Cleopatra

Cleopatra (1963) hollywood : Joseph L. Mankiewicz ♥♥♥

หนึ่งในหนัง Epic สุดยิ่งใหญ่ อลังการงานสร้างที่โคตรสมจริง คงไม่มีใครไม่รู้จัก Queen of Egypt ราชินีแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ คลีโอพัตรา, กับฉบับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุด (แต่ก็ยังขาดทุนย่อยยับเมื่อเทียบกับทุนสร้างมหาศาลสูงสุดแห่งทศวรรษ) นำแสดงโดย Elizabeth Taylor มี Rex Harrison รับบท Julius Caesar และ Richard Burton รับบท Mark Antony

ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ มีการสร้างหนังเกี่ยวกับ Cleopatra มานับครั้งไม่ถ้วน ผมยกที่ดังๆมาให้รู้จัก 7 ฉบับ
1. Cleopatra (1912) กำกับโดย Charles L. Gaskill นำแสดง Helen Gardner (Cleopatra), Charles Sindelar (Mark Antony) ดัดแปลงจากบทละครของ Victorien Sardou นี่ถือเป็น feature-length ขนาดยาว 88 นาที เรื่องแรกของ Cleopatra นะครับ (แต่นี่ไม่ใช่ Cleopatra เรื่องแรกนะครับ ยังมีหนังสั้นอีก 2 เรื่องที่สร้างกอนหน้านี้) มีคลิปหนังอยู่ใน Youtube ใครสนใจกดดูเลย
LINK: [ดูหนัง]

2. Cleopatra (1917) กำกับโดย J. Gordon Edwards นำแสดง Theda Bara (Cleopatra), Fritz Leiber (Julius Caesar), Thurston Hall (Mark Antony) สร้างจากบทละครเรื่อง Cléopatre ของ Émile Moreau, Cléopatre ของ Sardou และ Antony and Cleopatra ของ William Shakespeare, นี่เป็นหนังทุนสร้างสูงถึง $500,000 เหรียญ (เท่ากับ $8.3 ล้านเหรียญในปี 2009) ใช้ตัวประกอบกว่า 2,000 คน และทำเงินประสบความสำเร็จล้นหลาม น่าเสียดายมีฟุตเทจหลงเหลืออยู่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น (ฉบับเต็มสูญหายไปแล้ว)

3. Cleopatra (1934) กำกับโดย Cecil B. DeMille นำแสดง Claudette Colbert (Cleopatra), Warren William (Julius Caesar), Henry Wilcoxon (Mark Antony) หนังฉบับนี้ได้เข้าชิง Oscar 5 สาขา (รวมถึง Best Picture) ได้มา 1 รางวัลจาก Best Cinematography

4. Caesar and Cleopatra (1946) กำกับโดย Gabriel Pascal นำแสดง Vivien Leigh (Cleopatra), Claude Rains (Julius Caesar) ดัดแปลงจากบทละครของ George Bernard Shaw ได้เข้าชิง Oscar 1 สาขาแต่ไม่ได้รางวัล

5. Cleopatra (1963) กำกับโดย Joseph L. Mankiewicz  นำแสดง Elizabeth Taylor (Cleopatra), Rex Harrison (Julius Caesar), Richard Burton (Mark Antony) เข้าชิง Oscar 9 สาขา ได้มา 4 รางวัล เป็นฉบับที่ทุนสร้างสูงที่สุด ทำเงินเยอะที่สุด (และขาดทุนหนักที่สุด)

6. Cleopatra (1970) หรือ Cleopatra: Queen of Sex ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรต X ของญี่ปุ่น กำกับโดย Osamu Tezuka และ Eiichi Yamamoto

7. Antony & Cleopatra (1972) กำกับ/นำแสดงโดย Charlton Heston (รับบท Mark Anthony) นำแสดงโดย Hildegard Neil (Cleopatra) ดัดแปลงจากบทละครของ William Shakespeare

จริงๆยังมีอีกหลายเรื่องนะครับ แต่ 7 ฉบับที่ยกมานี้น่าจะโด่งดัง มีชื่อเสียงที่สุดแล้ว ผมตั้งใจจะเขียน Cleopatra (1934) ที่กำกับโดย Cecil B. DeMille ด้วยนะครับ แต่ขอไว้โอกาสหน้าแล้วกัน รอบนี้ขอแค่ Cleopatra (1963) เรื่องเดียวก่อนนะครับ

20th Century Fox หลังจากเห็นความสำเร็จของ Ben Hur (1959) จึงได้รื้อฟื้นอภิมหาอลังการโปรเจคนี้ มอบหมายให้ Walter Wanger มาเป็นโปรดิวเซอร์, ดัดแปลงจากหนังสือ The Life and Times of Cleopatra เขียนโดย C.M. Franzero Histories เป็นบทภาพยนตร์โดย Ranald MacDougall กับ Sidney Buchman และหน้าที่กำกับมอบหมายให้ Rouben Mamoulian ที่ขณะนั้นอายุย่างเข้า 87 ปี, เริ่มต้นถ่ายทำที่ London ปี 1960 แต่ไม่นานเมื่อกองถ่ายต้องหยุดการสร้างเป็นเวลากว่า 6 เดือน ทำให้ Mamoulian ถอนตัวออกไป (คงจะไม่มีแรงทำแล้ว เขาเสียชีวิตปี 1963) ทำให้ทุกอย่างของหนังต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ และเป็น Joseph L. Mankiewicz (All About Eve-1950) ที่ได้โอกาสเข้ามาสานงานต่อ

เรื่องราวของ Cleopatra ราชินีแห่งอิยิปต์ กับชายคนรักชาวโรมัน 2 คน ประกอบด้วย Julius Caesar และ Mark Antony ผมไม่ขอสาธยายสรรพคุณของทั้ง 3 แล้วกันนะครับ เชื่อว่าส่วนใหญ่คงจะรู้จักเรื่องราวของพวกเขาดีกันอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ และอยากรู้ หาหนังมาดูนะครับ, นี่เป็นหนังที่อ้างอิงเรื่องราว เหตุการณ์จริงจากประวัติศาสตร์ มีดัดแปลงหลายๆให้เหมาะสมกับการสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ใจความสำคัญทางประวัติศาสตร์ถือว่ายังอยู่ครบถ้วน

นำแสดงโดย Elizabeth Taylor รับบทคลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลปาตอร์, ในประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ Cleopatra ผมคิดว่า Taylor นี่แหละ เป็นผู้หญิงที่สวย มี Charisma และเกิดมาเพื่อรับบทนี้โดยเฉพาะ (แต่น่าเสียดายที่เธอ แสดงบทนี้ได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่) ไม่แน่ใจเพราะหนังเรื่องนี้หรือเปล่าที่ทำให้ Taylor ได้รับฉายาว่า ‘ผู้หญิงที่สวย Sexy ที่สุดในโลก’ (ณ ขณะนั้น) แต่หนังก็ไม่มีฉากโป๊เปลือยนะครับ มีแค่โชว์วับๆแวบๆ เห็นหน้าขา แก้มก้น อกตูมๆ ฯ แค่นี้ก็เหลือเฟือที่จะทำให้หนุ่มๆหลงใหลในตัวเธอเป็นอย่างมากแล้ว

ระหว่าง Caesar กับ Antony ในหนังจะเห็นว่า Cleopatra หลงรัก Antony มากกว่า แต่เคมีของ Taylor ผมรู้สึกเข้ากันกับ Harrison มากกว่า, ขณะถ่ายหนังเรื่องนี้ ได้กลายเป็นข่าวดังระดับโลก กับการกุ๊กกิ๊กกันของ Taylor กับ Burton (ที่ภายหลังก็ได้แต่งงานกัน) ซึ่งเคมีของทั้งคู่ในหนัง ออกไปในเชิง love-hate ทั้งชอบและเกลียดขี้หน้า หลายคนคงเห็นว่าน่ารักดี แต่ส่วนตัวรู้สึกขบขัน ไม่เข้ากับบริบทรักปานจะกลืนกินของ Cleopatra กับ Antony เสียเท่าไหร่

Taylor กับ Burton เคยพบเจอกันมาก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่เคยได้ร่วมงานกันสักครั้ง นี่ถือเป็นหนังเรื่องแรก (จากทั้งหมด 11 เรื่องที่ได้เล่นด้วยกัน) ในวันที่ Burton มากองถ่ายวันแรก เขามีสภาพ Hangover ทำอะไรแทบไม่ได้ Taylor ได้ช่วยให้ให้เขาสร่างเมา ไปๆมาๆ ก็เกิดปิ้งกันเสียงั้น … Taylor ก่อนหน้านี้เคยแต่งงานมาแล้ว 4 ครั้ง นี่เป็นครั้งที่ 5 ทั้งสองแต่งงานในปี 1964 สิบปีผ่านไปก็เลิกกัน (เป็นการครองคู่ที่ยาวนานที่สุดของ Taylor) ผ่านไปอีกปีแต่งงานกันใหม่อีกรอบ (return) แล้วปีถัดมาก็เลิกกันอีก คราวนี้ถาวร…

เสื้อผ้าชุดที่สวมใส่ของเธอ เห็นว่ากลายเป็นสถิติโลกของตัวละครที่มีการเปลี่ยนชุดมากที่สุด รวมทั้งหมด 65 ชุด นี่ไม่รวมถึงเครื่องประดับทองแท้ เพชรแท้ 24 กระรัต คิดราคาค่าชุดอย่างเดียว ประมาณ $196,000 เหรียญ สถิตินี้ถูกทำลายโดย Madonna จำนวน 85 ชุด ในหนังเรื่อง Evita (1996)

เกร็ด: ชุดของนักแสดงในหนังทั้งหมด มีจำนวนราว 26,000 ชุด (ส่วนใหญ่เป็นชุดของทหารโรมัน)

Rex Harrison ในบท Julius Caesar, เห็นว่าเหตุผลที่รับเล่นหนังเรื่องนี้ เพราะติดสัญญาที่ต้องเล่นหนังเรื่องเดียวกับ Burton (ก็ไม่รู้สัญญาเป็นยังไงนะครับ) แต่ขณะโปรโมทหนัง กลายเป็นว่า Harrison ถูกลดความสำคัญ กลายเป็นเพียงตัวประกอบ หรือมือที่สามไปเสียงั้น (จริงๆคือเขามีบทนำเด่นมากๆ ในครึ่งแรกของหนัง) เพราะขณะนั้นกระแส Taylor & Burton มาแรงมากๆ ขนาดว่าในโปสเตอร์หนัง มีรูปของ Taylor กับ Burton เพียงสองคนเท่านั้น นี่ทำให้ Harrison หัวเสียอย่างมาก

การแสดงของ Harrison ต้องบอกว่ายอดเยี่ยมเลยละ เป็นคนที่มีพลังการแสดง และ Charisma สูงทีเดียว แต่เดี๋ยวก่อนนะ เดิมบทนี้เป็นที่หมายปองของ Marlon Brando ซึ่งเคยรับบทนี้มาก่อนในหนังเรื่อง Julius Caesar (1953) และเหมือนเขาต้องการกลับมารับบทนี้อีก (แม้จะเป็นหนังคนเรื่อง ไม่ใช่ภาคต่อก็เถอะ) แต่บังเอิญที่ Brando ไปตบปากรับคำเล่นหนังเรื่อง Mutiny on the Bounty (1962) เสียแล้ว จึงทำให้ไม่สามารถมารับบทได้, ผมยังไม่ได้ดู Julius Caesar (1953) นะครับ เลยยังบอกไม่ได้ถ้าเทียบระหว่าง Harrison กับ Brando ใครจะยอดเยี่ยม โดดเด่นกว่า ถ้ามีโอกาสรับชมแล้ว จะมาเล่าให้ฟังนะครับ

Richard Burton รับบท Mark Anthony, กว่าที่พี่แกจะปรากฏตัว ก็ผ่านครึ่งของครึ่งแรกไปแล้ว บทของเขาจะค่อยมาโดดเด่นเอาครึ่งหลังของหนัง ที่ได้กลายเป็นคนรักคนใหม่ของ Cleopatra, การแสดงของ Burton ดูลุกลี้ลุกรน พูดจาค่อนข้างเร็ว ไม่มี Charisma ของผู้นำเสียเท่าไหร่ ซึ่งพอตัวละครพบรักกับ Cleopatra ก็กลายเป็นเหมือนลูกไก่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด เป็นผู้ชายที่ขาดอุดมการณ์และเป้าหมายของชีวิต (คือตัวละครนี้มันก็เข้ากับบริบทของหนังนะครับ แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าตัวจริง Anthony ควรเป็นแบบนี้)

ถ่ายภาพโดย Leon Shamroy ที่มาสานต่อ Jack Hildyard ถอนตัวออกไปเพราะความล่าช้าของหนัง, Shamroy คือตากล้องที่คอหนังต้องจดจำชื่อไว้นะครับ เข้าชิง Oscar มากที่สุด 18 ครั้ง (เท่ากับ Charles Lang) ได้มา 4 รางวัล หนึ่งในนั้นก็คือหนังเรื่องนี้, งานภาพของหนัง ต้องบอกว่ามีหลายครั้งเลยที่ทำให้ผมอ้าปากค้าง เพราะความ Epic อลังการอันสมจริงของมัน ทุกฉากสร้างขนาดเท่าของจริง และเห็นว่าไม่ได้สร้างครั้งเดียวด้วย โปรดักชั่นที่ล่าช้าทำให้ฉากที่สร้างไว้ถูกสภาพอากาศทำลาย ทำให้ต้องสร้างฉากใหม่ซ้ำเดิมอีกรอบ, หนังบันทึกภาพด้วยกล้อง 70 mm Todd-AO (ถ้าหนังเรื่องนี้มีโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง นอกจาก Lawrence of Arabia แล้ว ผมแนะนำเรื่องนี้ต้องดูในโรงให้ได้) กลิ่นอายของความยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนกล้องที่โฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียว แค่การแพนกล้องง่ายๆ จากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่ง อาทิ ฉากท่าเรือของ Alexandria, Egypt แพนจากทะเลเข้ามาหาเมือง, ฉากสงครามทางเรือ ถ่ายบนเนินเขาสูงเห็นทัพเรือกำลังปะทะคู่ต่อสู้ แพนกล้องเคลื่อนมาเห็นเรือของ Cleopatra ที่ทอดสมอหลบซ่อนในอ่าว ฯ ความสวยงามของงานภาพในหนัง Epic มันจะค่อยๆซึมซับเข้าหาผู้ชม สัมผัสจึงเหนือกว่าหนังปัจจุบัน ที่ถึงจะมีงานภาพกว้างใหญ่ไพศาล แต่ความรู้สึก Epic มันหายไปแล้ว

ฉากส่วนใหญ่ของหนัง จะถ่ายภายใน เป็นการสนทนาของตัวละครอันยาวนาน, ผมสังเกตเห็นหนังชอบใช้มุมถ่ายเห็นด้านข้าง ระหว่างสองตัวละครที่คุยกัน ไม่ค่อยใช้การตัดสลับให้เห็นเฉพาะใบหน้าของตัวละครขณะพูดทีละคน, เหตุผลที่ถ่ายแบบนี้เพราะอย่าลืมว่ากล้องที่ใช้คือ 70mm ที่กว้างมากๆ การจัดวางองค์ประกอบของภาพให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด วางคนหรือวัตถุให้เต็มเฟรม เช่นนี้ถ่ายจากด้านข้างจะได้ภาพที่สวยงามกว่ามาก ถ้ามัวแต่ไป close-up ใบหน้าตัวละคร ช่องว่างที่เหลือมันจะดูโหลงๆ โล่งๆ ไม่รู้จะเว้นไว้ทำไม

งานออกแบบ มีความละเอียด ประณีต สมจริง และสิ้นเปลืองอย่างมาก เรือสำเภาทองที่ Cleopatra ล่องมาหา Anthony ได้ยินว่าราคาค่าตกแต่งสูงถึง $2 ล้านเหรียญ (นี่ไม่ให้หนังงบบานได้ยังไงละ), หนึ่งในฉากที่ทำให้ผมอ้าปากค้าง สุสานของอเล็กซานเดอร์มหาราช ประดับตกแต่งผนังเพดานด้วยภาพวาดสุดสวยงามวิจิตร โลงศพแก้ว แกะสลักด้วยหินอ่อน อิยิปต์ยุคนั้นอาจร่ำรวยมหาศาล แต่ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ตอนสร้างคงเหงื่อตก สวดภาวนาอย่างน้อยขอให้หนังไม่ขาดทุนเป็นแน่

กับการแสดงเปิดตัว Cleopatra ณ กรุง Rome นี่ก็ทำให้ผมอ้าปากค้างเช่นกัน กับการแสดงเต้นชุดแรกๆยังไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่พอทาสผิวสีนับร้อยคน ลากสฟิงก์พีระมิดเข้าฉากมา โอ้มายก็อต! ลองคิดตามในด้านงานสร้างสิครับ ทำออกมาได้ยังไง มันต้องหนักมากๆ เสียเวลามากๆ สิ้นเปลืองมากๆ นี่ก็เพื่อให้ผู้ชมตระหนักว่า อิยิปต์เป็นประเทศที่ร่ำรวยล้นฟ้าจริงๆ เห็นความไฮโซของ Cleopatra แล้ว ความร่ำรวยของคนสมัยนี้ดูกระจอกไปเลย ไม่มีวันเทียบกันได้ติด

ตัดต่อโดย Dorothy Spencer และ Elmo Williams ฉบับตัดต่อแรกของหนัง ได้ความยาว 5 ชั่วโมง 25 นาที แน่นอนต้องไม่ผ่านการยอมรับจากสตูดิโอ Mankiewicz จึงตัดต่อใหม่เหลือความยาว 4 ชั่วโมงและมีการถ่ายเพิ่มเติมบางส่วน แต่ฉบับนี้ก็ยังยาวเกินไป เขาจึงเสนอกับสตูดิโอว่า เช่นนั้นแบ่งออกเป็น 2 ภาคแยกฉาย Caesar and Cleopatra และ Antony and Cleopatra แต่สตูดิโอไม่เห็นด้วย เพราะต้องการเกาะกระแส Taylor & Burton ที่ถ้าแยกเป็นสองภาค จะไม่มีคนดูภาคแรก เพราะแทบไม่มีบทของ Burton อยู่เลย, ข้อเสนอนี้ทำให้ Mankiewicz ถูกไล่ออก แต่เพราะฉากที่ถ่ายเพิ่มไม่มีในบทหนัง จึงไม่มีใครสามารถตัดต่อหนังให้เสร็จได้ สตูดิโอจึงต้องกลืนน้ำลายตัวเอง กลับไปต่อรองลาก Mankiewicz กลับมาให้ตัดต่อใหม่ จนได้ฉบับความยาว 194 นาที

สำหรับฉบับที่ผมได้ดูความยาว 248 นาที น่าจะคือฉบับ 4 ชั่วโมงที่ Mankiewicz ตัดต่อเก็บไว้เป็น Director Cut, หนังแบ่งออกเป็น 2 องก์ มี Overture, Intermission, Entr’acte และ Exit Music ประกอบ, ครึ่งแรกเป็นเรื่องราวของ Caesar กับ Cleopatra ซึ่งจะสะท้อนตรงกันข้ามทุกสิ่งอย่างกับครึ่งหลังที่เป็น Antony กับ Cleopatra, Caesar เป็นคนที่มีความสามารถ สุขุมเยือกเย็น มีความทะเยอทะยาน และมี Charisma สูง ตรงกันข้ามกับ Antony ที่แม้จะเก่งมีความสามารถ แต่ขาดความเป็นผู้นำ ใจร้อนวู่วาม ไร้ความทะเยอทะยาน และไม่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง, กับฉากสงครามที่ล้อกัน Caesar สู้สงครามทางบก ใช่ความปรีชาสามารถ เล่ห์เหลี่ยมที่แยบคาย เอาชนะศัตรูได้โดยเสียกำลังไม่มาก ส่วน Antony สู้กับศัตรูทางน้ำ ตัวเองบุกฝ่าไปกลางทัพของศัตรู หมายมั่นต่อสู้เอาชัยต่อผู้นำฝ่ายตรงข้าม แต่สุดท้ายกับถูกซ้อนแผน จนถูกเรือรบถูกทำลายแทบหมดสิ้น ตัวเองหนีหัวซุกหันซุนไม่สนใจใคร, ภายหลังของทั้งคู่เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็ต่างกันสิ้นเชิง Julius Caesar ถือว่าเป็นผู้หญิงใหญ่ ถามคนสมัยนี้ก็ยังมีคนรู้จัก ผิดกับ Mark Anthony ถ้าคุณไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์มาก่อน คงไม่มีใครรู้จักเขาเป็นแน่

ผมไม่รู้ฉบับที่ดูมีฉากไหนเพิ่มลดไปจากต้นฉบับดั้งเดิมที่ออกฉายบ้างนะครับ แต่ก็คิดว่ามันคงไม่สลักสำคัญอะไรเท่าไหร่ เพราะปัญหาของหนังไม่ใช่เรื่องความยาว แต่เป็นการขาดความน่าสนใจในการนำเสนอ, ฉากส่วนใหญ่ของหนังเป็นการสนทนาของตัวละครที่แสนจะยืดยาวนาน ค่อนข้างน่าเบื่อ ฉาก Action มีไม่เยอะมาก หาสิ่งที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกคึกคักตื่นเต้นลุ้นระทึกไม่ได้เลย ความเข้มข้นของ Drama อาจมีช่วงท้ายๆของแต่ละองก์ที่พอมีอะไรให้ลุ้นบ้าง แต่จบแล้วก็จบเลย เรื่องราวไม่มีอะไรตราตรึงเท่าไหร่, เว้นแต่ถ้าคุณเป็นคนชื่นชอบงานออกแบบที่สวยงามวิจิตร หรือเสื้อผ้าหน้าผมเครื่องประดับอันเลิศหรู หนังสมจริงอลังการมาก คุณคงไม่เบื่อแน่ๆ

