Circus 1936

Circus (1936) USSR : Grigori Aleksandrov, Isidor Simkov ♥♥♥

หนังเพลงชวนเชื่อของสหภาพโซเวียต ได้รางวัล Stalin Prize (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี) ในคณะละครสัตว์แห่งหนึ่ง การแสดงโชว์ที่ชื่อว่า Flight to the Moon (คงจะล้อกับหนังเรื่อง A Trip to the Moon) เห็นชาติอื่นทำได้ ไฉนรัสเซียจะทำไม่ได้ และประเทศของเรามีดียิ่งกว่า

ตอนแรกผมคิดว่าหนังเรื่องนี้จะคล้ายๆกับ The Circus (1928) เพราะเห็นมีตัวละครชื่อ Charlie Chaplin เป็น parody อยู่ในหนังด้วย แต่พอรับชมก็ไม่ได้มีความใกล้เคียงเสียเท่าไหร่ (แค่เอามาล้อเลียนเล่นๆเท่านั้น) หนังออกไปในแนวอเมริกาทำได้ ทำไมรัสเซียจะทำไม่ได้ อะไรที่ชาติศัตรูทำไม่ได้ไม่ยอมรับ ประเทศของเราทำได้ยอมรับทุกอย่าง ลักษณะนี้มองยังไงก็คือแนวชวนเชื่อ Propaganda มันอาจจะรู้สึกน่ารำคาญเสียหน่อย เพราะในความจริงมันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ก็มีหลายๆอย่างของหนังที่น่าตื่นตาตื่นใจ และแนวคิดที่ตบหน้าฉาดใหญ่ชาวอเมริกาได้อย่างหาญกล้าทีเดียว

Grigori Aleksandrov ผู้กำกับชาวรัสเซีย ที่ได้รับการยกย่องประดับเหรียญ People’s Artist of the USSR เมื่อปี 1947 และ Hero of Socialist Labor เมื่อปี 1973 เคยเป็นผู้ช่วยของ Sergei Eisenstein ที่ร่วมกับกำกับ เขียนบท และแสดงนำ ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ จนในทศวรรษ 30s เริ่มสนใจฉายเดี่ยวนั่งแท่นผู้กำกับ มีผลงานแรกเป็นหนังเพลงเรื่อง Jolly Fellows (1934) นำแสดงโดยภรรยาสุดที่รัก Lyubov Orlova ที่ได้กลายเป็นดาราชื่อดังค้างฟ้าคนแรกของวงการภาพยนตร์รัสเซีย

สำหรับ Circus เป็นผลงานต่อมา ได้แรงบันดาลใจจากบทละครตลกเรื่อง Under the Circus Dome (Под куполом цирка) สร้างโดย Ilya Ilf, Yevgeni Petrov และ Valentin Kataev ซึ่งตอนแรกทั้งสามได้ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ไปถ่ายทำยังประเทศอเมริกา แต่ไปๆมาๆพวกเขาไม่ชอบการตีความของผู้กำกับ จึงตัดสินใจทิ้งงานสั่งห้ามใช้ชื่อพวกเขาในเครดิต หนังเลยกลับมาถ่ายทำต่อที่ Moscow และมีการเปลี่ยนแปลงพล็อตพอสมควร

เรื่องราวเริ่มต้นที่ประเทศอเมริกา นักเต้น Vaudeville ชื่อดัง Marion Dixon ถูกฝูงชนโห่ขับไล่ เพราะคลอดลูกผิวสี (แสดงว่าเธอไปมีอะไรกับคนต่างชาติพันธุ์) ได้พบกับผู้จัดการชาวเยอรมัน Franz von Kneishitz ที่ได้ช่วยเหลือเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี แต่กลับต้องการให้เธอรู้สำนึกบุญคุณ แต่งงานอยู่กินกับเขา เพราะคิดว่าคงไม่มีใครที่ไหนบนโลกจะยอมรับความสำส่อนของเธอได้

ครั้งหนึ่งเดินทางมาที่ Moscow เพื่อเปิดการแสดง Flight to the Moon แต่ก็กำลังถูกคณะละครสัตว์ท้องถิ่นศึกษาเลียนแบบ และกำลังสร้างให้ยิ่งใหญ่กว่า หญิงสาวได้พบรักกับหนุ่มรัสเซีย Ivan Petrovich Martinov จึงพยายามหลบหนีจาก Kneishitz และได้พบความจริงว่า ประเทศแห่งนี้เปิดกว้าง ให้อิสระเสรีกับการเลือกคู่แต่งงาน ไม่มีการเหยียดหยาม (racist) แม้ลูกจะเป็นคนผิวสีแต่ทุกคนยอมรับได้

นำแสดงโดย Lyubov Orlova รับบท Marion Dixon (ชื่อนี้เป็นการตั้งให้เกียรติกับ Marlene Dietrich ที่ตอนนั้นยังฝักใฝ่เยอรมันอยู่ แต่ตัวจริงของเธอไม่ได้มีลูกผิวสีนะครับ เห็นว่าเป็น Bi-Sexual เสียด้วย) นักแสดงชาวเยอรมันที่มีฝีมือและชื่อเสียง แต่จิตใจทนทุกข์ทรมานเพราะถูกสังคมต่อต้านไม่ยอมรับ กระนั้นก็ยังเพ้อฝันในรัก และต้องการที่จะมีความสุข แต่จะมีหรือเปล่าชายใดที่ยอมรับเธอได้

Lyubov Orlova คือดาราค้างฟ้า Superstar คนแรกของรัสเซีย ที่ถึงขนาดเคยมีรูปบนแสตมป์อากร (ต้องเป็นบุคคลสำคัญมากๆทีเดียว ถึงจะมีรูปบนแสตมป์จดหมายได้) ได้รับการค้นพบเมื่อปี 1933 โดยผู้กำกับหน้าใหม่ Grigory Alexandrov ที่คัดเลือกเธอมาแสดงใน Jolly Fellows (1934) ต่อมาได้แต่งงานกัน, ผลงานที่ทั้งสองร่วมงานกัน อาทิ Circus (1936), Volga-Volga (1938), Tanya (1940), และ Springtime (1947) ล้วนประสบความสำเร็จได้รับความนิยมอย่างสูงในรัสเซีย ทำให้เธอได้รับรางวัล Stalin Prize ในปี 1941 และปี 1950 เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เหรียญรางวัล People’s Artist of the USSR ในสาขาการแสดงภาพยนตร์

สำหรับหนังเรื่องนี้ ตัวละครของเธอมีความน่าเห็นอกเห็นใจพอสมควร แม้จะพูดภาษารัสเซียไม่ได้ (Orlova พูดรัสเซียได้นะครับ แค่ในบทพูดไม่ได้) ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ได้รับการยอมรับแต่ประการใด เพราะหนังต้องการนำเสนอว่า ประเทศนี้เปิดกว้างทุกสิ่งอย่าง ขอเพียงแค่ได้ทำอะไรเพื่อพวกเรา แค่นี้ก็ถือได้ว่าเป็นพวกเดียวกันแล้ว

Sergei Stolyarov รับบท Ivan Petrovich Martinov หนุ่มหล่อชาวรัสเซีย ที่เพิ่งกลับจากสงคราม เปรียบเสมือนตัวแทนวีรบุรุษของคนทั้งชาติ ที่ผู้ชมต่างให้ความสนอกสนใจ ตกหลุมรัก(น่าจะแรกพบ) Marion Dixon ไม่สนว่าเธอจะเป็นใครมาจากไหน เคยมีประวัติอะไรมา ให้อภัยได้เสมอ

นอกจากความหล่อเหลาแล้ว การแสดงของ Stolyarov ไม่ได้ขโมยโชว์เสียเท่าไหร่ นอกจากความกล้าบ้าบิ่นในการแสดง ที่ครั้งหนึ่งเกิดอุบัติเหตุความผิดพลาด โชคยังดีที่ไม่เป็นอะไรมาก

ตัวละครนี้ถือเป็นตัวแทนของสหภาพโซเวียต ที่อ้างว่าไม่ได้ปิดกั้นเรื่องแตกต่างทางเชื้อชาติพันธุ์ หรืออดีตพื้นหลังที่อาจไม่ได้รับการยอมรับ แต่ถ้าเริ่มต้นใหม่เชื่อมั่นในประเทศของเราก็จะกลายเป็นคนของเรา นี่กระมังที่ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวละครนี้ จำต้องสมบูรณ์แบบ Perfect เสียทุกสิ่งอย่าง (แต่มากเกินไป บางทีก็น่าหงุดหงิดเหมือนกัน)

Pavel Massalsky รับบท Franz von Kneishitz ผู้จัดการที่พบเจอกับ Marion Dixon โดยบังเอิญ ตกหลุมรักต้องการครอบครองเธอ แต่ก็ได้แค่กายไม่เคยได้ใจมาครอบครอง (ตัวละครนี้เหมือนจะได้แรงบันดาลใจจาก Josef von Sternberg ผู้กำกับที่เป็นคนค้นพบ Marlene Dietrich ต้องการครอบครองเธอแต่สุดท้ายก็กินแห้ว)

นี่ถือเป็นตัวละครแย่งซีน/ผู้ร้าย ที่มีอำนาจอยู่ในมือ สามารถครอบงำหญิงสาวดั่งลูกไก่ในกำมือที่พยายามดิ้นรนอย่างที่สุด เป็นจอมบงการขี้อิจฉา ที่มักทำอะไรแอบๆลับๆ เต็มไปด้วยความชั่วร้าย

คนส่วนใหญ่คงมองออก ตัวละครนี้คือตัวแทนของชาติอเมริกาที่มีความต้องการครอบงำคนทั้งโลก ซึ่งในใจของพวกเขากลับแฝงร้ายเต็มไปด้วยผลประโยชน์ และสนแต่การทวงถามหนี้บุญคุณ ‘ถ้าเธอไม่ได้ฉัน ป่านนี้คงกลายเป็นหมาข้างถนนไปแล้ว’ มีฉากหนึ่งที่ผมชอบมาก หลังจาก Kneishitz บังคับให้ Dixon กลับบ้าน เสร็จแล้วคุกเข่าอ้อนวอนขอให้เธอแต่งงานโดยอ้างบุญคุณ โยนเสื้อผ้ามากมายที่ซื้อให้ นี่คือสิ่งที่ฉันทำให้เธอทำไมกลับไม่เคยมองเห็นคุณค่าบ้างเลยละ

เสื้อผ้าเป็นสิ่งสัญลักษณ์แสดงถึงรูปลักษณ์ภายนอก หน้ากากของมนุษย์ นี่เสมือนว่า Kneishitz พยายามซื้อใจเธอ มากกว่าทำความเข้าใจ เรียนรู้สิ่งที่อยู่ข้างใน, หญิงสาวมอง Kneishitz เป็นแค่ผู้มีพระคุณ ที่ยังสนองอยู่เพราะเห็นแก่ เข้าใจ และความลับบางอย่างที่ล่วงรู้ต้องการปกปิด กระนั้นเขาไม่ใช่ผู้ชายที่จะกลายเป็นคนรัก ต่อให้ทำทุกสิ่งอย่างให้ก็ไม่มีวันมอบความรู้สึกที่ดีตอบแทนได้

ถ่ายภาพโดย Vladimir Nilsky กับ Boris Petrov, หนังมีมุมกล้องยากๆเยอะทีเดียว อาทิ ถ่ายภาพจากมุมสูงขณะห้อยโหนกายกรรมอยู่ด้านบน, Tracking ตามตัวละครขณะบิน เคลื่อนไหวกลางอากาศ, กล้องเคลื่อนที่ขึ้นลงซ้ายขวาขณะการแสดง ฯ ระยะของภาพก็มีความหลากหลาย อาทิ Long Shot ถ่ายให้เห็นเวทีการแสดงทั้งหมด, Close-Up ใบหน้า/สีหน้า/ท่าทาง ของตัวละคร

ช่วงการแสดงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย จะมีอยู่หลายช็อตเห็นแล้วคล้ายๆกับหนังของ Busby Berkeley ที่ให้นักแสดงเต้นทำการเคลื่อนไหวพร้อมเพียงกัน เกิดเป็นภาพสลับลาย (kaleidoscope) มองด้านข้างไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ แต่ด้านบนนี่ลายตาเลยละ

จริงๆหนังถ่ายด้วยฟีล์มขาว-ดำนะ แต่เมื่อปี 2011 ช่องทีวีของรัสเซีย First Channel ได้มีการ Colorization ใส่สีและทำการ remaster ให้กับหนัง, ใน Youtube มีทั้งฉบับภาพขาว-ดำ และฉบับสีนะครับ ถ้าคุณอ่านภาษาอังกฤษออก(มีซับ) ลองหารับชมดูได้เลย

การตัดต่อหนังไม่ได้ให้เครดิตไว้ คิดว่าน่าจะเป็นผู้กำกับตัดเอง, นี่เป็นหนังที่มีการตัดต่อเลิศมากๆเรื่องหนึ่ง (หนังจากรัสเซีย มักขึ้นชื่อเรื่องการตัดต่ออยู่แล้ว) เพื่อไม่ให้ผู้ชมเบื่อเกินไปที่จะเห็นการแสดงโชว์ตลอดเวลา หนังจึงมีการตัดสลับนำเสนอปฏิกิริยาของผู้ชม, เปลี่ยนมุมมองกล้อง หรือถ่ายให้เห็นนักแสดงคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์, บางทีก็แทรกอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานใส่เข้ามา ฯ นี่ทำให้การตัดต่อมีความเท่ห์ แปลกประหลาด (คล้าย montage) ไม่ใช่สูตรสำเร็จเหมือนหนังเพลง Hollywood ในยุคสมัยนั้นที่มักจะ long-take ลากยาวไปเลยแบบหนังของ Astaire-Roger

เทคนิคการเปลี่ยนภาพก็มีแบบประหลาดอยู่เช่นกัน เช่น ใช้เกร็ดน้ำแข็งที่ขึ้นบนกระจกเพื่อบดบังสิ่งที่เกิดขึ้นภายในห้อง, ภาพการเผาไหม้ฟีล์มที่ค่อยๆเปลี่ยนฉาก ฯ มันน่าสนเท่ห์ไม่น้อยนะครับว่าทำได้ยังไง

ถึงกระนั้นก็ดี มีการตัดต่อแบบไม่ค่อยเนียนหลายครั้ง มันให้ความรู้สึกเหมือนภาพกระโดด (แต่จริงๆคือถ่ายเทคใหม่) ผมไม่มองว่านี่คือความผิดพลาดนะครับ ถือเป็นข้อจำกัดของยุคสมัยนั้นที่ทำเสมือนจริงที่สุดได้เพียงเท่านี้

เพลงประกอบโดย Isaak Dunayevsky เรียบเรียง/แต่งทำนอง, Vasiliy Lebedev-Kumach แต่งคำร้อง ทั้งสองถือว่าเป็นขาประจำ เพื่อนสนิทของผู้กำกับ และทำงานร่วมกันหลายเรื่องทีเดียว, Dunayevsky เป็นคีตกวีที่ขึ้นชื่อเรื่อง Opera และละครเพลง มีผลงานประพันธ์เพลงคลาสสิกมากมาย จนได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยนั้น

ส่วนตัวฟังไม่ออกหรอกว่านักแสดงร้องอะไรกัน (บางครั้งเป็นภาษาเยอรมัน บางครั้งก็รัสเซีย) แต่ทำนองดนตรีนั้นเป็นสากล ถ้าสามารถจับอารมณ์สัมผัสความรู้สึกได้ ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาของเพลงได้เช่นกัน

บทเพลงจากหนังที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Song of the Motherland (Песня о родине, Pesnya o rodinye) เป็นแนวรักชาติ Patriotic ที่ได้รับการยกย่องเป็นเพลงประจำชาติโซเวียตอย่างไม่เป็นทางการ (unofficial anthem) เสียงร้องมีหลายภาษา เป็น Chorus ประสานเสียง ดังขึ้นช่วงท้ายของหนัง เมื่อตอนสาธารณชนรู้ว่าลูกของ Marion Dixon เป็นเด็กผิวสี บทเพลงนี้บอกว่า ไม่ว่าจะเชื้อชาติพันธุ์ไหน สีผิวอะไร ดินแดนแห่งนี้มีอิสระเสรีไม่กีดกันรังเกียจเหยียดหยาม

กระนั้น ตอนต้นปี 1953 เมื่อสหภาพโซเวียตออกแคมเปญต่อต้านชาวยิว คำร้องภาษา Yiddish ได้ถูกตัดออกจากหนัง (แบบนี้จะเรียกว่าเสรีตรงไหน!), แต่พอ Stalin เสียชีวิต แคมเปญนี้ก็ตกไป คำร้องก็ถูกนำกลับมาใส่ใหม่

หลังจากสิ้นสมัยของ Joseph Stalin มีช่วงหนึ่งของรัสเซียที่เป็น De-Stalinization เพื่อการขจัดอิทธิพลของ Stalin นำโดย Nikita Khrushchev ที่กลายเป็นผู้นำคนใหม่ ทำให้บทเพลง Song of the Motherland มีการตัดท่อนที่พูดถึง Stalin ทิ้งไป, แต่พอ Khrushchev ถูกบีบบังคับให้ลงจากอำนาจปี 1964 ท่อนนี้ก็กลับมาใหม่อีกครั้ง

นี่แหละครับภาพยนตร์ชวนเชื่อแนว Propaganda มันมีคุณค่ายิ่งในยุคสมัยหนึ่งของประเทศแห่งนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้นำเปลี่ยนแปลง แนวคิดอุดมการณ์ของผู้คนเปลี่ยนไป มุมมองทัศนะต่อภาพยนตร์ก็ย่อมไม่เหมือนเดิม อีกอย่างถ้าเราไม่ใช่คนในชาติของประเทศนั้นๆ ก็คงไม่ได้ความรู้สึก ‘รักชาติ’ เพิ่มขึ้นแน่ๆ

สำหรับประเด็น Flight to the Moon มีนัยยะพูดถึงโครงการสำรวจอวกาศของรัสเซีย ที่เพิ่งเริ่มต้นก่อตั้งเมื่อปี 1931 ต้องถือว่าช้ากว่า NACA (National Advisory Committee for Aeronautics) ของอเมริกาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1915 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น NASA (National Aeronautics and Space Administration) เมื่อปี 1958

แต่อย่างที่ใครๆคงรู้กัน สหภาพโซเวียตเป็นชาติแรกที่ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นไปสู่ชั้นอวกาศ สปุตนิก 1 (Sputnik 1) ขึ้นสู่วงโคจรโลกวันที่ 4 ตุลาคม 1957 (พ.ศ. ๒๕๐๐) หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายกว่า 20 ปีเลยทีเดียว ความฝันของชาวรัสเซียถึงประสบความสำเร็จได้

เพราะความพ่ายแพ้ในการสำรวจอวกาศของอเมริกาครั้งนี้ คือสาเหตุที่ทำให้ ปธน. Dwight D. Eisenhower ต้องรีบจัดตั้ง NASA เพื่อแข่งขันกับรัสเซียในช่วงสงครามเย็น โดยสามารถเอาชนะได้ในการส่งยานอวกาศและมนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ (ตอนมนุษย์อวกาศคนแรกที่ได้ออกไปนอกโลก นั่นคือ Yuri Gagarin ของสหภาพโซเวียต)

นอกจาก Stalin Prize ที่ได้รับมอบย้อนหลังเมื่อปี 1941 (ร่วมกับอีกผลงานของผู้กำกับ Aleksandrov คือ Volga-Volga) หนังยังได้ Grand Prix จากงาน International Exhibition ที่ Paris เมื่อปี 1937 (World EXPO Paris 1937)

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แอบประทับใจในการตบหน้าประเด็น racist ของอเมริกา แต่ก็เท่านั้นแหละนะครับ เพราะใจความของหนังคือประเด็นชวนเชื่อ ต่างชาติอย่างเราๆจะให้ไปหลงรักหนังประเภทนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

แนะนำกับคอหนังเพลง ชื่นชอบหนังรัสเซีย การแสดงของคณะละครสัตว์, อยากเห็นการล้อเลียนของฝั่งรัสเซีย อาทิ Charlie Chaplin, หนังเรื่อง A Trip to the Moon ลองหามารับชมดู

จัดเรต 13+ กับประเด็นชวนเชื่อ

TAGLINE | “Circus ของ Grigori Aleksandrov หนังเพลงชวนเชื่อของสหภาพโซเวียต มีใจความตบหน้าชาติอเมริกา และความฝันที่กลายเป็นจริงในการสำรวจอวกาศ”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: