Cinema Paradiso (1988)
: Giuseppe Tornatore ♥♥♥♥♡
คงเป็นไปไม่ได้ถ้าคนรักหนังจะไม่ตกหลุมรัก Cinema Paradise แต่มีบทเพลงท่อนหนึ่งของบางแก้ว ‘รักครั้งแรก หัวใจก็แตกสลาย’ รู้สึกว่าอธิบายหนังเรื่องนี้ได้ตรงมากๆ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Alfredo พยายามทุกวิถีทางให้ Totò พอเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ต้องออกไปจากเมืองแห่งนี้
– พยายามห้ามไม่ให้กลายเป็นคนฉายหนัง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จึงบังคับให้ต้องเรียนหนังสือควบคู่ไปด้วย
– หลังจากเป็นทหาร ก็ขับไล่ไสส่ง สั่งห้ามมิให้กลับมาพบเจอกันอีก ตราบใดที่ตัวเขายังมีชีวิตอยู่
– รักของแรกกับ Elena Mendola ก็เป็นคนร้องขอให้เธอทิ้ง Totò ไป (นี่เฉลยในฉบับ Director’s Cut)
การกระทำของ Alfredo ล้วนทำให้รักครั้งแรกของ Totò ต่อทุกสิ่งอย่างต้องสูญสลาย แม้แต่โรงภาพยนตร์ Cinema Paradiso ยังถูกทุบทำลาย นี่เพราะอะไรกัน? จะว่าด้วยความรักสุดหัวใจ คาดหวังให้พบเจออนาคตที่ดีกว่า แต่มันไม่มากเกิน เห็นแก่ตัวไปหน่อยหรือ?
ผมนั่งอ่านบทความวิจารณ์ Cinema Paradiso จากหลายๆสำนักทั้งไทยเทศ บล็อกเกอร์ ฯ แทบทั้งนั้นจะพูดถึงความทรงจำ ประทับใจ คลั่งไคล้หลงใหล ฯ จริงอยู่ที่ผมก็ชื่นชอบตัวหนัง แต่นั่นใครๆก็สามารถรับรู้เหตุผลได้ไม่ยาก, บทความนี้จะขอแหวกธรรมเนียมกันอีกสักรอบ เน้นหาข้อเสีย ตำหนิ ด้านมืดของหนัง พยายามเค้นหาข้ออ้างที่อาจไร้สาระสักหน่อย เพื่อว่ากับคนรักหนังเรื่องนี้สุดหัวใจ จะได้มีโอกาสมองเห็นหนังในมุมหนึ่งที่แตกต่างออกไปบ้าง
Giuseppe Tornatore ผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์สัญชาติอิตาลี หลังสิ้นสุดยุคทองของ Vittorio De Sica, Roberto Rossellini, Luchino Visconti, Federico Fellini ฯ ที่กำลังค่อยๆเลือนลางจากไป Tornatore ถือว่าเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ Nuovo Cinema (New Cinema) ที่ทำให้หนังจากประเทศอิตาลียังคงความยิ่งใหญ่ระดับโลกได้อย่างต่อเนื่อง
เกิดปี 1956 ที่ Bagheria, Sicily มีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก ในเมืองมีโรงหนังแห่งหนึ่งที่ก็เหมือนหนังเรื่องนี้ (ใช้เป็นพื้นหลังสถานที่ถ่ายทำด้วย) มีหนังฉายทุกแนวตั้งแต่ของ Jean Renoir, Akira Kurosawa หรือแม้แต่หนัง Hollywood ของ Charlie Chaplin, John Wayne, Clark Gable ฯ ซึ่งทุกเรื่องเมื่อกำลังถึงฉากกำลังจะจูบหรือ Love Scene กันก็ถูกตัดออก