เพลงประกอบโดย Alex North ที่เคยมีผลงานหนังสุด Epic อย่าง Viva Zapata! (1952), Spartacus (1960) ฯ กับหนังเรื่องนี้ กลิ่นอายของเพลงถือว่าได้อิทธิพลมาจาก Ben Hur พอสมควร (ยุคโรมันเหมือนกัน), ส่วนของอิยิปต์ จะมีเสียงพิณที่ทำให้รู้สึกราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ วิจิตร ตระการตา งดงามไปด้วยแก้วแหวน ทองเพชร สะท้อนแสงระยิบระยับ, ส่วนของโรมัน จะมีความดิบเถื่อน เข้มข้น ถึงเลือดถึงเนื้อ โหดเหี้ยม แบบสมจริงจับต้องได้ ฯ ถือเป็น 2 ประเทศ 2 สไตล์เพลงที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง, 4 ชั่วโมงของหนัง เพลงประกอบเป็นประเภทฟังแล้วผ่านไป สร้างบรรยากาศให้กับหนัง แต่จะไม่มีทำนองที่จะได้ยินจนคุ้นเคยให้จดจำได้ (สงสัยจะแข่งกับ Ben Hur ว่าใครสรรค์สรรค์เพลงประกอบได้ยาวนานกว่ากันโดยไม่ซ้ำเลย) กระนั้นก็มีความไพเราะที่ฟังแล้วเพลิดเพลิน รื่นหู ไม่มีสะดุดติดขัด และมีความอลังการเข้ากับหนังในทุกระดับ

อิยิปต์เป็นประเทศที่ร่ำรวยมาจากไหน? ก็ตอนที่ Alexander มหาราช ยกทัพรุกรานไปทั่วแอฟริกา ยุโรป เอเชีย แล้วกวาดเอาทรัพย์สิน เงินทอง เครื่องประดับของมีค่า ส่งกลับสู่เมืองหลวงราชธานี ก็ไม่รู้ว่ามีปริมาณมากเท่าไหร่ แต่คงเยอะเสียจนใช้ไม่หมด ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร, หลังยุคของ Alexander ถึงอิยิปต์จะไม่ค่อยได้ไปรุนรานใครเท่าไหร่แล้ว แต่เพราะประเทศตั้งอยู่ในทำเลที่มหัศจรรย์ที่สุด ลุ่มแม่น้ำไนล์ที่อุดมสมบูรณ์ การค้าขาย เพาะปลูก ร่ำรวย มั่งคั่ง พืชผลออกดอกสมบูรณ์ เมืองแห่งนี้จึงเปรียบได้กับสรวงสวรรค์บนดินในสมัยนั้น (ปัจจุบันก็เป็นไปตามวิถีของโลกนะครับ อิยิปต์แห้งเหือดกลายเป็นทะเลทราย จบสิ้นความยิ่งใหญ่ไปหมดแล้ว)

โรมันกับอิยิปต์ ถือเป็นสองประเทศที่เหมือนพี่น้องกัน มีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน รุกรานกันบ้างบางครั้ง, ในสมัยของ Cleopatra เมื่อเธอแต่งงานกับ Julius Caesar ต้องถือว่าเป็นอะไรที่คาดไม่ถึงทีเดียว กับการรวมเป็นหนึ่งเดียวของสองผู้นำประเทศ ผู้นำที่สุดยิ่งใหญ่ ข้างกายมีหญิงสาวสวยเลิศและร่ำรวยล้นฟ้า ใครกันจะไม่อิจฉาตาร้อน, นี่เองที่ทำให้ใครๆวิพากย์ Cleopatra ว่าพระนางใช้ความสวยและเรือนร่าง เป็นเสน่ห์ดึงดูดล่อลวงให้ใครๆต่างลุ่มหลงใหล ในประวัติศาสตร์ก็บันทึกไว้ว่า Cleopatra เป็นผู้หญิงที่ไม่เลือกวิธีการ ขอแค่ให้ตนได้ตามที่วาดหวังไว้ แลกด้วยอะไรก็ไม่เกี่ยง! แต่งงานกับ Julius Caesar นั้นพอเข้าใจได้ แต่กับ Mark Anthony นี่น่าสนใจทีเดียว ทำไมเธอถึงตกหลุมรักคนที่ดูธรรมดาเช่นเขา?

