัณหากลับ เคยกระทำชำเราลูกสาวแท้ๆจนตั้งครรภ์คลอดลูกหลานสาว พอแก่ตัวสูงวัยพยายามครอบครองเป็นเจ้าของหลานสาวอีกคน เอาไปทำอะไรคงไม่ต้องจินตนาการไกล
เรื่องของเขื่อนก็เช่นเดียวกันนะ สาเหตุผลของการฆาตกรรมอำพราง Hollis Mulwray ก็เพื่อปัดสวะให้พ้นทาง พอเสร็จสำเร็จแล้วโปรเจคนี้ก็สามารถเดินหน้าต่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่เxยสุดของหนัง ผมยกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำตัวเย่อหยิ่งผยอง จองหองอวดอำนาจ วางมาดบาดใหญ่ สุดท้ายไม่เพียงจับคนผิด ปล่อยคนรวย แต่ยังเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ ไม่ต่างอะไรกับเด็กทารกถือปืน
ตอนจบตามความตั้งใจของผู้เขียน Towne ต้องการแบบ Happy Ending (ให้ Evelyn ฆ่าพ่อสำเร็จ แต่ถูกจับติดคุก) แต่ผู้กำกับ Polanski ยืนกราน Tragic Ending เพื่อสะท้อนประสบการณ์ตนเองจากเหตุการณ์ฆ่าสังหารโหดภรรยา Sharon Tate คนดีๆกลับประสบพบเจอแต่เรื่องร้ายๆ แล้วตำรวจแม้งทำอะไร?
เรื่องราวในส่วนของ Evelyn มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับ Oedipus Complex (สลับจากลูกชายได้แม่ เป็นพ่อเอาลูกสาว) ซึ่งการถูกยิงเสียชีวิตที่ดวงตา (ข้างผิดปกติ) สะท้อนตอนจบเทพนิยายกรีก ที่ Oedipus ตัดสินใจควักลูกตาตนเองให้บอด หลังจากรับรู้ตัวว่าแต่งงานร่วมรัก ‘Incest’ กับแม่แท้ๆ
เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย ตั้งแต่ Rosemary’s Baby (1968) ที่ราวกับว่า Polanski ถูกคำสาปของซาตาน ทำให้ภรรยาและลูกถูกฆาตกรรมสังหารโหด การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้อีกสองปีถัดมาถูกใส่ร้ายป้ายปี วันที่ 11 มีนาคม 1977, Polanski โดนจับในข้อหาลวนลาม/ข่มขืน (Sexual Assault) เด็กหญิง Samantha Gailey อายุ 13 ปี ขณะถ่ายแบบลงนิตยสาร Vogue ระหว่างรอคำตัดสินที่จริงๆควรถูกตัดสินภาคทัณฑ์ แต่เหมือนว่าผู้พิพากษาจะถูกซื้อหรืออะไรสักอย่าง ข่าวลือออกมาว่าจะตัดสินโทษจำคุก 50 ปี ทำให้เจ้าตัวหลบหนีลี้ภัยออกจากอเมริกา ไม่เคยหวนคืนกลับไปอีกเลย
ด้วยทุนสร้าง $6 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $29.2 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม ส่วนหนึ่งเพราะทศวรรษนั้น สถานการณ์การเมืองของสหรัฐอเมริกา รายล้อมไปด้วยการเปิดโปงความคอรัปชั่นคดโกงกิน Pentagon Papers, Watergate Scandal คนชั่วครองเมือง แล้วคนดีจะมีที่อยู่ตรงไหน!
เข้าชิง Oscar ถึง 11 สาขา แต่คว้ามาเพียงรางวัลเดียว
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Jack Nicholson)
– Best Actress (Faye Dunaway)
– Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Art Direction
– Best Costume Design
– Best Sound
– Best Original Score
ต้องถือเป็นความโชคร้ายสุดๆของ Chinatown เพราะปีนั้นคู่แข่งคือ The Godfather: Part II (1974) เลยแทบไม่มีลุ้นรางวัลอะไร และ John Huston ถูกมองข้ามไม่ได้เข้าชิง Best Supporting Actor เป็นไปได้อย่างไร! (ปู่ได้เข้าชิง Golden Globe กับ BAFTA Award)
โปรดิวเซอร์ Robert Evans และผู้เขียน Robert Towne มีความต้องการสานต่อหนังให้เป็นไตรภาค (แบบ The Godfather) แต่เสร็จสำเร็จเพียง The Two Jakes (1990) กำกับ/นำแสดงโดย Jack Nicholson [แถมออกฉายปีเดียวกับ The Godfather Part III (1990) เสียด้วยนะ!] ประสบความล้มเหลวย่อยยับเยิน หมดสิ้นโอกาสไปต่อโดยทันที
เกร็ด: Chinatown เป็นหนังเรื่องโปรดของ Christopher Nolan, David Lynch
ตัดประเด็น Racism ออกไป ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมากในทุกๆองค์ประกอบสมบูรณ์แบบ แต่อึ้งทึ่งสุดก็ไคลน์แม็กซ์ตอนจบ ทั้งๆเคยรับชมมาหลายรอบกลับหลงลืม นั่นสร้างความอึ้งทึ่งตราตะลึง คาดคิดไม่ถึงจริงๆจะลงเอยแบบนี้
แนะนำคอหนัง Neo-Noir ชื่นชอบการสืบสวนสอบสวน ไขปริศนาอาชญากร/แรงจูงใจ, หลงใหลอเมริกันยุค 30s, นักเขียนบทหนัง/ละครเวที ควรศึกษาความซับซ้อนของเรื่องราว, แฟนๆผู้กำกับ Roman Polanski และนักแสดงนำ Jack Nicholson, Faye Dunaway, John Huston ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ ต่อการก่ออาชญากรรม บรรยากาศตึงเครียด และโศกนาฎกรรม
เหมือนเป็นหนังฟิล์มนัวร์ที่รวมบรรดาสิ่งที่เคยห้ามใส่หรือใส่ไม่ได้ในสมัย Pre-code เอาไว้