Close Encounters of the Third Kind (1977) : Steven Spielberg ♥♥♥♥
ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ที่ทำให้ค้นพบมนุษย์ต่างดาว แต่ยังจิตใจของคนที่มีความมุ่งมั่น ศรัทธาอันแรงกล้า ชีวิตไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใด ซึ่งอาจมีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นได้รับโอกาสออกเดินทางสู่โลกใบหน้า อาณาจักรของ…
เอเลี่ยน/มนุษย์ต่างดาวในบริบทของ Close Encounters of the Third Kind สามารถครุ่นคิดตีความได้ครอบจักรวาลมากๆ ซึ่งหัวข้อที่ผู้ชม/นักวิจารณ์นิยมเปรียบเทียบกันคือ พระผู้เป็นเจ้า และพระเอกของเรื่องมีสถานะไม่ต่างจาก โมเสส (ภาพยนตร์เรื่อง The Ten Commandments)
ขณะที่ความตั้งใจจริงๆของผู้กำกับ Steven Spielberg นำเสนอการเดินทาง(ของตนเอง)เพื่อเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นเมื่อพ่อพาไปรับชมฝนดาวตกที่ New Jersey เกิดความลุ่มหลงใหลในอวกาศ จักรวาล สิ่งมีชีวิตต่างดาว เมื่ออายุ 16 ปี ทดลองสร้างภาพยนตร์ Firelight ตามด้วยเขียนเรื่องสั้น Experiences (1970) หลังได้รับความสำเร็จล้นหลามจาก Jaws (1975) ติดต่อรองกับ Columbia Pictures และกลายมาเป็น Close Encounters of the Third Kind (1977)
เท่าที่ผมไล่อ่านความคิดเห็นไม่ชอบหนัง ส่วนใหญ่บ่นกันจังว่าดูไม่ค่อยเข้าใจ เรื่องราวกระโดดไปมาชวนให้มึนงงสับสน แถมพฤติกรรมสุดอลวนของพระเอก ต้องคลุ้มคลั่งเสียสติแตกขนาดนั้นเชียวหรือ?
ส่วนตัวมองว่าหนังดูง่ายกว่า 2001: A Space Odyssey (1968) เสียอีกนะ! เพราะเป้าหมายปลายทาง ยานอวกาศ สิ่งมีชีวิตต่างดาวมีรูปลักษณ์จับต้องได้ แค่ว่าความสับสนว้าวุ่นวายในชั่วโมงแรก เพื่อสะท้อนพฤติกรรมหมกมุ่นครุ่นยึดติดของตัวละคร ต้องการหาคำตอบบางอย่างในชีวิตให้จงได้เท่านั้นเอง
Steven Allan Spielberg (เกิดปี 1946) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เจ้าของฉายา ‘พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์’ เกิดที่ Cincinnati, Ohio, ครอบครัวนับถือ Orthodox Jewish ปู่ทวดอพยพจากประเทศ Ukrane ชื่นชอบเล่าอดีตพี่น้องหลายสิบของตนต้องสูญเสียชีวิตในค่ายกักกัน (นั่นคือเหตุผลที่ปู่ทวดอพยพย้ายสู่อเมริกา), ตั้งแต่เด็กมีความสนใจเล่นถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยกล้อง 8mm จาก 9 นาทีกลายเป็น 40 นาที และสร้างภาพยนตร์ไซไฟ Firelight ความยาว 140 นาที ทุนสร้างจากครอบครัว $500 เหรียญ ออกฉายโรงภาพยนตร์แถวบ้าน ได้ทุนคืนทั้งหมดในรอบฉายเดียว
หลังเรียนจบมัธยมปลาย มุ่งสู่ Los Angeles เข้าเรียน California State University, Long Beach ระหว่างนั้นเป็นเด็กฝึกงานที่ Universal Studios มีโอกาสถ่ายทำภาพยนตร์ 35mm ขนาดสั้นเรื่อง Amblin’ (1968) คว้ารางวัลมากมาย แถมยังไปเข้าตารองประธานสตูดิโอขนาดนั้น Sidney Sheinberg จับเซ็นสัญญา 7 ปี ดรอปเรียนจากมหาวิทยาลัยโดยพลัน, เริ่มทำงานเป็นผู้กำกับซีรีย์โทรทัศน์ ไม่นานนักสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Sugarland Express (1974) แม้คำวิจารณ์ค่อนข้างดีแต่ไม่ทำเงินเท่าไหร่ ตามด้วย Jaws (1975) แม้ประสบปัญหามากมาย ทุนสร้างบานปลาย แต่กลับทำเงินถล่มทลายมากมายมหาศาล
ตั้งแต่ช่วง Post-Production ของ The Sugarland Express (1974) ที่ Spielberg ได้ต่อรองกับ Columbia Pictures เพื่อสร้างภาพยนตร์แนวไซไฟ ทีแรกคาดหวังไว้ให้เป็นหนังทุนสร้างต่ำ เรื่องราวเกี่ยวกับคนที่เชื่อใน UFO แล้ววันๆเงยหน้าจับจ้องมองท้องฟ้า เฝ้ารอคอยการมาถึงของสิ่งมีชีวิตต่างดาว โดยได้แรงบันดาลใจจาก The Thing from Another World (1951) ตั้งชื่อโปรเจคว่า Watch the Skies แต่เมื่อนำไปพูดคุยกับเพื่อนๆได้รับความเห็นว่า
“Steve, that’s the worst idea I ever heard”.
ด้วยเหตุนี้ Spielberg เลยดึงตัวนักเขียน Paul Schrader ให้มาร่วมครุ่นคิดพัฒนาบท แล้วตนเองหนีไปสร้าง Jaws (1975) ให้กับ Universal Pictures
ความสำเร็จของ Jaws ทำให้ Columbia Pictures เกิดความอิจฉาริษยาขึ้นโดยทันที พร้อมทุ่มทุกสิ่งอย่างพึงมี และอิสรภาพสร้างสรรค์ผลงานเต็มที่ แต่ Spielberg ก็ผิดหวังบทหนัง Kingdom Come ของ Schrader ที่เกี่ยวกับความพยายามปกปิดข้อเท็จจริงของรัฐบาลต่อสิ่งมีชีวิตต่างดาว (เป็นบทหนังที่สะท้อนกับการมาถึงของ Pentagon Paper และ Watergate Scandal)
“one of the most embarrassing screenplays ever professionally turned in to a major film studio or director, and a terribly guilt-ridden story not about UFOs at all”.
– Steven Spielberg
นักเขียนคนต่อมาคือ John Hill สร้างตัวเอกคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ Spielberg ต้องการตัวละครประเภท Mr. Everyday Regular Fella เพื่อให้เรื่องราวจับต้องได้ง่ายกว่า
“they wanted to make it like a James Bond adventure”.
– Spielberg พูดถึงบทหนังของ John Hill
เมื่อไม่มีใครไหนพัฒนาบทหนังได้ตรงตามความต้องการ Spielberg เลยรวบรวมแนวคิดจากผองเพื่อน David Giler, Hal Barwood, Matthew Robbins ที่ได้แนะนำการสูญหายตัวอย่างลึกลับ/ถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัว แล้วตัดสินใจครุ่นคิดเขียนขึ้นด้วยตนเอง โดยมีบทเพลง When You Wish upon a Star จากอนิเมชั่น Pinocchio (1940) เปิดฟังเพื่อสร้างบรรยากาศ
“I hung my story on the mood the song created, the way it affected me personally.”
เหตุการณ์ลึกลับเกิดขึ้นรอบโลก เมื่ออยู่ดีๆเครื่องบินสูญหายตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฎขึ้นยังทะเลทราย Sonoran Desert เป็นเหตุให้ Claude Lacombe (รับบทโดย François Truffaut) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ออกเดินทางไปรอบโลกเพื่อค้นหาคำตอบ, ขณะเดียวกัน Roy Neary (รับบทโดย Richard Dreyfuss) ช่างไฟฟ้าอาศัยอยู่ที่รัฐ Indiana พานพบเจอวัตถุลึกลับบนฟากฟ้ายามค่ำคืน เกิดความหมกมุ่นลุ่มหลงใหล จนไม่เป็นอันทำอะไร สนใจใครอื่นแม้ภรรยาและลูกๆตนเอง ต้องการครุ่นค้นหาคำตอบให้จงได้เช่นกันว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ Jillian Guiler (รับบทโดย Melinda Dillon) บุตรชายของเธอเหมือนว่าจะถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไป … แล้วทุกคนก็มุ่งหน้ามาบรรจบพบเจอที่ Devils Tower, Wyoming
Richard Stephen Dreyfuss (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York City ครอบครัวเชื้อสาย Jewish มีความหลงใหลการแสดงตั้งแต่เด็ก ได้รับเลือกแสดงซีรีย์โทรทัศน์ตอนอายุ 15 ตามด้วย Broadways, Off-Broadway, สบทบภาพยนตร์เรื่องแรก The Graduate (1967), เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังกับ American Graffiti (1973), ตามด้วย The Apprenticeship of Duddy Kravitz (1974), และระหว่างร่วมงานกับ Spielberg เรื่อง Jaws (1975) พยายามล็อบบี้ให้ได้รับบทนำใน Close Encounters of the Third Kind (1977)
รับบท Roy Neary ช่างไฟฟ้าอาศัยอยู่ที่รัฐ Indiana แต่งงานกับภรรยา Ronnie (รับบทโดย Teri Garr) มีบุตรทั้งหมดสี่คน ค่ำคืนหนึ่งระหว่างขับรถบนท้องถนน พานพบเจอเหตุการณ์ลึกลับ มีแสงสว่างจร้าสาดส่องลงมาจากฟากฟ้า สิ่งของโน่นนี่นั่นในรถขยับเคลื่อนไหวเองได้ จึงรีบเร่งออกติดตามจนครุ่นคิดเข้าใจว่าพานพบเห็น UFO เกิดความหมกมุ่นครุ่นยึดจนไม่เป็นอันกินอันนอน จนภรรยาและลูกๆรับไม่ได้ต้องหลบหนีออกจากบ้าน
นักแสดงที่ Spielberg ต้องการตัวมากสุดคือ Steve McQueen เจ้าตัวชื่นชอบบทแต่บอกปัดเพราะคิดว่าไม่เหมาะสมกับตน (บอกว่าไม่สามารถร่ำร้องไห้ตามบทได้) คนถัดๆมากคือ Dustin Hoffman, Al Pacino, Gene Hackman, Jack Nicholson คิวไม่ว่าง, กระทั่งระหว่างถ่ายทำ Jaws เป็น Dreyfuss เข้าหาผู้กำกับเองเลย
“I launched myself into a campaign to get the part. I would walk by Steve’s office and say stuff like ‘Al Pacino has no sense of humor’ or ‘Jack Nicholson is too crazy’. I eventually convinced him to cast me”.
– Richard Dreyfuss
ลึกๆผมว่า Dreyfuss ยังดูบ้าไม่พอนะ! แต่สีหน้ามึนตึง ฉงนสงสัย และหมกมุ่นครุ่นยึดติดต่อบางสิ่งอย่างถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ แค่เหมือนมีบางสิ่งอย่างหยุดยับยั้งความเกรี้ยวกราดรุนแรงไว้ ไปไม่ถึงที่สุดแห่งความคลุ้มคลั่งเสียสติแตก … คือถ้าเทียบกับ Jaws ที่สามารถถ่ายทอดสีหน้าขลาดหวาดสั่นกลัว ขี้ขึ้นสมองได้อย่างสมจริง เรื่องนี้ถือว่าคนละระดับการแสดงกันเลย
เกร็ด: ปีเดียวกันนี้ Dreyfuss แสดงภาพยนตร์เรื่อง The Goodbye Girl (1977) คว้ารางวัล Oscar: Best Actor กลายเป็นนักแสดงอายุน้อยสุด (30 ปี 125 วัน) แซงหน้า Marlon Brando จากเรื่อง On the Waterfront (1954) กลายเป็นสถิติยาวนาน 25 ปี ก่อนถูกแซงด้วย Andrien Brody จากเรื่อง The Pianist (2002)
François Roland Truffaut (1932 – 1984) สัญชาติฝรั่งเศส จากนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma สู่ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ บุกเบิกยุคสมัย French New Wave ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่รับงานแสดงใดๆนอกจากในผลงานตนเอง แต่ครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะกำลังต้องศึกษาค้นคว้าเขียนหนังสือเกี่ยวกับการแสดง The Actor (แต่เหมือนว่าจะไม่สำเร็จ) เลยยินยอมตบปากรับคำ Spielberg ที่ชื่นชอบผลการเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ได้ค่าจ้าง $75,000 เหรียญ (นำไปเป็นทุนสร้างหนังเรื่องหนึ่งได้สบายๆ)
แซว: ภาษาอังกฤษของ Truffaut ก็ไม่ได้ยอดเยี่ยมกระไร แม้เป็นความยุ่งยากวุ่นวายเล็กๆแต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคสักเท่าไหร่ (เพราะตัวละครพูดสองภาษา)
รับบท Claude Lacombe นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้ศึกษาเหตุการณ์เหนือธรรมชาติเกี่ยวกับ UFO ออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อพานพบเห็นสิ่งไม่มีใครให้คำตอบได้ ไขปริศนาเบื้องต้นเกี่ยวกับเสียงดนตรีห้าโน๊ต จนค้นพบสถานที่เป้าหมายปลายทาง มุ่งหน้าสู่ Devils Tower, Wyoming และพานพบเจอ Roy Neary แบบไม่คาดคิดถึง
เพื่อเคารพคารวะ Jacques Vallée ผู้เชี่ยวชาญด้าน UFO ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ผู้กำกับ Spielberg เลยต้องการนักแสดงสัญชาติฝรั่งเศสจริงๆในการรับบท ที่ได้ติดต่อไปอาทิ Gérard Depardieu, Philippe Noiret, Jean-Louis Trintignant, Lino Ventura ก่อนมาลงเอยแบบไม่มีใครคาดคิดถึง François Truffaut
ผมมีความเพลิดเพลินเฮฮาไปกับการพบเห็นหน้าของ Truffaut ชัดเจนเลยว่าพี่แกไม่ได้แสดงอะไรนอกจากเป็นตัวของตนเอง ซึ่งนั่นคงคือความตั้งใจของ Spielberg ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว น่าจะต้องการพามาเปิดหูเปิดตายัง Hollywood (ไม่ผิดอะไรจะมองว่า Truffaut คือไอดอล/รุ่นพี่ของ Spielberg) พานพบเห็นงานสร้างยิ่งใหญ่สุดอลังการ … แต่เห็นว่าก็มิได้เป็นที่ประทับใจ Truffaut สักเท่าไหร่หรอกนะ!
แซว: เวลาว่างระหว่างการถ่ายทำ Truffaut ใช้ในการพัฒนาบทหนังเรื่องถัดไป The Man Who Loved Women (1977)
Melinda Ruth Dillon (เกิดปี 1939) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Hope, Arkansas มีความชื่นชอบการแสดงตั้งแต่เด็ก เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที คอมเมอเดี้ยน Broadways ภาพยนตร์เรื่องแรก The April Fools (1969), Bound for Glory (1976), Close Encounters of the Third Kind (1977), Absence of Malice (1981) ฯ
รับบท Jillian Guiler แม่ลูกติด -ก็ไม่รู้สามีเสียชีวิตหรือทอดทิ้งเธอไป- ผู้มีความรักเป็นห่วงเป็นใย Barry บุตรชายวัยสามขวบ ที่มีความลุ่มหลงใหลใน UFO (ครุ่นคิดว่าคือของเล่น) จนถูกลักพาตัวไป เธอพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เขากลับคืนมา โชคดีมีโอกาสพบเจอและออกเดินทางร่วมกันกับ Roy Neary ไปจนถึง Devils Tower, Wyoming
บทบาทนี้หานักแสดงค่อนข้างยากทีเดียว Teri Garr ให้ความสนใจ แต่ Speilberg เห็นเธอในตัวละคร Ronnie Neary มากกว่า, ซึ่งการเลือก Melinda Dillon แค่เพียงสามวันก่อนเริ่มต้นถ่ายทำ จากคำแนะนำของ Hal Ashby ที่เคยร่วมงานเรื่อง Bound for Glory (1976)
ฉากที่ Barry กำลังจะถูกลักพาตัว ไดเรคชั่นดังกล่าวดูเหมือนหนัง Horror เต็มไปด้วยความหลอกหลอน สั่นประสาท ต้องชม Dillon แสดงออกมาได้ขนลุกขนพอง สีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความหวาดสะพรึงกลัว พยายามทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องรักษาลูกชายหัวแก้วหัวแหวน
ถ่ายภาพโดย Vilmos Zsigmond (1930 – 2016) ตากล้องสัญชาติ Hungarian อพยพสู่สหรัฐอเมริกาในช่วง Hungarian Revolution (1956) ก่อนหน้านี้ร่วมงาน Spielberg เรื่อง The Sugarland Express (1974) แต่ก็ไม่ได้ประทับใจอะไรต่อกันจึงบอกปัด Jaws (1975) กระนั้นยินยอมหวนกลับอีกครั้งในผลงานคว้า Oscar: Best Cinematography และเลิกราไม่หวนกลับมาคืนดีต่อกันอีก
ความเข็ดหลากที่ไม่สามารถควบคุมดินฟ้าอากาศระหว่างถ่ายทำ Jaws ทำให้ผู้กำกับ Spielberg ต้องการปักหลักทำงานในสตูดิโอเท่านั้น แต่นั่นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว … สถานที่ถ่ายทำหลักๆประกอบด้วย
– Devils Tower National Monument, Wyoming
– Sequence พบเจอสิ่งมีชีวิตต่างดาว ณ โรงเก็บเครื่องบินร้าง Brookley Air Force Base ที่ Mobile, Alabama
– Sonora Desert ถ่ายทำที่ Dumont Dunes, California
– ฉากที่อินเดีย ถ่ายทำยังหมู่บ้าน Hal ใกล้ๆเมือง Khalapur, ห่างจาก Bombay ประมาณ 35 ไมล์
Spielberg ติดต่อ USAF และ NASA เพื่อขอความร่วมมือในการถ่ายทำ แต่ไม่เพียงถูกบอกปัดปฏิเสธ ยังได้รับจดหมายความยาว 20 หน้ากระดาษ อธิบายบอกว่าเรื่องราวดังกล่าวของหนังเป็นภัยอันตราย ไม่สมควรได้รับการออกฉาย … ซึ่งจดหมายดังกล่าวได้สร้างความเชื่อมั่นต่อ Spielberg ว่ารัฐบาลปกปิดความลับเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวจริงๆ
“I really found my faith when I heard that the Government was opposed to the film. If NASA took the time to write me a 20-page letter, then I knew there must be something happening”.
– Steven Spielberg
อารัมบทด้วยหมอกฝุ่นจากทะเลทราย Sonoran Desert มองอะไรไม่ค่อยเห็นเทียบได้กับองค์ความรู้ของมนุษย์ต่อจักรวาล, อยู่ดีๆพานพบเครื่องบินรบที่สาปสูญหายไปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สะท้อนได้ถึงการปรากฎตัวไม่มีปี่ขลุ่ยของเอเลี่ยนเดินทางมาถึงโลก
สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดของอารัมบทนี้ คือการจบฉากด้วยพายุฝุ่นเข้าปกคลุมนักแสดง David Laughlin (รับบทโดย Bob Balaban) นักทำแผนที่ที่จับพลัดจับพลูกลายเป็นนักแปลภาษา … ว่าไปภาพลักษณ์ของพี่แกดูคล้าย Steven Speilberg อยู่ไม่น้อย (ผมว่านี่อาจเป็นการเทียบแทนตนเองของ Speilberg ในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นได้!)
ก่อนหน้าที่จะ Close Encounters of the First Kind ย่อมต้อง ‘Radar-Visual’ พบเจอวัตถุแปลกประหลาดจากเรดาร์เครื่องตรวจวัด ซึ่งไดเรคชั่นของทั้ง Sequence ชวนให้หวนระลึกถึงผลงานของ Stanley Kubrick โดยเฉพาะ Dr. Strangelove (1964) พบเห็นเพียงเรดาร์ แต่ใช้การตัดต่อสร้างความลุ้นระทึกตื่นเต้น
การร่วมงานกับเด็กยิ่งอายุน้อยยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย Cary Guffey เกิดปี 1972 ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้อายุเพียง 4-5 ขวบ ยังไร้เดียงสาเกินกว่าจะสั่งให้พูดทำอะไรได้ ผู้กำกับ Speilberg จึงต้องใช้สิ่งหลอกตาล่อใจ อย่างฉากนี้ให้ทีมงานหลบซ่อนตัวอยู่ในกล่อง เมื่อเด็กชายเดินเข้ามาในห้องสะดุ้งโหยงตกใจกลัวเมื่อพบเห็นกอลลิล่าโผล่ตัวขึ้นมา ซึ่งพอถอดศีรษะออกพบเห็นหน้าคนรู้จักมักคุ้น เลยเกิดรอยยิ้มแย้มโล่งอกโล่งใจ
ส่วนฉากกลางเรื่องก็เช่นกัน มีการซ่อนของเล่นไว้ใช้เป็นสิ่งหลอกล่อเด็กชาย ซึ่งขณะที่เขาชี้นิ้วพูดเรียก UFO ว่าของเล่น … นั่นของเล่นจริงๆเลยละ
และช่วงท้ายที่ต้องร่ำร้องไห้ Spielberg บอกให้ครุ่นคิดว่ากำลังต้องลาจากเพื่อนทุกคนตลอดไป ปรากฎว่าสามารถหลั่งน้ำตาออกมาได้จริงๆ
ผู้กำกับ Spielberg เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ถ้าได้สร้าง Close Encounters of the Third Kind ในปัจจุบัน คงไม่สามารถทำให้พระเอกทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างแม้แต่ภรรยาและลูกๆอย่างแน่นอน! … สาเหตุเพราะเมื่อตอนเขาสร้างหนังเรื่องนี้ เหมือนจะยังครองตัวเป็นโสดอยู่ พอได้แต่งงานมีครอบครัวและลูกๆ ความครุ่นคิดจึงปรับเปลี่ยนแปลงไป
อย่างช็อตนี้เมื่อ Roy Neary รับโทรศัพท์ สังเกตว่าทุกคนในครอบครัวด้านหลังจะมีความเบลอๆไม่คมชัด หรืออยู่ในสายตาความสนใจของเขาสักเท่าไหร่
เมื่อตอนอยู่บ้าน Roy Neary ให้ลูกชายแก้ปัญหาเศษส่วน ด้วยการเล่นกับรถไฟของเด็กเล่น ปรากฎว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมันเกือบๆเกิดขึ้นในชีวิตจริง แค่ว่าไม่ใช่รถไฟที่เกือบคร่าชีวิตเขา คือยานอวกาศ/จานบิน ส่องแสงลงมาสว่างจร้าจากเหนือศีรษะ ระยะใกล้เกินกว่า 500 เมตรอย่างแน่นอน นี่สามารถเรียกได้ว่า Close Encounters of the Second Kind
สิ่งที่เกิดขึ้นในรถของ Roy Neary เรียกได้ว่าเป็นมายากลอันสุดมหัศจรรย์ ล้วนเกิดจากกลไกไม่ใช่ CGI เต็มไปด้วยความน่าทึ่งพิศวง ทำได้อย่างไร?
ใบหน้า Two-Face ของ Roy Neary ถูกแผดเผาด้วยลำแสงแห่งศรัทธา สะท้อนถึงความโล้เล้ลังเลไม่แน่ใจ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง … จริงๆก็เชื่อเต็มร้อยเพราะเห็นกับตา แต่พอไม่สามารถพิสูจน์ให้กับภรรยาและลูกๆ จึงเกิดความหมกมุ่นครุ่นยึดติด ใคร่ค้นหาต้องการคำตอบข้อเท็จจริง สิ่งที่ฉันเห็นด้วยตามัน จริง-เท็จ ประการใด
ผมโคตรสงสัยเลยว่า Spielberg มีแรงบันดาลจากอะไรถึงเดินทางไปถ่ายทำถึงประเทศอินเดีย เพราะ The River (1951) ของผู้กำกับ Jean Renoir? หรือหลายๆผลงานของ Satyajit Ray? แต่สถานที่แห่งนี้ถือว่าคือดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ ศรัทธา พระเจ้ามากร้อยพัน มุมกล้องกว้างๆทิวทัศนียภาพห่างไกลสุดลูกหูลูกตา และเสียงร้องขับขาน Aaya Re! Aaya ภาษาฮินดีแปลว่า He has come.
แต่ที่แน่ๆไม่ใช่แค่ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ Spielberg เดินทางมาถ่ายทำยังประเทศอินเดีย คุ้นๆว่า Indiana Jones and the Temple of Doom (1984) ก็เฉกเช่นกัน!
ผมเลือกมุมกล้องเดียวกันมาให้เปรียบเทียบ เปลี่ยนจากภายนอก-ภายใน อินเดีย-สหรัฐอเมริกา ซีกโลกตะวันออก-ตะวันตก ผู้คนมากมายรายล้อมด้วยความเชื่อ-หอประชุมเกินครึ่งค่อนว่างเปล่า
ถือเป็นสองฉากติดๆที่สะท้อนถึงความตารปัตรตรงกันข้ามของชีวิต ชาวตะวันออกไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ด้วยตาก็มากล้นด้วยความเชื่อศรัทธา แต่สำหรับชาวตะวันตกต่อให้เอาหลักฐานข้อเท็จจริงอ้าง ถ้าฉันมิได้พบเห็นเข้ากับตัวเองก็ปฏิเสธเสียงขันแข็งไม่เชื่ออยางเด็ดขาด!
มีนักข่าวสัมภาษณ์สอบถาม Spielberg ฉากไหนในภาพยนตร์ของตนเองที่ถือได้ว่าเป็น ‘Master Image’ ตอบว่าตอนที่เด็กชาย Barry เปิดประตูบ้านพบเห็นแสงสีส้มจาก UFO สาดส่องเข้ามา มันช่างเต็มไปด้วยภยันตราย แต่ความไร้เดียงสาของเขากลับหาญกล้าก้าวเดินออกไปเผชิญหน้า
“That was beautiful but awful light, just like fire coming through the doorway. [Barry’s] very small, and it’s a very large door, and there’s a lot of promise or danger outside that door”.
ลักษณะท้องฟ้าช่วงขณะที่ Barry ถูกลักพาตัว ผู้กำกับ Spielberg มีความจงใจให้ดูเหมือน Angel of Death ที่ปรากฎใน The Ten Commandments (1956) ค่ำคืนที่เด็กแรกเกิดชาวอิยิปต์จะสูญเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ
Douglas Trumbull ผู้ออกแบบ Visual Effect อธิบายการทำเมฆครึ้มฝน ว่าเกิดจากการใช้อะคริลิคสีขาว (สำหรับวาดภาพ) เทลงในแทงค์น้ำผสมเกลือ แค่นั้นเองนะ!
เมื่อพูดถึงความเชื่อของการมีตัวตน/ไม่มีตัวตน เอเลี่ยนมีจริงไหม? พระเจ้ามีจริงไหม? เหล่านี้ล้วนอยู่ใน ‘มุมมอง’ ความเชื่อส่วนบุคคล อย่างช็อตนี้มุมกล้องถ่ายภาพผ่านกรอบของ Roy Neary ก็อาจมีแต่เขาที่ครุ่นคิดว่าเรื่องทั้งหมดคือความจริง!
ความหมกมุ่นคลุ้มคลั่งของ Roy Neary ทำให้เขาค่อยๆสูญเสียศรัทธาความเชื่อมั่นจากภรรยา (ผู้ไม่เชื่ออะไรสักอย่าง) และลูกๆ ด้วยการใช้เทคนิค Deep Focus ช็อตนี้ พบเห็นเด็กชายร่ำร้องไห้ แต่คนเป็นพ่อกลับเพิกเฉยไม่สนใจ
สิ่งที่ Roy Neary พยายามค้นหาคำตอบ จำเป็นต้องใช้การครุ่นคิดนอกกรอบ เลยต้องหยิบยืมเอารั้วขังไก่ของเพื่อนบ้าน เพื่อนำไป … ทำอะไรหว่า???
แซว: บ้านของ Roy ทีมงานตัดสินใจซื้อมาในราคา $35,000 เหรียญ เพื่อจะสามารถทำอะไรก็ได้ภายในไม่ต้องง้อเจ้าของบ้าน เสร็จแล้วนำไปขายทอดตลาดได้ราคา $50,000 เหรียญ กำไรกลับคืนมาเพิ่มทุนสร้าง ซะงั้น!
คือ… ผมก็ไม่เห็นการนำรั้วล้อมไก่ของเพื่อนบ้าน มาใช้ประโยชน์อะไรในการสร้างโมเดลจำลอง Devils Tower เลยสักนิดนะ! กองไว้เป็นขยะข้างๆเท่านั้นกระมัง
ความน่าสนใจของช็อตนี้ไม่ใช่แค่ภาพเหมือนในโทรทัศน์ สังเกตมุมกล้องเงยขึ้นที่จะค่อยๆไล่ระดับขึ้นมาจากพื้น สะท้อนถึงความโหยหา ต้องการไปให้ถึงสถานที่นี้ของตัวละคร เพื่อชีวิตจากตกต่ำต้อยด้อยค่า จะสามารถยกระดับสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
Sequence ของการไต่ขึ้น Devils Tower พบเห็นอิทธิพลมากยิ่งทีเดียวจาก North by Northwest (1959) แถมยังเป็นการเคารพคารวะหนัง Hollywood ยุคคลาสสิก ถ่ายทำในสตูดิโอ ฉายพื้นหลังด้วย Rear Projection
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ Roy Neary ลื่นไถลถึงสองครั้งครา และ Jillian Guiler คือคนคอยให้กำลังใจและยื่นมือมาฉุดดึงขึ้น, ฉากเล็กๆที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญต่อบุรุษ เป็นสิ่งพบเห็นได้บ่อยครั้งในหนังของ Spielberg เพราะหลังจากครอบครัวแตกแยก ตัวเขาเติบโตขึ้นโดยมีแม่เพียงคนเดียวเป็นผู้เลี้ยงดูแล จึงค่อนข้างให้สิทธิเสมอภาค ไม่ตะขิดตะขวงถ้าอิสตรีจะเดินนำหน้าตนเอง
Sequence นี้ ถ่ายทำในโรงเก็บเครื่องบินร้าง Brookley Air Force Base ณ Mobile, Alabama ซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่โตกว่าสตูดิโอใดๆใน Hollywood ประมาณหกเท่าตัว มันจึงมีความอลังการงานสร้างอย่างเป็นที่สุด, ผู้ออกแบบยานแม่ ‘Mother Ship’ คือ Ralph McQuarrie ก่อสร้างโดย Greg Jein เป็นโมเดลจำลองขนาดเล็ก ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากโรงกลั่นน้ำมันที่ Spielberg พบเห็นยามค่ำคืนยังประเทศอินเดีย
เพื่อเพิ่มรายละเอียดความสมจริงของของโมเดล ทุกฉากที่ต้องใช้ Visual Effect ถ่ายทำด้วยฟีล์ม 70mm ซึ่งพอเสร็จสิ้นกระบวนการ Post-Production ลดขนาดลงเหลือ 35mm จะได้คุณภาพที่คมชัด สมจริง อลังการยิ่งกว่าปกติเสียอีก!
เกร็ด: หลังจากถ่ายทำเสร็จสิ้น โมเดลของยานแม่ได้รับการจัดแสดงที่ Smithsonian Institution Air and Space Museum
แซว: ใครช่างสังเกต อาจค้นพบ R2-D2 หลบซ่อนเร้นอยู่ด้านนอกยานด้วยนะครับ
เมื่อตอนที่ยานแม่ลงจอด ให้สังเกตว่านักแสดงและตัวประกอบ จะมีปฏิกิริยาต่อความตกตะลึงงันในสิ่งที่พบเห็นแตกต่างกันออกไป หลายคนเดินถอยหลัง ตกลงจากแท่น แต่เฉพาะตัวละครหลักๆ Claude Lacombe, Roy Neary, Jillian Guile ต่างก้าวเดินแทรกตัวไปข้างหน้า พร้อมเผชิญรับสิ่งที่พวกเขาโหยหาต้องการมาตลอดทั้งทีชีวิต
สำหรับสิ่งมีชีวิตต่างดาว ออกแบบโดย Carlo Rambaldi นัก Special Effect สัญชาติอิตาเลี่ยน เพิ่งสดๆร้อยๆคว้า Special Achievement Academy Award : Best Visual Effects จากผลงานเรื่อง King Kong (1977), นอกจากนี้ยังออกแบบเอเลี่ยนให้กับ Alien (1979) และ E.T. the Extra-Terrestrial (1982)
นอกจากรูปลักษณ์เปลือกนอกสวมใส่นักแสดง Rambaldi ยังออกแบบเอเลี่ยนที่สามารถขับเคลื่อนไหวได้ด้วยการเชิดชัก พบเห็นใช้เทคนิคนี้สองครั้ง
– การปรากฎตัวครั้งแรกของเอเลี่ยน ท่าทางการเดินที่ดูเหมือนแมงมุม นั่นเกิดจากการเชิดชักใยอยู่เบื้องหลัง
– และขณะร่ำลาด้วยภาษามือ เพื่อให้ออกมาดูทื่อๆเหมือนหุ่นยนต์สักหน่อย
ขณะที่เอเลี่ยนตัวกระเปี๊ยก คือเด็กหญิงอายุ 5-6 ขวบ จำนวน 50 คน นำมาสวมใส่ชุดยาง แล้วให้เดินไปเดินมาย้อนแสงแทบมองไม่เห็นหน้า สร้างความพิศวงสงสัยให้กับทุกผู้คนพบเห็น, สาเหตุที่ต้องเป็นเด็กหญิงทั้งหมด ผู้กำกับ Spielberg ให้เหตุผลว่า ท่วงท่าทางการเดินของพวกเธอ ดูมีความสวยสง่างามกว่าผู้ชาย
นี่เป็นฉากที่มีความอเมริกันมากๆเลยนะ! ตระเตรียมผู้เสียสละเพื่อปฏิบัติภารกิจไว้มากมาย แต่กลับมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้ครุ่นคิดคาดหวังอะไร เป็นตัวแทนมวลมนุษยชาติขึ้นยานอวกาศสู่นอกโลก
ในมุมของผู้กำกับ Spielberg บุคคลที่ถูกเลือก จักคือตัวแทนความเชื่อมั่น ศรัทธาแรงกล้า และจิตอันบริสุทธิ์ ไม่ได้มีอะไรเคลือบแอบแฝงชั่วร้ายอยู่ภายใน แค่ต้องการเติมเต็มความต้องการ อยากรู้อยากเห็น ชีวิตไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใด
ทิ้งท้ายกับ Deleted Scene ฉากภายในยาน จะพบเห็นเฉพาะบางฉบับของหนังเท่านั้น เกิดจากการถ่ายทำเพิ่มเติมตามคำร้องขอของ Columbia Picture ซึ่งมีลักษณะเหมือนเมืองย่อมๆ ‘Future City’ อลังการตระการตาไปอีกแบบ
คือครั้งแรกที่ Spielberg ได้ร่วมงานกับนักตัดต่อฝีมือฉมัง Michael Kahn ประทับใจในความรวดเร็วและวิสัยทัศน์ ช่วยกันร้อยเรียงฉากไคลน์แม็กซ์ที่ต่างบอกว่ายากยิ่งท้าทายที่สุดในชีวิตการทำงาน
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของสามตัวละครหลัก
– Claude Lacombe ตัวแทนวิทยาศาสตร์
– Roy Neary ตัวแทนศาสนา/ความเชื่อศรัทธา/จิตใจ
– Jillian Guiler มุมมองบุคคลที่สาม เธอไม่ใช่ตัวแทนอะไร คือแม่ผู้ต้องการลูกชายหวนกลับคืนมา
ซึ่งชั่วโมงแรกจะใช้การตัดสลับไปมาระหว่างสามตัวละคร ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่สามารถจับจุดสังเกต ค้นพบทิศทางของหนังว่าจะดำเนินเช่นไร จนกระทั่งเป้าหมายปลายทางได้รับการเปิดเผยออก Devils Tower, Wyoming ทุกตัวละครก็จะค้นพบวิธีการของตนเองเพื่อมุ่งตรงสู่
แต่ไฮไลท์ของหนังจริงๆอยู่ฉากไคลน์แม็กซ์ครึ่งชั่วโมงสุดท้าย ไล่ไปก็ตั้งแต่ตีนเขา ปีนป่าย ถึงยอด พานพบเจอยานอวกาศชุดแรก ติดต่อสื่อสาร ยานแม่ลงจอด ปล่อยตัวมนุษย์ชุดแรก เอเลี่ยนปรากฎตัว บุคคลผู้ถูกเลือก และการออกเดินทาง ทั้งหมดนี้โดดเด่นในความค่อยเป็นค่อยไป คัดเลือกสรรค์มุมกล้อง ตัดสลับไปมาระหว่างตัวละคร ปฏิกิริยาสีหน้าแสดงออก ช่างมีความลงตัวพอดิบพอดี … แต่คอหนังรุ่นใหม่อาจรู้สึกว่าเชื่องช้าเกินไป
หลังการทดลองสองตัวโน๊ตใน Jaws ผู้กำกับ Spielberg เลยท้าทาย John Williams ให้หาห้าตัวโน๊ต ‘five-tone’ ที่มีความลงตัวเหมาะสมกับหนัง … ทำไมต้องห้าโน๊ต ไม่ใช่หก เจ็ด แปด? Williams ก็เคยเสนอแนะเจ็ตตัวโน๊ต แต่ Spielberg บอกว่ายาวเกินไปที่จะพูด Hello ซึ่งเป็นคำที่มีห้าตัวอักษรพอดิบพอดี!
ความเป็นไปได้ของห้าโน๊ตในบันได 12 ขั้น คือ 134,000 รูปแบบ ซึ่ง Wiliiams สร้างสรรค์มาประมาณ 100-300 ก่อนนำมาให้ Spielberg คัดเลือกผู้ชนะหนึ่งเดียว B flat, C, A flat, (ท่อนล่าง) A flat, E flat
การสื่อสารระหว่าง #ทีมมนุษย์ ใช้เสียงคาริเนตแหลมสูง ขณะที่ #ยานแม่ เครื่องดนตรีทูบามีความทุ้มต่ำ ถือว่าแตกต่างตรงกันข้าม ผู้ชมสามารถแยกแยะฟังออกได้โดยทันที
ปฏิกิริยาแรกเริ่มของมนุษย์เมื่อพบเจอสิ่งนอกเหนือความเข้าใจ คือตื่นตระหนกหวาดสะพรึง จากนั้นเมื่อเริ่มมักคุ้นเคยจักเกิดความสงบร่มเย็นลง แปรสภาพกลายเป็นพิศวง ใคร่ฉงนสงสัยต้องการเรียนรู้ทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่าย แต่โอกาสดังกล่าวก็ไม่ได้บังเกิดขึ้นกับทุกผู้คน แค่บุคคลได้รับการคัดเลือกสรรค์ เอ่อล้นเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาอุดมการณ์เท่านั้น ถึงสามารถสื่อสารมีปฏิสัมพันธ์ และโอกาสก้าวไปข้างหน้าสู่ความเป็นนิรันดร์
นอกจากนี้ Spielberg ยังได้ขอให้ Williams สอดแทรกท่วงทำนอง When You Wish upon a Star (4:28) จากภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Pinocchio (1940) เข้าไปในหลายๆบทเพลง เพื่อสร้างกลิ่นอาย ‘ความฝันที่ได้รับการเติมเต็ม’
แต่คงไม่มีบทเพลงไหนขนลุกอลังการ มหึมาไปกว่าการมาถึงของ The Mothership ยานแม่ที่สามารถทำให้ทุกผู้พบเห็นอึ้งทึ่ง ตราตะลึง อ้าปากค้าง เริ่มจากทูบาทุ้มต่ำ (ถือเป็นเสียงของสิ่งมีชีวิตต่างดาว) ค่อยๆเคลื่อนเข้ามาปกคลุมฟากฟ้า บดบังแสงดาวระยิบระยับ และกำลังตระเตรียมลงจอดเพื่อเริ่มต้นการติดต่อสื่อสาร First Contact กับมวลมนุษยชาติ
ชาวตะวันตกมักเป็นผู้มีความเชื่อ ศรัทธา ต่อสิ่งที่พบเห็นด้วยสายตาตนเองเท่านั้น มันจึงเป็นเรื่องหมกมุ่นวุ่นอลม่าน ของความต้องการท้าพิสูจน์ให้ผู้อื่นได้ประจักษ์พบเห็น พยายามร้องเรียกหาความสนใจ ปรารถนาให้สังคมยินยอมรับตนเองว่าเป็นฝ่ายถูกเมื่อได้รับการ ‘Close Encounters’ กับสิ่งใดๆ
เอเลี่ยน ก่อนหน้าการมาถึงของภาพยนตร์เรื่อง Alien (1979) คือคำเรียกบุคคลที่ไม่ใช่พรรคพวกเดียวกับตนเอง มีความแตกต่างทางเชื้อชาติพันธุ์ ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกันได้เข้าใจ
ซึ่งนอกจากนัยยะสิ่งมีชีวิตต่างดาว และการมาถึงของพระเจ้า เอเลี่ยนในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการตีความถึง คนผิวสี, อิสตรี, สหภาพโซเวียต (ซึ่งกำลังทำสงครามเย็น/แข่งขันแก่งแย่งพื้นที่บนอวกาศอยู่ขณะนั้น) และข้อเท็จจริงบางสิ่งอย่างที่ได้รับการปกปิดบัง (จากรัฐบาล)
“If we can talk to aliens in Close Encounters of the Third Kind. Why not with the Reds in the Cold War?”
– Steven Spielberg
มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ว่าจะสูง-ต่ำ ดำ-ขาว เพศชาย-หญิง หรือแม้แต่มนุษย์-ต่างดาว เพราะถ้าสามารถสื่อสารกันรู้เรื่องด้วยภาษา จะคำพูด ท่วงท่า ภาษามือ ท่วงทำนองดนตรี หรือแม้แต่สมการคณิตศาสตร์ ย่อมสื่อถึงสติปัญญาที่สูงส่งเหนือกว่าเดรัจฉาน
แต่แปลกที่คนเราเมื่อพานพบเจอบุคคลแปลกหน้า แรกเริ่ม ‘First Contact’ มักปฏิบัติแสดงออกราวกับเขาเป็นเอเลี่ยนต่างดาว มองด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม ครุ่นคิดจินตนาการว่าตนเองสูงส่งเลิศล้ำเลอค่ากว่า ใคร่เพียงแสวงหากอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน มีแค่เพียงบางคนเท่านั้นถึงเอาความบริสุทธิ์จริงใจหันหน้าเข้าหากัน
Close Encounters of the Third Kind จะว่าไปมีลักษณะภาพยนตร์แนวชักชวนเชื่อ ไม่ใช่การมีตัวตนของเอเลี่ยนต่างดาวหรือพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่คือความเชื่อมั่นศรัทธาในผู้อื่น อันจะนำมาซึ่งความเสมอภาคเท่าเทียมของทุกสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่แค่พรรคพวกเพื่อนพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน ต่างด้าว-ต่างดาว เพศชาย-หญิง หรือแม้เด็ก-ผู้ใหญ่ (และสรรพสัตว์น้อยใหญ่) เมื่อโลกทั้งใบสามารถครุ่นคิดแสดงออกเช่นนั้นได้ ทั้งห้วงจักรวาลคงยินดีพูดคุยติดต่อสื่อสารกับเรา
สำหรับผมแล้ว ใจความของหนังไม่ใช่การประสบพบเจอ ‘First Contact’ กับมนุษย์ต่างดาวหรืออะไร แต่คือความพยายามในการขวนขวายไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบข้อเท็จจริงของชีวิต ซึ่งหลังจากการหมกมุ่นครุ่นยึดติด เสียสละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ในที่สุดก็สามารถเข้าถึงสัจธรรมแห่งโลก และได้รับโอกาสออกเดินทางมุ่งสู่โลกหน้า/สรวงสวรรค์ชั้นฟ้า
ผู้กำกับ Steven Spielberg นอกจากรสนิยมชื่นชอบส่วนตัวชื่นชอบอวกาศ จักรวาล สิ่งมีชีวิตต่างดาว สิ่งที่เขาหมกมุ่นครุ่นยึดติด โหยหาต้องการได้รับมากสุดในชีวิต คือการพิสูจน์ตัวเอง เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน และยินยอมรับจากทุกคนอื่น … ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าได้ตอบสนองครบถ้วนทุกสิ่งอย่าง และสร้าง ‘First Contact’ ระหว่างผู้ชมกับตัวเขาเองได้สำเร็จอีกด้วย
ชื่อหนัง Close Encounter ได้แรงบันดาลใจจากการจัดแบ่งประเภทการพบเจอสิ่งมีชีวิตต่างดาวของ J. Allen Hynek นัก Ufologist สัญชาติอเมริกัน เขียนไว้ในหนังสือ The UFO Experience: A Scientific Inquiry (1972) ประกอบด้วย
– Nocturnal Lights พบเห็นแสงสว่างบนท้องฟ้ายามค่ำคืน
– Daylight Discs พบเห็นรูปร่างวัตถุลึกลับยามกลางวัน
– Radar-Visual พบเจอวัตถุแปลกประหลาดจากเรดาร์เครื่องตรวจวัด
– First Kind พบเห็นวัตถุลึกลับด้วยสายตา ในรัศมีต่ำกว่า 500 เมตร
– Second Kind เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆรอบข้าง อาทิ สัตว์แสดงพฤติกรรมแปลกๆ, อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ตอบสนอง, อากาศร้อนหนาวขึ้นผิดปกติ ฯ
– Third Kind การพบเจอต่อหน้า ระยะสัมผัสจับต้องได้
– Fourth Kind พบเห็นการแสดงออก กระทำบางสิ่งอย่างที่ขัดแย้งต่อความเป็นจริง/บ้างถือว่าการลักพาตัว ถูกเข้าสิงร่างกายก็เข้าข่ายนี้
– Fifth Kind สามารถสื่อสารจนเกิดความเข้าใจ
– Sixth Kind คล้ายๆ Second Kind คือผู้พบเจอเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบสนอง แต่ระดับขั้นรุนแรงถึงความตาย
– Seventh Kind คือการผสมข้ามสายพันธุ์มนุษย์ ก่อเกิดสิ่งมีชีวิตใหม่
จะว่าไป Close Encounter ดูไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตต่างดาวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสองบุคคลที่มีความแตกต่าง ‘เอเลี่ยน’ (ในความหมายที่ไม่ใช่แค่มนุษย์ต่างดาว) ถ้าต้องการศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจกัน มันมีระดับขั้น/วิวัฒนาการ ต้องค่อยเป็นค่อยไปไม่สามารถกระโดดข้าม และเมื่อถึงขั้นสุดท้ายเมื่อไหร่ อนาคตใหม่ก็จะก่อบังเกิด
จากทุนสร้างตั้งต้น $2.7 ล้านเหรียญ บานปลายไปเรื่อยๆจน $19.4 ล้านเหรียญ บีบบังคับให้ Columbia Pictures ต้องรีบนำหนังออกฉายปลายปี 1977 เพื่อมิให้หนี้สินบานเบิก ผลลัพท์แค่สองสัปดาห์แรกก็แทบคืนทุน รายรับทั้งโปรแกรมในสหรัฐอเมริกา $116.39 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $288 ล้านเหรียญ กลายเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดของสตูดิโอโดยปริยาย
เกร็ด: สัปดาห์ที่หนังออกฉาย 16 พฤศจิกายน 1977 พอดิบพอดีกับ Star Wars (1977) สามารถทำรายได้ผ่าน Jaws (1975) ทุบสถิติภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดขณะนั้น
แซว: George Lucas ครุ่นคิดว่าหนังของตนเอง Star Wars คงไม่ประสบความสำเร็จทำเงินสู้ Close Encounters of the Third Kind เลยท้าพนัน Spielberg ด้วยการแลก 2.5% จากกำไรหนังของตนเอง ซึ่งกลับกลายเป็น Lucas ต้องจ่ายมากกว่าพอสมควรทีเดียว [Star Wars ตอนออกฉายครั้งแรกทำเงินได้ทั่วโลก $410 ล้านเหรียญ]
หนังเข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามา 1+1 รางวัล
– Best Director
– Best Supporting Actress (Melinda Dillon)
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Sound
– Best Film Editing
– Best Visual Effects
– Best Original Score
– และคว้ารางวัล Special Achievement Award ** สำหรับ Sound Effects Editing
สาขาที่ถูก SNUB คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ขณะที่การพลาดรางวัลล้วนพ่ายให้กับ Star Wars (1977) รวมถึงเพลงประกอบของ John Williams (ได้รางวัลกับ Star Wars)
ความสำเร็จอันล้นหลามของหนังทำให้ Spielberg มีอำนาจต่อรองต่อ Columbia Pictures ว่าต้องการตัดต่อหนังเพิ่มเติม ซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กลายมาเป็น Special Edition แถมได้เงินเพิ่มมาอีก $1.5 ล้านเหรียญ เพื่อถ่ายทำเพิ่มฉากภายในยานแม่ ออกฉายปี 1980 ทำเงินได้อีก $15.7 ล้านเหรียญ
เมื่อปี 1998 ผู้กำกับ Spielberg ทำการตัดต่อใหม่อีกครั้งกลายเป็นฉบับ Collection’s Editor ด้วยการนำต้นฉบับ 1977 มาปรับแต่งเพิ่มเติม และตัดฉากในยานแม่ออก (เพิ่งมาตระหนักได้ว่า น่าจะปล่อยให้เป็นความลึกลับมากกว่าเปิดเผยออกมาว่าข้างในมีอะไร) ซึ่งฉบับนี้เองได้รับการบูรณะ/Remaster คุณภาพ 4K ออกฉายปี 2017
สรุปความยาว
– ต้นฉบับฉายโรงภาพยนตร์ 135 นาที
– Special Edition ความยาว 132 นาที
– และ Collection’s Editor/Director’s Cut ความยาว 137 นาที
Spielberg มีความต้องการสร้างภาคต้น/ภาคต่อของหนังอยู่เหมือนกัน ตั้งชื่อโปรเจคไว้คือ Night Skies แต่ไม่ได้รับความสนใจจาก Columbia Pictures นัก ไปๆมาๆแนวคิดดังกล่าวพัฒนาต่อยอดกลายมาเป็น E.T. the Extra-Terrestrial (1982) และ Poltergeist (1982)
สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง คือความกระหึ่มอลังการของยานแม่ นี่ตั้งแต่ตอนรับชมครั้งแรกแม้ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง พอถึงฉากนี้ปุ๊ปก็อึ้งทึ่ง ตะลึงงัน อ้าปากค้าง แค่ในจอโทรทัศน์ยังสัมผัสได้ขนาดนี้ ถ้ามีโอกาสในโรงภาพยนตร์ไม่พลาดอย่างแน่นอน
แนะนำคอหนังไซไฟ ปรัชญา ลุ่มหลงใหลสิ่งมีชีวิตต่างดาว Visual Effect ตระการตา, ภาพถ่ายสวยๆ เพลงประกอบโคตรตราตรึง, แฟนๆผู้กำกับ Steven Spielberg, François Truffaut และนักแสดงนำ Richard Dreyfuss ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความหมกมุ่นคลุ้มคลั่งของตัวละคร และกระแสธารฝูงมนุษย์ต่อความเชื่อในบางสิ่ง
Leave a Reply