
Chronicle of a Summer (1961)
: Jean Rouch & Edgar Morin ♥♥♥♥
จุดเริ่มต้นของคำว่า Cinéma Vérité (แปลว่า Cinema Truth) ทำการทดลองบันทึกบทสัมภาษณ์ผู้คนเดินไปมาตามท้องถนน เพียงตั้งคำถามถึงความสุข แต่พัฒนาสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบของชีวิต สภาพสังคม สงคราม การเมืองฝรั่งเศสทศวรรษ 60s, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ถือเป็นเสาหลักไมล์ของวงการภาพยนตร์ เกิดขึ้นในยุคสมัย French New Wave จากความพยายามถือไมค์ แบกกล้อง ออกไปถ่ายทำ สัมภาษณ์ผู้คนบนท้องถนน Chronicle of a Summer (1961) กลายมาเป็นต้นแบบสารคดี (Documentary) ครั้งแรกๆของโลกเลยก็ว่าได้
แต่ความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้รับการโหวตอันดับ 6 ชาร์ท Best Documentary Film of All Time ของนิตยสาร Sight & Sound 2014 ไม่ใช่แค่โครงสร้าง วิธีนำเสนอเท่านั้นนะครับ ยังคือหัวข้อการสัมภาษณ์ เริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ‘คุณมีความสุขหรือเปล่า?’ โดยไม่รู้ตัวคำตอบค่อยๆขยับขยายจากใช่หรือไม่ เป็นคำอธิบายสาเหตุผล สุขอะไร ทุกข์ยังไง สะท้อนสภาพสังคม ถกเถียงประเด็นสงคราม การเมือง ก่อนวนกลับมาที่ผู้กำกับทั้งสอง วิเคราะห์ถึงผลงานของพวกเขาเอง ได้ผลลัพท์ในสิ่งพยายามค้นหา ‘Cinéma Vérité’ หรือไม่?
ผมเคยเห็น Doc Club & Pub นำสารคดีเรื่องนี้มาฉายหลายครั้งแล้ว แถมยืนโรงนานเป็นเดือนๆ แสดงว่าเสียงตอบรับดีมากๆ (ก็แน่ละนี่คือหนึ่งในสารคดียอดเยี่ยมที่สุดในโลก) ใครอยู่แถวนั้นอย่าพลาดโอกาสเชียวนะครับ เป็นภาพยนตร์ที่มีอะไรๆให้ขบครุ่นตามมากมาย หลายๆคำตอบท้าทายวิถีชีวิต โลกทัศนคติของคนยุคสมัยนี้-นั้น แนะนำเลยว่าสมควร “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Jean Rouch (1917-2004) นักมานุษยวิทยา และผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นนักสำรวจ ทหารเรือ(ในช่วง WW1) พบเจอว่าที่ภรรยาระหว่างภารกิจขั้วโลกใต้ Antarctica, สำหรับบุตรชาย ร่ำเรียนวิศวกรรมจาก École nationale des ponts et chaussées (National School of Bridges and Roads) จากนั้นได้รับมอบหมายให้ไปควบคุมงานก่อสร้างถนนหนทางยังประเทศ Niger ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่า มีแรงงานเสียชีวิตนับสิบ จึงมีพิธีกรรมไล่ผีไล่สาง ปัดเป่าความชั่วร้าย นั่นทำให้เขาเกิดความสนใจในชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography)
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าคอร์สร่ำเรียนมานุษยวิทยา รวมถึงวิชาการถ่ายภาพยนตร์ แล้วออกเดินทางสู่ทวีปแอฟริกา ถ่ายทำหนังสั้น Au pays des mages noirs (1947) แปลว่า In the Land of the Black Magi ได้รับการยกย่องเป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ “father of Nigerien cinema”
ปล. ถึงคลิปนี้ไม่มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ แต่ก็สามารถรับชมแค่ภาพก็เข้าใจนะครับ
ผลงานส่วนใหญ่ของ Rouch ล้วนปักหลักอยู่ยังทวีปแอฟริกา Nigeria, Mali, Ivory Coast, Mozambique ฯลฯ ไม่เพียงเข้าไปบุกเบิก ยังก่อรากสร้างฐาน ให้การปลุกปั้นคนพื้นเมืองแท้ๆเรียนรู้จักวงการภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ Moi, un noir (1958) แปลว่า I, a Black ***คว้ารางวัล Louis Delluc Prize, Chronique d’un été (1961), La Chasse au lion à l’arc (1965), Jaguar (1967) ฯลฯ