มันเหมือนว่าการสูญเสีย Caesar ทำให้ Cleopatra ตระหนักถึงความรู้สึก เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตน มันไม่ใช่ชื่อเสียงเงินทอง ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ล้นฟ้า เป็นแค่ความต้องการของผู้หญิงธรรมดาๆ กับการตกหลุมรักผู้ชายคนที่ใฝ่หา แล้วได้รับรักนั้นตอบแทนคืนมา, กับคนที่เคยมีทุกสิ่งอย่าง แล้วสูญเสียทุกสิ่งอย่าง สิ่งที่ Cleopatra ค้นพบนั่นคือ Anthony แม้เขาจะเทียบไม่ได้เลยสักอย่างกับ Julius Caesar แต่เพราะนี่คือความต้องการแท้จริงที่อยู่ในใจของเธอ ไม่สนแล้วกับอนาคตตนเอง ประเทศชาติ ยอมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อความรักนี้ และไม่ขอพรากจากกับมันอีก ยอมตายถ้าต้องกลายเป็นของชายอื่น

เรื่องราวของ Cleopatra ทำให้ผมตระหนักถึง 2 ช่วงเวลาแห่งความเพ้อฝันของมนุษย์, ครึ่งแรกเปรียบเสมือนวัยรุ่นหนุ่มสาวที่มีความฝัน อุดมการณ์ ความทะเยอทะยาน พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาครอบครอง เป็นเจ้าของ โดยไม่สนว่าต้องแลกกับอะไร, ส่วนครึ่งหลังเสมือนผู้ใหญ่ที่โหยหาความรัก ต่อสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือสูญเสียไป เริ่มคำนึงถึงความสุข/ความพึงพอใจของตนเอง ค้นพบว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะยิ่งใหญ่หรือสำคัญไปกว่าตนเอง พร้อมแลกทุกสิ่งกับการไม่ต้องเสียอะไรสักอย่าง

สรุปสั้นๆ ครึ่งแรกเป็นเรื่องของ ความฝัน ความทะเยอทะยาน ส่วนครึ่งหลังเป็นเรื่องของ การค้นพบความต้องการแท้จริงในใจ

Cleopatra เดิมนั้นวางแผนใช้ทุนสร้างเพียง $2 ล้านเหรียญ แต่ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมากมาย อาทิ
– Elizabeth Taylor ล้มป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดลม ต้องหามส่งโรงพยาบาล อาการโคม่าอยู่เป็นเดือน ทำให้หนังต้องเลื่อนถ่ายทำไปกว่า 6 เดือน ซึ่งทำให้ฉากที่สร้างขึ้นทั้งหมดใน London ได้รับผลกระทบเสียหายหนักจากหิมะ ทำให้ต้องย้ายกองถ่าย ไปสร้างสร้างฉากใหม่ทั้งหมด (จำนวน 79 ฉาก) ที่ Rome, Italy แทน
– สองนักแสดงนำชุดแรก Peter Finch รับบท Julius Caesar และ Stephen Boyd รับบท Mark Antony ทั้งสองถอนตัวออกไปเพราะความล่าช้าของกองถ่าย นี่ทำให้ฟุตเทจที่ถ่ายทำไปแล้วทั้งหมดไร้ค่าโดยสิ้นเชิง
– สัญญาค่าตัวของ Elizabeth Taylor ที่ทำขึ้นก่อนเริ่มถ่ายหนังนั้น เป็นสถิติโลกที่ $1 ล้านเหรียญ แต่เพราะการถ่ายทำล่าช้าไปนานมากๆ สุดท้ายเธอได้ค่าตัวทั้งหมด $7 ล้านเหรียญ (เทียบกับค่าเงินปัจจุบัน 2015 ประมาณ $54 ล้านเหรียญ)

รวมๆแล้ว หนังใช้ทุนสร้างทั้งหมด $31.1 ล้านเหรียญ (รวมค่าโฆษณาแล้ว ว่ากันว่า $44 ล้านเหรียญ เทียบค่าเงินปี 2016 ประมาณ $340 ล้านเหรียญ) ทำลายสถิติหนังทุนสร้างสูงสุดขณะนั้นแบบไม่เห็นฝุ่น Mutiny on the Bounty (1962) ที่ใช้ $19 ล้านเหรียญ และ Ben-Hur (1956) ที่ใช้ $15.2 ล้านเหรียญ, ซึ่งกว่าที่สถิตินี้กว่าจะถูกทำลาย ก็ในทศวรรษถัดมาโดย Superman (1978) ที่ใช้ $55 ล้านเหรียญ

หนังทำเงินในอเมริกา $26 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $57.7 ล้านเหรียญ ถือว่าสูงที่สุดแห่งปี (เทียบกับปัจจุบัน เท่ากับ $445.98 ล้านเหรียญ) กระนั้นหักลบทุนสร้างและค่าการตลาดแล้ว ยังขาดทุนกว่าครึ่ง นี่ทำเอาสตูดิโอ 20th Century-Fox เกือบจะล้มละลาย โชคดีที่ปีถัดมา Fox ประสบความสำเร็จกับ The Longest Day (1962) และ The Sound of Music (1965) ทำให้รอดพ้นการล้มละลายไปได้, ถือว่า Cleopatra เป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ ที่ทำเงินสูงสุดแห่งปี แต่กลับขาดทุนย่อยยับ

หนังเข้าชิง Oscar 9 สาขา ได้มา 4 รางวัล
– Best Picture
– Best Actor in a Leading Role (Rex Harrison)
– Best Cinematography, Color **ได้รางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration, Color **ได้รางวัล
– Best Costume Design, Color ** ได้รางวัล
– Best Sound
– Best Music, Score – Substantially Original
– Best Effects, Special Visual Effects ** ได้รางวัล

ส่วนตัวแอบชอบหนังเรื่องนี้นะครับ ตื่นตาตื่นใจกับรายละเอียดที่สวยงาม ปราณีต วิจิตรของฉาก สถาปัตยกรรม เสื้อผ้าหน้าผมที่ไม่ซ้ำแบบ และการแสดงโชว์อันโคตรสิ้นเปลืองแต่สุดอลังการ ที่ทำเอาผมอ้าปากค้างหลายฉากมาก มันต้องเว่อขนาดนั้นเลยเหรอ!
– กับการแสดงของ Elizabeth Taylor นั้นน่าเห็นใจจริง เธอฝืนตัวเองอย่างเห็นได้ชัด (ทั้งๆที่ไม่สบายอยู่ แทนที่จะไปพักผ่อน)
– Richard Burton น่าผิดหวังมาก เหมือนพี่แกกำลังแสดงตัวเองอยู่ใช่ไหม
– Rex Harrison ปรบมือให้เลย สุดยอดมาก แต่ขอไปเทียบกับ Marlon Brando ก่อนนะครับ ว่าจะสู้ได้ไหม
– Roddy McDowall พี่แกนิ่งลึก กวนๆ เหมือนเด็กเมื่อวานซืน
– Martin Landau ตัวประกอบสมบูรณ์แบบ

ภาพสวย เพลงใช้ได้ แต่เนื้อเรื่องและการตัดต่อ อะไรของมันว่ะนั่น เวิ่นเว้อ ยืดยาว อืดอาด, คือตอน Ben Hur (1959) เนื้อเรื่องส่วน Drama ว่าน่าเบื่อแล้วนะ เจอ Cleopatra ฉบับนี้เข้าไป หลับสบายเลย, กระนั้น Ben Hur ยังมีไฮไลท์ไคลน์แม็กซ์ช่วงท้ายกับ Chariot Race ที่ปลุกคุณให้ตื่นได้ แต่ Cleopatra ไม่มีอะไรปลุกให้คุณตื่นเลยนะครับ (ฉากสงครามใหญ่สุดของหนังคือ การปะทะทางเรือ แต่ก็ไม่ได้น่าตื่นเต้นเท่าไหร่) ดูจบคงหลับฝันหวาน เห็นนมคลีโอพัตรา

แนะนำกับคอหนังแนว Epic, Historical อลังการงานสร้าง การออกแบบฉาก เสื้อผ้าหน้าผม ถึงหนังมันจะไม่ได้สนุกมากมาย แต่การได้เห็นงานสร้างที่ละเอียด ปราณีตขนาดนี้ ได้อ้าปากค้างหลายฉากแน่ๆ, นักประวัติศาสตร์ สนใจชีวประวัติ Cleopatra ชื่นชอบ Egypt/Roman ในยุคสมัยนั้น

แนะนำอย่างยิ่งกับแฟนหนัง Elizabeth Tayler, Richard Burton, Rex Harrison และ Martin Landau, งานภาพสวยๆของ Leon Shamroy และเพลงเพราะๆโดย Alex North ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับฉากวาบหวิว และความรุนแรง/การตาย

TAGLINE | “Cleopatra ฉบับของ Elizabeth Tayler มีความอลังการยิ่งใหญ่ที่ปราณีตวิจิตร แต่การนำเสนอ เรื่องราวเละเทะจนยากจะดูให้สนุกได้”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: