Cleopatra (1970) : Osamu Tezuka, Eiichi Yamamoto ♥♥♡
เรื่องที่สองของ Animerama ครานี้ย้อนเวลาไปยุคสมัย Egypt เมื่อราชินี Cleopatra ใช้มารยาเสน่ห์ยั่วเย้า Julius Caesar และ Marcus Antonius ให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ แต่เพราะความติสต์สติแตก Avant-Garde มากเกินไปของ Osamu Tezuka ฉากเจ๋งๆมีเยอะ แต่รวมๆแล้วคลุกเคล้าไม่ลงตัวสักเท่าไหร่
ตอนอนิเมะนำออกฉายยังอเมริกา ใช้ชื่อว่า Cleopatra: Queen of Sex ตีตราตัวเองขึ้นว่า Rated-X เรื่องแรก [แต่จริงๆคือออกฉายเรื่องที่สองถัดจาก Fritz the Cat (1972)] แล้วทั้งเรื่องมี Sex Scene อยู่ประมาณ 2-3 ครั้งแบบติสต์ๆด้วยนะ นอกนั้นก็แค่เปลือยหน้าอก วับๆแวมๆเท่านั้นเอง และถ้าใครเคยรับชม Cleopatra (1963) หรือฉบับอื่นๆ น่าจะสามารถคาดเดาเรื่องราวได้อยู่แล้วว่าเป็นประมาณไหน
ความผิดหวังอย่างรุนแรงของผมก็คือ มันมากเกินไปในแทบทุกบริบทสถานการณ์ ลองจินตนาการตามดูนะครับ
– อนิเมะตีความให้ความงามของ Cleopatra เกิดจากการศัลยกรรม และเทคนิคขมิบคืออาวุธ
– การต่อสู้ Gladiator ที่ควรจะลูกผู้ชายสองคนห่ำหั่นกัน ใช้ปืนยิงโป้งเดียวจอด!
– การตายของ Julius Caesar นำเสนอด้วยไดเรคชั่นการแสดง Kabuki
– Mark Antonius มีความอ่อนกระปวกเปียก เด็กเมื่อวานซืนที่นกเขาไม่ขัน กินกล้วยแล้วเกิดอารมณ์
– Octavian เป็นเกย์!
ส่วนตัวคิดว่าความตั้งใจของ Tezuka คือการนำเสนอแนวคิดของ Eroticism ในรูปแบบที่ไม่ใช่ Pornography ด้วยวิธีการของ Avant-Garde, Experimental ระยำทุกสิ่งอย่างเข้าไป คาดหวังว่าผู้ชมคงมีสติปัญญามากพอดูรู้เรื่อง
แต่เพราะความที่มันมากล้นเกินไปทำให้อนิเมะถูกด่ากราดเสียๆหายๆว่ามีความเห็นแก่ตัวยิ่งยวด หนึ่งในนักวิจารณ์สมัยนั้นเขียนบ่นออกมาเลย
“What the hell is this?”
ผลลัพท์คือประสบความล้มเหลวทั้งคำวิจารณ์และขาดทุนย่อยยับเยินจนทำให้สตูดิโอ Mushi Productions เกือบล้มละลาย โชคยังดีได้ Xanadu Productions มาโอบอุ้มไว้ด้วยการพากย์เสียงภาษาอังกฤษนำส่งออกฉายต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ Eiichi Yamamoto จึงยังพอมีแรงปิดไตรภาค Animerama กับ Belladonna of Sadness (1973) ขณะที่ Osamu Tezuka ลาออกจากสตูดิโอเพราะความอับอายขายขี้หน้าประชาชี
เรื่องราวเริ่มต้นที่อนาคตแสนไกล มนุษย์สามคนประกอบด้วย Jiro, Harvey และ Mary ถูกส่งตัวย้อนเวลาเพื่อค้นหาคำตอบของปริศนา ‘Cleopatra Plan’ ว่าคืออะไร? จริงๆส่วนนี้ถือว่าไร้ซึ่งความจำเป็นต้องเลียนแบบ 2001: A Space Odyssey (1968) แต่ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างหนึ่ง ผู้ชมจะติดตามร่างอวตารของทั้งสามนี้ ดูสิว่าพวกเขาจะได้ผจญภัย จับพลัดจับพลู พบพานอะไรบ้างกับภารกิจดังกล่าว
แซว: ด้วยลักษณะของการย้อนเวลาเฉพาะจิต ชวนให้ผมนึกถึงเกมแฟนไชร์ Assassin Creed ขึ้นมาเลยละ!