ช่วงปี ค.ศ. 1959, เมื่อครั้นผกก. Rouch ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดภาพยนตร์สารคดี ที่เทศกาลหนัง Festival dei Popoli ณ Florence มีโอกาสพูดคุย รับรู้จักเพื่อนคณะกรรมการ นักสังคมวิทยา Edgar Morin ค้นพบความชื่นชอบอะไรๆคล้ายกัน ต่างเลยใคร่อยากหาโอกาสร่วมงานด้วยกันสักครั้ง
Edgar Morin ชื่อเกิด Edgar Nahoum (เกิดปี 1921) นักปรัชญา นักสังคมวิทยา สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าร่วมเป็นสมาชิก French Resistance แล้วอาสาสมัครทหาร ประจำการกองทัพ French Occupation ในประเทศ Germany, ต่อมากลายเป็นนักเขียน บรรณาธิการ ตีพิมพ์นิตยสาร Arguments (ระหว่างปี 1954-62), หนังสือ Autocritique (1959) วิพากย์วิจารณ์ตนเองเมื่อครั้งเคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แล้วถูกขับไล่ออกมา, หนังสือ L’Esprit du Temps (1960) จดบันทึกประสบการณ์ระหว่างออกเดินทางไปยังละตินอเมริกัน Brazil, Chile, Bolivia, Peru และ Mexico
In Florence, I proposed to Rouch that he do a film on love, which would be an antidote to [the sociologically grounded sketch film] Love and the Frenchwoman, in preparation at that time. When we met again in February in Paris, I abandoned this project, as it seemed too difficult, and I suggested this simple theme: “How do you live?” a question that should encompass not only the way of life (housing, work) but also “How do you manage in life?” and “What do you do with your life?”
Edgar Morin
แรกเริ่มเมื่อครั้น Morin ชักชวน Rouch ร่วมกันทำโปรเจคนี้ เสนอหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องของความรัก ‘Love and the Frenchwoman’ แต่เมื่อมีโอกาสพูดคุยกันอย่างจริงๆจังๆ ถึงวิธีการทำงานที่ใช้การสัมภาษณ์ถามผู้คนตามท้องถนน ค้นพบคำตอบที่ได้ซับซ้อนเกินไป เลยมองหาประเด็นใหม่ ‘How do you live?’ นำไปพูดคุยกับโปรดิวเซอร์ Anatole Dauman ของ Argos Films เพียงสองนาทีกับคำถามข้อเดียว ก็ยินยอมตอบอนุมัติภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทันที
I laid out the idea in two minutes to Anatole Dauman (Argos Films), whom I had recently met. Seduced by the combination of Rouch and “How do you live?” Dauman replied laconically, “I’ll buy it.”
การร่วมงานของทั้งสองเห็นว่าไม่ค่อยราบรื่นสักเท่าไหร่ Morin พยายามขยับขยายประเด็นสงคราม การเมือง ที่ส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คน (ในทิศทางของ sociology), ผิดกับ Rouch นำพานักแสดงผิวสีมาจากแอฟริกา เพื่อสร้างความหลากหลายทางเชื้อชาติ และสอดแทรกประเด็นการเหยียดผิว (ในทิศทางของ anthropology)
นอกจากนี้ Morin ยังเป็นผู้ดูแลในส่วนหัวข้อ การตั้งคำถาม วิเคราะห์คำตอบจากฟุตเทจสัมภาษณ์ เพื่อกำหนดทิศทางเรื่องราวในวันถัดๆ ขณะที่ Rouch หมกมุ่นอยู่กับรูปแบบ วิธีการถ่ายทำ เลือกมุมกล้อง ระยะภาพ พัฒนาอุปกรณ์สำหรับช่วยในการขยับเคลื่อนไหว ‘walking-camera’ ตั้งชื่อเล่นว่า ‘pedovision’
เครดิตถ่ายภาพประกอบด้วย Raoul Coutard, Jean-Jacques Tarbès, Michel Brault และ Roger Morillère
ตัดต่อโดย Jean Ravel, Françoise Collin และ Néna Baratier
เพลงประกอบโดย Pierre Barbaud
ผลลัพท์เมื่อถ่ายทำไปได้ประมาณ 2-3 เดือน ฟุตเทจความยาวเกินกว่า 20+ ชั่วโมง จนโปรดิวเซอร์ Dauman ต้องสั่งให้หยุดการถ่ายทำ แล้วเริ่มกระบวนการตัดต่อ โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดของ Rouch มากกว่า Morin
For me this film was a bottle sometimes half full, sometimes half empty, where I saw above all what was missing. The reflexive character of the film where Rouch and I, on various occasions, intervened to take stock and make decisions disappeared, except in the final sequence
Edgar Morin
เกร็ด: เมื่อปี 2011 มีความพยายามของ Edgar Morin นำฟุตเทจของหนังมาเรียบเรียงตัดต่อใหม่ พากย์เสียงบรรยายด้วยตนเอง ความยาว 6 ชั่วโมง ตั้งชื่อว่า Chronique d’un film แต่สตูดิโอ Argos Films กลับปฏิเสธจะนำออกฉาย เลยได้แค่ขึ้นหิ้งเอาไว้ ไม่รู้จะมีโอกาสแพร่หลายวงกว้างหรือเปล่า
ผมคงไม่ลงลึกในรายละเอียดการสัมภาษณ์ เพราะอยากให้ผู้ชมเพลิดเพลินกับคำถาม-ตอบ ที่บางเรื่องอาจคาดไม่ถึง สร้างความตกตะลึง โดยเฉพาะรอยสักตัวเลขของ Marceline (Marceline Loridan-Ivens) และเบื้องหลังอาการสั่นๆของ Mary Lou (Marilù Parolini) หลายคนอาจมองว่าคงมีส่วนผสมการแสดง แต่อย่างที่สองผู้กำกับยืนกรานช่วงท้าย ทุกคำตอบ/ปฏิกิริยาแสดงออก ล้วนมาจากความครุ่นคิดของบุคคลนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากการปรุงปั้นแต่งประการใด
(ฉากบนโต๊ะอาหารที่มีการสนทนามากกว่า 1-2 คน จะมีการตัดต่อสลับสับเปลี่ยนมุมกล้องอยู่บ่อยครั้ง ก็เพราะมีการใช้กล้องหลายตัว ตากล้องหลายคน บันทึกภาพไปพร้อมๆกัน)
สิ่งน่าสนใจโคตรๆของหนังก็คือวิวัฒนาการคำถาม เริ่มจากง่ายๆเพียงแค่ ‘คุณมีความสุขหรือเปล่า?’ ด้วยการสัมภาษณ์ผู้คนเดินไปมาบนท้องถนน ย่อมมีทั้งคนไม่ว่าง ปฏิเสธแสดงความคิดเห็น ส่วนคำตอบก็จะเริ่มจากสั้นๆ ใช่-ไม่ แล้วอธิบายว่าสุขยังไง? ทุกข์อะไร? จากนั้นนำเสนอวิถีชีวิตของชาว Parisian
- ฉายภาพกิจวัตรประจำวันของชายคนหนึ่ง ตื่นนอน ไปทำงาน ใช้เวลาว่าง (ต่อยกับตนเอง) แสดงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล
- เปรียบเทียบกับการนัดดื่ม-กิน สนทนากับเพื่อนฝูง สานความสัมพันธ์ชาย-หญิง และพาสมาชิกในครอบครัวไปท่องเที่ยววันหยุด (ปีนป่ายขึ้นก้อนหิน)
ไคลน์แม็กซ์ของหนังคือการนำผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคน มารับชมฟุตเทจถ่ายทำ (Screen Test) แล้วต่างคนต่างแสดงความคิดเห็น วิพากย์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา โดยไม่รู้ตัวนั่นคืออีกการค้นพบความแตกต่าง บางคนชอบฉากนี้ บางคนไม่ชอบซีนนี้ ประทับใจการแสดง รู้สึกว่าไม่สมจริง พูดคุยโต้ถกเถียง ไม่มีใครมองโลกในทิศทางเดียวกัน
My dream that this film would end with mutual understanding … failed, but its ultimate success lay in showing how difficult it is to understand others.
Edgar Morin
Cinéma Vérité เป็นคำที่ผกก. Rouch เหมือนจะพูดออกมาเล่นๆ (แต่ก็กลายเป็นถ้อยคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน) เพื่อนำเสนอความจริงของการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยได้แรงบันดาลใจจากทฤษฎี Kino-Pravda (ที่ก็แปลว่า Cinema Truth) ของ Dziga Vertov ปรมาจารย์ผู้กำกับชาวรัสเซีย เจ้าของโคตรผลงาน Man with a Movie Camera (1929) ด้วยการพยายามทำให้กล้องมีลักษณะเหมือนผู้สังเกตการณ์ ‘observational cinema’ นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการปรุงปั้นแต่งของผู้สร้างนะครับ แต่ทำออกมาให้ดูเป็นธรรมชาติ สัจนิยมมากที่สุด
และสิ่งที่ถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์แห่งยุคสมัย French New Wave คือการมีส่วนร่วมของผู้สร้าง สำหรับภาพยนตร์สารคดีมักเป็นการพูดคุยสนทนา แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา พบเจอสองผกก. Rouch และ Morin ตั้งแต่ฉากแรกๆ อธิบายวิธีการของหนังกับบุคคลที่จะทำการสัมภาษณ์ ตลอดทั้งเรื่องก็พวกเขาก็มักปรากฎตัว ตั้งคำถาม และช่วงท้ายวิพากย์วิจารณ์ผลงานของตนเอง (ยังพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา Musée de l’homme ตั้งอยู่ที่ Palais de Chaillot) ทั้งหมดนำเสนอตรงกับความครุ่นคิดต้องการหรือไม่?
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สามารถคว้ารางวัล International Critics Prize แต่เอาจริงๆไม่ใช่สาขาเดียวกับ FIPRESCI Prize ที่นำเสนอมาต้นเรื่อง น่าจะเป็นความเข้าใจผิดๆของผกก. Jean Rouch กระมัง
เมื่อปี 2011, Cineteca di Bologna ร่วมกับ Argos Films นำจากต้นฉบับ 16mm มาทำการขยับขยาย ‘blow-up’ เพื่อให้ได้ฟีล์ม 35mm แล้วทำการบูรณะคุณภาพ 2K ภายใต้การดูแลของหนึ่งในตากล้อง Michel Brault สามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel
เกร็ด: Chronicle of a Summer (1961) คือภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Roger Deakins, Damien Chazelle ฯลฯ
รับชม Chronicle of a Summer (1961) เหมือนได้รับชมประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์แนวสารคดี นี่คือครั้งแรกๆของโลกกับการถือไมค์ แบกกล้อง ออกสัมภาษณ์ผู้คนตามท้องถนน (สมัยนี้พบเห็นได้ทั่วไปตามช่องของ Youtube มีคนทำคอนเทนท์มากมายที่ออกไปสัมภาษณ์โน่นนี่นั่น) และสิ่งที่น่าสนใจโคตรๆไม่ใช่หัวข้อคำถาม-ตอบ แต่คือวิวัฒนาการเรื่องราวดำเนินไปอย่างน่าทึ่ง และสไตล์ความเป็น ‘French New Wave’ ยังคงเหนือล้ำกาลเวลา
คุณมีความสุขหรือเปล่า? นี่เป็นคำถามง่ายๆที่เราอาจตอบแค่พยักหน้าหรือส่ายหัว แต่จริงๆแล้วมันกลับมีความสลับซับซ้อน ถ้าลงรายละเอียดประเด็นเล็กๆน้อยๆ ครอบครัว การทำงาน สภาพสังคม การเมือง สงคราม ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งที่ผมอยากให้ลองขบครุ่นคิด ทบทวนนิยามความสุขของตนเอง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อย่าตอบแค่ว่าใช่หรือไม่ เราพึงพอใจกับอะไร ทุกข์กับสิ่งใด จากนั้นทำอย่างไรให้ชีวิตสุขสมบูรณ์ มั่นคง และแท้จริง
แนะนำอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนภาพยนตร์ ตากล้อง นักตัดต่อ โดยเฉพาะคนทำคอนเทนท์ ศึกษาเทคนิค โครงสร้าง วิธีการนำเสนอ ถือเป็นต้นแบบฉบับ แม่พิมพ์การถ่ายทำสารคดีเลยก็ว่าได้! นักสัมภาษณ์ นักวิจัย ทำงานด้านสารสนเทศ เกี่ยวกับการสำรวจ แบบสอบถาม น่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง
โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นี่เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนหลายสิ่งอย่างในช่วงทศวรรษ 60s สภาพฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
จัดเรตทั่วไป แต่เด็กเล็กคงดูไม่รู้เรื่องเท่าไหร่
Leave a Reply