Tornatore หลังเรียนจบเริ่มต้นทำงานเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ แล้วมีโอกาสสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Le minoranze etniche in Sicilia (The Ethnic Minorities in Sicily) เป็นสารคดีขนาดสั้นคว้ารางวัลจากเทศกาลหนัง Salerno Festival ทำให้ได้รับการสนับสนุนสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Il Camorrista (1985) [แปลว่า The Professor] ได้รับเสียงตอบรับดีมากๆทีเดียว คว้ารางวัล Nastro d’Argento: Best New Director [นี่เป็นงานประกาศรางวัลเก่าแก่ที่สุดในยุโรป เทียบเท่ากับ Academy Award]
ผลงานดังเรื่องอื่นๆ อาทิ Everybody’s Fine (1990), The Star Maker (1995), The Legend of 1900 (1998), Malèna (2000) ฯ
ความตั้งใจของ Tornatore ต่อ Cinema Paradiso คือต้องการนำเสนอข่าวร้ายกับโรงภาพยนตร์แบบเก่า (แบบในหนัง) เพราะในอุตสาหกรรมของวงการภาพยนตร์ กำลังค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ แม้แต่ตัวเขาเองก็เริ่มไม่รู้จักอีกต่อไป, แต่พอหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จล้นหลาม ผู้กำกับดังก็ไม่เคยพูดแสดงความเห็นนี้ออกมาอีกเลย (ก็แน่ละ ถ้าไม่เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์รูปแบบใหม่ หนังของเขาคงไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จล้นหลามแบบนี้)
มันกลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอความกักฬระ ป่าเถื่อน ล้าหลัง ของโรงภาพยนตร์ชั้นสอง-สามในยุคสมัยก่อน เห็นอะไรกันบ้างละ? ผู้ชมส่งเสียงกรี๊ดกร๊าดเจี้ยวจ้าว สร้างความรำคาญก่อความรบกวนผู้อื่น (กลั่นแกล้งคนนอนหลับ), ผู้ชมชั้นสอง เวลาไม่พอใจอะไรก็ถ่มน้ำลายลงมาชั้นล่าง ครั้งหนึ่งโดนปาขี้สวนใส่เต็มหน้า, หนังบางเรื่องติดเรตโป๊เปลือยเสียจน ชายหนุ่มทั้งหลายทนไม่ได้ต้องช่วยตัวเองในโรงหนัง ถ้ามีเงินก็มีคุณตัวมาให้บริการด้านหลัง ฯลฯ
สิ่งทั้งหลายที่ผมว่ามา ปัจจุบันมองได้เป็นเหรียญสองด้านไปแล้วนะครับ กับคนที่เคยมีชีวิตผ่านช่วงเวลานั้นมาย่อมเกิดความรู้สึก Nostalgia หวนระลึกถึงอดีต แม้ปัจจุบันจะหาไม่ได้แล้ว แต่ก็ดีใจที่มีหนังเรื่องที่ทำให้หวนคิดถึงได้, แต่กับผู้ชมรุ่นใหม่สมัยนี้ที่รู้จักแต่ Cinema Complex เห้ย! สมัยก่อนมันมีความบ้าบอคอแตกขนาดนี้เลยเหรอ ดูหนังแบบนั้นจะไปสนุกได้ยังไง!
ผมชอบคนหนึ่ง คือพี่แกไม่รู้ดูหนังมากี่รอบ จนสามารถท่องบทพูดตามล่วงหน้า สปอยได้ทุกสิ่งอย่าง เออเว้ย! คนแบบนี้มีมานานแล้วนี่หว่า ผลกรรมของความเกรียนนี้คือถูกตำรวจจะจับลากตัวเข้าคุก (คงมีคนเซ็ง รำคาญมากถึงขนาดเรียกตำรวจมาจับ ฐานก่อความรบกวนผู้อื่น!)
Salvatore Di Vita (ชื่อเล่น Totò) ผู้กำกับชื่อดัง วันหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากที่บ้านบอกว่า Alfredo คนรู้จักเมื่อครั้นตั้งแต่เด็กได้เสียชีวิตลงแล้ว ค่ำคืนนั้นเขาจึงหวนระลึกถึงชีวิต ความทรงจำ เหตุการณ์ในอดีต และวันรุ่งขึ้นตัดสินใจออกเดินทางสู่ Bagheria, Sicily เพื่อรำลึกอาลัย กลับบ้านครั้งแรกในรอบ 30 ปี
มีนักแสดง 3 คน ใน 3 ช่วงวัยที่รับบท Salvatore Di Vita
– Salvatore Cascio รับบทเด็กชาย
– Marco Leonardi รับบทวัยรุ่น
– Jacques Perrin รับบทผู้ใหญ่
ผมว่าทั้งสามมีใบหน้าไม่เหมือนกันเลยนะครับ (แต่ Leonardi มีความคล้ายกับ Cascio อยู่เล็กๆนะ) ถ้าคุณได้รับชม Cinema Paradiso ฉบับ Director’s Cut 174 นาที ทั้งสามจะถือว่ามีบทบาทพอๆกัน แบ่งหนังออกเป็น 3 องก์ชัดเจน แต่ถ้ารับชมฉบับฉายในอเมริกา 121 นาที ช่วงวัยผู้ใหญ่ของ Totò จะมีเรื่องราวหายไปอย่างเยอะ คือหนังจะไม่จบแค่งานศพของ Alfredo แต่จะมีการค้นหาพบเจอกับ Elena Mendola ที่ได้แต่งงานมีลูกโตแล้ว แต่ยังคงมีใจรักให้กับเขา
Salvatore Cascio ได้รับการคัดเลือกจากเด็กชายนับร้อยๆคนที่ส่งใบสมัครเข้ามา เกิดที่ Sicily ปัจจุบันเหมือนจะไม่ได้อยู่ในวงการแล้ว, ดวงตากลมโตใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา คำพูดการกระทำล้วนออกมาตรงจากใจ ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ว่า Cascio มีความหลงใหลคลั่งไคล้ชื่นชอบภาพยนตร์มากจริงๆ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่ชัดเท่าไหร่ คือเหตุผลแท้จริงที่ Totò อยากเป็นนักฉายหนัง? ความสนใจของเด็กชายตอนนั้นมีเพียงแค่ ทำอย่างไรให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับภาพยนตร์มากที่สุด นี่จึงเหมือนไม่ใช่ความตั้งใจแต่เป็นความต้องการ
Marco Leonardi นักแสดงหนุ่มสัญชาติอิตาลี เกิดที่ Australia ปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ Los Angeles, ชายหนุ่มมีสายตาแห่งความหลงใหลเพ้อฝัน ไม่ใช่แค่กับภาพยนตร์แต่หญิงสาว รักแรกพบ Elena Mendola เรียกว่าปานจะกลืนกิน
เทคโนโลยีของโลกพัฒนาเปลี่ยนไป เครื่องฉายรุ่นใหม่, ฟีล์มไม่ติดไฟ, และกล้อง Super 8 ขนาดเล็กที่ Totò นำมาใช้ถ่ายภาพภาพเล่นๆ ได้กลายเป็นความชื่นชอบหลงใหลของเล่นชิ้นใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้พบกับหญิงสาวที่กลายเป็นรักครั้งแรก ความรักต่อสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกันสามารถมองได้ว่าคือสิ่งเดียวกัน (หญิงสาว=ภาพยนตร์) เขาอยากที่จะพูดแสดงความรู้สึกต่อเธอแต่กลับติดๆขัดๆ เหมือนการหัดทดลองเริ่มต้นเล่นกับกล้องแบบผิดๆถูกๆ อาจต้องให้พระเจ้าริเริ่มดลใจ แต่สุดท้ายต้องเป็นตัวของเขาที่พิสูจน์ความรักแท้
ยังจำเรื่องเล่าของ Alfredo ได้หรือเปล่า นายทหารคนหนึ่งตกหลุมรักเจ้าหญิง เธอขอให้เขาพิสูจน์ความรักด้วยการยืนอยู่ตรงระเบียง 100 วัน, จะเห็นว่า Totò ยืนรออยู่กว่าครึ่งปีนานกว่าองค์รักษ์เสียอีก เหตุผลที่เขายอมแพ้คงเพราะคิดขึ้นได้ว่าสมควรแก่เวลา ‘ความทุ่มเทที่ฉันมอบให้ ดูแล้วคงสูญเปล่าไม่ได้อะไรคืนมา’ แต่เขาก็คิดผิด สงสัยเพราะยืนรอนานเกินร้อยวันกว่านายทหารหนุ่ม หญิงสาวจึงยอมใจอ่อน
Jacques Perrin นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงที่สุดในทั้งสามคน (เชิญนักแสดงฝรั่งเศสมาเล่นเป็นตัวละครอิตาเลี่ยนเนี่ยนะ!) มีผลงานที่หลายคนอาจรู้จัก อาทิ Z (1969), Home Sweet Home (1973), The Desert of the Tartars (1976), Black and White in Color (1976) ฯ
แม้ภาพลักษณ์จะไม่เหมือน แต่การเคลื่อนไหวท่าทางมีความคล้ายคลึงกับ Leonardi สายตามีความเศร้าๆอมทุกข์ โหยหาถึงอดีตอันแสนหวาน ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวละครนี้มีความสุขในชีวิตหรือเปล่า แต่ดูจากการเปลี่ยนผู้หญิงไปเรื่อยๆ ยังไม่ลงหลักปักฐานชีวิตแต่งงานมีครอบครัว น่าจะไม่แน่ๆ เพราะยังคงยึดมั่นติดในรักครั้งแรก (และภาพยนตร์) ดังนั้นไม่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลง ผู้คนเปลี่ยนหน้า จิตใจของเขาก็จะไม่มีวันเปลี่ยนไป
ให้ข้อสังเกต: ชื่อเล่นตัวเอกของหนัง Totò น่าจะมาจากนามสกุลของผู้กำกับเอง Tornatore
Philippe Noiret (1930 – 2006) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส, เกิดที่ Lille เป็นคนหัวไม่ฉลาดนัก สอบตกหลายครั้งจึงตัดสินใจเป็นนักแสดงที่ Centre Dramatique de l’Ouest มีโอกาสแสดงใน Théâtre National Populaire อยู่หลายปี จับพลัดพลูเป็นตัวประกอบเล็กๆใน Gigi (1949) [หนังฝรั่งเศสนะครับไม่ใช่หนังอเมริกัน] และเข้าตา Agnès Varda ชักชวนมาแสดงใน La Pointe Courte (1955) ผู้กำกับดังให้สัมภาษณ์ บอกว่า ‘I discovered in him a breadth of talent rare in a young actor.’
“When I began to have success in the movies, it was a big surprise for me. For actors of my generation—all the men of 50 or 60 now in French movies—all of us were thinking of being stage actors. Even people like Jean-Paul Belmondo, all of us, we never thought we’d become movie stars.
So, at the beginning, I was just doing it for the money, and because they asked me to do it. But after two or three years of working on movies, I started to enjoy it, and to be very interested in it. And I’m still very interested in it, because I’ve never really understood how it works. I mean, what is acting for the movies? I’ve never really understood.”
– บทสัมภาษณ์ของ Philippe Noiret กับ Joe Leydon เทศกาลหนังเมือง Cannes ปี 1989
สำหรับบทบาทที่ Noiret ได้รับการจดจำที่สุด คงหนีไม่พ้น Cinema Paradiso รับบท Alfredo ชายสูงวัยใจดี เป็นทั้งเพื่อน พี่ และพ่อบุญธรรมของ Totò ด้วยรัก ห่วงใย และต้องการให้ได้ดี จึงทำทุกสิ่งอย่างเพื่อขับไล่ ผลักไส ไม่ให้เด็กชายหนุ่มหลงยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นแค่พื้นฐานล่าง ไขว่คว้าแสวงหาโอกาสและความสำเร็จที่อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะฉันทำไม่ได้ จึงคาดหวังให้เธอได้สืบทอดเจตนารมณ์
Alfredo ก็เหมือนพ่อแม่ทั่วๆไป ที่ชีวิตอาจเต็มไปด้วยอุปสรรคความทุกข์ยาก แล้วคาดหวังให้ลูกหลานได้มีโอกาส พบเจอหนทางความสุขที่ดีมีมากกว่าตน, มันไม่ผิดอะไรที่พ่อแม่จะเป็นแบบนี้นะครับ (พบเจอได้ทั่วไปเลย) แต่ผมมองว่านี่เป็นการบีบบังคับทางใจมากเกินไป มันไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างที่พ่อแม่คาดหวังให้ลูกโตขึ้นเป็น อย่างน้อยสุดควรเป็นตัวเขาเองที่เลือกตัดสินใจดำเนินชีวิตด้วยตนเอง
จริงอยู่ว่า การเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อาจคือความฝันของ Totò แต่หนังไม่ได้ทำให้ผู้ชมรับรู้สึกเลยว่าเขามีความสามารถโดดเด่นหรือสนใจการงานนี้ (แค่ชอบเล่นกล้องตอนวัยรุ่น ไม่ได้แปลว่าจะต้องวาดเพ้อฝันอยากเป็นผู้กำกับในอนาคต) ความพยายามผลักไสของ Alfredo มันเลยดูไร้จุดหมาย ไร้สาระ เพื่ออะไรก็ไม่รู้ แล้วทำไม Totò ถึงต้องยินยอมทำตามโดยง่าย เหมือนว่าเหตุผลแท้จริงที่เขาจากไป เพราะหญิงสาวคนรักแรกพบได้หายไปจากชีวิต จึงทนไม่ได้ที่จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีเธอ
การแสดงของ Noiret กับหนังเรื่องนี้เรียกได้ว่า สมบูรณ์แบบ เรียบง่ายนุ่มนวลเต็มเปี่ยมด้วยพลัง ความเข้าใจ และจิตวิญญาณ, หนวดติ๋มๆของเขาได้กลายเป็นภาพลักษณ์ของผู้ใหญ่ใจดี แม้จะมีปากร้ายบ้างแต่ไม่เคยคิดแสดงออกเป็นอื่น
สิ่งหนึ่งที่ชวนพิศวงหลังจาก Alfredo ตาบอดสองข้าง เขาทำงานอะไร (ดูแล้วไม่น่าจะทำงานได้นะ) หาเงินจากไหน เป็นภรรยาของเขานะหรือที่คอยดูแลจัดการทุกอย่างให้ หรือ Totò ปันเงินที่หาได้ส่วนหนึ่งให้กับเขา, มันอาจไม่มีสาระประโยชน์อะไรต่อหนัง ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ไม่มีใครตาย แต่น่าจะบอกสักหน่อยนะ เพื่อผู้ชมคิดมากอย่างผมจะได้ไม่เกิดข้อสงสัยไร้สาระแบบนี้
ถ่ายภาพโดย Blasco Giurato ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน, ความโดดเด่นคือการเก็บรายละเอียดเรื่องราวที่มียิบย่อยเยอะมาก รวมถึงการใช้มุมกล้อง ทิศทาง การเคลื่อนไหวที่ช่วยสร้างสัมผัสอารมณ์ร่วมให้กับหนัง
มันเยอะเสียจนนับไม่ถ้วน กับภาพ Close-Up แสดงปฏิกิริยาการกระทำต่างๆของผู้ชมในโรงภาพยนตร์ น่าจะเกือบครบทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ราวกับว่าสถานที่แห่งนี้คือ ‘โลก’ ใบหนึ่งที่มนุษย์ใช้อาศัยมีชีวิตอยู่, ซึ่งบางช็อต ผมคิดว่าเป็นการแอบถ่ายแน่ (จะมีแสงไฟดวงหนึ่งเป็นประกายในดวงตาของเด็กชาย)
การใช้แสงสีที่ดูจะเฉิ่มเฉยคลาสสิกไปเสียหน่อย เช่น ฉากตอนที่ไฟไหม้ห้องฉายหนัง ภาพถ่ายด้านนอกโรงหนังเห็นที่ชั้นสอง เห็นแค่ควันกับแสงสีแดงหมุนกระพริบไปมาแต่จะไม่เห็นเปลวไฟ นี่เป็นลูกเล่นเพื่อใช้หลอกผู้ชม (สมัยก่อนคงเนียนมาก สมัยนี้ถ้าสังเกตหน่อยก็จะจับผิดได้)
มีสองช็อตที่ผมชอบสุดในหนัง เป็นภาพ Close-Up ใบหน้าของหญิงสาวที่มีความละม้ายคล้ายกันมาก
– ภาพแรกขณะเธอตั้งใจจะไปสารภาพบาป แต่ได้รับการสารภาพรักแทน แสงไฟสาดตะข่ายลงบนใบหน้ากั้นขวางความรักไว้
– ภาพสองเป็นฟุตเทจที่ Totò ถ่ายรักแรกพบของเขาไว้ นี่เป็นตอน 30 ปีให้หลัง ฉายบนพื้นหลังผนังห้องที่มีลวดลายเหมือนลายดอกไม้
ผมชอบสองช็อตนี้เพราะหญิงสาวเธอยังคงสวยงามเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน และสิ่งที่จุดๆ/ตาราง มันคือรอยด่างของความทรงจำ เหมือนภาพเก่าที่สีตกเสื่อมสภาพลงไปตามกาลเวลา แต่ทุกสิ่งอย่างยังคงเหมือนเดิม
ตัดต่อโดย Mario Morra สัญชาติอิตาเลี่ยน ที่มีผลงานดังอย่าง The Battle of Algiers (1966), Burn! (1969) ฯ หนังใช้มุมมองของ Totò ในการเล่าเรื่อง โดยองก์ 1 และ 2 เป็นการเล่าย้อนอดีต และองก์ 3 เป็นเรื่องราวดำเนินไปข้างหน้า
การตัดต่อแทบทั้งนั้นใช้เทคนิค Montage คือนำภาพจากภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ ตัดไปที่ใบหน้าปฏิกิริยาของผู้ชม สลับไปมาหลายครั้ง อาทิ ฉากที่บาทหลวงรับชมภาพยนตร์ จะมีการตัดสลับไปมา พอถึงฉากในภาพยนตร์ที่กำลังจะจูบกัน ก็จะตัดไปให้เห็นสีหน้าที่ไม่พึงพอใจ สั่นระฆัง ฯ
ส่วนของการตัดต่อที่ผมประทับใจสุด คือการซ้อนภาพ ที่เป็นการผสมฟุตเทจจากภาพยนตร์เข้ากับผู้ชม มีนัยยะถึงความกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน (ภาพยนตร์=ส่วนหนึ่งของชีวิต)
แซว: ช็อตที่แคปมานี้ยังกะเห็นผี
เพลงประกอบของ Ennio Morricone ร่วมกับลูกชาย Andrea Morricone ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น นี่น่าจะเป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่พ่อลูกทำเพลงด้วยกัน ผลลัพท์ออกมาสมบูรณ์แบบ ไร้ตำหนิ
ขอเริ่มจากบทเพลง Cinema Paradiso เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนมือซ้าย เสียงโน๊ตช่วงแรกจะมีลักษณะกระโดดไปมา (เหมือนเด็กชายที่ชอบวิ่งเล่นกระโดดไปมาอย่างไร้เป้าหมาย) เมื่อมือขวาเริ่มบรรเลง ประหนึ่งการค้นพบคู่เคียงเดินไปด้วยกัน และพอเสียงเครื่องสายดังขึ้น คือผู้อื่นรอบข้างเดินเข้าร่วมด้วย, ก็เหมือนหนังเรื่องนี้ที่เริ่มต้น Totò ตัวคนเดียวไม่มีใคร ได้รู้จักกับ Alfredo ถัดจากนั้นคนอื่นๆที่ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จักหรอก แต่จดจำใบหน้าได้จากความคุ้นเคย ในโรงภาพยนตร์ที่เปรียบได้ดั่ง Paradise มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ผู้คนมากหน้าหลายตา ทำให้เกิดความรู้สึกหวนระลึก โหยหาซึ่งกันและกัน
บทเพลงไฮไลท์ของหนังคือ Love Theme ได้ยินแล้วน้ำตาซึมแทบทุกครา, ชีวิตพบเจอก็ต้องแยกจาก มีเกิดก็ต้องมีตาย Love Theme คือจดหมายรักจากคนที่พลัดพรากจากกันไปแล้ว คนที่ยังอยู่เปิดออกอ่านแล้วได้พบเจอความรู้สึก สิ่งที่หลงเหลือเมื่อตัวตนไม่ได้เคียงข้างนั่นคือ ‘ความทรงจำ’
ถ้าเราไม่เคยที่จะลืมเลือนบางสิ่งอย่าง นั่นแปลว่าสิ่งนั้นย่อมต้องมีความสำคัญ เฉกเช่นกับเหตุผลที่เราตกหลุมรัก ก็มักจะไม่มีวันหลงลืมเลือนเช่นกัน
แถม Love Theme ให้อีกบทเพลง เป็นการเรียบเรียงโดยใช้เครื่องสาย ไวโอลิน เชลโล่ ฯ เปลี่ยนชื่อเพลงว่า For Elena ซึ่งก็คือการแสดงความรู้สึกรัก โหยหาต่อหญิงสาวผู้เป็นรักแรกพบของชายหนุ่ม
ภาพยนตร์คือโลกแห่งความทรงจำ ที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในหัวสมองแต่บนแผ่นฟีล์ม ที่สามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นได้รับรู้มองเห็นเข้าใจได้, ความรักต่อภาพยนตร์ ก็คือความรักต่อความทรงจำ เปรียบภาพยนตร์/ความทรงจำ=หญิงสาว มันก็คือๆกัน เมื่อเกิดความรัก ก็มักต้องการที่จะได้บางสิ่งอย่างตอบแทบคืนมา แบบองค์รักษ์ยืนเฝ้ารอองค์หญิง หรือแบบ Totò ยืนรอหญิงสาวกว่าครึ่งปี สุดท้ายแล้วก็ต้องผิดหวังเพราะไม่ได้อะไรมาสักนิด จนถึงจุดๆหนึ่งก็คงคิดกันได้ ‘มันไม่มีค่าอะไร’
ถึงในหนังหญิงสาวจะมาหา Totò แต่นั่นเพราะเขาไม่ได้ตัดสินใจที่จะรอต่อไปแล้ว คิดว่าตัวเองต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่างแทนที่จะรอ (ไม่แน่ว่านี่อาจคือวินาทีที่ Totò เกิดความคิดฝันว่าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์) การพรอดรักกอดจูบ หมายความว่าพวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ทำไมชายหญิงถึงจูบกับ? คำตอบคือเพื่อแสดง’ความรัก’ การที่บาทหลวงมองฉากจูบพวกนี้เป็นภาพโป๊เปลือยรับไม่ได้ เหมือนเป็นการประชดประชันที่ตัวเขาเองเป็นคนรับใช้ของพระเจ้าที่สอนให้มอบความรักแก่ผู้อื่น แต่กลับไม่ยอมเห็นการแสดงออกของความรัก, และการเอาฟุตเทจจูบมารวมๆกันตอนจบของหนัง เป็นวิธีการแสดงความรักของ Alfredo คำอธิบายการกระทำของเขาทั้งหมดต่อ Totò เพราะว่ารักถึงผลักไสให้ออกห่าง ตอนนี้ถึงฉันไม่อยู่แล้วแต่ความรู้สึก/ความทรงจำยังคงอยู่ (บนแผ่นฟีล์ม) ถึงเวลาของเธอที่จะมอบความรู้สึกนี้ต่อให้กับผู้อื่น
ทำไมหนังต้องทำให้รักครั้งแรกของ Totò ต้องสิ้นสลายลงทั้งหมด?, ความทรงจำ/อดีต เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเอาชนะก้าวผ่าน หรือพัฒนาตัวเองต่อไป ไม่ควรที่เราจะย่ำอยู่กับที่รอวันตาย แต่การจะเริ่มต้นอะไรใหม่ต้องอาศัยความกล้า เด็ดเดี่ยว และความสามารถ นั่นเป็นสิ่งที่คนรุ่นเก่าช้าไปเสียแล้ว จึงได้แต่คาดหวังให้คนรุ่นใหม่สานต่อสิ่งที่ตนไม่มีโอกาส โดยได้นำบทเรียนบนความทรงจำเหล่านี้ ส่งต่อโดยหวังว่า … สักวันชีวิตของพวกเขาคงจะดีขึ้นกว่าที่ตนเป็นอยู่
หนังเรื่องหนึ่งที่ผมอดเปรียบเทียบไม่ได้ ที่เพิ่งคว้า Oscar: Best Picture ปีล่าสุด Moonlight (2016) ผมไม่คิดว่า Barry Jenkins จะรู้ตัวว่าหนังของเขาถอดแบบจากแม่พิมพ์เดียวกับ Cinema Paradiso แบ่งออกเป็น 3 องก์ 3 ช่วงอายุ มีใจความ Nostalgia หวนระลึกถึงบางสิ่งอย่างในอดีต และเพื่อที่จะเอาชนะตัวเอง ก้าวผ่าน สู่การเป็นคนใหม่ จำเป็นต้องจากบ้านไปไกล
หนังเรื่องนี้มีทั้งหมด 3 ฉบับนะครับ แต่คิดว่าที่หาดูโหลดได้จะมีแค่ 2 ฉบับหลัง
– ต้นฉบับฉายที่อิตาลี ความยาว 155 นาที เห็นว่าหนังไม่ทำเงินเท่าไหร่
– ฉบับ International ความยาว 121 นาที คนที่สั่งตัดคือ Harvey Weinstein ของ Miramax เพราะคิดว่าหนังมีความยาวเยิ่นเย้อไปนิด ซึ่งก็ได้ตัดฉากสำคัญช่วงท้ายที่เติมเต็มหนังไปเยอะทีเดียว (นี่เป็นฉบับที่ฉายเทศกาลหนังแล้วคว้ารางวัลมากมาย)
– และฉบับ Director’s Cut ในอเมริกาจะเรียกว่า The New Version ออกฉายปี 2002 ความยาว 174 นาที
ด้วยทุนสร้าง $5 ล้านเหรียญ หนังทำเงินเฉพาะในอเมริกาก็กำไรแล้วถึง $12.4 ล้านเหรียญ [ไม่มีรายงานรายรับทั่วโลก] กวาดรางวัลดังนี้
– เทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Grand Prix du Jury (ที่ 2)
– Academy Awards (Oscar): Best Foreign Language Film
– Golden Globe Awards: Best Foreign Language Film
สำหรับ BAFTA Awards เข้าชิง 11 สาขา ได้มา 5 รางวัล
– Best Film (Not in the English Language) **ได้รางวัล
– Best Direction
– Best Actor (Philippe Noiret) **ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Salvatore Cascio) **ได้รางวัล
– Best Original Screenplay **ได้รางวัล
– Best Cinematography
– Best Editing
– Best Production Design
– Best Costume Design
– Best Make Up Artist
– Best Film Music **ได้รางวัล
สิ่งที่ผมไม่ชอบสุดในหนังเรื่องนี้ คือความเห็นแก่ตัวของ Alfredo ที่ถึงใครๆเข้าใจได้ว่าการกระทำทุกสิ่งอย่างนี้ เพื่ออนาคตอันสดใสของ Totò แต่การแบกรับเอาความทุกข์ เจ็บปวดไว้เพียงคนเดียว ผมรู้สึกไม่ค่อยเป็นธรรมเสียเท่าไหร่, และกว่าที่เด็กชายหนุ่มจะสามารถเข้าใจเหตุผลนี้ เชื่อว่าก็เมื่อตอนเห็นฟีล์มม้วนสุดท้ายที่ทิ้งไว้ให้ ระยะเวลา 30 ปีแห่งความคับข้องใจ ครึ่งชีวิตมนุษย์เลยนะ นี่ก็ไม่เป็นธรรมต่อ Totò เช่นกัน
ภาพยนตร์ก็แบบนี้นะครับ ทุกเรื่องเกิดจากความเห็นแก่ตัวของผู้กำกับ/ผู้สร้าง ที่ก็ไม่ได้แคร์ผู้ชมสักนิด มันอยู่ที่เราจะเข้าใจหนังในแบบของเขา หรือมองเห็นรับรู้ในแบบของเรา ปัจจุบันอาจไม่เข้าใจ อนาคตผ่านไป 30 ปีไม่แน่
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ทั้งกับคนที่ไม่เคยรับชมภาพยนตร์ ไม่เคยชื่นชอบ หรือไม่สนใส่ใจ หนังเรื่องจะทำให้คุณรู้สึก ครุ่นคิดว่า เออเห้ย! วงการนี้มันก็มีบางสิ่งอย่างน่าสนใจน่าค้นหา
จัดเรต PG กับสิ่งติดเรตทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโรงหนัง
Leave a Reply