เมื่อทหารโรมันนำโดยจอมทัพ Julius Caesar เข้ายึดครองกรุงอิยิปต์ กลุ่มกบฎมีแผนส่ง Cleopatra เพื่อใช้เสน่ห์เล่ห์มารยาและท่วงท่าอันเร้าใจ ล่อลวงกำจัดภัยพาลให้พ้นผืนแผ่นดินแดนบ้านเกิด แต่ไปๆมาๆเธอกลับตกหลุมรักจนมีทายาทร่วมกันหนึ่งคน ขณะเดินทางกลับกรุงโรมได้รับคำเสี้ยมสอนจากแม่นม พูดคุยต่อรองกับสมาชิกสภา Brutus กลายเป็นแผนการลอบสังหารอย่างเลือดเย็น
Cleopatra เดินทางกลับอิยิปต์อย่างเร็วไว แต่ไม่ทันไรโรมได้ส่ง Mark Antonius มาเป็นผู้สำเร็จราชการคนใหม่ เธอจึงต้องใช้เสน่ห์เล่ห์มารยาหญิงอีกครั้งให้เขาตกหลุม แต่ครั้งนี้แตกต่างไปเพราะเหมือนว่าทั้งคู่รักกันจริงๆ จนเมื่อความตายถามหาและผู้นำคนใหม่ Octavian กำลังมา นั่นทำให้ Cleopatra อดรนทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว ฉันไม่ใช่วัตถุเพื่อเซ่นสังเวยผืนแผ่นดินบ้านเกิด ก็แค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากได้รับความสุขกายใจในชีวิตเท่านั้น
ใครเคยรับชม Cleopatra (1963) น่าจะจดจำภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของ Elizabeth Taylor ได้เป็นอย่างดี แต่ที่แตกต่างของอนิเมะเรื่องนี้คือการได้มาซึ่งแบบพิมพ์นี้ จากการทำศัลยกรรม! นี่คงเป็นการแสดงทัศนะของ Tezuka หญิงสาวงามเลิศในปฐพีก็แค่คำกล่าวอ้างเพ้อฝัน คงสังเกตจากปัจจุบันนั้น ‘ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง’ มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้นมากกว่า
สำหรับ Julius Caesar ก็มีความคล้ายคลึง Rex Harrison อยู่บ้างนะ ร่างกายสูงใหญ่บึกบึนแค่ว่าพอตัวสีเขียวกลายสภาพเหมือนตัวร้ายไปเลย (สีเขียว มักถูกมองว่าเป็นสีแห่งความชั่วร้าย ก็นับตั้งแต่ The Wizard of Oz ที่มี The Wicked Witch)
อนิเมะเพิ่มจุดอ่อนให้กับ Caesar คล้ายๆพวก Bipolar เวลาอยู่ต่อหน้าสาธารณะอกผายไหล่ผึ่งสง่างามเหมือนราชสีห์ แต่ลับหลับเมื่อไหร่บนเตียงนอนเหมือนดั่งลูกแมวน้อย และเมื่ออยู่กับภรรยาตัวจริง Calpania กลายเป็นเด็กอมมือไปเลย!
แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับ Mark Antonius หลงลืมภาพลักษณ์ของ Marlon Brando หรือ Richard Burton ไปได้เลย อนิเมะเรื่องนี้สร้างให้เป็นคนป๊อดปอดแหกสั่นกลัวเอง กระจู๋เล็กขาดความมั่นใจ ถูกคำป้อยอให้หลงใหลของ Cleopatra กลายเป็นความรักใคร่ทุ่มเทกายใจพร้อมยอมเสียสละทุกสิ่งอย่าง เข้าร่วมสงครามทั้งรู้ว่าคงตายแน่ ตัวเขียวชอกช้ำกลับมาขอตายในอ้อมอกและรสจุมพิต ไม่ต้องการอื่นใดไปมากกว่า
คงเพราะความสำเร็จของ A Thousand and One Nights (1969) ทำให้ Tezuka มีงบประมาณมากขึ้นในการสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้ ซึ่งก็ได้แบ่งสรรปันส่วนให้หลายๆฉากมีไดเรคชั่นหลากหลายเฉพาะตัว แทบไม่ซ้ำเดิม (หรือซ้ำจากอนิเมะเรื่องเก่า)
การจะสร้างโลกอนาคตอันไกลโพ้นให้เกิดความสมจริง แทนที่จะเสียเวลาวาดภาพก็ใช้การถ่ายนักแสดง Live-Action แล้วทำการวาดใบหน้าซ้อนทับ(ใบหน้ามนุษย์) เท่านี้ก็เกิดความล้ำ Futuristic ให้กับอนิเมชั่นแล้ว
ถึงเป็นหนังผู้ใหญ่ที่ขายความโป๊เปลือยของตัวละคร แต่เรื่องความรุนแรงกลับพยายามหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอ Sequence นี้ถือว่าเจ๋งเป้งมากๆ เงาสีแดงคือทหารอิยิปต์ เงาสีน้ำเงินคือทหารโรมัน แต้มสีเขียวคือเลือด เริ่มต้นมาแบบนี้ความคาดหวังจัดเต็มเลยละ
ต่อยอดฉาก Sex Scene ของ A Thousand and One Nights (1969) ขณะที่ Aladdin ถูกไถแนบเนื้อกับราชินีบนเกาะหญิงล้วน เรื่องนี้เริ่มจากลายเส้นเช่นเดียวกัน ต่างที่มีความอ่อนนุ่มนวล ไร้ซึ่งเฉดเงา และใช้ความเข้มสีเส้นแทนอารมณ์จุดสูงสุด
เกร็ด: Sequence นี้ อาจได้แรงบันดาลใจจาก Prologue ของ Funeral Parade of Roses (1969)
ไฮไลท์ของอนิเมะคือตอน Caesar พา Cleopatra สู่กรุงโรม ถ้าเป็นในภาพยนตร์ Cleopatra (1963) จะเป็น Sequence ที่ขายความเว่อวังอลังการแพงสุดของหนัง ขณะที่อนิเมะเรื่องนี้ก็ใช่ย่อย ทำการร้อยเรียงภาพล้อเลียนงานศิลปะของศิลปินดังมากมาย อาทิ การเต้น Can-Can, Ballet, รูปปั้น Auguste Rodin (รูปปั้นนั่งคิด), Amilcare Santini (วีนัสเปลือย), ภาพวาดของ Edgar Degas, Eugène Delacroix (Marianne ประกาศอิสรภาพให้ฝรั่งเศส), Henri de Toulouse-Lautrec (เต้นระบำใน Moulin Rouge), Amedeo Modigliani (สาวๆหน้ายาวปรบมือ), Henri Rousseau (คนบนเกวียน), Jean-François Millet (ภาพสามหญิงเก็บเกี่ยว), Leonardo da Vinci (โมนาลิซ่า), Niko Pirosmani (ยีราฟติดไฟ), Sandro Botticelli (The Birth of Venus), Joan Miró, Salvador Dalí, Pablo Picasso, Saul Steinberg (ภาพลายเส้น), และสุดท้าย…
(แถมคลิปฉากนี้มาให้อยู่ด้านล่างนะครับ)
สาวใหญ่ Calpania ภรรยาของ Caesar รูปลักษณ์อันอวบอึ๋มของเธอชวนให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง Cries and Whispers (1972) ของผู้กำกับ Ingmar Bergman ที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปปั้นแกะสลัก Vatican Pietà ของ Michelangelo Buonarroti ดูแล้วก็น่ามีความเป็นไปได้อยู่
ผมละยอมใจ Tezuka เลยว่า บังอาจและหาญกล้าที่ทำ Sequence การลอบสังหาร Julius Caesar ด้วยไดเรคชั่นของการแสดง Kabuki บอกตามตรงว่าไม่เข้าใจเหมือนกันเพื่ออะไร สนองรสนิยมชื่นชอบส่วนตัว? ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุน? แต่ที่แน่ๆคือไม่เข้า ไม่เวิร์คเอาเสียเลยนะ!
นี่ก็เป็นอีกฉากที่ทำเอาผมโคตรสงสาร Mark Anthony กล่าวคือ Sex Scene สองครั้งระหว่าง Cleopatra กับ Caesar พอมีความงดงามเร้าอารมณ์อยู่บ้าง แต่กับ Anthony ใช้วิธีคลื่นโทรทัศน์ไม่ชัด บังเอิญมี Noise เข้าแทรก ไร้ซึ่งอรรถรถความงามตัดข้ามไปเลย …. โห!
ให้สัมผัสเหมือนภาพวาดนู้ดของ Amedeo Modigliani ซึ่งฉากนี้หลังจาก Cleopatra สูญเสียทั้ง Caesar และ Anthony ก็เปลือยเปล่าเห็นภาพสะท้อนจากเงาในกระจก เปิดเผยความต้องการแท้จริงของตนเองออกมา ฉันไม่ใช่ผู้หญิงอย่างที่แม่นมพยายามเค้นให้กลายเป็น
ที่ต้องเป็นภาพสะท้อนกระจก เพราะแทนด้วยฉากเลสเบี้ยนระหว่าง Cleopatra กับแม่นม หญิง+หญิง ก็เลยบรรจบเข้าด้วยกัน –
นี่ก็คัทลอกจาก Funeral Parade of Roses (1969) อีกเช่นกัน ใช้ลักษณะของหนังสือการ์ตูน ขึ้นกล่องแล้วใส่ข้อความแทนเสียงพูด ด้วยข้ออ้างลมแรงเกินไปไม่ได้ยินเสียงพูด
Octavian ชายคนสุดท้ายที่เข้ามาในชีวิตของ Cleopatra ทีแรกก็น่าฉงนสงสัยทำไมไม่หลงเสน่ห์ ก่อนมาเปิดเผยว่าเป็นเกย์ O My God! ก็ว่าอยู่ทำไมออกแบบรูปลักษณ์ชายคนนี้ ตั้งโด่เด่เหมือนลึงค์(อวัยวะเพศชาย)เอาเสียเลย
เพลงประกอบโดย Isao Tomita (1932 – 2016) หนึ่งในผู้บุกเบิก Electronic Music และ Space Music กับ Animerama ทำเพลงให้เพียงสองเรื่อง A Thousand and One Nights (1969) กับ Cleopatra (1970)
ไม่ได้เน้นความสมจริงแบบ Ben-Hur (1959) หรือ Cleopatra (1963) แต่ในสไตล์ Avant-Garde มอบสัมผัสที่ล่องลอยไร้แก่นสาน หลากหลายอารมณ์ตามเรื่องเร้า ฟังดูล้ำๆสักหน่อยเหมือนหลุดจากโลกอนาคต ดำเนินเรื่องในอวกาศแสนไกล
ถึงจะสู้ Sex Scene ของ A Thousand and One Nights (1969) ไม่ได้ แต่บทเพลงในการร่วมรักฉากนี้มีความเป็น Avant-Garde อย่างยิ่งยวด ให้สัมผัสหลุดโลกออกนอกอวกาศไปเลย เหมือนเครื่องเสียงที่เปิดลำโพงกระหึ่มแต่ไม่มีดนตรีอะไรออกมา เสียงหวี่ๆเหมือนตั๊กแตนแมลงหวี่กำลังผสมพันธุ์ ช่างมีความร่านเซ็กซี่เสียเหลือเกิน!
บทเพลงในฉากพาเรดขบวนงานศิลปะ จัดเต็มเรื่องความ Avant-Garde ไม่ได้เน้นความยิ่งใหญ่อลังการ แต่คือแปลกประหลาดพิศดาร เน้นเสียงดีดกีตาร์และเสียงร้อง ปัปปา ปั๊ปปา ประกอบเข้ากับเสียงกองเชียร์ สร้างความฮึกเหิมได้มากยิ่งทีเดียว
บทเพลง Ending Song ชื่อ Guirella No Uta (บทเพลงของลิง?) เนื้อร้องโดย Osamu Tezuka (ใช้ชื่อ Kahei Nô) แต่งทำนองโดย Hitoshi Komuro ขับร้องโดยวง Rokumonsen, ใจความของบทเพลงนี้ มนุษย์ = ลิง แค่นั้นละครับ โคตรจะหาสาระอะไรไม่ได้เลย!
ใน Cleopatra (1963) สิ่งที่คือแรงบันดาลใจให้ราชินีหญิงจอมร่าน คือความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Julius Caesar เพื่อราวกับว่าจะได้กรุงโรมมาครอบครองในกำมือ แต่หลังจากสูญเสียเขาและพบรักใหม่กับ Mark Anthony ทำให้เธอรับรู้ความต้องการแท้จริง ไม่มีอะไรไปมากกว่าความรักความสุขพึงพอใจของตนเอง
สำหรับ Cleopatra (1970) แนวคิดคล้ายๆเดิม ปรับเปลี่ยนจากความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง เป็นการกระทำเพื่อแก้แค้นทวงคืนผืนแผ่นดินอิยิปต์จากกรุงโรม ถูกเป่ากรอกหูโดยแม่นมให้เข่นฆ่า Julius Caesar ตามด้วย Mark Anthony ความตายของทั้งสองถึงค่อยทำให้เธอรับรู้ความต้องการแท้จริงของจิตใจ ฉันก็แค่ผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่ง ไม่ได้ยิ่งใหญ่คับฟ้าอะไร
ใจความของอนิเมะ ถือว่าแนวคิดเดียวกับ A Thousand and One Nights (1969) และเรื่องสุดท้ายของไตรภาค Belladonna of Sadness (1973) ความรักคือทุกสิ่งอย่าง ไม่มีอะไรในโลกสามารถนำมาแลกเปลี่ยน หรือต่อให้ถูกทรยศหักหลัง ถ้ายังคงรักมั่นแท้จริงก็ไร้ซึ่งสิ่งหวาดกลัวเกรง ระยะทาง กาลเวลา และความตายก็มิอาจกั้นขวางชั่วนิรันดร
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของอนิเมะเรื่องนี้ คือซีรีย์การล้อเลียนงานศิลปะ กับผู้ชมไม่สันทัดในแขนงจิตรกรรมอาจไม่รับรู้ตัวว่าคืออะไร แต่คนในแวดวงก็จะหัวเราะยิ้มร่าขึ้นมาทันที น่าจะเกิน 80% ที่ผมตอบได้ใครคือศิลปิน เป็นความพิเศษสุดๆของอนิเมะที่ทำให้ไม่รู้สึก WASTE ไปเสียทีเดียว
ในบรรดาไตรภาค Animerama เรื่องนี้ถือเป็นจุดอ่อนปวกเปียกที่สุด ไล่เรียงความชื่นชอบก็คือ Belladonna of Sadness (1973) > A Thousand and One Nights (1969) >>> Cleopatra (1970)
แนะนำกับคออนิเมชั่นสำหรับผู้ใหญ่, ศิลปิน จิตรกร หลงใหลงานศิลปะ Avant-Garde, สนใจในประวัติศาสตร์อิยิปต์ โรมัน Cleopatra, Julius Caesar, Marcus Antonius, แฟนๆผู้กำกับ Osamu Tezuka กับ Eiichi Yamamoto ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ ภาพโป๊เปลือย ความรุนแรง การข่มขืน ทรยศหักหลัง
Leave a Reply